ประวัติพระไตรปิฎกฉบับจีนพากย์

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย rinnn, 3 ธันวาคม 2006.

  1. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,024
    ความรู้เรื่องพระไตรปิฏก
    ประวัติพระไตรปิฎกฉบับจีนพากย์
    เรียบเรียงโดย เสถียร โพธินันทะ


    ..............

    สมัยสาธารณรัฐรีปับลิก

    ๑. พระไตรปิฎกฉบับซกจั๋ง ศักราชมิ่นก๊ก ปีที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๔๖๕) สำนักพิมพ์ชางวู เมืองเซี่ยงไฮ้ จัดพิมพ์ มีจำนวน ๑,๗๕๗ คัมภีร์ ๗,๑๔๘ ผูก

    ๒. พระไตรปิฎกฉบับจีซาจั๋ง ศักราชมิ่นก๊ก ปีที่ ๒๒ (พ.ศ. ๒๔๗๖) นายพล จูจือ เฉียว และเยกุงเจา รองประธานสภาสอบไล่ได้นำคณะพุทธบริษัทจัดการถ่ายพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับจีซาน ครั้งราชวงศ์ซ้อง ซึ่งค้นพบที่วัดไคหงวนยี่ และวัดออหลุงยี่ มณฑลเซียมซี พิมพ์ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ กินเวลา ๓ ปีก็เสร็จ พิมพ์ ๕๐๐ จบๆ ละ ๕๙๑ เล่มสมุด พระไตรปิฎกฉบับนี้ในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ท่านสมณาจารย์ไท้สู และคณะพุทธบริษัทแห่งประเทศจีน ได้มอบเป็นบรรณาการแก่รัฐบาลไทย โดยส่งผ่านพุทธศาสนสมาคมตงฮั้วในกรุงเทพฯ เป็นผู้มอบ เวลานี้เก็บรักษาอยู่ในหอพระสมุดแห่งชาติ

    นอกจากนี้ ยังมีการถ่ายพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับเล่งจั๋ง และฉบับอื่นอีกบ้าง จนลุถึงสมัยรัฐบาลคณะชาติ ย้ายมาอยู่เกาะไต้หวัน ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ พุทธบริษัทจีนซึ่งมีสำนักวัฒนธรรมแห่งประเทศจีนเป็นหัวหน้า ดำเนินการถ่ายพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับไดโชซิของ ญี่ปุ่นขึ้นใหม่ ดังที่มีอยู่แล้วในหอสมุดสภาการศึกษามหามกุฏฯ วัดบวรนิเวศวิหาร และ มหาจุฬาลงกรณฯ วัดมหาธาตุ แต่มิได้ถ่ายพิมพ์เหมือนฉบับไดโช โดยสมบูรณ์ ได้ตัดบางส่วนออก

    ต่างประเทศที่ได้รับอารยธรรมจากจีนก็มีเกาหลี, ญี่ปุ่นเป็นต้น ต่างก็อาศัยฉบับพระไตรปิฎกจีนเป็นต้นฉบับพิมพ์เลียนแบบขึ้นบ้าง เช่น ประเทศเกาหลีปรากฏว่าพระไตรปิฎก ๓ ฉบับๆ แรกเริ่มพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๑๕๕๔ ช้ากว่าฉบับแรกของจีนพิมพ์ครั้งต้นวงศ์ ซ้อง ๔๐ ปี ประเทศญี่ปุ่นมี ๙ ฉบับๆ แรกเริ่มพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๑๘๐ ช้ากว่าฉบับแรกของจีนพิมพ์ครั้งต้นวงศ์ซ็องถึง ๖๖๖ ปี ช้ากว่าฉบับแรกของเกาหลี ๖๒๖ ปี แต่ญี่ปุ่นเจริญก้าว หน้าในด้านค้นคว้ารวบรวมปกรณ์วิเศษ, อรรถกถา, ฎีกาต่างๆ ยิ่งกว่าจีนและเกาหลี ในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ศาสตราจารย์ตากากุสุ พร้อมด้วยนักปราชญ์ชาวญี่ปุ่นหลายท่านร่วมกันชำระ รวบรวมพิมพ์พระไตรปิฎกใหม่มาแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ให้ชื่อว่าฉบับ ไดโช มีความ วิจิตรพิสดารมโหฬารพันลึกอุดมสะพรึบพร้อมด้วยนานาปกรณ์ ไม่มีพระไตรปิฎกฉบับใดในโลก ทั้งฝ่ายมหายานเถรวาทจะเทียบได้ ได้รวบรวมทั้งคันถะต่างๆ ของบรรดาคณาจารย์ ฝ่ายจีนและญี่ปุ่นทุกคณะทุกนิกายไว้หมด มี ๓๐๕ ปกรณ์ ๑๑,๙๗๐ ผูก พิมพ์เป็นสมุด หนาใหญ่ขนาดเอนไซโคลปีเดีย ๑๐๐ เล่ม

