ฌาปนกิจ:โลงศพ/หีบศพ

ในห้อง 'เรื่องผี' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 5 กันยายน 2006.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,488
    คนยากว่าผี ผู้ดีว่าศพ

    สำนวนไทย


    นพพร สุวรรณพานิช

    โดยทั่วไปมักเรียกกันว่าโลงมากกว่าโลงผี โลงเป็นหีบสำหรับบรรจุศพ ในกรณีที่พูดว่าหีบศพ มักใช้หมายถึงหีบงดงามที่ใช้ในพิธีศพ แต่บางทีก็เป็นหีบทั่วไปที่ใช้ในการบรรจุศพ โลงและหีบศพต่างจากลัง ตรงที่ลังมีปากผายแต่เป็นรูปสี่เหลี่ยมเช่นกัน ส่วนที่เรียกว่าโกศนั้นเป็นที่ใส่ศพแบบใช้ในการนั่ง เป็นรูปกลมทรงกระบอก มีฝาครอบที่ยอด เป็นที่ใส่กระดูกผี มีขนาดแตกต่างกัน บางทีก็เรียกพระโกศ มีโกศชั้นในใช้คำว่าลองใน และมีโกศชั้นนอก เรียกเป็นราชาศัพท์ว่าจำลอง บางคนก็เรียกลองประกอบหรือพระลองก็ได้

    ฝรั่งคล้ายกับไทยที่เรียกได้หลายอย่าง แต่ตะวันตกไม่มีโกศโดยตรงแบบไทย โดยทั่วไปมักเรียกกันว่า coffin คำนี้มาจากภาษากรีก kophinus แปลว่าตะกร้า ภาษาละตินก็พูดคล้ายๆ กัน แล้วเป็นภาษาฝรั่งเศส ความจริงอาจหมายถึงหีบก็ได้ จึงคล้ายกันกับคำว่าโลงในภาษาไทย กระนั้น coffin ที่ใช้ในภาษาอังกฤษมีการพูดคำนี้กันทั่วไปในศตวรรษที่ ๑๖ ตอนต้น

    ตะวันตกพูดโลงหลายคำด้วยกัน เช่น casket แปลว่าหีบเล็ก pall ดังที่ไทยอาจเรียกว่าผ้าคลุมศพ มักใช้กับทหารเรือที่หาศพไม่พบหรือไม่ทราบชิ้นส่วน แต่ศพตะวันตกมักมีธงคลุมอยู่ชั้นนอกโลง บางทีก็เลยเรียก pall ว่าโลงศพไปด้วย

    catafalque คล้ายกับ catacomb หรือที่ฝังศพใต้ดิน ในโรมยุคโบราณร่างของนักบุญปีเตอร์และนักบุญพอลฝังใน catacomb แต่ในยุคหลังศตวรรษที่ ๑๗ ใครก็ตามที่ถึงแก่ชีวิต ก็เรียกกันว่า ฝังใน catacomb

    ส่วน catafalque มาจากภาษาอิตาเลียนและฝรั่งเศส แปลตรงตัวว่าพิธีตั้งศพหรือพิธีวางศพโดยไม่บรรจุหีบ คำนี้เรียกกันทุกวันนี้ว่าที่ฝังศพ บางทีก็เป็นรถบรรทุกศพ แต่ไม่

    เกี่ยวกับโลงศพโดยตรง

    ศัพท์ตะวันตกอีกคำหนึ่งคือ sarcophagus ในแง่นิรุกติศาสตร์แปลว่ากินเนื้อ เป็นศัพท์กรีกเดิม ต่อมากลายเป็นละติน ตัวแรกหรือ sarco แปลว่าเนื้อ ด้วยเหตุนี้คำว่า sarcusm ซึ่งมาจาก sarco แปลว่าเย้ยหยัน ความหมายเดิมคือกินเนื้อเถือหนัง ทั้งนี้ก็เพราะโลงศพนั้นเคยใส่ด้วยหินปูน เชื่อกันว่าหินปูนทำให้เนื้อตายซากได้เร็ว ต่อมาคำ sarcophagus ก็หมายความว่าโลงศพไปด้วย

