(ต่อ)
ไม่มีใครคาดคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลต่าง ๆ มาเป็นเวลานาน อย่างการติดเชื้อบริเวณท่อที่ใส่เข้าไปในร่างกายนั้น จะแก้ได้ด้วยวิธีง่าย ๆ แบบนี้ และเมื่อเอาวิธีเช็คลิสต์ไปใช้กับการแก้ปัญหาอย่างอื่นที่ยืดเยื้อเรื้อรังมานาน ก็สามารถลดความสูญเสียทั้งชีวิตและเงินทองไปได้มากมายเช่นกัน สิ่งที่น่าสนใจก็คือ วิธีการดังกล่าวมักถูกต่อต้านจากแพทย์และพยาบาล เหตุผลประการหนึ่งก็คือ มันง่ายเกินไป บางคนถึงกับบอกว่ามันเป็นวิธีการที่ “งี่เง่า” เพราะสิ่งที่ระบุให้ทำในเช็คลิสต์นั้นเป็นเรื่องที่รู้ดีกันอยู่แล้ว แต่เมื่อติดตามสังเกตกันจริง ๆ กลับพบว่า วิธีที่ว่าง่ายเหล่านี้กลับถูกละเลยหรือมองข้ามไป (เมื่อโปรโนวอสท์นำวิธีการนี้ไปใช้กับโรงพยาบาลของรัฐมิชิแกน ปัญหาหนึ่งที่พบก็คือ มีห้องไอซียูไม่ถึง ๑ ใน ๓ ที่มีสบู่ฆ่าเชื้อคลอเฮกซิดิน)
สิ่งง่าย ๆ มักถูกมองข้าม ทั้ง ๆ ที่ก่อผลดีมากมาย ก็เพราะผู้คนมองว่าเป็นเรื่องหญ้าปากคอกหาไม่ก็ดูแคลนว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เรื่องเล็กน้อยนี้แหละที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ย้อนหลังไปเมื่อ ๑๗๐ ปีก่อนก็เคยมีเรื่องราวทำนองนี้เกิดขึ้น
ช่วงคริสต์ทศวรรษ ๑๘๔๐ โรงพยาบาลชั้นนำในยุโรปได้ประสบปัญหาอย่างหนึ่งที่แก้ไม่ตก นั่นคือแม่ที่เพิ่งคลอดบุตรจำนวนไม่น้อยตายด้วยโรคชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่าไข้หลังคลอด (puerperal fever) หญิงที่มาคลอดที่โรงพยาบาลนั้น ทุกคนไม่มีความเจ็บป่วยมาก่อน แต่หลังจากคลอดได้ไม่นานก็เสียชีวิต ในโรงพยาบาลบางแห่งการอุบัติของโรคนี้สูงมาก กล่าวคือ ๑ ใน ๖ ของหญิงที่มาคลอดในโรงพยาบาลตายด้วยโรคนี้
ไม่มีใครรู้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร มีการสันนิษฐานต่าง ๆ นานา เช่น อากาศไม่ดี อาหารไม่ถูกสุขลักษณะ เครื่องแต่งกายของผู้หญิงรัดแน่นเกินไป แต่มีแพทย์หนุ่มผู้หนึ่งเห็นต่างออกไป อิกนาซ เซมเมลไวส์ (Ignas Semmelweis) สังเกตว่า แม่ซึ่งคลอดที่บ้านนั้น มีโอกาสที่จะตายด้วยโรคนี้น้อยกว่าที่โรงพยาบาลของเขาในกรุงเวียนนาถึง ๖๐ เท่า ใช่แต่เท่านั้นแม่ซึ่งคลอดด้วยหมอตำแยในโรงพยาบาลก็ตายด้วยโรคนี้แค่ ๑ ใน ๓ ของแม่ที่ทำคลอดด้วยแพทย์
วันหนึ่งเขาได้ข่าวว่าแพทย์ผู้หนึ่งถึงแก่กรรมอย่างกะทันหัน เขาเสียชีวิตไม่กี่วันหลังจากที่พานักศึกษาแพทย์ผ่าศพ ระหว่างที่ผ่าศพ มีดได้บาดมือเขา หลังจากนั้นเขาก็ป่วย อาการคล้ายกับแม่ที่ตายหลังคลอด คือเป็นไข้สูง และเมื่อชันสูตรศพก็พบว่ามีการอักเสบที่เยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มสมอง เยื่อหุ้มหัวใจ และเยื่อบุช่องท้อง
กรณีดังกล่าวทำให้เขาพบคำตอบว่าแท้จริงแล้วไข้หลังคลอดนี้มาจากแพทย์นั่นเอง กล่าวคือสมัยนั้นเมื่อแพทย์ผ่าศพเสร็จ มักจะตรงเข้าห้องผู้ป่วยเลย รวมทั้งทำคลอด โดยไม่ได้ล้างมือให้สะอาด (อย่าลืมว่าตอนนั้นเป็นช่วงก่อนที่หลุยส์ปาสเตอร์จะพบว่าโรคติดต่อเกิดจากแบคทีเรีย) ดังนั้นเชื้อโรคจากศพ โดยเฉพาะศพที่ตายด้วยไข้หลังคลอด จึงติดมือแพทย์แล้วต่อไปยังหญิงที่มาทำคลอด นี้คือเหตุผลว่าทำไมหญิงที่คลอดด้วยหมอตำแยไม่ว่าที่บ้านหรือที่โรงพยาบาลจึงตายด้วยโรคนี้น้อยมาก
การค้นพบดังกล่าวจึงทำให้เซมเมลไวส์เสนอให้แพทย์ทุกคนล้างมือด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหลังจากผ่าศพและก่อนทำคลอด ปรากฏว่าหลังจากนั้นไม่นานอัตราการตายของผู้หญิงหลังคลอดในโรงพยาบาลของเขาลดเหลือไม่ถึงร้อยละ ๑ ในเวลา ๑๒ เดือนเขาสามารถช่วยชีวิตแม่ได้ถึง ๓๐๐ คนและทารก ๒๕๐ คน
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเซมเมลไวส์ถูกต่อต้านมากเพียงใดจากแพทย์ เพราะการค้นพบของเขาชี้ชัดว่าสาเหตุการตายของแม่และเด็กนั้นเกิดจากแพทย์ มิใช่จากอะไรอื่น อีกทั้งยังเสนอให้ปรับพฤติกรรมของแพทย์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแพทย์ก็เช่นเดียวกับผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่น ๆ ที่มักเรียกร้องให้ผู้อื่นเป็นฝ่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมากกว่า
ไม่มีใครนึกว่าปัญหาร้ายแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังนั้นสามารถแก้ได้อย่างชะงัดด้วยวิธีง่าย ๆ เช่นนี้ นั่นก็เพราะผู้คนมักคิดซับซ้อน ยิ่งปัญหาร้ายแรงใหญ่โตมากเท่าใด ก็ต้องใช้วิธีการที่ซับซ้อน ทุ่มทุนด้วยทรัพยากรที่มากมาย ซึ่งมักหนีไม่พ้นการใช้เทคโนโลยีที่ล้ำยุคพิสดารและราคาแพง แต่บ่อยครั้งเพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็สามารถแก้ปัญหาสำคัญได้มากมาย อตุล ได้ชี้ว่า มาถึงวันนี้วิธีการของโปรโนวอสท์ซึ่งกระตุ้นให้แพทย์หันมาใส่ใจกับการทำสิ่งง่าย ๆ ขั้นพื้นฐานอย่างครบถ้วนได้ช่วยชีวิตผู้คนมากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์ในห้องทดลองคนใดจะทำได้ แต่ถึงกระนั้นความสำเร็จของเขาก็ได้รับความสนใจจากวงการแพทย์หรือสื่อมวลชนน้อยกว่าความสำเร็จของนักวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาเทคโนโลยีแปลกใหม่
นี้ก็ทำนองเดียวกับการช่วยชีวิตคนจากอุบัติเหตุบนท้องถนน เพียงแค่การออกกฎหมายและรณรงค์ให้ผู้ขับขี่ใช้หมวกกันน็อคเท่านั้นสามารถลดจำนวนคนตายไปได้มากมาย น.พ.วิทยา ชาติบัญชาชัย หัวหน้าศูนย์อุบัติเหตุและวิกฤตบำบัด โรงพยาบาลขอนแก่น เคยกล่าวว่า “ผมผ่าตัดไปตลอดชีวิต ยังช่วยชีวิตคนไม่ได้เท่ากับที่รณรงค์(ให้สวมหมวกกันน็อค) ๖ เดือนเลย” แต่วิธีง่าย ๆ เหล่านี้ย่อมไม่มีวันได้รับความสนใจมากเท่ากับความสำเร็จในการผ่าสมองของผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุอย่างหนักจนรอดตายได้
ว่ากันอย่างถึงที่สุดแล้ว สาเหตุที่สิ่งง่าย ๆ กลับเกิดขึ้นได้ยาก ก็เพราะเราถูกฝึกมาให้คิดและทำอย่างซับซ้อน จนสิ่งง่าย ๆ กลายเป็นเรื่องยากขึ้นมา ระหว่างการทำ กับ การไม่ทำ ใคร ๆ ก็รู้ว่าการไม่ทำนั้นง่ายกว่า แต่ในชีวิตจริงผู้คนส่วนใหญ่กลับไม่สามารถอยู่นิ่ง ๆ หรืออยู่เฉย ๆ ได้ (แม้ไม่ต้องทำมาหากินเลยก็ตาม) กลับดิ้นรนทำอะไรต่ออะไรมากมาย ทั้ง ๆ ที่ทำแล้วก็ใช่ว่าจะมีความสุข กลับกลายเป็นการหาเรื่องใส่ตัวด้วยซ้ำ เพราะเหตุนี้ผู้คนจึงกลัวการนั่งสมาธิเป็นอย่างยิ่ง ทั้ง ๆ ที่ไม่ต้องทำอะไรนอกจากนั่งนิ่ง ๆ และดูลมหายใจเฉย ๆ เท่านั้น แม้แต่คนที่สามารถพาตนมานั่งสมาธิได้แล้วก็ตาม ก็ยังมีปัญหาอีกเพราะพยายามเข้าไปจัดการกับความคิดปรุงแต่งไม่หยุดหย่อน แทนที่จะดูมันเฉย ๆ ทั้ง ๆ ที่การดูเฉย ๆ โดยไม่ต้องทำอะไรกับมันนั้น เป็นเรื่องง่ายแสนง่าย แต่คนส่วนใหญ่ทำไม่ได้และไม่ยอมทำ เพราะถูกฝึกมาให้ทำอะไรต่ออะไรมากมาย จนอยู่เฉย ๆ หรือทำใจเฉย ๆ ไม่ได้ จะยอมอยู่เฉยได้ก็ต่อเมื่อมองว่านั่นเป็น “การกระทำ” อย่างหนึ่ง
เมื่อขึ้นสูงแล้วจะกลับคืนสู่สามัญ ย่อมทำได้ยาก แต่สามัญธรรมดานี้แหละที่สำคัญอย่างยิ่ง ปัญหาของชีวิตและโลกมักเกิดขึ้นเพราะเรารังเกียจสิ่งสามัญ ง่าย ๆ พื้น ๆ และเมื่อเห็นปัญหาแล้ว มักแสวงหาทางออกด้วยวิธีการที่ซับซ้อน ทั้ง ๆ ที่วิธีการง่าย ๆ ก็มีอยู่
มีนิทานเรื่องหนึ่งซึ่งค่อนข้างแพร่หลาย เป็นเรื่องของนักธุรกิจที่เห็นชายชรานั่งเล่นอยู่บนสะพานปลายามสาย ชายชราเพิ่งเสร็จจากการหาปลา นักธุรกิจแปลกใจที่ชายชราไม่ออกไปหาปลาอีก ชายชราถามว่าเพื่ออะไร “เพื่อจะได้มีเงินมากขึ้นไงล่ะ” ชายชราถามว่า มีเงินมาก ๆ เพื่ออะไร “เพื่อจะได้ซื้อเรือลำใหญ่ขึ้น” ชายชราถามต่อว่ามีเรือลำใหญ่เพื่ออะไร “ลุงจะได้หาปลาได้มากขึ้น จะได้มีเงินซื้อเรือหลาย ๆ ลำ” ชายชราถามอีกว่า ทำเช่นนั้นเพื่ออะไร “เพื่อจะได้มีเงินมากขึ้น ต่อไปลุงจะได้ไม่ต้องทำงาน มีเวลาพักผ่อน” ชายชราจึงตอบว่า “ก็ฉันกำลังทำอยู่ตอนนี้แล้วไงพ่อหนุ่ม”
เส้นทางที่ลัดตรงนั้นมีอยู่ แต่เป็นเพราะเราชอบหนทางที่ซับซ้อน กว่าจะถึงจุดหมายปลายทางก็เหนื่อย หาไม่ก็หลงทางไปเลย
:- https://visalo.org/article/sarakadee255403.htm
บทความให้กำลังใจ(มันมาเพื่อให้เราเรียนรู้)
ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.
หน้า 43 ของ 51
-
-
ความชั่วร้ายที่ปลายจมูก
พระไพศาล วิสาโล
ถ้าถามว่าเตะลูกฟุตบอลตรงไหนถึงจะเข้าประตูได้ง่ายที่สุด ทุกคนคงตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าตรงจุดโทษ แต่สำหรับนักฟุตบอลเจนสนาม เตะตรงนั้นกลับเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง ยากเสียจนนักฟุตบอลระดับโลกหลายคน ไม่ว่าเบคแคม โรนัลดินโย่ แลมพาร์ด นอกจากจะเตะไม่เข้าแล้ว บางครั้งยังปฏิเสธที่จะเป็นมือสังหารที่จุดโทษ โดยเฉพาะในนัดสำคัญที่ชี้ชะตาทีมของตน
ความยากของการเตะบอลที่จุดโทษนั้นอยู่ตรงไหน ก็อยู่ที่ความง่ายของมันนั่นเอง ความที่มันเป็นตำแหน่งที่เตะเข้าประตูได้ง่ายที่สุด ดังนั้นหากนักฟุตบอลคนไหนเตะไม่เข้า ก็จะถูกโห่ฮาจนอาจเสียผู้เสียคนได้ง่าย ๆ นี้เป็นเหตุผลที่นักฟุตบอลที่ขึ้นชื่อว่าเตะได้แม่นยำราวจับวาง หลายคนจะรู้สึกเกร็งมากเมื่อได้รับมอบหมายให้ยิงที่จุดโทษ และความเกร็งนั่นเองที่ทำให้ยิงไม่เข้า หลายคนเตะออกนอกกรอบประตูไปอย่างไม่น่าเชื่อ
ในความง่ายมีความยากอยู่ ใช่หรือไม่คุณสมบัติที่อยู่ตรงข้ามกันนั้นมักจะอยู่ด้วยกันเสมอ สารหนูสามารถฆ่าคนได้ แต่ก็ใช้ทำยารักษาโรคได้ด้วย ไนโตรกลีเซอรีนเป็นสารทำวัตถุระเบิด แต่ก็สามารถรักษาโรคหัวใจได้ โรคหัดทำให้เด็กล้มป่วย แต่ก็ช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคหอบหืดหรือภูมิแพ้ ออกซิเจนให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงชีวิต แต่ในเวลาเดียวกันก็ทำลายเซลในร่างกายและเร่งความแก่และความตายให้มาเร็วขึ้น
พระพุทธองค์ตรัสว่า “ความแก่มีอยู่ในความเป็นหนุ่มสาว ความเจ็บไข้มีอยู่ในความไม่มีโรค ความตายก็มีอยู่ในชีวิต” สั้นกับยาว ขาวกับดำ ต่ำกับสูง เย็นกับร้อน ไม่ได้อยู่คนละขั้วหรือแยกจากกัน ไม้บรรทัดถือว่าสั้นเมื่อวางข้างไม้เมตร แต่กลับยาวเมื่อเทียบกับดินสอ
ในทำนองเดียวกัน ดีกับชั่ว ก็ไม่ได้อยู่แยกกัน คนดีนั้นสามารถทำสิ่งที่ชั่วได้ จะอธิบายว่าเป็นเพราะเขามีทั้งความดีและความชั่วอยู่ในตัวก็ได้ เพราะตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ ก็ยังมีกิเลสหรือโลภ โกรธ หลง ที่สามารถผลักดันให้เอาเปรียบ เบียดเบียน หรือคดโกงผู้อื่นได้ โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยหนุนเสริมหรือยั่วยุ บางคนหักห้ามใจไม่ได้ที่จะยักยอกเงินหลวงเพราะบ้านกำลังจะถูกยึด หรือขโมยนมผงในร้านเพื่อเอาไปเลี้ยงลูกที่กำลังหิวโหย แม้แต่ครูที่เคร่งศีลธรรมก็อาจผลักดันให้ลูกสาววัยเรียนไปทำแท้งเพราะกลัวเป็นขี้ปากของผู้คนในโรงเรียน สามีที่สุภาพอ่อนหวานอาจทำร้ายร่างกายภรรยาเมื่อรู้ว่าฝ่ายหลังนอกใจ หรือเพียงเพราะเขาเครียดหนักจากที่ทำงานก็ได้
ปัจจัยที่หนุนเสริมให้ “คนดี” ทำชั่วนั้น บางครั้งก็ไม่ใช่เพราะเหตุผลหรือความจำเป็นส่วนตัว แต่อาจเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมกระตุ้นเร้าหรือผลักดันก็ได้ ฟิลิป ซิมบาร์โด(Philip Zimbardo)แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เคยทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างนักโทษกับผู้คุม โดยทดลองทำคุกเทียมขึ้นมา แล้วรับอาสาสมัครมารับบทดังกล่าว ปรากฏว่าการทดลองซึ่งกำหนดไว้ ๑๔ วันต้องยุติหลังจากผ่านไปได้เพียง ๖ วัน เพราะผู้คุมใช้ความรุนแรงกับนักโทษอย่างนึกไม่ถึง แถมบังคับให้กระทำสิ่งที่วิตถาร จนนักโทษหลายคนสติแตก
ผลของการทดลองดังกล่าวทิ้งคำถามไว้มากมาย ที่สำคัญก็คือ ทำไมจึงเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ถ้าดูอย่างเผิน ๆ ก็ต้องตอบว่า เป็นเพราะผู้คุมเหล่านี้เลวโดยสันดาน แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ผู้คุมเหล่านี้คัดเลือกจากนักศึกษาที่ผ่านการทดสอบแล้วว่ามีสภาพจิตปกติ หลายคนให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นการทดลองว่า คิดไม่ถึงว่าตนเองจะทำเช่นนั้น บางคนเป็น “นักสันตินิยม” ด้วยซ้ำ คือปฏิเสธสงครามและความรุนแรง แต่แล้วอะไรทำให้เขาเปลี่ยนไปเป็นคนละคน คำตอบก็คือ สภาพในคุกซึ่งให้อำนาจอย่างล้นเหลือแก่ผู้คุม อำนาจเหล่านี้เมื่อผนวกกับกิเลสที่เรียกว่า “มานะ” คือความอยากเป็นใหญ่ ซึ่งรวมถึงความต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปดังใจตน ทำให้อดใจไม่ได้ที่จะใช้อำนาจบาตรใหญ่กับผู้ที่ด้อยกว่า โดยเฉพาะหากเขาขัดขืนคำสั่งของตน
การทดลองของซิมบาร์โดผ่านไปได้ ๓๕ ปีแล้ว แต่ก็ทุกวันนี้ก็ยังมีผู้พูดถึงการทดลองนี้อยู่ โดยเฉพาะเมื่อมีข่าวการทรมานนักโทษอิรักที่อาบูเกรบ ๓ ปีที่แล้ว ภาพนักโทษชายถูกผู้คุมสาวชาวอเมริกันลากคอในสภาพที่เปลือยกายและนอนพังพาบไม่ต่างจากการลากจูงสุนัข ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทหารอเมริกันที่คุมนักโทษเหล่านี้ถูกประณามว่าเป็นพวกวิปริตผิดมนุษย์ แต่นั่นไม่ใช่ภาพประทับที่อยู่ในใจของคนที่รู้จักผู้คุมเหล่านี้ เพื่อนร่วมชั้นพูดถึงผู้คุมสาวคนหนึ่งว่า “เป็นคนที่มีน้ำใจมาก และมีน้ำใจเสมอ” ส่วนผู้คุมสาวที่ปรากฏอยู่ในภาพดังกล่าว เพื่อนบ้านของเธอในสหรัฐอเมริกาก็พูดตรงกันว่าเธอเป็นคนร่าเริงและไม่มีนิสัยทารุณโหดร้าย
คนดี ๆ หรือคนปกติธรรมดาสามารถทำสิ่งเลวร้ายที่เราอาจนึกไม่ถึง อดอล์ฟ ไอค์มานน์ (Adolf Eichmann) นาซีคนสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารโหดชาวยิวร่วม ๖ ล้านคนในสงครามโลกครั้งที่สอง หาใช่คนจิตวิปริตไม่ จิตแพทย์ที่ตรวจสภาพจิตของเขาหลังจากถูกจับกุม ยืนยันว่าเขามีสภาพจิตปกติ รูดอล์ฟ ฮอสส์ (Rudolf Hoss) ผู้บัญชาการค่ายเอาชวิตซ์ ซึ่งขึ้นชื่อว่าโหดเหี้ยมที่สุดในบรรดาค่ายกักกันชาวยิว เป็นคนที่รักครอบครัวและเสียสละ อีกทั้งเป็นคนที่มีน้ำใจในสายตาของเพื่อน ๆ เขายืนยันว่า ไม่มีความเกลียดชังชาวยิวเป็นส่วนตัวเลย แต่หน้าที่เป็นสิ่งสำคัญที่เขาต้องทำให้ลุล่วง ในทำนองเดียวกันฟรานซ์ สแตนเกิล (Franz Stangl)ผู้บัญชาการค่ายทรีบลิงกา (Treblinka) ค่ายนรกที่อื้อฉาวเป็นอันดับสองรองจากเอาชวิตซ์ ก็หาใช่เป็นคนซาดิสต์วิปริตไม่ หากเป็นคนสุภาพ พูดเสียงเบา และอุทิศตัวให้แก่การงาน เช่นเดียวกับฮอสส์ งานคือความสุขและความภาคภูมิใจของเขา
ฮอสส์เป็นแบบอย่างของคนที่มีวินัยสูงมาก เสียสละและทุ่มเทเพื่อภารกิจ จิตใจของเขาจดจ่ออยู่กับงานจนไม่รับรู้ถึงความทุกข์ทรมานของนักโทษในค่ายของเขา สิ่งที่เขาสนใจก็คือรถไฟจะขนนักโทษมาตรงเวลาไหม ควรขนส่งมาวันละกี่เที่ยว และควรใช้เตา(สำหรับรมควันพิษนักโทษ)แบบไหน ด้วยเหตุนี้ค่ายกักกันที่เขาบัญชาการจึงสามารถฆ่าชาวยิวได้เป็นจำนวนมากมาย หากการทำงานด้วยความทุ่มเท เสียสละ โดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยากและประโยชน์ส่วนตัว เป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง คุณธรรมดังกล่าวก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำความชั่วร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อความชั่วร้ายนั้นทำในนามของความดี
มองในแง่นี้ คนดี ๆ ทำความชั่ว ไม่ใช่เพราะในใจเขามีความชั่วอยู่เคียงคู่ความดีเท่านั้น หากความดีนั้นเองก็เป็นปัจจัยให้ทำความชั่วได้ มีนาซีชั้นนำเป็นจำนวนมากที่ร่วมล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวด้วยความเชื่อว่า ยิวนั้นมิใช่เป็นอันตรายต่อเยอรมันเท่านั้น หากยังเป็นภัยคุกคามยุโรป หรือถึงกับเป็นภัยต่ออารยธรรมสมัยใหม่เลยทีเดียว เขาเหล่านี้เชื่อว่าการขจัด “เชื้อโรคยิว” คือความจำเป็นเพื่อความอยู่รอดของเยอรมันและยุโรป กล่าวอีกนัยหนึ่ง พวกเขากำลังทำประโยชน์ใหญ่หลวงให้แก่โลก ดังนั้นจึงต้องเข้มแข็ง ไม่อ่อนไหวง่าย ๆ กับความตายของผู้คน
ความดีนั้นสามารถเป็นปัจจัยให้ทำสิ่งชั่วร้ายได้หากเชื่อว่าเป็นการกระทำในนามของความดี ชาวบ้านที่มีเมตตาสัตว์จึงอาจไม่ลังเลที่จะเข้าไปร่วมวงประชาทัณฑ์ผู้ต้องหาคดีฆ่าข่มขืนจนสลบเหมือด ทั้งนี้เพื่อพิทักษ์ความถูกต้องดีงามในชุมชน แต่นอกจากศีลธรรมแล้ว อุดมการณ์ทางการเมืองก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถผลักดันให้ผู้คนพร้อมทำความชั่วในนามของความดีได้ ศตวรรษที่แล้วมีผู้คนถูกฆ่าตายร่วมร้อยล้านคนในนามของอุดมการณ์ทางการเมืองนานาชนิด หนึ่งในนั้นคือลัทธิคอมมิวนิสม์ คอมมิวนิสม์นั้นต้องการสร้างโลกที่ยุติธรรม ปราศจากชนชั้น ผู้คนมีความสุขถ้วนหน้า จึงสามารถดึงดูดจิตใจผู้คนนับล้านที่มีอุดมคติแรงกล้าให้ร่วมขบวนการ แต่กลับลงท้ายด้วยการสังหารผู้คนหลายสิบล้านโดยเฉพาะในรัสเซียและจีน
อุดมการณ์แม้จะมีจุดมุ่งหมายที่ดี แต่หากยึดมั่นอย่างแรงกล้าจนเห็นว่ามันสำคัญเหนือทุกสิ่ง อีกทั้งมีความยึดมั่นว่าเป็น “ตัวกู ของกู” เป็นพื้นฐานด้วยแล้ว ก็สามารถผลักดันให้ผู้คนทำอะไรก็ได้เพื่ออุดมการณ์ ไม่มีอะไรที่ยืนยันความข้างต้นได้ดีเท่ากับคำพูดของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียผู้หนึ่งในยุคสตาลินว่า “เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของเราคือชัยชนะของลัทธิคอมมิวนิสม์ในทุกหนแห่ง เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ทุกอย่างทำได้ทั้งนั้น ไม่ว่ากล่าวเท็จ ขโมย หรือทำลายผู้คนนับแสนหรือแม้กระทั่งเป็นล้าน หากคนเหล่านี้ขัดขวางงานของเราหรือสามารถจะขัดขวางเรา”
-
(ต่อ)
เมื่อคิดว่า “เรา”คือความดี หรือเป็นตัวแทนของอุดมการณ์ที่ดีเลิศประเสริฐสุดแล้ว คนดี ๆ ก็สามารถทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น ไม่เว้นแม้กระทั่งความชั่วร้าย โดยยังคิดว่านั่นเป็นความดีอยู่ นี้คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาวเขมรตายไปถึง ๒ ล้านคนในชั่วเวลาไม่ถึง ๔ ปีที่เขมรแดงครองอำนาจ เขมรแดงนั้นไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าการปฏิวัติกัมพูชาให้เป็นสังคมที่เสมอภาค ปลอดพ้นจากการกดขี่เอารัดเอาเปรียบ แต่จะทำเช่นนั้นได้ ผู้นำเขมรแดงเชื่อว่าจำต้องสังหารผู้ที่เป็น “ซากเดนของจักรวรรดินิยม ลัทธิอาณานิคม และชนชั้นผู้กดขี่ทั้งหลาย” ด้วยเหตุนี้คำขวัญหนึ่งของเขมรแดงก็คือ “หนุ่มสาวเพียงหนึ่งหรือสองล้านคนก็พอแล้วสำหรับสร้างกัมพูชาใหม่” ที่เหลือนอกนั้นหามีประโยชน์ไม่
ด้วยความเชื่อเช่นนี้ “กัมพูชาใหม่”ภายใต้การนำของพอลพต จึงกลายเป็นแผ่นดินเลือด “ทุ่งสังหาร”เกิดขึ้นทุกหนแห่ง ในสายตาของคนทั่วไป พอลพตคือตัวแทนของมนุษย์ที่โหดเหี้ยมวิปริต แต่ตรงข้ามกับที่เข้าใจกัน เขาเป็นคนที่มีบุคลิกน่าประทับใจ ผู้คนที่รู้จักเขาไม่ว่าในวัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ ตลอดจนผู้ที่ได้พบเขาเมื่อเป็นผู้นำคอมมิวนิสต์ และผู้นำเขมรแดง ไม่เว้นแม้แต่นักหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ พูดสอดคล้องกันว่า เขาเป็นคนที่สงบเย็น เรียบร้อย สุภาพ เป็นกันเอง อบอุ่นและน่าเชื่อถือ จึงไม่น่าแปลกที่เขาได้รับความเคารพรักและศรัทธาจากผู้ใต้บังคับบัญชามาก “แทบไม่ต่างจากนักบุญเลย” ดังคำของเดวิด แชนด์เลอร์ (David Chandler) ผู้เขียนชีวประวัติพอลพต แม้ภายหลังจะมีผู้แปรพักตร์จากเขมรแดงเป็นจำนวนมาก แต่แทบไม่มีใครเลยที่ทำเช่นนั้นเพราะไม่พอใจพฤติกรรมหรือบุคลิกนิสัยของเขา
