ต้นไม้ในพุทธประวัติ

ในห้อง 'บทสวดมนต์ - คาถา' ตั้งกระทู้โดย สันโดษ, 22 พฤศจิกายน 2008.

  1. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นมะพลับ (ต้นพิมพชาละ)


    ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ธัมมทัสสีพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 18 พระนามว่า พระธัมมทัสสีพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 7 วัน จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้มะพลับ

    ต้นมะพลับ ในภาษาบาลีเรียกว่า “ต้นพิมพชาละ” หรือ “ต้นพิมพละ” อยู่ในวงศ์ Ebenaceae ซึ่งทางพฤกษศาสตร์ได้มีการรวบรวมไว้นั้นมีหลายสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่บ้านเรารู้จักกันดี คือ

    1. มะพลับ ที่มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศมาเลเซีย ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ คือ พลับ (ภาคกลาง), ม่ากาลับตอง ม่ากับต๋อง (เชียงราย), มาสูละ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Diospyros areolata King & Gamble” และ

    2. มะพลับไทย ที่มีถิ่นกำเนิดมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ คือ ตะโกสวน, มะพลับใหญ่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Diospyros malabarica (Desr.) Kostel. var. siamensis (Hochr.) Phengklai” อันเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดอ่างทอง

    ในที่นี้ไม่สามารถระบุได้ว่า ไม้มะพลับชนิดใดเป็นโพธิญาณพฤกษาของพระธัมมทัสสีพุทธเจ้า ดังนั้น จะขอเลือกพูดถึงลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้นมะพลับ เฉพาะตามข้อ 1 เท่านั้น

    มะพลับเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงถึง 15 เมตร ลำต้นมักคดงอ เปลือกค่อนข้างเรียบ สีน้ำตาลปนเขียวอ่อน หรือปนดำ, ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน ตัวใบรูปขอบขนาน กว้าง 4-7 ซม. ยาว 7-20 ซม. โคนใบโค้งมน ขอบใบเรียบ ปลายใบเรียวทู่ เนื้อใบหนา ผิวเกลี้ยงทั้งสองด้าน หรือมีขนประปรายบ้างตามเส้นกลางใบด้านล่าง เส้นใบมี 6-12 คู่ แต่ละเส้นคดงอไปมา พอมองเห็นทั้งสองด้าน ก้านใบยาว 1-1.5 ซม. มีขนประปราย

    [​IMG]

    ดอกมีดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่ต่างกัน ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อสั้นๆ ตามง่ามใบ ก้านดอกยาวประมาณ 2 มม. มีขนหนาแน่น ดอกเพศเมียมักออกเดี่ยวๆ ตามกิ่งเล็กๆ ก้านดอกยาว 5-10 มม. มีขนคลุมแน่น

    ผลกลมหรือค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5-3.5 ซม. ยาว 3-5 ซม. ผลแก่ค่อนข้างนุ่ม ผิวมีเกล็ดสีน้ำตาลแดงคลุม เกล็ดเหล่านี้หลุดง่าย กลีบจุกผลแต่ละกลีบเกือบไม่ติดกัน เกลี้ยงหรืออาจมีขนบ้างทั้งสองด้าน กลีบส่วนมากจะพับกลับ มีบ้างที่แผ่กางออก ขอบกลีบมักเป็นคลื่น ไม่มีเส้นลายกลีบ ออกดอกระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ผลแก่ระหว่างเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ ขยายพันธุ์โดยเมล็ด

    มะพลับเป็นพันธุ์ไม้ป่าดงดิบ พบขึ้นในป่าที่ลุ่มต่ำบริเวณแนวกันชนระหว่างป่าบกและป่าชายเลน บริเวณชายคลอง และชายป่าพรุ เหนือระดับน้ำทะเล 2-30 เมตร ทางภาคใต้ของประเทศไทย ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย

    ประโยชน์ทางยา อาทิ ตามตำรายาไทยกล่าวว่า เปลือกต้นและเนื้อไม้มีรสฝาดมีสรรพคุณ บำรุงธาตุ เจริญอาหาร แก้บิด แก้ท้องร่วง ขับผายลม แก้กามตายด้าน บำรุงความกำหนัด เป็นยาสมานแผลและห้ามเลือด, ผลแก่รับประทานได้

    ประโยชน์อื่นๆ มีมากมาย อาทิ เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องมือทางการเกษตร เครื่องกลึงและแกะสลัก, เปลือกให้น้ำฝาดสำหรับฟอกหนัง, ยางของลูกมะพลับให้สีน้ำตาลนำมาละลายน้ำใช้ย้อมผ้า แห และอวน เพื่อให้ทนทานเช่นเดียวกับตะโก แต่ยางของลูกมะพลับใช้ได้ดีกว่ามาก เพราะไม่ทำให้เส้นด้ายแข็งกรอบเหมือนผลตะโก จึงทำให้ยางของมะพลับมีราคาดีกว่าตะโกมาก จึงมีพ่อค้าหัวใสนำยางของผลตะโกปลอมขายเป็นยางมะพลับ จึงได้เกิดมีคำพังเพยว่า “ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก”

    คติความเชื่อ มะพลับเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งของคนไทย กำหนดปลูกไว้ทางทิศใต้ (ทักษิณ) ตามโบราณเชื่อกันว่า การปลูกต้นมะพลับในบริเวณบ้านจะทำให้ร่ำรวยยิ่งขึ้น

    [​IMG]


    ......................................................

    http://ittm.dtam.moph.go.th/
     
  2. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นกรรณิการ์ (ต้นกณิการระ)


    ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ สิทธัตถพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 19 พระนามว่า พระสิทธัตถพุทธเจ้า (มิใช่พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 10 เดือนเต็ม จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้กรรณิการ์

    ต้นกรรณิการ์ ในภาษาบาลีเรียกว่า “ต้นกณิการระ” หรือ “ต้นกัณณิการะ” ในบ้านเราเป็นพันธุ์ไม้ที่รู้จักกันดีนั้น มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Nyctanthes arbortristis (Linn.) อยู่ในวงศ์ Verbenaceae ซึ่งเอกสารเกี่ยวกับพรรณไม้หลายแห่งระบุว่า เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 3-4 เมตร

    แต่เมื่อพิจารณาจากต้นไม้ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ จะพบว่าเป็นต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ ให้ร่มเงาแผ่กว้าง ดังนั้น “ต้นกรรณิการ์อินเดีย” ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pterospermum acerifolium (Linn.) Willd. อยู่ในวงศ์ Sterculiaceae ซึ่งเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่สูงถึง 30 เมตร น่าจะเป็นโพธิญาณพฤกษาของพระสิทธัตถพุทธเจ้ามากกว่า

    [​IMG]

    อย่างไรก็ดี มิอาจระบุชัดเจนลงไปว่าเป็นต้นใดแน่ เป็นเพียงการสันนิษฐานเท่านั้น เพราะเวลาผ่านมาหลายกัปกัล ต้นไม้ก็กลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ สิ่งที่นำมาเสนอก็หวังเพียงให้ความรู้เล็กๆ น้อยๆ เท่าที่พอจะค้นคว้ามาได้เท่านั้น

    ดังนั้น จึงขอนำภาพและข้อมูลย่อๆ ของต้นกรรณิการ์ทั้งสองประเภทมาบอกเล่ากัน

    กรรณิการ์ (Nyctanthes arbortristis) เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 3-4 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีขาว ลำต้นจะมีรอยคาดรอบลำต้นเป็นช่วงๆ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ๆ ใบแข็งหนาและสากคาย ใบรูปไข่ โคนใบโตปลายใบแหลม ดอกมีขนาดเล็กออกเป็นช่อๆ ช่อหนึ่งจะมีดอกราว 5-8 ดอก แต่ละดอกจะผลัดกันบาน มีสีขาว มี 6 กลีบ หมุนไปทางขวา ลักษณะคล้ายกังหัน โคนกลีบติดกันเป็นหลอดสีแสด มีกลิ่นหอมแรงในเวลากลางคืนและจะร่วงตอนเช้า ผลแบน รูปร่างค่อนข้างกลม ปลายผลมีติ่งแหลมเล็กน้อย แต่ละผลมีเมล็ด 2 เมล็ด

    สรรพคุณทางด้านพืชสมุนไพร เปลือกต้นใช้แก้ปวดศีรษะ ใบใช้เป็นยาขมเจริญอาหาร บำรุงน้ำดี ดอกใช้แก้ไข้และลมวิงเวียน รากใช้บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ท้องผูก แก้ผมงอก ช่วยบำรุงผิวให้สดชื่น ส่วนก้านดอกสีแสด นำมาใช้เป็นสีทำขนมและย้อมผ้า นอกจากนี้ยังสามารถสกัดน้ำมันหอมระเหยจากดอกนำไปใช้ทำน้ำหอมได้อีกด้วย

    [​IMG]

    ส่วน กรรณิการ์อินเดีย (Pterospermum acerifolium) เป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดใหญ่ สูงถึง 30 เมตร เปลือกลำต้นสีเทา ใบมีลักษณะคล้ายใบบัว มีขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางใบ ราว 35 ซม. ดอกมีสีขาวแกมเหลือง กลิ่นหอมมากขณะอยู่ บนต้น ผลกลมรีเป็นสีแดงเรื่อๆ เนื้อไม้นำมาใช้ทำกระดาน ใบนำมาใช้แทนจาน และดอกนำไปสกัดเป็นน้ำหอม ส่วนใหญ่ปลูกไว้เพื่อให้ร่มเงา

    กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ หรือรู้จักกันทั่วไปในพระนาม “เจ้าฟ้ากุ้ง” มีความตอนหนึ่งที่กล่าวถึง ‘กรรณิการ์’ ว่า

    “กรรณิการ์ก้านสีแสด คิดผ้าแสดติดขลิบนาง
    เห็นเนื้อเรื่อโรงราง ห่มสองบ่าอ่าโนเนฯ
    ผ้าสีมีขลิบเนื้อ บางดี
    ก้านกรรณิการ์สี แสดเถ้า
    โนเนนาดน้องสี ลาเลิศ
    เมียมิ่งเรียมดูเจ้า ห่อนได้วางตา”

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 2 มีนาคม 2548 17:30 น. ​
     
  3. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นประดู่ลาย (ต้นอสนะ)


    ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ติสสพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 20 พระนามว่า พระติสสพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ครึ่งเดือนเต็ม จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้ประดู่ลาย

    ต้นประดู่ลายหรือต้นประดู่แขก ในภาษาบาลีเรียกว่า “ต้นอสนะ” ชาวอินเดียเรียกว่า “ลิสโซ” และชาวฮินดูเรียกว่า “สิสสู” ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้ากลับจากเทศนาโปรดพระเจ้าสุทโทธนะ พระราชบิดา แล้วก็เสด็จพาพระอานนท์ พระราหุล พร้อมทั้งพระภิกษุสาวกบริวาร สู่กรุงราชคฤห์ ประทับยังสีสปาวัน คือ ป่าประดู่แขกหรือประดู่ลาย

    ต้นประดู่ลายหรือต้นประดู่แขก เป็นพันธุ์ไม้อยู่ในกลุ่มพวกไม้พยุง ไม้ชิงชันของไทย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dalbergia sissoo Roxb. จัดอยู่ในวงศ์ Leguminosae (วงศ์พืชในตระกูลฝักถั่ว ซึ่งมีมากมายหลายร้อยชนิด) ต้นประดู่ในวงศ์นี้ที่รู้จักคุ้นเคยกันดีในบ้านเรา ได้แก่

    [​IMG]

    ประดู่บ้าน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pterocarpus indicus Willd. ดอกสีเหลือง มีกลิ่นหอม กิ่งมักทอดย้อย เปลือกสีเทา มีน้ำยางน้อย ปลูกเป็นไม้ให้ร่มตามถนน

    ประดู่ป่า มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pterocarpus macrocarpus Kurz ดอกสีเหลือง มีกลิ่นหอม กิ่งชูขึ้นเล็กน้อย เปลือกสีน้ำตาลเข้ม มีน้ำยางมาก ขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่วไป เนื้อไม้สีแดง

    “ประดู่แขก” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dalbergia sissoo Roxb. เปลือกสีเทา ดอกสีเหลืองอ่อนๆ

    ประดู่ชิงชัน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dalbergia oliveri Gamble มีเนื้อไม้แข็ง แก่นสีแดงเข้มถึงม่วงแก่

    ประดู่แดง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Phyllocarpus septentrionalis Donn.Smith เปลือกสีน้ำตาลดำ ดอกสีแดง

    ประดู่ลาย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dalbergia errans Craib ดอกสีม่วงอ่อน

    [​IMG]

    ประดู่ลายหรือประดู่แขก เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูงราว 10-25 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกสีเทา แก่นสีน้ำตาล และมีริ้วสีดำแซม เรือนยอดเป็นพุ่มใหญ่โปร่ง ใบออกเป็นช่อหนึ่งๆ มีใบย่อย 3-5 ใบ ใบย่อยรูปมน-ป้อม หรือมนแกมรูปไข่ ปลายใบแหลม ใบอ่อนมีขนนุ่ม แต่พอแก่ขนจะหลุดร่วงไป ดอกสีเหลืองอ่อนๆ ปนขาว ออกรวมกันเป็นช่อสั้นๆ ตามง่ามใบตามกิ่ง เมื่อออกดอกใบจะร่วงหมด เกสรผู้มี 9 อัน รังไข่รูปยาวรีๆ และจะยาวกว่าหลอดท่อรังไข่ ฝักรูปบันทัดแคบๆ ปลายฝักแหลม แต่ละฝักมีเมล็ด 1-3 เมล็ด

    ประดู่ลายหรือประดู่แขกนี้ เป็นพันธุ์ไม้ดั้งเดิมของอินเดียและกลุ่มประเทศแถบหิมาลัย นิยมปลูกกันแพร่หลายทั่วไป ในประเทศไทยเท่าที่ทราบได้มีการนำเข้ามาปลูกไว้ที่บริเวณที่ทำการป่าไม้เขตลำปาง จ.ลำปาง ที่สวนรุกขาติมวกเหล็ก จ.สระบุรี ทั้งสองแห่งทราบว่าสามารถให้เมล็ดพันธุ์สำหรับที่จะนำไปเพาะขยายได้แล้ว สำหรับที่สวนพฤกษศาสตร์พุทธมณฑล จ.นครปฐม ทราบว่าได้เตรียมกล้าไม้ประดู่ไว้ปลูกบริเวณองค์พระในพุทธมณฑลเช่นกัน

