ธรรมะ ๓ ฉาก จากจิตรกรรมไทย

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 8 พฤษภาคม 2009.

  1. vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,173








    <!-- End More Pics --><!-- End More picture--><!-- Begin Thumb More picture -->ภาพประกอบข่าว
    อ่านความหมายแห่งธรรมจากจิตรกรรมฝาผนัง รอยจารึกแห่งอดีตที่มุ่งสืบสานภูมิปัญญาพระพุทธศาสนา เนื่องในวันวิสาขบูชา
    รู้สึกเป็นคนโชคดีมากที่มองเห็นความงามในจิตรกรรมฝาผนังของไทย การค้นพบความงามนี้ทำให้ตื่นเต้นมาก ผมท่องไปในอุโบสถน้อยใหญ่ เพื่อชื่นชมภาพเขียน บางครั้งอยู่ได้นานๆ เป็นหลายชั่วโมง ทำให้เป็นคนจิตใจสงบ เยือกเย็นขึ้น มีความสุขและมีศิลปะ รวมทั้งภาคภูมิใจในงานศิลป์ของไทย”
    นรา นักวิจารณ์หนัง กล่าวกับฉัน ขณะที่เราฝ่าการจราจรในกรุงเทพฯ มุ่งตรงไปยังวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร เพื่อชมภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเวสสันดรชาดก ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นผู้ร่างภาพ และ ศ.ซี.ริโกลี (C.Rigoli) จิตรกรชาวอิตาเลียน เป็นผู้เขียน
    แม้การชมภาพจิตรกรรมฝาผนังจะไม่สำเร็จ เพราะพระภายในวัดบอกว่าอุโบสถที่มีภาพเก่าแก่ทรงคุณค่าด้านใน จะเปิดเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์เท่านั้น แต่เราก็ไม่รู้สึกผิดหวัง
    “การชมจิตรกรรมฝาผนัง ทำให้ได้เห็นส่วนอื่นๆ ของวัดด้วย เป็นการเดินทางที่ตื่นเต้น ไม่น่าเบื่ออย่างที่คิด แถมยังประหยัดเข้ากับสภาพเศรษฐกิจ และได้ลุ้นตลอดเวลาอย่างนี้แหละ ทำให้ได้สนทนากับพระ ได้ดูสถาปัตยกรรม ต้นไม้ ดอกไม้ บางแห่งก็มีห้องสมุด และพิพิธภัณฑ์ของเก่า เมื่อชอบจิตรกรรมไทยแล้วก็พลอยทำให้สนใจประวัติศาสตร์ ดนตรีไทย และหลักธรรมด้วย” นรา ชวนคุย
    จิตรกรรมไทย มรดกโลก
    จิตรกรรมฝาผนังโดยพื้นฐานจะเป็นศิลปะแต่ความสำคัญคือการเผยแผ่ธรรมะ เป็นการนำศิลปะมารับใช้ศาสนา มากกว่ามุ่งใช้เนื้อหาทางศาสนามาเป็นเครื่องมือในการแสดงศิลปะ
    “ภาพจิตรกรรมฝาผนังในอดีต มุ่งเน้นให้ศึกษาทางพระพุทธศาสนาด้วยภาพเป็นหลัก ส่วนความเป็นศิลปะนั้นให้ความสำคัญลำดับรอง” พิเชษฐ์ เปียร์กลิ่น ผู้วิจัยเรื่อง "การสร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดปิบผลิวัน ตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส" ระบุ
    จากวัดราชาธิวาส เราตรงไปต่อที่วัดเทวราชกุญชรที่ไม่ไกลจากกัน แล้วก็พบวัดที่ได้รับการดูแล จัดการเป็นอย่างดี สะอาด และสงบ ในพระอุโบสถมีภาพเขียนที่แตกต่างจากวัดอื่น เพราะเป็นภาพเขียนที่สื่อความหมายของวัดที่แปลว่าวัดของเทวดา ดังนั้นจึงจำลองภาพเทวดามาชุมนุมกัน เมื่ออยู่ภายในทำให้รู้สึกเย็น เหมือนผู้ดูได้อยู่ในสวรรค์