    ในภาษาไทย คำว่าโลงศพนั้นแปลกอยู่อย่างหนึ่งที่คำมลายูใช้ว่า long และออกเสียงคล้ายไทยว่าโลง แต่ไม่มีไม้ปิดท้อง ส่วนคำศพมาจากภาษาชมพูทวีป ใช้คำว่าฉวะ ได้ลองเปิดตำรับตำราต่างๆ ที่เขียนเป็นภาษาไทยกลับไม่พบคำว่าโลงศพหรือโลงผี โดยทั่วไปมักพูดถึงศพ ดังเช่นตั้งศพ เฝ้าผี เจตภูต ปิดหน้าศพ พวงหรีด ปลงศพ เป็นต้น ลองดูที่สารานุกรมวัฒนธรรมภาคต่างๆ กว่า ๔๐ เล่มด้วยกัน ก็หาได้พบคำว่าโลงศพโดยตรงไม่ จึงเป็นเรื่องที่แปลกใจเพราะนึกไม่ถึงมาก่อน ถึงจะมีก็เขียนไว้เพียงไม่กี่บรรทัด แต่ละบรรทัดก็มีข้อความไม่มากนัก ในที่นี้ต้องขอพูดถึงโลงศพของต่างชาติก่อนที่จะพูดถึงของไทย

    โดยปกติคนทั่วไปรู้วิธีแล้วมีประเพณีในการขจัดศพหรือเรื่องร้ายให้พ้นออกไป แม้ว่าคนทั่วไปนับถือศพก็ตาม การทำศพหรือพิธีมีมาแต่ความคิดเรื่องความตายและชาติหน้า วิธีที่ใช้ในการทำศพจึงเป็นการฝังหรือใส่ในโลงหรือไม่ใส่ และการเผาหรือฌาปนกิจศพ ข้อที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคนกรีกและโรมันใช้วิธีฝังหรือเผา ตอนที่บรูตุสสังหารจูเลียส ซีซาร์ ก็ใช้วิธีฝัง กวีเชคสเปียร์แม้ไม่เคยไปที่โรม ก็เขียนไว้ในบทกวีนิพนธ์ดังที่กล่าวว่า

    I came to bury Caesar, not to praise him,

    The evil that men do lives after them,

    The good is oft interred with their bones. ทั้งหมดนี้ฟังคล้ายพฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี

    อันเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส

    พิธีศพโดยปกติมีกิจกรรมทางศาสนาที่เรียกว่าศาสนกิจและตามด้วยการฌาปนกิจศพ หีบศพของชาวกรีกมักแตกต่างกัน เป็นรูปแบบโกศคล้ายกาชาและกาแฟ แต่ไม่ใช่โกศแบบไทย มักเป็นรูปหกเหลี่ยมหรือสามเหลี่ยม ผู้ตายกำลังนั่งอยู่ วัตถุที่ใช้เป็นดินเผา บางกรณีมีการเผา ในสมัยที่ศาสนาคริสต์เข้าไปในกรุงโรม ได้ใช้โลงศพเป็นหิน คนรวย

    ที่เป็นชาวโรมันใช้หินปูนเป็นโลงศพ โดยเอามาจากเมืองแอซซัสในเอเชียน้อย เข้าใจว่าหินปูนนี้กัดซากศพได้ดี

    แต่พวกชัลเดียน (Chaldeans) นั้นใช้โกศทำด้วยดินเหนียว เปิดตรงข้างบนทางซ้ายไว้ ร่างถูกมัดโดยรอบเหตุเพราะไม่สะดวกในการเผาหลังจากที่เผาดินเหนียวแล้ว ส่วนชาว