ไม่ใช่พอลพตเท่านั้น ผู้นำเขมรแดงหลายคนก็มีบุคลิกตรงข้ามกับภาพที่ปรากฏ หนึ่งในนั้นคือสหายดุค (Duch) ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยตำรวจลับ (“สันติบาล”) และเป็นผู้บัญชาการคุกตุลแสลงอันลือชื่อในความหฤโหด คาดว่ามีประมาณ ๑๒,๐๐๐-๒๐,๐๐๐ คนที่ตายอย่างทรมานในคุกนั้นในช่วง ๔ ปีที่เขมรแดงปกครองประเทศ คนที่รู้จักเขายืนยันว่าเขาเป็นเด็กเรียบร้อย เรียนเก่ง และเป็นครูที่ดี ขยันขันแข็ง ฟรังซัวส์ บิโซต์ (Francois Bizot) นักวิชาการชาวฝรั่งเศสซึ่งเคยพบเขาขณะถูกจับกุมด้วยข้อหาว่าเป็นสายลับ กล่าวว่าเขาเป็นคนเงียบ พูดค่อย และมีใจเป็นนักเลง ประการหลังนั้นเป็นเหตุให้ฟรังซัวส์ถูกปล่อยออกมาหลังจากที่มีการโต้เถียงอย่างดุเดือดกับสหายดุคในเรื่องนโยบายของเขมรแดง
ในช่วงที่คุมคุกตุลแสลง สหายดุคได้ชื่อว่าโหดเหี้ยมในการทรมานนักโทษ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลพรรคเขมรแดงที่ถูกกล่าวหาว่าทรยศ แต่อีกภาพหนึ่งของเขาคือเป็นคนรักครอบครัว ทุกเช้าเขาจะล่ำลาและกอดภรรยาก่อนออกไปทำงาน เหตุผลประการหนึ่งซึ่งเปิดเผยในภายหลังคือเขาเองก็ไม่แน่ใจว่าจะมีชีวิตรอดกลับมาบ้านหรือไม่ เพราะบรรยากาศหวาดระแวงในพรรคสูงมาก
เรื่องราวของสหายดุคได้รับความสนใจทั่วโลกเมื่อเขาถูกจับในปี ๒๕๔๒ ฟรังซัวส์ บิโซต์ได้กลับไปเยี่ยมเขา ๔ ปีต่อมา นับเป็นการพบปะครั้งที่ ๒ หลังจากเหินห่างถึง ๓๒ ปี บิโซต์พบว่าบุคลิกของเขาไม่ได้เปลี่ยนไปจากที่เคยพบปะกันครั้งแรก คือเป็นคนปกติธรรมดา พูดค่อย ไม่มีวี่แววของคนโหดเหี้ยมผิดมนุษย์
เรื่องราวของผู้นำนาซีและเขมรแดงเหล่านี้บอกกับเราว่า การทำสิ่งชั่วร้ายอันน่าสะพรึงกลัวนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยน้ำมือของคนปกติธรรมดา หรือคนดี ๆ อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ คนเหล่านี้ไม่ได้ต่างจากเรา และเราก็ไม่ได้ต่างจากเขา คือมีกิเลสที่ผลักดันให้ทำความชั่วได้ หรืออาจทำชั่วในนามของความดี ด้วยแรงจูงใจที่ดี หรือด้วยความยึดมั่นในสิ่งที่ถือว่าดี ความดีกับความชั่วจึงไม่ได้แยกจากกัน ความดีสามารถเป็นปัจจัยให้เกิดความชั่วได้ เช่นเดียวกับที่ความหอมหวานของผลไม้เป็นปัจจัยให้เกิดกลิ่นเน่าเหม็นเมื่อกลายเป็นขยะ
คนดีกับคนชั่วไม่ได้แยกจากกัน คนดีสามารถทำชั่วหรือกลายเป็นคนชั่วได้ แต่ถ้ามองเพียงเท่านี้ก็เท่ากับมองโลกในแง่ร้ายเกินไป อีกด้านหนึ่งของความจริงที่มองข้ามมิได้ก็คือ คนชั่วก็สามารถทำดีหรือกลายเป็นคนดีได้ด้วย สหายดุคเป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ หลังจากที่มีการทำข้อตกลงหยุดยิงของเขมรสามฝ่ายเมื่อปี ๒๕๓๔ เขาได้กลับไปใช้ชีวิตเยี่ยงสามัญชน ดำรงชีพด้วยการสอนหนังสือ และเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนาม เขามีกิตติศัพท์ว่าเป็นครูที่ดี แต่อารมณ์ร้าย วันหนึ่งในปี ๒๕๓๘ เพื่อน ๆ ชักชวนเขาไปร่วมการอบรมผู้นำชาวคริสต์ที่พระตะบอง ที่นั่นเองที่เขาเกิดศรัทธาในพระเจ้า และเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ เขาเปิดเผยกับครูสอนศาสนาว่า เขาไม่เคยได้รับความรักมาเลยตั้งแต่เล็กจนโต แต่เมื่อหันมารับพระคริสต์ ความรักได้ท่วมท้นหัวใจเขา หลังจากนั้นเขาได้เปลี่ยนมาเป็นครูสอนศาสนา และทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งในเขมรและในค่ายอพยพใกล้ชายแดนไทย
คริสโตเฟอร์ ลาเปล (Christopher Lapel) ผู้ชักนำดุคมาสู่ศาสนาคริสต์โดยไม่รู้ประวัติของเขามาก่อน เล่าว่าก่อนเข้ารีต ดุคมาสารภาพกับเขาว่าเขาได้ทำสิ่งชั่วร้ายมามากมาย และไม่แน่ใจว่าผู้คนจะให้อภัยเขาหรือไม่ แต่เขาก็ไม่ได้เปิดเผยว่าได้ทำอะไรลงไป อย่างไรก็ตามลาเปลสังเกตว่าเขาได้เปลี่ยนไปมากหลังจากเปลี่ยนศาสนา คือผ่อนคลายมากขึ้น หยอกล้อกับเพื่อน ๆ และแต่งตัวสุภาพกว่าเดิม
ดุคคงใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสงบหากไม่ได้พบกับนักหนังสือพิมพ์อเมริกันผู้หนึ่ง ซึ่งตามหาเขามาหลายปี เมื่อถูกซักถาม ดุคยอมรับอย่างไม่ปิดบังว่าเขาเป็นใคร รวมทั้งสารภาพว่าได้ทำอะไรไว้บ้างในช่วงที่เป็นใหญ่ในเขมรแดง เขาถูกจับกุมไม่นานหลังจากที่บทสัมภาษณ์ดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๐ เขาถูกตั้งข้อหาว่ากระทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และจะต้องขึ้นศาลที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ
คนที่ทำความชั่วแม้ร้ายแรงถึงขั้นเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ น้อยนักที่จะเป็นคนชั่วโดยสันดาน (หากคนที่ชั่วโดยสันดานมีอยู่จริงในโลกนี้) อย่างน้อยเขาก็เคยเป็นคนดี ๆ อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ มาก่อน อีกทั้งยังมีความดีหลงเหลือในใจอยู่ไม่มากก็น้อย ความดีดังกล่าวหากได้รับการหนุนเสริมเพิ่มกำลัง ก็สามารถเอาชนะความชั่วร้ายในใจ หรือชักนำเขาให้ทำความดีได้ คำถามก็คือเขาจะได้รับโอกาสให้ทำเช่นนั้นได้หรือไม่ ตอบอาจไม่ยาก แต่ทำใจให้ได้กลับยากกว่า ทั้งนี้ก็เพราะเราทุกคนมีความโกรธแค้นพยาบาทอยู่ด้วยกันทั้งนั้น แต่ถ้าไม่รู้จักการให้อภัยเลย เราจะเอาชนะความชั่วร้ายในใจตนได้อย่างไร
:- https://visalo.org/article/sarakadee255011.htm
-
ชีวิตบนเส้นลวด
รินใจ
หากตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ไม่ถูกเครื่องบินพุ่งชนจนถล่มทลายเมื่อ ๗ ปีที่แล้ว แฟนหนังสไปเดอร์แมนจะต้องได้เห็นพระเอกของพวกเขาปีนป่ายตึกแฝดหรือเหินโจนฝ่าอากาศระหว่างตึกอย่างน่าหวาดเสียว ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ฉากดังกล่าวถูกตัดไปหลังจากเกิดเหตุ ๑๑ กันยา ฯ
แต่มีน้อยคนที่รู้ว่าเมื่อ ๓๔ ปีที่แล้ว เคยมีคนจริง ๆ ตัวเป็น ๆ เดินฝ่าอากาศระหว่างยอดตึกแฝด ไม่ใช่เดินแค่เที่ยวเดียว แต่เดินไปมาหลายเที่ยว โดยมีเส้นลวดสลิงรองรับฝ่าเท้าของเขาเท่านั้น
ฟีลิปป์ เปอตีต์ มีความใฝ่ฝันที่จะเดินไต่ลวดระหว่างยอดตึกแฝดทันทีที่เขารู้ข่าวว่ามีการก่อสร้างตึกดังกล่าว ก่อนหน้านั้นหนุ่มฝรั่งเศสผู้นี้เคยเดินระหว่างยอดหอสูงของวิหารนอเตรอะดาม รวมทั้งเสี่ยงอันตรายเหนือสะพานอ่าวซิดนีย์มาแล้ว แต่ทั้งสองแห่งเทียบไม่ได้เลยกับตึกแฝดที่นิวยอร์คซึ่งสูงถึง ๔๐๐ เมตร
เขากับเพื่อน ๆ ลักลอบเข้าไปในตึกแฝดซึ่งยังก่อสร้างไม่เสร็จดี เมื่อขึ้นไปถึงดาดฟ้าก็รอจนค่ำ จากนั้นก็ขึงลวดสลิงโดยผูกกับลูกธนูแล้วยิงข้ามตึก พอรุ่งสางเขาก็เริ่มเดิน เขามีเพียงไม้ยาวอยู่ในมือเพื่อเลี้ยงตัวให้สมดุล บนนั้นบรรยากาศสงบอย่างยิ่ง ตรงข้ามกับข้างล่างซึ่งมีคนนับพันส่งเสียงเอะอะโวยวายด้วยความงงงันเมื่อเงยหน้าเห็นสิ่งแปลกประหลาดข้างบน
ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าตำรวจกำลังมา แต่เปอตีต์เดินอย่างสงบ ไม่วอกแวก เมื่อเดินถึงยอดตึกฝั่งตรงข้าม เขาก็เดินย้อนกลับไปทางเก่า ทำเช่นนี้ไปได้ไม่นานก็เห็นตำรวจมายืนคอยเขาอยู่ที่ปลายลวด แต่เขาก็ยังไม่เลิกเดิน พอถึงปลายลวดตำรวจพยายามคว้าตัวเขาเอาไว้ แต่เขาก็กลับตัวกลางอากาศอย่างคล่องแคล่ว แล้วเดินไปยังตึกตรงข้าม เปอตีต์เดินไป-มาเช่นนี้ถึง ๘ เที่ยว อยู่กลางอากาศอย่างเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายนานถึง ๔๕ นาที จึงยอมให้ตำรวจจับในที่สุด
เขาให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่าเขาเพียงแค่อยากเดิน ไม่ได้อยากดังหรืออยากรวย เขารู้สึกว่าตึกแฝด “เลือก”เขา แล้วเขาก็พบว่านั่นเป็นประสบการณ์ที่สร้าง “ความใกล้ชิดสนิทแนบระหว่างผมกับตึกแฝด”
ลองนึกภาพว่าคุณอยู่บนยอดตึกซึ่งสูงเกือบครึ่งกิโลเมตรแล้วมองลงมาข้างล่าง เท่านี้หัวใจคุณก็คงเต้นแรงและรู้สึกเสียววาบ จนทนมองต่อไปไม่ได้ ต้องเบือนหน้าหนี แต่เปอตีต์กลับกล้าที่จะทำยิ่งกว่านั้น ซึ่งเป็นการเอาชีวิตเป็นเดิมพัน พลาดเพียงนิดเดียวหมายถึงตาย
แต่เปอตีต์บอกว่าบนนั้นเขาไม่เคยคิดถึงความตายเลย ในความรับรู้ของเขาโลกทั้งโลกตอนนั้นคงมีแต่ตัวเขากับเส้นลวดเท่านั้น เขาจึงมีสมาธิแน่วแน่อยู่กับการไต่ลวด
แม้จุดหมายจะอยู่ที่ยอดตึกฝั่งตรงข้าม แต่ขณะที่ไต่ลวด เขาไม่ได้นึกถึงยอดตึกเลยด้วยซ้ำ เขาเปิดเผยในเวลาต่อมาว่าตอนที่อยู่กลางอากาศนั้นใจเขาจดจ่ออยู่แค่ก้าวเท้าข้างหนึ่งให้มาอยู่หน้าอีกข้างหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้คิดไปไกลกว่านั้นเลย สำหรับเขา “ชีวิตอยู่ที่ตรงนี้และเดี๋ยวนี้เท่านั้น”
เป็นเพราะใจจดจ่ออยู่แค่แต่ละก้าว ๆ หรือ “ตรงนี้และเดี๋ยวนี้”เท่านั้น เขาจึงแคล้วคลาดจากอันตราย ประสบการณ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นประโยชน์สำหรับนักไต่ลวดเท่านั้น แต่ยังเป็นข้อคิดที่สำคัญมากสำหรับทุกคนด้วย
เปอตีต์เป็นตัวอย่างของผู้ทำสิ่งยากที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ให้สำเร็จได้ด้วยการจดจ่ออยู่กับ “ปัจจุบันขณะ” คือทำแต่ละก้าวให้ดีที่สุด ในการทำงานก็เช่นกัน ไม่ว่างานจะยากและใช้เวลานานเพียงใดก็ตาม มันจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อเราจดจ่ออยู่กับการทำแต่ละชั่วโมง แต่ละนาที และแต่ละวินาทีให้ดีที่สุด มิใช่มัวคิดถึงเป้าหมายหรือผลสำเร็จข้างหน้า ตรงกันข้ามการคิดถึงเป้าหมายที่ยังอยู่อีกไกล มีแต่จะทำให้ใจกังวลท้อแท้ พาลให้อยากวางมือกลางคันด้วยซ้ำ
เวลาเดินทางไกล ถ้าใจนึกถึงจุดหมายปลายทางข้างหน้าตลอดเวลา จะรู้สึกว่าถึงช้าเหลือเกิน ปฏิกิริยาต่อมาคืออยากให้ถึงไว ๆ และเมื่อไม่เป็นไปดั่งใจ ก็จะเริ่มบ่นว่าเมื่อไรจะถึง ๆๆๆ ยิ่งบ่นก็ยิ่งร้อนใจ ทั้ง ๆ ที่ต้องการไปพักผ่อนหย่อนใจ แต่กลับทุกข์ตั้งแต่เริ่มเดินทางเสียแล้ว จะไม่ดีกว่าหรือหากพาจิตกลับมาอยู่กับปัจจุบัน นั่งอ่านหนังสือ หรือชื่นชมธรรมชาติสองข้างทางก็ได้ ยิ่งอยู่กับปัจจุบันมากเท่าไร ก็จะยิ่งรู้สึกโปร่งเบา และรู้สึกว่าถึงเป้าหมายเร็วกว่าที่คิด
ในยามวิกฤตก็เช่นกัน แม้ข้างหน้าจะเต็มไปด้วยอันตราย แต่จะไปกังวลถึงมันไปทำไม ในเมื่อมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ควรทำในปัจจุบัน และเมื่อลงมือทำสิ่งใดก็ควรทุ่มเทความใส่ใจลงไปในสิ่งนั้นอย่างเต็มที่ ทำสิ่งที่กำลังทำอยู่ให้ดีที่สุด เมื่อเสร็จอีกชิ้นหนึ่งก็ต่ออีกชิ้นหนึ่ง โดยไม่กังวลว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากผิดพลาดหรือล้มเหลว หากเปอตีต์คิดถึงร่างของตัวที่ตกกระแทกพื้นจนแหลกเหลวเพราะก้าวพลาด เขาคงก้าวพลาดจริง ๆ เพราะใจไม่มีสมาธิอีกต่อไป
แต่ไม่ว่าจะมีวิกฤตรออยู่เบื้องหน้าหรือไม่ กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว เราทุกคนก็ไม่ต่างจากนักไต่ลวด เพราะชีวิตของเราอยู่ในความเสี่ยงตลอดเวลา เป็นแต่จะรู้ตัวหรือไม่ แค่กดสวิตช์ไฟโดยไม่ระวังตัวก็อาจถูกไฟช็อตถึงตายได้ ขับรถแต่ละวินาทีมีสิทธิ์รับเคราะห์จากอุบัติเหตุได้ตลอดเวลา บางคนยืนบนเส้นกลางถนนเพื่อเตรียมข้ามไปอีกฝั่งหนึ่ง จู่ ๆ ก็มีรถแล่นมาเฉี่ยวข้างหลังจนหัวฟาดพื้น หรือนอนอยู่ดี ๆ หัวใจก็หยุดเต้น หมดลมโดยไม่ทันได้ล่ำลาใครทั้งนั้น
ดังนั้นการทำปัจจุบันให้ดีที่สุด จึงเป็นหลักประกันอย่างเดียวในชีวิตว่า สิ่งที่ฝันใฝ่จะเป็นจริงได้ เพราะปัจจุบันคือสิ่งเดียวที่เรามีอยู่และสามารถทำอะไรได้ อดีตนั้นผ่านไปแล้ว ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ส่วนอนาคตก็ยังมาไม่ถึง และจะมาถึงในลักษณะใดก็ไม่มีใครล่วงรู้ได้ อย่าว่าแต่จะจัดการเลย (ภาษิตธิเบตกล่าวว่า ระหว่างพรุ่งนี้กับชาติหน้า ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะมาถึงก่อน) แน่นอนการวางแผนถึงอนาคตเป็นสิ่งดี แต่เมื่อถึงเวลาลงมือทำ ก็ควรใส่ใจกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ให้ดีที่สุด ซึ่งรวมถึงภาระหน้าที่ที่กำลังมีอยู่ด้วย
มีคนไม่น้อยใช้เวลามากมายในการตามล่าหาฝัน หมกมุ่นอยู่กับการสร้างอนาคตที่วาดหวังให้เป็นจริง แต่กลับละเลยปัจจุบัน ลืมครอบครัว ลืมสุขภาพ ลืมกายลืมใจ แล้ววันหนึ่งก็พบว่าตนเองป่วยเป็นโรคร้าย ไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายที่วาดหวัง ถึงตอนนั้นจึงเสียใจที่ให้เวลาน้อยมากกับลูก ๆ และพ่อแม่ แต่ครั้นจะขอเวลาเพิ่มเพื่ออยู่กับเขาให้มากขึ้น ก็ทำไม่ได้เสียแล้ว เพราะเวลาที่อยู่บนโลกนี้ใกล้จะหมดแล้ว
จดจ่อใส่ใจกับแต่ละก้าวให้ดีที่สุด ย่อมถึงจุดหมายปลายทางในที่สุด แต่หากมีเหตุพลิกผัน ไปไม่ถึง อย่างน้อยก็ยังได้รับความสุขในปัจจุบัน เพราะทุกขณะแห่งปัจจุบันมีความสุขรอให้เราเก็บเกี่ยวเสมอ ตรงกันข้ามหากหมกมุ่นอยู่กับอนาคต เพราะหวังความสุขข้างหน้า นอกจากจะพลาดความสุขในปัจจุบันแล้ว แม้แต่ความสุขข้างหน้าที่วาดหวังก็อาจไม่ได้รับเช่นเดียวกัน เพราะไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง
๓๔ ปีหลังจากประสบความสำเร็จอันงดงาม มีคนถามเปอตีต์ว่ารู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์ครั้งนั้น เขาตอบว่าเขาไม่เคยมองเลยว่าความสำเร็จครั้งนั้นเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของเขา “สำหรับผม ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของชีวิตผมคือวันนี้ ผมไม่รู้สึกอาลัยอาวรณ์ช่วงเวลานั้นเลย”
วันนี้คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดของคุณ อย่าให้อดีตไม่ว่างดงามหรือเจ็บปวดแย่งชิงคุณไปจากปัจจุบัน และอย่าทิ้งปัจจุบันไปอยู่กับอนาคต ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด อนาคตก็จะงดงามเอง
:- https://visalo.org/article/sarakadee255111.htm -
สิ่งที่ประเสริฐกว่าโชค
พระไพศาล วิสาโล
เมื่อหลายปีก่อนมีสามีภรรยาคู่หนึ่งได้รางวัลที่หนึ่งสลากกินรวบ ได้เงินประมาณร้อยล้านเหรียญ ประมาณสามพันกว่าล้านบาท ลองนึกดูซิว่าถ้าเราได้ลาภขนาดนี้ ชีวิตจะมีความสุขมากแค่ไหน ใครๆก็นึกว่าผัวเมียคู่นี้จะมีชีวิตผาสุกไปจนตาย ๕ ปีผ่านไป นักข่าวคนหนึ่งได้ติดตามชีวิตของสามีคู่นี้เพราะอยากจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ปรากฏว่าทั้งสองแยกทางกัน สามีกลายเป็นคนติดเหล้าและตายเพราะโรคที่เกี่ยวกับเหล้า ส่วนภรรยาก็แยกไปอยู่ในคฤหาสน์ที่ใหญ่โตแต่ก็ตายเหมือนกัน ตายคนเดียวโดยไม่มีเพื่อน
เพียงแค่ ๕ ปีเท่านั้น ชีวิตแทนที่จะมีความสุขกลับตกต่ำยิ่งกว่าเดิม ตกต่ำตอนกว่าตอนที่ยังไม่ถูกสลากกินรวบนี้ด้วยซ้ำ สองคนนี้มีเงินมากมายมหาศาล แต่กลับอายุสั้น และกลายเป็นคนไม่มีเพื่อน ชีวิตแบบนี้มีความสุขหรือเปล่า ที่เป็นอย่างนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่าเจอลาภก้อนใหญ่ใช่ไหม คนเราเวลาเจอลาภก้อนใหญ่ อย่าคิดว่าจะมีความสุขเสมอไป อาจจะทุกข์ก็ได้ เหมือนสามล้อถูกหวย หรือชาวนาที่ขายที่ดินได้เงินเป็นสิบล้าน ผ่านไปไม่กี่ปีกลายเป็นคนจน เพราะพอได้เงินมาก็ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย ทั้งเที่ยวทั้งเล่น เที่ยวก็คือเที่ยวกลางคืน เที่ยวผู้หญิง เล่นก็คือเล่นการพนัน ใช้จ่ายกันทีละล้านสองล้านกันก็มี พอเงินหมดก็ไม่รู้ว่าจะทำมาหากินอะไรเพราะว่าที่ดินก็ขายไปแล้ว กลายเป็นกรรมกร ขายแรงงาน ชีวิตตกต่ำย่ำแย่กว่าเดิม
ที่อเมริกามีคนหนึ่งถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ เขาจึงเลยเลิกงานเก่า มาเปิดร้านเช่าวีดีโอ ทำงานแบบสบาย ๆ วันๆก็เอาแต่กิน กินอย่างเดียวไม่ทำอะไรมาก ใครจะมาเช่าหรือไม่มาเช่าก็ไม่สนใจเพราะมีเงินเยอะ พอกินมาก ๆ ไม่เขยื้อนขยับ ก็กลายเป็นคนอ้วน น้ำหนักนับร้อยกิโล จนต้องเข้าโรงพยาบาล ไปไหนมาไหนลำบาก เงินที่สะสมไว้ในที่สุดก็หมด เพราะไม่ได้ตั้งใจทำมาหากิน สุดท้ายนี้กลายเป็นคนยากจน ต้องพึ่งเงินสงเคราะห์ของรัฐ เพราะว่าเจ็บป่วยมากทำมาหากินไม่ได้ แล้วก็ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่แพง
มีตัวอย่างมากมาย คนที่ได้โชคมาแล้ว ชีวิตไม่ได้ดีขึ้น กลับตกต่ำลำบากกว่าเดิม ทั้งนี้ก็เพราะชีวิตของคนเราจะดีหรือสุข ไม่ได้อยู่ที่ว่ามีโชคลาภหรือสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับเรา แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร ได้โชคแต่ประมาทหลงระเริงใช้เงินไม่เป็น ชีวิตก็ตกต่ำเหมือนกับนักมวยโอลิมปิกเหรียญทอง เหรียญเงิน หลายคนของไทย ชีวิตตกต่ำไม่นานหลังจากได้เงินรางวัล๒o ล้าน หลายคนเป็นหนี้เป็นสิน บางคนเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง บางคนครอบครัวแตกแยก
ในทางตรงข้าม บางคนมีชีวิตที่ลำบาก ยากจน อับโชค แต่เขาอาจมีความสุขใจก็ได้ สุขหรือทุกข์อยู่ที่ใจ เมื่อยอมรับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นตระหนักว่าป่วยการที่จะบ่นตีโพยตีพาย หากป่วยกายแล้วยังตีโพยตีพายอีก ใจก็ป่วยตามไปด้วย แต่ถ้ากายป่วย แต่รักษาใจให้ดี ก็เป็นสุขได้
มีฝรั่งคนหนึ่งชื่อ ฌอง โดมินิค โบบี้ เขาประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ผลก็คือร่างกายกระดิกกระเดี้ยไม่ได้ ขยับเนื้อขยับตัวไม่ได้เลย สื่อสารด้วยการกระพริบตา ว่าใช่ หรือ ไม่ใช่ แต่ปรากฏว่าเขาใช้วิธีนี้เขียนหนังสือได้ ๑ เล่ม หนังสือนั้นชื่อว่า “ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ” เป็นหนังสือที่ขายดีและสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนมาก มีการแปลเป็นไทยและก็มีการทำเป็นหนัง ใครที่ได้อ่านก็รู้สึกประทับใจและมีกำลังใจมาก ขนาดพิการอย่างนี้ยังมีความหวัง และมีอารมณ์ขัน เขาตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า ชุดประดาน้ำกับผีเสื้อ เพราะว่ามันแทนตัวเขาได้ดี คือ ร่างกายของเขามีสภาพเหมือนคนที่ถูกขังอยู่ในชุดประดาน้ำ ชุดประดาน้ำทำด้วยเหล็กทั้งชุด หนักมาก เพื่อให้จมลงไปในน้ำได้ ใครที่อยู่ในชุดประดาน้ำ จะขยับเขยื้อนได้ลำบากมาก
ส่วนผีเสื้อหมายถึงจิตใจของเขา คือ แม้ร่างกายจะถูกพันธนาการ แต่จิตใจมีอิสระ เหมือนผีเสื้อที่สามารถบินไปดูดน้ำหวาน จากดอกไม้สวยๆ หรือจะบินไปตามทุ่งหญ้าที่งดงาม อันนี้ก็คือความรู้สึกนึกคิดของคน ๆ นี้ ถ้าเราเป็นอยางนั้นบ้าง คงทุกข์ทรมานมาก อยากตายมากกว่า เพราะทำอะไรไม่ได้เลย พูดก็ไม่ได้ ไม่สามารถจะบอกความเจ็บความปวดได้ ทำได้แต่เพียงกระพริบตากับอยู่ไปวันๆ แต่เขาไม่คิดอย่างนั้น เขาคิดว่าชีวิตในแต่ละวันมีคุณค่ามีความหมาย และเขาสามารถถ่ายทอดความรู้สึกนี้ออกมาได้อย่างดี ทำให้คนอ่านมีกำลังใจได้
อาตมาจึงอยากจะเน้นว่าสุขและทุกข์ของคนเราไม่ได้อยู่ที่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา แต่อยู่ที่ว่าเราวางใจหรือเกี่ยวข้องกับมันอย่างไรต่างหาก ทุกวันนี้คนเรามักอยากให้มีแต่สิ่งดีๆเกิดขึ้นในชีวิตเรา เวลาเราทำบุญก็อยากให้มี อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ อยากให้มีเงินอยากให้อายุยืน เราปรารถนาหรือหวังให้มีแต่สิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา แต่เราไม่ค่อยได้คิดเท่าไหร่ว่าถ้ามันเกิดขึ้นกับเราจริงๆ เราจะรับมือกับมันไหวหรือเปล่า ผู้คนไม่ค่อยได้คิดตรงนี้ หากเกิดลาภ เกิดโชคกับเราจริงๆ ประเภทราชรถมาเกย หรือเกิดส้มหล่น เราแน่ใจหรือเปล่าว่าเราจะรับมือกับมันได้ ผู้คนเป็นอันมากรับมือกับมันไม่ได้เพราะไม่ได้เตรียมใจ ไม่ได้ฝึกใจที่จะเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้เลย
คนเราถ้าเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆไม่เป็นแม้จะเป็นสิ่งดีๆก็เป็นทุกข์หรือเกิดโทษได้ ในทางตรงข้าม แม้เจอสิ่งแย่ ๆ แต่รู้จักเกี่ยวข้องกับมัน ก็เป็นสุขหรือเกิดประโยชน์ได้ นี้คือความจริงที่พึงตระหนักในการดำเนินชีวิต
แม้เจอเคราะห์ซ้ำกรรมซัด แต่หากวางใจเป็น เพราะฝึกมาดีแล้ว ใจก็ไม่ทุกข์ สุขหรือทุกข์จึงอยู่ที่ใจเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงอย่ามัวแต่ตั้งจิตปรารถนาว่า ขอให้มีสิ่งที่ดีๆเกิดขึ้นกับฉัน แต่ควรสนใจว่า ทำอย่างไรเราจึงจะมองหรือเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ ให้ถูกต้อง จะดีกว่า หรือตั้งจิตปรารถนาว่า ทำอย่างไรจึงจะมีสิ่งดีๆเกิดขึ้นในใจเรา อันนี้สำคัญกว่า
