ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ฉบับสมบูรณ์ โดยพระอาจารย์วิริยังค์

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 7 ตุลาคม 2013.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    การผจญอันตรายภายใน (ต่อ)

    เมื่อท่านสงลัยแล้วก็ได้เลิกพิจารณาในวันนั้น

    อยู่มาวันหนึ่งท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็ได้มาเที่ยวที่เขาพระงาม ลพบุรี เพราะโดยปรกติแล้วท่านจะไปที่นี่บ่อยๆ ซึ่งท่านชอบสถานที่นี้มาก จนภายหลังท่านได้สร้างพระใหญ่ หน้าตักกว้างถึง ๑๒ วากว่า และวันนั้นเป็นวันที่ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ได้มาที่เขาพระงามตามปกติ ซึ่งขณะนั้นท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็ได้พักบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ณ ที่นั้นเหมือนกัน เมื่อได้ทราบว่าท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ มา ท่านก็ไปนมัสการและได้สนทนาปราศรัยตามปกติ เมื่อได้สนทนาเรื่องอื่นไปพอสมควรแล้ว ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้ถามขึ้นว่า

    “เมื่อคืนวันที่ ๑๐ ค่ำที่แล้ว คือเดือน ๘ นั้น ท่านเจ้าคุณนั่งสมาธิอยู่ที่ศาลาเหลือง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ ๒๓.๐๐ น. เศษ ได้พิจารณาถึงปฏิจสมุปบาท หวนกลับไปกลับมา แล้วเกิดความสงสัยขึ้นมาตอนหนึ่งใช่ไหมครับ”

    ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เมื่อได้ฟังคำถามเช่นนั้นถึงกับตกตะลึง ไม่นึกเลยว่าท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านจะมาล่วงรู้ถึงการพิจารณาของเราที่ได้พิจารณาด้วยตัวเองโดยมิได้บอกให้ใครรู้เลย

    ท่านจ้าคุณอุบาลีฯ จึงพูดถามอาจารย์มั่น ฯ ว่า

    “ก็ท่านอาจารย์ว่าอย่างไรเล่า ที่ผมสงสัย อธิบายให้ผมฟังบ้างได้ไหม ?”

    ท่านอาจารย์มั่นจึงตอบว่า “ได้” แล้วท่านก็ได้อธิบายถวายท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ว่า

    “ปฏิจสมุปบาท ข้อที่ว่าวิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปนั้นแล ในนามรูปก็มีทั้งวิญญาณและสังขาร ซึ่งมันจะมีการแตกต่างกันดังนี้ คือ

    สังขาร วิญญาณ ที่ต่อจากอวิชานั้น เรียกว่าสังขารกรรม วิญญาณกรรม แตกต่างกับสังขาร-วิญญาณ-ของนามรูป

    สังขารวิญญาณของนามรูปนั้น เป็นสังขารวิญญาณวิบาก เนื่องจากเป็นการปรุงแต่งที่สำเร็จรูปแล้ว สังขารกรรม วิญญาณกรรม เป็นการปรุงแต่งที่กำลังทำอยู่ คือว่า สังขารกรรม วิญญาณกรรม เป็นภาวะที่ไม่เป็นอิสระอยู่ภายใต้อำนาจของกรรม มี (อวิชชา) เป็นหางเรือใหญ่ อาศัยสังขารการปรุงแต่ง อาศัย วิญญาณความรู้สึกในขณะที่กำลังปรับปรุงภพ อันจะเป็นแนวทางแห่งการก่อให้เกิด ซึ่งในขณะนั้นจิตเป็นประธาน อาศัยสังขารปรุงแต่ง อาศัยวิญญาณความรู้สึก ในขณะที่กำลังปรุงภพ อันจะต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของสังขารกรรม วิญญาณกรรม ทั้ง ๒ นั้นสืบเนื่องมาจากจิต ณ ที่นี้จึงแล้วแต่กรรมจะจำแนกไป คือให้สังขารและวิญญาณนี้เห็นดีไป เมื่อเห็นดีไปอย่างไร จิตก็จะไปตั้งก่อให้เกิดไปตามนั้นเพราะที่นี้จึงเป็นสถานที่กำลังปรุงแต่งภพ ถ้าพิจารณาแล้วจะรู้สึกมันละเอียด และพึงจะรู้จริงได้ต่อเมื่อจิตได้ดำเนินตามอริยสัจจ และเป็นวิปัสสนาอันแก่กล้าแล้วนั้นทีเดียว

    ที่กระผมได้อธิบายมานี้เป็นสักแต่แนวทางเท่านั้น ตามความเป็นจริงต้องมีตาภายในคือกระแสจิต กระแสธรรมเท่านั้น ที่จะเขาไปรู้จริงได้”

    เมื่อท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ได้ฟังดังนั้นก็ถึงกับอุทานขึ้นว่า

    “อ้อ เราเข้าใจแล้ว ท่านอาจารย์รู้ใจผมได้ดีมาก และถูกต้องทุกประการ และแก้สงสัยให้ผมได้ราวกับปลิดทิ้ง ผมพยายามพิจารณาเรื่องนี้มานาน แต่ยังไม่แจ่มแจ้ง พึ่งจะแจ่มแจ้งในเวลานี้เอง”

    หลังจากนั้นท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็ได้เดินทางกลับไปกรุงเทพฯ อยู่ที่วัดบรมนิวาสนั้น ท่านเจ้าคุณก็ได้ประกาศความดีของท่านอาจารย์มั่นฯ ให้แก่พระภิกษุสามเณรทั้งหลายฟังว่า

    “ท่านอาจารย์มั่นฯ เป็นอาจารย์กัมมัฏฐานที่มีความสามารถมากที่สุดในยุคนี้ ถ้าใครต้องการจะศึกษาธรรมปฏิบัติแล้ว จงไปศึกษากับท่านอาจารย์มั่น ฯ เถิด เธอทั้งหลายจะได้ความรู้จากธรรมปฏิบัติอันลึกซึ้งจากท่านอาจารย์มั่น ฯ”

    ท่านเจ้าคุณอุบาลีได้กล่าวเช่นนี้กับพระภิกษุสงฆ์สามเณรทั้งหลายอยู่เสมอๆ ทำให้พระภิกษุสามเณรผู้ใคร่การปฏิบัติธรรม สนใจในท่านอาจารย์มั่นฯ มากขึ้น ต่างก็ต้องการจะไปศึกษาปฏิบัติธรรมกับท่าน

    ในปีนั้นเป็น พ.ศ. ๒๔๕๗ ท่านก็ได้รับการขอร้องจากท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ให้จำพรรษาที่กรุงเทพ ฯ ท่านได้เลือกเอาวัดสระปทุมเป็นที่จำพรรษา เพราะเป็นวัดที่สงบสงัดดี
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    การผจญอันตรายภายใน (ต่อ)

    [​IMG]


    ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดสระปทุม ท่านก็พยายามมาที่วัดบรมนิวาสทุกๆ วันธรรมสวนะ ฟังท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เทศน์ พอหลังจากฟังเทศน์แล้ว ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็จะให้เข้าไปหาท่านอยู่ ๒ ต่อ ๒ และขอศึกษาธรรมปฏิบัติกับท่านอาจารย์มั่นฯ ตลอดระยะเวลาพรรษา ในตอนนี้ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านเล่าว่า

    “วัดสระปทุมมีอาจารย์สอนกัมมัฏฐานอยู่องค์หนึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงมาก ท่านสอบแบบอานาปานสติ คือให้ตั้งใจอยู่ที่ลมแล้วก็กำหนดตั้งไว้ เช่นครั้งแรกให้ตั้งอยู่ที่กระหม่อม เมื่อดีแล้วก็ลดลงมาที่หน้าผาก เมื่อดีแล้วก็ให้ตั้งอยู่ที่ปลายจมูก เมื่อดีแล้วก็ให้ตั้งอยู่ที่หน้าอก เมื่อดีแล้วก็ให้ตั้งอยู่ที่สะดือ กำหนดลม พร้อมกับบริกรรมว่า พุทโธๆ ให้นับพุทธ ๑-๒-๓-๔-๕-๖-๗-๘-๙-๑๐-๒๐-๓๐-๔๐-๕๐-๖๐-๗๐-๘๐-๙๐-๑๐๐ แล้วทวนกลับ ๑๐๐-๙๐-๘๐-๗๐-๖๐-๕๐-๔๐-๓๐-๒๐-๑๐-๔-๓-๒-๑ ทวนไปทวนมา ท่านได้สังเกตดู คนบางคนได้รับความเย็นใจมากพอสมควร นับว่าเป็นทางที่ให้เกิดความสงบได้

    แต่ท่านเล่าว่ามันเป็นการเกินความจำเป็นที่จะกำหนดเช่นนั้น เพราะเมื่อเรามีความสงบแล้วก็ควรปล่อย แล้วรักษาแต่สติให้คงอยู่ ไม่ต้องนับ แต่เมื่อท่านสังเกตดูเหตุการณ์แล้ว ท่านก็ไม่ว่าหรือตำหนิอะไรในที่นั้น แม้เขาจะทำอยู่เช่นนั้นก็ไม่เห็นบาปกรรมอะไร เป็นกุศลแก่เขาอย่างมากมายอยู่แล้ว เมื่อผู้ใดบำเพ็ญภาวนาก็เป็นเหตุ เป็นบ่อเกิดกุศลผลบุญอย่างที่บุคคลจะพึงกระทำได้ยาก

    การที่ท่านเดินไปวัดบรมนิวาสทุกวันพระนั้น แม้เส้นทางจากวัดสระปทุมดูเหมือนก็จะไกลมิใช่น้อยแต่กลับเป็นใกล้ เพราะขณะที่เดินไป ท่านภาวนาไปด้วย

    ในวันหนึ่งขณะที่ท่านกำลังเดินไปนั้น กำหนดจิตสงบลง ปรากฏว่าเหมือนกับแผ่นดินยุบลงไป แลดูไปทุกอย่างที่ไม่มีอะไรที่จะถือได้ว่าตัวตน เดินเหมือนกับชั่วอึดใจเดียวก็ถึงวัดบรมนิวาส

    ในวันนั้นเป็นเวลากลางวัน ขณะที่ท่านเดินออกจากวัดบรมนิวาสไปถึงถนนหลวง ขณะที่กำลังเดินไปอยู่นั้น ท่านเล่าว่า เวลาจิตกำลังดูดดื่มในอรรถปฏิบัติมาก ทั้งเดินไปทั้งเจริญอสุภกัมมัฏฐานไปเรื่อย ๆ ขณะนั้นได้มองเห็นผู้หญิงแขกคนหนึ่งกำลังเดินอยู่ข้างหน้า ประเดี๋ยวเดียวผู้หญิงแขกคนนั้น ปรากฏว่ามีร่างกายอ้วนขึ้นทุกที นึกแปลกใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แต่ก็ได้มองดูไปเรื่อย ๆ หนักเข้า มันมิใช่อ้วนเสียแล้วนั้นคือทั้งตัวกำลังพองเน่าขึ้นอืด อันจะให้เป็นของน่าเกลียดนั้นเอง พอมันขึ้นเต็มที่ของมันแล้วก็เปื่อยเน่า มีน้ำเลือดและน้ำหนองไหลเยิ้มไปทั้งตัว แล้วมีพวกหมู่หนอนชอนไชและแมลงวันไต่ตอมไปมา น่าเกลียดจริง ๆ ในที่สุดเลือดเนื้อและหนังเอ็นก็ได้เปื่อยเน่าย่อยยับไปหมด เหลือแต่โครงกระดูกติดต่อกันไว้เท่านั้น แล้วก็ได้เห็นโครงกระดูกนั้นเดินไปได้ จะปรากฏเป็นชายหรือหญิงก็หาไม่ จึงได้เกิดความอัศจรรย์เป็นอย่างมาก”

    ทั้งนี้ก็เพราะท่านมิได้ตั้งใจที่จะพิจารณาให้ร่างกายนั้นเป็นอสุภอะไร เพียงเพียงมองดูธรรมดา ๆ เท่านั้นแต่มันก็สามารถเป็นไปได้ จึงได้นึกถึงประวัติของพระเถระองค์หนึ่งในครั้งพุทธกาล นัยว่าท่านกำหนดเอากายคตาสติเป็นอารมณ์เหมือนกัน

    วันหนึ่งขณะที่ท่านกำลังเดินอยู่นั้น สามีภรรยาคู่หนึ่งเกิดทะเลาะกัน ฝ่ายภรรยาก็หลบหน้าสามีไป ได้เดินทางผ่านมาพบกับพระเถระองค์นั้นเข้า เบื้องต้นหญิงคนนั้นก็ได้แสดงอาการยิ้มแย้มไปบ้าง พระเถระเมื่อมองไปเห็นฟันของหญิงคนนั้นเข้าแล้ว ได้ปรากฏเห็นเป็นร่างกระดูกไปทั้งตัว แล้วก็เห็นเป็นร่างกระดูกเดินได้ จึงมิได้รู้จักว่าคน ๆ นั้นเป็นหญิงหรือชาย

    ครั้นเมื่อสามีเขาตามมาพบพระเถระแล้วถามท่านว่า ได้พบผู้หญิงคนหนึ่งเดินผ่านมาทางนี้หรือไม่ ท่านจึงบอกเขาไปว่าได้เห็นแต่ร่างกระดูกร่างหนึ่งเดินผ่านไปแต่ไม่ทราบว่าเป็นหญิงหรือชาย

    ตั้งแต่วันนั้นต่อมาท่านจึงได้รู้เรื่องว่าการเจริญอสุภะ เมื่อเป็นไปแก่กล้าแล้ว สามารถเห็นเป็นอสุภะไปได้ทั้งนอกและใน จึงได้หมดความสงสัยในเรื่องนี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

    ท่านอาจารย์มั่นฯท่านเล่าให้ฟังว่า

    “ตามข้างทางจากวัดบรมนิวาสไปวัดสระปทุมในสมัยนั้น บนทุ่งนาบ้าง เป็นสวนบ้าง แม้แต่ที่วัดบรมนิวาสเอง ก็มีแต่หนามหวายเกิดอยู่เต็มบริเวณ”

    ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ หลังจากท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้จำพรรษาที่กรุงเทพฯ ในปีนั้นแล้ว ท่านก็พิจารณาภายในพรรษานั้นว่า เราควรจะได้แนะนำสั่งสอนธรรมปฏิบัติที่เราจะได้รู้ ได้เห็นมา ซึ่งเป็นธรรมที่ยากนักจะรู้ได้ เราอุตส่าห์พยายามมาเป็นเวลานับสิบๆ ปี ควรจะได้แนะนำบรรดาผู้ที่ควรแก่การปฏิบัติให้ได้รู้และจะได้แนะนำกันต่อ ๆไป

    ครั้นเมื่อออกพรรษาแล้วท่านก็ได้ลาท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ กลับไปจังหวัดอุบล ฯ จำพรรษาที่วัดบูรพา ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ นั้น ท่านมีพรรษาได้ ๒๕ พรรษา ขณะที่ท่านจำพรรษาอยู่นั้น ท่านก็พิจารณาว่า ใครหนอจะเป็นผู้ควรแก่การสั่งสอน
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    การผจญอันตรายภายใน (ต่อ)

    ในขณะนั้นท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นครูสอนนักเรียนอยู่เหมือนกับครูอื่น ๆ เป็นครูที่สอนวิชาสามัญแก่นักเรียนเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว ท่านอาจารย์สิงห์ ท่านได้ยินกิตติศัพท์ว่า ท่านอาจารย์มั่นฯ เป็นพระนักปฏิบัติที่เคร่งครัดมาก ก็ใคร่ที่จะได้ศึกษาธรรมปฏิบัติ ในวันหนึ่งหลังจากเลิกสอนนักเรียนแล้ว ท่านก็ได้ไปนมัสการท่านอาจารย์มั่นฯ ที่วัดบูรพา ขณะนั้นเป็นเวลา ๑ ทุ่มแล้ว เมื่อเข้าไปเห็นท่านอาจารย์มั่นฯ กำลังเดินจงกรมอยู่ ท่านก็รออยู่ครู่ใหญ่ จนท่านอาจารย์เลิกจากการเดินจงกรม เหลือบไปเห็นท่านอาจารย์สิงห์ซึ่งนั่งอยู่ที่โคนต้นมะม่วง ท่านจึงได้เรียกและพากันขึ้นไปบนกุฏิ หลังจากท่านอาจารย์สิงห์กราบแล้ว ท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็ได้พูดขึ้นว่า

    “เราได้รอเธอมานานแล้ว ที่อยากจะพบและต้องการชักชวนให้ปฏิบัติธรรมด้วยกัน”

    เมื่อได้ยินเช่นนั้น ท่านอาจารย์สิงห์ถึงกับตกตะลึง เพราะท่านได้ทราบจิตใจของท่านอาจารย์สิงห์มาก่อน เนื่องจากท่านอาจารย์ได้ตั้งใจมาหลายเวลาแล้วที่จะขอมาพบกับท่าน เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ปฏิบัติธรรมด้วย พอท่านอาจารย์สิงห์ฯ ได้ฟังเช่นนั้นก็รีบตอบท่านไว้ว่า

    “กระผมอยากจะปฏิบัติธรรมกับท่านมานานแล้ว”

    กล่าวจบท่านอาจารย์มั่น ฯ จึงได้อธิบายให้ฟังว่า

    “การบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์นั้นจักต้องปฏิบัติกัมมัฏฐาน คือพิจารณา ตจปัญจกกัมมัฏฐาน เป็นเบื้องแรกเพราะเป็นหนทางพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงตรัสรู้ธรรมด้วยการปฏิบัติอริยสัจจธรรม ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค”

    เมื่ออธิบายไปพอสมควร ท่านก็แนะนำวิธีนั่งสมาธิ ท่านอาจารย์มั่น ฯ เป็นผู้นำนั่งสมาธิในตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง ท่านอาจารย์สิงห์ก็เกิดความสงบ แล้วจิตสว่างไสวขึ้นทันที เป็นการอัศจรรย์ยิ่ง ภายหลังจากนั่งสมาธิเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้อธิบายถึงวิธีพิจารณากาย โดยใช้กระแสจิตพิจารณาจนเป็นที่พอใจแล้ว ท่านอาจารย์สิงห์ก็ได้ลากลับไป

    จากนั้นมาท่านก็พยายามนั่งสมาธิทุกวัน จนเกิดความเย็นใจเกิดขึ้นเป็นลำดับ อยู่มาวันหนึ่งท่านอาจารย์สิงห์ก็ไปสอนนักเรียนตามปรกติ ซึ่งเด็กนักเรียนในสมัยนั้น เรียนรวมกันทั้งชายและหญิง และอายุการเรียนก็มาก ต้องเรียนถึงอายุ ๑๘ ปี เป็นการบังคับให้เรียนจบ ป. ๔

    ขณะที่ท่านกำลังสอนนักเรียน มองดูเด็กนักเรียนเห็นแต่โครงกระดูกนั่งอยู่เต็มห้องไปหมด ไม่มีหนังหุ้มอยู่เลยสักคนเดียว จำนวนนักเรียนประมาณ ๓๘ คนได้มองเห็นเช่นนั้นไปหมดทุกคนเลย แม้ท่านจะพยายามขยี้ตาดูก็เห็นเป็นเช่นนั้น ที่สุดก็เกิดความสังเวชใจขึ้นแก่ท่านเป็นอย่างมาก แล้วก็เกิดความเบื่อหน่ายต่อสังขารเป็นอย่างยิ่ง. จึงนับเป็นสิ่งมหัศจรรย์นัก เพราะธรรมดาปฏิภาคนิมิตต้องเกิดในขณะหลับตาอยู่ในฌานจริง ๆ แต่ท่านกลับเห็นทั้งหลับคาและลืมตา อาการที่ท่านเห็นเป็นอยู่เช่นนั้นเป็นเวลานาน จนนักเรียนพากันสงสัยว่า ทำไมครูจึงนั่งนิ่งอยู่เช่นนั้น ทุกคนเงียบกริบ เวลาได้ล่วงไปนานโขทีเดียว ตาของท่านจึงค่อยปรากฏเห็นร่างของเด็ก นักเรียนในชั้นเหล่านั้นมีเนื้อหนังขึ้นจนปรากฏเป็นปรกติ หลังจากนั้นท่านก็พูดกับเด็กนักเรียนทั้งหลายเป็นการอำลาว่า

    “นักเรียนทุกคน บัดนี้ครูจะได้ขอลาออกจากความเป็นครูตั้งแต่บัดนี้แล้ว เนื่องจากครูได้เกิดความรู้ในพระพุทธศาสนา ได้เห็นความจริงเสียแล้ว”

    เมื่อได้ล่ำลาศิษย์ของท่านเสร็จ ท่านก็จัดกลด อัฐบริขารของพระธุดงค์ออกจากวัดเดิมที่ท่านอยู่ ติดตามท่านอาจารย์มั่นฯ ไปทุกหนทุกแห่ง เพื่อบำเพ็ญสมณธรรมให้ยิ่ง จนกระทั่งได้เห็นอรรถธรรมที่ควรรู้ควรเห็น
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    การผจญอันตรายภายใน (ต่อ)

    [​IMG]


    ในปีนี้เองท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้คิดถึงพระกรรมวาจาจารย์ของท่านคือพระครูสีทา ชยเสโน เพราะหลังจากท่านได้พบกับความจริงแห่งการปฏิบัติแล้วนั้น ท่านใคร่จะให้อาจารย์ของท่านได้รับแสงสว่างแห่งธรรมนี้บ้าง ในวันหนึ่ง ท่านจึงได้เข้าไปนมัสการที่วัด และพูดขอโอกาสที่จะเล่าความจริงแห่งการปฏิบัติธรรมถวาย เมื่อท่านพระครูให้โอกาสท่านเล่าถวายแล้ว ท่านอาจารย์มั่น ฯ จึงได้เริ่มเล่าความจริงที่ท่านได้ประสบมา ในขณะที่ท่านบำเพ็ญกัมมัฏฐานอยู่ที่ถ้ำไผ่ขวาง น้ำตกสาริกานั้นว่า

    “การปฏิบัตินี้เป็นทางที่จะเห็นทางพาให้พ้นทุกข์ คือมรรค ๘

    มรรค ๘ ข้อต้นนั้น ได้แก่สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เห็นชอบ เห็นอะไร เห็นอริยสัจ ๔

    อริยสัจ ๔ คืออะไร คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

    มรรคคือ มรรค ๘ ฉะนั้นเมื่อปฏิบัติสัมมาทิฏฐิข้อเดียว จึงเท่ากับปฏิบัติทั้งหมด ๘ ทุกข์คืออะไร คือ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ใครคือผู้เกิดผู้ตาย ร่างกายของเรานี้ ฉะนั้นร่างกายของเรานี้จึงเป็นตัวทุกข์ เพราะจิตเข้าไปยึดมั่น

    การบำเพ็ญจิตให้สงบจนเกิดกำลังแล้ว ก็ไม่ควรที่จะทำความสงบอย่างเดียว เพราะถ้าทำแต่ความสงบไม่พิจารณาทุกขสัจจ์ ก็จะเป็นเฉพาะฌาน ก็จะเป็นมิจฉาสมาธิ เป็นสมาธิผิดไม่พ้นทุกข์ ต้องพิจารณาทุกข์จึงจะพ้นทุกข์ คือต้องใช้กระแสจิตที่เป็นกำลังอันเกิดจากความสงบนั้นมาพิจารณา เพราะกระแสจิตนี้ได้รับการอบรมจากสมาธิแล้วเป็นกำลังมหาศาล ซึ่งไม่ควรนำไปใช้ทางอื่นเสีย ควรใช้พิจารณาตัวทุกข์ คือร่างกายนี้ให้เห็นชัดเจนจนกระทั่งเกิดนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่าย เจริญให้มาก กระทำให้มาก ญาณเกิดขึ้นจนกว่าจะแก่รอบ

    เมื่อท่านพระครูได้ฟังแล้ว ท่านก็เกิดความเลื่อมใสว่า

    ธรรมเช่นนี้ แม้เราที่ได้เรียนมาแล้วแต่ไม่เข้าใจ เพราะปริยัตินั้นเพียงแต่เรียนพอเข้าใจ แต่ไม่รู้วิธีการที่ใช้ คราวนี้รู้วิธีการที่จะทำอะไรกับสิ่งนั้นแล้ว เอาละเราขอขอบใจเธอมาก

    ท่านอาจารย์มั่นฯ เมื่อได้สนทนากับท่านอาจารย์ของท่านพอสมควรแล้วก็ลากลับไป

    เมื่อท่านพระครูได้บำเพ็ญกัมมัฏฐาน ตามแนวของท่านอาจารย์มั่นฯ มาเป็นเวลานาน ครั้นแล้ววันหนึ่งก็เกิดความอัศจรรย์ขึ้น ซึ่งสามารถพิจารณาเห็นกายและเกิดนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่าย และสามารถทวนกระแสจิต เห็นตัวผู้รู้ผู้เห็นตามความเป็นจริงแล้ว สิ้นกังขาความสงสัยในใจซึ่งสัตถุศาสนา จึงได้ให้พระไปนิมนต์พระอาจารย์มั่นฯ มาพบและเล่าให้ฟัง

    ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ว่า ทำถูกแล้ว ต่อไปนี้ก็ขอให้เจริญให้มาก เมื่อพอเพียงแก่ความต้องการแล้วก็จะพึงรู้เอง

    เมื่อท่านพระครู ฯ ได้ให้ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้รู้เห็นเป็นพยานในการเห็นธรรมในกาลนั้นแล้วท่านได้รำพึงว่า

    ศิษย์ของเราองค์นี้นับว่าเห็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีมากเหลือเกิน เพราะเมื่อได้รู้ได้เห็นธรรมอันแท้จริงแล้วก็ไม่ลืมครูบาอาจารย์ อุตส่าห์มาแนะนำให้เราได้รู้ได้เห็น และเป็นการถูกต้องแม้เราเป็นพระผู้เฒ่า เป็นถึงอาจารย์ถ้าจะพึงมัวถือแต่มานะทิฏฐิก็คงไม่สามารถฟังธรรมจากศิษย์ที่มีความสามารถในธรรมได้ แต่ก็ดีที่มีศิษย์เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ได้เป็นประโยชน์แก่ชนบทเป็นอันมาก อันว่าศิษย์นั้นถ้าดี ผู้เป็นครูเป็นอาจารย์ก็พลอยได้รับเกียรติและชื่อเสียงตามไปด้วย นี่ก็เป็นเช่นนั้น

    ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธรรมโดยทั่วไป สุดแล้วแต่ผู้ใดจะมีความสามารถ เมื่อผู้มีความสามารถมากก็แนะนำบอกกล่าวแก่ผู้มีความสามารถน้อย ก็จะทำให้สัตถุศาสนากว้างขวางออกไป มิใช่ว่าใครจะว่าเราใหญ่เราโต เป็นอาจารย์เป็นอุปัชฌาย์ เรามียศถาบรรดาศักดิ์แล้วนำเอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นเครื่องกีดขวางการที่จะศึกษาหาธรรมอันยิ่งให้ตน นี่เป็นทางเสื่อมเสียแก่ตน และผู้อื่นอย่างใหญ่หลวง แต่เราเองมิได้คิดเช่นนั้น เราได้ตั้งหน้าตั้งตาบำเพ็ญสมณธรรมตามที่ศิษย์ของเราแนะนำให้จนเกิดผล และเราเองบัดนี้ก็จะสามารถสอนใครต่อใครให้ดำเนินตามแนวนี้ อันเป็นทางถูกต้องแก้ความสงสัยได้
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    การผจญอันตรายภายใน (ต่อ)

    ขณะนั้นท่านอาจารย์มั่นฯ เห็นท่านพระครูฯ นั่งนิ่งเฉยอยู่นาน ท่านก็เลยอำลากลับ

    และในปีนี้เองท่านก็ได้พบโยมมารดาของท่าน ซึ่งท่านได้ตั้งใจไว้ว่าท่านจะโปรดโยมด้วยธรรมทั้งหลายที่รู้มาแล้ว ท่านจึงเดินทางไปพบกับโยมที่บ้านตำบลบ้านบง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลฯ

    เมื่อโยมได้เห็นท่านก็มีความดีอกดีใจมาก เพราะท่านได้จากไปเสียนาน เมื่อท่านได้ปราศรัยเล่าถึงการเดินทางธุดงค์ ทั้งในและต่างประเทศตลอดจนได้แสงสว่างแห่งธรรมได้แก่โยมฟัง จนเป็นที่พอใจแล้ว ท่านก็ย้อนมาพูดถึงการปฏิบัติ โดยขอร้องให้โยมพยายามปฏิบัติจิต อันเป็นทางแห่งความพ้นทุกข์ ทางโยมมารดาก็ตกลงที่จะปฏิบัติตามที่ได้แนะให้

    นับแต่ที่ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้แนะนำให้แล้ว โยมมารดาก็ได้มีความสนใจเป็นกรณีพิเศษ ได้ทำตามคำแนะนำทุกประการ และจิตก็เป็นไปได้ตามจริงที่เกิดขึ้น ได้รับความเย็นใจมีศรัทธาแก่กล้า ลาลูกหลานออกบวชเป็นชี โดยมีท่านอาจารย์เสาร์บวชให้

    ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านเล่าว่า

    โยมมีความเพียรมาก แม้ว่าจะแก่แล้วก็ตาม อธิษฐานนอนตะแคงข้างขวาตลอดชีวิต มีการเดินธุดงค์ไปในที่กันดารเช่นเดียวกับพระสงฆ์ รับประทานอาหารเพียงมื้อเดียวตลอดชีวิต มีความเพียรมั่นคงไม่ท้อถอย แม้แต่ท่านอาจารย์มั่น ฯ เองก็ชมว่ามารดาของท่านมีความเพียรแก่กล้า

    หลังจากที่โยมได้บำเพ็ญกัมมัฏฐานตามคำแนะนำของท่านอาจารย์มั่นฯ มาหลายปี ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ทราบว่า อินทรีย์ของการอบรมจิตได้แก่กล้าแล้ว ท่านได้แนะนำวิธีสุดท้ายคือ

    การบำเพ็ญวิปัสสนาญาณให้เกิดความแก่รอบของญาณโดยอุบาย ซึ่งท่านได้ยกตัวอย่างของ ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เมื่ออินทรีย์แก่กล้าแล้วพระพุทธองค์ได้ทรงให้ปัญจวัคคีย์ พิจารณา รูป เวทนา เป็นต้น โดยปัญญาตามความเป็นจริง ปัญญาในที่นี้ได้แก่ ญาณ หรือความรู้อันเกิดจากกระแสธรรมอันยิ่ง

    โยมมารดาของท่านได้รับการอบรมมากแล้ว ก็พิจารณาตามนั้น จนเป็นที่พอแก่ความต้องการ โดยการเจริญให้มากกระทำให้มาก มีความรู้ความสามารถทวนกระแสจิตเข้าถึงซึ่งฐิติภูตัง และเจริญต่อไปจนเป็นการพอโดยการอบรมเป็นอินทรีย์ บังเกิดความรู้แจ่มแจ้ง ตัดความสงสัยแล้วโดยสิ้นเชิง และได้ออกอุทานต่อหน้าพระอาจารย์มั่นฯ ว่า

    “เราหายสงสัยแล้ว เราจะไม่มาเกิดอีกแล้ว”

    จึงนับว่าเป็นที่พอใจของท่านอาจารย์มั่น ฯ เป็นอย่างยิ่ง แล้วท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้บอกแก่โยมมารดาของท่านว่า

    “บัดนี้อาตมาภาพได้ทดแทนบุญคุณของคุณโยมหมดแล้ว เป็นการทดแทนที่ได้สิ้นสุดลงเป็นการสุดท้าย”

    จากนั้นท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้พยากรณ์มารดาของท่านกับพระบางองค์ว่า

    “มารดาของท่านได้เป็นอริยบุคคลชั้นที่ ๓” ( ตามคำบอกเล่าของท่านอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ) หลังจากนั้น เมื่อสังขารของโยมแก่หง่อมแล้ว ความชราเข้าครอบงำ ลูกหลานขอให้รับประทานอาหารในตอนเย็นก็ไม่ยอม โยมมารดาของท่านพูดว่า “เราต้องมีศีล ๘ เป็นวิรัติตลอดชีวิตของเรา” เมื่อถึงกาลที่โยมมารดาของท่านจะสิ้นชีวิต ท่านก็ได้บอกถึงวัน เดือน ปี เวลาบ่าย ๓ โมงเย็นว่าจะถึงแก่กรรม เมื่อถึงกาลนั้นก็ได้ถึงแก่กรรมตามที่พูดไว้ด้วยความสงบจริง ๆ ในตอนสุดท้ายเมื่อท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้ทราบวันเวลาแล้วท่านก็ได้ไปทำฌาปนกิจศพมารดาของท่านด้วยตัวท่านเอง

    ส่วน ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งได้พำนักอยู่ที่วัดสุทัศนาราม ในเมืองอุบลราชธานี ได้ออกจากการเป็นครูแล้ว เพราะผลแห่งการปฏิบัติธรรมที่ได้รับการแนะนำจากท่านอาจารย์มั่นฯ ซึ่งปรากฏว่าได้รับผลเป็นที่น่าพึงพอใจเป็นอย่างยิ่ง

    ในระหว่างเดือนเดียวกันนั้น พระปิ่น ปญฺญาพโล ผู้เป็นน้องชายของท่านก็พลอยได้ไปศึกษาด้วย และได้เกิดความเลื่อมใสในอุบายทางด้านการปฏิบัติพอสมควร ท่านอาจารย์สิงห์ได้ตกลงใจอย่างแน่วแน่ ในการเปลี่ยนจากพระปริยัติเป็นพระธุดงค์เพื่อติดตามท่านอาจารย์มั่นฯ ต่อไป ส่วนพระปิ่นเป็นผู้น้องชายขอลาไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ โดยปฏิญาณว่าจะขอศึกษาสัก ๕-๖ ปี แล้วจึงจะลาออกปฏิบัติตามภายหลัง เมื่อท่านพักศึกษาอยู่ที่วัดบวรนิเวศฯ ครบกำหนด ๕ ปี และสอบได้เปรียญ ๕ ประโยคแล้ว ก็ได้ออกไปปฏิบัติตามคำปฏิญาณของของท่านจริงๆ โดยติดตามท่านอาจารย์ไปทุกหนทุกแห่ง ตามป่าเขาอันเป็นสถานที่วิเวก

    ในสมัยนั้นพระเปรียญที่ออกเที่ยววิเวกธุดงค์กัมมัฏฐาน ท่านนับว่าเป็นองค์แรก ซึ่งแต่กาลก่อนนานมาแล้วไม่เคยมีปรากฏเลย นับเป็นศุภนิมิตที่ดีอย่างยิ่ง เมื่อท่านออกธุดงค์คราวนี้ ท่านก็ได้นามว่า พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ขณะนั้นท่านมีอายุ ๓๐ ปี พรรษาที่ ๘

    ในคราวเดียวกันกับที่ท่านออกธุดงค์ในคราวนั้น มีพระที่ออกธุดงค์ไป เพื่อจะศึกษากับท่านอาจารย์มั่นฯ ด้วยกัน ๓ องค์เท่านั้น คือ

    ๑. พระอาจารย์คำพวย

    ๒. พระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี

    ๓. พระอาจารย์ทอน บ้านหัววัว อ.ลุมพุก จ.อุบลฯ
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พ.ศ. ๒๔๕๙ ถ้ำภูผากูด กิ่งคำชะอี จังหวัดนครพนม

    [​IMG]


    เมื่อออกพรรษา ที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลฯ ท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้กราบลาพระกรรมวาจาจารย์ เพื่อไปติดตามพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร ซึ่งขณะนั้นท่านจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำภูผากูด เมื่อทราบแน่แล้วท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้เดินโดยเท้าเช่นพระธุดงค์ทั้งหลาย ท่านเล่าว่า ทางรถยนต์ไม่มีรถยนต์วิ่ง นับเป็นเวลาเดือน ๆ ก็ไม่เห็นสักคันหนึ่ง ตามทางที่ท่านไปก็เป็นดงดิบ ล้วนแต่ต้นไม้ใหญ่ ๆ เช่น ต้นตะเคียน ต้นยาง ต้นประดู่ ต้นตะแบก และสารพัดไม้นั้นเป็นไม้ใหญ่ บางต้น ๙ อ้อม ๑๐ อ้อม แลดูไม่เห็นพระอาทิตย์ทีเดียว เป็นป่าเปลี่ยวจริงๆ ขณะที่เดินธุดงค์เห็นว่าที่ไหนเหมาะ ก็แวะพักทำความเพียรกันเป็นเวลา ๕ วัน หรือ ๗ วัน

    ขณะที่ท่านอาจารย์มั่น ฯ กำลังเดินธุดงค์ระหว่างทางยังไม่ถึงถ้ำภูผากูดนั้น ท่านได้คิดถึงอาจารย์ของท่านมากและก็วันหนึ่งหลังจาการพักผ่อนการเดินทาง ซึ่งเร่งเดินเป็นวัน ๆ มาแล้วอย่างเหน็ดเหนื่อย ท่านได้พิจารณาถึงท่านอาจารย์เสาร์ที่เป็นอาจารย์ของท่าน และได้ระลึกถึงที่ท่านได้ทราบภายในญาณเมื่อคราวที่ท่านอยู่ที่ถ้ำสาริกาว่า ท่านอาจารย์ของท่านปรารถนาปัจเจกโพธิ

    ถ้าหากว่าท่านยังมีจิตกังวลในการปรารถนาเช่นนั้น การทำความเพียรเพื่อความพ้นทุกข์ก็จะสำเร็จไปไม่ได้ เช่นเดียวกับเราเหมือนกัน เพื่อความปรารถนาพระโพธิญาณยังฝังอยู่ในจิต เราก็ไม่สามารถดำเนินจิตเข้าสู่อริยสัจจ์ เพื่อความหมดจดจากกิเลสได้ ถ้าเราไปพบท่านอาจารย์ของเรา ๆ ก็จะต้องแนะนำให้ท่านเลิกจากการปรารถนาเช่นนั้นเสีย จะเป็นผลสำเร็จหรือไม่หนอ

    นี้เป็นการรำพึงภายในการเป็นสมาธิละเอียดของท่านอาจารย์มั่นฯ แต่เมื่อท่านได้สละความคิดนั้นเพื่อมิให้กังวลใจแล้ว และท่านก็ได้ธุดงค์เรื่อยๆ ไปจนใกล้จะถึงถ้ำภูผากูด โดยรอบบริเวณภูเขาอันเป็นถ้ำแห่งนี้นั้นเป็นภูมิประเทศที่เป็นป่าไม้เต็ง ไม้รัง ไม้แดง ไม้มะค่า แต่ไม่เป็นดงทึบเหมือนกับดงอื่นๆ จึงทำให้บริเวณนั้นมีอากาศปลอดโปร่งดี ถ้ำแห่งภูเขาแถวนั้นก็ไม่อับชื้น ทั่วบริเวณจึงเป็นสถานที่ที่จะพึงอาศัยเป็นเวลาแรมปีได้ ถ้าเป็นดงดิบมองไม่เห็นพระอาทิตย์แล้วจะอยู่กันนานไม่ได้เพราะจะทำให้สุขภาพเสีย

    โดยที่ท่านอาจารย์เสาร์ท่านได้เลือกเอาสถานที่แห่งนี้อยู่ถึง ๕ ปี และท่านก็ยังมีสุขภาพดีเป็นปรกติเหมือนกับอยู่ในวัดธรรมดา นับว่าท่านอาจารย์เสาร์มีความรู้ความชำนาญในการอยู่ป่าอย่างยิ่ง

    ท่านอาจารย์มั่น ๆ ท่านว่าเราได้เดินมองพิเคราะห์ดูแล้วเป็นที่เหมาะสมจริง ๆ เพราะมีธารน้ำเล็กๆ ไหลไม่ขาด อยู่ที่ตรงกลางทางที่จะขึ้นถ้ำพอดี คำว่าภูผากูด คือมีผักกูดขึ้นอยู่ตามตลิ่งธารน้ำนั้นมาก เมื่อผักกูดขึ้น ผักที่จะขึ้นตามผักกูดมาก็เช่นผักหนาม ผักเต่าเกียด

    ในคราวนั้นท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ทราบว่าท่านอาจารย์มั่น ฯ ธุดงค์ไป ท่านก็ธุดงค์ตามไปติด ๆ กับท่านอาจารย์มั่นฯ แต่พอก่อนจะถึงถ้ำภูผากูด ท่านก็ล้มเจ็บเป็นไข้จึงได้เดินทางกลับมารักษาตัวอยู่ที่จังหวัดอุบล ฯ เมื่อท่านหายป่วยแล้วก็ได้ติดตามท่านอาจารย์มั่นฯ ไป เพื่อหวังในการศึกษาธรรมปฏิบัติอีก โดยมิได้มีการย่นย่อท้อถอยแต่ประการใด

    ครั้นเมื่อท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้เดินจนกระทั่งถึงและขึ้นไปบนถ้ำภูผากูด เมื่อวางบริขารไว้ส่วนหนึ่งแล้ว ท่านก็เข้าไปนมัสการท่านอาจารย์เสาร์ ซึ่งท่านอาจารย์เสาร์ได้รู้ล่วงหน้าและเตรียมสถานที่ไว้คอยรับศิษย์รักอันจากกันไป นานอยู่แล้ว ท่านอาจารย์ มั่นฯ ได้เข้าไปกราบนมัสการสนทนาปราศรัยตามสมควรแล้วก็ไปพัก ณ บริเวณแห่งหนึ่ง ตามอัธยาศัย และท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ตั้งใจจะจำพรรษา ณ ถ้ำนี้กับท่านอาจารย์เสาร์

    ในระหว่างพรรษาทั้งศิษย์และอาจารย์ก็ได้ปรึกษาสนทนาในเรื่องธรรมปฏิบัติแทบทุกวัน อยู่มาวันหนึ่งท่านอาจารย์มั่นฯ ได้พูดขึ้นว่า

    “ท่านอาจารย์ได้พิจารณาอริยสัจธรรมหรือไม่ ?”

    ท่านอาจารเสาร์ได้ตอบว่า“ เราก็ได้พิจารณาเหมือนกัน”

    “ได้ผลเป็นอย่างไรบ้าง ?” ท่านอาจารย์มั่นฯ ถาม

    “ได้ผลเหมือนกันแต่ไม่ชัดเจน” ท่านอาจารย์เสาร์ตอบ

    “เพราะเหตุไรบ้างครับ ?” ท่านอาจารย์มั่น ฯ ถาม

    “เราได้พยายามอยู่ คือพยายามคิดถึงความแก่ความตาย แต่ว่าบางคราวมันก็ไม่แจ่มแจ้ง” ท่านอาจารย์เสาร์ตอบ

    “ถ้าเช่นนั้นคงมีอะไรเป็นเครื่องห่วงหรือกระมัง ?” ท่านอาจารย์มั่นฯ ถาม

    “เราก็พยายามพิจารณาเหมือนกัน แต่ก็หาสิ่งขัดข้องไม่ได้” ท่านอาจารย์เสาร์ตอบ และได้กล่าวต่อไปว่า “ความจริงความสว่างของดวงจิตนั้นก็เป็นปรกติดีอยู่ แม้มันจะดีบ้าง ไม่ดีบ้าง มันก็เรื่องธรรมดาของสมาธิ แต่ว่าเมื่อจิตพิจารณาทีไรรู้สึกว่าไม่ก้าวไป”

    ท่านอาจารย์ มั่นฯ จึงกล่าวว่า “กระผมคิดว่าคงมีอะไรสักอย่างเป็นเครื่องห่วง”

    ท่านอาจารย์เสาร์ตอบว่า “และเธอรู้ไหมว่าเรามีอะไรเป็นเครื่องห่วง ?”

    ท่านอาจารย์มั่นฯ เห็นเป็นโอกาสที่จะได้ถวายความรู้ในครั้งอยู่ถ้ำสาลิกาโน้นจึงได้ตอบทันทีว่า “ท่านอาจารย์ห่วงเรื่องการปรารถนาเรื่องปัจเจกโพธิกระมังครับ “

    ท่านอาจารย์เสาร์ตอบว่า

    “แน่ทีเดียว ในจิตใจเราตั้งอยู่ว่า จะขอให้รู้ธรรมเองโดยมิต้องให้ใครมาแนะนำหรือบอกให้ และมันก็ตั้งอยู่ในใจของเรามาตลอด”

    ท่านอาจารย์มั่น ฯ จึงขอความกรุณาแล้วบอกท่านอาจารย์เสาร์ว่า ขอให้ท่านอาจารย์อย่าเป็นห่วงเลย ขอให้พิจารณาอริยสัจเพื่อความพ้นทุกข์เสียแต่ชาตินี้เถิด เพราะกระผมเองก็ปรารถนาพระโพธิญาณ และกระผมก็ได้ละความปรารถนานั้นแล้ว เนื่องด้วยว่าการท่องเที่ยวในสังสารวัฏฎ์นี้มันนานเหลือเกิน

    ในวันนั้นท่านอาจารย์เสาร์ต้องประหลาดใจที่ศิษย์ของท่านได้ล่วงรู้ถึงความจริง อันปรากฏอยู่ในใจของท่าน ซึ่งท่านไม่เคยปริปากบอกใครเลย ฉะนั้นจึงทำให้ท่านรู้สึกว่า ท่านอาจารย์มั่นฯ นี้ ต้องมีความดีความจริงความชัดเจนในใจอย่างแน่นอน ในวันนั้นก็ได้คุยกันเพียงเท่านี้แล้วก็เลิกกันไป

    อยู่มาวันหนึ่งท่านอาจารย์เสาร์ได้ไปนั่งอยู่ที่สงัดเฉพาะองค์เดียว เริ่มด้วยการพิจารณาถึงอริยสัจจ์โดยอุบายอย่างหนึ่งคือ การพิจารณากายจนชัดแจ้งประจักษ์เกิดนิพพิทาญาณความเบื่อหน่ายขึ้น และท่านก็เริ่มดำเนินจิต เจริญให้มาก กระทำให้มากจนเป็นญาณ สามารถทวนกระแสมาถึงที่ตั้งของจิตได้ และวันนั้นท่านก็ตัดเสียซึ่งความสงสัยได้อย่างเด็ดขาด เมื่อได้รับการอธิบายจากท่านอาจารย์มั่นฯ ซ้ำอีกว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ควรจะเจริญให้มากจนกว่าจะพอแก่ความต้องการ เมื่อจวนถึงกาลปวารณาออกพรรษาท่านก็ทราบชัดถึงความเป็นจริงทุกประการ และท่านก็บอกแก่อาจารย์มั่นฯ ว่า เราได้เลิกการปรารถนาพระปัจเจกโพธิแล้ว และเราก็ได้เห็นธรรมจริงแล้ว

    เมื่อท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้ฟังก็ได้พูดให้ความแน่ใจว่า เป็นจริงเช่นนั้นแล้ว ต่างก็มีความอิ่มเอิบในธรรม ระยะเวลานั้นท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านมีพรรษา ๒๖ พรรษา ท่านได้ปฏิบัติท่านอาจารย์เสาร์เหมือนกับท่านเป็นพระใหม่ คือปฏิบัติตั้งแต่การล้างบาตร ซักจีวร ปูที่นอน ตักน้ำถวายสรง ถูหลัง ทุกประการ ซึ่งแม้อาจารย์เสาร์จะห้ามไม่ให้ทำ แต่ท่านก็ปฏิบัติได้โดยมิได้มีการแข็งกระด้างแต่ประการใด

    ก่อนเข้าพรรษาปรากฏว่ามารดาของท่านอาจารย์มั่น ฯ ซึ่งยังกระหายต่อการปฏิบัติศึกษาธรรมอยู่มิวาย จึงอุตส่าห์ล้มลุกคลุกคลานตามวิบากของคนแก่ติดตามไปที่ถ้ำภูผากูด เพื่อศึกษาอบรมตนให้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมปฏิบัติ ท่านอาจารย์เสาร์จึงได้บวชชีให้อยู่ปฏิบัติ ณ ถ้ำนี้โดยจองเอาที่เงื้อมแห่งหนึ่งเป็นที่ปฏิบัติธรรม เร่งความเพียรทั้งกลางวันทั้งกลางคืนอยู่ที่ถ้ำนั้น

    ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม หลังจากหายป่วยแล้วก็ติดตามไปปฏิบัติกับท่านอาจารย์มั่น คือไปทุกหนทุกแห่ง ซึ่งเริ่มติดตามพบที่ถ้ำในปีนี้เอง
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พ.ศ.๒๔๖๐ บ้านดงปอ ห้วยหลวง อำเภอเพ็ง

    [​IMG]


    ในพรรษานี้ ท่านอาจารย์มั่น ฯ จำพรรษาที่ป่าแห่งหนึ่ง ที่บ้านดงปอ ต.ห้วยหลวง อ.เพ็ง หลังจากที่ท่านได้เปิดศักราชแห่งการปฏิบัติธรรมอย่างได้ผลแล้ว ท่านก็เริ่มอบรมพระภิกษุสามเณรอย่างเด็ดเดี่ยวจริงจัง เพื่อผลงานในด้านนี้ของพระพุทธศาสนาจะได้เด่นขึ้น อันจักเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

    ในปีนี้บรรดาพระภิกษุที่หลายผู้เคยได้รับรสพระธรรมจากท่าน และผู้ที่ได้เคยสดับแต่กิตติศัพท์ก็ได้ติดตามมาปฏิบัติกับท่าน

    การจำพรรษาของท่าน ท่านไม่ต้องการอยู่รวมกันหลายองค์ เพราะจะทำให้ไม่วิเวก ดังนั้นท่านจึงตรวจดูเฉพาะองค์ที่กำลังจะได้รับผลที่แน่นอนให้จำพรรษาอยู่กับท่าน เพื่อที่จะได้แนะนำตลอดระยะเวลา เพื่อความก้าวหน้าไม่หยุดยั้งของศิษย์

    ส่วนผู้ที่กำลังจะทำการอบรมเพื่อรอความแก่กล้าของสมาธิ ท่านก็แนะนำให้ไปอยู่แห่งละองค์สององค์ จะได้อบรมตนให้ยิ่งไม่ต้องกังวลกับใคร แต่พอเมื่อสงสัยในการปฏิบัติเกิดขึ้น ท่านเหล่านั้นจะมาหาให้ท่านอาจารย์ช่วยแก้ความสงสัยเป็นราย ๆ ไป การที่บรรดาศิษย์ได้ไปอยู่ตามสถานที่ต่าง.ๆ มิใช่ว่าท่านจะทอดธุระเสียแต่อย่างใด ท่านต้องใช้ญาณภายในตรวจตราพร้อมทั้งคอยสดับตรับฟังข่าวอยู่ตลอดเวลา ท่านพิจารณาเห็นเหตุการณ์ของศิษย์แล้วถ้าเป็นเหตุสำคัญ ท่านจะใช้ให้พระหรือโยมไปตามพระองค์นั้นมาหาท่านทันที เพื่อจะได้แก้ไขเหตุการณ์ให้ดำเนินไปเพื่อความถูกต้อง และได้ผลเป็นประมาณ

    เช่นคราวหนึ่ง ท่านจำพรรษาอยู่ที่บ้านโคก ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร มีอาจารย์องค์หนึ่งพักอยู่บนภูเขาเรียกกันว่าภูค้อ อาจารย์องค์นั้นไม่ฉันอาหารตลอด ๓ เดือน ผู้คนได้แตกตื่นกันไปหาท่านอย่างล้นหลาม แต่อาจารย์องค์นั้นไม่ได้เป็นศิษย์ของท่านอาจารย์มั่น ฯแต่อย่างใด ท่านจึงเพียงแต่แนะนำศิษย์ของท่านว่า การไปอยู่ป่าอยู่เขาทำอย่างนั้นไม่ถูกต้อง เพราะไปทำอภินิหารอดอาหาร อยู่ถ้ำเพื่อที่จะให้คนไปหาเป็นการผิดวิสัย พวกเราอย่าได้พากันทำเช่นนั้นเพราะตามความเป็นจริงแล้ว การอยู่ป่าต้องทำตัวเก็บตัวแสวงหาความสงบด้วยใจจริง โดยความบริสุทธิ์ในการแสวงหาธรรมปฏิบัติ การอยู่ป่าอยู่เขาโดยการเพื่อแสวงหาลาภหาปัจจัยนั้นไม่ถูกต้อง พวกเธอถ้าหากว่าจะพึงแสวงหาความสงบแล้ว ต้องอย่าไปทำอะไรที่ชวนให้คนหลงตามไปหา ซึ่งมันจะไม่เป็นการบริสุทธิ์ใจของนักปฏิบัติ

    การควบดุมการปฏิบัติของศิษย์นั้น ท่านพิถีพิถันมาก พยายามติดตามดูความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ถ้าท่านได้พิจารณาเห็นว่าศิษย์รูปนั้นจะเป็นผู้มีนิสัย วาสนาเป็นผู้ที่ปฏิบัติเข้มแข็งและจะพึงเห็นอรรถเห็นธรรมในเบื้องหน้าแล้ว ท่านยิ่งจะติดตามคอยแนะนำการปฏิบัติให้ทุกระยะ ตัวอย่างเช่น ท่านอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ผู้เป็นน้องชายของท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้เข้ามามอบตัวเป็นศิษย์ของท่าน หลังจากนั้นท่านก็ได้พิจารณาเห็นว่าท่านมหาปิ่นนี้มีบุญวาสนา ได้บำเพ็ญมาพอสมควรที่จะเห็นอรรถธรรมได้ ท่านจึงพยายาม.แนะนำธรรมปฏิบัติให้อย่างละเอียดและลึกซึ้ง

