ทำใจเป็นธรรม
โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
วัดป่าสุนันทวนาราม บ้านท่าเตียน ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี
ตอนที่ 1
มานะ 9
ชีวิตมีทั้งวันวาน วันนี้ และวันพรุ่งนี้
เมื่อปัจจุบันธรรม เป็นสิ่งสำคัญของชีวิต
ชีวิตในวันนี้ จึงเป็นเรื่องที่ควรคำนึงมากกว่ากาลใด ๆ
วันนี้มีไว้สำหรับแก้ไข ไม่ใช่แก้ตัว
แก้ตัว..... คือไม่ยอมรับความจริงในการทำผิดของตน
.......... พยายามผลักความผิดไปให้ผู้อื่น หรือสิ่งแวดล้อม
แก้ไข..... คือยอมรับความจริง หากมีอะไรผิดพลาด
.......... บกพร่อง ก็ยอมรับผิด แล้วพยายามแก้ไข
.......... ปรับปรุง พัฒนาตนเอง
คนดี..... ชอบหาดู จุดบกพร่องของตน
.......... มีหิริโอตตัปปะ ละอายแก่ใจ กลัวบาป
คนชั่ว..... ชอบหาดูจุดบกพร่องของคนอื่น
จับผิดคนอื่น และคิดไปว่า เราดี เขาไม่ดี
เมื่อเขาดีกว่า ก็คิด อิจฉา ริษยา น้อยใจ
ถ้าดีกว่าเขา ก็คิด ถือตัวถือตน ดูถูกดูหมิ่นเขา
เป็นสภาวะที่เกิด อัตตา เกิดตัวตน
อัตตาตัวตน และทุกข์ เป็นบริษัทเดียวกัน
อัตตาตัวตน สร้างขึ้นใช้เวลานานแสนนาน
เป็นเวลาหลายภพหลายชาติ ด้วยอำนาจอวิชชา
กิเลส ตัณหา อุปาทาน คิดผิด และสำคัญผิด
สำคัญผิด 9 อย่าง หรือ มานะ 9
1. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา.......... ก็ผิด
2. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา............. ก็ผิด
3. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา.......... ก็ผิด
4. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา............. ก็ผิด
5. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา................ ก็ผิด
6. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา............. ก็ผิด
7. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา.......... ก็ผิด
8. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา............. ก็ผิด
9. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา........... ก็ผิด
เมื่อใจดี จะไม่มีความคิด เป็นเรา เป็นเขา
แต่จะเห็นสัตว์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ให้ “เห็น” เป็นหลัก เป็นกิริยา
คนเรานั้นเมื่ออยู่ในสมมติโลก
เราต้องอยู่ด้วยกันหลายคน มองเห็นเป็นธรรม
ไม่ให้ตัวตนเข้าไปยึด ควบคุมจิตเป็นโอปนยิกธรรม
น้อมเข้ามาหาตนเสมอ
พอใจ ไม่พอใจ ศึกษาเป็นธรรม แยกแยะเป็นธรรม
พิจารณาเป็นธรรม อริยสัจ 4 สติปัฏฐาน 4
ใครทำให้เสื่อมลาภ หรือ มีลาภ
ใครทำให้เสื่อมยศ หรือ มียศ
ใครทำให้ถูกนินทา หรือ สรรเสริญ
ใครทำให้ทุกข์ หรือ สุข
“ใคร” ก็ไม่สำคัญ ตัดออกจากความคิด
ไม่มีใคร ไม่มีเขา ไม่มีเรา มีแต่ทุกข์
และคิดหาทางออกจากทุกข์ให้ได้
พยายามลดอัตตาตัวตน ลดกิเลส ลดทุกข์
ใครทำความดี ยินดี อนุโมทนาในการทำความดี
ใครทำความชั่ว ก็ให้เห็นปัญหาในการทำความชั่ว
ใคร ไม่สำคัญ เห็น เป็นกิริยา
เมื่อใครทำความชั่วในสังคมเรา
รักษาใจเราเป็นกลางๆ สุขภาพใจดี ใจดี มีเมตตา
ยกขึ้นมา ยกการทำชั่วขึ้นมาพิจารณา ใคร ไม่สำคัญ
หาวิธี แก้ไข ตักเตือน สำรวม ระวัง
จัดการตามกฎหมาย
จัดการตามวินัย ที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้
ให้ลดปัญหาสังคมลง
ใจเราให้ตั้งมั่นใน เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
ละมานะ ละอัตตา ให้ได้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ วันนี้
ทำใจเป็นธรรม โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย J.Sayamol, 29 กันยายน 2009.
