นักวิชาการไม่เชื่อศาสนาพุทธจะเป็นพลังทางมนุษยธรรมแก้ปัญหาโรฮิงญาในเมียนมา

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 17 กันยายน 2017.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    1410205.jpg

    นักวิชาการด้านศาสนาเผยชาวพุทธในเมียนมา รัฐบาลและอองซาน ซูจีมองชาวโรฮิงญาเป็นศัตรู ชี้เป็นเรื่องยากที่จะใช้ศาสนาพุทธแก้วิกฤตด้านมนุษยธรรม เหตุศาสนาผูกติดกับอำนาจอย่างซับซ้อน แนะเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนหากต้องการอยู่ร่วมกัน


    นายสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านพุทธศาสนา กล่าวถึงสถานการณ์วิกฤตโรฮิงญาในประเทศเมียนมาว่า ในการต่อสู้ทางการเมืองที่ผ่านมา สถาบันทางพุทธศาสนาในประเทศเมียนมาได้ใช้หลักมนุษยธรรมในการต่อสู้มาโดยตลอด แต่สำหรับกรณีโรฮิงญานั้นดูเหมือนว่าเสียงสวดมนต์แผ่เมตตากลับหายไป แม้แต่เสียงจากนาง อองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมาก็หายไปเช่นเดียวกัน ทำให้เข้าใจได้ว่าทั้งรัฐบาล ทั้งนางอองซาน ซูจีและชาวพุทธส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่ามีศัตรูเป็นกลุ่มเดียวกัน

    “ผมคิดว่าความคาดหวังที่ว่าศาสนาพุทธจะเป็นพลังของสันติภาพหรือพลังของมนุษยธรรมในเรื่องนั้นมันเป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าศาสนาผูกกับอำนาจอย่างสลับซับซ้อนและไม่ได้แคร์เลยว่าเมื่อผู้มีอำนาจได้อ้างพุทธศาสนาแล้ว เขาจะต้องปฏิบัติหรือเปล่าซึ่งประวัติศาสตร์มันเป็นอย่างนี้มาตลอดไม่ว่ายุคไหนก็แล้วแต่” นายสุรพศ กล่าวในงานเสวนา”โรฮิงญา” พม่า กับ พุทธศาสนาเถรวาท จัดโดยสถาบันวัชรสิทธา

    “หลักที่ผมเสนอก็คือว่า แต่ละคนมีความเชื่อแตกต่างกันในเรื่องศาสนาแต่นั้นเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ว่าในการอยู่ร่วมกันเราต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชน แต่ละศาสนาต้องพร้อมที่จะปรับตัวเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นหลักสากลในการอยู่ร่วมกัน มาถึงจุดนี้เรื่องคำสอนที่แท้คำสอนที่ไม่แท้อะไรต่าง ๆ ไม่ต้องไปเถียงกันมาก ถ้าคุณพร้อมที่จะเคารพหลักสิทธิมนุษยชนในการอยู่ร่วมกัน” นายสุรพศกล่าว

    ทั้งนี้ นายสุรพศมองว่าปัญหาของศาสนาต่าง ๆ นั้นยังไม่มีความพร้อม โดยศึกษาจากปราฎการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าในประเทศไทยหรือที่อื่น ๆ พบว่าศาสนายังไม่มีความพร้อมในการปรับตัวเข้ากับสิทธิมนุษยชนคือ ยังไม่จริงจังกับการตีความหลักคำสอนกับสิทธิมนุษยชนหรือประชาธิปไตยซึ่งเป็นปัญหาอยู่

    “ผมเคยตั้งคำถามว่า ถ้าคุณคิดว่าหลักการของพุทธสนับสนุนหลักการประชาธิปไตยจริง สิ่งที่คุณต้องทำคือ เอาหลักการที่คุณบอกว่าสนับสนุนประชาธิปไตยไปตั้งคำถามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระหว่างความสัมพันธ์รัฐกับศาสนาให้สอดคล้องกับหลักเสรีภาพและเสมอภาคทางศาสนาเพราะระบบปัจจุบันมันไม่ใช่ ความเสมอภาคระหว่างชาวพุทธด้วยกันยังไม่มีเลย” นายสุรพศกล่าว