    นี่คือเสน่ห์ของภาพจิตรกรรมฝาผนัง เพราะทำให้เราได้ชื่นชมทั้งศิลปะ ศรัทธา และจิตวิญญาณในภาพ
    แต่ละวัดก็มีการรังสรรค์เรื่องราวที่แตกต่าง จากฝีมือช่างหลากหลายสกุล จิตรกรรมในอุโบสถจึงไม่ต่างจากแกลเลอรี่ดีๆ นี่เอง
    หากคุณสนใจจิตรกรรมฝาผนัง คุณควรจะเริ่มต้นที่ภาพจิตรกรรม 'รามเกียรติ์' รอบระเบียงทางเดินที่ วัดพระแก้ว ที่โด่งดังไปทั่วโลก, จากนั้นเดินต่ออีกนิดไปที่ วัดพระที่นั่งพุทธไธสวรรค์ ซึ่งไม่ได้เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ตั้งของการจิตรกรรมฝาผนังแบบ Bird’s eye view ฝีมือจิตรกรสมัยรัชกาลที่ ๑ ที่มีคุณค่าและเก่าแก่ที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์
    จากนั้นไม่ไกล ไปที่ วัดบวรนิเวศวิหาร จะเป็นภาพเขียนที่พิเศษ เพราะได้รับอิทธิพลจากตะวันตก เป็นภาพเขียนแบบสามมิติที่มีความลึกของภาพ หาดูได้ไม่บ่อย ขณะที่ถ้าไปต่อที่ วัดเชตุพนวิมลมังคลาราม (โพธิ์) นอกจากพระนอนที่งดงามที่สุดของประเทศ จะพบกับภาพเขียนที่ผสานศิลปะแบบจีน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์จิตรกรรมสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ต่อไปอีกนิดที่ วัดสุทัศน์เทพวนาราม ตรงเสาชิงช้า ซึ่งเป็นจิตรกรรมพุทธประวัติที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย หากข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไป ที่ วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร บางกอกน้อย ชมการประชันฝีมือกันของจิตรกรเอกอย่าง หลวงวิจิตรเจษฎา (ทองอยู่) กับหลวงเสนีย์บริรักษ์ (คงแป๊ะ)
    ส่วนที่ วัดอรุณราชวราราม พระอุโบสถยังมีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือของครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ เช่นกัน หรือท้ายสุด หากข้ามมายังฝั่งธนบุรี ที่วัดดุสิดารามวรวิหาร ชมภาพเขียนสมัยต้นรัตนโกสินทร์อันงดงาม ก็จะได้ดูภาพนรกที่หาดูได้ยากด้วย และที่วัดเล็กๆ อย่างบางยี่ขัน เป็นจิตรกรรมสกุลช่างรัตนโกสินทร์ เขียนในสมัยรัชกาลที่ ๓ ตอนต้น
    นี่เป็นเพียงวัดในรอบเกาะรัตนโกสินทร์เท่านั้น ภาพจิตรกรรมฝาผนังไทยอันทรงคุณค่ายังมีอยู่มากมายทั่วกรุง ปริมณฑล และตามหัวเมืองของภาคต่างๆ
    ต้องรู้ จึงเห็นมากกว่าความงาม
