ทุกข์เพราะคิดผิด คุณเคยเป็นอย่างนี้หรือไม่?

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย Lukhgai, 27 มิถุนายน 2009.

  1. Lukhgai

    Lukhgai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    3,000
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +8,238
    ๑. คิดไปเรื่อยๆจึงเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

    จิตนี้มีความสำคัญ

    ธรรมดาคนเราคิดอะไรมักจะไม่ค่อยรู้ตัว

    วันหนึ่งๆคนที่จะรู้ตัวว่า คิดอะไรทำอะไรจริงๆมีน้อย

    ส่วนมากก็คิดไปตามความเคยชิน หรือตามอำเภอใจ ตามอารมณ์นี่แหละ

    คิดไปเรื่อยๆจึงเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

    ทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเราทุกวันนี้ เพราะเราไม่รู้จักความคิด

    คิดผิดคิดถูกก็ไม่รู้

    และเมื่อคิดผิดก็เกิดทุกข์ขึ้นทันที

    บางครั้งก็ทุกข์เกินกว่าเหตุอีกด้วย

    บางครั้งเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่สบายกายนิดหน่อย

    แต่จิตใจทุกข์มาก

    ทุกข์กายนิดหน่อย แต่ไปเพิ่มทุกข์ใจอีก

    เพราะเราปล่อยความคิดของเราให้คิดไปตามกิเลส

    ถ้าเราสามารถระงับจิต ทำใจให้สงบได้ ปัญหาก็จะเบาลง



    ๒. เขาไม่มีเจตนาร้าย แต่เรา..ไม่ถูกใจในการกระทำและคำพูดของเขา...เราโกรธเขา

    เมื่อเราอยู่ในสังคมตั้งแต่๒คนขึ้นไป ย่อมมีบ่อยๆที่เราไม่ชอบใจ ไม่ถูกใจในการกระทำ หรือคำพูดของคนรอบตัวเรา ไม่ชอบใจไม่ถูกใจในสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน สิ่งที่เขาทำ

    เช่นเขาพูดธรรมดาๆของเขา ไม่มีเจตนาร้ายต่อเราเลย แต่เรารู้สึกเจ็บใจ น้อยใจ ไม่สบายใจ คิดว่าเขาพูดใส่ร้ายเรา เขาพูดไม่ดี เขาพูดให้เราเสียหาย ฉิบหาย เป็นต้น

    เมื่อเราเจ็บใจก็คิดโกรธ คิดปองร้ายหรือน้อยใจ อาจจะตลอดคืนหรือหลายวัน บางครั้งก็หลายสัปดาห์ หลายเดือนก็มี

    ใจเราเดือดร้อนเป็นนรก แต่คนที่เราโกรธ บางทีเขาไม่รู้เรื่องอะไรเลย.....กินสบาย นอนสบาย อยู่สบายตามวิถีทางชีวิตของเขา