    เกี่ยวกับไม้ประดู่นี้ ในบ้านเราที่รู้จักกันแพร่หลายกัน คือ “ต้นประดู่ป่า” ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pterocarpus macrocarpus Kurz กับ “ต้นประดู่บ้าน, ต้นประดู่อินเดีย หรือต้นประดู่อังสนา” ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pterocarpus indicus Willd. ซึ่งอยู่คนละสกุลกับ “ต้นประดู่ลายหรือต้นประดู่แขก” อันเป็นโพธิญาณพฤกษาของพระติสสพุทธเจ้า

    บางท่านให้ความเห็นว่า พระพุทธเจ้าน่าจะเสด็จประทับในป่าประดู่บ้านหรือประดู่อินเดียมากกว่า เพราะมีร่มเงาดีและชื่อก็บอกว่า India อยู่แล้ว แต่ปรากฏว่า ประดู่บ้าน, ประดู่อินเดีย หรือประดู่อังสนานี้ กลับเป็นไม้พื้นเดิมของมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ชาวมาเลเซียเรียกว่า ไม้สะโน แต่อินเดียไม่ปรากฏว่ามีชื่อพื้นเมืองเรียกไม้ชนิดนี้

    [​IMG]

    สำหรับประดู่ป่านั้น ก็เป็นไม้ถิ่นเดิมของพม่า และแถบภาคตะวันออกของพม่าไปตลอดคาบสมุทรอินโดจีน ชาวพม่าเรียกว่าประดู่ (Padauk) และก็ไม่ปรากฏว่ามีชื่อพื้นเมืองของอินเดียเรียกเช่นกัน ฉะนั้น เมื่อสังเกตจากชื่อพื้นเมืองประดู่ลายหรือประดู่แขกที่ชาวอินเดียเรียกแล้ว จึงน่าสัณนิษฐานว่าพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสาวกบริวารน่าจะเข้าพักในป่าประดู่ลายมากกว่า

    ประโยชน์ของประดู่มีมากมาย ได้แก่ ใช้ปลูกเป็นไม้ร่มเงา ไม้ริมทาง, เนื้อไม้ใช้ทำสิ่งก่อสร้าง และเครื่องเรือนต่างๆ ทำเครื่องดนตรี เช่น ระนาด, เปลือกให้น้ำฝาดสำหรับฟอกหนัง และแก่นให้สีแดงคล้ำสำหรับย้อมผ้า

    สำหรับสรรพคุณด้านพืชสมุนไพรนั้น ก็มีมากเช่นเดียวกันคือ รากใช้แก้ไข้ บำรุงโลหิต คุมธาตุ แก้เสมหะ แก่นใช้บำรุงโลหิต แก้พิษเบื่อเมา แก้คุดทะราด แก้ผื่นคัน แก้ปัสสาวะพิการ แก้กษัย, เปลือกใช้สมานบาดแผล แก้ท้องเสียใบ ใช้พอกแผล พอกฝีให้สุกเร็ว แก้ผดผื่นคัน, ยางแก้โรคท้องเสีย โรคปากเปื่อย ปากแห้งแตกระแหง

    ปัจจุบัน ต้นประดู่ป่า เป็นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดชลบุรี และประดู่บ้าน เป็นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดภูเก็ต

    [​IMG]


    ......................................................

    1. ผู้จัดการออนไลน์ 27 กันยายน 2547 16:00 น.
    2. http://www.dnp.go.th/
     
  4. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นมะขามป้อม (ต้นอามัณฑะ)


    ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ปุสสพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 21 พระนามว่า พระปุสสพุทธเจ้า ผู้ทรงกำจัดความมืดทั้งปวง ทรงสางความรกชัฏเป็นอันมาก ได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้มะขามป้อม หลังทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 7 วัน

    ต้นมะขามป้อม มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Phyllanthus emblica Linn.” อยู่ในวงศ์ “Euphorbiaceae” ในภาษาบาลีเรียกว่า “ต้นอามัณฑะ” หรือ “ต้นอามลกะ” มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวฮินดูเรียกกันว่า “อะมะลา (AMLA)” แต่บ้านเรารู้จักกันทั่วไปในชื่อ “มะขามป้อม” แต่ก็ยังมีชื่ออื่นๆ ที่เรียกกันในแต่ละท้องที่ ได้แก่ กันโตด (เขมร-จันทบุรี), กำทวด (ราชบุรี), มั่งลู่ สันยาส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

    ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 8-20 เมตร เปลือกค่อนข้างเรียบเกลี้ยง สีน้ำตาลปนเทา เรือนยอดรูปร่ม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกรูปขอบขนานติดเป็นคู่ ขนาดเล็ก เรียงสลับออกดอกเป็นช่อหรือกระจุกเล็กๆ ตามซอกใบ ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองนวล ออกดอกช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ผลค่อนข้างกลมเกลี้ยง มีรอยแยกแบ่งออกเป็น 6 กลีบ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. ผลอ่อนสีเขียวออกเหลือง ผลแก่สีน้ำตาล มีเมล็ดสีน้ำตาล ให้ผลในช่วงเดือนตุลาคม-พฤษภาคม เป็นพันธุ์ไม้ที่ทนแล้งได้ดี ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

    [​IMG]

    สำหรับสรรพคุณด้านพืชสมุนไพรนั้นพบว่า เกือบทุกส่วนสามารถนำมาทำยาได้ทั้งสิ้น เริ่มจาก เปลือกและใบใช้พอกแผลสด แผลฟกช้ำ อักเสบ แก้โรคผิวหนัง เป็นผื่นคันมีน้ำเหลือง บิดแบคทีเรีย ฝีคัณฑสูตร, ปมที่ก้านใช้แก้ปวดกระเพาะอาหาร ปวดเมื่อยในกระดูก เด็กเป็นตานขโมย ไอ ปวดฟัน ปวดท้องน้อย และไส้เลื่อน, รากใช้แก้ร้อนใน ท้องเสีย ความดันเลือดสูง โรคเรื้อน และใช้พอกแก้พิษตะขาบกัด, ผลใช้ละลายเสมหะ กระตุ้นน้ำลาย แก้กระหายน้ำ ไอ หวัด เจ็บคอ คอแห้ง คอตีบ และขับปัสสาวะ

    นอกจากนี้ ที่ประเทศอินเดียยังมีงานวิจัยว่ามะขามป้อมช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยโรคเอดส์ สารที่มีรสฝาดในมะขามป้อมจะช่วยยับยั้งเอนไซม์ของเชื้อเอดส์ หยุดยั้งการเจริญเติบโต นอกจากนี้ในการทดลองยังนำเอาน้ำสกัดจากมะขามป้อมมาทดลองกับผู้ป่วยวัณโรคและในผู้ที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อช่วยสร้างภูมิต้านทานทำให้อาการดีขึ้น

    ปัจจุบัน มะขามป้อมเป็นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดสระแก้ว

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 29 เมษายน 2547 11:36 น. ​
     
  5. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นแคฝอย (ต้นปาตลี)


    ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ตำราชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 3 พระนามว่า “พระสรณังกรพุทธเจ้า” และในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ วิปัสสีพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 22 พระนามว่า “พระวิปัสสีพุทธเจ้า” ซึ่งทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 8 เดือนเต็ม ทั้งสองพระองค์ได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้แคฝอย เช่นเดียวกัน

    ต้นแคฝอย มีชื่อเรียกในภาษาบาลีว่า “ต้นปาตลีหรือต้นปาฏลิ” (Patali หรือ Patli) เป็นพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งจัดอยู่ในวงศ์ BIGNONIACEAE มีชื่อพื้นเมืองที่เรียกกันต่างไปในแต่ละท้องถิ่นของไทย คือ แคฝอย (กรุงเทพฯ), ศรีตรัง (ตรัง) เป็นต้น มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศบราซิล นิยมปลูกกันทั่วไปในเขตร้อนแถบเอเชีย เช่น อินเดีย มาเลเซีย พม่า เวียดนาม ฯลฯ

    ต้นแคฝอย มีอยู่ 2 ชนิด คือ 1. ชนิดที่มีช่อดอกเกิดที่ปลายยอด มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Jacaranda minosifolia D.Don

    2. ชนิดที่มีช่อดอกเกิดที่ซอกใบตามกิ่งและปลายยอด มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Jacaranda filicifolia D.Don ซึ่งเป็นชนิดที่นิยมปลูกกันโดยทั่วไปในประเทศไทย โดยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เจ้าเมืองตรัง ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้นำมาปลูกครั้งแรกที่เมืองตรัง ในปี พ.ศ.2444 ดังนั้น แคฝอยจึงเป็นที่รู้จักกันในนามว่า “ศรีตรัง”

    [​IMG]

    เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบสูงประมาณ 4-10 เมตร ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20-30 ซม. เปลือกสีน้ำตาลอ่อนปนเทา เรือนยอดโปร่ง ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ใบย่อยขนาดเล็ก ปลายใบแหลม โคนใบมน ออกดอกเป็นช่อใหญ่ตามกิ่ง ดอกมีสีม่วงปนน้ำเงิน กลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบดอกติดกันเป็นรูประฆังยาว 3-4 ซม. ปลายแยกกันเป็น 5 กลีบ

    ผลเป็นฝักแบนๆ ฝักแก่สีน้ำตาลอมเทา จะแตกทั้งสองซีก เมล็ดมีขนาดเล็กสีน้ำตาลเข้ม มีปีกใสๆ 2 ปีก ปลิวตามลมได้ จะผลัดใบในช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ และจะออกดอกราวเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ดอกจะบานพร้อมๆ กัน และคงอยู่ประมาณ 3-5 วัน หลังจากนั้นจะร่วงโรยไป

    ต้นแคฝอย เป็นไม้กลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินแทบทุกชนิด ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด นิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารและถนนหนทางต่างๆ เพราะยามออกดอกจะผลัดใบเกือบหมด ดอกบานพร้อมกันเป็นสีม่วงทั้งต้นแลดูสวยสดงดงาม

    แคฝอยหรือศรีตรังมีสรรพคุณทางยาสมุนไพร คือ ใบแห้ง ใช้ในการรักษาบาดแผล เปลือกไม้ ใช้ทา ล้างแผลเปื่อยแผลพุพอง และเปลือกไม้และใบไม้ ใช้ผสมกันรักษาโรคซิฟิลิสและโกโนเรีย ส่วน เนื้อไม้ มีรสเฝื่อน ฝาด แก้ท้องบวม ขับพยาธิ ตกเลือด

    ด้วยเหตุที่เนื้อไม้มีลักษณะบางเบา มีลายสวยงาม และมีกลิ่นหอม จึงมักนำมาใช้ทำเป็นโครงของเฟอร์นิเจอร์เครื่องใช้ต่างๆ เช่น พื้นปาร์เก้ กีตาร์ เป็นต้น

    ปัจจุบัน ศรีตรังเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดตรัง

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 28 มกราคม 2547 11:32 น. ​
     
  6. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นกุ่ม (ต้นกักกุธะ)


    ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ อโนมทัสสีพุทธวงศ์, สิขีพุทธวงศ์ และปิยทัสสีพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า

    พระพุทธเจ้า 3 พระองค์ คือ พระพุทธเจ้าองค์ที่ 10 พระนามว่า พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 10 เดือนเต็ม, พระพุทธเจ้าองค์ที่ 23 พระนามว่า พระสิขีพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 8 เดือนเต็ม และ พระพุทธเจ้าองค์ที่ 16 พระนามว่า พระปิยทัสสีพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 6 เดือนเต็ม ทั้งสามพระองค์จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้กุ่ม เช่นเดียวกัน

    ต้นกุ่ม (ต้นกุ่มบก) ในภาษาบาลีเรียกว่า “ต้นกักกุธะ” หรือ “ต้นกกุธะ” เป็นพันธ์ไม้ในสกุล Crateva วงศ์ Capparidaceae ชาวฮินดูเรียกกันว่า “มารินา” ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่า พระพุทธเจ้านำผ้าบังสกุลห่อศพมามณพาสี ในอามกสุสาน (ป่าช้าผีดิบ) ไปทรงซัก เมื่อซักเสร็จแล้วก็มาที่ที่ผ้าบังสกุลดังกล่าว พฤกษเทวาซึ่งสิงสถิตอยู่ ณ ต้นกุ่มบก ได้น้อมกิ่งต้นกุ่มให้ต่ำลงเพื่อให้เป็นที่ตากจีวร

    [​IMG]

    ต้นกุ่ม มี 2 ชนิดคือ ต้นกุ่มบก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Crateva adansonii DC.subsp.trifoliata (Roxb.) Jacobs” และ ต้นกุ่มน้ำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Crateva magna (Lour.) DC. และ Crateva Religiosa Forst.f.”