    ในบรรดาศิลปะแขนงต่างๆ จิตรกรรมได้รับการยกย่องมากที่สุด โดยจิตรกรรมฝาผนังถือเป็นที่สุดของจิตรกรรม เพราะประดับอยู่ในอุโบสถ ศิลปินผู้วาดถ่ายทอดด้วยศรัทธา ไม่ได้หวังสินจ้างรางวัล หากแต่ต้องการถวายเป็นพุทธบูชา จึงถือว่าเป็นศิลปะบริสุทธิ์และมีคุณค่า
    พระครูใบฎีกาสนั่น ไทยรกฺโข (ไทยรักษ์) กล่าวว่า เพื่อให้เข้าใจความงามในจิตรกรรมฝาผนัง ต้องเข้าใจความหมาย อันเป็นหลักธรรมจากภาพเขียนด้วย เมื่อมองแล้ว จึงจะได้แง่คิดสอนใจ ควบคู่ไปกับการซึมซับความงาม โดยส่วนใหญ่คนมักจะศึกษาในแง่มุมของศิลปะ ว่าจิตรกรรมอยู่ในยุคใด นำเสนอเรื่องใด ใช้เทคนิคไหน แต่ไม่ค่อยมีการพูดถึงสอนหลักธรรมในภาพเขียน
    เรื่องที่นิยมบอกเล่าในจิตรกรรมฝาผนังวัด แน่นอนว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวทางพุทธศาสนา โดยนำเสนอพุทธประวัติมากที่สุด รองลงมาคือ ทศชาติชาดก วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ และเรื่องราวของพระมหากษัตริย์
    จิตรกรรมฝาผนังมีแง่มุมที่น่าสนใจมากมาย หากจะบอกเล่าให้ฟังทั้งหมด หนังสือเล่มหนาๆ เล่มหนึ่งคงบรรจุไว้ไม่พอ แต่หากผู้อ่านต้องการเจาะลึกไปในประเด็นที่สอดคล้องกับวันสำคัญ 'วันวิสาขบูชา' ในบรรดาพุทธประวัติที่ปรากฏในจิตรกรรมฝาผนังมีอยู่มากมาย
    เราสามารถเลือก ๓ ฉาก ขึ้นมากล่าวถึง

    หลักธรรมตอนประสูติ
    ภาพพระโพธิสัตว์ประสูติในจิตรกรรมฝาผนัง บางครั้งแสดงออกด้วยภาพเทวดาในหมื่นจักรวาล ได้พร้อมใจกันมาประชุมกันที่สวรรค์ชั้นดุสิต ทูลอาราธนาให้พระโพธิสัตว์ไปบังเกิดในมนุษย์โลก กับฉากประสูติเจ้าชายสิทธัตถะจากพระครรภ์พระนางสิริมหามายา ณ ป่าลุมพินีวัน โดยได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ก้าวพระบาทออกไปได้ ๗ ก้าว
    ภาพการประสูติไม่ได้ต้องการแสดงอภินิหารของพระศาสดา เพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ หรือแสดงปณิธานอันยิ่งใหญ่ของมหาบุรุษในการอุบัติ แต่แสดงให้เห็นว่าการเกิดขึ้นของทุกชีวิตล้วนเป็นไปตาม 'กรรม' หากแต่ไม่ว่าจะมีชาติกำเนิดอย่างไร มนุษย์สามารถสร้างปณิธานในชีวิตของตนได้
    ดังที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวเกี่ยวกับวันวิสาขบูชาไว้ว่า “การประสูติของพระองค์มีความหมายเตือนให้เราระลึกว่าคนทุกคน แม้จะเริ่มต้นชีวิตโดยความเป็นมนุษย์ มีกำเนิดไม่แตกต่างกัน แต่ต่อจากจุดเริ่มต้นนั้นแล้ว มนุษย์ก็แสดงความเป็นสัตว์ประเสริฐออกมา ด้วยความเป็นผู้สามารถที่จะฝึกอบรม”
    หลักธรรมตอนมารผจญ
    ภาพพระพุทธเจ้าขณะถูกมารผจญก่อนตรัสรู้ นับเป็นภาพที่สำคัญที่สุด เพราะวาดไว้ตรงข้ามพระประธาน เป็นเรื่องราวเมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงตั้งพระปณิธานอย่างแน่วแน่ว่า...
