-
ษิตา
ผู้ดูแลเว็บบอร์ด
ผู้ดูแลเว็บบอร์ด
ทำทานยังไงให้ได้บุญใหญ่?
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
สัปปุริสทานมี ๘ ประการ คือ
ให้ของสะอาด ให้ของประณีต
ให้ตามกาล ให้ของสมควร
เลือกให้ ให้เนืองนิตย์
ให้ด้วยจิตที่ผ่องใส และให้แล้วก็ดีใจ”
(ปฐมสัปปุริสสูตร)
—————————————-
ใจของมนุษย์เรานั้น สามารถเป็นจุดเริ่มต้นของทั้งสงครามและสันติภาพ ถ้าใจของผู้คนเต็มไปด้วยความเร่าร้อนอันเกิดจากความโลภ ความโกรธ หรือความหลง ความรู้สึกนึกคิดที่เป็นชนวนของความขัดแย้งก็เกิดขึ้นสงครามและการต่อสู้เบียดเบียนกันก็จะระบาดไปทั่วโลก ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานสิ่งเหล่านี้ล้วนเริ่มต้นจากไฟในใจคนเปรียบเสมือนประกายไฟของหัวไม้ขีดก้านเล็กๆที่ลุกลามเผาไหม้บ้านเมืองให้ย่อยยับได้
เมื่อใดที่ใจของมนุษย์สงบเยือกเย็น พบความสงบสว่างที่เกิดจากใจหยุดนิ่งอยู่ภายในความสุขที่ไม่มีประมาณจะบังเกิดขึ้น ยังผลเป็นสันติภาพที่เริ่มจากตัวบุคคลและขยายออกไปสู่บุคคลอื่น ครอบครัว ชุมชน สังคมประเทศชาติ และทุกภูมิภาคทั่วโลก จนกลายเป็นสันติภาพโลกที่เกิดขึ้นจากสันติสุขภายในเพราะฉะนั้น การเจริญสมาธิ(Meditation)ภาวนาให้ใจหยุดนิ่งใสสว่างอยู่ภายใน คือ วิธีสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนตลอดกาล
————–
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในปฐมสัปปุริสสูตร ความว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทานมี ๘ ประการ คือ ให้ของสะอาด ให้ของประณีต ให้ตามกาล ให้ของสมควร เลือกให้ ให้เนืองนิตย์ให้ด้วยจิตที่ผ่องใส และให้แล้วก็ดีใจ”
เมื่อเรามีความตั้งใจจะทำทาน เพื่อให้เกิดบุญใหญ่ เป็นไปเพื่อความสุขทั้งในภพชาตินี้และภพชาติต่อ ๆ ไป นอกจากจะต้องทำให้ครบองค์ประกอบทั้ง ๓ ประการ คือ วัตถุบริสุทธิ์ เจตนาบริสุทธิ์ และบุคคลบริสุทธิ์ทั้งผู้รับและผู้ให้แล้ว ยังต้องทำด้วยความชาญฉลาด คือให้ตามแบบอย่างของสัตบุรุษด้วย ที่ผ่านมาพวกเราได้รับทราบการให้ทานของสัตบุรุษ และเข้าใจกันดีแล้วว่า การทำทานอย่างไรจึงเรียกว่าทำถูกหลักวิชชา ทำแล้วได้ผลเกินควรเกินคาด
—————————————-
นอกจากนี้ ยังมีการให้ทานของสัตบุรุษซึ่งถือว่าเป็นการทำถูกหลักวิชชาอีกอย่างหนึ่งคือ สัตบุรุษผู้ฉลาดในการให้ทานนั้น ท่านจะให้ของที่สะอาด ไม่สกปรก หรือมีเชื้อโรค ให้ของประณีต คือ ไม่ให้ของที่มีตำหนิ ของที่เป็นเดน หรือของที่ใช้แล้ว โดยเฉพาะของที่น้อมนำมาถวายสงฆ์นั้น แม้มีตำหนินิดเดียวก็ไม่ควรนำมาถวาย เพราะท่านตระหนักดีว่าผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ผู้ให้ของที่เลิศ ย่อมได้ของที่เลิศ ผู้ให้ของที่ดี ย่อมได้ของที่ดี และผู้ให้ของที่ประเสริฐ ย่อมเข้าถึงฐานะอันประเสริฐ นรชนใดให้ของที่เลิศ ให้ของที่ดี และให้ของที่ประเสริฐ นรชนนั้นบังเกิด ณ ที่ใดจะมีอายุยืน มียศในที่ที่บังเกิดแล้ว เพราะฉะนั้น การให้ของที่สะอาดและประณีตจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก แม้ว่าช่วงเวลานั้นไม่ได้มากไปด้วยมูลค่า แต่สามารถทำให้เกิดคุณค่า เป็นของควรบริโภคใช้สอยโดยไม่มีความกังวล