    ต้นกุ่มบก เป็นไม้ผลัดใบยืนต้นขนาดกลางสูง 10-25 เมตร ลักษณะคล้ายต้นก้ามปูแผ่พุ่มกว้าง เปลือกต้นสีเทา มีรูระบายอากาศสีขาวอยู่ทั่วไป เนื้อไม้สีขาวปนเหลือง มีเนื้อละเอียด ใบเป็นใบประกอบ มีใบย่อย 3 ใบ ใบรูปรีหรือรูปไข่ ปลายใบมน ขอบขนานเรียบ ปลายแหลมเป็นติ่ง ก้านใบยาว ช่อดอก ออกตรงซอกใบใกล้ปลายกิ่ง

    ดอกออกเป็นช่อสีขาวแกมเขียว แล้วจึงเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนภาย ในดอกมีเกสรตัวผู้ ก้านเกสรสีม่วง สวยงาม มีเกสรตัวเมียรังไข่เหนือวงกลีบ 1 อัน กลีบในแบนป้าน 4 กลีบ ตอนเริ่มบานจะเป็นสีเขียวอ่อนเมื่อบานเต็มที่จะเป็นสีขาวนวล และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม

    [​IMG]

    ผลกลมหรือรูปไข่ ผิวนอกแข็งและสาก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 2-3 ซม. เปลือกมีจุดสีน้ำตาลอมแดง ผลจะแก่ในเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม และจะกลายเป็นสีน้ำตาลเข้ม ก้านผลยาว เมล็ดรูปคล้ายเกือกม้า

    คนไทยสมัยก่อนนิยมปลูกต้นกุ่มไว้เป็นอาหารและเป็นยารักษาโรค โดยนำใบอ่อนและดอกอ่อน ซึ่งออกในช่วงฤดูฝน มาดองก่อนแล้วจึงนำไปรับประทาน สำหรับสรรพคุณด้านพืชสมุนไพรนั้น เปลือก ใช้ เป็นยาขับลม แก้ปวดท้อง แก้ลงท้อง คุมธาตุ ขับผายลม ขับน้ำดี ขับนิ่ว แก้บวม แก้อาการสะอึก แก้อาเจียน บำรุงไฟธาตุ กระตุ้นลำไส้ให้ย่อยอาหาร บำรุงหัวใจ แก้โรคผิวหนัง ใช้เป็นยาระงับประสาท และยาบำรุง แก่น ใช้แก้โรคริดสีดวงทวาร โรคนิ่ว บำรุงเลือด ราก ใช้ขับหนอง ใบ ใช้ขับลม ฆ่าพยาธิ แก้โรคผิวหนัง และกลากเกลื้อน แก้ไข้ตัวร้อน ขับเหงื่อ เจริญอาหาร ดอก เป็นยาเจริญอาหาร แก้เจ็บคอ แก้ไข้

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 1 มิถุนายน 2548 11:13 น. ​
     
  7. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นอ้อยช้างใหญ่ (ต้นมหาโสณกะ)


    ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ปทุมพุทธวงศ์, นารทพุทธวงศ์ และเวสสภูพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า

    พระพุทธเจ้า 3 พระองค์ คือ พระพุทธเจ้าองค์ที่ 11 พระนามว่า พระปทุมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 8 เดือนเต็ม, พระพุทธเจ้าองค์ที่ 12 พระนามว่า พระนารทพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 7 วัน และ พระพุทธเจ้าองค์ที่ 24 พระนามว่า พระเวสสภูพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 6 เดือนเต็ม ทั้งสามพระองค์จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้อ้อยช้างใหญ่ เช่นเดียวกัน

    จากการค้นคว้าทางพฤกษศาสตร์ไม่พบ ‘ต้นอ้อยช้างใหญ่’ มีแต่เพียง ‘ต้นอ้อยช้าง’ จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นต้นอ้อยช้างที่มีขนาดใหญ่ ตามที่มีการระบุในภาษาบาลีไว้ว่า ‘ต้นมหาโสณกะ’ ซึ่ง ‘มหา’ แปลว่า ใหญ่ ดังนั้น จึงขอนำเรื่องราวของต้นอ้อยช้างมาเสนอไว้ ณ ที่นี้

    [​IMG]

    ต้นอ้อยช้าง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Lannea coromandelica (Houtt.) Merr.” อยู่ในวงศ์ Anacardiaceae มีชื่อพื้นเมืองเรียกกันมากมาย เช่น คำมอก, กอกกั๋น, กุ๊ก, ช้างโน้ม, ตะคร้ำ, หวีด เป็นต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงราว 8-15 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกนอกสีน้ำตาลปนเทา กิ่งอ่อนมีขนปกคลุม ลำต้นมีร่องเล็กๆ ตามยาว ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายใบแหลมโคนใบมน ขอบใบเรียบ ออกเป็นช่อตรงปลายกิ่ง และใบจะร่วงหมดในช่วงที่ออกดอกจน ถึงออกผลในราวเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม

    ดอกขณะตูมมีสีม่วงแดง เมื่อบานสีด้านในของกลีบเป็นสีเหลืองแต้มสีม่วงแดงเรื่อๆ ขนาดเล็กออกเป็นช่อ กลีบรองดอกและกลีบดอกมีประมาณ 4-5 กลีบ ออกราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ผลรูปรี มีขนาดเล็กสีเขียวอมแดง ภายในมีเมล็ดกลมหรือรี 1 เมล็ด ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด หรือการตอนกิ่ง

    [​IMG]

    อ้อยช้างมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ส่วนของรากซึ่งเป็นกระเปาะใหญ่เก็บสะสมน้ำไว้จำนวนมาก น้ำในรากสามารถนำมาดื่มแก้กระหายได้ เนื้อไม้ใช้เป็นแบบเทคอนกรีต งานแกะสลัก เปลือกใช้ทำที่รองหลังช้าง ใช้ฟอกหนังสัตว์ ส่วนยอดอ่อนมีรสเปรี้ยว ฝาด จึงนิยมรับประทานเป็นผัก

    ส่วนสรรพคุณด้านพืชสมุนไพรนั้น เปลือกเป็นยาสมานแผล แก้อาการปวดฟัน แก้ธาตุพิการและอ่อนเพลีย แก้ฝี โรคเรื้อน โรคผิวหนัง และแก้เจ็บตา แก่นมีรสหวาน แก้เสมหะ บรรเทาอาการกระหายน้ำ ชุ่มคอ ใบใช้แก้ผิว หนังพุพอง เน่าเปื่อย รากใช้เข้าตำรับยา เพื่อชูรสยาในตำรับนั้นๆ

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 29 มีนาคม 2548 16:35 น. ​
     
  8. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นซึก (ต้นสิรีสะ)


    ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ กุกกุสันธพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 25 พระนามว่า พระกุกกุสันธพุทธเจ้า ผู้มีพระคุณประมาณมิได้ ยากที่จะเทียมถึง ทรงเพิกภพทั้งปวง ทรงบรรลุสัมโพธิญาณอันอุดม ณ ควงไม้ซึก หลังทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 8 เดือนเต็ม

    ต้นซึก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Albizia lebbeck (L.) Benth.” อยู่ในวงศ์ “Leguminosae” ในภาษาบาลีเรียกว่า “ต้นสิรีสะ” ชาวอินเดียเรียกต้นซึก ว่า “สิริสะ (Siris หรือ Sirisha)” ส่วนบ้านเรามีชื่อพื้นเมืองที่เรียกกันมากมาย ได้แก่ พฤกษ์, มะรุมป่า, ถ่อนนา, ก้านฮุง, กะเซ, มะขามโคก, จามจุรี เป็นต้น บางครั้งเรามักเรียก ต้นก้ามปู หรือต้นจามจุรีแดง (Samanea saman Jacq Merr.) ซึ่งเป็นไม้ต่างชนิดกันว่า ต้นจามจุรี

    มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย พม่า และหมู่เกาะอันดามัน เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูงประมาณ 10-25 เมตร เรือนยอดแผ่กว้างเป็นรูปร่ม เปลือกสีเทาขรุขระแตกเป็นร่องตามยาว กิ่งมีขนาดใหญ่ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ บนแขนงมีใบย่อยเรียงตรงข้ามกัน 2-10 คู่ คู่ที่อยู่ตอนบนมีขนาดใหญ่สุดและลดหลั่นลงไปจนถึงคู่ล่างที่มีขนาดเล็กสุด ใบย่อยไม่มีก้าน หลังใบเกลี้ยง เป็นรูปวงรี

    [​IMG]

    ดอกออกรวมเป็นกระจุก ช่อดอกมีก้านช่อ กลีบดอกเล็กมาก เกสรสีเขียวและขาวเป็นฝอย เมื่อดอกแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง และเมื่อใกล้โรยเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมแสด ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ออกดอกช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ผลเป็นฝักแบนยาวกว้าง เมื่อฝักแก่มีสีน้ำตาลอ่อน ไม่มีรส เป็นฝักช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม เมล็ดสีน้ำตาลเข้ม มีจำนวน 4-12 เมล็ด ในฝักหนึ่งๆ ขยายพันธุ์โดยเมล็ด หรือตอนกิ่ง ต้นซึกขึ้นได้ดีในพื้นที่เสื่อมโทรม เป็นไม้เบิกนำที่ดี พบขึ้นอยู่ตามป่าเบญจพรรณทั่วทุกภาคของไทย

    ประโยชน์ของมีมากมาย อาทิ เนื้อไม้ใช้สำหรับงานแกะสลัก ใบใช้หมักทำปุ๋ยเพราะมีธาตุไนโตรเจนสูง เปลือกมีรสฝาด ใช้ฟอกหนังได้ดี ยอดอ่อนและช่อดอกอ่อนรับประทานได้ มีรสมัน นอกจากนี้ ยังมีสรรพคุณด้านพืชสมุนไพรอีกมาก ได้แก่ เปลือกใช้เป็นยาสมุนไพร สมานแผลในปาก ลำคอและเหงือกได้ และแก้ปวดฟัน, เปลือกและเมล็ดใช้รักษาอาการโรคบิด ท้องเสีย, เมล็ดรสฝาดเมา แก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน เรื้อน แก้เยื่อตาอักเสบ, ใบมีสรรพคุณเย็น ใช้ต้านพิษ แก้ปวดแสบปวดร้อน, ผงเปลือกและผงรากใช้ทาทำให้เหงือกแข็งแรง และทาแผลที่เหงือก, รากใช้แก้ท้องเสียและใช้ใส่แผล

    ข้อควรระวัง เมื่อรับประทานเมล็ด หรือน้ำยางเข้าไป จะทำให้เยื่อบุผนังกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ มีอาการอาเจียนและถ่ายอย่างรุนแรง

    ปัจจุบัน ต้นซึกหรือต้นพฤกษ์เป็นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดมหาสารคาม

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 28 กรกฎาคม 2547 10:49 น. ​
     
  9. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นมะเดื่อ (ต้นอุทุมพร)


    ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ โกนาคมนพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 26 พระนามว่า พระโกนาคมนพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญธรรม 10 ประการบริบูรณ์ ข้ามทางกันดารได้แล้ว ทรงลอยมลทินทั้งปวงแล้ว ทรงบรรลุสัมโพธิญาณอันอุดม ณ ควงไม้มะเดื่อ หลังทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 6 เดือนเต็ม

    มะเดื่อ มีถิ่นกำเนิดในประเทศศรีลังกา จีนตอนใต้ เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สายพันธุ์มะเดื่อที่มีอยู่ในโลก ซึ่งทางพฤกษศาสตร์ได้มีการรวบรวมไว้นั้นมีประมาณ 600 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่บ้านเรารู้จักกันดี คือ มะเดื่อชุมพร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Ficus racemosa Linn.” อยู่ในวงศ์ Moraceae

    ต้นมะเดื่อ ในภาษาบาลีเรียกว่า “ต้นอุทุมพร” หรือ “ต้นอุทุมพระ” มีชื่อท้องถิ่นกันแตกต่างไปในแต่ละท้องถิ่น ได้แก่ อีสาน เรียก “หมากเดื่อ”, แม่ฮ่องสอน-กะเหรี่ยง เรียก “กูแช”, ลำปาง เรียก “มะเดื่อ”, ภาคกลาง เรียก “มะเดื่ออุทุมพร, มะเดื่อชุมพร, มะเดื่อเกลี้ยง”, ภาคเหนือ-ภาคกลาง เรียก “มะเดื่อ, เดื่อเกลี้ยง”, ภาคใต้ เรียก “เดื่อน้ำ”

    ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง 5-20 เมตร ลำต้นเกลี้ยงสีน้ำตาลหรือน้ำตาลปนเทา มีน้ำยางขาว กิ่งอ่อนสีเขียว กิ่งแก่มีสีน้ำตาลเกลี้ยง หรือมีขนปกคลุม ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ดอกออกเป็นช่อ ดอกช่อเกิดภายในฐานรองดอกที่มีรูปร่างคล้ายผล ออกที่ลำต้นและกิ่ง ผลรูปกลมแป้นหรือรูปไข่ มีขน ออกเป็นกระจุกตามกิ่งและลำต้น ภายในผลมีเกสรเล็กๆ อยู่ เมื่อสุกมีสีแดงอ่อนจนถึงเข้ม

    [​IMG]

    ขึ้นในธรรมชาติบริเวณป่าดิบชื้น บริเวณริมแม่น้ำลำคลอง ริมลำธาร หรือปลูกตามบ้านและริมทาง พบได้ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ออกดอกระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม และออกผลระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ขยายพันธุ์โดยเมล็ด

    มะเดื่อได้ถูกบันทึกไว้ในตำนานของชาวฮินดูว่าเป็นไม้มงคล และเป็นที่นับถือของคนไทย พม่า และมอญ มาแต่โบราณ ได้มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาและกรุงศรีรัตนโกสินทร์ว่า มีการนำไม้มะเดื่ออุทุมพรมาทำเป็นพระที่นั่ง กระบวยตักน้ำมันเจิมถวาย และหม้อน้ำที่กษัตริย์ใช้ถวายน้ำในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่ปัจจุบันคนไทยนิยมปลูกเป็นไม้ประดับกลางแจ้ง

    มะเดื่อ มีสรรพคุณด้านพืชสมุนไพร ได้แก่ เปลือกต้นมีรสฝาด แก้ท้องร่วง (ที่ไม่ใช่บิดหรืออหิวาตกโรค) ชะล้างบาดแผล สมานแผล แก้ประดง ผื่นคัน แก้ไข้ ท้องเสีย ไข้รากสาดน้อย และแก้ธาตุพิการ, รากมีรสฝาดเย็น แก้ไข้ กระทุ้งพิษไข้ ถอนพิษไข้ และแก้ท้องร่วง, ผลมีรสฝาดเย็น แก้ท้องร่วง และสมานแผล, ผลสุกเป็นยาระบาย ซึ่งมีงานวิจัยออกมาว่าในผลมะเดื่อแต่ละผลนั้นจะมีปริมาณน้ำตาลธรรมชาติอยู่ถึง 83% เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยแคลเซียมและไฟเบอร์สูงมาก มีวิตามินเอ, บี และซี อยู่มาก ช่วยระบบขับถ่ายที่ดีเยี่ยม

    ปัจจุบัน ต้นมะเดื่อชุมพรเป็นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดชุมพร

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 27 สิงหาคม 2547 17:02 น. ​
     
  10. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นไทรหรือกร่าง (ต้นนิโครธ)


    ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ กัสสปพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 27 พระนามว่า พระกัสสปพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 7 วัน จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้นิโครธ

    “ต้นนิโครธ” เป็นชื่อภาษาบาลีของต้นไทรหรือต้นกร่างชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Ficus benghalensis Linn.” อยู่ในวงศ์ Moraceae รู้จักกันดีในภาษาสันสกฤตว่า “บันยัน” (banyan) และในภาษาฮินดูว่า “บาร์คาด” (bargad) ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้แล้ว ได้ทรงประทับอยู่ ณ ภายใต้ร่มโพธิ์ต่อไปอีก 7 วัน จึงได้ทรงย้ายไปประทับต่อที่ใต้ร่มไทรนิโครธอีก 7 วัน

    [​IMG]