    อยู่มาวันหนึ่งท่านอาจารย์มหาปิ่น ท่านนั่งพักอยู่ในกุฏิหลังเล็กมุงหลังคาแฝกในเสนาสนะป่าซึ่งท่านก็ได้ผ่านการนั่งสมาธิมาแล้ว ๒ ชั่วโมง เป็นเวลาประมาณ ๒๓.๐๐ น.เศษ พลางท่านก็ได้นึกไปถึงอาจารย์มั่นฯ ว่า

    “ท่านอาจารย์มั่นมิได้ร่ำเรียนพระปริยัติธรรมมากเหมือนเรา ท่านจะมีความรู้กว้างขวางได้อย่างไร เราได้ร่ำเรียนมาถึง ๕ ประโยค จะต้องมีความรู้กว้างขวางมากกว่าท่าน และที่ท่านสอนเราอยู่เดี๋ยวนี้จะถูกหรือมิถูกประการไรหนอ”

    ก็ขณะนั้นเองท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านนั่งอยู่กุฏิของท่านห่างกันคนละมุมวัด ท่านก็ทราบวาระจิตของท่านมหาปิ่นทันทีว่า กำลังจะคิดดูถูกท่านอยู่ และการคิดเช่นนี้ย่อมเป็นภัยแก่การบำเพ็ญสมณธรรมอย่างยิ่ง ท่านจึงลุกขึ้นถือไม้เท้าเดินไปที่กุฏิมหาปิ่นทันที และเอาไม้เท้าเคาะข้างฝาที่ทำด้วยใบไม้ดังปั๊บ ๆ แล้วก็ส่งเสียงขึ้นว่า

    “ ท่านมหาปิ่น นี่เธอจะมานั่งดูถูกเราด้วยเหตุไร ? การคิดเช่นนี้เป็นภัยต่อการบำเพ็ญสมณธรรมจริงหนา มหา”

    มหาปิ่นได้ฟังตกใจสุดขีด เพราะมิได้นึกฝันเลยว่า เรานั่งคิดอยู่คนเดียวในเวลาที่ดึกสงัดเช่นนี้ ท่านอาจารย์มั่น ฯ จะมาล่วงรู้วาระจิตของเราได้ จึงรีบลุกขึ้นจากกุฏิตรงเข้าไปกราบเท้าท่านอาจารย์มั่น ฯ รีบกราบเรียนว่า

    “กระผมกำลังนึกถึงท่านอาจารย์ในด้านอกุศลจิต กระผมขอกราบเท้า จงอโหสิกรรมให้แก่กระผมเถิด ตั้งแต่วันนี้ต่อไปกระผมจะบังคับจิตมิให้นึกคิดถึงสิ่งที่เป็นอกุศลจิตอย่างนี้ต่อไปอีก”

    (ตรงนี้ผู้เขียนขอแทรกข้อความตอนเชียงใหม่ให้ผู้อ่านได้ทราบตอนสำคัญไว้ เพราะจะรอเขียนตอนท่านอยู่เชียงใหม่ก็จะไม่ทันใจผู้เขียนและผู้อ่าน)

    เมื่อท่านพักอยู่บนภูเขากับพวกมูเซอร์ ในจังหวัดเชียงใหม่ มีพระหลวงตา (หมายถึงผู้มีครอบครัวแล้วถึงบวช) ๓ องค์ ได้พยายามติดตามถามข่าวหาท่านอาจารย์มั่นฯ อยู่ถึง ๓ ปี จึงได้ข่าวว่าอยู่บนภูเขากับพวกมูเซอร์ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อรู้ชัดแน่แล้วจึงรีบไปเพื่อที่จะได้พบท่านทั้ง ๓ หลวงตาก็เดินทางปีนป่ายภูเขาขึ้นอย่างความตั้งใจจริง ไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากแต่ประการใด เพราะตั้งใจมานานแล้ว พึ่งจะใกล้ความสำเร็จ ซึ่งทั้ง ๓ หลวงตาคงจะเข้าใจว่า เมื่อพบท่านแล้วคงจะได้ธรรมแสงสว่างไม่ยากนัก จึงได้อุตส่าห์ติดตามเป็นเวลานาน ก็พอดีเป็นเวลาเย็นประมาณบ่าย ๕ โมง จึงได้ถึงสถานที่อาจารย์มั่นฯ อยู่ เมื่อถึงแล้วก็เข้าไปนมัสการท่าน ท่านกำลังฉันน้ำร้อนอยู่ มีพระเณรอยู่ด้วย ๒-๓ องค์ คอยปรนนิบัติอยู่ เมื่อหลวงตาทั้ง ๓ กราบแล้วท่านก็ถามว่า เธอตามหาเรามานานแล้ว วันนี้มาจากไหน สามหลวงตาก็งงเป็นที่สุดว่าท่านรู้ได้อย่างไร และก็ตอบพร้อมกันว่า วันนี้มาจากอำเภอสันทราย แล้วท่านก็ให้พระไปจัดสถานที่อยู่ให้ตามจะพึงมี

    จำเดิมแต่นั้นหลวงตาทั้งสามก็พยายามปฏิบัติตามโอวาทของท่านอยู่อย่างเต็มความสามารถ ทั้งสามหลวงตาเล่าว่า ไม่ว่าพวกฉันจะนึกอยากฟังธรรมข้อใด ท่านจะต้องเทศน์ธรรมข้อนั้นให้ฟังโดยไม่ต้องออกปากถามเลย ฉันอัศจรรย์ใจจริง แต่....อยู่มาวันหนึ่ง ฉันทั้งสามได้ไปนั่งอยู่บนหินก้อนใหญ่งามมาก หลังหินเสมอเรียบดี พวกเราก็นั่งประชุมสนทนากัน. ก็พูดถึงเรื่องทางบ้านว่า ป่านนี้ภรรยาของเราอยู่กันอย่างไรหนอ ลูกของฉันมี ๔ คน ลูกหญิงเป็นสาวยังไม่ได้แต่งงานเลย อีกองค์ก็พูดว่า ภรรยาน่ากลัวจะไปมีผัวใหม่ อาจจะทิ้งลูกเสียก็ได้และก็พูดกันหลายอย่างเป็นเวลากว่าชั่วโมง ทุกองค์ก็ต่างกลับมา แต่ก็มิได้อาลัยในคำพูดเหล่านั้นดอก พูดแล้วก็แล้วกันไป

    แต่ที่ไหนได้ท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้รู้เรื่องราวของเราหมด และในวันนั้นก็ได้มีพระภิกษุสามเณรทุกแห่งที่อยู่แถวใกล้ๆ นั้นมาประชุมกันหมด ท่านก็ยกเอาเรื่องทั้งสามหลวงตาขึ้นมาพูดในท่ามกลางบริษัทว่า

    “ ดูสิ ทั้งสามหลวงตานี่ อุตส่าห์มาอยู่ป่า บวชแล้วยังคิดถึงมาตุคามลูกเมีย มันจะมีประโยชน์อะไรที่จะมาอยู่ในกลางป่าเช่นนี้ ซึ่งไม่ควรเลย น่าอับอายท่านผู้รู้ นี่แน่ะ หลวงตา เธอเป็นพระกี่เปอร์เซ็นต์”

    เท่านั้นเองพวกเราทั้งสามอายเพื่อนอย่างหนัก นั่งก้มหน้า เมื่อเลิกประชุมแล้วพวกเราทั้งสามก็ร้อนไปหมด จึงเป็นอันว่าพวกเราอยู่ไม่ไหว คืนนั้นประมาณเที่ยงคืนพวกเราก็เก็บบาตร กลดหนีกันทั้งคืน ปากก็พูดว่า อรหํ ๆ ๆ ทั้งเดินหนีไปมิได้อำลาท่านเลย โดยมิได้คำนึงว่าทางที่เดินมานั้นมีทั้งหมีทั้งเสือทั่วไป แต่พวกเรากลัวท่านอาจารย์มั่นฯ มากกว่าเสืออีก
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พ.ศ. ๒๔๖๑ ถ้ำผาบิ้ง จังหวัดเลย

    [​IMG]


    หลังจากอยู่ปฏิบัติและถวายความรู้ในธรรมปฏิบัติอันยิ่งแก่อาจารย์ของท่านแล้ว ท่านเห็นหมู่คณะตามท่านมามากรู้สึกกังวลขึ้น ท่านจึงปลีกตัวออกจากหมู่ เดินธุดงค์ไปแต่องค์เดียวจนบรรลุถึงถ้ำผาบิ้ง จังหวัดเลย ในปีนี้ท่านต้องการพิจารณาถึงความจริงทั้งหลายอันเกิดแก่การบำเพ็ญในตนของท่าน และต้องการวัดผลการปฏิบัติที่ท่านไค้แนะนำสั่งสอนแก่บรรพชิต และคฤหัสถ์ว่า ผลต่างๆของการปฏิบัตินั้น ได้เป็นไปตามความมุ่งหมายมาเดิมหรือไม่ และเป็นผลที่ถูกต้องทำนองคลองธรรมคำสอนของพระพุทธองก์จริงหรือไม่

    เมื่อได้ใคร่ครวญทั้งความนึกคิดอันเป็นภายนอก และพิจารณาตามญาณอันเป็นภายใน ท่านก็พอใจในผลงานเหล่านั้นว่าเป็นประโยชน์มาก สมควรที่จะยอมเสียสละในการแนะนำสั่งสอนพุทธบริษัทต่อไป

    ในวันหนึ่งขณะท่านนั่งสมาธิได้รับความสว่างอยู่นั้น ท่านหวนพิจารณาถึงความรู้ของท่านและที่ได้แนะนำสั่งสอนผู้อื่น ได้ปรากฏว่า อันที่จริงอริยธรรมเหล่านี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้วอย่างชัดเจน แต่เพราะเหตุที่ผู้ศึกษาไม่ได้ทำให้เป็นจริงขึ้น จึงปรากฏว่าเป็นสิ่งที่ลึกลับยากแก่การจะรู้จริงได้ แม้ว่าพระพุทธองค์จะทรงแสดงแจ้งชัดสักเท่าใดก็ตาม เช่นพระองค์แสดงอนัตตลักขณสูตร โปรดปัญจวัคคีย์ให้ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์นั้น พระองค์ก็ทรงแสดงชี้ลงไปที่กายคือรูปของปัญจวัคคีย์นั่นเอง ได้ทรงแสดงว่า รูปํ ภิกฺขเว อนตฺตา รูปไม่ใช่ตน แม้รูปของปัญจวัคคีย์ก็มีอยู่แล้ว ทำไมปัญจวัคคีย์จึงไม่พิจารณาเอาเองเล่า มารู้แจ้งเห็นจริงเอาตอนที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้ดู จึงค่อยมาได้สำเร็จ

    ข้อนี้ก็เป็นเช่นกับตัวของเรานั้นเอง ได้อุตส่าห์เที่ยวไปแสวงหาอาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิกระทั่งทั่วประเทศไทยและต่างประเทศ แต่ครั้นจะมารู้จริงได้ก็คือการมาศึกษาปฏิบัติเอาโดยตนเอง ตามแนวของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง แต่ว่าเท่าที่เราเองได้เข้าใจนั้นก็เพราะเราไปเห็นความจริงเท่านั้น ทั้งๆ ที่ความจริงก็อยู่ใกล้นิดเดียว แต่ว่าการรู้ปฏิบัติเพื่อความรู้จริงนี้มันเป็นสิ่งที่แปลก เพราะเห็นว่าการทำจิตเป็นนามธรรม เมื่อเกิดความอัศจรรย์หรือความสบาย ก็ไปเข้าใจเสียว่าดีเสียแล้ว จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถจะรู้ยิ่งขึ้นได้ จึงไม่ควรตำหนิผู้ที่เขาพากันทำสมาธิแล้วหลงใหลไปตามโลกียฌาณหรือตามวิปัสสนูปกิเลส เพราะเขาเหล่านั้นก็ได้รับความสงบความเย็นใจซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยาก แต่ที่ควรตำหนิก็เพราะว่า เขาไม่พยายามหาโลกุตรธรรมนั่น แม้แต่เราในเบื้องแรก เราก็ได้พบโลกียฌาน ฌานมากมาย ซึ่งมันก็ทำให้เราต้องหลงใหลมันไปพักใหญ่ แต่เราพยายามที่จะแสวงหาให้ยิ่งขึ้น เราจึงไม่ติดอยู่เพียงแค่นั้น

    อันการติดอยู่หรือเข้าใจผิดในธรรมปฏิบัติจิตอันเป็นภายในนี้ มันไม่ไปนรกดอก แต่ว่าการที่ไปติดมัน มันทำให้ต้องล่าช้าต่อการรู้ยิ่งเห็นจริงต่างๆ หาก เราเองเมื่อได้ความรู้แจ้งนี้แล้ว จึงได้พยายามเพื่อความที่จะทำจิตให้ก้าวหน้าโดยไม่หยุดยั้ง ทุกหมู่ทุกจำพวกในบรรดาผู้บำเพ็ญจิตในกัมมัฦฐานทั้งหลายนั้น ต่างก็มุ่งหวังเพื่อความดีความเจริญทุกหมู่ทุกคณะ แต่เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั่นเอง ที่ทำให้เขาต้องเสียประโยชน์

    ท่านได้ปรารภไปถึงอาฬารดาบสกาลามโคตร และอุทกดาบสรามบุตร ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า “ฉิบหายเสียจากคุณอันใหญ่” เนื่องด้วยดาบสทั้ง ๒ นั้น ได้มรณะไปเสียก่อนที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้ ความจริงดาบสทั้งสองก็เป็นผู้สำเร็จฌานชั้นสูงกันทั้งนั้น อันว่าฌานชั้นสูงนี้ ก็เป็นการให้ความสุขอันยิ่งแก่ผู้ได้สำเร็จอยู่มากแล้ว แต่เพราะเหตุใดเล่าพระพุทธองค์จึงทรงแสดงว่า “ฉิบหายเสียจากคุณอันใหญ่” ก็เพราะว่ายังไม่หมดจากกิเลส เพราะเพียงแต่ข่มกิเลสไว้ เหมือนกับศิลาทับหญ้าเท่านั้น

    อันที่จริงฌานชั้นสูงนั้น ก็เป็นเบื้องต้นแห่งการดำเนินไปสู่ความหมดจิตจากกิเลส แต่เพราะความที่ดาบสนั้นไม่เข้าใจวิธีแห่งการอันจะพึงทำจิตเข้าลู่อริยสัจเท่านั้น ข้อนี้เป็นประการสำคัญนัก เพราะการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็เพราะเหตุนี้คือ อริยสัจจ์นี้ แต่ท่านได้พิจารณาคือไปอีกว่า การบำเพ็ญจิตต้องอาศัยปัญญาจึงจะรู้ถูกผิด และมิใช่จะเอาแต่ทำจิตอย่างเดียว ต้องมีสิ่งแวดล้อมภายนอกอีก อาทิเช่นธรรมวินัยทั้งอย่างหนักและอย่างเบา แม้ว่าจะพยายามทำจิตสักเท่าใดก็ตาม ถ้าประพฤติผิดพระวินัยน้อยใหญ่แล้วจะทำจึงย่อมไม่บังเกิดผล

    พร้อมกันนั้นต้องเป็นผู้สันโดษมักน้อย รักษาธุดงควัตรต่าง ๆ อันเป็นเครื่องขัดเกลากิเลสหยาบ ด้วยว่าสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ที่จะต้องพยายามปฏิบัติให้เป็นอันดี เท่ากับเป็นเครื่องบำรุงส่งเสริม เช่นกับรถยนต์ เครื่องยนต์กลไกต่างๆ ถึงเป็นเครื่องดีมากสักเท่าใดก็ตาม ถ้าขาดการบำรุงรักษา ก็ไม่สามารถที่จะให้ผลแก่ผู้ใช้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือเช่นต้นไม้ต่าง ๆ ถ้าเราจะปลูกบ้านให้ได้ผลก็ต้องบำรุงรักษาจึงจะให้ผลแก่เจ้าของได้

    การบำเพ็ญจิตก็เช่นเดียวกัน ควรจะได้กำหนดข้อปฏิบัติอันเป็นการสันโดษมักน้อยเอาไว้ โดยการฉันหนเดียว การฉันในบาตร การบิณฑบาต การปัดกวาดทำความสะอาดเสนาสนะ การอยู่โคนต้นไม้ การอยู่ป่า การมีจีวรเพียงแต่ไตรจีวร การรักษาวัตรทั้งหลายมีเสขิยวัตรและอาจาริยวัตรเป็นต้น

    ในปีนั้นท่านได้พิจารณาเหตุการณ์ต่าง ๆ อันที่จักนำไปเพื่อความเจริญในการปฏิบัติธรรม เพื่อจะได้กำหนดแนวทางปฏิบัติที่แน่นอนแก่บรรดาศิษย์ทั้งหลาย พร้อมกันนั้นท่านได้ทำตัวของท่านให้เป็นตัวอย่างอีกด้วย ทั้งการที่แก้ไขความประพฤติเพื่อให้เป็นการเหมาะสมจากมรรยาทที่ต่ำไปหาที่สูง อันนี้ก็ต้องทดสอบในธรรมวินัยให้เป็นไปในทางที่ถูกต้องด้วย

    หลังจากที่ท่านพิจารณาถึงหลักพระธรรมวินัย ของพระพุทธองค์ทั้งภายนอกนามตำรับตำรา และภายในคือการพิจารณาหาความจริงอันเป็นข้อเท็จจริงซึ่งจะป้องกันความงมงายต่าง ๆ เช่นสีผ้าท่านก็กำหนดได้ว่าในครั้งพุทธกาลใช้ผ้าลีอะไร ท่านยังทราบว่าพระอนุรุธเถระเจ้า ใช้ผ้าสีคร่ำอ่อน พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรเถระใช้สีวัวโทนและท่านพระมหากัสสปะใช้ผ้าสีคร่ำเป็นต้น

    บางครั้งท่านได้คำนึงถึงท่านพระสารีบุตรซึ่งครั้งหนึ่งได้ชวนพระโมคคัลลานะไปบำเพ็ญสมณธรรม ณ ถ้ำแห่งหนึ่งเป็นเวลาหลายวัน อยู่มาวันหนึ่งท่านพระสารีบุตรได้ป่วยเพราะโรคปวดท้องกำเริบขึ้น อันพระโมคคัลลานะถามว่า ท่านเป็นโรคนี้เคยฉันยาอะไรจึงหาย พระสารีบุตรตอบว่า โรคนี้ต้องได้ฉันข้าวมธุปายาสมีน้ำอ้อยผสมกับน้ำตาลกรวดจึงหาย

    ขณะนั้นเทวดาที่สิงอยู่ในถ้ำนั้นได้ยินก็ต้องการที่จะให้พระเถระได้ฉัน จึงรีบไปยังบ้านอันเป็นโคจรตามของพระเถระทั้งสองแล้วก็เข้าไปสิงในร่างของเด็ก ทำอาการให้เด็กชักดิ้นชักงอ อันบิตามารดาต้องพยายามแก้ไขทุกอย่างเด็กก็ไม่ทุเลา เทวดาที่สิงจึงบอกว่า “นี่ พวกท่านต้องการให้ลูกหายไหม”

    บิดามารดาตอบว่า “ข้าพเจ้าต้องการเป็นที่สุด”

    เทวดาที่สิงอยู่ในร่างเด็กก็บอกว่า “ท่านจงทำข้าวมธุปายาส มีน้ำอ้อยผสมน้ำตาลกรวดไปถวายท่านพระสารีบุตรเท่านั้นเอง บุตรของท่านก็จะหายทันที”

    อันบิดามารดาของเด็กรับว่า “เพียงเท่านั้นข้าพเจ้าทำได้ และพระเถระนี้ข้าพเจ้าก็เลื่อมใสท่านเป็นอย่างยิ่ง”

    แล้วเทวดานั้นก็ออกจากร่างเด็กๆ ก็หายทันที

    รุ่งเช้าพระโมคคัลลานะออกบิณฑบาตแต่เช้า ได้ไปถึงบ้านนั้น อันเขาทั้งหลายได้ถวายอาหารแก่พระโมคคัลลานะแล้วก็ถวายข้าวมธุปายาส และขอร้องให้ไปถวายแก่พระสารีบุตร อันพระโมคคัลลานะนำมาแล้วก็น้อมเข้าไปถวาย ท่านพระสารีบุตรได้พิจารณาว่าอาหารนี้ไม่บริสุทธิ์ท่านจะนำมาทำไม

    “เพราะเหตุใด” ท่านพระโมคคัลลานะถาม

    “เพราะว่าเทวดาไปบังคับเขา” พระสารีบุตรตอบ ส่วนท่านพระโมคคัลลานะได้พิจารณาก็ทราบทันที แล้วพระโมคคัลลานะจึงอุทานว่า “ เราตาบอดไปเชียว”

    แล้วนำมธุปายาสนั้นไปเททิ้ง พระสารีบุตรก็กำหนดจิตให้บริสุทธิ์ หายจากโรคปวดท้องทันที

    ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้พูดเป็นอุบายว่า ความบริสุทธิ์ของศีลนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความผ่องใสเป็นทางให้เกิดความจริงได้ เพราะศีลมีทั้งอย่างหยาบและอย่างละเอียด

    ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้พูดเสมอว่า “ท่อนไม้ยางใหญ่ๆ มันเข้าตาคนไม่ได้หรอก ผงธุลีเล็กๆ ต่างหากมันเข้าตาคน”

    ในราตรีหนึ่งระหว่างกาลเข้าพรรษา ขณะที่กำลังบำเพ็ญสมณธรรมอยู่เกิดความสงบเยือกเย็นมาก จนเกิดแสงสว่างพุ่งไปสู่พระอภิธรรมทั้ง ๗ พระคัมภีร์ขึ้นมาแล้วได้พิจารณากำหนดพิจารณาแยบคายค้นคว้าสามารถรู้ได้ทั้งอรรถและทั้งแปล อย่างคล่องแคล่ว ได้พิจารณาอย่างละเอียดตลอดคืนยันรุ่ง พอรุ่งเช้าออกจากสมาธิแล้ว ความรู้เหล่านั้นปรากฏว่าลบเลือนไปเสียเป็นส่วนมาก ยังจำได้เฉพาะที่สำคัญ พอรู้ความหมายเฉพาะเรื่องหนึ่งๆ เท่านั้น ท่านได้พิจารณาวาสนาบารมีของท่าน แล้วคำนึงถึงว่าเมื่อแจ่มแจ้งแล้วทำไมจึงลบเลือนไปเสีย

    ท่านได้ทราบในญาณของท่านว่า “ปฏิสัมภิทานุสาสน์” ความรู้ที่จะพึงแตกฉานในพระธรรมวินัยนี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จะได้มีความแตกฉานเป็นปฎิสัมภิทาญาณก็หามิได้

    เช้าวันนี้เมื่อเข้าไปบิณฑบาตในบ้าน มีโยมผู้ชายคนหนึ่งมาใส่บาตรแล้วพูดขึ้นว่า “เมื่อคืนนี้ผมฝันเห็นท่านเปิดเอาหนังสือพระไตรปิฎกออกมาอ่านเป็นอันมาก ท่านคงภาวนาดีในคืนนี้” ท่านได้ยินโยมพูดก็เพียงแต่ยิ้มแย้มนิดหน่อยแล้วก็เดินบิณฑบาตต่อไป
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พ.ศ. ๒๔๖๒ เสนาสนะป่าบ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

    [​IMG]


    ในปีนี้ท่านจำพรรษาอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านค้อ อำเภอผือ เป็นปีที่เริ่มแนะนำข้อปฏิบัติแก่พระภิกษุเป็นส่วนมาก ซึ่งปรากฏว่าท่านอาจารย์สุวรรณ สุจินฺโณ ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ท่านอาจารย์ตื้อ ท่านอาจารย์แหวน สุจิณฺโณ ท่านอาจารย์หนูใหญ่ ได้ติดตามมาปฏิบัติอยู่กับท่าน ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้แนะนำเพื่อความก้าวหน้าแห่งการดำเนินจิตเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากท่านทุกองค์เหล่านี้ได้บำเพ็ญ ได้ผลในทางปฏิบัติกันมาแล้ว เพียงเพื่อจะอบรมให้เกิดความแก่กล้าขึ้นเท่านั้น

    ท่านได้แนะนำถึงข้อสำคัญในเรื่องความหลงในญาณว่า ผู้ต้องการพ้นทุกข์จริงๆ แล้ว ต้องไม่หลงในความเป็นเหล่านั้น ท่านได้อธิบายว่า ญาณคือความรู้พิเศษที่เกิดขึ้นในระหว่างแห่งความสงบ เป็นต้นว่าญาณระลึกชาติหนหลังได้ ญาณรู้จักเหตุการณ์ในอดีต ญาณรู้จักเหตุการณ์ในอนาคต รู้จักวาระจิต ความนึกคิดของบุคคลอื่นเป็นต้น เหล่านี้ล้วนแต่เป็นวิชาที่น่าอัศจรรย์มากทีเดียว แต่ถ้าหากว่าหลงและติดอยู่ในญาณเหล่านี้แล้ว จะทำให้เกิดความเนิ่นช้าในการปฏิบัติ เมื่อเข้าสู่อริยสัจธรรม แต่ญาณเหล่านี้เป็นอุปกรณ์อย่างดีพิเศษ ในอันที่ดำเนินจิตเข้าสู่อริยลัจจ์หรือการทรมานบุคคลบางคน แต่ว่าจะต้องรู้ว่ามันเป็นญาณ อย่ายินดีหรือติดอยู่เพียงเท่านี้ เพราะเท่ากับว่ามันเป็นผลพลอยได้ เกิดจากการบำเพ็ญจิตเข้าสู่อริยสัจจ์นั่นเอง ถ้าหากว่าเราไปยินดีหรือไปติดอยู่เพียงเท่านี้แล้ว ก็จะก้าวเข้าไปสู่ความพ้นไปจากทุกข์ไม่ได้

    แม้แต่พระเทวทัตในสมัยครั้งพุทธกาลก็สำเร็จญาณถึง ๕ ประการแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้สมกับความประสงค์ แต่หลงอยู่ในความรู้ญาณของตน เกิดทิฐิมานะว่าคนเก่งตนดี ถึงกับต้องการจะเป็นพระพุทธเจ้าแทนเอาเลยทีเดียว แต่ที่ไหนได้ ในที่สุด โดยอาศัยความหลงญาณ กลับต้องเสื่อมหมดทุกอย่าง ไม่พ้นทุกข์ ไม่เข้าถึงอริยสัจ แต่กลับตกนรกไปเลย.

    ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านเน้นว่า ญาณเหล่านี้มันน่าคิดจริง ๆ เพราะมันวิเศษแท้ ทั้งเยือกเย็นทั้งสว่างผ่องใส ทั้งรู้อะไรที่เป็นอดีต อนาคต ตามความประสงค์ ผู้ที่ไม่เข้าใจความจริง ที่ไปติด ณ ที่นี้ เราจะสังเกตเห็นได้ตรงที่เกิดทิฐิขึ้นมาอย่างหนึ่ง คือการถือตัวว่าดีกว่าใคร ๆ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นครูบาอาจารย์หรือเพื่อนสหธรรมิกหรือศิษย์ หาว่าศิษย์สู้เราไม่ได้ ใครก็สู้เราไม่ได้ ทิฐิชนิดนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ตัวของตัวเองไม่รู้ตัวเอง ซึ่งท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านเปรียบว่า มีจระเข้ตัวหนึ่งใหญ่เหลือเกินอยู่ในท้องทะเล มันไม่รู้ว่าหางของมันอยู่ไหน เมื่อมันไม่รู้ มันเห็นหางของมัน มันก็กินหางของมัน กินไป ๆ จนเหลือแค่หัว เลยม้ำช้ำหมดเลย

    และท่านก็อธิบายว่า การหลงตัวด้วยญาณนี้มันละเอียดนัก เราจะสังเกตได้อีกอย่างหนึ่ง คือการขาดจากความรอบคอบบางสิ่งบางประการ เพราะเหตุแห่งการถือตัว เช่นการกล่าวคำดูถูกดูหมิ่นต่อเพื่อนสหธรรมิกด้วยกัน หรือต่อครูบาอาจารย์ของตน หรือบุคคลใด บุคคลหนึ่ง ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับการดำเนิน

    ญาณทุกญาณ ท่านอาจารย์มั่นฯ กล่าวว่า มันต้องเสื่อม มันจะคงตัวอยู่ได้ตลอดไปหาได้ไม่ แม้จะใช้ความพยายามสักเท่าใดก็ตาม คือว่าครั้งแรก ๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นความจริงได้ แต่ต่อไปก็เลือนเข้า ๆ กลับกลายเป็นความนึกคิด โดยอาศัยสัญญาเก่า นี้คือความเสื่อมแห่งญาณ ลูกศิษย์มีหลายองค์ ที่ต้องเสื่อมลงจากญาณเหล่านี้อย่างน่าเสียดาย ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสื่อม จึงต้องรีบดำเนินจิต เข้าสู่อริยสัจจ์เสียเลย เพราะความที่จิตเข้าสู่อริยสัจจ์ได้แล้ว มันก็ห่างจากความเสื่อมเข้าไปทุกที ๆ

    ท่านยกตัวอย่างว่าท่านอาจารย์หนูใหญ่ อายุคราวเดียวกับท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร ไม่พยายามดำเนินจึงเข้าสู่อริยสัจจ์แต่ว่ามีวิญญาณแหลมคมดี เอาแต่ญาณภายนอกอย่างเดียว จึงเสื่อมไปได้ คือท่านอาจารย์หนูใหญ่นั้น ปรากฏว่า เมื่อปฏิบัติไปแล้วเกิดญาณรู้ความจริงบางอย่างได้อย่างคล่องแคล่ว เป็นที่ปรึกษาหารือแก่สหธรรมมิกด้วยกันได้เป็นอย่างดี ทั้งมีความรู้พิเศษเป็นที่น่าอัศจรรย์มาก เมื่อหมู่คณะที่อยู่รวมสำนักกับท่านประพฤติผิดธรรมวินัยในข้อวัตรปฏิบัติแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม ท่านสามารถรู้ได้ด้วยญาณของท่าน ทั้งๆ ที่ท่านก็ไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นแต่ประการใด

    อาทิเช่นครั้งหนึ่ง เวลาตอนบ่าย สามเณรทั้งหลายได้จัดน้ำปานะ (อัฏฐบาล) ถวายพระเวลาที่พระทั้งหลายกำลังดื่มอยู่นั้น ขณะนั้นท่านอาจารย์หนูใหญ่ กำลังทำสมาธิอยู่ในความสงบ ได้ปรากฏเห็นพระเหล่านั้นในญาณ ของท่านว่า กำลังฉันอาหารกันอยู่ ท่านจึงไปที่ท่ามกลางหมู่คณะนั้นแล้วกล่าวว่า พวกเรากำลังฉันสิ่งของที่เจือด้วยอนามิสแน่ เพราะมันไม่บริสุทธิ์ ซึ่งพระภิกษุสามเณรทั้งหลายกำลังฉันน้ำปานะกันอยู่ พากันสงสัย และสามเณรผู้ทำก็ยืนยันว่าบริสุทธิ์ไม่มีอะไร เพราะทำมากับมือ แต่อาจารย์หนูใหญ่ก็ยืนยันว่าไม่บริสุทธิ์แน่ จึงได้มีการตรวจค้นกันขึ้น ได้พบเมล็ดข้าวสุกติดอยู่ที่ก้นภาชนะนั้นจริง ๆ เพราะเหตุนั้นหมู่คณะทั้งหลายจึงเกรงขามท่านมาก เพราะเมื่ออยู่ใกล้ ๆ กับท่านแล้วต้องระวัง ระวังความนึกคิด เป็นเหตุให้เกิดสติสัมปชัญญะขึ้นมาก

    แต่นั้นแหละเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เมื่อท่านอาจารย์หนูใหญ่ได้ออกไปไกลจากอาจารย์มั่น ฯไม่ค่อยจะได้เข้าไปศึกษาบ่อยๆ เมื่อภายหลังได้เกิดญาณเสื่อมจากคุณธรรมส่วนยิ่งโดยไม่รู้สึกตัว ต่อสู้กับกิเลสมาก คือไปไม่ได้ จึงลาสิกขาบท ไปอยู่ในฆราวาสวิสัย ยอมอยู่ใต้อำนาจของกิเลสต่อไป

    ท่านอาจารย์มั่นฯหลังจากเล่าความเป็นไป ของท่านอาจารย์หนูใหญ่ให้เป็นตัวอย่างแล้ว ท่านก็เน้นลงไปอีกว่า บุคคลผู้ที่ได้ญาณนี้แล้วถ้าเป็นเช่นนี้ย่อมเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งทีเดียว เพราะเท่ากับกับได้สมบัติมหาศาลแล้วรักษาสมบัติไม่ได้ หรือใช้สมบัติไม่เป็น ไม่ได้ประโยชน์จากสมบัตินั้น ผู้ที่ได้ญาณก็เหมือนกันว่าจะทำมันขึ้นมาได้แสนยากลำบากนัก แต่เมื่อได้มาแล้วไม่รู้จักรักษาและไม่รู้จักทำให้มันเป็นประโยชน์ จึงเป็นสิ่งที่นักปฏิบัติทั้งหลายควรสังวรเป็นอย่างยิ่ง

    สำหรับเรื่องญาณ หรือความสงบ ถ้าหากไปหลงมันเข้าปล่อยให้เกิดแต่ความสงบอย่างเดียวย่อมไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรจะได้ เพราะสถานที่นั้นเป็นที่สบายอย่างยิ่งและน่าอยู่ มันทำให้เกิดความสุขอย่างน่าพิศวง และเป็นสถานที่น่าคิดอยู่ของหมู่โยคาวจรทั้งหลายจริงๆ มิหนำซ้ำบางทีท่านก็หลงไปถึงกับว่าที่นี่เองเป็นที่หมดไปจากกิเลส อันที่จริงแล้วที่นี่เองจำเป็นต้องแก้ไขตัวของตัวเองอย่างหนัก เหมือนกันกับคนที่กำลังนั่งนอนสบาย และจะให้ทำงานหนักก็จำเป็นต้องทั้งบังคับทั้งปลอบ

    ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านชี้ตัวอย่างท่านอาจารย์เทสก์ เทสรงฺสี (พระนิโรธรังสีฯ) ว่า ท่านเทสก์นี้ได้ติดอยู่ในญาณนี้นานยิ่งกว่าใครๆ ในระยะที่ท่านเทสก์หลงอยู่ในญาณนั้น เราได้พยายามแก้ไขอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้คลายจากความเป็นเช่นนี้นั้น กว่าจะได้ผลต้องใช้เวลาถึง ๑๒ ปี เพราะท่านอาจารย์เทสก์ได้ติดอยู่ในญาณถึง ๑๒ ปี ครั้นเมื่อท่านอาจารย์เทสก์แก้ไขตัวของท่านได้แล้วถึงกับอุทานว่า เราหลงไปถึง ๑๒ ปี ถ้าไม่ได้ท่านอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิแก้ไขเราแล้วก็จะต้องติดไปจนตาย

    ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้เน้นหนักว่า การแก้ไขสิ่งของที่ดีที่เกิดขึ้นนี้ลำบากกว่าแก้สิ่งของไม่ดี เพราะความไม่ดีรู้กันในหมู่ผู้หวังดี หาทางแก้ไขได้ง่าย ส่วนความดีที่ต้องติดดีนี่แก้ไขยาก ผู้ติดดีจึงต้องใช้ความพยายามหลายอย่าง เพราะขั้นนี้มันเป็นขั้นปัญญา เนื่องจากการเกิดขึ้นภายในนั้นมีพร้อมทั้งเหตุและผล จนทำให้เชื่อเอาจนได้ จะไปว่าอะไรแต่อย่างอื่นที่ไกลจากอริยสัจธรรม แม้แต่วิปัสสนาซึ่งก็เป็นทางไปสู่อริยสัจจ์อยู่แล้ว แต่ผู้ดำเนินไม่มีความรอบรู้พอ กลับกลายเป็นวิปัสสนูปกิเลสไปได้ การเป็นวิปัสสนูปกิเลสนั้นคือ

    โอภาโส แสงสว่างไม่มีประมาณ แสงสว่างที่เกิดจากจิตที่สงบยิ่งเกิดแสงสว่างขึ้น เป็นแสงสว่างที่จะหาสิ่งเปรียบเทียบยาก ผู้บำเพ็ญจิตเบื้องต้น พอจิตสงบแล้วเกิดนิมิต เห็นแสงสว่าง เท่านั้นไม่จัดเข้าในวิปัสสนู เพราะแสงสว่างที่จัดเข้าในวิปัสสนูนี้ เป็นแสงที่เกิดจากการเห็นของธรรมชาติ แม้การเห็นเป็นธรรมชาติ เป็นของจริงก็ตาม การที่จะถือเอาของจริงแม้นั้นก็ผิด เพราะความจริงที่เห็นนี้สำหรับพิจารณาด้วยญาณต่างหาก ไม่ใช่จะให้ติดข้องพัวพัน ถ้าติดข้องก็เกิดเป็นกิเลส ก็เลยยึดเข้าไปหาว่าได้ชั้นนั้นชั้นนี้ เลยยิ่งเหลวไปใหญ่ แสงสว่างที่เห็นของจริงนี้ท่านจึงจัดเป็นวิปัสสนูเพราะไปหลงเข้าแล้วหาว่าดี แม้เพียงเท่านี้ ความจริงมันเป็นเพียงเครื่องมือพิจารณาต่อไป ท่านจึงห้ามติด

    ญาณะ ความรู้ไม่มีประมาณ ความรู้ที่เกิดในขั้นต้น เป็นต้นว่ารู้ว่าจิตสงบ หรือรู้อยู่เฉพาะหน้าบ้าง อย่างนี้ไม่จัดเข้าในขั้นนี้ ความรู้ที่จัดเป็นวิปัสสนูนั้น คือความรู้ที่หยั่งรู้ว่า จิตเรานี้ว่ามีความสว่างจริง เช่นเห็นธาตุ ว่าเป็นธาตุจริง ชนิดนี้เราไม่เคยเห็นไม่เคยรู้มาก่อน แน่ล่ะ ถ้าจะเป็นของจริง เลยเข้าใจว่ารู้นี้เป็นธรรมแท้ จึงเป็นกิเลส เป็นเหตุให้ถือตัว แต่ความจริงแล้วท่านให้ใช้ความรู้นี้พิจารณาให้ยิ่งเท่านั้น มิใช่ให้ถือเอาความรู้ ก็เท่ากับถือเอาเครื่องมือว่าเป็นของจริง ท่านจึงห้ามติด

    ปีติ ความอิ่มใจอันแรงกล้า ความอิ่มใจซาบซ่านในตัวอันเกิดขึ้นแก่ผู้ฝึกสมาธิในขั้นต้น ไม่จัดเข้าในชั้นนี้ ปีติที่จัดเป็นวิปัสสนูปกิเลสนั้น คือความเยือกเย็นอันได้เห็นในสิ่งที่เราไม่เคยเห็น เช่นเห็นว่า ธาตุทั้งหลาย สักแต่ว่าธาตุ เป็นธรรมธาตุแห่งสภาพจริงๆ ความปีติเยือกเย็นอย่างที่ไม่เคยพบ ก็จะได้พบ เมื่อพบเข้าเลยเกิดความอิ่มใจอย่างแรงกล้า เข้าใจว่าเป็นของจริงทำให้ติด เกิดกิเลสเป็นเหตุให้ยึดถือว่า เป็นธรรมพิเศษหรืออมตธรรม ก็เลยจะเป็นทางให้ยึดแล้วก็ทำให้เนิ่นช้า ท่านจึงห้ามติด

    ปัสสัทธิ ความสงบยิ่ง การทำจิตสงบชั่วครั้งชั่วคราวของผู้เริ่มความเพียรไม่นับเข้าในชั้นนี้ ปัสสัทธิที่จัดเป็นวิปัสสนูฯ นั้น คือความสงบที่มีกำลังอันอาจจะจำแนกธาตุออกไปได้ว่าธาตุนั้นเป็นดิน เป็นน้ำเป็นต้น เพราะสงบจริง จึงจะเห็นธาตุเป็นธาตุจริง ซึ่งสามารถจะให้จิตหลง เพราะความสงบนี้เยือกเย็นมากขึ้นเป็นกำลัง แม้จะทำให้เกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ แต่ถ้าไปติดเพียงเท่านั้นแล้วก็เข้าใจว่าเป็นของจริง กลับกลายเป็นกิเลส ท่านจึงห้ามติด

    สุขะ ความสุขอันลึกซึ้ง ความสุขเกิดแก่จิตของผู้ฝึกหัดใหม่นั้น แม้ครั้งสองครั้งหรือชั่วครั้งชั่วคราวไม่จัดเข้าในชั้นนี้ สุขะที่จัดเป็นวิปัสสนูฯ นั้นเป็นผลไปจากการเห็นธาตุทั้งหลายว่าเป็นจริง เกิดความสงบสุขยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ความสุขนี้จะมีชั้นสูงขึ้นตามลำดับแห่งการเห็นตามเป็นจริงแห่งธรรมธาตุ ถ้าติดก็เป็นกิเลส เป็นเหตุให้พอใจเพียงแค่นั้น จะไม่ก้าวหน้าต่อไป ท่านจึงห้ามติด

    อธิโมกข์ ความน้อมใจเชื่อ ของจริงเป็นสิ่งที่มีอยู่ เป็นฐิติธรรม อาศัยอวิชชาเป็นเครื่องปิดบังจึงไม่สามารถจะเข้าถึงได้ แต่เมื่อพอแก่ความต้องการแล้วก็เป็นอันว่าถึงได้แน่นอน เมื่อทำไม่พอแก่ความต้องการแล้วก็ถึงไม่ได้ เหมือนกับคนทั้งหลายจะพากันเดินทางจากต่างจังหวัดเข้าสู่กรุงเทพฯ เช่นเขาทั้งหลายอยู่เชียงใหม่ แต่กรุงเทพนั้นน่ะมีจริง พอเขาเดินมาถึงลำปาง เขาก็พากันน้อมใจเชื่อว่า ลำปางนี่แหละคือ กรุงเทพ ฯ เขาเหล่านั้นก็ลงรถไฟโดยถือเอาลำปางเป็นกรุงเทพฯ เมื่อน้อมใจเชื่อเช่นนี้เป็นอันถึงกรุงเทพ ฯ ไม่ได้ กรุงเทพมีจริงแต่ต้องขึ้นรถไฟรถยนต์จากเชียงใหม่ไปให้พอแก่ความต้องการ ก็จะต้องถึงจนได้ อันการบำเพ็ญจิตยิ่งบำเพ็ญยิ่งละเอียดขึ้นเป็นลำดับ น่าทึ่งน่าอัศจรรย์มากมายเหลือจะนับจะประมาณ มีสิ่งประหลาดมากมายทีเดียวจึงเป็นสิ่งที่คล้ายกับธรรมชั้นสูง โดยเหมือนกับมีธรรมผุดขึ้นมาบอกว่า ถึงธรรมชั้นนั้นชั้นนี้บ้าง ได้เห็นอริยสัจจ์บ้าง ได้เห็นจะบรรลุบ้าง อะไรมากมายที่จะเกิดขึ้นน้อมใจเชื่อมันแล้ว เป็นกิเลสตัวใหญ่กางกั้นความดี ที่กำลังจะก้าวหน้าไปอย่างน่าเสียดาย

    ปัคคาหะ ความเพียรอาจหาญ การบำเพ็ญจิตจนเกิดความดี ความงาม ความที่ละเอียดอ่อน โดยอาศัยพลังงานแห่งจิต โดยที่ต้องการให้ถึงเร็ว เป็นการเร่งเกินแก่ความพอดี อย่างไม่คำนึงถึงว่าร่างกายมันจะเป็นอย่างไร เอาใจเป็นใหญ่ หักโหมความเพียรอย่างไม่ปรานีปราสัย นี่ก็เป็นทางเสียหาย เพราะเหตุใด ท่านจึงจัดเป็นอุปกิเลสแห่งวิปัสสนาด้วยเล่า ก็เพราะว่าในที่นี้นับว่าเป็นความปรารถนาอย่างรุนแรงของใจ จนอาจจะเป็นอันตรายได้ โดยขาดมัตตัญญู ความเป็นผู้รู้จักประมาณไป จึงกลายตัวมาเป็นอุปกิเลส ซึ่งทำให้เกิดความมัวหมอง ถึงกับจะกางกั้นความเจริญชั้นสูงต่อไป แต่การจะถือเอาวิปัสสนูฯ ข้อนี้มาทำให้เกิดหย่อนความเพียร เรื่องก็ยิ่งเสียหายกันไปใหญ่อีก ในที่นี้ท่านต้องการความพอดี เหมือนกับการรับประทานอาหาร “ความอิ่ม” นี่คือความพอดี ถ้าเรารับประทานไม่อิ่ม แต่เราถือว่า “อิ่ม” นี่คือไม่พอดี ถ้าเรารับประทาน “อิ่ม” ยิ่งเติมเข้าไป ก็เกินความพอดี เราจะต้องทราบความละเอียดที่เกิดผลตามสมควร จึงจะชื่อว่าพอดี ไม่หักโหมเกินไป จนเป็นเหตุให้ถือเอาความเพียรข่มผู้อื่นอันจะกลับกลายเป็นกิเลสไป

    อุปฐานะ สติกล้า สตินี้ไม่น่าจะเป็นอุปกิเลส เพราะสตินี้เองสามารถดำเนินจิตให้ตั้งเที่ยงอยู่ได้ แต่ว่าไม่ว่าอะไรทุกสิ่งทุกอย่างจะดีสักเท่าไรก็ตาม ถ้าเกินไปก็ใช้ไม่ได้ แม้สติกำหนดเพ่งกันเกินไป กำหนดอยู่ในกายานุปัสสนา ไม่รู้จักพักผ่อน เกินแก่ความต้องการไม่ช้าก็ต้องเลอะเลือน ธรรมดาการใช้สติกำหนดต้องรู้จักพักตามสมควร เพราะถ้าไม่รู้จักพักแล้ว เมื่อมันเกิดความเลอะเลือนขึ้น ความสงสัยก็ตามมา ก็จะกลับกลายเป็นอุปกิเลสไป

    อุเบกขา ความวางเฉย การจัดอุเบกขาเป็นวิปัสสนู ฯ นั่นคือการไปเข้าใจเอาเองว่า นี่เป็นวิมุตติธรรม หรือความละเอียดแห่งจิต เท่านี้ถือว่าเป็นการบรรลุธรรมชั้นสูง เลยวางเฉย ถือว่าเป็นสิ่งแน่นอน ยังไม่ถึงอริยสัจจ์เต็มที่ มาวางเฉยเสียก่อนเป็นการคำนึงเอง หรือเป็นการ “ชิงสุกก่อนห่าม” ท่านจึงจัดว่าเป็นเครื่องเศร้าหมอง นักปฏิบัติควรระวังเป็นพิเศษในข้อนี้ อย่าไปวางเฉยเอาง่าย ๆ ต้องพิจารณาให้ถ่องแท้เสียก่อน

    นิกันติ ความพอใจ ความพอใจแม้จะเป็นธรรมชั้นละเอียดก็ยังใช้ไม่ได้ เพราะจะเป็นการพอใจอยู่เพียงหนทาง ไม่เชื่อว่าพอใจในสถานที่ต้องการ เพราะการถึงสถานที่ที่ต้องการนั้น มิใช่เป็นความพอใจ แต่เป็นความจริง และของจริงนั้นเมื่อเป็นขึ้น ย่อมเป็นสิ่งล่วงพ้นจากความพอใจที่จะพึงกำหนดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ถ้าทำความพอใจในธรรมละเอียดไม่ดี จะกลายเป็นอัตถวาทุปาทานไปเสีย จะเสียงานใหญ่ในการที่จะบำเพ็ญให้ก้าวหน้าต่อไป.

    ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้เน้นหนักลงไปถึง ฌาน และญาณนี้หนักมากในพรรษานี้ เพื่อให้ศิษย์ทั้งหลายได้สำเหนียก เพื่อความก้าวหน้าของตน
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พ.ศ. ๒๔๖๓ เสนาสนะ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย

    [​IMG]


    การจำพรรษาของท่านอาจารย์มั่นฯ นั้น โดยส่วนมากท่านย้ายสถานที่อยู่เสมอ ทั้งนี้เพื่อจะได้บำเพ็ญประโยชน์ให้ได้มาก ๆ และมิให้จำเจที่จะต้องเกิดความกังวลอีกด้วย และแม้ว่าท่านจะไปจำพรรษาที่ไหนก็ตาม บรรดาลูกศิษย์ผู้หวังดีจะต้องติดตามไป เพื่อศึกษาธรรมปฏิบัติจากท่านเพื่อให้ก้าวหน้าต่อไป แม้ว่าจะได้ทราบชัดถึงหนทางที่ท่านได้แนะนำให้อย่างแจ่มแจ้งแล้วก็ตาม แต่ข้อละเอียดบางประการ ก็ต้องอาศัยการอบรมจากท่านอยู่อย่างใกล้ชิด

    ในปีนี้พระภิกษุสามเณรรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ก็เริ่มมากขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากว่า ก่อนนี้ การปฏิบัติโดยเฉพาะ การบำเพ็ญสมณธรรมนั้นเป็นของลึกลับมาก ยากแก่การที่มาดำเนินกันอย่างง่าย ๆ แต่ท่านพระอาจารย์มั่น ฯ ก็มาเปิดศักราชการปฏิบัติ โดยกำหนดการปฏิบัติอย่างง่ายๆ ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือพระภิกษุสามเณร ก็สามารถทำได้ด้วยกันทั้งนั้น และก็ได้ประสบผลอย่างทันตาด้วย โดยไม่ต้องไปเสียเวลายกครู ยกขัน ๕ ขัน ๘ เหมือนอย่างแต่ก่อน แม้สามเณรองค์เล็กก็สามารถปฏิบัติให้เกิดความอัศจรรย์ได้ อันพุทธบริษัทในสมัยนั้นบางจำพวกก็ยังพากันกล่าวถึงว่า มรรคผลธรรมวิเศษนั้นหมดเขตหมดสมัยแล้ว จึงได้พากันไม่สนใจต่อการบำเพ็ญสมณธรรม เพราะถือว่าเปล่าประโยชน์ แต่ท่านพระอาจารย์มั่นฯ ท่านได้มาเปิดศักราชแห่งการปฏิบัติจิต แก้ไขความคิดเห็นของผู้ที่ยังหลงงมงายเหล่านั้นโดยสิ้นเชิง เพราะว่าสามเณรองค์เล็ก ๆ เมื่อปฏิบัติแล้วก็ได้รับผลแห่งความเย็นใจ และฆราวาสผู้ปฏิบัติก็ได้รับผลเป็นที่พึงพอใจอย่างฉับพลัน ความจริงที่เกิดขึ้นแก่บุคคลที่น้อมนำมาเชื่อและปฏิบัติตามนี้ จึงได้ลบความเชื่อถือที่ว่ามรรคผลหมดเขตหมดสมัย

    การที่ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้เผยแพร่ความจริงของการปฏิบัติ ที่เป็นการเผยแพร่โดยให้บุคคลที่น้อมตัวเข้ามาเชื่อได้เห็นเอง คือให้กระทำแล้วได้รู้เองว่า รสของพระสัทธรรมนั้นเป็นอย่างไร ด้วยเหตุนี้เกียรติคุณของท่านจึงแพร่ไปอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้ลูกศิษย์ของท่านมีมากขึ้นในระยะเวลาอันสั้น ตัวท่านและศิษย์ที่มารับการอบรมก็ได้รับรสพระสัทธรรม และช่วยให้บุคคลอื่นนอกนั้นมาร่วมเป็นสมาชิกในการดำเนินการปฏิบัติจิต และก็บรรดาผู้ที่น้อมตัวเข้ามาเป็นศิษย์ของท่าน ก็เป็นอันรับรองได้เลยทีเดียวว่า จะต้องได้รับผลแน่นอน เพราะปรากฏในภายหลังว่า ศิษย์ของท่านได้กลับกลายเป็นผู้มีความสำคัญ ในการเผยแพร่การปฏิบัติที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณ ทำประโยชน์แด่พระพุทธศาสนาเป็นอันมาก

    ทั้งนี้เนื่องมาจากว่า ท่านได้กำหนดวางรากฐานการปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสมแก่กาลสมัย เพราะการกำหนดมาตรการอันเป็นสิ่งที่ท่านได้กำหนดพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนจริง ๆ ปรากฏตามประวัติที่ท่านต้องออกไปอยู่ในถ้ำแต่ผู้เดียวบ้าง ศึกษาจากครูบาอาจารย์บ้าง และการที่ท่านได้ทำความรอบคอบในการวางรากฐานแห่งการปฏิบัตินี่เอง เป็นผลให้เกิดความมั่นคงในวงการของนักปฏิบัติผู้นับเนื่องในความเป็นศิษย์ของท่าน และการที่ท่านจะวางมาตรการของท่าน ก็ต้องวางให้ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไว้ ดังนั้นท่านจึงได้อ้างถึงพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมแก่ใคร เพราะอะไร ท่านได้แสดงเสมอว่า พระปัญจวัคคีย์เมื่อจะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พระองค์ก็ทรงชี้ลงไปที่รูปของพระปัญจวัคคีย์เอง มิได้ทรงแสดงเกินกว่ารูปพระปัญจวัคคีย์เลย เช่นทรงแสดงว่า รูปํ ภิกฺขเว อนตฺตา ดูก่อนพระภิกษุทั้งหลาย รูปไม่ใช่ตน ปัญจวัคคีย์ก็มีรูปมาแต่ไหน ๆ แต่ทำไมไม่ได้สำเร็จพระอรหันต์ มาสำเร็จเอาตอนที่พระพุทธองค์ทรงชี้ให้ คนเราก็เช่นเดียวกัน แม้เราพากันพิจารณาดูรูปก็ต้องไม่ผิดหนทางแน่นอน ท่านได้อ้างอิงอย่างมีหลักฐานเช่นนั้น จึงเป็นที่น่าเชื่อถืออย่างยิ่งแก่บุคคลที่เข้ามาศึกษาธรรมปฏิบัติกับท่าน

