น้ำแบบไหน คือ “น้ำปานะ”

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย เฮียปอ ตำมะลัง, 29 สิงหาคม 2013.

  1. เฮียปอ ตำมะลัง

    เฮียปอ ตำมะลัง ทุกสิ่งจบสิ้นลงด้วยความตาย วุ่นวายทำไม ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 มีนาคม 2007
    โพสต์:
    24,969
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +91,129
    น้ำแบบไหน คือ “น้ำปานะ”
    โดย...พระมหาอดิเดช สติวโร (สุขวัฒนวดี)
    วัดเกตุมดีศรีวราราม ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

    [​IMG]

    ทุกวันนี้มีเครื่องดื่มมากมายหลายชนิดในท้องตลาด ทั้งที่เป็นชนิดกล่อง กระป๋อง ขวด หรือแม้กระทั่งชนิดบรรจุลงถุงอย่างดี น้ำดื่มดังกล่าวก็มีทั้งที่เป็นน้ำผลไม้แท้ ๑๐๐% น้ำผลไม้ที่มีทั้งน้ำและเนื้อปนกัน นมสด นมถั่วเหลือง น้ำนมข้าว เครื่องดื่มบำรุงกำลัง และกาแฟ เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เป็นของชั้นดีมีคุณภาพควรแก่การบริโภคทั้งนั้น หากผู้บริโภคเป็นฆราวาสผู้อยู่ครองเรือนจะดื่มเพื่อดับกระหาย หรือเสริมสร้างบำรุงกำลังด้วยเครื่องดื่มดังกล่าว ย่อมเป็นสิ่งที่สมควรโดยแท้ แต่หาก เหล่าพระภิกษุ สามเณร หรือผู้รักษาศีลอุโบสถ จะฉันหรือดื่มเครื่องดื่มดังกล่าว ต้องมีการพิจารณาที่ละเอียดลึกซึ้งตามหลักพระวินัยว่า เครื่องดื่มเหล่านั้นเป็น “น้ำปานะ” หรือไม่

    คำว่า “ปานะ” แปลว่า เครื่องดื่ม หรือน้ำสำหรับดื่มที่คั้นจากผลไม้ ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ ๘ ชนิด หรือที่เรียกว่า น้ำอัฏฐบาน ได้แก่ น้ำมะม่วง, น้ำชมพู่หรือน้ำหว้า, น้ำกล้วยมีเมล็ด, น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด, น้ำมะซางต้องเจือด้วยน้ำจึงจะควร, น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น, น้ำเหง้าบัว และน้ำมะปรางหรือลิ้นจี่ หากเทียบเคียงกับปัจจุบันก็น่าจะหมายถึง บรรดาน้ำผลไม้ทั่วไปนั่นเอง

    วิธีทำน้ำปานะที่ท่านแนะไว้ คือปอกหรือคว้านผลไม้เหล่านี้ที่สุก เอาผ้าขาวบางห่อแล้วบิดให้ตึง อัดเนื้อผลไม้ให้คายน้ำออกจากผ้า อย่าให้มีกาก จากนั้นเติมน้ำลงไปให้พอดี แล้วผสมกับน้ำตาลและเกลือ เป็นต้น เพื่อให้ได้รสที่ดีขึ้น แต่น้ำปานะดังกล่าวก็มีข้อจำกัดที่จะพึงทราบคือ ปานะนี้ให้สุกด้วยแสงแดดเท่านั้น ห้ามให้สุกด้วยไฟ และน้ำปานะจัดเป็น ยามกาลิก จึงควรเก็บไว้ฉันได้ตลอด ๑ วัน กับ ๑ คืนเท่านั้น เมื่อขึ้นอรุณของวันใหม่แล้วเป็นอันฉันไม่ได้

    เมื่อทราบถึงวิธีการทำน้ำปานะแล้ว ยังต้องทำความเข้าใจถึง วัตถุดิบที่จะนำมาทำน้ำปานะ ด้วย ว่าเป็นของที่สมควรหรือไม่สมควร เพื่อเป็นการป้องกันการล่วงละเมิดพระบัญญัติ ดังต่อไปนี้

