นิโรธคือความดับทุกข์ : พระอาจารย์ทูล

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 9 สิงหาคม 2010.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ในคืนนั้น กำหนดจิตอยู่ในความสงบตลอดคืนจนถึงสว่างของวันใหม่ จากนั้น จิตก็ลงสู่ความดับ ให้เข้าใจเอาไว้ว่า ความสงบของสมาธิ ความสงบในฌาน ไม่เหมือนกันกับความดับ เพราะความสงบในสมาธินั้นยังมีวิญญาณความรู้แฝงอยู่ที่ใจ ถึงจะมีความสงบเป็นสมาธิในระดับไหน ก็ยังมีวิญญาณรับรู้อยู่นั่นเอง ส่วนความดับนั้น ไม่มีวิญญาณรับรู้อะไรทั้งสิ้น นั่นคือ วิญญาณที่รับรู้ได้ดับไป เมื่อวิญญาณรับรู้ได้ดับไปอย่างเดียวเท่านั้น ความสัมผัสในอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ก็ไม่มีวิญญาณรับรู้อะไรเลย ตาก็สักว่าตา หูก็สักว่าหู ลิ้นก็สักว่าลิ้น กายก็สักว่ากาย ใจก็สักว่าใจ ไม่มีความรู้ในการสัมผัสอะไรเลย ถึงสิ่งภายนอกจะมาสัมผัส เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น นี่คือส่วนของรูป ในส่วนที่เป็นนาม คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็เป็นนามล้วน ๆ ไม่มีความรู้สึกนึกคิดอะไร อารมณ์ภายในใจที่เป็นความสุข ความทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ก็ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น สัญญาความจำในเรื่องอดีตที่ผ่านมา และความจำในปัจจุบันก็ไม่มีวิญญาณรับรู้ สังขารการปรุงแต่งภายในใจก็คิดปรุงแต่งอะไรไม่ได้ เพราะวิญญาณดับไปอย่างเดียวเท่านั้น ทุกอย่างของรูปธรรมและทุกอย่างของนามธรรมก็ดับไปพร้อมกันทั้งหมด จึงเป็นนิโรธ คือ ความดับและดับไม่มีเหลือ กิเลสน้อยใหญ่ที่เป็นอาสวะหมักดองใจมายาวนาน จะมาสิ้นสุดอยู่กับนิโรธ คือความดับในขณะนี้ทั้งหมด ชาติภพที่เคยเกิดแก่เจ็บตาย เวียนว่ายอยู่ในภพทั้งสามก็หมดสภาพไปในขณะนี้ จึงสมกับคำว่า อวิชชาดับ สังขารก็ดับ วิญญาณก็ดับ นามรูปก็ดับ นามรูปดับ สฬายตนะก็ดับ สฬายตนะดับ ผัสสะก็ดับ ผัสสะดับ เวทนาก็ดับ เวทนาดับ ตัณหาก็ดับ ตัณหาดับ อุปาทานก็ดับ อุปาทานดับ ภพก็ดับ เมื่อภพดับ ชาติแห่งความเกิดก็ดับ เมื่อชาติแห่งความเกิดอีกไม่มี ชราความแก่ มรณะความตาย จะมีมาจากที่ไหน ความโศกเศร้าโศกา ความทุกข์ใจนานาประการก็ดับสนิททั้งหมด ไม่มีเชื้อกิเลสตัณหาอะไรที่ตกค้างภายในใจนี้อีกต่อไป จึงให้นามว่า นิโรโธโหติ คือความดับทุกข์ให้หมดไปจากใจอย่างสิ้นเชิง

    ในขณะที่มีความดับอยู่นั้น เกิดความรู้อีกอย่างหนึ่งซึ่งมีความละเอียดอ่อนมากอยู่ในส่วนลึกของใจ คำว่ารู้นี้มิใช่ความรู้ที่เกิดจากวิญญาณ มิใช่ความรู้ที่เกิดจากรูปนามแต่อย่างใด เป็นรู้ที่ไม่มีจุดหมายที่นอกเหนือไปจากรูปนาม เป็นรู้ที่ไม่มีอะไรแอบแฝง เป็นรู้ที่เหนือจากความรู้โดยไม่มีสมมุติอะไรมาเทียบได้ เพราะเป็นลักษณะรู้ที่ไม่มีนิมิตหมายในสมมุติใด ๆ ไม่สามารถอธิบายหรือบอกให้ใคร ๆ ฟังได้ เป็นรู้ที่ไม่มีขอบเขต เป็นรู้ที่ไม่มีสมมุติให้รู้ เป็นรู้ที่โดดเด่นเฉพาะรู้เท่านั้น เมื่อความดับนี้อยู่ได้ประมาณ ๑ ชั่วโมง เกิดลักษณะอาการวูบขึ้นมา แล้วเกิดความกล้าหาญขึ้นมาที่ใจ เมื่อใจมีความกล้า สติปัญญาก็กล้าไปตาม ๆ กัน เหมือนกับว่าจะสามารถเหยียบกระทืบภูเขาให้พังพินาศไปในชั่วพริบตา หรือราวกับว่าจะทำลายอะไรในโลกนี้ให้เป็นจุลไปในชั่วขณะเดียว นี่เป็นเพียงความกล้าหาญที่เกิดขึ้นมาเท่านั้น

