จีนขาดนักข่าวสืบสวน เหตุรัฐบาลคุกคามหนัก รายงานภัยพิบัติ-คอร์รัปชันก็ไม่ได้

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ เตือนภัย, 16 กรกฎาคม 2019.

  1. โพธิสัตว์ เตือนภัย

    โพธิสัตว์ เตือนภัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    1,565
    กระทู้เรื่องเด่น:
    441
    ค่าพลัง:
    +655
    นักข่าวในจีนกำลังถูกคุกคามเพราะรายงานความจริงเพราะรัฐบาลสีจิ้นผิงใช้อำนาจคุกคามสื่ออย่างหนักในหลายๆ ทางเพื่อไม่ให้สื่อสืบสวนสอบสวนมีที่ทางในการรับรู้ ทั้งยังให้สื่อสร้างแต่ภาพลักษณ์ที่ดีกับรัฐบาล ผนวกกับปัญหาเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมสื่อทำให้งานข่าวสืบสวนสอบสวนมีน้อยลง

    0b899e0b8b1e0b881e0b882e0b988e0b8b2e0b8a7e0b8aae0b8b7e0b89ae0b8aae0b8a7e0b899-e0b980e0b8abe0b895.jpg

    ภาพหนังสือพิมพ์ภาษาจีนในย่านไชน่าทาวน์ (ที่มา:flickr/Phil Rhoder)

    16 ก.ค. 2562 จางเหวินหมิน เคยเป็นนักข่าวที่ผู้คนยำเกรงมากที่สุดในจีน เธอเดินสายไปทั่วประเทศเพื่อทำข่าวเรื่องราวเกี่ยวกับความรุนแรงจากตำรวจ การตัดสินคดีแบบผิดๆ และภัยพิบัติจากสิ่งแวดล้อม แต่ในปัจจุบันนี้เธอต้องดิ้นรนเพื่อให้เป็นที่รับรู้

    นิวยอร์กไทม์รายงานเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐของจีนข่มเหงและคุกคามนักข่าวสืบสวนสอบสวนแบบอ่อนๆ ด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่คุกคามแหล่งข่าวของจาง สั่งปิดโซเชียลมีเดียของเธอ และทำให้เธอไม่สามารถหาสื่อที่จะตีพิมพ์เผยแพร่งานข่าวของเธอได้ สภาพความเป็นอยู่ของจางในตอนนี้เธอต้องใช้ชีวิตอยู่กับเงินเก็บที่เธอมี จางถึงขั้นบอกว่ามันอันตรายที่จะบอกว่าตัวเองเป็นนักข่าวอิสระในตอนนี้และพื้นที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็มีจำกัดมาก

    ก่อนหน้านี้นักข่าวสืบสวนสอบสวนในจีนเป็นผู้ที่ตรวจสอบถ่วงดุลและวิพากษ์วิจารณ์สังคมที่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดโดยรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน เช่นการเปิดโปงเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับเด็กทารกป่วยจากโครงการซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมาก่อน แต่นักข่าวเหล่านี้เริ่มหายไปในช่วงยุคสมัยของรัฐบาลสีจิ้นผิง พวกเขาถูกคุกคามหรือไม่ก็ถูกจับกุมคุมขัง สื่อต่างๆ ในจีนก็มีรายงานข่าวเชิงลึกน้อยลง การฟื้นคืนการเมืองแบบอำนาจนิยมเผด็จการเน้นตัวบุคคลของสีจิ้นผิงทำให้สื่อในตอนนี้แทบจะไม่มีการรายงานข่าวเชิงวิพากษ์ มีแต่ข่าวในเชิงส่งเสริมภาพลักษณ์จีนจนนักวิจารณ์เรียกมันว่าเป็น “ยุคสมัยการเซนเซอร์เต็มรูปแบบ”

    มีนักข่าวที่ชื่อหลิวหูจากมณฑลเสฉวนเคยถูกสั่งจำคุกหนึ่งปีจากการทำข่าวสืบสวนนักการเมืองทุจริตคอร์รัปชันมาก่อน เขาบอกว่านักข่าวสืบสวนในจีนตอนนี้แทบจะไม่มีอยู่แล้ว “ไม่มีใครที่จะเหลือเป็นคนเปิดโปงความจริงอีกต่อไป” หลิวหูกล่าว

