ชีวประวัติบางตอนของสิทธาจารย์ในสายวัชรยาน(จากหนังสือชีวประวัติของแปดสิบสี่สิทธา)

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย วิทย์, 8 กรกฎาคม 2005.

  1. วิทย์

    วิทย์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 พฤศจิกายน 2004
    โพสต์:
    2,036
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,439
    ศวริปะ

    บนขุนเขาวิกรม ซึ่งอยู่ในเทือกเขามันทะ มีพรานผู้หนึ่งนาม ศวริปะ ซึ่งก่อเภทภัยให้แก่สัตว์โลกเป็นอันมาก ด้วยการฆ่าและกินมังสาเป็นอาหาร นี่คือการดำรงชีพของพรานผู้นี้ องค์อวโลกิเตศวรได้เล็งเห็น และรู้สึกท่วมท้นด้วยความเมตตาสงสาร เพื่อที่จะช่วยชักจูงให้กลับใจ พระโพธิสัตว์จึงแปลงร่างเป็นพรานอีกผู้หนึ่งและตรงไปยังที่ศวริปะพำนักอยู่ "ท่านเป็นใคร" "ข้าก็เป็นศวริ (พราน) เช่นกัน" องค์อวโลกิเตศวรกล่าวตอบ "ท่านมาจากที่ใด" ศวริปะถาม "จากที่ไกลแสนไกล" อวโลกิเตศวรตอบ "ท่านมีลูกศรเพียงหนึ่งดอก ท่านจะยิงกวางได้กี่ตัวด้วยศรเพียงดอกเดียวนี้" "ข้าสามารถยิงกวางได้ถึงสามร้อยตัว" องค์อวโลกิเตศวรกล่าว ศวริปะรู้สึกทึ่ง "ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ข้าก็อยากจะเห็นด้วยตนตนเอง"
    พอวันรุ่งขึ้น อวโลกิเตศวรแปลงก็นำศวริปะไปยังทุ่งราบ และชี้ให้ดูฝูงกวางห้าร้อยตัวซึ่งล้วนเป็นกวางเนรมิต ทันทีที่แลเห็นฝูงกวาง ศวริปะก็ถามขึ้นว่า "ลูกศรหนึ่งดอกของท่านจะสามารถฆ่ากวางเหล่านี้ได้กี่ตัว" "ข้าสามารถฆ่าได้หมดทั้งห้าร้อย" อวโลกิเตศวรตอบ "เหลือไว้สักสี่ร้อยฆ่าสักร้อยตัวก็พอ" ศวริปะพูดอย่างเย้ยหยัน ขณะนั้นเองอวโลกิเตศวรก็ยิงกวางทั้งร้อยลงด้วยศรเพียงดอกเดียว และขอให้ศวริปะไปช่วยแบกซากกวางตัวหนึ่ง แต่กวางนั้นก็หนักมากจนยกไม่ขึ้น อติมานะของศวริปะก็ถูกทำลายลงสิ้น ทั้งสองต่างพากันกลับมายังที่พำนัก ศวริปะจึงขอพระโพธิสัตว์ "ช่วยสอนวิชายิงธนูเยี่ยงนี้ให้ข้าด้วย" อวโลกิเตศวรจึงตอบว่า "การจะเรียนวิชานี้ ท่านจะต้องงดกินเนื้อเป็นเวลาหนึ่งเดือน" ดังนั้น ศวริปะจึงยอมละเว้นนิสัยฆ่าและเบียดเบียนสัตว์โลก
    อีกเจ็ดวันต่อมาองค์อวโลกิเตศวรก็กลับมาเยี่ยมเยียนศวริปะ "ท่านกินสิ่งใดเป็นอาหาร" "ข้ากับเมียกินผลไม้เป็นเครื่องประทังชีพ" ศวริปะตอบ "ถ้าเช่นนั้นจงทำสมาธิจดจ่ออยู่ในเมตตาและกรุณาต่อสรรพชีวิต" อวโลกิเตศวรชี้แนะ
