ผมบังเอิญได้ พบกับบทความของ คุณป้อก ปากน้ำโพ เซียน มีดหลวงพ่อเดิมคนหนึ่ง ลงไว้หลายตอน ผมเห็นว่า มีประโยชน์ ต่อศิษย์ และผู้สนใจ จะได้เป็นแนวทางศึกษา
ลองอ่านติดตามดูนะครับ มี 10 ตอน แต่ ตอนที่ 1 ผมยังหาไม่เจอ จะขอเว้นไว้ก่อน
ตั้งแค่เด็ก ผมเห็นภาพแววนกยูงหลวงพ่อเดิม เป็นกระดาษ ติดไว้ที่ฝาบ้านนานหลายปี จน นานๆไป ก็เปี่อย ขาดหายไป
พ่อผมก็เคยมีมีดหมอของท่าน เคยเห็นแค่ครั้งเดียว ต่อมา ทราบว่า หายไป โดยไม่ทราบว่าไปอยู่กับใครแล้ว
เป็นสิ่งที่ผมจำความได้เกี่ยวกับหลวงพ่อเดิมในวัยเด็ก ที่บ้านอุทัยธานี
บทความ ที่เกี่ยวกับ มีดเทพศาสตรา หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์ นครสวรรค์
ในห้อง 'วิธีดูพระเครื่อง-เครื่องรางของขลัง' ตั้งกระทู้โดย montrik, 2 ตุลาคม 2018.
-
-
ตอมที่ 1 ( ต้นฉบับ ไม่ได้ลงไว้ ขอเว้นไว้ก่อน ถ้าเจอแล้วจะเอามาลงให้อ่านกัน )
-
ตอนที่ 2 ที่มาของการสร้างมีดเทพศาสตราหลวงพ่อเดิม
ผมได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง โดยการไปสอบบรรจุครูที่จังหวัดพิจิตร เมื่อปี พ.ศ. 2521 ก่อนที่จะเดินทางออกจากบ้านที่เขาไม้เดน ผมได้ไปกราบ พ่อและแม่ แล้วขอของดีที่สุดที่พ่อผมมีอยู่ ซึ่งผมรู้ว่า พ่อผม ได้รับมาจากตาฉิม ซึ่งมีอยู่น้อยมาก นั่นคือ กระดูกอัฐิหลวงพ่อเดิม เป็นชิ้นสี่เหลี่ยม สีดำสนิท ซึ่งตาฉิม บอกว่า เป็นกระดูกชิ้นหน้าแข้ง 1 ชิ้น ยาวประมาณ 1 นิ้ว ตาฉิม ให้ช่างแกะสลัก ตัดออกเป็น 2 ชิ้น แล้วแกะสลักเป็นรูปหลวงพ่อเดิมนั่งเต็มองค์ แบ่งให้พ่อผม 1 องค์ เมื่อผมได้รับจากพ่อแล้ว ก็นำไปเลี่ยมอาราธนา ติดตัว ตลอดเวลา
เมื่อไรก็ตาม ที่ผมกลับจากจังหวัดพิจิตร ผมจะไปเยี่ยมตาฉิม ที่บ้าน ช่วยงานเล็กๆน้อยๆ เหมือนสมัยเป็นเด็ก ซึ่งตาฉิมท่านแก่มากแล้ว ทำมีดไม่ได้ เหมือนตอนหนุ่ม ผมเลยได้นั่งคุยกันเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ผมจึงได้ซักถาม เรื่องราวต่างๆได้อย่างละเอียด และท่านก็ดูมีความสุข เมื่อได้มีโอกาสเล่าความหลัง ซึ่งเป็น ที่มา ของการที่ได้มีโอกาส เป็นช่างตีมีดประจำตัวของหลวงพ่อเดิม โดย ไม่ตั้งใจ แต่ด้วยฝีมือ อันประณีต ความตั้งใจและมีสมาธิ จึงเป็นงานที่เรียกได้ว่า เป็นศิลปะเชิงพุทธศิลป์ ชิ้นหนึ่งทีเดียว ที่ผู้อื่นลอกเลียนแบบ ไม่ได้เลย
ถาม. ตาครับ ทำไมหลวงพ่อเดิมจึงสร้างมีดหมอ
ตอบ. ใครๆก็รู้ว่า หลวงพ่อท่านเลี้ยงช้างไว้หลายเชือก เมื่อช้างล้ม(ตาย) งา ของ ช้างเหล่านั้นก็ไม่ได้นำไปทำอะไร เก็บไว้เฉยๆ หลวงพ่อจึงพูดเปรยๆกับบรรดา ลูกศิษย์ที่มาดูแลหลวงพ่อ ว่า งาช้างเหล่านั้น น่าจะนำมาทำด้าม และฝัก ในลักษณะ ของมีดหมอ น่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า เพราะเป็นการอนุรักษ์งาช้างต่อไป และ ตั้งแต่โบราณนานมา ถือว่างาช้างนั้น เป็นเครื่องรางที่สามารถป้องกันเสนียดจัญไร การทำคุณไสย ต่างๆ ถึงแม้จะไม่ได้ปลุกเสกก็ตาม
เมื่อข่าวแพร่สะพัดออกไป บรรดาช่างตีมีด ช่างเหล็กที่เป็นลูกศิษย์ของ หลวงพ่อ ต่างคนต่างก็รับอาสาที่จะทำมาถวายหลวงพ่อ ขอให้หลวงพ่อสั่งว่า จะให้ ทำรูปแบบใด ขนาดไหน. หลวงพ่อจึงได้ประชุมพร้อมกัน แล้วสั่งว่า ให้ทุกคนไปลอง ทำมาคนละ 10 เล่ม โดยให้ออกแบบเองว่า จะทำรูปร่างหรือมีลวดลายอย่างไร ให้คิดเอง ทำเอง แล้วอีก 1 เดือนให้นำมาส่ง ซึ่งกำหนดเป็นวันพระพอดี
เมื่อครบกำหนดที่หลวงพ่อสั่งไว้ ช่างหลายๆคน ก็นำมีดที่สร้างขึ้น ตามที่ตนเองออกแบบและทำเสร็จแล้วมาถวายหลวงพ่อ ในวันนั้นเป็นพระพอดี หลวงพ่อจึงให้นำถาดมา แล้วเอามีดของหลายๆช่างใส่รวมกัน แล้วส่งให้ชาวบ้านได้ดูแล้วเลือกกันว่า มีรูปแบบสวย ชอบ ถูกใจ โดยยังไม่บอกว่า เป็นมีดของช่างใด
เมื่อเลือกกันจนเป็นที่พอใจแล้ว หลวงพ่อจึงสรุปให้ช่างทุกช่างและชาวบ้านฟังว่า มีดของช่างฉิม เป็นมีดที่มี คนชอบ มากที่สุด และสั่งว่า "ใครจะทำก็ได้ แต่ขอให้ยึดรูปแบบ ของไอ้ฉิมเป็นหลัก" ช่างทุกคนก็กลับไปทำตามหลวงพ่อสั่ง
ตั้งแต่นั้นมา ทางวัดก็ได้สั่งให้ตาฉิมทำมีดส่งตามขนาดที่ชาวบ้านต้องการ โดยเฉพาะมีดควาญช้าง ซึ่งมีขนาดใหญ่ ให้ควาญช้างมีไว้ใช้ประจำตัวทุกคน คนบ้านอื่นหรืออีกหลายคน คงไม่รู้ว่า ช้างจะมีความรู้สึกกลัวมีดขนาดใหญ่ ที่บ้านผู้เขียน จะรู้กันทุกคนและได้เห็นมากับตาว่า เมื่อควาญช้าง ปล่อยช้าง ให้กินอาหารตามปกติ และเมื่อจะขึ้นคอช้าง ควาญช้างจะต้องนำมีดเหน็บ มาแกล้งลับกับหินหรือกิ่งไม้ ให้ช้างเห็นเสียก่อน ช้างจะกลัว และบังคับได้ง่าย
ตาฉิมเล่าให้ฟังต่อว่า ช่างอื่นๆโดยเฉพาะช่างทางตาคลี บ่นว่า ทำตามแบบตาฉิมนั้นทำยากมาก ทำไมจึงออกแบบให้ทำยากด้วย ตาฉิมบอกว่า ชักเริ่มกลัวช่างพวกนั้น เพราะคนแถวนั้นเป็นนักเลงเยอะ และการที่ต้องนำมีด ไปส่งหลวงพ่อ ต้องเดิน ลัดทุ่งโคกไม้เดน กลัวพวกตาคลีจะมาดักเตะ ด้วย
