ชีวิตที่เลือกได้...และเลือกแล้ว "กรุณา กุศลาสัย" รำลึกครบ 100 วันการจากไป

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 4 พฤศจิกายน 2009.

  1. vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,174
    โดย สิริวรรณ ศรีเพ็ญจันทร์



    หากใครได้อ่านผลงานแปลกวีนิพนธ์ที่มีความงดงามด้วยภาษาและความไพเราะจากหนังสือ "คีตาญชลี" หรือ "โลกทั้งผองพี่น้องกัน มหาตมา คานธี" ย่อมต้องรู้จักนามของผู้แปล ซึ่งเป็นชายสูงอายุผู้เปี่ยมด้วยเมตตาตามชื่อของเขา "กรุณา กุศลาสัย"

    ชายผู้นี้เป็นนักเขียนบทความและสารคดี ที่เชี่ยวชาญด้านภาษาฮินดี ภาษาสันสกฤต และวัฒนธรรมอินเดีย

    เคยได้รับการเชิดชูเกียรติรางวัลศรีบูรพา รางวัลนราธิป และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์มาแล้ว

    และสำหรับผลงานชิ้นสำคัญที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักในสังคม นอกจากหนังสือที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมี อัตชีวประวัติ เรื่อง "ชีวิตที่เลือกไม่ได้" ซึ่งเป็นงานที่เขาเขียนเล่าให้ลูกๆ ฟัง อย่างอ่อนน้อมถ่อมตน และยังแปลเป็นภาษาอังกฤษให้ได้รับรู้กันในวงกว้างออกไปยังนานาชาติอีกด้วย

    แต่ถ้าเราอ่านในระหว่างบรรทัดจะเห็นได้ว่าชีวิตของเขาป็น ชีวิตที่เลือกได้ และ เลือกแล้ว ที่จะเป็นคนเอาชนะอุปสรรคและความยากจน

    เลือกเดินตามทางของสาธุชน ด้วยวิริยะ อุตสาหะ โดยสามารถแสวงหากัลยาณมิตร และมองคนในแง่ดี แม้จะเห็นข้อบกพร่องของบุคคลนั้นๆ เขาก็เข้าใจและให้อภัย

    "กรุณา กุศลาสัย" มีนามเดิม "กิมฮง แซ่โค้ว" เกิดในเรือกระแชง หน้าวัดตะแบก ต.แควใหญ่ อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ บิดามารดามีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว มีอาชีพค้าขายทางเรือ แต่เสียชีวิตเมื่อกรุณายังเด็ก จึงเติบมาโดยการเลี้ยงดูของน้าสาว เมื่อน้าสาวเสียชีวิตจึงได้ไปบวชเป็นสามเณร เมื่ออายุ 13 ปี ในโครงการ "พระภิกษุสามเณรใจสิงห์" ของ พระโลกนาถ พระสงฆ์ชาวอิตาลี เพื่อนำภิกษุสามเณรจากประเทศไทย พม่า ศรีลังกา ไปศึกษาอบรมที่ประเทศอินเดีย

    กรุณา กุศลาสัย ได้ศึกษาภาษาฮินดี ภาษาสันสกฤต และภาษาอังกฤษจนเชี่ยวชาญ สอบภาษาฮินดีได้ที่ 1 ของอินเดีย เมื่ออายุเพียง 18 ปี เริ่มเขียนข่าวและบทความ ส่งมาตีพิมพ์ในประเทศไทย ในวารสาร ธรรมจักษุ พุทธศาสนา และ ประชาชาติ ใช้นามปากกา "สามเณรไทยในสารนาถ" จากนั้นได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยวิศวภารติ ศานตินิเกตัน แคว้นเบงกอลตะวันออก ของ รพินทรนาถฐากูร
    <TABLE cellSpacing=5 cellPadding=1 width="20%" align=right border=0><TBODY><TR bgColor=#400040><TD>
    (ซ้ายสุด) อ.กรุณา-อ.เรืองอุไร กุศลาสัย</TD></TR></TBODY></TABLE>

    เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 อาจารย์กรุณา ได้สิ้นลมอย่างสงบ ณ บ้านลูกชาย ทางฝั่งธนบุรี นับอายุได้ 89 ปีเศษ โดยไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยแต่สิ้นอายุขัย นับว่าเป็นกุศลสมาจาร ซึ่งหาได้ยากในสมัยปัจจุบัน

    อาจารย์กรุณาผู้นี้นับว่ามีคุณูปการกับบ้านเมืองมิใช่น้อย และวิถีชีวิตของท่านก็เป็นแบบอย่างที่หาได้ยากยิ่ง

    การใช้ชีวิตคู่ร่วมกันกับ "เรืองอุไร กุศลาสัย" มาอย่างยืนยาวจนบั้นปลายชีวิต เป็นแบบอย่างของการใช้ชีวิตคู่ที่งดงาม อย่างที่เรียกว่า "ถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร" แม้ว่าอาจารย์เรืองอุไร จะมีสายตาที่มองไม่เห็น แต่อาจารย์กรุณาก็คอยเป็น "นัยน์ตา" ให้ตลอดของการใช้ชีวิตและผลิตผลงานร่วมกัน ในนาม "กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย"

    "เมื่อสมัยที่ผมต้องติดคุกการเมืองที่ลาดยาว 8-9 ปี เรืองอุไร คือผู้เดียวที่ต้องรับหน้าที่ดูแลลูกที่ยังเล็กทั้ง 3 คน อีกทั้งคอยส่งข้าวส่งน้ำให้ผมในคุก" ครั้งหนึ่งที่อาจารย์กรุณาเล่าให้ฟัง

    ในส่วนของผู้ที่ก้าวเดินตามสะพานเชื่อมอินเดียกับไทย ของอาจารย์กรุณานั้น ยังมีอาจารย์ประมวล เพ็ง-จันทร์ อีกคนที่ได้เขียนถึงความผูกพันและแรงบันดาลใจที่ก้าวเดินตาม ในนิตยสาร "ปาจารยสาร" ฉบับปัจจุบัน

    "ผมได้พบกับอาจารย์กรุณา ครั้งแรกในปี 2519 ที่บ้านของท่านสี่แยกพรานนก ขณะที่ผมบวชเป็นพระภิกษุได้หนึ่งพรรษา การพบกับอาจารย์กรุณา ถือเป็นการพบกับบุคคลผู้เป็นบัณฑิตโดยแท้ ความอ่อนน้อมถ่อมตน สุภาพ อ่อนโยน ปรากฏในทุกๆ อิริยาบถ และทุกๆ อิริยาบถนั้นบ่งบอกให้รู้ถึงความเป็นปราชญ์ของอาจารย์ ความประทับใจในตัวอาจารย์กรุณา เป็นแรงดูดที่ทำให้มุ่งเข้าหาอินเดีย" <TABLE style="BORDER-RIGHT: #ffffff 1px dotted; BORDER-TOP: #ffffff 1px dotted; BORDER-LEFT: #ffffff 1px dotted; BORDER-BOTTOM: #ffffff 1px dotted" cellSpacing=5 cellPadding=1 width="20%" align=left border=2><TBODY><TR bgColor=#ffffe8><TD></TD></TR></TBODY></TABLE>

    ชีวิตของอาจารย์กรุณาจึงเป็นชีวิตที่น่าศึกษามาก เพราะเกิดและเติบโตมาในครอบครัวยากจน แต่สามารถแสวงหาความรู้ด้วยความมานะบากบั่นอย่างยิ่ง จนมีความรู้เข้าขั้นปราชญ์

    เป็นเหตุให้ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ร่วมกับหลายองค์กร คิดและได้ก่อตั้ง "กองทุนกรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย เพื่อความเป็นไท ของเด็กและเยาวชน" ขึ้น ซึ่ง ประวิทย์ เยี่ยมแสนสุข" เป็นประธานกองทุน

