ต้นไม้ในพุทธประวัติ

ในห้อง 'บทสวดมนต์ - คาถา' ตั้งกระทู้โดย สันโดษ, 22 พฤศจิกายน 2008.

  1. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    ปาริชาต ต้นไม้สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

    ปาริชาต หรือปาริฉัตร เป็นต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในพระไตรปิฎกบอกไว้ว่า เมื่อต้นปาริชาติในดาวดึงส์บานเต็มที่แล้ว เทวดาชั้นดาวดึงส์ต่างพากันดีใจ เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำรุงบำเรออยู่ตลอดระยะ ๕ เดือนทิพย์ ณ ใต้ต้นปาริชาต ซึ่งเมื่อบานเต็มที่แล้ว แผ่รัศมีไปได้ ๕๐ โยชน์ ในบริเวณรอบๆ และจะส่งกลิ่นไปได้ ๑๐๐ โยชน์ตามลม

    พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนว่า “...สมัยใด อริยสาวกคิดจะออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยนั้น อริยสาวกเปรียบเหมือนปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์มีใบเหลือง สมัยใด อริยสาวกปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยนั้น อริยสาวกเปรียบเหมือนปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์ผลัดใบใหม่

    [​IMG]

    สมัยใด อริยสาวกสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌานมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ สมัยนั้น อริยสาวกเปรียบเหมือนปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์ผลิดอกออกใบ สมัยใด อริยสาวกบรรลุ ทุติยฌานมีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ สมัยนั้น อริยสาวกเปรียบเหมือนปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์เป็นดอกเป็นใบ

    สมัยใดอริยสาวกมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขามีสติอยู่เป็นสุข สมัยนั้น อริยสาวกเปรียบเหมือนปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์เป็นดอกตูม สมัยใด อริยสาวกบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขา เป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ สมัยนั้น อริยสาวกเปรียบเหมือนปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์เริ่มแย้ม

    สมัยใด อริยสาวกทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ สมัยนั้น อริยสาวกเปรียบเหมือนปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์บานเต็มที่ สมัยนั้น ภุมมเทวดาย่อมประกาศให้ได้ยินว่า ท่านรูปนี้มีชื่ออย่างนี้ เป็นสัทธิวิหาริกของท่านชื่อนี้ ออกจากบ้านหรือนิคมชื่อโน้น บวชเป็นบรรพชิต กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง...”

    [​IMG]

    และในพระไตรปิฎกอีกเช่นกัน ที่ได้บอกไว้ว่าพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ทรงบาตรและจีวรครบ เหมือนต้นปาริฉัตตกะ คือ ต้นทองหลาง มีใบหนา มีร่มเงาชิด

    ดังนั้น ต้นปาริชาตหรือปาริฉัตร ก็คือต้น ‘ทองหลาง’ นั่นเอง ทองหลางเป็นพืชในสกุล Erythrina อยู่ในวงศ์ Leguminosae เป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 10-20 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ตามกิ่งหรือลำต้นอ่อนมีหนามแหลมคม แต่จะค่อยๆ หลุดไป เมื่อต้นมีอายุมากขึ้น ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ เรียงสลับ ใบหนา ดอกคล้ายดอกแคแต่มีสีแดงเข้มออกรวมกัน เป็นช่อยาวประมาณ 30-40 ซม. จะออกดอกในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เวลาออกดอกจะทิ้งใบหมดต้น ส่วนผลเป็นฝักยาวโค้งเล็กน้อย เมื่อผลแก่ฝักจะแตกที่ปลายอ้าออก ภายในมีเมล็ดสีแสด

    [​IMG]

    สรรพคุณด้านพืชสมุนไพรของทองหลางนั้น ใบและเปลือก แก้เสมหะ ลมพิษ แก้ตาแดง ตาแฉะ ดับพิษร้อน แก้ข้อบวม, ราก ใช้แก้พยาธิในท้อง ตาฟาง ไข้หวัด พอกบาดแผล แก้ปวดแสบปวดร้อน นอกจากนี้คนไทยยังนิยมนำใบอ่อนของทองหลางมารับประทานร่วมกับเมี่ยงคำ หรือเป็นผักจิ้มน้ำพริก เพราะใบทองหลางเป็นผักที่มีธาตุอาหารคือโปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ และวิตามินซีสูงมาก จึงเป็นอาหารที่ช่วยบำรุงสุขภาพ บำรุงตา และบำรุงกระดูก

    ในวรรณกรรมอิงพุทธประวัติและหลักธรรมเรื่อง ‘กามนิต-วาสิฏฐี’ ได้บอกไว้ว่า กามนิตซึ่งได้ไปเกิดในสวรรค์ เมื่อได้กลิ่นหอมจากต้นปาริชาต ก็สามารถระลึกชาติของตนครั้งที่อยู่ในโลกมนุษย์ได้

    เดือนมกราคมนี้ปาริชาตเริ่มออกดอกแล้ว แต่อย่าไปรอดมกลิ่นเพื่อหวังจะระลึกชาติเหมือนกามนิตเลย เพราะดอกชนิดนี้จะมีกลิ่นหอมก็แต่ในเทวโลกเท่านั้น

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 4 มกราคม 2549 17:40 น. ​
     
  2. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    ต้นจิก ไม้พญานาค

    ต้นจิก เป็นต้นไม้ที่ปัจจุบันอาจไม่ค่อยคุ้นชื่อนัก แต่มีความหมายยิ่งในพุทธศาสนา และเกี่ยวพันกับเรื่องของพญานาค ดังในพระไตรปิฎก เล่มที่ 25 มุจจลินทสูตร ที่กล่าวไว้ว่า

    [​IMG]

    “...สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ใหม่ๆ ประทับอยู่ที่ควงไม้มุจลินท์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับนั่งเสวยวิมุติสุขด้วยบัลลังก์อันเดียวตลอด 7 วัน สมัยนั้น อกาลเมฆใหญ่บังเกิดขึ้นแล้ว ฝนตกพรำตลอด 7 วัน มีลมหนาวประทุษร้าย ครั้งนั้นแล พระยามุจลินทนาคราชออกจากที่อยู่ของตน มาวงรอบพระกายของพระผู้มีพระภาคด้วยขนดหาง 7 รอบ แผ่พังพานใหญ่เบื้องบนพระเศียร ด้วยตั้งใจว่าความหนาวอย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาค ความร้อนอย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาค สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานอย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาค ครั้นพอล่วงสัปดาห์นั้นไป พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากสมาธินั้น ครั้งนั้น พระยามุจลินทนาคราชทราบว่าอากาศโปร่ง ปราศจากเมฆแล้ว จึงคลายขนดหางจากพระกายพระผู้มีพระภาค นิมิตเพศของตนยืนอยู่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาคอยู่ฯ...”

