บทความให้กำลังใจ(จุดเปลี่ยนและบทเรียนชีวิต)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    45,190
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,040
    (ต่อ)
    อย่างไรก็ตาม ได้กล่าวแล้วว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เรากลัวความสูญเสีย ก็คือ ความยึดติดถือมั่นว่าเป็นของเรา หรือที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเรียกว่า ความยึดมั่นใน “ตัวกู ของกู” ดังนั้นถ้าไม่อยากให้ความกลัวสูญเสียครอบงำใจ นอกจากการใช้สติและปัญญารับมือกับเหตุการณ์แล้ว การทำใจให้คลายความยึดมั่นในตัวกูของกู ก็เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเรายึดติดถือมั่นในทรัพย์สินน้อยลง ความกลัวสูญเสียก็จะน้อยลงตามไปด้วย

    วิธีหนึ่งที่ช่วยลดความยึดมั่นในตัวกูของกู ก็คือ การให้ทานหรือสละทรัพย์สมบัติให้แก่ผู้อื่นหรือส่วนรวม ถ้าเราคิดแต่จะเอา ไม่ยอมให้ ความยึดมั่นในตัวกูของกูย่อมเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อคิดจะให้ ทีแรกจะมีแรงต้านทานอันเกิดจากความยึดติดถือมั่น แต่เมื่อให้บ่อย ๆ ความยึดติดถือมั่นในทรัพย์สมบัติก็จะลดลง โดยเฉพาะการให้ที่ไม่หวังประโยชน์เข้าตัวเลย หากมุ่งเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นหรือส่วนรวมล้วน ๆ แต่ถ้าให้เพราะอยากร่ำรวยอยากถูกหวยแล้ว อย่างที่ผู้คนมักอธิษฐานเวลาทำบุญ ความยึดมั่นในทรัพย์มีแต่จะพอกพูนขึ้น

    ผู้ที่ให้เป็นนิจ ไม่ว่าให้แก่ผู้เดือดร้อน นักบวช หรือองค์กรสาธารณประโยชน์ เมื่อถึงคราวที่ต้องสูญเสียทรัพย์ด้วยเหตุจำเป็น ก็พร้อมจะเสียโดยไม่บ่ายเบี่ยงหลีกเลี่ยงชนิดที่ก่อให้เกิดโทษ ขณะเดียวกันก็ไม่ทุกข์ใจ เพราะไม่ได้ยึดติดถือมั่นกับมันอย่างเต็มที่ หากจำเป็นต้องเสียทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะหรือชีวิต ก็พร้อมจะทำ ไม่เผลอเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อรักษาทรัพย์ เช่น ในยามที่ถูกโจรปล้นจี้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง การไม่ยึดมั่นถือมั่นในทรัพย์ว่าเป็น “ของกู” ทำให้เราเป็นนายมัน ไม่ใช่มันเป็นนายเรา ตรงกันข้าม การยึดติดถือมั่นว่ามันเป็นของเรา มีแต่จะทำให้เรากลายเป็นของมันไป

    การหมั่นระลึกถึงความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เรายึดติดถือมั่นในสิ่งต่าง ๆ น้อยลง เพราะตระหนักได้ว่าไม่ช้าไม่นานมันก็ต้องจากเราไป ไม่มีอะไรที่เป็นของเราอย่างแท้จริง ทุกอย่างเป็นของชั่วคราวทั้งนั้น ยิ่งระลึกถึงความจริงที่ว่า เราเกิดมามือเปล่า และเมื่อสิ้นลม เราก็ต้องจากไปมือเปล่า ทรัพย์สมบัติที่เกิดขึ้นระหว่างนั้นจึงเป็นเสมือนกำไร หากสูญไปจนหมดก็แค่เท่าทุน ไม่อาจเรียกว่าขาดทุนหรือสูญเสียด้วยซ้ำ เพราะมันไม่ได้เป็นของเราตั้งแต่แรก การระลึกเช่นนี้ยังกระตุ้นให้เราหมั่นให้ทานหรือสละทรัพย์ให้ผู้อื่น ไม่คิดจะเก็บเอาไว้กับตัวเอง เพราะรู้ว่าตายแล้วก็เอาไปไม่ได้แม้แต่อย่างเดียว

    นอกจากการให้ทานและระลึกถึงความไม่เที่ยงแล้ว การหมั่นมองตนจนเห็นใจที่ยึดมั่นในตัวกูของกูอยู่เนือง ๆ ก็ช่วยให้เราเป็นอิสระเหนือทรัพย์มากขึ้น และไม่กลัวการสูญเสีย จะว่าไปแล้วการยึดติดถือมั่นว่ามี “ตัวกู”นี้แหละเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เราดิ้นรนแสวงหาสิ่งต่าง ๆ อย่างไม่รู้จักจบสิ้น ทั้งนี้เพื่อประกาศความยิ่งใหญ่แห่งตัวตน ดังนั้นเมื่อต้องสูญเสียสิ่งหนึ่งสิ่งใดไป จึงกลายเป็นการกระทบตัวกู ทำให้ความยิ่งใหญ่แห่งตัวกูลดน้อยถอยลง หรือถึงกับรู้สึกว่าตัวกูถูกคุกคาม การทำทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสีย จึงมิใช่เป็นแค่การปกป้องทรัพย์สมบัติที่ยึดมั่นว่าเป็นของกูเท่านั้น หากยังเป็นการปกป้องตัวกูหรือความยิ่งใหญ่แห่งตัวกูด้วย

    เป็นเพราะหวงแหนตัวตน ผู้คนจึงหวงแหนทรัพย์สมบัติและอะไรต่ออะไรอีกมากมาย ทั้ง ๆ ที่ไม่มีอะไรสักอย่างที่เที่ยงแท้ยั่งยืนหรืออยู่กับเราไปตลอด ร้ายกว่านั้นก็คือ ตัวตนที่หวงแหนนั้นแท้จริงหามีไม่ หากเป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นมาเองด้วยอวิชชา เมื่อใดที่เราเห็นชัดด้วยปัญญาว่าตัวกูนั้นไม่มีอยู่จริง ความยึดติดถือมั่นในตัวกูของกูก็ดับไปเอง ถึงตอนนั้นก็ไม่มีอะไรต้องกลัวอีกต่อไป ไม่ว่าความสูญเสียทรัพย์ หรือแม้แต่ความสูญเสียชีวิต ไม่ว่าความผันผวนปรวนแปรใด ๆ เกิดขึ้นกับชีวิต ก็ไม่ทุกข์อีกต่อไป จะได้หรือเสียก็ไม่มีความหมายอีกต่อไป เพราะจิตอยู่เหนือการได้และเสียอย่างสิ้นเชิง