    นิวยอร์กไทม์ระบุว่านับตั้งแต่สีจิ้นผิงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2555 เป็นต้นมา เขาก็พยายามฟื้นฟูระบบแบบเน้นให้มีเฉพาะสื่อของรัฐและปิดปากสื่ออิสระ ทำให้สื่อในตอนนี้เหลือแต่การนำเสนอภาพลักษณ์ทางบวกของรัฐทางเดียว โดยไม่มีการโต้แย้งอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันการเมืองเลย นั่นทำให้หลิวบอกว่ารัฐบาลจีนกำลังทำให้ประชาชนขาดความรู้ ไม่สามารถรับรู้สิ่งต่างๆ และไม่สามารถพูดอะไรออกมาได้

    แม้แต่ข่าวจากต่างประเทศก็ถูกปิดกั้น เวลาที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์อะไรจีนก็มีน้อยครั้งมากที่จะไปปรากฏในสื่อจีน และยังมีอีกหลายประเด็นที่สำคัญและเป็นที่พูดถึงในโลกก็มีการเซนเซอร์ไม่นำเสนอในสื่อรัฐบาลจีน เช่นประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ การเคลื่อนไหว #MeToo ที่เกี่ยวกับการเปิดโปงการล่วงละเมิดทางเพศ การตัดต่อพันธุกรรมเด็กทารก และกรณีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

    เคลย์ตัน ดูเบ ผู้อำนวยการสถาบันความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนของมหาวิทยาลัยเซาธ์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย วิเคราะห์ว่ามันเป็นการส่งสัญญาณของสีจิ้นผิงว่าเฉพาะพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้นที่วิจารณ์เขาได้ อีกทั้งแทนที่สีจิ้นผิงจะมองว่าข่าวสืบสวนสอบสวนเป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ไขปัญหาสังคมและพัฒนาการปกครองของตัวเองได้เขากลับมองว่ามันเป็น “ภัยต่อเสถียรภาพทางสังคม”

    แม้แต่นักข่าวที่เคยทำงานให้กับสื่อรัฐบาลจีนอย่าง เซว เหลย ก็ลาออกจากงานเพราะไม่อยากทนอยู่กับคำสั่งเซนเซอร์และการกดดันให้สร้างข่าวแบบล่อให้คนคลิก (clickbait) แทนที่จะเป็นข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน เรื่องที่เคยทำข่าวได้ก็ถูกจำกัด และพวกเขาไม่รู้แม้กระทั่งว่าคำสั่งขอให้เซนเซอร์มาจากไหน ถึงแม้ว่าจะมีบางครั้งที่สามารถรายงานเรื่องนักการเมืองคอรัปชันได้บ้างแต่ก็มักจะเป็นกรณีที่กำลังอยู่ภายใต้การไต่สวนของรัฐบาลจีนอยู่แล้ว แทนที่จะให้นักข่าวทำงานเปิดโปงกรณีคอร์รัปชันใหม่ๆ ได้

    ยิ่งไปกว่านั้น ในบางกรณีที่มีการเปิดเผยความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐจนเป็นเหตุให้เกิดวินาศภัยจนทำให้ผู้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ปิดกั้นไม่ให้มีการรายงานเรื่องความผิดพลาดนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวคือเหตุการณ์เรือเฟอร์รีล่มที่แม่น้ำแยงซีในปี 2558 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 442 ราย

    นอกจากเรื่องการเซนเซอร์จากภาครัฐแล้ว เรื่องทางเศษฐกิจก็ส่งผลให้การรายงานข่าวเชิงลึกหดหายไปด้วยจากการที่หน้าข่าวต่างๆ ต้องกระเสือกกระสนหาโฆษณาและจำเป็นต้องลดทีมรายงานข่าวสืบสวนสอบสวนซึ่งเป็นงานข่าวที่อาศัยเวลาและทรัพยากรในการผลิตมากแต่มีชิ้นออกมาจำนวนน้อยกว่า แต่เรื่องนี้เป็นปัญหาที่พบเจอในธุรกิจสื่อทั่วโลกไม่เพียงแค่จีน

