ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 13 กรกฎาคม 2013.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    วัดถ้ำผาบิ้ง
    บ้านนาแก ต.ผาบิ้ง อ.วังสะพุง จ.เลย


    ๏ ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

    หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร เป็นบุตรของ คุณพ่อคำฝอย วรบุตร ลูกชายเจ้าเมืองแก่นท้าว แขวงไชยบุรี ประเทศลาว และ เจ้าแม่นางกวย (สุวรรณภา) วรบุตร ธิดาของผู้มีอันจะกินเขตเมืองเลย

    ท่านถือกำเนิดเมื่อ วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2444 เวลารุ่งอรุณจวนสว่าง ได้ชื่อว่า วอ มีพี่สางต่างบิดา 1 คน และ น้องชายร่วมบิดามารดาอีก 1 คน

    เมื่อเข้าโรงเรียน ท่านมีนิสัยช่างซักช่างเจรจา ออกความเห็นเหมือน ครูบา จึงถูกเรียกว่า บา ท่านมีโอกาสศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนวัดศรีสะอาดจนจบชั้นประถมปีที 3 ซึ่งขณะนั้นถือเป็นการศึกษาชั้นสูงสำหรับเมืองชายแดน

    ต่อมาท่านได้ทำงานเป็นเสมียนกับพี่เขยที่เป็นสมุห์บัญชีสรรพากร อำเภอเชียงคาน และเมื่อปี 2464 ได้ย้ายไปทำงานที่อำเภอแซงบาดาล (ธวัชบุรี) และที่ห้องอัยการภาค จังหวัดร้อยเอ็ด ด้วยการอุปถัมภ์ของอัยการภาคร้อยเอ็ด

    ขณะที่อยู่ที่เชียงคาน ด้วยวัยหนุ่มคะนอง มีการติดต่อกับฝรั่งฝั่งลาว ท่านจึงรู้จักวิธีผสมสุราอย่างฝรั่งเศส และศึกษาศาสนาคริสต์อยู่ 5 ปี จนคุณพระเชียงคาน ลุงของท่าน เรียกท่านว่า เซนต์หลุย หรือ หลุย ท่านจึงถูกเรียกชื่อว่า หลุย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร

    ๏ ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา


    ชีวิตราชการของท่านไม่ค่อยราบรื่นนัก ท่านจึงรู้สึกอึดอัดใจในชีวิตฆราวาสอย่างยิ่ง ประกอบกับรู้สึกเบื่อหน่ายกับการต้องคลุกคลีอยู่กับการจัดอาหารในงานเลี้ยงที่ต้องมีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต คิดอยากบวชเพื่อแผ่บุญกุศลไปให้สรรพสัตว์ที่ตายไปแล้ว ท่านจึงตัดสิ้นใจลาออกจากชีวิตราชการเข้าสู่พิธีอุปสมบท เป็นพระมหานิกาย ณ อำเภอแซงบาดาล จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อปีพุทธศักราช 2466 โดยมีอัยการภาคเป็นเจ้าภาพบวชให้

    ระหว่างพรรษาแรกที่ธวัชบุรี ท่านได้พยายามศึกษาพระธรรมวินัย ทั้งปริยัติธรรมและปฏิบัติ ครั้นถึงคราวออกพรรษา ท่านได้ลาพระอุปัชฌาย์ไปเข้าร่วมการคัดเลือกเกณฑ์ทหารที่จังหวัดเลย และได้เดินทางไปนมัสการพระธาตุพนม ที่จังหวัดนครพนม ระหว่างทางได้พบพระธุดงค์กัมมัฏฐานรูปหนึ่งมาจากอำเภอโพนทอง รู้สึกถูกอัธยาศัยซึ่งกันและกัน ท่านได้ร่วมถวายภาวนาเป็นพุทธบูชา ณ ลานพระธาตุพนมตลอดคืน บังเกิดความอัศจรรย์ กายลหุตา จิตลหุตา คือ กายเบา จิตเบา จึงตั้งสัจจาอธิษฐานว่าจะบวชกัมมัฏฐานตลอดชีวิต

    ระหว่างทางสู่จังหวัดเลย เมื่อมาถึงบ้านหนองวัวซอ ท่านได้มีโอกาสฟังธรรมเทศนาจาก ท่านพระอาจารย์บุญ ปญฺญาวโร รู้สึกเลื่อมใสมาก จึงขอถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์ได้แนะนำให้ขอญัตติเป็นธรรมยุตที่จังหวัดเลย หลังจากเกณฑ์ทหารแล้วท่านจึงได้ขอญัตติจตุตถกรรมใหม่ เป็นพระธรรมยุตที่วัดศรีสะอาด อำเภอเมือง จังหวัดเลย

    ต่อมาท่านได้กลับมาอยู่กับ พระอาจารย์บุญ ที่วัดหนองวัวซอ และติดตามไปวัดพระพุทธบาทบัวบก ซึ่ง ณ ที่นี้เอง ท่านได้พบกับ พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และอยู่ปฏิบัติรับฟังโอวาทจาก พระอาจารย์เสาร์ โดยมี พระอาจารย์บุญ เป็นพระพี่เลี้ยง

    จากนั้น ก็ได้ไปกราบนมัสการ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต มหาเถระที่ท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ได้อยู่อบรมรับฟังโอวาทและฝึกปฏิบัติกับพระอาจารย์มั่น จวบจนเข้าพรรษา จึงกลับมาจำพรรษาต่อกับ พระอาจารย์เสาร์ ที่วัดพระพุทธบาทบัวบก

    ในพรรษานี้ ท่านได้ภาวนาจนจิตรวมแล้วเกิดอาการสะดุ้ง พระอาจารย์บุญ จึงให้ญุตติจตุถกรรมใหม่ที่ วัดโพธิสมพรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2468 โดยมี ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งเป็นพระครูสังฆวุฒิกรป็นพระอุปัจฌาย์ และ ท่านพระอาจารย์บุญ ปญญาวโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์

    ท่านจึงได้บวชถึง 3 ครั้ง คือ ปี 2466, 2467 และ 2468

    พรรษาที่ 1 - 6 ( พ.ศ. 2468 - 2473) ท่านจำพรรษาอยู่กับ ท่านพระอาจารย์บุญ ปญฺญาวุโธ พ.ศ. 2468 จำพรรษา ณ วัดพระบาทบัวบก อำเภอผือ จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2469 - 2473 จำพรรษา ณ วัดป่าหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี (ปัจจุบันมีชื่อว่า วัดบัญญานุสรณ์) และในปี พ.ศ. 2473 พระอาจารย์บุญ ปญฺญวุโธ มรณภาพ ซึ่งในปีนี้ ท่านได้จำพรรษาอยู่ร่วมกับ หลวงปู่ขาว อนาลโย และ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม

    พรรษาที่ 7 - 8 พ.ศ. 2474 ท่านจำพรรษาที่วัดป่าบ้างเหล่างา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น (ปัจจุบัน คือ วัดป่าวิเวกธรรม) ร่วมกับ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญพโล พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์ชอบ ฐานสโมและหลวงปู่ฝั้น อาจาโร

    ปี พ.ศ. 2475 ได้ร่วมกับคณะไปส่งสตรีกัมมัฏฐานที่ นครราชสีมา และ ร่วมสร้างวัดป่าสาลวัน และได้จำพรรษาที่ วัดป่าศรัทธา ร่วมกับ พระอาจารย์มหาปิ่น พระอาจารย์ภูมี จิตฺตธมฺโม พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ พระอาจารย์คำดี ปภาโส

    พรรษาที่ 9 - 10 (พ.ศ. 2476 - 2477) ท่านได้ร่วมเดินธุดงค์กับ พระอาจารย์เสาร์ และได้วิชาม้างกายจากท่านอาจารย์ ในปีนี้ท่านได้จำพรรษา ณ ถ้ำบ้านโพนงาม-หนองสะไน ตำบลผักคำภู อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร

    พรรษาที่ 11 (พ.ศ. 2478) เป็นปีที่สร้างวัดป่าหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร หรือ วัดภูริทัตตถิราวาส และท่านได้ออกอุบายให้ชาวบ้าน อาราธนานิมนต์ ท่านพระอาจารย์ฝั้น มาจำพรรษาที่นี่นานถึง 5 ปี

    พรรษาที่ 12 (พ.ศ. 2479) อยู่จำพรรษากับ พระอาจารย์เสาร์ ณ วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

    พรรษาที่ 13 - 14 (พ.ศ. 2480 - 2481) กลับมาสู่แผ่นดินถิ่นกำเนิด จำพรรษา ณ ป่าช้าหนองหลางฝาง ถ้ำผาปู่ และ ถ้ำผาบิ้ง จังหวัดเลย

    พรรษาที่ 15 (พ.ศ. 2482) ธุดงค์แสวงหาที่ว่างปฏิบัติธรรมในเขตป่าดงเถื่อนถ้ำ จังหวัดเลย จำพรรษา ณ ถ้ำผาปู่ และ พักเจริญธรรมบ้านหนองบง

    พรรษาที่ 16 (พ.ศ. 2483) เกิดอัศจรรย์ในดวงจิต จำพรรษา ณ โพนสว่าง อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร (โพนงาม หนองสะไน) ได้โสรจสรงอมฤตธรรม ครั้นออกพรรษา ได้ไปนมัสการ หลวงปู่มั่น ที่วัดป่าโนนนิเวศน์ จังหวัดอุดรธานี

    พรรษาที่ 17 - 19 ใน พ.ศ. 2484 ได้ร่วมอยู่ในรัศมีบารมีบูรพาจารย์ ขณะที่ หลวงปู่มั่น จำพรรษา ที่โนนนิเวศน์

    พ.ศ.2485 - 2486 จำพรรษาที่ บ้านอุ่นโคก และ ป่าใกล้วัด ป่าบ้านนามน จังหวัดสกลนคร

    พรรษา ที่ 20 - 25 ใน พ.ศ. 2487 - 2488 ทำหน้าที่เปรียบได้ดังนายทวารบาล แห่งบ้านหนองผือ จำพรรษา ณ บ้านหนองผือ จังหวัดสกลนคร

    พ.ศ. 2489 - 2490 จำพรรษา ณ บ้านอุ่นดง จังหวัดสกลนคร

    พ.ศ. 2491 จำพรรษา ณ บ้านโคกมะนาว จังหวัดสกลนคร

    พ.ศ. 2492 จำพรรษา ณ บ้านห้วยป่น ตำบลนาใน อำเภอพรรณนิคม สกลนคร ขณะที่หลวงปู่มั่น จำพรรษาช่วงปลายชีวิต ณ วัดป่าหนองผือ ท่านจึงอยู่พรรษากับบูรพาจารย์ใหญ่ ในช่วงนี้ โดย เฉพาะในปีนี้ มี พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน พระอาจารย์มนู พระอาจารย์อ่อนสา พระอาจารย์เนตร ตนฺติสีโล พระอาจารย์วัน อุตฺตโมร่วมจำพรรษาด้วย

    พรรษาที่ 26 - 31 พ.ศ. 2493 หลังจากประทีปแก้วของพระกัมมัฏฐานได้ดับลง ณ วัดป่าสุทธาวาส เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2492 และได้ถวายเพลิงในต้นปี 2493 หลังจากนั้น ท่านได้ออกธุดงค์เรื่อยไป จำพรรษาที่วัดศรีพนมมาศ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย

    พ.ศ. 2494 จำพรรษา ณ ถ้ำพระนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

    พ.ศ. 2495 จำพรรษา ณ วัดป่าเขาสวนกวาง อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น กับเจ้าคุณอริยคณาธาร

    พ.ศ. 2496 จำพรรษา ณ วัดดอนเลยหลง อำเภอเมือง จังหวัดเลย และถ้ำผาปู่

    พ.ศ. 2497 จำพรรษา ณ บ้านไร่ม่วง (วัดป่าอัมพวัน) กับ หลวงปู่ชา อจฺตฺโต ผู้เคยร่วมธุดงค์กันหลายครั้ง และในปีนี้ ด้มาที่ท่าแพ อำเภอเมือง จังหวัดเลย

    พ.ศ. 2498 จำพรรษา ณ สวนพ่อหนูจันทร์ บ้านฝากเลย จังหวัดเลย

    พรรษาที่ 32 พ.ศ. 2499 อยู่บ้านกกกอก ตำบลหนองงิ้ว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย (ปัจจุบัน คือ วัดปริตตบรรพต) และ ผจญพญานาคที่ภูบักบิด

    พรรษาที่ 33 - 35 พ.ศ. 2500 จำพรรษาร่วมกับ หลวงปู่ขาว อนาลโย ณ วัดป่าแก้วชุมพล สว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

    พ.ศ. 2501 - 2502 ร่วมจำพรรษา และ ร่วมสร้าง วัดถ้ำกลองเพล กับ หลวงปู่ขาว

    พรรษาที่ 36 พ.ศ. 2503 จำพรรษา ณ ถ้ำมโหฬาร ตำบลหนองหิน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย และ ในเขตป่าเขาถ้ำเถื่อน ในเขตจังหวัดเลย

    พรรษาที่ 37 พ.ศ. 2504 จำพรรษา ณ ถ้ำแก้งยาว บ้านโคกแฝก ตำบลผาน้อย อำเภอสะพุง จังหวัดเลย ในปีนี้ ได้พบงูใหญ่มาอยู่ใต้แคร่

    พรรษาที่ 38 พ.ศ. 2505 จำพรรษาที่ เขาสวนกวาง อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น

    พรรษาที่ 39 พ.ศ. 2506 ได้อุบายธรรม เนื่องจากการจำพรรษากับ หลวงปู่ขาว อนาลโย ณ ถ้ำกลองเพล อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู

    พรรษาที่ 40 พ.ศ. 2507 จำพรรษาที่ บ้านกกกอก ตำบลหนองงิ้ว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

    พรรษาที่ 41 - 42 พ.ศ. 2508 - 2509 เสวยสุขจำพรรษา ณ ถ้ำผาบิ้ง บ้านนาแก ตำบลผาบิ้ง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