ถ้าเราสามารถสร้างสิ่งดีๆให้เกิดขึ้นในใจได้ อย่างที่พระพุทธเจ้าเรียกว่าอริยทรัพย์ มีศรัทธา มีปัญญา มีศีล มีสติ มีสมาธิ มีเมตตา มีจิตใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักเกื้อกูล สิ่งเหล่านี้จะทำให้จิตใจเรามีคุณภาพใหม่ เรียกว่าเป็นจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยบุญด้วยกุศล บุญเป็นชื่อของความสุข บุญเป็นชื่อของความดี ถ้าเรามีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในใจ ก็เท่ากับว่าเราพร้อมที่จะเผชิญกับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เราจะไม่กลัวว่าจะมีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้นกับเรา เพราะว่าเราเตรียมตัวไว้แล้ว ไม่ว่าความเจ็บความป่วย ความล้มเหลวในการทำงาน คำต่อว่าด่าทอ เจอสิ่งเหล่านี้เราก็ไม่ทุกข์เพราะว่าเรามีใจที่ฝึกไว้ดีแล้ว
สิ่งนี้สำคัญกว่าโชค สำคัญกว่าลาภ สำคัญกว่าชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นหลักประกันว่าเราจะมีชีวิตที่ดีกว่า และนำไปสู่การมีชีวิตที่ดีที่สุดด้วย เพราะฉะนั้นเวลาเราปรารถนาจะให้มีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับเรา อย่าหวังเพียงแค่ว่า ขอให้รวย ขอให้มีชื่อเสียง แต่ว่าควรจะหวังมากกว่านั้น และลงมือทำด้วย
ระยะหลังอาตมาสังเกตว่า เวลารับบาตรหรือรับสังฆทาน นับวันผู้คนจะอธิษฐานนานขึ้นเรื่อย ๆ บางคนอธิษฐานนานเป็นนาทีก่อนจะถวาย เช่น ขอให้รวย ขอให้หายป่วย ขอให้ถูกหวย ขอให้ขายที่ได้ ขอให้ได้บ้านหลังใหญ่ ขอให้ประสบความสำเร็จ ขอให้สมัครงานได้ ขอให้ลูกสอบติดมหาวิทยาลัย ขอให้สอบเข้าได้ ฯลฯ อธิษฐานยาวเหยียดเลย ผิดกับชาวบ้านสมัยก่อน เวลาทำบุญใส่บาตรเขาอธิฐานสั้นมาก คืออธิษฐานว่า นิพพาน ปัจจโย โหตุ ขอให้เป็นปัจจัยไปสู่พระนิพพาน อย่างอื่นเขาไม่สนใจ ไม่ว่า เงินทอง ชื่อเสียง ความสำเร็จ เพราะเขารู้ว่า มันเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย ถึงได้มาก็ยังมีความทุกข์อยู่ มันไม่ใช่ชีวิตที่ประเสริฐที่สุด ชีวิตที่ประเสริฐคือชีวิตที่เข้าถึงนิพพาน จึงอธิษฐานสั้นๆตรงประเด็น ถ้าเราฉลาด เราก็จะมุ่งที่ตรงนี้ คือชีวิตที่ดีที่สุด ไม่ใช่ชีวิตที่แค่ดีเฉยๆ
:- https://visalo.org/article/KomChadLuek580104.html
-
เมื่อมีความรักทำอย่างไรจึงจะทุกข์น้อยที่สุด
พระไพศาล วิสาโล
ปุจฉา การครองคู่ครองรักในทางโลกนั้นย่อมถูกเจือด้วยกิเลสที่เรียกว่าของเรา หรือ สิเนหะ ตามลักษณะของจิตที่ยังต้องวนเวียนอยู่ในภพของกามคุณอยู่ เราจักครอบครองความรักที่มีให้มีความสุขที่ยั่งยืน ให้ทุกข์น้อยที่สุดได้ด้วยวิธีใดครับ
วิสัชนา
ควรมีเมตตามาแทนที่สิเนหะ เมตตานั้นคือความปรารถนาดีต่อผู้อื่นโดยไม่หวังประโยชน์ตอบแทน เป็นความรักที่มิได้มุ่งปรนเปรออัตตาหรือตัณหา กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือความรักที่ไม่มีเงื่อนไข
ความรักดังกล่าวจะเป็นเมตตาอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อมีปัญญาประกอบด้วย กล่าวคือการเห็นความจริงว่าไม่มีอะไรที่เป็นเราหรือของเราเลย ปัญญาดังกล่าวจะช่วยให้ไม่ยึดติดถือมั่นทั้งเขาและเรา ดังนั้นแม้เขาไม่เป็นดั่งใจ เราก็ไม่ทุกข์ ครั้นเขาแปรผันหรือล้มหายตายจากไป เราก็ไม่คร่ำครวญเพราะเห็นว่าเป็นธรรมดาโลก
แม้ยังไม่มีปัญญาถึงขั้นเห็นแจ้งในสัจธรรม แค่ตระหนักด้วยโยนิโสมนสิการ (หรือการคิดถูกต้องตามหลักเหตุผล) ว่าเขามิใช่ของเรา เขามีชีวิตเป็นของตนเอง ก็ช่วยให้ใจปล่อยวางตัวเขาได้ในระดับหนึ่ง (พ่อแม่หลายคนพอตระหนักว่า ลูกไม่ใช่ของฉัน ปรากฏว่าความเครียดลดลงไปมาก แม้ยังรักเขาอยู่ก็ตาม)
ธรรมอีกข้อหนึ่งที่สำคัญและเชื่อมโยงกับปัญญา ก็คือ อุเบกขา กล่าวคือเมื่อช่วยเขาเต็มที่ด้วยเมตตากรุณาแล้ว ไม่ประสบความสำเร็จหรือไม่เกิดผลดังที่ต้องการ ก็ควรรู้จักวางใจเป็นอุเบกขา คือปล่อยวาง หรือหากพบว่าถ้าช่วยมากไปกว่านี้ จะเกิดผลเสียหายตามมา ก็ยุติแต่เพียงเท่านั้น
อุเบกขาจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะมีปัญญารู้ว่าช่วยเท่าใดจึงจะพอเพียง และเมื่อใดควรจะหยุด อุเบกขาเป็นธรรมข้อหนึ่งที่ช่วยกำกับเมตตากรุณาให้อยู่ในขอบเขตที่พอดี กล่าวอีกนัยหนึ่งคือช่วยให้สามารถมีเมตตาได้โดยใจไม่ทุกข์
:- https://visalo.org/article/KomChadLuek580502.html
-
บูมเมอแรงแห่งชีวิต
พระไพศาล วิสาโล
เมื่อเราเหวี่ยงบูมเมอแรงออกไป สักพักมันก็จะย้อนกลับมาหาเรา ใช่หรือไม่ว่าการกระทำของเราก็เช่นกัน เราทำอะไรกับสิ่งใดไว้ สิ่งนั้นย่อมส่งผลกลับมาที่เรา แม้จะไม่รวดเร็วหรือชัดเจนเหมือนบูมเมอแรงก็ตาม เมื่อเราจัดดอกไม้ให้งดงาม ดอกไม้นั้นก็กลับมาจัดใจเราให้งดงามตามไปด้วย เวลาเราจัดวางสิ่งของให้เป็นระเบียบ ดูแลบ้านให้สะอาด ใจเราก็พลอยเป็นระเบียบและสะอาดไปด้วย แต่ถ้าเราทิ้งของระเกะระกะ ปล่อยให้บ้านรกสกปรก บ้านนั้นก็ปรุงแต่งใจเราให้รกรุงรังไปด้วย
สิ่งของที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องนั้น มิได้เป็นฝ่ายถูกกระทำอย่างเดียว หากยังกระทำต่อเราด้วย คนที่ให้คุณค่าสูงส่งแก่เพชรนิลจินดา ย่อมรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าหรือสถานะสูงส่งขึ้นยามได้สวมสร้อยเพชร แต่บางครั้งก็ถึงกับนอนไม่หลับหากมีเพชรเม็ดงามอยู่ใต้เตียง ต้นไม้ในสวน ทีแรกเราเป็นฝ่ายดูแลรักษามัน แต่เมื่อเติบใหญ่ มันกลับดูแลรักษาเรา เช่น ให้ร่มเงา ให้อาหาร เป็นสวัสดิการในยามแก่ หรือปกป้องร่างของเราในยามสิ้นลม ดังชาวต้งในประเทศจีนซึ่งมีหน้าที่ดูแลต้นไม้ประจำตัว(ที่ปลูกตั้งแต่แรกเกิด)ไปจนตลอดชีวิต และเมื่อสิ้นลมต้นไม้ต้นนั้นจะถูกโค่นเพื่อทำเป็นโลงบรรจุร่างของเขา
ของชิ้นใดก็ตามหากเรายึดว่าเป็น “ของเรา”เมื่อใด มันก็จะมีอิทธิพลต่อเราทันที จนเรากลายเป็น “ของมัน”ไปเลยก็มี เช่น ยอมตายเพื่อรักษามันเอาไว้ ถ้ามันเกิดมีอันเป็นไป เสียหาย เสื่อมทรุด หรือสูญไป เราก็อาจล้มทรุดไปด้วย หรือถึงกับหมดสติไปเลยก็ได้
มิใช่แต่สิ่งที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้เท่านั้น แม้แต่สิ่งที่เป็นนามธรรมก็เช่นกัน ทีแรกเราปรุงแต่งมัน ต่อมามันกลับเป็นฝ่ายปรุงแต่งเรา จนถึงขั้นเป็นนายเรา ความคิดทั้งหลายที่เราก่อรูปขึ้นมาในหัว มันสามารถทำให้เรากินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะใจถูกมันสั่งให้คิด ๆ ๆ ต่อไปไม่ยอมหยุดบางครั้งมันก็ชักนำหรือบงการให้เราทะเลาะเบาะแว้งกับใครก็ได้หากเขาไม่เห็นด้วยกับความคิดนั้น แม้คนนั้นจะเป็นพ่อแม่ ลูกหลานหรือคนรักก็ตาม ถ้ายึดมั่นถือมั่นกับความคิดใดมาก ๆ มันจะทำทุกอย่างเพื่อขัดขวางไม่ให้เราเห็นหรือยอมรับความจริงที่สวนทางกับความคิดนั้น มันจะสั่งให้เราบอกปัดความจริงนั้นและจมอยู่ในความคิดนั้นต่อไป แต่ถ้าปรุงแต่งและหลงจมอยู่กับความคิดว่าฉันเป็นคนไร้ค่าเมื่อใด ความคิดนั้นก็สามารถบัญชาให้เราทำร้ายตัวเองได้เมื่อนั้น ใช่หรือไม่ว่าทุกวันนี้เรากำลังกลายเป็นทาสของความคิดที่ตัวเองสร้างขึ้นมาทั้งนั้น
สิ่งของฉันใด คนก็ฉันนั้น ไม่ว่าเราจะเกี่ยวข้องกับใคร คนนั้นย่อมมีอิทธิพลต่อเราเสมอไม่มากก็น้อย แม้แต่ผู้นำที่มีอำนาจก็หนีความจริงไม่พ้นว่า ลูกน้องไม่ได้อยู่ในอิทธิพลของเขาแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลต่อเขาด้วย อย่างน้อยเขามีอำนาจได้ก็เพราะการยอมรับของลูกน้อง ถ้าลูกน้องไม่ยอมรับหรือไม่ให้ความร่วมมือเขาก็ทำอะไรไม่ได้ หรือถึงกับต้องลงจากอำนาจไป
มองให้ลึกลงไป สิ่งของหรือผู้คนจะมีผลกระทบต่อเราอย่างไร ขึ้นอยู่กับการกระทำหรือวิธีการที่เราเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้น คนที่กระทำกับผู้อื่นด้วยความรักหรือความเคารพ ย่อมได้รับความรักหรือความเคารพกลับคืนมา อาสาสมัครหลายคนที่ไปช่วยดูแลเด็กเล็กในสถานสงเคราะห์ พบว่าตนเองมีความสุขอย่างยิ่ง ทั้ง ๆ ที่ตั้งใจไปให้ความสุขแก่เด็ก แต่กลับได้รับความสุขจากเด็กคืนมาอย่างไม่คาดฝัน บางคนรู้สึกว่าชีวิตของตนมีคุณค่ามากขึ้น เพราะความรักที่ได้กลับคืนมาจากเด็ก ชายหนุ่มบางคนถึงกับยอมรับว่า “ชีวิตผมสมบูรณ์ขึ้นเพราะเด็ก ๗ ขวบ”
ให้ความรักก็ย่อมได้รับความรัก ให้ความสุขก็ย่อมได้รับความสุข แต่ถ้าคิดจะเอาความรักหรือตักตวงความสุข กลับไม่ได้ หรือได้ความเกลียดชังและความทุกข์มาแทน ทั้งนี้เพราะเมื่อเริ่มจากความเห็นแก่ได้ ก็ย่อมกระทำหรือแสดงออกด้วยความเห็นแก่ตัว อีกฝ่ายจึงตอบโต้ด้วยความเห็นแก่ตัวกลับมา ถ้าหวังตักตวงความสุขจากเขา เขาก็คิดตักตวงความสุขจากเราเช่นกัน ยิ่งแสดงออกด้วยความโกรธเกลียดแล้ว ก็แน่นอนเลยว่าย่อมได้รับความโกรธเกลียดกลับมา จะพูดว่าความโกรธเกลียดที่เหวี่ยงใส่เขา ย้อนกลับมาหาเราก็คงไม่ผิดนัก
ทำอย่างไรย่อมได้ผลอย่างนั้น แต่ผลที่ย้อนกลับมาหาเรานั้นไม่จำเป็นต้องเกิดจากใครคนใดคนหนึ่งก็ได้ หากเกิดจากการกระทำของเราเอง คนที่ชอบใช้ความรุนแรงกับผู้อื่น ความรุนแรงนั้นเองจะย้อนกลับมาปรุงแต่งจิตใจของเขาให้เป็นคนก้าวร้าว โหดเหี้ยม หรือหยาบกระด้าง หรือทำให้จิตใจมีความดำมืดมากขึ้น จนสามารถทำสิ่งเลวร้ายได้ง่าย ตำรวจที่ชอบใช้วิธีการเหล่านั้นกับโจร ในที่สุดก็จะมีจิตใจใกล้เคียงกับโจรเหล่านั้น แม้แต่คนดีที่พร้อมใช้วิธีการฉ้อฉลสกปรกกับคนชั่ว หากทำเช่นนั้นบ่อย ๆ ก็จะกลายเป็นคนชั่วไปโดยไม่รู้ตัว มีผู้หนึ่งกล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า “เมื่อคุณสู้กับอสูร พึงระวัง อย่าให้ตัวเองกลายเป็นอสูรไปด้วย”
คนที่ยึดมั่นในความถูกต้องหรือผู้ที่ถือตัวว่าเป็นฝ่ายธรรมะ มักตกอยู่ในกับดักดังกล่าว เพราะเมื่อเห็นคนชั่ว ย่อมอยู่เฉยไม่ได้ ด้วยถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องจัดการกับคนชั่วเหล่านั้น ยิ่งมั่นใจว่าตัวเองเป็นคนดีก็ยิ่งรู้สึกว่าตนมีความชอบธรรมที่จะจัดการกับคนเหล่านั้นด้วยวิธีใดก็ได้ เพื่อพิทักษ์ความถูกต้องหรือปกป้องธรรมะ เนื่องจากมีความโกรธเกลียดที่เป็นทุนเดิมอยู่แล้วจึงพร้อมจะใช้วิธีที่ดุดัน ก้าวร้าว และรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มต้นจาก ประณามด่าว่า โกหก หลอกลวงใส่ร้าย หลอกลวง ไปจนถึงลงมือฆ่า ดังกรณีบินลาเดนกับพวก หรือกลุ่มคริสเตียนหัวรุนแรง การณ์จึงกลายเป็นว่ายิ่งพยายามปกป้องธรรมะมากเท่าไร ก็ยิ่งทำผิดศีลธรรมมากเท่านั้น ในเมืองไทยแนวโน้มเช่นนี้นับวันจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ
ครูที่เจ้าระเบียบหรือเคร่งศีลธรรม หากเอาแต่บ่นว่าหรือดุด่าลูกศิษย์ที่เกเร แม้จะยังไม่ถูกลูกศิษย์แผลงฤทธิ์หรือตอบโต้เอาคืน แต่การดุด่าว่ากล่าวเป็นอาจิณนั้นก็จะย้อนกลับมาหล่อหลอมจิตใจของครูให้เป็นคนหงุดหงิดเจ้าอารมณ์ รวมทั้งทำให้มีบุคลิกเคร่งเครียด หรือถึงกับหน้างอไปโดยไม่รู้ตัว ยิ่งถ้าชอบจับผิดนักเรียนด้วยแล้ว ก็ยิ่งมีนิสัยระแวง มองคนในแง่ลบ ไม่ใช่กับลูกศิษย์เท่านั้น แต่กับเพื่อนร่วมงานและคนในครอบครัวด้วย
ที่จริงแม้ยังไม่ได้แสดงออกกับใครเลย เพียงแค่นึกคิดหรือรู้สึกต่อใครบางคนอยู่ในใจ ความรู้สึกนึกคิดนั้นก็ย้อนกลับมาส่งผลต่อเรา เช่น ถ้าโกรธเกลียดใคร แล้วปล่อยให้ความโกรธเกลียดนั้นดำรงอยู่ไปเรื่อย ๆ ความโกรธเกลียดนั้นก็กลับมาบีบคั้นบั่นทอนจิตใจ ทำให้เครียดหนักขึ้น นานเข้าก็กลายเป็นคนเจ้าอารมณ์ ที่ร้ายกว่านั้นก็คือความพยาบาทเจ้าคิดเจ้าแค้นจะถูกปลุกให้กำเริบจนครอบงำใจ ผลก็คือตนพร้อมจะทำสิ่งที่เลวร้ายได้เสมอ ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงผลต่อสุขภาพและวิถีชีวิต เช่น กินไม่ได้นอนไม่หลับ ร่างกายเจ็บป่วยด้วยสารพัดโรคซึ่งบางครั้งหาสาเหตุทางกายไม่พบ
เมื่อเราโกรธเกลียดใครสักคน อยากให้เขามีอันเป็นไป คนแรกที่เดือดร้อนทันทีคือเรา ไม่ใช่ใครที่ไหน ในทางตรงข้ามหากเรามีเมตตาต่อผู้คน อยากให้เขามีความสุข แม้ยังไม่ทันได้ทำอะไรเลย ความสุขก็เกิดขึ้นแล้วกับเราเป็นคนแรก เพราะเมตตานั้นย่อมนำความสงบเย็นมาสู่จิตใจ และทำให้ความทุกข์ของเรากลายเป็นเรื่องเล็กลง ไม่เพียงเท่านั้น หากเราลงมือทำเพื่อช่วยให้เขามีความสุข การกระทำอันกอปรด้วยเมตตานั้นจะช่วยลดความเห็นแก่ตัวในใจเรา ขณะเดียวกันก็ปลุกพลังฝ่ายบวกให้มีกำลังมากขึ้น ได้เห็นศักยภาพและคุณค่าของตัวเอง ยิ่งเห็นเขามีความสุข ความสุขนั้นก็ย้อนกลับมาทำให้เรามีความสุขมากขึ้น รู้สึกว่าชีวิตได้รับการเติมเต็ม
หากทำด้วยใจอันเป็นกุศลหรือทำด้วยความรู้สึกที่เป็นบวก แม้จะกระทำกับสิ่งของที่ไร้จิตวิญญาณ ความรู้สึกและการกระทำอันเป็นกุศลนั้นก็ยังส่งผลย้อนกลับมาที่ผู้กระทำอยู่ดี ชายชราผู้หนึ่งเป็นอาสาสมัครช่วยแยกขยะ และทำให้ขยะนั้นกลับมามีคุณค่าขึ้นใหม่ (เช่น เอาไปรีไซเคิลหรือขายต่อ) หลังจากทำมาได้ไม่กี่เดือน เขาพบว่าเขาได้กลายเป็น “ขยะคืนชีพ” จากเดิมที่รู้สึกว่าตนไร้ค่า ได้แต่อยู่รอวันตาย กลับกลายเป็นคนที่มีชีวิตชีวาและรู้สึกเป็นบวกกับตนเองอีกครั้งหนึ่ง กล่าวอีกนัยหนึ่ง การที่เขาพากเพียรทำให้ขยะในมือกลับมาเป็นสินทรัพย์ที่มีค่า มันได้ช่วยให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนจาก “ขยะ”ในความรู้สึกของเขากลายมาเป็นสิ่งที่มีคุณค่าน่าภูมิใจ
ไม่ว่าเราจะทำหรือรู้สึกนึกคิดอย่างไร ไม่เคยสูญเปล่า มันไม่เพียงส่งผลต่อผู้อื่นหรือสิ่งภายนอกเท่านั้น หากยังส่งผลย้อนกลับมาที่ตัวเราเองด้วยในลักษณาการที่สอดคล้องกัน ไม่ช้าก็เร็ว นี้คือกฎธรรมชาติที่พุทธศาสนาเรียกว่า“กฎแห่งกรรม” เมื่อเราโกรธเกลียดหรือทำร้ายใครสักคน ไม่ต้องรอปีหน้าหรือชาติหน้า มันได้ส่งผลร้ายต่อตัวเราแล้วอย่างน้อยก็ในจิตใจ ในทางตรงข้ามหากเรามีเมตตากรุณาและช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ผลดีก็เกิดขึ้นแล้วกับเราทันที โดยไม่ต้องรอให้เขามาตอบแทนบุญคุณของเรา
อยากให้ชีวิตอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีอะไรดีกว่าการคิดดี พูดดี และทำดี ความดีที่ทำนั้นไม่ช้าก็เร็วย่อมย้อนกลับมาหาเราในที่สุด
:- https://visalo.org/article/sarakadee255208.htm
-
เบื้องหลังการ์ตูนใสซื่อ
รินใจ
มีนักอ่านการ์ตูนน้อยคนที่ไม่รู้จักชาร์ลี บราวน์ เด็กหัวกลมตัวเล็กและสนูปปี้หมาพันธุ์บีเกิ้ล ซึ่งเป็นตัวเอกของการ์ตูนชุด “พีนัทส์” จนถึงวันนี้การ์ตูนชุดนี้เป็นขวัญใจของคนทั่วโลกติดต่อกันมานานถึง ๕๐ ปีแล้วแม้ผู้เขียนคือชาลส์ ชูลซ์ (Charles Schulz) จะจากโลกนี้ไปเกือบทศวรรษแล้ว
เสน่ห์ของพีนัทส์อยู่ที่ความไร้เดียงสาแต่ช่างครุ่นคิด (หรือ “แก่แดด”)ของเด็ก ๆ และความฉลาดแกมโกงของเจ้าสนูปปี้ ซึ่งสามารถเรียกเสียงหัวเราะจากผู้อ่านหรือชวนให้นึกขันอยู่ลึก ๆ เด็ก ๆ เหล่านี้มีบุคลิกที่แตกต่างกันไป แต่ที่ประทับใจผู้คนย่อมหนีไม่พ้นชาร์ลี บราวน์ ผู้มีความเหงาครองใจ ขาดความเชื่อมั่นตนเอง และมักถูกเพื่อน ๆ กลั่นแกล้ง ซ้ำยังเป็นลูกไล่ของเจ้าสนูปปี้ อยู่เนือง ๆ (ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นเจ้านายของมัน) คงเป็นเพราะผู้อ่านจำนวนมากรู้สึกว่าชาร์ลี บราวน์ เป็นภาพตัวแทนของตน ตัวละครตัวนี้จึงเป็นขวัญใจของคนทั่วโลก
คนหนึ่งที่เห็นตัวเองอยู่ในชาร์ลี บราวน์ก็คือ ชูลซ์ นั่นเอง ชูลซ์เคยให้สัมภาษณ์ว่าตอนเป็นเด็กเขาถูกเด็กโตทำร้ายอยู่บ่อย ๆ ไม่ค่อยมีเพื่อน ครั้นเป็นวัยรุ่นก็ล้มเหลวใน “ทุกเรื่อง” เอาดีอะไรไม่ได้สักอย่าง จีบผู้หญิงก็ไม่เคยสำเร็จ เขาเคยพูดถึงตัวเองว่า “โง่ น่าเบื่อ และอ่อนแอ” ดูเหมือนว่าชีวิตของเขาตั้งแต่เล็กจนโตเต็มไปด้วยประสบการณ์ที่น่าเจ็บปวด
น่าแปลกก็ตรงที่เมื่อมีคนไปสัมภาษณ์เพื่อนวัยเด็กของเขา ไม่มีใครสักคนที่จำได้ว่าเขาเคยถูกกลั่นแกล้งแรง ๆ แบบนั้น ในขณะที่เขามักพูดอยู่เสมอว่าไม่เคยมีใครเห็นความสามารถของเขาในวัยเด็ก เพื่อน ๆ กับครูเก่า ๆ กลับพูดตรงกันว่าเขาโดดเด่นกว่าใครในเรื่องวาดภาพ
ความรู้สึกในแง่ลบเกี่ยวกับชีวิตในวัยเด็กประทับแน่นในใจเขา แม้มีชื่อเสียงก้องโลก เขาก็ยังพูดถึงประสบการณ์อันหม่นหมองในวัยเด็กอยู่บ่อย ๆ จนใคร ๆ ก็คิดว่าชีวิตของเขาเป็นเช่นนั้นจริง ๆ จนเมื่อหนังสือชีวประวัติเล่มใหม่ของเขาพิมพ์ออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ (Schulz and Peanuts:A Biography by David Michaelis) ชีวิตในวัยเด็กและวัยรุ่นของชูลซ์ที่ผู้เขียนนำเสนอกลับตรงข้ามกับเรื่องเล่าของเขา วัยเยาว์ของเขาไม่ได้ต่างจากคนอื่น ๆเท่าใดนัก
เป็นไปได้หรือไม่ว่าในความเป็นจริงชีวิตของเขาไม่ได้ย่ำแย่กว่าใครเลย อาจมีบางช่วงบางเหตุการณ์ที่ไม่น่าอภิรมย์ แต่ด้านดี ๆ ก็มีอีกมากมายเฉกเช่นคนทั่วไป และเมื่อมองในภาพรวมแล้วก็ราบรื่นพอสมควร แต่ความที่ชูลซ์ปักใจอยู่กับประสบการณ์ด้านที่ไม่น่าชื่นชม และหวนระลึกนึกถึงมันอยู่บ่อย ๆ ในขณะที่ด้านดีของชีวิตนั้นเขากลับมองข้ามไป เขาจึงรู้สึกว่าชีวิตในอดีตของเขานั้นหมองหม่นเสียเหลือเกิน
เหตุการณ์หนึ่งซึ่งฝังใจเขามากก็คือการถูกปฏิเสธผลงานขณะที่เรียนไฮสกูล ปีนั้นเขาได้รับการสนับสนุนจากครูผู้หนึ่งให้วาดภาพเพื่อตีพิมพ์ในหนังสือประจำปีของโรงเรียน แต่ภาพของเขาเป็นภาพร่วมสมัยซึ่งไม่ตรงกับสไตล์เก่าแก่ของหนังสือ จึงไม่ได้รับการตีพิมพ์ เหตุการณ์ครั้งนั้นสำหรับคนทั่วไปโดยเฉพาะนักวาดมือใหม่ย่อมถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่เขารู้สึกเจ็บปวดขมขื่น และฝังใจกับมันนานหลายทศวรรษ
การเลือกจำแต่เหตุการณ์ทำนองนี้ทำให้เขาสร้างภาพตัวเองขึ้นมาว่าเป็นคนที่ล้มเหลว โดดเดี่ยว ไม่มีคนเข้าใจ และไม่ได้รับความเป็นธรรม ภาพดังกล่าวติดลึกฝังใจมาโดยตลอดและหล่อหลอมบุคลิกของเขาจนกลายเป็นคนอมทุกข์ เขาเคยเปิดเผยความในใจกับภรรยาในคืนแต่งงานว่า ในชีวิตนี้“ผมไม่คิดว่าจะมีความสุขได้”
ชีวิตของเรานั้นไม่ต่างจากกระดาษขาวที่มีจุดดำอยู่มากมาย แต่ส่วนใหญ่แล้วพื้นที่สีขาวย่อมมีมากกว่าพื้นที่สีดำ เราจะสุขหรือทุกข์เพียงใด ส่วนหนึ่งอยู่ที่ว่าเราจะเลือกมองหรือหวนระลึกถึงสีขาวหรือจุดดำมากกว่ากัน หากเห็นแต่จุดดำก็ต้องสรุปว่าชีวิตนี้ช่างเต็มไปด้วยความหม่นหมอง แต่หากเห็นสีขาวมากกว่าก็ย่อมเกิดความพึงพอใจในชีวิต หรือมองโลกในแง่ที่สดใส ใช่หรือไม่ว่าชูลซ์เลือกที่จะมองแต่จุดดำ โดยไม่สนใจสีขาวเลย
จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ขณะที่นอนป่วยด้วยโรคมะเร็งชูลซ์ก็ยังพูดถึงชีวิตวัยเด็กของเขาว่าตกเป็นลูกไล่และถูกกลั่นแกล้งเป็นประจำ ทั้งยังอยากจะแก้แค้นเด็กที่เล่นงานเขาเมื่อหลายสิบปีก่อนโน้น ดูเหมือนว่าความสำเร็จอย่างล้นหลามและชื่อเสียงก้องโลกที่เขาได้รับในฐานะนักวาดชั้นนำตลอด ๕๐ ปี ไม่ได้ช่วยให้เขามีความสุขมากขึ้น หรือสามารถบดบังความทุกข์ที่ก่อตัวในชั่วไม่กี่ปีของวัยเด็กเลย ทั้ง ๆ ที่ความสำเร็จและชื่อเสียงเป็นสิ่งที่เขาโหยหามาตั้งแต่เล็กจนโต (แม้มีชื่อเสียงระดับโลกแล้ว เวลามีประชุมนักเขียนการ์ตูน เขาจะติดป้ายชื่อบ่งบอกตัวตนอยู่เป็นประจำ) แต่ไม่ได้ทำให้เขาพึงพอใจในชีวิต หรือพาเขาหลุดพ้นจากการหลอกหลอนของภาพตัวตนในอดีตได้เลย
จะว่าไปแล้วความทุกข์และชีวิตระทมเป็นสิ่งที่เขาเลือกเอง เขาไม่เพียงเลือกที่จะฝังใจอยู่กับประสบการณ์ที่ไม่น่าอภิรมย์ในอดีตเท่านั้น หากยังเลือกที่จะกอดความทุกข์เอาไว้แน่น ภรรยาของเขาเคยพูดว่าชูลซ์ชอบที่จะเป็นคนซึมเศร้า ( “ซึมเศร้า”เป็นคำที่ปรากฏบ่อยมากในการ์ตูนของเขา) เมื่อมีคนแนะนำให้เขาไปหาจิตแพทย์ เขาปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าขืนทำเช่นนั้น ความสามารถในทางศิลปะของเขาจะหมดไป กล่าวอีกนัยหนึ่งเขารู้ดีว่าตราบใดที่ยังรักษาความรู้สึกโดดเดี่ยว อมทุกข์ และซึมเศร้าเอาไว้ เขาจะมี “วัตถุดิบ”สำหรับวาดการ์ตูนต่อไป และยังคงรักษาท่วงทำนองและบรรยากาศของพีนัทส์ที่ใคร ๆ ชื่นชอบเอาไว้ได้