    สื่อดั้งเดิมที่หดตัวลดลงเคยมีความหวังว่าพื้นที่ใหม่อย่างสื่อออนไลน์จะทำให้อนาคตของการข่าวดีขึ้นบ้าง แต่สีจิ้นผิงก็สั่งปิดและสั่งเซนเซอร์สื่อออนไลน์ที่เป็นที่พึ่งของประชาชนไปด้วย เช่น สื่อคิวเดลี (Q Daily) สื่อจากเมืองเซี่ยงไฮ้ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2557 ที่นำเสนอเรื่องราวปัญหาสังคมต่างๆ รวมถึงปัญหาที่คนในชนบทต้องอพยพมาทำงานในเมือง แต่รัฐบาลจีนก็สั่งปิดสื่อแห่งนี้อยู่เป็นประจำในช่วงปีที่ผ่านมา หยางหยิ่ง หัวหน้ากองบรรณาธิการของเว็บไซต์คิวเดลีกล่าวว่าการถูกแทรกแซงซ้ำๆ เช่นนี้ทำให้เกิดปัญหาทางธุรกิจต่อเว็บไซต์ และถึงแม้ว่าเว็บไซต์จะพยายามทำตามกฎข้อบังคับของรัฐบาลในเรื่องประเด็นอ่อนไหวอย่างการเมืองและการทหาร แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ชัดเจนว่าเรื่องไหนบ้างที่อาจจะทำให้เกิดความไม่พอใจต่อทางการจีน

    นิวยอร์กไทม์ระบุว่าก่อนหน้าการควบคุมของสีจิ้นผิงนั้น งานข่าวของจีนกำลังเข้าสู่ยุคทอง มีการรายงานเรื่องเกี่ยวกับวัคซีนที่ผิดพลาด สิ่งก่อสร้างคุณภาพต่ำที่ถล่มลงมาเพราะแผ่นดินไหว แต่ในยุคสีจิ้นผิงมีการคุกคามนักข่าวมากขึ้น องค์กรคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (CPJ) ระบุว่ามีนักข่าวอย่างน้อย 48 รายที่ต้องติดคุกในจีนจากการสำรวจถึงช่วงเดือน ธ.ค. 2561 แต่ก็มีคนเตือนว่าการที่สีจิ้นผิงทำเช่นนี้เสี่ยงต่อการปิดช่องทางไม่ให้ประชาชนแสดงความไม่พอใจได้

    หลิว นักข่าวที่เคยถูกคุมขังในปี 2556 กล่าวว่า “นอกประเทศจีน นักข่าวจะถูกไล่ออกถ้าหากเขียนรายงานข่าวเท็จ … แต่ในจีนพวกเขาจะถูกไล่ออกเพราะรายงานความจริง” หลังจากที่หลิวออกมาจากคุกแล้ว เขาก็ยังคงทำงานข่าวสืบสวนเรื่องฆาตกรรมต่อเนื่องและปัญหากระบวนการยุติธรรมต่อไป

    ถึงแม้บรรยากาศทางการเมืองจะบีบเค้น แต่นักข่าวสืบสวนสอบสวนกลุ่มเล็กๆ ก็พยายามต่อสู้ยืนหยัดให้งานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนยังคงอยู๋รอดด้วยการนำเสนอเรื่องราวออกมาผ่านโซเชียลมีเดียและสื่อในต่างประเทศ ทั้งนี้จางผู้เป็นนักข่าวที่มีประสบการณ์ยังพยายามถ่ายทอดวิถีการข่าวสืบสวนสอบสวนให้กับนักศึกษารุ่นใหม่ เธอบอกว่าเธอเชื่อใน “พลังแห่งการยืนหยัดท้าทาย”

    เรียบเรียงจาก

    ‘We’re Almost Extinct’: China’s Investigative Journalists Are Silenced Under Xi, Giulia Marchi, The New York Times, Jul. 12,2019

    ขอบคุณที่มา
    https://prachatai.com/journal/2019/07/83442
     

แชร์หน้านี้

Loading...