ขอกล่าวถึง ทาน ที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า ทานของอสัตบุรุษและทานของสัตบุรุษ ตามที่แสดง
ไว้ใน อสัปปุริสสูตร และ สัปปุริสสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ดังต่อไปนี้
ทานของอสัตบุรุษ คือทานของคนไม่ดี มีอยู่ ๕ อย่าง คือ ให้โดยไม่เคารพ ๑ ให้โดยไม่ยำเกรง ๑
ไม่ให้ด้วยมือของตนเอง ๑ ให้โดยทิ้งขว้าง ๑ ไม่เห็นผลในอนาคตแล้วให้ ๑
ส่วน สัตบุรุษ ย่อมให้ทานโดยเคารพ ๑ ให้โดยยำเกรง ๑ ให้ด้วยมือของตนเอง ๑ ให้โดยไม่ทิ้ง
ขว้าง ๑ เห็นผลในอนาคตจึงให้ ๑
อีกนัยหนึ่ง แสดงว่า ทานของสัตบุรุษ มี ๕ อย่าง คือให้ทานโดยศรัทธา ๑ ให้ทานโดยเคารพ ๑
ให้ทานตามกาลอันควร ๑ เป็นผู้มีจิตคิดอนุเคราะห์ให้ทาน ๑ ให้ทานโดยไม่กระทบตนและผู้อื่น ๑ ถ้าตรง
ข้ามกับ ๕ ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นทานของอสัตบุรุษ
<CENTER><BIG>ทานของสัตบุรุษนัยที่ ๑</BIG></CENTER>
๑. ให้ทานโดยเคารพ คือให้โดยความเต็มใจ ไม่ได้ให้ด้วยความเกรงกลัวหรือจำใจให้ เวลาให้
ก็ให้ด้วยกิริยาที่นอบน้อมยิ้มแย้มแจ่มใส
๒. ให้ทานโดยยำเกรง คือเคารพในทานของตนและเคารพในผู้รับ การเลือกให้แต่ของดี ของมี
ประโยชน์ ของสะอาดมีรสดี เป็นต้น ชื่อว่าเคารพทานของตน อีกประการหนึ่งผู้ที่ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่
พอใจ ผู้ที่ให้ของที่เลิศ ย่อมได้ของที่เลิศ ผู้ที่ให้ของที่ดี ย่อมได้ของดี ผู้ที่ให้ของที่ประเสริฐย่อมเข้าถึงสถานที่
ประเสริฐ นรชนใดให้ของที่เลิศ ให้ของที่ดี ให้ของที่ประเสริฐ นรชนนั้นจะบังเกิดในที่ใดๆ ย่อมมีอายุยืน มียศ
นี้เป็นพระดำรัสของพระพุทธเจ้า
การเลือกผู้รับที่สมควรแก่ของ และเลือกผู้รับที่เป็นผู้มีศีล มีคุณธรรม ชื่อว่า เคารพในผู้รับ ข้อนี้
มิได้หมายความว่าถ้าผู้รับเป็นสัตว์ดิรัจฉาน หรือเป็นผู้ไม่มีศีลแล้ว ไม่ต้องให้ ควรให้ทั้งสิ้น แต่ของที่ดี ของที่
ประณีต ของที่สะอาด มีรสเลิศ ย่อมสมควรแก่ผู้รับที่เลิศ คือผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรม ผู้มีศีลยิ่งกว่าผู้อื่น ยิ่งให้
แก่ผู้มีศีลจำนวนมากเป็นประโยชน์สุขแก่ผู้มีศีลจำนวนมาก ที่เรียกว่า สังฆทาน ยิ่งมีผลมากจนประมาณไม่
ได้ว่าเท่านั้นเท่านี้ชาติ
๓. ให้ด้วยมือของตน ข้อนี้หมายความว่า เวลานี้เราเป็นมนุษย์ มีมือ มีเท้า มีอวัยวะครบบริบูรณ์
เราจึงควรทำทานนั้นด้วยมือตนเอง ไม่ควรใช้ผู้อื่นทำแทนอยู่เสมอๆ ถ้าจะใช้ก็ควรใช้เป็นบางครั้งบางคราว