    แม้นเลือดเนื้อในสรีระทั้งสิ้นนี้จะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนังเอ็นและกระดูกเท่านั้นก็ตามที หากยังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ก็จะไม่ลุก จากนั้นกลุ่มมารทั้งหลายได้มาผจญพระพุทธเจ้าด้วยวิธีต่างๆ แม่พระธรณีได้มาปรากฏเป็นนางธรณีบิดมวยผม กลายเป็นทะเลใหญ่ท่วมพญามารพร้อมทั้งเสนา ช้างครีเมขละของพญามารก็ฟุบเท้าหน้าทั้งสองลง เป็นการถวายนมัสการพระพุทธเจ้า พญามารพร้อมทั้งเสนาก็แตกพ่ายไป ถูกน้ำพัดพาไปหมดสิ้น จึงได้ทรงชนะมาร
    ในตอนมารผจญที่ปรากฏในภาพเขียน ส่วนมากนิยมเรื่องราวตอนพญามารเสียใจที่ไม่สามารถเอาชนะพระพุทธเจ้าได้ ได้นั่งเป็นทุกข์อยู่ ธิดามารทั้งสามที่มีชื่อว่า ตัณหา ราคา อรดี จึงได้มาอาสาเพื่อที่จะนำพระพุทธเจ้ามาสู่อำนาจ แสดงเป็นสตรีเพศอยู่ในวัยต่างๆ คือ ในปฐมวัยที่ยังไม่มีบุตรบ้าง ที่มีบุตรคนหนึ่ง สองคน สามคนบ้าง เป็นคนแก่บ้าง เพราะมีความคิดว่าบุรุษนั้นย่อมพอใจในสตรีเพศต่างๆ กัน แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงพระวาจาประกาศความเป็นผู้สิ้นกิเลส ไม่ข้องแวะด้วยตัณหาราคะอรติทั้งหมด ธิดามารทั้งสามนั้นก็พ่ายแพ้ไปอีก
    ภาพเขียนเรื่องผจญมารแสดงให้เห็นถึง 'มาร' มารในที่นี้หมายถึง กิเลส ทั้งภายนอกและภายในใจของเรานั่นเอง ในทางพระพุทธศาสนา พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) อธิบายไว้ว่า มารมี ๕ คือ ขันธมาร มาร คือ ขันธ์ ๕ นามรูปหรือกายใจ หากติดอยู่ในนามรูป ติดอยู่ในกายใจ ขันธ์นี้ก็ขัดขวางไม่ให้ปฏิบัติธรรม บรรลุถึงความสิ้นกิเลสได้, กิเลสมาร คือ กิเลสต่างๆ มี ตัณหา ราคะ โทสะ โมหะ ขัดขวางไม่ให้ปฏิบัติธรรม บรรลุถึงความสิ้นกิเลสได้, อภิสังขารมาร คือ กรรม ได้แก่กรรมที่ได้กระทำ กรรมดีบ้าง กรรมชั่วบ้าง หากยังติดอยู่ในกรรม กรรมก็เป็นเครื่องตัดรอนไม่ให้ปฏิบัติธรรมบรรลุความสิ้นกิเลสได้, มัจจุมาร คือ ความตาย เมื่อความตายมาถึง ก็เป็นอันตัดชีวิต เมื่อตัดชีวิตก็เป็นอันตัดการปฏิบัติเพื่อบรรลุความสิ้นกิเลสที่จะพึงได้ต่อไปด้วย และ เทวบุตรมาร ซึ่งมักจะเรียกกันในภาษาไทยว่าพญามาร ก็เป็นตัวขัดขวางไม่ให้ปฏิบัติธรรม บรรลุถึงความสิ้นกิเลสได้
    หลักธรรมสำคัญจากภาพมารผจญเมื่อตรัสรู้ จึงเป็นหลักธรรมเรื่อง การเอาชนะมาร หรือกิเลส ในใจตน ซึ่งพระพุทธศาสนาได้วางหลักธรรม สรุปได้สั้นๆ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง
    หลักธรรมตอนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน
    ก่อนที่พระพุทธจะดับขันธ์ปรินิพพาน ได้แสดงปัจฉิมโอวาทเรื่องความไม่ประมาท โดยตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนท่านทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อม ความสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย จงบำเพ็ญไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา ให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