ชีวิตของชูลซ์ชี้ให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่า สุขหรือทุกข์นั้น เป็นสิ่งที่เราเลือกเอง ไม่ใช่แค่เลือก “ทำ” เท่านั้น แต่สำคัญกว่านั้นก็คือเลือก “มอง” ถ้ามองเป็นก็เห็นสุข แต่ถ้ามองไม่เป็นก็เห็นแต่ทุกข์ ขณะเดียวกันชีวิตของเขาก็สะท้อนถึงอิทธิพลของประสบการณ์ในวัยเด็กว่ามีความสำคัญอย่างมากในการหล่อหลอมบุคลิกและโลกทัศน์ของชีวิตส่วนที่เหลือ ประสบการณ์ในชั่วเวลาแค่สิบปีเศษบางครั้งทรงพลัง(หรือดื้อด้าน)เกินกว่าที่ประสบการณ์ในอีก ๕๐ ปีข้างหน้าจะสามารถต้านทานได้ ความไม่สมหวังในเรื่องที่ดูเหมือนธรรมดาสามัญในวัยเด็ก อาจยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ความสำเร็จอันท่วมท้นมหาศาลในวัยผู้ใหญ่จะลบเลือนไปจากใจได้
แต่ถึงแม้จะอมทุกข์เพียงใด สิ่งหนึ่งที่ต้องก้มหัวให้ก็คือความสามารถของชูลซ์ในการแปรเปลี่ยนความรู้สึกขมขื่นหมองหม่นให้กลายเป็นผลงานสร้างสรรค์ ที่สร้างความอภิรมย์และประเทืองปัญญาแก่ผู้อ่านทั่วโลก ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แม้เขาจะทุกข์แต่ก็สามารถทำให้คนอื่นเป็นสุขได้ แทนที่จะระบายความทุกข์อย่างดิบ ๆ ให้แก่คนรอบตัว ความทุกข์นั้นมีพลังในทางสร้างสรรค์หากรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ น่าสงสัยว่าหากเขาเป็นคนที่มีความสุขในชีวิต ตัวละครในการ์ตูนของเขาจะมีชีวิตชีวาและผูกใจคนทั้งโลกได้อย่างทุกวันนี้หรือไม่
:- https://visalo.org/article/sarakadee255104.htm
-
ชีวิตปรับได้ ใจยืดหยุ่น
พระไพศาล วิสาโล
ในหนังสือเรื่อง The Mind’s Eye โอลิเวอร์ แซ็คส์ (Oliver Sacks) แพทย์ด้านประสาทวิทยาและนักเขียนชื่อดัง เล่าถึงประสบการณ์และเรื่องราวของคนที่มีปัญหาด้านการรับรู้นานาชนิดได้อย่างน่าสนใจ สิ่งหนึ่งที่คนเหล่านี้มีคล้ายกันก็คือ ความสามารถในการปรับตัวให้อยู่ได้ในโลกใบนี้ได้อย่างปกติสุขแทบไม่ต่างจากคนทั่วไป ทั้ง ๆ ที่อวัยวะที่ใช้ในการรับรู้บกพร่อง หรือ “พิการ”
นักเปียโนวัย ๖๗ ผู้หนึ่งจู่ ๆ พบว่าเธอไม่สามารถอ่านหนังสือเป็นตัวได้ ทั้ง ๆ ที่ตายังดี เห็นหนังสือทุกตัว แต่รวมเป็นคำไม่ได้ ภายหลังอาการลุกลามกระทั่ง มองอะไร ก็เห็นแต่รูปร่างเส้นสายหรือลักษณะของมัน แต่บอกไม่ได้ว่าเป็นอะไร (พูดอย่างพุทธก็คือ “สัญญา”บกพร่อง) ที่ร้ายก็คือเธออ่านโน้ตดนตรีไม่ออก เธอรู้สึกกังวลมากเวลาเล่นดนตรีในที่สาธารณะ แต่ในเวลาต่อมาเธอได้พบว่าความจำเกี่ยวกับดนตรีของเธอดีกว่าเดิม ทั้งชัดและทนนาน แค่ได้ยินเสียงเพลงยาก ๆ ครั้งแรกก็จำได้แม่น สามารถจะเรียบเรียงและเล่นใหม่ในหัวได้เลย อย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน
หญิงวัย ๖๐ คนหนึ่ง เส้นเลือดในสมองแตก เมื่อฟื้นจากโคม่า นอกจากเป็นอัมพาตแล้ว ยังปัญหาในการได้ยิน แม้หูยังดีแต่ฟังคำพูดของคนไม่รู้เรื่อง ความสามารถทางด้านภาษาสูญไปหมด รวมทั้งการพูดด้วย เธอเป็นทุกข์มากเพราะการสื่อสารของเธอกับโลกภายนอกถูกตัดขาดแทบจะสิ้นเชิง แต่ผ่านไปไม่กี่ปี ทักษะอย่างใหม่ก็ได้เกิดขึ้นแก่เธอ คือสามารถเข้าใจเจตนาและความต้องการของผู้คนได้โดยฟังจากน้ำเสียง สีหน้า ท่าทาง และอิริยาบถของเขาขณะที่กำลังพูดกับเธอ ใช่แต่เท่านั้นเธอสามารถคิดค้นภาษาท่าทางที่ใช้สื่อสารกับผู้คนได้เป็นอย่างดี
แซ็คส์ยังพูดถึงคนตาบอดอีกหลายคน ที่ประสาทด้านอื่นพัฒนาจนสามารถชดเชยประสาทตาที่เสียไป เช่น มีหูที่ไวมากจนสามารถได้ยิน “เสียง”จากวัตถุรอบตัวที่เงียบสนิท หากเดินผ่านสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้ตัวก็รู้ว่ามันมีรูปร่างอย่างไร ทั้งนี้ด้วยการสังเกตจากเสียงเดินของเขาที่สะท้อนกลับหรือถูกดูดโดยวัตถุเหล่านั้น บางคนกระเดาะลิ้นเป็นระยะ ๆ เพื่ออาศัยเสียงสะท้อนเป็นเครื่องบ่งบอกว่ามีวัตถุอยู่ข้างหน้า ใช่แต่เท่านั้น สัมผัสอย่างอื่นของเขาก็ละเอียดขึ้น เช่น สามารถบอกได้ว่ามีอะไรอยู่ข้างหน้าโดยสังเกตจากอากาศที่กระทบใบหน้าของเขา บางคนจึงสามารถเดินบนท้องถนนอย่างมั่นใจและรวดเร็วโดยไม่ต้องใช้ไม้เท้า จนหลายคนคิดว่าเขาเป็นคนตาดีด้วยซ้ำ มีไม่น้อยถึงกับเล่นกีฬาหรือหมากรุกได้เพราะอาศัยสัมผัสดังกล่าว
ความสามารถข้างต้นส่วนใหญ่เกิดกับคนที่มีปัญหาในการมองตั้งแต่กำเนิด ส่วนคนที่ตาบอดในวัยเด็กหรือผู้ใหญ่นั้น มีวิธีการอื่นที่แตกต่างออกไป เช่น แค่ใช้นิ้วสัมผัสอักษรเบลล์ ก็เห็นภาพตัวอักษรปรากฏขึ้นมาในใจ บางคนได้ยินเสียงพูดก็เห็นเป็นภาพขึ้นมา ไม่ว่าภาพสถานที่หรือเหตุการณ์ หญิงคนหนึ่งเล่าว่าเวลาฟังเสียงหนังสือพูดได้ เธอจะเห็นตัวหนังสือปรากฏขึ้นมาเป็นแถว ราวกับว่ากำลังอ่านหนังสือเล่มนั้นอยู่ และหากฟังเสียงนาน ๆ เธอจะรู้สึกปวดตามากราวกับว่าใช้สายตามากเกินไป ส่วนบางคนนั้นแค่ได้ยินเสียงหรือได้กลิ่นของใคร ก็สามารถจับอารมณ์ของเขาได้ว่ากำลังเครียดหรือกังวล โดยที่เจ้าตัวอาจไม่รู้ด้วยซ้ำ
ในทำนองเดียวกัน คนหูหนวกจำนวนไม่น้อยมีความสามารถสูงในการอ่านปากของคน หากเป็นคนที่มิได้มีปัญหาแต่กำเนิด ก็สามารถพูดคุยกับคนได้รู้เรื่องราวกับคนปกติ บางคนเล่าว่าเพียงแค่เห็นปากของคนพูด ก็ได้ยินเสียงของเขาขึ้นมาในใจอย่างแจ่มชัด จะมีปัญหาก็ต่อเมื่อคู่สนทนาพูดโดยหันหลังให้หรือปิดปาก ถึงตอนนั้นคู่สนทนาจึงรู้ว่าอีกฝ่ายมีปัญหาในการฟัง
แซคส์อธิบายว่า ความสามารถพิเศษที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสมองมีความยืดหยุ่นสูง (plasticity) กล่าวคือเมื่อสมองส่วนใดเสียไป สมองส่วนอื่นก็จะเอาหน้าที่บางอย่างของสมองส่วนนั้นไปทำแทน หรือพัฒนาสมรรถนะให้สูงขึ้นเพื่อชดเชยการรับรู้ส่วนที่ขาดหายไป เช่น ถ้าสมองส่วนรับรู้ภาพถูกทำลาย สมองส่วนที่ได้ยินเสียงหรือได้กลิ่นก็จะมาทำงานทดแทน อะไรที่เคยทำได้ แต่กลับทำไม่ได้ สมองจะหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อให้สามารถทำได้เหมือนเดิมมากที่สุดปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าสมองของมนุษย์มีความสามารถในการปรับตัวสูงมากเพื่อรับมือกับความพลิกผันที่เกิดขึ้น ทำให้เราสามารถดำเนินชีวิตได้เหมือนปกติ
อันที่จริงมิใช่แต่สมองเท่านั้น จิตใจของเราก็ปรับตัวเก่งเช่นกัน เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงในทางลบเกิดขึ้น ความรู้สึกแรกคือเป็นทุกข์ รู้สึกย่ำแย่ แต่ในเวลาไม่นานจิตก็จะฟื้นขึ้นมา กลับมาเป็นปกติ สามารถรับมือกับสถานการณ์ใหม่ได้ในที่สุด หลายคนที่พิการ สูญเสียตา หรือแขนขา จะเป็นทุกข์อย่างยิ่งในช่วงแรก ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขากลับสามารถอยู่กับความบกพร่องทางกายได้อย่างสุขสบาย เช่นเดียวกับผู้ที่สูญเสียคนรักหรืออิสรภาพ ใหม่ ๆ ก็ทำใจไม่ได้ แต่ถ้าให้เวลาแก่ตัวเอง ในที่สุดก็ปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ หลังจากถูกจองจำหลายปี นักโทษหลายคนรู้สึกว่าคุกกลายเป็นบ้านของเขาไปแล้ว เมื่อถึงเวลาที่ต้องออก กลับรู้สึกอาลัยที่ต้องจากคุกไป
เคยมีการทดลองกรอกเสียงเครื่องดูดฝุ่นให้แก่คนสองกลุ่มผ่านหูฟัง ต่างกันตรงที่กลุ่มแรกได้ยิน ๔๕ วินาที กลุ่มที่สองได้ยินแค่ ๕ วินาที จากนั้นก็ถามทุกคนว่ารู้สึกรำคาญมากน้อยเพียงใดในช่วง ๕ วินาทีสุดท้าย ปรากฏว่ากลุ่มที่รู้สึกรำคาญมากที่สุดหาใช่กลุ่มแรก ดังที่หลายคนเข้าใจไม่ กลับเป็นกลุ่มที่สอง ทำไมกลุ่มแรกจึงรู้สึกรำคาญน้อยกว่ากลุ่มที่สองทั้ง ๆ ที่ได้ยินเสียงระคายโสตประสาทนานกว่า คำตอบก็คือ หลังจากฟังมาได้ ๔๐ วินาที กลุ่มแรกก็เริ่มคุ้นเคยกับเสียงดัง ดังนั้นเมื่อถึง ๕ วินาทีสุดท้ายจึงรู้สึกรำคาญน้อยลง 1
การทดลองดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความสามารถของจิตในการปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงแม้จะเป็นลบก็ตาม พึงสังเกตว่าจิตปรับตัวได้เองโดยที่เจ้าตัวไม่ได้ทำอะไรเลย ถ้าเจ้าตัวทำบางสิ่งเพิ่มเติม เช่น เอาจิตมาจดจ่อที่ลมหายใจ หรือมีสติรับรู้ความรำคาญที่เกิดขึ้น หรือนึกในทางบวก (เช่นจินตนาการถึงทิวทัศน์ที่งดงาม) จิตจะปรับตัวหรือกลับมาเป็นปกติได้เร็วขึ้น
ธรรมชาติของกายและใจนั้น มีความยืดหยุ่นและปรับตัวสูงมาก และหากเราไม่ปล่อยให้ธรรมชาติทำงานตามลำพังเท่านั้น แต่พยายามหนุนเสริมธรรมชาติอีกแรงหนึ่งด้วย การปรับตัวหรือฟื้นตัวก็จะเกิดเร็วขึ้น หลายคนที่แซคส์พูดถึงในหนังสือของเขาไม่ได้อยู่เฉย ๆ ปล่อยให้สมองปรับตัวเอง แต่เพียรพยายามที่จะฝึกฝนตนและหาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อมีชีวิตอย่างปกติสุขท่ามกลางข้อจำกัดหรือปัญหาที่เกิดขึ้น หญิงชราผู้สูญเสียความสามารถทางภาษาเนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตก หลังจากที่ทุกข์อยู่นาน แต่เมื่อได้พัฒนาทักษะใหม่ ๆ ในการสื่อสาร ถึงกับบอกว่าเธอโชคดีที่แผลในสมองของเธอไม่ถึงกับทำลายความทรงจำและความสามารถในการคิดของเธอ
ในทำนองเดียวกันแม้ร่างกายหรือสมองของเราเป็นปกติ แต่หากจิตใจตกต่ำย่ำแย่เพราะความสูญเสียพลัดพรากหรือความผิดหวัง การเพียรฝึกจิตให้เข้มแข็งมั่นคง มีสติเท่าทันอารมณ์ และมีปัญญาตระหนักชัดว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดาของชีวิต จิตก็จะฟื้นตัวขึ้นมาเป็นปกติ และรู้สึกเป็นสุขได้ในสถานการณ์ใหม่
แต่ถึงแม้จะไม่ได้เพียรพยายามฝึกตนเลย เพียงแค่ให้เวลาแก่จิตใจของตนในการปรับตัว ก็ช่วยได้ไม่น้อยแล้ว ข้อสำคัญ อย่าด่วนตัดโอกาสดังกล่าวด้วยการคิดสั้นหรือทำร้ายตนเองเพราะคิดว่าชีวิตจบสิ้นแล้ว หรือเพราะคิดว่าความทุกข์ใจที่เกิดขึ้นนั้นจะคงทนถาวร อย่าลืมว่าแม้สถานการณ์ภายนอกจะเลวร้ายไม่เปลี่ยนแปลง แต่สภาวะในใจของเรานั้นเปลี่ยนแปลงได้เสมอ และสามารถเปลี่ยนไปในทางที่ดีได้ด้วย
ว่าแต่ว่าเราแน่ใจแล้วหรือว่าสถานการณ์ภายนอกจะเลวร้ายไปตลอด
* อันที่จริงการทดลองดังกล่าวมีกลุ่มที่สามด้วย โดยฟังเสียงดังกล่าว ๔๐ วินาที จากนั้นเสียงเงียบหายไป ๒-๓วินาที แล้วดังใหม่อีก ๕ วินาที ปรากฏว่ากลุ่มนี้รู้สึกรำคาญมากเช่นกัน ทั้งนี้เพราะแม้จะคุ้นเคยกับเสียงช่วง ๔๐ วินาทีแรก แต่พอเสียงเงียบหายไป ความคุ้นเคยก็หายตามไปด้วย ดังนั้นพอได้ยินเสียงนั้นอีกครั้ง จึงรู้สึกรำคาญมาก การทดลองดังกล่าวยังชี้ว่า การที่สิ่งรบกวนหายไปชั่วขณะ ไม่ได้ช่วยให้รู้สึกดีขึ้น กลับทำให้แย่เหมือนเดิมหรือแย่ลงอย่างน้อยก็ในช่วงแรก
:- https://visalo.org/article/sarakadee255608.htm
-
ทำอย่างไรเมื่อถูกขว้างมะพร้าวใส่
พระไพศาล วิสาโล
สมชายกำลังเดินเล่นในสวนมะพร้าว จู่ ๆ ลิงเกเรตัวหนึ่งก็หยิบมะพร้าวขว้างใส่เขาจากต้นไม้ บังเอิญเขาเห็นเสียก่อน ขณะที่มะพร้าวลูกนั้นกำลังพุ่งมาที่ตัวเขา คุณคิดว่าเขาควรทำอย่างไร ถ้าเป็นคุณ คุณต้องหลบมะพร้าวลูกนั้นอย่างแน่นอน แต่ถ้าหากเขาเอาตัวรับมะพร้าวลูกนั้น คุณก็คงส่ายหัวว่าทำไมเขาโง่อย่างนั้น
ไม่มีใครที่ไม่หลบเมื่อรู้ว่าลูกมะพร้าวกำลังพุ่งเข้ามา แต่เหตุใดผู้คนจึงไม่ทำเช่นนั้นบ้างเวลาถูกสาดใส่ด้วยถ้อยคำหยาบคายหมายมุ่งร้าย ร้อยทั้งร้อยกลับเอาตัวออกรับคำด่านั้นอย่างเต็มที่ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าทำเช่นนั้นย่อมเจ็บปวด
คนฉลาดย่อมไม่ยื่นหน้าแอ่นอกรับลูกมะพร้าว(หรือก้อนอิฐ)ที่ถูกขว้างใส่ฉันใด เมื่อถูกกระทำด้วยถ้อยคำรุนแรง ก็ไม่เอาตัวรับคำด่าฉันนั้น
มีพราหมณ์ผู้หนึ่งเกลียดพระพุทธเจ้ามาก เดินตามด่าพระพุทธเจ้าจนถึงที่ประทับ แต่พระองค์ก็ไม่ตอบโต้ ปล่อยให้เขาด่าจนพอไป เมื่อเขาหยุดด่า พระองค์ก็ตรัสถามเขาว่า “เคยมีคนมาเยี่ยมท่านที่บ้านไหม” พราหมณ์ตอบว่า “มีสิ มีมากมาย ข้าพเจ้าไม่ใช่คนสิ้นไร้ไม้ตอก” พระองค์ถามต่อว่า “เมื่อมีแขกมาเยี่ยม ท่านทำอย่างไร” เขาตอบว่า “ก็เอาของมาต้อนรับตามธรรมเนียม” พระองค์จึงถามว่า “หากแขกไม่กินของที่ท่านนำมาต้อนรับ ของนั้นจะเป็นของใคร” พราหมณ์ตอบว่า “ก็เป็นของข้าพเจ้าตามเดิมน่ะสิ” พระพุทธองค์จึงตอบว่า ในทำนองเดียวกัน “เมื่อสักครู่ท่านด่าเราด้วยถ้อยคำหยาบคาย เราไม่รับคำด่าเหล่านั้น คำด่าเหล่านั้นก็ตกเป็นของท่านตามเดิม”
ไม่ว่าจะถูกต่อว่าด่าทอเพียงใด พระพุทธองค์ไม่รู้สึกหวั่นไหว โกรธเคือง หรือเป็นทุกข์เลย เพราะพระองค์ไม่รับคำด่าของพราหมณ์ผู้นั้นหรือใครก็ตาม
หลวงพ่อชา สุภัทโท แนะนำศิษย์ว่า เวลาถูกใครด่าว่าว่าเป็นหมูเป็นหมา ก่อนจะโกรธเขา ให้คลำก้นของตนก่อนว่ามีหางงอกไหม ถ้าไม่มี ก็อย่าไปโกรธเขา
หลวงพ่อชาเตือนให้ศิษย์ตระหนักว่า ในเมื่อเราไม่ได้เป็นอย่างเขาว่า จะโกรธเขาทำไม แต่ส่วนใหญ่กลับโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ซึ่งเท่ากับยอมรับว่าตนเป็นหมูเป็นหมาอย่างที่เขาว่าจริง ๆ
คำด่ามีพิษสงก็ต่อเมื่อเรารับเอาคำด่าเหล่านั้นมาทิ่มแทงใจตน หรือสำคัญมั่นหมายว่า “เขาด่ากู ๆ” ซึ่งก็คือการเอาตัวกูออกมารับคำด่าเหล่านั้น แต่ถ้าไม่ใส่ใจหรือไม่รับสมอ้างว่า “เขาด่ากู” ก็จะไม่ทุกข์เลย
หลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร อดีตเจ้าอาวาสวัดถ้ำยายปริก จังหวัดชลบุรี เล่าว่าตอนที่ท่านบุกเบิกวัดนี้ขึ้นมาใหม่ นักเลงท้องถิ่นไม่พอใจมาก หาทางกลั่นแกล้งท่านและพระลูกวัด เพื่อจะได้ออกไปจากพื้นที่ แต่ท่านก็ไม่หวั่นไหว วันหนึ่งท่านเดินผ่านหน้าบ้านของนักเลงคนหนึ่งในกลุ่ม เขาเห็นเป็นโอกาส จึงด่าท่านด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย แทนที่ท่านจะโกรธหรือทำหูทวนลม ท่านกลับเดินเข้าไปหาแล้วจับแขนเขา ทำท่าขึงขังแล้วพูดว่า “มึงด่าใคร มึงด่าใคร”
“ก็ด่ามึงน่ะสิ” เขาตอบกลับ
ท่านยิ้มรับแล้วพูดว่า “อ๋อ แล้วไป ที่แท้ก็ด่ามึง ดีแล้ว อย่ามาด่ากูก็แล้วกัน” ว่าแล้วท่านก็เดินออกไป ปล่อยให้นักเลงผู้นั้นยืนงงอยู่พักใหญ่ว่า ตกลงเขาด่าใครกันแน่
คำด่าของนักเลงผู้นั้นทำอะไรหลวงพ่อประสิทธิ์ไม่ได้ เพราะท่านไม่เอาตัวกูรับคำด่าของเขา ไม่ต่างจากคนที่เบี่ยงตัวหลบเมื่อเห็นลูกมะพร้าวพุ่งเข้ามาใส่ตัว นี้ใช่ไหมที่เป็นสิ่งพึงกระทำหากเรารักตัวเอง
กลับมาที่สมชาย เขาทำอย่างที่ควรทำ คือเบี่ยงตัวหลบลูกมะพร้าว ลูกมะพร้าวจึงพลาดเป้า ตกลงที่พื้น ทีนี้เขาควรทำอย่างไรต่อไป ควรหยิบมะพร้าวนั้นขว้างใส่ลิงเป็นการตอบโต้หรือไม่ หากสมชายมีสติปัญญาเขาย่อมไม่ทำเช่นนั้น เพราะไม่มีประโยชน์ นอกจากเสียแรงแล้ว ยังเสียของด้วย จะเป็นการฉลาดกว่าหากเขาหยิบเอามะพร้าวลูกนั้นกลับบ้าน เพื่อเฉาะเอาน้ำมาดื่มและเอาเนื้อมากิน
คำต่อว่าด่าทอนั้นก็เช่นกัน หากเราด่ากลับไปก็ไร้ประโยชน์ เพราะนอกจากจะถูกความโกรธเผาลนใจแล้ว ยังสร้างศัตรูอีก สิ่งที่ควรทำก็คือ นอกจากวางใจให้เป็น ไม่เป็นทุกข์เพราะคำด่านั้นแล้ว ยังควรหาประโยชน์จากคำด่าเหล่านั้นด้วย
หากมองให้เป็น ก็ย่อมเห็นประโยชน์จากคำต่อว่าด่าทอเสมอ เล็ก พิริยะพันธุ์ อดีตเจ้าของเมืองโบราณกล่าวว่า “วันไหนไม่ถูกตำหนิ วันนั้นเป็นอัปมงคล” คำตำหนินั้นช่วยทำให้เห็นข้อบกพร่องของตนหรืองานที่ทำ อีกทั้งยังช่วยลดตะตัวตนได้เป็นอย่างดี จำเป็นมากสำหรับผู้ที่ได้รับการชื่นชมเป็นประจำจนหลงตัวลืมตน นึกว่าเป็นเทวดา เก่งทุกอย่าง คำตำหนิช่วยเตือนให้ตนกลับมาตระหนักว่าตนเป็นมนุษย์ ที่ย่อมมีผิดมีพลาด
จริงอยู่คำต่อว่าด่าทอนั้นรุนแรงยิ่งกว่าคำตำหนิติเตียน อาจไม่มีสาระอะไรเลยก็ได้ แต่อย่างน้อยก็ทำให้เห็นนิสัยองผู้ต่อว่าด่าทอนั้น นิสัยใจคอที่แท้จริงของใครสักคน จะเห็นได้ชัดก็จากคำด่าของเขามากกว่าคำชมของเขา
ถึงที่สุดแล้ว คำต่อว่าด่าทอนั้นตอกย้ำให้เราเห็นสัจธรรมของโลกว่า สรรเสริญกับนินทาเป็นของคู่กัน ไม่ว่าจะดีหรือเก่งแค่ไหน ก็หนีคำนินทาไม่พ้น นี้คือหนึ่งใน “โลกธรรม”ที่ต้องประสบ ถ้าไม่รู้จักความจริงข้อนี้ หลงยึดติดถือมั่นแต่คำสรรเสริญ ก็จะเป็นทุกข์ เมื่อเจอคำนินทาหรือต่อว่าด่าทอ แต่หากตระหนักชัดในสัจธรรมดังกล่าว ก็จะไม่หวั่นไหวไปกับสิ่งเหล่านี้เลย
หลวงพ่อทองรัตน์ กันตสีโล เป็นศิษย์คนสำคัญของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต แม้ท่านจะไม่เป็นที่รู้จักมากนักนอกแวดวงพระกรรมฐาน ท่านมีนิสัยโผงผาง กิริยาดูไม่เรียบร้อย แต่จิตใจท่านงดงาม มั่นคง และลุ่มลึกในธรรมมาก
คราวหนึ่งมีคนเขียนบัตรสนเท่ห์ใส่บาตรท่าน เมื่อท่านกลับถึงวัด ท่านก็ยื่นกระดาษแผ่นนั้นให้พระเณรอ่าน พร้อมกับพูดว่า “ เอ้า ลูก อ่านอมฤตธรรมนี่ เทวดาเขาใส่บาตรมา หาฟังยาก”
ข้อความนั้นกล่าวหาท่านว่า เป็น “พระผีบ้า...ไม่สำรวม ไม่มีศีล ไม่มีวินัย” พร้อมกับขู่ว่า “ให้รีบออกจากวัดไป ถ้าไม่ไปจะเอาลูกตะกั่วมาฝาก”
ท่านได้ยินก็พนมมือสาธุแล้วบอกให้ลูกศิษย์เก็บกระดาษแผ่นนั้นไว้ใต้แท่นพระบูชา พร้อมกับสอนพระเณรว่า “โลกธรรมแปดมันเป็นแบบนี้เอง แต่ก่อนได้ยินแต่ชื่อ....ของดีนะนี่ สาธุ....พ่อได้ฟังแล้วแก่นธรรม เพิ่งมาวันนี้เอง”
คำต่อว่าด่าทอ มองให้ดีก็คือ “อมฤตธรรมจากเทวดา” หากเห็นแก่นธรรมจากถ้อยคำเหล่านี้ได้ เราจะได้ประโยชน์อย่างมากจากมัน เช่นเดียวกับมะพร้าว ที่นอกจากทำร้ายคนได้แล้ว ยังสามารถให้น้ำและเนื้อที่อร่อยหอมหวานได้ด้วย
:- https://visalo.org/article/sarakadee255710.htm
-
เปิดประตูใจ
รินใจ
ขึ้นชื่อว่าหมอ ก็ต้องพร้อมทำงานในทุกสถานการณ์เพราะความเจ็บป่วยเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่บางครั้งหมอก็ทำใจยากหากเจอคนไข้ที่มาหาในเวลาที่ไม่สมควรมา
หมอผู้หนึ่งเล่าว่า คืนหนึ่งขณะที่อยู่เวรดึก ประมาณตี ๔ ได้ถูกปลุกให้มาตรวจคนไข้คนหนึ่งซึ่งเพิ่งมาถึง ตอนนั้นรู้สึกหงุดหงิดมาก อดบ่นในใจไม่ได้ว่า "ทำไมถึงมาตอนนี้" ยิ่งมารู้ว่าคุณลุงวัย ๖๐ ผู้นี้ไม่ได้เป็นโรคปัจจุบันทันด่วน เป็นแต่ปวดหัวมาได้ ๑๐ วันแล้ว หมอก็รู้สึกไม่พอใจ เพราะไม่มีความจำเป็นที่แกต้องมาเวลานี้เลย
หมอเก็บความรู้สึกเอาไว้เมื่อเจอคนไข้ ระหว่างที่ซักประวัติ คนไข้เล่าว่าตลอด ๑๐ วันที่ผ่านมา พยายามหายามากินเอง แต่อาการไม่ดีขึ้นเลย อยากจะมาหาหมอ แต่ลูก ๆ ไม่มีใครว่างมาส่งตอนกลางวัน จึงต้องทนเอา ครั้นรู้ว่าวันนี้คนข้างบ้านจะออกมาตลาดสดตอนตี ๓ จึงขอติดรถมาด้วย
ทันทีที่หมอรู้ความเป็นมาของคนไข้ ความรู้สึกหงุดหงิดก็หายไป ความเห็นใจมาแทนที่
เพราะได้คิดว่า ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นจริง ๆ ลุงคงไม่อยากลุกมาโรงพยาบาลตอนตี ๓ หรอก เพราะแกคงอยากพักผ่อนเช่นกัน
หมอผู้นี้เล่าว่า นับแต่นั้นมาเวลาตรวจคนไข้ จะลองสมมุติว่า ถ้าคนไข้เป็นพ่อแม่หรือน้องของเรา เราอยากให้หมอพูดหรือปฏิบัติกับเขาอย่างไร การมองในแง่นี้ทำให้หมอปฏิบัติกับคนไข้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็พบว่าความรู้สึกได้เปลี่ยนไปด้วย จากเดิมที่รู้สึกหงุดหงิดกับคนไข้ ก็กลายเป็นความรู้สึกสงบ ใจเย็น และเห็นใจคนไข้มากขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือ มีความสุขกับการตรวจรักษาคนไข้ ไม่เป็นทุกข์กับจำนวนคนไข้ที่มีมากมาย
เมื่อมีเหตุการณ์กระทบใจเรา ความหงุดหงิดหรือความสงบนิ่ง สามารถเกิดขึ้นกับเราได้ทั้งนั้น อยู่ที่ว่าเราจะมองมันอย่างไร หรือมองในมุมไหน ถ้ามองจากมุมของตัวเอง หรือเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เราย่อมหงุดหงิดเมื่อถูกปลุกตี ๔เพื่อไปตรวจคนไข้เพราะถูกรบกวนเวลานอน แต่หากมองจากมุมของผู้อื่น หรือรับรู้ความทุกข์ยากของเขา เราก็จะมีแต่ความเห็นใจ ไม่มีความขุ่นเคืองใด ๆ ที่จะเผาลนจิตใจให้รุ่มร้อน