-
ตอนที่ 2
สามนักปราชญ์
ประเพณีที่ดีงามในชนบทอีสานอย่างหนึ่งคือ เช้าตรู่ของวันพระ 8 ค่ำ 15 ค่ำ
แม่ออก พ่อออก หรืออุบาสก อุบาสิกาจะพากันถืออาหารใส่ปิ่นโต ใส่หม้อไปวัด
เพื่อจำศีล ภาวนาสักวันหนึ่ง พอถึงวัดก็จัดอาหารถวายพระ
เมื่อพระกำลังฉัน ญาติโยมก็จะรวมกันที่ศาลา ทำวัตรเช้า สวดมนต์ แล้วก็รับประทานอาหาร
เมื่อโยมรับประทานอาหารเสร็จ พระภิกษุ สามเณร แม่ชี และญาติโยมทั้งหมด
จะมารวมกันที่ศาลาอีกครั้ง จากนั้นญาติโยมก็จะสมาทานศีล ฟังเทศน์สักกัณฑ์หนึ่ง
กลางวันก็พักผ่อนบ้าง อ่านหนังสือบ้าง เดินจงกรม นั่งสมาธิตามอัธยาศัย
ตอนเย็นประมาณ 1 ทุ่ม รวมกันทำวัตรเย็น นั่งสมาธิ ฟังเทศน์ จนเกือบเที่ยงคืน
บางคนก็ไปนอนพักผ่อน แม่ออกบางคนก็นั่งสมาธิตลอดคืน
ตี 3 พระก็ตีระฆังให้สัญญาณ ตี 3 ครึ่ง หรือตี 4 ก็ไปรวมกับพระที่ศาลาเพื่อทำวัตรเช้า
พออรุณก็แยกย้ายกลับบ้าน กลับสู่ทางโลก รับภาระทางโลกต่อไป
ถึงวันพระก็เข้ามาอยู่วัด วันหนึ่ง คืนหนึ่ง เป็นประจำ
ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีผู้เฒ่า 3 คน
เมื่อถึงวันพระก็เข้าวัดจำศีลภาวนาเป็นประจำ ฟังเทศน์ ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม
ทำเช่นนี้มาเป็นสิบ ๆ ปี ชาวบ้านให้ความเคารพ ให้เกียรติผู้เฒ่าทั้งสาม
เสมือนเป็น ปราชญ์ ของหมู่บ้าน ใคร ๆ มีปัญหา ก็ไปปรึกษา เรื่องธัมมะธัมโม
ผู้เฒ่าทั้งสาม ก็คุยเก่ง พูดเก่ง สอนเก่ง พระบวชใหม่ ๆ ยังสู้ไม่ได้
เพราะว่านักปราชญ์ทั้ง 3 คน ได้ฟังเทศน์มาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว
วันหนึ่ง แม่ออกจัดอาหารใส่ถาด มีอาหารหลาย ๆ อย่างใส่ในถ้วยเล็ก ๆ
สำหรับนักปราชญ์ทั้งสามชุดหนึ่ง
สามนักปราชญ์ตั้งวงรับประทานอาหารร่วมกัน อาหารก็มีแจ่วน้ำพริก และมีมะนาวครึ่งซีก เพื่อบีบใส่ในแจ่ว..... นั่นแหละ
ผู้เฒ่าคนหนึ่ง..... จะบีบมะนาว
คนหนึ่งห้าม..... คงจะไม่ชอบเปรี้ยว
แต่คนนั้นไม่ฟัง..... บีบมะนาวใส่แจ่ว
เจ็บใจมาก.....
ตั้งแต่วันนั้น..... ก็ไม่พูดกันอีกเลย
สมาคมสามนักปราชญ์..... แตก..... ล้มละลาย
ชาวบ้านก็เดือดร้อนไม่มีกลุ่มนักปราชญ์ช่วยคิด
เหมือนก่อน จริงๆ แล้ว ถ้าแจ่วเปรี้ยวมากไป
ก็ไม่ต้องกินก็ได้ อาหารอย่างอื่นก็เยอะแยะไป
แต่ปัญหาคงจะไม่ได้อยู่ที่รสอาหาร แต่อยู่ที่ความรู้สึกมากกว่า..... รู้สึกว่าเสียหน้า
เสียความรู้สึก “เจ็บใจ”
ลองดูตัวเราเองสิว่าเคยเกิดความคิด ความรู้สึกเช่นนั้นบ้างไหม.....