    [​IMG]

    ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

    “วิเวกเป็นสุขของผู้ยินดี มีธรรมอันสดับแล้ว พิจารณาเห็นอยู่ ความไม่เบียดเบียน คือ ความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย เป็นสุขในโลก ความเป็นผู้มีราคะไปปราศแล้ว คือ ความก้าวล่วงซึ่งกามทั้งหลายเสียได้ เป็นสุขในโลก ความนำออกซึ่งอัสมิมานะเสียได้ นี้แลเป็นสุขอย่างยิ่ง”

    ด้วยเหตุนี้ ต่อมาเมื่อมีผู้คิดประดิษฐ์พระพุทธรูปขึ้นภายหลัง จึงได้ประดิษฐ์พระพุทธรูปปางนี้ขึ้น เรียกว่า “ปางนาคปรก” และได้เรียก ต้นจิก ตามชื่อของพญานาคว่า ‘มุจลินท์’

    ต้นจิก หรือมุจลินท์ เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ แต่จะผลิใบใหม่ได้รวดเร็ว สูงราว 5-15 เมตร อยู่ในสกุล Barringtonia วงศ์ Barringtoniaceae มีทั่วไปทางภาคตะวันออกและภาคกลางของอินเดีย ตลอดลังกาจนถึงย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    [​IMG]

    สำหรับในประเทศไทยก็มีขึ้นอยู่ทั่วประเทศ ในที่ราบลุ่มตามห้วย หนอง แม่น้ำ มีหลายชนิด เช่น จิกน้ำ จิกบก จิกนา จิกบ้านหรือจิกสวน และจิกเล เป็นต้น ลำต้นของจิกเป็นปุ่มปม และเป็นพู ใบเป็นใบเดี่ยวรูปหอก ผิวใบมัน ขอบใบจักถี่ มีใบดกหนา ดอกออกเป็นช่อยาวห้อยเป็นระย้า ยาวประมาณเกือบครึ่งเมตร กลีบดอกสีขาว มีเกสรตัวผู้สีชมพูถึงแดงจำนวนมาก ผลยาวรี มีสันตามความยาวของผล 4 สัน และที่ผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ด้วย

    [​IMG]

    ในส่วนของสรรพคุณด้านพืชสมุนไพรนั้น ใบอ่อนหรือยอดอ่อนของจิก รับประทานได้ มีรสฝาดเล็กน้อย ใบแก่ แก้โรคท้องร่วง ราก ใช้เป็นสมุนไพรแก้โรคลมต่างๆ เช่น ลมอืดแน่นในท้อง ส่วนเมล็ด ใช้เป็นยาแก้ไอ แก้อาการจุกเสียด เป็นต้น

    ไม้พญานาคนี้ส่วนใหญ่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะดอกมีความสวยงาม และเป็นต้นไม้ที่ให้ร่มเงาได้ดี

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 29 พฤษภาคม 2549 11:18 น. ​
     
  3. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    อโศก ตำนานรักของกามนิต

    กล่าวกันว่าต้นอโศกเป็นต้นไม้ที่มีรูปทรงสวยงามราวกับสถูป ในอินเดียถือว่า ‘อโศก’ เป็นสัญลักษณ์ของความรัก และมักใช้ดอกอโศกถวายพระกามเทพ

    และในวรรณกรรมอิงพุทธประวัติเรื่อง “กามนิต” โดย เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป นั้น ต้นอโศกได้เข้ามาเกี่ยวพันกับความรักของกามนิต เพราะบริเวณที่กามนิตได้พบกับวาสิฏฐีทุกค่ำคืน ก็คือลานอโศกนั่นเอง ดังที่กามนิตได้พรรณนาถึงเรื่องราวบนลานอโศกไว้ว่า

    [​IMG]

    “ข้าพเจ้ากับโสมทัตต์ได้ไปหาคู่รักทุกคืน ยิ่งคืนข้าพเจ้ากับวาสิฏฐีผู้ประสบขุมทรัพย์ใหม่ๆ อันเกิดต่อความร่วมรักของเรา ยิ่งทวีความที่อยากพบกันมากขึ้นทุกที ดวงจันทร์ฉายแสงดูยิ่งสว่าง หินอ่อนรู้สึกว่ายิ่งเย็นชื่นใจ กลิ่นดอกมะลิซ้อนหอมเย็นยิ่งขึ้น เสียงนกโกกิลายิ่งโหยหวน เสียงลมพัดถูกกิ่งปาล์ม ทำให้วังเวงมากขึ้น ตลอดจนกิ่งอโศกที่แกว่งไกวก็มีเสียงดูดั่งจะกระซิบกระซาบกัน สิ่งเหล่านี้เห็นจะไม่มีเหมือนแล้วตลอดโลก !

    เฮอ ! ถึงเดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้ายังระลึกและจำต้นอโศกเหล่านั้นได้แม่นยำ ว่ามีอยู่เรียงกันเป็นแถวตลอดไปตามยาวของลานนั้น และใต้ต้นอโศกเหล่านี้ เราทั้งสองเคยประคองพากันเดินเล่น จนเราให้สมญาลานนั้นว่า “ลานอโศก” เพราะต้นไม้ชนิดนั้นกวีให้ชื่อว่า “อโศก” หรือบางทีเรียกว่า “สุขหฤทัย” ข้าพเจ้ายังไม่เคยเห็นต้นอโศกที่ไหน ใหญ่โตงามเหมือนกับที่มีอยู่บนลานนั้น ใบซึ่งคอยสั่นไหวอยู่เสมอ เห็นเป็นเลื่อมพรายเงินเมื่อต้องแสงจันทร์ เมื่อลมโชยมาก็มีเสียงปานว่า หนุ่มสาวกระซิบกัน เวลานั้นแม้จะย่างเข้าสู่วสันตฤดู คงยังแตกดอกออกช่อเป็นสีแดงบ้างเหลืองบ้าง แก่อ่อนสลับกันไป”

    [​IMG]

    อโศก เป็นชื่อต้นไม้หลายชนิดในสกุล Saraca วงศ์ Leguminosae เช่น อโศกน้ำ อโศกเหลือง เป็นต้น มีชื่อเรียกสามัญว่า Asoka Tree มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงราว 10-20 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดกลม ใบเป็นมันดกทึบ ใบรูปหอก ยาวประมาณ 10-15 ซม. ปลายใบแหลม ก้านใบสั้นติดกิ่ง

    ดอกจะออกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง เริ่มแรกดอกจะมีสีเหลือง และจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีแสดหรือสีส้ม จนกระทั่งเป็นสีแดง ตามอายุของดอก ดังนั้นบางครั้งในแต่ละช่วงจะเห็นสีทั้งสามแซมสลับกันอย่างสวยงาม มีกลีบรองดอกยาวเหมือนดอกเข็ม ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ และจะออกดอกในราวเดือนมกราคม-เมษายน ส่วนฝักมีลักษณะแบนยาว มีช่อละ 1-2 ฝัก เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาลและแตกออก แต่ละฝักมีเมล็ด 2-3 เมล็ด

    [​IMG]

    ประโยชน์ของอโศกทางด้านพืชสมุนไพรนั้น อาทิเช่น ที่อินเดียได้นำเปลือกมาสกัดเป็นยา ใช้รักษาอาการเลือดลมผิดปกติในผู้หญิง เช่น ประจำเดือนมาผิดปกติ โรคระดูขาว โรคเลือดออกในมดลูก และโรคริดสีดวงทวาร เป็นต้น