    ณ ที่ท่าบ่อนี้เอง บัดนี้ได้กลับกลายมาเป็นวัดป่าอันเป็นสถานที่บำเพ็ญกัมมัฏฐานเป็นเหตุให้เกิดมีผู้บุญขึ้นมาอีกมาก ได้นามว่า วัดอรัญญวาสี มีพระอาจารย์เทสก์ เทสรงฺสี พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์สุวรรณ พระอาจารย์หลายและองค์อื่นๆ อีกมาก ที่ได้มาเห็นว่าสถานที่นี้ดี เหมาะแก่ การบำเพ็ญสมณธรรม และได้มาบำเพ็ญแล้วก็ได้รับประโยชน์ทางใจจากสถานที่นี้มากมายทีเดียว
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พ.ศ. ๒๔๖๔ เสนาสนะป่าบ้านห้วยทราย กิ่งคำชะอี จังหวัดนครพนม

    [​IMG]


    ท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้จำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านห้วยทราย เขตจังหวัดนครพนม ปรากฏว่าได้มีพระภิกษุ ๕ รูปและสามเณรอีก ๕ รูป ร่วมจำพรรษากับท่าน ในปีนี้ท่านได้เริ่มศักราชแห่งการแก้ความเห็นผิดแก่ชาวบ้านตามท้องถิ่นที่ท่านได้ไปพักพาอาศัย โดยการแนะนำถึงพระไตรสรณคมน์ว่า การนับถือพระพุทธเจ้าและพระธรรม พระสงฆ์นั้นเป็นประการสำคัญ การนับถือภูตผีปีศาจต่างๆ ของประชาชนแถบนี้ ในสมัยนับถือกันหนักมาก ซึ่งท่านก็พยายามแสดงเหตุผลและพยายามให้เข้าใจจริง จนทำให้ประชาชนเหล่านั้นได้ละความถืออย่างผิดๆ นั้น เช่นเขานับถือว่า บิดามารดาตายแล้วก็มาอาศัยอยู่ที่หิ้ง คอยทำให้ลูกหลานเจ็บป่วย ตลอดจนการปลูกศาลเจ้าที่.พระภูมิเจ้าที่ เป็นต้น เมื่อประชาชนละความเห็นผิดนั้นแล้ว ก็ให้ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะเสียหมด พร้อมทั้งปลูกศรัทธาในการเจริญกัมมัฏฐานภาวนา ซึ่งปรากฏ ว่าประชาชนในถิ่นนั้นจนตราบเท่าทุกวันนี้ ได้เป็นผู้เกิดความสนใจ ในการเจริญกัมมัฏฐานภาวนาสืบต่อกันมา และท่านได้พักอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านห้วยทรายนี้ประมาณ ๑๐ เดือนจึงได้เดินธุดงค์ต่อไป

    ท่านอาจารย์เสาร์ ท่านพักอยู่ที่ถ้ำภูผากูดถึง ๕ พรรษา ออกพรรษาแล้วไปพักจำพรรษาในเขตท้องถิ่นของอำเภอมุกดาหาร และกิ่งอำเภอคำชะอีไปๆ มาๆ เมื่อท่านอาจารย์มั่นฯ ออกจากบ้านห้วยทรายแล้ว ท่านต่างก็ได้ร่วมทางเดินธุดงค์ออกขึ้นไปทางทิศเหนือขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงบ้านหนองลาด บ้านม่วงไข่พรรณา ซึ่งเป็นบ้านที่ใกล้บ้านเดิมของท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร และออกเดินธุดงค์ไปทางบ้านหนองแวง บ้านโพนเชียงหวาง ตามหนทางถิ่นนี้เป็นป่าดงพงพีเต็มไปด้วยไม้เต็งรัง ไม้แดง ไม้ตะเคียน เป็นป่าทึบ ท่านได้พักพิงและพาหมู่คณะศิษย์ทำความเพียรเป็นระยะไป และได้ลูกศิษย์เพิ่มขึ้นตามระยะทาง ทั้งที่เป็นพระภิกษุสามเณรและเด็ก

    จากนั้นท่านก็ธุดงค์ต่อไป ถึงบ้านหนองใส บ้านตาลโกน บ้านตาลเนิ้ง อันเป็นบ้านเดิมของท่านอาจารย์วัน อุตฺตโม บริเวณถิ่นนี้มีหมู่บ้านเป็นหย่อมๆ พวกเขาส่วนมากเป็นชาวนา การไปตามแถวถิ่นนี้ท่านจะแนะนำหมู่ชนให้ละจากการนับถือภูตผีปีศาจ โดยความหลงผิดเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นตัวอย่างให้แก่ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นศิษย์ของท่านได้เจริญรอยตามที่ท่านได้ทำมาแล้ว คือให้ละจากการถือผิด ให้เป็นพุทธบริษัทที่แท้จริง พร้อมทั้งปลูกศรัทธาในการเจริญกัมมัฏฐานภาวนาไปด้วย

    จากนั้นท่านก็ธุดงค์ต่อไปเรื่อยๆ จนถึงบ้านหนองปลาไหล บ้านพังโคน กิ่งวาริชภูมิ แม้ในขณะที่ท่านพาหมู่คณะที่เป็นศิษย์ธุดงค์ไปตามหมู่เขาลำนาไพรนี้ เมื่อพักอยู่นานๆ เข้าก็จะมีทั้งพระภิกษุสามเณร และอุบาสก อุบาสิกา สนใจจากทางไกลๆ เข้ามาศึกษาธรรมปฏิบัติกับท่าน เพราะเหตุว่าการปฏิบัติแต่ก่อนนี้เป็นสิ่งลี้ลับ กลับมาเปิดเผยจะแจ้งขึ้น ท่านผู้ใดได้บำเพ็ญตามท่าน แม้แต่อุบาสกอุบาสิกา ซึ่งเป็นฆราวาสมาบำเพ็ญก็ได้ผลอย่างน่าประหลาด ผู้ที่เป็นพระภิกษุจะมาอยู่ดูดายไม่ปฏิบัติ ก็จะด้อยกว่าฆราวาสด้านปฏิบัติธรรม ก็จะเป็นการทำให้ฆราวาสดูถูกดูแคลนได้ จึงปรากฏว่า บรรดาพระภิกษุทั้งหลายเกิดการตื่นตัวขึ้น มาหาท่านเพื่อขอมอบตัวเป็นศิษย์ ทั้งพระผู้ใหญ่อันเป็นพระเถระ และพระผู้น้อย ทั้งพระเก่า ๆ ที่เป็นพระเถระซึ่งติดตามท่านไปห่าง ๆ ก็สามารถสอนธรรมกัมมัฏฐานได้เช่นท่านเหมือนกัน การเดินธุดงค์จึงเป็นการเผยแพร่พระธรรมปฏิบัติไปในตัวด้วย

    ในขณะนั้นพระอุปัชฌาย์เกิ่ง อธิมุตตโก ท่านอาจารย์ดี วัดม่วงไข่พรรณาก็ได้มาขอเรียนกัมมัฏฐานภาวนาจากท่านอาจารย์มั่นฯ จนปรากฏว่าได้ผลอย่างมหัศจรรย์ จึงได้พาหมู่คณะอันเป็นศิษย์เข้ามาศึกษาธรรมปฏิบัติอีกด้วย ระยะนี้เริ่มมีผู้สนใจในการปฏิบัติกับท่านเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเป็นคณะหมู่ใหญ่ขึ้น เขตในท้องถิ่นนั้นและเขตใกล้เคียงได้เกิดศรัทธา ปฏิบัติเห็นอรรถธรรม ต้องการบรรพชาอุปสมบท แต่ขณะนั้นท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านยังไม่ได้เป็นอุปัชฌาย์ จึงได้นิมนต์ท่านพระครูอดิสัยคุณาธาร (อากโร คำ ) ที่วัดศรีสะอาด เจ้าคณะจังหวัดเลยมาเป็นอุปัชฌาย์

    การทำการอุปสมบทในสมัยนั้น เป็นการเริ่มต้นวางระเบียบการบวชตาผ้าขาวแต่ก่อนที่จะทำการบรรพชาอุปสมบท การบวชตาผ้าขาว คือการรักษาศีล ๘ และให้รับประทานอาหารเพียงมื้อเดียว และฝึกหัดดัดแปลงนิสัยใจคอ ทั้งฝึกสมาธิให้เป็นประดุจพระหรือสามเณรไปตั้งแต่ยังเป็นตาผ้าขาวนี้เสียก่อน ถ้าการฝึกยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ก็ยังไม่บรรพชาอุปสมบทให้ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปี การฝึกผู้จะบวชนั้นปรากฏว่าเรียบร้อยดีมาก

    ระเบียบนี้จึงได้มีขึ้นในคณะกัมมัฏฐานจนถึงปัจจุบัน คือผู้ที่จะบวชเป็นการถาวร ต้องทำการฝึกหัดให้ปฏิบัติกัมมัฏฐาน ตลอดจนพระวินัยเป็นการเตรียมเพื่อจะทำการบรรพชาอุปสมบท

    ในแถวๆ บ้านโพนเชียงหวางนี้มีผู้มีบุญวาสนาได้ปวารณาตนเข้ามาปฏิบัติอยู่ด้วยท่านอาจารย์มั่น ฯ และลูกศิษย์ของท่านมาก ทั้งปรากฏเป็นผู้เข้มแข็งในการเจริญสมณธรรมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งปรากฏในภายหลังว่าได้เป็นพระอาจารย์ผู้สันทัดในการสอนกัมมัฏฐานมากขึ้นในแถบนั้น.

    การธุดงค์ที่ให้เกิดประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น ที่ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้ดำเนินขึ้นในปีนั้น เป็นการวางแผนแบบใหม่ขึ้นคือ เมื่อถึงคราวที่จะทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ท่านก็จัดผู้ทรงคุณธรรมภายในและมีปฏิภาณเฉลียวฉลาดในการแสดงธรรมเป็นหัวหน้าชุดละ ๓ - ๔ องค์ ท่านเป็นหัวหน้าไปพักบ้านหนึ่งบ้านใด อาจจะเป็น ๗ วัน ๑๐ วัน ๑ เดือน สุดแล้วแต่ความเหมาะสมอันจะเป็นประโยชน์ได้ และหัวหน้าตามหลังท่านมาก็พักอยู่ตามทาง ตามบ้านที่ท่านพักตามกำหนดที่ท่านอาจารย์มั่นฯ พัก และทำการสอนกัมมัฏฐานภาวนา ติดตามท่านมาตลอดแห่งหนทางการไปธุดงค์ และการที่จะตัดสินใจไปที่ใดนั้นเป็นหน้าที่ของท่านอาจารย์มั่น ฯ ซึ่งการไปไม่ว่าจะเป็นที่ใด ท่านจะพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะพึงเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง คือชาวบ้านเหล่านั้น และกุลบุตรในแถบถิ่นนั้นจะพึงมีบุญวาสนาพอจะรับธรรมปฏิบัติจากท่านได้ ท่านก็จะพาคณะเดินทางไปยังประเทศตำบลนั้น

    นี้เป็นวิธีที่ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโมนำเอามาเป็นแบบดำเนินการหลังจากท่านอาจารย์มั่น ฯ เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ท่านได้มอบศิษย์ทั้งหลายให้อยู่ในความปกครองของท่านอาจารย์สิงห์ทั้งหมด ท่านอาจารย์สิงห์ ท่านได้ดำเนินธุดงค์พิธีนี้ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑ โดยได้เดินทางมาจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งปรากฏว่าได้มีวัดเสนาสนะป่า อันเป็นแหล่งสถานที่บำเพ็ญสมณธรรมแก่ภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา เป็นอันมาก นับเป็นจำนวนพันๆ แห่งทีเดียว

    อีกวิธีหนึ่ง การธุดงค์นั้น ท่านจัดให้ไปแสวงหาความสงบโดยเฉพาะ วิธีนี้ได้จัดขึ้นให้เป็นประโยชน์เฉพาะภิกษุสามเณร คือผู้ที่บวชใหม่ หรือบวชเก่า แต่ยังปฏิบัติไม่ได้ผลเท่าที่ควรจะได้ ก็ต้องไปธุดงค์ คือจะต้องแสวงหาสถานที่ไกลจากบ้านพอสมควร อาจจะเป็นป่าไม้ หรือภูเขา หรือเป็นถ้ำ หรือเป็นป่าช้า พักอยู่บำเพ็ญสมณธรรมโดยเฉพาะ ไม่สอนอุบาสกอุบาสิกา แนะนำกันในระหว่างพระภิกษุสามเณร อบรมกันให้ยิ่งด้วยการกำหนดจิตพยายามช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แก้ความสงสัยที่เกิดขึ้นหลังจากการเกิดผลขึ้นจากบำเพ็ญ ถ้าหากว่าแก้กันไม่ไหวก็จะนำไปหาท่านอาจารย์ใหญ่ เพื่อแก้ไขความสงสัยทั้งหลาย

    การอยู่นั้นสุดแล้วแต่สถานที่ ถ้าเป็นที่สงบสงัดดี บำเพ็ญสมณธรรมได้ผล ก็อยู่นาน ถ้าเป็นที่ไม่ค่อยสงบหรือไม่ได้ผลในการบำเพ็ญสมณธรรมเท่าไร ก็จะอยู่ไม่นาน การธุดงค์แบบนี้จะอยู่กันชั่วคราวทุกสถานที่ แต่ถ้าเป็นสัปปายะดีก็อาจจะอยู่เป็นเวลาหลายวัน หลายเดือน นี้หมายความว่าได้ประโยชน์ในการบำเพ็ญจริงๆ

    แม้การจำพรรษาก็เหมือนกัน ท่านจะต้องแสวงที่ๆ จะพึงได้ประโยชน์แก่การบำเพ็ญสมณธรรมจริงๆ จึงพยายามหาวิธีการปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งพระอมฤตธรรม จึงปรากฏว่าได้ดำเนินถูกต้องตามทำนองคลองธรรมอย่างแต่กาลก่อน เช่นที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ว่า

    อรญฺเญ รุกฺขมูเล วา สุญฺญาคาเร จ ภิกฺขโว

    ในป่า ใต้โคนต้นไม้ เรือนว่างเปล่าเป็นที่สงบสงัด สมควรแก่บุคคลผู้ต้องการด้วยความเพียรและอมฤตธรรมจะพึงอยู่อาศัย

    ครั้งนั้นแม้แต่พระที่เป็นหลวงตา บวชเมื่อแก่ ซึ่งเป็นชาวบ้านโพนเชียงหวางองค์หนึ่ง ได้ติดตามมาปฏิบัติกับท่านอาจารย์มั่นฯ และเคร่งครัดต่อการปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง มีความเพียรอันกล้าหาญ จนบังเกิดผลมีความรู้ฉลาดในการปฏิบัติจิต แม้หลวงตานี้จะมิได้เรียนทางปริยัติมาเลย แต่อาศัยการเจริญภาวนาค้นคว้าพระธรรมวินัยเฉพาะด้านจิต ท่านก็แตกฉานจนถึงเป็นที่พึ่งเก่นักศึกษาธรรมปฏิบัติรุ่นหลังต่อมาได้ ซึ่งปรากฏเป็นที่เคารพนับถือของหมู่คณะได้เป็นอย่างดี
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พ.ศ. ๒๔๖๕ เสนาสนะป่าบ้านหนองลาด อ. สว่างแดนดิน จ. สกลนคร

    [​IMG]


    ท่านอาจารย์เสาร์ และท่านอาจารย์มั่น ฯ พร้อมทั้งศิษย์ของท่านอาจารย์ทั้ง ๒ รุ่นแรก และผู้เข้ามาฝึกหัดใหม่ รวมกันจำนวนมาก จำพรรษาอยู่ที่เสนาสนะป่า บ้านหนองลาด (ปัจจุบันเป็น ร.ร.ประชาบาล) อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร นับเป็นเวลา ๗ ปี ที่ท่านอาจารย์ได้เริ่มแนะนำการปฏิบัติธรรมที่ง่าย และได้ผลจริงจังจนถึงปีนี้ และได้มีผู้ที่ได้รับธรรมชั้นสูงจากท่านจนสามารถสอนธรรมกรรมฐานแทนท่านได้ก็มากองค์ มาในปีนี้ท่านอาจารย์ใหญ่ทั้ง ๒ ใคร่จะได้ปรับปรุงแผนการให้ได้ผลยิ่งขึ้น ทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ จึงได้มีการรวมประชุมบรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายให้มาจำพรรษา ณ ที่นี้

    แม้ท่านอาจารย์ทั้ง ๒ ก็ได้ปรึกษาหารือเกี่ยวกับธรรมปฏิบัติเป็นประจำ ท่านอาจารย์เสาร์ ก็ได้มอบให้ท่านอาจารย์มั่น ฯ เป็นผู้วางแผนงาน ตลอดถึงแนะนำธรรมปฏิบัติ เพื่อให้ทุกองค์ได้ยึดเป็นแนวการปฏิบัติ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

    ทางฝ่ายบรรพชิต ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้ยืนยันถึงการที่ได้ปฏิบัติมาและแนะนำมาก่อนแล้วนั้น เป็นทางดำเนินถูกต้องแล้ว ว่าแต่ใครๆ อย่าไปแหวกแนวเข้าก็แล้วกัน เพราะเมื่อดำเนินมาเป็นเวลา ๗ ปีนี้ เกิดผลสมความตั้งใจแล้วคือการปฏิบัติตามอริยสัจจธรรม โดยเฉพาะท่านย้ำถึงการพิจารณากายนี้เป็นหลักประกันที่สำคัญยิ่ง ท่านได้ยกตัวอย่างมากมาย นับแต่พระบรมศาสดา และพระสาวกทั้งหลายซึ่งผู้ที่จะผ่านเข้าสู่อริยสัจจ์นั้นจะไม่พิจารณากายไม่มีเลย ข้อนี้ท่านยืนยันอย่างแน่วแน่

    การที่ท่านย้ำลงในข้อการพิจารณาโดยอุบายต่าง ๆ นั้น เพราะกลัวศิษย์จะพากันเข้าใจผิดว่าเป็นการพิจารณาที่ไม่ถูก อาจจะเข้าใจไขว้เขว แล้วจะเป็นการเสียผลเป็นอย่างยิ่ง ทั้งท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้วิตกว่ากลัวผู้ที่ไม่เข้าใจโดยละเอียดถ่องแท้จะพากันเขวหนทางและพาให้หมู่คณะที่อยู่ในปกครองเขวหนทางตามไปด้วย เพราะท่านได้นิมิตในภายในสมาธิของท่าน ณ ค่ำคืนวันหนึ่ง ท่านนิมิตว่า

    “ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า เราได้พาพระภิกษุสามเณรเป็นจำนวนมาก เข้าไปบิณฑบาตในละแวกบ้าน ขณะนั้นก็ได้เกิดนิมิตในสมาธิเป็นที่น่าประหลาดใจขึ้น คือ พระภิกษุสามเณรที่ตามเรามาดี ๆ ก็เกิดมีพวกหนึ่งแซงซ้ายบ้าง ขวาบ้าง ขึ้นหน้าเราไป บางพวกก็เลยเดินออกไปนอกทางเสีย และก็มีอีกพวกหนึ่งที่เดินตามเราไป”

    การนิมิตเช่นนี้ ท่านได้เล่าให้ศิษย์ของท่านฟังทุก ๆ องค์ พร้อมทั้งอธิบายว่า

    ที่มีพวกภิกษุสามเณรแซงท่านขึ้นไปข้างหน้านั้น คือบางพวกจะพากันอวดตัวว่าเก่งว่าดีแล้ว ก็จะละจากข้อปฏิบัติที่เราได้พาดำเนิน ครั้นแล้วก็จะเกิดความเสื่อมเสีย ไม่ได้ผลตามที่เคยได้ผลมาแล้ว ซึ่งเขาเหล่านั้นก็จะมาอ้างเอาว่าเป็นศิษย์ของเรา แต่ที่ไหนได้พากันหลีกเลี่ยงการปฏิบัติต่างๆ ที่เรากำหนดให้ไว้ ที่สุดแม้แต่สิ่งเล็กๆ น้อย ๆ เช่นสีจีวรเป็นต้น การจะปฏิบัติเพื่อการพิจารณากายอันนับเนื่องด้วยอริยสัจจธรรมก็ยิ่งห่างไกล

    จำพวกหนึ่งเดินออกนอกทาง คือจำพวกนี้เพียงแต่ได้ยินกิตติศัพท์เราแล้ว ก็อ้างเอาว่าเป็นศิษย์ของท่านอาจารย์มั่น ฯ บางทีจะยังไม่เคยเห็นหน้าเราเสียด้วยซ้ำ และก็หาได้รู้อุบายแยบคายในการปฏิบัติแต่อย่างใดไม่ หรือพวกที่เคยอยู่กับเรามา เมื่ออยู่กับเราก็คงเคร่งครัดเพราะกลัว แต่พอออกจากเราไปแล้ว ก็ไม่นำพาในข้อธรรมและการปฏิบัติของเรา เพียงแต่มีชื่อว่าเป็นศิษย์ของท่านอาจารย์มั่น ฯ เท่านั้นแต่ไม่มีข้อปฏิบัติอันใดที่จะถือได้ว่าเป็นแนวทางเป็นตัวอย่างอันนำมาจากเราเลย

    จำพวกหนึ่งที่เดินตามหลังเราไปนั้น จำพวกนี้เป็นผู้ดำเนินตามคำแนะนำของเราทั้งภายนอกและภายใน เป็นผู้ใคร่ต่อธรรม ต้องการพ้นทุกข์ในวัฏฏสงสาร พยายามศึกษาหาความรู้ทุก ๆ ประการที่มีความสนใจ ต่อหน้าหรือลับหลังก็เหมือนกัน รับข้อปฏิบัติแม้เล็กน้อยรักษาไว้ด้วยชีวิตจิตใจ เพราะจำพวกนี้ได้รับผลแห่งการปฏิบัติมากับเราแล้ว เกิดผลอันละเอียดอ่อนจากข้อวัตรปฏิบัติเหล่านี้ ก็เป็นที่แน่นอนว่าจะแปรผันเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้

    พวกที่ออกนอกลู่นอกทางนั้นคือ เขาเหล่านั้นไม่ได้รับผลอย่างจริงจังจากการปฏิบัติอยู่กับเรา เพราะเหตุที่ไม่ได้ผลจริงนั้นเอง ทำให้เกิดความลังเลสงสัยไม่แน่ใจ แต่พวกที่เดินตามเราย่อมได้รับความเจริญ

    การที่ท่านได้เล่าถึงเหตุการณ์ในอนาคตของศิษย์ของท่าน เพื่อเตือนสติให้ระลึกถึงความที่ว่า ธรรมปฏิบัติที่ท่านได้อุตส่าห์ลงทุนลงแรง พากเพียรพยายามทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จนบังเกิดผลมหาศาล จะพึงอยู่นานได้เพียงไรนั้น ก็แล้วแต่ศิษย์ทั้งหลายจะพากันมีสติหรือพากเพียร เพื่อให้เกิดผลจริงจัง จะรักษาการปฏิบัติเหล่านี้ได้ ถ้าใครจักพึงกล่าวว่าเป็นศิษย์ท่านอาจารย์มั่นฯ เขาก็จะได้รักษาไว้ซึ่งข้อวัตรปฏิบัติของท่านอาจารย์มั่น ฯ ผลลัพธ์ที่จะได้ก็จะได้สมจริง

    นอกจากการที่ท่านได้เน้นหนักในการรักษาแผนกการสอนและแนวทางด้านการปฏิบัติของพระภิกษุสามเณรแล้ว ท่านมาแสดงถึงพุทธบริษัททางด้านฆราวาส

    ทางฆราวาสท่านเน้นหนักการเชื่อถือ เพราะปรากฏว่าพุทธบริษัทบางจำพวกพากันไปนิยมนับถือในสิ่งที่ผิดเสียมาก เช่นนับถือภูตผีปีศาจ นับถือศาลเจ้าที่ นับถือการเข้าทรง นับถือเทพเจ้าต่างๆ นับถือศาลพระภูมิ นับถือต้นไม้ใหญ่ นับถืออารามเก่าแก่ ซึ่งการนับถือสิ่งเหล่านี้นั้น มันผิดจากคำสอนพระพุทธเจ้าโดยแท้ เป็นการนับถือที่งมงายมาก ผู้ที่เป็นพุทธบริษัทไม่ควรที่จะนับถือสิ่งเหล่านี้เลย เพราะเมื่อไปนับถือสิ่งเหล่านี้เข้า ก็เท่ากับเป็นอ่อนการศึกษามากหรือขาดปัญญาในพระพุทธศาสนา เขาเหล่านั้นได้ปฏิญาณตนว่าได้ถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งแล้วกลับมีจิตใจกลับกลอกหลอกหลอนตนเอง ไม่นับถือจริง เพราะถ้านับถือจริง ก็ต้องไม่นับถือสิ่งที่งมงาย ที่พระพุทธองค์ทรงตำหนิแล้ว ดังนั้นจึงปรากฏในภายหลังว่า ภิกษุผู้เป็นชั้นหัวหน้าผู้ที่ได้รับการอบรมจากท่านอาจารย์มั่น ฯ แล้ว จะต้องรู้จักวิธีการแก้ไขผู้นับถือผิดเกี่ยวกับภูตผีปีศาจเป็นต้นได้ทุกองค์ ถ้าแก้สิ่งงมงายเหล่านี้ไม่เป็น หรือพลอยนับถือไปกับเขาเสียเลย ก็จะรู้ได้ทันทีว่าไม่ใช่ศิษย์ท่านอาจารย์มั่น ฯ แน่นอน เพราะว่าการแก้เรื่องภูตผีปีศาจเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากการนับถือที่ฝังอยู่ในสันดานมานานแล้ว และสถานที่อันเป็นเทวสถานหรือภูตผีอยู่ ก็จะถือว่ามันศักดิ์สิทธิ์ พากันหวาดเสียวไม่กล้าจะถ่ายถอนหรือกำจัดออกไป

    ท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้แนะนำทั้งวิธีการจัดการเกี่ยวกับการถอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และวิธีการแนะนำโดยอุบายต่าง ๆ เมื่อท่านแนะวิธีแล้ว ท่านจะใช้ให้ไปทดลองปฏิบัติงานดูถึงผลงานที่ท่านเหล่านั้นไปปฏิบัติงาน

    ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้อธิบายว่าอันที่จริงการนับถืองมงายนี้เกิดจากการไม่เข้าใจถ่องแท้ในพระพุทธศาสนา หรือขาดการศึกษาอย่างแท้จริงในพระพุทธศาสนานั้นเอง ยิ่งชาวชนบทห่างไกลความเจริญแล้ว ก็ยิ่งมีแต่เชื่อความงมงายกับสิ่งเหล่านี้อย่างเป็นล่ำเป็นสันจึงเป็นสิ่งที่แก้ยากมากทีเดียว ไม่ต้องพูดถึงว่าชาวชนบทจะพากันหลงงมงายหรอก แม้แต่ชาวเมืองหลวงอย่างในกรุงเทพฯ ก็ตาม ยังพากันหลงงมงายในสิ่งเหล่านั้นมาก เช่น เจ้าพ่อนั้นเจ้าพ่อนี้ บางแห่งก็พากันสร้างเป็นเทวสถานแล้วก็ไปบูชาถือเอาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปก็มีมากมาย

    ในเรื่องเหล่านั้นพระเถระบางองค์ถือว่าไม่สำคัญ แต่ท่านได้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกทีเดียว เพราะการจะเข้าถึงซึ่งความเป็นพระอริยะในขั้นแรกคือพระโสดาบัน ก็จะต้องแก้ไขถึงความเชื่อถือในเรื่องความงมงายเหล่านี้ให้หมดไป เพราะท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านต้องการสอนคนให้พ้นทุกข์จริงๆ สอนคนให้ เป็นอริยะกันจริงๆ ซึ่งบางคนพากันบำเพ็ญภาวนา ได้รับการยกย่องจากพระอาจารย์ของตนว่ามีธรรมปฏิบัติชั้นสูงเกิดขึ้นในใจแล้ว แต่เขานั้นยังมีความหลงงมงายในการนับถือเหล่านั้น ใช้ไม่ได้เป็นอันขาด

    ชั้นสูงในที่นี้ท่านหมายเอาถึงอริยสัจจ์ เพราะวิกิจฉาความลังเสสงสัยต้องไม่มีแก่ใจของบุคคลผู้มุ่งหน้าปฏิบัติเพื่อความเป็นอริยะ

    ในปีนี้ท่านได้แนะนำแก่พระภิกษุแทบจะถือได้ว่าล้วนแต่หัวหน้าทั้งนั้น จึงเท่ากับท่านได้แนะแนวสำคัญให้แก่บรรดาศิษย์โดยแท้ จึงปรากฏว่า หลังจากท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้ธุดงค์ไปจังหวัดเชียงใหม่แล้ว มอบศิษย์ทั้งหลายให้แก่ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งศิษย์เหล่านี้เป็นศิษย์ชั้นหัวกะทิทั้งนั้น จึงเป็นกำลังให้ท่านอาจารย์สิงห์ฯ ในการที่จะปราบพวกนับถือผิดมีภูตผีได้เป็นอย่างดี นับแต่ท่านได้พาคณะออกจากจังหวัดอุบล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ นั้นแล้ว ก็เริ่มแก้ไขสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ โดยการเข้าไปอยู่ที่นั้น แนะนำประชาชนให้ทราบถึงข้อเท็จจริง จนเป็นที่เชื่อมั่นแล้ว พากันละจากการนับถือภูตผีกันมากมายทีเดียว ในจังหวัดทั้งหลายมี อุบล-ขอนแก่น-กาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด-มหาสารคาม-นครราชสีมา ตามที่ท่านคณาจารย์เหล่านี้ผ่านไปแล้ว จะปรากฏได้ถูกแนะนำให้เลิกจากการนับถือที่งมงายลงมากมาย นั้นเป็นสมัยตื่นตัว และพากันได้ทราบความจริงอย่างมากมาย ซึ่งชาวชนบทจะไม่เคยได้รับธรรมคำสั่งสอนเช่นนี้มาก่อนเลย
     
  13. mahamettayai

    mahamettayai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2012
    โพสต์:
    1,199
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +10,670
    สาธุ สาธุ สาธุ น้อมกราบพ่อ แม่ครูอาจารย์สายหลวงปู่มั่นทุกองค์
    และอนุโมทนา สาธุ ที่นำปว.ของหลวงปู่มั่นมาเผยแผ่เป็นธรรมทานค่ะ
    ได้ความรู้ทั้งพุทธศาสตร์ (ทั้งปริยัติและปฏิบัติ) ประวัติศาสตร์และอีกหลายๆศาสตร์ทีเดียว
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พ.ศ.๒๔๖๖ เสนาสนะป่า บ้านหนองบัวลำภู อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี

    [​IMG]


    ในพรรษานี้ท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้จำพรรษาที่เสนาสนะป่า บ้านหนองบัวลำภู อ.หนองบัวลำภู จ อุดรธานี นับเป็นปีที่ ๘ แห่งการแนะนำการปฏิบัติธรรม ซึ่งบังเกิดผลอย่างดียิ่ง ทั้งนี้เนื่องจากท่านมีญาณสามารถรู้อุปนิสัยของบุคคล ท่านจึงเลือกสอนบุคคลที่ควรแก่การสอน บุคคลใดไม่มีนิสัยที่จะพึงปฏิบัติให้เกิดผล ท่านก็ไม่สอนให้เสียเวลา โดยเฉพาะท่านก็ใช้เวลาสอนพระภิกษุสามเณรเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะท่านมีอุดมคติในใจของท่านอยู่ว่า พระภิกษุสามเณรถ้าหากสอนให้ได้ผลดีแล้ว พระภิกษุสามเณรนั้นแม้องค์เดียวก็สามารถสอนฆราวาสได้นับเป็นจำนวนร้อยจำนวนพัน

    เหตุนั้นท่านจึงพยายามอบรมและแนะนำพระภิกษุสามเณรจริง ๆ และก็บังเกิดผลจริง ๆ ผ่านมา ๘ ปี ได้ผลอย่างอัศจรรย์ยิ่ง เพราะได้เพิ่มผู้รู้ผู้ฉลาดในการปฏิบัติอย่างหนาแน่นก่อนจะเข้าพรรษานี้ ท่านอาจารย์กู่ พระอาจารย์หลวงตาพิจารย์ ท่านอาจารย์กว่า สุมโน เป็นสามเณร และท่านอาจารย์เทสก์ เทสรงฺสี กับท่านอาจารย์ภูมี ฐิตธมฺโม พระอาจารย์หลวงตาชา พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล พระครูปลัดอ่อนตา ที่อยู่วัดบ้านเดื่อ

    ในและนอกพรรษาท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้อยู่ ณ ที่นี้เป็นเวลานาน ได้ทำการอบรมในข้อปฏิบัติเพื่อให้ซึ้งยิ่งขึ้น เพราะการปฏิบัติจิตใจเมื่อปฏิบัติไปจนเป็นจริงขึ้นมาแล้วจึงจะได้ศึกษาความจริง นั้นหมายความว่าต้องเป็นขึ้นมาในตัวของแต่ละบุคคลการแนะนำโดยการอธิบายล่วงหน้า คือการบอกแนวทางนั้น ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านก็อธิบายเพื่อความมั่นใจ และที่แท้คือการพูดด้วยความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นประการสำคัญ อย่างนี้เรียกว่าภูมิจิต ซึ่งเป็นคำที่ท่านพร่ำเสมอว่า ภูมิจิต ภูมิจิตของใครดำเนินไปได้แค่ไหน นี้เป็นเรื่องที่จะต้องได้ถามกันอยู่ตลอดเวลา

    เรื่องการสอบสวนถึงภูมิจิตนี้ เมื่อใครพระเณรรูปใดเข้ามาศึกษายังใหม่ พวกเราก็ไต่ถามกันเองและแนะนำกันเองไป เพราะมาตอนหลัง ๆ นี้ ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านสอนเฉพาะภูมิจิตชั้นสูงแล้ว ฉะนั้นในเบื้องต้นใครมีความรู้พอสมควรก็แนะนำกันในฐานะเป็นพี่เลี้ยง การกระทำเช่นนี้มิได้ถือว่าเป็นการเสียเกียรติของผู้ที่เริ่มเข้ามาปฏิบัติใหม่ เป็นการแบ่งภาระจากท่านอาจารย์มั่นฯ เพราะการศึกษาขั้นต้นนั้น ผู้ที่ได้เคยศึกษากับท่านอาจารย์มั่น ฯ มาก่อนแล้ว ก็ย่อมให้คำแนะนำได้อย่างเดียวกับท่านอาจารย์มั่น ฯ เช่นเดียวกัน ยิ่งครั้งหลังสุดเมื่อท่านอาจารย์มั่น ฯ อายุ ๗๐ กว่าปีขึ้นไปแล้ว ท่านไม่สอนเลยทีเดียวในเบื้องต้น เมื่อผู้ใดพระเณรองค์ใดเข้ามาฝึกใหม่ ท่านจะให้พระเก่าที่ได้รับการศึกษาแล้วแนะนำให้

    แม้เมื่อครั้งท่านเจ้าคุณอริยเวที (มหาเขียน) ท่านพระครู.... (พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) เข้ามาศึกษาธรรมปฏิบัติเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ - ๒๔๘๘ ทั้ง ๒ องค์ ยังต้องรับการฝึกหัดแนะนำจากท่านวิริยังค์ สิรินฺธโร เสียก่อน เพราะท่านวิริยังค์แม้ขณะนั้นพรรษาพระเพียง ๒ - ๓ พรรษาเท่านั้น แต่ได้ปฏิบัติมานาน เชี่ยวชาญการแนะนำทางจิต ซึ่งสามารถสอนให้ปฏิบัติเบื้องต้นได้ ทั้ง ๒ องค์ คือพระมหาเขียนและพระมหาบัว ก็ต้องศึกษากับท่านวิริยังค์เสียก่อน ทั้งนี้เพื่อให้ได้ลู่ทางในอันที่จะศึกษาชั้นสูงต่อไปกับท่านอาจารย์มั่น ฯ เป็นการแบ่งเบาภาระการสอนของท่านอาจารย์มั่น ฯ

    แม้ตัวเราเอง ขณะที่อยู่กับท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ต้องรับภาระนี้ตลอดมาเช่นกัน เพราะเหตุที่มีศิษย์ต่างได้รับภาระของครูบาอาจารย์ได้เช่นนี้จึงทำให้การสอนและดำเนินการได้ผลกว้างขวางขึ้นมาก เนื่องด้วยเหตุที่ว่าท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านมีชื่อเสียงกิตติศัพท์ในการปฏิบัติธรรม และเชื่อกันในขณะนั้นว่าถ้าผู้ใดอยู่ปฏิบัติกับท่านแล้วต้องได้รับผลอันเป็นความเยือกเย็น หรือความสว่างบริสุทธิ์แน่นอน จึงทำให้พระภิกษุสามเณรผู้มีความหวังผลในการปฏิบัติธรรม ได้หลั่งไหลไปทำการศึกษากับท่านอาจารย์มั่น ฯ มากขึ้นยิ่ง วาระสุดท้ายก็ยิ่งมากขึ้น ตามลำดับ.

    ขณะที่พักปฏิบัติธรรมร่วมอยู่กับท่านนั้น ท่านได้พาบำเพ็ญเองจะมีการประมาทไม่ได้ ต้องพยายามอย่างเต็มความสามารถของแต่ละบุคคล. ถ้าผู้ใดประมาทหรือไม่พยายามเพื่อการปฏิบัติอย่างจริงจังแล้ว ท่านจะต้องทราบในญาณของท่านทันที ท่านก็จะตักเตือนในขั้นแรก เมื่อผู้นั้นเชื่อก็ดีไป แต่ถ้าไม่เชื่อ ท่านจะตักเตือนเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อผู้นั้นเชื่อก็ดีไป ถ้าไม่เชื่อ ท่านจะตักเตือนเป็นครั้งที่ ๓ ครั้งนี้ถ้าไม่เชื่อท่านก็ไล่ออก ไม่ให้อยู่ ต่อไป ฉะนั้นถ้าหากองค์ใดสามารถอยู่กับท่านได้เป็นเวลานานพอสมควร ก็จะต้องได้ผลสมความตั้งใจแน่นอน เพราะนโยบายและอุบายการฝึกหัดของท่านนั้นมีเพียบพร้อม พร้อมที่จะแนะนำให้แก่ศิษย์ทุก ๆ องค์ที่มีนิสัยเป็นประการใด ท่านก็จะแสดงธรรม หรืออบรมตามที่มีนิสัยวาสนามาอย่างไร จึงทำให้ได้ผลอย่างมหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง ในข้อนี้ผู้ที่เคยไปอยู่ศึกษาปฏิบัติมากับท่านแล้วจะทราบได้ดีด้วยตนเอง

    การปฏิบัติอันเป็นวัตรที่ท่านอาจารย์มั่นฯ พาศิษย์ของท่านปฏิบัตินั้นออกจะแปลกกว่าบรรดาพระปฏิบัติหรือพระอื่น ๆ ในสมัยนั้นมาก เช่นการฉันหนเดียว การฉันในบาตร เฉพาะการฉันในบาตรนี้ เวลาไปในบ้านหรือเขานิมนต์ให้ไปฉันในบ้านต้องเอาบาตรไปด้วย เขาจัดสำรับคาวหวานอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยดี ท่านก็เอาเข้าใส่บาตรหมด ด้วยเหตุที่ท่านได้นำมาปฏิบัติเช่นนี้ ศิษย์ผู้หวังดีและใคร่ในธรรมกับได้ผลการปฏิบัติมาแล้ว ก็ต้องรักษาข้อปฏิบัติเหล่านี้

    ท่านพระครูปลัดอ่อนตา ท่านมีความเลื่อมใสท่านอาจารย์มั่นฯ เป็นอย่างยิ่ง และสนใจต่อข้อปฏิบัติของท่านอาจารย์มั่นฯ ยิ่งนัก แต่เนื่องด้วยท่านพระครูรูปนี้ท่านมีนิสัยสนใจมานานแล้ว เมื่อมาได้รับการศึกษาเพิ่มเติมเข้า ยิ่งทำให้ท่านได้มีความเลื่อมใสต่อข้อปฏิบัติภิญโญยิ่งๆ ขึ้นไปอีกตามการปฏิบัติดังที่ได้ปฏิบัติตามแนวของพระอาจารย์มั่นฯ นั้น

    แต่แนวการปฏิบัตินี้มิใช่ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านตั้งขึ้นเอง ซึ่งเป็นไปตามคำสอนของพระพุทธเจ้า การปฏิบัติจริงเช่นนั้นย่อมเป็นการขัดข้องต่อบุคคลบางคนเป็นธรรมดา เพราะบางคนหาว่ารุ่มร่าม หาว่าอวดเคร่งในท่ามกลางชุมนุมชน หาว่าไม่รู้กาลเทศะ หาว่าคร่ำครึ หาว่าเป็นคนล้าสมัย พากันว่ากันไปต่าง ๆ นานา ท่านพระครูจึงได้นำข้อครหาเหล่านี้เข้ากราบเรียนต่อท่านอาจารย์มั่นฯ ว่า

    “พวกเราปฏิบัติตรงต่อพระธรรมวินัยทุกประการ ย่อมเป็นการขัดข้องเขา หากว่าเราปฏิบัติเคร่งครัดเกินไป ไม่รู้จักกาลเทศะ คร่ำครึไม่ทันกาลทันสมัย”

    ท่านอาจารย์มั่น ฯ จึงได้ตอบว่า

    “พวกเราผู้ปฏิบัติพระธรรมวินัยนั้น จะถือเอาชาวบ้านนักบวชผู้นอกรีตเป็นศาสดา หรือจะถือเอาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของพวกเรา ถ้าจะถือเอาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของตน ก็ต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่พระองค์เจ้าทรงบัญญัติไว้แล้วทุกประการ หรือถ้าต้องการเอาผู้อื่นนั้นนอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา ก็จงปฏิบัติตามผู้นั้นไป”

    ครั้นท่านพระครูปลัดอ่อนตาได้ฟังท่านอาจารย์พูดแนะอุบายเท่านี้ ก็ทำให้เกิดความเลื่อมใสในข้อปฏิบัติต่างๆ ที่ได้ดำเนินตามท่านอาจารย์มั่นๆ และก็การปฏิบัติตามท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็คือปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัดและตรงแน่ว

    เมื่อท่านพระครูปลัดอ่อนตาได้อยู่อบรมกับท่านอาจารย์มั่นฯ พอสมควรแล้ว ท่านได้ลาพระอาจารย์มั่นฯ เดินธุดงค์ไปตามสถานที่ที่อันสงัดวิเวก ตามชนบทหมู่บ้านอันอยู่ชายป่าและภูเขา จนได้รับความเย็นอกเย็นใจเป็นไปกับด้วยความเพียรตามสมควรแล้ว ท่านก็กลับไปทางภูมิลำเนาเดิม แต่ไม่ได้เข้าไปพักที่วัดเดิมของท่าน ได้เลยไปพักอยู่ที่ริมหนองน้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งใกล้กับบ้านโนนทัน (ต่อมาได้เป็นวัดชื่อวัดโยธานิมิต จนถึงปัจจุบันนี้) และใกล้กับกรมทหารด้วย

    สมัยนั้นกรมทหารพึ่งจะยกมาตั้งอยู่ใหม่ ทั้งยังไม่มีวัดอื่นที่ใกล้เคียงนั้นด้วย ผู้บังคับการทหารพร้อมด้วยชาวบ้านจึงได้นิมนต์ให้ท่านพักอยู่ในสถานที่นั้น แล้วช่วยกันจัดการทุก ๆ อย่างจนเป็นวัดขึ้นโดยสมบูรณ์ เพื่อให้ถูกกับทหารสร้างจึงให้นามว่า “โยธานิมิต”

    ต่อมาไม่นานท่านพระครูปลัดอ่อนตาพร้อมด้วยศิษย์ทั้งหมดมีความเห็นพร้อมกันว่า เราก็ได้ปฏิบัติข้อวัตรธรรม.ทุกอย่างตามรอยของท่านอาจารย์มั่นฯ จนได้รับผลอย่างพอใจพวกเราแล้ว ยังขาดสิ่งสำคัญคือยังไม่ได้เป็นพระธรรมยุตเหมือนท่าน เพื่อให้เป็นการสมบูรณ์ในการเลื่อมใสในตัวท่านและข้อปฏิบัติของท่าน เราควรทำทัฬหิกรรมเสียใหม่ เมื่อพร้อมใจกันแล้วก็ได้นิมนต์ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) มาเป็นอุปัชฌายะ เมื่อสำเร็จแล้วท่านพระครูปลัดอ่อนตาก็พาคณะไปอยู่ที่วัดโยธานิมิตนั้นตามเดิม

    ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ ก็ให้ท่านอาจารย์สุวรรณ สุจิณฺโน ผู้ทรงคุณวุฒิ อายุพรรษามากเป็นลูกศิษย์ต้นของท่านอาจารย์มั่นฯ ให้ไปอยู่ด้วยเพื่อเป็นการให้นิสัย แต่ท่านพระครูปลัดอ่อนตาท่านก็คงแก่เรียนมาแล้วและเป็นผู้รักในการปฏิบัติตามแนวของท่านอาจารย์มั่นฯ อย่างดีแล้ว ก็เป็นอันรับผิดชอบในตัวเองได้

    ในกาลต่อมาไม่ช้านัก ท่านอาจารย์สุวรรณก็จาริกไปหาวิเวกส่วนตัว และท่านพระครูปลัดอ่อนตาก็อยู่ในวัดนั้นทำประโยชน์ในด้านการปฏิบัติและแนะนำพระภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกาสืบต่อไป
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พ.ศ. ๒๔๖๗ เสนาสนะป่าบ้านค้อ รอบสอง

    ท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้พักจำพรรษาที่บ้านค้อ อำเภอผือ อุดรธานี เป็นรอบที่สอง แต่ย้ายสถานที่ใหม่ซึ่งปัจจุบันเป็นวัดแล้ว การจำพรรษานี้นั้นก็เช่นเดียวกับพรรษาก่อน ๆ เนื่องด้วยมีพระภิกษุสามเณรสนใจในตัวของท่านมากขึ้น จึงได้หลั่งไหลมาศึกษาธรรมปฏิบัติกับท่านมากขึ้นเป็นลำดับ และท่านก็ได้แนะนำข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ให้ตามที่ได้แสดงไว้แล้วโดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะว่าเป็นข้อปฏิบัติที่พิสูจน์ได้แน่ชัดแล้วว่าเป็นทางพ้นทุกข์ได้จริง และได้ผลแก่บุคคลผู้ตั้งใจจริงเป็นแต่ว่าท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านคอยประคับประคอง และเป็นผู้นำเพื่อให้เกิดผลอย่างจริงจังแก่ผู้หวังดี ดังนั้นเมื่อผู้ได้เข้าไปศึกษาปฏิบัติกับท่านแล้วจึงไม่มีการผิดหวังได้ผลแทบร้อยเปอร์เซ็นทีเดียว

    พอออกพรรษาท่านก็จะพาออกธุดงค์ แสวงหาที่สงัดวิเวกแยกกันออกเป็นหมู่เล็ก ๆ เพื่อมิให้เป็นปลิโพธในหมู่มาก ปีนี้ท่านได้เดินธุดงค์ไปทางบ้านนาหมี บ้านนายูง และบ้านผาแดง-แก้งไก่ ท่านได้พาคณะเข้าไปพักอยู่ที่ป่าในหุบเขาแห่งหนึ่ง และมีหมู่บ้านอยู่ในที่ใกล้ ๆ นั้น เป็นที่อยู่กลางดงลึกมาก เดินเป็นวัน ๆ เต็ม ๆ จึงจะถึง ไกลจากคมนาคมมากทีเดียว

    ที่หมู่ภูเขานั้นมีภูเขาลูกหนึ่งมีลักษณะเหมือนตึกหลาย ๆ ชั้น ซึ่งไม่ไกลจากหมู่บ้านนั้นเท่าไรนัก ในภูเขาลูกนั้นมีผีตีนเดียวอยู่ตัวหนึ่ง ผีตัวนั้นมันได้เข้าไปอาละวาดพวกชาวบ้านอยู่บ่อย ๆ คือมันทำให้คนเจ็บไข้ได้ป่วยบ้าง ถึงให้ตายบ้าง บางครั้งเอาไฟไปเผาบ้านของเขาบ้าง ขว้างค้อน ปาไม้ใส่คนใส่สัตว์เลี้ยงบ้าง เวลามันจะเข้าไปประทุษร้ายคนในบ้านนั้น ได้แสดงกิริยาอาการไม่ผิดอะไรกับคนธรรมดา ต่างแต่ไม่เห็นตัวมันเท่านั้น เสียงมันเดินได้ยิน รอยเท้าก็เห็น แต่ใหญ่และยาวกว่ารอยเท้าของคนธรรมดา เศษบุหรี่ของมันก็ได้เห็น ท่อนไม้ที่มันเอาขว้างไม่หมดก็เห็นทิ้งไว้เป็นกองๆ เมื่อชาวบ้านพร้อมกันเข้าไล่ มันก็วิ่งหนีไป พอสงบคนหน่อยมันก็เข้ามาทำการอาละวาดต่อไปอีก บางคืนพวกชาวบ้านไม่ได้นอนเพราะมันอาละวาดไม่หนี แม้การไปนอนค้างคืนในป่า บางคนเพื่อเฝ้าไร่เฝ้านา หรือด้วยกิจอย่างอื่นก็ดี ย่อมไม่ได้รับความผาสุกเลยเลย ถูกแต่เจ้าผีตัวนี้มันรบกวนอยู่เสมอ

    ครั้งท่านอาจารย์มั่นฯ ไปพักอยู่ที่นั้น พวกชาวบ้านได้เข้าไปร้องทุกข์ต่อท่าน ขอให้ท่านได้เมตตาแก่เขามาก ๆ เมื่อพระคุณท่านจะมีวิธีใดพอจะเปลื้องทุกข์นี้ออกได้ เขามีความยินดีที่จะปฏิบัติตามทุกอย่าง เมื่อท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้ทราบถึงความทุกข์เดือดร้อนของชาวบ้านอย่างนั้นแล้ว ท่านก็ได้พยายามเจริญเมตตาฌานอย่างมาก พร้อมทั้งแนะนำให้พระที่ติดตามมาช่วยกันเจริญเมตตาฌาน และได้แนะนำชาวบ้านโดยธรรมเบื้องต้นคือ ให้ชาวบ้านมาปฏิญาณตนถึงพระไตรสรณคมน์เป็นอุบาสกอุบาสิกาและให้รักษาศีล ๕ กรรมบถ ๑๐ ทั้งสอนให้ไหว้พระสวดมนต์ บำเพ็ญกัมมัฏฐานภาวนาเจริญเมตตาภาวนาเป็นประจำทุกวัน

    นับแต่นั้นมา เมื่อท่านได้พักอยู่ที่นั้น ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นแก่ชาวบ้านนั้นก็ได้สงบระงับไป เมื่อท่านได้ออกไปจากสถานที่นั้นแล้ว ภัยพิบัติเหล่านั้นก็สงบอยู่เย็นเป็นสุขกันตลอด ๑๐ ปี ต่อมาคนเก่าที่สำคัญก็ตายไปบ้าง ทั้งไม่เคยมีผีตัวนั้นมาอาละวาดบ้าง ทั้งไม่เชื่อว่าจะเป็นจริงบ้าง เลยพากันละเลยข้อวัตรปฏิบัติ ไหว้พระสวดมนต์เจริญเมตตาภาวนา ที่ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้แนะนำสั่งสอนไว้ ภายหลังปรากฏว่าผีตัวนั้นได้กลับเข้าไปทำการอาละวาดพวกชาวบ้านนั้นอีก ในครั้งนี้ถึงกับได้พากันอพยพครอบครัวหนีไปหมด เพราะฝืนอยู่ต่อไปไม่ได้เสียแล้ว จึงต้องได้ทอดทิ้งให้มันเป็นป่าตามสภาพเดิมของมันต่อไป

    ท่านอาจารย์สุวรรณ สุจิณโณ ท่านองค์นี้ถือว่าเป็นศิษย์รุ่นแรกพร้อมกับท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ปีนี้ท่านได้พยายามติดตามท่านอาจารย์มั่นฯ อย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะได้ทราบความตื้นลึกหนาบางของข้อวัตรปฏิบัติอันเป็นภายนอก และการดำเนินจิตอันเป็นภายใน การดำเนินจิตนอกจากจะหาอุบายเพื่อทำลายกิเลส เพื่อความพ้นทุกข์แล้ว ยังมีการทำให้เป็นอย่างอื่น ๆ อีกมากมาย แม้แต่ท่านอาจารย์มั่นฯ เองก็ได้เคยทำมาให้เป็นตัวอย่างแก่สานุศิษย์แล้ว เช่นเมื่อท่านอาพาธ ท่านใช้ระงับอาพาธของท่านเองด้วยกำลังจิต และระงับอาพาธให้แก่บุคคลอื่นด้วยกำลังจิต