ต่อมาช่างตีมีด ทางตาคลี ได้มาหาท่านที่บ้านแล้วบ่นให้ฟังแล้วขอร้อง ให้ท่านช่วยตีแจกช่างเหล่านั้นคนละเล่ม ท่านก็ยินดีทำให้ด้วยความเต็มใจ
นี่เป็นเรื่องราว ที่มาของการสร้างมีดหมอ หรือที่หลายคนขนานนามว่า " เทพศาสตรา" ที่มีอิทธิฤทธิ์มากมาย สำหรับผู้ที่มีวาสนาและมีโอกาสได้ เป็นเจ้าของโดยชอบธรรม -
ตอนที่ 3 วัสดุที่นำมาสร้างมีดหมอหลวงพ่อเดิม
จากที่ได้เล่าฟังมาแล้วนั้น สรุปได้ว่า มีดหมอหลวงพ่อเดิม ทำมาจากเหล็กธรรมดาๆ แต่ด้วยผู้ปลุกเสกและขั้นตอนในการทำ เป็นการสร้างจากผู้ที่มีความเข้มขลังทางอาคม และมี พลังจิต เข้มแข็งอย่างมากมาย จึงทำให้เหล็กธรรมดาๆ กลายเป็นเครื่องรางของขลัง ที่เรียกว่า "เทพศาสตรา" ได้อย่างสมบูรณ์ วัสดุที่นำมาสร้างมีดหมอหลวงพ่อเดิม มีดังนี้
1. เหล็ก ที่ใช้ทำใบมีด
เหล็กที่ใช้ทำใบมีดนั้น เป็นเหล็กที่รัดวงล้อเกวียน ของชาวบ้านนั่นเอง เพราะ ล้อเกวียนเป็นไม้ทั้งหมด แต่ส่วนนอกสุดของวงล้อเกวียนนั้น จะมีเหล็กรัดอยู่ เพราะเมื่อวงล้อ หมุนไป เหล็กส่วนนี้ จะเป็นส่วนที่จะต้องกระทบกับดินหรือหิน เหล็กนี้จะเป็นเหล็กที่แข็งมาก เมื่อวัว ควาย ลากเกวียนที่บรรทุกข้าว หรือของหนัก โดยเฉพาะที่โคกไม้เดน จะเป็นดินลูกรัง ตามรอยล้อเกวียน จะเห็น หินแตกตามรอยเกวียนอยู่เสมอ
เมื่อเห็นดังนั้น ตาฉิมจึงได้ไปหาซื้อเหล็กรัดวงล้อเกวียนตามบ้าน ที่ชำรุดเสียหายแล้ว โดยถอดเหล็กจากวงล้อ แล้วตัด และดัดเป็นเส้นยาว จากนั้นก็ลากมาที่บ้านแล้วตัดเป็นท่อน คล้ายฟืนไม้ นำมาเรียงกองไว้ ถ้าหลวงพ่อต้องการมีดยาวเท่าไร ก็นำมาตัด หรือตีแผ่ ให้ตัวมีด มีความกว้างและยาวได้ตามต้องการ สำหรับมีดหลวงพ่อกันรุ่นแรกๆ ก็ใช้เหล็กแบบนี้ เหมือนกัน ผมตอนเป็นเด็กก็มีโอกาสได้ไปลาก เหล็กแบบนี้หลายครั้ง เพราะถ้าบ้านใครจะขาย ก็จะมาบอก ตาฉิม ผมจะตามพ่อไปเที่ยวและ ลากกลับมาอย่างสนุกสนาน ตามประสาเด็ก
2. วัสดุที่นำมาทำฝักและด้ามมีด
จากที่นำเสนอมาแล้วว่า หลวงพ่ออยากจะนำงาช้างที่ล้ม(ตาย) มาทำเป็นสิ่งที่ จะอยู่ได้ต่อไปนั้น จึงให้ช่างนำมาประกอบเป็นฝักและด้ามมีดของหลวงพ่อ ซึ่งก็สามารถนำมาทำ เป็นมีดหมอได้จำนวนหนึ่ง แต่เนื่องจากช้างหลวงพ่อเดิม แต่ละเชือก มีอายุยืน และความจริง ก็ไม่มีใครอยากให้ ช้างเหล่านั้นล้ม(ตาย) แล้วหวังจะนำงามาทำประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกัน ลูกศิษย์ทั้งหลายก็มีความศรัทธา อยากได้มีดหลวงพ่อไว้บูชา ตาฉิมจึงขออนุญาตหลวงพ่อ ขอทำ มีดที่มีฝักงา-ด้ามเป็นงา หรือฝักไม้-ด้ามเป็นงา ตามความเหมาะสม สวยงาม แต่ฝักไม้-ด้ามไม้ นั้น ตาฉิมบอกว่าไม่เคยทำเลย เพราะท่านบอกว่า เมื่อจับมีดที่ด้าม จึงถือว่าด้ามนั้นสำคัญมาก และจะมีสิ่งที่ดีๆบรรจุอยู่ที่ด้ามนี้ จะเป็นอะไร ขอให้ติดตามต่อไปครับ
3. แหมรัดฝักมีด
หลายคนมักเรียกผิด คำนี้อ่านแบบอักษรนำ คือ หอมอ แอ แหม บางคน ได้ยิน ไม่ชัดเรียกว่า แหน(หอนอ-แ. แหน) ตามพจนานุกรม แหม หมายถึง วัสดุที่รัดฝักมีด
แหมในยุคหลวงพ่อเดิมนั้น จะทำมาจากเงินแท้ โดยตาฉิมจะไปสั่ง ให้เจ็กฝ่า (คนในตลาดจะเรียกชื่อคนเชื้อสายจีนแบบนั้น) ช่างทำแหมเงินในตลาดท่าน้ำอ้อย เป็นคนทำให้ ตามขนาดที่ตาฉิมต้องการ เช่น มีด 3 นิ้ว. 5 นิ้วเป็นต้น แต่จะเป็นแหม 5 เส้น 7 เส้นหรือ 9 เส้น ราคาก็จะแพงตามจำนวนเส้นของเส้นเงิน และเส้นเงินนี้ ไม่ใช่จะเป็นตัวชี้ขาดว่า เป็นมีดหมอ หลวงพ่อเดิมแท้หรือไม่ บ้านเจ็กฝ่า นี้ อยู่ติดกับบ้านเถ้าแก่ก้าน ร้านขายข้าวสารใน ตลาด ท่าน้ำอ้อย นั่นเอง ปัจจุบันร้านนี้เลิกกิจการไปแล้ว
สำหรับมีดหมอแบบพิเศษ ที่เรียกว่า แหมสามกษัตริย์ นั้น เป็นการทำแหม ที่เส้นและ ลวดลายบนแหม เส้นกลางเป็นทองคำ ถัดจากเส้นกลางทั้งสองข้างเป็นนาก ส่วนตัวแหม ก็ทำ ด้วยเงินเหมือนเดิม ผมถามตาฉิมว่า ทองคำคงแพงน่าดูนะ คุณตาฉิมบอกว่า ทองคำเหล่านี้ เป็น ทองคำ เปอร์เซนต่ำ เพราะต้องการความแข็ง ต้นทุนจะได้ไม่สูงนัก และจะทำให้เฉพาะผู้สั่ง จอง เท่านั้น
4. ปลอกด้ามมีด
ปลอกมีดหลวงพ่อเดิม ที่เป็นมีขนาดกลางจนถึงมีดสาริกานั้น ส่วนใหญ่จะเป็น แหมเงิน หรืออาจเป็นและนากก็ ถ้าเป็นมีด สามกษัตริย์ ปลอกมีดที่ด้าม ก็จะเป็นสามกษัตริย์ด้วย สำหรับมีดควาญช้าง ปลอกด้ามมีดจะมีทั้งที่เป็นเงิน เหล็กธรรมดาและเหล็กขาว(สมัยนั้น ตาฉิม เรียกสเตนเลส ว่า เหล็กขาว) ซึ่งเป็นเหล็กที่ไม่เป็นสนิม -
ตอนที่ 4 มีดหลวงพ่อเดิมของช่างฉิม มีขนาดใดบ้าง
ผมต้องขอทำความเข้าใจและชี้แจงให้ทราบอีกครั้งว่า ผมจะนำเสนอและชี้เฉพาะ มีดหมอหลวงพ่อเดิม "ฝีมือช่างฉิม บ้านโคกไม้เดน" เท่านั้นนะครับ ความจริงแล้ว มีช่างที่ทำมีด แล้วถวายหลวงพ่อเดิมนั้นมีหลายช่าง แต่ที่นิยมและราคาเช่าหานับแสนบาทนั้น ต้องเป็นมีดฝีมือ ช่างฉิม แต่ถ้าเป็นความศักดิ์สิทธิ์แล้วละก็ บูชาได้ทุกรุ่น แล้วผมจะนำเสนอเกล็ดความรู้จากตาฉิม มาเล่าให้ฟังในช่วงต่อไป