    ‘อโศก’ ไม่ใช่เป็นเพียงแต่ชื่อของต้นไม้เท่านั้น แต่ยังเป็นชื่อของจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แห่งอินเดียนั่นก็คือ ‘พระเจ้าอโศกมหาราช’ กษัตริย์นักรบนักรักผู้ยุติการทำสงคราม และหันมาใฝ่พระทัยในพุทธศาสนา ทรงใช้ธรรมะปกครองบ้านเมือง และทรงอุปถัมภ์บำรุงและเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จนเรียกได้ว่าเป็นยุคที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองทั่วชมพูทวีป และแผ่กว้างไกลออกไปในต่างแดน

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 1 กุมภาพันธ์ 2549 17:12 น. ​
     
  4. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    กล้วยรุ่งอรุณ สีสันสดใส...แค่เรื่องกล้วยๆ

    ขอนำเสนอเรื่องกล้วยชนิดหนึ่งที่แปลก และมีความสวยงาม แต่หาไม่ยาก เพราะบ้านเราก็มีให้ เห็นกัน กล้วยชนิดนี้เรียกกันว่า “กล้วยรุ่งอรุณ” หรือ “กล้วยประดับ” หรือ “กล้วยขนแดง” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Musa velutina Wendi. &Drude” อยู่ในวงศ์ Musaceae มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางแคว้นอัสสัมของประเทศอินเดีย

    ต้นกล้วยรุ่งอรุณ เป็นต้นกล้วยขนาดเล็ก แตกเป็นกอ สูงประมาณ 1.5-2 เมตร ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 ซม. กาบลำต้นมีสีเขียวอ่อน ใบเป็นใบเดี่ยว รูปขอบขนานเรียวยาว กาบใบมีความยาว 1-1.5 เมตร ด้านใต้ใบจะมีสีเขียวเข้มกว่าด้านบน เส้นกลางใบจะมีสีเขียวอมชมพู จะออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด ซึ่งก็คือ “ปลี” นั่นเอง ปลีกล้วยมีสีชมพูอมม่วง ตั้งตรง ส่วนก้านช่อดอกและช่อดอก มีสีชมพูสด หรือชมพูอมแดง

    [​IMG]

    ส่วนผลของกล้วยรุ่งอรุณนั้นมีสีชมพูสด มีความยาวประมาณ 7 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 3-4 ซม. รูปร่างอวบป้อม ออกเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย ปลายมน และมีขนอ่อนสั้นๆ สี ชมพูปกคลุม ดูเหมือนกำมะหยี่ เปลือกค่อนข้างหนา เมื่อผลแก่จัดเปลือกจะแตกออกเองโดยอัตโนมัติเผยให้เห็นเนื้อสีขาว ผลของกล้วยรุ่งอรุณนี้รับประทานได้ แต่ไม่ค่อยมีคนนิยมรับประทาน เนื่องจากมีเมล็ดเป็นจำนวนมาก เมล็ดมีสีดำและมีปุ่มอยู่ตรงกลาง การขยายพันธุ์นั้นทำได้ทั้งการเพาะเมล็ดและปลูกด้วยหน่อ

    ด้วยสีสันอันสดใสของกล้วยรุ่งอรุณ และขนาดที่ไม่ใหญ่โตนัก ประกอบกับเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีทั้งในร่มและกลางแจ้ง จึงทำให้ผู้คนนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ โดยปลูกในกระถาง ตั้งไว้ภายในบ้าน หรือหากตัดแต่ดอกมาปักแจกันก็จะสามารถอยู่ได้นาน 10-15 วันทีเดียว

    [​IMG]

    ชื่นชมกับความแปลกและความงามของ “กล้วยรุ่งอรุณ” กันแล้ว ก็ขอฝากธรรมะเกี่ยวกับกล้วยไว้ให้คิดกันต่อ

    ในการสอนธรรมหรือปรารภธรรมแก่ภิกษุนั้น พระพุทธองค์จะทรงยกเรื่องราวต่างๆ มาอุปมาอุปไมยให้เห็นภาพและเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ดังเช่นครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคทรงปรารภกับภิกษุถึงเรื่องของพระเทวทัต โดยทรงกล่าวว่า

    “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะและชื่อเสียงเกิดแก่เทวทัต เพื่อฆ่าตนเอง เพื่อความเสื่อมฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนต้นกล้วยเผล็ดผล เพื่อฆ่าตนเอง เพื่อความเสื่อม ฉันใด ลาภสักการะและชื่อเสียงเกิดแก่เทวทัต เพื่อฆ่าตนเอง เพื่อความเสื่อม ฉันนั้นเหมือนกันฯ”

    [​IMG]

    สำหรับการสอนเรื่องขันธ์ ๕ ได้ทรงอุปมาว่า

    “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้มีความต้องการด้วยไม้แก่น เสาะหาไม้แก่น เที่ยวแสวงหาไม้แก่นอยู่ ถือเอาจอบอันคม พึงเข้าไปสู่ป่า บุรุษนั้นพึงเห็นต้นกล้วยใหญ่ ตรง ใหม่ ยังไม่เกิดแก่นในป่านั้น พึงตัดโคนต้นกล้วยนั้นแล้วจึงตัดปลาย แล้วจึงปอกกาบใบออก บุรุษนั้นปอกกาบใบออก ไม่พึงได้แม้กระพี้ในต้นกล้วยใหญ่นั้น จะพึงได้แก่นแต่ที่ไหน บุรุษผู้มีจักษุพึงเห็น เพ่งพิจารณาอยู่โดยแยบคาย ซึ่งต้นกล้วยใหญ่นั้น เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่งพิจารณาอยู่โดยแยบคาย ต้นกล้วยใหญ่นั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาแก่นมิได้ แก่นในต้นกล้วยพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ภิกษุย่อมเห็น เพ่งพิจารณาสังขารนั้นโดยแยบคาย เมื่อภิกษุนั้นเห็น เพ่งพิจารณาอยู่โดยแยบคาย สังขารนั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ สาระในสังขารทั้งหลายพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกันแล”

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 30 กันยายน 2548 17:21 น. ​
     
  5. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    กล้วยดอกบัวทอง ดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์แห่งยูนนาน

    พูดถึงเรื่องกล้วย ก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องกล้วยๆ สำหรับบ้านเรา เพราะพบได้ทุกหนทุกแห่ง เป็นพืชที่ปลูกง่ายขึ้นง่าย แตกหน่อแตกกออย่างรวดเร็ว และนำมาใช้ประโยชน์ได้สารพัดอย่างดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

    [​IMG]

    แต่สำหรับกล้วยที่นำมาให้ชมกันในครั้งนี้ เป็นกล้วยที่แปลกและหายากมาก เรียกได้ว่าเป็นพันธุ์ที่หายากที่สุดในโลก เพราะแหล่งกำเนิดของมันอยู่บนภูเขาที่มีอากาศหนาวเย็น และกล้วยที่ว่านี้ก็รู้จักกันในฐานะของ ‘ดอกไม้’ ที่เป็นไม้ประดับ ไม่ใช่ ‘ผลไม้’ ที่เรานำผลมารับประทานกัน

