ประวัติการสร้างพระพุทธรูป

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย thanan, 24 กุมภาพันธ์ 2005.

  1. thanan

    thanan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กันยายน 2004
    โพสต์:
    1,666
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +5,210
    ข้อมูลจากเว็บ <a href="http://www.lekpluto.com"target=_blank>เล็ก พลูโต</a>


    พระพุทธรูป หรือ รูปเคารพแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของเหล่าพุทธศาสนิกชนทั่วโลกนั้น เริ่มมีการสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยคันธาราฐ ซึ่งเป็นแคว้นที่อยู่ทางตอนเหนือของอินเดียโบราณ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน) คือ ระหว่าง พ.ศ. ๕๐๐ ถึง ๕๕๐ แต่เดิมนั้นพุทธศาสนาไม่มีรูปเคารพแต่อย่างใด ศาสนาพราหมณ์ หรือ ฮินดู ซึ่งมีมาก่อนพุทธ ก็ไม่มีรูปเคารพเป็นเทวรูปเช่นกัน หลังจากพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พุทธศาสนานิกชนก็ได้แต่นำเอาสิ่งของจากสังเวชนียสถาน ๔ แห่ง คือ สถานที่ประสูติ (ลุมพินีวัน) ,ตรัสรู้ (พุทธคยา),ปฐมเทศนา (พาราณสี) และปรินิพพาน (กุสินารา) อันได้แก่ ดิน น้ำ และใบโพธิ์เก็บมาไว้เป็นที่ระลึกบูชาคุณพระพุทธเจ้า

    ต่อมาได้มีการทำดวงตราสัญลักษณ์ ประจำสถานที่ต่าง ๆ ขึ้น ด้วยดินเผาบ้าง ด้วยแผ่นเงินบ้าง ซึ่งสามารถอยู่ได้นานทนทานกว่า อย่างเช่น ที่เมืองกบิลพัสดุ์ทำตราดอกบัว หมายถึงว่า เป็นสิ่งบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้น, ตราช้าง หมายถึง พระสุบินของพระพุทธมารดาในเมื่อพระมหาโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์, ตราโค หมายถึง ราศีพฤษภซึ่งพระมหาโพธิสัตว์ประสูติ, ตราราชสีห์ หมายถึง ศากยสิงห์, ตราม้า หมายถึง ม้ากัณฐกะ (ม้าทรงที่เสด็จออกบรรพชา เป็นสหชาติกับพระพุทธองค์) หรือ ที่เมืองพุทธคยา ทำตราพุทธอาสน์ และตราต้นโพธิ์ , เมืองพาราณสี ทำตรารูปพระธรรมจักร, เมืองกุสินารายณ์ ทำตราพระสถูป ฯลฯ เป็นต้น

    ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พุทธศาสนูปถัมภกที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง ก็ยังไม่มีรูปเคารพแทนพระพุทธเจ้าที่เป็นรูปคน แม้จะมีหลักศิลาจารึกหรือเสาหินจารึกก็ตาม ลวดลายที่สลักยังคงใช้เครื่องหมายสังเวชนียวัตถุดังกล่าวอยู่ จนกระทั่งหลังสมัยพระเจ้าอโศกมาถึง ๑๐๐ ปี จึงได้เกิดมีลวดลายเครื่องประดับเป็นรูปคน เช่น ที่สัญจิเจดีย์ และพาหุเจดีย์ คือ สลักเป็นเรื่องชาดก เป็นเรื่องปฐมสมโพธิ ตลอดจนเรื่องตำนานพระพุทธศาสนา ภายหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานมากมาย แต่ก็ยังไม่ทำเป็นรูปพระพุทธเจ้า ยังคงใช้เครื่องหมายสังเวชนียสถานทุกแห่ง