    ๑. น้ำปานะที่ไม่สมควรตามหลักพระวินัย ได้แก่ น้ำแห่งธัญชาติ (ข้าว) ๗ ชนิด คือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง ลูกเดือย และหญ้ากับแก้

    น้ำแห่งมหาผล (ผลไม้ใหญ่) ๙ ชนิด คือ ผลตาล มะพร้าว ขนุน สาเก น้ำเต้า ฟักเขียว แตงไทย แตงโม และฟักทอง

    น้ำแห่งอปรัณณชาติ ได้แก่ ถั่วชนิดต่างๆ มีถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วดำ และงา เป็นต้น แม้จะต้มจะกรอง ทำเป็นเครื่องดื่มชนิดต่างๆ เช่น น้ำนมถั่วเหลืองชนิดกล่อง หรือชนิดขวดที่วางขายตามท้องตลาด และน้ำนมข้าว เป็นต้น จัดเป็นน้ำปานะที่ไม่สมควรทั้งนั้น

    ๒. น้ำปานะที่สมควรตามหลักพระวินัย ได้แก่ น้ำปานะ ๘ ชนิดข้างต้น และน้ำปานะแห่งผลไม้เล็ก เช่น ลูกหวาย มะขาม มะงั่ว มะขวิด สะคร้อ และเล็บเหยี่ยว เป็นต้น เมื่อพิจารณาตามนี้จะพบว่า น้ำผลไม้ชนิดไม่มีเนื้อปนที่วางขายอยู่โดยส่วนใหญ่ จัดเป็นน้ำปานะที่สมควร

    อย่างไรก็ดี ที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ เห็นจะเป็นเรื่องราวของ “น้ำนม” เนื่องจากมีสิกขาบทหนึ่ง ระบุว่า น้ำนมเป็นโภชนะอันประณีต ไม่ควรดื่มในเวลาวิกาล แต่ในเรื่องนี้ก็ยังมีข้อความจากพระไตรปิฎกที่ขัดแย้งกันอยู่ ๒ แห่งด้วยกัน กล่าวคือ ใน พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ ขุททกนิกาย มหานิเทส ได้ระบุว่า “ปโยปานํ” หรือน้ำนม จัดเป็นน้ำปานะ และใน พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ ว่าด้วยเรื่องเสขิยกัณฑ์ ได้กล่าวถึง พราหมณ์คนหนึ่งปรุงน้ำนมถวายสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายได้รับน้ำนมมาแล้วก็ดื่มน้ำนมทำเสียงดังซู้ดๆ จึงเป็นที่มาของสิกขาบทที่พระพุทธองค์ทรงห้ามพระภิกษุไม่ให้ฉันทำเสียงดังซู้ดๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ อาจทำให้เกิดการสับสนขึ้นได้ว่า “น้ำนม” หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำนม ควรหรือไม่ควรกันแน่

    [​IMG]

    ในปัจจุบันวัดหรือสำนักปฏิบัติธรรมบางแห่งก็อนุญาตให้ดื่มน้ำนมได้ ส่วนบางแห่งก็ไม่อนุญาตให้ดื่ม ในเรื่องนี้ แม้แต่ในพระไตรปิฎกก็ยังมีข้อความที่ก่อให้เกิดความสับสนทางความคิด เมื่อเป็นเช่นนี้จึงขอทำการแบ่งประเภทของน้ำปานะออกเป็น ๓ ระดับขั้น โดยพิจารณาจากเครื่องดื่มที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นเกณฑ์การตัดสิน ดังนี้

    ๑. ขั้นหยาบ ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีเนื้อปน เช่น น้ำเฉาก๊วย เครื่องดื่มธัญญาหารสำเร็จรูปต่างๆ น้ำผลไม้ที่มีเนื้อปน แม้แต่น้ำนมถั่วเหลืองก็ดื่มไม่ได้


    ๒. ขั้นกลาง ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีเนื้อปน เช่น น้ำผลไม้แท้ ๑๐๐% ชนิดที่ไม่มีเนื้อปน น้ำหวาน น้ำอัดลม กาแฟผสมครีมเทียม และน้ำนม เนื่องจากน้ำนมก็ได้รับการอนุญาตไว้ตามพระไตรปิฎกข้างต้น ท่านใดเห็นว่าควรดื่ม ก็ไม่ควรไปตำหนิเขา ส่วนท่านใดเห็นว่าไม่ควรดื่ม ก็งดเว้นเสีย