มีดช่างฉิม แบ่งตามขนาดที่ตาฉิมเล่าให้ฟัง แบ่งเป็นขนาดต่างๆ ได้ 4 ขนาด ดังนี้
1. มีดควาญช้าง เป็นมีดขนาดใหญ่ ที่เรียกว่ามีดเหน็บ ความกว้างใบมีดประมาณ 4-5 นิ้ว ความยาวประมาณ 14-16 นิ้ว จะใช้งาทำด้ามเท่านั้น ฝักจะเป็นไม้ เช่น ไม้พะยุง ไม้ชิงชัน เป็นต้น จะไม่มีด้ามงา-ฝักงา เพราะฝักจะมีขนาดใหญ่และยาวมาก ที่สวยและมีราคาสูง ก็เป็นมีด ควาญช้างที่ด้ามเป็นปลายงา
2. มีดขนาดกลาง ความยาวเฉพาะใบมีด มีตั้งแต่ 3 นิ้วขึ้นไป จนถึง 9 นิ้ว มีทั้งด้ามงา ฝักงา หรือด้ามงา ฝักไม้ ที่เป็นด้ามงาฝักงา ความยาว 9 นิ้วนั้น มีน้อยมาก ผมเคยเห็นเฉพาะของ ตาฉิม ที่ทำเองและเก็บไว้เอง มีเล่มเดียว เมื่อท่านเสีย ไม่รู้ว่ามีดเล่มนี้ ตกไปอยู่กับลูกคนไหน
3. มีดปากกา เป็นมีดที่มีลักษณะเด่น คือ ใบมีดมีขนาดความยาวตั้งแต่ 2.5 - 3 นิ้ว จะเป็นงาทั้งฝักและด้าม ที่ด้ามมักจะเป็นที่เหน็บเหมือนที่เหน็บปากกา ที่เหน็บมีทั้งที่ฝังในด้าม และรัดรอบด้าม ด้ามนี้ มีทั้งปลายแหลม. และปลายตัด
4. มีดขนาดเล็กจิ๋วหรือที่เรียกกันว่า มีดสาริกา ตาฉิมและพ่อผม เป็นคนมีอารมณ์ดี ยามว่างท่านชอบประดิษฐ์ของแปลกๆเล่น ท่านนึกสนุก ทำมีดขนาดเล็กจิ๋วใบมีดความยาว ประมาณ 1-1.5 นิ้ว เมื่อรวมด้ามและฝัก ซึ่งเป็นงาทั้งหมด ก็ไม่เกิน 3 นิ้ว ที่ต่อมาเรียกกันว่า มีดสาริกา นั่นเอง ส่วนพ่อผม ก็ประดิษฐ์โต๊ะทำงานเป็นไม้จริงพร้อมเก้าอี้แบบย่อส่วนจากของจริง สูงแค่ 4 นิ้ว กว้าง 3 นิ้ว ยาว 5 นิ้ว มี 2 ลิ้นชัก เปิดปิดได้ ปัจจุบัน โต๊ะชุดนี้ยัง อยู่ที่ผมเลย
สำหรับมีดสาริกานี้ มีจำนวนน้อยมาก และที่มีชื่อเสียงมากเลย ก็ที่เป็นเรื่องเล่ากันว่า มีดสาริกานี้ เหน็บติดอยู่กับ สร้อยคอ ของผู้นำประเทศในยุคหนึ่ง ซึ่งถูกไล่ยิงในบ้านของท่าน เองหลายนัด แต่เกิดปาฏิหาริย์ ยิงไม่ออกสักนัดเลย จึงเป็นเลื่องลือ และเสาะหากันทุกรุ่นเลย -
ตอนที่ 5. ขั้นตอนในการทำมีด โดยละเอียด
ทุกท่านโปรดทราบว่า การทำมีดของช่างฉิมนั้น ถ้านับกันจริงๆแล้ว ก็นับได้ว่า การทำมีดของช่างฉิม ถือเป็นงานอดิเรกเลยทีเดียว เพราะท่านมีฐานะทางการเงินนับว่าดี มีนาให้ชาวบ้านเช่าทำนาหลายสิบไร่ มีบ้านให้คนอื่นเช่าหลายหลัง ลูกทั้ง 4 คน ก็มีงานทำ กันทุกคน โดยเฉพาะ ลูกชายคนโตนั้นเป็นทหารอากาศ ประจำการอยู่ที่กองบิน 4 ตาคลี ต่อไป จะมีตำนานเกี่ยวเนื่องถึงการสร้างมีดหลวงพ่อกันด้วย
จากการที่ช่างฉิมมีฐานะดี จึงเป็นเหตุให้การสร้างมีดหลวงพ่อเดิม ไม่ต้อง เร่งรีบ ในการผลิต เพื่อให้มีปริมาณมาก หรือไม่ต้องเร่งร้อน เพื่อให้ได้ค่าจ้างมาเลี้ยงดูครอบครัว ตาฉิมท่านเป็นคนอารมณ์ดี เยือกเย็น ทำงานไม่เร่งร้อน เพราะฉะนั้น มีดแต่ละเล่มที่ได้มา ถวายหลวงพ่อนั้น จะสวย สมบูรณ์ทุกเล่ม ลายเหมือนกันทุกลาย นั่นหมายถึงว่า จะเหมือนกัน ในลักษณะที่ตอกด้วยมือ ไม่ใช่การปั้ม และท่านเคยบอกกับผมว่า "ลายทุกลาย ดอกทุกดอก ที่กูเอาเหล็กสลักจรดลงไปบนตัวมีดนั้น กูตั้งจิตถึงหลวงพ่อเดิมเสมอ" แล้วลวดลายเหล่านั้น จะถูกตอกด้วยฆ้อนอย่างแรง ด้วยการตั้งสติอย่างแน่วแน่ จึงทำให้ลายเหล่านั้นคม ชัด ลึก ทุกดอก
ถาม. มีดที่ตอกลายไม่ถูกต้อง หรือไม่สวยงาม มีหรือไม่ ถ้ามีแล้วมีดเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหน
ตอบ มี มีเยอะเสียด้วย มีดเหล่านั้นตาฉิมจะทำต่อ ตอกลายให้เสร็จ แต่ถือว่าเป็นมีดเสีย แล้วก็ให้พ่อผมมา พ่อก็จะนำไปทำฝักและด้ามตามขั้นตอนของตาฉิม แล้วให้กับพี่น้องของผม ทุกคน บางเล่ม ที่ยังไม่ได้ประกอบเป็นเล่มอย่างสมบูรณ์ ผมก็นำไปแจกคนอื่น ที่เขาอยากได้ (ตอนนั้น ผมยังไม่รู้จักคุณค่าของมีดตาฉิม) เดี๋ยวนี้ เหลืออยู่ไม่กี่เล่ม
ขั้นตอนการทำใบมีด
เมื่อทางวัดสั่งมีดขนาดไหน จำนวนเท่าไร ตาฉิมก็จะนำเหล็กที่ยาวได้ขนาด ใกล้เคียง กับความต้องการ ตามจำนวนนั้นมาดำเนินการ
ขั้นที่ 1. นำเหล็กไปเผาในเตา เตานี้ สร้างจากดินผสมแกลบแล้วนำมาปั้นเป็นรูปเตา คล้าย ถาดกว้างๆโดยมีท่อนำลมมาจากสูบ ที่เป็นกระบอกสูบแบบนอน วางอยู่ด้านข้างเตา สูบนี้ เมื่อชักมาหรือดันออกไป ก็จะเป่าลมให้ออกตามท่อที่ต่อไปที่เตาได้ทั้งสองทิศทาง
มีเคล็บลับสุดยอด ที่ทุกคนไม่เคยรู้เลยก็คือ ผมเห็นตาฉิมและพ่อผม ไปตัดไม้ไผ่รวก บนเขาไม้เดน แล้วนำมาเผาเป็นถ่านอยู่เป็นประจำ เมื่อจะเริ่มตีมีด พ่อผมจะเป็นคนก่อไฟ แล้วนำถ่านไม้รวกมาใช้ในเตาเผา ผมเห็นว่าแปลก จึงถามพ่อผมที่กำลังก่อไฟให้ตาฉิม ว่าทำไมต้องใช้ถ่านจากไม้ไผ่รวก ไฟแรงดีหรือ พ่อผมตอบว่า ไฟจากถ่านไม้รวก ไม่แรง และมีขี้เถ้ามาก ที่เรียกว่า ขี้เถ้าหัวหงอก แต่ข้อดีที่ใช้ถ่านไม้รวกนั้นเป็นเพราะ เมื่อถ่านติดไฟ หรือเรียกว่าถ่านคุ ถ่านนี้จะคุไปทั่วทั้งเตาพร้อมกัน ทำให้เหล็กร้อนและแดงทั้งเตา ตีได้ทุกเล่ม ถ้าถ่านไม้ ชนิดอื่น ไฟแรงก็จริง แต่เมื่อถ่านติดไฟแล้ว จะติดลามไปเรื่อยๆ ไม่ติดพร้อมกัน จึงต้องรอ ให้เหล็กร้อน ทำให้เสียเวลา