    เมื่อผู้ภาวนาปฏิบัติมาถึงจุดนี้แล้ว จึงนับได้ว่า ตนแลเป็นที่พึ่งของตนได้อย่างแท้จริง ไม่มีสิ่งอื่นใดที่จะทำให้เกิดความเห็นผิดอีกต่อไป ในอีกนาทีข้างหน้านี้ ก็จะเกิดความอัศจรรย์ขึ้นที่ใจอย่างสมบูรณ์เต็มที่ โดยไม่เคยมีมาก่อนในชีวิตนี้เลย นับแต่ได้เทียวเกิดตายในวัฏสงสารมาเป็นเวลาอันยาวนาน จนนับภพชาติไม่ถ้วนประมวลไม่ได้ก็ตาม ความอัศจรรย์ในธรรมที่เป็นผลเกิดขึ้นจากการภาวนาปฏิบัติก็จะเกิดขึ้นในขณะนี้เอง จะอยู่ที่ไหนอิริยาบถใดไม่สำคัญ ความอัศจรรย์ในธรรมก็จะเกิดขึ้นต่อเนื่องกันทันที จึงเป็น ปัจจัตตัง รู้เฉพาะตัวเอง ความอัศจรรย์ในธรรมที่เกิดขึ้นนี้เป็นประการใดนั้น ผู้ปฏิบัติภาวนาจะรู้เองเห็นเองอย่างชัดเจน โดยไม่มีสิ่งอื่นใดมาปิดบัง และจะหายความสงสัยในตัวเองทันที รู้เห็นในขณะใดก็หายความสงสัยในตัวเองในขณะนั้น ไม่ว่าเชื้อชาติใดภาษาใด ชนชั้นวรรณะฐานะอย่างไรไม่สำคัญ จะเป็นพระ เป็นเณร ฆราวาสหญิงชายในวัยไหนก็ตาม เมื่อภาวนามาถึงจุดนี้แล้ว ความอัศจรรย์ในธรรมย่อมเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น เมื่อธรรมอัศจรรย์นี้เกิดขึ้นกับท่านผู้ใดแล้ว ท่านผู้นั้นจะไม่ต้องไปถามใคร ๆ อีกต่อไป เพราะความวิตก ความสงสัย ความไม่แน่ใจในตัวเอง จะไม่มีกับผู้ที่รู้เห็นในธรรมอัศจรรย์นี้เลย นี่คือผู้ที่หายความสงสัยในตัวเองอย่างสมบูรณ์ ในยุคสมัยนี้ หากมีผู้ได้รับผลธรรมอัศจรรย์นี้แล้ว ความรู้เห็น ความหายสงสัยในตัวเอง จะเหมือนกันทั้งหมด ไม่ว่าคุณธรรมจะอยู่ในระดับไหน ก็จะรู้เห็นคุณธรรมนั้นด้วยตัวเองทันที ไม่ต้องไปหาคำพยากรณ์จากใคร ๆ ทั้งสิ้น นี่คือผู้ตัดกระแสของโลกธรรมออกจากใจได้แล้ว จึงไม่มีความยินดี ไม่มีความยินร้ายในภพทั้งสามอีกต่อไป จึงเป็น กตํ กรณียํ กิจอื่นที่จะพึงทำให้เป็นอย่างนั้นให้เป็นอย่างนี้อีกไม่มี นี่คือผลของการภาวนาปฏิบัติที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง

    ฉะนั้น การปฏิบัติ จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย คำว่ายากนั้น คือ นักปฏิบัติใช้อุบายในแนวทางไม่ตรงกับจริตนิสัยของตัวเอง ตัวเองเคยมีนิสัยการสร้างบารมีมาอย่างหนึ่ง แต่เลือกใช้อุบายในแนวทางปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ตรงกันกับนิสัยเดิมที่เคยสร้างบารมีมาแล้วในอดีต จึงเหมือนกันกับเอาสว่านเจาะไม้ให้เป็นรูไว้แล้วแต่ยังไม่ทะลุ แต่ก็มีอันเป็นไป ไม่ได้เจาะให้ติดต่อกัน เมื่อจะมาเจาะต่อก็จำที่เจาะรูเก่าไม่ได้ เพราะเปลือกไม้ได้เกิดหุ้มเอาไว้แล้ว เมื่อมาเจาะใหม่ก็เจาะไม่ถูกรูเก่า จึงกลายเป็นเจาะที่ใหม่ไปเสีย ถ้าอย่างนี้ก็ทะลุไปไม่ได้เลย นี้ฉันใด การปฏิบัติไม่ได้ผลไม่ก้าวหน้า เพราะอุบายการปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ไม่ตรงกับอุบายเก่าที่ได้ปฏิบัติเป็นนิสัยมาแล้ว เรียกว่า บารมีใหม่ที่กำลังปฏิบัติอยู่เชื่อมกันกับบารมีเก่าไม่ต่อเนื่องกันนั่นเอง ถ้ามีคำถามว่า จะทำอย่างไรจะเชื่อมกันกับบารมีเก่าได้ ก็ตอบว่ายากมาก เพราะไม่มีใครรู้จักว่าเราสร้างบารมีมาแล้วอย่างไรและสร้างด้วยอุบายวิธีไหน ไม่เหมือนในครั้งพุทธกาลที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนมชีพอยู่ พระองค์รู้จักบารมีของพระสาวกและบารมีของอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย พระองค์ได้ทรงชี้แนะให้อุบายธรรมให้ถูกกับจริตนิสัยเดิมของท่านเหล่านั้น เมื่อนำไปปฏิบัติก็ได้รับผลทันที เช่น พระองค์ให้ผ้าขาวแก่พระจุลบัณฑก ให้อุบายแก่ลูกศิษย์ของพระสารีบุตร เป็นต้น หรือให้อุบายธรรมแก่พระสาวกองค์อื่น ๆ เป็นจำนวนมาก ฉะนั้น ในครั้งพุทธกาลจึงมีผู้บรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้ง่าย ทั้งพระภิกษุและฆราวาสมีจำนวนนับหลายหมื่นท่าน เมื่อถึงยุคปัจจุบันนี้ นักปฏิบัติต้องพึ่งตัวเองในการปฏิบัติธรรมให้มาก อุบายธรรมต่าง ๆ ก็ฟังได้จากครูอาจารย์บ้าง และคิดหาอุบายส่วนตัวบ้าง พิจารณาดูแล้วก็เหมือนกับว่าสุ่มเดาเอาเอง เมื่อสุ่มเดาถูกนิสัยตัวเองได้ การภาวนาก็จะได้ผลทันที เมื่อสุ่มเดาไม่ถูก ถึงการภาวนาปฏิบัติจะมีการทุ่มเทความพากเพียรอย่างเต็มที่เท่าไร การปฏิบัติก็ยังไม่ได้รับผลอยู่นั่นเอง ถึงจะปฏิบัติมานานหลายสิบปีหรือปฏิบัติไปจนถึงที่สุดของชีวิต ก็จะไม่ได้บรรลุธรรมแต่อย่างใด ถึงจะมีนิสัยวาสนาบารมีพอจะบรรลุธรรมในชาตินี้ได้อยู่ก็ตาม ถ้าปฏิบัติไม่ถูกกับนิสัยเดิมของตัวเองแล้วก็ยากที่จะบรรลุธรรมได้

    ถึงเราจะไปหาครูอาจารย์เพื่อฟังธรรมจากท่านอยู่บ่อย ๆ หรือจะไปคอยเอาอุบายธรรมจากท่านมาปฏิบัติ ถ้าได้อุบายธรรมนั้นมาไม่ตรงกับนิสัยบารมีของตัวเอง ถึงจะเป็นอุบายธรรมที่ดีเข้มข้นในเหตุผลและสาระ หรือเป็นอุบายธรรมของผู้ที่ท่านได้บรรลุธรรมนั้นมาแล้วก็ตาม ถ้าอุบายธรรมนั้นไม่ตรงกับนิสัยเรา ก็ไม่ได้ผล เหมือนกับยาขนานนี้ ยาชุดนี้ เคยได้ใช้รักษาคนป่วยให้หายมาแล้ว เมื่อเราเอายานี้มากิน ถ้าเราเป็นโรคประเภทเดียวกันกับคนป่วยรายนั้น เราก็มีสิทธิ์จะหายได้ แต่ถ้าโรคเราไม่เหมือนกันกับท่านผู้นั้น ถึงจะกินยานี้ไปจนถึงวันตาย โรคก็ยังไม่หายอยู่นั่นเอง นี้ฉันใด นักปฏิบัติต้องพิจารณาในอุบายธรรมให้ดี เตรียมหาอุบายธรรมเอาไว้ให้มาก เพื่อจะได้เลือกเอาอุบายธรรมนั้นมาประกอบในนิสัยตัวเอง เรียกว่า ธัมมวิจยะ คือเลือกเฟ้นหาอุบายธรรมนั้นมาปฏิบัติให้ถูกกับจริตนิสัยของตัวเอง ให้เป็นไปในความรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรม เช่น ผู้มีนิสัยเคยทำสมาธิมามากในอดีต ในชาตินี้ก็มีนิสัยชอบทำสมาธิมากกว่าปัญญา ถ้าผู้ที่เคยใช้ปัญญามาแล้วในอดีตจนเป็นนิสัย เมื่อมาในชาตินี้ ก็ต้องใช้ปัญญามากกว่าการทำสมาธิ ทั้งสองอุบายนี้จะให้ผลออกมาเหมือนกัน ผู้ที่ทำสมาธิมากกว่าปัญญา ผลที่ออกมาเรียกว่า เจโตวิมุติ ผู้ที่ใช้ปัญญามากกว่าการทำสมาธิ ผลออกมาเรียกว่า ปัญญาวิมุติ ฉะนั้น ต้องรู้จักตัวเองว่ามีนิสัยอย่างไร ควรใช้อุบายใดเป็นหลักในการปฏิบัติธรรม เพื่อไม่ให้ฝืนนิสัยเดิมที่เคยสร้างบารมีมาแล้วอย่างนี้ในอดีต จึงเรียกว่ามีปัญญาความรอบรู้ในนิสัยของตัวเอง ถ้าไม่เป็นไปตามนี้ ผลของการปฏิบัติจะเกิดขึ้นได้ยากมาก จึงเป็น ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา กว่าจะรู้เห็น กว่าจะได้รับผลจากการปฏิบัติอย่างแท้จริงได้ ต้องผ่านความทุกข์ภายทุกข์ใจมากทีเดียว