บ่อยครั้งเรานึกถึงแต่ความทุกข์ของตนเอง จนไม่สนใจรับรู้ความทุกข์ของผู้อื่น การทำเช่นนั้นกลับทำให้เราทุกข์มากขึ้น เพราะยิ่งนึกถึงตัวเองมากเท่าไร ความทุกข์ของตนเองก็เป็นเรื่องใหญ่โตมากเท่านั้น จนลืมไปว่าที่จริงแล้วความทุกข์ของเรานั้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับของคนอื่น
หมออีกผู้หนึ่งเล่าว่าเมื่อจบแพทย์ใหม่ ๆ ไปทำงานในโรงพยาบาลชุมชน ตั้งใจว่าจะเป็นหมอที่ดี เวลาตรวจคนไข้นอกตอนเช้า จะตรวจให้หมดแม้ว่าเลยเวลาเที่ยงไปแล้ว เพราะถ้าให้คนไข้รอตรวจตอนบ่ายอาจจะหารถกลับบ้านลำบาก
วันหนึ่งมีคนไข้มาก หมอตรวจทั้งเช้าโดยไม่ได้พักเลย กว่าคนไข้จะหมดก็เป็นเวลาบ่ายโมง เมื่อเดินออกจากห้องตรวจ พบคุณลุงคนหนึ่งเพิ่งทำบัตรคนไข้เสร็จ แกขอให้หมอตรวจให้ด้วยเพราะไม่สบายมาก
หมอรู้สึกไม่พอใจมาก เพราะเลยเวลาตรวจมานานแล้ว จึงพูดด้วยอารมณ์ว่า "คุณลุงทำไมเพิ่งมาตอนนี้ รู้ไหมหมอยังไม่ได้กินข้าวเที่ยงเลย"
"ขอโทษคุณหมอ ลุงออกจากบ้านตี ๓ รถเขาเพิ่งมาถึง พยายามมาให้ทันหมอ ลุงยังไม่ได้กินข้าวเช้าเลย"
พอได้ยินเช่นนั้น หมอก็หายโกรธทันที เพราะได้ตระหนักว่าทุกข์ของคุณลุงนั้นมากกว่าตนเองเยอะ หมอท่านนี้เล่าว่าเหตุการณ์วันนั้นเป็นบทเรียนสำคัญและเป็นจุดเปลี่ยนครั้งหนึ่งในชีวิต
คนเรานั้นมีทั้งความเห็นแก่ตัวและเมตตากรุณาอยู่ในใจ การมองจากมุมของตัวเองบ่อยครั้งเป็นการกระตุ้นเร้าความเห็นแก่ตัว ทำให้ความต้องการของตนเองกลายเป็นเรื่องใหญ่กว่าอะไรอื่น ดังนั้นเมื่อมีสิ่งใดที่ขัดกับความต้องการของตนเอง ก็จะรู้สึกไม่พอใจหรือโกรธเคืองขึ้นมาทันที ในทางตรงข้ามเมื่อมองจากมุมของคนอื่น หรือเปิดใจรับฟังเขา โดยเฉพาะคนที่มีความทุกข์ เมตตากรุณาในใจเราจะถูกปลุกขึ้นมา ทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ และปรารถนาที่จะช่วยเหลือเขาโดยไม่คำนึงถึงความลำบากของตนเอง ดังนั้นแม้เหนื่อยกายแต่ใจไม่ทุกข์ คนที่มองจากมุมของผู้อื่นจึงสามารถเป็นสุขได้ง่ายกว่าคนที่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง
การมองจากมุมของผู้อื่น ยังทำให้เราพร้อมที่จะขอโทษเมื่อทำผิดพลาดขึ้น เพราะเมื่อรู้ว่าผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของเราโดยไม่ได้ตั้งใจ เราย่อมสงสาร เห็นใจและปรารถนาที่จะบรรเทาความทุกข์ของเขาก่อนอื่นใด ดังนั้นสิ่งแรกที่เราจะทำโดยไม่รั้งรอคือ กล่าวคำขอโทษ หรือ แสดงความเสียใจ แต่สำหรับคนที่นึกถึงแต่ตัวเองหรือมองจากมุมของตัวเองอย่างเดียว อย่างแรกที่เขาจะทำคือ ปกป้องตนเองและยืนกรานว่าฉันไม่ผิด เพราะนั่นเป็นธรรมชาติของอัตตาหรือความเห็นแก่ตัว ดังนั้นแทนที่จะขอโทษ ก็จะมัวหาข้อแก้ตัว รวมทั้งสรรหาเหตุผลต่าง ๆ นานามายืนยันความถูกต้องของตน ซึ่งเท่ากับซ้ำเติมความทุกข์และเพิ่มความขุ่นเคืองให้แก่อีกฝ่าย ผลก็คือเกิดการทะเลาะวิวาทหรือฟ้องร้องกัน ทำให้เกิดความทุกข์แก่ทั้งสองฝ่าย
ใช่หรือไม่ว่าความผิดพลาดลุกลามกลายเป็นเรื่องร้ายแรงกว่าเดิม ก็เพราะการไม่สนใจความรู้สึกของอีกฝ่าย หากคิดแต่จะปกป้องตนเอง เมื่อหลายปีก่อนมีคนไข้คนหนึ่งมารับการรักษาเพราะเป็นไส้ติ่งอักเสบ แต่หลังจากที่แพทย์ฉีดยาชาเข้าสันหลัง หัวใจของคนไข้ก็หยุดเต้น แม้จะช่วยกันกู้ชีพขึ้นมาได้ แต่หลังจากนั้น ๑๕ วันคนไข้ก็เสียชีวิต ลูกของคนไข้ต้องการคำอธิบายจากหมอว่าเกิดอะไรขึ้น หากเป็นความผิดพลาดของหมอ ก็ขอให้หมอและโรงพยาบาลทำบุญเลี้ยงพระและขอโทษแม่ของเขา แต่หมอปฏิเสธ ส่วนหนึ่งเพราะได้รับการแนะนำจากหมอรุ่นพี่ว่า ไม่ควรขอโทษ เพราะจะทำให้ญาติรู้สึกว่าเป็นความผิดพลาดของหมอ
ผลก็คือญาติฟ้องกระทรวงสาธารณสุข เรื่องน่าจะจบเพียงเท่านี้เมื่อศาลพิพากษาให้กระทรวงสาธารณสุขชดใช้เป็นจำนวน ๖ แสนบาท แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่ยอมจ่าย และอุทธรณ์ว่าคดีขาดอายุความ ดังนั้นญาติคนไข้จึงหันไปพึ่งศาลอาญา คราวนี้ฟ้องหมอผู้ผ่าตัดและผู้ให้ยาชา ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาว่าหมอผู้ให้ยาชามีความผิด และเนื่องจากหมอไม่ได้บรรเทาผลร้ายแก่ญาติผู้ตาย อีกทั้งยังให้การปฏิเสธตลอดมา จึงไม่มีเหตุรอการลงโทษให้ หมอผู้นั้นจึงถูกจำคุก ๓ ปีโดยไม่มีการลดโทษหรือรอลงอาญา
เรื่องนี้ตรงข้ามกับอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งแม้จะลงเอยด้วยการตายของคนไข้เช่นเดียวกัน แต่ในที่สุดหมอกับญาติคนไข้ปรับความเข้าใจกันได้ ทั้ง ๆ ที่ในตอนแรกญาติของคนไข้ยกพวกมาที่โรงพยาบาลเพื่อจะเอาเรื่องกับหมอ แต่หมอกับผู้อำนวยการไม่เพียงต้อนรับญาติคนไข้อย่างดี หากยังรับรู้ความเศร้าโศกเสียใจของเขา จึงเอ่ยปากขอโทษและแสดงความเสียใจ อีกทั้งยังชวนคณะหมอและพยาบาลไปร่วมพิธีศพพร้อมทั้งรับเป็นเจ้าภาพงานศพด้วย ผู้อำนวยการเล่าว่าตอนที่เดินเข้าหมู่บ้านไปยังวัดเย็นนั้น รู้สึกหวั่นวิตกต่อปฏิกิริยาของชาวบ้านเพราะรู้ดีว่ามีชาวบ้านบางคนโกรธแค้นมาก อยากขับไล่หมอเจ้าของไข้ให้พ้นจากพื้นที่ แต่ปรากฏว่าชาวบ้านส่วนใหญ่กลับเห็นใจหมอ บางคนถึงกับพูดว่า "เราเสียชาวบ้านไปหนึ่งคนแล้ว อย่าถึงกับต้องเสียหมอไปอีกคนหนึ่งเลย" ในที่สุดหมอกับชาวบ้านก็กลับมามีความสัมพันธ์ที่ดีเหมือนเดิม
มนุษย์เรามีความสามารถที่จะเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ความสามารถดังกล่าวจะเรียกว่าเป็นสัญชาตญาณที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดก็ไม่ผิด เวลาเราเห็นคนยิ้ม เราก็รู้สึกดีตามไปด้วย แต่เมื่อเห็นคนร่ำไห้ ใจเราก็เศร้าตามเขา บางครั้งก็อดน้ำตาซึมไปด้วยไม่ได้ แม้แต่เด็กทารกก็ยังมีปฏิกิริยาดังกล่าว คุณสมบัติดังกล่าวเป็นสะพานเชื่อมเรากับผู้คนให้เป็นมิตรกันและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แต่ในยามที่เกิดความขัดแย้งหรือมีเรื่องกระทบใจ เรามักจะหันมาปกป้องตนเอง และไม่สนใจความรู้สึกของคนอื่น ซึ่งบ่อยครั้งกลับทำให้ความขัดแย้งลุกลามขึ้นแม้กระทั่งกับคนใกล้ตัว เช่น สามีภรรยา หรือมิตรสหาย ในสภาพเช่นนี้ การใช้เหตุผลเพื่อพิสูจน์ความถูกต้องของตนไม่สำคัญเท่ากับการเปิดใจรับฟังความรู้สึกหรือมุมมองของกันและกัน เพราะนั่นจะเปิดช่องให้เกิดความเห็นอกเห็นใจกันกัน และสามารถคืนดีกันได้ในที่สุด
เราทุกคนล้วนอยากให้ใคร ๆ เข้าใจเรา แต่เขาจะเข้าใจเราได้อย่างไร หากเราไม่เป็นฝ่ายเปิดใจเพื่อเข้าใจเขาก่อน เมื่อใดที่เราพยายามเข้าใจเขา รับรู้ความรู้สึกหรือมุมมองของเขา ไม่นานเขาก็จะเปิดใจฟังเรา เข้าใจเรา หรือถึงกับเชื้อเชิญให้เราเข้าไปนั่งในหัวใจเขา
มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่งนัสรูดินไปเยี่ยมเพื่อน แต่เพื่อนปิดประตูบ้าน นัสรูดินจึงเคาะประตู เพื่อนจึงถามว่า "นั่นใคร"
"ฉันเอง"นัสรูดินตอบ
ปรากฏว่าเพื่อนนิ่งเงียบ ไม่เปิดประตูบ้าน นัสรูดินตะโกนบอกว่า "ฉันเอง"กี่ครั้ง ๆ
เพื่อนก็ไม่เปิด นัสรูดินนิ่งเงียบไปพักใหญ่ แล้วได้คิดขึ้นมา จึงเคาะประตูอีกครั้ง เมื่อมีเสียงจากในบ้านถามว่า"นั่นใคร"
นัสรูดินตอบว่า "ท่านไงล่ะ"
สักพักประตูบ้านก็เปิด แล้วเพื่อนก็เชื้อเชิญให้นัสรูดินเข้าไปในบ้าน
คุณทราบหรือไม่ว่าทำไมประตูบ้านจึงเปิดรับนัสรูดินในที่สุด?
:- https://visalo.org/article/sarakadee255408.htm
-
โด่งดังอย่างว่างเปล่า
พระไพศาล วิสาโล
ลาซาร์ ปองตีเซลลี เป็นทหารผ่านศึกที่มีอายุยืนมากที่สุดของฝรั่งเศส เขาเพิ่งเสียชีวิตเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาด้วยวัย ๑๑๐ ปี เมื่อยังมีชีวิตอยู่เขามักได้รับการร้องขอให้เล่าประสบการณ์ในสมรภูมิสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑ มีเหตุการณ์ตอนหนึ่งที่เขาไม่ลืมเลย
ครั้งนั้นกองร้อยของเขาได้ตรึงกำลังอยู่ในสนามเพลาะเพื่อต้านทานกองทัพเยอรมัน ฝ่ายตรงข้ามได้รุกประชิดเข้ามาเรื่อย ๆ ด้วยกำลังพลที่เหนือกว่ามาก เพื่อนของเขาคนหนึ่งรู้ตัวว่าไม่รอดแน่ ๆ ประโยคสุดท้ายที่เพื่อนผู้นั้นสั่งลาเขาก็คือ “ถ้าฉันตาย แกอย่าลืมฉันนะ”
เหตุการณ์ดังกล่าวดูเหมือนไม่สลักสำคัญอะไร เพราะหลายคนก็พูดอย่างนั้นก่อนตาย ถ้าไม่ใช่ในสนามรบ ก็บนเตียงที่บ้าน หรือในโรงพยาบาล แต่ประเด็นที่น่าคิดก็คือในเมื่อรู้ว่ากำลังจะตาย และถ้าตายก็จะไม่สามารถรับรู้อะไรได้อีกแล้ว ทำไมผู้คนจึงกลัวที่จะถูกลืม ทำไมถึงอยากให้เพื่อน ๆ คนรัก หรือลูก ๆ ยังระลึกถึงเขาอยู่
การกลัวถูกลืมหรือการอยากให้คนอื่นจดจำตนเองได้หลังตายไปแล้ว เป็นสิ่งที่ฝังใจผู้คนในยุคปัจจุบัน ถ้าเป็นคนธรรมดาก็อยากให้มีการบันทึกประวัติของตนเอาไว้ ถ้ามีกำลังทรัพย์มากก็อยากให้มีตึก สถานที่ หรือมูลนิธิตั้งในชื่อของตน ถ้าเป็นคนเด่นคนดังก็อยากให้มีการสร้างอนุสาวรีย์ให้ตนหรือมีชื่อจารึกในประวัติศาสตร์ ส่วนนักเขียนหรือศิลปินก็ปรารถนาให้ผลงานของตนยั่งยืนเป็นอมตะ แต่เป็นอมตะอย่างเดียวไม่พอ ต้องให้คนรุ่นหลังรู้ด้วยว่านั่นเป็นผลงานของตน
ใช่หรือไม่ว่าทั้งหมดนี้เป็นเพราะในส่วนลึกของใจทุกคนต้องการเป็นอมตะ ปรารถนาตัวตนที่ยั่งยืน คนทั่วไปย่อมถือว่าร่างกายนั้นเป็นตัวตนและพยายามทุกอย่างเพื่อให้ร่างกายยั่งยืนตลอดกาล แต่เมื่อรู้แน่แก่ใจว่าร่างกายนั้นไม่จิรัง สักวันต้องแตกดับ ก็อดไม่ได้ที่จะเอาตัวตนไปผูกติดกับสิ่งอื่นที่ยั่งยืนกว่า หรือไปยึดเอาสิ่งอื่นที่ยั่งยืนกว่ามาเป็นตัวตนแทน หนึ่งในสิ่งนั้นคือ “ชื่อเสียง” แม้ตัวจะตาย แต่ถ้าชื่อเสียงคงอยู่ ก็เท่ากับว่าตัวตนยังสืบเนื่องต่อไป และสนองความรู้สึกอยากเป็นอมตะ
คนเราแม้จะกลัวตายแต่ก็ยังน้อยกว่ากลัวตัวตนขาดสูญ หากจะต้องตายแต่ถ้ามั่นใจว่าตัวตนยังคงอยู่ ก็พร้อมที่จะตาย ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้คนจำนวนมากยอมสละชีวิตเพื่อชาติหากมั่นใจว่า “ตัวตายแต่ชื่อยัง”การที่ชื่อเสียงของตนถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติหรือมีอนุสาวรีย์ให้คนจดจำระลึกถึง เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ผู้คนในยุคปัจจุบันมั่นใจว่าตัวตนของตนจะยังสืบเนื่องต่อไป แม้ร่างกายจะหาไม่แล้วก็ตาม
ชื่อเสียงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนสมัยนี้มาก สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็เพราะคนยุคนี้เชื่อเรื่องชาติหน้าน้อยลง ความลังเลสงสัยในเรื่องชาติหน้าหรือไม่เชื่อเอาเลย แม้จะดูมีเหตุผลหรือสอดคล้องกับความคิดแบบวิทยาศาสตร์ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้ผู้คนทำใจยอมรับความตายได้ยาก เพราะนั่นหมายความว่าตัวตนจะดับสูญไปเลย เว้นเสียแต่ว่าจะมีหลักประกันให้มั่นใจว่าตัวตนจะยังคงอยู่ต่อไปหลังสิ้นลมแล้ว ชื่อเสียงที่ยังคงอยู่(หรือยังมีคนจดจำเราได้) มีความสำคัญก็เพราะ แม้มันไม่ใช่หลักประกันที่มั่นคง แต่ก็พอปลอบใจเราได้บ้างว่าตัวตนจะยังคงอยู่ต่อไปหลังตายแล้ว ดังนั้นสำหรับคนที่ต้องการเป็นอมตะไม่มีอะไรดีกว่าการสร้างชื่อให้ปรากฏแก่ผู้คน ลองเฟลโลว์ กวีอเมริกันสะท้อนทัศนะนี้อย่างชัดเจนเมื่อเขาพูดถึงไมเคิลแองเจโลว่า “เขาจะตายได้อย่างไรในเมื่อเขาอยู่อย่างเป็นอมตะในหัวใจของผู้คน” ส่วนฟรอยด์ก็พูดถึงความเป็นอมตะว่า หมายถึง “การเป็นที่รักของบุคคลนิรนามมากมาย”
เมื่อเปรียบเทียบกับคนในอดีต(ก่อนยุคสมัยใหม่)จะเห็นความแตกต่างได้ชัดเจน ชื่อเสียงมีความหมายกับคนเหล่านั้นน้อยมาก คนไทยแต่ก่อนอยู่และตายโดยไม่สนใจที่จะทิ้งชื่อเสียงเรียงนามเอาไว้ หากย้อนหลังไปไม่กี่ชั่วอายุคนก็แทบจำไม่ได้แล้วว่าบรรพบุรุษมีชื่อว่าอะไร ช่างและศิลปินชั้นครูรังสรรค์ผลงานโดยไม่เคยจารึกชื่อเอาไว้ สำหรับคนในยุคก่อนสมัยใหม่ ชาตินี้ไม่ใช่ชาติเดียวที่มีอยู่ แต่ยังมีชาติหน้า ตายไปก็ยังมีชาติหน้าให้ไปเกิดใหม่ ไม่ได้จบสิ้นกันที่ชาตินี้ การตายในชาตินี้จึงมิได้หมายถึงการสิ้นสุดของตัวตน แต่ยังมีความสืบเนื่องต่อไปอีก ชื่อเสียงจะยังคงอยู่หรือไม่ในชาตินี้จึงไม่มีความสำคัญมากเท่าไร จะว่าไปแล้วแม้แต่ทรัพย์สินเงินทองในชาตินี้ก็ไม่สำคัญมากเช่นกัน เพราะชาตินี้เป็นแค่เสี้ยวหนึ่งในวัฏสงสารอันไม่มีประมาณ สำหรับคนชาติอื่นศาสนาอื่นซึ่งเชื่อว่ามีชีวิตหลังตายหรือมีสวรรค์รองรับ ก็เห็นเช่นกันว่ายังมีตัวตนสืบต่อหลังจากสิ้นลมในชาตินี้ ดังนั้นจึงไม่ดิ้นรนสนใจว่า “ตัวตายแต่ชื่อยัง”หรือไม่
อย่างไรก็ตามในระยะหลังเราจะพบว่าผู้คนไม่ได้แสวงหาชื่อเสียงเพื่อให้ใคร ๆ จดจำได้หลังตนตายไปแล้วเท่านั้น แต่ยังต้องการเด่นดังในขณะที่มีชีวิตอยู่ และหากเด่นดังในทางดีไม่ได้ก็พร้อมจะเด่นดังในทางร้าย เช่น ทำตัวเสื่อมเสีย มีพฤติกรรมท้าทายศีลธรรม หรือถึงกับทำร้ายคนดัง และยิงกราดผู้คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ส่วนหนึ่งก็เพราะต้องการประชดสังคมและระบายความคับแค้นใส่ผู้คน แต่สาเหตุสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ก็คือต้องการทำตัวให้เป็นข่าว ฆาตกรต่อเนื่องรายหนึ่งในสหรัฐอเมริกาเปิดเผยความในใจว่า “ผมจะต้องฆ่าคนกี่คนถึงจะมีชื่อในหนังสือพิมพ์หรือได้รับความสนใจจากคนทั้งประเทศ” เขาบ่นว่าหลังจากฆ่าไปแล้ว ๖ คนเขาถึงจะเป็นที่สนใจของสื่อมวลชน
อะไรทำให้ผู้คนอยากเด่นอยากดัง เป็นที่รู้จักกว้างขวาง ถ้าตอบอย่างท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ สาเหตุนั้นอยู่ที่ “ปมเขื่อง” อันเป็นธรรมชาติของอัตตา หรือ “ตัวกู”ที่ต้องการประกาศตัวตนให้เป็นที่รู้จักหรือยกย่องสรรเสริญ ยิ่งกว่านั้นคือมันต้องการเป็นใหญ่เหนือผู้อื่น ตัวกูทนไม่ได้ที่จะอยู่ด้อยหรือต่ำกว่าคนอื่น ดังนั้นถ้าเด่นในทางดีไม่ได้ ก็ขอเด่นในทางร้าย
ปมเขื่องนั้นต้องการความเด่น แต่ถ้าเด่นแล้วแม้ไม่ดัง ก็น่าจะสนองปมเขื่องแล้ว (เช่น เป็นใหญ่ในครอบครัวหรือที่ทำงาน) แต่อาการที่เกิดขึ้นกับคนในยุคนี้ก็คือ อยากดังด้วย นั่นคือเป็นที่รู้จักกว้างขวางผ่านสื่อต่าง ๆ หากความอยากดังนั้นไม่ใช่เป็นเพราะปมเขื่องอย่างเดียว มีอะไรเป็นสาเหตุเบื้องหลังหรือไม่
เดวิด ลอย นักปรัชญาและอาจารย์เซนชาวอเมริกันมีคำอธิบายที่น่าสนใจ ในทัศนะของเขา สาเหตุที่อยู่เบื้องหลังความอยากดังก็คือความรู้สึกในส่วนลึกว่า “ตัวกู”นั้นไม่มีอยู่จริง หากเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมา ทัศนะดังกล่าวอิงแนวคิดทางพุทธศาสนาที่ว่าตัวตนที่เที่ยงแท้นั้นไม่มีอยู่จริง (อนัตตา) ไม่มีอะไรที่ยึดถือเป็นตัวตน หรือ “ตัวกู ของกู”ได้เลย หากเป็นเพราะอวิชชาหรือความหลง จึงเกิดการปรุงแต่งหรือยึดมั่นสำคัญหมายว่าเป็น “ตัวกู ของกู”ขึ้นมา
อะไรที่ไม่มีอยู่จริง มันย่อมไม่คงที่คงทน ความไม่คงที่คงทนของ “ตัวกู” เป็นสิ่งที่จิตเราพอจะรับรู้ได้ เพราะสังเกตได้ว่าตัวกูนั้นเกิดดับและแปรเปลี่ยนอยู่เรื่อย เดี๋ยวก็รู้สึกว่ากูเป็นนั่น เดี๋ยวก็รู้สึกว่ากูเป็นนี่ เมื่อกี้เป็นแม่ (เวลาเจอลูก) แต่ตอนนี้เป็นภรรยา (เวลาเจอสามี) และบางครั้งก็รู้สึกว่าตัวกูหายไป ด้วยเหตุนี้เดวิด ลอยเชื่อว่าในส่วนลึกของจิตใจ เราทุกคนมีความสงสัยหรือรู้สึกตงิด ๆ ว่าตัวกูนั้นไม่มีอยู่จริง แต่ความสงสัยหรือความสำนึกรู้ดังกล่าวเป็นสิ่งที่จิตไม่สามารถยอมรับได้ เพราะเท่ากับว่ามันเองก็ไม่มีตัวตนหรือแก่นแท้ที่คงทนยั่งยืน
สิ่งที่จิตพยายามทำก็คือกดความสงสัยหรือความสำนึกรู้ดังกล่าวเอาไว้ในจิตไร้สำนึก แต่อะไรที่กดไว้ในจิตไร้สำนึกในที่สุดย่อมผุดโผล่ออกมาในรูปลักษณ์ใหม่ที่บิดเบี้ยวและสร้างความปั่นป่วนในจิตใจไม่หยุดหย่อน ผลก็คือจิตเกิดความรู้สึกอ้างว้าง ว่างเปล่า โหวงเหวง ไม่มั่นคง หรือรู้สึกพร่องตลอดเวลา ทำให้อยากมีอยากครอบครองตลอดเวลา เพื่อเติมเต็มความรู้สึก แต่แม้จะได้มาเท่าไรก็ไม่รู้สึกพอเสียที (ดูเพิ่มเติมใน “ชีวิตที่ต้องมีความอ้างว้างเป็นเพื่อน”ของผู้เขียนในสารคดี เดือนเมษายน ๒๕๕๑)
ในอีกด้านหนึ่งจิตก็พยายามหาสิ่งต่าง ๆ มายืนยันว่าตัวกูนั้นมีอยู่จริง และสิ่งที่จะช่วยยืนยันตัวกูว่ามีจริงก็คือการเป็นที่รู้จักของคนอื่นนั่นเอง เราอยากให้คนอื่นรู้จักเรา ไปไหนก็มีคนทักและพูดถึงก็เพราะเขาจะได้เป็นเครื่องยืนยันว่าเรายังมีตัวตนอยู่ ตรงกันข้ามหากไม่มีใครรู้จักเราเลย ก็เท่ากับว่าเราไม่มีตัวตนอยู่ในโลกนี้ ไม่มีอะไรที่จะทำร้ายคนในยุคนี้เท่ากับความรู้สึกว่าตนเป็น nobody เพราะนั่นไม่ต่างจากการอยู่เหมือนคนตาย คนทุกคนย่อมต้องการเป็น somebody ถ้าไม่มีใครรู้จัก ก็ต้องพยายามทุกวิถีทางแม้จะต้องทำสิ่งชั่วร้าย ทั้งนี้เพื่อให้สายตาของผู้คนทุกคนจดจ้องมาที่ตนเอง เพราะนั่นเป็นการยืนยันว่าฉันมีตัวตนอยู่จริง ด้วยเหตุนี้ชื่อเสียงหรือความโด่งดังจึงเป็นยอดปรารถนาของคนในยุคปัจจุบัน มันเป็นหลักประกันว่าเราจะเป็นที่รู้จักของผู้คน และนั่นหมายความว่า “เราจะรอดพ้นจากการตายทั้งเป็นเพราะไร้คนรู้จัก” ดังคำของลีโอ บรอดีนักคิดชาวอเมริกันอีกผู้หนึ่ง
อันที่จริงความรู้สึกพร่องเป็นปัญหาของคนทุกยุคทุกสมัย แต่คนสมัยก่อนมีวิธีอื่นที่บรรเทาความรู้สึกพร่อง วิธีเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นวิธีการทางศาสนา เช่นการทำความดีหรือสร้างบุญกุศลด้วยความเชื่อว่าจะความทุกข์ทั้งปวง(รวมทั้งความรู้สึกพร่อง)จะถูกปลดเปลื้องในสรวงสวรรค์ หรือการมีศรัทธามั่นในพระเจ้าทำให้รู้สึกเต็มอิ่มในจิตใจ ตลอดจนการภาวนาให้จิตใจมั่นคงเกิดความสงบ ไม่ถูกรบกวนอย่างต่อเนื่องด้วยความรู้สึกพร่อง สำหรับพุทธศาสนา วิธีที่ปลดเปลื้องความรู้สึกพร่องอย่างสิ้นเชิงก็คือการมองตนอย่างลึกซึ้งจนเห็นความจริงอย่างแจ่มแจ้งว่าตัวกูนั้นไม่มีอยู่จริง สามารถปล่อยวางความยึดติดถือมั่นหรืออาลัยในตัวกูได้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องกดซ่อนมันไว้ในจิตไร้สำนึกเพื่อสร้างความปั่นป่วนจิตใจอีกต่อไป
แต่คนยุคปัจจุบันนั้นมักไม่เชื่อวิธีการทางศาสนา ทั้งไม่หวังว่าความรู้สึกพร่องจะบรรเทาได้ในชาติหน้า เพราะไม่เชื่อว่าชาติหน้ามีจริง ยิ่งกว่านั้นยังถูกครอบงำด้วยความคิดแบบปัจเจกนิยม แยกตัวเองออกจากชุมชน (ซึ่งมีวิธีการหลายอย่างที่บรรเทาความรู้สึกพร่องได้แม้ชั่วคราวก็ตาม) เอาแต่หมกมุ่นอยู่กับตัวเองและไม่สนใจอะไรอย่างอื่นนอกจากเรื่องของตน ความรู้สึกพร่องจึงรบกวนจิตใจตลอดเวลา ซึ่งนอกจากจะผลักดันให้แสวงหาวัตถุสิ่งเสพมาครอบครองเพื่อเติมเต็มจิตใจแล้ว ยังดิ้นรนไขว่คว้าหาชื่อเสียงและความเด่นดังไม่หยุดหย่อน เพื่อเป็นเครื่องยืนยันตัวตนว่ามีจริง และจะยังคงอยู่เป็นอมตะไปตลอดแม้ดินกลบร่างแล้วก็ตาม
น่าเศร้าก็ตรงที่ไม่ว่าจะมีชื่อเสียงโด่งดังเพียงใด ก็ไม่เคยพอใจเสียที มีชื่อเสียงก้องโลกก็ยังทุกข์ ทั้ง ๆ ที่เป็น somebody แล้วก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะสิ่งที่ตัวเองต้องการจริง ๆ นั้นไม่ใช่ชื่อเสียง หากคือความมั่นใจว่าตัวกูมีอยู่จริง แต่ในเมื่อตัวกูไม่เคยมีอยู่จริง การปฏิเสธความจริงข้อนี้จึงทำให้เป็นทุกข์ไม่หยุดหย่อน แม้จะเป็นดาราชื่อดังหรือเศรษฐีอันดับ ๑ ของโลกก็ตาม
นี้คือความทุกข์อันยากจะปลดเปลื้องได้ของคนในยุคปัจจุบัน
:- https://visalo.org/article/sarakadee255201.htm
-
ใจสู้ แต่รู้จักนิ่ง
รินใจ
กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกเมื่อคุณป้าชาซาซุน(Cha Sa-Soon)สอบใบขับขี่ได้ เมื่อกุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว คุณป่าวัย ๖๘ ชาวเกาหลีใต้ผู้นี้เคยเป็นข่าวมาครั้งหนึ่งแล้วเนื่องจากเธอสอบใบขับขี่มาแล้วถึง ๗๗๕ ครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากนั้นใครที่รู้ข่าวก็เอาใจช่วยเธอมาโดยตลอด ส่วนคุณป้าก็ไม่ท้อแท้ เธอไปสอบแทบทุกวัน จนกระทั่งสอบได้ในที่สุดเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นการสอบครั้งที่ ๙๕๐ ของเธอ!