    หนึ่งเดือนผ่านพ้นไป อวโลกิเตศวรหวนกลับมาอีกครั้ง ศวริปะจึงพูดขึ้นว่า "ท่านมาสอนธรรมะ ซึ่งทำให้กวางหนีไปสิ้น" ดังนั้นองค์อวโลกิเตศวรจึงเขียนรูปมณฑลขึ้น จัดวางดอกไม้ไว้รายรอบ และบอกให้ศวริปะกับภรรยามองเข้าไปในภาพมณฑลนั้นและบอกว่าเห็นสิ่งใด ทั้งสองมองเข้าไปภายในมณฑล และได้เห็นนรกภูมิทั้งแปดโดยมีตนทั้งสองถูกแผดเผาอยู่ ต่างพากันตกใจกลัว นิ่งงันอยู่ไม่อาจพูดจาออกมาได้
    พระโพธิสัตว์จึงถามขึ้นอีกครั้งว่าได้แลเห็นสิ่งใด ศวริปะ จึงตอบว่า "ข้าได้เห็นคนเยี่ยงเราถูกแผดเผาอยู่ในนรก" "ท่านไม่กลัวจะต้องตกนรกเยี่ยงนั้นหรือ" "เราหวาดกลัวยิ่ง" คนทั้งคู่ตอบ "มีทางใดไหมที่จะช่วยเราให้รอดจากชะตากรรมเยี่ยงนี้" "ถ้าหากมี ท่านพร้อมที่จะปฎิบัติฝึกฝนหรือไม่" "เราพร้อม" คนทั้งคู่ตอบ ดังนั้นอวโลกิเตศวรจึงแสดงธรรมแก่ศวริปะและภรรยา
    "ยามที่ท่านทำลายชีวิตผู้อื่น ย่อมมีผลกรรมต่างๆ บังเกิดขึ้น ท่านจะต้องถือกำเนิดในนรก ด้วยการฆ่านั้นรังแต่จะก่อให้เกิดการฆ่าฟันติดตามมา ซึ่งจะส่งผลให้ชีวิตของท่านนั้นสั้น และทำให้ท่านเป็นคนน่ารังเกียจ"
    "แต่ถ้าหากท่านละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ท่านจะได้เข้าถึงการตรัสรู้เป็นแม่นมั่น เมื่อท่านปราศจากความปรารถนาที่จะฆ่า ผลที่ติดตามมาก็คือการมีอายุยืนยาว และผลภายนอกก็คือท่านจะเกิดมาเป็นผู้ที่มีเสน่ห์ดึงดูด"
    พระโพธิสัตว์ได้แสดงธรรมอันกล่าวถึงโทษของการละเมิดศีลสิบและคุณของการถือศีลสิบ กระทำให้ศวริปะเกิดความหน่ายในสังสารวัฏ และเกิดศรัทธาปสาทะแก่กล้าในพระธรรมคำสอน อวโลกิเตศวรจึงแสดงธรรมและแนะนำสั่งสอนสืบไป หลังจากนั้นจึงกลับคืนสู่บรรพตโททันติ
    หลังจากได้ปฏบัติเมตตาภาวนาโดยปราศจากนิมิตเป็นเวลาสิบสองปี ศวริปะก็ได้บรรลุถึงสิทธิอำนาจแห่งมหามุทรา ท่านถอดจิตจากมหากรุณาสภาวะและไปปรากฎอยู่เบื้องหน้าองค์อวโลกิเตศวร พระโพธิสัตว์กล่าวสรรเสริญศวริปะว่า "โอ กุลบุตรผู้ประเสริฐ นิรวาณอันคับแคบนั้นเปรียบดั่งไฟลามทุ่ง นั่นหาใช่นิรวาณอันสูงสุดไม่ เธอพึงดำรงอยู่ในโลกสืบไปเพื่อยังประโยชน์แก่สรรพสัตว์สุดคณานับ"
    ดังนั้นศวริปะจึงหวนคืนกลับมาสู่ภพภูมิของตน ผู้คนต่างพากันเรียกขานท่านว่าศรีศวริ และด้วยเหตุที่ท่านนุ่งห่มด้วยขนนกยูง ท่านจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า "ผู้ห่มขนปีกนกยูง" และด้วยเหตุที่ท่านจะพำนักอยู่ในป่าเขาเสมอ จึงมีอีกนามหนึ่งว่า "ฤษีผู้พำนักในขุนเขา" เหล่านี้คือนามทั้งสามของท่าน ท่านจะสั่งสอนผู้มีบุญวาสนาด้วยบทเพลงและสัญลักษณ์ และจะดำรงอยู่สืบไปในชมพูทวีปในร่างนี้ตราบกระทั่งพระศรีอาริยเมตไตรย พระพุทธเจ้าในอนาคตกาลอุบัติขึ้นมาสู่โลก