    พรรษาที่ 43 - 48 พ.ศ. 2510 - 2515 จำพรรษา ณ ถ้ำผาบิ้ง สร้างวัดผาบิ้งและเริ่มรับนิมนต์โปรดพุทธชนภาคอื่นๆ ขณะมีอายุกว่า 70 ปีแล้ว

    พรรษาที่ 49 - 50 พ.ศ. 2516 - 2517 กลัปไปบูรณะ บ้านหนองผือ และถ้ำเจ้าผู้ข้า อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

    พรรษาที่ 51 พ.ศ. 2518 จำพรรษา ร สวนบ้านอ่าง อำเภอบะขาม จังหวัดจันทบุรี เพื่อโปรดชาวภาคตะวันออก

    พรรษาที่ 52 พ.ศ. 2519 เดินทางไปโปรดชาวภาคใต้ และ จำพรรษา ณ วัดกุมภีร์บรรพต นิคมควนกาหลง จังหวัดสตูล วัดควนเจดีย์ จังหวัดสงขลา

    พรรษาที่ 53 - 57 โปรยปรายสายธรรม

    พ.ศ. 2520 จำพรรษาที่ สวนปทุมธานี อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี
    พ.ศ. 2521 จำพรรษาที่ วัดป่าหนองแซง อำเภอหนองวัวซอ อุดรธานี
    พ.ศ. 2522 จำพรรษาที่ โรงนายาแดง คลอง 16 อำเภอองครักษ์ นครนายก
    พ.ศ. 2523 จำพรรษาที่ วัดอโศการาม อำเภอเมือง สมุทรปราการ
    พ.ศ. 2524 จำพรรษา ณ ที่พักสงฆ์ บ้านคุณประเสริฐ โพธิ์วิเชียร อำเภอศรีราชา ชลบุรี

    พรรษาที่ 58 พ.ศ. 2525 พิจารณาธาตุขันธ์จะแตกดับ จำพรรษา ณ ถ้ำเจ้าผู้ข้า อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

    พรรษาที่ 59 - 65 (พ.ศ. 2526 - 2532) เป็นช่วงแสงตะวันลำสุดท้ายของชีวิต ในช่วงปี พ.ศ. 2526 - 2528 ท่านจำพรรษาที่ วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) กิ่งอำเภอศรีวิไล จังหวัดหนองคาย

    พ.ศ. 2529 - 2532 จำพรรษาที่พักสงฆ์ ก.ม. 27 ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร กับที่พักสงฆ์เย็นสุดใจ อำเภอท่าหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

    ในบรรดาศิษย์ของหลวงปู่มั่นนั้น หลวงปู่หลุยเป็นผู้ที่สันโดษ มักน้อย ประหยัดมัธยัสถ์ที่สุด ท่านเป็นผู้ละเอียดละออมาก เป็นนักจดบันทึก มีบันทึกหลายสิบเล่มเกี่ยวกับหลวงปู่มั่น ซึ่งเป็นประโยชน์มากต่อการค้นคว้าศึกษาสำหรับสาธุชนคนรุ่นหลัง รวมทั้ง ธรรมโอวาทของท่านเองด้วย
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร

    [​IMG]

    ๏ ธรรมโอวาท


    ธรรมเทศนาของหลวงปู่มีมากมายหลายร้อยหลายพันกัณฑ์ เพราะท่านได้เทศน์โปรดญาติโยมลูกศิษย์มากกว่าครึ่งศตวรรษ และกระทำเรื่อยมาจนกระทั่งคืนสุดท้าย ก่อนจะมรณภาพเพียงหนึ่งชั่วโมง ท่านก็ยังอบรมสั่งสอนศิษย์อยู่

    ท่านได้กล่าวถึงความสำคัญของ การรักษาศีล โดยเฉพาะในวันอาทิตย์ ท่านจะเน้นให้บรรดาศิษย์รักษาเพิ่มจาก ศีล 5 เป็น ศีล 8

    ท่านได้อธิบายอานิสงส์ของศีลให้ฟังว่า

    ศีล 5 นี้ พระพุทธเจ้า ท่านมีเมตตาต่อผู้ครองเรือน ผู้รักษาศีล 5 ย่อมสำเร็จโสดาบันได้ สำหรับศีล 8 ย่อมช่วยให้สามารถสำเร็จถึงอนาคามีได้

    พระธรรมเทศนาของท่าน จะย้ำเสมอเรื่องการบริจาคทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา

    ท่านมักจะเน้นเรื่องศีลอยู่เสมอ เพราะ ศีล แปลว่า ความปกติ เป็นการรักษาใจให้ปกติ อันเป็นบาทเบื้องต้นของการภาวนา หากรักษาศีลได้บริสุทธิ์ การภาวนาก็จะก้าวหน้ารวดเร็ว ผู้มีศีลย่อมต้องมีจิตใจผ่องใส เป็นที่รักของบุคคลทั้งหลาย ในสังคมที่อยู่ร่วมกันนี้ ถ้าทุกคนรักษาศีล 5 บ้านเมืองก็จะสงบราบรื่น ปราศจากขโมย ไม่มีการฆ่าฟันกัน

    อานุภาพแห่งศีล ย่อมรักษาตัวผู้รักษาศีล และ สังคมโดยรอบได้

    หลังจากได้ฟอกจิตด้วยการรักษาศีลแล้ว การบำเพ็ญทาน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้จิตใจโน้มน้าวตัดความตระหนี่ให้มีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ถึงกัน

    ส่วนเรื่อง จิตภาวนา นั้น ท่านจะเน้นว่ามีอานิสงส์มาก ท่านกล่าวเสมอว่า กิเลสมีร้อยแปดประตู แต่พุทโธมีประตูเดียว เพราะฉะนั้น ให้ฝึกหัดปฏิบัติให้คุ้นเคย วาระที่เราจะเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด ดังนั้นจงเพียรฝึกจิตให้คุ้นไว้กับพุทโธ

    ท่านละเอียดพิถีพิถันมากในทุกเรื่อง เป็นต้นแบบให้สาธุชนรู้จักฝึกตนให้รู้จักการกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ อย่างถูกต้อง คือ นอกจากเข่าทั้งสอง มือทั้งสอง ศอกจรดพื้น หน้าผากต้องแตะถีงพื้นด้วย จึงจะเป็นท่ากราบที่งดงาม

    ในการกราบครั้งที่หนึ่งให้มีน้อมจิตรำลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า กราบครั้งที่สองให้นึกถึงพระธรรมคำสั่งสอนของท่านที่สืบต่อพระศาสนามาจนทุกวันนี้ กราบครั้งที่สามให้ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นสมมติสงฆ์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในการกราบทุกครั้ง ต้องน้อมจิตให้รำลึกด้วยเสมอ จิตจะเอิบอาบในการบุญ จะเป็นจิตที่อ่อนน้อมควรแก่การงาน หากฝึกเช่นนี้เสมอ จะเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตน

    ให้ดูจิตของตัวเอง ภาวนาให้จิตใจสงบ มัธยัสถ์ปัจจุบัน ม้างกายให้มาก จะช่วยให้หมดความกำหนดหลงติดในสีสันของกามวัตถุ

    ให้หมั่นมีเมตตากรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย อานิสงส์ของการช่วยชีวิตสัตว์ที่เขาจะนำไปฆ่า มีผลทำให้อายุยืน แม้ยามตกทุกข์ได้ยาก ก็จะมีคนมาช่วยเหลือ ไม่ติดคุกติดตาราง

    หลักการม้างกาย ของท่าน คือ การพิจารณาปล่อยวางธาตุขันธ์ ส่วนการภาวนาหรือทำจิตทำใจ ให้ดูอาการของจิต ก่อนตาย อย่าไปดูอาการของเวทนา ให้ดูจิตอย่างเดียว เวลาธาตุจะตีลังกาเปลี่ยนภพ จิตจะออกจากร่าง ให้พิจารณาตามจิต จะเห็นว่า จิตจะออกจากร่างอย่างไร ไปอย่างไร จิตจะเข้าๆ ออกๆ อย่างไร จะมืดๆ สว่างๆ อย่างไร จะมีอาการเหนื่อยหอบมาก ให้กำหนดตามจิต จะเห็นอาการจิตชัด แต่หากตามไม่ทัน ก็ให้ปล่อยไปให้ได้ปัจจุบันขณะ

    ท่านจะย้ำเสมอว่า อย่าไปตามดูอาการของเวทนา ให้ดูจิตอย่างเดียวและ ขอให้เร่งทำความเพียร มีความสามัคคี กลมเกลียวกัน
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร

    ๏ ปัจฉิมบท


    ในวันที่ 7 ตุลาคม 2532 ท่านรำพึงระหว่างที่พักอยู่ ณ ที่พักสงฆ์ กม. 27 ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ความว่า

    "แก่ ชรา มานานเท่าไร พึงภาวนาให้คุ้นเคยกับความตาย เพราะจะต้องตายอยู่แล้ว เตรียมตัวไว้ก่อนตาย รอรถ รอเรือ ที่จะต้องขึ้นไหสวรรค์พระนิพพาน หูยิ่งหนวกหนักเข้าทุกวัน ตายิ่งไม่เห็นหน ตีนเท้าอ่อนเพลีย หันไปหาความตายเสมอไป ถือภาวนาใน ไตรลักษณ์ ทุกขอนิจจัง อนัตตา มีเกิดแล้วย่อมมีตาย เพราะโลกไม่เที่ยงอยู่แล้ว แปรปรวนไปต่างๆ สังขารเราบอกเช่นนั้น เที่ยงแต่พระนิพพานอย่างเดียว"

    เช้าวันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2532 หลวงปู่ยังคงเดินจงกรมตามปกติ หลังจากนั้นได้เรียกพระเณรมาขอนิสัยใหม่ แล้วท่านก็ได้อบรมธรรมะ โดยให้พระเณร ภาวนาดูจิตนเอง ภาวนาให้จิตสงบ ม้างกายให้มาก ท่านปรารภถึงความตาย จนเวลา 13.00 น. ท่านเรียกพระอุปัฏฐากขึ้นไปพบและปรารภให้ฟังว่า รู้สึกแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ลมตีขึ้นเบื้องบน แล้วบอกให้ช่วยนวดขา ครั้นเวลาผ่านไปถึง 16.00 น. อาการกำเริบหนักท่านหายใจไม่ออก พระอาจารย์อุทัย สิริธโร และ บรรดาลูกศิษย์จึงขอนิมนต์ท่านไปโรงพยาบาล แต่ท่านบอกว่า "หมอก็ช่วยไม่ได้ ขอตายที่หัวหิน ไม่ยอมเข้ากรุงเทพฯ เพราะสถานที่ไม่สงบ จะทำให้เข้าจิตไม่ทัน" ลูกศิษย์จึงไปตามแพทย์มาดูอาการและวินิจฉัยว่า เป็นอาการของโรคหัวใจ และ อาหารไม่ย่อย ตรงตามที่ท่านได้บอกกับลูกศิษย์ไว้ก่อนที่หมอจะมา

    ท่านขอแสดงอาบัติ และ บอกบริสุทธิ์ต่อท่ามกลางสงฆ์ ด้วยน้ำเสียงที่แจ่มใสยิ่งพร้อมแสดงธรรม ปฏิญานปลงอายุสังขารแล้วปรารภปัจฉิมเทศนาในเรื่องการทำกิจ การภาวนา การดูอาการของจิตก่อนตาย ย้ำว่า อย่าไปตามดูอาการของเวทนา ให้ดูจิตอย่างเดียว

    ท่านเปี่ยมล้นด้วยเมตตาธิคุณ กรุณาธิคุณ โดยไม่อ้างกาลเวลา แม้อาพาธอย่างหนักก็ยังปรารภปัจฉิมเทศนาเป็นครั้งสุดท้าย จวบจนเวลา 23.30 น. ท่านได้กล่าวว่าท่านประคองธาตุขันธ์ต่อไปไม่ไหว คงจะปล่อยวางแล้ว ขอเอาจิตอย่างเดียว และขอขอบใจที่พระเณรได้ช่วยกันอุปัฏฐากท่าน หากได้ล่วงเกินซึ่งกันและกัน ก็ขอให้อโหสิกรรมให้แก่กันและกันด้วย กระทั่งถึงเวลา 00.43 น. ของ คืนวันที่ 24 ล่วงเข้าสู่ วันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม 2532 หลวงปู่ได้กล่าวเป็นคำสุดท้ายว่า "เอาขันธ์ไว้ไม่ไหวแล้ว"

    หลวงปู่ได้จากไปพร้อมอาการสงบด้วยสติ รวมสิริอายุได้ 88 ปี 65 - 67 พรรษา



    .............................................................