ขั้นที่ 2. เมื่อเหล็กถูกเผาจนแดง ก็จะตีให้เหล็กแผ่ออกไป ทำให้เหล็กเกิดความกว้าง และ บางลงตามต้องการ
ขั้นที่ 3. แผ่นเหล็กนี้จะมีความบางและกว้างก็จริง แต่ผิวจะเป็นคลื่นเพราะเกิดจากการใช้ฆ้อน ทุบตี จึงต้องนำมาไส โดยใช้กบไสเหล็ก เหมือนกับกบไสไม้ โดยใช้กบไสเหล็ก ไสให้แผ่นเหล็กนี้ มีความบางและมีผิวหน้าเรียบ เสมอกัน
ขั้นที่ 4. ทำมีดตามแบบ หมายถึง ถ้าหากทางวัดต้องการมีดที่มีความยาวเท่าไร ตาฉิมจะมีแบบ ของมีด ที่วาดบนกระดาษแข็งตามความยาวขนาดต่างๆ ตัดเก็บไว้แล้วทุกขนาด แล้วนำมาทาบ ใช้ดินสอดำ วาดตามรูปนั้น แล้วจึงตัดเหล็กตามแบบที่ลอกไว้ ส่วนแบบที่วาดบนกระดาษแข็งนั้น บางครั้งจะหัก หรือจะชำรุด ตาฉิมก็จะลอกใส่กระดาษแข็งแผ่นใหม่เก็บไว้
ขั้นที่ 5. การขึ้นรูปแบบตัวมีด เมื่อลอกแบบโดยเฉพาะความยาวแล้ว ตาฉิมจะใช้เลื่อยตัดเหล็ก ตัดออกมาเป็นท่อนๆ สำหรับการจะแต่งให้เข้าตามรูปที่ลอกไว้นั้น ถ้าเป็นการแต่งรูปร่างของมีด ที่เป็นส่วนหยาบ เช่น รูปร่าง หรือส่วนเว้า ส่วนโค้ง ทางด้านสันหรือด้านท้องของมีด ตาฉิมจะใช้ หินลับมีด ที่ใช้การหมุนด้วยมือ แล้วนำหุ่นมีดมาลับ วาดให้โค้งได้รูปตามต้องการ(ในการทำมีดหลวงพ่อกัน หลวงโอนนั้น ผมเคยมาช่วยตาฉิม หมุนหินลับมีดแบบนี้อยู่เสมอ) ส่วนงานที่ ต้องการความละเอียด ตาฉิมก็ใช้ตะไบที่ใช้ กับ งานเหล็ก เป็นเครื่องมือในการตกแต่งอีกครั้ง
จะเห็นได้ว่า การขึ้นรูปในการทำตามรูปแบบมีด ที่ตาฉิมทาบไว้บนกระดาษแข็งนั้น ถึงแม้จะกำหนดว่า ต้องการมีดที่มีความยาว เช่น 3 นิ้วเท่ากันหลายเล่ม ก็ใช้แบบกระดาษ ทาบลงบนแผ่นเหล็ก แล้ววาดตาม ตามจำนวนที่ต้องการ แต่เมื่อทำการตัดแต่ง ด้วยฝีมือของช่าง ที่เป็นคน ไม่ใช่การปั้ม ก็อาจทำให้รูปร่าง อาจแตกต่างกันไปบ้าง ไม่ใช่ว่าต้องมีรูปแบบ เหมือนกัน เท่ากันทุกประการเหมือนพระที่เกิดจากการปั้ม
ขั้นที่ 6. การตอกลายบนตัวมีด เป็นงานละเอียดมาก เครื่องมือที่ใช้ ก็เป็นเครื่องมือที่ใช้กับ งานเหล็ก จึงต้องมีความแข็งมากขึ้น
จากที่เล่ามาแล้วว่า ตาฉิมเป็นคนใจเย็น ไม่เร่งรีบต่อปริมาณของมีดที่จะเสร็จ ดังนั้นดอกแต่ดอก ไม่ใช่ตอกหนึ่งครั้งได้หนึ่งดอก แต่หนึ่งดอกนั้น อาจต้องใช้เหล็กสลัก ตอกลงไป สามครั้งหรือห้าครั้ง จึงจะได้เพียงดอกเดียว และลายเหล่านั้นต้อง คม ชัด ลึกและสม่ำเสมอ สวยงาม นี่ก็เป็นจุดตายของมีดช่างฉิมเลย
ลายที่โคนใบมีด ที่เป็นมีดขนาดกลางและใหญ่ จะเป็นลายกนก และเป็นลาย ที่มีความลึก ต่อเนื่อง อ่อนช้อยสวยงาม ความกว้างและความยาวของลายนี้ จะเป็นรูป ที่อยู่ในกรอบ สี่เหลี่ยมจตุรัส ดูแล้วไม่หรือสั้น จนขาดความสวยงามไป
สำหรับมีสาริกาและมีดปากกา ซึ่งเป็นมีดขนาดเล็ก จะเป็นลายใบโพธิ์ เพราะถ้าตีลายกนก จะมีความโค้งไม่พอ แต่มีดขนาดกลางและมีดขนาดใหญ่บางเล่ม ก็ตีเป็นลายใบโพธิ์ได้เหมือนกัน
ขั้นที่ 7. การตอกอักขระบนกั่นมีด
กั่นมีดที่จะฝังเข้าไปในด้ามมีดนั้น ถ้าเป็นมีดขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ ด้านหนึ่ง จะตอก อักขระเรียงกันไปจากโคนไปถึงปลายกั่น มีคำว่า อะ สัง วิ สุ โล ปุ ปะ พุ พะ อีกด้านหนึ่ง จะตอกจากปลายกั่นมาถึงโคน โดยใช้อักขระตัวเดียวกัน
ถ้าเป็นมีดขนาดเล็ก จะตอกอักขระด้านหนึ่งว่า อะ สัง วิ สุ โล อีกด้านหนึ่งตอกคำว่า ปุ สะ พุ พะ
-
ตอนที่ 6. ลายมีดของช่างฉิม
ลายมีดของหลวงพ่อเดิมนั้น เป็นไปตามที่ท่านคิดออกแบบเอง ลายของช่างฉิม จึงเป็นลายที่ อ่อนช้อย สวยงาม คมลึก จึงเป็นมีดที่เรียกว่าพิมพ์นิยม ในยุคนั้นช่างบางท่านก็ทำตาม เป็นลายคล้ายกับช่างฉิม แต่จะมีความละเอียดต่างกันไปบ้าง แต่เมื่อศึกษาในยุคนี้ จะเห็นได้ว่า เนื้อเหล็กก็เก่าถึงยุคหลวงพ่อเดิมเหมือนกัน แต่ราคาอาจต่างกันไปบางตามความนิยม
เมื่อมีการรีดใบมีด โดยการใช้กบไสเหล็ก ไสเนื้อเหล็กออกไป ให้ได้ขนาดหนา บางตามต้องการ แล้วจึงนำใบมีดนั้นมาฝนหรือเจียโดยใช้โม่หินลับมีด ในการทำมีดหลวงพ่อกันหรือหลวงพ่อโอนนั้น ผมได้มีโอกาส เป็นคนหมุนโม่หินให้ตาฉิมได้ฝนหรือขัด เอาส่วนที่ไม่ได้รูป ตามแบบที่ตาฉิมต้องการออกไป อยู่เป็นประจำ จากนั้นจึงนำใบมีดไปตอกลายต่อไป
ลายบนตัวมีด
ใบมีดของตาฉิม แยกได้ 4 ขนาด ตามที่ได้เล่าให้ฟังไปแล้วนั้น ลวดลายจึงต่างไป เป็นรูปแบบต่างๆ ก่อนที่ตาฉิม จะตอกลายบนใบมีดนั้น ตาฉิมจะใช้ตัวขีดเหล็ก ทำให้เกิดเส้น โค้งไปตามสันมีด อาจเป็นจำนวน 3 หรือ 4 เส้น ถี่หรือห่าง ตามความต้องการ ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับขนาด ของตัวมีด ดังนี้
1. มีดขนาดใหญ่ หรือมีดควาญช้าง หรือมีดเหน็บ
เป็นมีดที่มีใบมีดกว้าง 3 - 4 นิ้ว ตาฉิมจะตอกลายหลายแบบ ดังนี้