    แต่ตราบใดที่ยังไม่มีปัญญาถึงขั้นนั้น เราก็ควรฝึกใจให้เป็นทุกข์น้อยที่สุดเมื่อประสบความสูญเสีย โดยไม่มัวหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธความสูญเสียอย่างหลับหูหลับตา
    :- https://visalo.org/article/sarakadee255502.htm
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    45,190
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,040
    เผชิญหน้ากับความจริง
    พระไพศาล วิสาโล
    ระหว่างการสนทนากับเพื่อนในวงอาหาร หญิงสาวคนหนึ่งเล่าว่า “พ่อแม่รักฉันมากและแสดงความรู้สึกออกมาบ่อย ๆ เวลาฉันไม่เห็นด้วยกับแม่ แม่จะหยิบทุกอย่างที่อยู่ใกล้มือขว้างใส่ฉันทันที คราวหนึ่งแม่ขว้างมีดใส่ฉัน ฉันต้องเย็บสิบเข็มที่ขา หลังจากนั้นไม่กี่ปีพ่อก็บีบคอฉันตอนที่ฉันเริ่มเที่ยวกับผู้ชายที่ฉันไม่ชอบ” แล้วเธอก็ตบท้ายว่า “พ่อแม่เป็นห่วงฉันจริง ๆ”

    ใครได้ฟังก็ย่อมรู้ว่า ความรู้สึกของพ่อแม่ที่มีต่อเธอนั้นเป็นอะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่ไม่ใช่ความรักหรือความห่วงใยอย่างแน่นอน เพราะอาการแสดงออกของพ่อแม่ตามที่เธอเล่านั้นชัดเจนมากว่าเต็มไปด้วยความโกรธและความรุนแรง ซึ่งคงไม่ได้เกิดขึ้นแค่ครั้งสองครั้ง แต่เกิดเป็นประจำ

    อะไรทำให้เธอยืนยันว่านั่นเป็นความรักที่พ่อแม่มีให้แก่เธอ ใช่หรือไม่ว่าแท้จริงแล้วเธอยอมรับไม่ได้ว่าพ่อแม่เกลียดเธอ แม้พฤติกรรมของพ่อแม่จะแสดงออกอย่างชัดเจน แต่เธอเลือกที่จะ “ตีความ”ไปในทางตรงกันข้าม

    บางครั้งความจริงเป็นเรื่องเลวร้าย ยอมรับเมื่อใดก็เจ็บปวดเมื่อนั้น หลายคนจึงเลือกที่จะปฏิเสธความจริงดังกล่าว บางคนใช้วิธีตีความปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไปในแง่อื่น แต่หลายคนเลือกที่จะปฏิเสธปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น โดยทำเป็นมองไม่เห็นหรือไม่ได้ยินเอาเลย

    อะไรทำให้เราปฏิเสธความจริงทั้ง ๆ ที่ชัดเจนแจ่มแจ้งหรืออยู่ต่อหน้าต่อตา คำตอบคือ ความกลัว บางคนกลัวว่าพ่อแม่ไม่รัก หรือเพื่อนไม่คบ เพราะนั่นหมายถึงความรู้สึกไร้คุณค่า ตัวตนไม่มีความหมาย ไม่มีอะไรที่เจ็บปวดรวดร้าวมากเท่ากับการเป็น nobody หรือไม่มีตัวตนในสายตาของคนอื่น

    ความกลัวตายก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายคนปฏิเสธความจริง คนจำนวนไม่น้อยไม่ยอมเชื่อเมื่อหมอยืนยันผลวินิจฉัยว่าเขาเป็นมะเร็ง ในใจเขานั้นได้แต่ตะโกนว่า “ไม่จริง ๆ” บางคนถึงกับทักท้วงหมอว่า วินิจฉัยผิด หรือหยิบฟิลม์ผิดหรือเปล่า

    ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองมีชาวยิวหลายล้านคนที่ถูกกวาดต้อนไปยังค่ายนรกเพื่อรอการสังหารด้วยการรมก๊าซพิษ ปรากฏว่านักโทษหลายคนไม่เชื่อว่า มีห้องรมก๊าซพิษหรือการสังหารโหดในค่ายของตน ทั้ง ๆ ที่เห็นเตาเผาศพส่งกลิ่นไหม้คละคลุ้งอยู่ห่างไม่กี่ร้อยหลา รวมทั้งได้ยินข่าวลือดังกล่าววันแล้ววันเล่า พวกเขาปฏิเสธความจริงดังกล่าวเพราะยอมรับไม่ได้ว่าตนเองกำลังจะตาย มิใช่แต่คนที่จิตใจอ่อนแอหรือสิ้นเรี่ยวสิ้นแรงเท่านั้นที่ไม่กล้ายอมรับความจริงอันเจ็บปวด แม้กระทั่งคนที่เต็มไปด้วยความมั่นอกมั่นใจหรือมีอำนาจ ก็อาจมีอาการดังกล่าวด้วยเช่นกัน อาจจะไม่ใช่เพราะกลัวตาย แต่เพราะกลัวความล้มเหลวหรือความพ่ายแพ้

    เมื่อนายพลเกอริง ผู้บัญชาการกองทัพเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง ได้รับรายงานว่ามีผู้พบเครื่องบินขับไล่ฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นครั้งแรกในเขตแดนของเยอรมัน ซึ่งไกลจากแนวรบของฝ่ายอักษะมาก นั่นหมายความว่าฝ่ายสัมพันธมิตรได้พัฒนาเครื่องบินพิสัยไกลที่สามารถทิ้งระเบิดปูพรมเยอรมันได้อย่างสบาย เขาตกใจมาก เฝ้าแต่บอกตนเองว่า เป็นไปไม่ได้ ใช่แต่เท่านั้นเขายังมีคำสั่งกลับไปว่า “ผมขอยืนยันอย่างเป็นทางการว่าเครื่องบินขับไล่ของอเมริกันมาไม่ถึงเมืองอาเชน ผมขอออกคำสั่งอย่างเป็นทางการกับคุณว่า เครื่องบินพวกนั้นไม่ได้อยู่ที่นั่น”

    แต่ปฏิกิริยาของเกอริงนั้นยังเทียบไม่ได้กับสตาลิน ซึ่งเป็นตัวอย่างคลาสสิคของผู้นำที่ปฏิเสธความจริงจนวินาทีสุดท้าย ทั้ง ๆ ที่ข้อมูลข่าวสารพรั่งพรูมาจากทุกทิศทุกทาง

    ฮิตเลอร์นั้นประกาศมานานแล้วว่าต้องการยึดรัสเซีย แม้มีการทำสนธิสัญญาระหว่างสองประเทศว่าจะไม่รุกรานกันในปี ๑๙๓๙ ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะระเบิด แต่หลังจากที่เยอรมันบุกโปแลนด์และประกาศสงครามกับสัมพันธมิตร ก็มีเค้าลางว่าเยอรมันจะบุกรัสเซีย
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    45,190
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,040
    (ต่อ)
    สตาลินนั้นรู้ดีว่ารัสเซียยังไม่พร้อมทำสงครามกับเยอรมัน จึงหวังพึ่งมาตรการทางการทูตเพื่อแก้ไขความขัดแย้งกับเยอรมัน และฝากความหวังว่าวิธีการเหล่านั้นจะได้ผล อย่างไรก็ตามสถานการณ์บ่งชี้ว่าเยอรมันมีแผนบุกรัสเซียแน่นอน นายพลของรัสเซียหลายคนพยายามเตือนสตาลินครั้งแล้วครั้งเล่า แต่สตาลินไม่เชื่อ คราวหนึ่งเขาบอกกับนายพลเหล่านี้ว่า “พวกเยอรมันกลัวเรา เรื่องนี้เป็นความลับนะ จะบอกคุณให้ ทูตของเราได้คุยกับฮิตเลอร์อย่างจริงจังเป็นส่วนตัวแล้ว ฮิตเลอร์บอกเขาว่า “โปรดอย่ากังวลที่ทหารของเรารวมพลกันที่โปแลนด์ กองทัพของเรากำลังฝึกซ้อมกันอยู่”