    คำว่าง่าย ก็เหมือนกันกับเราเอาสว่านไปเจาะรูไม้ที่เจาะไว้แล้ว ถึงแม้จะทิ้งไว้นานจนเปลือกไม้เกิดหุ้มปิดรูเอาไว้ เมื่อบังเอิญได้โอกาสมาเจาะอีกในคราวหลังให้ถูกรูเดิม ก็เจาะทะลุได้อย่างง่ายดาย นี้ฉันใด ผู้ที่ท่านภาวนาง่ายได้รับผลจากการปฏิบัติเร็ว จึงมีเหตุผลใหญ่ ๆ อยู่ ๓ ประการ คือ ๑. วาสนาบารมีเก่าเคยทำมาแล้วในอดีต ที่เรียกว่า ปุพเพกตะปุญญตา คือ ผู้ที่ได้บำเพ็ญบุญกุศลมาแล้วในปางก่อน ๒. ได้อุบายธรรมในการปฏิบัติตรงกับนิสัยวาสนาบารมีของตัวเอง ๓. มีความตั้งใจที่แน่วแน่จริงจังในการปฏิบัติธรรม ทั้ง ๓ อุบายนี้ เมื่อมารวมตัวกันเมื่อไร การภาวนาปฏิบัติก็ง่ายไม่มีอุปสรรคในการปฏิบัติแต่อย่างใด จะเรียกได้ว่า สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา คือ ปฏิบัติง่ายและรู้เห็นในสัจธรรมได้เร็ว ไม่มีอุปสรรคแต่อย่างใด

    ฉะนั้น นักปฏิบัติต้องฝึกใจให้มีความฉลาดรอบรู้ในการปฏิบัติธรรม พยายามหาอุบายต่าง ๆ มาสอนใจตัวเองอยู่เสมอ เมื่อใจเรามีความฉลาดรอบรู้ตามความเป็นจริง การภาวนาปฏิบัติก็จะก้าวหน้าไปด้วยดี เพราะมีความตั้งใจในการปฏิบัติ ให้มุ่งหมายที่ใจเป็นจุดสำคัญ จะรักษาศีลก็รักษาเพื่อใจ จะทำสมาธิก็มุ่งหมายเพื่อให้ใจมีความสงบ การใช้ปัญญาก็เป็นอุบายสอนใจให้มีความฉลาดในเหตุผล เพราะใจเรามันยังโง่ ใจเรามันยังหลง ไม่มีความรอบรู้ ไม่มีความฉลาด ไม่สามารถจะแก้ปัญหาที่ใจได้ ฉะนั้น จึงให้ใช้ปัญญาอบรมสั่งสอนใจอยู่เสมอ เพื่อให้ใจได้มีความรอบรู้ตามหลักความเป็นจริง ดังคำบาลีที่กล่าวไว้ว่า จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ เมื่อใช้ปัญญาอบรมจิตได้แล้วย่อมนำความสุขความฉลาดมาให้จิตเอง เรื่องของใจจึงเป็นเรื่องใหญ่ในการปฏิบัติธรรม ส่วนอุบายในการปฏิบัติที่เนื่องด้วยกาย เนื่องด้วยวาจา ในหลักธรรมในแง่ต่าง ๆ นั้น ก็เพื่อเป็นผลสะท้อนถึงใจทั้งหมด ดังคำว่า ปุพฺพงฺคมาธมฺมา มโนเสฏฐา มโนมยา ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ นี้เป็นอุบายที่ชัดเจนมาก แต่ผู้ปฏิบัติเองจะตีความให้ถูกกับความหมายหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของบุคคล แต่ก็มีหลายท่านที่ตีความไปในความเห็นของตัวเอง ดังคำว่า สำเร็จแล้วด้วยใจ ก็เอาใจอย่างเดียวนั้นแหละ จะภาวนาแต่ละครั้งก็มุ่งหวังเอาแต่ใจอย่างเดียว เช่น ให้มีสติอยู่ที่ใจ ให้ใจมีความสงบ ให้ใจอยู่ในความว่างเปล่า ให้ใจอยู่ในความเป็นกลาง จะภาวนาแต่ละครั้งก็มุ่งหวังให้ใจมีความสงบแต่อย่างเดียว เพราะมีความเข้าใจว่า เมื่อใจมีความสงบเป็นสมาธิแล้วจะเกิดปัญญาขึ้นนั่นเอง หรือบางท่านเข้าใจว่า เมื่อใจมีความสงบเป็นสมาธิแล้ว กิเลส ตัณหา อวิชชา อาสวะน้อยใหญ่จะหมดไปจากใจ เมื่อมีความเห็นแตกต่างกันไปอย่างนี้ ก็ปล่อยให้เป็นไปตามยุคสมัยก็แล้วกัน