ในเวลาจำเป็น นอกจากนั้นแล้วควรทำทานด้วยมือของตนเอง เพราะนอกจากจะทำให้เกิดเจตนาที่เป็นบุญ
ในขณะที่กำลังให้แล้ว ในวัฏฏะอันยาวนานนี้ เราไม่อาจทราบได้ว่าเราจะเกิดเป็นคนมือขาดเท้าขาดเมื่อใด
ถ้าเราเกิดเป็นคนมือขาดแล้ว แม้ของมีอยู่และเราอยากให้ทานด้วยมือของเราเอง เราจะให้ได้อย่างไร นอก
จากจะอาศัยผู้อื่นทำแทนเท่านั้น
๔. ให้โดยไม่ทิ้งขว้าง ข้อนี้หมายถึงไม่ทิ้งขว้างการให้ คือให้อยู่โดยสม่ำเสมอ ให้อยู่เป็นประจำ
๕. เห็นผลในอนาคตจึงให้ หมายความว่า ให้เพราะเชื่อว่า ทานมีจริง ผลของทานมีจริง ทาน
ทำให้เกิดในสวรรค์ได้จริง แม้เกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นผู้มั่งคั่งบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สิน หรือเชื่อว่าทานเป็นการขัด
เกลาความตระหนี่ เป็นบันไดก้าวไปสู่สวรรค์และมรรคผล นิพพานได้ สัตบุรุษท่านเชื่ออย่างนี้จึงให้ทาน
ถ้าเป็นทานของอสัตบุรุษ ก็มีนัยตรงข้ามกับที่กล่าวนี้
<CENTER><BIG>ทานของสัตบุรุษนัยที่ ๒</BIG></CENTER>
๑. ให้ทานโดยศรัทธา ผู้ที่เป็นสัตบุรุษ คือคนดีทั้งหลายนั้นย่อมให้ทานเพราะเชื่อกรรม และผล
ของกรรมว่ามีจริงจึงให้ ครั้นให้แล้วย่อมเป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีรูปงาม น่าดูน่าเลื่อม
ใส มีผิวพรรณงดงามในที่ๆ ทานนั้นเผล็ดผล
๒. ให้ทานโดยเคารพ คือ ให้ด้วยกิริยาที่เคารพ นอบน้อม ครั้นให้แล้วย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์
มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีบุตร ภรรยา ทาส และคนใช้หรือคนงาน เป็นผู้เคารพเชื่อฟัง สนใจสดับรับ
ฟังคำสั่ง ตั้งใจใคร่รู้ในที่ๆ ทานนั้นเผล็ดผล
๓. ให้ทานตามกาลอันควร ครั้นให้แล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และย่อม
เป็นผู้มีความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลบริบูรณ์ ในที่ๆ ทานนั้นเผล็ดผล คือ เป็นผู้มีทรัพย์มาตั้งแต่วัยเด็ก
สามารถจะนำทรัพย์สินนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในขณะที่ยังมีกำลังวังชาแข็งแรง สติปัญญาเฉียบแหลม
ไม่ใช่ได้ทรัพย์มาเมื่อหมดกำลังกายและกำลังปัญญาจะนำทรัพย์สินนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์แล้ว
กาลทาน หรือทานที่ให้ในกาลอันควรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงไว้ใน กาลทานสูตร
อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ว่ามีอยู่ ๕ อย่าง คือ
๑. อาคันตุกะทาน คือทานที่ให้แก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน หมายความว่าผู้นั้นเป็นผู้มาใหม่ ยังไม่รู้จัก