    ๓. ขั้นละเอียด ได้แก่ น้ำปานะที่ทรงอนุญาตไว้ ๘ อย่าง น้ำผลไม้แท้ ๑๐๐% กาแฟชนิดที่ไม่มีครีมเทียมอันเป็นส่วนผสมของน้ำนม

    เมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์ทั้ง ๓ ข้างต้น ก็คงพอจะกำหนดได้ถึงความเหมาะสมของเครื่องดื่มแต่ละประเภท แต่หากพิจารณาถึงคุณค่าที่แท้จริงของการดื่มน้ำปานะแล้ว จะพบว่า การดื่มน้ำปานะก็เพื่อบรรเทาความหิวกระหาย และการดับธาตุไฟที่เผาผลาญอาหารอยู่ภายในร่างกาย เพื่อให้ผู้ปฏิบัติมีกำลังในการเจริญสมณธรรม ไม่ถูกความหิวบีบคั้นจนกระสับกระส่ายเกินไปในการปฏิบัติธรรม

    นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาถึงเจตนาที่แท้จริงของผู้ถวายที่เป็นทายก ทายิกา มีความต้องการที่ช่วยเหลือส่งเสริมเหล่านักปฏิบัติ เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปในช่วงขณะหนึ่งเท่านั้น หาใช่ต้องการให้ดื่มจนอิ่มหนำอันเป็นที่มาแห่งความกำหนัดไม่ สำหรับฆราวาสผู้มุ่งหวังบุญกุศลในการใส่บาตรถวายเครื่องดื่มในปัจจุบัน ควรพิจารณาถึงความเหมาะสมของเครื่องดื่มดังกล่าว โดยใช้เกณฑ์การตัดสินข้างต้นเป็นหลักสำคัญ กล่าวคือ เครื่องดื่มที่จัดอยู่ในขั้นหยาบไม่ควรถวายเลยจะดีที่สุด แต่ควรถวายเฉพาะเครื่องดื่มที่จัดอยู่ในขั้นกลาง และขั้นละเอียดเท่านั้น เมื่อถวายแล้วก็ควรทำใจให้เป็นกุศลในบุญที่ได้ทำไว้ ส่วนนักปฏิบัติก็ควรดื่มพร้อมทั้งพิจารณาถึงคุณค่าและเจตนาที่แท้จริงของผู้ถวายด้วย

    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องดื่มในปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงไปมากจากครั้งอดีตกาล หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า เครื่องดื่มเกือบทุกประเภทจะต้องผ่านการพาสเจอร์ไรส์ (Pasteurization) ซึ่งเป็นกระบวนการถนอมอาหารโดยใช้ความร้อนในอุณหภูมิที่สูง เพื่อยืดอายุการเก็บอาหาร และทำให้อาหารปลอดภัยควรแก่การบริโภค

    เมื่อเป็นเช่นนี้ เครื่องดื่มเหล่านั้นก็ชื่อว่าได้รับการหุงด้วยไฟ ไม่ใช่เป็นของที่ให้สุกด้วยแสงแดดตามพระบัญญัติ ครั้นจะบอกว่า เครื่องดื่มเหล่านั้นไม่ควรดื่ม เนื่องจากได้รับการหุงด้วยไฟ แต่ก็เป็นกรรมวิธีที่มีความปลอดภัยสูงและเหมาะสมแก่การบริโภคด้วย จึงเป็นการตัดสินที่ยากเป็นอย่างยิ่ง

    ดังนั้น เมื่อจะเลือกเครื่องดื่มใด ก็ควรพิจารณาตามความเหมาะสมของยุคสมัยด้วย แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดการติเตียนขึ้นในภายหลัง จึงจะถือได้ว่า เครื่องดื่มนั้นมีความเหมาะสมและควรค่าแก่ความเป็นน้ำปานะ


    จากนิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 147 มีนาคม 2556
    โดย พระมหาอดิเดช สติวโร (สุขวัฒนวดี)
    วัดเกตุมดีศรีวราราม ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
    ASTVผู้จัดการออนไลน์ 5 มีนาคม 2556 09:14 น.