    ต้นนิโครธมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย ศรีลังกา และปากีสถาน และแพร่กระจายทั่วไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 10-30 เมตร ลำต้นตรงเป็นพูพอน แตกกิ่งก้านแน่นทึบ เรือนยอดแผ่กว้าง มีรากอากาศห้อยลงมาตามกิ่งก้านและลำต้น ซึ่งรากอากาศนี้สามารถเจริญเติบโต เป็นลำต้นต่อไปได้ด้วย

    ผิวเปลือกเรียบสีขาวปนเทา ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่ มีความเงามัน กว้าง 10-14 ซม. ยาว 15-20 ซม. ปลายใบมน โคนใบโค้งกว้าง ออกเป็นคู่สลับกัน แขนงใบมีระหว่าง 4-6 คู่ ก้านใบอวบ ยาว 2-5 ซม. ผลกลมโต วัดผ่าศูนย์กลางได้ประมาณ 1-1.5 ซม. ผลจะติดแนบอยู่ กับกิ่ง แต่ละผลจะมีกาบ 2-4 กาบ เมื่อผลแก่จะมีสีแดงคล้ำๆ หรือสีเลือดหมู เป็นอาหารของพวกนกได้เป็นอย่างดี การขยายพันธุ์นั้นส่วนใหญ่จะเป็นไปเองตามธรรมชาติ โดยพวกนกมากินผลแล้วไปถ่ายมูลยังที่ต่างๆ นอกจากนั้นยังอาจใช้วิธีตอนกิ่งหรือปักชำก็ได้

    [​IMG]

    นิโครธ มีสรรพคุณด้านพืชสมุนไพร อาทิ ใบและเปลือกใช้แก้โรคท้องเสีย ท้องร่วง ถ่ายเป็นมูกเลือด และช่วยห้ามเลือด (ในทางอายุรเวชใช้เปลือกแก้โรคเบาหวาน) ยางใช้แก้โรคริดสีดวงทวาร หูด ผลสุกใช้เป็นยาระบาย ส่วนราก ใช้เคี้ยวเพื่อป้องกันโรคเหงือกบวม นอกจากนี้ในอินเดียยังใช้ใบสำหรับใส่อาหาร รับประทานด้วย

    ด้วยเหตุที่ ต้นนิโครธเป็นไม้มงคลอย่างหนึ่งของฮินดูและพุทธ ดังนั้น จึงมักนิยมปลูกไว้ตามศาสนสถาน วัดวาอารามต่างๆ และสวนสาธารณะที่มีเนื้อที่กว้างๆ เพื่อให้ร่มเงาและเพิ่มความร่มเย็น เพื่อใช้เป็นที่พักของพุทธศาสนิกชน ตลอดจนเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของนกกาต่างๆ แต่ตามบ้านเรือนและตามชายถนนแล้วไม่ค่อยนิยมปลูกกัน เพราะกิ่งก้านของต้นนิโครธมีขนาดใหญ่โต ซึ่งอาจมีอันตรายเมื่อมีพายุพัดในบางโอกาส ทำให้ไม่ปลอดภัยต่อเสาไฟหรือหลังคาบ้านก็เป็นได้

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 29 พฤศจิกายน 2547 16:20 น. ​
     
  11. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นโพธิ์ (ต้นอัสสัตถะ)


    ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ โคตมพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 28 พระนามว่า พระโคตมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรประพฤติทุกรกิริยาอยู่ 6 ปี จึงได้ประทับตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ควงไม้อัสสัตถะ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชลา

    “ต้นอัสสัตถะ” หรือ “ต้นอัสสัตถพฤกษ์” นั้น รู้จักกันดีในชื่อของ ต้นโพ, ต้นโพธิใบ, ต้นโพธิ์ หรือพระศรีมหาโพธิ ชาวลังกาเรียกว่า Bohd tree และชาวอินเดียเรียกว่า Pipal นี้นับได้ว่าเป็นต้นไม้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธประวัติอีกชนิดหนึ่ง เพราะเจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร ในระหว่างบำเพ็ญพรตเพื่อหาสัจธรรมนั้น ได้ทรงเลือกนั่งประทับที่โคนต้นโพธิ์จนกระทั่งพระองค์ได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาน คือ อริยสัจ 4 อันประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เมื่อวันเพ็ญ เดือน 6

    แม้พระองค์จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ยังต้องทรงใช้พลังจิตรบกับพวกมาร (การเอาชนะกิเลสฝ่ายต่ำ) ก็โดยประทับอยู่ใต้โคนต้นโพธิ์อีกเช่นกัน เพราะโพธิ์มีร่มเงาเหมาะแก่การพักพิงและบำเพ็ญพรตเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันต้นโพธิ์ที่สำคัญที่สุดอยู่ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย แต่ว่าไม่ใช่ต้นเดิมแต่ครั้งพุทธกาล เป็นต้นที่แตกหน่อมาจากต้นเดิม

    และกล่าวกันว่าต้นโพธิ์ที่พระพุทธองค์ประทับเพื่อรวบรวมพระหฤทัยให้บรรลุถึงสัจธรรมนั้น ได้ถูกประชาชนผู้มีมิจฉาทิฏฐิ และคนนอกศาสนาโค่นทำลายไปแล้ว แต่ด้วยบุญญาภินิหารเมื่อได้นำน้ำนมโคไปรดที่ราก จึงมีแขนงแตกขึ้นมาและมีชีวิตอยู่มาอีกนานก็ตายไปอีก แล้วกลับแตกหน่อขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง ต้นที่เหลืออยู่ในปัจจุบันนับว่าเป็นช่วงที่สี่แล้ว

    ประวัติของต้นโพธิ์ทั้ง 4 มีดังนี้

    ต้นโพธิ์ต้นแรก เป็นสหชาติเกิดขึ้นพร้อมกับวันที่พระโพธิสัตว์ประสูติ ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่า สหชาติมี 7 ประการ คือ กาฬุทายีอำมาตย์, ฉันนะ, อานนท์พุทธอนุชา, พระนางพิมพา, ม้ากัณฑกะ, ขุมทรัพย์ 4 มุมเมือง และต้นอัสสัตถพฤกษ์ (ต้นโพธิ์)

    ต้นโพธิ์นี้จะผุดขึ้นมาเองจากพื้นเป็นปาฏิหาริย์ หรือจะมีคนมาปลูกในวันนั้นพอดีก็สุดจะทราบได้ เป็นพันธุ์ไม้ที่พระโคตมพุทธเจ้าทรงประทับตรัสรู้ พระองค์ได้รับการถวายหญ้า 8 กำ จากโสตถิยะพราหมณ์ เพื่อปูเป็นที่ประทับเมื่อใกล้รุ่งของวันเพ็ญ เดือน 6 จึงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และหลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว มีผู้เลื่อมใสศรัทธามากราบไหว้ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นจำนวนมาก

    อย่างไรก็ตาม ต้นโพธิ์ต้นนี้มีอายุมาจนถึงสมัยพุทธศตวรรษที่ 2 พระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ชาวพุทธผู้ยิ่งใหญ่ ทรงเคารพรักต้นโพธิ์เป็นอย่างยิ่ง จะเสด็จไปนมัสการต้นโพธิ์อยู่ตลอดเช้าเย็น พระมเหสีของพระเจ้าอโศกมหาราช คือ พระนางติษยรักษิต ไม่พอพระทัยที่พระเจ้าอโศก เอาใจใส่ต้นโพธิ์มากเกินไป จึงได้ให้คนเอายาพิษเพื่อทำลายต้นโพธิ์

    บางแห่งบอกว่า พระนางเอาเงี่ยงกระเบนมีพิษมาทิ่มรากต้นโพธิ์ จนต้นโพธิ์ตาย เมื่อพระเจ้าอโศกทรงทราบ ถึงกับทรงวิสัญญีภาพล้มสลบลง เสียพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ให้คนนำเอาน้ำนมโค 100 หม้อ ไปรดที่บริเวณรากของต้นโพธิ์ทุกวัน และพระองค์เองก็ทรงคุกเข่าที่ต้นโพธิ์นี้ พร้อมกับตั้งสัตยาธิษฐานขอให้มีหน่องอก ก็เกิดอัศจรรย์มีหน่อโพธิ์งอกขึ้นมา พระองค์จึงสั่งให้ก่อกำแพงล้อมรอบเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับต้นโพธิ์อีก แล้วพระองค์ได้นำมาปลูกเป็นต้นที่ 2 รวมอายุของต้นโพธิ์ต้นแรกประมาณ 352 ปี

    ต้นโพธิ์ต้นที่ 2 มีอายุยืนมาจนกระทั่งกษัตริย์ชาวฮินดูแห่งแคว้นเบงกอล ใจทมิฬหินชาติ นามว่า สาสังกา ได้มาพบกับต้นพระศรีมหาโพธิ์ ก็ไม่พอพระทัยเนื่องเพราะพระองค์นับถือฮินดู จึงได้ให้คนทำลายต้นพระศรีมหาโพธิ์ และทำลายพระพุทธรูปในวิหารทั้งหมด แต่อำมาตย์ชาวพุทธไม่กล้าทำลายพระพุทธรูป จึงได้ใช้วิธีเอาแผ่นอิฐมาก่อเป็นกำแพงกำบังพระพุทธรูปไว้อย่างมิดชิด พร้อมกับตั้งประทีปโคมไฟบูชาไว้ภายในกำแพงที่กั้นปิดไว้ ภายหลังพระเจ้าสาสังกาได้รับผลกรรมเกิดแผลพุพองทั่วร่าง อาเจียนเป็นพระโลหิต และสิ้นพระชนม์อย่างอนาถ รวมอายุต้นโพธิ์ต้นที่ 2 ได้ 871 ปี ถึง 891 ปี

    ต้นโพธิ์ต้นที่ 3 หลังจากนั้นไม่นาน พระเจ้าปูรณวรมา กษัตริย์ชาวพุทธ ได้มาพบเห็นต้นพระศรีมหาโพธิ์ล้มเช่นนั้น ก็เสียพระทัย จึงรับสั่งให้ทหารพร้อมด้วยชาวบ้านร่วมกันไปรีดน้ำนมโคได้ 1,000 ตัว ครั้นได้น้ำนมมาแล้ว พระองค์จึงทรงตั้งจิตอธิษฐานรดน้ำนมนั้นลงตรงบริเวณหลุมต้นโพธิ์ต้นเก่าโดยรอบว่า ถ้ามาตรแม้นหน่อแห่งต้นโพธิ์ยังไม่งอกขึ้นตราบใด ข้าพเจ้าก็จักไม่ยอมจากไปจากสถานที่นี้โดยตราบนั้น ข้าพเจ้าขอยอมถวายชีวิตเพื่อบูชาอุทิศต่อพระศรีมหาโพธิ์ตลอดชั่วลมปราณ

    ด้วยสัจจวาจากิริยาธิษฐานของพระองค์นี้นี่แล หน่อน้อยที่ 3 ของต้นโพธิ์ก็งอกขึ้นมาอย่างอัศจรรย์ พระองค์เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นหน่อน้อยงอกขึ้นมา ก็เกิดปีติโสมนัส จึงจัดการสร้างกำแพงล้อมต้นโพธิ์นั้นไว้อย่างแน่นหนา เพื่อป้องกันมิให้ศัตรูเข้ามาทำลายได้อีกต่อไป ต้นโพธิ์ต้นนี้มีอายุยืนนานมากประมาณ 1,258 ถึง 1,278 ปี ก็ถูกพายุพัดโค่นล้มตาย

    ต้นโพธิ์ต้นที่ 4 ในปี 2443 ท่านนายพลเซอร์คันนิ่งแฮม ผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้มีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนามาก ได้ขุดค้นพบพุทธสถานหลายแห่ง จนทำให้พระพุทธศาสนาเป็นที่รู้จักของชาวอินเดีย หลังจากลืมเลือนไปแล้วกว่า 800 ปี ได้เดินทางไปที่พุทธคยา พบกับต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ล้มอยู่ แต่ได้พบหน่อโพธิ์งอกอยู่ที่ใต้ต้นเดิม 2 หน่อ หน่อหนึ่งสูง 6 นิ้ว ได้ปลูกไว้ที่บริเวณต้นเดิม อีกหน่อหนึ่งสูง 4 นิ้ว แยกไปปลูกไว้ในที่ไม่ไกลจากต้นเดิมทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างกัน 250 ฟุต

    ท่านนายพลเข้าใจว่าสถานที่ท่านนำต้นโพธิ์ต้นหลังไปปลูกนั้น เป็นสถานที่ที่พระตถาคตเสด็จประทับยืนทอดพระเนตรจ้องดูต้นโพธิ์ที่พระองค์ประทับตรัสรู้ตลอด 7 วัน ที่พวกเรานิยมเรียกกันว่า อนิมิสเจดีย์ แต่ความเห็นนี้ไม่ตรงตามพระบาลีและคนส่วนมากเข้าใจกัน เพราะตามพระบาลีนั้นกล่าวไว้ว่าอนิมิสเจีย์อยู่ทางทิศตะวันออกของต้นโพธิ์ อายุต้นโพธิต้นนี้นับจากเริ่มปลูก ปี 2423-2550 รวมอายุได้ 127 ปี

    [​IMG]

    ใน ‘พจนานุกรมพุทธศาสน์’ ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้อธิบายเรื่องของต้นโพธิ์นี้ว่า “ต้นโพธิ์ตรัสรู้ที่เป็นหน่อของต้นเดิมที่คยา ได้ปลูกเป็นต้นแรกในสมัยพุทธกาล (ปลูกจากเมล็ด) ที่ประตูวัดพระเชตวัน โดยพระอานนท์เป็นผู้ดำเนินการตามความปรารภของอนาถบิณฑิกเศรษฐี และเรียกชื่อว่า อานันทโพธิ หลังพุทธกาลในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระนางสังฆมิตตาเถรี ได้นำกิ่งด้านขวาของต้นมหาโพธิที่คยานั้นไปมอบแด่พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ ทรงปลูกไว้ ณ เมืองอนุราธปุระ ในลังกาทวีป ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นต้นไม้เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน...”

