ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาสภมหาเถร)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 16 มิถุนายน 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ประวัติและผลงานเกี่ยวกับ
    การจัดตั้งสำนักวิปัสสนากัมมัฎฐาน
    เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

    หลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาสภมหาเถร) ได้ย้ายจากวัดมหาธาุตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ไปอยู่ประจำ ณ วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ เพื่อช่วยปฏิบัติศาสนกิจด้านพระพุทธศาสนา ตั้งแต่พ.ศ.๒๔๗๕ ในฐานะ พระมหาอาจ อาสโภ เปรียญธรรม ๘ ประโยค และได้ย้ายกลับคืนมาอยู่วัดมหาธาตุอีก ในฐานะตำแหน่งเจ้าอาวาส ที่พระธรรมไตรโลกจารย์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๑

    ในปี ๒๔๙๑ นั่นเอง หลวงพ่อสมเด็จฯ ได้ไปในงานกิจนิมนต์ในรัฐพิธีที่ท้องสนามหลวง วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๑ ฯพณฯ อูละหม่อง เอกอัครราชทูตสหภาพพม่าประจำประเทศไทยคนแรกได้ไปร่วมงานนั้นด้วย ภายหลังจากการประกอบศาสนพิธีเสร็จแล้ว หลวงพ่อสมเด็จฯ ได้ถือโอกาสสนทนากับ ฯพณฯอูละหม่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพระศาสนาทั้งในประเทศไทยและประเทศพม่า หลวงพ่อสมเด็จฯ ได้สนทนาถึงสิ่งที่เป็นสาระ ๒ ประการ คือ

    ประการที่ ๑ หลวงพ่อสมเด็จฯ ให้ทรรศนะว่า พระภิกษุพม่าที่อยู่ในประเทศไทยปัจจุบันมีแต่พระแก่ๆ หย่อนสมรรถภาพเข้ากับคนไทยไม่ได้สนิท ทำให้คนไทยเข้าใจไปว่า พระภิกษุในประเทศพม่าก็เหมือนกันนี้ ความจริงพระภิกษุพม่าที่อยู่ในประเทศพม่าที่มีความเชี่ยวชาญแตกฉานพระไตรปิฎกมีจำนวนมาก ควรจะจัดส่งพระประเภทนี้มาอยู่ประเทศไทยบ้าง หลวงพ่อสมเด็จฯ มีความยินดีที่จะสนับสนุนให้ได้โอกาสเผยแพร่พระพุทธศาสนาร่วมกัน

    ประการที่ ๒ พระไตรปิฎกภาษาบาลีพร้อมทั้งอรรถกถาและฎีกา ฉบับอักษรพม่าได้อ่านมาบริสุทธิ์ บริบูรณ์ดีมาก ใคร่ขอให้ทางประเทศพม่าได้ส่งมาให้ประเทศไทยบ้าง จะเป็นมหากุศลอย่างมาก

    ด้วยเหตุที่หลวงพ่อสมเด็จฯ ได้สนิทสนมกับ ฯพณฯ เอกอัครราชทูตครั้งนั้น เป็นปัจจัยต่อมา คือเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒ สภาการพุทธศาสนาแห่งสหภาพพม่า ได้จัดส่งพระภิกษุระดับบัณฑิต ขั้นธรรมาจริยะ มายังประเทศไทยตามคำแนะนำของหลวงพ่อสมเด็จฯ ๒ รูป คือท่านสัทธัมมโชติกะ ธรรมาจริยะ ๑ ท่านเตชินทะ ธรรมาจริยะ ธัมมกถิกะ ๑ ครั้งแรกเมื่อยังไม่รู้ภาษาไทย ได้จัดให้พักอยู่ที่วัดปรกพม่่า ต่อมาได้จัดให้ท่านสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ ไปตั้งสำนักสอนพระอภิธรรมปิฎกอยู่ที่วัดระฆังโฆสิตาราม และทำการสอนประจำจนเป็นหลักฐานอยู่ ณ วัดระฆังนั้น จนกระทั่งถึงแ่ก่มรณภาพ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๙ ส่วนท่ีานเตชินทะ ธัมมกถิกะ ได้จัดให้มาสอนอยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์จนกระทั่งคืนสู่ประเทศพม่า เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔

    ถึงแม้ว่าท่านพระอาจารย์สอนพระอภิธรรมปิฎก ได้ถึงมรณภาพและกลับคืนสู่ประเทศของตนแล้ว แต่ก็ได้ฝังรากฐานวิชาความรู้พระอภิธรรมปิฎกไว้อย่างดีเป็นระเบียบเป็นหลักฐาน คือเขียนและแปลเป็นหลักสูตรไว้ จนได้ใช้ศึกษาเล่าเรียนสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้ ปัจจุบันสำนักใหญ่ส่วนกลางตั้งอยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราษฎร์รังสฤษฎิ์ มีสำนักสาขาอยู่ทั่วไปทั้งภายในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดประมาณ ๗๐ สำนักเรียน

    เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ สภาการศึกษาพุทธศาสนาแห่งสหภาพพม่า ได้ส่งสมณทูตทั้งอัญเชิญพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรพม่าพร้อมอรรถกถาและฎีกา ตามที่หลวงพ่อสมเด็จฯ ขอไว้ มายังประเทศไทย โดยมีท่านยานิกเถร เจ้าอาวาสวัดอัมพวนารามพระนครย่างกุ้ง เป็นหัวหน้า มีมหาเศรษฐีเซอรอูต่วนเป็ยไวยาวัจกร ได้ถวายพระไตรปิฎกอักษรพม่าแก่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ๑ ชุด ถวายแก่มหามกุฏราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศวิหาร ๑ ชุด ถวายแก่สำนักเรียนพระอภิธรรมปิฎกวัดระฆังโฆสิตาราม จำนวน ๑ ชุด

    เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๔ ทางการคณะสงฆ์แห่งประเทศไทย ได้จัดส่งพระสมณทูต พร้อมทั้งพระไตรปิฎกฉบับอักษรไทย ไปเยี่ยมตอบและมอบให้แก่ประเทศพม่า โดยมีเจ้าคุณพระศาสนโสภณ อุฏฐายีเถร เป็นหัวหน้า เจ้าคุณพระพิมลธรรม อาสภเถร วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นรองหัวหน้า เจ้าคุณพระศรีวิสุทธิญาณ วัดกันมาตุยาราม เป็นคณะปูรกะ และมีนายสัญญา ธรรมศักดิ์เป็นไวยาวัจกร

    เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ หลวงพ่อสมเด็จฯ ได้ส่งพระเปรียญวัดมหาธาตุ ไปดูการศึกษาวิชาพระพุทธศาสนา ทั้งด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระที่ประเทศพม่า โดยนำไปฝากด้วยตนเอง ๓ รูป คือ ๑. พระมหาโชดก ญาณสิทธิ ป.ธ.๙ เรียนฝ่ายวิปัสสนาธุระ ๒. พระมหาบเพ็ญ ป.ธ.๕ และ ๒. สามเณรไสว ป.ธ.๕ เรียนฝ่ายคันถธุระ โดยให้พระมหาโชดก อยู่สำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานศาสนาิยิสสา ภายใต้การปกครองของท่านมหาสีสยาดอ โสภณเถร พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ พระมหาบำเพ็ญและสามเณรไสว อยู่วัดอัมพวนาราม ภายใต้การปกครองของท่านยานิกเถร เจ้าอาวาส ซึ่งเป็นประธานเชิญพระไตรปิำฎกฉบับอักษรพม่ามามอบให้ประเทศไทย

    พระมหาโชดก ญานสิทธิ ได้ศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่เป็นเวลา ๑ ปี แล้วกลับคืนสู่ประเทศไทย พ.ศ.๒๔๙๖ ในขณะเดียวกัน หลวงพ่อสมเด็จได้แสดงความจำนงไปยังสภาการพุทธศาสนาสหภาพพม่า ขอให้จัดส่งพระวิปัสสนาจารย์ผู้เชี่ยวชาญมายังประเทศไทย ๒ รูป หร้อมกับการคืนสู่ประเทศไทยของพระมหาโชดก ญาณสิทธิ สภาการพุทธศาสนามีความเห็นอกเห็นใจและเชื่อถือหลวงพ่อสมเด็จฯ สนิทชิดชอบอย่างมาก ดังนั้น จึงจัดส่งพระวิปัสสนาจารย์ผู้เชี่ยวชาญมายังประเทศไทย ๒ รูป คือ ๑.ท่านอาสภเถร ปธานกัมมัฎฐานาจริยะ ๒. ท่านอินทวังสะ ธัมมาจริยะ กัมมัฏฐานาจริยะ ทั้งสองรูปจัดให้พำนักอยู่ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ช่วยเป็นอาจารย์สอนวิปัสสนากัมมัฏฐานร่วมกับพระมหาโชดก ป.ธ.๙ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๖ เป็นต้นมา นับว่าได้เป็นกำลังเสริมสร้างพระปฏิบัติศาสนาให้เจริญขึ้นในประเทศไทย และยังดำรงคงอยู่ในปัจจุบันนี้

    ท่านอินทวังสะ กัมมัฏฐานาจริยะ ได้กลับคืนสู่ประเทศพม่า ภายหลังเมื่อหลวงพ่อสมเด็จฯ ถูกทางการตำรวจจับไปขังในสันติบาล ส่วนท่านอาสภเถร ปธานกัมมัฏฐานาจริยะ เมื่อหลวงพ่อสมเด็จฯ ถูกจับไปขังแล้ว ตั้งห้องวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ที่สำนักวิปัสสนากัมมัฏฐาน วิเวกอาศรม จังหวัดชลบุรี ภายในความอุปถัมภ์ของนายธรรมนูญ สิงคาลวนิช คหบดีชาวจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นศิษย์ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐานผู้หนึ่ง และท่านได้ทำงานอบรมสั่งสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างจริงจัง เป็นหลักฐานมั่นคง จนกระทั่งปัจจุบันทุกวันนี้ ท่านอาสภเถร ปธานกัมมัฏฐานาจริยะนี้ เป็นอาจารย์สอบอารมณ์วิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นประจำของข้าพเจ้า ครั้งกระโน้น คือเมื่อข้าพเจ้าไปเรียนวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ ณ วัด ศาสนายิสสานั้น ท่านสีสดายอ พระอาจารย์ใหญ่ นานๆ จึงจะสอนและสอบอารมณ์สักครั้งหนึ่ง โดยมากท่านได้มอบให้พระอาจารย์อาสภเถร ปธานกัมมัฏฐานาจริยะนี้ เป็นผู้สอนและสอบอารมณ์เป็นประจำ