    หมายเหตุ : เครื่องดื่มที่เหล่าพระภิกษุ สามเณร หรือผู้รักษาศีลอุโบสถ
    จะฉันหรือจะดื่มหลังเที่ยงไปแล้วได้ ก็คือ “น้ำปานะ” เท่านั้น

    .....................................................



    แสดงกระทู้ - น้ำแบบไหน คือ “น้ำปานะ” : พระมหาอดิเดช สติวโร • ลานธรรมจักร


    .
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 29 สิงหาคม 2013
  2. rattanaphan

    rattanaphan คุณเข้ม สหายแห่งธนนม

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    103
    ค่าพลัง:
    +386
    พระไตรปิฎกฉบับหลวงของไทย มีความถูกต้องเชื่อถือได้โดยรวมแล้ว 100%
    พระธรรมคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จะไม่มีวันขัดแย้งกันโดยเด็ดขาด เพราะคือพระสัจธรรม

    น้ำปานะ การทำปานะก็ดีมีหลายประเภทหลายอย่าง บางอย่างก็ทานไม่ได้ยามวิกาลคือหลังเที่ยงถึงเช้าวันใหม่

    จากบทความ พราหมณ์คนหนึ่งปรุงน้ำนมถวายสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายได้รับน้ำนมมาแล้วก็ดื่มน้ำนมทำเสียงดังซู้ดๆ จึงเป็นที่มาของสิกขาบทที่พระพุทธองค์ทรงห้ามพระภิกษุไม่ให้ฉันทำเสียงดังซู้ดๆ พระไตรปิฎกไม่ได้ระบุก่อนกาลหรือยามวิกาล แต่อย่างไรก็ตามนมเป็นอาหาร ทานยามวิกาลคือหลังเที่ยงถึงเช้าวันใหม่ไม่ได้ ผิดพระวินัยหรือคนที่รักษาศีล 8 ศีลก็ขาดทันที

    น้ำปานะและสิ่งที่ทานได้และไม่ได้หลังเที่ยง(วิกาล)
    สำหรับผู้รักษาศีลแปดและศีลอุโบสถ

    1. สิ่งที่ทานได้
    1.1 น้ำปานะ คือน้ำผลไม้ไม่ใหญ่กว่าผลมะตูมหรือมหาผล คั้นแล้วกรองแล้วได้แก่ น้ำมะม่วง, น้ำผลหว้า, น้ำผลกล้วยมีเมล็ด, น้ำผลกล้วยไม่มีเมล็ด, น้ำผลมะซาง, น้ำผลจันทน์หรือองุ่น, น้ำเง่าบัว, น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่ และน้ำผลไม้ที่ไม่ใหญ่กว่าผลมะตูม เช่น ลำใย, เบอร์รี่, แอปเปิ้ล, สาลี่, กาแฟ เป็นต้น
    1.2 กาแฟดำ (ไม่ใส่นมหรือครีม)
    1.3 น้ำอ้อยสด
    1.4 น้ำดอกไม้ทุกชนิด ยกเว้น ดอกมะซาง
    1.5 น้ำใบไม้ทุกชนิด ยกเว้น น้ำผักดอง
    1.6 น้ำหวานหรือน้ำอัดลมทุกชนิด ที่ไม่มี *ส่วนผสมหลักของสิ่งที่ทานไม่ได้ (ดูหัวข้อสิ่งที่ทานไม่ได้)
    1.7 ลูกอม ที่ไม่มี *ส่วนผสมหลักของสิ่งที่ทานไม่ได้ (ดูหัวข้อสิ่งที่ทานไม่ได้)
    1.8 งบน้ำอ้อย

    *การแต่งกลิ่นและรส แต่ไม่ได้เป็นส่วนผสมหลักที่รับประทาน เช่น น้ำชาเขียวกลิ่นข้าวญี่ปุ่น, ลูกอมรสแคนตาลูป สามารถทานได้ (ดูอ้างอิง เรื่องพระพุทธานุญาตงบน้ำอ้อย)