เรื่องแบบนี้ไม่มีวันเกิดขึ้นที่เมืองไทย ไม่ใช่เพราะข้อสอบในบ้านเราง่ายกว่าที่เกาหลีใต้ แต่เป็นเพราะเรามีวิธีการที่ง่ายกว่านั้นในการได้ใบขับขี่ (เช่น ใช้เส้นหรือใช้เงิน) วิธีการอย่างนั้นคงใช้ไม่ได้ที่เกาหลีใต้ จะเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ของเขาซื่อสัตย์กว่าที่เมืองไทย หรือเป็นเพราะระบบของเขาเข้มงวดกว่าที่บ้านเรา ก็ไม่ทราบได้ แต่ที่แน่ ๆ คือคุณป้าผู้นี้เลือกที่จะเข้าสอบโดยใช้ความสามารถของเธอเอง
ที่จริงคุณป้าชาผ่านแค่การสอบข้อเขียนเท่านั้น ยังต้องสอบขั้นปฏิบัติอีก แต่นั่นคงไม่ยากแล้วสำหรับเธอซึ่งเป็นแม่ค้าขายผัก ในเกาหลีใต้ผู้ที่สอบข้อเขียนผ่านต้องได้คะแนนตั้งแต่ ๖๐ ขึ้นไป (คะแนนเต็ม ๑๐๐) โดยมีข้อสอบปรนัย ๕๐ ข้อ ความที่เป็นชาวบ้านธรรมดา การศึกษาน้อย คุณป้าจึงไม่เคยตอบถูกถึง ๓๐ ข้อเลยจนกระทั่งครั้งล่าสุดนี้
คุณป้าเริ่มสอบใบขับขี่ตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๔๘ หลังจากนั้นก็เข้าสอบแทบทุกวัน โดยไม่ย่อท้อเลย คุณป้าอยากได้ใบขับขี่มาก ๆ ก็เพื่อจะได้ขับรถไปขายผักตามที่ต่าง ๆ จะว่านี้เป็นความใฝ่ฝันของเธอก็ได้ เมื่อมีคนถามว่าทำไมเธอจึงสอบไม่หยุดทั้ง ๆ ที่สอบตกมาแล้วหลายร้อยครั้ง คุณป้าตอบว่า “ฉันเชื่อว่าคุณสามารถไปถึงเป้าหมายได้ถ้ามีความเพียรไม่หยุดหย่อน” เธอยังกล่าวอีกว่า “อย่าละทิ้งความฝันเหมือนฉัน เข้มแข็งเอาไว้และทำให้ดีที่สุด”
คุณป้าชาเป็นตัวอย่างของคนที่เชื่อว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” ถ้าหากว่าพยายามแล้วแต่ยังไม่สำเร็จ นั่นแสดงว่ายังพยายามไม่พอ กล่าวอีกนัยหนึ่ง มีแต่การล้มเลิกเท่านั้นที่นำไปสู่ความล้มเหลว อย่างไรก็ตามไม่ง่ายเลยที่ใครสักคนจะยังมีความเพียรและความมุ่งมั่นหลังจากที่ล้มเหลวมานับร้อยครั้ง จะทำเช่นนั้นได้ต้องมีทั้งความใฝ่ฝันและความรักในสิ่งที่ทำนั้น
เบื้องหลังความสำเร็จของผู้คนเป็นอันมาก มิใช่อัจฉริยภาพแต่เป็นความเพียรพยายามอย่างยิ่งยวด เซซาน เป็นศิลปินชื่อก้องชาวฝรั่งเศส ซึ่งโลกรู้จักในฐานะผู้วางรากฐานให้แก่ศิลปะตะวันตกในศตวรรษที่ ๒๐ และมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อปิกัสโซ แต่น้อยคนที่รู้ว่ากว่าเขาจะมาถึงจุดนั้นได้เขาต้องใช้ความอุตสาหะเพียงใด
เซซานมุ่งมั่นเป็นศิลปินตั้งแต่อายุ ๒๑ แต่กว่าเขาจะมีชื่อเสียงโด่งดังจนเป็นที่ยอมรับของโลกตะวันตกได้ เขาต้องใช้ความเพียรพยายามนานถึง ๓๐ ปี ระหว่างนั้นเขาต้องขับเคี่ยวตัวเองอย่างหนักเพื่อแสวงหาแนวทางของตัวเอง เมื่อเขาวาดภาพเหมือนให้กับนักวิจารณ์คนหนึ่ง เขาใช้เวลาถึง ๓ เดือน โดยให้นายแบบมานั่งถึง ๘๐ ครั้ง กระนั้นก็ยังไม่พอใจกับผลงาน (ซึ่งต่อมากลายเป็นงานชั้นเยี่ยมชิ้นหนึ่งของเขา) แต่นั่นก็ยังเทียบไม่ได้กับการวาดภาพเหมือนให้กับตัวแทนขายภาพของเขา ทุกวันนายแบบต้องมานั่งตั้งแต่ ๘ โมงเช้าจนถึง ๑๑ โมงครึ่งโดยไม่มีหยุดพัก เขาใช้เวลาวาดถึง ๑๕๐ วัน วาดแล้ววาดอีก นับครั้งไม่ถ้วน แต่สุดท้ายก็เลิกเพราะผลงานยังไม่ถูกใจ
เป็นเวลานานร่วม ๒ ทศวรรษที่ผลงานของเขาถูกปฏิเสธจากวงการ แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับการที่เขายังไม่พอใจผลงานของตน เขาใช้ความอุตสาหะอยู่นานจนพบแนวทางของตน ถึงตอนนั้นก็ไม่สำคัญแล้วว่าผู้คนจะให้การยอมรับผลงานของเขาหรือไม่ แน่นอนคงมีสักครั้งที่เขารู้สึกท้อแท้สับสน แต่ความรักในศิลปะทำให้เขายังบากบั่นพากเพียรต่อไป ยิ่งได้รับความสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากเพื่อน ๆ ก็ยิ่งทำให้มีกำลังสร้างสรรค์ผลงานต่อไป
ความเพียรเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความเพียรเป็นแค่เครื่องมือหรืออุปกรณ์เท่านั้น แท้ที่จริงความเพียรยังเป็นเป้าหมายหรือคุณค่าในตัวเอง โดยเฉพาะความเพียรในสิ่งที่ถูกต้อง ยิ่งถ้ามั่นใจว่าความเพียรนั้นสอดคล้องหรือตรงกับเป้าหมายที่พึงประสงค์ ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องเป้าหมายอีกต่อไป เพียงแค่จดจ่อใส่ใจหรือทุ่มเทให้กับความเพียรนั้นก็พอแล้ว สำเร็จหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
พระมหาชนกเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ ตอนที่ท่านลอยคออยู่กลางมหาสมุทรเนื่องจากเรือล่ม แม้จะมองไม่เห็นฝั่งแต่ท่านก็ว่ายน้ำไม่หยุด ผ่านไป ๗ วัน ๗ คืนก็ยังว่ายอยู่ จนนางมณีเมขลาซึ่งเฝ้าท้องทะเลมาเห็น จึงลงมาถามว่า “ทำไมในเมื่อไม่เห็นฝั่ง ท่านจึงยังอุตสาหะว่ายกลางมหาสมุทร ไม่มีประโยชน์อันใดเลย”
พระมหาชนกตอบว่า “ข้าพเจ้าเห็นประโยชน์ของความเพียร แม้ไม่เห็นฝั่งก็พยายามว่ายต่อไป” นางมณีเมขลาจึงแย้งว่า “ฝั่งอยู่ไกลเหลือประมาณ ความพยายามที่เปล่าประโยชน์ย่อมนำความตายมาถึงท่านก่อนถึงฝั่ง”
มาถึงตรงนี้พระมหาชนกจึงตอบว่า “ บุคคลเมื่อทำความเพียร เมื่อจะตายก็ได้ชื่อว่าไม่เป็นหนี้ ไม่ถูกญาติ เทวดา มารดาและบิดาติเตียน....บุคคลเมื่อเห็นความประสงค์ของตนและทำการทั้งหลายด้วยความเพียร แม้กิจนั้นจะสำเร็จหรือไม่ก็ตามที ผลแห่งการงานนั้นย่อมประจักษ์แก่ตน”
นางมณีเมขลาจำนนต่อเหตุผลของพระมหาชนก อดไม่ได้ที่จะสรรเสริญท่าน จากนั้นก็ประคองท่านพาไปส่งถึงฝั่ง
หากมั่นใจว่าทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ก็ควรเพียรไม่หยุด อย่างไรก็ตามนั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องหาเรื่องทำไม่หยุด อยู่เฉยไม่ได้ ความเพียรที่ถูกต้องนั้นต้องประกอบด้วยปัญญา คือการเห็นประโยชน์ของสิ่งที่ทำ และรู้ว่าการกระทำนั้นพาไปสู่เป้าหมายได้ แต่ปัญญายังหมายถึงการรู้จักหยุดเมื่อมาถึงจุดที่ทำอะไรไม่ได้ รวมทั้งตระหนักว่าในบางสถานการณ์การ “ทำ” อาจก่อผลเสียมากกว่าการ “ไม่ทำ” ในสถานการณ์เช่นนั้น การอยู่นิ่งเฉยจึงเป็นสิ่งที่ควรทำมากกว่า
หญิงผู้หนึ่งเล่าว่า ขณะที่เธอกำลังว่ายน้ำที่เกาะสมุย จู่ ๆ ก็ถูกกระแสน้ำพัดออกห่างจากฝั่ง เธอจึงว่ายน้ำเข้าฝั่ง แต่ยิ่งว่ายก็ยิ่งถูกกระแสน้ำพัดไกลออกไปเรื่อย ๆ ด้วยความตกใจเธอจึงรวบรวมกำลังว่ายเข้าฝั่ง แต่ยิ่งว่ายก็ยิ่งเหนื่อย จนไม่มีแรงต้านกระแสน้ำ เพื่อนที่เห็นเหตุการณ์พยายามว่ายมาช่วยเธอ แต่พอเจอกระแสน้ำ รู้ว่าสู้ไม่ได้ จึงว่ายเข้าฝั่ง ตอนนั้นเธอรู้ว่าคงไม่รอดแล้ว ชั่วขณะนั้นเองเธอได้สติขึ้นมา จึงควบคุมจิตใจให้หายตื่นตระหนก แทนที่จะว่ายต่อ เธอตัดสินใจลอยคออยู่นิ่ง ๆ พร้อมรับความตายที่กำลังใกล้เข้ามา
หลังจากลอยคออยู่พักใหญ่ เธอสังเกตว่าคลื่นค่อย ๆ ซัดเธอเข้าฝั่ง เธอไม่รู้ว่าหลุดจากกระแสน้ำเมื่อไร แต่ที่แน่ ๆ ก็คือเธอรู้ว่าตัดสินใจถูกที่อยู่นิ่ง ๆ เพราะหากยังขืนว่ายต่อไป นอกจากจะไม่ช่วยเธอแล้ว ยังทำให้เธอหมดแรงเร็วขึ้นจนอาจจมน้ำตายได้
เธอยังเล่าอีกว่าตอนที่ลอยคอนิ่ง ๆ พร้อมรับความตาย เธอรู้สึกสงบมาก ไม่มีความตื่นตระหนกหรืออาลัยอาวรณ์แต่อย่างใด ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหากเธอไม่ยอมรับความตาย ใจคงกระสับกระส่าย ทุรนทุราย ส่วนมือไม้ก็คงไม่อยู่เฉย ต้องดิ้นรนทำอะไรสักอย่าง ซึ่งก็มีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง
ความนิ่งเฉยหรือไม่ทำอะไรเลย ในบางสถานการณ์ก็มีประโยชน์กว่าการดิ้นรนขวนขวาย หากเป็นการนิ่งด้วยสติและปัญญา มิใช่เพราะท้อแท้ เกียจคร้าน หรือเพราะตื่นตระหนก ใช่หรือไม่ว่าบางครั้งเราอดไม่ได้ที่ต้องทำอะไรสักอย่างเพราะตกใจ ตื่นกลัว หรือขาดสติ ดังนั้นจึงก่อให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี
การอยู่นิ่งเฉยบางครั้งจึงยากกว่าการไม่ยอมอยู่นิ่ง ยิ่งในยามที่ต้องเผชิญเหตุร้าย การอยู่นิ่งเฉยอาจทำให้พ้นอันตรายได้ การรู้ว่าเมื่อไรควรอยู่นิ่งเฉยจึงเป็นศิลปะอย่างหนึ่งของชีวิต ในหนังสือเรื่องชวนม่วนชื่น พระอาจารย์พรหมเล่าถึงนายทหารชาวอังกฤษผู้หนึ่งซึ่งนำกองร้อยออกลาดตระเวนในป่าพม่าสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ขณะที่กำลังหยุดพัก มีทหารมารายงานว่าพบกองทหารญี่ปุ่นหลายกองร้อยอยู่ในบริเวณนั้นและกำลังโอบล้อมอยู่ หลายคนคาดว่านายทหารผู้นั้นจะต้องออกคำสั่งให้ต่อสู้เพื่อตีฝ่าวงล้อมออกไป อย่างน้อยก็คงมีใครบางคนรอดตาย หรือถึงตายกันหมด ก็ยังได้ปลิดชีวิตข้าศึกให้ตายตามกันไปด้วย
ตรงกันข้าม นายทหารกลับสั่งให้ลูกน้องอยู่เฉย ๆ นั่งลง แล้วชงชาดื่ม ทหารเกือบทั้งหมดประหลาดใจในคำสั่ง แต่ก็ต้องทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา หลายคนดื่มไปกระสับกระส่ายไป แต่ก่อนที่จะดื่มชาเสร็จ หน่วยลาดตระเวนก็มารายงานว่าข้าศึกได้เดินผ่านไปแล้ว ได้ฟังเช่นนั้นนายทหารก็สั่งให้ทุกคนรีบเก็บสัมภาระอย่างเงียบ ๆ แล้วเคลื่อนย้ายโดยเร็ว
นายทหารรู้ดีว่าในสถานการณ์เช่นนั้น ไม่มีอะไรดีกว่าการอยู่นิ่งและพร้อมรับมือกับเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้น ในระหว่างที่รออีกฝ่ายเข้ามาปะทะ ไม่มีอะไรดีกว่าการดื่มชาให้สบายอารมณ์ อย่างน้อยก็ยังดีกว่าการจมอยู่ในความตื่นตระหนกหรือหวาดกลัว
ความพากเพียรไม่ยอมวางมือแม้ประสบความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า กับการอยู่นิ่งเฉย แม้มีอันตรายมาประชิดตัว หาใช่ขั้วตรงข้ามกันไม่ หากเป็นสิ่งที่หนุนเสริมกัน และต่างต้องอาศัยสติและปัญญาเป็นพื้นฐาน พากเพียรแต่ขาดปัญญาย่อมทำให้หลงทางและห่างไกลจากเป้าหมายที่ต้องการ การมีสติทำให้ไม่พะวงกับเป้าหมาย สามารถทุ่มเทจิตใจให้กับสิ่งที่ทำอย่างเต็มที่ ในทำนองเดียวกัน ปัญญาก็ทำให้รู้ว่าเมื่อไรจึงควรนิ่งเฉย ส่วนสติก็ทำให้ใจสงบนิ่งไม่หวั่นไหวต่ออันตรายที่ใกล้เข้ามา ชีวิตไม่อาจเจริญงอกงามได้หากขาดอันใดอันหนึ่ง จะว่าไปแล้วหากทำเต็มที่ พยายามอย่างสุดความสามารถแล้ว ขณะที่รอผลปรากฏออกมา ไม่มีอะไรดีกว่าการสงบนิ่ง เพราะใจที่ปลอดโปร่ง ไร้กังวล ย่อมดีกว่าใจที่กระสับกระส่าย ในเมื่อวิตกกังวลไปก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น มีแต่ทุกข์เปล่า ๆ แล้วจะกังวลไปทำไม
ใช่หรือไม่ว่า“ถ้าปัญหาแก้ได้ จะวิตกกังวลไปทำไม” ในยามนั้นสิ่งที่ควรทำคือลงมือแก้ไขอย่างเต็มที่ พากเพียรไม่หยุดหย่อนจนกว่าจะแก้ได้ในที่สุด “ แต่ถ้าปัญหานั้นแก้ไม่ได้ มีประโยชน์อะไรที่จะวิตกกังวล” ไม่ดีกว่าหรือหากจะทำใจสงบนิ่งและยอมรับความจริง เคล็ดลับแห่งการสร้างดุลยภาพระหว่างความเพียรกับการอยู่นิ่งมีอยู่แล้วในภาษิตธิเบตดังกล่าว
:- https://visalo.org/article/sarakadee255301.htm
-
เทวากับซาตาน
ถ้าโลกนี้มีแต่คนดี!!
ลองคิดดูสิ!! ถ้าทุกคนต่างเป็นคนดีกันหมด อะไรจะเกิดขึ้น???
๑. จะไม่มีคนทะเลาะกัน ไม่ตบตีกัน จนถึงไม่ฆ่าฟันกัน มนุษย์ไม่ต้องเบียดเบียนกัน ไม่ข่มเหงรังแกกัน ไม่มีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เพราะสิ่งเหล่านี้ คนดีจะไม่ยอมทำเด็ดขาด
๒. จะไม่มีการลักขโมย ปล้นจี้ ตีชิงวิ่งราว การทุจริตคดโกงจะไม่มีวันเกิดขึ้น ข้าวของเงินทองวางไว้ตรงไหน ก็ไม่ต้องกลัวว่า มันจะย้ายที่อยู่ไปเองโดยที่เราไม่รู้ไม่เห็น
๓. จะไม่มีการคบชู้สู่ชายในระหว่างสามีภรรยา ครอบครัวจะอยู่เย็นเป็นสุข ไม่ต้องหวาดระแวงว่า จะมีใครแอบมาตีท้ายครัว
๔. จะไม่มีการโกหกหลอกลวงต้มตุ๋นกัน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ต้องเปลี่ยนไปหาอาชีพใหม่ เพราะถ้าไม่โกหกใครก็ต้มตุ๋นใครไม่ได้ มีหวังอดตายพอดี เพื่อนฝูงยืมเงินกัน ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะผิดใจกัน
๕. จะไม่มีคนขี้เหล้าเมายา ยาม้า ยาบ้า ฝิ่น เฮโรอิน ก็เป็นอันขายไม่ออก แจกฟรีก็ไม่มีคนเอา
เอาแค่ ๕ อย่างนี้ก็พอแล้วมั้ง!! มันจะทำให้โลกนี้ดูสวยงามจนผิดปกติเกินไปไหม? ใช่!! โลกนี้จะผิดปกติไปมากทีเดียว มันจะเสียสมดุลของธรรมชาติ จึงเป็นไปไม่ได้เลย ที่โลกนี้จะมีแต่คนดี
ดังนั้น ใคร ๆ จงอย่าได้เพ้อฝันไป!! และไม่ต้องไปอยากให้คนชั่วกลับตัวเป็นคนดี มันไม่ง่ายอย่างนั้น!!
โลกนี้มันจึงต้องมีทั้งคนดีและคนชั่ว ถ้าสมัยใดคนดีมีจำนวนมากกว่า โลกนี้ก็อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ถ้าสมัยใดคนชั่วมีจำนวนมากกว่า ก็จะเกิดความเดือดร้อนวุ่นวายไปทุกแห่งหนที่มีคนชั่วอยู่ ธรรมท่านจึงสอนไม่ให้คบคนพาล ให้คบบัณฑิต จึงจำเป็นต้องอยู่ห่าง ๆ คนชั่วเข้าไว้ ให้เข้าใกล้คนดีให้มาก ๆ ถ้าเราอยากเป็นคนดี
เนื่องเพราะการที่จะเป็นคนดีได้มันต้องเป็นที่ใจก่อน ใจต้องได้สั่งสมคุณธรรมในระดับศีล ๕ มาแล้วอย่างมากมายเลยทีเดียว จึงไม่ใช่ของที่ใคร ๆ ก็จะเป็นกันได้ง่าย ๆ ใช่ว่านึกอยากจะเป็นคนดี ก็จะเป็นได้เลยอย่างใจ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่การเป็นคนชั่วเป็นได้ง่ายกว่ามาก เพราะไม่ต้องทำดีอะไรเลย ก็เป็นคนชั่วได้ทันที
การจะเป็นคนดีได้ ใจจึงต้องเข้มแข็งในระดับที่สามารถเอาชนะอำนาจฝ่ายต่ำได้ เมื่อเผชิญกับสิ่งยั่วยุเย้ายวนที่จะให้ทำชั่ว ถ้าใครสามารถหักห้ามใจไม่ยอมทำตามมันได้ ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว ต้องหักห้ามใจได้หลาย ๆ ครั้ง จนใจเป็นปกติ เชื่อมั่นใจตนเองได้ว่า จะไม่ทำชั่วเช่นนั้นอย่างแน่นอน อย่างนี้! พอกล้อมแกล้มว่า เป็นคนดีได้ในระดับหนึ่ง
ดังนั้น ถ้าเห็นคนชั่วเขาทำชั่ว ก็ไม่ต้องไปโมโหเขา ไม่ต้องไปอยากให้เขาทำดี มันจะทำให้โมโหหนักเข้าไปอีก ให้รู้ว่าภูมิจิตภูมิธรรมของเขายังอ่อนอยู่ ก็ต้องอยู่อย่างนั้นไปก่อน จนกว่าเขาจะพัฒนาจิตใจตัวเองจนยกระดับคุณธรรมให้สูงขึ้นได้ ก็จะทำให้เขาเห็นโทษของการทำชั่ว ก็จะค่อย ๆ ทำชั่วน้อยลงไปเอง ไม่ใช่อยู่ ๆ เราจะไปนึกเสกให้คนชั่วกลับกลายเป็นคนดีขึ้นมาอย่างใจเราคิดนึก มันเป็นไปไม่ได้!!
หากใครคิดที่จะบอกสอนอะไรแก่คนชั่ว ก็ต้องระวังให้มาก ควรมีกรรมเกี่ยวเนื่องกัน ควรแน่ใจว่า เราจะสอนเขาได้ไม่ผิด เขายินดีให้เราสอน สอนแล้วเขาจะเชื่อฟัง อย่างนี้ก็บอกสอนไปเถอะ!!
แต่อย่าไปบอกสอนอะไรแก่คนชั่วโดยที่เขาไม่ได้เชื้อเชิญ ก็ต้องรู้สิ!! ว่า คนชั่วก็คือคนชั่ว ไม่ใช่คนดี ขืนไปบอกไปสอนเขาสุ่มสี่สุ่มห้า เกิดพูดผิดหูไม่สบอารมณ์กันขึ้นมา ระวัง!! เดี๋ยวเขาจะมาถอนฟันให้ฟรีโดยที่เราก็ไม่ได้เชื้อเชิญ แต่ถ้าใครอยากจะถอนฟันฟรีโดยไม่ต้องพึ่งหมอฟัน ก็เอาตามสบายเลย!!
