บาป บุญ กรรมเหตุ กรรมผล

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย tsukino2012, 17 ธันวาคม 2018.

  1. tsukino2012

    tsukino2012 หยุดจึงพบ สงบจึงเกิด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 พฤษภาคม 2012
    โพสต์:
    1,311
    ค่าพลัง:
    +3,090
    "บาป บุญ กรรมเหตุ กรรมผล"

    บุญ คือ สมมติทางความคิด จิตใจ ที่โน้มเอนไปทางด้านที่คนส่วนใหญ่จัดว่าเป็นกุศล ผู้มีบุญจึงหมายถึง ผู้ที่มีจิตใจดีงาม คิดแต่สิ่งดี ๆ อยู่เสมอ อาการของความคิดที่ดี เจตนาดี ทำให้จิตใจเป็นสุข มีความสุขในชีวิตมาก นำมาซึ่งการกระทำแต่สิ่งดี ๆ

    บาป คือ สมมติทางความคิด จิตใจ ที่โน้มเอนไปทางด้านที่คนส่วนใหญ่จัดว่าเป็นอกุศล คนบาปจึงหมายถึง ผู้ที่มีจิตใจต่ำทราม คิดแต่สิ่งไม่ดีอยู่เสมอ อาการของความคิดชั่วช้า เจตนาเลวอันเจือด้วยกิเลส คือตัวโลภ โกรธ หลง ( โลภะ โทสะ โมหะ ) ทำให้จิตใจเป็นทุกข์ มีแต่ความทุกข์ในชีวิต นำมาซึ่งการกระทำแต่สิ่งที่ไม่ดี

    กรรม คือ การกระทำ ไม่ใช่สมมติ แต่เป็นของจริงซึ่งแสดงออกได้สามทาง คือทางกาย ทางวาจา และทางใจ ( กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ) ผลกรรม เป็นกรรมที่เกิดโดยมีกรรมอื่นเป็นเหตุปัจจัย เรียกว่า “กรรมเหตุ” ผลกรรมจะสัมพันธ์กับกรรมเหตุเสมอไม่มีดีมีชั่ว คือ ทำเหตุอย่างใด ก็ได้ผลอย่างนั้น ผลกรรมมีทั้งที่สนองคืนในทันที และสนองคืนตามวาระกรรมที่ต่างกัน กรรมบางอย่างให้ผลต่อเนื่องไปอีกหลายภพชาติ กรรมบางอย่างให้ผลเฉพาะในสุขติภูมิหรือทุกคติภูมิ ผลกรรมที่เกิดจากการทำที่ให้สมมติว่าชั่ว เป็นบาป มักจะเรียกกันว่า “ผลกรรม” ส่วนผลกรรมที่เกิดจากการทำที่ให้สมมติว่าดี เป็นบุญ มักจะเรียกกันว่า “อานิสงส์” แต่ไม่ว่าจะเรียกอย่างไรก็คือผลของกรรมนั่นเอง

    ในการสร้างกรรมแต่ละครั้งเกิดกระบวนการหลายขั้นตอน ยกตัวอย่างการเกิดบุญ จากการให้ทานโดยการตักบาตร
    ๑.เริ่มต้นด้วยจิต คิดอยากจะทำความดี ( มโนกรรมเหตุ )
    ๒.รู้สึกปีติยินดีที่จะให้ทาน มีความสุขขึ้นมา ( มโนกรรมผล )
    ๓.เมื่อจิตใจคิดดีมีสุข มีความประสงค์อยากจะให้ทาน เกิดความคิดที่อยากจะตักบาตรถวายพระ ( มโนกรรมเหตุ )
    ๔.จึงได้ไปจัดเตรียมข้าวของที่จะมาใส่บาตร เมื่อพระมาถึงก็ลงมือใส่บาตร ( กายกรรมผล ) พระท่านได้รับวัตถุทาน ( กายกรรมเหตุ )
    ๕.จะได้รับผลกรรมจากการให้สังฆทานตามวาระกรรม ( กายกรรมผล )
    จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า มโนกรรมเหตุในขั้นตอนที่ ๑ เป็นผลให้รู้สึกปีติยินดีในขั้นตอนที่ ๒ เมื่อจิตมีความปีติยินดี เกิดความสุข ก็เรียกว่าเป็นบุญแล้ว และมโนกรรมผลในขั้นตอนที่ ๒ ยังเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดมโนกรรมเหตุในขั้นตอนที่ ๓ เป็นปัจจัยไปสู่กายกรรมผลในข้อ ๔ จากเหตุสร้างผลและผลก็กลับมาเป็นเหตุสร้างผลที่ต่อเนื่องกัน สรุปคือ บุญนั้นเกิดตั้งแต่คิด บุญสำเร็จตั้งแต่มโนกรรมแล้ว ส่วนเรื่องกายกรรม ถ้าไม่ลงมือกระทำกายกรรมเหตุมันก็ไม่มีกายกรรมผล
    ยกตัวอย่างการเกิดบาป จากการฆ่าสัตว์
    ๑.เห็นหมามาขี้หน้าบ้าน เกิดความโกรธแค้น ไม่พอใจ จิตใจร้อนลุ่ม ( มโนกรรมเหตุ )
    ๒.จิตที่มีความโกรธ มีกิเลสตัวโทสะ ทำให้อึดอัด และเป็นทุกข์ ( มโนกรรมผล )
    ๓.คิดอยากจะกระทำการใดๆให้หายโกรธแค้น จึงเกิดความคิดที่จะฆ่า ( มโนกรรมเหตุ )
    ๔.เมื่อพบหมาตัวดังกล่าว ก็ใช้วัตถุฟาดอย่างแรง (กายกรรมผล) จนหมาตาย ( กายกรรมเหตุ )
    ๕.ชาวบ้านที่เห็นเหตุการก็ติเตียน อีกทั้งยังได้มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับเจ้าของหมาที่ตาย ฯลฯ ( กายกรรมผล )

    จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า บาปได้เกิดไปแล้ว โดยมีมโนกรรมในขั้นตอนที่ ๑ เป็นเหตุ เป็นเพราะจิตมีกิเลสตัวโทสะ คือความโกรธ อาฆาตแค้น เกิดขึ้น จึงเป็นเหตุให้เกิดความคิดชั่วตามมาในขั้นตอนที่ ๓ และสุดท้ายก็ลงมือกระทำกรรมฝ่ายอกุศลลงไปในขั้นตอนที่ ๔ สุดท้ายก็นำผลกรรมมาให้ในขั้นตอนที่ ๕ สรุปคือ บาปนั้นเกิดตั้งแต่ขั้นตอนที่ ๒ คือเกิดตั้งแต่คิด เกิดตั้งแต่มโนกรรมที่ทำให้เป็นทุกข์เพราะความโกรธนั้นไปแล้ว ส่วนเรื่องของกรรม จะเกิดผลกรรมก็ต่อเมื่อ เราได้สร้างกรรมเหตุต่าง ๆ ได้สำเร็จลงไปแล้วเท่านั้น

    ยกตัวอย่างการกระทำที่ขาดเจตนา คือ ทำสัตว์ตายโดยไม่ตั้งใจ จิตไม่เศร้าหมอง
    ๑.ตั้งใจจะเดินไปซื้อของที่ร้านค้า ( มโนกรรมเหตุ )
    ๒.เดินไปตามไหล่ทาง ( กายกรรมผล )
    ๓.ระหว่างที่เดินนั้น ไปเหยียบมดแมลงตามพื้นตายไปมากมาย ( กายกรรมเหตุ )
    ๔.ติดกรรมที่ทำให้เหล่าแมลงตัวเล็กตัวน้อยตาย รอเวลารับผลตามวาระกรรม ( กายกรรมผล )
    จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า ไม่มีความรู้สึกสุขหรือทุกข์ เพราะเจ้าตัวก็ยังไม่รู้เลยว่าได้ทำให้สัตว์ตาย ด้วยเพราะขาดเจตนา ไม่มีความคิดอันเป็นปฐมเหตุต่อกรรมนั้นๆ จึงไม่เป็นบาปหรือบุญ แต่กรรมเหตุที่ได้กระทำในขั้นตอนที่ ๓ ซึ่งเป็นผลการกระทำในขั้นตอนที่ ๒ ได้สำเร็จลงไปแล้ว ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ ย่อมต้องได้รับผลกรรมนั้นอยู่
    ยกตัวอย่างการกระทำที่ขาดเจตนา คือ ทำสัตว์ตายโดยไม่ตั้งใจ จิตเศร้าหมอง
    ๑.ตั้งใจจะขับรถออกจากบ้านไปทำงาน ( มโนกรรมเหตุ )
    ๒.ถอยหลังรถออกจากที่จอดรถ (กายกรรมผล)
    ๓.ถอยรถไปทับลูกหมา (กายกรรมเหตุ)
    ๔.ติดกรรมที่ทับลูกหมาตาย รอเวลารับผลตามวาระกรรม ( กายกรรมผล )
    ๕.รู้ว่าทับหมาตาย เกิดความสำนึกผิด ( มโนกรรมเหตุ )
    ๖.เสียใจ เกิดทุกข์ ( มโนกรรมผล )
    จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า แม้เป็นการกระทำที่ขาดเจตนา แต่เมื่อผู้กระทำกรรมนั้น ๆ ได้รับรู้ แล้วเกิดมีความรู้สึกผิด เสียใจในสิ่งที่ได้กระทำลงไป จิตเศร้าหมอง เป็นทุกข์ บาปจึงเกิดขึ้น เพราะมีมโนกรรมเป็นเหตุปัจจัย