สถานที่และบุคคลในถิ่นนั้น เราก็ช่วยสงเคราะห์ให้ที่พักหรือข้าวของต่างๆ เพื่อให้เขาได้รับความสะดวกสบาย
แม้พระภิกษุที่จรมาจากที่อื่น ท่านยังไม่รู้จักทางที่จะไปบิณฑบาตเป็นต้น ภิกษุที่อยู่ก่อนหรืออุบาสก อุบาสิกา
ก็ช่วยอนุเคราะห์ท่าน ด้วยการถวายอาหารบิณฑบาต และของใช้ที่จำเป็นแก่สมณะ ทำให้ท่านได้รับความ
สะดวกสบายไม่เดือดร้อน อย่างนี้จัดเป็น อาคันตุกะทาน และเป็นกาลทาน
๒. คมิกะทาน คือทานที่ให้แก่ผู้เตรียมตัวจะไป หมายความว่า ให้แก่บุคคลที่เตรียมตัวจะไปยัง
ถิ่นอื่น สัตบุรุษย่อมสงเคราะห์คนที่จะเดินทางไปนั้น ด้วยค่าพาหนะ หรือด้วยยานพาหนะ ตลอดจนเครื่อง
อุปโภคบริโภคที่สมควร
๓. ทุพภิกขทาน คือ ทานที่ให้ในสมัยข้าวยากหมากแพง ผู้คนอดอยาก ได้รับความเดือดร้อน
แม้ในสมัยที่น้ำท่วม ไฟไหม้ ผู้คนเดือดร้อนไร้ที่อยู่ การให้ที่พักอาศัย และข้าวของ เครื่องใช้ข้าวปลาอาหาร
ในเวลานั้น ก็จัดเป็นกาลทาน
๔. นวสัสสะทาน การให้ข้าวใหม่แก่ผู้มีศีล
๕. นวผละทาน การให้ผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีล
ที่ข้อ ๔ และข้อ ๕ จัดเป็นกาลทาน เพราะข้าวใหม่ก็ดีผลไม้ที่ออกใหม่ตามฤดูกาลก็ดี มิใช่ว่า
จะมีอยู่เสมอตลอดปี มีเป็นครั้งเป็นคราวตามฤดูกาลเท่านั้น สัตบุรุษย่อมนำข้าวใหม่และผลไม้ที่เพิ่งออกใหม่
ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีล แล้วจึงบริโภคเองต่อภายหลัง ท่านที่เคยมีชีวิตอยู่ในชนบทคงจะเคยพบเห็น
ว่า เวลาที่ข้าวออกรวงเป็นน้ำนม ชาวนาก็จะเก็บเอารวงข้าวอ่อนมาทำเป็นข้าวยาคูถวายพระ ข้าวแก่อีกนิด
ก็เอามาทำเป็นข้าวเม่า ข้าวสุกแล้วก็เอามาสีเป็นข้าวสารหุง ถวายพระภิกษุผู้ทรงศีลก่อน แม้ชาวสวนเมื่อ
ผลไม้แก่จัดเขาก็จะเก็บเอามาถวายพระเสียก่อน แล้วจึงนำออกขายหรือบริโภคเอง คนที่มิใช่ชาวนาชาวสวน
บางคน เมื่อเห็นข้าวใหม่หรือผลไม้ออกใหม่วางขายตามตลาด ก็ซื้อมาแบ่งถวายพระเสียก่อนแล้วจึงบริโภค
นับว่าท่านเหล่านี้ ได้ทำบุญของท่านถูกกาละเทศะเป็นอย่างยิ่ง ตรงต่อคำสอนของพระบรมศาสดา ในข้อ
กาลทาน
บางแห่งท่านรวมเอาการให้ข้าวใหม่ และการให้ผลไม้ใหม่ไว้เป็นข้อเดียวกัน แล้วเพิ่ม คิลานทาน
คือ การให้ทานแก่คนเจ็บไข้ไร้ที่พึ่ง ด้วยยา และอาหารเป็นต้น ซึ่งคิลานทาน นี้ก็สมควรจะเป็นกาลทานได้
เช่นกัน
เพราะเหตุที่กาลทาน เป็นทานที่ให้ในเวลาจำกัดทำไม่ได้โดยสม่ำเสมอ พระผู้มีพระภาคเจ้า