    ในกาลครั้งนั้นท่านอาจารย์สุวรรณท่านเป็นไข้มาเลเรียเรื้อรัง จนป้างหย่อน (ม้ามย้อย คือม้ามโต) อันเป็นผลมาจากไข้มาเลเรียนั้นเอง โรคนี้เองที่ทำความรำคาญให้แก่ท่านตลอดเวลา ซึ่งทำให้จับไข้วันเว้นวัน และทำให้กำลังทรุดลงทรุดลง ท่านจึงได้เข้าปรึกษาการรักษาโรคนี้กับท่านอาจารย์มั่นฯ

    ท่านอาจารย์จึงได้แนะนำอุบายให้คือ

    เมื่อบำเพ็ญจิตให้เกิดกระแส แต่ก่อนที่เราบำเพ็ญมาในเบื้องต้นนั้นเราทำจิตให้เกิดกำลังแล้ว จิตก็จะเกิดกระแส ๆ จิตนี้มีกำลังมากขึ้นจากการอบรม เราได้ใช้กระแสจิตนี้พิจารณากายทุกส่วนจนเกิดปัญญา เมื่อเกิดปัญญาแล้วอบรมให้มากก็เป็นผล คือจิตดำเนินเข้าสู่อริยสัจจ์ เมื่อเราจะนำมาเป็นประโยชน์แก่การรักษาโรคของตัวของเรา เราก็พึงใช้กระแสจิตนี้เพ่งเข้าที่เกิดโรค เราเป็นโรคอะไรที่ไหน ต้องพิจารณาให้เห็นสมุฏฐานของมันเสียก่อน ว่าตำแหน่งที่เกิดโรคอยู่ตรงไหน เมื่อทราบชัดแล้วก็ใช้กระแสจิตเพ่งเข้าไป การเพ่งเข้าไปในที่นี้ก็เหมือนกับเราพิจารณากายเหมือนกัน ต่างแต่การกำหนดแก้โรคนี้ต้องกำหนดลงจุดเดียว ณ ที่สมุฏฐานของโรคนั้น

    ท่านอาจารย์สุวรรณได้อุบายนี้แล้ว ก็ได้ไปดำเนินจิตอยู่อย่างนั้นองค์เดียวที่เปลี่ยวแห่งหนึ่ง กำหนดลงครั้งแรกได้เห็นสมุฏฐานการเกิดของโรคคือ “ม้าม” ท่านได้กำหนดลงจุดเดียวด้วยอำนาจแห่งกระแสจิต อันเป็นแสงคมกล้า เพียงสามวันเท่านั้นก็ปรากฏชัดขึ้นในจิต ครั้นแล้วก็หายจากม้ามหย่อนนั้นฉับพลัน ท่านคลำดูอยู่ทุกวัน แต่กาลก่อนม้ามนี้ได้ยานลงมาประมาณฝ่ามือหนึ่ง บัดนี้ได้หดเข้าอยู่เท่าเดิม ตั้งแต่นั้นมาไข้ป่ามาเลเรียก็หยุดจับ ร่างแข็งแรงเป็นปรกติ อย่างน่าอัศจรรย์ ท่านได้เอาไปเล่าถวายท่านอาจารย์มั่น ฯ ๆ ก็รับรอง

    ครั้นท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้พักวิเวกอยู่ที่ผาแดง-แก้งไก่ พอสมควรแล้วก็ได้ออกเดินทางไปทางอำเภอท่าบ่อ ได้เข้าไปพักอยู่ที่ราวป่าใกล้กับป่าช้าของอำเภอท่าบ่อนั้น (ปัจจุบันเป็นวัดอรัญวาสี) ณ ที่นี้เองนับเป็นครั้งสำคัญยิ่งครั้งหนึ่งที่บรรดาท่านผู้ที่มีบุญมีวาสนามาศึกษาฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านหลายองค์คือ ท่านอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร ท่านอาจารย์อ่อน ญาณลิริ ท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร ท่านอาจารย์กว่า สุมโน ท่านเหล่านี้ได้ตั้งใจปฏิบัติตามโอวาทของท่านอาจารย์มั่น ฯ อย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน แม้ท่านอาจารย์มั่น ฯ จะแนะนำเช่นใด ท่านทุกองค์ต้องทำตามให้จนได้ จนปรากฏว่าทุกองค์ได้ผลทางใจอย่างยวดยิ่ง เลื่อมใสท่านอาจารย์มั่นฯ อย่างถึงขีดสุด แล้วก็ได้ขอให้ท่านจัดการที่จะทำการบวชใหม่ เพราะทุกองค์ได้เป็นพระมหานิกายมาก่อน ท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็ได้อาราธนาท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) มาเป็นอุปัชฌาย์ ทัฬหิกรรมให้จนเป็นที่เรียบร้อยทุกประการ

    ท่านอาจารย์ทุกองค์นี้ภายหลังได้ทำประโยชน์แก่หมู่ชนอย่างใหญ่หลวงทุก ๆ องค์ โดยที่ท่านได้แนะนำผู้เห็นพระภิกษุสามเณร และญาติโยมให้ได้รับธรรมอันลึกซึ้งมากมายทีเดียวและท่านเหล่านี้ทุกองค์ได้สร้างสำนักปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานองค์ละหลายๆ สำนัก ซึ่งก็ปรากฏเป็นสำนักปฏิบัติธรรมอยู่จนบัดนี้มีมากมายหลายแห่งทั่วทุกภาคในประเทศไทย
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พ.ศ. ๒๔๖๘ เสนาสนะป่า อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย

    ในปีนี้ท่านอาจารย์มั่น ฯ พักอยู่ที่เสนาสนะป่า (วัดอรัญวาสี ปัจจุบัน) อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย พระอาจารย์เสาร์พักจำพรรษาที่วัดราช ใกล้บ้านน้ำโขง (ปัจจุบันชื่อวัดพระงาม) ท่านอาจารย์สิงห์-มหาปิ่นจำพรรษาบ้านหนองปลาไหล สถานที่ท่านอาจารย์เสาร์พักอยู่นั้นมีพระพุทธรูปเก่าสมัยเวียงจันทร์ชำรุดไปบ้าง ท่านพร้อมกับท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้เป็นผู้บูรณะให้ปกติดังเดิม เมื่อทำเรียบร้อยแล้วประชาชนได้ไปเห็นก็พากันกล่าวชมว่างาม ภายหลังจึงเรียกชื่อวัดนั้นว่า “วัดพระงาม” ต่อมาจนถึงทุกวันนี้

    อนึ่งเมื่อท่านพักอยู่ในท้องถิ่นนั้น ก็ได้แนะนำธรรมปฏิบัติ จนเกิดความเลื่อมใสยิ่งในพระพุทธศาสนา และก็ปรากฏว่าประชาชนแถบนั้นได้เป็นผู้เคร่งครัดในการปฏิบัติธรรมจนถึงทุกวันนี้

    ครั้นออกพรรษาแล้ว ได้พาคณะธุดงค์วิเวกไปทางบ้านหนองปลาไหลและไปถึงบ้านอากาศ (ปัจจุบันเป็นอำเภออากาศอำนวย) ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ก็มารอพบท่านอยู่ที่นี่เพื่อศึกษาธรรมบางประการ ท่านอาจารย์เทสก์ เทสรํสี กับพระอีก ๔ รูป ก็ได้ธุดงค์ตามท่านต่อไปจนถึงบ้านสามผง ดงพเนาว์ พักอยู่ที่ป่าช้าแห่งหนึ่ง

    ณ สถานที่วิเวกแห่งนี้ได้กลับกลายเป็นสถานที่สำคัญ คือได้เกิดมีพระอาจารย์ผู้มีบุญวาสนาบารมีได้เข้ามาศึกษาธรรมปฏิบัติ เช่น พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และคณะของท่าน เพราะท่านอาจารย์เกิ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ด้วย ผู้คนในละแวกนั้นนับถือมาก เป็นอาจารย์ใหญ่ เมื่อได้ยินข่าวท่านอาจารย์มั่น ฯ มาพักอยู่ที่ป่าและทราบกิตติศัพท์มานานแล้ว จึงใคร่ที่จะทดลองไต่ถามอรรถปัญหาต่าง ๆ ท่านอาจารย์เกิ่งพร้อมคณะจึงได้ไปพบท่านที่ป่าแห่งนั้น

    เมื่อได้ ไต่ถามอรรถปัญหาธรรมต่าง ๆ ท่านอาจารย์เกิ่ง และคณะก็เกิดความอัศจรรย์ ในการโต้ตอบอรรถปัญหาของท่านอาจารย์มั่น ฯ เพราะแต่ละคำที่ได้รับคำตอบตรงใจจริงๆ ตอนหนึ่งท่านอาจารย์เกิ่งได้ถามว่า

    “ท่านปฏิบัติจิตกัมมัฏฐานเพื่ออะไร”

    ได้รับคำตอบว่า “เพื่อความบริสุทธิ์”

    ท่านอาจารย์เกิ่งถามว่า “ความบริสุทธิ์เกิดจากอะไร”

    ได้รับคำตอบว่า “เกิดจาก อริยสัจจธรรม”

    ท่านอาจารย์เกิ่ง ถามว่า “สัจจธรรมอยู่ที่ไหน”

    ได้รับคำตอบว่า “อยู่ที่ตัวของคนทุกคน”

    ถามว่า “อยู่ในตัวของทุกๆ คน ทำไมทุกคนจึงไม่บริสุทธิ์”

    ตอบว่า “เพราะเขาไม่รู้วิธีการ”

    ถามว่า “ทำไมจึงจะต้องมีวิธีการ”

    ตอบว่า “เหมือนกับทรัพยากรพวกแร่ธาตุต่างๆ อยู่ใต้ดิน คนไม่มีวิธีการ ก็เอาแร่ธาตุทรัพยากรเหล่านั้นมาใช้ไม่ได้ แร่ธาตุจะมีประโยชน์ต่อมนุษย์ ก็ต่อเมื่อมนุษย์มีวิธีการนำขุด นำเอามาใช้ให้ถูกต้องตามวิธีการ แม้อริยสัจจธรรมก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าจะอยู่ในตัวเราเอง ก็จะต้องมีวิธีการที่ถูกต้อง จึงจะบังเกิดเป็นอริยสัจจได้”

    เท่านั้นเองท่านอุปัชฌาย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก ก็เลื่อมใส และเข้ามาขอปฏิบัติอยู่กับท่านอาจารย์มั่นฯ จนเกิดความเย็นใจเป็นอย่างยิ่ง ได้ขอมอบตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ฯ พร้อมใจกันกับศิษย์เพราะได้ปฏิบัติจิตกันทั้งศิษย์อาจารย์ ยอมสละบวชทำทัฬหิกรรมใหม่ เป็นพระธรรมยุตทั้งวัด.

    ในครั้งนั้น จึงทำให้ชาวบ้านชาวเมืองได้เลื่องลือกันว่า. พระอาจารย์มั่น ฯ เป็นผู้วิเศษสำคัญ เพราะได้ทรมานพระอาจารย์เกิ่งได้ เนื่องจากชาวบ้านชาวเมืองเลื่อมใสพระอาจารย์เกิ่งมาก ในปีนี้จึงเป็นปีสำคัญมากปีหนึ่ง เพราะหลังจากท่านอาจารย์เกิ่ง ได้มาเป็นศิษย์แล้ว ยังมีท่านยาคูสีลา ที่เป็นอาจารย์ใหญ่อยู่แถบนี้เหมือนกัน เป็นเพื่อนกันกับอาจารย์เกิ่ง เมื่อทราบว่าเพื่อนสละวัดเช่นนั้นก็เฉลียวใจ จึงได้ไปพบ หลังจากพบแล้ว ท่านอาจารย์เกิ่งก็นำท่านยาคูสีลาไปมอบตัวกับพระอาจารย์มั่นฯ ได้ฟังและได้ปฏิบัติตาม ก็เกิดความเย็นใจเหลือเกิน ท่านยาคูสีลาก็ได้สละวัดและศิษย์จำนวนมากมาบวชเป็นพระธรรมยุตทั้งสิ้น.

    ระยะนี้เอง ทำให้ชื่อเสียงของท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้กระฉ่อนไปว่า หากใครอยากพ้นทุกข์ ต้องการความบริสุทธิ์ต้องการของจริงในพระพุทธศาสนาแก้ว จงได้พยายามติดตามและปฏิบัติกับท่าน จะได้รับผลอย่างแท้จริง
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พ.ศ. ๒๔๖๙ เสนาสนะป่าบ้านสามผง กิ่งอำเภอศรีสงคราม ท่าอุเทน จังหวัดนครพนม

    [​IMG]


    ท่านอาจารย์มั่นฯ และพระภิกษุสามเณรหลายรูป จำพรรษาที่เสนาสนะป่า บ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ท่านอาจารย์สิงห์กับท่านอาจารย์มหาปิ่นจำพรรษากันที่บ้านอากาศ ท่านอาจารย์กู่ ธมฺทินโน จำพรรษาที่บ้านโนนแดง อาจารย์อุ่น ธมฺมธโร จำพรรษาที่บ้านข่า ท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโร ธุดงค์ออกจากวัดพระงาม อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย แล้วก็ไปเชียงคาน จังหวัดเลย ขึ้นไปที่ภูฟ้า ภูหลวง แล้วก็กลับมาจังหวัดอุดรธานี จำพรรษาอยู่ที่เสนาสนะป่า บ้านดงยาง อำเภอหนองหาน

    หลังจากออกพรรษาแล้วในปีนี้ พระอาจารย์มั่นฯ พระอาจารย์เสาร์ฯ ก็ได้เรียกบรรดาพระอาจารย์ที่เป็นศิษย์ทุกองค์ ให้มาประชุมพร้อมกันที่บ้านโนนแดง ในการประชุมในครั้งนี้ ท่านได้วางระเบียบการปฏิบัติเกี่ยวกับการอยู่ป่า เกี่ยวกับการตั้งสำนักปฏิบัติเกี่ยวกับแนวทางแนะนำสั่งสอนปฏิบัติจิต เพื่อให้คณะศิษย์นำไปปฏิบัติให้เป็นระเบียบเดียวกัน

    เมื่อเสร็จจากการประชุมในครั้งนี้ ทุกองค์ต่างก็แยกย้ายกันออกไปธุดงค์หาวิเวกตามสถานที่จังหวัดต่างๆ โดยมิให้มีการนัดแนะว่าจะไปพบกัน ณ สถานที่ใด แต่ด้วยเหตุอะไรไม่ทราบทุก ๆ องค์ก็เผอิญไปพบกันเข้าอีก ที่จังหวัดสกลนคร ในขณะนั้นนางนุ่ม ชุวานนท์ ผู้ที่เคยมีความเลื่อมใสในท่านอาจารย์ทั้งสอง (พระอาจารย์มั่น ฯ และพระอาจารย์เสาร์ ฯ ) มานานแล้ว และมารดาของนางนุ่ม ได้ถึงแก่กรรมลง กำลังจะจัดการฌาปนกิจ ก็พอดีได้ทราบข่าวท่านอาจารย์ทั้งสอง พร้อมด้วยสานุศิษย์เป็นอันมาก กำลังร่วมกันเดินทางมุ่งหน้าเข้าเขตสกลนคร จึงได้เดินทางไปขอนิมนต์ให้มาพักอยู่ที่เสนาสนะป่า (ซึ่งปัจจุบันนี้ได้กลายเป็น วัดป่าสุทธาวาสแล้ว) เมื่อพระอาจารย์พร้อมด้วยสานุศิษย์นั้นพักอยู่ เพื่อเป็นการฉลองศรัทธาไม่เฉพาะแต่นางนุ่มเท่านั้น แต่เพื่อฉลองศรัทธาของชาวเมืองสกลนครทั้งมวล ซึ่งชาวเมืองสกลนครทั้งหลายได้เห็นพระปฏิบัติมาอยู่รวมกันมากมายเช่นนั้น ก็ทำให้เกิดศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง ได้พากันไปศึกษาธรรมปฏิบัติจนได้รับการช่ำชอง และเป็นนิสัยปัจจัยมาจนทุกวันนี้

    ขณะนั้นพระยาปัจจันตประเทศธานี บิดาของพระพินิจฯ ถึงแก่กรรม เจ้าภาพก็ได้อาราธนาพระอาจารย์ทั้งสองพร้อมด้วยสานุศิษย์ เพื่อบำเพ็ญกุศล ท่านอาจารย์ทั้งสองก็ให้อุปการะเป็นอย่างดี เพื่อเป็นการอนุเคราะห์ จึงได้อนุมัติให้พระไปฉันในบ้านได้ ในงานฌาปนกิจศพบิดาของพระพินิจ เป็นครั้งแรกตั้งแต่นั้นมา เพราะเบื้องต้นพระคณะกัมมัฏฐานได้รักษาธุดงค์วัตรอย่างเข้มงวดกวดขันจริงๆ ไม่มีการอนุโลมให้รับนิมนต์ไปฉันภัตตาหารในบ้าน

    เมื่อเสร็จงานฌาปนกิจทั้งสองศพนั้นแล้ว พระอาจารย์ทั้งสองและสานุศิษย์ต่างก็แยกย้ายกันธุดงค์ไปคนละทิศละทางตามอัธยาศัย ส่วนท่านอาจารย์มั่นฯ ธุดงค์ไปทางบ้านเหล่าโพนค้อ ได้แวะไปเยี่ยมอุปัชฌาย์พิมพ์ ซึ่งท่านองค์นี้เป็นนักปฏิบัติมาเก่าแก่ แต่การปฏิบัติของท่านยังไม่ถูกทางจริง ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้แนะนำโดยให้เจริญวิปัสสนาจนได้รับผลเป็นที่พอใจ และอุปัชฌาย์พิมพ์ก็ได้ยกย่องท่านอาจารย์มั่น ๆ ว่า

    “เป็นผู้มีความชำนาญในการปฏิบัติอย่างยิ่ง”

    ต่อจากนั้นท่านก็ลาพระอุปัชฌาย์พิมพ์ ธุดงค์ต่อไป และพักบ้านห้วยทราย ๑๐ วัน โดยจุดมุ่งหมาย ท่านต้องการจะเดินทางกลับไปที่จังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้บรรลุถึงหมู่บ้านหนองขอน ซึ่งชาวบ้านเมื่อได้ฟังธรรมเทศนาของท่านแล้ว เกิดความเลื่อมใสจึงได้พร้อมใจกันอาราธนาให้ท่านจำพรรษา เมื่อท่านเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ก็รับอาราธนา ชาวบ้านจึงช่วยกันจัดแจงจัดเสนาสนะถวายจนเป็นที่พอเพียงแก่พระภิกษุที่ติดตามมากับท่าน
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พ.ศ. ๒๔๗๐ เสนาสนะป่า บ้านหนองขอน อำเภอบุ่ง (อำนาจเจริญ) จังหวัดอุบลราชธานี

    [​IMG]


    ในพรรษานี้ท่านได้พักอยู่บ้านหนองขอน ตามที่ชาวบ้านได้อาราธนา พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม จำพรรษาที่บ้านหัวสะพาน บริเวณใกล้เคียงกัน

    “เมื่อเราได้อยู่ศึกษาธรรมมะปฏิบัติกับท่าน ได้รับผลเห็นที่พอใจ และก็ได้ออกไปบำเพ็ญสมณะธรรมโดยตนเองในสถานที่ต่างๆ ทราบข่าวว่าท่านอาจารย์มั่น ฯ กำลังเดินทางไปจังหวัดอุบลฯ เราจึงได้พยายามธุดงค์ติดตามท่านไป ในระหว่างทางเราได้ไปพบพระลี (อาจารย์ลี ธมฺมธโร ) ณ ที่บ้านหนองสองห้อง อำเภอม่วงสามสิบ ท่านก็เป็นพระมหานิกายเหมือนกัน เราได้อธิบายธรรมปฏิบัติที่ได้ศึกษามาจากท่านอาจารย์มั่น ฯ แล้วก็พาปฏิบัติจนเกิดความอัศจรรย์ในการปฏิบัตินั้นแล้ว พระลีมีความสนใจเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ธุดงค์ร่วมกันกับเรา เพื่อจะได้ไปพบท่านอาจารย์มั่น ฯ”

    (เราในที่นี้หมายถึง พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ อาจารย์องค์แรกของผู้เขียน)

    ครั้นออกพรรษาแล้ว ท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็ได้เดินธุดงค์ไปถึงตัวจังหวัดอุบล เรากับพระลีก็ได้ติดตามไปพบท่านอาจารย์มั่นฯ ที่วัดบูรพา พอดีขณะนั้นท่านเจ้าคุณปัญญาพิศาลเถระ (หนู) ขึ้นมาจากกรุงเทพฯ ได้พักอยู่ที่วัดบูรพาร่วมกับท่านอาจารย์มั่น ฯ และท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านก็พิจารณาเห็นว่า เรากับพระลีควรจะได้บวชเสียใหม่ เมื่อตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วน ท่านเจ้าคุณปัญญาพิศาลเถระก็ได้เป็นอุปัชฌาย์ บวชให้เรากับพระลีเป็นพระธรรมยุต

    คณะสานุศิษย์เก่า ๆ ทั้งหลาย อันมีอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร, อาจารย์อ่อน ญาณสิริ, อาจารย์ฝั้น อาจาโร, อาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก พร้อมด้วยศิษย์อาจารย์หลุย อาจารย์กว่า สุมโน, อาจารย์คูณ, อาจารย์สีลา, อาจารย์ดี ( พรรณานิคม ) อาจารย์บุญมา (วัดป่าบ้านโนนทัน อุดรธานี ในปัจจุบันนี้ ) อาจารย์ทอง อโสโก อาจารย์บุญส่ง (บ้านข่า) อาจารย์หล้า หลวงตาปั่น (อยู่พระบาทคอแก้ง) ทราบข่าวว่าท่านอาจารย์มั่น ฯ เดินทางมาพำนักอยู่ในจังหวัดอุบลฯ ทุกองค์เหล่านี้ก็ได้ติดตามมาในเดือน ๓ เพ็ญ บรรดาศิษย์ทั้งหมด มีท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นต้น ก็ได้ร่วมประชุมอบรมธรรมปฏิบัติอย่างที่เคย ๆ ปฏิบัติกันมา

    ในค่ำคืนวันหนึ่ง ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้เข้าที่ทำสมาธิภาวนาก็ได้ปรารภว่า

    “จะออกจากหมู่คณะไปแสวงหาสถานที่วิเวก เพื่อจะได้มีโอกาสพิจารณาค้นคว้าในปฏิปทาสัมมาปฏิบัติ ให้ได้รับความเข้าใจชัดเจน และแจ่มแจ้งเข้าไปอีก แล้วจะได้ปฏิปทาอันถูกต้องนั้นฝากไว้แก่เหล่าสานุศิษย์ในอนาคตต่อไป เพราะพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้วนั้น ย่อมมีนัยอันสุขุมลุ่มลึกมาก ยากที่จะทำความเข้าใจให้ถูกต้องตามพุทธประสงค์ได้ ผู้ปฏิบัติตามรอยพระบาทพระพุทธองค์และปฏิปทาที่พระอริยเจ้าได้ดำเนินมาก่อนแล้วนั้น เมื่อไม่เข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว ย่อมจะเขวไปจากปฏิปทาที่ถูกต้องก็เป็นได้ หรืออาจดำเนินไปโดยผิดๆ ถูก ๆ”

    เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้ปฏิบัติดีทั้งหลายก็จะเข้าไม่ถึงศีลถึงธรรม หรืออาจถึงกับป่วยการไม่เป็นประโยชนแก่ตนของตน การปฏิบัติพระธรรมวินัย ในพระพุทธศาสนาก็จะมีแต่ความพอกพูนกิเลสให้เจริญงอกงามขึ้นในตนของตนเท่านั้น ซึ่งไม่สมกับว่าพระธรรมวินัยเป็นของชำระกิเลสที่มีอยู่ให้สิ้นไปจากสันดานแห่งเวนัยสัตว์ทั้งหลาย

    อนึ่ง การอยู่กับหมู่คณะจะต้องมีภาระการปกครอง ซึ่งก็เป็นธรรมดาตลอดถึงการแนะนำพร่ำสอนฝึกฝนทรมานต่าง ๆ ซึ่งทำให้โอกาลและเวลาที่จะค้นคว้าในพระธรรมวินัยไม่เพียงพอ ถ้าแลเราปลีกตัวออกไปอยู่ในสถานที่วิเวก ซึ่งไม่มีภาระแล้วก็จะได้มีโอกาสเวลาในการค้นคว้ามากขึ้น ผลประโยชน์ในอนาคตก็จะบังเกิดขึ้นมาให้เป็นที่น่าพึงใจ”

    ท่านอาจารย์มั่น ฯ ปรารภในใจของท่านในตอนหนึ่ง ระหว่างที่ท่านพำนักอยู่ ณ ที่อุบลนั้น

    ครั้นท่านปรารภในใจอยู่อย่างนั้นแล้ว ท่านจึงได้เรียกศิษย์ทั้งหลาย มีท่านอาจารย์สิงห์เป็นต้นมาประชุมกัน ท่านได้แนะนำให้มีความมั่นคงดำรงอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติอย่างที่ได้เคยแนะนำสั่งสอนมาแล้วนั้น จึงได้มอบหมายให้อำนาจแต่ท่านอาจารย์สิงห์และท่านอาจารย์มหาปิ่น เป็นผู้บริหารปกครองแนะนำพร่ำสอนตามแนวทางที่ท่านได้แนะนำมาแล้วต่อไป

    เมื่อเสร็จจากการประชุมแล้วในการครั้งนั้น ท่านก็กลับไปที่บ้านของท่านอีก ได้แนะนำธรรมปฏิบัติซึ่งท่านได้เคยแนะนำมาก่อนแก่มารดาของท่านจนได้รับความอัศจรรย์อันเป็นภายในอย่างยิ่งมาแล้ว ท่านจึงได้ไปลามารดาของท่าน และได้มอบให้ นางหวัน จำปาศีล ผู้น้องสาวเป็นผู้อุปฐากรักษาทุกประการ แม้มารดาท่านก็ได้กล่าวในขณะนั้นว่า

    “ลูกเอ๋ย อย่าได้ห่วงแม่เลย ลูกไม่มีหนี้สินในแม่แล้ว ลูกได้อุตส่าห์พากเพียรเรียนธรรมวินัย ก็ได้มาสงเคราะห์ให้แม่นี้ได้รู้จักหนทางแห่งข้อปฏิบัติแล้ว แม่ก็จะดำเนินข้อปฏิบัติของตนไปตามหนทางที่ได้รู้แล้วนั้น จนตราบเท่าชีวิตของแม่ ก็ขอให้ลูกจงประพฤติพรหมจรรย์ไปโดยสวัสดีเทอญ”