    ต้นโพธิ์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Ficus religiosa L.” อยู่ในวงศ์ Moraceae เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ผลัดใบ แต่จะผลิใบใหม่ในเวลาอันรวดเร็ว สูงประมาณ 20-30 เมตร มีเรือนยอดแผ่กว้างเป็นพุ่มกลม ลำต้นเป็นพูพอนเกลี้ยงเกลา มีรากอากาศ เปลือกต้นสีน้ำตาลเทา ยางสีขาว ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปหัวใจปลายใบเป็นติ่งแหลม ใบอ่อนสีเขียวอ่อนๆ พอแก่จัดใกล้ร่วงจะกลายเป็นสีเหลืองทอง ผิวใบเกลี้ยงและเป็นมัน เนื้อใบค่อนข้างหนา ก้านใบเล็ก ดอกเล็กจำนวนมากอยู่บนฐานรองดอก ผลมีรูปร่างกลม สีชมพูอมม่วง พอแก่สีแดงคล้ำ ติดอยู่ตอนปลายๆ กิ่ง ขยายพันธุ์โดยเมล็ด และปักชำ

    สรรพคุณด้านพืชสมุนไพรของต้นโพธิ์มีมากมายหลากหลาย อาทิ เปลือกใช้แก้เจ็บคอ แก้ปวดฟัน และรากฟันเป็นหนอง สมานแผล ห้ามเลือด แก้โรคหนองใน แผลเปื่อย กล้ามเนื้อช้ำบวม โรคผิวหนัง และใช้เป็นยาระบาย, รากใช้รักษาโรคเหงือกและโรคเก๊าต์, ผลใช้เป็นยาระบาย ช่วยย่อยอาหาร แก้กระหาย แก้โรคหัวใจ โรคหืด และช่วยขับพิษ, เมล็ดช่วยลดไข้ และแก้โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ, ใบใช้รักษาโรคคางทูม โรคท้องผูก ท้องร่วง ส่วนยางใช้รักษาโรคหูด ริดสีดวงทวาร

    ต้นโพธิ์นับว่าเป็นพืชที่มีอายุยืนมากชนิดหนึ่ง แต่เนื่องจากมีกิ่งก้านแยกสาขาออกจากลำต้นมาก จึงทำให้เกิดเชื้อราที่อาศัยความชุ่มชื้นจากน้ำฝนที่ขังอยู่ตามง่ามกิ่ง แผ่ขยายเข้าทำลายเนื้อไม้จนเราจะเห็นได้ว่าต้นโพธิ์ใหญ่ๆ มักเป็นโพรง ถ้าเป็นอย่างรุนแรงอาจทำให้ต้นโพธิ์ตายได้เหมือนกัน แต่โดยนิสัยการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต ก็ได้ช่วยสร้างให้โพธิ์มีผลมากและมีรสชาดที่นกชอบกิน เมื่อนกไปเกาะและถ่ายมูลที่ไหน เมล็ดก็จะงอกเป็นต้นเจริญงอกงามได้ทันที และบางทีก็จะแทงกระโดงจากรากที่ยังสดอยู่ ดังเช่นที่กล่าวอ้างจากต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่นั้นได้เช่นกัน ในบ้านเรานิยมปลูกโพธิ์ไว้ตามวัดวาอาราม และมีมากทีเดียวที่นำต้นอ่อนมาจากอินเดียและลังกา ตามวาระและโอกาสต่างๆ กัน มาปลูกไว้เป็นที่ระลึกไว้ตามวัดและสถานที่สำคัญๆ ทั่วประเทศ

    ปัจจุบัน ต้นโพศรีมหาโพธิ์ เป็นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดปราจีนบุรี

    [​IMG]


    ......................................................

    1. ผู้จัดการออนไลน์ 4 พฤษภาคม 2548 10:45 น.
    2. http://www.watthaibuddhagaya.com/
     
  12. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    ต้นงิ้ว วิมานฉิมพลีของนางกากี

    โบราณเปรียบหญิงมากชู้หลายผัว ว่าเป็น ‘นางกากี’ ซึ่งมีเค้าเรื่องมาจาก ‘กากาติชาดก’ ว่า พระโพธิสัตว์ครั้งเกิดเป็นพระราชาผู้ครองเมืองพาราณสี มีพระเทวีนามว่า ‘กากาติ’ ซึ่งทรงมีพระสิริโฉมงดงามยิ่ง วันหนึ่งมีพญาครุฑชื่อว่า ‘ท้าวเวนไตรย’ แปลงร่างเป็นมนุษย์มาเล่นสกา (การพนันชนิดหนึ่ง) กับพระราชา ท้าวเวนไตรยเห็นพระนางกากาติ ก็เกิดความรักใคร่ จึงแอบพาหนีไปอยู่ที่วิมานฉิมพลีซึ่งเป็นที่อยู่ของตน เมื่อพระราชาทราบเรื่องจึงมีรับสั่งให้คนธรรพ์ชื่อ ‘กุเวร’ นำพระเทวีกลับมา

    กุเวรได้ไปแอบซุ่มอยู่ในดงตะไคร้ข้างสระ พอพญาครุฑบินไปจากสระก็แอบกระโดดเกาะปีกไปจนถึงวิมานฉิมพลี แล้วแอบได้เสียกับพระเทวีที่วิมานนั้น จากนั้นก็เกาะปีกพญาครุฑกลับมาเมืองพาราณสีอีก วันหนึ่งขณะที่พญาครุฑเล่นสกากับพระราชา คนธรรพ์ก็ขับร้องเป็นเพลงว่า “หญิงรักคนรักของเราอยู่ ณ ที่แห่งใด กลิ่นของนางยังหอมฟุ้งมาที่แห่งนั้น ใจของเรายินดีในนางใด นางนั้นชื่อกากาติ อยู่ไกลจากที่นี้”

    พญาครุฑพอได้ฟังแล้วสะดุ้งจึงถามกลับไปว่า “ท่านข้ามทะเลมหาสมุทรทั้ง ๗ แห่งไปได้อย่างไร แล้วขึ้นวิมานฉิมพลีได้อย่างไร” คำตอบที่ได้รับคือ “เราข้ามทะเลมหาสมุทรทั้ง ๗ แห่งได้ก็เพราะท่าน ขึ้นวิมานฉิมพลีได้ก็เพราะท่านอีกนั่นแหละ”

    [​IMG]

    เมื่อพญาครุฑได้ทราบความจริงก็กล่าวติเตียนตัวเองว่า มีร่างกายใหญ่โตเสียเปล่า แต่ไม่มีความคิด จึงเป็นพาหนะให้ชายชู้ของเมีย ดังนั้นจึงได้นำพระเทวีกากาติมาคืนพระราชา และไม่กลับมาเล่นสกากับมนุษย์อีกเลย

    วิมานฉิมพลีของพญาครุฑ ก็คือ ‘ต้นงิ้ว’ ซึ่งเรียกในภาษาบาลีว่า ‘สิมพลี’ นั่นเอง !!

    ต้นงิ้ว เป็นพืชในสกุล Bombax มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Bombax ceiba Linn. เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูงราว 15-20 เมตร เรือนอยดทรงกลมแผ่กว้าง ลำต้นเปลาตรง เปลือกสีน้ำตาลอมเทา มีหนามแหลมคมทั่วทั้งลำต้น ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อย 5-7 ใบ ใบรูปรี ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนา

    ดอกมีสีส้มแดง แดงเหลือง หรือขาว มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก ออกเป็นช่ออยู่ตามปลายกิ่ง ช่อหนึ่งๆ มีดอกราว 3-5 ดอก มีกลิ่นหอมและร่วงง่าย ออกดอกราวเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ส่วนผลมีลักษณะกลมรี เปลือกแข็ง ภายในผลมีเมล็ดกลมสีดำมากมายซึ่งมีปุยสีขาวหุ้มห่ออยู่ เมื่อแก่จัดผลหรือฝักนี้จะแตกออก

    ประโยชน์ของงิ้วมีมากมาย อาทิเช่น เนื้อไม้ เป็นไม้เนื้ออ่อน จึงนำมาทำดินสอ ไม้จิ้มฟัน เยื่อกระดาษ, เปลือก ใช้ทำเส้นใย เชือก, น้ำมันจากเมล็ดใช้ปรุงอาหาร ทำสบู่ และปุยสีขาวใช้ยัดหมอนและที่นอนเช่นเดียวกับนุ่น ส่วนสรรพคุณทางยาพื้นบ้านหรือยาสมุนไพรนั้นก็มีไม่น้อย อาทิ เปลือก ใช้สมานแผลแก้ท้องร่วง กระเพาะอาหารอักเสบ ดอก ใช้แก้ไข้ ท้องร่วง บิด แผลฝีหนอง ห้ามเลือด ฟกช้ำบวม อักเสบ แก้คัน แก้กระหายน้ำ ยางใช้ห้ามเลือด ราก ใช้สมานแผล แก้แผลใน กระเพาะอาหาร บำรุงกำลัง เป็นต้น

    [​IMG]

    ในพระสูตรที่ว่าด้วย ‘เทวทูตสูตร’ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงให้เห็นถึงมหานรก ที่มีการลงโทษคนที่กระทำความชั่วอย่างน่าสะพรึงกลัว ก็ได้กล่าวถึงต้นงิ้วไว้ในความตอนหนึ่งว่า

    “ดูกรภิกษุทั้งหลาย และนรกเถ้ารึงนั้น มีป่างิ้วใหญ่ประกอบอยู่รอบด้าน ต้นสูงชลูดขึ้นไปโยชน์หนึ่ง มีหนามยาว ๑๖ องคุลี มีไฟติดทั่วลุกโพลงโชติช่วง เหล่านายนิรยบาลจะบังคับให้สัตว์นั้นขึ้นๆ ลงๆ ที่ต้นงิ้วนั้น สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้าเจ็บแสบอยู่ที่ต้นงิ้วนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุดฯ”

    และใน ‘นารทชาดก’ ได้พูดถึงเรื่องต้นงิ้ว ดังนี้

    ‘...ต้นงิ้วสูงเทียมเมฆ เต็มไปด้วยหนามเหล็กคมกริบ กระหายเลือดคน หญิงผู้ประพฤติล่วงสามี และชายผู้หากระทำชู้ภรรยาผู้อื่น ถูกนายนิรยบาลผู้ทำตามสั่งของพระยายม ถือหอกไล่ทิ่มแทงให้ขึ้นต้นงิ้วนั้น...’

    รู้จักต้นงิ้วกันอย่างนี้แล้ว ไม่รู้ว่ายังจะมีใครอยากปีนอีกหรือเปล่า ?

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 26 ตุลาคม 2548 17:01 น. ​
     
  13. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    ดอกเข้าพรรษา งามสง่าในลีลา ‘หงส์เหิน’

    ยามเมื่อฤดูกาลเข้าพรรษาเวียนมาถึง ดอกไม้ชนิดหนึ่งก็เริ่มผลิดอกบานสะพรั่ง ผู้คนต่างพากันเก็บมาถวายพระจนก่อเกิดเป็น ประเพณี “ตักบาตรดอกไม้” ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ดั้งเดิมของชาวอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

    โดยมีที่มาจากเรื่องราวในพระพุทธศาสนาว่า นายสุมนมาลาการ ได้ถวายดอกมะลิบูชาแด่พระพุทธเจ้า และด้วยอานิสงส์ดังกล่าวทำให้นายสุมนมาลาการมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนิกชนจึงได้พร้อมใจกันนำดอกไม้มาถวายเป็นพุทธบูชา

    ดอกไม้ที่ชาวอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี นำมาใช้ตักบาตรในประเพณีนี้ จึงเรียกขานกันว่า ‘ดอกเข้าพรรษา’ หรือ ‘ดอกหงส์เหิน’ เพราะลักษณะของดอกและเกสรประดุจดังตัวหงส์ ที่กำลังเหินบินด้วยท่วงท่าลีลาอันสง่างามนั่นเอง

    [​IMG]

    หงส์เหิน (Globba winiti) เป็นพืชที่จัดอยู่ในวงศ์ขิง เป็นไม้ดอกเมืองร้อนเกิดในป่าร้อนชื้น พบในประเทศไทย, พม่า และเวียดนาม ภายใต้ร่มเงาไม้ใหญ่หรือตามชายป่า มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น กล้วยจ๊ะก่า (ตาก), กล้วยจ๊ะก่าหลวง (ลำพูน), กล้วยเครือคำ (เชียงใหม่), ก้ามปู (พิษณุโลก), ขมิ้นผีหรือกระทือลิง (ภาคกลาง), ว่านดอกเหลือง (เลย), ดอกเข้าพรรษา (สระบุรี) เป็นต้น

    ‘ต้นหงส์เหิน’ หรือ ‘ต้นเข้าพรรษา’ เป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นเป็นหัวประเภทเหง้าแบบมีรากสะสมอาหาร คล้ายรากกระชาย ส่วนของลำต้นเหนือดิน คือ กาบใบที่เรียงตัวกันแน่น ทำหน้าที่เป็นต้นเทียมเหนือดิน เกิดเป็นกลุ่มกอ สูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร ใบเป็นใบเดี่ยวรูปหอก ออกเรียงสลับซ้ายขวาเป็นสองแถว

    ส่วนดอกออกเป็นช่อซึ่งแทงออกมาจากยอดของลำต้นเทียม ช่อดอกมีลักษณะอ่อนช้อยสวยงาม ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร มีก้านดอกย่อยเรียงอยู่โดยรอบ ประกอบด้วยดอกจริง 1-3 ดอก มีสีเหลืองสดใสคล้ายรูปตัวหงส์กำลังเหินบิน มีกลีบประดับขนาดใหญ่ตามช่อโดยรอบจากโคนถึงปลาย และสีของกลีบประดับมีหลายสี เช่น ขาว ม่วง เขียว และแดง

    [​IMG]

    ดอกเข้าพรรษาหรือดอกหงส์เหิน หนึ่งปีจะออกดอกเพียงครั้งเดียว เฉพาะในช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษาเท่านั้น ในท้องที่อำเภอพระพุทธบาท พบว่ามี 2 สกุล ได้แก่ สกุลกระเจียว มีดอกสีขาวหรือขาวอมชมพู และสกุลหงส์เหิน ดังกล่าวข้างต้น

    เมื่อถึงวันเข้าพรรษา คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ชาวอำเภอพระพุทธบาทจะพากันไปเก็บดอกเข้าพรรษาตามไหล่เขาโพธิลังกาหรือเขาสุวรรณบรรพต เทือกเขาวง และเขาพุในเขตอำเภอพระพุทธบาท นำมาจัดรวมกับธูปเทียนเพื่อตักบาตรถวายพระ ซึ่งที่จังหวัดสระบุรีนี้ได้จัดพิธีตักบาตรดอกไม้ ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี และเป็นสถานที่ประดิษฐาน “รอยพระพุทธบาท” อันศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพบูชา ซึ่งมีความเชื่อในคติชาวลังกาว่า พระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ 5 แห่ง และรอยพระพุทธบาทที่วัดพระพุทธบาทฯ แห่งนี้ เป็น 1 ใน 5 แห่ง ต่อมารอยพระพุทธบาทนี้ถูกค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม

    [​IMG]
    ‘รอยพระพุทธบาท’ ภายในพระมณฑปพระพุทธบาท
    วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี



    รอยพระพุทธบาทแห่งนี้มีลักษณะเป็นหลุมลึกคล้ายรอยเท้าคน กว้าง 21 นิ้ว ยาว 5 ฟุต ลึก 11นิ้ว จะสังเกตว่ารอบๆ รอยพระพุทธบาทนั้นพุทธศาสนิกชนปิดทองกันเหลืองอร่ามไปทั่ว นั่นเป็นดัชนีชี้วัดแรงศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี ว่ากันว่าหากใครมีโอกาสไปสักการะรอยพระพุทธบาทครบ 7 ครั้ง ผลบุญจะส่งให้ขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

    ตลอดจนเชื่อกันว่า เมื่อนำดอกเข้าพรรษามาตักบาตรจะได้บุญกุศลแรง โดยนิยมตักบาตรด้วยดอกเข้าพรรษาสีขาว เพราะหมายถึงความบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา และสีเหลือง เพราะหมายถึงสีแห่งพระสงฆ์ สาวกแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าในหนึ่งดอกมีสีเหลืองกับสีขาวอยู่ในดอกเดียวกันจะเป็นการยิ่งดี โดยเฉพาะสีเหลืองแต้มสีขาวจะดียิ่งขึ้น

    พระสงฆ์จะนำดอกไม้ที่รับบิณบาตไปสักการะ “รอยพระพุทธบาท” ในพระมณฑป และสักการะ พระเจดีย์จุฬามณี รวมทั้ง พระเจดีย์มหาธาตุองค์ใหญ่ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา แล้วนำเข้าพระอุโบสถประกอบพิธีสวดอธิษฐานเข้าพรรษา ระหว่างพระสงฆ์เดินลงจากพระมณฑป ก่อนที่จะเข้าพระอุโบสถตรงบันได พุทธศาสนิกชนจะนำน้ำสะอาดมาล้างเท้าพระสงฆ์ เชื่อว่าเป็นการชำระบาปของตนเองด้วย

    [​IMG]
    ดอกเข้าพรรษาสีเหลือง


    นอกจากประเพณีการตักบาตรดอกไม้จะมีที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จังหวัดสระบุรีแล้ว ในกรุงเทพมหานคร ก็ยังมีที่วัดบวรนิเวศวิหาร, วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม และวัดพระรามเก้า กาญจนาภิเษก สำหรับดอกไม้ที่ใช้ในประเพณีนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นดอกเข้าพรรษาเท่านั้น จะเป็นดอกไม้อื่นๆ ที่ใช้บูชาพระก็ได้ เช่น ดอกมะลิ, ดอกบัว, ดอกกล้วยไม้, ดอกดาวเรือง เป็นต้น

    สำหรับคำถวายดอกไม้ ธูปเทียนเพื่อบูชาพระ ซึ่งสามารถใช้ได้โดยทั่วไป มีดังนี้

    อิมานิ มะยัง ภันเต ทีปะธูปะปุปผะวะรานิ
    ระตะนัตตะยัสเสวะ อะภิปูเชมะ
    อัมหากัง ระตะนัตตะยัสสะ ปูชา ทีฆะรัตตัง
    หิตะสุขาวะหา โหตุ อาสะวักขะยัปปัตติยา


    คำแปล : ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าทั้งหลายขอบูชา ธูป เทียน และดอกไม้อันประเสริฐเหล่านี้แก่พระรัตนตรัย ขอจงเป็นผลนำมาซึ่งประโยชน์สุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนาน เพื่อให้ถึงซึ่งนิพพาน ที่ซึ่งสิ้นอาสวะกิเลสเทอญ

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 29 มิถุนายน 2549 11:24 น. ​
     
  14. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    มณฑา ดอกไม้ทิพย์แห่งสวรรค์

    “มณฑา” หรือ “มณฑารพ” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Talauma candollei Bl.” อยู่ในวงศ์ Magnoliaceae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับพวกจำปา จำปี และยี่หุบ เป็นไม้พุ่มสูงราว 3-10 เมตร เปลือกสีเทา ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ มีขนาดใหญ่ รูปรี ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ เนื้อใบหนา มักเป็นคลื่นหรือเป็นลอน ดอกมีขนาดใหญ่ เป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ หรือส่วนยอดของลำต้น มีสีเหลืองนวล

    มีกลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน 3 กลีบ กลีบดอก 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบดอกค่อนข้างหนา แข็ง ดอกมีกลิ่นหอมและส่งกลิ่นไปไกล โดยเฉพาะในตอนเช้าตรู่ จะส่งกลิ่นหอมแรงมาก และออกดอกตลอดปี ส่วนผลรูปรี ออกเป็นกลุ่ม และเนื่องจากมณฑามีดอกสวยและกลิ่นหอมจึงนิยมปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ

    ดอกไม้ทิพย์แห่งเมืองสวรรค์ที่ชื่อ มณฑา หรือ มณฑารพ นั้น ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า ก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จปรินิพพาน ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า

    [​IMG]

    “ดูกรอานนท์ ไม้สาละทั้งคู่ เผล็ดดอกบานสะพรั่งนอกฤดูกาล ร่วงหล่นโปรยปราย ลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา แม้ดอกมณฑารพอันเป็นของทิพย์ ก็ตกลงมาจากอากาศ ดอกมณฑารพเหล่านั้น ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา แม้จุณแห่งจันทน์อันเป็นของทิพย์ ก็ตกลงมาจากอากาศ จุณแห่งจันทน์เหล่านั้น ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา ดนตรีอันเป็นทิพย์เล่า ก็ประโคมอยู่ในอากาศ เพื่อบูชาตถาคต แม้สังคีตอันเป็นทิพย์ก็เป็นไปในอากาศเพื่อบูชาตถาคต

    ดูกรอานนท์ ตถาคตจะชื่อว่าอันบริษัทสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ด้วยเครื่องสักการะประมาณเท่านี้หามิได้ ผู้ใดแลจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกาก็ตาม เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรมอยู่ ผู้นั้นย่อมชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคต ด้วยการบูชาอย่างยอด เพราะเหตุนั้นแหละอานนท์ พวกเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมอยู่ดังนี้ฯ”

    ในเวลาที่พระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว ทุกหนแห่งในเมืองกุสินาราเต็มไปด้วยดอกมณฑารพ

    “...สมัยนั้น เมืองกุสินาราเดียรดาษไปด้วยดอกมณฑารพโดยถ่องแถวประมาณแค่เข่า จนตลอดที่ต่อแห่งเรือน บ่อของโสโครกและกองหยากเยื่อ ครั้งนั้นพวกเทวดาและพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา สักการะ เคารพ นับถือ บูชาพระสรีระพระผู้มีพระภาค ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมมาลัยและของหอม ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์...”

    [​IMG]

    หลังจากพระพุทธองค์เสด็จสวรรคตแล้ว พระมหากัสสปะเถระ ซึ่งอยู่ที่เมืองปาวา ได้ทราบข่าวว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับที่เมืองกุสินาราหลายวันแล้ว จึงตั้งใจจะไปเฝ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์บริวาร 500 รูป ขณะที่กำลังเดินทางไปเมืองกุสินาราอยู่นั้น ได้หยุดพักหลบแสงแดดอยู่ใต้ร่มไม้ข้างทาง ได้เห็นนักบวชนอกศาสนาคนหนึ่งซึ่งมาจากเมืองกุสินารา ถือดอกมณฑารพเดินสวนทางมา พระมหากัสสปะซึ่งเวลานั้น ยังไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ก็นึกสังหรณ์ใจ เพราะดอกมณฑารพเป็นดอกไม้ทิพย์ ที่ไม่มีในโลกมนุษย์

    และจะปรากฏเฉพาะตอนที่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นกับพระพุทธเจ้า เช่น ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน วันจาตุรงคสันนิบาต วันที่ทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร เป็นต้น ซึ่งเทพเทวดาจะบันดาลให้ดอกมณฑารพตกลงมาจากเทวโลก พระมหากัสสปะจึงได้สอบถามข่าวคราวของพระพุทธองค์จากนักบวชผู้นั้น ซึ่งได้รับคำตอบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จสู่ปรินิพพานมา 7 วันแล้ว และดอกมณฑารพนี้ก็ได้มาจากสถานที่ที่พระองค์ปรินิพพานนั่นเอง เมื่อได้ยิน ดังนั้นพระมหากัสสปะจึงรีบเร่งนำพระภิกษุสงฆ์ออกเดินทางไปยังเมืองกุสินารา

    นอกจากนี้ มณฑายังเป็นดอกไม้ของนางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดีที่มีนามว่า กิริณีเทวี

    [​IMG]


    ......................................................

    จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 78 พ.ค. 50 โดย เรณุกา
    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 3 พฤษภาคม 2550 14:50 น.​
     
  15. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    <TABLE cellSpacing=20 width="85%" border=0><TBODY><TR><TD class=postbody vAlign=top>
    [​IMG]

    บุนนาค สวยทั้งใบ หอมชื่นใจทั้งดอก

    “ต้นบุนนาค” หรือ “ต้นนาค” มีชื่อพื้นเมืองที่เรียกกันต่างไปในแต่ละท้องถิ่นของไทย คือ นาคบุตร, ปะนาคอ, สารภีดอย, ก๊าก่อ, ก้ำก่อ เป็นต้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mesua ferrea Linn. อยู่ในวงศ์ Guttiferae เป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ สูงประมาณ 15-25 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกเรียบสีน้ำตาลปนเทา เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ ใบเป็นใบเดี่ยว รูปหอกหรือรูปขอบขนาน ออกตรงข้ามกัน ปลายใบแหลม โคนใบมน เนื้อใบเหนียวและค่อนข้างแข็งเป็นมัน

    ยามเมื่อผลิใบอ่อนจะเป็นสีชมพูสดใสสวยงาม เมื่อใบแก่จะมีสีเขียวเข้ม ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกเป็นกลุ่มตามซอกใบ ดอกใหญ่สีขาว มี 4 กลีบกลีบดอกหนา มีกลิ่นหอมมาก กลางดอกมีเกสร ตัวผู้สีเหลืองสดจำนวนมาก ส่วนเกสรตัวเมียจะมีสีขาว ช่วงเวลาออกดอกราวเดือนมีนาคม-กรกฎาคม ส่วนผลเป็นรูปไข่ ปลายผลแหลม เปลือกหนาแข็ง ภายในมีเมล็ด สีดำแข็ง ราว 1-4 เมล็ด

    นอกจากจะมีกลิ่นหอมมากแล้ว บุนนาคยังมีสรรพคุณ ด้านพืชสมุนไพรมากมาย กล่าวคือ ใบใช้แก้เสมหะและพอกสมานแผลสด, ดอกใช้ปรุงเป็นยาบำรุงโลหิต บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ แก้อาการร้อนอ่อนเพลีย ขับเสมหะ ขับลม แก้กระหายน้ำ ระงับกลิ่นตัว, ผลมีฤทธิ์ช่วยขับเหงื่อ และฝาดสมาน, เมล็ดแก้โรคปวดตามข้อ รักษาโรคผิวหนัง, รากใช้เป็นยาขับลมในลำไส้

    สำหรับประโยชน์ด้านอื่นๆ ก็มีมากเช่นเดียวกันคือ ลำต้นใช้ทำไม้หมอนรางรถไฟ งานก่อสร้าง ต่อเรือ และเครื่องเรือนต่างๆ เปลือกลำต้นบดเป็นผงใช้แต่งกลิ่นธูป หอมน้ำที่กลั่นได้จากดอกใช้แต่งกลิ่นสบู่ และน้ำมันจากเมล็ดใช้จุดตะเกียง และทำเครื่องสำอาง

    [​IMG]

    ในพระไตรปิฎก ฉบับธรรมทาน หัวข้อ ‘ปุนนาคปุปผิยเถราปทาน’ ได้กล่าวถึง ผลแห่งการถวาย ‘ดอกบุนนาค’ บูชาของพระปุนนาคปุปผิยเถระ ไว้ว่า

    “เราเป็นพรานเข้าไป (หยั่งลง) ยังป่าใหญ่ เราได้พบต้นบุนนาคมีดอกบาน จึงระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ได้เลือกเก็บดอกบุนนาคนั้น เอาแต่ที่มีกลิ่นหอมสวยงาม แล้วก่อสถูปบนเนินทรายบูชาแด่พระพุทธเจ้าในกัลปที่ 92 แต่กัลปนี้ เราได้บูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกไม้ใด ด้วยการบูชานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา ในกัลปที่ 91 แต่กัลปนี้ ได้มีพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า ตโมนุทะ ทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว 7 ประการ มีพลมาก คุณวิเศษเหล่านี้ คือปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 และอภิญญา 6 เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้”

    และในหัวข้อ ‘คิริปุนนาคิยเถราปทาน’ ได้กล่าวถึง ผลแห่งการถวาย ‘ดอกบุนนาค’ บูชาของพระคิริปุนนาคิยเถระ ไว้ว่า

    “ครั้งนั้น พระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโสภิตะ ประทับอยู่ที่ภูเขาจิตตกูฏ เราได้ถือเอาดอกบุนนาคเข้ามาบูชาพระสยัมภูในกัลปที่ 94 แต่กัลปนี้เราได้บูชาพระสัมพุทธเจ้า ด้วยการบูชานั้นเราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้”

    การเป็นมงคล คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นบุนนาคไว้ประจำบ้านจะทำให้เป็นผู้มีความประเสริฐและมีบุญ เพราะบุนนาคคือผู้มีบุญผู้ประเสริฐ และยังเชื่ออีกว่ายังสามารถป้องกันภัยอันตรายจากภายนอกได้อีกด้วย เพราะใบของบุนนาคสามารถรักษาพิษสัตว์ต่างๆ ได้ เช่น พิษงู นอกจากนี้แล้ว นาคยังหมายถึงพญานาค ซึ่งเป็นพญาสัตว์ชนิดหนึ่งในสมัยพุทธกาล ที่มีแสนยานุภาพในอันที่จะปกป้องและคุ้มครองพิษภัยได้

    ปัจจุบัน บุนนาคเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดพิจิตร

    [​IMG]


    ......................................................

    จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 72 พ.ย. 49 โดย เรณุกา
    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 27 ธันวาคม 2549 15:01 น. ​
    </TD></TR><TR><TD> </TD></TR></TBODY></TABLE>
     
  16. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    ตะเคียนที่สิงสถิตของนางไม้

    เมื่อได้ยินได้ฟังเรื่องราวของต้นตะเคียนในที่ใด ก็มักจะมีเรื่องผีสางนางไม้ประกอบมาด้วยเสมอ ซึ่งเรื่องนี้เป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมาว่า ต้นไม้ขนาดใหญ่ๆ นั้น มักจะมีเทพเทวดาอารักขา หากใครคิดไปตัดหรือทำลายก็ย่อมประสบเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังเช่นต้นตะเคียนที่มีการเล่าขานกันว่า มีนางตะเคียนสิงสถิตอยู่และมีฤทธิ์มาก ดังนั้น การจะตัดต้นตะเคียนมาทำสิ่งใดก็จะต้องทำพิธีขอเสียก่อน หากไม่ทำพิธีขอจากนางตะเคียนแล้ว ก็มักจะถูกลงโทษให้เจ็บไข้ หรือมีอาการคลุ้มคลั่ง เป็นต้น

    ส่วนในทางพฤกษศาสตร์นั้น ตะเคียน เป็นพันธุ์ไม้ดั้งเดิมของเอเชียเขตร้อน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hopea odorata Roxb. อยู่ในวงศ์ Dipterocarpaceae มีชื่อเรียกอื่นๆ ว่า ตะเคียนทอง, ตะเคียนใหญ่, แคน, โกกี้ เป็นต้น

    เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงราว 20-40 เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง เปลือกสีน้ำตาลดำและจะแตกเป็นสะเก็ด เมื่อต้นมีขนาดใหญ่ มีชันสีเหลืองตามรอยแตกของเปลือก เรือนยอดเป็นพุ่มกลม แน่นทึบ ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่แกมรูปหอก เรียงสลับ ปลายใบแหลม โคน ใบมน เนื้อใบค่อนข้างหนาเป็นมัน ท้องใบมีตุ่มอยู่ตามง่ามเส้นใบ

    [​IMG]

    ดอกมีขนาดเล็ก สีขาวแกมเหลือง ออกรวมกันเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง มีกลิ่นหอม ออกดอกระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ผลเป็นรูปทรงกลม หรือรูปไข่ มีปีกยาวรูปใบพาย 2 ปีก และยังมีปีกสั้นอีก 3 ปีก ซึ่งปีกเหล่านี้มีหน้าที่ห่อหุ้มผล และนำพาผลปลิวไปตกได้ในที่ไกลๆ

    ประโยชน์ของตะเคียนมีมากมาย ทั้งในด้านการทำเครื่องเรือนและสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ อาทิ ใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน สมัยโบราณนิยมนำต้นตะเคียนมาทำเป็นเสาเอก ขุดเป็นเรือ ทำสะพาน ทำวงกบ ประตูหน้าต่าง หูกทอผ้า กังหันน้ำ กระโดงเรือ เพราะเนื้อไม้แข็ง เหนียว มีความสวยงาม ทนทาน ทนปลวกได้ดี ส่วนชันหรือยางไม้ใช้ผสมน้ำมันทาไม้ ทำน้ำมันชักเงา ใช้ยาแนวเรือ

    สำหรับประโยชน์ในด้านสรรพคุณพืชสมุนไพรก็มีมากมาย ได้แก่ เปลือกใช้แก้ปวดฟัน, แก่นใช้แก้โลหิตและกำเดา รักษาคุดทะราด ขับเสมหะ, เนื้อไม้ใช้แก้ท้องร่วง สมานแผล และยางใช้รักษาแผล แก้ท้องเสีย

    [​IMG]

    ในอรรถกถาคาถาธรรมบท เรื่องครหทินน์ ได้กล่าวถึงไม้ตะเคียนไว้ว่า สิริคุตต์ซึ่งเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา และเป็นเพื่อนกับครหทินน์ ซึ่งเป็นสาวกของพวกนิครนถ์ เคยหลอกให้พวกนิครนห์ตกลงในหลุมคูถ (อุจจาระ) ทำให้ครหทินน์เจ็บใจมาก จึงคิดแก้แค้นพระพุทธเจ้าบ้าง โดยวางแผนนิมนต์ให้พระพุทธเจ้าพร้อมเหล่าภิกษุมาฉันภัตตาหารที่บ้านตน

    ในขณะเดียวกันก็ให้คนในบ้านขุดหลุมใหญ่ไว้ในระหว่างเรือน 2 หลัง แล้วนำไม้ตะเคียนมาประมาณ 80 เล่มเกวียน ให้จุดไฟสุมตลอดคืนยันรุ่ง แล้วให้ทำกองถ่านเพลิงไม้ตะเคียนไว้ วางไม้เรียบบนปากหลุม ให้ปิดด้วยเสื่อ ลำแพน ลาดท่อนไม้ผุไว้ข้างหนึ่ง แล้วให้ทำทางเป็นที่เดินไป เพื่อที่ว่าในเวลาที่พระพุทธเจ้าและเหล่าภิกษุเหยียบท่อนไม้หักแล้ว ก็จะกลิ้งตกลงไปในหลุมถ่านเพลิง แต่พระพุทธเจ้าทรงล่วงรู้ถึงแผนการนี้

    แต่ทรงเล็งเห็นด้วยพระญาณว่าหากพระองค์เสด็จไปก็จะเกิดประโยชน์มากกว่า เพราะในที่นั้นจะมีผู้คนมาฟังธรรม และจะมีผู้บรรลุธรรมเป็นจำนวนมาก รวมทั้งสิริคุตต์และครหทินน์ ก็จะบรรลุโสดาบันด้วย จึงได้เสด็จไป เมื่อไปถึงพระศาสดาทรงเหยียดพระบาทลงเหนือหลุมถ่านเพลิง เสื่อลำแพนหายไปแล้ว ดอกบัวประมาณเท่าล้อผุดขึ้นทำลายหลุมถ่านเพลิง พระศาสดาทรงเหยียบกลีบบัว และเสด็จไปประทับนั่งลงบนอาสน์ที่ปูลาดไว้ รวมทั้งภิกษุทั้งหลายก็กระทำเช่นเดียวกัน

    ปัจจุบัน ต้นตะเคียนทองเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานประจำจังหวัดปัตตานี

    [​IMG]


    ......................................................

    จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 77 เม.ย. 50 โดย เรณุกา
    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 11 เมษายน 2550 14:13 น. ​
     
  17. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    สายหยุด หยุดกลิ่นฟุ้งยามสาย

    พระราชนิพนธ์เรื่อง ‘เงาะป่า’ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีตอนหนึ่งที่ได้ทรงกล่าวถึง ‘สายหยุด’ ไว้ว่า

    “...สายหยุดดอกย้อยห้อยพวงยาน กลิ่นซาบซ่านนาสาดอกน่าเชย...”

    สายหยุด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Desmos chinensis Lour. อยู่ในวงศ์ Annonaceae มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น กล้วยเครือ, เครือเขาแกลบ, สาวหยุด, เสลาเพชร เป็นต้น เป็นไม้รอเลื้อยหรือไม้พุ่ม ซึ่งสามารถเลื้อยเกาะไม้อื่นได้ไกล มักแตกกิ่งก้านสาขาที่ส่วนยอด และแผ่กิ่งก้านออกไปรอบๆ เป็นบริเวณกว้าง กิ่งอ่อนสีน้ำตาลมีขนปกคลุม เมื่อแก่จะมีสีดำเป็นมัน ใบเป็นใบเดี่ยว รูปรีแกมรูปหอก เรียงสลับ ผิวใบสีเขียวเข้มเป็นมัน มีใบดก

    [​IMG]

    ส่วนดอกจะออกตามซอกใบห้อยย้อย เป็นดอกเดี่ยว มีกลีบดอก 5-6 กลีบ แต่ละกลีบจะบิดงอ กลีบรองดอกสั้น เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่บนฐานกลางดอก เมื่อดอกอ่อนเป็นสีเขียว พอแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ออกดอกตลอดปี และยิ่งต้นที่มีอายุมากก็จะยิ่งออกดอกมาก และขนาดของดอกก็จะใหญ่ขึ้นและมีสีเหลืองเข้มขึ้นด้วย ดอกสายหยุดจะเริ่มส่งกลิ่นหอมจัดในยามรุ่งอรุณ และกลิ่นจะค่อยๆ จางลงจนหมดกลิ่นในยามเที่ยงวัน

    สำหรับผลนั้นเป็นผลสดมีเนื้อจะออกรวมเป็นกลุ่ม เป็นผลย่อยกลมรี มีส่วนคอดเป็นข้อๆ คล้ายลูกประคำ ผลอ่อนมีสีเขียว และเปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อแก่ จนกระทั่งเป็นสีดำเมื่อสุก ภายในมีเมล็ดกลม ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง

    [​IMG]

    โดยทั่วไปมักจะปลูกสายหยุดเป็นซุ้มใกล้รั้วบ้าน เพราะเป็นไม้ประดับที่มีกลิ่นหอม และสามารถ ตกแต่งให้เป็นซุ้มตามต้องการได้ ในด้านของสรรพคุณพืชสมุนไพรนั้น จะใช้ดอกสกัดทำน้ำมันหอมระเหย บำรุงหัวใจ ส่วนต้นและรากใช้รักษาอาการติดยาเสพติด รากใช้แก้อาการท้องเสีย

    มีโคลงสี่สุภาพบทหนึ่งในวรรณคดีเรื่อง ‘ลิลิตตะเลงพ่าย’ อันถือเป็นสุดยอดของลิลิต ซึ่ง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (พระองค์เจ้าวาสุกรี สุวณฺณรํสี) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงนิพนธ์ไว้ โดยกล่าวเปรียบเทียบ ‘สายหยุด’ กับ ‘ความรัก’ ไว้ดังนี้

    สายหยุดหยุดกลิ่นฟุ้ง ยามสาย
    สายบ่หยุดเสน่ห์หาย ห่างเศร้า
    กี่คืนกี่วันวาย วางเทวษ ราแม่
    ถวิลทุกขวบค่ำเช้า หยุดได้ฉันใด


    [​IMG]

    จากโคลงบทนี้ ทำให้นึกถึงคำที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า

    ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข
    หมายถึง ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์


    ได้เรียนรู้ธรรมชาติของต้นไม้อย่าง ‘สายหยุด’ กันแล้ว จะทำให้เราหยุดคิดอะไรได้บ้างไหม ก่อนที่จะสายเกินไป จนไม่มีโอกาสได้คิดและลงมือทำ

    [​IMG]


    ......................................................

    จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 75 ก.พ. 50 โดย เรณุกา
    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 31 มกราคม 2550 14:51 น.​
     
  18. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    กัลปพฤกษ์ ต้นไม้สารพัดนึก

    จากข้อมูลในพจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้พูดถึงเรื่องกัลปพฤกษ์ไว้ว่า “ตามคติโบราณเชื่อกันว่า ต้นกัลปพฤกษ์มีอยู่ในแดนสวรรค์ หากผู้ใดปรารถนาสิ่งใด ก็อาจจะไปนึกเอาจากต้นไม้นี้ได้

    ดังนั้น สมัยโบราณจึงได้มีการทำรูปแบบจำลองต้นกัลปพฤกษ์ต้นไม้สารพัดนึกขึ้น โดยเกี่ยวเนื่องกับงานที่เป็นพิธีหลวง บางโอกาสเพื่อใช้เป็นที่ติดเงินปลีกสำหรับทิ้งทานให้แก่คนยากจน ตัวอย่างเช่น งานพระราชทานเพลิงพระศพหรือศพ เช่น การพระราชทานเพลิงศพท้าวสมศักดิ์ ที่วัดสุวรรณาราม ในรัชกาลที่ 1 มีหมายรับสั่งว่า

    “อนึ่ง ให้สมุห์บัญชีจัตุสดมภ์เบิกไม้ไปทำโรงโขนโรงหุ่น แล้วให้จัดแจงต้นกัลปพฤกษ์ไม้เสียบลูกกัลปพฤกษ์ แลกระไดขึ้นต้นกัลปพฤกษ์ให้พร้อม” กับ “ให้เกณฑ์ผลมะกรูด ผลมะนาว ขุนหมื่นเข้าส้มทิ้งทาน ตำรวจรักษาต้นกัลปพฤกษ์วันละ 2 ต้น”

    ทั้งนี้ โครงพุ่มของต้นกัลปพฤกษ์ โดยทั่วไปมักทำเป็นโครงไม้ผูกเป็นพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ แต่ละชั้นจะติดลูกมะนาว มะกรูด ซึ่งเจาะให้เป็นรูใส่เงินปลีกไว้ข้างใน ใต้พุ่มทำยกพื้นขึ้นเสมอระดับตา ใช้เป็นที่ยืนทิ้งทาน

    เมื่อถึงเวลาทิ้งทาน พนักงานซึ่ง “นุ่งสมปักลายเสื้อครุย สวมลอมพอก” จะพาดกระไดขึ้นไปยืนอยู่บนยกพื้นใต้พุ่มต้นกัลปพฤกษ์ แล้วดึงลูกส้ม มะนาว มะกรูด ที่เสียบปลายไม้ที่เหลาเรียวยาวคล้ายคันเบ็ด วัดเหวี่ยงให้ลูกส้มปลิวไปตกห่างๆ ต้นกัลปพฤกษ์ คนที่รออยู่ข้างล่างก็จะกลุ้มรุมเข้าชิงลูกส้มกันอย่างสนุกสนาน กัลปพฤกษ์หรือต้นไม้สารพัดนึกจำลองนี้ จัดเป็นสิ่งปลูกสร้างประกอบด้วยศิลปลักษณะประเภทหนึ่ง เป็นประเพณีนิยมที่มีแต่โบราณ แล้วค่อยเสื่อมความนิยมลงในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

    [​IMG]

    ต่อมาในระยะหลังๆ ก็ยังจัดทำต้นกัลปพฤกษ์จำลองขึ้นอีก ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานศพแล้ว แต่จะเป็นงานเทศกาลรื่นเริง เช่น ปีใหม่ ก็จะนำสลากของขวัญไปติดไว้ที่ต้นกัลปพฤกษ์ ให้ผู้ร่วมงานได้สอยกัลปพฤกษ์รับของขวัญกันเป็นที่สนุกสนาน