    2. สิ่งที่ทานได้เมื่อมีเหตุ (ไม่มีเหตุ ทานไม่ได้) เช่น ป่วยไม่สบาย, เป็นโรคต่างๆ เป็นต้น
    2.1 เภสัช 5 คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย (ยกเว้นน้ำอ้อยทานได้ในกาลและนอกกาล)

    2.2 ผลเภสัช คือ ลูกพิลังกาสา ดีปรี พริก สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม


    3. สิ่งที่ทานไม่ได้
    3.1 อาหารต่างๆ อทิ นม ข้าว ถั่ว แป้ง เนื้อสัตว์ ขนม ผักและผลไม้ ทุกชนิด
    3.2 น้ำมหาผล ได้แก่ ผลตาล ๑ ผลมะพร้าว ๑ ผลขนุน ๑ ผลสาเก ๑ น้ำเต้า ๑ ฟักเขียว ๑ แตงไท ๑ แตงโม ๑ ฟักทอง ๑ และผลไม้ที่ลูกใหญ่กว่าลูกมะตูม เช่น ผลสับปะรด, ผลแคนตาลูป, ผลโกโก้ (เครื่องดื่มทุกชนิดที่ทำมาจากโกโก้ เช่น โอวัลติน, ไมโล) เป็นต้น
    3.3 อปรัณณชาติทุกชนิด ได้แก่ ถั่ว งา ผักต่างๆ รวมถึงน้ำที่คั้นด้วย เช่น น้ำนมถั่วเหลือง, น้ำเต้าหู้, น้ำผักต่างๆ เป็นต้น
    3.4 ธัญญชาติ ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง ลูกเดือยและหญ้ากับแก้ รวมถึงน้ำที่คั้นด้วย เช่น น้ำข้าว, น้ำลูกเดือย เป็นต้น



    อ้างอิงจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล 91 เล่ม มหามกุฎราชวิทยาลัย

    พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 152
    พระพุทธานุญาติน้ำอัฏฐบาน
    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตน้ำปานะ ๘ ชนิดคือ
    น้ำปานะทำด้วยผลมะม่วง ๑
    น้ำปานะทำด้วยผลหว้า ๑
    น้ำปานะทำด้วยผลกล้วยมีเมล็ด ๑
    น้ำปานะทำด้วยผลกล้วยไม่มีเมล็ด ๑
    น้ำปานะทำด้วยผลมะซาง ๑
    น้ำปานะทำด้วยผลจันทน์หรือองุ่น ๑
    น้ำปานะทำด้วยเง่าบัว ๑
    น้ำปานะทำด้วยผลมะปรางหรือลิ้นจี่ ๑
    ก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด เว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก.
    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำใบไม้ทุกชนิด เว้นน้ำผักดอง.
    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำดอกไม้ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะซาง.
    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำอ้อยสด.

    พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 189-190
    เป็นอันห้ามแล้วว่า ไม่ควรในปัจฉาภัต.(เวลาเช้าถึงเที่ยง)
    มหาผล ๙ อย่าง คือ
    ผลตาล ๑
    ผลมะพร้าว ๑
    ผลขนุน ๑
    ผลสาเก ๑
    น้ำเต้า ๑
    ฟักเขียว ๑
    แตงไท ๑
    แตงโม ๑
    ฟักทอง ๑
    เป็นอันทรงห้ามและอปรัณณชาติทุกชนิด (ถั่ว, งา, ผัก)
    มีคติอย่างธัญญชาติ (ข้าวสาลี ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง ลูกเดือยและหญ้ากับแก้ เหมือนกัน มหาผลและอปรัณณชาตินั้น ไม่ได้ทรงห้ามไว้ก็จริง ถึงกระนั้นย่อมเข้ากับสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ; เพราะเหตุนั้น จึงไม่ควรในปัจฉาภัต.