    ส่วนการสร้างพระพุทธรูปนั้น ชาวโยนก หรือ ชาวกรีก ที่มาครอบครองคันธาราฐเป็นผู้สร้างขึ้นก่อน โดยถ่ายแบบอย่างเทวรูปที่พวกชาวโยนกนับถือกันในยุโรปมาสร้าง ก่อให้เกิดการผสมผสานกันระหว่างอารยธรรมตะวันตกและตะวันออก ในด้านสถาปัตยกรรมและประติมากรรมมากมาย มาถึงตอนนี้ต้องขออธิบายเพิ่มเติม สำหรับผู้ที่ไม่เคยศึกษาหรือได้ฟังเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของอินเดียมาก่อนว่า พวกชาวกรีก หรือ ชาวโยนกนั้น ได้มาเกี่ยวข้องกับอินเดีย หรือพระพุทธศาสนาของเราอย่างไร ?

    กล่าวคือ เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๗ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชของกรีก ได้ยกทัพมาตีเมืองตักกศิลา ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของแคว้นคันธาราฐ ที่อยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียโบราณจนยับเยิน ถึงกับต้องสร้างเมืองขึ้นใหม่ และยังสร้างเมืองต่าง ๆ อีก ๒๑ เมืองตามแบบกรีก ครั้นเมื่อพระองค์ยกทัพกลับ ก็ได้ให้ทหารกรีก และผู้คนเชื้อสายกรีกที่อพยพตามกองทัพ มาอยู่ตามเมืองเหล่านั้นสืบต่อมาอีกนาน จึงได้ก่อให้เกิดการผสมผสานระหว่างอารยธรรมของกรีกกับอินเดียข้างต้น

    ต่อมา ได้มีอาณาจักรเมารยะ แคว้นมคธ แผ่อำนาจเข้ามาปกครองเมืองตักกศิลา และเมืองต่าง ๆ ทางภาคเหนือของอินเดีย จนถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ได้ทรงส่งสมณะทูต จำนวน ๕๐๐ รูป ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังแคว้นคันธาราฐ เมืองตักกศิลา จึงมีชื่อเสียงในฐานะเป็นเมืองที่ประสิทธิประสาทวิทยาการต่าง ๆ นับว่า "เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกทางพระพุทธศาสนา" มีการก่อสร้างสถูปเจดีย์อย่างมากมาย ปรากฎเป็นซากให้เห็นจนทุกวันนี้

    ณ ที่เมืองตักกศิลานี้ ปัจจุบันได้ขุดพบเศียรพระพุทธรูป รูปพระพุทธรูป รูปพระโพธิสัตว์ ซึ่งมีลักษณะเหมือนเทวรูปกรีก คือ มีใบหน้าเป็นฝรั่ง ไม่ใช่หน้าคนอินเดีย เศียรพระพุทธรูปดังกล่าว ทำพระเกศาเป็นเส้นยาวเหมือนผมคน ส่วนรูปพระโพธิสัตว์ ไว้พระเกศายาวปรกพระศอ เส้นพระเกศาเหมือนคนธรรมดาเช่นกัน เครื่องนุ่งห่มมีริ้วรอยเหมือนผ้าจริง ๆ การสร้างพระพุทธรูปดังกล่าว สันนิษฐานว่า เริ่มเมื่อในสมัยพระเจ้าเมนันเดอร์ หรือ พระเจ้ามิลินท์ กษัตริย์เชื้อสายกรีก ซึ่งครองอำนาจแคว้นคันธาราฐ หลังจากที่กษัตริย์วงศ์เมารยะเสื่อมอำนาจลง

    พระเจ้ามิลินท์ ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เช่นเดียวกับพระเจ้าอโศกมหาราช พุทธศาสนาจึงเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกสมัยหนึ่ง ได้มีการสร้างสถาปัตยกรรม และประติมากรรมทางพุทธศาสนามากมายในแคว้นคันธาราฐ สำหรับลักษณะของพระพุทธรูปสมัยคันธาราฐ จากหนังสือ "ลักษณะของพระพุทธรูปสมัยต่างๆ โดยสังเขป " ของ นายกฤษณ์ อินทโกศัย อดีตรองอธิบดีกรมศิลปากร ได้กล่าวว่า