    [b-wai]


    สรหะ

    สรหะเป็นบุตรของฑากินี ท่านเกิดในตระกูลพราหมณ์แห่งเมืองโรลิ แคว้นรัชญี ซึ่งอยู่ทางบูรพประเทศของชมพูทวีป ถึงแม้ท่านจะเป็นพราหมณ์ แต่ก็มีศรัทธาในพุทธธรรมคำสอน และด้วยเหตุที่ท่านได้สดับธรรมจากคุรุเป็นอันมาก ท่านจึงมีศรัทธาแก่กล้าในหลักธรรมตันตระ ยามกลางวันท่านก็จะปฏิบัติตามแนวทางฮินดู ครั้นพอกลางคืน ท่านก็จะปฎิบัติตามแนวทางพุทธ ท่านยังดื่มเมรัยอีกด้วย
    ความประพฤติของท่านล่วงรู้ไปถึงพราหมณ์คนอื่น ๆ จึงหาทางที่จะเนรเทศท่านออกจากเมือง พราหมณ์เหล่านี้ต่างพากันไปเข้าเฝ้าราชารัตนบาล พลางฟ้องว่า "ด้วยเหตุที่ท่านเป็นกษัตริย์ ควรหรือที่จะยอมให้มีหลักสิทธิอันสามานย์อยู่ในแว่นแคว้นนี้ เฉกเช่น สรหะ 'ผู้แผลงศร' ซึ่งเป็นหัวหน้าเขตคามปกครองลูกบ้านหมื่นห้าพันคนในเมืองโรลิ สรหะได้ทำให้วรรณะพราหมณ์มัวหมองด้วยการดื่มเมรัย ดังนั้นจึงสมควรที่จะขับไล่ไป"
    แต่พระราชาไม่ต้องการที่จะเนรเทศนายบ้านซึ่งปกครองคนถึงหมื่นห้าพัน จึงเสด็จไปหาสรหะพลางตรัสว่า "ท่านเป็นพราหมณ์ จึงหาบังควรไม่ที่จะดื่มสุรา" แต่สรหะตอบว่า "ข้าพเจ้าหาได้ดื่มสุราไม่ ให้พราหมณ์และผู้คนเหล่านั้นมาชุมนุมกันที่นี่ แล้วข้าพเจ้าจะกระทำสัตย์สาบานต่อหน้าพวกเขา" เมื่อคนทั้งหลายได้มาชุมนุมกันพร้อมหน้า สรหะก็ประกาศขึ้นว่า "หากข้าพเจ้าได้ดื่มเมรัย ขอให้มือนี้จงถูกลวดพอง หาไม่แล้ว ก็ขออย่าเป็นอันตรายใดๆเลย" ท่านเอามือจุ่มลงในน้ำมันเดือด แต่ก็หาได้รับอันตรายใดๆไม่ "จริงแท้ ท่านหาได้ดื่มสุราไม่" พระราชาตรัส แต่เหล่าพราหมณ์ทั้งหลายยังคงยืนยันว่า "ที่จริงแล้วท่านดื่ม"
    ดังนั้นสรหะจึงกระทำสัตย์สาบานดังกาลก่อน ท่านดื่มทองแดงที่หลอมเหลวลงไป แต่ก็หาเป็นอันตรายใด ๆ ไม่ "อันที่จริงแล้วท่านดื่มสุรา" พวกพราหมณ์ยังคงยืนยัน ดังนั้นสรหะจึงกล่าวว่า "ใครก็ตามที่จมลงในน้ำเมื่อย่างเท้าลงไป คนผู้นั้นดื่ม แต่หากไม่จม ก็คือผู้บริสุทธิ์" ดังนั้น ท่านกับพราหมณ์ยังคงยืนยัน ดังนั้นสรหะจึงกล่าวว่า "ใครก็ตามที่จมลงในน้ำเมื่อย่างเท้าลงไป คนผู้นั้นดื่ม แต่หากไม่จม ก็คือผู้บริสุทธิ์" ดังนั้น ท่านกับพราหมณ์อีกผู้หนึ่งจึงเดินลงไปในน้ำเพื่อพิสูจน์ สรหะหาได้จมไม่ แต่พราหมณ์ผู้นั้นจมลง ดังนั้นเหล่าพราหมณ์จึงจำต้องยอมรับว่า "สรหะมิได้ดื่มสุรา"