    แม้ได้รับคำเตือนจากอังกฤษเรื่องการบุกของเยอรมัน สตาลินก็ไม่เชื่อ โดยให้เหตุผลว่าเป็นลูกไม้ของอังกฤษที่ต้องการยุแยงให้รัสเซียกับเยอรมันผิดใจกัน ครั้นสายลับของรัสเซียยืนยันข่าวดังกล่าวเป็นเสียงเดียวกัน สตาลินก็ตอบว่า “ฮิตเลอร์ไม่ใช่คนโง่” เขาไม่เปิดแนวรบสองด้านในเวลาเดียวกันหรอก (คือแนวรบด้านตะวันตก กับด้านตะวันออก)

    หนึ่งเดือนครึ่งก่อนเยอรมันบุกรัสเซีย สตาลินได้รับรายงานว่า เยอรมันส่งเครื่องบินมาลาดตระเวน แทนที่จะตื่นตัว เขากลับบอกว่า “ผมไม่รู้ว่าฮิตเลอร์รู้เรื่องนี้หรือเปล่า”

    สตาลินปฏิเสธทุกครั้งเมื่อได้ยินข่าวเกี่ยวกับยุทธการของฮิตเลอร์ เขาไม่ยอมรับ หรือพูดให้ถูกต้องกว่านั้น เขายอมรับไม่ได้ว่าฮิตเลอร์มีแผนร้ายต่อรัสเซีย จนกระทั่งวันที่เยอรมันกรีฑาทัพบุกรัสเซีย สตาลินก็ยังคิดว่า นี้อาจเป็นแผนการยั่วยุของนายพลเยอรมัน “ฮิตเลอร์คงไม่รู้เรื่องนี้” ดังนั้นเขาจึงไม่ออกคำสั่งให้ต่อต้านทหารเยอรมันจนกว่าจะได้รับคำยืนยันจากสถานทูตในเบอร์ลิน

    ต่อเมื่อได้รับคำยืนยันจากทูตเยอรมันประจำรัสเซีย สตาลินจึงยอมรับว่าเยอรมันประกาศสงครามกับรัสเซียจริง ๆ เขาถึงกับนิ่งงันอยู่นาน สีหน้าเหนื่อยล้าและหมดสภาพ ยิ่งได้ข่าวเป็นระยะ ๆ ว่า เยอรมันยึดได้เมืองแล้วเมืองเล่า เขาถึงกับทำอะไรไม่ถูก ผ่านไปไม่ถึงอาทิตย์ สถานการณ์ของฝ่ายรัสเซียวิกฤตหนัก เพราะถูกตีแตกไม่เป็นขบวน มีช่วงหนึ่งสตาลินถึงกับเก็บตัว ไม่คุยกับใคร และไม่สนใจอะไรเลย แต่เดินไปเดินมาเหมือนคนไร้สติ ผลก็คือรัฐบาลของรัสเซียเป็นอัมพาตสองวันเต็ม ๆ ไม่มีคำสั่งใด ๆ ออกมาจากส่วนกลาง แต่ละเมืองที่ถูกโจมตีต้องเอาตัวรอดกันเอง

    กว่าสตาลินจะฟื้นจากฝันร้าย และพร้อมเผชิญหน้ากับความจริง ก็ใช้เวลาเป็นอาทิตย์ แต่ถึงตอนนั้นรัสเซียก็เพลี่ยงพล้ำไปมาก และถอยร่นจนเปิดทางให้เยอรมันบุกประชิดมอสโคว์ในเวลาแค่สามเดือน

    ความกลัวพ่ายแพ้แบบหมดรูปทำให้สตาลินไม่ยอมรับความจริงว่าเยอรมันมีแผนบุกรัสเซีย เขาไม่เพียงปฏิเสธข่าวกรองนานาชนิดที่มาจากทุกสารทิศ แต่ยังพยายามให้เหตุผลทั้งแก่ตนเองและคนอื่น เพื่อยืนยันความเชื่อของตน จนถึงขั้นมั่นอกมั่นใจว่าฮิตเลอร์ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คนอื่นคิด จะว่าไปแล้วในส่วนลึกคนฉลาดอย่างสตาลินย่อมรู้ดีว่าฮิตเลอร์คิดอะไร แต่เขาไม่สามารถยอมรับความจริงดังกล่าวได้ จึงพยายามหลอกตัวเองด้วยเหตุผลและข้ออ้างสารพัด จนกลายเป็นคนดื้อด้านและโง่เขลาในสายตาของผู้คนเป็นอันมาก

    กรณีสตาลินยังชี้ให้เห็นถึงความสามารถของคนเราในการหลอกตนเอง ยิ่งฉลาดเท่าใด ก็ยิ่งสรรหาเหตุผลสวยหรูมาเป็นกำแพงปิดกั้นความจริง ยิ่งมีอำนาจล้นฟ้าด้วยแล้ว ก็สามารถบังคับข่มขู่เพื่อมิให้ความจริงนั้นมาถึงตัวหรือย้ำเตือนให้กระเทือนจิตได้ ดังสตาลินแสดงอาการกราดเกรี้ยวกับคนที่พูดไม่ถูกหู จนไม่มีใครกล้าบอกข่าวร้ายแก่เขา แม้กระทั่งทันทีรู้ข่าวว่ากองทัพเยอรมันถล่มชายแดนรัสเซียแล้ว นายทหารคนสนิทก็ยังเกี่ยงกันในการแจ้งข่าวแก่สตาลินเพราะกลัวภัยจากเขา

    จะว่าไปแล้วการปฏิเสธความจริงด้วยวิธีการต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นวิธีปกป้องจิตใจตนเองไม่ให้เป็นทุกข์หรือเจ็บปวด แม้จะมีประโยชน์แต่ก็เป็นโทษในระยะยาว เพราะทำให้ไม่สนใจเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุร้ายที่เกิดขึ้น ความสูญเสียที่ตามมาจึงมักร้ายแรงกว่าการยอมรับความจริงเสียตั้งแต่แต่แรก

    สตาลินนั้นมีเดิมพันสูง มีราคามหาศาลที่ต้องจ่ายหากพ่ายแพ้เยอรมัน เพราะเขาเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศที่ยิ่งใหญ่ จึงไม่สามารถยอมรับข่าวร้ายจากชายแดนได้ แต่จะว่าไปแล้วเดิมพันอะไรจะสูงเท่ากับชีวิต สูญเสียตำแหน่งหรือทรัพย์สมบัติก็ไม่ร้ายเท่ากับสูญเสียชีวิต ด้วยเหตุนี้ถึงแม้จะไม่ได้เป็นใหญ่อย่างสตาลิน เราทุกคนก็สามารถมีอาการอย่างเดียวกับเขาหากพบว่าความตายกำลังจะมาถึงตัว นั่นคือไม่ยอมรับความจริงว่าตนกำลังจะตาย