    พระพักตร์ เป็นแบบเทวรูปกรีก พระเกศาเป็นเส้นยาว เป็นลอนคลื่นแล้วกระหมวดมุ่นเป็นเมาฬี เป็นรุ่นแรก, รุ่นต่อมาทำพระเกศาเป็นก้นหอย ระหว่างพระขนงมีอุณาโลม ด้านหลังพระเศียรมีรัศมีเป็นประภามณฑลกลม จีวรมีทั้งห่มคลุมและห่มดอง จีวรเป็นริ้วเหมือนเครื่องนุ่งห่มของเทวรูปกรีก ผ้าครองหนาเป็นสมัยแรก ผ้าครองบางเป็นสมัยหลัง พระพุทธรูปนั่งปางสมาธิ ผ้าคลุมพันแข้งมาถึงฐาน ผ้าห่มคลุมซ่อนอยู่ที่ใต้แข้งก็มี รวบชายจีวรพันเข่าทั้งสองข้าง เป็นรุ่นแรก ฐาน มีรูปสิงห์ หรือ รูปสาวกประกอบ

    ครั้นเมื่อพวกทางเหนือสร้างพระพุทธรูปขึ้น พวกทางใต้ที่นับถือพุทธศาสนา ซึ่งอยากจะสร้างพระพุทธรูปอยู่แล้ว แต่ไม่กล้าทำ เพราะผิดธรรมเนียมโบราณ ก็เอาอย่างทำขึ้นมาบ้าง จึงทำให้เกิดมีพระพุทธรูปแพร่หลายออกไปตามลำดับ เมื่อแรกสร้างพระพุทธรูป ทำปางพระพุทธรูปตามสังเวชนียสถานทั้ง ๔ คือ ที่ประสูติ ทำเป็นรูปพระมหาโพธิสัตว์, ที่ตรัสรู้ ทำเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย, ที่ปฐมเทศนา ทำเป็นรูปยกพระหัตถ์เป็นวงธรรมจักร, ที่ปรินิพพาน ทำเป็นพระพุทธรูปไสยาสน์

    ต่อมาเกิดปูชนียสถานขึ้นในมัชฌิมประเทศอีก ๔ แห่ง คือ อ้างเหตุพุทธปาฏิหาริย์ เช่น ที่เมืองสาวัตถี อ้าง ยมกปาฏิหาริย์ ทำพุทธรูปนั่งปางสมาธิบนดอกบัว, เมืองสังกัส อ้าวเทวาวตาร คือ ปางเมื่อพระพุทธองค์เสด็จจากดาวดึงส์ ทำพระพุทธรูปเดิน , เมืองเวสาลี อ้างเมื่อพระพุทธองค์ทรงทรมานพระยาวานร ทำพระพุทธรูปปางประทานพร , เมืองราชคฤห์ อ้างตอนทรงทรมานช้างนาฬาคีรี ทำพระพุทธรูปประทานอภัย ด้วยเหตุนี้เมื่อสมัยแรก จึงมีพระพุทธรูปเพียง ๘ ปาง

    <center>-End-</center>
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • buddha14.jpg
      buddha14.jpg
      ขนาดไฟล์:
      22.4 KB
      เปิดดู:
      309
  2. thanan

    thanan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กันยายน 2004
    โพสต์:
    1,666
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +5,210
    มูลเหตุการจัดพระปางต่าง ๆ เข้าประจำวันเกิด