    คัดลอกมาจาก ::
    Dhamma and Life - Manager Online
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร

    [​IMG]

    ประวัติและปฏิปทา (โดยละเอียด)
    หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร


    จากหนังสือจันทสาโรบูชา โดยคุณหญิงสุรีย์พันธุ์ มณีวัต


    พระคุณเจ้าหลวงปู่หลุย จันทสาโร เป็นศิษย์สำคัญองค์หนึ่งของพระคุณเจ้าท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ผู้สมควรจะได้รับการถวายสมัญญา เป็นบูรพาจารย์ เป็นบิดาแห่งวงศ์พระกัมมัฏฐานในสมัยปัจจุบัน ศิษย์สำคัญที่เป็นพระเถระผู้ใหญ่ มีชื่อเสียงขจรขจายเป็นที่เคารพนับถือของมหาชนทั่วประเทศตามรอยบาทแห่งบูรพาจารย์ของท่าน ถือเป็นรุ่นใกล้เดียงกันกับหลวงปู่หลุย จันทสาโร ก็มีเช่น พระคุณเจ้า หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (พระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย์) หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่ขาว อนาลโย และหลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นอาทิ

    หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่อ่อน หลวงปู่ชอบ ต่างมีอายุอ่อนกว่าหลวงปู่หลุย โดยหลวงปู่เทสก์และหลวงปู่อ่อน เกิดในปีขาล พ.ศ. ๒๔๔๕ ในวันที่ ๒๖ เมษายน และ วันที่ ๓ มิถุนายน ตามลำดับ ส่วนหลวงปู่ชอบ เกิดปีฉลู พ.ศ. ๒๔๔๔ เช่นเดียวกับหลวงปู่หลุย แต่เกิดภายหลังท่าน ๑ วัน กล่าวคือ หลวงปู่หลุยเกิดวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ และหลวงปู่ชอบเกิดวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์

    สำหรับวันอุปสมบทหรือญัตติเป็นธรรมยุตนั้น พอเรียงลำดับได้ดังนี้

    หลวงปู่เทสก์ วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖

    หลวงปู่อ่อน วันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๗

    หลวงปู่ชอบ วันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๗

    หลวงปู่หลุย วันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘

    นอกจากหลวงปู่เทสก์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า อุปสมบทก่อนท่าน ๒ พรรษาแล้วหลวงปู่อ่อนและหลวงปู่ชอบจะอุปสมบทก่อนท่านเพียง ๒-๓ เดือนเท่านั้น และมีพรรษาเท่ากัน เพราะท่านทั้งสามจะต้องเริ่มพรรษาหนึ่งในปี ๒๔๖๘ ด้วยกันทั้งนั้นด้วยแม้จะเป็นการอุปสมบทในปี ๒๔๖๗ สำหรับหลวงปู่อ่อนและหลวงปู่ชอบ แต่โดยที่ระยะนั้นวันขึ้นปีใหม่ คือ วันที่ ๑ เมษายน พรรษาของปี ๒๔๖๗ ได้ผ่านพ้นมาแล้วเมื่อท่านทั้งสองอุปสมบท เช่นในกรณีของหลวงปู่ชอบ ท่านอุปสมบทเมื่อ ๒๑ มีนาคม เท่ากับเหลือเวลาอีกเพียง ๑๐ วันก็จะสิ้นปี ๒๔๖๗ พรรษาของท่านจึงต้องไปตั้งต้นที่ปี ๒๔๖๘ เช่นหลวงปู่หลุย ในกรณีของหลวงปู่อ่อนก็เช่นเดียวกัน

    หลวงปู่ขาว ญัตติเป็นธรรมยุตวันเดียวกับท่าน คือวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ บวชหลังท่าน ๑๕ นาที โดยต่างเป็นคู่นาคซ้ายขวาซึ่งกันและกัน ท่านอธิบายว่า แม้ท่านจะมีอายุน้อยกว่าหลวงปู่ขาวนับ ๑๐ ปี แต่โดยที่ท่านได้ญัตติมาเป็นพระธรรมยุตแล้วครั้งหนึ่งที่จังหวัดเลย แต่ในปี ๒๔๖๗ ก่อนหน้านั้น หากมีความสงสัยในการญัตติครั้งนั้นว่าจะไม่ถูกต้องสมบูรณ์ เพราะชื่ออุปัชฌาย์เขียนไม่ถูกอักขระซ้ำการภาวนาก็ขัดข้องไม่เป็นไป จึงมาขอญัตติใหม่อีกครั้งหนึ่ง ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งในขณะนั้นยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระครูสังฆวุฒิกรจึงให้ท่านเป็นนาคขวา ให้หลวงปู่ขาวเป็นนาคซ้าย

    สำหรับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร นั้น มีอายุแก่กว่าท่าน ๒ ปี โดยหลวงปู่ฝั้นเกิดปีกุน พ.ศ. ๒๔๔๒ แต่มาญัตติบวชเป็นธรรมยุตหลังท่านและหลวงปู่ขาว ๗ วัน

    ปกติพระกัมมัฏฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น จะเคร่งครัดพระธรรมวินัยโดยเฉพาะเรื่องการบวชก่อนหลัง ถือเป็นประเพณีว่า แม้บวชหลังเพียงนาทีเดียวก็ต้องเคารพผู้บวชก่อน ดังนั้นจึงเป็นภาพธรรมดาที่จะเห็นหลวงปู่ผู้มีความมักน้อยถ่อมองค์เป็นนิสัย เมื่อพบเพื่อนสหธรรมิกของท่านผู้บวชก่อน แม้จะมีอายุน้อยกว่าแต่หลวงปู่ก็จะคุกเข่าก้มลงกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ อย่างนอบน้อม อ่อนโยนถึงเวลาจะพูดจาด้วย ก็จะใช้คำแทนชื่อองค์ท่านเองว่า “กระผม” หรือ “เกล้ากระผม” เสมอ เช่น เมื่อท่านพบหลวงปู่เทสก์ ซึ่งเป็นที่ทราบและเป็นที่ยกย่องกันในหมู่วงศ์ศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่นว่า ท่านพระอาจารย์มั่นท่านถือหลวงปู่เทสก์เป็นธรรมทายาทของท่าน เป็นคล้าย “พี่ชายใหญ่ของวงศ์ตระกูล” ที่จะต้องดูแลพวกน้องๆ

    หลวงปู่หลุยท่านก็จะปฏิบัติต่อหลวงปู่เทสก์ด้วยความนอบน้อมถ่อมองค์เช่นดังที่กล่าวมา

    แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพบเพื่อนผู้บวชทีหลัง อย่างหลวงปู่ขาวและหลวงปู่ฝั้นท่านจะรีบยกมือขึ้นเตรียมไหว้ก่อนเป็นประจำ และในเวลาที่ได้รับนิมนต์ไปฉันจังหันท่านจะถอยไปนั่งในที่ลำดับถัดไปจากหมู่พวกเสมอ ดังนี้ ความเรื่องที่ท่านมีอาวุโสทางบวชก่อนนี้ หากมิได้แพร่งพรายมาจากทางหลวงปู่ขาว ซึ่งกล่าวยกย่องท่านแล้วก็คงจะแทบไม่มีศิษย์รุ่นหลังผู้ใดทราบเลย
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร

    [​IMG]


    ๏ ชาติตระกูล

    ในเขตตัวเมืองจังหวัดเลย สมัยเมื่อประมาณร้อยกว่าปีก่อนโน้น ดรุณีน้อยนางหนึ่ง ชื่อ “กวย” เป็นธิดาของผู้มีอันจะกินในละแวกบ้าน เป็นที่ขึ้นชื่อลือชากันว่ารูปสวย แต่งตัวงาม เป็นผู้หญิงคนเดียวในหมู่บ้าน ซึ่งขณะนั้นเรียกกันว่า บ้านเมืองใหม่ที่อ่านหนังสือออก เขียนหนังสือได้ ทั้งรูปสมบัติ คุณสมบัติ ทรัพย์สมบัติมีวิชาความรู้ทุกอย่างเพียบพร้อม ดรุณีน้อยผู้นั้นจึงเป็นที่หมายปอง มีผู้มาติดพันมากมาย สุดท้ายมีข้าราชการหนุ่มผู้หนึ่งในจังหวัด เป็นผู้ที่โชคดี สู่ขอตกลงแต่งงานกันอย่างมีหน้ามีตา

    ข้าราชการหนุ่มผู้นั้น ได้รับราชการต่อมาด้วยความก้าวหน้า ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นที่ ขุนวาณิชนิกร เป็นเจ้าเมืองเลย ส่วนภรรยาของท่านชาวเมืองยกย่องเรียกกันว่า เจ้าแม่นางกวย

    ในสมัยนั้น กฎหมายและประเพณีไทยยังเอื้ออำนวยอยู่มากที่จะให้ชายหนึ่งมีภรรยาเกินกว่าหนึ่ง โดยมีเอกภรรยาเพียงคนเดียว และสามารถมีอนุภรรยาได้อย่างไม่จำกัดจำนวน ตามแต่ผู้สามีจะสามารถเลี้ยงดูได้ ความจริงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ว่าด้วยครอบครัว เพิ่งจะประกาศใช้กำหนดให้สามีมีภรรยาได้ถูกต้องตามกฎหมายเพียงคนเดียว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ นี่เอง ฉะนั้น ในระยะนั้นท่านขุนวาณิชนิกร ซึ่งบริบูรณ์ด้วยยศศักดิ์ ศฤงคาร จึงมีผู้ชิงกันเสนอหญิงให้เป็นภรรยารองอย่างไม่คำนึงถึงจิตใจของผู้เป็นเอกภรรยา พูดไปแล้วควรจะถือได้ว่าเจ้าแม่นางกวยเป็นหญิงที่มีความทันสมัยก้าวหน้าอย่างยิ่ง ถือเป็นสตรีที่ต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีหรือ Women's Lib คนแรกของจังหวัดเลยก็ว่าได้ ท่านถือว่า การมีอนุภรรยาซึ่งสมัยนั้นกฎหมายก็ยอมรับ ไม่ใช่กฎกรรมที่ควรยอมรับได้ ชายและหญิงควรมีสิทธิทัดเทียมกัน เมื่อแต่งงานกันแล้วก็ควรจะครองรักด้วยกันอย่างซื่อสัตย์ ถ้าไม่ต้องการให้ภรรยานอกใจ สามีก็ไม่ควรนอกใจภรรยาด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น เมื่อไม่สามารถตกลงปรองดองกันได้ในปัญหานี้ ท่านจึงแยกทางกับสามีอย่างไม่อาลัยไยดีกับตำแหน่งภริยาเจ้าเมืองอันมีหน้ามีตานั้นเลย

    ท่านแยกตัวมาจากจวนเจ้าเมืองอย่างใจเด็ดผิดหญิงทั่วไป มีเพียงธิดาน้อยชื่อ “บวย” อยู่เป็นเพื่อนด้วย กลับมาปกครองข้าทาสหญิงชายและทรัพย์สมบัติเดิมอยู่ตามลำพัง

    หลานเหลนในระยะหลัง เล่าให้ฟังว่า ทรัพย์สมบัติของเจ้าแม่นางกวยนั้น เรียกว่า เป็นเอกอยู่ในบ้าน สมัยนั้นจังหวัดเลยยังมิได้มีการแบ่งเป็นถนน เป็นซอยเช่นในทุกวันนั้นคงเป็นหมู่บ้าน เรียกกันว่า บ้านเมืองใหม่ บ้านแฮ่ บ้านติ้ว เป็นต้นตำบลที่เรียกว่า “บ้านติ้ว” คือบริเวณแถบที่ตั้งศาลากลางในปัจจุบัน บ้านเมืองใหม่ซึ่งเป็นชื่อหมู่บ้านที่เจ้าแม่นางกวยครอบครองนั้น ในเวลานี้ก็อยู่กลางใจเมืองเลยพอดี

    บริเวณเขตบ้านกว้างขวาง ด้านหนึ่งติดแม่น้ำเลย ซึ่งขณะนั้นยังกว้างใหญ่น้ำลึกใสสะอาด ไม่ตื้นเขิน สกปรกรุงรัง ชายฝั่งถูกรุกล้ำเข้ามาจนแคบเล็กเช่นในเวลานี้ระยะนั้น เด็กๆ จะสามารถกระโจนลงไปดำผุดดำว่าย พุ่งหลาวเล่นได้อย่างสำราญเมื่อกล่าวว่า บริเวณเขตบ้านกว้างขวาง ก็หมายความตามนั้น ว่ากว้างขวางจริงๆ

    กล่าวคือ ด้านที่ติดแม่น้ำนั้นยาวเหยียดเลียบไปตามชายฝั่ง ด้านหนึ่งปลูกต้นไม้ผล ทั้งใหญ่และเล็ก หมากม่วง หมากพร้าว หมากหุ่ง (มะละกอ) หมากวี่ง (ขนุน) กล้วย อ้อย มะนาว พริก หอมกระเทียมไม่เคยต้องซื้อ เก็บจากสวนภายในเขตบ้าน โดยเฉพาะหอม กระเทียม นั้น ทำเป็นมัดกระจุก แขวนไว้เป็นราวๆ เลย ต่อไปเป็นบริเวณทุ่งนา ซึ่งหลานของท่านกล่าวว่า ไม่ทราบว่า กี่ร้อยกี่พันไร่ ด้วยไม่ทราบจะนับอย่างไร เพราะมองไปสุดลูกหูลูกตา จากหมู่บ้านนี้ไปจรดอีกหมู่บ้านหนึ่งก็แล้วกัน ถึงหน้านา จะมีลูกนา ออกดำนา ปลูกข้าว ถึงเวลาเก็บเกี่ยว ก็จะมีการลงแขก เกี่ยวข้าว นวดข้าว ฝัดข้าว เอาข้าวขึ้นยุ้งขึ้นฉาง

    ทุกบ้านจะทอผ้าใช้เอง ไม่มีการซื้อหา ในขณะที่บ้านอื่นโดยทั่วไปจะทอผ้าฝ้าย เป็นผ้าถุง ผ้าขาวม้า เพื่อให้ในชีวิตประจำวัน แต่บ้านเจ้าแม่นางกวยจะทอผ้ายก ผ้าไหม มีการเลี้ยงไหม ปลูกหม่อนภายในบ้าน ลูกหลานยังจำวันเวลาได้ที่จะเอาตัวไหมมาใส่กระด้ง ให้ใบหม่อนเป็นอาหาร หลานน้อยจะใช้นิ้วจี้เล่นกับตัวหนอนพวกข้าทาสหญิงชายจะเอาไหมมาสายเป็นไจ บางทีจะใช้เชือกผูกมัดเป็นปม ก่อนจะย้อมสี เสร็จแล้วก็จะทอออกมาเป็นผ้ามัดหมี่ลวดลายต่างๆ กัน วิธีการผูกปมมัดแตกต่างกันจะได้ลายผ้าที่สวยงามผิดแผกกัน สำหรับผ้ายก ผ้าลายดอก ลายขิด ก็ต้องมีวิธีการไปอีกแบบหนึ่ง เมื่อถึงเทศกาลตรุษสงกรานต์หรืองานบุญ ก็จะแต่งตัวประกวดประชันกันภายในละแวกบ้านว่า ลายผ้าของบ้านใดจะงดงามแปลกตากว่ากัน และก็เป็นที่ทราบกันว่า ผ้าทอบ้านเจ้าแม่นางนั้นแหละจะต้องเป็นผ้าทอที่มีสีสันสวยลายงดงามกว่าของบ้านอื่นๆ เสมอ