    น้ำปานะ ๘ อย่าง ทรงอนุญาตไว้ น้ำปานะแห่งผลไม้เล็กมี หวาย มะชาม มะงั่ว มะขวิด สะคร้อ และเล็บเหยี่ยว เป็นต้น มีคติอย่างอฏัฐบานแท้ น้ำปานะแห่งผลไม้เหล่านั้น ไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ก็จริง. ถึงกระนั้น ย่อมเข้ากับสิ่งที่เป็นกัปปิยะ; เพราะฉะนั้น จึงควรในกุรุนทีแก้ว่า จริงอยู่ เว้นรสแห่งเมล็ดข้าวกับทั้งสิ่งที่อนุโลมเสียแล้ว ขึ้นชื่อว่าน้ำผลไม้อื่น ที่ไม่ควร ย่อมไม่มี น้ำผลไม้ทุกชนิดเป็นยามกาลิกแท้.

    พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 58-60
    พระพุทธานุญาตเภสัช ๕ ในกาล
    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับในที่สงัดทรงหลีกเร้นอยู่ได้มีพระปริวิตกแห่งพระทัยเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เดี๋ยวนี้ภิกษุทั้งหลายอันอาพาธซึ่งเกิดชุมในฤดูสารท ถูกต้องแล้ว ยาคูที่ดื่มเข้าไปก็พุ่งออก แม้ข้าวสวยที่ฉันแล้วก็พุ่งออก เพราะอาพาธนั้น พวกเธอจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ดี มีผิวเหลืองขึ้น ๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น เราจะพึงอนุญาตอะไรหนอ เป็นเภสัชแก่ภิกษุทั้งหลาย ซึ่งเป็นเภสัชอยู่ในตัว และเขาสมมติว่าเป็นเภสัช ทั้งจะพึงสำเร็จประโยชน์ในอาหารกิจแก่สัตว์โลก และจะไม่พึงปรากฏเป็นอาหาหยาบ ทีนั้นพระองค์ได้มีพระปริวิตกสืบต่อไปว่า เภสัช ๕ นี้แล คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยเป็นเภสัชอยู่ในตัวและเขาสมมติว่าเป็นเภสัชทั้งสำเร็จประโยชน์ในอาหารกิจแก่สัตว์โลกและไม่ปรากฏเป็นอาหารหยาบผิฉะนั้น
    เราพึงอนุญาตเภสัช ๕ นี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ให้รับประเคนในกาลแล้วบริโภคในกาล ครั้นเวลาสายัณห์พระองค์เสด็จออกจากที่หลีกเร้น ทรงทำธรรมีกถา ในเหตุเพราะเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ณ ตำบลนี้ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เดี๋ยวนี้ภิกษุทั้งหลายอันอาพาธซึ่งเกิดชุมในฤดูสารทถูกต้องแล้ว ยาคูที่ดื่มเข้าไปก็พุ่งออก แม้ข้าวสวยที่ฉันแล้วก็พุ่งออก เพราะอาพาธนั้น พวกเธอจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ดีมีผิวเหลืองขึ้น ๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น
    เราจะพึงอนุญาตอะไรหนอ เป็นเภสัชแก่ภิกษุทั้งหลาย ซึ่งเป็นเภสัชอยู่ในตัวและเขาสมมติว่าเป็นเภสัช ทั้งจะพึงสำเร็จประโยชน์ในอาหารกิจแก่สัตว์โลก และไม่ปรากฏเป็นอาหารหยาบดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความปริวิตกสืบต่อไปว่า เภสัช ๕ นี้แล เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นเภสัชอยู่ในตัว และเขาสมมติว่าเป็นเภสัชทั้งสำเร็จประโยชน์ในอาหารกิจแก่สัตว์โลก และไม่ปรากฏเป็น อาหารหยาบ ผิฉะนั้น เราพึงอนุญาตเภสัช ๕ นี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ให้รับประเคนในกาลแล้วบริโภคในกาล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับประเคนเภสัช ๕ นั้นในกาล แล้วบริโภคในกาล.

