ความเป็นมาของพระไตรปิฏก ตอน 70

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย guawn, 4 ธันวาคม 2006.

  1. guawn

    guawn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    10,642
    ค่าพลัง:
    +42,113
    ความเป็นมาของพระไตรปิฏก ตอน 70

    ธรรมะใต้ธรรมาสน์

    ไต้ ตามทาง



    ธาตุกถา

    ธาตุกถา แปลว่า แถลงเรื่องธาตุ (เป็นชื่อที่ตัดให้สั้น ชื่อเต็มควรจะเป็นขันธายตนธาตุกถา แปลว่า แถลงเรื่องขันธ์ อายตนะ และธาตุ) เป็นคัมภีร์ว่าด้วยการสงเคราะห์คือ นำเอาข้อธรรมต่างๆ มาจัดเข้าในขันธ์ 5 อายตนะ 12 และธาตุ 18 ว่าข้อไหนจัดเข้าได้ ข้อไหนจัดเข้าไม่ได้ จัดเข้าได้ในขันธ์ใด อายตนะใด หรือธาตุใด กี่อย่างจัดเข้าได้ กี่อย่างจัดเข้าไม่ได้ ข้อไหนประกอบกันได้ ข้อไหนประกอบกันไม่ได้ เช่น อิทธิบาท สงเคราะห์ได้ (คือจัดเข้าได้) ในขันธ์ 2 อายตนะ 1 ธาตุ 1 สงเคราะห์ไม่ได้ (คือจัดเข้าไม่ได้) ในขันธ์ 3 อายตนะ 10 ธาตุ 16 ดังนี้ เป็นต้น

    ข้อธรรมที่นำมาพิจารณาจัดเข้า ได้แก่ ธรรมต่างๆ ในมาติกาทั้งหลาย และข้อธรรมอื่นๆ อีก 125 อย่าง คือ ขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18 สัจจะ 4 อินทรีย์ 22 ปฏิจจสมุปบาท 12 สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 ฌาน 4 อัปปมัญญา 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 มรรคมีองค์ 8 ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา จิต อธิโมกข์ มนสิการ

    ปุคคลบัญญัติ

    ปุคคลบัญญัติ แปลว่า การบัญญัติบุคคล หมายความว่าบัญญัติความหมายของชื่อที่ใช้เรียกบุคคลประเภทต่างๆ ตามคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้นๆ เช่น บัญญัติความหมายของคำว่า พระโสดาบันว่า "บุคคลอย่างไหนเป็นโสดาบัน บุคคลใดละสังโยชน์ 3 แล้ว บุคคลนั้นเรียกว่าโสดาบัน"

    คำว่า เสขะ ก็ว่า "บุคคลอย่างไหนเป็นเสขะ บุคคล 4 ที่ประกอบด้วยมรรค บุคคล 3 ผู้ประกอบด้วยผล ชื่อว่าเป็นเสขะ"

    คำว่า ปัจเจกพุทธะ ก็ว่า "บุคคลอย่างไรเป็นพระปัจเจกพุทธะ บุคคลบางท่านในโลกนี้ย่อมตรัสรู้เองซึ่งสัจจะทั้งหลายในบรรดาธรรมที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน แต่ไม่บรรลุความเป็นสัพพัญญูในธรรมเหล่านั้น ทั้งไม่ถึงความชำนาญในธรรมอันเป็นกำลังทั้งหลาย บุคคลนี้เรียกว่า พระปัจเจกพุทธะ" ดังนี้เป็นต้น

    วิธีการอธิบายในปุคคลบัญญัติ ท่านเอาบุคคลประเภทต่างๆ มาจัดเรียงเป็นมาติกา คือแม่บทก่อน ตามลำดับเลขจำนวน คือหมวดบุคคล 1 หมวดบุคคล 2 หมวดบุคคล 3 หมวดบุคคล 4 หมวดบุคคล 5 หมวดบุคคล 6 เรื่อยไปจนถึงหมวดบุคคล 10 จากนั้นจึงทำนิทเทส คือขยายความหรืออธิบายแสดงความหมายไปตามลำดับ ทีละประเภทจนครบถึง 10 หมวด

    ธาตุกถาและปุคคลบัญญัติ เป็นคัมภีร์สั้นๆ รวม 2 คัมภีร์ อยู่ในพระไตรปิฎกเล่มเดียวกัน คือ เล่มที่ 36

    กถาวัตถุ

    กถาวัตถุ แปลว่า เรื่องสำหรับสนทนา เรื่องที่เป็นข้อพูดจาหรือเรื่องที่เอามาถกกัน เป็นคัมภีร์ที่พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ผู้เป็นประธานแห่งการสังคายนาครั้งที่ 3 เรียบเรียงขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.234 เพื่อแก้ทัศนะผิดพลาดทั้งหลายของนิกายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคนั้น (มีนิกายที่ถือผิดรวม 17 นิกาย รวมกับเถรวาทด้วยเป็น 18 นิกาย) และชี้มติที่ถูกต้อง อันเป็นการเชิดชูหลักคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา ที่สืบมาในเถรวาท