    เจ้าแม่นางปกครองทรัพย์สมบัติและหมู่บริวารมาได้โดยราบรื่น ความใจเด็ดที่กล้าแยกทางกับเจ้าเมืองประการหนึ่ง ทรัพย์ศฤงคารมากมายที่มีอีกประการหนึ่งทำให้ไม่มีชายใดกล้ามาวอแว กระทั่งลุเวลาวันหนึ่งได้มีชายหนุ่มหน้าตาคมคายผู้หนึ่งเข้ามาเป็นแขกในละแวกบ้าน เป็นผู้ที่เจ้าแม่นางไม่อาจจะปฏิเสธการต้อนรับได้ ด้วยมีศักดิ์ตระกูลใกล้เดียงกัน ชายหนุ่มผู้นั้นมีนิสัยร่าเริง ช่างเล่น ช่างเจรจา ข้ามฟากมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง เป็นบุตรชายของเจ้าเมืองแก่นท้าว ซึ่งสมัยก่อนหน้านั้นไม่นาน เมืองแก่นท้าวนี้ยังรวมอยู่ในเขตประเทศไทย เพิ่งถูกแยกไปถือเป็นเขตดินแดนประเทศลาวเมื่อเกิดกรณี ร.ศ. ๑๑๒ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๓๖) นี่เอง การสูญเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส ทำให้แก่นท้าวต้องหลุดไปจากแผนที่ประเทศไทย

    เมืองแก่นท้าว อยู่ตรงข้ามแม่น้ำเหือง อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ในปัจจุบันคำว่า “แก่น” ออกเสียงยาวหน่อย เป็นภาษาลาว แปลว่า ชอบอาศัยอยู่ ท้าวหมายถึง เพศชาย ดังนั้นรวมคำว่า “แก่นท้าว” หมายความว่า เมืองที่ผู้ชายชอบอยู่แม้ขณะนี้ แก่นท้าวก็ยังมีชื่อเสียงอยู่มากว่า เป็นเมืองผู้หญิงสวย เหล้าสาโทเด็ด คือจุดไฟติดทีเดียว

    เมืองแก่นท้าว จะเลื่องชื่อลือนามว่า ผู้หญิงสวยอย่างไร เป็นเมืองที่ชายชอบอยู่อย่างไร แต่ในที่สุด ชายหนุ่มผู้มีนามว่า “คำฝอย วรบุตร” บุตรชายของเจ้าเมืองแก่นท้าว ก็มิได้สนใจ หากกลับมีใจยินดีสวามิภักดิ์ต่อเจ้าแม่นางกวย หญิงสาวชาวบ้านเมืองใหม่ จังหวัดเลยแต่โดยดี

    เมื่อถึงวันอังคาร ขึ้น ๙ ค่ำ เดือนสาม ปีฉลู ตรีศก อันตรงกับวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๔ ในสถานภาพเช่นนั้น ในชาติตระกูลดังนั้น ทารกชายผู้หนึ่ง ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในสกุล “วรบุตร” ในเวลาเช้าตรู่ เวลาพระออกบิณฑบาต เป็นผู้ซึ่งต่อมาในภายหลัง ได้เป็นที่รู้จัก เป็นที่เคารพรัก เลื่อมใสศรัทธาของปวงพุทธศาสนิกชนไทยทั่วประเทศ ในนามว่า พระคุณเจ้าหลวงปู่หลุย จันทสาโร

    เกี่ยวกับการเกิดของท่านนี้ ต่อมาในภายหลัง ใน พ.ศ. ๒๔๘๐ เมื่อหลวงปู่ธุดงค์ออกจากบ้านไปกว่าสิบปี ก็กลับมาเยี่ยมจังหวัดเลย มาพักที่ ป่าช้าวัดหนองหมากผางตำบลนาอ้อ อำเภอเมืองก็ได้มาโปรดโยมมารดา ได้ถามเจ้าแม่นางกวย หรือ “แม่กวย” ของท่าน ถึงเรื่องนี้ ทราบความแล้วท่านได้บันทึกไว้ดังนี้

    “พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้ถามแม่กวย กำเนิดในท้อง ๑๐ เดือนอยู่กรรมสบาย ไม่ป่วย เราอยู่ในท้องแม่ แม่สมาทานอุโบสถหลวงแรกเกิดคนชอบมาก บิดาฝันได้แก้ว เกิดทีแรกรกพันคอ คนอื่นทายว่าจะได้บวช เจ็บท้อง ๑ คืน รุ่งจวนสว่างคลอด อยู่กรรม ๒๑ วันแม่โช้นเลี้ยง นอนไว้ที่ไหนก็นอนง่าย ร้องไห้แต่อยู่กรรม นอกนั้นไม่ร้องไห้ ตกต้นไม้ ไม่ใข่ตายคืน ครู่เดียวก็รักตัว อยู่กรรมหนาวจัดเกิดทีแรกรูปงาม ใครๆ ก็ชอบอุ้ม อยู่ในท้องนั้นใหญ่จนแม่ตำแย แม่โช้นพันทักท้องว่า ใหญ่นักจะออกไม่ได้ แม่เลยตกใจ นี้แหละพระคุณของแม่เช่นนี้ เราไม่กล้าสึก เพราะฉลองคุณบิดามารดาให้เต็มเปี่ยมในชาตินี้....”

    หมายความว่า การเกิดของท่านมีลักษณะพิเศษ คือ โยมมารดามีครรภ์ถึง ๑๐ เดือนจึงคลอดบุตรชายผู้นี้ ระหว่างอยู่ไฟ สุขภาพของมารดาและบุตรดีมากไม่ป่วยเลย ระหว่างที่บุตรอยู่ในครรภ์ มารดาสมาทานรับศีลอุโบสถใหญ่ตลอดแรกเกิดเป็นที่รักใคร่เอ็นดูของผู้ที่พบเห็นมาก โยมบิดาฝันเป็นมงคลว่า “ได้แก้ว” เป็นนิมิตหมายที่ดีมาก เมื่อเกิดรกพันคอ จึงมีคนทำนายว่า ต่อไปทารกนี้จะได้บวชมารดาท่านเจ็บท้องตลอดคืน จนจะรุ่งสว่างจึงได้คลอด อยู่ไฟนานถึง ๒๑ วัน เป็นเด็กเลี้ยงง่าย ยายเลี้ยง ให้นอนที่ไหนก็นอนง่ายมาก ไม่ขี้อ้อนโยเย มีการร้องไห้บ้างแต่ตอนแม่อยู่ไฟเท่านั้น หลังจากนั้นก็แทบไม่ร้องไห้เลย (ท่านคงซนพอดู) ตกต้นไม้ก็ไม่เจ็บหรือสลบ เพียงครู่เดียวก็รู้สึกตัว ระหว่างอยู่ไฟอากาศหนาวจัด เป็นเด็กสวย รูปงาม ใครๆ ก็ชอบอุ้ม เวลาท่านอยู่ในท้องมารดานั้น ครรภ์ใหญ่มาก...ใหญ่จนทุกคนขู่แม่...ไม่ว่าจะเป็นหมอตำแย หรือคุณยาย ต่างพากันว่า ถ้าท้องใหญ่นักเช่นนี้จะออกไม่ได้ ทำให้โยมมารดาของท่านตกใจมาก เพราะในชนบทไกลๆ นั้น ถ้าท้องใหญ่มากจนทารกออกไม่ได้ ก็มักจะเป็นอันตรายถึงชีวิตทั้งแม่และเด็ก...! เมื่อหลวงปู่รำพึงถึงพระคุณของแม่ ที่ยอมเสี่ยงภัยอันตรายอย่างใหญ่หลวงเพื่อลูกดังนั้น ความตั้งใจที่จะคงอยู่ในเพศพรหมจรรย์ต่อไปจึงยิ่งแน่นแฟ้นขึ้น ไม่กล้าสึก เพื่อให้บุญกุศลจากการบวชอุทิศตนให้แก่พระวรพุทธศาสนานั้นมีผลเต็มเปี่ยม บูชาฉลองพระคุณบิดามารดา
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    วัยดรุณ

    [​IMG]


    ชีวิตในวัยเด็กของหลวงปู่ คงจะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุขมากอยู่ นอกจากการมีกำเนิดในครอบครัวที่มีอันจะกิน หรือความจริงควรจะเรียกได้ว่า...ร่ำรวยที่ดียศ...โดยเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านละแวกนั้น บิดามารดาก็คงประคบประหงมอย่างดี ดังที่มารดาเจ้าแม่นางกวยเล่าให้หลวงปู่ฟังว่า “เกิดทีแรกรูปงาม ใครๆ ก็ชอบอุ้ม” แถมเป็นเด็กเลี้ยงง่าย ไม่ใคร่ร้องไห้ ญาติทุกคนจึงเอ็นดู แย่งกันอุ้มท่านบันทึกไว้ต่อมาอีกหลายปีว่า

    “หนาวจัด ในสมัยนั้นเราเป็นเด็ก บิดาอุ้มเราไปเยี่ยมบ้านแก่นท้าว แม่กับพ่ออุ้มเราไปแต่เราไม่รู้เดียงสานั้นครั้งหนึ่ง”

    น้องชายของท่าน “สุข วรบุตร” เกิดในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ หลังท่าน ๔ ปีท่านจึงดำรงความเป็นลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของตระกูลอยู่หลายปีกว่าน้องชายผู้เกิดใหม่จะมาแทนที่จุดรวมแห่งความสนใจของบิดามารดาและญาติพี่น้อง ท่านว่าแต่ท่านก็มิได้นึกอิจฉาริษยาอะไรน้อง คงเห็นน้องเหมือนของเล่นมีชีวิตที่จะเล่นด้วยพี่สาวของท่าน แม้จะต่างบิดากัน แต่ก็รักใคร่กันสนิท ช่วยมารดาดูแลท่านด้วยความรักมาอย่างไร ท่านก็ช่วยมารดาอุ้มชูน้องด้วยความรักเช่นกันอย่างนั้น แต่นั่นแหละเด็กผู้ชายไหนเลยจะเหมือนเด็กผู้หญิง ท่านกล่าวว่า ท่านดูน้องอยู่ประเดี๋ยวประด๋าวก็ลงจากเรือน เป็นหัวหน้าพากลุ่มเด็กลูกคนใช้ออกลงน้ำบ้าง ออกไปเที่ยวในทุ่งนาบ้างสนุกสนานไปวันๆ ตามประสาเด็ก

    ชีวิตที่พร้อมหน้าพร้อมตาด้วยพ่อ แม่ พี่สาว และน้องชาย ต้องสะดุดหยุดลง เมื่อบิดามาถึงแก่กรรมลงขณะที่ท่านอายุได้เพียง ๗ ขวบ และน้องอายุ ๓ ขวบเท่านั้น ความสุขแจ่มใสที่เคยมีในบ้าน ก็คล้ายกับมีหมอกควันบางๆ มาปกคลุมอยู่ไม่ต้องสงสัย เจ้าแม่นางกวยจะต้องรู้สึกถึงการ “จาก” เป็นอย่างมาก ชีวิตการแต่งงานของท่าน มีแต่การพลัดพรากจากกัน จากเป็น แล้วก็จากตาย ความเป็นหญิงคนเก่งขี่ม้าไปตรวจสวน ตรวจที่นา อย่างที่เคยปฏิบัติ ก็เนือยๆ ไป มีแต่ความเหงา เฉื่อยชามากขึ้น ท่านไม่กลัวการจากเป็น ซึ่งอาจอยู่ในลิขิตของมนุษย์ การจากฝ่ายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครจะยื้อยุดฉุดกระชากชีวิตที่จะจากไปไว้ได้

    มารดาท่านเริ่มเห็นทุกข์...ประจักษ์ถึงการพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจไปเป็นความทุกข์ การงานบ้าน การดูแลทรัพย์สมบัติก็เริ่มปล่อยให้อยู่ในภาระของบุตรสาว ตัวท่านสนใจเข้าวัด ฟังธรรมมากกว่า ระหว่างนั้นพี่สาวของท่านเพิ่งจะรุ่นสาวแต่พวกคนในบ้านและเพื่อนบ้านก็ยกย่องเกรงใจ เรียกกันเป็น “เจ้าแม่นาง” เช่นมารดาในบ้านจึงมีทั้ง เจ้าแม่นางกวย และ เจ้าแม่นางบวย

    ท่านเล่าว่า การนา การสวน การทอผ้า มารดามิค่อยสนใจนัก แต่ที่ท่านยังจำได้ว่า มารดายังทำเป็นประจำ คือ การทำบุญ ตักบาตร ทำด้วยตนเองตลอดรวมทั้งการโอบเอื้ออารีกับหมู่เพื่อนบ้าน เวลาตรุษสงกรานต์ ซึ่งมารดาเคยให้นำเครื่องโถเคลือบน้อยใหญ่ออกมาขัดล้าง โถใบใหญ่เป็นที่จัดทำน้ำปรุง ประกอบด้วยเครื่องหอม เครื่องเทศ อบร่ำ เป็น “หัวน้ำอบไทย” ขันถมทองใบใหญ่ ใช้เป็นที่ผสมหัวน้ำอบเจือจางกับน้ำอบร่ำของหอม ให้เป็นน้ำอบไทย แจกจ่ายให้ข้าทาสบริวารในบ้านรวมทั้งให้นำไปมอบเป็นของขวัญสงกรานต์ปีใหม่ ระยะนั้นวันปีใหม่ของไทยเรายังตั้งต้นวันที่ ๑ เมษายน วันสงกรานต์ ๑๓ เมษายน จึงมีความสำคัญต่อความรู้สึกของคนไทยมาก เพราะเป็นวันเถลิงศกปีใหม่ตามโบราณประเพณี และใกล้กับวันขึ้นปีใหม่ของทางการ ทุกบ้านเรือนจะรู้สึกถึงความพิเศษอันนั้นจัดนำของขวัญให้กันผู้น้อยก็นำผ้านุ่ง ผ้าห่ม น้ำอบไทยไปกราบคารวะผู้ใหญ่ด้วยความเคารพและขอพรผู้เกิดก่อน ผู้ใหญ่ก็ให้พรประพรมน้ำหอมให้ ถ้าเป็นผู้มีฐานะตีก็จะมีของขวัญตอบแทนในกรณีมารดาท่านนั้น ไม่แต่ประพรมน้ำหอมให้ ยังแจกน้ำอบไทยให้ด้วยซ้ำ งานนี้เจ้าแม่นางกวยไม่ได้มอบให้ใครทำแทน ท่านทำเป็นประจำตลอดมา จนสมัยเหลนเกิดแล้ว ก็ยังจำภาพ คุณทวด เจ้าแม่นางทำน้ำอบไทย เก็บหัวน้ำอบไทยไว้ในโถใหญ่แล้วแบ่งออกมาปรุงในขันถมทองใบใหญ่ มีจอกถมทองอันน้อยลอยอยู่ในขัน สำหรับเป็นที่ตักแจกน้ำอบไทย