    เมื่อได้รับคำจากมารดาของท่านแล้วเช่นนั้น ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านก็ได้ทำสัมมาคารวะให้มารดาได้อโหสิกรรมในโทษเพราะความประมาทพลาดพลั้ง และล่วงเกินต่อมารดาตั้งแต่กำเนิดเกิดมาจนถึงปัจจุบัน จากนั้นท่านก็ได้ออกเดินทางต่อไป
     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พ.ศ.๒๔๗๑ - ๒๔๗๒ ตอนพระอาจารย์มั่นฯ เป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่

    [​IMG]


    การอยู่กับท่านอาจารย์มั่นฯ ผู้เขียนมีความรู้สึกอย่างหนึ่งคือ วันและคืนนี้ช่างหมดไปเร็วเหลือเกิน ระยะเวลาที่ผ่านไป ๒ ปี ตั้ง ๗๓๐ วัน ดูเหมือนว่า วันสองวันเท่านั้น นี่เป็นเพราะอะไร ? เป็นการตั้งคำถามขึ้นในตัวเอง ก็ได้ความว่า ทุก ๆ เวลานั้นได้ใช้มันเป็นประโยชน์ทุกกระเบียดนิ้ว โดยเฉพาะเมื่อผู้เขียนต้องการทราบอะไรต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติทางจิต ท่านจะแก้ไขให้อย่างจะแจ้งทุกครั้งไปจนเป็นที่พอใจ

    ผู้เขียนมีความสนใจอย่างมากที่ท่านได้ไปอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ถึง ๑๒ ปี เป็นเหตุอันใด ท่านจึงใช้เวลาอยู่ที่เชียงใหม่นานมาก ผู้เขียนจึงหาโอกาสถามถึงเหตุต่าง ๆ แต่แม้ผู้เขียนไม่ได้ถาม ท่านก็ได้เล่าเรื่องต่างๆ ระหว่างอยู่ที่เชียงใหม่ให้ฟังเสมอ นับว่าเป็นความรู้ที่ได้รับหลายประการ ท่านได้พูดถึงสถานที่ บุคคล ตลอดถึงอากาศต่าง ๆ ก็นับว่าน่าศึกษาอยู่มากทีเดียว ผู้เขียนจึงจะได้นำมาเล่าต่อ เพื่อให้ผู้อ่านที่สนใจในเรื่องของพระอาจารย์มั่นฯ จะทราบความเป็นอยู่ที่น่าศึกษาอย่างยิ่งของท่านที่เชียงใหม่ แต่การเล่านี้ก็จะไม่ใคร่ติดต่อกันนัก เพราะท่านเองก็ไม่พูดติดต่อกัน เพียงแต่ท่านเห็นว่าผู้เขียนสนใจการอยู่เชียงใหม่ของท่าน ท่านก็เล่าให้ฟังเป็นตอน ๆ ไปครั้งเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อความละเอียดและแน่นอน ผู้เขียนก็อาศัยถามพระเถระบางท่านที่ท่านได้อยู่ใกล้ชิดที่เชียงใหม่

    ความจริงประวัติทุกตอนของพระอาจารย์มั่นฯ นั้นน่าศึกษาทุกตอน แต่ต้องพิจารณาหาความจริงและฟังในอุบายต่างๆ เพราะว่าพระอาจารย์มั่นฯ ท่านพูดอะไรออกมา ก็มักจะแทรกคำเตือนใจแก่พระภิกษุสามเณรแทบทุกครั้ง

    ท่านเล่าต่อไปว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ท่านจำพรรษาที่วัดสระปทุม ครั้งนั้นท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส ได้ไปจัดการดำเนินงานปรับปรุงวัดเจดีย์หลวงที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นวัดธรรมยุตวัดแรก เมื่อการปรับปรุงเข้ารูปเป็นที่มั่นคงพอสมควรแล้ว ท่านได้พยายามที่จะหาพระเถระผู้ทรงคุณวุฒิทั้งทางปริยัติและปฏิบัติ ให้มาเป็นสมภาร ทั้งนี้ตามความประสงค์ต้องการที่จะวางรากฐานคณะธรรมยุตขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ เพราะพระทางภาคนี้ ก่อนนั้นการฉันอาหารในเวลาวิกาลเขาไม่ถือว่าเป็นการผิดวินัย รู้สึกว่าวินัยจะหละหลวมมากในแถบนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะให้พระเถระผู้มั่นคงรอบคอบน่านับถือมาอยู่ เพื่อให้เป็นประโยชน์จริงๆ ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์จึงปรารภว่าควรจะเป็นท่านมั่นฯ เพราะเป็นผู้เจริญทางการปฏิบัติกัมมัฏฐาน

    เมื่อออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๗๑ - ลุมาปี พ.ศ.๒๔๗๒ จึงได้นิมนต์ เรา (หมายถึงพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ) ไป ซึ่งขณะนั้นเราก็พักอยู่ที่วัดสระปทุมกับท่านเจ้าคุณปัญญาพิศาลเถระ (หนู) ให้ไปที่วัดบรมนิวาส เมื่อเราเข้าไปพบ ท่านเจ้าคุณก็บอกว่า ให้เธอไปอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส เป็นพระครูฐานาของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ที่พระครูธรรมธร และตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ พร้อมหมดทุกอย่าง

    พระอาจารย์มั่น ฯ ท่านเล่าว่า ครั้งนั้นท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ขาหักเนื่องมาจากขึ้นธรรมาสน์จะเทศน์ ขาไปกระทบกับลูกกรง หากเราจะทัดทานก็ดูเป็นการขัดผู้ใหญ่ซึ่งกำลังป่วยอยู่ และท่านก็อุตส่าห์ไปขอฐานาสมเด็จพระสังฆราชเจ้าให้ด้วย นัยว่าครั้งแรก สมเด็จพระสังฆราชเจ้าจะไม่ทรงอนุมัติ แต่ทรงเห็นว่าท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ขาหักกำลังป่วย หากไม่อนุมัติจะขัดใจคนป่วย จึงทรงอนุมัติมา

    เมื่อเราได้รับอาราธนาเชิงบังคับเช่นนั้นก็ขัดไม่ได้ จึงเดินทางไปที่เชียงใหม่ในปี พ.ศ. ๒๔๗๒

    พระอาจารย์มั่นฯท่านเล่าว่า วัดเจดีย์หลวงเป็นวัดร้างมาแต่เดิม มาสถาปนาเป็นวัดธรรมยุตขึ้นสมัยท่านเจ้าคุณอุบาลีนี้เอง เป็นแหล่งที่มีความสงบพอสมควรไม่พลุกพล่าน มีที่สงบพอที่จะบำเพ็ญสมณธรรมได้พอสมควรขณะที่อยู่นั้นก็ได้แนะนำให้ภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกาบำเพ็ญกัมมัฏฐาน

    ท่านเล่าว่า

    แม้เราจะพยายามแนะนำเท่าไรก็ไม่เห็นจะเกิดประโยชน์เท่าที่ควร ไม่มีใครเอาจริงเอาจัง เป็นอย่างไรหนอจึงเป็นเช่นนั้น แม้เราจะได้แสดงธรรม และทั้งทำเป็นตัวอย่างก็ไม่เห็นใครคิดว่าจะเป็นเรื่องสำคัญ เราจึงพิจารณาว่าควรไหมที่จะเอาเกลือมาแลกพิมเสน วันและคืนที่ล่วงไป จะเป็นการเสียประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งตนเองและผู้อื่น

    เมื่อคิดถึงท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ ที่มีความหวังดี โดยต้องการจะให้วัดเจดีย์หลวงเจริญทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ อันความหวังดีของท่านนั้นก็ดี อยู่ที่ท่านยังไม่รู้ความจริงอีกหลายๆ ประการซึ่งเราเองก็เคารพท่านอยู่ ส่วนการเคารพก็เคารพ แต่ส่วนความจริงก็ต้องมีส่วนหนึ่ง ศาสนาเป็นสิ่งให้คุณประโยชน์ แต่ถ้าเราทำไม่ถูกจังหวะกาลเทศะ.มันอาจจะทำให้เสียกาลเวลาที่ล่วงไป โดยจะพึงได้ประโยชน์น้อยไป ความจริงท่านพระเถระทั้งหลาย ท่านชอบจะทำในสิ่งที่ท่านเห็นว่ามันเป็นประโยชน์ ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นจะเป็นโทษแก่คนอื่นเพราะมองแง่เดียว ครั้นเมื่อผู้น้อยไม่ทำตามก็หาว่าดื้อรั้นชอบตำหนิ นี้ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ควรจะคำนึงไว้ให้มาก หากว่าจะมีการติดต่อ อยู่ร่วมใกล้ชิดในสังคมนั้น

    ท่านอาจารย์มั่นฯได้เล่าให้ผู้เขียนฟังต่อไปว่า

    เมื่อเราได้พิจารณาโดยรอบคอบแล้ว กับการคิดถึงตัวว่าจำเป็นจะต้องฝึกฝนตนต่อไป หากว่าได้เป็นสมภารและอยู่นานไป ความเป็นห่วงทั้งการงานญาติโยมมากขึ้น เรามาคิดว่าการเป็นเช่นนั้นก็ได้ประโยชน์อยู่หรอก แต่มันน้อยนักสำหรับนักปฏิบัติ เพราะถือเป็นอาวาสปลิโพธิ ทั้งจะเป็นตัวอย่างไม่ดีแก่ศิษย์ของเราอีกจำนวนมาก ซึ่งธรรมดาก็ชอบอยากจะเป็นสมภารกันอยู่แล้ว เมื่อมีคนนับถือมาก ลาภสักการก็มากตามขึ้นด้วย

    ท่านได้ยกพุทธภาษิตว่า “สกฺกาโร ปุริสํ หนฺติ” สักการะฆ่าบรุษให้ตาย เพราะมัวเมาในลาภ ในยศ แล้วการปฏิบัติก็ค่อยๆ จางลงๆ ทุกที ในที่สุดก็เกิดการฆาตกรรมตัวเอง คือเอาแต่สบาย ไม่มีการบำเพ็ญกัมมัฏฐานให้ยิ่งขึ้น มีแต่จะหาชื่อเสียง อยากให้คนนับถือมากยิ่งขึ้นโดยวิธีการต่างๆ นี้คือฆาตกรรมตัวเอง.

    ก็น่าฟัง ผู้เขียนนั่งฟังท่านเล่าเพลินไปเลย ผู้เขียนได้เคยพูดไว้ว่า ท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านพูดอะไรแล้วมีคติแฝงไว้อยู่เสมอ คราวนี้ก็เช่นกัน สอนผู้เขียนเสียอย่างลึกซึ้งทีเดียว แล้วท่านก็บรรยายต่อไปว่า

    เมื่อได้เวลาอันสมควรแล้ว ท่านก็พูดว่า พัดยศ ประกาศนียบัตร พวกเจ้าจงพากันอยู่วัดเจดีย์หลวงนี้เถิด ส่วนพระมั่นฯ จะไปแล้ว เท่านั้นเองท่านก็ลาจากความเป็นเจ้าอาวาส และพระครู โดยไม่มีหนังสือลา เป็นการลาโดยธรรมชาติ ซึ่งมีสิ่งหนึ่งภายในให้เป็นไปตามกาลเวลา อันเป็นสิ่งที่จะพึงมีแก่นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ซึ่งไม่มีอะไรเป็นเบื้องหน้าเบื้องหลัง.หรือความเคลือบแคลง มิได้เป็นกโลบาย อย่างบางท่านปากว่าตาขยิบ ฉันไม่อยากเป็นเจ้าอาวาส แต่ใจของฉันนั้นอยากจะเป็นแทบจะระเบิด

    เมื่อท่านจัดบริขารของการไปธุดงค์ เป็นต้นว่ากลดมุ้ง บาตร และสิ่งจำเป็นอื่น ๆ ที่จะพึงใช้ สิ่งเหล่านี้ท่านบอกว่าก็ใช้อยู่เป็นประจำ แม้จะมาอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงก็ยังปฏิบัติทุกอย่างเช่นกับอยู่ในป่าดงและธุดงค์ การฝึกตนนั้นเราก็ต้องทำอยู่เป็นอกาลิโก ไม่เลือกกาลเวลาและสถานที่ โอกาสให้เมื่อไหร่ก็ต้องทำ ทั้งนี้เพื่อความไม่ประมาท การที่นักปฏิบัติธรรม ผู้รอกาลเวลาสถานที่ แม้โอกาสให้แล้วแต่ก็มัวแต่รอ รอว่าแก่ก่อน อายุมากก่อน รอว่าเข้าป่าก่อน อยู่ในดงในเขาก่อนจึงจะทำ รอเข้าพรรษาก่อน ออกพรรษาไม่ทำ มัวแต่เลือกกาล เลือกสถานที่ ก็เลยเสียเวลาไปโดยใช่เหตุ
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พ.ศ.๒๔๗๑ - ๒๔๗๒ ตอนพระอาจารย์มั่นฯ เป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ (ต่อ)

    [​IMG]


    การเดินเข้าไปหาที่วิเวก ออกจากวัดเจดีย์หลวงครั้งนั้น ท่านเล่าว่า ถนนรถยนต์ไม่มี เป็นป่าดงที่มืดครึ้มโดยความประสงค์เราต้องการที่จะไปให้ไกลที่สุด จึงได้มุ่งตรงไปทางอำเภอพร้าว เราก็เดินไปค้างแรมไปตามทาง เมื่อเห็นว่าเป็นที่สงบสงัดดีก็พักอยู่นาน เพื่อปรารภความเพียร เมื่อเห็นว่าจะเป็นการคุ้นเคยกับญาติโยมมากเข้าก็ออกเดินทางต่อไป

    เดินต่อไป ในที่สุดก็เดินธุดงค์ถึงถ้ำเชียงดาว ปีนี้เป็นปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ในขณะนั้นถ้ำเชียงดาวยังไม่มีการปรุงแต่งอะไรเลย ชาวบ้านแถว ๆ นั้นก็ไม่มี จะมีก็เฉพาะพวกเจาะน้ำมันยาง เอาน้ำมันนั้นมาทำขี้ไต้ ก็เพียงไม่กี่ครอบครัว นับเป็นสถานที่เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรมเป็นอย่างดียิ่ง

    ฟังท่านเล่าในสมัยนั้น กับมาเปรียบเทียบสมัยนี้ซึ่งเป็นแหล่งทัศนาจร เป็นที่ท่องเที่ยวพลุกพล่านไปด้วยผู้คน ทั้งอาคารร้านค้าประกอบเป็นอาชีพ และพยายามปรุงแต่งสถานที่ต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงจากธรรมชาติมาเป็นสิ่งวิจิตรด้วยน้ำมือมนุษย์อย่างนี้ทำผู้เขียนรำพึงรำพันในใจว่า อ๋อ...นี่ก็ซากของนักปฏิบัติที่ตายแล้ว ผู้เขียนหมายความว่า ไม่มีการปฏิบัติอยู่ในที่นี้อีกแล้ว ถึงการปฏิบัติก็มิใช่เป็นที่สัปปายะแล้ว หากจะมานั่งปฏิบัติ หรือนั่งสมาธิในถ้ำนี้ ก็คงจะไม่พ้นคำว่า โอ้อวดอยากดัง เพราะจะต้องมานั่งโชว์ให้คนนับพันนับหมื่นดูกัน ผู้เขียนจึงพอใจที่จะพูดว่า นี่คือ “ซากของนักปฏิบัติธรรม”

    ครั้งที่พระอาจารย์มั่น ฯ อยู่บำเพ็ญสมณธรรมอยู่นั้น ต้นไม้ ป่า สัตว์ร้าย ย่อมเป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นอรัญญิก สถานที่น่าสะพรึงกลัวแก่ผู้ยังหนาไปด้วยกิเลส แต่เป็นที่น่าอยู่แก่ผู้บำเพ็ญตบะพรหมจรรย์ เพราะยิ่งป่าใหญ่ยิ่งครึ้ม ยิ่งวังเวง ก็ยิ่งเป็นที่ต้องการอย่างยิ่ง

    อาจารย์มั่นฯ เล่าว่า

    ครั้งแรก ๆ เราก็พักอยู่ตอนตีนเขาและบำเพ็ญสมณธรรม ต่อไปก็ขยับอยู่ที่ปากถ้ำ ตรงปากถ้ำนั้นมีก้อนหินใหญ่ ท่านใช้ก้อนหินนั้นเป็นที่นั่งสมาธิ มีความรู้สึกว่าอยู่ในโลกอีกโลกหนึ่งไม่ใช่โลกนี้ ไม่ว่าจะเดินหรือนั่ง ข้อนี้ทำเอาผู้เขียนสงสัยขึ้น ได้ถามท่านว่า

    “ที่ว่าเหมือนอยู่ในโลกหนึ่งไม่ใช่โลกนี้นั้น ท่านอาจารย์หมายความว่าอย่างไร ?”

    ท่านตอบว่า ขณะที่เราเร่งความเพียร ความยึดถือต่าง ๆ นี้มันจะหดตัวเข้าทุกที เพราะความยึดถือตัวนี้เองจึงเหมือนหนึ่งไม่ใช่โลกนี้ เพราะโลกนี้นั้นเป็นอยู่ด้วยความเข้าใจกันต่าง ๆ นานา นั้นมาจากความยึดถือทั้งสิ้น โลกนี้จึงอยู่ด้วยอุปทานคือ ความยึดถือ เรายิ่งอยู่ในป่าลึกไม่ใคร่จะมองเห็นคน และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ นานา ทั้งได้บำเพ็ญกัมมัฏฐาน เพ่งจิตจดจ่ออยู่เฉพาะจิต ความเป็นเหมือนหนึ่งไม่ใช่โลกนี้ก็จะมากยิ่งขึ้น

    ต่อจากนั้นท่านอาจารย์มั่นฯท่านเล่าว่า

    เราก็ค่อย ๆ เขยิบเข้าไปในนั่งในถ้ำลึกเข้าไป จนมืดมิดและเย็นมาก หายใจก็รู้สึกอึดอัด เมื่อท่านเข้าไปนั่งในถ้ำลึกนั้น ท่านได้พยายามที่กำหนดจิต ปรากฏว่ามันก็ทำให้มืดไปกับถ้ำด้วย ทำให้จิตรวมได้ง่าย แต่สงบดีมากและสงบง่ายมาก แต่เมื่อสงบแล้วจะพิจารณาอะไรก็ไม่ค่อยจะออก ท่านได้พยายามอยู่หลายเวลา และก็ได้พิจารณาได้ความว่า การทำความสงบในเบื้องต้นนั้น หากว่าใช้สถานที่มิดชิด จะเป็นประโยชน์ได้ผลเร็ว ยิ่งเป็นถ้ำมิดชิดก็ยิ่งดี แต่ถ้ำมิดชิดนี้จะอยู่นานไม่ดี เอาแต่เพียงได้ประโยชน์แล้วก็รีบเปลี่ยนสถานที่เสีย เพราะจะทำให้เคยตัว หรืออีกอย่างหนึ่งก็จะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้นว่าโรคเหน็บชา หรือมาเลเรีย

    เมื่อท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านพูดมาถึงตอนนี้ทำให้ผู้เขียนระลึกถึงตัวเองว่า เมื่อครั้งผู้เขียนเป็นสามเณรเดินธุดงค์ไปกับพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ไปหาถ้ำที่จะอยู่ทำความเพียรกันนั้น ยิ่งเห็นทึบเท่าไหร่ก็ยิ่งชอบมาก เมื่อครั้นไปพบถ้ำเขาภูคา บ้านเขาภูคา สถานีหัวหวาย อำเภอพยุหคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ผู้เขียนพยายามแสวงหาที่มืด เข้าหาช่องถ้ำที่ทึบที่สุดเท่าที่จะทึบได้ เพราะจะทำให้จิตสงบเร็ว ในเมื่อผู้เขียนกำลังฝึกหัดใหม่ ๆ และก็ได้ผลเพราะทำให้สบายมาก แต่ว่าเมื่ออยู่เป็นเวลานาน ประมาณสามเดือน รู้สึกว่าจะเกินไปเสียแล้ว ทำเอาผู้เขียนเป็นสมาธิโมหะขนาดหนัก เพราะเมื่อนั่งสมาธิแล้วเป็นเหมือนหลับไปเลย บางครั้งสัปหงกถึงกับตกศาลา ดูรู้สึกว่าง่ายสำหรับการที่จะทำให้จิตสงบนั้น แต่ยากที่จะกำหนดรู้ให้คงอยู่ได้ตามความประสงค์ จึงเป็นประโยชน์และมีโทษเหมือนกัน จนในที่สุดผู้เขียนต้องล้มป่วย แต่ใจดี ป่วยก็ไม่กลัว ถึงเราไม่กลัวแต่มาเลเรียก็ไม่เข้าใครออกใคร ผู้เขียนถึงกับเป็นมาเลเรียขึ้นสมองอย่างหนัก จนถึงตาย (คงจะแปลกใจจากผู้อ่าน) ใช่ ผู้เขียนเคยตายมาแล้ว เพราะตอนนั้นไข้หนัก จนจิตออกจากร่าง

    ชีพจรถอน ทุกคนรวมทั้งอาจารย์กงมา และบิดาของผู้เขียน ต่างก็พูดพร้อมกันว่า ตายแล้ว ตัวเย็นชีพจรถอน แต่ตอนนั้นผู้เขียนก็รู้สึกอยู่อย่างเดียวคือ “รู้” แต่ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน มารู้สึกเอาเมื่อเขาพยายามเอาอิฐเผาไฟนาบเข้าที่เท้า จนมีความรู้สึกขึ้น ทุก ๆ คนรวมทั้งท่านอาจารย์และบิดา ก็ร้องขึ้นพร้อมกันว่า “ฟื้นแล้ว” ปรากฏว่าผู้เขียนได้ตายไปร่วมชั่วโมง

    นั่นนะชิ ผู้เขียนเกือบตายเสียจริง ๆ ไปแล้ว แต่ยังกลับฟื้นคืนชีพมาพบกับพระอาจารย์มั่นฯ พระเถระผู้ทรงคุณวุฒิในทางปฏิบัติกัมมัฏฐาน กับได้ไปอยู่กับท่านและยังจำข้อความคำพูดอันพอจะเป็นประโยชน์อยู่บ้าง มาเขียนให้ได้อ่านเข้าใจถึงเหตุผลบางประการ ซึ่งก็นับว่าเป็นบุญของผู้เขียนอยู่

    พระอาจารย์มั่น ฯ ท่านได้เล่าว่า

    เมื่อเข้าไปอยู่ลึกอย่างนั้น การพิจารณาก็ขยายออกยากมาก แต่ท่านเป็นนักผจญภัยและนักสู้ที่แท้จริง ไม่ยอมแพ้แก่ธรรมชาติอย่างง่ายๆ ท่านได้พยายามอยู่ในถ้ำลึกคืนหนึ่ง กำหนดจิตอย่างหนักเพื่อให้เกิดพลังของการพิจารณา ท่านว่าไม่ยอมให้มันมิดไปเฉย ๆ กำหนดความรู้และใช้กำลังพิจารณาควบคู่กันไป เมื่อปล่อยให้มันมิดแต่ตามกำหนดรู้ แล้วก็ขยายการมิดให้ออกมาพิจารณา

    ท่านพูดว่า

    ได้กำหนดเป็นอนุโลม และปฏิโลม อนุโลม คือปล่อยให้มันไป ปฏิโลมคือไม่ยอมให้มิด กำหนดพิจารณา พิจารณาอะไร พิจารณาถึงสังขารทั้งหลายว่าเป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นดับไป อาศัยการพิจารณาอยู่อย่างนี้ ด้วยความมีสติกำหนดไม่ปล่อย กำลังของปัญญาก็รวมจุดเกิดเป็นพลังใหญ่ ใช้เวลาประมาณ ๒.๐๐ น. กลางคืน (ตี ๒) ปรากฏขึ้นในใจของท่านว่า ถ้ำเชียงดาวได้แยกออกเป็นสองซีก สว่างไปหมดที่แยกออกนั้น แยกออกจริง ๆ การหายใจที่เคยอึดอัดหายหมด ความเป็นเช่นนั้นได้ปรากฏอยู่ตลอดคืน ท่านเล่าว่าทุกอย่างเหมือนไม่ได้อยู่ในถ้ำ ทำให้รู้สึกถึงอดีตอะไรมากอย่างทีเดียว พร้อมทั้งเข้าใจวิธีการแก้ไขในขณะที่เกิดความหลงอยู่ในสมถะ ท่านเคยตำหนิผู้ที่หลงอยู่ในสมถะมากมายหลายองค์ เพราะว่าการหลงอยู่ในสมถะก็เท่ากับสมาธิหัวตอ ท่านพูดอยู่เสมอๆ ว่าสมาธิหัวตอนั้นเป็นอย่างไร คือมันไม่งอกเงยอะไรขึ้นมา เป็นอย่างไรก็แค่นั้นเอง ข้อนี้ท่านหมายความว่า ผู้มีสมถะแล้วให้มีวิปัสสนาด้วยจึงจะเป็นการถูกต้อง

    เป็นอันว่า ถ้ำเชียงดาว ท่านก็มาได้รับประโยชน์พอสมควร และได้ทั้งนำมาเล่าสู่ลูกศิษย์ เช่น ผู้เขียนและอื่น ๆ อีกมาก เพื่อจะได้เป็นคติตัวอย่างอันเป็นสิ่งที่มีค่าเหลือเกิน ค่าของท่านผู้บริสุทธิ์นี้ แม้จะเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ควรจะได้น้อมรับนำเป็นตัวอย่าง ผู้เขียนเองก็ไม่ใคร่อยากจะเขียนเท่าไร เพราะเราก็รู้ ๆ กันอยู่ในตัวของเราเองแล้ว ท่านพูดให้ฟัง เล่าให้ฟังก็รู้อยู่ทั้งนั้น เลื่อมใสเราก็เลื่อมใส เชื่อเราก็เชื่อ เป็นประโยชน์เราก็ได้รับ แล้วเรื่องอะไรจะมาเขียนให้เสียเวลาอีกเล่า ? แต่เหตุผลที่จะต้องเขียนนั้นมีอยู่ เพราะได้รับความรบเร้าเตือนใจจากบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งคำพูดและจดหมาย ต้องเขียนตอบไปให้มากมายและตอบไปกับปากก็มาก และอีกประการหนึ่งผู้เขียนก็เคารพท่านจริง ๆ องค์อื่นก็คงจะเป็นเหมือนผู้เขียนอีกหลายท่าน ด้วยเหตุผล ๒ ประการนี้แหละทำให้ต้องย้อนกลับมาเขียนเรื่องของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต อีกครั้ง และด้วยความจำใจจริง ๆ จึงทำให้การเขียนต้องบรรจงและระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะกลัวว่าจะผิดพลาดจากความเป็นจริง
     

แชร์หน้านี้

Loading...