พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๒๐๘/๔๐๒
กึสุกสูตร
[๓๓๙] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่งถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้ถามภิกษุ
รูปนั้นว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล ภิกษุรูป
นั้นกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุที่ภิกษุรู้ชัดเหตุเกิด และ
ความดับแห่งผัสสายตนะ ๖ ตามความเป็นจริง ที่นั้นแล ภิกษุนั้นไม่ยินดีด้วยการพยากรณ์
ปัญหาของภิกษุนั้น จึงเข้าไปหาภิกษุอีกรูปหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ทัศนะของ
ภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล ภิกษุรูปนั้นกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ทัศนะ
ของภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุที่ภิกษุรู้ชัดเหตุเกิด และความดับแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ ตาม
ความเป็นจริง ที่นั้นแล ภิกษุนั้นไม่ยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหาของภิกษุนั้น จึงเข้าไปหาภิกษุ
อีกรูปหนึ่งแล้วได้ถามว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุเพียงเท่าไร
หนอแล ภิกษุนั้นกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดี ด้วยเหตุที่ภิกษุ
รู้ชัดเหตุเกิด และความดับแห่งมหาภูตรูป ๔ ตามความเป็นจริง ทีนั้นแล ภิกษุนั้นไม่ยินดีด้วย
การพยากรณ์ปัญหาของภิกษุนั้น จึงเข้าไปหาภิกษุอีกรูปหนึ่งแล้วได้ถามว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ทัศนะ
ของภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล ภิกษุรูปนั้นกล่าวว่าดูกรท่านผู้มีอายุ
ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุที่ภิกษุรู้ชัด ตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความ
เกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา ฯ
[๓๔๐] ที่นั้นแล ภิกษุไม่ยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหาของภิกษุนั้น จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้
มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระองค์เข้าไปหา
ภิกษุรูปหนึ่งถึงที่อยู่ แล้วได้ถามว่าดูกรท่านผู้มีอายุ ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุ
เพียงเท่าไรหนอแลข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ถามอย่างนี้แล้ว ภิกษุนั้นได้กล่าวกะ
ข้าพระองค์ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุที่ภิกษุรู้ชัดเหตุเกิด และ
ความดับแห่งผัสสายตนะ ๖ ตามความเป็นจริง ทีนั้นแล ข้าพระองค์ไม่ยินดีด้วยการพยากรณ์
ปัญหาของภิกษุนั้น จึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่งถึงที่อยู่ แล้วได้ถามว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ทัศนะของ
ภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุเพียงเท่าไรเมื่อข้าพระองค์ถามอย่างนี้แล้ว ภิกษุนั้นได้กล่าวกะ
ข้าพระองค์ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุที่ภิกษุรู้ชัดเหตุเกิด และ
ความดับแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง ทีนั้นแล ข้าพระองค์ไม่ยินดีด้วยการพยากรณ์
ปัญหาของภิกษุนั้น จึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่งถึงที่อยู่ แล้วได้ถามว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ทัศนะของ
ภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุเพียงเท่าไร เมื่อข้าพระองค์ถามอย่างนี้แล้ว ภิกษุนั้นได้กล่าวกะ
ข้าพระองค์ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดี ด้วยเหตุที่ภิกษุรู้ชัด เหตุเกิด
และความดับแห่งมหาภูตรูป ๔ ตามความเป็นจริง ทีนั้นแล ข้าพระองค์ไม่ยินดีด้วยการพยากรณ์
ปัญหาของภิกษุนั้นจึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่งถึงที่อยู่ แล้วได้ถามว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ทัศนะของ
ภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุเพียงเท่าไร เมื่อข้าพระองค์ถามอย่างนี้แล้ว ภิกษุนั้นได้กล่าวกะ
ข้าพระองค์ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุที่ภิกษุรู้ชัด ตามความ
เป็นจริงว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา
ทีนั้นแล ข้าพระองค์ไม่ยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหาของภิกษุนั้น จึงเข้ามาเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
ที่ประทับ ขอทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดี
ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล ฯ
[๓๔๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ บุรุษยังไม่เคยเห็นต้นทองกวาว บุรุษนั้น
พึงเข้าไปหาบุรุษคนใดคนหนึ่งผู้เคยเห็นต้นทองกวาวถึงที่อยู่ แล้วถามอย่างนี้ว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ
ต้นทองกวาวเป็นเช่นไร บุรุษนั้นพึงตอบว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ต้นทองกวาวดำเหมือนตอไม้
ไหม้ ก็สมัยนั้นแล ต้นทองกวาวเป็นดังที่บุรุษนั้นเห็น ทีนั้นแล บุรุษนั้นไม่ยินดีด้วยการพยา
กรณ์ปัญหาของบุรุษนั้นพึงเข้าไปหาบุรุษคนหนึ่งผู้เคยเห็นต้นทองกวาวถึงที่อยู่ แล้วถามว่า ดูกร
บุรุษผู้เจริญ ต้นทองกวาวเป็นเช่นไร บุรุษนั้นพึงตอบว่า ต้นทองกวาวแดงเหมือนชิ้นเนื้อ ก็
สมัยนั้น ต้นทองกวาวเป็นดังที่บุรุษนั้นเห็น ทีนั้นแล บุรุษนั้นไม่ยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหา
ของบุรุษนั้น พึงเข้าไปหาบุรุษคนหนึ่งผู้เคยเห็นต้นทองกวาวถึงที่อยู่ แล้วถามอย่างนี้ว่า ดูกร
บุรุษผู้เจริญ ต้นทองกวาวเป็นเช่นไร บุรุษนั้นพึงตอบอย่างนี้ว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ต้นทองกวาว
ที่เกิดนานมีฝักเหมือนต้นซึก ก็สมัยนั้นแล ต้นทองกวาวเป็นดังที่บุรุษนั้นเห็น ทีนั้นแล บุรุษ
นั้นไม่ยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหาของบุรุษนั้น พึงเข้าไปหาบุรุษคนหนึ่งผู้เคยเห็นต้นทองกวาวถึง
ที่อยู่ แล้วถามอย่างนี้ว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ต้นทองกวาวเป็นเช่นไร บุรุษนั้นพึงตอบว่า ดูกรบุรุษ
ผู้เจริญ ต้นทองกวาวมีใบแก่และใบอ่อนหนาแน่น มีร่มทึบเหมือนต้นไทร ก็สมัยนั้น ต้นทอง
กวาวเป็นดังที่บุรุษนั้นเห็น แม้ฉันใด ดูกรภิกษุ ทัศนะของสัตบุรุษเหล่านั้น ผู้น้อมไปแล้ว
เป็นอันหมดจดดีด้วยประการใดๆ เป็นอันสัตบุรุษทั้งหลายผู้ฉลาด พยากรณ์แล้วด้วยประการ
นั้นๆ ฉันนั้นแล ฯ
[๓๔๒] ดูกรภิกษุ เหมือนอย่างว่า เมืองชายแดนของพระราชาเป็นเมืองที่มั่นคง มี
กำแพงและเชิงเทิน มีประตู ๖ ประตู นายประตูเมืองนั้นเป็นคนฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา
คอยห้ามคนที่ตนไม่รู้จัก อนุญาตให้คนที่ตนรู้จักเข้าไปในเมืองนั้น ราชทูตคู่หนึ่งมีราชการด่วน
มาแต่ทิศบูรพา พึงถามนายประตูนั้นว่า แน่ะบุรุษผู้เจริญ เจ้าเมืองนี้อยู่ที่ไหน นายประตูนั้น
ตอบว่า แน่ะท่านผู้เจริญ นั่นเจ้าเมืองนั่งอยู่ ณ ทางสามแพร่งกลางเมือง ทีนั้นแล ราชทูตคู่
นั้นมอบถ้อยคำตามความเป็นจริงแก่เจ้าเมืองแล้ว พึงดำเนินกลับไปตามทางที่มาแล้ว ราชทูตคู่
หนึ่งมีราชการด่วนมาแต่ทิศปัจจิม... ราชทูตคู่หนึ่งมีราชการด่วนมาแต่ทิศอุดร... ราชทูตคู่หนึ่ง
มีราชการด่วนมาแต่ทิศทักษิณ แล้วถามนายประตูนั้นอย่างนี้ว่า แน่ะบุรุษผู้เจริญ เจ้าเมืองนี้อยู่ที่
ไหน นายประตูนั้นพึงตอบว่า แน่ะท่านผู้เจริญ นั่นเจ้าเมืองนั่งอยู่ ณ ทางสามแพร่งกลางเมือง
ทีนั้นแล ราชทูตคู่หนึ่งนั้นมอบถ้อยคำตามความเป็นจริงแก่เจ้าเมืองแล้ว พึงดำเนินกลับไปทาง
ตามที่มาแล้ว ดูกรภิกษุ อุปมานี้แล เรากระทำแล้วเพื่อจะให้เนื้อความแจ่มแจ้ง ก็ในอุปมานั้นมี
เนื้อความดังต่อไปนี้ คำว่าเมือง เป็นชื่อของกายนี้ที่ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ ซึ่งมีมารดาและ
บิดาเป็นแดนเกิด เจริญขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด มีอันต้องอบ ต้องนวดฟั้นเป็นนิตย์ มีอัน
ทำลายและกระจัดกระจายเป็นธรรมดาคำว่าประตู ๖ ประตู เป็นชื่อของอายตนะภายใน ๖ คำว่า
นายประตูเป็นชื่อของสติคำว่าราชทูตคู่หนึ่งมีราชการด่วน เป็นชื่อของสมถะและวิปัสนา
คำว่าเจ้าเมืองเป็นชื่อของวิญญาณ คำว่าทางสามแพร่งกลางเมือง เป็นชื่อของมหาภูตรูป ๔ คือ
ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ คำว่าถ้อยคำตามความเป็นจริง เป็นชื่อของนิพพาน
คำว่าทางตามที่มาแล้ว เป็นชื่อของอริยมรรคมีองค์ ๘ คือสัมมาทิฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ ฯ
จบสูตรที่ ๘