    โยนกประเทศ (อียิปต์) ใช้โลงศพขนาดใหญ่ทำด้วยหิน แต่ขัดให้มันแล้วหุ้มด้วยเฮียโรกลิฟฟิค มีประวัติของผู้ตายอยู่ด้วย ผู้ที่เดินทางไปประเทศนี้จะพบโลงศพทำนองนี้ ข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่ง ทรวงอกของมัมมี่ทำให้เป็นรูปที่เข้ากับร่างกายของคน โลงศพใช้ไม้แข็งหรือพาพิเอร์มาเช่ อันเป็นกระดาษสีที่ปะเข้ากันแล้วเขียนลวดลายต่างๆ ไว้ บางทีก็เป็น

    เฮียโรกลิฟฟิคที่เจาะเป็นรู

    ในยุคเดิมโลงศพเป็นไม้โดยมักทำขึ้นจากปีกไม้ แล้วผ่าตรงกลาง โลงศพประเภทนี้ปรุงแต่งและไสให้เรียบใช้กันในยุโรปยุคกลาง ทั้งนี้หินมีราคาแพง ส่วนคนจนนั้นไม่ใช้โลงศพ เพียงแต่พันร่างหุ้มด้วยหญ้าแห้งและดอกไม้ นอกจากนี้ยุโรปยังใช้โลงทำด้วยตะกั่ว โลงที่ทำด้วยเหล็กนั้นอังกฤษและสก๊อตแลนด์ได้ใช้กับทุกชนชั้น

    ส่วนพวกอินเดียนแดงทางเหนือของอเมริกาใต้ใช้โลงศพที่ถากด้วยขวานหยาบๆ แต่อินเดียนแดงบางกลุ่มใช้ท้องของเต่าใส่ศพไว้ ปกติร่างนั้นพันด้วยผ้าห่ม บางทีก็ใช้ตะกร้าส่วนตัวลงไปด้วย ผู้ที่อาศัยติดกับน้ำใช้ศพใส่ลงในเรือแจวแล้วลอยไปตามน้ำ ในออสเตรเลียพวกชาวเผ่าใช้เปลือกไม้เป็นโลงศพ

    ในสหรัฐ กระจกใช้เป็นฝาของโลงข้างในเป็นทองแดงหรือสังกะสี ถ้าเป็นศพที่มีการเผาจะมีวัตถุที่เผาติดไฟได้ง่าย มีขี้เถ้าอยู่เล็กน้อยในโลง

    ในอินเดีย พวกพราหมณ์ไม่ทำพิธีให้คนที่จมน้ำตายหรือฆ่าตัวตาย ไม่มีทั้งการทำศพ โลงศพนั้นไม่ต้องใช้แบบเดียวกับผู้ที่ตายโดยวิธีอื่น ซึ่งมีการเผา ฉีกร่างออกเป็นชิ้นๆ และการฝัง ในนิกายญี่ปุ่นในระบบเซนและพุทธใช้ใบมีดโกนตัดปอยผมของผู้ที่ถึงแก่กรรม ใช้กระจกเงาเพื่อป้องกันผีร้าย แม้แต่จอมพลแปลก พิบูลสงคราม คราวที่ถึงแก่อนิจกรรมในญี่ปุ่น ก็ใช้วิธีนี้ มักใช้ผ้าคลุมศพที่เรียกกันว่า shroud (ดังที่ไทยเรียกว่าตราสัง) มีสีแดง แล้วใส่เงินในปากเพื่อเอาไว้ใช้ในชาติหน้า

    โดยปกติ โลงศพมักวาดรูปเป็นลายต่างๆ โลงศพมักตกแต่งให้เข้ากับร่างคน แต่ส่วนใหญ่มีรูปรีหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ในญี่ปุ่นและทิเบตเป็นทรงเหลี่ยมตามบาศก์โดยที่ศพนั่งหรือหมอบอยู่ ศพฝรั่งส่วนใหญ่ในปัจจุบันทำพิธีอย่างรวดเร็วในโรงสวดภายในที่ฝังศพ สัปเหร่อดังที่ฝรั่งเรียกว่า undertaker หรือ mortician บางทีก็เรียก funeral directy ใช้เวลา