    กล้วยชนิดนี้มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Golden Lotus” แปลว่า ดอกบัวทอง หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “Dwarf Banana” แปลว่า กล้วยแคระ แต่เท่าที่ค้นดูยังไม่พบชื่อที่ได้บัญญัติไว้ในเมืองไทย ดังนั้นจึงขอเรียกกล้วยชนิดนี้ว่า “กล้วยดอกบัวทอง”

    [​IMG]

    กล้วยดอกบัวทองเป็นหนึ่งในวงศ์กล้วย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Musella lasiocarpa” เหตุที่ได้ชื่อว่า “กล้วยแคระจีน” นั้น ก็เนื่องมาจากถิ่นกำเนิดและลักษณะของมันนั่นเอง

    “กล้วยแคระจีน” หรือ “กล้วยดอกบัวทอง” มีถิ่นกำเนิดทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน พบขึ้นอยู่บนยอดเขาในระดับความสูง 2,500 เมตร ซึ่งมีอากาศหนาวเย็น ขนาดใหญ่ที่สุดของกล้วยชนิดนี้คือมีความสูงประมาณ 1.5 เมตร ครึ่งหนึ่งของลำต้นมีลักษณะอ้วนสั้น ส่วนยอดคล้ายรูปกรวย ใบกว้าง มีสีเขียวอมเทามีนวลเล็กน้อย รูปใบหอก ขอบขนาน เช่นเดียวกับใบกล้วยทั่วไป

    [​IMG]

    เมื่อช่อดอกเติบโตได้ขนาด ดอกขนาดเล็กก็เริ่มปรากฏ และเติบโตขึ้นจนกลายเป็นดอกขนาดใหญ่มีสีเหลือง หรือเหลืองอมส้ม รูปร่างคล้ายดอกบัว ตั้งตรงมีความสูงประมาณ 6 ฟุต ซึ่งสามารถตั้งอยู่ได้หลายเดือน โดยแต่ละชั้นของกลีบดอกค่อยๆ เหี่ยวแห้งไป และโดยทั่วไปจะออกดอกหลังจากปลูกไปแล้วราว 2 ปี

    [​IMG]

    กล้วยดอกบัวทองมีรากที่แข็งแรงมาก และเหง้าของมันสามารถดูดน้ำเก็บไว้ได้มาก เพื่อหล่อเลี้ยงลำต้น การขยายพันธุ์สามารถทำได้ทั้งการเพาะเมล็ดหรือใช้หน่อปักชำ แต่การเพาะเมล็ดค่อนข้างยาก เนื่องจากต้องเพาะชำเมล็ดไว้ในอุณหภูมิที่เย็นจัดราว 5 องศาเซลเซียส ประมาณ 1 เดือนจึงจะช่วยให้การปลูกเป็นไปได้เร็วขึ้น และจะงอกงามดีในช่วงฤดูฝน กล้วยพันธุ์นี้ไม่ได้เติบโตในวงกว้างนอกไปจากถิ่นกำเนิดของมัน

    ชาวจีนในมณฑลยูนนานซึ่งนับถือพระพุทธศาสนา ได้ถือว่ากล้วยดอกบัวทองเป็นหนึ่งในดอกไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์ อาจเป็นเพราะความน่าพิศวงที่ดูเหมือนดอกบัวและมีสีเหลืองทองนั่นเอง

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 31 สิงหาคม 2548 13:35 น. ​
     
  6. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    ส้มมือ หรืออีกชื่อ ‘ส้มนิ้วพระหัตถ์’

    ‘ส้มมือ’ เป็นพันธุ์ไม้เก่าแก่ในตระกูลส้ม ซึ่งนับวันก็ยิ่งจะหาชมได้ยากยิ่ง และที่สำคัญเป็นส้มพันธุ์แปลกที่ไม่เหมือนส้มทั่วไป

    ‘ส้มมือ’ หรือที่มักจะเรียกกันติดปากว่า ‘ส้มโอมือ’ เป็นชื่อส้มชนิดหนึ่ง ในวงศ์ Rutaceae มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Citrus medica Linn.var.sarcodactylis Swing. เป็นพืชประเภทส้มที่เก่าแก่ที่สุด มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชีย

    [​IMG]

    ในประเทศอินเดียเรียกว่า ‘บารานิมบู’ (Bara nimbu) แต่พวกฝรั่งมักเรียกกันว่า ‘ส้มพระหัตถ์พุทธองค์’ (Buddha’s Hand) หรือ ‘ส้มนิ้วพระหัตถ์’ (Buddha’s Fingers) หรือชาวจีนเรียกว่า ‘ฝอโส่ว’ ซึ่งแปลว่านิ้วพระหัตถ์เช่นเดียวกัน

    เหตุที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะรูปร่างของผลเจ้าส้มมือนี้ คล้ายดังพระหัตถ์หรือนิ้วพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้า คือมีลักษณะเป็นนิ้วมือเรียวยาวห้อยลงมา ซึ่งแปลกกว่าส้มอื่นๆ ที่มีลักษณะกลม

    ต้นส้มมือหรือต้นส้มนิ้วพระหัตถ์ เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงราว 3-6 เมตร ลำต้นและกิ่งมีหนามแข็ง ใบเป็นใบเดี่ยว รูปทรงรี หนา โคนใบมนกลม ปลายแหลมมน ใบค่อนข้างหนา ขอบใบหยัก ดอกสีขาว มีกลิ่นหอมมาก ออกเป็นช่อตามซอกใบ แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้จำนวนมาก ผลมีผิวขรุขระ มีร่องแฉกคล้าย นิ้วมือกว่า 10 นิ้ว เมื่อสุกจะมีสีเหลืองสด ภายในผลสีขาว ไม่มีเมล็ด

    [​IMG]

    เปลือกหนาคล้ายเปลือกส้มโอ ผิวเปลือกมีน้ำมันหอมระเหย กลิ่นหอมคล้ายกลิ่นมะนาว ส่วนเนื้อแห้ง ไม่ฉ่ำน้ำ มักไม่นิยมนำผลมารับประทานสดเหมือนส้มทั่วไป แต่จะนำเปลือกไปใช้ประกอบในการปรุงอาหาร และทำยา เพราะมีสรรพคุณในการกระตุ้นหัวใจ บำรุงหัวใจ บำรุงตับ ทำให้เลือดลมดี ชาวตะวันตกรู้จักสรรพคุณของส้มมือมานานแล้ว จึงตั้งชื่อเป็นภาษาละตินว่า ‘medica’ หมายถึง สิ่งที่มีสรรพคุณทางยา

    [​IMG]

    ส่วนชาวจีนและญี่ปุ่นมักใช้ส้มมือเป็นผลไม้มงคลในพิธีกรรมต่างๆ ทางศาสนา รวมทั้งใช้เป็นเครื่องหอมดับกลิ่นด้วย ส่วนคนไทยสมัยก่อนก็คุ้นเคยกับส้มมือที่นำมาใช้ทำเป็นยาดม เรียกกันว่า ‘ยาดมส้มโอมือ’ ที่มีกลิ่นหอมเย็นชื่นใจ ใช้สูดดมบรรเทาอาการเป็นลม หน้ามืดตาลาย แต่สมัยนี้ยาดมส้มโอมือไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เพราะส้มมือที่นำมาใช้ทำยาดมนั้นหายาก มีปลูกกันไม่กี่แห่งเท่านั้น ประกอบกับกลิ่นของยาดมส้มมือไม่เป็นที่นิยมกันในปัจจุบัน