    ข้อมูลจากเว็บ <a href="http://www.lekpluto.com"target=_blank>เล็ก พลูโต</a>


    เมื่อตอนที่แล้วได้นำเรื่องราวประวัติความเป็นมาของการสร้างพระพุทธรูป ให้ได้รับทราบกันเป็นพื้นฐานพอสังเขป คราวนี้เราจะมาว่ากันต่อถึง พระพุทธรูปประจำวันต่าง ๆ ซึ่งผมเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันนะครับว่า นอกจากชาวไทยที่นับถือพุทธศาสนาแล้ว ประเทศอื่น ๆ ที่นับถือพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นลาวเขมร พม่า หรือพวกธิเบต ญี่ปุ่น ฯลฯ เขาจะมีการกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับพระพุทธรูปประจำวันเกิดหรือเปล่า หากมีท่านผู้รู้ท่านใดพอจะให้รายละเอียดเพิ่มเติมได้ ก็จดหมายมานะครับ ตามที่อยู่หัวคอลัมน์ ผมจะได้นำมาเพิ่มเติมเสริมต่อให้บทความชิ้นนี้สมบูรณ์ เป็นวิทยาทานต่อไป

    การกำหนดให้ปางต่าง ๆ ของพระพุทธรูป ตรงกับวันทั้ง ๗ ของไทยเรานั้น จะมีมาแต่สมัยใดไม่ทราบแน่ชัด ทราบแต่เพียงว่ามีมาก่อนสมัยสร้างพระปางต่าง ๆ รวม ๔๐ ปาง ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เพราะพระพุทธรูปปางต่าง ๆ นั้น เกิดจากความคิดที่จะรวบรวมเรื่องราวในพุทธประวัติ เพื่อทำเป็นภาพพระพุทธรูปนั่นเอง พระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ก็ต้องยกให้ "สมัยทวารวดี" ซึ่งได้รับอิทธิพลของศิลปะสมัยราชวงศ์คุปตะของอินเดียมาทำ แต่แรกเริ่มนั้น ไทยเรามีเพียง ๑๐ ปางเท่านั้น แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่ครบตามเรื่องในพุทธประวัติ จึงได้เกิดมีการคิดสร้างปางต่าง ๆ เพิ่มขึ้น

    พระพุทธรูปประจำวันเกิดนั้นอันที่จริงมีอยู่ด้วยกัน ๙ ปาง คือ วันอาทิตย์ (ปางถวายเนตร) วันจันทร์ (ปางห้ามสมุทร) วันอังคาร (ปางไสยาสน์) วันพุธ (ปางอุ้มบาตร) วันพุธกลางคืน (ปางป่าเลไลยก์) วันพฤหัสบดี (ปางสมาธิ) วันศุกร์ (ปางรำพึง) วันเสาร์ (ปางนาคปรก) ส่วนอีกปางหนึ่งนั้นไม่ได้กำหนดวัน คือ พระเกตุ (ปางสมาธิเพชร) โดยได้กำหนดให้ตรงกับดาวเคราะห์ทั้ง ๙ ดวง ในทางโหราศาสตร์ไทยแต่ดั้งเดิม ที่เรียกว่า "ภูมิทักษาพยากรณ์" แต่เรามีวันในแต่ละสัปดาห์เพียง ๗ วัน ดังนั้นคนทั่วไปจึงรู้จักกันอย่างแพร่หลายเพียง ๗ ปาง ส่วนอีก ๒ ปาง ที่กำหนดให้เป็นปางของคนเกิดวันพุธตอนกลางคืน คือพระราหู กับ พระเกตุที่กำหนดไว้ในภูมิทักษานั้น จึงมีคนรู้จักกันน้อยในบทความชิ้นนี้ จะได้นำเรื่องราวเกี่ยวกับพระประจำวันเกิดทั้ง ๗ วัน รวมทั้งคนเกิดวันพุธกลางคืน คือผู้ที่เกิดในวันพุธ ระหว่างเวลา๑๘.๐๐ น. ถึง ๐๖.๐๐ น. ของเช้าวันพฤหัสบดี ซึ่งโหราศาสตร์ถือเป็นอีกวันหนึ่ง คือ วันราหู มาให้รับทราบโดยละเอียด ขอได้โปรดติดตาม

