ถึงคราวยาม"ตกอับ"

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 19 กุมภาพันธ์ 2006.

  1. vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,173
    ในเวลานี้คนบางกลุ่มหรือบางคนอาจรู้สึก "ตกอับ" ไม่ใช่เล่น ซึ่งเราคงต้องทำความเข้าใจละครับว่า การรู้สึกตกอับนั้นเปรียบเสมือน "ตกนรกบนดิน" ยังไงยังงั้น ตัวกระผมเองก็เคยรู้สึกตกอับมาบ้างเหมือนกัน ซึ่งผมเองก็เชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านคงเคยผ่านประสบการณ์เช่นนี้มาพอสมควร ดังนั้นวันนี้เราจะมาทำความเข้าใจว่าเมื่อถึงคราวตกอับนั้นเป็นเช่นไร แล้วเราจะหาทางออกจากวิกฤตนี้ได้อย่างไร เพราะตามหลักพระพุทธศาสนานั้น การที่คนเราตกอับมันช่างน่า "เวทนา" เสียเหลือเกิน

    ความจริงแล้วหลายคนชอบคิดว่าตนเองตกอับเพราะดวงไม่ดี หรือภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่า "ดวงซวย" เป็นเพราะ "ชะตากรรม" หรือ "ทำแล้วซวย" อันนี้ผมก็ไม่ทราบว่าเป็นอันใดอันหนึ่งหรือทั้งคู่ แต่การที่คนเราต้องทนทุกข์ทรมานจากการรู้สึกตกอับนั้น อาจเกิดขึ้นเมื่อกระทำอะไรบางอย่างที่ขาดสติ ไม่เคยคาดคิด หรือได้รับการพยากรณ์มาก่อน

    ทั้งนี้มันเป็นเรื่องจริงที่เวลาคนเราตกอับนั้นจิตใจมันรู้สึก "ว้าวุ่น" รู้สึกร้อนรนในอกจนหาทางออกไม่ได้ บ้างก็ประชดชีวิตตนเองด้วยการกินเหล้าเมายา ก่อเรื่องวิวาทไปทั่ว บ้างก็ทำร้ายตนเองจนถึงฆ่าตัวตายก็มี

    ผมกลับมองว่าทุกอย่างล้วนมีทางออกและสามารถแก้ไขได้ ดั่งอุโมงค์ที่มืดมิดแต่กลับพบแสงสว่างเมื่อเดินถูกทาง อันนี้ย่อมขึ้นกับความนึกคิดของแต่ละบุคคลด้วยว่าจะหาทางออกแบบผิดๆ หรือถูกต้อง ซึ่งเมื่อกระผมได้อ่านหนังสือของท่านพุทธทาสภิกขุที่มีชื่อว่า "พุทธวิธีชุบชีวิตในยามตกอับ" นั้น ทำให้รับรู้ถึงหลักธรรมะที่สามารถคลี่คลายความหมองหม่นในจิตใจได้อย่างน่าอัศจรรย์เลยทีเดียว

    เป็นเรื่องที่แน่นอนครับว่ามนุษย์เรานั้นย่อมมีทั้งทุกข์และสุข แต่เราจะทำอย่างไรที่ไม่เป็นทุกข์เพียงอย่างเดียว ซึ่งท่านพุทธทาสภิกขุเคยเทศน์ไว้ว่า เมื่อคนเราตกอับย่อมมีแต่ความทุกข์ มีแต่กิเลส ดั่งมี "นรกในใจ" เป็น "สังสารวัฏ" ที่เกิดขึ้นเพราะความคิดและความรู้สึกของ "ตัวกู-ของกู" หรือภาษาอังกฤษที่เขาเรียกว่า "My Way" ดังนั้นการที่เราจะทำให้จิตใจพบกับความสะอาด สว่าง และสงบนั้นต้องมี "สติสัมปชัญญะ" ในทุกอิริยาบถ ทุกความนึกคิด จิตจึงเป็น "ประภัสสร"

    กล่าวคือ ความรู้สึกที่ไร้ซึ่งตัวกู-ของกู โดยสภาพจิตต้อง "ว่าง" จากกิเลส ไม่มีกิเลสมาครอบงำหรือรบกวนจึงเป็นสุขได้ ความสุขดังกล่าวคือ " นิพพาน" หรือ "ความเย็น" ซึ่งเป็นภาษาที่ชาวบ้านเขาพูดกันก่อนพระพุทธเจ้าเกิดเสียอีก

