ทางเดินของจิต

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 15 พฤศจิกายน 2009.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,172
    การที่จิตของมนุษย์ต้องเสพความคิดเป็นอารมณ์จิตอยู่ตลอดเวลา ก็ด้วยเพราะความคิดคืออาหารของจิต ซึ่งถือว่าเป็นปกติตามธรรมชาติของจิตที่จะมีอาการว่องไวและไม่อยู่นิ่ง จึงมีความคิดสลับสับเปลี่ยนเข้ามาไม่ได้ขาด และไม่มีข้อยกเว้นแม้กระทั่งในขณะที่นอนหลับ เพียงแต่จิตจะเปลี่ยนไปเสพความคิดในรูปแบบของความฝัน จิตเดิมแท้นั้นเป็นเพียงธาตุรู้ที่พร้อมจะน้อมไปสู่อารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ดังนั้นเมื่อไม่เท่าทันในมายาสมมติ จิตจึงเกิดอวิชชายึดมั่นถือมั่น คิดเป็นจริงเป็นจังในมายาสมมติเหล่านั้น ว่ามีตัวมีตนเป็นจริงเป็นจัง และเกิดอัตตาตัวตนในความหลงผิด คิดว่าภาพมายาที่ดวงจิตได้สัมผัสนั้น มันเป็นเรื่องจริงหรือเป็นของตนเองจริง
    ดวงจิตที่เกิดความหลงจึงต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมิติวังวนแห่งความคิดความฝันนั้น เนื่องจากหาทางหลุดพ้นออกไปจากอำนาจแห่งอวิชชาความหลงไม่ได้ อันที่จริงแล้วจิตทุกดวงย่อมมีอาการอันเป็นธรรมชาติของจิตที่เหมือนกัน จะแตกต่างกันก็ตรงที่จิตบางดวงนั้นฝึกได้ง่าย แต่บางดวงอาจฝึกได้ยาก ถึงกระนั้นก็ยังมีอาการของจิตเดิมแท้ที่เสมอเหมือนกัน คือมีความว่างและความสงบเป็นแก่นแท้เหมือนกัน
    ในเมื่อจิตเดิมแท้นั้น มีอาการของพลังงานจิตที่ไม่แตกต่างกัน นั่นก็หมายความว่า มนุษย์ทุกคนมีโอกาสที่จะอบรมจิตของตนให้เข้าถึงภาวะแห่งจิตเดิมแท้ได้เสมอกันทุกคน ดวงจิตและวิญญาณใดที่มีอวิชชาพอกพูนอยู่ภายในดวงจิตมาก ก็ต้องใช้เวลาในการอบรมจิตดวงนั้นยาวนาน ซึ่งบางครั้งอาจต้องอาศัยเวลาในการอบรมจิตหลายภพหลายชาติติดต่อกัน จนกว่าจิตดวงนั้นจะเข้าถึงภาวะแห่งความรู้แจ้ง และหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนี้ออกไปได้
    ครูบาอาจารย์ผู้รู้ผู้ประเสริฐได้ค้นพบแนวทางในการนำจิตออกจากดงแห่งความคิดอันหลากหลาย (อันประกอบไปด้วยมิติแห่งความคิดที่ซ้อนกันอยู่หลายมิติมากมาย) ให้ดวงจิตสามารถกลับสู่ความเดิมแท้แห่งจิตด้วยการให้เครื่องรู้แก่จิตนั้น เมื่อจิตมีเครื่องรู้ จิตก็จะใช้เครื่องรู้นั้นแทนการเสพความคิดอันหลากหลายที่รายล้อมจิตอยู่ และเมื่อจิตกับเครื่องรู้เริ่มรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกัน เครื่องรู้กับจิตไม่พรากจากกัน จิตก็จะแยกตัวออกจากมิติแห่งความคิดอันหลากหลายเหล่านั้นได้ ซึ่งอาการที่จิตสามารถหลุดพ้นจากอำนาจแห่งมิติของความคิดได้นี้เองที่เราเรียกว่า "สมาธิจิต"
    การอบรมจิตด้วยกระบวนการให้เครื่องรู้แก่จิต ( กรรมฐาน) เป็นอุบายวิธีในการอบรมจิต ที่ช่วยให้จิตสามารถออกจากมิติแห่งความคิดได้ง่ายที่สุด (ถ้าจะกล่าวอีกอย่างก็คือ สามารถได้สมาธิจิตหรือเข้าถึงอาการของจิตเดิมแท้ได้ง่ายที่สุด)
    ช่วงระหว่างทางเดินของจิตในการเข้าถึงภาวะสมาธิจึงนิยมใช้อุบายกรรมฐาน เช่น การให้จิตเฝ้าติดตามลมหายใจเข้า-ออก โดยขณะที่หายใจเข้านั้น ให้เฝ้าดูลมหายใจตั้งแต่ที่บริเวณปลายจมูก ผ่านลงไปยังหทัยธาตุจนถึงสะดือ และในขณะที่หายออกก็ให้เฝ้าดูลมหายใจ ตั้งแต่ที่สะดือย้อนกลับขึ้นไปยังหทัยธาตุ จนผ่านออกไปที่ปลายจมูก ทำอยู่เช่นนี้จนกระทั่งจิตกับลมหายใจรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว แล้วจิตก็จะค่อยๆ ออกจากมิติแห่งความคิดมาเป็นอิสระ กลับคืนสู่ความเดิมแท้ สิ้นภาวะกิเสล อยู่เหนือมายาสมมติของโลกทั้งปวง