เราก็เป็นอย่างนั้นทุกคน ไม่มากก็น้อย..... ใช่ไหม ? -
ตอนที่ 3
ฉันนะ..... พระดื้อ
เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าจวนจะปรินิพพาน พระอานนท์ทูลถามพระองค์ว่า
จะทำอย่างไรกับพระฉันนะ
พระฉันนะเป็นพระดื้อ กระด้าง ไม่ยอมเชื่อฟังใคร
ถือตัวถือตนว่ารู้จักพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์
นายฉันนะเป็นผู้ดูแลม้าที่รักของเจ้าชายสิทธัตถะ
วันที่เจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช นายฉันนะก็ได้ตามเสด็จไปด้วย
เมื่อพระองค์เสด็จถึงริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ก็ทรงเปลื้องเครื่องทรงให้นายฉันนะ
นำกลับพระราชวังพร้อมกับม้ากัณฐกะ
ส่วนเจ้าชายสิทธัตถะทรงอธิษฐานเพศเป็นนักบวช ทรงแสวงหาครูบาอาจารย์ ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา
เมื่อทรงเห็นว่ามิใช่ทางจึงทรงเลิก ทรงหันมาบำเพ็ญเพียรทางจิต
จนสามารถบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงประกาศพระสัทธรรม
จนมีสาวกรู้ตามเป็นจำนวนมาก
ต่อมานายฉันนะได้ออกบวชเป็นพระภิกษุ แต่ถือตัวถือตน ไม่ยอมทำตามผู้ใด
แม้แต่พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ผู้เป็นอัครสาวกฝ่ายขวา และฝ่ายซ้าย
ตลอดถึงพระพุทธองค์เอง พระฉันนะก็ไม่ยอมประพฤติตาม
ทำให้หมู่สงฆ์หนักใจ พระอานนท์จึงทูลถามว่า จะทำอย่างไรกับพระฉันนะ
เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว พระองค์ตรัสว่า
ให้สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ต่อพระฉันนะ คือห้ามภิกษุทุกรูปคบหาสมาคม ห้ามบอก ห้ามสอนสิ่งใด
พระฉันนะต้องการทำสิ่งใด ก็ให้ทำสิ่งนั้น
ครั้นพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว สงฆ์ก็ลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ
ภายหลังพระฉันนะรู้สึกตัว เห็นข้อบกพร่อง ผิดพลาดของตน
แล้วค่อยๆ ละทิฏฐิมานะ จนในที่สุดก็สำเร็จเป็นพระอริยบุคคล -
ตอนที่ 4
ชมรมทำความสะอาดห้องสุขา
เมื่อพระอาจารย์มิตซูโอะ ไปประเทศญี่ปุ่น ได้พบปะพูดคุยกับ ประธานบริษัทใหญ่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง
เขาเป็นสมาชิกชมรมทำความสะอาดห้องสุขา สมาชิกเป็นคนชั้นสูง เป็นประธานบริษัทใหญ่ ๆ
หรือผู้ใหญ่ในสังคมกันทั้งนั้น กิจกรรมของเขาคือ ทำความสะอาดห้องสุขา
ตามโรงเรียนต่าง ๆ และห้องสุขาสาธารณะเดือนละครั้ง
เพื่อเป็นการละตัวตน เพื่อพัฒนาจิตใจตนเอง ชมรมนี้ตั้งขึ้นมาหลายสิบปีแล้ว
เมื่อก่อนจะเข้าไปขออนุญาตตามบ้าน ทำความสะอาดห้องสุขา แต่ทุกวันนี้