:- https://www.doisaengdham.org/สายธารธรรม-โดยเจ้าอาวาส/ถ้าโลกนี้มีแต่คนดี-.html
-
เป็นเลิศได้เมื่อไม่มี“ฉัน”
รินใจ
เขาโอบากุซานแห่งนครเกียวโตเป็นที่ตั้งของวัดแห่งหนึ่ง จุดเด่นที่สะดุดใจผู้มาเยือนวัดนี้คือซุ้มประตูซึ่งมีตัวอักษรจีนขนาดใหญ่แกะสลักไว้อย่างสวยงาม เป็นข้อความว่า “หลักธรรมประการแรกสุด” ตัวอักษรดังกล่าวเป็นลายพู่กันของท่านโคเซน ช่างเอกเมื่อสองร้อยปีที่แล้ว ผลงานชิ้นนี้ได้รับการยกย่องว่ามีความงดงามอย่างยิ่งจวบจนทุกวันนี้
มีเรื่องเล่าว่าตอนที่ท่านโคเซนทำงานชิ้นนี้ มีลูกศิษย์คนหนึ่งช่วยผสมน้ำหมึกเพื่อให้ท่าน เขียนบนแผ่นกระดาษ ก่อนที่จะใช้เป็นแบบสำหรับแกะสลักลงบนแผ่นไม้ต่อไป
ศิษย์ผู้นี้เป็นเด็กกล้าและมีตาแหลมคม เมื่อท่านเขียนงานชิ้นแรกเสร็จ เขาพูดต่อหน้าอาจารย์ว่า “ชิ้นนี้ยังไม่ดี”
ท่านโคเซนจึงเขียนใหม่ แล้วถามศิษย์ว่า “แล้วชิ้นนี้ล่ะ เป็นอย่างไร”
ศิษย์ตอบว่า “แย่ แย่กว่าชิ้นก่อนเสียอีก”
ท่านเขียนใหม่ แต่ศิษย์ก็ยังส่ายหน้า ท่านเขียนอีก แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของศิษย์ ท่านเขียนแล้วเขียนอีกรวมแล้วถึง ๘๐ ชิ้น ก็ยังมีข้อตำหนิ
ท่านเริ่มรู้สึกท้อ เผอิญศิษย์ผู้นั้นมีธุระออกไปข้างนอกชั่วคราว ท่านโคเซนเห็นเป็นโอกาสดี นึกในใจว่า “ทีนี้ฉันไม่ต้องพะวงกับสายตาของเขาแล้ว” ท่านจึงรีบเขียนด้วยใจที่ไร้กังวล จิตมีสมาธิตั้งมั่นกับงานชิ้นนี้ ตวัดพู่กันด้วยความรู้สึกที่นิ่งสงบแต่มีพลัง ไม่นานก็เสร็จ
เมื่อศิษย์กลับมาเห็น ก็อุทานขึ้นทันทีว่า “นี่เป็นงานที่ยอดเยี่ยมมาก”
ท่านโคเซนเป็นช่างชั้นครู แต่ผลงานไม่สามารถบรรลุถึงความเป็นเลิศได้ ก็เพราะใจพะวงถึงความรู้สึกของผู้อื่น จิตจึงไม่สามารถเป็นสมาธิกับงานได้อย่างแท้จริง ทำให้ศักยภาพไม่สามารถเปล่งประกายออกมาอย่างเต็มที่ แต่ทันทีที่หายพะวงกับสายตาของคนรอบข้าง พลังสร้างสรรค์ก็ออกมาอย่างสมบูรณ์พร้อมด้วยอำนาจของสมาธิ จนเกิดผลงานชิ้นเยี่ยมได้
ไม่ว่ามีฝีมือสูงส่งเพียงใด หากรู้สึกพะวงถึงสายตาของคนอื่นแล้ว แม้แต่เรื่องง่ายก็กลายเป็นเรื่องยากได้ ในเกมฟุตบอลนั้น โอกาสที่ดีที่สุดในการทำประตูก็คือ เตะที่จุดโทษ แต่มีนักฟุตบอลระดับโลกหลายคนที่เตะลูกโทษไม่เข้า โดยเฉพาะในนัดสำคัญที่ตัดสินอนาคตของทีม สาเหตุไม่ได้อยู่ที่ฝีมือของนักฟุตบอล แต่เป็นเพราะใจไม่นิ่งพอ ความกังวลว่าจะถูกด่ายับหากเตะลูกง่าย ๆ อย่างนี้ไม่เข้าทำให้หลายคนเตะไม่เข้าจริง ๆ จุดที่ทำประตูได้ง่ายที่สุด กลับกลายเป็นจุด “ปราบเซียน”มานักต่อนัก ไม่ว่าเซียนผู้นั้นจะชื่อเบคแคม โรนัลดินโย่ รูนีย์ หรือโรนัลโด้
มองให้ลึกลงไป เมื่อใดที่รู้สึกว่ามีคนอื่นเฝ้าดูอยู่ ความรู้สึกมี “เขา” และมี “ฉัน” ก็เกิดขึ้นทันที ความรู้สึกว่ามี “ฉัน” หรือ “ตัวกู” นี้แหละที่ทำให้ใจเกิดพะวงขึ้นมา ว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับ “กู”หากทำไม่สำเร็จ คนอื่นจะพูดถึง “กู”อย่างไร ฯลฯ ความรู้สึกอย่างนี้แหละที่ทำให้ใจไม่นิ่ง จิตหวั่นไหว ปัญญาและทักษะที่มีอยู่จึงไม่สามารถออกมาได้อย่างเต็มที่
ในทางตรงข้ามหากจิตเป็นสมาธิ จนเป็นหนึ่งเดียวกับงาน กระทั่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเลือนหายไปจากความรับรู้ ไม่เกิดความรู้สึกว่าเป็น “เขา” เป็น “ฉัน” กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเกิดสภาวะ “จิตว่าง” ความสามารถทั้งมวลก็จะพรั่งพรูออกมาจนบังเกิดผลงานชั้นเลิศได้
ซู ตงโป มหากวีแห่งราชวงศ์ซ้อง เคยเขียนบทกวีถึงจิตรกรระดับปรมาจารย์ชื่อเวน ยู่ โก ว่า เมื่อเวน ยู่ โก วาดต้นไผ่ ในมโนทัศน์ของเขา ไม่มีผู้วาดและสิ่งที่ถูกวาด เพราะทั้งหมดได้กลายเป็นหนึ่งเดียวกัน ในสภาวะดังกล่าวนี้เองที่เวน ยู่ โก ตวัดพู่กันอย่างฉับพลัน เกิดเป็นภาพต้นไผ่ที่งดงามและไหวพลิ้วราวกับมีชีวิตอยู่ต่อหน้า
ท่านโคเซนเขียนงานชิ้นเลิศได้เมื่ออยู่ผู้เดียวตามลำพัง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องอยู่ผู้เดียวเท่านั้นถึงจะสร้างสรรค์งานได้ดี สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่ามีใครอยู่รอบตัวเราหรือไม่ หากอยู่ที่ใจเราต่างหากว่าใส่ใจกับสายตาของผู้อื่นเพียงใด หากจิตเป็นสมาธิกับงานที่ทำ ไม่สนใจว่ามีใครอยู่ด้วยหรือไม่ และไม่สนใจว่าเขาจะมองอย่างไร ก็เหมือนกับอยู่ผู้เดียวตามลำพัง หรือยิ่งกว่านั้นคือ ไม่รู้สึกว่ามี “กู”อยู่ด้วยซ้ำ เพราะจิตเป็นหนึ่งเดียวกับงานนั้นเสียแล้ว ความสามารถก็จะพรั่งพรูออกมาได้อย่างเต็มที่
ปัญหาก็คือเวลาทำอะไรก็ตามเรามักพะวงถึงสายตาของผู้อื่น หรือไม่ก็ปล่อยให้คนอื่นมามีอิทธิพลต่อเราโดยไม่รู้ตัว มีการวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันตรงกันว่า เวลาทำข้อสอบ นักเรียนหรือนักศึกษาส่วนใหญ่จะสอบได้คะแนนดีกว่าหากมีคนเข้าสอบด้วยไม่กี่คน แต่ถ้ามีคนเข้าสอบเป็นจำนวนมาก คะแนนที่ได้จะลดลง
ในการทดลองครั้งหนึ่ง ผู้ทดลองจัดให้นักศึกษาสอบคนเดียวในห้อง แต่ครึ่งหนึ่งของผู้สอบได้รับการบอกว่ามีอีก ๑๐ คนสอบแข่งกับเขาด้วย ส่วนอีกครึ่งหนึ่งผู้คุมสอบบอกเขาว่าเขากำลังแข่งกับคนอีก ๑๐๐ คน ทุกคนได้ข้อสอบเกี่ยวกับความรู้ทั่วไปที่ง่าย ๆ และได้รับคำสั่งให้ทำข้อสอบให้เร็วที่สุด โดยมีรางวัลให้สำหรับคนที่ได้คะแนนสูงสุด ผลที่ออกมาก็คือ นักศึกษาที่คิดว่าตนแข่งกับคน ๑๐ คนทำแบบทดสอบจบในเวลา ๒๘.๙๕ วินาทีโดยเฉลี่ย ส่วนคนที่คิดว่ามีคน ๑๐๐ คนแข่งกับเขา ทำแบบทดสอบเสร็จในเวลา ๓๓.๑๕ วินาที
การวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการรับรู้ว่ามีใครสอบแข่งกับเรานั้น มีผลต่อความสามารถในการทำข้อสอบของเรา คนส่วนใหญ่เมื่อรู้(หรือคิด)ว่ามีคนสอบแข่งด้วยนับร้อยหรือนับพันคน จะรู้สึกหวั่นไหว จิตไม่สู้ดี เพราะเข้าใจว่าโอกาสที่ตนจะสอบได้มีน้อยลง ผลก็คือทำข้อสอบได้ไม่ดีเมื่อเทียบกับการสอบในสนามที่มีคนแข่งด้วยไม่กี่คน
อย่างไรก็ตามลำพังการรับรู้ว่ามีคนสอบแข่งกับเราเป็นจำนวนมากนั้นไม่ใช่เป็นอุปสรรคในการทำข้อสอบ หากว่าขณะที่ทำข้อสอบนั้นใจเราไม่พะวงถึงคนอื่น จิตตั้งมั่นอยู่กับการทำข้อสอบ ราวกับว่าในขณะนั้นไม่มีใครอยู่เลย และหากทำได้ถึงขั้นว่าไม่มีแม้แต่ “ฉัน” เพราะจิตเป็นหนึ่งเดียวกับข้อสอบ สติปัญญาก็จะพรั่งพรูออกมาอย่างเต็มที่ สามารถทำข้อสอบยาก ๆได้ หรือเพลินกับการทำข้อสอบด้วยซ้ำ
ไม่ใช่แต่การทำข้อสอบเท่านั้น การทำงานอย่างอื่นก็เช่นกัน ใคร ๆ ก็อยากเป็นตัวของตัวเอง แต่เรามักปล่อยให้คนอื่นมามีอิทธิพลกับเรามากเกินไป แม้เขายังไม่ได้ทำอะไรกับเราเลย ไม่ได้ตำหนิ ไม่ได้ชื่นชมเรา เพียงแค่นึกถึงปฏิกิริยาของเขาที่จะเกิดขึ้นเมื่อเห็นผลงานของเรา หรือเพียงแค่รับรู้ว่าการกระทำของคนเหล่านั้นจะมีผลอย่างไรต่อตัวเรา เท่านี้ก็สามารถส่งผลถึงพฤติกรรมหรือความรู้สึกนึกคิดของเราแล้ว
ไม่จำเป็นต้องหลบลี้หนีใครไปซุ่มทำงานอยู่คนเดียว เพียงแค่มีสติกับงานที่ทำ ลืมผู้คนทั้งหลายไปชั่วคราว จิตตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบันขณะ เป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่อยู่เฉพาะหน้า ที่เหลือนอกนั้นก็ปล่อยให้ปัญญาและทักษะทั้งปวงแสดงตัวออกมาเอง
“อยู่หลายคนก็เหมือนกับอยู่คนเดียว” พุทธพจน์ดังกล่าวเป็นข้อแนะนำที่ดีสำหรับผู้ปรารถนาสร้างสรรค์ผลงานอย่างสุดฝีมือ
:- https://visalo.org/article/sarakadee255310.htm
-
ตบมือข้างเดียวไม่ดัง
พระไพศาล วิสาโล
“ตบมือข้างเดียวไม่ดัง” เป็นสำนวนที่คนไทยคุ้นเคย มีความหมายว่า ทำอะไรฝ่ายเดียวย่อมไม่เกิดผล หรือ ถ้าอีกฝ่ายไม่ร่วมมือด้วย ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น อาทิ ถ้าฝ่ายหนึ่งต่อว่าด่าทอ แต่อีกฝ่ายนิ่งเงียบ การทะเลาะวิวาทกันย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ นัยยะที่ซ่อนอยู่ก็คือ การทะเลาะวิวาทเกิดขึ้นได้ ก็เพราะทั้งฝ่ายเข้าไปผสมโรงด้วย ดังนั้นจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียหมด ย่อมไม่ได้
จะว่าไปแล้ว “ตบมือข้างเดียวไม่ดัง” เป็นอุปมาที่ใช้ได้แม้กระทั่งกับความทุกข์ โดยเฉพาะความทุกข์ใจ กล่าวคือมันจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยสองปัจจัยร่วมด้วยเสมอ ได้แก่ ปัจจัยภายนอก และ ปัจจัยภายใน หากมีแค่ปัจจัยภายนอก แต่ปัจจัยภายในไม่ร่วมมือด้วย ความทุกข์ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้
คนส่วนใหญ่เมื่อเกิดความทุกข์ใจ มักโทษสิ่งภายนอก เช่น คำพูดหรือการกระทำของใครบางคน ทรัพย์สมบัติที่สูญหาย หรือแม้กระทั่งดินฟ้าอากาศ แต่ลืมไปว่า หากใจของตนไม่ผสมโรงด้วย ความทุกข์ใจย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เลย เช่น ไม่ว่าใครจะต่อว่าด่าทอเรา ถ้าเราไม่สนใจคำพูดของเขา หรือไม่เก็บเอามาตอกย้ำซ้ำเติมตนเอง ใจก็ยังเป็นปกติอยู่ได้ เงินหายหรือถูกคนโกง หากไม่คิดถึงมัน จะเศร้าเสียใจได้อย่างไร
บุหรี่ทำให้เป็นมะเร็งก็ต่อเมื่อเราสูบมัน แม้คาบมันไว้ในปากบุหรี่ก็ยังทำให้เราเป็นมะเร็งไม่ได้หากเราไม่ได้จุดมัน การจุดบุหรี่คือการยินยอมให้มันทำร้ายร่างกายเราฉันใด การหวนคิดถึงเหตุการณ์เลวร้ายที่ผ่านไปแล้ว หรือนึกถึงสิ่งแย่ ๆ ที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็คือการเปิดทางให้มันทำร้ายจิตใจเราฉันนั้น
ไม่มีใครขโมยความสุขไปจากใจเราได้หากเราไม่ยินยอมพร้อมใจ ไม่มีใครยัดเยียดความทุกข์ใจให้แก่เราได้หากเราไม่เปิดทางให้เขา เสียงดังแค่ไหนก็ทำอะไรเราไม่ได้หากเราไม่ร่วมมือด้วย
ครั้งหนึ่งหลวงปู่บุดดา ถาวโร ได้ไปฉันเพลที่บ้านโยมในกรุงเทพ ฯ เมื่อฉันเสร็จ เจ้าภาพนิมนต์ท่านพักผ่อนก่อนจะกลับวัดที่สิงห์บุรี ระหว่างที่ท่านเอนกายอยู่นั้นมีเสียงดังจากห้องที่อยู่ติดกัน เจ้าของเป็นอาซิ้มซึ่งชอบสวมเกี๊ยะไม้ เวลาเดินจึงส่งเสียงดังมาถึงห้องของหลวงปู่ ลูกศิษย์ซึ่งนั่งอยู่ในห้องหลวงปู่รู้สึกรำคาญเสียงเกี๊ยะ จึงบ่นขึ้นมาว่า “แหม เดินเสียงดังเชียว”
หลวงปู่แม้จะหลับตาอยู่แต่ก็รับรู้ตลอด จึงพูดเตือนว่า “เขาเดินของเขาอยู่ดี ๆ เราเอาหูไปรองเกี๊ยะเขาเอง”
ลูกศิษย์หลวงปู่โทษเสียงเกี๊ยะว่าเป็นตัวการทำให้ทุกข์ใจ หารู้ไม่ว่าเป็นเพราะใจของตนไปให้อำนาจแก่เสียงเกี๊ยะต่างหาก ความทุกข์จึงเกิดขึ้น
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เมื่อมือไม่มีแผล บุคคลจะจับต้องยาพิษก็ได้ ยาพิษนั้นไม่สามารถทำอันตรายได้” หมายความว่าทุกครั้งที่ความทุกข์ใจเกิดขึ้น นั่นเป็นเพราะใจเรามีส่วนร่วมด้วยเสมอ อย่างน้อย ๆ ก็เปิดทางให้ปัจจัยภายนอกมาทำร้ายจิตใจของเรา
อะไรทำให้เราเปิดทางหรือยินยอมให้สิ่งต่าง ๆ สร้างความทุกข์ใจแก่เรา คำตอบก็คือ ความลืมตัว ทั้ง ๆ ที่ไม่ชอบเสียงเกี๊ยะ แต่ทำไมยังเอาหูไปรองเกี๊ยะ ทั้ง ๆ ที่เกลียดชังคำต่อว่าด่าทอ แต่ทำไมใจยังนึกถึงมันไม่เลิกรา นั่นเป็นเพราะไม่มีสติ เมื่อไม่มีสติ ก็ลืมตัว จึงจดจ่อหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบ ครั้นทำแล้วเป็นทุกข์แต่ทำไมจึงยังไม่ยอมเลิก ยิ่งคิดก็ยิ่งทุกข์ แต่ก็ไม่หยุดคิดเสียที นั่นก็เพราะลืมตัว ขาดสติ นำไปสู่การติดยึดอย่างเหนียวแน่น
หินก้อนใหญ่ แม้จะหนักเพียงใด ถ้าไม่แบกมันเอาไว้ ก็ไม่รู้สึกเหนื่อย แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยแบกหินเอาไว้ ทั้ง ๆ ที่บ่นว่าเหนื่อย แต่ก็ไม่ยอมปล่อยเสียที ผู้คนเหล่านี้พากันโทษว่าหินหนัก แต่ลืมถามตนว่า แบกมันทำไม เพียงแค่ปล่อยมันลง ความเหนื่อยก็มลายหายไป
นายตำรวจคนหนึ่งทุกข์ใจมาก เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้านาย ซ้ำยังถูกเพื่อน ๆ กลั่นแกล้งเพราะไม่กินตามน้ำกับเขา จึงมาปรับทุกข์กับหลวงพ่อชา สุภัทโท ท่านฟังนายตำรวจผู้นั้นบ่นหลายสิบนาที ปัญหาแล้วปัญหาเล่าไหลหลั่งพรั่งพรูออกมาเพราะอัดอั้นมานาน หลังจากที่เขาระบายจบ ท่านก็ชี้ไปที่หินก้อนใหญ่หน้ากุฏิท่าน
“เห็นหินก้อนนั้นไหม”
“เห็นครับ”
“หนักไหม”
“หนักครับ”
“คุณแบกไหวไหม”
“ไม่ไหวครับ”
“ถ้าไม่ไหว ก็อย่าไปแบกมัน”
ถึงตรงนี้นายตำรวจผู้นั้นก็ได้สติ เขาเพิ่งรู้ตัวว่าที่ตนทุกข์หนักไม่ใช่เพราะใครหรืออะไรอื่น แต่เป็นเพราะตนเผลอแบกปัญหาต่าง ๆ เอาไว้เอง
สตินั้นช่วยให้ไม่ลืมตัว ทำให้ไม่เผลอแบกของหนัก รู้จักวางเมื่อรู้สึกเหนื่อย ไม่เอาคำต่อว่าด่าทอมาเป็นอารมณ์ เมื่อใดที่เผลอคิดถึงเหตุร้ายที่กลายเป็นอดีตไปแล้ว ก็รู้ตัว แล้ววางมันลงได้ ดังนั้นแม้จะเสียเงิน แต่ใจไม่เสีย ช่วยให้สุขภาพและงานการไม่เสียตามไปด้วย
เมื่อใดที่มีสติ ใจจะไม่เผลอพุ่งออกไปข้างนอก และโทษสิ่งรอบตัวว่าเป็นตัวการทำให้เราทุกข์ แต่จะกลับมารู้เท่าทันตนเอง ไม่เปิดทางหรือยินยอมให้ใครหรืออะไรมายัดเยียดความทุกข์แก่เราได้
เมื่อใจเราไม่เปิดทางหรือยินยอมเสียอย่าง ไม่ว่าใครจะทำอะไรเรา ก็มิอาจสร้างความทุกข์ใจแก่เราได้ เพราะตบมือข้างเดียวจะมีเสียงดังได้อย่างไร
:- https://visalo.org/article/sarakadee255712.htm
-
ยิ้มเข้าหา
พระไพศาล วิสาโล
หนึ่งในบรรดาการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองที่โด่งดังทั่วโลกและกลายเป็นตำนานไปแล้ว ก็คือ การคว่ำบาตรรถประจำทางที่เมืองมองต์โกเมอรี สหรัฐอเมริกา เมื่อปี ๒๔๙๘ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้โลกรู้จักมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ นักเทศน์ซึ่งเพิ่งผ่านวัยเบญจเพสมาหมาด ๆ
เช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆในรัฐอลาบามา มองต์โกเมอรี เป็นเมืองที่มีการเหยียดผิวมาก คนดำถูกห้ามไม่ให้ใช้ห้องน้ำหรือภัตตาคารเดียวกับคนขาว หากจำเป็นต้องใช้บริการสาธารณะร่วมกัน เช่น สนามบิน ก็ต้องแยกที่นั่งอย่างชัดเจน จะใช้ปะปนกันไม่ได้ นโยบายนี้ใช้กับรถประจำทางด้วยเช่นกัน กล่าวคือคนดำนั่งข้างหลัง ส่วนคนขาวนั่งข้างหน้า หากรถเต็ม ถ้ามีคนขาวขึ้นมา คนดำก็ต้องสละที่นั่งทั้งแถวให้คนขาว แล้วถอยไปยืนด้านหลัง
แล้ววันหนึ่งโรซ่า พาคส์ หญิงผิวดำ ก็ปฏิเสธที่จะสละที่นั่งให้คนขาว เธอจึงถูกจับเข้าคุกทันที เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจแก่คนดำทั้งเมือง จึงพร้อมใจกันไม่ขึ้นรถประจำทาง หันมาใช้การเดินทางด้วยวิธีอื่น เช่น ใช้รถส่วนตัวร่วมกัน (คาร์พูล) นั่งแท็กซี่ซึ่งเก็บค่าโดยสารเท่ากับค่ารถประจำทาง แม้รถมีไม่มากพอ ผู้คนจำนวนไม่น้อยก็เลือกขี่จักรยาน หรือเดินเท้าแทน ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายเลยเพราะช่วงนั้นเป็นฤดูหนาว
การคว่ำบาตรดังกล่าวทำให้บริษัทรถประจำทางของคนขาวสูญเสียรายได้ไปมาก ที่สำคัญนี้เป็นครั้งแรกที่คนดำที่นั่นท้าทายระบบเหยียดผิว จึงสร้างความไม่พอใจแก่คนขาวมาก มีการพยายามกลั่นแกล้งทุกวิถีทาง เช่น ปรับรถแท็กซี่ที่เก็บค่าโดยสารถูก ๆ หรือบีบบริษัทประกันภัยรถยนต์เพื่อกดดันไม่ให้มีการใช้คาร์พูล แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการคว่ำบาตร ซึ่งดำเนินต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน ยิ่งมีการข่มขู่ด้วยการวางระเบิดบ้านของคิงและผู้นำคนอื่น ก็ยิ่งปลุกเร้าให้คนดำผนึกรวมพลังกันเหนียวแน่นกว่าเดิม
ในที่สุด “ไม้ตาย” หรือมาตรการสุดท้ายที่คนขาวใช้ ก็คือ การขู่ว่าจะจับแกนนำการประท้วงเข้าคุก วิธีนี้สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงแก่แกนนำมาก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นคนมีฐานะดีทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ มีการศึกษาสูง และมีประวัติดีมาตลอด การติดคุกหมายถึงการเสื่อมเสียชื่อเสียงทั้งของตนเองและวงศ์ตระกูล ไม่ต้องพูดถึงความยากลำบากในคุกและเรื่องยุ่งยากอีกมากมายที่จะตามมา หลายคนเริ่มคิดถึงการยกธงขาว ขณะที่อีกส่วนหนึ่งรอตำรวจมาจับด้วยความวิตกกังวล
แต่สถานการณ์เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อ อี.ดี. นิกสัน แกนนำผู้อาวุโส แทนที่จะรอให้ตำรวจมาจับ กลับเป็นฝ่ายเดินไปมอบตัวแก่ตำรวจด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม “คุณกำลังตามหาผมใช่ไหม ? นี่ไง ผมมาแล้ว” ปรากฏว่าตำรวจพากันมองหน้ากันด้วยความงงงวย หลังจากที่พิมพ์ลายนิ้วมือ ถ่ายรูป เขาก็ได้รับการประกันออกมาในเวลาไม่นาน ข่าวดังกล่าวแพร่กระจายไปยังหมู่คนดำอย่างรวดเร็ว
การเดินให้ตำรวจจับด้วยใบหน้ายิ้มระรื่น มีผลทางจิตวิทยาต่อคนดำอย่างมาก เพราะเขาได้ทำให้คนเหล่านั้นเห็นว่า การถูกตำรวจจับหรือเข้าคุกนั้นไม่ใช่เรื่องน่ากลัว อีกทั้งการมอบตัวก็ไม่ได้ยุ่งยากแต่อย่างใด สบายกว่าและเร็วกว่าการไปทำฟันเสียอีก ผลก็คือแกนนำคนดำต่างพากันมามอบตัวต่อตำรวจ ท่ามกลางเสียงเชียร์ของคนนับร้อย บรรยากาศในศาลเต็มไปด้วยความครึกครื้น ว่ากันว่าคนดำบางคนรู้สึกเสียใจที่ไม่อยู่ในรายชื่อที่ตำรวจต้องการ ฝ่ายตำรวจแทนที่จะดีใจที่รวบแกนนำได้ครบหมด กลับหัวเสียที่คนดำแห่กันมาเชียร์เพื่อนที่มอบตัว ถึงกับตะโกนว่า “ที่นี่ไม่ใช่งานบันเทิงนะ(โว้ย)”
ถึงตอนนี้ไม่มีอะไรหยุดยั้งการประท้วงของคนดำได้อีก หลังจากคว่ำบาตรถึง ๓๘๑ วัน ชัยชนะก็เป็นของคนดำ ศาลสูงสหรัฐตัดสินว่าการแยกที่นั่งระหว่างคนขาวกับคนดำเป็นการกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญ เมืองมองต์โกเมอรีจำต้องออกคำสั่งอนุญาตให้คนดำนั่งที่ใดก็ได้ในรถประจำทาง แต่ผลของการคว่ำบาตรที่เมืองมองต์โกเมอรีไม่ได้ยุติเพียงเท่านั้น มันได้กลายเป็นแบบอย่างให้แก่การต่อสู้เพื่อสิทธิของคนดำทั้งประเทศอย่างต่อเนื่องนานกว่าทศวรรษ อีกทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้แก่การต่อสู้ของผู้ถูกกดขี่ทั่วทั้งโลก
คุกนั้นไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวคุก เมื่อไม่กลัวคุกเสียแล้ว คุกก็ไม่สามารถทำอะไรได้ สิ่งที่นิกสันทำก็คือช่วยให้ผู้คน “ตาสว่าง” ไม่กลัวคุกอีกต่อไป ซึ่งทำให้อำนาจการข่มขู่ของคนขาวลดน้อยถอยลงทันที ใช่หรือไม่ว่า อำนาจอยู่ที่การยอมรับ เมื่อเราไม่ยอมรับอำนาจของสิ่งใด สิ่งนั้นก็คลายพิษสงไปทันที ไม่ว่า สิ่งนั้นจะเป็นคุก คน หรือเหตุร้ายก็ตาม
อำนาจของผู้ปกครอง ขึ้นอยู่กับการยอมรับของประชาชน เมื่อประชาชนไม่ยอมรับเสียแล้ว ผู้ปกครองก็ไม่สามารถมีอำนาจเหนือประชาชนได้อีกต่อไป แม้จะข่มขู่คุกคามด้วยคุกตะรางหรือศัสตราอาวุธ แต่หากประชาชนไม่กลัวสิ่งเหล่านั้นเสียแล้ว การข่มขู่คุกคามก็ไร้ผล ในที่สุดก็ต้องลงจากอำนาจหรือระเห็จหนีไป นี้คือความจริงที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในประวัติศาสตร์
มองให้ใกล้ตัวเข้ามาหน่อย มีหลายอย่างที่ดูน่ากลัวในความรู้สึกของเรา เช่น ความล้มเหลว แต่ก็เช่นเดียวกันกับที่กล่าวมา ความล้มเหลวไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวล้มเหลว ตราบเท่าที่เรายังกลัวความล้มเหลว ความล้มเหลวก็จะมีอำนาจครอบงำเราได้ ทำให้เราทำงานไม่เป็นสุข พยายามเลี่ยงงานยากที่เสี่ยงต่อความล้มเหลว แต่เมื่อใดก็ตามที่เราไม่กลัวความล้มเหลว เราจะทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้น และเมื่อเกิดความล้มเหลว ก็จะยิ้มรับและหาประโยชน์จากมัน เช่น เก็บเกี่ยวบทเรียนอันทรงคุณค่าจากมันได้
โรคร้ายก็เช่นกัน มะเร็งไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวมะเร็ง หลายคนพอรู้ว่าเป็นมะเร็งก็ล้มทรุดทันที ทั้ง ๆ ที่มะเร็งยังอยู่ในระยะแรก นั่นเป็นเพราะความกลัวมะเร็งต่างหาก บางคนตายเร็วกว่าที่หมอพยากรณ์เสียอีก ในทางตรงข้าม หากทำใจยอมรับมันหรือยิ้มรับมันได้ กลับอยู่ได้อย่างมีความสุข มีหลายคนที่อยู่กับมะเร็งได้โดยไม่ต้องใช้ยาระงับปวด ทั้ง ๆ ที่มีความเจ็บปวดเกิดขึ้น มีคนหนึ่งเล่าว่า เวลารู้สึกปวดขึ้นมา เธอจะ “กล่อม”มันให้หลับ เหมือนกับที่เคยกล่อมลูก วิธีนี้ทำให้เธออยู่กับมะเร็งได้โดยไม่ทุกข์ทรมาน เช่นเดียวกับอีกคนซึ่งเป็นโรคสะเก็ดเงินและมีอาการลุกลามจนต้องนอนบนใบตอง แต่เธอก็ไม่ได้กลัวหรือเกลียดมันเลย ทุกวันเธอแผ่เมตตาและอุทิศส่วนบุญให้มัน โดยบอกมันว่า “ถ้าเธอจะไป ก็ขอให้เอาบุญกุศลไปด้วย แต่ถ้าเธอจะอยู่ ก็ต้องระวังตัวนะเพราะอาจโดนยาเล่นงานได้”
เมื่อต้องเจอกับปัญหาหรือเหตุร้าย การยิ้มรับมันย่อมดีกว่าการปฏิเสธมันด้วยความกลัว เพราะการยิ้มรับนั้นในแง่หนึ่งหมายถึงการไม่ยอมรับอำนาจคุกคามของมัน และทำให้มันไม่น่ากลัวอีกต่อไป แทนที่จะมองเป็นศัตรู กลับเห็นเป็นมิตรไปเสีย ท่าทีเช่นนี้ยังสามารถใช้ได้กับความตาย ซึ่งเป็นความจริงที่ไม่มีใครหนีพ้น เมื่อจะต้องเจอมันอย่างแน่นอน ควรเรียนรู้ที่จะยิ้มรับมันเสียแต่ตอนนี้ หรือถึงจะไม่ได้เตรียมใจไว้ก่อนเลย เมื่อถึงคราวที่ต้องเจอมันอย่างเลี่ยงไม่ได้ การเดินยิ้มเข้าหามัน ย่อมดีกว่าการพยายามเบือนหน้าหรือหลีกหนีมันด้วยความกลัว
:- https://visalo.org/article/sarakadee255702.htm -
เสียงร่ำร้องที่มิอาจเพิกเฉย
พระไพศาล วิสาโล
คนเราไม่ได้มีความเห็นแก่ตัวอย่างเดียว แต่ยังมีคุณธรรมหรือน้ำใจอยู่ในสัญชาตญาณอีกด้วย เมื่อท้องหิว สัญชาตญาณเอาตัวรอดทำให้เราต้องขวนขวายหาอาหาร เมื่อนิ้วมือถูกหนามแทง ปฏิกิริยาอย่างแรกสุดคือกระตุกนิ้วออกมา แต่ถ้าเห็นเด็กหิวโหย เราก็พร้อมที่จะอดเพื่อให้เขาได้มีกิน ในทำนองเดียวกัน หากเห็นคนตกน้ำ ความคิดอย่างแรกที่ผุดขึ้นมาคืออยากเข้าไปช่วย หลายคนไม่เพียงแต่คิด หากโดดลงไปช่วยแม้จะเสี่ยงภัยก็ตาม
สมัยหนึ่งเคยเข้าใจกันว่า ความเห็นอกเห็นใจและความเอื้ออาทรเป็นสิ่งที่เกิดจากการอบรมบ่มเพาะ แต่มีหลักฐานมากมายในระยะหลังที่ชี้ว่า คุณสมบัติดังกล่าวมีอยู่กับมนุษย์มาตั้งแต่เกิด เมื่อทารกเห็นหรือได้ยินทารกอีกคนหนึ่งร้องไห้ เขาก็จะร้องไห้ราวกับเป็นทุกข์ไปด้วย แต่ถ้าเป็นเสียงร้องของตนเองจากเครื่องบันทึกเสียง ทารกจะนิ่งเงียบ จากการทดลอง ยังพบว่าทารกที่อายุตั้งแต่ ๑๔ เดือนขึ้นไป ไม่เพียงร้องไห้เวลาได้ยินเสียงร้องของคนอื่นเท่านั้น หากยังพยายามหาทางบรรเทาทุกข์ของเด็กคนนั้นด้วย ถ้าเป็นเด็กที่อายุมากกว่านั้น เขาจะร้องไห้น้อยลงแต่พยายามเข้าไปช่วยมากขึ้น