    อันที่จริงแม้ความตายยังไม่ถึงกับประชิดตัว แต่ในส่วนลึกของคนส่วนใหญ่นั้นไม่เชื่อว่าตนจะต้องตายด้วยซ้ำ ทั้ง ๆ ที่ได้ยินได้ฟังว่ามีคนตายอยู่เนือง ๆ หรือถึงแม้รู้ว่าตัวเองจะต้องตายไม่วันใดก็วันหนึ่ง แต่ใจก็ไม่ได้เชื่ออย่างนั้น ดังนั้นเมื่อถึงคราวที่จะต้องตาย จึงยอมรับไม่ได้ พยายามปฏิเสธผลักไสและต่อต้าน ซึ่งเท่ากับเพิ่มความทุกข์ทรมานให้แก่ตนมากขึ้น

    ปัญหาใด ๆ ก็ไม่ร้ายแรงหรือน่ากลัวเท่ากับใจที่ปฏิเสธปัญหา เพราะนั่นหมายถึงความประมาท นิ่งดูดาย งอมืองอเท้า ปล่อยให้ปัญหานั้นจู่โจมโดยไม่ทันตั้งตัว ถึงตอนนั้นแล้วหากใจยังปฏิเสธผลักไส ตีโพยตีพาย ไม่ยอมรับความจริง ก็ยิ่งเจ็บปวดเพราะถูกความจริงโบยตี จะดีกว่ามากหากยอมรับความจริงเสียแต่ต้น แม้จะเจ็บปวดทีแรก แต่ก็มีโอกาสที่จะรับมือกับมันได้ดีขึ้น ยิ่งยอมรับแต่เนิ่น ๆ เท่าไร ก็ยิ่งมีเวลาเตรียมการมากเท่านั้น อีกทั้งสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้ ดังผู้ที่เจริญมรณสติอยู่เสมอ ไม่เพียงจะตื่นตระหนกน้อยลงเมื่อความตายมาประชิดตัวเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ประโยชน์จากมัน คือเห็นธรรมจากความตาย ทำให้ปล่อยวางและเผชิญความตายด้วยใจสงบ
    :- https://visalo.org/article/sarakadee255612.htm
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    45,190
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,040
    psPrawut.jpg
    จุดเปลี่ยนและบทเรียนชีวิต

    พระไพศาล วิสาโล
    ใครที่มีอายุล่วงเลยมาถึงปัจฉิมวัย ชีวิตย่อมต้องผ่านจุดเปลี่ยนมาหลายครั้ง ข้าพเจ้าเองก็เช่นกัน แน่นอนว่าจุดเปลี่ยนสำคัญย่อมได้แก่จุดเปลี่ยนครั้งแรกในชีวิต ซึ่งแม้จะไม่หวือหวาหรือหักมุม แต่ก็นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกหลายครั้ง

    ตอนนั้นข้าพเจ้าอายุ ๑๔ ปี พูดถึงประวัติการเรียนแล้ว ก็นับว่าเป็นเด็กเรียนดีมาโดยตลอด แม้ไม่ถึงกับดีมากหรือดีเลิศ (เคยสอบได้ที่ ๑ เพียงครั้งเดียว ส่วนใหญ่อยู่ใน ๑๐ อันดับแรกของชั้น) ไม่เคยมีปัญหากับครูบาอาจารย์ เพราะเป็นเด็กที่ตั้งใจเรียน ไม่ขาดตกบกพร่องเรื่องการบ้าน แต่ก็ยอมรับว่าตั้งแต่อนุบาลเป็นต้นมาไม่เคยมีความสุขกับการเรียนเลย (ยกเว้นบางวิชาในบางปีเท่านั้น) การเรียนเป็นแค่การทำตามหน้าที่ โดยมีจุดมุ่งหมายคือเพื่อทำคะแนนให้ดีที่สุด แน่นอนว่าถ้าวิชาไหนได้คะแนนน้อย หรือเทอมใดผลสอบออกมาไม่ดี ก็รู้สึกเป็นทุกข์มาก

    แต่ความรู้สึกของข้าพเจ้าเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อถึงอายุดังกล่าว มีวันหนึ่งข้าพเจ้าถามตัวเองว่า เราเรียนเพื่ออะไร ? ข้าพเจ้าพบว่า คำตอบไม่น่าจะเป็น การเรียนเพื่อเอาคะแนน แต่ควรเป็นการเรียนเพื่อเอาความรู้มากกว่า ความคิดเช่นนี้ทำให้จุดหมายในการเรียนของข้าพเจ้าเปลี่ยนไป และช่วยให้ข้าพเจ้าก็มีความสุขกับการเรียนมากขึ้น เพราะคะแนนหรือผลสอบมีความหมายต่อข้าพเจ้าน้อยลง เพราะถึงแม้บางวิชาจะได้คะแนนไม่มาก แต่ข้าพเจ้าก็มั่นใจว่าได้ความรู้มากขึ้น

    คำตอบดังกล่าวไม่เพียงทำให้ข้าพเจ้ากระตือรือร้นกับการอ่านหนังสือเรียน โดยไม่สนใจว่าครูจะออกข้อสอบหรือไม่แล้ว ยังทำให้เกิดความสนใจอ่านหนังสือนอกห้องเรียนมากขึ้น ที่จริงข้าพเจ้าเป็นสมาชิกขาประจำของห้องสมุดในโรงเรียนมานานแล้ว แต่คราวนี้ยังสนใจหนังสือที่เป็นวิชาการมากขึ้นด้วย ไม่ใช่แค่สารคดีเท่านั้น

    มีเหตุการณ์หนึ่งที่มาเสริมความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ก็คือข้าพเจ้ากับเพื่อนได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของห้องในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อร่วมงานวิทยาศาสตร์ที่เครือข่ายโรงเรียนคาทอลิกจัดขึ้น (ล้อกับงานวิทยาศาสตร์สัมพันธ์อันโด่งดังซึ่งจัดที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ฯ มานานหลายปี) ข้าพเจ้าเป็นเด็กเรียนที่ไม่เคยทำกิจกรรมทำนองนี้มาก่อน เมื่อมารับผิดชอบงานนี้ จึงได้พานพบประสบการณ์หลายอย่างที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน ซึ่งล้วนแต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทั้งสิ้น แม้ปัญหาบางอย่างจะทำให้หนักใจไปหลายวัน เพราะทำเกือบเสร็จแล้วแต่ไม่ทำงานดังที่หวัง (เครื่องทำน้ำอุ่นพลังแสงอาทิตย์ แต่น้ำกลับไม่เขยื้อนขยับ) แต่หลังจากใช้เวลาครุ่นคิดกับมันอย่างเอาจริงเอาจัง ก็หาทางออกได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความสุข ยิ่งโครงงานนี้ได้รับรางวัลที่ ๑ ด้านฟิสิกส์ก็ยิ่งเกิดความภาคภูมิใจ

    ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้ข้าพเจ้าพบว่า การทำกิจกรรมนอกห้องเรียนนั้นให้อะไรแก่ตนเองมากมายอย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ที่สำคัญก็คือได้รู้จักคิดและแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งไม่ค่อยได้จากการเรียนในห้องเรียน เพราะปัญหาที่เจอในการเรียนนั้นล้วนเป็นปัญหาที่หาคำตอบได้จากหนังสือ และเป็นคำตอบที่มีได้แค่หนึ่งเดียว ในขณะที่ปัญหาที่ข้าพเจ้าพบจากการทำโครงงานนั้น เป็นปัญหาปลายเปิดที่มีทางออกได้หลายทาง นอกจากนั้นกิจกรรมดังกล่าวยังช่วยฝึกทักษะให้แก่ข้าพเจ้าอีกหลายประการ เช่น การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน (หรือที่สมัยนี้เรียกว่า social skills ซึ่งไม่ค่อยได้จากการเรียนในห้องเรียนเท่าใดนัก)

    กล่าวอีกนัยหนึ่ง กิจกรรมนอกห้องเรียนได้ช่วยให้ข้าพเจ้า “เรียนรู้”อีกหลายเรื่อง นับเป็นการขยายขอบเขตหรือนิยามของ “ความรู้” ให้กว้างกว่าที่ข้าพเจ้าเคยคิดว่ามีอยู่แต่ในหนังสือเท่านั้น ประสบการณ์ดังกล่าวประกอบกับการเรียนที่มีจุดหมายแปรเปลี่ยนไปดังได้กล่าวข้างต้น ช่วยให้ชีวิตในโรงเรียนของข้าพเจ้านับแต่นั้นมามีความสุขมากขึ้น ให้ประสบการณ์ที่มีชีวิตชีวา ไม่น่าเบื่อดังแต่ก่อน

    ผลที่ต่อเนื่องตามมาก็คือ ข้าพเจ้าอ่านหนังสือหลากหลายมากขึ้น แม้ตอนนั้นตั้งใจจะเอาดีทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะด้านฟิสิกส์ ถึงกับเริ่มอ่านตำรามหาวิทยาลัยและตำราฝรั่งแล้ว แต่พออายุ ๑๕ ก็ขยายไปอ่านหนังสือด้านสังคมศาสตร์ด้วย อันเป็นเหตุให้กลายเป็นแฟนของส.ศิวรักษ์ และสังคมศาสตร์ปริทัศน์ (ซึ่งตอนนั้นอยู่ในบังเหียนของสุชาติ สวัสดิ์ศรีแล้ว) ขณะเดียวกันข้าพเจ้าก็เอาจริงเอาจังกับการทำกิจกรรมนอกห้องเรียนด้วย ไม่ใช่แต่กิจกรรมวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงงานอาสาพัฒนาและสังคมสงเคราะห์ โดยจับพลัดจับผลูไปเป็นแกนของกลุ่มอัสสัมชัญอาสาพัฒนา ซึ่งตอนนั้นเป็นกลุ่มนักเรียนกลุ่มเดียวในประเทศที่จัดค่ายอาสาพัฒนาทุกปี การคลุกคลีตีโมงอยู่กับเพื่อนนักเรียนกลุ่มนี้ ประกอบกับการอ่านหนังสือของส.ศิวรักษ์ และนิตยสารอย่างสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ได้เปิดหูเปิดตาข้าพเจ้าเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมืองเวลานั้นซึ่งมีมากมายหลายประการ ทำให้เกิดความห่วงใยในบ้านเมืองและหล่อหลอมให้เกิดสำนึกทางการเมืองขึ้นมาในที่สุด

    จากเด็กที่เอาแต่เรียน เส้นทางชีวิตของข้าพเจ้าได้เบนไปสู่การเป็นนักกิจกรรมทั้ง ๆ ที่ยังนุ่งกางเกงขาสั้น ไม่ใช่แค่กิจกรรมในโรงเรียน แต่ขยายไปสู่กิจกรรมนอกโรงเรียน ทำทั้งค่ายอาสาพัฒนา และร่วมชุมนุมประท้วงในเหตุการณ์เดือนตุลา ๒๕๑๖ ขณะเดียวกันกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่ทิ้ง ข้าพเจ้ายังคงทำโครงงานวิทยาศาสตร์เป็นตัวแทนของชั้นและโรงเรียนทุกปี จนได้รับรางวัลที่ ๑ เป็นคำรบสอง แต่ระยะหลังความสนุกเริ่มลดลง เพราะความสนใจในทางสังคมศาสตร์แรงกล้าขึ้นจนไม่คิดจะเอาดีทางวิทยาศาสตร์หรือเป็นวิศวกรอีกต่อไป ในปีสุดท้ายของมัธยมศึกษา ข้าพเจ้าจึงย้ายไปเรียนห้องศิลปะและเลือกเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แทน

    มาถึงตอนนี้ข้าพเจ้าไม่ได้เรียนเพื่อความรู้แล้ว แต่ได้เปลี่ยนเป็นเรียนเพื่อทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม เพื่อสังคม หรือเพื่อประเทศชาติ ที่จริงไม่ใช่แค่การเรียนเท่านั้น แต่ขยายไปถึงการดำเนินชีวิตเลยทีเดียว นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับบรรยากาศบ้านเมืองเวลานั้น ที่จริงเป็นความรู้สึกร่วมของหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อย ซึ่งเป็นผลจากลัทธิสังคมนิยม (ซึ่งเริ่มแพร่หลายในเวลานั้น) พอ ๆ กับลัทธิชาตินิยม ที่ปลูกฝังกันตั้งแต่เล็ก โดยเฉพาะจากงานของหลวงวิจิตรวาทงการ

    ลัทธิสังคมนิยมรวมทั้งลัทธิมากซิสม์มีอิทธิพลต่อข้าพเจ้าอย่างจริงจังอยู่พักใหญ่ ทำให้ช่วงหนึ่งถึงกับครุ่นคิดถึงการปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธเพื่อโค่นล้มทุนนิยมและจักรวรรดินิยมที่ครอบงำเมืองไทย แต่ไม่นานก็หันมาสนใจพุทธศาสนาและภูมิปัญญาทางจิตวิญญาณ (เช่น เต๋า) ผู้ที่มีส่วนชักชวนให้โน้มมาทางนี้ก็คือ อาจารย์สุลักษณ์ และมิตรสหายเช่น พจนา จันทรสันติ ชาญณรงค์ เมฆินทรางกูร เป็นต้น และที่ตามมาคู่เคียงกันก็คือ ความศรัทธาในแนวทางอหิงสาหรือสันติวิธี โดยนิโคลัส เบ็นเนตต์ ที่ปรึกษากระทรวงศึกษาธิการเวลานั้น เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีอิทธิพลต่อข้าพเจ้าในด้านนี้