    ตามที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า การเรียนวิชาพุทธศาสนาแผนกพระอภิธรรมปิฎกที่เรียนกันอยู่ในปัจจุบัน จัดแบ่งการเรียนเป็น ๙ชั้น คือ จูฬอภิธรรม ๓ ชั้น มัชฌิมอภิธรรม ๓ ชั้น และมหาอภิธรรม ๓ ชั้น โดยย่อยออกเป็นชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอกเหมือนกันทั้ง ๓ ชั้น เมื่อเรียนสำเร็จ มหาอภิธรรมเอกแล้ว ถือว่าจบหลักสูตรพระอภิธรรมปิฎก ยกให้เป็นอภิธรรมบัณฑิต ซึ่งปัจจุบััน พระครูธรรมธรสุมนต์ อภิธรรมบัณฑิต เป็นพระอาจารย์ใหญ่ประจำสำนักเรียนส่วนกลาง วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ พระครูสังวรสมาธิวัตร วัดเพลงวิปัสสนา เป็นประธานวิหารการศึกษา การเรียนพระอภิธรรมปิฎกดังกล่าวมานี้ ได้ปรากฏบังเกิดขึ้นในประเทศไทยด้วยอำนาจสติปัญญา ความอุตสาหะและการเสียสละ ของหลวงพ่อสมเด็จฯ โดยแท้

    แม้การศึกษาเล่าเรียนแผนกนี้ ที่ดำรงทรงสภาพอยู่ได้ด้วยดี ก็เพราะได้อาศัยบารมีของหลวงพ่อสมเด็จฯ คอยช่วยอุปถัมภ์คุ้มครองตลอดมา และจะต้องอาศัยความคุ้มครองของหลวงพ่อสมเด็จฯ ต่อไป ทั้งเป็นที่น่าอนุโมทนาสาธุการเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบัน มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้บรรจุเข้าไว้ในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นแขนงหนึ่งของมหาวิทยาลัยแล้ว

    ที่มา: หนังสืิอเรื่อง ผจญมาร บันทึกชีวิต ๕ ปีในห้องขังของพระพิมลธรรม (อาสภมหาเถร) คัดจากบางส่วนของบทคำนำ ของพระเทพสิทธิมุนี พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ คณะ ๕ วัดมหาธาตุ ๑๙ มกราคม ๒๕๓๐




     
  2. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    คัดจากหนังสือพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพุฒาจารย์

    ประวัติสังเขป

    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร)

    อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
    สภานายกสภามหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
    กรรมการมหาเถรสมาคม
    เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก
    เคยดำรงตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช (ช่วงก่อนสถาปนา)

    **********

    ชาติภูมิ
    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) นามเดิม อาจ นามสกุล ดวงมาลา เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๔๖ ตรงกับวันแรม ๔ ค่ำำ เดือน ๑๒ ปีเถาะ ณ บ้านโต้น หมู่ที่ ๙ ตำบลบ้านโต้น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เป็นบุตรคนที่สองในจำนวนบุตรชาย ๔ คน บุตรหญิง ๒ คน ของนายพิมพ์ และนางแจ้ ดวงมาลา
    บรรพชา
    พ.ศ.๒๔๕๙
    อายุ ๑๔ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดศรีจันทร์ ตำบลบ้านโต้น มีพระอาจารย์ญาครูหน่อ เจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์ จากนั้น ได้ศึกษาหนังสือธรรมแบบอักษรภาคอีสานด้วยใบลาน จนมีความรู้ความสามารถพอที่จะสอนคนอื่นได้
    พ.ศ.๒๔๖๑
    อายุได้ ๑๖ ปี สมัครเข้ารับการอบรมวิชาครูเป็นกรณีพิเศษ ระยะเวลา ๖ เดือน ณ โรงเรียนขอนแก่นวิทยาคาร โรงเรียนประจำจังหวัดขอนแก่น สามารถสอบไล่ได้วิชาครูเทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ ๖ ของกระทรวงศึกษาธิการ และได้รับการบรรจุเป็นครูสอนที่โรงเรียนประชาบาลวัดกลาง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
    พ.ศ.๒๔๖๓
    อายุได้ ๑๘ ปี ลาออกจากครูประชาบาล เดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครเื่พื่อศึกษาพุทธศาสนาด้านภาษาบาลีและวิชาการด้านอื่นๆ ด้วยการเดินทางด้วยเท้าเป็นเวลา ๙ คืนจนถึงจังหวัดนครราชสีมา อันเป็นต้นทางรถไฟเข้าสู่กรุงเทพมหานคร เข้าพำนัก ณ วัดชนะสงคราม และศึกษาปริยัติธรรม ณ สำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
    พ.ศ.๒๔๖๔
    อายุ ๑๙ ปี ย้ายจากวัดชนะสงครามเข้ามาสู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ในความปกครองของพระธรรมไตรโลกาจารย์ (เฮง เขมจารีมหาเถร)
    อุปสมบท
    ได้รับการอุปสมบทในปี พ.ศ.๒๔๖๖ ณ พัทธสีมาวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร โดยมีพระธรรมไตรโลกาจารย์ (เฮง เขมจารีมหาเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์ (สมณศักดิ์ครั้งสุดท้าย เป็นที่ สมเด็จพระวันรัต อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ ลำดับที่ ๑๔) พระญาณสมโพธิ (สวัสดิ์ กิตฺติสารเถร) (สมณศักดิ์ครั้งสุดท้ายเป็นที่ พระธรรมปัญญาบดี อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ ลำดับที่ ๑๗) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระศรีสมโพธิ (ช้อย ฐานทตฺตตมหาเถร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ (สมณศักดิ์ครั้งสุดท้าย เป็นที่พระพิมลธรรม อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ ลำดับที่ ๑๕)
    การศึกษา
    เบื้องต้น ได้รับการศึกษาวิชาภาษาไทยในสำนักพระอาจารย์หนู และพระอาจารย์ใส ณ วัดศรีจันทร์ ตำบลบ้านโต้น อันเป็นวัดประจำหมู่บ้าน
    พ.ศ. ๒๔๖๔ สอบได้ น.ธ.ตรี ณ สำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
    พ.ศ.๒๔๖๕ สอบได้ น.ธ.โท "
    พ.ศ.๒๔๖๖ สอบได้ ป.ธ. ๓ "
    พ.ศ.๒๔๖๗ สอบได้ ป.ธ.๔ "
    พ.ศ.๒๔๖๘ สอบได้ ป.ธ. ๕ "
    พ.ศ.๒๔๖๙ สอบได้ ป.ธ.๖ "
    พ.ศ.๒๔๗๑ สอบได้ น.ธ.เอกและป.ธ.๗ "
    พ.ศ.๒๔๗๒ สอบได้ ป.ธ๘ "