    พระไตรปิฎกฉบับนี้ในประเทศไทยมีอยู่ ๔ แห่ง ด้วยกัน เท่าที่ผู้เขียนเรียนรู้คือ ที่วัดโพธิ์เย็น (โพยิ่นยี) อำเภอท่ามะกา กาญจนบุรีแห่ง หนึ่ง ที่วัดทิพยวารีวิหาร (กัมโล่ยี่) กรุงเทพฯ แห่งหนึ่ง ที่สมาคมพุทธบริษัทไทยจีนประชา กรุงเทพฯ อีกแห่งหนึ่ง และเป็นสมบัติส่วนบุคคลของห้างเบ๊จูลิบ กรุงเทพฯ อีกแห่งหนึ่ง วงการพุทธศาสนาของญี่ปุ่นยังก้าวหน้าไปอีกคือ ยังได้พิมพ์พระไตรปิฎกฉบับอักษรญี่ปุ่น ขึ้นและยังได้แปลพระไตรปิฎกภาษาบาลีของฝ่ายเถรวาทออกเป็นภาษาญี่ปุ่น พิมพ์ขึ้นแพร่หลายก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ อีกด้วย นับว่าพุทธบริษัทฝ่ายมหายานเขาเอาใจใส่ในเรื่องการศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวางไม่จำกัดในเรื่องลัทธินิกาย ควรที่จะ เป็นเนตติของพุทธบริษัทฝ่ายเถรวาทบ้าง

    อันที่จริงคลังปริยัติของฝ่ายเถรวาทก็มีอุดม สะพรึบพร้อมด้วยนานาคันถะไม่น้อยกว่าของฝ่ายมหายาน แต่เราไม่คิดรวบรวม ไม่มีผู้ใดจะสนใจศึกษาพวกปกรณ์วิเศษและคันถะต่างๆ เหล่านี้ ปล่อยให้กระจัดกระจายตกหล่น สูญหาย ปกรณ์สำคัญๆ เช่น อภิธรรมมาวตารเนตติปกรณ์เป็นต้น ในวงการปริยัติของไทย ไม่มีใครสนใจ เรารู้จักกันแต่วิสุทธิมรรค, อภิธรรมมัตถสังคหกับอภิธรรมมัตถวิภาวินี และ มิลินทปัญหาและปรมัตถมัญชุสาเท่านั้น

    พม่าก็มี คณาจารย์ไทยก็มี ซึ่งประมวลกันเข้าแล้ว มากมายไม่ต้องอายฝ่ายมหายาน เราไม่รับรู้ไม่คิดสนใจ ไม่คิดรวบรวม ปล่อยให้เพชรน้ำ หนึ่งเหล่านี้จมดินจมทรายหมด ถ้าสามารถจะเป็นไปได้ กล่าวคือ พุทธบริษัทในกลุ่มประเทศเถรวาท ๕ ประเทศ มีไทย, ลังกา, พม่า, เขมร และลาว ตั้งคณะกรรมการชำระ รวบรวมอรรถกถา, ฎีกา, โยชนาและปกรณ์วิเศษต่างๆ ที่แต่งเป็นภาษาบาลี หรือภาษา ของชาตินั้นๆ

    รวบรวมเข้าไว้เป็นภาคผนวกของบาลีพระไตรปิฎกเรียกว่า คลังพระปริยัติ ธรรมฝ่ายเถรวาท ก็จักเป็นงานเชิดหน้าชูตาเทียมบ่าเทียมไหล่กับพระไตรปิฎกฉบับไดโช ของฝ่ายมหายานได้ และถ้ารวมคลังปริยัติธรรมทั้งสองฝ่ายเข้าไว้ ก็เป็นมหาธรรมสาครอันยิ่งใหญ่นักหนา ไม่มีศาสนาลัทธิใดในโลก ที่จะมีความมหัศจรรย์วิจิตรพิสดารสะพรั่งด้วยตำรับตำราถึงขนาดนี้เลย

    ..................................................................................................

    http://mahamakuta.inet.co.th/tipitaka/tipitaka3/tipi~236.html

    มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
    241 ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

    ที่มาค่ะ..http://www.pantip.com/cafe/religious/topic/Y4931421/Y4931421.html
     

แชร์หน้านี้

Loading...