    ในทำนองเดียวกันนี้ สรหะก็ขึ้นไปบนตาชั่ง "ใครก็ตามที่หนักกว่าหาได้ดื่มเมรัยไม่" พนักงานก็ใส่ตุ้มน้ำหนักในตาชั่งอีกข้างหนึ่ง แต่ละตุ้มหนักเท่ากับคนผู้หนึ่ง กระนั้นก็ดีตาชั่งก็ยังเอียงมาข้างสรหะ แม้จะใส่เพิ่มเข้าไปเป็นหกตุ้ม ก็ยังคงหนักกว่า ในที่สุด พระราชาจึงตรัสว่า "หากผู้ใดก็ตามที่มีฤทธิ์เยี่ยงนี้ แม้จะนับว่าเขาดื่มเมรัย ก็จงให้เขาดื่มต่อไปเถิด"
    พระราชาและเหล่าพราหมณ์ต่างน้อมกายลงกระทำบูชาสรหะ และขอให้ท่านสั่งสอนหลักธรรมให้ สรหะจึงขับขานลำนำโทหะทั้งสามให้แก่พระราชา พระมเหสีและเหล่าพสกนิกรได้สดับ พราหมณ์ทั้งหลายก็ได้ละเลิกลัทธิของตนหันมาปฎิบัติตามแนวทางพุทธศาสนา พระราชาและเหล่าข้าราชบริพารก็ได้ล่วงลุถึงสิทธิอำนาจ
    ท่านได้แต่งงานกับเด็กสาวอายุสิบห้าในบ้าน ท่านได้ละทิ้งบ้านเรื่อนของตนออกจาริกไปสู่ดินแดนอื่น สรหะได้ไปอาศัยอยู่ในสถานที่อันวิเวกเพื่อกระทำความเพียร ขณะที่เด็กสาวออกไปภิกขาจาร มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านขอให้นางช่วยเตรียมหัวผักกาดให้กิน แต่ท่านกลับดื่มด่ำอยู่ในภวังคสมาธิ นางจึงได้จากมาโดยมิได้รบกวน
    สรหะดำรงอยู่ในสมาธิภาวะอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานถึงสิบสองปีเต็ม ครั้นเมื่อท่านออกจากภวังค์ จึงถามว่า "ไหนเล่าหัวผักกาด" หญิงสาวจึงตอบว่า "ข้าจะเก็บไว้ได้อย่างไรกัน ท่านดำรงอยู่ในสมาธินานถึงสิบสองปี บัดนี้เป็นวสันตฤดูซึ่งหาได้มีหัวผักกาดไม่" ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่า "ข้าจะไปสู่ขุนเขาเพื่อปฎิบัติสมาธิภาวนา" แต่นางแย้งว่า "การอยู่เพียงลำพังหาได้หมายถึงความวิเวกไม่ ความวิเวกที่แท้จริงคือจิตใจที่หลีกเร้นจากนามและบัญญัติ ท่านอุตส่าห์ปฎิบัติสมาธิภาวนาเป็นเวลายาวนานถึงสิบสองปี แต่ก็ยังไม่อาจสลัดความคิดเรื่องหัวผักกาดลงได้ จะมีประโยชน์อะไรที่จะไปสุ่ขุนเขา" สรหะจึงได้คิด "เป็นจริงตามที่นางกล่าว" ดังนั้นท่านจึงละนามและบัญญัติเสีย
    ท่านได้ประจักษ์ถึงปรมัตถธรรม และได้เข้าถึงสิทธิอำนาจแห่งมหามุทรา ท่านได้ยังประโยชน์แก่สรรพสัตว์ สรหะกับคู่ครองของท่านได้เข้าสู่ภพแห่งฑาก