๑. ลายกนกหรือลายดอกไม้ เป็นลายที่ตอกอยู่บริเวณกลางตัวมีด ถัดขึ้นไปใกล้บริเวณสันมีด
๒. ลายที่ยุคต่อมาเรียกกันเองว่าร่องเลือด ข้อกระดูกงู ซึ่งตาฉิมไม่ได้กำหนดไว้ แต่ต่อมาเรียกอย่างนั้น ก็ดูเหมาะสมดี ลายของมีดขนาดนี้ เริ่มตั้งแต่โคนใบมีด จะเป็นลายกนกเป็นส่วนใหญ่ แต่จะมีเป็น ลายใบโพธิ์ (หรือบางครั้งอาจเรียกว่าใบพัดก็ได้ ) ก็มีให้เห็นอยู่บ้าง
ถัดจากโคนใบมีดขึ้นมาถึงปลายมีด ลายจะแบ่งเป็น 3 ช่วง นับจากสันมีดลงมาทางคมมีด จะเป็นลาย สองชั้น ช่วงที่หนึ่ง ใต้สันมีดจะเป็นร่องเลือด ส่วนล่างจะเป็นข้อกระดูกงู ช่วงที่สอง ใต้สันมีด จะเป็นข้อกระดูกงู ส่วนล่างจะเป็นร่องเลือด ช่วงที่สาม ใต้สันมีดจะเป็นร่องเลือดและถัดลงมาจะเป็นข้อกระดูกงู สลับกันไป แต่มีด ขนาดใหญ่นี้ มีบางเล่มที่ผมพบเห็นมานั้น โคนมีดเป็นลายใบโพธิ์ ลายบนตัวมีด ใต้สันมีดเป็น ร่องเลือดและ ใต้ร่องเลือดก็เป็นข้อกระดูกงูยาวไปจนถึงปลายมีเลย และบริเวณปลายมีด จะจบด้วยลายกนกดอกไม้ ทุกเล่ม
2. มีดขนาดกลาง จะมีลาย ตามแบบข้อ ๒ เท่านั้น
3. มีดปากกา จะมีลายที่โคนใบมีดเป็นลายใบโพธิ์ ไม่มีลายกนก เพราะใบมีดมีขนาดเล็ก มีความ กว้างของใบมีด ไม่เกิน 1.5 ซ.ม. ความยาว 2 - 2.5 นิ้ว ลายที่ตัวใบมีด ด้านสันมีดเป็นลายร่องเลือด ถัดลงมาเป็นลายข้อ กระดูกงู ยาวไปจนถึงปลายใบและจบด้วยลายกนกดอกไม้เท่านั้น
4. มีดขนาดเล็กมาก หรือในระยะหลังเรียกว่ามีดสาริกานั้น มีความกว้างของใบมีด ประมาณ 0.6 ซ.ม. ความ ยาวประมาณ 1 นิ้วเท่านั้น ลายจะเหมือนกับมีดปากกา
-
ตอนที่ 7. การทำฝักและด้ามมีด
มีดของตาฉิม มีทั้งฝักงา-ด้ามงา ฝักไม้- ด้ามงา มีดขนาดเล็ก ที่เรียกว่ามีดปากกาและมีดสาริกา ส่วนใหญ่จะเป็นด้ามงา-ฝักงา. ด้ามงา-ฝักไม้ก็มีบ้าง แต่ถ้าเป็นมีดขนาดกลางขึ้นไปถึงมีควาญช้าง ส่วนใหญ่ จะเป็นด้ามงา ฝักไม้
ไม่ว่าจะมีดขนาดใด ฝักจะเป็นไม้หรืองาก็แล้วแต่ ขั้นตอนในการทำ จะเป็นขั้นตอนเหมือนกันทั้งสิ้น ซึ่งมีขั้นตอนในการทำ ดังนี้
1.เลือกฝักที่มีขนาดใกล้เคียงกับใบมีด ทั้งความยาวและความกว้าง ให้คลุมใบมีดและให้มีพื้นที่ เหลือรอบ ใบมีดเล็กน้อย ไม่ตายตัว มาประกบเป็นฝักสองฝาประกบกัน
2.เกลาหรือเรียกว่าโกลน ให้มีรูปร่างใกล้เคียงกับรูปและขนาดที่ต้องการ
3.นำใบมีดที่จะทำฝัก มาวางทาบด้านใน แล้ววาดรูปตามใบมีดลงบนฝักด้านในทั้งสองด้าน
4.ใช้สิ่วขนาดต่างๆแซะตามรูปใบมีด ค่อยๆขูดให้ลึกลงตามรูปมีด เฉพาะฝักคู่ไหน ก็เฉพาะมีดเล่มนั้น ไม่มีการ สับเปลี่ยนกัน จะทำอย่างใจเย็นไม่เร่งร้อน
ในขั้นนี้ จะเป็นการทำฝักมีดที่มีความประณีตมาก ที่ช่างอื่นอาจไม่สนใจ ตาฉิมจะโกลนฝักมีด ตามที่เล่า มาแล้ว เมื่อนำฝักมาประกบกันทั้งสองด้าน ท่านจะถักแหมที่ทำจากหวาย คล้ายๆแหวนซึ่งมีขนาดต่างกัน มารัด ด้านหัวและท้ายของฝักมีดให้แน่น แล้วจึงสอดใบมีดเข้าไป สอดเข้าลึกแค่ไหนก็ทำเครื่องหมายไว้ แล้วชักมีดออกมา. ถอดแหมออกแล้วขูดด้านใน ให้ลึกลงไปอีก จากนั้นก็นำฝักมาประกบกัน รัดด้วยแหมหวาย แล้วสอดมีดเข้าไปอีก ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่ามีดจะเข้าฝักสนิทได้ทั้งเล่ม
การที่ตาฉิมมีขั้นตอนการทำอย่างใจเย็นนี้ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ จะได้มีดที่เข้ากับฝักได้อย่างสนิท แนบแน่น ถึงแม้ว่ามีดตาฉิม จะมีอายุตั้งแต่ประมาณ 30 ปี(มีดหลวงพ่อโอน) 40 ปี(มีดหลวงพ่อกัน) 50-60 ปี(มีดหลวงพ่อเดิม) มีดเหล่านั้นจะมีการหลวมบ้าง ก็อาจเป็นได้ เนื่องจากการที่ฝักมีการแห้ง หรือยุบตัว และการที่ใบมีดเกิดสนิม แล้วมี การขัดล้าง ทำให้ใบมีดบางได้ แต่การหลวมนี้อาจเกิดขึ้นได้เพียงเล็กน้อย ไม่ใช่เป็นการหลวม แบบที่เรียกว่า โคร่งเคร่ง เลย
การตกแต่งฝักมีดด้านนอก เป็นการตกแต่งขั้นสุดท้ายของการทำฝักมีด นี่ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ตาฉิมมี ความตั้งใจและประณีตในฝีมือช่าง ที่ช่างอื่นไม่ค่อยมี นั่นก็คือ ก่อนที่จะรัดด้วยแหมเงินนั้น ฝักมีดที่ตกแต่งภายใน เรียบร้อยแล้วนั้น มีดแต่ละเล่ม ตาฉิมจะทำเครื่องหมายเอาไว้ แล้วชักใบมีดออก จากนั้น จะนำฝักแต่ละชุด มาประกบกันให้สนิท เจาะที่ด้านปลายและด้านโคน ของฝักมีดด้านละรู แล้วนำไม้ไผ้เหลาให้มีขนาดพอดีกับรูนั้น ตอกเป็นตัวสลัก ให้ฝักมีดทั้งสองด้านประกบติดแน่นกัน คล้ายๆกับว่า มีตะปูตอกให้ติดกัน จากนั้นก็ตัดไม้ไผ่ ส่วนที่โผล่ออกจากฝักทั้ง 2 ข้างนั้นออก ให้เสมอกับฝัก แล้วดำเนินการขัดแต่ง โดยใช้ตะไบ ที่มี ฟันละเอียด ค่อยๆตกแต่งตามแบบให้สวยงาม
จากนั้นจึงค่อยๆนำแหมเงินของจริง มาลองใส่ตามขนาดนั้นๆ และแหมเงินนี้ ตาฉิมจะใส่ฝักละ 5 เส้น โดยจะลองใส่ เส้นกลางก่อน ถ้าใส่ยังไม่ถึงจุดที่กำหนด ก็จะถอดออกมา แล้วตกแต่งด้วยการขูด โดยใช้ คมกระจก หรือคมแก้ว ขูดช้าๆ และลองใส่เรื่อยๆ จนเกือบถึงจุดที่ต้องการทุกเส้น ขั้นสุดท้ายก่อนที่จะอัดแหมให้แน่น ตาฉิม จะถอดสลักไม้ไผ่ ที่ปลายและโคนของฝักมีดออกเสียก่อน จากนั้นจึงนำแหมของจริงขนาดต่างๆที่กำหนดไว้ สอดรัด เและอัดฝักมีด ให้แน่น จนถึงจุดที่กำหนดไว้ ทั้งฝักและแหมที่ทำขึ้น จึงรัดเข้ากับตัวมีดเป็นอย่างดี