เลือกเฉพาะที่สาธารณะเป็นส่วนใหญ่ เช่น ห้องสุขาในโรงเรียนประถม มัธยม
ห้องสุขาสวนหย่อม ห้องสุขาสวนสาธารณะ ทำความสะอาดแต่ละครั้งใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง
ขัดถูทำความสะอาดทุกส่วนของห้องน้ำ บางทีโดนด่าต่าง ๆ นานา
จากคนจรจัดที่อาศัยอยู่ใกล้ ๆ กัน ก็มี
กิจกรรมสร้างสรรค์นี้ นับว่ามีประโยชน์ ในการละทิฏฐิมานะ อัตตาตัวตน ขัดเกลากิเลส
ได้อย่างดีทีเดียว ใครเห็นประโยชน์แล้วก็ตั้งชมรม ปฏิบัติกันเลย เป็นชมรมทันสมัย
คิดใหม่ ทำใหม่ ในการภาวนาพัฒนาจิตใจ -
ตอนที่ 5
โอ๊ะซัง
โอ๊ะซัง เป็นชาวญี่ปุ่น อายุ 52 ปี เดือนเมษายน 2541 หมอตรวจพบว่าเธอเป็นโรคมะเร็งในมดลูก
หมอบอกว่าผ่าตัดแล้ว 2–3 เดือนน่าจะกลับไปทำงานได้ โอ๊ะซังก็คิดไปว่า
โรคมะเร็งถ้าผ่าตัดแล้วก็จะหาย ไม่น่ากลัว ผ่าตัด 7 วัน ย้ายไปเข้าห้องธรรมดา
หมอบอกว่าควรรักษาด้วยเคมีบำบัด คือการฉีดคีโม
โอ๊ะซังได้ปรึกษาหมอว่ามีวิธีรักษาอย่างอื่นไหม หมอบอกว่าคนที่ปฏิเสธการรักษาทางเคมี เป็นคนโง่
หมอเร่งให้ตัดสินใจรักษาด้วยเคมี จิตใจโอ๊ะซังเริ่มสับสน ขออนุญาตกลับไปบ้านก่อน
เดือนพฤษภาคม 2541 หมออนุญาตให้กลับบ้านได้
เมื่อออกจากห้อง นางพยาบาลวิ่งมาบอกโอ๊ะซังว่า “คุณพร้อมจะตายพรุ่งนี้ มะรืนนี้หรือเปล่า”
คำพูดของนางพยาบาล ทำให้จิตใจโอ๊ะซังแตก จิตตก กลัวตาย เกิดอาการโรคประสาท
หมอบอกว่าอีก 2–3 เดือนกลับไปทำงานได้ ทุกคนพร้อมกันพูดโกหกว่าฉันเป็นโรคร้ายแรง
ขั้นสุดท้ายอาจจะตาย 1-2 วัน เกิดอาการโรคประสาทขึ้นมา
“อายุแค่ 50 ปี ยังไม่น่าตายนี่”
“ตายคนเดียวกลัว”
“ตายแล้วจะไปไหน”
“ฉันทำไมต้องตาย โลกนี้ไม่มีความยุติธรรมเลย”
เห็นผู้หญิงมีลูกอ่อน เกิดเกลียดชัง
เขากำลังมีความสุข อิจฉาเกลียดชัง
คิดสารพัดอย่าง
ฉัน..... ฉัน..... ฉัน
ในที่สุด ฉีดคีโมรักษา
สิงหาคม 2541 หมออนุญาตให้กลับบ้าน
อยู่ที่บ้าน กลัวตายมาก ๆ ไปซื้อของก็กลัวในการเดิน รู้สึกถนนไม่เรียบ ตัวเราจะล้มลง
แต่ต้องทำใจเมื่อต้องซื้อของ เพราะคิดไปว่าถ้าจัดอาหารไม่ได้ คงจะอยู่ที่บ้านไม่ได้
หลังจากกินยารักษาโรคประสาท 6 เดือน ดูทีวีและเล่นทีวีเกมส์ ทั้งวัน อีก 6 เดือน
อยู่เฉย ๆ ไม่ได้..... กลัว
เดือนมกราคม 2542 รับจดหมายจากพระอาจารย์มิตซูโอะ ว่า
“มองเห็นทุกข์ให้เป็นธรรม”
นึก ๆ หมายความว่าอย่างไร ทำไมเป็น “ธรรม”
พยายามต่อสู้กับโรค ไม่ยอมแพ้ แต่ยังต้องดูทีวีทั้งวัน..... อยู่อย่างนั้น
มิ.ย. 2542 พระอาจารย์กลับไปญี่ปุ่น แวะพักบ้านโยม ไม่ไกลจากบ้านโอ๊ะซังเท่าไรนัก
โอ๊ะซังไปเยี่ยมพระอาจารย์ และเล่าประสบการณ์ เรื่องผ่าตัดและอาการของโรคประสาท
พระอาจารย์พูดว่า.....