    พระพุทธานุญาติเภสัช ๕ นอกกาล
    ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายรับประเคนเภสัช ๕ นั้น ในกาลแล้วบริโภคในกาล โภชนาหารของพวกเธอชนิดธรรมดา ชนิดเลว ไม่ย่อย ไม่จำต้องกล่าวถึงโภชนาหารที่ดี พวกเธออันอาพาธซึ่งเกิดชุมในฤดูสารทนั้นและอันความเบื้อภัตตาหารนี้ถูกต้องแล้ว เพราะเหตุ ๒ ประการนั้น ยิ่งเป็นผู้ซูบผอมเศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ดี มีผิวเหลืองขึ้น ๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็นมากขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้นซึ่งซูบผอมเศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ดี มีผิวพรรณเหลืองขึ้น ๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็นมากขึ้น
    ครั้นแล้ว จึงตรัสเรียกท่านพระอานนท์ มารับสั่งถามว่า ดูก่อนอานนท์ทำไมหนอ เดี๋ยวนี้พระภิกษุ ทั้งหลายยิ่งซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ดีมีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็นมากขึ้น. ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า เดี๋ยวนี้ภิกษุทั้งหลายรับประเคนเภสัช ๕ นั้นในกาลแล้วบริโภคในกาล โภชนาหารของพวกเธอชนิดธรรมดา ชนิดเลว ไม่ย่อย ไม่จำต้องกล่าวถึงโภชนาหารที่ดี
    พวกเธออันอาพาธซึ่งเกิดในฤดูสารทนั้น และอันความเบื่อภัตตาหารนี้ถูกต้องแล้ว เพราะเหตุ ๒ ประการนั้น ยิ่งเป็นผู้ซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ดี มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็นมากขึ้น.
    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับ สั่งว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับประเคนเภสัช ๕ นั้น แล้วบริโภคได้ทั้งให้กาลทั้งนอกกาล.

    พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 1052
    ที่ชื่อว่าทรงอนุญาตเฉพาะเภสัช ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้งและน้ำอ้อย ที่สามารถแผ่ไปเพื่อสำเร็จอาหารกิจ ซึ่งทรงอนุญาตไว้ โดยชื่อแห่งเภสัชอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเภสัช ๕ เภสัช ๕ เหล่านั้น ภิกษุรับประเคนแล้ว
    พึงบริโภคได้ตามสบายในปุเรภัตในวันนั้น, ตั้งแต่ปัจฉาภัต(หลังเที่ยง)ไป เมื่อมีเหตุ พึงบริโภคได้ตลอด ๗ วัน โดยนัยดังกล่าวแล้ว

    [อธิบายบทภาชนีย์และอนาปัตติวาร]
    ข้อว่า สตฺตาหาติกฺกนฺเต อติกฺกนฺตสญฺี นิสฺสคฺคิย ปาจิตฺติย มีความว่า แม้ถ้าว่า เภสัชนั้นมีประมาณเท่าเมล็คพันธุ์ผักกาด พอจะเอานิ้วแตะแล้วลมด้วยลิ้นคราวเดียว อันภิกษุจำต้องเสียสละแท้ และพึงแสดงอาบัติปาจิตตีย์เสีย.

    พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 63-64
    พระพุทธานุญาตผลเภสัช
    [๓๑] ก็โดยสมัยนั่นแล ภิกษุทั้งหลายที่อาพาธมีความต้องการด้วยผลไม้เป็นเภสัช จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ๆ ตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผลไม้ที่เป็นเภสัช คือ
    ลูกพิลังกาสา ดีปรี พริก สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม ผลแห่งโกฐ
    ก็หรือผลเภสัชแม้ชนิดอื่นใดบรรดามี ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรเคี้ยวในของควรเคี้ยว ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรบริโภคในของควรบริโภค รับประเคนผลเภสัชเหล่านั้นแล้ว เก็บไว้ได้จนตลอดชีพ ต่อมีเหตุ จึงให้บริโภคได้เมื่อเหตุไม่มี ภิกษุบริโภค ต้องอาบัติทุกกฏ.