การทำด้ามหรือเข้าด้ามมีด
การทำและเข้าด้ามมีดของช่างฉิม จะทำเป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากที่ไปรับมีดที่นำไปถวายหลวงพ่อ ในครั้งแรก โดยจะนำด้ามที่เป็นงาหรือไม้ นำมาเทียบให้ได้ขนาดที่ใกล้เคียงความต้องการ แล้วโกลนหรือเกลา แล้วค่อยๆเหลาให้เป็นไปตามรูปแบบของช่างฉิม แล้วนำไปเข้าด้ามอีกครั้ง รายละเอียดและเคล็ดลับ ในการบรรจุ ผงพุทธคุณ ตะกรุด ฯลฯ จะนำเสนอในตอนต่อไป -
ตอนที่ 8. ขั้นตอนการปลุกเสกและขั้นตอนสุดท้ายของการทำมีด"เทพศาสตรา"
จะขอนำเสนอขั้นตอนการปลุกเสกตามตำหรับหลวงพ่อเดิม (และศิษย์ของท่าน เช่น หลวงพ่อกัน หลวงพ่อโอน ที่ช่างฉิมเป็นคนทำ) ซึ่งจะมีการปลุกเสกเป็นสองขั้นตอน ซึ่งการทำมีดของช่างฉิมทุกขั้นตอน ก็พอจะทราบกันแล้ว ต่อไปจะได้ เล่าขั้นตอนการปลุกเสกมีดให้ทราบเป็นลำดับๆครับ
เมื่อทางวัดที่ต้องการมีดขนาดต่างๆ เช่น มีดปากกา มีดขนาด 4 - 5 นิ้ว ฯลฯ ตาฉิมก็ลงมือขึ้นรูป มีดและทำตามขั้นตอน เมื่อได้ครบทั้งขนาดและจำนวนแล้ว จึงดำเนินการดังนี้
การปลุกเสกขั้นแรก ตาฉิมจะนำมีดที่จัดทำเสร็จแล้วในขั้นที่ทำเป็นใบมีดและฝัก ที่เสร็จสมบูรณ์ รัดด้วย แหมหวาย ไปถวาย หลวงพ่อ ตามที่ทางวัดหรือหลวงเป็นผู้สั่งทำ ทั้งนี้ ผมจะเล่าตามที่ผมได้ติดตามตาฉิม และพ่อ อของผม นำมีดไปถวายหลวงพ่อโอน ซึ่งเป็นศิษย์เอก หลวงพ่อเดิม ไปถวายที่วัดโคกเดื่อ อ.ไพศาลี ซึ่งขั้นตอนการทำ และการปลุกเสก เป็นตำราเดียวกับ หลวงพ่อเดิม เพราะหลวงพ่อเดิมได้ถ่ายทอดวิชาเทพศาตรา ให้โดยตรง
เมื่อไปถึงวัด(วัดโคกเดื่อ สมัยประมาณ ปี พ.ศ.2510 ขณะนั้นหลวงพ่อโอนจะจำวัตรอยู่ในพระอุโบสถ) ตาฉิมจะให้ผมไปเอาถาดกลมที่ใส่อาหารถวายพระมา แล้วนำเอามีดที่มีเฉพาะใบมีดที่เสียบอยู่ในฝักรัด ด้วย แหมหวาย ออกมา ถอดแหมหวายออก แยกฝักออกเป็น 2 ฝา แล้วนำมีดเฉพาะฝักนั้น วางไว้ตรงกลาง อย่างนี้นับเป็น 1 ชุด เรียงไว้ในถาด จนครบตามจำนวน แล้วนำไปประเคน ถวายหลวงพ่อ ซึ่งผมก็นั่งดูอยู่ข้างๆ
หลวงพ่อรับประเคนแล้วก็จะมีการ"จาร"ด้วยวัสดุต่างๆตามที่จะหยิบฉวยได้ เช่น ดินสอ ชอล์คขาว ก้านธูป ฯลฯ จารไปและคุยกับตาฉิมไปเรื่อยๆ การจารนี้จะจารด้านในของฝักทั้งสองด้านและที่ใบมีดด้วย เมื่อคุยกัน นาน พอสมควร คณะของตาฉิมก็จะลากลับ แล้วหลวงพ่อก็จะกำหนดนัดหมาย วันที่จะให้กลับไปรับมีด ที่จะปลุกเสกต่อ นั้น ในวันใด ก็แล้วแต่หลวงพ่อจะกำหนดอีกครั้ง ซึ่งนานนับเดือนเลยทีเดียว
ครั้นถึงวันนัดรับมีดกลับมา คณะของตาฉิมซึ่งก็มีผมอยู่ด้วย จะไปรับมีดที่หลวงพ่อได้จัดเป็นชุดไว้ ได้แก่ ฝักทั้สองประกบ รัดด้วยแหมหวายและมีใบมีดของชุดนั้นเสียบอยู่ในฝักนั้น เป็น1 ชุด ทั้งหมดห่อด้วยกระดาษถุงปูน ที่มีสีน้ำตาล มัดเรียบร้อย พร้อมทั้งถุงผง(ผงพุทธคุณ) อีก 1 ถุง รวมทั้งแผ่นโลหะ เป็นแผ่นเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง (ต่อมา ผมจึงรู้ว่าเป็นตะกรุด) ใส่ถุงรวมกันกลับมา
ขั้นตอนที่สอง. เมื่อตาฉิมรับมีดจากหลวงพ่อมาแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือทำด้ามมีดที่อาจเป็นงาหรือด้ามที่เป็นไม้ นำมาประกอบ เรียกว่า การเข้าด้ามมีด ขั้นตอนของตาฉิม มีดังนี้
1. คัดเลือก เทียบขนาดและความยาวของด้าม ให้สมส่วน เหมาะสมสวยงาม
2. เหลา ตกแต่งด้ามให้สวยงาม กลมกลึง แต่ลักษณะเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของช่างฉิมคือ ส่วนที่เป็นด้านท้อง ของด้ามมีด จะตกแต่งให้มีส่วนที่เป็นพูหรือเป็นสัน ตลอดทั้งด้าม และพูหรือสันนี้ เมื่อเข้าด้ามแล้ว จะเป็นแนวตรง กับคมใบมีด ไม่มีการบิดหรือเอียงเลย
3. เจาะด้วยสว่านดอกยาว บางครั้งด้ามมีดที่มีขนาดใหญ่และยาว เช่นมีควาญช้าง ด้ามก็จะต้องยาวไปตามส่วน จึงจะมีความสวยงาม แต่ดอกสว่านที่ยาวตามต้องการ ไม่มีขาย ตาฉิมจึงต้องทำดอกสว่านให้มีความยาวตามไปด้วย โดยการนำเหล็กมาตี รีดให้มีความยาวและเป็นแผ่นให้กว้างตามต้องการ ลับให้มีความคมทั้งสองด้านตามความยาว และปลายก็มีความคมด้วย แล้วจึงนำไปชุบตามหลักการตีมีด เพื่อให้เกิดความคมและมีความแข็งคงทน (การชุบเหล็กของการทำมีด หมายถึง การที่ตีเหล็กเป็นตัวมีด เสร็จสมบูรณ์แล้ว จากนั้นจะนำมีดนี้ไปเผา ให้ร้อน จนแดง แล้วนำไปจุ่มน้ำแบบเฉียดๆ คือเหล็กร้อนกระทบความเย็นอย่างกระทันหัน จะเกิดความแข็งตัวมากขึ้น กว่าปกติ)
เมื่อเจาะลึกเข้าไปในด้าม เป็นการนำทางแล้วจึงใช้สิ่วขนาดต่างๆมาเซาะ ตกแต่งให้เข้ารูปของกั่นมีด แต่ละเล่ม(กั่น คือ ส่วนของมีดที่เป็นส่วนแหลม ยื่นเสียบเข้าไปในด้าม) และภายในด้ามจะมีส่วนกว้างเล็กน้อย ไม่กระชับสนิทเสียทีเดียว