    การบริหารงานคณะสงฆ์
    พ.ศ.๒๔๗๖
    เป็นรองเจ้าอาวาสวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
    พ.ศ.๒๔๗๖
    เป็นพระอุปัชฌาย์วิสามัญ ประจำเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระคณาจารย์โทในทางคันถธุระ
    พ.ศ.๒๔๗๗
    เป็นเจ้าคณะตำบลสำเภาล่ม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
    พ.ศ.๒๔๗๘
    เป็นเจ้าอาวาสวัดสุวรรณดาราราม
    เป็นเจ้าคณะแขวงบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
    พ.ศ.๒๔๘๒
    เป็นรองเจ้าคณะมณฑลอยุธยา
    พ.ศ.๒๔๘๔
    เป็นพระคณาจารย์เอกในทางเทศนา
    เป็นสมาชิกสังฆสภา
    พ.ศ.๒๔๘๖
    เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค ๔ ซึ่งเป็นพระคณาธิการองค์แรกในตำแหน่งนี้
    พ.ศ.๒๔๘๘
    เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา
    เป็นแม่กองธรรมสนามหลวง
    เป็นเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
    พ.ศ.๒๔๘๙
    เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา
    พ.ศ.๒๔๙๑
    เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง
    เป็นอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร
    เป็นทุติยสภานายกสภามหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
    พ.ศ.๒๔๙๘
    เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง
    พ.ศ.๒๕๒๔
    คืนสู่ตำแหน่งอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
    พ.ศ.๒๕๒๘
    เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง
    พ.ศ.๒๕๓๑
    เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
    พ.ศ.๒๕๓๒
    เป็นเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก

    เกียรติคุณ
    พ.ศ.๒๔๙๗
    เป็นอัคคมหาบัณฑิตโดยรัฐบาลพม่าได้ถวายเกียรติคุณครั้งนี้ในโอกาสที่เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปร่วมงานอัฏฐสังคายนา ที่ประเทศพม่า นับเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่ได้รับฐานันดรศักดิ์นี้
    พ.ศ.๒๔๙๘
    เป็นผู้ริเริ่มในการสร้างอาคารมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยได้รับเงินจากศาสนสมบัติกลาง เป็นทุนเริ่มแรก และเงินงบประมาณแผ่นดิน กับเงินบริจาคจากสาธุชนทั่วไป
    พ.ศ.๒๕๐๐
    เป็นผู้ริเริ่มการตรวจชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับ "มหาจุฬาเตปิฎกํ" เพื่อสนองพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่โปรดเกล้าฯ ให้พระภิกษุสามเณรได้เล่าเรียนพระไตรปิฎก
    พ.ศ.๒๕๒๒
    ได้รับปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามานุษยสงเคราะห์ศาสตร์ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทย
    พ.ศ.๒๕๒๘
    เป็นสังฆปาโมกข์ ฝ่ายพระอภิธรรมปิฎก ในการสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎกฉบับเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ ในปี พ.ศ.๒๕๓๐
    สมณศักดิ์
    พ.ศ.๒๔๗๗ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีสุธรรมมุนี
    พ.ศ.๒๔๘๒ เป็นพระราชาคณะชั้นราชในราชทินนามเดิม
    พ.ศ.๒๔๘๙ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที
    พ.ศ.๒๔๙๐ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมไตรโลกาจารย์
    พ.ศ.๒๔๙๒ เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระพิมลธรรม
    พ.ศ.๒๕๒๘ เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์
    มรณภาพ
    พระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้ถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันศุกร์ที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๒ เวลา ๑๑.๑๕ น. ณ โรงพยาบาลสยาม กรุงเทพมหานคร สิริชนมายุได้ ๘๖ ปี กับ ๑ เดือน
    ***********