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 2 มีนาคม 2549 17:59 น. ​
     
  7. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    กิน ‘สมอ’ ดีเสมอ

    ผลสมอหรือลูกสมอ เคยเป็นผลไม้ที่เด็กๆ ในครั้งอดีตชอบรับประทาน โดยเฉพาะสมอแช่อิ่มที่มีรสชาติหวานหอม เด็กๆ จะอมเหมือนอมท็อฟฟี่ อมจนความหวานเจือจางแล้วจึงค่อยเคี้ยวเนื้อที่สุดแสนจะอร่อย แต่น่าเสียดายที่เด็กสมัยนี้ไม่ค่อยรู้จักสมอ หรือมีโอกาสได้ลองลิ้มชิมรสสมอ

    ต้นสมอ เป็นต้นไม้หลายชนิดในสกุล Terminalia วงศ์ Combretaceae เช่น สมอไทย, สมอพิเภก, สมอดีงู, สมอจีน เป็นต้น มีชื่อเรียกทางภาษาบาลีว่า ‘หรีตกะ’

    [​IMG]

    ลักษณะโดยรวมของสมอ เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มกลม แผ่กว้าง เปลือกหนา ลำต้นขรุขระ ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่ ดอกคล้ายหางกระรอกออกเป็นช่อเดี่ยวๆ บนกิ่งหรือตามซอกใบ กลีบดอกสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม

    ส่วนผลนั้นแต่ละชนิดจะแตกต่างกัน เช่น สมอไทยมีผลรูปป้อมๆ ผิวเกลี้ยงไม่มีขน เมื่อผลแก่จะมีสีเขียวอมเหลือง ผลแห้งสีดำ ผลของสมอพิเภกค่อนข้างกลม ผิวมีขนนุ่มสีน้ำตาล หรือน้ำตาลแกมเหลืองปกคลุมอยู่ทั้งผล มีสันตามยาว ๕ สัน ส่วนสมอดีงู หรือสมอหมึกมีผลค่อนข้างยาว หัวและท้ายแหลมคล้ายผลสมอของจีน ต้นสมอจะทิ้งใบในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม และใบอ่อนจะขึ้นมาใหม่พร้อมกับตาดอกในระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน

    ประโยชน์ของสมอมีมากมาย อาทิเช่น เปลือกและผลดิบมีสารฝาด จึงใช้ในการย้อมแห อวน หรือย้อมผ้าให้เป็นสีเขียวขี้ม้า เนื้อไม้ใช้สร้างบ้านเรือน ทำเครื่องเรือน ทำเกวียน เป็นต้น

    ส่วนสรรพคุณด้านสมุนไพรนั้นก็มีมากมาย คือ ดอก ช่วยแก้โรคตา แดง ตาอักเสบ, เปลือกต้น ช่วยบำรุงหัวใจ ขับน้ำเหลืองเสีย ขับปัสสาวะ, ผลอ่อนหรือผลดิบ ใช้เป็นยาระบาย ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ แก้บิด แก้ไข้ แก้โลหิตเป็นพิษ แก้โรคตา แก้ธาตุกำเริบ บำรุงธาตุ และแก้ริดสีดวง, ผลสุก ใช้เป็นยาฝาดสมาน แก้ท้องเดิน ช่วยเจริญอาหาร แก้ลมจุกเสียด แก้เจ็บคอ และขับน้ำเหลืองเสีย

    [​IMG]

    ด้วยสรรพคุณทางยาเหล่านี้ของสมอ ในพระไตรปิฎกจึงได้บอกไว้ว่า ครั้งพุทธกาล มีภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคผอมเหลือง ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้แด่พระพุทธเจ้า พระองค์จึงตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ดื่มยาผลสมอดองน้ำมูตรโค”

    และในพระไตรปิฎก ก็ได้เล่าถึงอดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งเสวยพระชาติเป็นพระหรีตกิทายกเถระ ซึ่งท่านได้กล่าวถึงผลแห่งการถวายลูกสมอไว้ใน ‘หรีตกิทายกเถราปทานที่ 8’ ว่า

    [​IMG]

    ท่านได้นำผลสมอถวายแด่พระสยัมภูพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง) ทำให้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงบรรเทาพยาธิทั้งปวง พระสยัมภูพุทธเจ้าได้ทรงทำอนุโมทนาว่า ด้วยการถวายเภสัชอันเป็นเครื่องระงับพยาธินี้ ท่านเกิดเป็นเทวดา เป็นมนุษย์ หรือจะเกิดในชาติอื่น จงเป็นผู้ถึงความสุขในที่ทุกแห่ง และท่านอย่าถึงความป่วยไข้ ฉะนั้น เพราะการถวายสมอนี่เอง ความป่วยไข้จึงมิได้เกิดแก่ท่านเลย นี้เป็นผลแห่งเภสัชทาน

    ส่วนในตำนานได้เล่าไว้ว่า ขณะที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับเสวยวิมุตติผลสุขสมบัติอยู่ใต้ต้นไม้ พระอินทร์ทรงเห็นว่า พระพุทธองค์ควรเสวยพระกระยาหาร จึงได้นำผลสมอทิพย์มาถวาย

    เชื่อหรือยังว่า ‘กินสมอ ดีเสมอ’ จริงๆ

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 25 เมษายน 2549 18:35 น. ​
     
  8. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    พุทธรักษา ดอกงาม นามมงคล

    เพื่อให้เข้าบรรยากาศของเดือนธันวาคม ‘วันพ่อแห่งชาติ’ จึงขอนำเรื่อง ‘พุทธรักษา’ ดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์วันพ่อแห่งชาติ มานำเสนอ แต่ก่อนอื่นคงต้องย้อนประวัติวันพ่อแห่งชาติกันสักนิดเพื่อเป็นความรู้

    ‘วันพ่อแห่งชาติ’ กำหนดขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๓ โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษาเป็นผู้ริเริ่ม ด้วยหลักการและเหตุผลคือ พ่อเป็นผู้มีพระคุณที่มีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและสังคม สมควรที่ผู้เป็นลูกจะเคารพเทิดทูนตอบแทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสมควรที่สังคมจะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อ

    [​IMG]

    จึงถือเอา วันที่ ๕ ธันวาคม ของทุกปีซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็น ‘วันพ่อแห่งชาติ’ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ ทรงเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงรักใคร่และห่วงใยตั้งแต่ทรงพระเยาว์จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งพระเจ้าหลานเธอทุกพระองค์ต่างซาบซึ้งและปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณอย่างมิรู้ลืม พระองค์ทรงเป็น ‘พ่อ’ ตัวอย่างของปวงชนชาวไทยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตากรุณาและความห่วงใยอย่างหาที่เปรียบมิได้