4. การเข้าด้ามมีดขั้นสุดท้าย
ก่อนที่จะเข้าด้ามมีดนั้น จะต้องบรรจุผงพุทธคุณ และแผ่นตะกรุด(อาจเป็นสีคล้ายแผ่นนากหรือทองแดง หรือมีสีขาวคล้ายแผ่นเงินหรือขาปิ่นโต) ที่มีการจารอักขระบนแผ่นนั้น ใส่ลงไปก่อน แล้วนำครั่ง ที่ทุบให้ป่น เป็นก้อน เล็กๆ หรือเป็นผง กรอกทับลงไปอีกชั้นหนึ่ง บางครั้งก็ใช้ผง ชันโรง เพราะมีคุณสมบัติคล้ายกับครั่งผสมไปด้วย สำหรับมีดหลวงพ่อโอนนั้น ผมได้เป็นลูกมือ ตาฉิม ช่วยบรรจุสิ่งเหล่านี้อยู่เป็นประจำ เสร็จแล้วก็นำใบมีดเสียบ และ เรียงไว้อย่างเป็นระเบียบ
ผมถามว่า ทำไมต้องมีผงอะไร ใส่เข้าไปในด้ามก่อน. ตาฉิมบอกว่า ในการถือมีดนั้น มือต้องจับอยู่ที่ ด้ามจึงต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ในมือนั้นเป็นสำคัญ ผมถามต่อว่าเป็นผงอะไร ตาตอบว่า เป็นผงศักดิ์สิทธิ์ที่หลวงพ่อ สะสม และปลุกเสกแล้ว อาจมีเส้นผมหรืออะไรก็ได้
เมื่อก่อไฟติดถ่านแล้ว ผมก็มีหน้าที่ในการชักสูบลม ให้ลมเข้าเตาแล้วร้อนแรงตลอดเวลา เมื่อชักสูบ นานๆ(นิสัยเด็กๆ) ผมก็เริ่มเมื่อย ก็ชักสูบสั้นๆและเร็วๆ จึงถูกดุ และบอกให้ชักสูบ ช้าๆ ยาวๆ อยู่เสมอ ก่อนจะเอากั่น ของใบมีดแหย่เข้าไปในไฟที่กำลังร้อนนั้น ผมจะเป็นคนเอาเศษผ้ามาพันรอบใบมีด แล้วคอยเอาน้ำมารด ให้ผ้าเปียก เพื่อกันความร้อนไม่ให้ถึงใบมีด จึงจะจับใบมีดเพื่อเข้าด้ามมีดได้
ขั้นตอนสุดท้าย เมื่อเหลาฝักเรียบร้อยแล้ว ตาฉิมก็จะตอกสวนเอาไม้สลัก ที่ตอกสลักฝักทั้งสองฝา ทั้งที่ปลายและที่โคนออก ลงน้ำมันชักเงา แล้วนำแหมเงินทั้ง 5 อัน ตอกอัดให้แน่นสนิท แล้วตกแต่งด้วยน้ำมัน ชักเงาที่ฝักอีกครั้ง จากนั้นจึงนำมีดที่เข้าด้ามเรียบร้อยแล้วมาเสียบ จึงเป็นมีด"เทพศาสตรา" อันชื่ออย่างสมบูรณ์ จากนั้น ตาฉิมก็จะนำมีดหมอที่เสร็จสมบูรณ์นี้ ไปถวายหลวงพ่อตามจำนวนที่ทางวัดได้สั่งทำ บางครั้งตาฉิมก็อาจฝาก คนอื่นไปส่งทางวัดก็ได้ เพราะทำได้จำนวนไม่มาก เนื่องจากขั้นตอนในการทำมีความละเอียดมาก
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นมีดหลวงพ่อเดิม หลวงพ่อกัน หลวงพ่อโอน ฯลฯ ที่เป็นฝีมือช่างฉิม บ้านโคกไม้เดน (เขาไม้เดน) จึงเป็นมีดพิมพ์นิยม มีจำนวนไม่มาก เลียนแบบได้ยากมาก(ดูดีๆไม่สามารถ ทำเลียน แบบได้) ส่วนราคา ที่แพงนับเป็นหลักหลายแสน จึงไม่เป็นที่แปลกใจเลย สำหรับผู้ที่มีวาสนาได้เป็นเจ้าของ ในนาม "เทพศาสตรา"
หลักหรือแนวทางในการศึกษา หรือดูว่า จะเป็นมีดหลวงพ่อเดิม พิมพ์ช่างฉิม บ้านโคกไม้เดน แท้หรือไม่นั้น รวมทั้งมีดหลวงพ่อกัน วัดเขาแก้ว จะได้นำมาเล่าให้ฟัง เป็นแนวทางในการศึกษาในตอนต่อไป
-
ตอนที่ 9 เคล็ดลับ การดูมีดหมอหลวงพ่อเดิม ขั้นที่ 1
จากการที่มีดหมอ "เทพศาสตรา" หลวงพ่อเดิม นับเป็นเครื่องรางที่มี ความเข้มขลัง ปาฏิหาริย์และ คุ้มครองผู้ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ จนเป็นที่กล่าวขาน กันมาก และมีการถ่ายทอดวิชา การทำมีดหมอให้กับบรรดา ลูกศิษย์ ตามที่ได้ กล่าวมาในตอนก่อนพอสังเขปแล้ว นอกจากนี้ ยังพบเห็นมีดหมอหลวงพ่อเดิม ที่เรียกว่า "ของปลอม" อยู่เป็นประจำ เพราะ มีดหมอหลวงพ่อเดิม ฝีมือช่างฉิม บ้านโคกไม้เดน นับเป็น"พิมพ์นิยม" ของหลวงพ่อเดิม ของแท้มีราคานับแสนบาท ย่อมต้องมีของเลียนแบบเป็นธรรมดา ผมจึงขอแนะนำ แนวทาง ในการดูมีด หมอ หลวงพ่อเดิม ฝีมือช่างฉิม บ้านโคกไม้เดน เท่านั้น ถ้าหากท่านใดมีข้อสงสัย ซักถาม หรือ ข้อกังขา จะแลกเปลี่ยน ความรู้ซึ่งกันและกัน โปรดให้แนวคิดกันได้นะครับ แนวทางในการดูมีดังนี้
ขั้นที่ 1
1. พื้นฐานสากลก็คือ ต้องดูความเก่านับตั้งแต่ใบมีด ฝักและด้าม ทั้งด้ามงา-ฝักงา และด้ามงา- ฝักไม้ ต้องมีความเก่าไปตามอายุ ประมาณ 70 ปี เป็นต้นมา ควรจะมีความเก่าให้เห็น งาอาจจะเหลืองฉ่ำ หรืออาจขาว เพราะงา อาจเป็นงาที่ช้างมีอายุน้อย แต่ก็ต้องมีความเก่าให้เห็น
สำหรับงาช้างที่นำมาประกอบเป็นมีดหลวงพ่อเดิมนั้น ไม่ใช่จะเป็นเฉพาะ งาช้างหลวงพ่อเดิม เท่านั้น แต่จะมีพ่อค้านำงาช้างจากต่างถิ่น เช่น จังหวัดอุทัยธานี กำแพงเพชร มาขายที่ตลาดอำเภอ พยุหะคีรีเป็นประจำเรื่อยมา แต่ปัจจุบันนี้ การขายงาช้างที่พยุหะคีรี เป็นไปตามกฎหมาย มีการขึ้น ทะเบียน อย่างถูกต้อง เดี๋ยวนี้ งาช้างจึงมีราคาสูงขึ้นเป็นอย่างมาก อีกข้อหนึ่งที่ ทำให้ งาช้างเป็นที่นิยมก็คือ นับแต่ โบราณมาแล้ว นับถือกับว่า ช้างเป็นสัตว์ชั้นสูง มีตบะ อยู่ในตัว เมื่อช้างล้ม(ตาย) ก่อนจะถูกตัวช้าง จะต้องทำพีธี รดน้ำมนต์เสียก่อน จึงจะ ถูกตัวช้างนั้นได้ แล้วจึงจะนำ ชิ้นส่วน เช่น งา ขนหาง กราม ฯลฯ มาใช้เป็นเครื่อง ประดับ หรือเครื่องป้องกัน เสนียด จัญไร หรือสิ่งไม่ดี ไม่ให้เข้าสู่ตัว ถึงแม้ไม่ได้ ปลุกเสกก็มีพลังเป็นอย่างดี แต่ถ้านำไปถวาย ให้ผู้ทรงวิทยาคม ได้ลงคาถากำกับ ก็จะมีอิทธิฤทธิ์ทวีคูณขึ้นไปอีก -