    แต่อาการของจิตในลักษณะข้างต้นนี้ยังไม่ใช่จิตที่เกิดภูมิปัญญา เพราะทันทีที่จิตออกจากภาวะดังกล่าว กิเลสก็จะกลับเข้ามาสู่จิตได้อีกเช่นเดิม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จิตไม่อาจทนต่ออำนาจของมายากิเลสโลกได้ ทั้งนี้เป็นเพราะจิตยังเข้าไม่ถึงปัญญา การที่กิเลสจะหมดสิ้นไปจากจิตได้ก็ด้วยภูมิปัญญาที่เท่าทันกิเลสเท่านั้น ดังนั้นหากไม่เกิดปัญญาแล้ว กิเลสย่อมสามารถกลับเข้ามาครอบงำดวงจิตได้ดังเดิม
    ลำพังเพียงแต่กำลังอำนาจแห่งฌานสมาธิ หรือการเข้าถึงภาวะแห่งความเดิมแท้ของจิตในชั่วขณะนั้น ย่อมไม่อาจต้านทานกำลังของอำนาจกิเลสมายาโลกได้ เพราะภาวะของจิตเดิมแท้ที่สัมผัสได้ในภาวะสมาธินั้นไม่ได้ทรงกำลังอยู่ได้ตลอดเวลา ดังนั้น เมื่อจิตถอยกลับเข้าสู่เขตอำนาจของโลกสมมติ จิตที่ขาดภูมิปัญญาจึงไม่สามารถทนต่ออำนาจกิเลสมายาของโลกได้ จิตจึงจำเป็นต้องแสวงหาทางเดินของจิตในขั้นสุดท้าย นั่นก็คือการที่จิตใช้พลังแห่งสมาธินั้น ในการเข้าถึงภูมิปัญญาแห่งความรู้แจ้งเห็นจริง อันเป็นภูมิปัญญาแห่งการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในมิติภพภูมิ อันเป็นเพียงภาพมายาแห่งความคิดความฝัน
    แต่การที่จะสามารถเข้าถึงภูมิปัญญาธรรมในขั้นนี้ได้ ผู้ปฏิบัติจะต้องดำรงจิตอยู่ในภาวะที่เป็นโลกุตรภูมิ หรือภูมิที่อยู่เหนือสมมติบัญญัติโลกเท่านั้น ดวงจิตที่สำเร็จในโลกุตรภูมิจะสามารถถอดรหัสความเร้นลับของมิติแห่งความคิดความฝันให้หลุดพ้นออกไปได้ ดังนั้น เมื่อความฝันนี้จบลงก็จะไม่มีความฝันอื่นใดปรากฏขึ้นมาอีก จึงไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดในทั้งสามโลกอีกต่อไป แต่หากว่าจิตไปสำเร็จในโลกียภูมิแล้ว ดวงจิตก็จะได้แค่เพียงนิพพานพรหม ซึ่งถ้ามีเหตุปัจจัยแห่งการเกิดคืนสภาพ แล้วจิตก็ยังมีโอกาสที่จะหวนกลับมาเวียนว่ายตายเกิดได้อีก
    จิตทุกดวงจึงมีทางเดินและมีการพัฒนาจิตที่เหมือนกัน จะต่างกันไปบ้างก็ตรงที่บุญกรรมของจิตแต่ละดวงที่ได้เคยกระทำสะสมมา หากดวงจิตใดได้สะสมบุญมามากพอแล้ว การปฏิบัติจิตในชาตินี้มันก็จะง่ายเข้า แต่หากจิตดวงใดไม่มีบุญเก่าสะสมมาเลย ก็คงต้องอาศัยความมานะพากเพียรให้มากๆ แล้วเลือกเดินให้ตรงทางและถูกทาง อย่าปฏิบัติไปด้วยจินตนาการเพ้อเจ้อ หรือปฏิบัติด้วยอวิชชาความโลภความหลง อย่างบางคนมัวแต่เสียเวลาไปกับการสื่อสารกับดวงจิตวิญญาณของผู้ที่ตายไปแล้ว ผีเจ้าเข้าทรง ติดต่อกับเทวดา พระอินทร์ พระพรหม หรือบ้างก็มุ่งแต่แสวงหาฤทธิ์เดชอำนาจ บ้าหวยรวยเบอร์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการปฏิบัติที่ไม่เกิดปัญญาธรรมอันถูกต้อง
    การปฏิบัติที่ผิดทางนั้นย่อมส่งผลให้ดวงจิตวิญญาณสะสมความโลภ โกรธ หลง อัตตาตัวตน และความยึดมั่นถือมั่นในมายาสมมติโลก สุดท้ายดวงจิตวิญญาณเหล่านี้ก็ต้องกลับมาเกิดอีก ไม่อาจหลุดพ้นจากอำนาจกิเลสมายาโลกไปได้ เท่ากับเสียโอกาสไปอีกหนึ่งชาติฟรีๆ

    สมาธิชาวบ้าน | ไทยโพสต์
     

แชร์หน้านี้

Loading...