    อย่างมากเพียง ๓ วัน หลังจากการตายเพื่อดองศพ ผู้ที่ถึงแก่กรรมมักเป็นผู้มีชื่อเสียง ฝ่ายศาสนกิจมีหน้าที่จัดรถขนศพ เตรียมดอกไม้และโลงศพซึ่งฝรั่งมักใช้คำว่า casket มากกว่า coffin

    คนที่เป็นมุสลิมนั้นฝังเร็วกว่าคนตะวันตก เพราะรีบฝังทันที และเร็วกว่าคนไทยทั่วไปเพราะคนไทยเผาช้า บางทีก็รอตั้ง ๑๐๐ วัน ชาวมุสลิมต้องฝังก่อนพระอาทิตย์ตกดิน ศีรษะของร่างศพมุสลิมต้องอยู่ในทิศที่ชี้ไปทางเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย การเสียใจถึงขั้นร้องห่มร้องไห้ต่อการจากไป ห้ามกระทำโดยเด็ดขาด เพราะถือว่าการตายเป็นคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า ชาวมุสลิมไม่มีโลงศพ ส่วนชาวปาร์ซีสในอินเดียเรียกที่วางศพของตนว่าหอคอยแห่งความเงียบ เมื่อชาวปาร์ซีสตายลง ก็วางศพไว้บนดาดฟ้าแห่งนี้ แล้วรอให้แร้งกินศพเหลือแต่กระดูก คนที่กวาดกระดูกนั้นเอากระดูกใส่ในหลุมเดียวกัน ชาวปาร์ซีสจึงไม่มีโลงศพ

    ส่วนชาวฮินดูมักพรมน้ำหอมและประดับศพด้วยดอกไม้แล้วจึงเผา เอาขี้เถ้าโรยลงในแม่น้ำคงคา ในอดีตหญิงฮินดูที่สามีตายก็ต้องตายตามในเชิงตะกอนที่เผาสามี พิธีนี้เรียกกันว่าสตี สามีและภรรยาจะพบกันอีกในชาติถัดไป

    ชาวยิวนั้นสมัยก่อนเคยล้างชำระศพและใช้เครื่องเทศโรยแล้วห่อด้วยผ้าลินิน มีการว่าจ้างผู้ร่ำไห้ซึ่งจัดเป็นอาชีพหนึ่ง แต่เหมือนกับชาวฮินดูและมุสลิม ที่ไม่ใช้โลงศพ กระนั้นเมื่อสิ้นชีวิตครอบครัวก็ไว้ทุกข์อยู่ ๑ ปี ชาวยิวบางคนยังรักษาประเพณีไว้

    ชาวอียิปต์นั้นมีพิธีศพหรูหราและไว้ทุกข์อยู่ถึง ๗๒ วัน แต่ในยุโรปในยุคกลางกลับมีการฉลองงานศพด้วยความสนุกสนานรื่นเริง การฝังศพเป็นวิธีการที่ใช้กันในตะวันตก บางทีก็ทำกันในห้องบรรจุศพที่เรียกว่า vault หรือ chamber มักอยู่ในโบสถ์ ดังที่มักเรียกว่า mausoleum ในตะวันตก เวลาบรรจุศพในโลงจะวางศพโดยให้หลังของผู้ตายนอนแผ่ ขานั้นไม่ขัดกันและไม่หด แต่ชาวพุทธในอินเดียเอาศีรษะของผู้เสียชีวิตไว้ทิศเหนือดั่งที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานก็อยู่ทางทิศเหนือ พวกชาวคริสต์ในยุคต้นวางขาของผู้เสียชีวิตทางทิศ

    ตะวันออก อันเป็นทิศของการฟื้นคืนชีพ ส่วนคนพื้นเมืองที่เรียกว่าอะบอริจินีส ซึ่งหมายถึงชนพื้นเมืองในออสเตรเลียวางหัวเข่าไว้ชิดกับคาง โดยเชื่อว่าผู้ตายต้องไปเกิดในภพใหม่