คุณธรรมเป็นมากกว่ากฎระเบียบที่สั่งสอนกันมา เด็กอนุบาลรู้ว่าการกินขนมในห้องเรียนเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เพราะครูสอนอย่างนั้น แต่ถ้าครูบอกว่ากินได้ เด็กก็จะกินอย่างไม่ลังเล ในทางตรงข้ามหากครูคนเดียวกันนั้นบอกว่า ถ้าจะผลักเพื่อนให้ตกเก้าอี้ก็ได้ ครูไม่ว่าอะไร เด็กก็จะชะงักทันที บางคนอาจโต้แย้งด้วยซ้ำว่า ครูไม่น่าพูดอย่างนั้น นี้แสดงว่าความรู้ผิดรู้ชอบเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในสำนึกของเด็ก ไม่ได้เกิดขึ้นจากกฎกติกาที่ถ่ายทอดให้
อย่าว่าแต่เด็กทารกเลย แม้แต่สัตว์ก็ยังมีคุณธรรมโดยไม่มีใครมาสั่งสอน มีการทดลองแขวนหนูตัวหนึ่งไว้กลางอากาศ จนมันส่งเสียงกรีดร้องและดิ้นทุรนทุราย เมื่อหนูตัวอื่น ๆ ในกรงเห็นเข้า ก็วิ่งพล่านและพยายามช่วยหนูตัวนั้น จนในที่สุดก็พบว่าเพียงแค่กดคันบังคับในกรง หนูตัวนั้นก็ถูกหย่อนลงพื้นอย่างปลอดภัย
ที่น่าสนใจกว่านั้นคือสัตว์ยังพร้อมจะช่วยเพื่อนแม้ตนเองเดือดร้อน ในการทดลองคราวหนึ่ง ลิงกังอินเดีย (rhesus) ๖ ตัวถูกฝึกจนรู้ว่าหากดึงโซ่ก็จะมีอาหารกิน ไม่นานมันก็พบว่าหากดึงโซ่เส้นนั้น ลิงตัวที่ ๗ ก็จะถูกไฟช็อตจนร้องด้วยความเจ็บปวด ผลก็คือ ๔ ตัวแรกหันไปดึงโซ่เส้นอื่น แม้ว่าจะมีอาหารน้อยกว่าเส้นแรก แต่ไม่ทำให้เพื่อนเจ็บปวด ส่วนตัวที่ ๕ นั้นหยุดดึงโซ่ไม่ว่าเส้นใดก็ตามนานถึง ๕ วัน ยิ่งตัวที่ ๖ ด้วยแล้ว ไม่แตะโซ่เลยติดต่อกันนานถึง ๑๒ วัน นั่นคือทั้ง ๒ ตัวยอมหิวเพื่อไม่ให้เพื่อนถูกไฟช็อต
การค้นพบดังกล่าวทำให้เชื่อว่าความเห็นอกเห็นใจและความเอื้อเฟื้อเป็นคุณสมบัติที่ธรรมชาติให้มา โดยมิได้ผูกขาดที่มนุษย์เท่านั้น มองในแง่อรรถประโยชน์ ใครก็ตามที่มีคุณสมบัติดังกล่าว คนนั้น (หรือตัวนั้น)ก็น่าคบหา มีเพื่อนมาก ทำให้มีโอกาสอยู่รอดได้มากกว่าคน(หรือตัว)ที่เห็นแก่ตัว ในเทือกเขาคิลิมานจาโร ประเทศแทนซาเนีย ลิงบาบูนมีอัตราการตายของทารกสูงมาก คือร้อยละ ๑๐ หากเป็นปีที่อาหารอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าเป็นปีที่แห้งแล้ง อัตราการตายของทารกจะสูงถึงร้อยละ ๓๕ แต่นักชีววิทยาพบว่าแม่ลิงที่มีน้ำใจไมตรี เช่น ชอบหาเหาให้เพื่อน หรือชอบสังสรรค์กับตัวเมียด้วยกัน ลูกของเธอจะมีโอกาสรอดสูงมาก มิพักต้องพูดถึงสุขภาพของลิงเหล่านี้ ซึ่งมักมีความเครียดน้อยกว่าและมีภูมิต้านทานสูงกว่าตัวอื่น ๆ
ใช่แต่เท่านั้นน้ำใจไมตรีหรือความเสียสละยังเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ส่วนรวม (เช่น ฝูง หรือเผ่า) สามารถอยู่รอดได้ โดยเฉพาะเวลาล่าสัตว์ใหญ่หรือหนีภัยคุกคาม ถ้าแต่ละคน (หรือแต่ละตัว) คิดแต่จะเอาตัวรอด ไม่ร่วมมือกัน ก็อาจส่งผลเสียต่อส่วนรวม อันที่จริงนี้เป็นกติกาที่ปลูกฝังแม้กระทั่งในเซลล์ทุกเซลล์ของเรา ในด้านหนึ่งทุกเซลล์มีหน้าที่ปกป้องตัวเองและมีชีวิตอยู่ให้นานที่สุดด้วยการแบ่งตัวไปเรื่อย ๆ แต่ถึงจุดหนึ่งมันก็พร้อมที่จะตาย เพื่อประโยชน์ขององคาพยพหรือร่างกายโดยรวม ถ้าเซลล์ตัวไหนไม่ยอมตาย คือแบ่งตัวไม่รู้จบ มันก็จะกลายเป็นเนื้องอกหรือมะเร็ง ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายทั้งหมด กล่าวอีกนัยหนึ่งทุกเซลล์รู้ดีว่าการเสียสละของมันเป็นสิ่งจำเป็นต่อสุขภาพของร่างกายทั้งหมด
ในทำนองเดียวกันเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างก็ต้องการอยู่รอดและมีอาหารเลี้ยงตัว แต่เมื่อใดก็ตามที่อาหารขาดแคลน จนไม่มีอะไรเข้ามาในร่างกายเลย อวัยวะส่วนใหญ่ก็ยอมสละสารอาหารและพลังงานที่สะสมอยู่ เพื่อให้สมองได้ใช้อย่างเต็มที่ เพราะมันรู้ดีว่าสมองคือศูนย์กลางควบคุมการทำงานของร่างกายทั้งหมด อวัยวะทุกส่วนจึงยอมทำทุกอย่าง แม้ตัวเองจะต้องเดือดร้อน เพื่อให้สมองอยู่ได้นานที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
หากจะกล่าวว่าความเอื้อเฟื้อหรือความเสียสละผนึกแน่นอยู่ในยีนของเรา ก็คงไม่ผิดนัก เพราะไม่เพียงคุณธรรมดังกล่าวจะแสดงออกทางพฤติกรรมอันแลเห็นได้จากภายนอกเท่านั้น หากยังมีหลักฐานที่ชี้ว่ามีกลไกบางอย่างในระดับเซลล์สมองที่เกื้อหนุนให้เกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ อันเป็นที่มาของความเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น เซลล์สมองดังกล่าวก็คือ mirror neuron หรือเซลล์สมองที่ทำงานคล้ายกระจก กล่าวคือกระตุ้นให้เราเกิดความรู้สึกหรือมีกิริยาท่าทางเลียนแบบผู้ที่เราสังเกต
ความก้าวหน้าในการศึกษาระดับเซลล์ ทำให้พบว่าเมื่อเห็นคนถูกเข็มแทน เซลล์สมองในตัวเราจะทำงานคล้ายกับเวลาเรานึกหรือเห็นเข็มกำลังทิ่มแทงเรา ในทำนองเดียวกันเวลาเห็นคนเกาหัว หรือร้องไห้ เซลล์สมองบางส่วนในตัวเราก็จะทำงานเหมือนกับที่เกิดขึ้นในสมองของเขา พูดให้ละเอียดลงไป เมื่อเห็นกิริยาอาการอะไร เซลล์สมองส่วนที่ควบคุมกิริยาอาการดังกล่าวของผู้เห็นก็จะทำงาน เสมือนกับว่าได้ทำกิริยาอาการเหล่านั้นเอง หรือบางครั้งก็ถึงขั้นทำให้เกิดกิริยาอาการเลียนแบบกัน “เซลล์กระจก” คือเหตุผลว่าเวลาเราเห็นใครบางคนยิ้ม ใบหน้าเราจึงขยับยิ้มตาม หรือเห็นเขาหาว เราก็เผลอหาวตามไปด้วย
ในทำนองเดียวกันเมื่อใช้เครื่องสแกนสมอง (fMRI) ก็พบว่า เวลาเห็นภาพคนตื่นตกใจ สมองของเราก็ทำงานเสมือนกับว่าเรากำลังตื่นตกใจเอง แต่อยู่ในระดับที่เบาบางกว่า ไม่ใช่แต่การเห็นเท่านั้น ที่ทำให้สมองของผู้เห็นและผู้ถูกเห็นทำงานคล้ายกัน ราวกับถอดแบบมา ในยามที่เรานึกถึงช่วงเวลาที่ตัวเองมีความสุข สมองเราจะทำงานคล้ายกับเวลาที่เรานึกถึงช่วงเวลาที่เพื่อนสนิทมีความสุข ในทำนองเดียวกัน เวลาเราตอบคำถามว่า “ตอนนี้คุณรู้สึกอย่างไร ?” สมองของเราจะทำงานคล้ายกับเวลาเราถามว่า “ตอนนี้เขารู้สึกอย่างไร ?” กล่าวอีกนัยหนึ่ง สมองทำงานคล้ายกันมากเวลาเรานึกถึงความรู้สึกของตัวเองกับเวลานึกถึงความรู้สึกของคนอื่น
ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า สมองของเรามีคุณสมบัติที่เอื้อให้เราสามารถเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นได้ทันที หรือทำให้เรามีความรู้สึกร่วมกับผู้อื่นโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจหรืออาจไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ นี้คือเหตุผลว่าทำไมอารมณ์ความรู้สึกถึงถ่ายทอดกันได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่ได้ยินเสียงรำพึงอันเศร้าสร้อย เราก็อดรู้สึกเศร้าไม่ได้ เพียงแค่เห็นคนอื่นร้องไห้คร่ำครวญ เราก็น้ำตารื้นขึ้นมาทันที
-
(ต่อ)
สมองของเราไม่ได้รับรู้แต่รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสจากโลกภายนอกเท่านั้น แต่ยังสามารถรับอารมณ์ความรู้สึกจากผู้อื่นได้ด้วย โดยไม่ต้องผ่านการคิด จึงทำให้เราไม่เพียงเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่นเท่านั้น หากยังมีอารมณ์ร่วม รวมทั้งเห็นอกเห็นใจเขาด้วย นี้คือคุณสมบัติที่เกื้อหนุนคุณธรรมในใจเรา ทำให้นิ่งเฉยไม่ได้เมื่อเห็นผู้อื่นกำลังทุกข์ร้อนอยู่ต่อหน้า ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อเห็นผู้อื่นมีความสุข เราก็พลอยสุขด้วย ดังนั้นจึงอยากเข้าไปช่วยเหลือให้เขามีความสุข ความสุขที่เกิดกับเรายามได้ช่วยเหลือผู้อื่นนั้น ไม่ใช่ความรู้สึกที่นึกขึ้นมาเอง หากยังสามารถรับรู้ได้จากปฏิกิริยาของสมอง
พูดเช่นนี้มิได้หมายความว่าสมองคือจิตใจและจิตใจคือสมอง อันที่จริงจิตใจเป็นมากกว่าสมอง แต่จะทำงานได้ดีก็ต้องพึ่งสมอง การค้นพบความจริงเกี่ยวกับสมองทำให้รู้ว่า ความเห็นอกเห็นใจและความเสียสละนั้นนั้นธรรมชาติที่ติดมากับมนุษย์ตั้งแต่เกิดโดยมีกลไกทางชีววิทยารองรับและเกื้อหนุน แต่นั่นมิใช่ภาพรวมทั้งหมด เพราะการที่ใครสักคนจะลงมือช่วยผู้อื่นนั้น ยังต้องอาศัยการตัดสินใจและการใคร่ครวญถึงผลที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย กระบวนการดังกล่าวต้องอาศัยใจที่มีความหมายมากกว่าสมอง
เวลานั่งรถเมล์หรือรถไฟฟ้า เราย่อมรู้สึกไม่สบายใจเมื่อเห็นคนแก่หรือผู้หญิงท้องยืนอยู่ใกล้ ๆ คุณธรรมกระตุ้นให้เราลุกเพื่อให้ที่นั่งแก่เขา แต่บ่อยครั้งเราก็ตัดปัญหาด้วยการแกล้งนั่งหลับ หาไม่ก็ทำทีอ่านหนังสือ หรือมองไปนอกหน้าต่าง การตัดสินใจมองไม่เห็นเขาเหล่านั้นทำให้เรารู้สึกดีขึ้นที่ยังนั่งต่อไป
เวลาเห็นคนนอนทรุดอยู่บนทางเท้า เราย่อมรู้สึกผิดหากเดินผ่านไปโดยไม่ทำอะไรเลย แต่บางครั้งเราก็เดินผ่านไปโดยให้เหตุผลว่า “ถึงฉันไม่ช่วย คนอื่นก็ช่วย” หรือไม่ก็อ้างว่า “ฉันกำลังมีธุระเร่งด่วน คราวหน้าค่อยช่วยก็แล้วกัน” ถ้านึกเหตุผลอื่นไม่ออกก็อ้างคนอื่นว่า “ใคร ๆ เขาก็ทำอย่างนี้ทั้งนั้น”
การแกล้งมองไม่เห็น หรือหาเหตุผลเข้าข้างตนเองนั้น เป็นวิธีการที่ใช้สยบเสียงร่ำร้องของคุณธรรมในใจเรา ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ตัวการที่อยู่เบื้องหลังวิธีการดังกล่าวก็คือ ความเห็นแก่ตัว หรือ “อัตตา” ซึ่งก็เป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งของเราเหมือนกัน ความเห็นแก่ตัวสามารถสรรหาเหตุผลมาได้มากมายเพื่อที่ตัวเองจะได้สบาย ถ้าไม่มีเหตุผลเสียเลย ก็จะรู้สึก “เสียself” หรือรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง เพราะถูกคุณธรรมในใจเล่นงาน ทำให้รู้สึกผิด
ในปัจจุบันภาพดังกล่าวมีให้เห็นมากขึ้นในเมืองใหญ่ ๆ รวมทั้งกรุงเทพ ฯ หากสังเกตจะพบว่าคนที่เดินผ่านผู้ที่ล้มทรุดกลางทางเท้านั้น ล้วนทอดสายตาไปทางอื่น ราวกับมองไม่เห็น แต่หากมีใครสักคนเข้าไปช่วยผู้นั้น สถานการณ์ก็จะเปลี่ยนไปทันที ทีนี้ก็จะมีคนอื่นเข้าไปช่วยบ้าง อาจจะหาน้ำมาให้ หรือไถ่ถามอาการ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เหตุผลข้อหนึ่งก็คือ เขาไม่อาจเดินผ่านต่อไปได้โดยไม่รู้สึกผิดว่า “คนอื่นยังช่วย แต่ทำไมฉันไม่ช่วย?”
แน่นอนว่าเหตุผลดังกล่าวมีเรื่องอัตตาเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เป็นอัตตาที่ถูกผลักดันโดยคุณธรรมให้ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยคนทุกข์ กระนั้นก็ตามบางครั้งเราก็พบว่าคุณธรรมสามารถผลักดันให้เราทำอะไรต่ออะไรอีกมากมาย ทั้ง ๆ ที่ตัวเองต้องเดือดร้อน นั่นเป็นเพราะความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์นั้นรุนแรงจนความเห็นแก่ตัวต้องพ่ายแพ้แก่คุณธรรม ดังเช่น ผู้ที่ไปช่วยผู้ประสบภัยสึนามิ โดยกินนอนท่ามกลางกองศพที่เน่าเหม็น ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นตนเองพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเห็นศพมาโดยตลอด
การเลือกว่าจะยอมทำตามความเห็นแก่ตัว หรือเชื่อฟังคุณธรรมภายใน เป็นเรื่องที่อธิบายไม่ได้ด้วยกระบวนการทำงานของสมองเท่านั้น แต่ต้องอาศัยการฝึกฝนทางจิตใจ อาทิ การบ่มเพาะคุณธรรมอย่างสม่ำเสมอ จนมีพลังเอาชนะความเห็นแก่ตัวได้ ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการมีสติรู้เท่าทันความเห็นแก่ตัวที่ชอบสรรหาเหตุผลอันสวยหรูมารองรับการกระทำของมัน
ดูเหมือนว่าความแตกต่างประการหนึ่งระหว่างมนุษย์กับสัตว์ก็คือ หากสัตว์ชนิดใดมีคุณธรรม คุณธรรมนั้นก็สามารถผลักดันให้มันออกไปช่วยเหลือเพื่อนที่เดือดร้อนทันที แต่มนุษย์สามารถสรรหาเหตุผลร้อยแปดเพื่อสยบคุณธรรมไม่ให้ทำงานได้ แถมยังประดิดประดอยเหตุผลเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นหรือปรนเปรอตนเอง เช่น เบียดบังเงินหลวงโดยให้เหตุผลว่า “ถึงฉันไม่ทำ คนอื่นก็ทำ” เพราะฉะนั้นฉันทำดีกว่า (น่าสังเกตว่าเวลาหลีกเลี่ยงที่จะทำความดีก็ให้เหตุผลทำนองเดียวกันว่า “ถึงฉันไม่ทำ คนอื่นก็ทำ” เพราะฉะนั้นฉันไม่ทำดีกว่า ) เวลาได้เงินน้อยกว่าคนอื่น (เช่น โบนัส หรือเงินเดือน) ก็ร่ำร้องว่า “ไม่ยุติธรรม” ครั้นได้มากกว่าคนอื่น กลับลืมเรื่องความยุติธรรมไปเลย แต่สำหรับบางคน อาจไม่ต้องหาเหตุผลใด ๆ เลยก็ได้ เพียงแต่กดสำนึกทางด้านคุณธรรมไม่ให้ทำงานเท่านั้น (เคยมีนักวิจัยถามฆาตกรต่อเนื่องผู้หนึ่งว่า “ทำไมคุณถึงโหดร้ายอย่างนั้น ไม่สงสงสารเห็นใจเขาบ้างหรือ ?” ฆาตกรผู้นั้นตอบว่า “ผมต้องกดความรู้สึกส่วนนั้นไว้ก่อน ไม่งั้นฆ่าเขาไม่ได้หรอก”)
แต่สิ่งที่มนุษย์เหนือกว่าสัตว์ก็คือ คุณธรรมของมนุษย์นั้นสามารถแผ่ขยายไปพ้นขอบเขตของญาติพี่น้อง ฝูง หรือเผ่าไปได้ มนุษย์จึงสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลแม้แต่กับคนแปลกหน้า หรือคนต่างชาติต่างภาษา รวมไปถึงศัตรูหรือคู่ปรปักษ์ พฤติกรรมดังกล่าวไม่อาจอธิบายได้ด้วยเรื่องยีน อย่างที่มักให้เหตุผลว่า พ่อแม่เสียสละเพื่อลูก เพื่อให้ยีนของพ่อแม่ถ่ายทอดไปยังรุ่นต่อ ๆ ไป อีกทั้งไม่อาจอธิบายว่าเป็นการกระทำเพื่อความอยู่รอดของฝูงหรือเผ่า
คุณธรรมของมนุษย์มีพลังเช่นนั้นได้ ก็เพราะการฝึกฝนตนเองและการอบรมบ่มเพาะโดยกระบวนการทางสังคม เช่น การเลี้ยงดูในครอบครัว การหล่อหลอมในชุมชน การศึกษาในโรงเรียน รวมทั้งการเห็นแบบอย่างที่ดีงาม และการพัฒนาจิตใจด้วยวิธีการทางศาสนา
ความเห็นแก่ตัวทำให้เรามีความสุขเมื่อได้เสพหรือมีมาก ๆ แต่คุณธรรมกลับทำให้เรามีความสุขเมื่อได้เสียสละเพื่อผู้อื่น หรือเพียงแต่เห็นผู้อื่นทำความดี เราก็รู้สึกปลาบปลื้มราวกับทำสิ่งนั้นด้วยตัวเอง คุณธรรมทำให้เรามีความสุขที่ประณีตกว่าความเห็นแก่ตัว เพราะเป็นความสุขทางใจที่ให้ผลยั่งยืนและทำให้รู้สึกถึงความหมายของชีวิต จะว่าไปแล้วนี้คือแรงจูงใจที่ทรงพลังยิ่งกว่าความเห็นแก่ตัวด้วยซ้ำ วิคเตอร์ แฟรงเคิล (Viktor Frankl) เป็นผู้หนึ่งซึ่งแม้ประจักษ์ถึงความโหดร้ายของมนุษย์ที่กระทำต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในค่ายกักกันชาวยิวสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เขาก็เห็นด้านบวกของมนุษย์อีกมาก จนสรุปอย่างมั่นใจว่า “แรงผลักดันที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตเราไม่ใช่เพื่อเสพสุขหรือเพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด แต่เพื่อมองหาความหมายของชีวิต”
ความเห็นแก่ตัวนั้นฉลาดและมีอุบายมากมายในการสยบคุณธรรมมิให้ชักจูงเราไปในทางที่ดีงาม แต่ก็ยากที่จะสยบคุณธรรมไปได้ตลอด เพราะแม้จะมั่งคั่งร่ำรวยหรือสุขสบายเพียงใด ในส่วนลึกก็จะได้ยินเสียงร่ำร้องของคุณธรรมที่กระตุ้นเตือนให้เรารู้สึกสำนึกผิดอยู่เสมอ หรืออาจถึงขั้นถูกความรู้สึกผิดกัดกร่อนจิตใจ ขณะเดียวกันการละเลยคุณธรรมในใจย่อมเปิดพื้นที่รกร้างภายใน ทำให้รู้สึกอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวเหลือทน ต่อเมื่อหันมาทำตามเสียงร้องของคุณธรรม ความสงบสุขจึงจะกลับคืนมา และรู้สึกถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิตในที่สุด
:- https://visalo.org/article/sarakadee255107.htm
-
ผ่านพ้นความเจ็บปวด
พระไพศาล วิสาโล
“ภัทรา” มีลูกชายที่เรียบร้อยและขยันเรียน เป็นผู้ใหญ่เกินอายุ วันหนึ่งลูกชายวัย ๑๕ มาขอแม่ว่าอยากไปเรียนต่อที่ประเทศอินเดีย เธอเห็นว่า เป็นการตัดสินใจที่ใคร่ครวญมาดีแล้วของลูก จึงอนุญาตให้ลูกไปด้วยความมั่นใจว่าอินเดียจะให้อะไรแก่เขาได้มากมาย
ผ่านไปไม่ถึงปี เธอก็ได้รับข่าวร้าย ลูกชายประสบอุบัติเหตุ จมน้ำตาย เธอแทบช็อค เอาแต่ร้องไห้คร่ำครวญ จนไม่เป็นอันทำอะไรนานนับเดือน แม้ผ่านไปสามปี เธอก็ยังรู้สึกเจ็บปวด ลำพังความโศกเศร้าที่สูญเสียลูกรัก ก็นับว่าหนักหนาแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นก็คือความรู้สึกผิดที่ทิ่มแทงใจเธอวันแล้ววันเล่าไม่เคยสร่าง
เธอเอาแต่โทษตัวเองว่า เป็นเพราะเธออนุญาตให้ลูกไปอินเดีย ลูกจึงไปพบจุดจบอย่างนั้น “วันนั้นฉันน่าจะห้ามลูกไม่ให้ไปอินเดีย ถ้าฉันห้ามไว้ เขาก็คงไม่ตาย” ยิ่งคิดก็ยิ่งเจ็บปวดจนอยากจะตายตามลูกไป
เมื่อผู้เป็นที่รักจากไปก่อนวัยอันควร ผู้ที่ยังอยู่ โดยเฉพาะพ่อแม่หรือพี่น้อง ย่อมอดรู้สึกผิดไม่ได้ว่าตนเองมีส่วนทำให้เขาจากไป ทั้ง ๆ ที่มันเป็นเหตุสุดวิสัยที่เขาเหล่านั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย แต่หลายคนก็มักจะโทษตัวเองว่า ถ้าตนไม่ทำอย่างที่ได้ทำไปแล้ว เขาก็คงไม่ตาย “วันนั้นฉันน่าจะเตือนเขาให้ใส่หมวกกันน็อค” หรือ “คืนนั้นฉันน่าจะห้ามเขาไม่ให้กินเหล้าจนเมา” ฯลฯ
เมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้น อย่างหนึ่งที่ควรทำคือยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น เพราะการปฏิเสธความจริง ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย มีแต่จะเกิดผลเสีย แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรายอมรับความจริงที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้ ก็คือคำว่า “ฉันน่าจะ” นั่นเอง ทันทีที่นึกถึงคำนี้ขึ้นมา สิ่งที่มักตามมาก็คือ การโทษตนเอง ซึ่งยิ่งทำให้ยอมรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วได้ยากขึ้น
คำว่า “น่าจะ” นั้นมีประโยชน์เมื่อใช้กับเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น เพื่อมองหาทางเลือกที่ดีที่สุดก่อนที่จะตัดสินใจลงมือทำอะไรก็ตาม แต่หากใช้กับเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้ว ถ้าไม่ใช่เพื่อไตร่ตรองหาข้อผิดพลาด สำหรับการปรับปรุงแก้ไขในอนาคต ก็ง่ายที่จะกลายเป็นการซ้ำเติมตัวเองในเรื่องที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรได้แล้ว ซึ่งไม่จำต้องเป็นการสูญเสียคนรัก เท่านั้น แม้กระทั่งการสูญเสียทรัพย์สมบัติ หรือความผิดพลาดในการทำงาน เราจะไม่อาจปล่อยวางมันได้เลย หากยังวนเวียนอยู่กับความคิดที่ว่า “ฉันน่าจะทำอย่างนี้ ไม่น่าทำอย่างนั้นเลย” จะดีกว่าหากเราสรุปบทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วปล่อยให้มันผ่านเลยไป เพื่อเดินหน้าต่อไป
อันที่จริง อย่าว่าแต่เหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาเลย แม้ประสบกับสิ่งที่พึงปรารถนา แต่ถ้ามีคำว่า “น่าจะ”ขึ้นมา ความทุกข์ก็เกิดขึ้นทันที เช่น ได้โบนัส ๕ แสน แทนที่จะดีใจ ก็เสียใจทันทีเมื่อนึกในใจว่า “ฉันน่าจะได้มากกว่านี้” พ่อแม่หลายคนไม่พอใจเมื่อลูกได้เกรด ๓.๕ เพราะคิดว่าลูกน่าจะได้เกรดดีกว่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่มีการศึกษาพบว่านักกีฬาเหรียญเงินโอลิมปิคส่วนใหญ่แล้วมีความสุขน้อยกว่านักกีฬาที่ได้เหรียญทองแดง เพราะคิดว่าตนน่าจะได้เหรียญทอง หาไม่ก็วนเวียนอยู่กับความคิดว่า ตอนแข่งขันตนน่าจะทำให้ดีกว่านั้น
ควบคู่กับคำว่า “น่าจะ” ก็คือ “ไม่น่าจะ” หลายคนเป็นทุกข์เพราะคิดอยู่แต่ว่าตนไม่น่าทำอย่างนั้นอย่างนี้เลยในวันนั้น บางคนเสียแม่ไปหลายปีแล้วก็ยังเศร้าเสียใจและรู้สึกผิดกระทั่งทุกวันนี้ เพราะมัวแต่โทษตนเองว่า ไม่น่ายื้อชีวิตแม่ด้วยการเจาะคอใส่ท่อท่านเลย ทำให้ท่านทุกข์ทรมานมาก ทั้ง ๆ ที่ท่านวิงวอนด้วยสายตา แต่ก็ไม่สามารถถอดท่อให้ท่านได้ ผลก็คือท่านเจ็บปวดจนสิ้นลม
ความโศกเศร้าเจ็บปวดอย่างต่อเนื่องนานหลายปี ทำให้ในที่สุด “ภัทรา” หันเข้าหาธรรมะ เธอได้เรียนรู้และซึมซับความจริงทีละน้อย ๆ ว่า ชีวิตนั้นหาความจิรังยั่งยืนไม่ได้ ความพลัดพรากสูญเสียเป็นธรรมดาของชีวิตที่ไม่มีใครหนีพ้น ถึงที่สุดแล้วไม่มีอะไรที่เราเอาไปได้เลยเมื่อต้องละจากโลกนี้ไป แม้ยังมีชีวิตอยู่ ก็ไม่มีอะไรที่เราสามารถยึดมั่นให้คงที่ คงตัว หรือเป็นไปได้ดั่งใจเลย เธอเริ่มคลายความโศกเศร้าที่สูญเสียลูกไป
ขณะเดียวกันการทำสมาธิภาวนา ก็ช่วยให้เธอสงบใจได้มากขึ้น และคลายความรู้สึกผิดที่ติดค้างใจมานาน สามารถปล่อยวางความคิดที่ทิ่มแทงซ้ำเติมตัวเอง และยอมรับตัวเองได้มากขึ้น ไม่รู้สึกเกลียดชังตัวเองอีกต่อไป เธอได้พบว่าที่จริงแล้วความทุกข์นั้นเกิดขึ้นจากความคิดปรุงแต่งของเธอเอง เมื่อรู้ทันความคิดปรุงแต่งและเห็นตัวเองตามที่เป็นจริง ความสุขและความสงบเย็นก็บังเกิดขึ้นในจิตใจของเธออย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน
เธอไม่เพียงขอบคุณธรรมะเท่านั้น แต่ยังขอบคุณลูกชาย หากลูกชายไม่ด่วนจากไป แม่ก็คงไม่ได้พบธรรม หลังจากที่เคยโทษตัวเองและก่นด่าชะตากรรม วันนี้มุมมของของเธอต่อเหตุการณ์ครั้งนั้นได้เปลี่ยนไป เธอถึงกับบอกว่า “ความตายของลูกนับว่าคุ้มค่ามาก เพราะทำให้แม่ได้พบพระธรรม” มีแม่น้อยคนที่จะพูดถึงความตายของลูกได้อย่างนี้
ทุกวันนี้เมื่อภัทราหวนระลึกถึงความตายของลูก เธอไม่รู้สึกเจ็บปวดอย่างที่เคยเป็น เพราะเธอมองเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยสายตาใหม่ ทำให้เห็นคุณค่าและความหมายใหม่ของมัน คือมิใช่เป็นแค่ความสูญเสีย แต่ยังนำสิ่งดี ๆ มาสู่ชีวิตของเธอ จนทำให้ชีวิตของเธอเปลี่ยนไปมาก
เหตุร้ายในอดีตที่สร้างความเจ็บปวดแก่เรานั้น เปลี่ยนแปลงไม่ได้ก็จริง แต่เราสามารถลดทอนพิษสงของมันลงได้ ด้วยการมองมันในมุมใหม่ นั่นคือมองว่ามันมีคุณค่าต่อชีวิตของเราอย่างไร ช่วยให้เราเติบโตหรือเข้มแข็งได้อย่างไร การเห็นหรือให้ความหมายใหม่แก่มัน ทำให้มันมิใช่ความทรงจำอันเลวร้ายอีกต่อไป นึกถึงทีไร ก็ไม่ทุกข์อีกแล้ว จากเดิมซึ่งเป็นแผลเรื้อรัง แตะต้องทีไรก็รู้สึกเจ็บปวดทุกที บัดนี้มันได้กลายเป็นแผลเป็น สัมผัสเท่าไรก็ไม่เจ็บ ในเวลาเดียวกันก็เป็นเครื่องเตือนใจให้ตระหนักถึงความผิดพลาดในอดีต เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับอนาคต
:- https://visalo.org/article/sarakadee255512.htm
. .
หน้า 43 ของ 51