“กลัวตายทำไม ถึงเวลาตาย ทุกคนก็ต้องตาย
อาการกลัวตาย โรคประสาทนี่เป็นการปรุงแต่งของจิต”
..... เธอติดใจคำพูด
“เป็นการปรุงแต่งของจิต จิตสร้างขึ้นมาเอง”
กลับบ้านเปิดหนังสือธรรม อริยมรรคมีองค์ 8 ค้นพบประโยคว่ามีสัมมาสติ จึง มีสัมมาสมาธิ
เมื่อสัมมาสมาธิ จิตจะไม่มีการปรุงแต่ง โอ๊ะซังคิดว่าเพื่อให้หายจากโรคประสาท
ต้องเข้าสมาธิ เมื่อเข้าสมาธิ ต้องเจริญสติ
ตอนเช้าเข้าโรงครัว มีความรู้สึกตัวในการจับหัวไชเท้า
ความรู้สึกตัวในการจับมีด เพ่งในการหั่นหัวไชเท้า ฉับ !!
จิตเข้าสมาธิ !!!
อาจจะแค่ 2-3 วินาทีก็ได้ แต่เห็นอารมณ์ชัดเจน เมื่อออกจากสมาธิ อาการโรคประสาทหายหมด
กินยารักษามา 6 เดือน หนีเข้าไปอยู่หน้าจอทีวี 6 เดือน
เมื่อจิตเป็นสมาธิ เห็นตามความเป็นจริงได้ว่า
อารมณ์ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
เมื่อกระทบโลกธรรมฝ่ายน่าปรารถนา มีลาภ มียศ มีสรรเสริญ มีสุข
ก็จะเกิดอารมณ์พอใจ
เมื่อกระทบโลกธรรมฝ่ายไม่น่าปรารถนา เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา เป็นทุกข์
ก็จะเกิดอารมณ์ไม่พอใจ อารมณ์พอใจ ไม่พอใจ คือมีเรามีเขา
เมื่อได้เจริญสติปัญญา กำหนดรู้เท่าทันอารมณ์แล้ว
ก็จะเห็นว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
เป็นอนัตตา ถ้าไม่ยึดมั่น ถือมั่น
ใจสบาย.... ใจสบาย -
ตอนที่ 6
ไม่มีใครดี
หญิงคนหนึ่ง มีลูกชายอายุ 20 ปี มีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับสังคม
เพราะมักจะกลัว ประหม่า ต้องเปลี่ยนงานบ่อย ๆ เขาโทษแม่ว่าเลี้ยงลูกไม่ดี
เมื่อเล็ก ๆ ลูกทำความดีก็ไม่ได้ชม ลูกทำความผิดก็ไม่ได้ตักเตือนว่าผิด เป็นต้น
จึงทำให้เขาต้องเป็นแบบนี้มาตลอด
ด้วยความปรารถนาดีแม่จึงแนะนำลูกชายว่า ให้เจริญอานาปานสติ แต่เขาไม่ยอมทำ
พูดไปพูดมาก็จะเถียงกัน พูดกันไม่รู้เรื่อง จนวันหนึ่งแม่ของเขาได้เขียนจดหมายไปสอนว่า
เขาเปรียบเหมือนคนที่ถูกลูกธนูที่มีพิษยิงใส่
ขณะที่เจ็บปวดอยู่แทนที่จะดึงลูกธนูออก
แต่กลับคิดว่า.....
ใครยิง ยิงเขาทำไม พิษเป็นอะไร ทำด้วยอะไร ฯลฯ
แล้วก็จะตาย.....