    ประวิทย์ ได้ชี้แจงแนวคิดการก่อตั้งกองทุนว่า การที่อาจารย์กรุณาตายจากไปคราวนี้ เราควรทำอะไรบ้าง เพื่อช่วยกันสรรค์สร้างให้มีคนอย่างนี้อยู่ร่วมสมัยกับเราต่อๆ ไป ทั้งในช่วงอายุและรุ่นลูกรุ่นหลานของเราด้วย ให้เขาเหล่านั้นได้เป็นทั้งคนดี ที่มีความรู้ และอุทิศตนเพื่อส่วนรวมอย่างปิดทองหลังพระ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งกองทุนกรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัยฯ ซึ่งมุ่งถึงคนกลุ่มน้อยที่ถูกเอาเปรียบ เด็กที่อยู่ในสลัม และสามเณรให้มีศักดิ์ศรีและดำรงตนอยู่ในเพศบรรพชิตอย่างมีความสุข พร้อมกับเปิดทางเลือกใหม่ๆ ด้านความคิด อาชีพ ให้กับกลุ่มเด็ก-เยาวชนที่ด้อยโอกาสด้วย

    สำหรับวาระครบรอบ 100 วันแห่งการจากไปของอาจารย์กรุณา มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป มูลนิธิโกมลคีมทอง หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรำลึกในวาระดังกล่าวขึ้น ในวันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2552 เวลา 14.00-20.00 น. บริเวณชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

    ทั้งนี้ ไพโรจน์ จะเชิญรัมย์ เลขานุการกองทุน บอกรายละเอียดของการจัดงาน ว่าจะมีกิจกรรมหลายด้าน ทั้งด้านความจริงที่จะได้รับฟังปาฐกถาในหัวข้อ "ชีวิตที่เลือกได้...เพื่ออะไร" ด้านความงาม-จะได้สัมผัสกับกวีหลากหลายท่าน นับตั้งแต่ ท่านจันทร์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กลุ่มศิลปินรุ่นใหม่อย่าง Thaipoet Society และ ปกรณ์ เลิศเสถียรชัย

    การแสดงมโหรีดนตรีไทย บรรเลงทำนองอินเดีย จากวงดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และการเดี่ยวไวโอลีนจาก พลภัทร จิตติวุฒิการ พร้อมการวาดภาพประกอบกับ สมยศ คำแสง แห่งเพาะช่าง

    นอกจากนี้ยังมีการแสดงวัฒนธรรมอินเดีย "India Folks Dance" จาก "India Women Club" การแสดงดนตรีบทสวด Bhajan และ ปิดท้ายรายการด้วยการแสดงผลงานเดี่ยว ชุด "I Am a Demon" จาก พิเชษฐ กลั่นชื่น สำหรับการแสดงชุดนี้มีบัตรจำหน่ายในราคา 800/1,000/1,500 บาท เพื่อนำรายได้ทั้งหมดสมทบเข้ากองทุนกรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัยฯ

    และตลอดงานเป็นนิทรรศการศิลปะชุด "ชีวิตที่เลือกไม่ได้" จากศิลปินชั้นนำ อาทิ อังคาร กัลยาณพงศ์, ประเทือง เอมเจริญ, ช่วง มูลพินิจ และศิลปินที่จบจากศานตินิเกตัน เช่นเดียวกับอาจารย์กรุณาหลากหลายท่าน จำนวนกว่า 50 ชิ้น มีอาหาร ขนม จากอินเดีย ให้รับประทานอย่างเต็มอิ่ม

    ต้องการร่วมสนับสนุนกิจกรรม อุดหนุนเยาวชนผู้ด้อยโอกาสในสังคม ให้มีชีวิตที่สามารถเลือกได้ โดยร่วมบริจาคเงินเข้ากองทุนได้ที่ "บัญชีมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป เพื่อกองทุนกรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย เลขที่บัญชี 024-269259-0 ประเภทออมทรัพย์ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเจริญนคร"

    สอบถามเพิ่มเติมที่ 0-2438-9331-2, 08-6608-1018, 08-6012-9690 หรือ www.snf.or.th

    เพื่อให้ชีวิตอีกหลายชีวิตมีโอกาสผลิตดอกออกผลเป็นพืชพันธุ์ดีที่สมบูรณ์ของสังคมต่อไป

    ˹ѧ
     

แชร์หน้านี้