    พระพุทธานุญาตโลณเภสัช
    ก็โดยสมัยนั้นแล. ภิกษุทั้งหลายที่อาพาธมีความต้องการด้วยเกลือเป็นเภสัช จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเกลือที่เป็นเภสัช คือ
    เกลือสมุทร เกลือดำ เกลือสินเธาว์ เกลือดินโป่ง เกลือหุง ก็หรือโลณเภสัช(เกลือที่เป็นยา)ชนิดอื่นใดบรรดามี
    ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรเคี้ยวในของควรเคี้ยว ที่ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ของควรบริโภคในของควรบริโภค รับ ประเคนโลณเภสัชเหล่านั้น แล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ ต่อมีเหตุ จึงให้บริโภคได้ เมื่อเหตุไม่มีภิกษุบริโภค ต้องอาบัติทุกกฏ.

    พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 81
    พระพุทธานุญาตงบน้ำอ้อย
    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระนครสาวัตถีตามพระพุทธาภิรย์แล้วเสด็จพุทธดำเนินไปทางพระนครราชคฤห์ท่านพระกังขาเรวตะได้แวะเข้าโรงทำงบน้ำอ้อย ในระหว่างทาง เห็นเขาผสมแป้งบ้าง เถ้าบ้างลงในงบน้ำอ้อย จึงรังเกียจว่า งบน้ำอ้อยเจืออามิส เป็นอกัปปิยะ ไม่ควรจะฉันในเวลาวิกาล ดังนี้ จึงพร้อมด้วยบริษัทไม่ฉันงบน้ำอ้อย แม้พวกภิกษุที่เชื่อฟังคำท่านก็พลอยไม่ฉันงบน้ำอ้อยไปด้วย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
    พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายคนทั้งหลายผสมแป้งบ้าง เถ้าบ้าง ลงในงบน้ำอ้อย เพื่อประสงค์อะไร ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เพื่อประสงค์ให้เกาะกันแน่น พระพุทธเจ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าคนทั้งหลายผสมแป้งบ้าง เถ้าบ้าง ลงในงบน้ำอ้อย เพื่อประสงค์ให้
    เกาะกันแน่นงบน้ำอ้อยนั้นก็ยังถึงความนับว่า งบน้ำอ้อยนั้นแหละ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันงบน้ำอ้อยตามสบาย.

    พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 112
    พระพุทธานุญาตงบน้ำอ้อย
    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จพระพุทธดำเนินผ่านระยะทางโดยลำดับ เสด็จถึงพระนครราชคฤห์แล้ว ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์นั้น ครั้งนั้น ในพระนครราชคฤห์มีงบน้ำอ้อยมาก ภิกษุทั้งหลายรังเกียจว่า ผู้ไม่อาพาธ จึงไม่ฉันงบน้ำอ้อย แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตงบน้ำอ้อยแก่ภิกษุผู้อาพาธและงบน้ำอ้อยละลายน้ำแก่ภิกษุผู้ไม่อาพาธ.
     
  3. ติงติง

    ติงติง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    38,275
    ค่าพลัง:
    +82,733
    ขอบคุณสำหรับกระทู้นี้ค่ะ มีประโยชน์มาก
     
  4. DuchessFidgette

    DuchessFidgette เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 ตุลาคม 2012
    โพสต์:
    2,607
    ค่าพลัง:
    +9,301
    ปัจจุบันนี้ ดิฉันก็ทานอาหารแค่วันละมื้อ และดื่มน้ำปานะแทนตอนค่ำ เช่นน้ำกล้วย หรือ น้ำกะทิผสมน้ำมะม่วง หรือ น้ำลูกพีช และน้ำอ้อย หรือ น้ำสัปปะรสผสมน้ำกะทิ อยากจะถือศีลให้ครบแปดข้อ แต่ยังมีข้อที่ทำไม่ได้คือ นอนที่นอนสูง เพราะดิฉันอยู่ตปท พื้นมันหนาวมาก และจำเป็นต้องนอนซุกตัวในเตียงและผ้าห่ม
     
  5. thepkere

    thepkere เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กุมภาพันธ์ 2012
    โพสต์:
    1,018
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +3,449
    มหาผล ๙ อย่าง ลองหาดูแล้ว มีใน พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๗
    พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาคที่ ๒ หน้าที่ ๑๘๙/๕๐๗

    แต่ไม่มีใน พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย)
    และ พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ (ภาษาไทย)

    เพราะอะไรหรือครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...