เช่นเดียวกับเขาที่คิดแต่ว่าคนอื่นไม่ดี แม่ไม่ดี พ่อไม่ดี น้องไม่ดี
จนมองข้ามความไม่ดีของตัวเอง มัวแต่โทษคนอื่น
ชีวิตที่ไม่ได้เจริญอานาปานสติ ก็จะเป็นอย่างนี้
ทุกข์ตลอดชีวิตนะ..... แม่เขียนไว้อย่างนั้น
หลังจากเขาได้อ่านจดหมายแล้วก็ยอมรับ และขอให้แม่มาสอนอานาปานสติแก่เขา
เมื่อได้พบกันเธอก็ได้สอนให้เขา เฝ้าดูลมหายใจเฉย ๆ พอมีความคิดต่าง ๆ เข้ามา
ก็ให้รู้ว่าเป็น การปรุงแต่งของจิตใจ และให้รีบกลับมาที่ลมหายใจอีก ทำอยู่อย่างนั้น
คืนนั้นลูกชายของเธอก็ได้ฝึกทำดู
ในเช้าวันรุ่งขึ้น เขาได้วิ่งเข้ามาหาแม่ และได้บอกว่า
จิตใจของเขามีแต่การปรุงแต่งตลอดมา และแม่ก็ทำให้เขาเข้าใจตัวเอง
ขณะนั้นจิตใจของเขาเบาสบาย และดีใจมาก จนยกมือไหว้พระ และขอบคุณแม่
อย่างไรก็ตามลูกชายคนนี้ของเธอก็ยังไม่หายสนิท
เพราะเขาไม่ได้ทำติดต่อกัน..... น่าเสียดาย -
ตอนที่ 7
หลากหลาย..... มากมี
คนเราเปรียบเหมือนผลไม้
ผลไม้ชนิดต่าง ๆ ราคาแพง ราคาถูก รสหวาน รสเปรี้ยว..... ต่างมีลักษณะเฉพาะ
บางอย่างเราชอบ แต่เขาไม่ชอบ บางอย่างเขาชอบ แต่เราไม่ชอบ
สิ่งที่เราชอบ เราไม่ชอบ.....ไม่ใช่สิ่งที่ดี หรือไม่ดี เสมอไป
ลูก..... เด็ก..... ก็เช่นกัน แต่ละคนมีลักษณะเฉพาะตัว.....
มีความสามารถ มีธรรมชาติหลากหลาย เหมือนผลไม้ในสวน
ลูกทุเรียน ลูกมะยม ลูกมะม่วง ลูกส้ม
บทบาทสำคัญของพ่อแม่ คือ ให้ความสำคัญ คำชม ให้กำลังใจ
เอาใจเขาใส่ใจเรา พยายามเข้าใจลูกเรา รวมทั้งลูกคนอื่น
พยายามสนับสนุนเขาในสิ่งที่เขาจะทำได้
อย่าบังคับสิ่งที่เขาทำไม่ได้ การเอาความเห็นของตนเองเป็นใหญ่
เป็นสิ่งที่อันตราย สิ่งที่ดี ก็ชมให้กำลังใจ ผิดก็ว่าผิด ให้แก้ไข แต่อย่าตำหนิมากเกินไป
ตำหนิ 1 ชม 9 จึงพอดี เหมาะสม
จงพัฒนาลูกทุเรียน..... ให้รสหวานมันเป็นลูกทุเรียนที่อร่อยที่สุด
ลูกมะยม..... ให้เป็นลูกมะยมที่ดีที่สุด
ลูกมะม่วง..... ให้เป็นลูกมะม่วงที่ดีที่สุด
ลูกส้ม..... ให้เป็นลูกส้มที่ดีที่สุด
อย่าพยายามพัฒนาให้ลูกมะยมเป็นลูกทุเรียน
ลูกมะม่วง ลูกส้ม หรือลูกอะไร ๆ เลย -
ตอนที่ 8
เต่าเจ้าปัญญา
กระดองเต่ามี 6 รู คือ ศรีษะ 1 ขา 4 หาง 1 ในเวลาที่ไม่มีอันตราย เต่าจะเดินไปเรื่อย ๆ
แต่เมื่อมีอันตรายเกิดขึ้น เต่าก็จะรีบหดตัวอยู่ในกระดอง จนกว่าจะรู้สึกตัวว่าปลอดภัย
จึงค่อย ๆ โผล่หัวออกมาดูว่าปลอดภัยหรือยัง
แล้วจึงโผล่ขา และหางออกมาเดินช้า ๆ เรื่อย ๆ ต่อไป
การปฏิบัติของเรา ก็ควรเอาอย่างเต่า
เพราะเราก็มีทวารทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เมื่อมีอะไรมากระทบแล้วยินดียินร้าย ก็ให้รีบหดเข้าไป อยู่กับลมหายใจออก
ลมหายใจเข้า ไม่ต้องคิดไปตามอารมณ์
แต่ให้หายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ สบาย ๆ
จนใจสงบ ใจสบาย แล้วจึงค่อยๆ คิด อย่างมีสติปัญญา
โดยเอาเต่าเป็นครู เป็นอาจารย์ของเรา -
ตอนที่ 9
ความมั่นใจในตัวเองกับอนิจจัง