    กล่าวโดยทั่วไป หลุมศพและโลงศพทั่วโลกมีลักษณะแห่งชาติและเป็นกิจการด้านศาสนา ศพบุคคลสำคัญของอเมริกา เช่น นายพลยูลิซิ เอส. กรานต์ อยู่ที่เมืองนิวยอร์ก อับราฮัม ลิงคอล์น อยู่ที่สปริงค์ฟีลด์ อิลลินอยส์ ส่วนทหารที่ตายไปโดยไม่ทราบนามอยู่ที่แม่น้ำโปโตแมกในหลุมศพที่เรียกว่าอาร์ลินตัน แม้แต่ตุตังคาเมน ฟาโรห์สวรรคตอยู่ที่ซาร์โคฟากัสราวก่อน ค.ศ. ๑๓๕๐ ปี ศพพระเจ้าอเล็กซานเดอร์อยู่ในซาร์โคฟากัสในกรีซ ส่วนพระเจ้านโปเลียนที่ ๑ ก็อยู่ในปารีส พระเยซูฝังที่กรุงเยรูซาเล็ม พระวรกายของพระพุทธเจ้าหรือพระสรีระเมื่อทำพิธีแล้วอยู่ที่สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา

    การเผานั้นปัจจุบันใช้ความร้อนประมาณ ๒,๐๐๐-๒,๕๐๐ ฟาเรนไฮต์ ใช้เวลา ๕๐-๖๐ นาที แล้วได้เศษอัฐิออกมา อัฐิอาจโรยหรือฝัง ในสมัยก่อนนิยมใช้ไฟเป็นตัวขับไล่สิ่งที่เลวร้าย ยกเว้นก็แต่อียิปต์ใช้การดองศพ ชาวปาเลสไตน์เคยฝังในถ้ำหรือในซอกหิน ส่วนคนจีนฝังในดิน พิธีของโลงศพจึงเป็นสิ่งจำเป็นขาดเสียมิได้ ภายหลังที่ศาสนาคริสต์อุบัติขึ้น การเผาศพจึงถูกยกเลิก กระนั้นการเผาโดยทั่วไปได้รับการยกเว้นในศตวรรษที่ ๑๙ ในแง่ที่ถูกลักษณะและป่าช้าก็ไม่ยัดเยียดจนเกินไป

    หนังสือเรื่องการทำศพในไทยมักไม่พูดถึงโลงศพ มักพูดถึงแต่การปิดหน้าศพ หวีผมศพ ตราสังศพ ฯลฯ ถ้ากล่าวถึงก็มีข้อความเพียงไม่กี่บรรทัด โดยมากมักกล่าวถึงการเบิก

    โลง การเบิกโลงไม่ใช่เบิกโรง เพราะเบิกโรง แปลว่าแสดงก่อนดำเนินเรื่อง ส่วนเบิกโลงนั้น พจนานุกรม ฉบับมติชน อธิบายว่า ทำพิธีก่อนบรรจุศพในโลง อันเป็นประเด็นที่จะพูดถึงต่อไป

    ในที่นี้ต้องพูดถึงโลงหรือหีบใส่ศพว่า ชาวฮินดูเป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นโดยใช้ไม้สานเป็นเฝือก และหุ้มห่อศพไปที่ป่าช้า ในยุคต่อมาได้เกิดการประชุมเพลิงขึ้น ให้ทำเป็นรางใส่ศพ เอาไม้ในป่าขุดขึ้น แต่ต่อมาทำเป็นไม้ต่อเป็นโลงแทนที่จะเป็นราง แต่ชาวฮินดูก็ไม่ทำในบ้าน แต่ทำในป่าหรือในวัด