    [b-wai]


    โครักษะ

    ในเขตคามบูรพประเทศ ยังมีกษัตริย์องค์หนึ่งพระนามว่า เทวบาล พระองค์มีโอรสอยู่เพียงองค์เดียว เมื่อเจ้าชายมีชนมายุได้สิบสองชันษา พระมารดาก็ประชวรหนัก และก่อนที่จะสิ้นพระชนม์ พระนางก็ได้สั่งสอนโอรสเป็นวาระสุดท้ายว่า "บรรดาทุกข์-สุขทั้งมวลชองสัตว์โลกย่อมเป็นผลมาจากกรรมดีและกรรมชั่ว ดังนั้นแม้จะต้องสิ้นชีพ ก็จงอย่าได้กระทำอกุศลกรรมเป็นอันขาด" เมื่อพระมเหสีสิ้นพระชนม์ ทวยราษฎร์จึงขอให้กษัตริย์อภิเษกสมรสใหม่กับราชินีจากแว่นแคว้นอื่น พระองค์ก็ทรงกระทำตามนั้น ไม่กี่วันหลังพิธีอภิเษกสมรส กษัตริย์เสด็จประพาสป่าเพื่อให้คลายใจที่โศกเศร้า ราชินีจึงเสด็จขึ้นไปบนหอคอยและมองลงมาเห็นยุพราชหนุ่มรูปงาม ก็บังเกิดจิตปฎิพัทธ์ จึงส่งสารไปให้มีความว่า "โปรดมาเยือนข้า" แต่ยุพราชปฎิเสธ
    ราชินีรู้สึกอับอายอย่างยิ่งจึงดำริขึ้นว่า "มันลบหลู่ข้า" จึงบังเกิดจิตคิดร้ายยิ่งกว่าต่อศัตรูเสียอีก คิดอยู่ในใจว่า "ข้าจะต้องหาแผนการกำจัดมันไปเสีย" พระนางสั่งให้ข้ารับใช้ไปสังหารยุพราช แต่คนเหล่านั้นกลับปฎิเสธโดยกล่าวว่า "เป็นการไม่สมควรที่จะสังหารผู้เป็นโอรสกษัตริย์ อันเป็นบุคคลสูงส่ง"
    หลังจากถูกปฎิเสธ ราชินีจึงออกอุบายด้วยการกรีดตัวเองจนโลหิตไหลชุ่มโชกทั่วเรือนร่าง นอนเปลือยเปล่าอยู่บนแท่นบรรทม ครั้นเมื่อกษัตริย์กลับมาพบเข้าจึงถามขึ้นว่า "เกิดเหตุร้ายใดขึ้นกับเจ้า" "โอรสของพระองค์กระทำการล่วงเกินหม่อมฉันและทำร้ายจนสาหัสเยี่ยงนี้" กษัตริย์พิโรธมาก "ถ้าหากลูกข้ากระทำกับเจ้าอย่างอุกอาจสามหาวเยี่ยงนี้ ก็จะต้องถูกประหาร" พระองค์จึงบัญชาต่อเพชฌฆาตสองคนว่า