    ยกตัวอย่างการโมทนาบุญจากผู้อื่น
    ๑.เห็นบุคคลอื่น กำลังให้ทาน ( กายกรรมบุคคลอื่น )
    ๒. รู้สึกยินดีกับบุคคลนั้น เกิดมุทิตาจิต ในการทำความดีของเขา ( มโนกรรมเหตุ )
    ๓.เกิดความปีติยินดีกับตนเอง ทำให้มีความสุข ( มโนกรรมผล )
    จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า แม้เป็นการกระทำของบุคคลอื่น หากแต่นำมาซึ่งความยินดีปีติแก่ตนได้ ทำให้มีความสุขได้ ก็เป็นบุญได้ เพราะบุญเกิดที่มโนกรรม เกิดจากเจตนาที่ดี ไม่ได้เกิดที่กายกรรม หรือ วจีกรรม
    ยกตัวอย่างการโมทนาบาปจากผู้อื่น
    ๑.เห็นบุคคลอื่น กำลังให้ทาน ( กายกรรมบุคคลอื่น )
    ๒.ไม่ยินดีกับสิ่งที่เขาทำ และยังรู้สึกในทางตรงกันข้าม ( มโนกรรมเหตุ )
    ๓.เกิดความอิจฉาริษยา กิเลสตัวโมหะ ทำให้จิตใจร้อนลุ่ม ไม่เป็นสุข เกิดความทุกข์ ( มโนกรรมผล )

    จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า แม้เป็นการกระทำของบุคคลอื่น ในทางที่ดี ในทางกุศล หากแต่ตนรู้สึกอิจฉาริษยาเขา คิดว่าเขาทำเอาหน้า หรือ คิดไปในทางลบกับบุคคลนั้นต่างๆนา ๆ ทำให้จิตใจร้อนลุ่ม ไม่เป็นสุข อึดอัด เป็นทุกข์ ก็กลายเป็นบาป เมื่อบุญเกิดที่มโนกรรม เกิดจากเจตนาที่ดีฉันใด บาปก็เกิดที่มโนกรรม เกิดจากเจตนาที่ไม่ดีฉันนั้น
    ยกตัวอย่างอาการของการให้ทานที่ได้ทั้งบุญทั้งอานิสงส์
    ๑.เรากำลังล้างจานชาม ( กายกรรมลอย ๆ )
    ๒.ระลึกว่า เศษอาหารในน้ำล้างจานนี้ แม้เพียงน้อยนิด แต่ก็หวังให้สัตว์เล็กสัตว์น้อยในบ่อ ได้กินเพื่อยังชีพ ( มโนกรรมเหตุ )
    ๓.ตั้งใจอนุเคราะห์ด้วยเมตตา จึงทำให้มีความสุขใจ ( มโนกรรมผล )
    ๔.จะเทน้ำที่ใช้ล้างจานทิ้งลงบ่อน้ำข้างบ้าน ( มโนกรรมเหตุ )
    ๕.ลงมือเทน้ำนั้นลงไปในบ่อ ( กายกรรมผล )
    ๖.เศษอาหารลงบ่อน้ำ สัตว์ในน้ำได้กิน ( กายกรรมเหตุ )
    ๗.กรรมที่ทำให้สัตว์ในน้ำได้กินเศษอาหาร รอเวลาสนองตามวาระกรรม ( กายกรรมผล )

    จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า ในขั้นตอนที่ ๒ มีจิตคิดอนุเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลก ทำให้จิตใจมีความสุขในขั้นตอนที่ ๓ บุญมันก็เกิด และไม่เท่านั้น เมื่อเทน้ำลงไปในบ่อ ก็ยังได้สร้างกรรมปัจจัยให้แก่ตนเองด้วย ได้ทั้งบุญ ได้ทั้งอานิสงส์ ครบถ้วน หากแต่ไม่ได้มีจิตคิดอนุเคราะห์ใด ๆ คือตัดขั้นตอนที่ ๒ และ ๓ ออกไป ก็จะไม่ได้บุญ แต่ยังจะได้กายกรรมผลในขั้นตอนที่ ๗ อยู่ เพราะการกระทำ ไม่สนว่าจะมีเจตนาหรือไม่ เมื่อทำกรรมใดไว้ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ ย่อมต้องได้รับผลกรรมนั้น

    - วิริยะ โสดาปัตติผล -
     

แชร์หน้านี้

Loading...