    การภาวนาปฏิบัติ กว่าจะเข้าถึงวิปัสสนาญาณได้นั้น ไม่ใช่เป็นของง่ายเลย เพราะวิปัสสนาญาณนั้นเป็นต้นทางของอริยมรรค เมื่อท่านผู้ใดทำให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นได้แล้ว เรียกว่า นิตยมรรค คือ เส้นทางที่ตรงและเป็นเส้นทางที่แน่นอน ไม่มีทางแยกอื่นใด ที่จะทำให้เกิดความลังเลสงสัย และไม่มีทางอื่นอันจะทำให้เกิดความหลง เพราะเส้นทางนี้จะตรงเข้าสู่พระนิพพานโดยตรง เมื่อวิปัสสนาญาณได้เกิดขึ้นกับท่านผู้ใดแล้ว ท่านผู้นั้นจะรู้ตัวทันทีว่า ปัญญาญาณของเราได้เกิดขึ้นแล้ว การภาวนาปฏิบัติก็ไม่ต้องไปหาถามใครอีกต่อไปว่าผิดหรือถูก เพราะตัวเองจะรู้ทั้งหมดแล้ว โอกาสที่จะไปถามผู้อื่นนั้นไม่มี เหมือนกับบัณฑิตสามเณรผู้เป็นลูกศิษย์ของพระสารีบุตร เมื่อเข้าไปบิณฑบาตกับอาจารย์ ไปเห็นชาวนาเอาน้ำเข้านา ก็ถามอาจารย์ว่าเขาทำอะไร อาจารย์บอกว่าเขากั้นดินเอาน้ำเข้านา เขาต้องการจะให้น้ำไหลไปทางไหน เขาก็กั้นดินเอาไว้ น้ำก็จะไหลไปในทางที่ต้องการ เมื่อสามเณรได้ฟังดังนั้น ก็ดำริพิจารณาว่า น้ำไม่มีหัวใจไหลไปตามธรรมชาติ และไหลไปในทางที่ต่ำอยู่ตลอดเวลา คนผู้มีปัญญาที่ฉลาดก็สามารถกั้นเอาน้ำไปใช้ประโยชน์ในการทำนาในพื้นที่สูงได้ โอปนยิโก สามเณรก็น้อมเอาชาวนากับน้ำที่ไหลไปนั้นเข้ามาหาตัวเองว่า ใจเราก็ชอบคิดไปในทางที่ต่ำอยู่เสมอ ถ้าปล่อยให้คิดไปอย่างนี้ก็ไม่มีประโยชน์กับตัวเราเลย มิหนำซ้ำ ยังจะเป็นโทษให้แก่เราผู้ปล่อยใจไปตามอารมณ์อย่างแน่นอน

    สามเณรเดินตามหลังอาจารย์ไปด้วย คิดพิจารณาไปด้วย ไปถึงอีกแห่งหนึ่งก็เห็นนายพรานเขากำลังดัดลูกศร ก็ได้ถามอาจารย์ว่า ท่านอาจารย์ครับ คนเหล่านั้นเขาทำอะไร อาจารย์ก็บอกว่า คนเหล่านั้นเป็นนายพราน เขากำลังดัดลูกศรให้ตรง สามเณรถามต่อไปว่า เขาดัดลูกศรให้มันตรงเพื่ออะไร อาจารย์ตอบว่า ถ้าลูกศรดัดให้ตรงแล้ว เขาก็จะเอาไปยิงสัตว์ และยิงถูกเป้าหมายตามที่เขาต้องการ ถ้าลูกศรไม่ตรง ถึงจะยิงสัตว์หรือยิงอะไรก็ตาม ก็จะไม่ถูกตามเป้าหมายนั้นเลย เมื่อสามเณรได้ฟังดังนั้น ก็ โอปนยิโก น้อมเข้ามาหาตัวเอง พิจารณาด้วยปัญญาทันที เกิดความฉลาดรอบรู้ขึ้นที่ใจ จึงได้พูดกับอาจารย์ว่า ท่านอาจารย์ครับ นิมนต์ท่านอาจารย์ไปบิณฑบาตองค์เดียวเถิด กระผมจะกลับวัด ถ้าท่านอาจารย์ได้อาหารขอได้เอามาฝากกระผมด้วย จากนั้น สามเณรก็กลับวัด แล้วขึ้นสู่บนกุฏิเข้าที่นั่งภาวนาอย่างกล้าหาญทีเดียว