จึงตรัสว่าเป็นทานที่มีผลมาก ยิ่งให้ในผู้มีศีลผู้ประพฤติตรงยิ่งมีผลมาก แม้บุคคลผู้อนุโทนาต่อทานของผู้นั้น
หรือช่วยเหลือให้ทานของผู้นั้นสำเร็จผล ก็ได้รับผล ทั้งบุญของผู้ให้ก็ไม่บกพร่อง เพราะฉะนั้นบุคคลจึงควร
ยินดีในการให้ทาน ทานที่บุคคลให้แล้วย่อมมีผลมาก ทั้งยังติดตามไปเป็นที่พึ่งแก่เขาในโลกหน้าด้วย
๔. มีจิตคิดอนุเคราะห์จึงให้ หมายความว่า สัตบุรุษนั้นเมื่อเห็นผู้ใดได้รับความลำบาก ขาด
แคลนสิ่งใด ก็มีจิตคิดช่วยเหลือคนเหล่านั้นด้วยความเต็มใจ โดยไม่หวังผลตอบแทนโดยไม่คิดว่าเมื่อเรา
ช่วยเหลือเขาแล้ว เขาจะต้องตอบแทนคุณของเรา แต่ช่วยเหลือเพราะต้องการให้คนเหล่านั้นได้รับความสุข
สบาย ครั้นให้แล้วย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีโภคะมาก และเป็นผู้มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ ที่สูงๆที่ประณีต
ที่เป็นของดียิ่งๆ ขึ้นไปในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล
๕. ให้ทานโดยไม่กระทบตนและผู้อื่น หมายความว่าไม่กระทบคุณงามความดีของตน และ
ไม่กระทบคุณงามความดีของผู้อื่น บางคนเคยทำทานด้วยทรัพย์สินและเงินทองครั้งละมากๆ แต่บางคนก็ทำ
เพียงครั้งละเล็กๆ น้อยๆ ตามฐานะของตน คนที่ทำมากบางคนทำแล้วก็ชอบข่มคนอื่น ชอบกล่าววาจาดูถูก
ผู้อื่นที่ทำน้อยกว่า เป็นการยกตนข่มท่านอย่างนี้ชื่อว่าทำให้คุณงามความดีของตนลดน้อยลง
เพราะอะไร
เพราะเราอุตส่าห์ละความตระหนี่ นำทรัพย์สินเงินทองออกทำบุญให้ทาน แต่แล้วเราก็กลับทำลาย
ความดีของเราเองด้วยการเพิ่มกิเลส คือดูถูก ดูหมิ่นผู้อื่น ทั้งผู้ที่ทำบุญให้ทานน้อยนั้นเกิดได้ยินคำพูดอันไม่
เพราะหูนั้นเข้า ถ้าเขาขาดโยนิโสมนสิการ จิตใจที่เป็นกุศลของเขาก็ดับวูบลง แล้วอกุศลคือความโทมนัสเสีย
ใจก็จะเกิดขึ้นแทน อย่างนี้ชื่อว่าทำลาย คุณงามความดีของผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นเสื่อมจากคุณความดี คือกุศลที่มี
อยู่ หรือบางคนเป็นผู้รักษาศีล ๕ โดยเคร่งครัดแต่ได้ให้สุรายาเมาเป็นทานแก่ผู้อื่นไม่ว่าจะด้วยกรณีใดๆ ก็
ตามทำให้ผู้รับมึนเมา ขาดสติ สามารถจะกระทำบาปอกุศลต่างๆ มีการฆ่าสัตว์เป็นตนได้ อย่างนี้ก็เป็นการ
ให้ที่กระทบความดีของตนและผู้อื่นเช่นกัน เพราะเราเป็นผู้มีศีลอยู่แล้ว แทนที่จะชักชวนคนอื่นให้เขามีศีล
อย่างเรา กลับทำให้เขาเสื่อมเสียจากศีล ทานอย่างนี้สัตบุรุษท่านไม่กระทำ สัตบุรุษครั้นให้ทานโดยไม่กระทบ
ตนและผู้อื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และโภคทรัพย์นั้น ย่อมไม่เป็นอันตรายจากไฟ