    อ่านต่อสารไว้อาลัย

     
  3. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    สารไว้อาลัย

    ประธานฆรมหาวิหาร
    ๑๗๔ ถนนศรีวชิรญาณ
    กรุงโคลัมโบ-๙
    ประเทศศรีลังกา

    ถึงเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ
    กรุงเทพมหานคร
    ประเทศไทย
    ๖ เมษยน ๑๙๙๐

    เรื่อง ขอเข้าถวายความเคารพสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาสภมหาเถร)

    เรียน เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ

    ผมในนามของคณะสงฆ์ประเทศศรีลังกา นำโดยพระมหาสังฆนายกะมหาเถรมัลลวัตตนิกาย (สยามวงศ์ หรืออุปาลีวงศ์) ประเทศศรีลังกา ขอเรียนให้ทราบว่า คณะของเราได้รับอาราธนาให้มาเยี่ยมประเทศไทย จากวันที่ ๖ เมษายน ถึงวนันที่ ๑๑ เมษยน ๑๙๙๐

    ในโอกาสนี้ ผมพร้อมด้วยคณะมีความประสงค์จะมาถวายความเคารพศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาสภมหาเถร) ณ ตำหนักสมเด็จ วัดมหาธาตุฯ วันที่ ๑๐ เมษายน ๑๙๙๐ เวลาประมาณ ๑๖.๐๐ - ๑๘.๐๐ น.

    เรียนมาด้วยความนับถือ

    (พระ ดร.บัณฑิต ปัญญานันทมหาเถร)
    เจ้าคณะจังหวัดกรุงโคลัมโบ


     
  4. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    คำไว้อาลัยของอธิบดีกรมการศาสนา

    คำไว้อาลัยของอธิบดีกรมการศาสนา
    กระทรวงมหาดไทย และกิจการพระศาสนา
    ประเทศสหภาพพม่า

    มีถึง
    เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

    กราบนมัสการ เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ

    ข้าพเจ้าขอประทานกราบเรียนว่า ชาวประเทศพม่ารู้สึกเศร้าสลดและตกตลึง เมื่อได้ทราบข่าวท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ อัคคมหาบัณฑิต อายุ ๘๖ พรรษา ๖๖ เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ได้ถึงแก่มรณกรรมเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๒ เวลา ๑๑.๑๕ น.

    ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์นั้น เป็นพระมหาเถระผู้หาได้ยากรูปหนึ่ง และประชาชนพม่าเห็นว่า การมรณภาพของท่านเจ้าประคุณสมเด็จนับว่าเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการพระพุทธศาสนา และพุทธศาสนิกชนทั้งมวล ไม่เฉพาะพุทธศาสนิกชนชาวไทยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงชาวโลกอีกด้วยเช่นกัน.

    อู อั้งหม่อง
    อธิบดีกรมการศาสนา

     
  5. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    คำไว้อาลัย

    คำไว้อาลัยจากสภาสังฆมหานายกะแห่งประเทศสหภาพพม่า

    มีถึง

    พระมหาเถรานุเถร แห่งสำันักวัดมหาธาตุ ประเทศไทย

    ท่านพระเถรานุเถระ

    ข้าพเจ้าในนามชาวคณะสงฆ์ประเทศสหภาพพม่า ได้ทราบข่าวการมรณภาพของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ อัคคมหาบัณฑิต อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร แล้วรู้สึกเกิดธรรมสังเวชอย่างยิ่ง เป็นที่น่าสลดใจแท้ ที่ความตายนี้ช่างรวดเร็วเหลือเกิน ชีวิตเป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน

    ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นพระมหาเถระ ผู้หาไ้ด้ยากตลอดชีวิตของท่าน ท่านมีอุตสาหะอย่างใหญ่หลวง และมีจิตใจมุ่งมั่น เพื่อความเจริญงอกงาม เพื่อความมั่นคง และเพื่อความบริสุทธิ์ผุดผ่องแห่งพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้มีสมานฉันทะอย่างแรงกล้า ได้ร่วมกับพวกเราชาวคณะสงฆ์ประเทศสหภาพพม่า ในการกระทำฉัฏฐสังคายนา ได้กระทำกิจของพระพุทธศาสนาอย่างทั่วถ้วน

    การมรณภาพของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ผู้เป็นกัลยาณมิตร ที่มั่นคงของพวกเราชาวคณะสงฆ์ประเทศสหภาพพม่า นับว่าเป็นการสูญเสียอย่างใหญ่หลวง มิใช่เฉพาะแต่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น แต่ควรนับได้ว่าเป็นการสูญเสียของประเทศสหภาพพม่าด้วย

    ด้วยเหตุดังกล่าวมานั้น การมรณภาพของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ข้าพเจ้าในนามพระเถรานุเถระแห่งสภามหาสังฆนายกะประเทศสหภาพพม่า จึงเกิดความสังเวชสลดใจเช่นเดียวกันกับที่พระเถรานุเถระแห่งวัดมหาธาตุ และประชาชนชาวไทย

    ขอให้ประชาชนชาวไทย พร้อมพระมหาเถระทั้งหลายทั้งปวง
    จงมีความสุข มีความสามัคคี ปราศจากภัยพิบัติจงร่วมกัน
    ทะนุบำรุงพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้า ให้เจริญรุ่งเรืองตลอดกาลนานเทอญ.