    นี้คือจุดเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งที่เกิดกับข้าพเจ้า ทำให้แยกตัวออกมาจากขบวนการนักศึกษานิยมซ้าย ซึ่งกำลังเฟื่องฟูอย่างมากในเวลานั้น หาไม่ข้าพเจ้าก็คงเข้าป่าร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์หลังเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ที่ธรรมศาสตร์ ที่จริงข้าพเจ้าก็ถูกจับในเหตุการณ์นั้นด้วย แต่เหตุผลที่ข้าพเจ้าไปอยู่ที่ธรรมศาสตร์นั้นแตกต่างจากนักศึกษาส่วนใหญ่ที่ร่วมชุมนุมประท้วงรัฐบาล กลางสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์วันนั้นเองที่ข้าพเจ้าได้เห็นโทษภัยของความโกรธเกลียดว่าสามารถทำลายความเป็นมนุษย์ในตัวเราได้อย่างไร ดังนั้นแม้จะถูกทำร้าย ก็ไม่มีความรู้สึกโกรธเกลียด พร้อมให้อภัยผู้ที่เตะถีบข้าพเจ้า จะว่าไปแล้วนั่นเป็นบททดสอบสำคัญที่ทำให้ข้าพเจ้ามั่นคงในอหิงสธรรมมากขึ้น

    การสมาทานพุทธศาสนาทำให้ข้าพเจ้าไม่เพียงเห็นความสำคัญของการอุทิศตนเพื่อส่วนรวมเท่านั้น แต่ยังเห็นว่าการขัดเกลาตนเองหรือการพัฒนาชีวิตด้านในก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยเห็นว่าภารกิจสองประการนี้สามารถทำควบคู่กันไปได้ ขณะเดียวกันก็เห็นว่า ศาสนธรรมกับการสร้างสรรค์สังคม ไม่ได้แยกจากกัน เราสามารถนำหลักธรรมทางศาสนามาใช้เป็นแนวทางในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เช่น เปลี่ยนแปลงด้วยสันติวิธี โดยตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ของทุกฝ่าย แม้ผู้ที่ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับเรา ก็มีความเป็นมนุษย์ไม่น้อยกว่าเรา มีแต่ความรัก ความเข้าใจ เท่านั้นที่จะก่อให้เกิดสันติสุขในสังคมอย่างแท้จริง หาใช่ความโกรธเกลียดหรือการเข่นฆ่าทำร้ายกันไม่
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    45,190
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,040
    (ต่อ)
    ความเข้าใจดังกล่าว ทำให้ข้าพเจ้าทุ่มเทให้กับกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม (กศส.) ซึ่งมีบทบาทอย่างแข็งขันหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา ฯ เนื่องจากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ยังไม่ต้องพูดถึงการจับกุมคุมขังและดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมกับนักศึกษาประชาชนกว่า ๓,๐๐๐ คนที่ชุมนุมในธรรมศาสตร์วันที่ ๖ ตุลา ฯ แม้ตอนนั้นข้าพเจ้าจะยังเป็นศึกษาชั้นปีที่ ๒ แต่เห็นว่าเรื่องนี้สำคัญกว่าการเรียน จึงหันมาทำงานเต็มเวลาให้แก่กศส.ก็ว่าได้ โดยถือว่าการเรียนเป็นเรื่องรอง

    กศส.นั้นมีกรรมการหลากศาสนา ทั้งพุทธ คาทอลิก และโปรเตสแตนท์ ปณิธานหลักคือการนำเอาหลักศาสนธรรมมาใช้เพื่อสร้างสรรค์สังคม เมื่อบ้านเมืองมีการข่มเหงคะเนงร้ายกันอย่างกว้างขวาง ศาสนาควรทำหน้าที่เตือนสติผู้คน และปกป้องผู้ถูกข่มเหง ขณะเดียวกันก็ควรช่วยให้เกิดการสมานไมตรีระหว่างคนสองฝ่าย งานเฉพาะหน้าที่เป็นรูปธรรมก็คือ รณรงค์ให้มีการนิรโทษกรรมนักโทษ ๖ ตุลา ฯ และช่วยเหลือผู้ที่ถูกจับกุมโดยไม่เป็นธรรม รวมทั้งคัดค้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน

    คนที่ทำงานแบบนี้ในยุคที่รัฐบาลเป็นเผด็จการ มีอำนาจล้นฟ้า และหวาดระแวงคอมมิวนิสต์ ย่อมถูกเข้าใจผิดได้ง่าย และมีโอกาสมากที่จะถูกจับเข้าคุก พวกเราคนหนุ่มสาวในกศส.ตระหนักถึงความเสี่ยงดังกล่าวเป็นอย่างดี สำหรับข้าพเจ้านั้น ทำใจตั้งแต่แรกว่าพร้อมจะสูญเสียทุกอย่างรวมทั้งอิสรภาพ (อย่างเดียวที่ยังไม่พร้อมจะสูญเสียคือชีวิต) จึงไม่รู้สึกหวั่นไหวเท่าใดนักในการทำงานให้กศส. จะว่าไปแล้ว หากไม่เกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลา ฯ และเกิดความแตกแยกในบ้านเมืองอย่างหนักจนมีโอกาสมากที่จะเกิดสงครามกลางเมืองอย่างเวียดนาม เขมร และลาว ข้าพเจ้าก็คงไม่พร้อมทำใจขนาดนั้น มองในแง่นี้ วิกฤตของบ้านเมืองมีส่วนกระตุ้นให้คนเราละวางตัวตนได้ไม่น้อย

    การทำงานกศส.นั้นได้ให้อะไรแก่ข้าพเจ้ามากมาย ทั้งในแง่ประสบการณ์ชีวิต ทักษะการทำงาน การพัฒนาความกล้า ความคุ้นเคยกับคุกตะราง (เพราะไปเยี่ยมนักโทษจนชิน) แต่ที่สำคัญซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตก็คือ ทำให้ข้าพเจ้าตัดสินใจออกบวช ทั้งนี้เพราะความเครียดที่สะสมตลอด ๗ ปีที่ทำงานกศส. (ทั้ง ๆ ที่ตอนเริ่มทำงานก็ไม่คิดว่ากศส.จะสามารถอยู่ยาวถึงขนาดนั้น) ช่วงนั้นความหงุดหงิดเกิดขึ้นง่ายมาก เป็นเหตุให้ทะเลาะกับเพื่อนร่วมงานบ่อย ๆ เวลาอยู่คนเดียว ก็มีอาการกระสับกระส่าย อยู่นิ่งได้ยาก แม้เป็นวันหยุดก็ต้องหาเรื่องไปโน่นมานี่ ซึ่งลงเอยด้วยความเหนื่อยล้า ถึงกระนั้นก็นอนไม่ค่อยหลับ พูดง่าย ๆ คือ ข้าพเจ้าเริ่มเสียศูนย์แล้ว แม้จะพยายามพักผ่อนด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่นิยมทำกัน เช่น ดูหนัง ไปเที่ยว ก็ไม่หาย ในที่สุดก็เหลือทางออกเดียวที่น่าจะช่วยได้ นั่นคือ สมาธิภาวนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าเห็นความสำคัญมาตลอด แต่ทำไม่ค่อยจริงจัง และเมื่อตั้งใจจะทำสมาธิอย่างจริงจัง ก็ต้องพึ่งผ้าเหลือง หาไม่ก็คงมีข้ออ้างให้บ่ายเบี่ยงหลบเลี่ยง ดังที่เคยทำหลายครั้งก่อนหน้านั้น