    ในขณะที่คณะกรรมการจัดงานวันพ่อแห่งชาติก็ได้กำหนดให้ ‘ดอกพุทธรักษา’ ซึ่งเป็นดอกไม้ที่มีนามอันเป็นมงคลนี้เป็นสัญลักษณ์วันพ่อแห่งชาติ และมักจะใช้ดอกพุทธรักษาสีเหลือง อันเป็นสีประจำวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และเป็นสีแห่งธรรมด้วย

    ‘พุทธรักษา’ หมายถึง พระพุทธเจ้าทรงปกป้องคุ้มครองให้มีแต่ความสงบสุขและร่มเย็น ประดุจดังพ่อผู้ปกป้องคุ้มครองและสร้างความสุขความร่มเย็นให้กับครอบครัว

    [​IMG]

    ในพุทธประวัติได้กล่าวถึง ครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จทรงเยี่ยมพุทธบิดาที่ทรงประชวรด้วยพระโรคชรา ทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบิดาด้วยเรื่องความเป็นอนิจจังของสังขาร หลังจากพระเจ้าสุทโธทนะซึ่งทรงสำเร็จอนาคามีผลอยู่ก่อนแล้ว ได้สดับพระธรรมเทศนาตั้งแต่ต้นจนจบ ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

    ต้นพุทธรักษามีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะอินเดียตะวันตก และแถบอเมริกาใต้ จัดอยู่ในวงศ์ CANNACEAE ซึ่งมีร่วมร้อยชนิด และมีชื่อเรียกอื่นๆ ในบ้านเรา เช่น พุทธศร, บัวละวงศ์ เป็นต้น พุทธรักษาเป็นพืชล้มลุก ลำต้นเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน ลำต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร ใบสีเขียวรูปหอกหรือใบพาย ยาวประมาณ 30-40 ซม. กว้างประมาณ 10-15 ซม.

    ดอกออกเป็นช่อตรงยอดของลำต้น ช่อดอกยาวประมาณ 15-25 ซม. ดอกมีขนาดใหญ่และมีสีสันสวยงามหลากสี เช่น แดง เหลือง ส้ม ชมพู เป็นต้น และจะออกดอกตลอดปี ผลมีลักษณะกลม ผิวขรุขระ ภายในมีเมล็ดแข็งกลม สีดำ ซึ่งคนอินโดนีเซียเรียกพุทธรักษาว่า Bunga tasbih มาจากภาษาอาหรับ หมายถึง ลูกประคำที่ใช้ในเวลาสวดมนต์ เนื่องจากเมล็ดแข็งนำมาทำลูกประคำได้นั่นเอง

    [​IMG]

    ต้นพุทธรักษาเป็นพรรณไม้ที่ขึ้นง่าย ชอบแสงแดด เจริญเติบโตด้วยการแตกหน่อเป็นกอๆ คล้ายกล้วย ดังนั้น การขยายพันธุ์จึงทำได้ทั้งการเพาะเมล็ดหรือแยกหน่อปลูก

    ความที่พุทธรักษาเติบโตขยายพันธุ์ง่าย และมีสีสันหลากหลายสวยงาม จึงนิยมปลูกไว้เป็นไม้ประดับตามถนนหนทางและบ้านเรือน นอกจากพุทธรักษาจะใช้ปลูกเป็นไม้ประดับแล้ว ยังมีสรรพคุณด้านพืชสมุนไพรด้วย เช่น เหง้า ซึ่งมีรสฝาดเย็น ใช้แก้วัณโรค โรคตับอักเสบ ตัวเหลือง แก้ประจำเดือนไม่ปกติ บิดเรื้อรัง แผลอักเสบบวม สมานแผล แก้ไอเป็นเลือด และบำรุงปอด ส่วนดอกสด นำมาตำใช้พอกแผลสด แผลมีหนอง ห้ามเลือด และเมล็ด ก็นำมาบดหรือตำให้ละเอียดใช้พอกแก้ปวดศีรษะ

    วันพ่อปีนี้ปลูกพุทธรักษาให้เต็มหน้าบ้านเลยดีไหม ?

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 28 พฤศจิกายน 2548 14:17 น. ​
     
  9. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    กำยาน “ความหอมอมตะ”

    คำว่า ‘กำยาน’ มาจากภาษามลายูว่า ‘Kamyan’ มีชื่อพื้นเมืองที่เรียกกันต่างไปในแต่ละท้องถิ่นของไทย เช่น สะด่าน, สาดสมิง, เขว้ เป็นต้น เป็นชื่อไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่หลายชนิดในสกุล Styrax วงศ์ Styracaceae ลำต้นเปลาตรง เรือนยอด โปร่ง เปลือกสีเทา ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ หรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบค่อนข้างหนา มีขนประปราย

    ดอกสีขาว มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อสั้นๆ ตามง่ามใบและปลายกิ่ง ออกดอกราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ผลมีลักษณะกลม สีเขียวอ่อน มีขนสั้นสีขาวปกคลุม เปลือกแข็ง มีฝา หรือหมวกปิดขั้วผล มีเมล็ด 1-2 เมล็ด เมื่อแห้งจะแตกเป็นสามส่วน

    ยางของต้นกำยานจะให้สารสำคัญที่เรียกว่า ชันกำยาน โดยเมื่อกรีดเปลือกต้นตามยาว ยางจะซึมออกมาตามรอยแผลที่กรีดไว้ และจะแข็งตัวเมื่อถูกอากาศ ชันยางที่กรีดได้ครั้งแรกจะขาวบริสุทธิ์ และมีกลิ่นหอมมาก

    ชันยางของกำยานมีสรรพคุณมากมาย ได้มีการนำมาใช้เข้าเครื่องยาและเครื่องสำอาง เช่น ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรคบางชนิด แก้ไอ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ ห้ามเลือด เป็นยาฝาดสมาน ขับลม บำรุงหัวใจ ลดความเครียด คลายความวิตกกังวล ทำให้รู้สึกสบายใจขึ้น ใช้ทำเครื่องหอม เผารมเพื่อให้กลิ่นหอมไล่ริ้นไรมดแมลง นอกจากนี้กำยานมักใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาแผนโบราณเพื่อแต่งกลิ่นและกันบูด

    ความหอมของกำยานนี้ทำให้ประเทศฝรั่งเศสนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอมของตน

    กำยานที่มีขายในท้องตลาดมี 2 ชนิด คือ กำยานสุมาตรา (Sumatra Benzoin) มีถิ่นกำเนิดในอินโดนีเซีย และ กำยานญวน (มีถิ่นกำเนิดบริเวณอ่าวตังเกี๋ยของเวียดนาม) หรือกำยานหลวงพระบาง (เพราะเป็นกำยานที่ผลิตมากที่แขวงหลวงพระบางของลาวในปัจจุบัน) กำยานญวณเป็นกำยานชนิดที่ดีที่สุด ฝรั่งเรียก ‘Siam Benzoin’ เพราะกำยานชนิดนี้ส่งออกไปขายจากราชอาณาจักรสยาม

    คุณสมบัติของกำยานเป็นที่รู้จักกันมานานนับพันๆ ปีแล้ว โดยในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงเรื่องความหอมของกำยานที่ภิกษุณีนำมาอบน้ำอาบ ในบท ‘ภิกษุณีฉัพพัคคีย์’ ว่า

    [​IMG]

    สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์สนานกายด้วยน้ำกำยานที่อบ คนทั้งหลายพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุณีทั้งหลาย จึงได้อาบน้ำกำยานที่อบเหมือนสตรีคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า...