    ภัททันตะอินทาจาร
    อภิธชมหารัฎฐคุรุ
    ประธานมหานายกะเถระ
    สภาสังฆหานายกะแห่งประเทศสหภาพพม่า
    ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศสหภาพพม่า

     
  6. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    คำแปล

    ๑๘ โมเปธแมนชั่น
    โมเปธเทอเรซ
    ลอนดอน.

    เรียน พระมหานคร เขมปาลี
    วัดมหาธาตุ กทม.๑๐๒๐๐
    ประเทศไทย

    พวกผมได้รับทราบข่าวจากบรรดามิตรสหายชาว M.R.A. ในประเทศไทยว่า เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ อันเป็นที่เคารพรักของพวกผมได้ถึงแก่มรณภาพเสียแล้ว

    ภรรยาของผมและผม ขอแสดงความเศร้าสลดใจอย่างสุดซึ้งต่อท่าน และบรรดาศิษยานุศิษย์ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทุกท่าน

    เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้อยู่ในความทรงจำของผมอย่างแจ่มชัด มองย้อนหลังไปจนถึง ค.ศ.๑๙๕๓ เมื่อผมได้พบกับเจ้าประคุณสมเด็จฯ พร้อมกับคุณสังข์ พัธโนทัยผู้ล่วงลับไปแล้ว ผมได้เคยไปพักที่วัดมหาธาตุ ที่กุฎีของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ในปี ค.ศ. ๑๙๕๔ และ ๑๙๕๘ ผมได้เดินทางกับเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปร่วมประชุมสภาโลกขององค์การส่งเสริมศีลธรรมที่เกาะแมกินอร์ สหรัฐอเมริกา และที่เมืองโค ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เป็นผู้นำำำำำำแสงสว่างแห่งพุทธธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติมาให้แก่ประชาชนนับพันในอเมริกาและในยุโรป ดร.แฟรงค์ บุชแมน ผู้ก่อตั้งขบวนการส่งเสริมศีลธรรมซึ่งได้ล่วงลับไปแล้วได้อาราธนาเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปพบกับประธานาธิบดีแห่งประเทศเยอรมันี ดร.คอนาด อาเดเนาว์ เพื่อประกาศความเชื่อมั่นของท่าน และในปี ค.ศ.๑๙๗๘ ที่พวกเราได้พบกับเจ้าประคุณสมเด็จฯ ซึ่งได้มาที่ยุโรป เพื่อฉลองครบ ๑๐๐ ปี วันเกิดของ ดร.แฟรงค์ บุชแมนที่เมืองโค สวิสเซอร์แลนด์

    พวกผมได้พบกับเจ้าประคุณสมเด็จฯ หลาครั้ง ท่านได้มาอังกฤษกับพระอีก ๓ รูป มาี่บ้านหลังใหม่ของผมในลอนดอน เืพื่อประสิทธิประสาทพรแก่พวกเรา ท่านได้สวดมนต์อวยพรแก่แม่ ภรรยาของผม ซึ่งเพิ่งถึงแก่กรรมเมื่อไม่นานมานี้ ในปี ค.ศ.๑๙๘๖ ผมได้พาลูกชายชองผมไปกราบคารวะท่านที่วัดมหาธาตุ และยังได้ร่วมงาน ทำบุญฉลองอายุครบ ๗๐ ปี ของท่านด้วยในปีค.ศ.๑๙๗๓ พร้อมกับคณะผู้แทนนานาชาติ

    พวกเราขอกราบแสดงความเคารพเจ้าประคุณ สมเด็จฯ ผู้มีความสำคัญยิ่ง เป็นสหายผู้กล้าหาญและครูผู้น่าบูชา และจะทรงจำท่านไว้ไม่รู้ลืม ด้วยความเคารพและเป็นกำลังใจอย่างใหญ่หลวง คำสอนที่ท่านได้สอนผมจะประทับอยู่ในความทรงจำของผมจนตลอดชีวิต

    รูปถ่ายของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ผมได้ประดิษฐานไว้ในบ้านของผมด้วยความคารวะอย่างสูง พวกเราจะคงระลึกถึงท่านตลอดไป

    พวกเราชาว M.R.A. ในจักรภพอังกฤษและในโลก.


    ขอแสดงความคารวะมายังท่าน
    นายกอร์ดอนไวส์
     
  7. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    STRATHCASHEL COTTAGE
    ROWARDENNAN
    STIRLINGSHIRE. G63 CAW
    TEL.036-087 262


    ๒๒ ธันวาคม ๒๕๓๒

    เรียน ท่านอาจารย์ กรุณา กุศลาศัย

    ผมเพียงทราบข่าวการมรณภาพของสมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ผู้ซึ่งมีเป็นกัลยาณมิตรของพวกเรา ผมจึงได้รีบเร่งแสดงความเศร้าเสียใจ และความเห็นอกเห็นใจมายังคุณ เนื่องจากผมรู้ว่าคุณเป็นคนใกล้ชิดท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ มาก และผมก็ได้เห็นท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นครั้งสุดท้ายพร้อมกับคุณ ในพิธีมอบต้นโพธิ์พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดของทุกจังหวัดมีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธเป็นต้น เมื่อสามปีล่วงมาแล้ว