    เมื่อท่านได้ฟังได้อ่านมาถึงจุดนี้แล้ว ท่านคิดว่าสามเณรจะนั่งภาวนาอย่างไร ต้องตอบว่า สามเณรคงรีบไปนั่งสมาธิภาวนาทำใจให้มีความสงบใช่ไหม รับรองว่าท่านต้องตอบอย่างนี้ด้วยกันทั้งนั้น เพราะ ขณะนี้ นักภาวนามักจะเข้าใจและทำกันจนเป็นนิสัย เพราะเข้าใจว่าการนั่งภาวนาก็คือ การนั่งทำความสงบในสมาธินั่นเอง ที่จริงแล้วสามเณรนั่งภาวนานั้น มิใช่นั่งสมาธิภาวนาตามความเข้าใจของเรา แต่นั่งเจริญวิปัสสนาภาวนาต่างหากเล่า นั่นคือ สามเณรได้ข้อมูลจากชาวนาที่กำลังเอาน้ำเข้านา และไปเห็นนายพรานกำลังดัดลูกศรที่จะไปยิงสัตว์ เมื่อนั่งได้ที่แล้วก็ โอปนยิโก น้อมเอาเรื่องของชาวนาเอาน้ำเข้านามาเป็นอุบาย และน้อมเอาเรื่องของนายพรานดัดลูกศรมาเป็นข้อมูลในการใช้ปัญญาพิจารณา เอาอุบายเหตุภายนอกเข้ามาประกอบเปรียบเทียบเหตุภายใน คือ กายและใจ ให้เป็นไปตามหลักความเป็นจริงที่เพียบพร้อมด้วยเหตุผล สามเณรพิจารณาในเรื่องนี้อย่างไร จะไม่เขียนไว้ให้อ่านหรอกนะ ขอให้เราได้ใช้ปัญญาของตัวเอง ถ้าเราพบเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น เราจะใช้ปัญญาพิจารณาเปรียบเทียบได้อย่างไร ให้ทดสอบดูปัญญาเราก็แล้วกัน

    ในช่วงนั้น สามเณรภาวนาอย่างหนักทีเดียว แต่ก็ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ฝ่ายพระสารีบุตรได้หางปลาตะเพียนและอาหารอย่างอื่น ๆ แล้ว ก็นึกถึงสามเณรว่า ขณะนี้สามเณรคงจะหิวอาหาร และนั่งรอเราอยู่ที่กุฏิแล้ว จึงรีบนำเอาอาหารไปให้สามเณร ขณะนั้น พระพุทธเจ้ามีพระญาณอันรอบรู้ในเรื่องของสามเณรนี้อยู่แล้ว พระองค์ทรงดำริว่า ถ้าเราไม่ไปกันพระสารีบุตรเอาไว้ก่อน พระสารีบุตรก็จะไปเรียกสามเณรมาฉันอาหารซึ่งจะไปทำลายวิถีจิตของสามเณรผู้กำลังจะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์นี้อย่างแน่นอน จากนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้มาปรากฏพระองค์อยู่ในเส้นทางของพระสารีบุตรที่กำลังเดินมา จากนั้น พระพุทธเจ้าก็มีอุบายธรรมต่าง ๆ สนทนากับพระสารีบุตรเพื่อถ่วงเวลาเอาไว้ เพราะขณะนี้สามเณรยังไม่ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เมื่อสามเณรบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว พระพุทธเจ้าก็ปล่อยให้พระสารีบุตรนำอาหารมาให้สามเณรทันที นี้เพียงอธิบายให้ลักษณะผู้จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ให้ท่านได้รู้เอาไว้

