ท่องเที่ยว แสวงธรรม สร้างแรงบันดาลใจชาวพุทธ

ในห้อง 'ท่องเที่ยว - อาหารการกิน' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 28 กรกฎาคม 2009.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,172
    การท่องเที่ยวในปัจจุบันที่มีหลายรูปแบบ จนถือเป็นเศรษฐกิจหลักของไทยเรา แต่ถ้าการท่องเที่ยวเป็นเพื่อการเรียนรู้

    [​IMG]โดยเฉพาะคำสอนที่ทรงคุณค่าอย่างเรื่องของพระพุทธศาสนา การท่องเที่ยวนั้นๆ ก็นำมาซึ่งความแผ้วผ่องในหัวใจ ทั้งยังทำให้เกิดกระแสหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ อย่างนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าก้าวออกไปท่องเที่ยวแบบที่เรียกว่า ท่องเที่ยวเชิงศาสนาพุทธ หรือ Buddhist Circuit Tourism

    การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้บรรจุแผนนี้เป็นหนึ่งในการท่องเที่ยวปี 2552-2553 เพื่อให้สอดคล้องกับการเผยแพร่ให้สาธุชนทั้งไทยและต่างประเทศซึ่งมุ่งแสวงธรรม เพื่อบำรุงจิตใจและบูชากราบไหว้สิ่งควรเคารพนับถือ ตลอดจนไปปฏิบัติธรรมประกอบสาธารณกุศลต่างๆ หรือเพื่อท่องเที่ยวชมศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม และเพื่อให้เป็นไปตามแผนงานททท. จึงตั้งคณะกรรมการโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศาสนาพุทธ แบบปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานขึ้น เพื่อคัดเลือกสถานปฏิบัติธรรม สำหรับเผยแผ่ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ดร.รณยุทธ์ จิตรดอน หนึ่งในคณะกรรมการ จึงได้รวบรวมข้อมูลวัดและสถานปฏิบัติธรรมที่มีศิลปะและสถาปัตยกรรมโดดเด่น หรือมีกิจกรรมท่องเที่ยวประกอบสาธารณกุศลต่างๆ ให้เพิ่มเติมมากยิ่งขึ้นนอกเหนือไปจากกิจกรรมปฏิบัติธรรมจากทั่วประเทศ โดยรวบรวมมาเสนอแนะได้ถึง 84 วัด และจัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อว่า “ท่องเที่ยวจาริกบุญ” ที่กำลังเตรียมวางจำหน่ายให้ผู้สนใจเป็นเจ้าของแล้ว
    ดร.รณยุทธ์ บอกว่า วัดเป็นที่พึ่งทางใจของชาวพุทธเสมอ แล้วยิ่งในภาวะเศรษฐกิจยังเป็นที่พึ่งทางกายด้วย จึงเกิดการแสวงหาหันหน้าเข้าวัดเพื่อปฏิบัติธรรมกันมากขึ้น นอกเหนือไปจากการไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่ละวัดยังทำให้เห็นถึงความศรัทธาของสาธุชนและการสนับสนุนของชุมชน เพื่อให้วัดและสถานที่ปฏิบัติธรรมเป็นสถานที่รองรับผู้คนได้จากทั่วสารทิศ โดยพุทธศาสนาเป็นศาสนาคู่กับประเทศไทยมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย ได้หล่อหลอมชีวิตคนไทย ทั้งคำสอน ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และวิถีชีวิต
    จาริกบุญภาคเหนือ
    เมื่อมหาปูชนียาจารย์ฝ่ายธรรมยุตได้เริ่มต้นวางรากฐานด้านวิปัสสนากรรมฐาน และมีมหาปูชนียาจารย์ที่สำคัญ 2 รูป คือ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่ธรรมยุติกนิกาย ซึ่งได้ร่วมกันดำเนินงานด้านวิปัสสนาธุระ จนทำให้มีลูกศิษย์เกิดขึ้นมากมาย และลูกศิษย์ของท่านทั้งสองนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในภาคอีสานเท่านั้น ยังได้แผ่ขยายไปในเขตจังหวัดภาคเหนือด้วย ซึ่งมหาปูชนียาจารย์ที่เป็นลูกศิษย์ที่สำคัญในภาคเหนือ พระอาจารย์แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง และพระอาจารย์สิม พุทธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง ในขณะเดียวกันที่ฝ่ายมหานิกายมีการจัดตั้งสำนักงานกลางวิปัสสนาธุระขึ้น การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจึงได้แผ่ขยายเข้าไปยังวัดต่างๆ ของภาคเหนือ
    จาริกบุญภาคอีสาน