    ดังนั้น ความเย็นในหลักพุทธศาสนาคือ "ความว่างเปล่า" หรือ "ความสงบ" นั่นเอง

    ทั้งนี้ "นิพพานย่อมอยู่ท่ามกลางวัฏสงสาร" คือมีร้อนย่อมมีหนาว มีทุกข์ย่อมมีสุข เพราะเป็นของคู่กัน แต่ปัญหาของคนเราชอบคิดว่าพอลืมตาดูโลกก็เต็มไปด้วยกิเลส ซึ่งอันนี้มันไม่จริงเลยนะครับ เพราะคนเรามีทั้งกิเลสและนิพพานอยู่ในตัวเสมอ ซึ่งมันขึ้นอยู่กับว่าเราจะแยกแยะทั้งสองสิ่งได้อย่างไร โดยที่ต้องพยายามลดกิเลสให้จงได้ แต่ความทุกข์ส่วนมากมักเกิดขึ้นเพราะ "ขาดสติ" หรือ "ความเผลอ" เพราะเกิดมาไม่รู้อะไรเลย หรือบางทีรู้ทั้งรู้แต่ "เผลอ"

    ดังนั้น ถ้าไม่อยากเผลอจนตนเองต้องรู้สึกตกอับ ควรรู้จักสะท้อนกระจก สะท้อนตนเองว่าเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอยู่หรือไม่ ซึ่งเมื่อใดที่เราคิดถึงแต่ "ตัวกู-ของกู" อบายย่อมเกิดขึ้นมาทันที จิตจึงไม่เป็นประภัสสร

    "อบาย" สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท อันดับ 1 คือ "นรก" ซึ่งก็คือความรู้สึกร้อนลุ่ม ความสับสนในจิตใจและความนึกคิด จนเป็นนรกในใจ อันดับ 2 คือ "เดรัจฉาน" หรือความโง่เขลาที่รวมไปถึงคนเกิดมาแต่ไม่ฉลาดเพราะไม่เคยรู้อะไรมาก่อน หรือบางคนทั้งๆ ที่ฉลาดแต่ "เผลอโง่" หรือ "แกล้งโง่" ก็มี อันนี้ก็น่าเวทนายิ่งนัก เพราะหลอกทั้งตนเองและผู้อื่น ส่วนอันดับที่ 3 คือ "เปรต" ซึ่งเป็นสัตว์นรกที่มีแต่ความหิวโหยเพราะคิดแต่ความหิว จนมีแต่ความอยาก มีความทะเยอทะยานสูง เป็นกิเลสที่เกิดขึ้นในใจ เพราะไม่รู้จัก "ความพอดี"

    ทั้งนี้ถ้าคนเราหิวก็ควร "หิวอย่างมีธรรมะ" คือ "หิวไปพลาง แก้หิวไปพลาง" ตามแบบ "พอเพียง" บนเส้นสายกลางก็สามารถ "นิพพานไปพลาง ทุกข์ไปพลาง" ได้เช่นกัน ส่วนอันดับสุดท้ายคือ "อสุรกาย" ซึ่งเป็น "ความขลาด" ที่เกิดขึ้นในใจ เป็นความกลัว ความหวาดเสียวดั่งจะขาดใจตายในบางโอกาส จนหาทางแก้ไขบนหลักธรรมะไม่ได้

    ถึงแม้ว่ามนุษย์เราจะมีอบายทั้ง 4 แต่เราก็สามารถพบกับ "ความว่าง" หรือ "ความเป็นนิพพาน" ได้เช่นกัน ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ รู้จักผิดชอบชั่วดี และเตือนตนเองอยู่เสมอ ดังนั้นถ้าเรายึดหลักไว้ว่า "เมื่อใดจิตว่างจากตัวกู นิพพานก็มีอยู่ ณ จิตนั้น แต่ถ้าตัวกูเกิดขึ้นเมื่อใดสังสารวัฏก็พลันเกิดขึ้นแทน" ดังนั้นความว่างต้องเป็นพื้นฐาน แต่ความวุ่นวาย ความสับสน หรือกิเลสนั้นต้องไม่ใช้เจ้าบ้านในจิตใจของเรา

    สุดท้ายตัวกระผมเองก็ไม่ใช่พระที่จะมาเทศน์ให้ฟัง แต่ก็เป็นได้แค่พุทธศาสนิกชนที่นำหลักธรรมมาเผยแพร่ เพื่อประโยชน์ต่อท่านผู้อ่าน ผมอยากจะฝากไว้ว่าการใช้ชีวิตที่เป็นสุขต้องมี "ศิลปะ" แบบทุกข์ไปพลาง สุขไปพลาง และต้องยอมรับความเป็นจริง ส่วนถ้าต้องการพบนิพพานเพียงอย่างเดียวก็มีความจำเป็นต้องละทิ้งความทุกข์ไปให้เสียหมด ซึ่งเป็นการยากจริงๆ ต่อพุทธบริษัททั่วไป โดยรวมถ้าเราไม่อยากรู้สึกตกอับก็ต้องมีสตินะครับ ต้องเตือนตนเองอยู่เสมอ มองโลกในแง่ดี และรู้จักปล่อยวางเสียบ้าง ชีวิตย่อมพบกับความสุขไม่มากก็น้อยนะครับ
     

แชร์หน้านี้