    ฉะนั้น อุบายของผู้จะบรรลุธรรมนั้นไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่เมื่อได้บรรลุธรรมแล้ว ความบริสุทธิ์จะเหมือนกันทั้งนั้น ถ้าท่านผู้ที่เคยอ่านตำราเกี่ยวกับปฏิปทา ๔ จะเข้าใจทันที นั่นคือ สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ทั้งสี่อย่างนี้มีอุบายธรรมแตกต่างกัน แต่ก็เป็นไปตามวาสนาบารมีของแต่ละท่านที่สร้างมาแล้วในอดีตชาตินั้นเอง ผู้จะบรรลุธรรมได้เร็วหรือผู้จะบรรลุธรรมได้ช้า อย่าไปถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะพระอรหันต์ท่านไม่มีนิสัยอย่างนี้ ไม่มีการโอ้อวดกันว่า ผู้บรรลุธรรมก่อนจะดีกว่าผู้ที่ได้บรรลุธรรมทีหลัง อย่างไรก็ขอให้ภาวนาให้ถึงที่สุดในชาตินี้ก็แล้วกัน เพราะความบริสุทธิ์ของพระอรหันต์นั้นเหมือนกันทั้งหมด ไม่ได้แบ่งแยกกันเป็นหมวดเป็นหมู่ในความบริสุทธิ์นี้เลย นับแต่พระพุทธเจ้าลงมาถึงพระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ผู้ถึงพร้อมด้วยจตุปฏิสัมภิทา พระอรหันต์ผู้มีฉฬภิญโญ พระอรหันต์ผู้มีเตวิชโช พระอรหันต์ผู้เป็นสุกขวิปัสสโก ทั้งหมดนี้มีความบริสุทธิ์เสมอภาคกัน ถึงพระนิพพานคือความดับทุกข์อย่างสนิทเหมือนกัน ฉะนั้น พระอรหันต์ที่อยู่รวมกันตั้งแต่สององค์ขึ้นไป ท่านไม่ได้ถามถึงจิตที่มีความบริสุทธิ์ต่อกันแต่อย่างใด อย่างมากก็ถามเพียงว่าได้อุบายใดเป็นหลักของวิปัสสนาญาณ หรือได้กำลังใจอย่างเต็มที่อยู่ที่ไหนไปทำนองนั้น ไม่ได้ถามซักไซ้กันถึงเรื่องความบริสุทธิ์แต่อย่างใด ที่ถามกัน ซักไซ้กันนั้น เป็นเรื่องของคนตาบอดคลำช้างนั่นเอง

    ดังนักปราชญ์กล่าวไว้ว่า คนตาบอดกลุ่มหนึ่งอวดตัวว่ารู้จักช้างดี เมื่อพบช้างต่างคนก็เข้าไปลูบคลำตัวช้าง แล้วพากันอ้างว่าตัวรู้จักช้างดีกว่าใคร ๆ คนไหนคลำถูกหางก็ว่าช้างเหมือนไม้กวาด คนไหนคลำถูกลำตัวช้างก็ว่าช้างเหมือนฝาเรือนไป คนไหนคลำถูกใบหูช้างก็ว่าช้างเหมือนกระจาดไป คนไหนคลำถูกขาก็ว่าเหมือนท่อไป ต่างคนก็ต่างคลำถูกคนละที่กัน ต่างคนต่างมีความมั่นใจในตัวเองว่าช้างต้องเป็นอย่างนี้แน่นอน ในที่สุดก็ไปนั่งถกเถียงกันใต้ต้นมะกอก เถียงกันไปเถียงกันมา ต่างคนก็ว่าตัวเองเป็นผู้ที่มีความเห็นถูกต้อง และบังคับให้คนอื่นเชื่อตามตัวเองทั้งหมด ต่างฝ่ายต่างไม่ลงรอยกัน ต่างก็ว่าข้อมูลเหตุผลของตัวเองถูกต้องกันทั้งนั้นในขณะนั้น มีลมพัดมา ลูกมะกอกซึ่งกำลังสุกอยู่พอดี เมื่อถูกลมพัดเพียงเบา ๆ ลูกมะกอกทั้งหลาย ก็หล่นลงมาถูกหัวกลุ่มคนตาบอดที่กำลังถกเถียงกันอยู่อย่างจัง เหล่าคนตาบอดต่างก็เข้าใจผิด คิดว่าเพื่อนตีหัวตัวเอง ต่างก็ลุกขึ้นพากันขว้างหมัดออกไป และร้องว่าใครตีหัวกู ๆ ในที่สุดหมู่คนตาบอดก็ทะเลาะตบตีกันเอง นี้ฉันใด นักปฏิบัติที่ไม่ค่อยลงรอยกัน เนื่องจากทิฏฐิของตนเป็นเหตุ ใครศึกษามาอย่างไร ก็ชอบเชื่อกันอย่างนั้นว่าถูกต้องแล้ว หรือได้ฟังจากครูอาจารย์ที่สอนมาอย่างไรก็เชื่อกันไปอย่างนั้น ถ้าศึกษาจากหนังสือคนละเล่ม ความเห็นก็จะไปคนละอย่าง หรือได้ฟังจากครูอาจารย์ที่ท่านสอนแนวทางปฏิบัติที่ต่างกันไป ความเข้าใจความคิดเห็นก็ย่อมจะไม่ตรงกันเป็นธรรมดา หลักอุบายภาวนาปฏิบัติก็มีอุบายต่างกัน ใคร ๆ ก็ว่าหนังสือเรามีข้อมูลที่ถูกต้องด้วยกันทั้งนั้น หรืออาจารย์เราสอนแนวทางปฏิบัติที่ตรงต่อมรรคผลนิพพานที่สุด ถ้าเป็นลักษณะอย่างนี้ก็ไม่แตกต่างกันกับหมู่คนตาบอดที่ลูบคลำช้างนั่นเอง แต่ถ้าเป็นผู้ตาดีมีความรอบรู้ในเหตุผลทั้งหมดแล้ว เขาจะไม่เข้าร่วมวงถกเถียงกับคนกลุ่มตาบอดนี้เลย