    ผมได้รู้จักท่านเจ้าประคุณสมเด็จเป็นเวลา ๓๘ ปี มาแล้ว โดยได้พบท่านครั้งแรก ผ่านนายสังข์ พัธโนทัย ผมได้ชื่นชมท่านเป็นอย่างมาก ผมรู้ว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นบุคคลชอบโต้แย้งเพื่อค้นหาเหตุผลที่ถูกต้องคนหนึ่งในประเทศไทยและท่านก็ได้รับความเดือดร้อนเพราะความเชื่อของท่าน แต่ผมก็ยังมีความเคารพและชื่นชมความกล้าหาญ และความซื่อสัตย์อย่างมั่นคงของท่าน ที่มีต่อมิตรและความเชื่อของท่าน

    ผมยังมีความทรงจำที่แจ่มชัดอยู่หลายอย่างถึงการมาเยือนวัดมหาธาตุ และทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ผมได้เรียนรู้ที่นั้นเกี่ยวกับหลักสำคัญทางพุทธศาสนา ผมยังรำลึกถึงการเดินทางไปยังประเทศอื่นๆ หลายประเทศ ร่วมกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เช่น ญี่ปุ่น, อเมริกา, สวิตเซอร์แลนด์และอังกฤษ

    ท่านเจ้าประคุณเจ้าคุณฯ เป็นองค์อุปถัมภ์ผู้ซื่อสัตย์ ของ เอ็ม.อาร์.เอ. และท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯและนายแฟร้งค์ บุชแมน ก็ได้กลายเป็นเืพื่อนที่ดีต่อกันในทันทีทันใด ท่านทั้งสองต่างก็มีอารมณ์ขันเหมือนกัน และมีความเป็นประกายในดวงตาของท่านทั้งสองเหมือนกัน ผมยังจำได้ดีว่ นายแฟร้งค์ บุชแมนได้มีความสุขมาก ที่ได้มีท่านเจ้าอาวาส วัดมหาธาตุ สมเด็จพระพุฒาจารย์(สมัยเป็นพระพิมธลธรรม) อยู่ข้างๆ ท่านในวันเกิดครบ ๘๐ ปี ของท่านที่ MACKING ISLAND สหรัฐอเมริกา

    ดังนั้น บทสำคัญของละครชีวิต บทหนึ่งได้ถึงซึ่งอวสานแล้ว แต่ผมก็รู้สึกดีใจที่ในขณะนี้ คณะยุวสมาชิก เอ็ม.อาร์.เอ. กำลังอยู่ในเมืองไทย ซึ่งถอนมาจากเอเซีย และแปซิฟิค งานกำลังดำเนินต่อไป ผมหวังว่าคุณอาจมีโอกาสได้พบคนหนุ่มเหล่านี้ เนื่องจากผมมักจะยกย่องงานบุกเบิกและความสนับสนุนที่มั่นคง เพื่อ เอ็ม.อาร์.เอ. ของคุณ

    จะเป็นพระคุณอย่างมาก ถ้าหากคุณจะกรุณานำความรู้สึกเห็นอกเห็นใจอย่างสุดซึ้งของพวกเรา มายังมิตรสหายคนอื่นๆ ทั้งหมดที่วัดมหาธาตุ


    เพื่อนตลอดกาล
    Archie Mackenzie





     
  8. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ๕๙๙ ถนนพรานนก กทม. ๑๐๗๐๐
    ประเทศไทย

    ๖ มกราคม ๒๕๓๓

    เรียน คุณแมกเคนซี่

    ขอขอบคุณมากๆ สำหรับจดหมายของคุณฉบับลงวันที่ ๒๒ ธ.ค.๓๓ ข้อเท็จจริงที่คุณมีความรอบรู้ในเหตุการณ์ในเมืองไทยเป็นอย่างดี นี้แสดงว่าเมืองไทยยังครอบครองมุมอันนิ่มนวลในจิตใจของคุณอยู่ ใช่แล้ว พวกเราและประชาชนอีกจำนวนมากทั้งอยู่ในเมืองไทยและนอกประเทศไทย ได้มีความรู้สึกเสียใจยิ่ง ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ผู้ซึ่งเป็นที่รักและเคารพของพวกเราต้องจากพวกเราไป ท่านได้จากพวกเราไปท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของประชาชนชาวไทยที่เป็นเพื่อนร่วมชาติจำนวนหลายร้อยหลายพันทั้งที่เป็นพระภิกษุและคฤหัสถ์

    ถูกแล้ว ที่คุณได้ตั้งข้อสังเกตว่าท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นบุคคลที่ชอบโต้แย้งเพื่อค้นหาเหตุผลที่ถูกต้องและท่านได้รับความเดือดร้อนเพราะความเชื่อของท่าน แต่คุณแมกเคนซี่ที่รัก การที่ต้องเดือดร้อนทนทุกข์เพราะความเชื่อของตนเองนี้ เป็นเครื่องหมายของมหาบุรุษมิใช่หรือ? ในการมรณภาพจากไปของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์นี้ คณะสงฆ์ไทยต้องสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่อาจบูรณะได้