    ทั้งนี้ สถานการณ์ความรุนแรงที่มีต่อชาวโรฮิงญาในประเทศเมียมมานั้นได้ปะทุขึ้นมาอีกครั้งเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากกลุ่มกองกำลังกู้ชาติโรฮิงญาอาระกัน (ARSA) นำกำลังบุกโจมตีหลายพื้นที่ในรัฐยะไข่ ทำให้ทหารตอบโต้อย่างรุนแรง มีชาวโรฮิงญาเสียชีวิตเกือบ 400 ราย และทำให้ประชาชนอพยพออกจากพื้นที่ระลอกใหญ่ ล่าสุดรายงานข่าวระบุว่ามีชาวโรฮิงญาอพยพหนีภัยไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างบังคลาเทศเกือบ 300,000 คน โดยเฉพาะที่ค่ายคอกซ์ส บาซาร์ จนทำให้เกิดวิกฤตอาหาร ที่พัก และยาไม่เพียงพอ คาดการณ์ว่าเป็นวิกฤตผู้อพยพจุดใหญ่ที่สุดของโลกในขณะนี้

    ลลิตา หาญวงศ์ นักวิชาการด้านพม่าศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การสร้างให้ชาวโรฮิงญาเป็นศัตรูนั้นเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ของเมียนมา แต่สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นความขัดแย้งที่ชัดเจนที่สุดนับตั้งแต่ปี 2555

    แม้ประชาคมชาวโลกหรือสื่อต่างชาติต่าง ๆ จะมองว่าคนโรฮิงญาเป็นส่วนหนึ่งของเมียนมาเพราะชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ในรัฐอารากันมายาวนาน แต่คนเมียนมากลับพูดชัดเจน ว่า ชาวโรฮิงญาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเมียนมา พวกเขามาจากบังคลาเทศและอาศัยรัฐอาระกันเป็นที่อยู่อาศัยในภายหลัง

    ปัจจุบันในสังคมออนไลน์ของเมียนมาเองเป็นการต่อสู้ทางความคิดระหว่างคนพุทธในเมียนมาและคนมุสลิมซึ่งไม่ใช่เฉพาะชาวโรฮิงญาเท่านั้น หากลองค้นหาคำสำคัญในทวิตเตอร์โดยใส่แฮชแท็กโรฮิงญาจะพบแต่รายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศเท่านั้น แต่ถ้าใส่คำว่า Bengali หรือ Bengali terrorist จะเจอคำพูดที่สร้างความเกลียดชังจำนวนมาก โดยเฉพาะการ์ตูนการเมืองมีการสนับสนุนให้ฆ่าคนโรฮิงญา หรือแม้แต่พระสงฆ์บางรูปเองก็ส่งเสริมให้ฆ่าชาวมุสลิมหรือกำจัดชาวมุสลิม ในขณะที่ประชาคมโลกมองในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน มีการขับไล่ออกจากพื้นที่ มีการเผาบ้านเผาเรือน เป็นต้น

    ชาวโรฮิงญารายหนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 20 ปีได้กล่าวในงานเสวนาว่า จากเหตุการณ์ที่ผ่านมามีญาติของตนเสียชีวิตไป 3 ราย บ้านเรือนในหมู่บ้านโดนเผา ชาวบ้านบางรายโดนข่มขืน ซึ่งตนเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการฆ่าล้างเผาพันธุ์ชาวมุสลิมในเมียนมา ไม่ใช่เฉพาะชาวโรงฮิงญาเพียงอย่างเดียว

    “ชาวโรฮิงญาต้องการความคุ้มครอง เขาบอกว่าผู้ก่อการร้ายอยู่ในหมู่บ้าน แต่ไม่มีการตรวจสอบเลย สุเหร่า ศาสนากิจ โดนล็อกหมดเลย เราละหมาดที่บ้านไม่ได้ ฆ่าล้างเผาพันธุ์จริงๆ ทำมาหลายปีแล้วและทำให้ประชาคมโลกเชื่อว่าชาวโรฮิงญาเป็นผู้ก่อการร้าย” ชาวโรฮิงญากล่าว


    ขอขอบคุณที่มา
    https://news.voicetv.co.th/thailand/524698.html
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 17 กันยายน 2017

แชร์หน้านี้

Loading...