    "จงพาพระโอรสเข้าไปในป่าลึกและตัดมือตัดเท้าเสีย" เพชฌฆาตจึงดำริขึ้นว่า "ไม่เป็นการบังควรที่จะประหารโอรสผู้สูงศักดิ์ เราจะช่วยเอาไว้โดยฆ่าบุตรของเราแทน" เพชฌฆาตจึงไปเปิดเผยแผนการร้ายนี้กับยุพราช "ข้าน้อยไม่บังอาจสังหารพระองค์ เราจะฆ่าบุตรของเราแทน" ทว่าทรงทักท้วงว่า "นั่นหาถูกต้องไม่ จงประหารข้า เพราะมารดาได้สั่งเสียข้าไว้ในวาระสุดท้ายว่า 'จงอย่าได้ก่อกรรมทำเข็ญใด ๆ แม้เพื่อจะได้รอดชีวิต' จงกระทำตามบัญชาของเสด็จพ่อ" ดังนั้นเพชฌฆาตทั้งสองจึงพายุพราชไปยังโคนไม้แล้วตัดมือกับเท้าเสีย เสร็จแล้วจึงกลับมายังเคหะของตน
    ในดินแดนแห่งนั้นยังมีโยคินผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งนามว่าอจินตะ ซึ่งเป็นผู้ทำพิธีอภิเษกยุพราชและมอบหลักธรรมคำสอนให้ โยคินท่องเที่ยวไปในหมู่คนเลี้ยงสัตว์ ซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่ไกลจากโคนไม้ที่ยุพราชอยู่ ท่านได้กล่าวแก่คนเลี้ยงสัตว์ว่า "มีชายผู้หนึ่งถูกตัดมือตัดเท้านอนอยู่ตรงโคนไม้ โดยมีฝูงแร้งวนเวียนอยู่เบื้องบน จะมีผู้ใดอาสาไปค้นหาคนผู้นี้" จึงมีเด็กเล็ก ๆ คนหนึ่งซึ่งเป็นบุตรของคนขายธูปกล่าวขึ้นว่า "ข้าพเจ้าจะไปดูให้ แต่ขณะที่ไปทำธุระให้ท่าน ท่านจะต้องช่วยเลี้ยงวัวแทน"
    เด็กน้อยจึงให้โยคินช่วยเฝ้าฝูงวัวแทนตน โดยหมายตาดูฝูงแร้งที่ร่อนวนอยู่เป็นที่สังเกตุและมุ่งตรงไปยังโคนไม้นั้น ครั้นเมื่อพบจึงกลับมารายงานให้ทราบ "เป็นดังที่ท่านบอกทุกประการ"
    โยคินจึงถามเด็กเลี้ยงวัวว่า "เจ้ากินและดื่มสิ่งใด" เด็กจึงตอบว่า "ข้าพเจ้าอยู่กับหัวหน้าคนเลี้ยงสัตว์ จึงมีอาหารพอเพียงประทังชีพ ข้าพเจ้าจะแบ่งอาหารครึ่งหนึ่งไปให้ชายผู้นี้" "ดีมาก เจ้าจงช่วยดูแลพยาบาลให้ด้วย คนผู้นี้มีนามว่า เจารางคิ" ดังนั้นเด็กเลี้ยงวัวจึงทำเพิงขึ้นรอบโคนไม้ ช่วยป้อนอาหารและทำความสะอาดแผลให้ เด็กก็ช่วยดูแลอยู่อย่างนี้เป็นเวลานานถึงสิบสองปี