    ใครฉลาดหรือโง่กว่ากัน สมควรหรือทุกข์อย่างนี้.....คิดดูให้ดีๆ

    นี่ทุกข์เพราะความคิด ทุกข์เพราะคิดผิด

    เราหลงตัวอยู่ว่า เราไม่เคยทำให้ใครหนักใจ

    ไม่เคยทำความลำบากใจให้ใคร

    ไม่เคยเบียดเบียนใครเลย

    อาจจะจริงอยู่ตรงที่ว่าเราไม่มีเจตนาเบียดเบียนใคร

    แต่คนที่ไม่ชอบใจ โกรธ ทุกข์ กับสิ่งที่เราทำ เราพูดก็มีเหมือนกัน

    อาจจะมีหลายอย่างด้วยซ้ำไป.....แต่เราไม่รู้

    ต่างคนต่างทุกข์ซึ่งกันและกันอย่างนี้

    ถ้าเราเห็นความโง่ของตัวเองได้

    ก็จะปล่อยวางทุกข์ได้

    ให้อภัยเขาได้เห็นใจเขาได้



    ๓. บางคนขี้บ่นก็บ่นไปเรื่อยๆ

    มีอะไรไม่ถูกใจหน่อยก็บ่น จนผู้อื่นเกิดความรำคาญ

    ลูกหลานรำคาญเพราะเราทำตามความเคยชิน

    ไม่ถูกนิดหน่อยก็บ่น บ่นไปเรื่อยๆ

    ให้ถามตัวเองว่าถ้ามีใครมาบ่นอย่างนี้เราชอบไหม เราก็ไม่ชอบ

    บ่นอย่างนี้ดีหรือไม่....ไม่ดี

    ใครบ่น....เราบ่นเอง

    บ่นแล้วใครไม่สบายใจ......เราไม่สบายใจ

    คนอื่นก็ไม่สบายใจด้วย

    เห็นไหมว่าเมื่อคิดไม่ดี ทำไม่ดี พูดไม่ดี

    ก็มีผลออกมาเป็นความไม่สบายใจ เป็นทุกข์

    เมื่อเราตั้งใจศึกษาธรรมะ คือศึกษาตัวเองอย่างนี้



    ๔. บางทีเขาทำผิดจริงๆ แต่ถ้าเราคิดเป็น เราก็ไม่โกรธหรอก

    เขาทำแก้วแตก เขาพูดไม่เพราะ เขาขี้เกียจ เขาทำงานไม่ดีเลย

    เราต้องระวังใจ อย่าโกรธเลย

    ความผิดของเขา เอาไว้เป็นความผิดของเขา

    อย่าให้ทำลายใจของเรา อย่าให้ใจเสีย อย่าเสียใจเลย

    โกรธเขาเมื่อไหร่เราผิดทันที

    เป็นบาปเป็นอกุศล

    บาปกว่าเขา โง่กว่าเขาซ้ำไป

    คิดดูพิจารณาดีๆ

    เขาทำแก้วแตกโดยความประมาท

    เราโกรธ เดือดร้อนใจเป็นนรก

    ถ้าขาดใจตายเดี๋ยวนี้...เป็นทุกขคติ ตกนรกจริงๆ

    ถ้าเขาตายเดี๋ยวนี้เขาไม่เป็นไร

    ทำแก้วแตกไม่เป็นเหตุให้ตกนรก

    แต่โกรธเป็นเหตุให้ตกนรก

    คิดดูใครผิด ใครโง่ ใครบาป มากกว่ากัน

    เมื่อคิดได้เช่นนี้ ก็จะไม่โกรธ ไม่ทุกข์

    คิดถูกดับทุกข์ได้



    ๕. คนชอบยุ่งกับเรื่องของคนอื่น

    อย่ายุ่งกับเรื่องของคนอื่น

    ภาวนามากๆ ดูตัวเองมากๆ

    หลวงพ่อพระโพธิญาณเถร บอกว่า “ธรรมดาเราดูแต่คนอื่น๙๐% ดูตัวเองแค่๑๐%”

    คือคอยดูแต่ความผิดของคนอื่น เพ่งโทษคนอื่น

    คิดแต่จะแก้ไขคนอื่น

    ไม่ค่อยคิดจะแก้ไขตัวเอง

    กลับซะใหม่

    ดูคนอื่นเหลือไว้๑๐%

    ดูเพื่อศึกษาว่าเมื่อเขาอย่างนั้น

    คนอื่นจะรู้สึกอย่างไร

    เพื่อเอามาสอนตัวเองนั่นแหละ

    ดูตัวเองพิจารณาตัวเอง๙๐%

    จึงเรียกว่าปฏิบัติธรรมอยู่

    ธรรมชาติของจิตใจมันเข้าข้างตัวเอง

    โบราณมักจะพูดว่าเรามักจะเห็น

    “ความผิดของคนอื่นเท่าภูเขา ความผิดของตนเองเท่ารูเข็ม”