    เนื่องจากจดหมายของคุณที่ผมกำลังตอบอยู่นี้ บรรจุความทรงจำที่แจ่มชัดหลายอย่างเกี่ยวกับการคบหาสมาคมกันในอดีตของคุณกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ผู้ล่วงลับไป พวกเราจึงเสนอที่จะรวมจดหมายของคุณลงในหนังสืออนุสรณ์ที่จะพิมพ์ในโอกาส พิธีพระราชทานเพลิงศพที่จะมีขึ้นภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ ในฤดูร้อน ปี ๒๕๓๓ นี้ พวกเราจึงหวังที่จะได้รับอนุญาตจากคุณในการนำจดหมายของคุณลงพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์นั้น

    ยังมีข่าวอีกข่าวหนึ่ง ซึ่งบางทีคุณอาจได้ทราบมาแล้ว นางวิไล พัธโนทัย ภรรยาของนายสังข์ พัธโนทัย เพื่อนรักของเราได้ถึงแก่กรรมไปแล้วในตอนปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๓ คุณเองก็รู้เป็นอย่างดีว่า สุภาพสตรีผู้นี้เป็นผู้มีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนๆ เอ็ม.อาร์.เอ.ที่ได้ไปเยือนประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างสมัยของสามีผู้ล่วงลับไปของเธอ

    เชื่อว่าคุณและครอบครัวของคุณคงมีความสุขสบายดี

    ด้วยความนับถือและความปรารถนาดี

    กรุณา กุศลาศัย
     
  9. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    Hassocks
    W.Sussex BN 69 BB.
    Tel.No (0273) 832064
    16/1/90

    เรียน ท่าน ดร.พระมหานคร เขมปาลี (พระอมรเมธาจารย์ อธิการบดี มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์ปัจจุบัน)

    พวกผมรู้สึกเสียใจมากที่ได้ทราบข่าวว่าท่านสูญเสียกัลยาณมิตร และผู้ปกครองที่ปรึกษา ผู้เป็นที่รักมากของท่านและพวกผมด้วย คือท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ พวกผมรู้สึกคิดถึงท่านสมเด็จพระพุฒาจารย์มาก

    พวกผมยังระลึกถึงท่านอย่างมีความสุข เมื่อท่านมายัง Mackinac แล้วต่ไปยัง Caux ระลึกถึงการมาเยือนลอนดอนของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ การปราศรัยของท่านที่โรงละครเวสท์มินสเตอร์ (Westminster Theatre) การไปเยือนบาร์บาร่าและเยี่ยมที่ดอนนี่ (Donny) ซึ่งทำให้พวกผมยังระลึกถึงเกียรติที่ยิ่งใหญ่ และท่าทางแห่งมิตรภาพที่เต็มไปด้วยความร่าเริงเบิกบานใจของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ตลอดเวลา.

    T. Chidell
     
  10. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    WAT THAI,WASHINGTON, D.C.
    13440 Layhill Road
    Silver Spring, MD 20906

    ๘ ธันวาคม ๒๕๓๓

    เรียน ท่านเจ้าคุณพระอมรเมธาจารย์ อธิการบดี มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

    กระผมพร้อมด้วยพระสงฆ์และบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลายแห่งวัดไทยกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ได้ทราบข่าวการมรณภาพของหลวงพ่อเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ด้วยความเศร้าสลดใจเป็นอย่างยิ่ง

    การมรณภาพของหลวงพ่อเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ครั้งนี้ นับเป็นการสูญเสียพระมหาเถระผู้ทรงคุณค่ายิ่งใหญ่ของคณะสงฆ์แห่งประเทศไทย และของวงการพระพุทธศาสนาขของโลก และเป็นการสูญเสียพระมหาเถระผู้ทรงคุณอันประเสริฐของบรรดาศิษยานุศิษย์ ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ และพุทธศาสนิกชนทั้งหลายในวงการพระพุทธศาสนาทั่วโลกทีเดียว

    สาธุ! ขอดวงวิญญาณของหลวงพ่อเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ จงชนะบ่วงแห่งมารทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์ บรรลุธรรมสูงสุดในสัมปรายิกภพภายภาคเบื้องหน้าโน้นเทอญ.

    พระมหาสุรศักดิ์ ชีวานนฺโท

    หมายเหตุ ได้รับทราบข่าวมรณภาพ วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๓๒ เวลา ๑๒.๔๕ น.
     
  11. wvichakorn

    wvichakorn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    3,662
    ค่าพลัง:
    +9,236
    [​IMG]


    กราบ กราบ กราบ
    ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร)
    เนื่องในวันครบรอบคล้ายวันเกิด (107 ปี)

    ผู้ทรงคุณอันประเสริฐของบรรดาศิษยานุศิษย์ ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์
    และพุทธศาสนิกชนทั้งหลายในวงการพระพุทธศาสนาในประเทศไทยและทั่วโลก
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 9 พฤศจิกายน 2010
  12. naproxen

    naproxen เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    173
    ค่าพลัง:
    +742

    พระเดชพระคุณเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร)
    เกล้ากระผมขอนอบน้อมถวายความเคารพบูชาด้วยศีรษะของเกล้ากระผม


    แด่เจ้าประคุณ
    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) บรมโพธิสัตว์
    ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ
     
  13. omio

    omio เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    1,679
    ค่าพลัง:
    +5,213
    [​IMG]


    ขอกราบคารวะท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) ด้วยความนอบน้อมอย่างยิ่ง

     

แชร์หน้านี้

Loading...