    ส่วนคำเบิกโลงนั้นไทยมีมานานแล้ว ไม่ทราบว่ามีจุดกำเนิดเมื่อใด รู้ว่าเป็นการตัดไม้ท่อนใหญ่ ขุดให้ลึก ใช้ไม้ปากกาเบิกถ่างให้แบะออก บางทีก็ต่อหีบด้วยไม้กระดาน ไม้ปากกาทำด้วยไม้ไผ่เล็กๆ ยาวสักคืบหนึ่ง เอาสายสิญจน์ผูกปลายไม้รองปากโลง ใช้เทียน ๘ เล่ม ติดที่ปากโลง มีกระทงเย็บด้วยใบตอง ๔ มุม บรรจุของคาวหวานเครื่องเซ่น แล้วอ่านโองการ และวักน้ำมนต์ลูบหน้า เสยผมและประพรมโลง ต่อจากนั้นเอามีดหมอมาเสกคาถา แล้วถามว่าโลงนี้ใส่อะไร

    การเบิกโลงนี้ป้องกันไม่ให้อสุรกายเข้ามา จึงมีการถามตอบกัน เมื่อเสร็จพิธีเบิกโลงแล้วก็ยกศพขึ้นสู่ที่ตั้งเครื่องสักการบูชา การเบิกโลงนี้ต้องจำคาถาให้แม่นและโองการที่เรียกว่า

    น้ำมนต์ธรณีสารด้วย

    โดยทั่วไปโลงศพในเมืองไทยนั้นใช้กันทั่วไป ยกเว้นในท้องที่ห่างไกล จึงมัดศพด้วยผ้าแล้วเผาหรือย่าง ชาวพุทธโดยเฉพาะที่อยู่ภาคใต้มักต่อขึ้นชั่วคราว ทั้งนี้ก็เพื่อบรรจุแต่ละศพ ประดับด้วยกระดาษสีหรือกระดาษเงินกระดาษทอง แกะฉลุกันขึ้นเป็นลายต่างๆ แล้วเผาไฟ โลงศพในภาคใต้ต่างจากภาคอื่นซึ่งมีแต่โลงนอน ภาคใต้นั้นมีโลงนั่งและโลงสามส่วนด้วย

    โลงนอนมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า บรรจุศพตามความยาวโดยวางนอน จึงต่างจากโลงนั่งที่มีฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทรงสูงมีปากผายไม่มาก เมื่อถึงเวลาบรรจุศพให้ศพนั้นนั่งพนมมือ มักทำเป็นท่าชิดกับเข่า

    โลงที่เรียกกันว่าโลงสามส่วน เป็นการผสมระหว่างนั่งกับนอน แต่มีฐานเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า สั้นกว่าโลงนอนและเตี้ยกว่าโลงนั่ง ตรงปากค่อนข้างผาย จึงบรรจุแบบครึ่งนั่งครึ่งนอน โลงนอนนิยมกันมากที่สุด ส่วนโลงสามส่วนและโลงนั่งในภาคใต้นิยมกับผู้มีฐานะดี

    ข้อที่น่าสนใจก็คือ โลงทั้งสามมีองค์ประกอบด้วยกัน ๓ ส่วน กล่าวคือ ตัวโลง บางทีช่างก็เรียกว่าหน่วยไม้ มีฐาน และยอด ตัวโลงนอนมีขนาดราว ๑๗๕ x ๙๐ x ๕๐ เซนติ

    เมตร แต่สูง ๑๕๐ เซนติเมตร โดยประมาณ แต่ปากกว้างผายออกมา โลงสามส่วนนั้นใหญ่ราว ๕๕ x ๑๐๐ เซนติเมตร สูงประมาณ ๑๓๐ เซนติเมตร มีปากผายเช่นโลงนั่ง ไม้มักเป็นไม้สะท้อนเหตุเพราะไหม้ไฟช้า ไม้ที่ไม่นิยมคือไม้ตะเคียน การที่เรียกการต่อโลงว่าเข้าหน่วยไม้ ก็เพราะต้องเข้าให้สนิท