    เหตุผลที่นำเอาพระปางต่าง ๆ มาเป็นพระประจำวันนั้น ไม่อาจสืบทราบได้แน่ชัด แม้สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ (พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดี) เอง ก็ยังทรงกล่าวแต่เพียงว่า " มีพระปางต่าง ๆ อีกอย่างหนึ่งกำหนดตามนพเคราะห์สำหรับบูชา เนื่องด้วยพิธีทักษา จะเกิดตำราขึ้นเมื่อใดหาทราบไม่ แต่มีอยู่ในสมุดตำราฉบับหลวงเล่มเดียวกับตำราพระพุทธรูป ๔๐ ปาง...." แต่สำหรับทัศนะในส่วนตัวของผู้เขียนนั้น พอจะเข้าใจเจตนารมย์ของคนรุ่นเก่าดีว่า ที่จัดให้พระพุทธรูปปางต่าง ๆ เข้าประจำวันเกิดนั้น คงต้องการให้ลูกหลานได้มีที่พึ่งทางใจในทางที่ถูกที่ควร หากจะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พวกเทวดา ภูติผี ปีศาจ ฯลฯ แล้ว ควรหันมาบูชาพระพุทธรูปดีกว่า จะได้เป็นการธำรงรักษาพระพุทธศาสนาอีกทางหนึ่ง เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ทำนองนั้น

    ในส่วนที่ว่า แล้วทำไมต้องเจาะจงว่า วันอาทิตย์ ต้องเป็นปางถวายเนตร วันจันทร์ ต้องปางห้ามญาติ ฯลฯ เหตุผลในส่วนนี้ หากเป็นคนที่ไม่ได้ศึกษาในทางโหราศาสตร์ ไม่เข้าใจความหมายของดวงดาวแล้ว ไม่มีวันเข้าใจหรอกครับ ว่าคนโบราณ บรรพชนของไทยเรานั้น เขาคิดอย่างไร ? สำหรับผู้เขียนที่ศึกษาโหราศาสตร์มานาน สนใจวิชาการทางพระพุทธศาสนามาแต่เล็กแต่น้อย ก็คงจะให้เหตุผลกับท่านผู้อ่านได้บ้างตามทํศนะส่วนตัวของผู้เขียน ส่วนท่านจะเชื่อหรือไม่ ? อย่างไร? ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละบุคคลเรื่องอย่างนี้ นา นา จิตตัง ครับ

    ก่อนที่จะนำเรื่องราวรายละเอียดของพระประจำวันต่าง ๆ มานำเสนอให้ทราบเป็นวัน ๆ ในแต่ละตอนนั้น ผู้เขียนใคร่จะขอชี้แจงให้ท่านผู้อ่านบางท่านที่ยังไม่ทราบว่า บทความของผู้เขียนที่เขียนมานั้นในบางชิ้นบางอัน ได้สอดแทรกหลักธรรมคำสอน ได้สอดแทรกเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ความเชื่อในด้านไสยศาสตร์ ลัทธิพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งมองผิวเผินแล้ว ไม่น่าจะเกี่ยวกับ "โหราศาสตร์" ให้สมกับคอลัมน์"โหราปริทรรศน์" สักเท่าไร ข้อนี้ หากท่านมองในมุมของท่านก็ถูกของท่านนะครับ แต่ถ้าหากมองในมุมของผม หรือของคนอื่นบ้าง ก็จะเข้าใจทันทีทันควันว่า เรื่องของโหราศาสตร์นั้น มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ มีมาก่อนพระพุทธศาสนาเสียอีก เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของคนตั้งแต่เกิดจนตาย อย่างเช่น ตอนเกิด ก็มีการโกนผมไฟ ถ้าเป็นหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ ก็มีพิธี "ยกพระอู่" หรือ พานอนในเปลครั้งแรกต่างจากชาวบ้านอีกต่างหาก พอโตขึ้นมาหน่อยคืออายุ ๑๓ ปี ก็มีการโกนผมจุก หรือหากเป็นกษัตริย์ ก็เรียกว่า "พระราชพิธีโสกันต์" จะแต่งงาน ก็ต้องดูฤกษ์ยาม, จะเดินทางไปธุระสำคัญหรือการออกทัพจับศึกก็ใช้ฤกษ์ยามอีก จะปลูกบ้าน ก็ต้องวางเสาเอก แม้ตอนตายแล้วยังต้องเลือกทำเลฝังศพตามแบบชาวจีน หรือหากฝังในป่าช้าแบบไทย ๆ ก็ต้องหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก หากจะเผาก็ห้ามเผาตรงกับวันศุกร์ ท่านว่าให้ทุกข์คนเป็น ฯลฯ เป็นต้น