    ครั้นมาวันหนึ่ง เมื่อเด็กเลี้ยงวัวไปถึงก็เห็นยุพราชยืนอยู่ ก็รู้สึกประหลาดใจมาก จึงถามว่านี่เป็นไปได้อย่างไรกัน ท่านจึงตอบว่า "คุรุผู้ศักดิ์สิทธิ์ผู้เปี่ยมด้วยอุบายวิธี ได้ชักนำข้าจนบรรลุถึงความว่าง ช่างมหัศจรรย์ยิ่งหนอที่ได้ประจักษ์ถึงธรรมชาติที่แท้แห่งสรรพสิ่ง และหลุดพ้นจากสุขและทุกข์นี้ได้ ด้วยสัจธรรมนี้เองที่ทำให้มือและเท้าของข้างอกขึ้นมาใหม่อีกครั้ง" ครั้นแล้วท่านจึงลอยขึ้นเบื้องบน และกล่าวกับเด็กเลี้ยงวัวว่า "เจ้าได้มอบหลักธรรมให้แก่ข้า บัดนี้จงปฎิบัติตามมรรคาธรรมนั้นเถิด"
    แต่เด็กกลับตอบว่า "ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาหลักธรรมคำสอนใด ๆ ข้าพเจ้าเพียงทำตามคำขอของคุรุที่ให้ช่วยดูแลท่าน" กล่าวดังนี้แล้ว ก็หันกลับไปดูแลฝูงวัวของตนต่อไป ครั้นเมื่อโยคินอจินตะหวนกลับมาอีกครั้ง เด็กก็ได้เล่าเรื่องเหล่านี้ให้ฟัง อจินตะปีติยิ่งจึงรับเด็กเลี้ยงวัวเป็นศิษย์ และมอบคำสั่งสอนให้ หลังจากนั้นก็จากไปสู่ดินแดนอื่น
    เด็กเลี้ยงวัวได้พากเพียรปฎิบัติสมาธิภาวนาจนบรรลุถึงสิทธิอำนาจแห่งมหามุทรา ครั้นเมื่อสำเร็จแล้ว คุรุจึงหวนกลับมากล่าวกับศิษย์ของตนว่า "อย่าได้ด่วนละโลกนี้ไป จนกว่าเจ้าจะได้นำพาสัตว์โลกนับพันนับหมื่นไปสู่การตรัสรู้" ดังนั้นเองคนเลี้ยงวัวจึงประกอบพิธีอภิเษกให้แก่ผู้คนที่มาหา
    มหาเทพจึงกล่าวทัดทานว่า "เจ้าไม่จำเป็นต้องอภิเษกให้แก่ทุกผู้คนที่มาสู่ เป็นการไม่บังควรที่จะมอบคำสอนให้แก่ผู้ที่ขาดศรัทธา จงอภิเษกเฉพาะผู้ที่โหยหาหลักธรรมอย่างจริงใจเท่านั้น" คนเลี้ยงวัวก็กระทำตามคำชี้แนะนั้น
    ด้วยเหตุที่ท่านเป็นคนเลี้ยงวัว จึงเป็นที่รู้จักกันทุกหนแห่งในนามของโครักษะ และแม้กระทั่งปัจจุบัน ถ้าหากท่านมีวาสนา ก็อาจจะได้รับการอภิเษกจากโยคินท่านนี้ เมื่อนั้นท่านก็อาจได้ยินเสียงกลองของโยคินท่านนี้ในวันอันเป็นมงคลบางวัน แม้ว่าจะไม่มีผู้ใดได้ยินเลยก็ตาม