    เจ้าแม่นางกวยว่า เป็นการทำบุญ และรักษาประเพณีอันดีงามของไทยไว้
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    นิมิตที่บอกอนาคต

    [​IMG]


    เมื่อบรรยากาศแห่งความร่าเริงภายในบ้านแปรเปลี่ยนไป หลวงปู่ซึ่งเคยถอดแบบความรื่นเริง สนุกสนานของบิดาไว้ ก็พลอยรู้สึกไปด้วย ท่านว่า ที่เคยเป็น “หัวโจก” พาเด็กในบ้านสนุกสนาน กระโดดน้ำ ปีนป่ายต้นไม้ ซนไปต่างๆ นานาก็แทบหมดสนุก พี่สาวก็คร่ำเคร่งกับการดูแลว่ากล่าวคนในบ้าน น้องชายก็เล็กนักไม่เข้าใจอะไรเลย

    ท่านจึงมักปลีกตัวไปนั่งคนเดียวริมแม่น้ำ มองดูน้ำที่ไหลระเรื่อยผ่านไปเศษใบไม้ที่ปลิวตกลงมา ไม่ช้าก็ถูกกระแสน้ำนั้นพัดพาลอยไป

    น้ำมาจากไหน...จะไหลไปไหน มีแต่ไหลไปทางเดียว ไม่มีไหลกลับดูแต่เศษใบไม้ที่ปลิวตกลงในน้ำ ไม่ช้าก็ถูกกระแสน้ำม้วนตัวพัดพาลอยละลิ่วไปจนสุดสายตา ครูที่โรงเรียนสอนว่า เวลาและกระแสน้ำไม่รอใคร แต่ท่านไม่คิดถึงในเรื่อง “เวลา” กลับคิดไปในแง่เปรียบเทียบกับ “ชีวิต” มากกว่า

    ชีวิตมนุษย์ก็เหมือนกระแสน้ำ เกิดมาแล้วก็ล่วงวันไป...ผ่านไป ชีวิตมีแต่ล่วงไปทุกวัน ทุกคืน ไม่เคยหยุดอยู่กับที่ เกิดแล้วทำไมไม่หยุดอยู่ ที่เคยพบเห็นกันก็จากกันเหมือนใบไม้ที่ลอยลิ่วไปกับน้ำ ดูแต่บิดา ท่านเมตตา อุ้มเรา จูงเรา หัวเราะกับเรา รักเรา อาทรเรา อยู่ไม่นาน ก็ไม่มีบิดาอีกแล้ว

    ชีวิตนี้ช่างน้อยนิดนี่กระไร

    ชีวิตนี้ช่างไม่เที่ยงแท้จริงๆ...!

    ท่านครุ่นคิด...คิดๆ อยู่ ไม่ทราบว่าเป็นการคิดเพ้อเจ้อหรือไร้สาระหรือไม่เคยปรารภกับพี่ พี่ก็ทำท่าเหมือนน้องชายจะกลายเป็นคนสติเสียหรือเปล่า

    ท่านก็เลยไม่กล้าพูด เล่า ความคิดเหล่านี้ให้ใครฟัง

    ได้แต่ คิด...คิด ดูกระแสน้ำในแม่น้ำเฉยอยู่ ราวกับจะเป็นเพื่อนรับฟังความคิดของท่าน เพ่งน้ำ ดูน้ำ มันสงบ มันเย็นดี มันปลอดโปร่งใจดี

    ท่านไม่ทราบว่า นั่นเป็นการหันเหจิตเข้าสู่ความสงัดวิเวก นั่นเป็นการเริ่มของความคิดทางธรรม การเพ่งน้ำ ดูน้ำ ที่สงบ ที่เย็น นั้นที่จริงก็เป็นการภาวนาโดยอาศัยน้ำเป็นอารมณ์ อันอาจจะเป็นอาโปกสิณ กสิณน้ำของผู้รู้ต่อไปได้

    ท่านว่า ท่านไม่ทราบอะไรทั้งสิ้น วันหนึ่งขณะที่นั่งอยู่ที่ริมสะพานน้ำนั่งมองน้ำเพลิน คิดเรื่องชีวิตต่างๆ อย่างหมกมุ่นเกินวัย จิตตกภวังค์วูบลง เกิดนิมิตเห็นเป็นแสงสว่างสีสวยคล้ายสีรุ้ง แต่ต่างกับรุ้งที่ไม่เป็นวงโค้งครอบลงกับขอบฟ้าเป็นวงกลม ลำแสงนี้เป็นลำพุ่งขึ้นไปกลางฟ้า แล้วก็สว่างอยู่บนนั้น ไม่ทอดลำแสงลงแต่อย่างใด ลำแสงระยะต้นดูเป็นสีเทาดำ ไม่สว่าง ส่วนที่สว่างจ้านั้นเริ่มแต่ตอนกลางเป็นต้นไป ยิ่งถึงปลายลำแสงก็ยิ่งสว่างจ้ายิ่งขึ้น

    จิตถามว่า แสงอะไร

    ในใจตอบว่า แสงนี้แสดงนิมิตของชีวิตเรา ตอนต้นไม่สว่าง เพราะเราอาภัพบิดาตายแต่เล็ก ชีวิตจะลำบาก ช่วงเที่ยงวัน...ท่านว่า ทำไมเรียกเช่นนั้นก็ไม่ทราบคงเป็นเพราะเห็นว่า ระยะนั้นแสงพุ่งขึ้นสูง...สูงสุดยอด เป็นช่วงตอนกลางของลำแสงถือเป็นเที่ยงวันหรือช่วงวัยกลางของชีวิต จะเริ่มเป็นคนมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป แสงนั้นไม่ตกลงเลย ความที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ก็จะไม่ลดละลงเลยเช่นกัน

    แล้วในใจก็รู้ขึ้นมาอีกว่า

    “ต่อไปจะต้องบวช และบวชแบบกัมมัฎฐาน” ขณะนี้ยังเป็นเด็กไม่รู้จักคำว่า “กัมมัฎฐาน” มาก่อนเลย แต่ในใจก็คิดขึ้นมาเช่นนั้นเองได้อย่างไรก็ไม่ทราบ ท่านเล่าให้ศิษย์ฟังว่า “คงเป็นนิสัยวาสนาที่เคยสั่งสมอบรมมาแต่ชาติก่อนๆ มาบอกมาเตือน” นั่นเอง

    เป็นนิมิตที่ประหลาดมาก ท่านเองลืมไปนาน จนกระทั่งภายหลังเวลามาอนุสรณ์ถึงความหลัง ระหว่างเจริญภาวนาสงบวิเวกอยู่ นิมิตนี้ก็ผุดขึ้นมาอีก เป็นการบอกอนาคตในภายภาคหน้า มีตัว “ผู้รู้” อยู่กับตัวนานแล้ว แต่ไม่รู้จัก

    ท่านว่า จำได้ว่า ระยะที่มีนิมิตนี้ ท่านมีอายุประมาณ ๙ ขวบเท่านั้น
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    วอ-บา- หลุย

    ในสมัยเมื่อเจ็ดสิบแปดสิบกว่าปีก่อนโน้น ระบบการศึกษาของจังหวัดเลยมีเพียงแค่ระดับประถมศึกษาเท่านั้น หากต้องการจะเรียนสูงกว่านั้นจะต้องมาต่อที่กรุงเทพฯ อันเป็นเมืองหลวงของประเทศ การคมนาคมเดินทางจากจังหวัดหัวเมืองจะมานครหลวงนั้นแสนลำบาก ไม่มีทางที่คนธรรมดาสามัญ ไม่ใช่ข้าราชการจะเดินทางกันไปเองได้ เพราะต้องเดินทางรอนแรมกันไปกลางป่ากลางดง มีเกวียน มีช้าง มีม้าต่างไปเป็นขบวน โดยที่ถ้าใครจะให้บุตรหลานไปเรียนสูงกว่าชั้นประถม จะต้องฝากฝังไปกับขบวนข้าราชการที่จะต้องเดินทาง ถ้าไม่สบจังหวะเวลา ไม่มีการไปราชการกรุงเทพฯ ไม่มีการโยกย้ายตำแหน่ง ก็ไม่มีโอกาสเดินทางเข้าเมืองหลวง นอกจากนั้นเข้าเมืองหลวงได้แล้ว ก็จะต้องหาบ้านผู้หลักผู้ใหญ่ หรือญาติมิตรให้บุตรหลานได้พักพิง

    ระหว่างการศึกษาด้วยหลวงปู่ต้องการจะไปเรียนต่อกรุงเทพฯ แต่มารดาก็ไม่ยอมส่งไป อ้างว่าไม่มีญาติมิตรที่จะคอยดูแลได้ ความจริงคงเป็นความรู้สึกลึกๆ เรื่องกลัว “การจาก” ยังฝังอยู่มากกว่า สามีก็ไม่อยู่แล้ว หากลูกชายคนโตพลอยเป็นอะไรไปจะทำอย่างไรเพราะมีบ่อยครั้งที่ได้ข่าวว่า เด็กชายที่เดินทางไปเพื่อการศึกษา ต้องเป็นไข้ป่า ล้มหายตายจากไปเสียก่อนก็มี มารดาจึงไม่ยอมให้บุตรจากมา หลวงปู่จึงมีโอกาสศึกษาเล่าเรียนแค่จบประถมปีที่ ๓ เท่านั้น ซึ่งขณะนั้นนับเป็นการศึกษาที่สูงมากสำหรับบ้านเมืองที่ห่างไกลนครหลวงไปจนสุดกู่อย่างจังหวัดเลย

    โรงเรียนที่ท่านเรียนนั้น ชื่อ โรงเรียนวัดศรีสะอาด ฉะนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจที่สภาพอันสงบร่มเย็นของ “วัด” จะมีส่วนกล่อมเกลาให้จิตใจเด็กชายน้อยแห่งสกุล “วรบุตร” หันไปสู่ทางธรรม ด้วยโรงเรียนก็อยู่ในเขตวัด การเรียนการเล่นก็ไม่ห่างเสียงสวดมนต์ไหว้พระ มิหนำซ้ำโรงเรียนขาดแคลนครู บางเวลาต้องอาศัยพระช่วยมาสอนหนังสือด้วย ชีวิตของท่านจึงโน้มน้าวไปหาความสงบของวัด แนบแน่นกับวัด...โดยไม่รู้ตัว

    แต่เดิมบิดามารดา ตั้งชื่อบุตรชายคนนี้ว่า “วอ” แต่เมื่อมาเข้าโรงเรียนความที่มีนิสัยช่างซัก ช่างเจรจา ช่างออกความเห็น เหมือน “ครูบา” ทางครูและเพื่อนๆ ก็เลยเรียกชื่อท่านว่า “บา” ท่านได้ไชชื่อใหม่ว่า “บา” นี้จนกระทั่งได้เปลี่ยนเป็น “หลุย” ในภายหลัง ดังจะกล่าวต่อไป
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ทางที่หลงไป

    ท่านเคยเล่าว่า การที่มารดาไม่ยอมส่งเสียให้ท่านมาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ หลังจากจบชั้นประถมปีที่ ๓ แล้วนั้นทำให้ท่านเสียใจมาก ว่ามารดาไม่รัก ทรัพย์สมบัติก็มีมากมาย เพียงแค่นี้ก็ไม่ยอมเสียเงิน ท่านว่า ระยะนั้นไม่เข้าใจถึงความรู้สึกของมารดาที่จะต้องห่วงหาอาทรต่อบุตร ท่านได้แสดงกิริยาที่คล้ายกับ “ทำฤทธิ์” กับมารดาหลายประการ มาคิดได้ในภายหลังก็ออกอายใจเหลือประมาณ มีการใดที่จะทำเพื่อทดแทนพระคุณมารดา ท่านจะรีบทำ เช่น เรื่องการบวชไม่ยอมสึก การทำกลดแจกกลดในระยะหลัง ที่ทำบูชาคุณมารดา

    ท่านกล่าวว่า ที่ท่านคิดอยากไปศึกษาต่อนั้น เป็นเพราะเมื่อบิดาข้ามมาจากเมืองแก่นท้าว ก็มากับเพื่อนคนหนึ่ง ต่อมาเพื่อนของบิดาคนนี้ได้เข้ารับราชการมีความเจริญก้าวหน้าได้รับบรรดาศักดิ์เป็นถึง “หลวง.....” บิดาของท่านบุญน้อยเสียชีวิตก่อน จึงไม่มีบรรดาศักดิ์ และมีพวกข้าราชการหลายคนล้วนมีบรรดาศักดิ์เป็น ขุน หลวง พระ พระยากัน ซึ่งจะต้องมีพื้นความรู้ดีจึงจะก้าวหน้าทางราชการได้ ท่านก็เลยคิดอยากจะเรียนหาความรู้ใส่ตัว เพื่อเป็นฐานทางราชการบ้าง