    สำหรับปัจจุบัน ต้นไม้ที่เรียกกันว่า กัลปพฤกษ์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cassia bakeriana Craib อยู่ในวงศ์ Leguminosae มีชื่อพื้นเมืองที่เรียกกันต่างไปในแต่ละท้องถิ่นของไทย คือ กัลปพฤกษ์ (ภาคกลาง, ภาคเหนือ), กานล์ (เขมร-สุรินทร์), ชัยพฤกษ์ (ภาคเหนือ) เป็นต้น

    เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ผลัดใบ สูงราว 12-15 เมตร เรือนยอดแผ่กว้าง เปลือกสีเทา ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายคู่เรียงสลับมีขนนุ่มปกคลุมทั้งสองด้าน และจะทิ้งใบหมดยาม

    ออกดอกระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน เป็นไม้ขนาดเล็กที่มีดอกดกมาก ออกเป็นพวงห้อยลง หรือเป็นช่อตั้งขึ้นตามกิ่งหรือซอกใบ ดอกมี 5 กลีบมีเกสรตัวผู้สีเหลืองอยู่ตรงกลาง ออกดอกสะพรั่งทั่วทุกกิ่งก้าน แลดูสวยงามไปทั้งต้น มีกลิ่นหอม ยามแรกบานเป็นสีชมพูอ่อนสดใสและค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีขาว ไปเรื่อยๆ จนใกล้ร่วงโรย

    ส่วนผลเป็นฝักกลม สีน้ำตาลดำ ยาวประมาณ 20-30 ซม. ภายในมีเมล็ดแบนๆ กลมรีสีน้ำตาลเป็นมันเรียงตัวอยู่ราว 30-40 เมล็ด

    เนื่องจากกัลปพฤกษ์มีดอกดกสวยงาม จึงมักปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารบ้านเรือนและถนนหนทางต่างๆ แต่ประโยชน์ทางด้านพืชสมุนไพรก็มีเช่นกัน โดยเฉพาะเนื้อในฝัก ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ, เมล็ด ใช้บำรุงธาตุ แก้ไข้จับสั่น หืด ริดสีดวง แน่นหน้าอก ขับลม โลหิตพิการ ถ่ายพยาธิ และแก้ปวดแสบปวดร้อนตามผิวหนัง และร่างกาย เป็นต้น

    ปัจจุบัน ต้นกัลปพฤกษ์เป็นพันธุ์ไม้พระราชทานประจำจังหวัดขอนแก่น

    [​IMG]


    ......................................................

    จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 74 ม.ค. 50 โดย เรณุกา
    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 10 มกราคม 2550 14:35 น. ​
     
  19. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    กระทุ่ม ต้นไม้ประจำอมรโคยานทวีป ในมนุสสภูมิ

    เอ่ยถึง ‘ดอกกระทุ่ม’ เชื่อว่าคนรุ่นใหม่คงไม่รู้จัก ยิ่งเป็น ‘ผมทรงดอกกระทุ่ม’ แล้ว เกือบทั้งร้อยส่ายหน้า บอกว่าไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน (รู้จักแต่ทรงสกินเฮดด์-ผมสั้นเกรียนติดหนังหัว) แต่สำหรับสาวๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทุกคนต้องไว้ผมทรงดอกกระทุ่มกันทั้งบ้านทั้งเมือง ตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่ได้มีการปรับปรุงขึ้นใหม่

    กระทุ่ม มาจากคำว่า ‘กทัมพะ’ ในภาษาบาลี มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Anthocephalus chinensis (Lamk.) A. Rich. ex Walp. อยู่ในวงศ์ Rubiaceae และมีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น กระทุ่มบก, โกหว่า, ตะกู, ตะโกส้ม, ตุ้มก้านยาว, ตุ้มเนี่ยง, ตุ้มหลวง, ตุ้มพราย เป็นต้น

    เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตรง สูงราว 15-30 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมใบ เป็นใบเดี่ยว รูปไข่ ออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน และมีหูใบรูปสามเหลี่ยมอยู่ระหว่างโคนก้านใบ

    ดอกสีเหลืองอ่อนออกเป็นช่อกลม กระจุกแน่นตามปลายกิ่ง มีกลิ่นหอม ซึ่งจะส่งกลิ่นหอมในราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ผลมีลักษณะกลม เป็นผลย่อย ออกเป็นกระจุก เกิดจากวงกลีบรองดอกของแต่ละดอกเชื่อมติดกัน ผลจะสุกราวเดือนสิงหาคม-ตุลาคม แต่ละผลมีเมล็ด ขนาดเล็กมากมาย และจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและสีน้ำตาลเมื่อแก่

    ต้นกระทุ่มเป็นไม้ที่เจริญเติบโตรวดเร็วมากเมื่อเทียบกับไม้อื่นๆ พบในหลายประเทศ เช่น อินเดีย เนปาล บังคลาเทศ ศรีลังกา พม่า จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศในภูมิภาคอินโดจีน ขึ้นตามป่าดิบและป่าเบญจพรรณที่ชุ่มชื้น ใกล้น้ำ ที่ระดับความสูง 500-1,500 เมตร ปัจจุบันนิยมปลูกเป็นสวนป่าเพื่อการใช้สอย เพราะเนื้อไม้ของกระทุ่มมีความละเอียด มีสีเหลืองหรือขาว และมีคุณสมบัติแห้งเร็วมาก อีกทั้งมีลำต้นตรง เหมาะในการทำฝาบ้าน ทำประตู หน้าต่าง เพดาน กระดาน ทำกล่องต่างๆ ทำเยื่อกระดาษ รวมทั้งอุปกรณ์ตกแต่งอื่นๆ

    ในพระไตรปิฏกได้แสดงภูมิที่เกิดของมนุษย์ว่า ‘มนุสสภูมิ’ คือที่เกิดของมนุษย์นั้น มี 4 ทวีป คือ 1. ปุพพวิเทหทวีป อยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาสิเนรุ 2. อมรโคยานทวีป อยู่ทางทิศตะวันตกของภูเขาสิเนรุ 3. ชมพูทวีป (คือโลกนี้) อยู่ทางทิศใต้ของภูเขาสิเนรุ 4. อุตตรกุรุทวีป อยู่ทางทิศเหนือของภูเขาสิเนรุ

    [​IMG]

    ส่วนในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงกระทุ่มว่าเป็นต้นไม้ประจำอมรโคยานทวีป รวมทั้งต้นไม้ประจำทวีปอื่นๆ ในหัวข้อ ‘ขนาดภูเขาสิเนรุและต้นไม้ประจำทวีป’ ไว้ดังนี้

    “อนึ่ง ในจักรวาลที่ตั้งอยู่พร้อมมูลอย่างนี้นั้น มีภูเขาสิเนรุอันเป็นภูเขาสูงที่สุด หยั่ง ( ลึก) ลงไปในมหาสมุทร 84,000 โยชน์สูงขึ้นไป (ในฟ้า) ก็ประมาณเท่ากันนั้น ภูเขาใหญ่ทั้งหลาย คือภูเขายุคันธร ภูเขาอิสินธร ภูเขากรวีกะ ภูเขาสุทัสสนะ ภูเขาเนมินธระ ภูเขาวินตกะ ภูเขาอัสสกัณณะ อันตระการไปด้วยรัตนะหลากๆ ราวกะภูเขาทิพย์ หยั่ง (ลึก) ลงไป (ในมหาสมุทร ) และสูงขึ้นไป (ในฟ้า) โดยประมาณกึ่งหนึ่งแต่ประมาณแห่งภูเขาสิเนรุไปตามลำดับ ภูเขาใหญ่ทั้ง 7 นั้น (ตั้งอยู่) โดยรอบ ภูเขาสิเนรุเป็นที่อยู่ของจาตุมหาราช เป็นที่ที่เทวดาและยักษ์อาศัยอยู่

    ภูเขาหิมวาสูง 500 โยชน์ ยาวและกว้าง 3,000 โยชน์ (เท่ากัน) ประดับไปด้วยยอดถึง 84,000 ยอด ต้นชมพู (หว้า) ชื่อนคะ วัดรอบลำต้นได้ 15 โยชน์ ลำต้นสูง 50 โยชน์ และกิ่ง (แต่ละกิ่ง) ก็ยาว 50 โยชน์ แผ่ออกไปวัดได้ 100 โยชน์โดยรอบ และสูงขึ้นไปก็เท่ากันนั้น ด้วยอานุภาพของต้นชมพู (นี้) ไรเล่า ทวีปนี้จึงถูกประกาศชื่อว่า ชมพูทวีป

    ก็แลขนาดของต้นชมพูนี้ใด ขนาดนั้นนั่นแหละเป็นขนาดของต้นจิตรปาฏลี (แคฝอย) ของพวกอสูร ต้นสิมพลี (งิ้ว) ของพวกครุฑ ต้นกทัมพะ (กระทุ่ม) ในอมรโคยานทวีป ต้นกัปปะในอุตตรกุรุทวีป ต้นสิรีระ (ซึก) ในบุพพวิเทหทวีป ต้นปาริฉัตตกะในดาวดึงส์...”

    [​IMG]


    ......................................................

    จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 79 มิ.ย. 50 โดย เรณุกา
    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 5 มิถุนายน 2550 15:01 น. ​
     
  20. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    คัดเค้า บานทั้งเช้า บานทั้งเย็น

    พระราชนิพนธ์บทละครใน ‘เรื่องอิเหนา’ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 มีความตอนหนึ่งที่กล่าวถึง ‘คัดเค้า’ ว่า

    เดินเอยเดินทาง
    ตามหว่างอรัญวาป่าใหญ่
    มรคารื่นราบดังปราบไว้
    เหมือนทางที่คลาไคลไปใช้บน
    พิศพรรณรุกขชาติที่เชิงผา
    ดาษดาดอกดวงพวงผล
    เห็นกล้วยไม้ใกล้ทางเสด็จดล
    ดอกโรยร่วงหล่นบนลานทราย
    คัดเค้าสาวหยุดย้อยระย้า
    เหมือนเมื่อประสันตาเอามาถวาย
    หอมกลิ่นสุกรมเมื่อลมชาย
    คล้ายคล้ายพระเชษฐาพาชมดง

    คัดเค้า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oxyceros horridus Lour. หรือชื่อเดิม Randia siamensis Craib อยู่ในวงศ์ Rubiaceae มีชื่อเรียกอื่นๆ ตามท้องถิ่น เช่น คัดเค้าเครือ, คัดเค้าหนาม, หนามเล็บแมว, เค็ดเค้า, พญาเท้าเอว เป็นต้น คัดเค้าเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย ลำต้นซึ่งเป็นเถามีความเหนียวและแข็งมาก ตามลำต้นมีหนามโค้งแหลมคมออกเป็นคู่ๆ ตรงข้ามกัน ใบเป็นใบเดี่ยว รูปรีแกมขอบขนาน ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน เนื้อใบค่อนข้างแข็งและหนา

    [​IMG]

    ดอกมีสีขาว โคนดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง และออกดอกพร้อมกันเกือบทั้งต้น เริ่มแรกบานจะมีสีขาว และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนๆ มีกลิ่นหอมแรงมาก โดยเฉพาะเวลากลางคืน ฤดูกาลออกดอกจะอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม และดอกจะบานเต็มต้นในราวเดือนกุมภาพันธ์ หลังกลีบดอกร่วงก็จะออกผลระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม ผลมีลักษณะกลมรี ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกหรือแก่จะเป็นสีดำ ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก

    ประโยชน์ทางด้านพืชสมุนไพรของคัดเค้ามีมากมาย เรียกว่าเป็นยาทั้งต้น ได้แก่ เปลือก ซึ่งมีรสฝาด ใช้ปิดธาตุแก้เสมหะ แก้โลหิตซ่าน แก้เลือดออกในทวารทั้ง 9, เถาหรือลำต้น ใช้แก้ไข้ บำรุงโลหิต ขับเสมหะ, ใบแก้อาการโลหิตซ่าน โลหิตจาง, ดอกแก้เลือดกำเดา รักษาฝี, ผลใช้ฟอกโลหิตระดูของสตรี แก้ท้องเสีย บำรุงโลหิต และบำรุงผิวให้ผ่องใส ราก แก้ไข้ แก้ท้องเสีย แก้เลือดออกตามไรฟัน รักษาฝี รักษาแผลทั่วไปโดยเฉพาะแผลสุนัขกัด, ส่วนหนามใช้แก้ฝีประคำร้อย แก้พิษฝีต่างๆ แก้ไข้ ลดความร้อน แก้พิษไข้กาฬ เป็นต้น

    ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน ภาค 1 ยูถิกปุปผิยเถราปทานที่ 10 ว่าด้วยผลแห่งการบูชาด้วยดอกคัดเค้า ซึ่งพระยูถิกปุปผิยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้

    พระชินเจ้าพระนามว่า ปทุมุตระ ผู้สมควรรับเครื่องบูชา มีพระจักษุ ทรงออกจากป่าใหญ่ เสด็จดำเนินไปสู่พระวิหาร เราเอามือทั้งสองประคองดอกคัดเค้าอันสวยงาม ไปบูชาแด่พระพุทธเจ้า ผู้มีพระหฤทัยเมตตา ผู้คงที่ด้วยจิตอันเลื่อมใสนั้น เราเสวยสมบัติแล้ว ไม่ได้เข้าถึงทุคติเลยตลอดแสนกัลป ในกัลปที่ 50 แต่กัลปนี้ ได้มีพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์หนึ่ง เป็นจอมแห่งชน พระนามว่า สมิตนันทนะ มีพลมาก คุณวิเศษเหล่านี้คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 และอภิญญา 6 เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้

    [​IMG]

    อาจารย์เรืองอุไร กุศลาศัย ได้เขียนถึงดอกคัดเค้าไว้ใน ‘หนังสือดอกไม้หอมเมืองไทย’ ว่า

    ดอกเอ๋ยดอกคัดเค้า
    ครึ่งลำเถาครึ่งต้นทนทานเหลือ
    หนามแหลมโค้งโง้งงอกออกคู่เครือ
    หวังแผ่เผื่อป้องกันภยันตราย
    เพราะดอกเจ้าขาวลออบริสุทธิ์
    หอมแรงดุจเด็ดดมสมมาดหมาย
    แต่เย็นย่ำคุงค่ำ ณ คืนปลาย
    กลิ่นกระจายซาบซึ้งติดตรึงเอยฯ

    (หมายเหตุ คำว่า ‘คุง’ เป็นภาษาโบราณ แปลว่า นาน ตลอดไป ตราบเท่า)

    [​IMG]


    ......................................................

    จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 80 ก.ค. 50 โดย เรณุกา
    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 2 กรกฎาคม 2550 15:53 น. ​
     

แชร์หน้านี้

Loading...