การสร้างความมั่นใจในตัวเอง เป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิตให้สำเร็จ
การทำอะไรก็ตาม เราจะต้องมีความมานะอดทน
ที่จะทำให้สำเร็จลุล่วงไปโดยใช้ หลักอิทธิบาท 4 คือ
ฉันทะ..... พอใจในสิ่งที่ทำ
วิริยะ..... ปรารภความเพียร
จิตตะ..... จิตใจจดจ่อในสิ่งที่ทำ
วิมังสา..... ใช้ปัญญาทบทวนสิ่งที่ทำในอดีต เพื่อแก้ปัญหา และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก
เมื่อทำอะไรสำเร็จได้ ก็จะเกิดความรู้สึกมั่นใจในตัวเอง
แต่ความมั่นใจในตัวเองมากไป จนไม่ฟังใคร เพราะถือตัวถือตน
ก็มักจะกระทบกับคนรอบข้าง
ตรงกันข้ามถ้าใจเป็นธรรม คือ เห็นความไม่เที่ยงในสังขาร
จนไม่ถือตัวถือตนแล้ว ก็จะอ่อนน้อมถ่อมตน และพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
ด้วยใจดี ใจเป็นกลาง และใจเย็น โดยไม่กลัวเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์
แล้วยังสามารถจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ดี
เมื่อใดเราพอใจในการทำดีที่สุดแล้ว แม้จะได้ผลไม่ดี ก็จะไม่เสียใจ
จนหยุดทำความดี และเมื่อได้ดี ก็ไม่ดีใจจนเกินไป
ผู้มั่นใจในตัวเองสูง แต่ปัญญาเห็นอนิจจังแล้ว ก็จะเป็นผู้ไม่ถือตัวถือตน -
ตอนที่ 10
หนทางปฏิบัติ
พยายามรักษาความรู้สึกที่ดี หรือกุศลจิตเอาไว้ตลอดเวลา
ทุกลมหายใจเข้า-ลมหายใจออก ในทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน
ทำความรู้สึกกับลมหายใจ ทำให้สนิทสนมกลมกลืน
เสมือนหนึ่งเป็นกัลยาณมิตร เป็นเพื่อนที่ดี เพื่อนรัก
มีสติสัมปชัญญะ ความรู้สึกตัวทั่วถึงลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
มีความรู้สึกตัวที่จิต ถึงแม้ว่ามีอาการหายใจ ไม่หายใจก็ตาม
อย่ายินดี ยินร้าย ไม่ให้ติดอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ
ไม่ว่าสิ่งใดๆ ก็ล้วนเกิดจากกรรม ให้น้อมใจเข้ามาสู่ตน
หายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ สบาย ๆ รักษาใจ เบา ๆ สบาย ๆ
ไม่มีเรา ไม่มีเขา อย่ายึดถือกับความรู้สึกนึกคิด เป็นเรา เป็นเขา
หรือแม้..... เราดีกว่าเขา
............... เราเสมอเขา
............... เราด้อยกว่าเขา
ทำใจเป็นธรรม ใจที่เป็นธรรมจะก่อให้เกิดการแก้ไข ไม่ว่าจะประสบกับโลกธรรมฝ่ายน่าปรารถนา
หรือไม่พึงปรารถนา ให้น้อมศีล สมาธิ ปัญญา มารวมไว้ที่ใจของตน
ไม่ส่งจิตคิดออกไปเพิ่มกิเลสทั้งหลาย เจริญสติปัฏฐาน 4 จนกว่าใจจะเห็นว่า
ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา อย่าให้มีความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5
อย่าให้มีอัตตาตัวตน อันเป็นความหนัก ความทุกข์ อีกเลย
สพฺเพนาลํ อภินิเวสาย
“สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ไม่ถือตัว ไม่มีตน เป็นสุญญตา”
…………………… เอวัง ……………………
ขอขอบคุณข้อมูลจาก .. ลานธรรมจักร • แสดงกระทู้ - ทำใจเป็นธรรม (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)