    ภาพเขียนพระพุทธเจ้าดับขันธ์ที่ปรากฏในจิตรกรรมฝาผนัง จึงเป็นเครื่องเตือนใจให้ปุถุชนผู้พบเห็นดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาท รู้ว่าความตายเป็นเรื่องปกติ มีเกิดก็ต้องมีดับ แม้พระพุทธเจ้าก็ยังหนีไม่พ้น ขณะที่ภาพเขียนตอนสาวก เทวดา กษัตริย์ และประชาชน ชุมนุมถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ก็สอนให้มองเห็นความตายและยอมรับกับความเป็นจริงของชีวิต ภาพพระสาวกชุมนุมแจกพระบรมธาตุ แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ตายไปโดยทิ้งความดีไว้เบื้องหลัง ย่อมเป็นที่สรรเสริญของผู้ที่ยังอยู่ ไม่ใช่แค่ผงเถ้ากระดูก หากแต่เป็นคุณงามความดีนั่นเอง
    ความตายเป็นธรรมดาของชีวิตที่ไม่มีผู้ใดหลีกหนีพ้น แม้แต่พระพุทธเจ้า ดังนั้นบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ควรถือหลักแห่งความไม่ประมาท เร่งทำความดี เพื่อให้มีสติ และเมื่อจะตาย ก็ตายอย่างมีคุณค่า
    สรุป ธรรมะ ๓ ฉาก
    จิตรกรรมฝาผนัง ตอนประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน แสดงให้เห็นถึงความสืบเนื่องของพุทธประวัติ ทำให้เห็นกระบวนการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ครบสมบูรณ์ตามหลักปฏิจจสมุปบาท เราจะได้เห็นวงจรของชีวิตที่พระพุทธเจ้าเอง ไม่ต่างจากมนุษย์ทั่วไปที่จุดเริ่มต้นต้องเผชิญกับทุกข์ และแสวงหาหนทางดับทุกข์ แต่เพราะทรงใช้ 'ปัญญา' และ 'ความเพียร' จึงสามารถพ้นทุกข์
    การแสดงให้เห็นความจริงของชีวิตเช่นนี้เป็นเอกลักษณ์ของพุทธศาสนา ที่มองทุกอย่างตามความเป็นจริง พระพุทธเจ้าไม่ใช่พระเจ้า แต่ทรงมีพระปัญญาอันยิ่งใหญ่
    'วันวิสาขบูชา' ในมิติหนึ่งจึงเป็นการทำให้เราหันกลับมามองตัวเองว่า เราเกิดมาทำไม เพื่ออะไร และกำลังทำอะไรอยู่ รวมถึงเราต้องการตายอย่างไร
    และจงตระหนักถึงศักยภาพของตนว่าสามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ ไม่ว่าโลกจะหมุนและปัญหาจะถาโถมเพียงใดก็ตาม
    • เกี่ยวกับผู้เขียน
    เนตรนภา แก้วแสงธรรม ยาเนซโกวา (หริ่น) นักเขียนเรื่องท่องเที่ยว แต่มีเวลาสนใจเรื่องศิลปะและพุทธศาสนา หลังศึกษาจบปริญญาตรี ด้านหนังสือพิมพ์ จากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ธรรมศาสตร์ ดั้นด้นข้ามไปศึกษาร่วมกับพระภิกษุสงฆ์ จนคว้าปริญญาโทด้านพุทธศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) โดยทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับหลักธรรมจากภาพจิตรกรรมฝาผนัง
    เธอบอกว่า จุดมุ่งหมายคือ ต้องการนำเสนอสารคดีทางพุทธศาสนาให้คนรุ่นใหม่อ่านง่าย สนุก แต่ต้องถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาด้วย ติดต่อเธอได้ที่ rin@netnapa.net
    <!-- Tags Keyword -->
     

แชร์หน้านี้