    การออกบวชครั้งนั้นทำให้ข้าพเจ้าประจักษ์ถึงคุณค่าของสมาธิภาวนาอย่างชัดเจน เห็นถึงพลังแห่งสติที่สามารถบรรเทาความทุกข์ และช่วยให้เกิดสันติกับตัวเองและในตัวเอง ทำให้พบกับความสงบเย็น ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตของข้าพเจ้าก่อนหน้านั้น ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยกล่าวว่า “ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่สงบเย็น และเป็นประโยชน์” ที่ผ่านมาชีวิตข้าพเจ้าเน้นหนักไปด้านการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น แต่การบวชได้ช่วยเติมอีกด้านหนึ่งที่เคยพร่องไป แม้ยังไม่ถึงกับเต็มดีก็ตาม

    สมาธิภาวนา ไม่เพียงช่วยเติมความสุขและสงบเย็นให้แก่ชีวิตข้าพเจ้าเท่านั้น แต่ยังทำให้การบำเพ็ญประโยชน์ของข้าพเจ้ามีอีกมิติหนึ่งที่เพิ่มเข้ามา คือ มิติด้านจิตใจ กล่าวคือ ชี้ชวนให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการเสริมสร้างชีวิตด้านใน รวมทั้งแนะนำให้รู้จักเข้าถึงความสุขภายใน นี้คือสิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน ซึ่งแม้จะมั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติ เต็มไปด้วยความสะดวกสบาย แต่ก็หามีความสุขอย่างแท้จริงไม่ กลับหลงเป็นทาสของวัตถุสิ่งเสพ อำนาจ และเกียรติยศ จนนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบและทำร้ายกัน รวมทั้งผลาญพร่าธรรมชาติ ทั้งโดยตรงและผ่านโครงสร้างต่าง ๆ ในสังคม

    อันที่จริงเมื่อแรกบวชนั้นข้าพเจ้านึกถึงแต่ประโยชน์ตนเพราะต้องการแค่ผ่อนคลายใจให้หายเครียดเท่านั้น ไม่ได้คิดถึงการบำเพ็ญประโยชน์ท่านไม่ว่าในด้านใดทั้งสิ้น แต่เมื่อได้ประจักษ์ถึงอานิสงส์ของสมาธิภาวนาและความสำคัญของชีวิตด้านใน ก็หันมาทำงานส่งเสริมด้านนี้มากขึ้น ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทั้งด้วยการเขียน การพูด และการอบรม แม้ว่างานที่ข้าพเจ้าทำค่อนข้างหลากหลาย ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ สันติวิธี และการพัฒนา แต่ล้วนมีมิติด้านจิตใจเป็นพื้นฐานหรือแกนกลางทั้งสิ้น การให้ความสำคัญแก่งานเหล่านี้ มีส่วนสำคัญทำให้ข้าพเจ้าอยู่ในเพศบรรพชิตอย่างต่อเนื่อง ผลก็คือ แทนที่จะบวชแค่ ๓ เดือนตามที่ตั้งใจไว้แต่แรก ก็ล่วงเลยมาจนบัดนี้เป็นเวลา ๓๐ ปีแล้ว

    มาย้อนคิดดู ความเครียดจนเริ่มเสียศูนย์ในวัยเบญจเพสนั้นมีคุณประโยชน์อย่างมาก เพราะเป็นแรงผลักดันให้ข้าพเจ้าเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ และหันมามีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากเดิมอย่างแทบจะสิ้นเชิง หากข้าพเจ้าไม่มีปัญหาชีวิตในครั้งนั้น ป่านนี้ข้าพเจ้าคงยังครองเพศคฤหัสถ์ และมีชีวิตที่รุ่มร้อนและเหนื่อยล้า อีกทั้งยังไม่แน่ว่าจะสามารถบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้กี่มากน้อย

    หลายปีที่ผ่านมาข้าพเจ้าพบว่า “สงบเย็น” กับ “เป็นประโยชน์”นั้นสัมพันธ์กันมาก ในด้านหนึ่งความสงบเย็นช่วยให้สามารถทำประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ได้อย่างต่อเนื่อง และไม่ผิดเพี้ยนผันแปรกลายเป็นการสนองกิเลสส่วนตน หรือกลายเป็นการเบียดเบียนผู้อื่น ดังมีตัวอย่างมากมายที่ชี้ว่าหากปราศจากความสุขด้านในแล้ว ก็ง่ายที่จะหันไปแสวงหาความสุขจากทรัพย์ อำนาจ และเกียรติยศ จนตกเป็นทาสของมัน และทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มันมา โดยอ้างว่าเป็นการทำเพื่อส่วนรวม เกิดแรงจูงใจที่จะคดโกงหรือใช้อำนาจไปในทางมิชอบ รวมไปถึงการทำร้ายคนที่ขัดขวางการตักตวงผลประโยชน์ของตน

    ในอีกด้านหนึ่ง การคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม ก็ช่วยกระตุ้นให้พร้อมที่จะเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อผู้อื่น เป็นแรงผลักดันให้ลดละตัวตน หรือคลายความยึดมั่นในตัวกูของกู กิเลสที่เบาบางนั้นย่อมช่วยให้พบกับความสงบเย็นได้ง่าย อย่างน้อย ๆ เมื่อใส่ใจกับความทุกข์ของคนอื่น ก็จะรู้สึกว่าความทุกข์ของตนเองเป็นเรื่องเล็ก ในทางตรงข้ามคนที่คิดถึงแต่ตัวเอง ไม่คิดจะทำอะไรเพื่อผู้อื่นเลย แม้มีความทุกข์เกิดขึ้นกับตนเองเพียงเล็กน้อย ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาได้ ดังนั้นจึงกลายเป็นคนที่ทุกข์ง่าย และสุขยาก

    จะว่าไปแล้วความสงบเย็นที่แท้จริงนั้น จะรู้ได้ชัดเจนก็จากการออกไปรับแรงกระทบจากภายนอก หากยังสงบนิ่งอยู่ได้ ก็แสดงว่าเป็นความสงบเย็นที่มาจากภายใน เนื่องจากได้ลดละกิเลสหรือตัวตนลงได้ หากยังหวั่นไหว ใจกระเพื่อม หรือรุ่มร้อน ก็แสดงว่า เป็นความสงบเย็นแบบเทียม ๆ ซึ่งอาจเกิดจากการหลบลี้หนีปัญหา หรือแวดล้อมด้วยคนที่เอาใจตน ไม่มีใครมาขัดใจให้ขุ่นเคือง สำหรับคนที่ไม่แน่ใจว่าความสงบเย็นที่เกิดกับตนนั้นมาจากภายในหรือภายนอก การออกไปทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ที่ทุกข์ยาก เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้พบคำตอบ ขณะเดียวกันก็สามารถขัดเกลากิเลสหรือลดละตัวตนให้เบาบาง จนพบกับความสงบเย็นที่แท้เพิ่มขึ้นได้