    เมื่อพระพุทธองค์ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์อาบน้ำกำยานที่อบ จริงหรือ ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธองค์จึงทรงติเตียนว่าการกระทำของพวกนางนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ดังนั้น จึงได้ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า ภิกษุณีอาบน้ำปรุงกำยานเป็นเครื่องอบ ต้องอาบัติ

    นอกจากนั้น พระพุทธเจ้ายังได้ทรงมีพระพุทธานุญาตให้ภิกษุที่อาพาธใช้ชตุเภสัช คือยางไม้ที่เป็นเภสัช ได้แก่ ยางอันไหลออกจากต้นหิงคุ ยางอันเขาเคี่ยวจากก้านและใบแห่งต้นหิงคุ ยางอันเขาเคี่ยวจากใบแห่งต้นหิงคุ หรือเจือของอื่นด้วย ยางอันไหลออกจากยอดไม้ตกะ ยางอันไหลออกจากใบแห่งต้นตกะ ยางอันเขาเคี่ยวจากใบหรือไหลออกจากก้านแห่งต้นตกะ หรือต้นกำยาน หรือชตุเภสัชชนิดอื่นใดบรรดามี...

    ปัจจุบัน การบำบัดรักษาสุขภาพด้วยกลิ่นหอม หรือที่เรียกว่า อโรมาเธราพี (Aromatherapy) กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และหนึ่งในกลิ่นหอมที่นำมาใช้ก็คือ ‘กำยาน’ นั่นเอง


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 11 กันยายน 2549 17:06 น. ​
     
  10. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    ตาล ที่มาของตาลปัตร

    ตาล เป็นไม้ยืนต้นในตระกูลปาล์ม มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Borassus flabellifer Linn. อยู่ในวงศ์ Palamae มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น ตาลโตนด, ตาลใหญ่, ตาลนา เป็นต้น มีความสูงราว 15-40 เมตร โคนต้นอวบใหญ่ ลำต้นสีน้ำตาลเข้ม ขณะที่ต้นยังเตี้ยอยู่จะมีทางใบแห้งติดแน่น และมีกาบขอบใบติดอยู่ประมาณ 5 เมตร ไม่แตกกิ่งก้านสาขา

    ใบเป็นใบเดี่ยวอยู่ตรงยอดลำต้นมีรูปร่างคล้ายพัด มีก้านเป็นทางยาวราว 1-2 เมตร ขอบก้านใบหยักเป็นฟันเลื่อย ดอกเพศผู้และเพศเมียแยกกันอยู่คนละต้น ตาลตัวผู้ออก ดอกเป็นงวงคล้ายมะพร้าว ไม่มีผล ส่วนตาลตัวเมียออกดอกเป็นช่อเดี่ยวๆ ดอกสีขาว อมเหลือง และมีผลใหญ่กลมโตสีเขียวอมน้ำตาล ภายในมีเมล็ดราว 2-4 เมล็ด เมื่อยังอ่อนเรียกว่า ลอนตาล ถ้าจาวที่เกิดจากเมล็ดแก่ที่งอกแล้วเรียกว่า จาวตาล

    [​IMG]

    ประโยชน์ของต้นตาลนั้นมีมากมาย อาทิเช่น ลำต้น ใช้ในการก่อสร้าง ทำเครื่องเรือนเครื่องใช้ต่างๆ และใช้ทำเรือขุด ที่เรียกว่าเรืออีโปง, ใบอ่อน ใช้ในการจักสาน เช่น ทำหมวก ทำของเล่นเด็ก, ส่วนใบแก่ ใช้มุงหลังคา ทำพัด, ราก ใช้ต้มกินแก้โรคตานขโมย, ผล ใช้เปลือกหุ้มผลอ่อน ปรุงเป็นอาหาร และคั้นนำจากผลแก่ใช้ปรุงแต่งกลิ่นขนม, ใยตาล ใช้ทำเครื่องจักสาน และทำเป็นเชือก, งวงตาล ให้น้ำหวานที่เรียกว่าน้ำตาลสด นำมากินสดๆ หรือใช้ทำน้ำตาล, ส่วนเมล็ด ที่มักเรียกกันว่าลูกตาล นำมารับประทานสดหรือกินกับน้ำเชื่อม และจาวตาล นำมาเชื่อมรับประทานเป็นของหวาน

    ในพุทธประวัติได้กล่าวไว้ว่า หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ในพรรษาที่สองได้เสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ผู้ครองเมืองราชคฤห์ แต่เนื่องจากในเวลานั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงนับถือ ชฎิลสามพี่น้อง คือ อุรุเวลกัสสป นทีกัสสป และคยากัสสป ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงไปโปรดชฎิลสามพี่น้องก่อน เมื่อทรงแสดงธรรมจนกระทั่งชฎิลสามพี่น้องละความเชื่อดังเดิมของตน ยอมเป็นสาวกของพระองค์แล้ว พระองค์ก็ทรงพาชฏิลทั้งสามพร้อมสาวกอีกพันรูป เสด็จไปประทับยัง ลัฏฐิวัน (สวนตาลหนุ่ม) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองราชคฤห์

    เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้สดับข่าว จึงเสด็จพร้อมประชาชนจำนวนมากไปยังสวนตาลหนุ่ม และเมื่อได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์แล้ว ก็เกิดธรรมจักษุ และประกาศพระองค์เป็นอุบาสก

    [​IMG]

    นอกจากนี้ ตาลปัตร ที่พระสงฆ์ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ นั้น สมัยโบราณทำมาจากใบตาล ซึ่งมาจากภาษาบาลีว่า ‘ตาลปตฺต’ ซึ่งแปลว่าใบตาลนั่นเอง ซึ่งปัจจุบันพระสงฆ์บ้านเราไม่นิยมใช้ตาลปัตรที่ทำจากใบตาลแล้ว แต่พระสงฆ์ในประเทศอื่นที่นับถือพระพุทธศาสนา เช่น พม่า, ศรีลังกา, กัมพูชา และลาว ยังนิยมใช้ตาลปัตรที่ทำจากใบตาลอยู่ และถือเป็นพัดสารพัดประโยชน์ใช้พัดวีโบกไล่แมลง รวมทั้งใช้บังแดดด้วย

    และด้วยลักษณะของต้นตาลซึ่งเมื่อตัดยอดไปแล้วกลายเป็น “ตาลยอดด้วน” ไม่สามารถเจริญเติบโตได้อีกต่อไป ดังคำที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในพระสูตรต่างๆ ในพระไตรปิฎก ซึ่งขอยกมาบางตอนดังนี้

    [​IMG]

    “...สมบัติ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านั้น ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา... ”

    “...ดูกรชีวก บุคคลพึงมีความพยาบาท เพราะราคะ โทสะ โมหะใด ราคะ โทสะ โมหะนั้น ตถาคตละแล้ว มีมูลอันขาดแล้ว เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา...”