ประการต่อมา การที่พระพุทธองค์ตรัสว่า สัตบุรุษให้ของตามกาลหมายความว่าเมื่อรู้ว่าฤดูนี้ปฏิคาหกหรือผู้รับทานมีความจำเป็นต้องใช้สอยอะไรบ้าง เช่น ฤดูหนาวก็ควรถวายเครื่องกันหนาว ฤดูฝนก็ถวายร่มผ้าอาบน้ำฝน ช่วงเข้าพรรษาก็ถวายยารักษาโรคและผ้าจำนำพรรษา ช่วงออกพรรษาก็ถวายผ้าไตรจีวร เป็นต้น
สัตบุรุษจะเลือกถวายของที่สมควร ในพระสูตรท่านจัดว่า สิ่งของที่สมควรนำไปทำบุญถวายพระมี ๑๐ อย่าง คือ ข้าว น้ำ ผ้ายานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ที่นอน ที่พักอาศัย ประทีปโคมไฟ ถ้าย่นย่อเหลือเพียง ๔ อย่าง ได้แก่ จีวร บิณฑบาตเสนาสนะ และคิลานเภสัช
ยังมีการให้ที่สูงขึ้นไปกว่านั้นอีก คือการสละกิเลสออกจากใจ ไม่ให้ความโลภความโกรธ ความหลง หลงเหลืออยู่ในใจ สิ่งที่ควรสละออกไปจากใจนั้นแม้เป็นนามธรรมมองไม่เห็นเป็นรูปเป็นร่าง แต่ผู้รู้ท่านกล่าวว่าเป็นทานโดยปรมัตถ์ สิ่งนั้นคือการสละความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะธรรมารมณ์อันเกิดกับใจ ท่านบอกให้เราสละความยินดีในอารมณ์เหล่านี้ให้ได้ เพราะก่อนเราเกิด เขาก็ยินดีกันอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รสสัมผัส ธรรมารมณ์ กำลังเกิดมา เขาก็ยินดีอยู่ ครั้นเราตายไป เขาก็ยินดีในอารมณ์เหล่านี้เหมือนเดิม หากเราถ่ายถอนอารมณ์ออกจากความยินดีเหล่านี้ได้ พิจารณาว่านี้เป็นอารมณ์ของโลก ไม่ใช่อารมณ์ของธรรมแล้วสละอารมณ์เหล่านั้นเสีย ไม่ยึดมั่นถือมั่นไม่ให้เข้าไปเสียดแทงใจ ทำใจให้หยุดนิ่งเรียกว่าให้ธรรมารมณ์เป็นทาน ย่อมมีกุศลใหญ่ เป็นทางไปสู่พระนิพพาน ถือเป็นทานอันยิ่งใหญ่โดยปรมัตถ์
—————————————-
สัตบุรุษจะเลือกให้ทาน คือ ไม่ใช่ว่าอยากให้อะไรก็ให้สิ่งนั้น หรืออยากให้ใครก็ให้คนนั้น สิ่งของที่ไม่ควรให้ทานมีตั้งแต่สุรายาเสพติด มหรสพที่ทำให้ประมาทมัวเมา สัตว์เพื่อการผสมพันธุ์ ภาพหรือสิ่งของที่ยั่วยุกามารมณ์ และอาวุธเพื่อการทำมิจฉาชีพเพราะนอกจากจะไม่เกิดบุญเกิดกุศลแล้ว ยังเป็นการพอกพูนบาปอกุศลอีกด้วย ในขณะเดียวกัน เมื่อคิดจะให้ต้องเลือกบุคคลที่ควรให้ด้วย ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “วิเจยฺยทานํ สุคตปฺปสตฺถํ การเลือกให้พระตถาคตทรงสรรเสริญ” คือ ต้องเลือกให้แก่เนื้อนาบุญด้วยการทำบุญในบุญเขตหรือท่านผู้เป็นทักขิไณยบุคคล
นอกจากนี้ สัตบุรุษจะให้เนืองนิตย์คือ ให้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีการเว้นวรรค ไม่ใช่ให้ๆหยุดๆวันไหนมีอารมณ์ก็ทำ ไม่มีอารมณ์ก็ไม่ทำ แต่จะมีอารมณ์เดียว คือ อารมณ์ดีที่คิดแต่เรื่องที่เป็นบุญกุศล เมื่อทำแล้วก็มีจิตเบิกบานผ่องใสในทุกขั้นตอน และหมั่นตามนึกถึงบุญที่ทำนั้นบ่อย ๆ เมื่อนึกถึงด้วยความปลื้มปีติดีใจ ดวงบุญในตัวก็จะขยายใหญ่โตขึ้นไปเรื่อย ๆ