    ข้าพเจ้านั้นเริ่มต้นจากการพยายามทำประโยชน์แก่ส่วนรวม ต่อมาจึงเห็นความสำคัญของการลดละกิเลสและฝึกฝนใจให้สะอาด สงบเย็น และเป็นสุข ต่างจากหลายคนที่เริ่มต้นจากการมุ่งขัดเกลาตนเอง แต่ในที่สุดก็ตระหนักถึงความสำคัญของการช่วยเหลือผู้อื่น เพราะเมตตากรุณาเบ่งบานขึ้นในจิตใจ หาไม่ก็เป็นเพราะเห็นว่าการทำเช่นนั้นจะช่วยฝึกฝนตนให้เห็นแก่ตัวน้อยลงหรือมีความมั่นคงในจิตใจมากขึ้น

    ชีวิตข้าพเจ้ามีจุดเปลี่ยนมากมายหลายวาระ แต่การเปลี่ยนแปลงทุกครั้งล้วนเป็นคุณที่หนุนเนื่องให้เกิดการพัฒนาตนเป็นลำดับ แม้วัดจากค่านิยมของผู้คนทั่วไป เป็นการถดถอยหรือหนีห่างจากความเจริญที่โลกยึดถือ ( คือ ความร่ำรวย มีการงานที่มั่นคง มีตำแหน่งสูงส่ง มากด้วยบริษัทบริวาร)ไกลขึ้นทุกทีก็ตาม เมื่อใคร่ครวญดูข้าพเจ้าคิดว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่ช่วยให้ชีวิตข้าพเจ้าเมื่อถึงจุดเปลี่ยน ก็ไม่ใช่การหันเหไปในทางที่ตกต่ำ นอกจากครูบาอาจารย์และกัลยาณมิตรที่ให้ข้อคิดและความเห็นอันเป็นประโยชน์มาโดยตลอดแล้ว ที่มองข้ามไม่ได้ก็คือ คุณค่าหลายประการที่ถูกปลูกฝังมาแต่เล็ก

    ตั้งแต่เล็กทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ข้าพเจ้าถูกปลูกฝังให้มีวินัยและความขยันขันแข็ง โยมแม่จะคอยดูแลและเคี่ยวเข็นให้ลูก ๆ กินข้าวและนอนเป็นเวลา ไม่ว่าจะไปเล่นที่ไหนหากเลยเวลาก็จะได้ยินเสียงโยมแม่เรียกให้กินข้าว อาบน้ำ และเข้านอน (ในสมัยที่เรายังไม่มีโทรทัศน์ที่บ้าน การเข้านอนเป็นเวลาดูจะไม่ใช่เรื่องยากเท่ากับสมัยนี้) แม้โยมพ่อจะไม่ค่อยใกล้ชิดกับลูก แต่ถ้าถึงช่วงสอบ ลูก ๆ จะถูกบังคับให้อ่านหนังสือเตรียมตัวสอบทั้งวัน ไปเล่นที่ไหนไม่ได้ แต่ความเข้มงวดที่บ้านนั้นเทียบไม่ได้กับที่โรงเรียน ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องความเจ้าระเบียบ (โดยเฉพาะการตรงต่อเวลาและความสะอาด) อีกทั้งยังเอาจริงเอาจังเรื่องการเรียน นักเรียนถูกฝึกให้ขยันด้วยการทำการบ้านมาก ๆ จึงเป็นธรรมดาที่เมื่อนักเรียนกลับบ้าน อย่างแรกที่ต้องทำหรือนึกถึง คือ การบ้าน เพราะหากละเลยหรือบกพร่อง เป็นต้องถูกตีในวันรุ่งขึ้น ๑๒ ปีที่อัสสัมชัญทำให้ความมีวินัยและความขยันขันแข็งฝังอยู่ในนิสัยของข้าพเจ้า ซึ่งนอกจากช่วยให้ครองตนหรือคุมอารมณ์ของตนได้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ไม่กลัวความยากลำบาก บ่อยครั้งแม้จะประสบอุปสรรค ทั้ง ๆ ที่สติปัญญาไม่มาก แต่อาศัยใจสู้ พึ่งความเพียรเป็นหลัก ก็สามารถฟันฝ่าจนลุล่วงไปด้วยดี

    มีอีกหลายอย่างที่ข้าพเจ้าได้รับจากโรงเรียน ที่สำคัญก็คือ ความซื่อสัตย์สุจริต ความสมถะและความเสียสละ คุณธรรมเหล่านี้ข้าพเจ้าได้เห็นจากครูทั้งที่เป็นนักบวช(คาทอลิก)และฆราวาส ซึ่งแสดงให้ประจักษ์อยู่ตลอดเวลา นักบวชหลายท่านเป็นชาวต่างชาติแต่มาอุทิศชีวิตให้แก่ยุวชนไทยจนวาระสุดท้ายของชีวิต โดยที่ทุกท่านอยู่อย่างเรียบง่าย เป็นแบบอย่างได้เช่นเดียวกับครูหลายท่านที่สอนพวกเราอย่างทุ่มเทจนวัยชรา โดยไม่สนใจเรื่องเงินทองเลย ยังไม่ต้องพูดถึงศิษย์เก่าอีกนับไม่ถ้วน ที่ขึ้นชื่อในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นชื่อที่ข้าพเจ้าคุ้นแต่เล็ก เช่นเดียวกับอีกหลายท่านที่คนยุคนี้คงลืมไปแล้ว

    คุณธรรมเหล่านี้ (รวมทั้งความมีวินัย และความขยันหมั่นเพียร) แม้คนยุคนี้จะมองว่าเป็นสิ่งพื้น ๆ คร่ำครึ หรือ “เชย” ไม่แปลกใหม่ทันสมัยเท่ากับ ความเป็นตัวของตัวเอง การมีความคิดสร้างสรรค์ ความกล้าแสดงออก หรือความรักเสรีภาพ แต่ก็เป็นคุณค่าสากล ที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าโลกจะก้าวสู่ยุคโลกาภิวัตน์ หรือยุคดิจิตัล เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยประคับประคองให้ชีวิตสามารถเดินหน้าไปได้อย่างมั่นคง ไม่ว่าจะมีอุปสรรคมากมายเพียงใด อีกทั้งยังช่วยกำกับให้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ไม่ก่อความทุกข์แก่ตนเองและผู้อื่น ไม่ว่าจะเลือกเส้นทางชีวิตสายใดก็ตาม จะมุ่งความสำเร็จทางโลก หรือหวังความก้าวหน้าทางธรรม คุณธรรมเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นเสมอ

    หากเปรียบชีวิตเหมือนการเดินทาง ข้าพเจ้าก็เดินมาไกลแล้ว แต่ยังต้องเดินต่อไป เพราะจุดหมายปลายทางยังอยู่อีกไกล นั่นคือ จิตใจที่ไกลจากกิเลส เข้าถึงความสงบเย็นเป็นอิสระอย่างแท้จริง บนทางสายนี้จุดเปลี่ยนยังสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ แต่ไม่ว่าชีวิตจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็หวังว่าจะยังคงแน่วแน่ในจุดหมายดังกล่าวอยู่เสมอ
    :- https://visalo.org/article/prawutAPatipata.html
    , EndLineMoving.gif



     

แชร์หน้านี้

Loading...