    “...ดูกรราธะ เธอจงสละความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากในรูปเสีย ด้วยอาการอย่างนี้ รูปนั้นจักเป็นของอันเธอละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เธอจงละความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ในเวทนา...ในสัญญา...ในสังขาร...ในวิญญาณเสีย ด้วยอาการอย่างนี้ เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณนั้นจักเป็นของอันเธอละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา...”


    [​IMG]


    ......................................................

    หนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 82 ก.ย. 50 โดย เรณุกา
    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 4 กันยายน 2550 14:29 น. ​
     
  11. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    [​IMG]

    มะม่วงไม่รู้หาว มะนาวไม่รู้โห่ คือ หนามแดง

    ย้อนอดีตไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ละครแนวจักรๆ วงศ์ๆ เรื่อง ‘นางสิบสอง’ และ ‘พระรถ-เมรี’ ที่ฉายให้ดูกันทางโทรทัศน์บ้านเรา นับเป็นละครยอดฮิตของผู้ชมทุกวัยตั้งแต่ลูกเด็กเล็กแดงจนถึงปู่ย่าตายาย

    ละครเรื่องนี้สร้างจากตำนานพื้นบ้านเก่าแก่ ที่ดัดแปลงมาจากเรื่อง ‘รถเสนชาดก’ ซึ่งเป็นชาดก 1 ใน 50 เรื่องของปัญญาสชาดก หรือชาดกนอกนิบาต ที่แต่งเลียนแบบอรรถกถาชาดก เพื่อสอนศาสนา และเป็นชาดกเรื่องที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะมีผู้นำไปเป็นต้นเค้าในการแต่งวรรณกรรมต่างๆ อีกมากมาย

    [​IMG]

    เรื่องนางสิบสอง และพระรถ-เมรี เป็นเรื่องราวของหญิงสาว 12 คนที่ถูกพ่อนำไปปล่อยในป่า เพราะคิดว่าเป็นกาลกิณีที่ทำให้ครอบครัวที่เคยเป็นเศรษฐีกลับยากจนลง นางทั้งสิบสองต้องเร่ร่อนไปจนกระทั่งไปถึงเมืองยักษ์ นางยักษ์จึงรับนางสิบสองเป็นน้อง ภายหลังนางสิบสองรู้ว่าพวกตนอยู่กับยักษ์ จึงหลบหนีไปเมืองกุตารนคร และทั้งหมดได้เป็นมเหสีของพระเจ้ารถสิทธิ์

    [​IMG]

    เมื่อนางยักษ์รู้ข่าวก็โกรธแค้นมาก จึงตามมาและทำอุบายจนได้เป็นมเหสีเอกของพระเจ้ารถสิทธิ์ จากนั้นจึงหาทางกำจัดนางสิบสอง โดยแกล้งทำเป็นป่วย ต้องควักลูกตานางสิบสองออกมาจึงจะหาย พระเจ้ารถสิทธิ์จึงควักลูกตานางทั้งสิบสอง แล้วส่งไปขังไว้ในถ้ำในขณะที่ทุกคนตั้งครรภ์แล้ว ทั้งหมดอดอยากมากจึงกินเนื้อลูกของตัวเอง ยกเว้นน้องสุดท้อง ซึ่งไม่ได้กินลูกของตน และตั้งชื่อลูกว่า “รถเสน” หรือ “พระรถ”

    ต่อมาพระเจ้ารถสิทธิ์ก็รู้ว่าพระรถเป็นลูก ทำให้นางยักษ์ไม่พอใจ จึงคิดกำจัดพระรถ ด้วยการแสร้งทำเป็นป่วย ต้องกินผลไม้ในเมืองที่นางเมรีลูกสาวของตัวเองอยู่ จึงจะหาย จึงให้พระรถไปเอามา โดยฝากสารสั่งให้นางเมรีฆ่าพระรถ ว่าถึงเมืองเมื่อไรให้ฆ่าเมื่อนั้น แต่เผอิญพระรถได้ไปพบฤาษีกลางทาง ฤาษีจึงได้แปลงสารว่า ถึงเมื่อไรก็ให้แต่งงานเมื่อนั้น แล้วพระรถและนางเมรีก็ได้แต่งงานกัน

    [​IMG]

    สุดท้าย นางเมรีก็ตรอมใจตาย เพราะพระรถหนีกลับเมือง ส่วนนางยักษ์ผู้เป็นแม่เลี้ยง เห็นพระรถกลับมาอย่างปลอดภัยก็แค้นจนอกแตกตาย ฝ่ายพระรถเสนได้รักษาแม่และป้าหายจากตาบอด และได้ครองเมืองต่อมา

    จากข้อมูลส่วนหนึ่งระบุว่าผลไม้ดังกล่าวในเรื่องนี้ก็คือ ‘มะม่วงไม่รู้หาว มะนาวไม่รู้โห่’ หรือบางแห่งเรียกว่า ‘มะม่วงรู้หาว มะนาวรู้โห่’ ซึ่งเป็นพืชชนิดเดียวกันคือ ‘หนามแดง’ ในปัจจุบัน (แต่บางแห่งก็บอกว่าคือ ‘มะงั่วไม่รู้หาว มะนาวไม่รู้โห่’ ซึ่งเท่ากับเป็นพืชสองชนิด และมะงั่วก็มีลักษณะคล้ายมะนาวแต่ลูกใหญ่กว่า)

    [​IMG]

    ขณะที่ “หนามแดง” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Carissa carandas Linn. อยู่ในวงศ์ Apocynaceae มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น มะนาวไม่รู้โห่ (ภาคกลาง), มะนาวโห่ (ภาคใต้), หนามขี้แฮด (เชียงใหม่), หนามแดง (กรุงเทพฯ) เป็นต้น

    [​IMG]

    เป็นไม้พุ่มยืนต้น สูงราว 2-5 เมตร ตามลำต้นและกิ่งก้านมียางสีขาว และมีหนามแหลมยาว ใบเป็นใบเดี่ยว รูปไข่กลับ เรียงตรงข้าม ขอบใบเรียบ ผิวใบมัน เนื้อใบ เรียบ ดอกเล็กสีขาวออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง โคนดอกมีสีชมพูหรือแดงอ่อน และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกตลอดปี ส่วนผลเป็นผลเดี่ยวออกรวมกันเป็นช่อ ผลอ่อนจะมีสีชมพูอ่อนๆ และค่อยๆ เข้มขึ้นเป็นสีแดง กระทั่งสุกจึงกลายเป็นสีดำ

    สรรพคุณทางยาสมุนไพรของหนามแดงมีไม่น้อย อาทิเช่น ราก ใช้บำรุงธาตุ ขับพยาธิ รักษาบาดแผล และแก้คัน, ใบ ใช้แก้ท้องร่วง เจ็บคอ แก้ปวดหู, ผลมีรสเปรี้ยว คล้ายมะนาว ใช้แก้ไอ แก้โรคลักปิดลักเปิด แก้ท้องเสีย แก้เจ็บคอ และช่วยขับเสมหะ

    [​IMG]


    ......................................................

    หนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 83 ต.ค. 50 โดย เรณุกา
    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 4 ตุลาคม 2550 10:44 น.
     

แชร์หน้านี้

Loading...