ตอนที่ 10 เคล็ดลับ การดูมีดหมอหลวงพ่อเดิม ตอนที่ 2
ขั้นที่ 2. การดูใบมีด
จากที่ได้นำเสนอไปแล้วว่า ตาฉิมนำเหล็กที่เป็นตีนวงล้อเกวียนมาตี แผ่ ขยายให้กว้างและหนา บาง แล้วจึงนำกบไสเหล็กมาไส ให้ได้ความหนาบาง และเรียบ จนได้ตามความต้องการ แล้วจึงนำตัวแบบที่ทำจาก กระดาษแข็ง มาทาบ แล้วใช้หินเจีย ในสมัยนั้น ใช้ตัวหมุนใบหินด้วยมือ เรียกว่าโม่หิน คนหนึ่งหมุน แล้วตาฉิมก็จะเอาเหล็กใบมีด ฝนเข้าไปเรื่อยๆ จนได้รูปร่าง ตามลายเส้นดินสอ ที่เขียนทาบไว้ ดังนั้น รูปร่าง จึงไม่เหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นทุกเล่ม เหมือนกับการปั้ม แต่บริเวณสันที่เริ่มโค้งไปจนถึงปลายมีดนั้น จะต้องลบเหลี่ยมเข้าหากัน จนเป็นที่ เรียกว่า สันปลาหมอนั่นเอง ซึ่งก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ควรดูกันเป็นพิเศษ
เมื่อได้ใบมีดที่มีรูปร่างและขนาดตามความต้องการแล้ว จึงนำไปตอกลาย โดยใช้ตัวขีดเหล็ก ขีดให้เป็นเส้น ห่างเท่ากันจำนวน 5 เส้น เพื่อเป็นเส้นกำหนดที่จะ "ขูด" เป็นร่องเลือด และข้อกระดูกงู ถ้าเป็นมีดเล็กหรือมีดปากกา รวมทั้งมีดสาริกา ทางด้านสันมีด จะเป็นร่องเลือดยาวตลอดจนถึงปลาย แล้วจบด้วยลายกนกดอกไม้บาน ถัด จากร่องเลือดลงมาก็จะเป็นข้อกระดูกงู จนถึงปลายมีดจบเสมอกับ ร่องเลือด
ข้อควรสังเกต ร่องเลือดเหล่านี้ จะใช้การขูดด้วยสิ่วเล็บมือขนาดต่างๆ สิ่วเล็บมือนี้ จะทำ คล้าย กบ ไสไม้ แต่ใบเป็นสิ่วเล็บมือ สำหรับไสเหล็ก มีขนาดเหมาะสมกับขนาดของมีด ไม่ใช่การตอกเพื่อให้เกิดร่อง ดังนั้น การดู ต้องดูให้ได้ว่า ร่องเลือดนี้เกิดการขูดหรือตอก
แอ่งของร่องเลือดนี้ ท้องแอ่งต้องมีความมน ไม่เป็นร่องท้องแหลม หัวและท้ายของร่องเลือดนี้ ต้องเผินขึ้น ตรงกลางจะลึกกว่าปลายทั้งสองข้าง
สำหรับข้อกระดูกงูนั้น ลวดลายจะคล้ายตัว s แต่หางทั้งสองด้านจะสั้น และเอียงมากกว่า ข้อทุกข้อ จะเรียงตัวและคมลึกอย่างสม่ำเสมอเท่ากันทุกตัว และ มีดหลวงพ่อกัน จะดูคล้ายเป็นเกลียวเชือกและมีความถี่ของข้อมากกว่ามีดหมอ หลวงพ่อเดิม ในกรณีที่ตาฉิมตอกลายผิด เอียงมาก-น้อยเกินไป หรือไม่พอใจ ใน ฝีมือ ตาฉิมจะทำลวดลายจนเสร็จ แล้วให้มีดที่กำหนดว่า"เสีย" มอบให้พ่อผม แล้วพ่อผมก็ทำฝักและด้าม พร้อมทั้งถวายให้หลวงพ่อปลุกไปด้วยเลย มีดเหล่านั้น ผม(ตอนวัยรุ่นยังไม่รู้ค่า) แจกให้กับเพื่อน หรือคนที่อยากได้ไปเกือบหมด ตอนนี้ยัง เหลืออยู่บ้าง
ข้อสังเกตลวดลายนี้ ถ้าลายไม่สม่ำเสมอกัน ไม่คมลึก (เพราะตาฉิม จะตอก หนักมาก) ก็ไม่ควรจะเสี่ยงเป็นเจ้าของ
ลายที่โคนของใบมีด ถ้าเป็นมีดขนาดเล็ก จะเป็นลายใบโพธิ์ หรือใบพัด เท่านั้น(มีดขนาดใหญ่ จะ มีลายใบพัดให้พบเห็นอยู่บ้าง) ถ้าเป็นมีดใหญ่ โคนมีด จะเป็นลายกนก มีความคมลึก กลม มน อ่อนช้อย ที่สำคัญ ความกว้างและ ความ ยาวของลายกนกนี้ ถ้าลากเส้นล้อมกรอบดู จะเห็นว่า เป็นรูปร่าง อยู่ในกรอบ สี่เหลี่ยมจตุรัสเสมอ ไม่ยืดหรือยานเกินไป
สุดท้ายของใบมีด จะเกิดมีสนิมเหล็ก ที่เรียกว่าสนิมขุม เกิดเป็นหย่อมๆ ไม่ใช่เกิดสนิมเหมือนกัน ทั้งเล่ม (เกิดจากการนำไปจุ่มในน้ำกรด) และบางเล่ม ที่เจ้าของดูแลเป็นอย่างดี(อย่างสุดยอด) อาจแทบไม่มี สนิมขุมให้เห็นเลย อย่าด่วนสรุปว่าเป็นมีดยุคหลัง เพราะถึงแม้ไม่มีสนิมขุมให้เห็น แต่ส่วนอื่น เช่น ร่องเลือด ร่องลายกนก ย่อมมองเห็นได้ ถ้าเป็นผู้มีความรู้และสังเกตจริงๆ
สำหรับการสังเกตฝักและด้าม จะนำเสนอในตอนต่อไปครับ
-
พระคาถามนต์มหานิยม หลวงพ่อเดิม
ตั้งนะโม 3 จบ
โอม มะศรี มะศรีตัวกูนี้งาม คือ ฟ้า หน้ากูขาว คือ ดอกบัว หัวกูงาม คือ กงจักร คนเห็นรัก โอมมะประสิทธิเม อิติ ฯ
กลการใช้พระคาถา
ใช้เสกขี้ผึ้งสีปากและเสกผ้านุ่งผ้าห่ม เสกแป้งผัดหน้า มีสง่าราศีใครเห็นรักใคร่ -
อนุโมทนาค่ะ
-
สาธุครับผม
-
- ขอนุโมทนา กับข้อมูลความรู้ครับ ศรัทธาหลวงพ่อเช่นกันครับ
-
ice5509876 พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
กราบหลวงพ่อเดิม สาธุ สาธุ สาธู ครับ
-
ตามกระแส
พตท.เรวัช กลิ่นเกษร กับมีดหลวงพ่อเดิมครับ
-
2. งาช้างที่ล้ม ช่างฉิม ได้ รับมาขนาดไหน
3. งาที่ว่า สร้าง ด้าม กับ ฝักมืด ได้ เท่าไหร
4. จากตอนที่ 2 ที่ว่าช่าง (ไม่รู้กี่คน) ทำมีดมาส่งคนละ 10 เล่ม ก็น่านำงา ไปคนละจำนวนไม่น้อยแล้ว จะเหลือให้ช่างฉิม ทำมีดต่อมา ได้ มากเท่าไหร
5. ช่างฉิม ไม่ใช่คนเดีนวที่ทำมีด เพราะตามข้อมูลบอกเองว่า คนอื่น ก็ทำ แต่ใช้ แบบของช่างฉิม
ดังนั้น ที่ว่า ไม่เคยทำ ด้ามไม้ฝักไม้ แสดงว่ามีดที่ช่างฉิมตีออกมา ไม่น่ามาก เกิน 20 (เพราะว่างาของช้างหลวงพ่อเดิม ไม่มีให้ช่างฉิมใช้) จาก 10 เล่มแรก กับจำนวน ที่ทำให้ช่างด้วยกัน ก็น่า ไม่ได้ ตีมีดต่อแล้ว จริงไหม