บัณฑิต คือคนดี คนที่มีปัญญา คนที่ไม่ใช่พาล
บัณฑิต ตามพจนานุกรม แปลว่า ผู้มีปัญญา นักปราชญ์ แต่ความหมายแท้จริงที่ท่านใช้กัน บัณฑิตหมายถึงคนดี คนที่ไม่ใช่พาล และเมื่อพิจารณากันแล้ว คนดีหรือผู้มีปัญญาก็เป็นคนเดียวกันนั่นเอง คนมีปัญญาจะเป็นคนไม่ดีไปไม่ได้ ถ้าเป็นคนไม่ดีก็เพราะไม่มีปัญญา
บัณฑิตย่อมรู้ถูก รู้จริงว่าความดีคืออะไร ความชั่วคืออะไร
“บัณฑิตย่อมฝึกตน” หมายความว่า คนดีหรือคนมีปัญญา ย่อมฝึกตน คือ อบรมตนให้เป็นคนดี ในทางหนึ่งคนเรามีสองพวก คือ พวกผู้ฝึกตนและพวกผู้ไม่ฝึกตน พวกผู้ฝึกตน คือ ผู้ที่พยายามศึกษาให้รู้ว่า ความดีเป็นอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะเป็นผู้มีความดี จึงจะเป็นคนดี บัณฑิตไม่ประมาทว่าคนมีความดีเพียงพอแล้ว บัณฑิตไม่หลงคิดว่าความไม่ดีเป็นความดี แล้วก็ทำความไม่ดีอย่างไม่สะดุ้งสะเทือน แต่บัณฑิตย่อมรู้ถูก รู้จริง ว่าความดีคืออะไร ความชั่วคืออะไร แล้วก็ไม่ประมาท ตั้งใจทำความดี ตั้งใจหลีกเลี่ยงความไม่ดีเต็มสติปัญญาความสามารถ
การเพ่งโทษตนเอง เป็นการฝึกตนที่ได้ผลจริง
บัณฑิตไม่มีความเพ่งโทษผู้อื่น บัณฑิตจะเพ่งโทษตนเอง การเพ่งโทษตนเองนั้นเป็นการฝึกตนเองอย่างหนึ่งที่จักเกิดผลจริง การเพ่งโทษผู้อื่นเป็นวิสัยของผู้ไม่ใช่บัณฑิต ผู้ที่เพ่งแต่โทษผู้อื่น ไม่เพ่งโทษตนเอง ย่อมไม่เห็นโทษของตนเอง ย่อมไม่เห็นความบกพร่องที่จะต้องแก้ไขให้ดีขึ้น ย่อมไม่รู้ว่ามีโทษเพียงไรในแง่ใด ไม่มีโอกาสจะแก้ไขตนเอง แต่จะมุ่งไปแก้ผู้อื่น ซึ่งจะไม่เป็นประโยชน์แก่ตนอย่างใด ผู้อื่นนั้นไม่ใช่ว่าจะยอมให้แก้ เพราะถ้าเป็นผู้อื่นที่เป็นบัณฑิต ก็ย่อมแก้ตนเองอยู่แล้ว ฝึกตนเองอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่ไม่เป็นบัณฑิตก็ย่อมไม่สนใจที่จะแก้ตนเองฝึกตนเองอยู่แล้ว ผู้อื่นจะไปแก้จึงเป็นไปได้ยาก ทุกคนจะดีหรือชั่ว.....สำคัญที่ตนเอง ตนเองมีความดีพอจะยอมรับความไม่ถูกต้องไม่ดีงามของตน ย่อมยินดีฝึกตน ย่อมยินดีแก้ไขตน ย่อมมีโอกาสเป็นคนดียิ่งขึ้น
ที่มา : ธรรมซีรี่ย์
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=6234
------- บัณฑิต ย่อม ฝึกตน -------
ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย วิญญาณนิพพาน, 20 กันยายน 2015.