    [​IMG]เมื่อธรรมยุติกนิกายได้สถาปนาขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ และได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าเมืองอุบลราชธานี นำธรรมยุติกนิกายออกไปเผยแผ่ และเมื่อถึงยุคที่ 4 ของการเผยแผ่ มีพระสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระ 2 รูป คือหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล วัดเลียบ และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งต่อมาได้มาจำวัดที่วัดป่าสุทธาวาสสกลนคร ได้ร่วมกันดำเนินงานด้านวิปัสสนาธุระจนทำให้มีลูกศิษย์เกิดขึ้นมากมายในเขตจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคอื่นๆ ทั่วทั้งประเทศ อาจจะกล่าวได้ว่าศิษย์ของหลวงปู่มั่นเป็นยุคที่ 5 ของพระธรรมยุติกนิกายฝ่ายวิปัสสนาธุระ แม้แต่เดิมพระธรรมยุติกนิกายจะดำเนินชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในป่าเขา ถ้ำที่เงียบสงบเหมาะแก่การบำเพ็ญธรรม ด้วยเหตุนี้เองจึงเรียกกันว่า พระป่า และวัดที่อยู่อาศัยก็เรียกว่า วัดป่า แต่ปัจจุบันสถานที่ตั้งวัดได้เปลี่ยนแปลงกลายเป็นเมือง แต่คนก็ยังนิยมเรียกกันว่า พระป่า และวัดป่า ตามความเคยชิน
    มหาปูชนียาจารย์ที่เป็นผู้สถาปนาหรือผู้ให้แนวทางปฏิบัติ คือ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (พระอาจารย์วัน อุตตโม) วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม พระโพธิญาณเถร (พระอาจารย์ชา สุภัทโท) วัดหนองป่าพง พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาจารย์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) วัดหินหมากเป้ง พระราชญาณสังวร (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน และพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) วัดป่าบ้านตาด
    เมื่อฝ่ายมหานิกายมีการจัดตั้งสำนักงานกลางวิปัสสนาธุระขึ้น จึงได้มีการจัดตั้งสำนักวิปัสสนากรรมฐานฝ่ายมหานิกายขึ้นมาบ้าง แต่สำนักปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ในภาคนี้ยังคงปฏิบัติตามฝ่ายธรรมยุต
    ย้อนกลับมาภาคกลาง
    [​IMG]การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานได้แผ่ขยายออกไปทั้งฝ่ายมหานิกายและธรรมยุติกนิกายโดยมีการจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้นมาเป็นลำดับ โดยมีศูนย์กลางเชื่อมโยงกับวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (ฝ่ายมหานิกาย) และวัดบวรนิเวศวิหาร (ฝ่ายธรรมยุต) และการแผ่ขยายของสำนักปฏิบัติธรรมออกไปตั้งตามพื้นที่ในภาคกลางยังคงมาจากวัดต่างๆ ที่มีที่ตั้งภายในกรุงเทพมหานคร
    มหาปูชนียาจารย์ที่เป็นผู้สถาปนาหรือผู้ให้แนวทางปฏิบัติ ได้แก่ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดราชสิทธารามวรวิหาร สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร พระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) วัดปากน้ำภาษีเจริญ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวัฑฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ลี ธัมมธโร) วัดอโศการาม พระราชพรหมยาน (วีระ ถาวโร) วัดจันทาราม (วัดท่าซุง) พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) วัดชลประทานรังสฤษฏ์ พระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธัมโม) วัดอัมพวัน พระเทพเจติยาจารย์ (วิริยังค์ สิรินัธโร) วัดธรรมมงคล และหลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก วัดทุ่งสามัคคีธรรม ซึ่งมหาปูชนียาจารย์เหล่านี้ได้สร้างคุณูปการแก่การเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างไพศาล ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
    จาริกต่อที่ภาคตะวันออก