    มันเป็นความจริงอย่างนั้นด้วย

    เราจึงต้องระวังความรู้สึกนึกคิดของตัวเองให้มากๆ

    เห็นความผิดของคนอื่นให้หารด้วย๑๐

    เห็นความผิดตัวเองให้คูณด้วย๑๐

    จึงจะใกล้เคียงความจริงและยุติธรรม

    เพราะเหตุนี้เราจะต้องพยายามมองแง่ดีของคนอื่นมากๆ

    และตำหนิติเตียนตัวเองมากๆ

    แต่ถึงอย่างไรเราก็ยังเข้าข้างตัวเองนั่นแหละ

    พยายามอย่าสนใจการกระทำและการปฏิบัติของคนอื่น

    ดูตัวเอง สนใจแก้ไขตัวเองนั่นแหละมากๆ

    เช่นเข้าครัวเห็นเด็กทำอะไรไม่ถูกใจ

    แล้วเกิดอารมณ์ร้อนใจ

    ยังไม่ต้องบอกให้เขาแก้ไขอะไรหรอก

    รีบระงับอารมณ์ร้อนใจของตัวเองเสียก่อน

    เห็นอะไร คิดอะไร รู้สึกอย่างไร ก็สักแต่ว่าใจเย็นๆไว้ก่อน

    ความเห็น ความคิด ความรู้สึกก็ไม่แน่.....ไม่แน่

    อาจจะถูกก็ได้ อาจจะผิดก็ได้

    เราอาจเปลี่ยนความคิดเห็นก็ได้

    สักแต่ว่า.....สักแต่ว่า......ใจเย็นๆไว้ก่อน ยังไม่ต้องพูด

    ดูใจเราก่อน สอนใจเราก่อน หัดปล่อยวางก่อน

    เมื่อจิตสงบแล้ว เมื่อจิตปกติแล้ว

    จึงค่อยพูดจึงค่อยออกความเห็น

    พูดด้วยเหตุด้วยผล ประกอบด้วยจิตเมตตากรุณา

    ขณะมีอารมณ์อย่าเพิ่งพูด

    ทำให้เสียความรู้สึกของผู้อื่น

    ทำให้เสียความรู้สึกของตัวเอง

    ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร

    มักจะเสียประโยชน์ซ้ำไป

    เพราะฉะนั้น อยู่ที่ไหน อยู่ที่วัด อยู่ที่บ้าน อยู่ที่ทำงาน

    ก็สงบๆไม่ต้องดูคนอื่นว่าเขาทำผิดๆ

    ดูแต่ตัวเราระวังความรู้สึก ระวังอารมณ์ของตัวเองให้มากๆ

    พยายามแก้ไข พัฒนาตัวเรา....นั่นแหละ

    เห็นอะไรชอบ ไม่ชอบ ปล่อยไว้ก่อน

    เรื่องของคนอื่นพยายามอย่าให้เข้ามาที่จิตใจเรา

    ถ้าไม่ระวัง ก็จะยุ่งแต่เรื่องของคนอื่นไปเรื่อยๆ

    หาเรื่องอยู่อย่างนั้น เอาเรื่องโน้นเรื่องนี้มาเป็นเรื่องของเราหมด

    มีแต่ยินดี ยินร้าย พอใจ ไม่พอใจทั้งวัน

    อารมณ์มากจิตไม่ปกติ ไม่สบายทั้งวันก็หมดแรง

    พยายามตามดูจิตของเรา รักษาจิตของเราให้เป็นปกติให้มากๆ

    ใครจะเป็นอะไร ใครจะทำอะไร ดีหรือไม่ดี เรื่องของเขา

    แม้เขาจะมาทำกับเรา ว่าเรา....ก็เรื่องของเขา

    อย่าเอามาเป็นอารมณ์

    อย่าเอามาเป็นเรื่องของเรา

    ดูใจเรานั่นแหละ

    พัฒนาตัวเองนั่นแหละ

    ทำใจให้ปกติสบายๆมากๆ

    หัดฝึกปล่อยวางนั่นเอง

    ไม่มีอะไรสำคัญกว่าการตามรักษาจิตของเรา

    คิดดี พูดดี ทำดี มีความสุข


    ธรรมะนี้คัดมาจากหนังสือทุกข์เพราะคิดผิด
    โดยพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
     

แชร์หน้านี้

Loading...