    [b-wai]


    เจารางคิ

    ตำนานที่กล่าวถึงเจารางคิ ที่ได้รับฉายาว่า "พรรคพวกหัวขโมย" นั้น มีดังนี้:
    ดังเรื่องที่มีมาแล้วว่ายุพราชซึ่งแขนขาถูกตัดขาด นอนเกลือกกลิ้งอยู่ตรงโคนไม้ อจินตะได้อภิเษกให้ท่านและมอบหลักธรรมคำสอน รวมถึงอุบายการหายใจแบบกุณฑลินีปราณายามให้ พร้อมทั้งบอกกับท่านว่า "เมื่อใดที่เจ้าเข้าถึงสิทธิอำนาจ ร่างกายของเจ้าจะคืนสภาพดังเดิม" หลังจากอจินตะอบรมสั่งสอนเสร็จก็จากไป เจารางคิจึงปฎิบัติสมาธิภาวนาตามที่ได้รับการอบรมสั่งสอน
    สิบสองปีต่อมามีพวกพ่อค้าสูงศักดิ์นำสินค้าพวกทอง เงิน แก้ว และของมีค่าอื่น ๆ เดินทางผ่านมาทางนั้น ซึ่งรู้กันดีว่าเป็นถิ่นโจร ครั้นพอมืดค่ำ เมื่อเจารางคิกลับคืนมาสู่โคนไม้ที่อาศัย ครั้นพอได้ยินเสียงฝีเท้าผู้คน จึงถามไปว่า "นั่นใคร" พวกพ่อค้าหวาดคิดไปว่าคงจะเป็นโจรหรือพวกขโมย จึงเสตอบไปว่า "เราเป็นพวกพ่อค้าถ่าน" เจารางคิจึงกล่าวว่า "ขอให้เป็นดังนั้น"
    เมื่อพวกพ่อค้ากลับมาถึงบ้าน ก็ต้องตระหนกตกใจยิ่งที่พบว่า ข้าวของเงินทองของตนต่างกลายเป็นถ่านไปสิ้น พยายามคิดเท่าใดก็คิดไม่ตกว่าเกิดอะไรขึ้น ต่างพากันพิศวงงงงวยยิ่งนัก ครั้นแล้วพ่อค้าคนหนึ่งจึงนึกขึ้นได้ว่า "ขณะที่พวกเราเดินทางกันไปในยามค่ำคืน มีคนผู้หนึ่งถามเราว่า 'นั่นใคร' แน่นอนว่าคนผู้นั้นคงจะเป็นผู้มีวาจาสัตย์ซึ่งมีอำนาจดลบันดาลให้สิ่งต่าง ๆ เป็นไปตามนั้นเป็นแม่นมั่น ขอให้เราจงกลับไปดูว่านี่จะใช่สาเหตุหรือไม่"
    พวกพ่อค้าจึงกลับเข้าไปในป่า เมื่อแลเห็นคนผู้หนึ่งที่แขนขาถูกตัดขาดนั่งอยู่โคนไม้ จึงเล่าเรื่องของตนให้ฟัง และขอให้เจารางคิช่วยถอนคำพูดด้วย ท่านจึงตอบว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นหาใช่เจตนาของข้าไม่ แต่ด้วยเหตุที่มันเป็นไปแล้ว ก็ขอให้ของมีค่าทุกสิ่งกลับคืนสู่สภาพเดิม"
    เมื่อพวกพ่อค้ากลับมาถึงบ้านก็พบว่าสินค้ามีค่าทุกอย่างได้กลับคืนเป็นเหมือนเดิม ต่างก็พากันอัศจรรย์ใจยิ่ง จึงนำของกำนัลกลับไปหาพลางบอกเล่าเรื่องราวทุกสิ่ง เจารางคิจึงเล่าให้ฟังถึงวาจาของคุรุพลางกล่าวขึ้นว่า "ขอให้ร่างกายของข้าจงกลับคืนสู่สภาพเดิม" และทุกสิ่งก็เป็นไปตามนั้น
    ท่านได้เข้าถึงสิทธิอำนาจทุกประการ อาจกระทำปาฏิหาริย์ได้นับคณา แต่ด้วยเหตุที่ท่านเห็นว่าหลักธรรมที่ท่านบรรลุถึงนั้นสูงส่งลึกซึ้งเกินกว่าจะสอนสั่งมนุษย์ผู้ใด ท่านจึงมอบหลักธรรมนั้นให้แก่ต้นไม้ที่ท่านได้อาศัยร่มเงาพำนัก ไม้ต้นนั้นก็กลับเป็นอมตพฤกษ์ กล่าวกันว่าไม้ทิพย์นี้ยังคงอยู่แม้กระทั่งทุกวันนี้ นี่คือที่สุดของตำนานแห่งอมรท่านนี้

    [b-wai]
     
  2. วิทย์

    วิทย์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 พฤศจิกายน 2004
    โพสต์:
    2,036
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,439
    จริงๆมีอยู่หลายท่าน แต่ผมคัดเลือกประวัติของบางท่านมาเพื่อจะสื่อให้เห็นว่า คำสอนของสายวัชรยานนั้นเป็นคำสอนที่ไม่เป็นสาธารณะกับบุคคลทั่วไป แต่เป็นคำสอนเฉพาะสำหรับบางท่านที่มีอินทรีย์แก่กล้าและได้ถูกคัดเลือกจากคุรุแล้วเท่านั้น ดังนั้นวิธีการบางอย่างไม่ใช่ว่าใครอ่านแล้วจะนำไปเลียนแบบหรือปฏิบัติเอาเองตามความเข้าใจของตนก็ได้หรอกนะครับ ต้องได้รับการถ่ายทอดจากคุรุที่ปฏิบัติเข้าถึงแล้วเท่านั้นครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...