    มารดาเห็นท่านเป็นคนมีวาทะโวหารดี และสนใจจะเอาตีทางราชการ เผอิญทางบุตรเขยของท่านย้ายจากจังหวัดเลย ไปเป็นสมุห์บัญชี แผนกสรรพากร ที่อำเภอเชียงคาน มารดาจึงฝากฝังให้ท่านไปอยู่กับพี่เขยหรือสามีเจ้าแม่นางบวยที่อำเภอเชียงคาน ตั้งแต่ปี ๒๔๖๐ ท่านได้ไปเริ่มทำงานเป็นเสมียนฝึกหัดก่อนเพราะอายุยังไม่ครบ ๑๘ ปี ที่จะรับราชการได้ รอจนอายุครบ ๑๘ พี่เขยจึงให้เป็นเสมียนจริงๆ ทำอยู่จนถึงปี ๒๔๖๔ ท่านอัยการภาคผู้มีความคุ้นเคยกับครอบครัวหลวงปู่ ก็ฝากให้ไปทำงานที่ห้องอัยการจังหวัดร้อยเอ็ด ท่านจึงย้ายจากเชียงคานไปอยู่ร้อยเอ็ดโดยไปทำงานอำเภอแซงบาดาลบ้าง ห้องอัยการบ้าง

    เมื่อเป็นเด็กหนุ่มคะนองอยู่ที่เชียงคาน ได้เข้าโบสถ์นับถือศาสนาคริสต์เพราะชอบสวดมนต์ และลึกๆ ลงไปในใจ อยากจะแกล้งทำให้มารดาซึ่งมีศรัทธาทางพระพุทธศาสนามากผิดหวังที่ลูกชายเปลี่ยนไปศาสนาอื่น แกล้งมารดาด้วย ท่านว่า

    อำเภอเชียงคานอยู่ติดแม่น้ำโขง มีการติดต่อกับฝรั่งทางฝั่งลาวมากท่านจึงได้รับการฝึกหัดให้รู้จักการเสิร์ฟอาหาร แบบตั้งโต๊ะดินเนอร์ รู้จักการตั้งแก้วเหล้าขาว เหล้าแดง รู้จักอาหารที่ควรรับประทานกับเหล้าขาว เหล้าแดง เสิร์ฟแบบฝรั่งเศสอย่างถูกต้องคล่องแคล่ว ท่านนับถือศาสนาคริสต์อยู่ ๕ ปี จนคุณพระเชียงคานลุงของท่านให้ชื่อท่านว่า “เซนต์หลุย” หรือ “นักบุญหลุย” ท่านมีชื่อ “หลุย” มาด้วยประการ ฉะนี้

    การคลุกคลีอยู่กับการจัดอาหารเลี้ยงบ่อยๆ นั้นทำให้ท่านได้เห็นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมากมาย บังเกิดความสังเวชสลดใจ จึงออกจากศาสนาคริสต์

    ท่านอธิบายถึงบาปจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตว่า สมัยนั้นทางจังหวัดเลยไม่มีการขายเนื้อสัตว์ที่ฆ่าแล้ว เช่น เมื่อบ้านใดต้องการปรุงอาหารไก่ ก็จะซื้อไก่เป็นๆ ไปจากตลาด แล้วจัดการฆ่ากันเอง ส่วนเนื้อหมู เนื้อวัว ก็จะขายกันต่อเมื่อหลายๆ บ้านรวมกันจะซื้อ บอกกล่าวกันครบ ๑ ตัว ก็จะฆ่าสักครั้งหนึ่ง การซื้อสัตว์เป็นๆ มาฆ่าเป็นอาหารนี้ ความจริงก็มิได้ทำกันบ่อยนัก ด้วยพอหา ปลา กบ เขียด ในแม่น้ำได้โดยง่าย บ้านเมืองสมัยนั้นยังอุดมสมบูรณ์ สมกับคำที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” จริงๆ ตั้งแกงในหม้อบนเตาไฟ ไปเก็บผักในไร่ บ้านท่านอยู่ริมแม่น้ำ ก็ให้คนลงทอดแหทอดอวน ประเดี๋ยวก็ได้ปลาได้กุ้ง ทันลงหม้อแกงที่กำลังเดือดอยู่

    จริงอยู่ ไม่ว่าปลา ไม่ว่ากุ้ง ไม่ว่าไก่ ต่างก็เป็นสัตว์มีชีวิต ตัวหนึ่งก็ชีวิตหนึ่ง แต่ชีวิตของสัตว์โตกว่า เมื่อจะฆ่า นัยน์ตาของมันวิงวอนอย่างน่าสงสารยิ่ง แถมยังดิ้นสุดชีวิต พลางส่งเสียงร้องอุทธรณ์ขอชีวิต จะดังลั่นกระเทือนโสตประสาทอย่างใด คงจะพออนุมานได้ ถ้าไก่มันไม่พยายามทั้งสิ้นทั้งร้องอย่างมาก ภาษาไทยเราคงไม่มีวลีเปรียบเทียบเสียงร้องที่แสดงถึงความเจ็บปวดดิ้นรนเพื่อชีวิตว่า “ร้องราวกับไก่ถูกเชือด” ดอก

    ท่านว่า เวลาอยู่กับบ้านไทยที่เป็นพุทธ ก็มิได้รู้สึกความน่าสงสารของไก่ที่ถูกฆ่านี้มากนัก ด้วยการฆ่านั้นพวกคนใช้ก็ทำกันทางในครัว ไม่เห็นตำตาก็ไม่เป็นไร นอกจากนั้นทางบ้านเมืองคนไทย ไม่ได้ต้องปรุงอาหารที่เป็นไก่มากนัก นอกจากในโอกาสพิเศษ หรือเทศกาลตรุษสงกรานต์ อีกประการหนึ่ง การประกอบอาหารไทยไม่ต้องใช้เนื้อสัตว์มากสำหรับอาหารมื้อหนึ่งๆ อาหารของไทยจะมีอาหารหลักเป็นข้าว ส่วนกับข้าวก็จะเป็นเนื้อสัตว์แต่เพียงน้อย พร้อมทั้งผักมากๆ แต่อาหารแบบของคริสต์ที่จัดให้ฝรั่งนั้น อาหารดินเนอร์มื้อหนึ่งๆ นอกจากซุปที่เป็นอาหารจานแรกแล้วจะกอปรด้วยอาหารอีก ๒ จาน จานแรกเป็นเนื้อปลาหรือสัตว์ป่าที่มี ๒ เท้า จานที่สองเป็นอาหารเนื้อสัตว์พวกสัตว์ ๔ เท้า ถ้าจานแรกเป็นไก่ ก็ต้องใช้ไก่ครึ่งตัว สำหรับแขก ๑ คน ถ้าเลี้ยงดินเนอร์ ๔๐ คน จะต้องฆ่าไก่อย่างน้อย ๒๐ ตัว...แล้วยังพวกอาหารจานเนื้อหมูอบ สเต็คเนื้ออีกเล่า ก็ต้องฆ่าหมู ฆ่าวัวเช่นกัน บางวันเห็นการฆ่าไก่เกินกว่าร้อยตัว เสียงมันร้องลั่น ดิ้นทุรนทุรายน่าสงสารเป็นที่สุด
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ออกบวช

    ท่านออกจากศาสนาคริสต์แล้ว แต่ภาพไก่ที่เห็นถูกเชือดทุกๆ วัน ยังตามมารบกวนความรู้สึกอยู่ในมโนภาพ ท่านเคยได้ยินว่า การบวชอาจจะแผ่บุญกุศลไปให้ผู้ที่ตายไปแล้วได้ ไก่ตายไปแล้ว บางทีการบวชอาจจะอุทิศส่วนกุศลไปให้ได้กระมัง ?

    ประจวบกับระยะนั้น การทำราชการไม่สู้จะปลอดโปร่งใจ ด้วยผู้บังคับบัญชาเกิดกินแหนงแคลงใจในตัวท่าน ทำให้ท่านรู้สึกอึดอัดใจในชีวิตฆราวาสอย่างยิ่ง ผู้บังคับบัญชาเคยรักใคร่ เอ็นดู กลับเปลี่ยนแปลง (ซึ่งท่านบันทึกวิจารณ์ไว้ในภายหลังว่าเป็นอนิจจัง เป็นเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ท่านตัดสินใจละโลกฆราวาสไต้ง่ายดายขึ้น) ท่านจึงขอลาออกจากราชการ แล้วเข้าสู่พิธีอุปสมบท เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ โดยมีท่านอัยการภาคเป็นเจ้าภาพบวชให้ บวชเป็นพระมหานิกาย จำพรรษาอยู่ ณ อำเภอแซงบาดาล ปัจจุบัน คือ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ได้กลดแรกในชีวิต

    ระหว่างพรรษาแรกที่อำเภอธวัชบุรีนี้ หลวงปู่ได้พยายามศึกษาพระธรรมวินัยตามขนบธรรมเนียมของสมณะซึ่งมีทั้งปริยัติและปฏิบัติ สำหรับเรื่องปฏิบัตินั้น ท่านว่ารู้สึกดื่มด่ำมาก ราวกับได้ไปพบเพื่อนเก่าที่จากกันมาช้านานแล้ว เมื่อออกพรรษาแล้วท่านก็ลาอาจารย์กลับ เพื่อกลับไปเตรียมคัดเลือกเกณฑ์ทหารที่จังหวัดเลยอันเป็นภูมิลำเนาเดิม

    ท่านออกเดินทางไปจังหวัดนครพนม เพราะคิดว่าก่อนจะกลับบ้านก็ควรหาโอกาสไปนมัสการพระธาตุพนมอันเป็นพระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพอันสูงสุดของชาวอีสานและชาวไทยทั้งประเทศ เพื่อความสิริมงคลก่อน ระหว่างทางได้พบพระธุดงคกัมมัฏฐานรูปหนึ่งมาจากอำเภอโพนทอง สนทนาปราศรัยกันด้วยความชอบอัธยาศัยซึ่งกันและกัน

    หลวงปู่เป็นพระหนุ่ม เพิ่งบวชพรรษาแรก ยังไม่มีประสบการณ์ใดในการธุดงค์ ส่วนพระกัมมัฏฐานรูปนั้นแก่พรรษากว่า ผ่านการธุดงค์มาอย่างโชกโชนแล้วท่านได้ทราบความมุ่งมั่นปรารถนาของหลวงปู่ที่จะเป็นพระธุดงค์ที่ดี ประพฤติปฏิบัติเพื่อความหมดไป สิ้นไป แล้วท่านก็อนุโมทนาด้วย ก่อนจะแยกจากกัน ทราบว่าหลวงปู่ยังไม่มีอัฐบริขารกลดและมุ้งกลด พระกัมมัฏฐานรูปนั้นก็มอบกลดและมุ้งกลดของท่านให้หลวงปู่ไว้ใช้ ครั้งแรกหลวงปู่ปฏิเสธด้วยความเกรงใจ แต่ท่านก็คะยั้นคะยอให้รับไว้ บอกว่า หากต่อไปท่านได้ภาวนาดี เป็นผลดี ผมก็จะได้มีส่วนแห่งผลดีนั้นด้วย และผมขออนุโมทนาล่วงหน้าไว้ เชื่อว่าท่านคงจะได้เป็นพระปฏิบัติดี เป็นที่เชิดชูของพระพุทธศาสนาสืบต่อไป

    หลวงปู่กล่าวว่า เป็นกลดคันแรกในชีวิตที่ท่านได้รับ ทำให้ท่านรู้สึกในพระคุณของพระธุดงคกัมมัฏฐานรูปนั้นอย่างที่สุด ได้ใช้ในการภาวนาตลอดมาจนกลดและมุ้งขาด ซ่อมแซมปะชุนไม่ได้อีกต่อไป ท่านไม่เคยลืมพระคุณนี้ และนี่เป็นเหตุปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้ท่านได้ทำกลดแจกจ่ายไปให้พระ เณร แม่ชีมาตลอดเวลา อุทิศกุศลทั้งมวลให้พระธุดงค์จากอำเภอโพนทองรูปนั้นด้วยความสำนึกในพระคุณเป็นที่สุด

    ไปถึงพระธาตุพนม ท่านได้มีโอกาสใช้ประโยชน์จากกลดคันแรกนั้นอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งได้ทดลองความรู้เรื่องการปฏิบัติภาวนาที่พระธุดงค์แนะนำท่านด้วย

    อาจจะเป็นเพราะสถานที่เป็นมงคลอย่างเยี่ยมยอด ได้ประเดิมกลดที่ลานพระธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคธาตุของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง ได้ถวายการภาวนาเป็นพุทธบูชา ไม่นอนตลอดคืน บังเกิดความอัศจรรย์ในจิต คือเกิด กายลหุตา จิตลหุตา กายเบา จิตเบา ทำให้ท่านรู้สึกดื่มด่ำในการภาวนามากแล้วตั้งสัจจาธิษฐานว่า

    “กลับไปจังหวัดเลยครั้งนี้ หากไม่ได้รับเกณฑ์เป็นทหาร จะบวชกัมมัฎฐานตลอดชีวิต”

    ท่านเล่าว่า ไม่ทราบว่าเหตุใด คำว่า “กัมมัฏฐาน” ในนิมิตครั้งเป็นเด็กชายวัย ๙ ขวบนั้นได้กลับคืนมาสู่อนุสติอีก
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พบท่านพระอาจารย์บุญ

    พักภาวนาอยู่ ณ พระธาตุพนมพอสมควร ท่านก็ออกเดินทางเตรียมกลับจังหวัดเลย ผ่านอำเภอนาแก จังหวัดสกลนคร อำเภอพรรณานิคม วาริชภูมิ สว่างแดนดิน หนองหาน จังหวัดอุดรธานี ปากดง