    ด้วยเหตุที่โหราศาสตร์เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนดังกล่าว ดังนั้นบทความในโหราปริทรรศน์ จึงสามารถโยงใยไปได้ทุกเรื่อง เรียกว่า "ครอบจักรวาล" ดังที่ผู้อ่านท่านหนึ่งเขียนบอกมา ก็เห็นจะจริงดังว่า เพราะครู-อาจารย์ทางด้านโหราศาสตร์ ท่านก็เคยกล่าวเอาไว้เช่นกันว่า "สรรพสิ่งใดใดในโลกนี้ ล้วนถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของดวงดาว " อย่างบทความในเรื่อง "พระประจำวันเกิด" ที่ท่านได้อ่านในตอนนี้ เป็นเรื่องพระพุทธศาสนา ความเชื่อ เข้าโยงใยกับโหราศาสตร์ และพิธีกรรมต่าง ๆ ผสมกลมกลืนกันอย่างไม่น่าเชื่อ และเป็นไปได้ แต่ก็เป็นไปแล้ว การบูชาพระประจำวันเกิด คนโบราณหรือครูบาอาจารย์สอนไว้ว่า จะเป็นอุดมมงคลอันสูงยิ่งของชีวิต หากบูชาได้ครบทุกปางด้วยแล้ว ก็จะส่งอานิสงส์ผลบุญขึ้นเป็นหลายเท่าทวีคูณ เวลามีเคราะห์หามยามร้าย ก็จะช่วยปัดเป่าภัยพิบัติให้รอดพ้นอย่างน้อยก็กลับร้ายกลายเป็นดี ผ่อนหนักเป็นเบาได้

    มีท่านผู้รู้หลายท่านเวลาจะให้ใครไปสะเดาะเคราะห์ ก็บอกให้ไปทำบุญใส่บาตรพระประจำวัน หรือประจำดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ ปาง หากจะถวายสังฆทาน ก็ให้นำพระพุทธรูปประจำวันเกิดของตนไปถวายด้วย ดังนั้นตามวัดไทยต่าง ๆ ทุกวัดในเมืองไทย แม้แต่ในอเมริกา จึงมักจะจัดเตรียมพระประจำวันดังกล่าวเอาไว้ที่วัด เพื่อให้คนทำบุญสะเดาะเคราะห์ ส่วนผลที่จะได้รับนั้นจะเห็นผลจริง หรือไม่ประการใดก็ต้องว่ากันไปอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่แน่ ๆ เท่าที่สอบถามจากผู้ที่ไปทำบุญสะเดาะเคราะห์ด้วยวิธีดังกล่าว ผลที่ได้รับอันดับแรกก็คือ "ความสบายใจ" ไงครับ

    <center>-End-</center>
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • buddha7.jpg
      buddha7.jpg
      ขนาดไฟล์:
      43.7 KB
      เปิดดู:
      297
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 24 กุมภาพันธ์ 2005

แชร์หน้านี้

Loading...