จากน้ำ จากพระราชา จากทายาทหรือจากคนที่ไม่เป็นที่รักในที่ๆ ทานนั้นให้ผล
นี่คือการให้ทานของสัตบุรุษ ถ้าตรงกันข้ามก็เป็นทานของอสัตบุรุษ
ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ ถ้าไม่มีเหตุ ผลก็เกิดไม่ได้ทั้งเหตุก็สมควรแก่ผลด้วย คือเหตุดี ผลต้องดี
เหตุชั่วผลต้องชั่ว ไม่ใช่เหตุดีแล้วผลชั่ว หรือเหตุชั่วแล้วผลดี ถ้าเป็นอย่างนั้นเหตุก็ไม่สมควรแก่ผล สัตบุรุษ
ท่านทำเหตุ คือทานของท่านดีผลที่ได้รับก็ต้องดีเป็นธรรมดา
ใน อิสสัตถสูตร สัง. สคาถ. ข้อ ๔๐๕ พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลควรให้ทานในที่ไหน
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า มหาบพิตร ควรให้ทานในที่ที่จิตเลื่อมใส คือจิตเลื่อมใสในที่ใด
ในบุคคลใด ควรให้ในที่นั้น ในบุคคลนั้น
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลถามต่อไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานที่ให้แล้วในที่ไหนจึงมีผลมาก
พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ทานที่ให้แล้วแก่ท่านผู้มีศีล มีผลมาก ให้ในท่านผู้ไม่มีศีล
หามีผลมากไม่
เพราะฉะนั้น การให้ทานในที่ใด จึงเป็นอย่างหนึ่ง ที่นั้นมีผลมากหรือไม่ เป็นอีกอย่างหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้ หากบุคคลที่ท่านเลื่อมใสเป็นผู้มีศีลทานของท่านย่อมมีผลมาก ยิ่งผู้มีศีลนั้นเป็นผู้
ละกิเลสทั้งปวงได้แล้ว เป็นพระอรหันตขีณาสพแล้ว ทานของท่านที่ถวายในท่านผู้มีศีลนั้น ด้วยจิตผ่องใส
ยิ่งมีผลมาก
ถึงแม้พระผู้มีพระภาคเจ้า จะทรงแสดงว่า ควรให้ทานในผู้ที่ท่านเลื่อมใส และมีศีลก็จริง
แต่พระองค์ก็มิได้ทรงสอนให้ละเลยบุคคลที่ท่านมิได้เลื่อมใส ตลอดจนสัตว์เดรัจฉาน ยาจก วณิพก
เป็นต้นเสีย เพราะเห็นว่าได้ผลน้อย ทั้งนี้เพราะขึ้นชื่อว่าบุญแล้วแม้เล็กน้อย ก็ไม่ควรประมาท ปล่อย
ให้ผ่านไปโดยไม่สนใจ ด้วยว่าน้ำที่หยดลงในตุ่มทีละหยด ก็ยังเต็มตุ่มได้ ฉันใด บุญที่ว่าเล็กน้อยนั้น
เมื่อสะสมไว้บ่อยๆ เนืองๆ ก็เป็นบุญมากได้ฉันนั้น
พระพุทธองค์ตรัสว่า การสาดน้ำล้างภาชนะลงไปในบ่อน้ำครำ ด้วยเจตนาที่จะให้สัตว์
ที่อาศัยอยู่ในที่เหล่านั้นได้รับความสุข ก็ยังมีอานิสงส์ไม่น้อย จะป่วยกล่าวไปไยกับการให้ทาน
ในผู้มีศีล หรือในบุคคลหมู่มากที่ประพฤติปฏิบัติตรง ทั้งโดยเจาะจงและไม่เจาะจง
http://84000.org/tipitaka/book/bookpn01.html
ทานของอสัตบุรุษและทานของสัตบุรุษ
ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย phromin, 24 เมษายน 2008.