    เรื่องหรือหัวข้อที่นำมาถกหรือแถลงแก้ (เรียกว่า กถา) มีทั้งหมด 219 กถา เรียบเรียงเป็นบทสนทนา ถามตอบ หรือปุจฉาวิสัชนากัน จัดเป็นวรรคหรือหมวด ได้ 23 วรรค ยกตัวอย่างเรื่องที่น่าสนใจในบรรดา 219 เรื่องนั้น เช่น

    - พระอรหันต์เสื่อมจากอรหัตผลได้หรือไม่

    - กุศลมูลสืบต่ออกุศลมูลได้หรือไม่

    - พระเสขะรู้จิตของพระอเสขะได้หรือไม่

    - พระพุทธเจ้าเคยทรงดำรงพระชนม์อยู่ในโลกจริงหรือไม่

    - พระพุทธเจ้ากับพระพุทธเจ้าด้วยกัน ยังมียิ่งหย่อนกว่ากันหรือไม่

    - เทวดามีการประพฤติพรหมจรรย์หรือไม่

    - บุคคลส่งความสุขให้แก่กันได้หรือไม่

    กถาวัตถุอยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 37

    ยมก

    ยมก แปลว่า คู่ คือตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ เป็นคัมภีร์ที่อธิบายธรรม ด้วยวิธีถามตอบ หรือปุจฉา วิสัชนา เพื่อให้มองเห็นความหมายและขอบเขตของธรรมนั้นๆ ได้ชัดเจนและเป็นวิธีทดสอบความรู้ความเข้าใจหลักธรรมที่ลึกซึ้งมาก คำถามที่ตั้งขึ้นมาทีละคู่ และมีเนื้อความย้อนกันเองตัวอย่างเช่น

    - ธรรมที่เป็นกุศลทั้งหมด เป็นกุศลมูลหรือ หรือว่าธรรมที่เป็นกุศลมูล (ทั้งหมด) เป็นกุศล

    - รูป (ทั้งหมด) เป็นรูปขันธ์หรือ หรือว่ารูปขันธ์ (ทั้งหมด) เป็นรูป

    - ทุกข์ (ทั้งหมด) เป็นทุกขสัจหรือ หรือว่าทุกขสัจ (ทั้งหมด) เป็นทุกข์

    - จิตของผู้ใดเกิดไม่ดับ จิตของผู้นั้นจักดับ จักไม่เกิดหรือ หรือว่าจิตของผู้ใดจักดับ จักไม่เกิด จิตของผู้นั้นจักไม่ดับ

    - กุศลธรรมเกิดได้แก่ผู้ใด อกุศลธรรมก็เกิดได้แก่ผู้นั้นหรือ หรือว่า อกุศลธรรมเกิดได้แก่ผู้ใด กุศลธรรมก็เกิดได้แก่ผู้นั้น

    ในการถาม-ตอบ ถือหลักธรรมสำคัญๆ เป็นหลัก เมื่อจะอธิบายหลักธรรมใดก็ตั้งคำถามเป็นคู่อย่างข้างต้นนั้น แล้วตอบไปตามแนวคำถามนั้น ถามตอบจนเห็นว่าครบทุกแง่ทุกด้านแล้วจึงจบ เรียกว่ายมกหนึ่งๆ ตั้งชื่อตามหลักธรรมที่อธิบายในบทหรือตอนนั้น เช่น ถามตอบเพื่ออธิบายเรื่องขันธ์ 5 ก็เรียกว่า ขันธมยก จบยมกนี้แล้วก็ถามตอบหลักธรรมอื่นขึ้นยมกต่อไป มียมกอย่างนี้ทั้งหมด 10 ยมก คือ

    1. มูลยมก ว่าด้วย มูล เช่น อกุศลมูล

    2. ขันธยมก " ขันธ์ 5

    3. อายตนยมก " อายตนะ 12

    4. ธาตุยมก " ธาตุ 18

    5. สัจจยมก " อริสัจ 4

    6. สังขารยมก " สังขาร 3

    7. อนุสยมก " อนุสัย 7

    8. จิตตยมก " การเกิดดับของจิตต่างๆ

    9. ธรรมยมก " กุศล-อกุศล-อพยากตธรรม

    10. อินทรียยมก " อินทรีย์ 22

    ยมก เป็นคัมภีร์ใหญ่คัมภีร์หนึ่ง มีความยาวกินเนื้อที่ในพระไตรปิฎก 2 เล่ม คือ เล่มที่ 38 และ 39



    ref.http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod.php?sectionid=0307&day=2006/12/04
     

แชร์หน้านี้

Loading...