    ที่จริงประวัติของพระอริยเจ้าทั้งหลายในครั้งพุทธกาล ในพระสูตรต่าง ๆ ได้อธิบายไว้แล้วอย่างชัดเจนว่า ท่านองค์นั้น ๆ แต่ก่อนท่านก็เป็นปุถุชนธรรมดาเหมือนคนทั่วไป ก่อนที่ท่านเหล่านั้นจะกลายเป็นพระอริยเจ้าได้นั้น จุดเริ่มต้นท่านปฏิบัติกันมาอย่างไร ถ้าเราได้ศึกษาด้วยเหตุผลที่ถูกต้องตามแนวทางของพระอริยเจ้าแล้ว เราก็จะเข้าใจในแนวทางเริ่มต้นในหลักภาวนาปฏิบัติได้เป็นอย่างดี จะไม่มีปัญหาในการภาวนาปฏิบัติแต่อย่างใด ในชาตินี้อาจจะพบกระแสธรรมได้อย่างแน่นอน หรืออย่างน้อยเมื่อเรายังไม่พร้อมในชาตินี้ แต่เรามีแนวทางที่ปฏิบัติตรงอยู่แล้ว ก็จะเป็นนิสัยเป็นปัจจัยในตัวเรา ไม่มีการสูญหายไปไหน เมื่อได้เวลาที่พระพุทธเจ้าองค์ใดบังเกิดขึ้นในโลกนี้แล้ว เราอาจจะได้มาเกิดในสมัยพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น และเราก็จะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าหรือพระอริยเจ้าอย่างแน่นอน คำสอนของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์จะเหมือนกันทั้งหมด นั่นคือ อริยสัจ ๔ มี ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เหมือนกัน เมื่อฐานของการปฏิบัติที่เราเคยอบรมมาแล้วจนเป็นนิสัยติดตัวมา พอได้ยินในคำว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เท่านั้น ก็จะเป็นพุทโธ มีความรู้เห็นเป็นไปในหลักสัจธรรมทันที

    ไม่ว่าเราจะได้ไปเกิดในที่แห่งใดในสมัยนั้น พระพุทธเจ้าก็จะทรงรู้ได้ด้วยพระญาณของพระองค์เองว่า เรามีวาสนาบารมี มีอินทรีย์แก่กล้าพอจะได้พบกระแสธรรมแล้ว พระองค์ก็จะเสด็จไปโปรดเราทันที และเราก็จะได้สิ้นสุดของภพชาติที่จะเกิดตายเวียนว่ายในวัฏจักร แทนที่จะต้องเทียวเกิดตายในวัฏสงสารไปอีกนานไม่มีที่กำหนด ฉะนั้น ขอให้พวกเราได้วางแนวทางการภาวนาปฏิบัติให้ถูกต้องเอาไว้ ไม่เช่นนั้น จะเป็นผู้เล็ดลอดจากพระญาณของพระพุทธเจ้าไปอย่างน่าเสียดาย ดังที่เราได้เล็ดลอดจากพระญาณของพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ มาแล้ว เราจึงได้ตกค้างมาเกิดตายอยู่ในวัฏสงสารนี้มาจนถึงปัจจุบัน เมื่อมาถึงยุคที่มีพระพุทธศาสนานี้อยู่ หากเราทำตัวเป็นผู้ประมาทในชีวิต ไม่ได้สนใจการบำเพ็ญกุศลให้แก่ตน ในชาติหน้าก็จะเป็นผู้ห่างจากพระพุทธศาสนาไปไกลมากทีเดียว จะกลายเป็น ตโมตะมะปรายะโน มืดมาแล้วก็มืดไป ไม่ได้พบแสงสว่างในทางธรรมแต่อย่างใด และจะกลายเป็น ปทะปรมะ อยู่นอกข่ายพระญาณของพระพุทธเจ้าจะโปรดเราได้ เพราะไม่มีนิสัยปัจจัยในการสร้างคุณงามความดีเอาไว้เลย


    www.dharma-gateway.com
     

แชร์หน้านี้

Loading...