    เช่นเดียวกับการเผยแผ่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยเฉพาะของฝ่ายธรรมยุติกนิกายคือ เมื่อถึงยุคที่ 5 ที่มีลูกศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เกิดขึ้นมากมาย และภาคตะวันออกก็เช่นกัน มีลูกศิษย์คนสำคัญของพระอาจารย์มั่น ซึ่งเป็นมหาปูชนียาจารย์ภาคตะวันออก คือ พระสุทธิญาณเถร(หลวงพ่อสมชาย ฐิตวิริโย) วัดเขาสุกิม และนอกจากศิษย์พระอาจารย์มั่นแล้ว ยังมีพระครูสังวรสมาธิวัตรและพระอาจารย์ภัททันตะอาสภมหาเถร วัดภัททันตะอาสภาราม ซึ่งเมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์(อาจ อาสภมหาเถร) มีความประสงค์ที่จะวางรากฐานวิปัสสนาธุระในประเทศไทย ได้นิมนต์พระอาจารย์ภัททันตะอาสภมหาเถร ซึ่งได้รับการถ่ายทอดวิชาวิปัสสนาจากพระอาจารย์ภัททันตะโสภณมหาเถร (มหาสี สะยาดอร์) ผู้เป็นพระปรมาจารย์ต้นตำรับ “ยุบหนอ พองหนอ” มาเผยแผ่วิชาวิปัสสนากรรมฐานในประเทศไทย ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2495 พร้อมกับพระธรรมธีรราชมหามุนีและพระครูสังวรสมาธิวัตร ได้ไปศึกษาวิชาวิปัสสนากรรมฐานจากพม่า และกลับมาเผยแผ่วิชาวิปัสสนาพร้อมกันด้วย
    เมื่อฝ่ายมหานิกายมีการจัดตั้งสำนักงานกลางวิปัสสนาธุระขึ้น การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจึงได้แผ่ขยายเข้าไปยังวัดต่างๆ ของภาคตะวันออก ซึ่งมีการจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมขึ้นเป็นจำนวนมากในเขตภาคตะวันออก และยังมีครูวิปัสสนาที่ได้เรียนวิชาวิปัสสนาจากพระอาจารย์ภัททันตะวิลาสะ พระพม่าที่มาเผยแผ่วิชาวิปัสสนา โดยตั้งเป็นสำนักปฏิบัติธรรมในเขตพื้นที่เมืองพัทยาขึ้นอีกด้วย และแม้สำนักปฏิบัติธรรมในเขตภาคตะวันออกส่วนใหญ่ ได้เกิดขึ้นไม่นานมานี้ แต่ก็ทำให้งานการเผยแผ่พระพุทธศาสนา กว้างไพศาลในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น
    วกมาภาคตะวันตก [​IMG]
    การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานของวัดในภาคตะวันตก จะรับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานของทั้งฝ่ายมหานิกายและฝ่ายธรรมยุต และไม่อาจกล่าวได้ว่ามีการปฏิบัติตามแนวที่แตกต่างจากฝ่ายอื่นอย่างเด่นชัด การปฏิบัติธรรมในภาคนี้จึงเป็นทั้งการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานของทั้งสองฝ่าย ซึ่งที่ตั้งของภาคตะวันตกอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานครและศูนย์กลางของประเทศมากนัก รวมทั้งพุทธมณฑล ได้รับการจัดให้เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาของโลก สำนักปฏิบัติธรรมที่ตั้งในเขตภาคตะวันตก ได้ประโยชน์จากการมีที่ตั้งต่อเนื่องกับเขตจังหวัดภาคกลาง โดยยังคงความเป็นธรรมชาติและมีป่าไม้ที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์ สำนักปฏิบัติธรรมในภาคนี้ จึงมีหลายแห่งที่มีสาธุชนนิยมไปปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก
    สำนักปฏิบัติธรรมในภาคตะวันตกนี้ มีความเกี่ยวข้องกับมหาปูชนียาจารย์ เช่น พระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) วัดเนรัญชราราม พระธรรมโกศาจารย์ (ท่านพุทธทาส) ธรรมสถานสวนมุทิตาธรรมารามและพระโพธิญาณเถร (พระอาจารย์ชา สุภัทโท) วัดสุนันทวนาราม นอกจากนี้มีมหาปูชนียาจารย์อีกรูปหนึ่งที่มีชาติภูมิในภาคตะวันตก คือ พระอาจารย์สังวาลย์ เขมโก วัดทุ่งสามัคคีธรรม
    ปิดท้ายด้วยภาคใต้
    ภาคใต้แม้จะมีสภาพพื้นที่ที่ทอดยาวไปตามแนวชายฝั่งทะเล และอยู่ห่างไกลจากกรุงเทพมหานคร แต่สำนักปฏิบัติธรรมในภาคใต้ได้มีมหาปูชนียาจารย์ที่เป็นผู้สถาปนาหรือผู้ให้แนวปฏิบัติที่สำคัญ ซึ่งได้รับยกย่องในระดับโลก สมควรแก่การเชิดชูเกียรติคุณอย่างยิ่งคือ พระธรรมโกศาจารย์ (ท่านพุทธทาส) สวนโมกขพลาราม นอกจากนี้ยังมีหลวงพ่อจำเนียร สีลเสฏโฐ วัดถ้ำเสือ และยังปรากฏว่าได้เคยมีมหาปูชนียาจารย์ที่สำคัญ คือ พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาจารย์(หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) เคยไปจำวัดที่ จ.ภูเก็ต ระยะหนึ่งด้วย
    [​IMG]
    [​IMG]
    [​IMG]
     
  2. น้ำดี1

    น้ำดี1 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    13,402
    ค่าพลัง:
    +43,432
    ขอบคุณค่ะ
     
  3. wattanaa

    wattanaa สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 เมษายน 2009
    โพสต์:
    37
    ค่าพลัง:
    +7
    ได้ความรู้มากเลย ขอบคุณครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...