เหมือนในสมัยพุทธกาล เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ มหาวิหารเชตวันกรุงสาวัตถี สมัยนั้นมีอุบาสกคนหนึ่ง เป็นคนยากจน เลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างทำงาน ถึงแม้เขายากจนแต่ก็เป็นคนมีศรัทธา เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา หมั่นหาโอกาสน้อมนำอาหารหวานคาวที่สะอาด ประณีต ไปถวายพระเป็นประจำ อีกทั้งยังเป็นลูกกตัญญู เลี้ยงดูมารดาบิดาที่แก่เฒ่าด้วยความเคารพ เขาไม่ยอมแต่งงาน เลี้ยงดูท่านทั้งสองด้วยความเต็มใจ ในวันพระ อุบาสกจะถืออุโบสถศีลและให้ทานตามกำลังทรัพย์ที่หามาได้
ต่อมาเมื่อเขาละโลกแล้ว ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีวิมานทองสูง ๑๒ โยชน์พระมหาโมคคัลลานะได้จาริกขึ้นไปสวรรค์ได้พบเห็นและสอบถามว่า “สวนจิตรลดา เป็นสวนประเสริฐที่สุดของทวยเทพชั้นไตรทศย่อมสว่างไสวฉันใด วิมานของท่านก็อุปมาฉันนั้น สว่างไสวอยู่ในอากาศ ท่านได้เทพฤทธิ์มีอานุภาพมาก ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ ท่านทำบุญอะไรไว้ จึงมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้”
เทพบุตรเมื่อพระเถระถามก็ดีใจ กราบเรียนพระเถระด้วยความปลื้มปีติว่า “ครั้งเป็นมนุษย์ ข้าพเจ้าเป็นคนยากจน ไม่มีที่พึ่ง ยากไร้ เป็นกรรมกรเลี้ยงดูบิดามารดาผู้แก่เฒ่า อนึ่งสมณะผู้มีศีลเป็นที่รักของข้าพเจ้าข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส เมื่อบริจาคข้าวและน้ำ ได้ถวายทานที่สะอาด ประณีต ด้วยจิตที่ผ่องใส ถวายโดยความเคารพ เพราะบุญนั้นข้าพเจ้าจึงมีวรรณะเช่นนี้ และเพราะบุญนั้นทิพยสมบัติอันน่าพอใจทุกอย่างจึงบังเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า”
จากเรื่องนี้จะเห็นว่า ความจนไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการไปสวรรค์ เพราะผู้ทำบุญถูกหลักวิชชานั้น แม้ทานวัตถุที่นำมาถวายอาจไม่ได้มากด้วยมูลค่า แต่เมื่อต่อเติมความตั้งใจเข้าไป น้อมถวายด้วยความเคารพ ถวายของที่สะอาด ประณีต ที่เหมาะ ที่ควร ถวายถูกเนื้อนาบุญ และทำบุญบ่อย ๆ บุญนั้นก็สามารถนำพาให้ได้ไปเสวยทิพยสมบัติอันโอฬารได้
เมื่อสั่งสมบุญแล้ว เกิดความปลื้มปีติในบุญที่ได้ทำ แสดงว่าทำถูกหลักวิชชาแล้วความปลื้มปีติจะส่งผลต่อไปเป็นความสงบกาย สงบใจ จะทำให้สมาธิตั้งมั่น ซึ่งจะมีผลให้เราเข้าถึงธรรมอย่างง่ายดาย หากปลื้มปีติในบุญมาก จะทำให้บุญส่งผลได้เร็ว หากปลื้มแล้วยังระลึกนึกถึงบุญได้บ่อยครั้ง บุญจะตามส่งผลให้เราประสบความสุขความสำเร็จบ่อยครั้งและมากชาติขึ้นไป
—————————————-
ขอให้โพสนี้เป็นเเรงบันดาลใจให้คุณได้ทำความดี
ขอบคุณที่มา
https://thekiller994.wordpress.com/2018/03/04/ทำทานยังไงให้ได้บุญใหญ/