    ส่วนที่เป็นฐานนั้นมีลักษณะคล้ายพาน มีฐานผายคว่ำลง มีแผ่นกระดานกว้างประมาณ ๑๕ เซนติเมตร โดยตีตรงขึ้นไปทั้ง ๔ มุม ช่างทำโลงเรียกว่าพนัก ด้านบนมีลักษณะเรียบ แต่ละมุมมีเขาสำหรับวางในการต่อโลง เรียกกันว่าวางหน่วยไม้ ตรงกลางของฐานเรียกว่าเอว ต้องตีกระดานในแนวตรง ส่วนที่รอบเอวตีทาบด้วยไม้สามเหลี่ยมเรียกในหมู่ช่างว่าอกไก่ ในภาคกลาง อีสาน และเหนือ นิยมใช้ไม้ชิงชันเป็นวัตถุในการต่อโลง

    ฐานอีกอย่างเรียกในหมู่ช่างในตอนใต้ว่าเครื่องชั้น ทั้งนี้ก็เพราะทำเป็นชั้นลดลงไปราว ๓-๕ ชั้น ทุกๆ ชั้นมีไม้กระดานตีติดกัน

    โลงนั่งจะมียอดเพียงหนึ่งเดียว แต่โลงนอนและโลงสามส่วนมี ๓ ยอด แต่ละยอดเป็นซุ้มสี่เหลี่ยม ยอดที่วางบนฝาโลงเรียกกันว่ายอดเหม โลงศพจะสวยงามหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตกแต่ง เช่น กระดาษชุด อันเป็นกนกลายต่างๆ แต่ละชั้นมีการปิดลายอย่างหยาบ ช่างนั้นเมื่อถึงวันเผา จะถอดยอดโลงออกไป ทว่าในกรณีที่เป็นคนยากจน ไม่มีฐานและยอด ทำเป็นแต่หน่วยไม้ คนแม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ในยุคโบราณใช้โลงศพเหมือนรูปร่างงูหรือจระเข้ มักเป็นโลงไม้เช่นกัน

    ส่วนคนจีนนั้นเวลาทำโลง เจ้าของโลงที่เป็นคนรวยมีโลงศพก่อนตาย ทั้งนี้เพื่อได้กลิ่นไม้ที่ส่งกลิ่นหอมและคงทน ส่วนใหญ่เก็บไว้ในบ้านหรือข้างประตู พร้อมที่จะใช้ได้ทันที ที่ฝังศพเป็นรูปแบบพีระมิดหรือกล่อง โลงศพนั้นเป็นแท่งไม้ใหญ่ประมาณครึ่งฟุต เรียกกันในภาษาจีนว่าฉู่ปัง แปลว่าบ้านไม้ โลงจะมีลักษณะกลมข้างหนึ่งคล้ายท่อนไม้เพื่อใส่ศพ ส่วนคนจนเมื่อตายไป ก็เอาไว้ในทุ่งโดยไม่บรรจุศพหรือเอาไว้ในเขตภูเขา บางกรณีก็มีองค์การการกุศลฝังให้ ไม่มีการเผา มีแต่การฝัง คนที่รวยมักอยู่ข้างบิดามารดาในสุสานศพตามที่ geomancer หรือคนดูฮวงซุ้ยเห็นชอบ

    รูปร่างของโลงศพของคนจีนแตกต่างกันตามแต่ภูมิประเทศและท้องถิ่น ในทางใต้เลือกที่ดินที่แห้งเป็นที่สูง มองเห็นทัศนียภาพได้ดี มักมีบ่อน้ำหรือน้ำอยู่ใกล้ ส่วนในเขตเหนือกลับเลือกที่ต่ำ ข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่ง ในนครใหญ่ๆ ในจีนไม่มีป่าช้า ชาวจีนนิยมสถานที่สงบ ไม่มีผู้คนรบกวน มีก็แต่ต้นไม้เท่านั้น ในทางใต้ โลงศพรูปร่างคล้ายเก้าอี้ใหญ่ โดยที่ศพนั้นสามารถนอนได้สบาย ข้อน่าสนใจจากการมองดูหีบศพจะเห็นว่าข้าราชการชั้นสูงที่ถึงแก่กรรมนั้นในสมัยก่อนนิยมใช้สีแดงทารอบโลงศพ ขณะที่สีดำเป็นศพของข้าราชการชั้นล่าง คนทั่วไปนั้นห้ามใช้ ใครที่เดินทางไปที่พิพิธภัณฑ์วิกตอเรียและอัลเบิร์ตที่เคนซิงตันตอนใต้จะเห็นภาพดังกล่าวมานี้ กล่าวสำหรับการขุดค้นในเมืองไทยที่จังหวัดกาญจนบุรี ก็มีการพรมดินเทศสีแดงบนศพคนตายเช่นกัน และทำมาตั้งแต่ปลายยุคหินแล้ว

    สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งเป็นโลงศพสกุลไทย-ลาว มีศัพท์จำเพาะอยู่มากมาย เช่น ฐานหีบ ภาคกลางเรียกว่าฐานเขียง ส่วนตัวเรือนของหีบศพ ภาษาช่างเรียกส่วนนี้ว่าเอวขันปากพาน และส่วนยอด ภาษาช่างคือตีนหีบ เป็นต้น

    กระนั้น ในสาส์นสมเด็จ ฉบับ ๓๑ สิงหาคม ๒๔๗๘ สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เคยทรงกล่าวไว้ว่า เดิมทีเอาฟืนมากองกับพื้นดินและเอาศพวางบนนั้นและจุดไฟเผา...แต่เนื้อหาทั้งหมดคือการฌาปนกิจ กฎหมายพิธีศพของญี่ปุ่นเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า การทำพิธีศพทุกนิกายหรือศาสนาต้องฌาปนกิจหรือเผาอย่างเดียวและห้ามฝังโดยปราศจาก

    การฌาปนกิจ

    ได้มีโอกาสสัมภาษณ์บุคคลที่ต่อโลงศพหลายท่านจึงทำให้ทราบข้อมูลในการต่อโลง ในที่นี้จะไม่พูดถึงฐานตั้งหีบใหญ่ บุษบกย่อสิบสอง ตู้พระธรรมมุก ราชรถแบบนาค ๒ หัว แต่จะพูดถึงโลงศพโดยตรง เช่น หีบจีนที่ทำในเมืองไทย มักเป็นปีก ทำด้วยไม้ ขณะที่โลงศพที่ทำในอเมริกา มักเป็นไฟเบอร์ ส่วนหีบคริสต์ที่ทำในเมืองไทยมีรูปกางเขนอยู่บนโลง แต่หีบคริสเตียน (Protestant) มักมีสีดำ ในกรณีเป็นชาวต่างชาติ แต่อาจจะเป็นสีขาวก็ได้ เป็นรูปหกเหลี่ยม หรือสี่เหลี่ยม มีขนาดใหญ่กว่าหีบไทยทั่วไป กล่าวคือ กว้าง ๒๐ นิ้ว เท่ากับฝรั่งในยุโรป มีลักษณะต่างกับหีบศพคริสตัง (Roman Catholic) ซึ่งมักเป็นสีขาว

    ในการต่อโลง หีบฐานมีทั้งหมด ๕ ชั้น โดยมีตั้งแต่ชั้น ๑-๕ ชั้นด้วยกัน ส่วนหีบผ้าตาดทองนั้นมีเพียง ๓ ชั้น หีบทองครอบมีหีบธรรมดาซึ่งราคาถูกอยู่ข้างใน ในบรรดาหีบศพทั้งปวง ที่มีราคาแพงเป็นหีบจำปา ราคาสูงเท่ากับหีบแก้วหรือหีบมุก บางหีบศพก็เป็นแบบปรับอากาศ

    เท่าที่ถามช่างต่อโลงดู ช่างไม่เน้นที่รูปร่าง จึงขึ้นอยู่ว่าผู้ให้ต่อโลงนั้นต้องการแบบใด และมีพิธีกรรมอย่างไรมากกว่า


    Ref. http://www.matichon.co.th/art/art.php?srctag=0608010949&srcday=2006/09/01&search=no
     

แชร์หน้านี้

Loading...