    มาถึงอำเภอหนองวัวซอ ได้ยินกิตติศัพท์ว่ามีพระอาจารย์ที่มีชื่อทางธุดงคกัมมัฏฐานองค์หนึ่ง ได้พาชาวบ้านอพยพมาจากจังหวัดอุบลราชธานี มาตั้งบ้านเรือนและสร้างวัดอยู่ที่หนองวัวซอ มีผู้คนพากันไปฟังธรรมจากท่านกันอย่างล้นหลาม ท่านได้ยินคำว่า “กัมมัฏฐาน” ก็สนใจ เลยแวะเข้าไปดูลาดเลากับเขาบ้าง

    ปรากฏว่า การแวะเข้าไปดูลาดเลากับเขาบ้าง ในครั้งนั้น ทำให้ท่านอยู่ต่อมากับพระธุดงคกัมมัฏฐานรูปนั้นไปอีกหลายเดือน จนถึงเวลาเดือนเมษายน ใกล้จะเกณฑ์ทหาร จึงลาจากท่านไป

    เป็นวาระแรกที่ท่านได้พบ ท่านพระอาจารย์บุญ ปัญญาวุโธ

    ท่านเล่าว่า ได้เห็นศีลาจารานุวัตรและข้อปฏิบัติ ได้ฟังธรรมเทศนาของท่านพระอาจารย์บุญแล้วก็เลื่อมใสมาก ขอถวายตัวเป็นศิษย์ ตามแต่ท่านจะเมตตาสั่งสอน แต่ก็มีปัญหา ด้วยการบวชของท่านนั้นยังเป็นมหานิกายอยู่ ท่านพระอาจารย์บุญจึงแนะนำว่า หากไม่ได้รับการเกณฑ์ทหารแล้วก็ให้ขอญัตติเป็นธรรมยุตเสียที่จังหวัดเลย หลวงปู่จึงได้ไปขอญัตติจตุตถกรรมใหม่เป็นพระธรรมยุต ที่วัดศรีสะอาด อำเภอเมืองจังหวัดเลย โดยมีท่านพระคูรอดิสัยคุณาธาร (อ่ำ อรโก) เป็นพระอุปัชฌาย์
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พบท่านพระอาจารย์เสาร์ และท่านพระอาจารย์มั่น

    ท่านได้อยู่กับพระอุปัชฌาย์พอสมควร แล้วก็ได้เดินทางจากจังหวัดเลยกลับไปอยู่กับท่านพระอาจารย์บุญ ที่อำเภอหนองวัวซออีก และได้ติดตามท่านพระอาจารย์บุญไปยังวัดพระบาทบัวบก ณ ที่นี้เองที่หลวงปู่ได้พบกับ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนตสีโล และได้อยู่ปฏิบัติรับฟังโอวาทจากท่านพระอาจารย์เสาร์ โดยมีท่านพระอาจารย์บุญเป็นพระพี่เลี้ยงผู้ชี้แนะในข้อที่ท่านไม่เข้าใจอีกชั้นหนึ่งด้วย

    จากนั้น ท่านพระอาจารย์บุญก็ได้พาหมู่คณะศิษย์พร้อมด้วยหลวงปู่ไปกราบนมัสการ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ที่ท่าบ่อ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย คณะท่านพระอาจารย์บุญได้อยู่อบรมรับฟังโอวาทและฝึกปฏิบัติจากท่านพระอาจารย์มั่น จนกระทั่งจวนจะเข้าพรรษา จึงได้พากันย้อนกลับมาจำพรรษาที่วัดพระบาทบัวบก
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    หลวงปู่นับหนึ่ง ๓ ครั้ง

    ๏ นิมิตที่บอกอนาคต

    เมื่อบรรยากาศแห่งความร่าเริงภายในบ้านแปรเปลี่ยนไป หลวงปู่ซึ่งเคยถอดแบบความรื่นเริง สนุกสนานของบิดาไว้ ก็พลอยรู้สึกไปด้วย ท่านว่า ที่เคยเป็น “หัวโจก” พาเด็กในบ้านสนุกสนาน กระโดดน้ำ ปีนป่ายต้นไม้ ซนไปต่างๆ นานาก็แทบหมดสนุก พี่สาวก็คร่ำเคร่งกับการดูแลว่ากล่าวคนในบ้าน น้องชายก็เล็กนักไม่เข้าใจอะไรเลย

    ท่านจึงมักปลีกตัวไปนั่งคนเดียวริมแม่น้ำ มองดูน้ำที่ไหลระเรื่อยผ่านไปเศษใบไม้ที่ปลิวตกลงมา ไม่ช้าก็ถูกกระแสน้ำนั้นพัดพาลอยไป

    น้ำมาจากไหน...จะไหลไปไหน มีแต่ไหลไปทางเดียว ไม่มีไหลกลับดูแต่เศษใบไม้ที่ปลิวตกลงในน้ำ ไม่ช้าก็ถูกกระแสน้ำม้วนตัวพัดพาลอยละลิ่วไปจนสุดสายตา ครูที่โรงเรียนสอนว่า เวลาและกระแสน้ำไม่รอใคร แต่ท่านไม่คิดถึงในเรื่อง “เวลา” กลับคิดไปในแง่เปรียบเทียบกับ “ชีวิต” มากกว่า

    ชีวิตมนุษย์ก็เหมือนกระแสน้ำ เกิดมาแล้วก็ล่วงวันไป...ผ่านไป ชีวิตมีแต่ล่วงไปทุกวัน ทุกคืน ไม่เคยหยุดอยู่กับที่ เกิดแล้วทำไมไม่หยุดอยู่ ที่เคยพบเห็นกันก็จากกันเหมือนใบไม้ที่ลอยลิ่วไปกับน้ำ ดูแต่บิดา ท่านเมตตา อุ้มเรา จูงเรา หัวเราะกับเรา รักเรา อาทรเรา อยู่ไม่นาน ก็ไม่มีบิดาอีกแล้ว

    ชีวิตนี้ช่างน้อยนิดนี่กระไร

    ชีวิตนี้ช่างไม่เที่ยงแท้จริงๆ...!

    ท่านครุ่นคิด...คิดๆ อยู่ ไม่ทราบว่าเป็นการคิดเพ้อเจ้อหรือไร้สาระหรือไม่เคยปรารภกับพี่ พี่ก็ทำท่าเหมือนน้องชายจะกลายเป็นคนสติเสียหรือเปล่า

    ท่านก็เลยไม่กล้าพูด เล่า ความคิดเหล่านี้ให้ใครฟัง

    ได้แต่ คิด...คิด ดูกระแสน้ำในแม่น้ำเฉยอยู่ ราวกับจะเป็นเพื่อนรับฟังความคิดของท่าน เพ่งน้ำ ดูน้ำ มันสงบ มันเย็นดี มันปลอดโปร่งใจดี

    ท่านไม่ทราบว่า นั่นเป็นการหันเหจิตเข้าสู่ความสงัดวิเวก นั่นเป็นการเริ่มของความคิดทางธรรม การเพ่งน้ำ ดูน้ำ ที่สงบ ที่เย็น นั้นที่จริงก็เป็นการภาวนาโดยอาศัยน้ำเป็นอารมณ์ อันอาจจะเป็นอาโปกสิณ กสิณน้ำของผู้รู้ต่อไปได้

    ท่านว่า ท่านไม่ทราบอะไรทั้งสิ้น วันหนึ่งขณะที่นั่งอยู่ที่ริมสะพานน้ำนั่งมองน้ำเพลิน คิดเรื่องชีวิตต่างๆ อย่างหมกมุ่นเกินวัย จิตตกภวังค์วูบลง เกิดนิมิตเห็นเป็นแสงสว่างสีสวยคล้ายสีรุ้ง แต่ต่างกับรุ้งที่ไม่เป็นวงโค้งครอบลงกับขอบฟ้าเป็นวงกลม ลำแสงนี้เป็นลำพุ่งขึ้นไปกลางฟ้า แล้วก็สว่างอยู่บนนั้น ไม่ทอดลำแสงลงแต่อย่างใด ลำแสงระยะต้นดูเป็นสีเทาดำ ไม่สว่าง ส่วนที่สว่างจ้านั้นเริ่มแต่ตอนกลางเป็นต้นไป ยิ่งถึงปลายลำแสงก็ยิ่งสว่างจ้ายิ่งขึ้น

    จิตถามว่า แสงอะไร

    ในใจตอบว่า แสงนี้แสดงนิมิตของชีวิตเรา ตอนต้นไม่สว่าง เพราะเราอาภัพบิดาตายแต่เล็ก ชีวิตจะลำบาก ช่วงเที่ยงวัน...ท่านว่า ทำไมเรียกเช่นนั้นก็ไม่ทราบคงเป็นเพราะเห็นว่า ระยะนั้นแสงพุ่งขึ้นสูง...สูงสุดยอด เป็นช่วงตอนกลางของลำแสงถือเป็นเที่ยงวันหรือช่วงวัยกลางของชีวิต จะเริ่มเป็นคนมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป แสงนั้นไม่ตกลงเลย ความที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ก็จะไม่ลดละลงเลยเช่นกัน

    แล้วในใจก็รู้ขึ้นมาอีกว่า

    “ต่อไปจะต้องบวช และบวชแบบกัมมัฎฐาน” ขณะนี้ยังเป็นเด็กไม่รู้จักคำว่า “กัมมัฎฐาน” มาก่อนเลย แต่ในใจก็คิดขึ้นมาเช่นนั้นเองได้อย่างไรก็ไม่ทราบ ท่านเล่าให้ศิษย์ฟังว่า “คงเป็นนิสัยวาสนาที่เคยสั่งสมอบรมมาแต่ชาติก่อนๆ มาบอกมาเตือน” นั่นเอง

    เป็นนิมิตที่ประหลาดมาก ท่านเองลืมไปนาน จนกระทั่งภายหลังเวลามาอนุสรณ์ถึงความหลัง ระหว่างเจริญภาวนาสงบวิเวกอยู่ นิมิตนี้ก็ผุดขึ้นมาอีก เป็นการบอกอนาคตในภายภาคหน้า มีตัว “ผู้รู้” อยู่กับตัวนานแล้ว แต่ไม่รู้จัก

    ท่านว่า จำได้ว่า ระยะที่มีนิมิตนี้ ท่านมีอายุประมาณ ๙ ขวบเท่านั้น


    ๏ วอ-บา- หลุย

    ในสมัยเมื่อเจ็ดสิบแปดสิบกว่าปีก่อนโน้น ระบบการศึกษาของจังหวัดเลยมีเพียงแค่ระดับประถมศึกษาเท่านั้น หากต้องการจะเรียนสูงกว่านั้นจะต้องมาต่อที่กรุงเทพฯ อันเป็นเมืองหลวงของประเทศ การคมนาคมเดินทางจากจังหวัดหัวเมืองจะมานครหลวงนั้นแสนลำบาก ไม่มีทางที่คนธรรมดาสามัญ ไม่ใช่ข้าราชการจะเดินทางกันไปเองได้ เพราะต้องเดินทางรอนแรมกันไปกลางป่ากลางดง มีเกวียน มีช้าง มีม้าต่างไปเป็นขบวน โดยที่ถ้าใครจะให้บุตรหลานไปเรียนสูงกว่าชั้นประถม จะต้องฝากฝังไปกับขบวนข้าราชการที่จะต้องเดินทาง ถ้าไม่สบจังหวะเวลา ไม่มีการไปราชการกรุงเทพฯ ไม่มีการโยกย้ายตำแหน่ง ก็ไม่มีโอกาสเดินทางเข้าเมืองหลวง นอกจากนั้นเข้าเมืองหลวงได้แล้ว ก็จะต้องหาบ้านผู้หลักผู้ใหญ่ หรือญาติมิตรให้บุตรหลานได้พักพิง

    ระหว่างการศึกษาด้วยหลวงปู่ต้องการจะไปเรียนต่อกรุงเทพฯ แต่มารดาก็ไม่ยอมส่งไป อ้างว่าไม่มีญาติมิตรที่จะคอยดูแลได้ ความจริงคงเป็นความรู้สึกลึกๆ เรื่องกลัว “การจาก” ยังฝังอยู่มากกว่า สามีก็ไม่อยู่แล้ว หากลูกชายคนโตพลอยเป็นอะไรไปจะทำอย่างไรเพราะมีบ่อยครั้งที่ได้ข่าวว่า เด็กชายที่เดินทางไปเพื่อการศึกษา ต้องเป็นไข้ป่า ล้มหายตายจากไปเสียก่อนก็มี มารดาจึงไม่ยอมให้บุตรจากมา หลวงปู่จึงมีโอกาสศึกษาเล่าเรียนแค่จบประถมปีที่ ๓ เท่านั้น ซึ่งขณะนั้นนับเป็นการศึกษาที่สูงมากสำหรับบ้านเมืองที่ห่างไกลนครหลวงไปจนสุดกู่อย่างจังหวัดเลย

    โรงเรียนที่ท่านเรียนนั้น ชื่อ โรงเรียนวัดศรีสะอาด ฉะนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจที่สภาพอันสงบร่มเย็นของ “วัด” จะมีส่วนกล่อมเกลาให้จิตใจเด็กชายน้อยแห่งสกุล “วรบุตร” หันไปสู่ทางธรรม ด้วยโรงเรียนก็อยู่ในเขตวัด การเรียนการเล่นก็ไม่ห่างเสียงสวดมนต์ไหว้พระ มิหนำซ้ำโรงเรียนขาดแคลนครู บางเวลาต้องอาศัยพระช่วยมาสอนหนังสือด้วย ชีวิตของท่านจึงโน้มน้าวไปหาความสงบของวัด แนบแน่นกับวัด...โดยไม่รู้ตัว

    แต่เดิมบิดามารดา ตั้งชื่อบุตรชายคนนี้ว่า “วอ” แต่เมื่อมาเข้าโรงเรียนความที่มีนิสัยช่างซัก ช่างเจรจา ช่างออกความเห็น เหมือน “ครูบา” ทางครูและเพื่อนๆ ก็เลยเรียกชื่อท่านว่า “บา” ท่านได้ไชชื่อใหม่ว่า “บา” นี้จนกระทั่งได้เปลี่ยนเป็น “หลุย” ในภายหลัง ดังจะกล่าวต่อไป


    ๏ ทางที่หลงไป

    ท่านเคยเล่าว่า การที่มารดาไม่ยอมส่งเสียให้ท่านมาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ หลังจากจบชั้นประถมปีที่ ๓ แล้วนั้นทำให้ท่านเสียใจมาก ว่ามารดาไม่รัก ทรัพย์สมบัติก็มีมากมาย เพียงแค่นี้ก็ไม่ยอมเสียเงิน ท่านว่า ระยะนั้นไม่เข้าใจถึงความรู้สึกของมารดาที่จะต้องห่วงหาอาทรต่อบุตร ท่านได้แสดงกิริยาที่คล้ายกับ “ทำฤทธิ์” กับมารดาหลายประการ มาคิดได้ในภายหลังก็ออกอายใจเหลือประมาณ มีการใดที่จะทำเพื่อทดแทนพระคุณมารดา ท่านจะรีบทำ เช่น เรื่องการบวชไม่ยอมสึก การทำกลดแจกกลดในระยะหลัง ที่ทำบูชาคุณมารดา

    ท่านกล่าวว่า ที่ท่านคิดอยากไปศึกษาต่อนั้น เป็นเพราะเมื่อบิดาข้ามมาจากเมืองแก่นท้าว ก็มากับเพื่อนคนหนึ่ง ต่อมาเพื่อนของบิดาคนนี้ได้เข้ารับราชการมีความเจริญก้าวหน้าได้รับบรรดาศักดิ์เป็นถึง “หลวง.....” บิดาของท่านบุญน้อยเสียชีวิตก่อน จึงไม่มีบรรดาศักดิ์ และมีพวกข้าราชการหลายคนล้วนมีบรรดาศักดิ์เป็น ขุน หลวง พระ พระยากัน ซึ่งจะต้องมีพื้นความรู้ดีจึงจะก้าวหน้าทางราชการได้ ท่านก็เลยคิดอยากจะเรียนหาความรู้ใส่ตัว เพื่อเป็นฐานทางราชการบ้าง

    มารดาเห็นท่านเป็นคนมีวาทะโวหารดี และสนใจจะเอาตีทางราชการ เผอิญทางบุตรเขยของท่านย้ายจากจังหวัดเลย ไปเป็นสมุห์บัญชี แผนกสรรพากร ที่อำเภอเชียงคาน มารดาจึงฝากฝังให้ท่านไปอยู่กับพี่เขยหรือสามีเจ้าแม่นางบวยที่อำเภอเชียงคาน ตั้งแต่ปี ๒๔๖๐ ท่านได้ไปเริ่มทำงานเป็นเสมียนฝึกหัดก่อนเพราะอายุยังไม่ครบ ๑๘ ปี ที่จะรับราชการได้ รอจนอายุครบ ๑๘ พี่เขยจึงให้เป็นเสมียนจริงๆ ทำอยู่จนถึงปี ๒๔๖๔ ท่านอัยการภาคผู้มีความคุ้นเคยกับครอบครัวหลวงปู่ ก็ฝากให้ไปทำงานที่ห้องอัยการจังหวัดร้อยเอ็ด ท่านจึงย้ายจากเชียงคานไปอยู่ร้อยเอ็ดโดยไปทำงานอำเภอแซงบาดาลบ้าง ห้องอัยการบ้าง

    เมื่อเป็นเด็กหนุ่มคะนองอยู่ที่เชียงคาน ได้เข้าโบสถ์นับถือศาสนาคริสต์เพราะชอบสวดมนต์ และลึกๆ ลงไปในใจ อยากจะแกล้งทำให้มารดาซึ่งมีศรัทธาทางพระพุทธศาสนามากผิดหวังที่ลูกชายเปลี่ยนไปศาสนาอื่น แกล้งมารดาด้วย ท่านว่า

    อำเภอเชียงคานอยู่ติดแม่น้ำโขง มีการติดต่อกับฝรั่งทางฝั่งลาวมากท่านจึงได้รับการฝึกหัดให้รู้จักการเสิร์ฟอาหาร แบบตั้งโต๊ะดินเนอร์ รู้จักการตั้งแก้วเหล้าขาว เหล้าแดง รู้จักอาหารที่ควรรับประทานกับเหล้าขาว เหล้าแดง เสิร์ฟแบบฝรั่งเศสอย่างถูกต้องคล่องแคล่ว ท่านนับถือศาสนาคริสต์อยู่ ๕ ปี จนคุณพระเชียงคานลุงของท่านให้ชื่อท่านว่า “เซนต์หลุย” หรือ “นักบุญหลุย” ท่านมีชื่อ “หลุย” มาด้วยประการ ฉะนี้

    การคลุกคลีอยู่กับการจัดอาหารเลี้ยงบ่อยๆ นั้นทำให้ท่านได้เห็นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมากมาย บังเกิดความสังเวชสลดใจ จึงออกจากศาสนาคริสต์

    ท่านอธิบายถึงบาปจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตว่า สมัยนั้นทางจังหวัดเลยไม่มีการขายเนื้อสัตว์ที่ฆ่าแล้ว เช่น เมื่อบ้านใดต้องการปรุงอาหารไก่ ก็จะซื้อไก่เป็นๆ ไปจากตลาด แล้วจัดการฆ่ากันเอง ส่วนเนื้อหมู เนื้อวัว ก็จะขายกันต่อเมื่อหลายๆ บ้านรวมกันจะซื้อ บอกกล่าวกันครบ ๑ ตัว ก็จะฆ่าสักครั้งหนึ่ง การซื้อสัตว์เป็นๆ มาฆ่าเป็นอาหารนี้ ความจริงก็มิได้ทำกันบ่อยนัก ด้วยพอหา ปลา กบ เขียด ในแม่น้ำได้โดยง่าย บ้านเมืองสมัยนั้นยังอุดมสมบูรณ์ สมกับคำที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” จริงๆ ตั้งแกงในหม้อบนเตาไฟ ไปเก็บผักในไร่ บ้านท่านอยู่ริมแม่น้ำ ก็ให้คนลงทอดแหทอดอวน ประเดี๋ยวก็ได้ปลาได้กุ้ง ทันลงหม้อแกงที่กำลังเดือดอยู่

    จริงอยู่ ไม่ว่าปลา ไม่ว่ากุ้ง ไม่ว่าไก่ ต่างก็เป็นสัตว์มีชีวิต ตัวหนึ่งก็ชีวิตหนึ่ง แต่ชีวิตของสัตว์โตกว่า เมื่อจะฆ่า นัยน์ตาของมันวิงวอนอย่างน่าสงสารยิ่ง แถมยังดิ้นสุดชีวิต พลางส่งเสียงร้องอุทธรณ์ขอชีวิต จะดังลั่นกระเทือนโสตประสาทอย่างใด คงจะพออนุมานได้ ถ้าไก่มันไม่พยายามทั้งสิ้นทั้งร้องอย่างมาก ภาษาไทยเราคงไม่มีวลีเปรียบเทียบเสียงร้องที่แสดงถึงความเจ็บปวดดิ้นรนเพื่อชีวิตว่า “ร้องราวกับไก่ถูกเชือด” ดอก

    ท่านว่า เวลาอยู่กับบ้านไทยที่เป็นพุทธ ก็มิได้รู้สึกความน่าสงสารของไก่ที่ถูกฆ่านี้มากนัก ด้วยการฆ่านั้นพวกคนใช้ก็ทำกันทางในครัว ไม่เห็นตำตาก็ไม่เป็นไร นอกจากนั้นทางบ้านเมืองคนไทย ไม่ได้ต้องปรุงอาหารที่เป็นไก่มากนัก นอกจากในโอกาสพิเศษ หรือเทศกาลตรุษสงกรานต์ อีกประการหนึ่ง การประกอบอาหารไทยไม่ต้องใช้เนื้อสัตว์มากสำหรับอาหารมื้อหนึ่งๆ อาหารของไทยจะมีอาหารหลักเป็นข้าว ส่วนกับข้าวก็จะเป็นเนื้อสัตว์แต่เพียงน้อย พร้อมทั้งผักมากๆ แต่อาหารแบบของคริสต์ที่จัดให้ฝรั่งนั้น อาหารดินเนอร์มื้อหนึ่งๆ นอกจากซุปที่เป็นอาหารจานแรกแล้วจะกอปรด้วยอาหารอีก ๒ จาน จานแรกเป็นเนื้อปลาหรือสัตว์ป่าที่มี ๒ เท้า จานที่สองเป็นอาหารเนื้อสัตว์พวกสัตว์ ๔ เท้า ถ้าจานแรกเป็นไก่ ก็ต้องใช้ไก่ครึ่งตัว สำหรับแขก ๑ คน ถ้าเลี้ยงดินเนอร์ ๔๐ คน จะต้องฆ่าไก่อย่างน้อย ๒๐ ตัว...แล้วยังพวกอาหารจานเนื้อหมูอบ สเต็คเนื้ออีกเล่า ก็ต้องฆ่าหมู ฆ่าวัวเช่นกัน บางวันเห็นการฆ่าไก่เกินกว่าร้อยตัว เสียงมันร้องลั่น ดิ้นทุรนทุรายน่าสงสารเป็นที่สุด


    ๏ ออกบวช

    ท่านออกจากศาสนาคริสต์แล้ว แต่ภาพไก่ที่เห็นถูกเชือดทุกๆ วัน ยังตามมารบกวนความรู้สึกอยู่ในมโนภาพ ท่านเคยได้ยินว่า การบวชอาจจะแผ่บุญกุศลไปให้ผู้ที่ตายไปแล้วได้ ไก่ตายไปแล้ว บางทีการบวชอาจจะอุทิศส่วนกุศลไปให้ได้กระมัง ?

    ประจวบกับระยะนั้น การทำราชการไม่สู้จะปลอดโปร่งใจ ด้วยผู้บังคับบัญชาเกิดกินแหนงแคลงใจในตัวท่าน ทำให้ท่านรู้สึกอึดอัดใจในชีวิตฆราวาสอย่างยิ่ง ผู้บังคับบัญชาเคยรักใคร่ เอ็นดู กลับเปลี่ยนแปลง (ซึ่งท่านบันทึกวิจารณ์ไว้ในภายหลังว่าเป็นอนิจจัง เป็นเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ท่านตัดสินใจละโลกฆราวาสไต้ง่ายดายขึ้น) ท่านจึงขอลาออกจากราชการ แล้วเข้าสู่พิธีอุปสมบท เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ โดยมีท่านอัยการภาคเป็นเจ้าภาพบวชให้ บวชเป็นพระมหานิกาย จำพรรษาอยู่ ณ อำเภอแซงบาดาล ปัจจุบัน คือ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด


    ๏ ได้กลดแรกในชีวิต

    ระหว่างพรรษาแรกที่อำเภอธวัชบุรีนี้ หลวงปู่ได้พยายามศึกษาพระธรรมวินัยตามขนบธรรมเนียมของสมณะซึ่งมีทั้งปริยัติและปฏิบัติ สำหรับเรื่องปฏิบัตินั้น ท่านว่ารู้สึกดื่มด่ำมาก ราวกับได้ไปพบเพื่อนเก่าที่จากกันมาช้านานแล้ว เมื่อออกพรรษาแล้วท่านก็ลาอาจารย์กลับ เพื่อกลับไปเตรียมคัดเลือกเกณฑ์ทหารที่จังหวัดเลยอันเป็นภูมิลำเนาเดิม

    ท่านออกเดินทางไปจังหวัดนครพนม เพราะคิดว่าก่อนจะกลับบ้านก็ควรหาโอกาสไปนมัสการพระธาตุพนมอันเป็นพระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพอันสูงสุดของชาวอีสานและชาวไทยทั้งประเทศ เพื่อความสิริมงคลก่อน ระหว่างทางได้พบพระธุดงคกัมมัฏฐานรูปหนึ่งมาจากอำเภอโพนทอง สนทนาปราศรัยกันด้วยความชอบอัธยาศัยซึ่งกันและกัน

    หลวงปู่เป็นพระหนุ่ม เพิ่งบวชพรรษาแรก ยังไม่มีประสบการณ์ใดในการธุดงค์ ส่วนพระกัมมัฏฐานรูปนั้นแก่พรรษากว่า ผ่านการธุดงค์มาอย่างโชกโชนแล้วท่านได้ทราบความมุ่งมั่นปรารถนาของหลวงปู่ที่จะเป็นพระธุดงค์ที่ดี ประพฤติปฏิบัติเพื่อความหมดไป สิ้นไป แล้วท่านก็อนุโมทนาด้วย ก่อนจะแยกจากกัน ทราบว่าหลวงปู่ยังไม่มีอัฐบริขารกลดและมุ้งกลด พระกัมมัฏฐานรูปนั้นก็มอบกลดและมุ้งกลดของท่านให้หลวงปู่ไว้ใช้ ครั้งแรกหลวงปู่ปฏิเสธด้วยความเกรงใจ แต่ท่านก็คะยั้นคะยอให้รับไว้ บอกว่า หากต่อไปท่านได้ภาวนาดี เป็นผลดี ผมก็จะได้มีส่วนแห่งผลดีนั้นด้วย และผมขออนุโมทนาล่วงหน้าไว้ เชื่อว่าท่านคงจะได้เป็นพระปฏิบัติดี เป็นที่เชิดชูของพระพุทธศาสนาสืบต่อไป

    หลวงปู่กล่าวว่า เป็นกลดคันแรกในชีวิตที่ท่านได้รับ ทำให้ท่านรู้สึกในพระคุณของพระธุดงคกัมมัฏฐานรูปนั้นอย่างที่สุด ได้ใช้ในการภาวนาตลอดมาจนกลดและมุ้งขาด ซ่อมแซมปะชุนไม่ได้อีกต่อไป ท่านไม่เคยลืมพระคุณนี้ และนี่เป็นเหตุปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้ท่านได้ทำกลดแจกจ่ายไปให้พระ เณร แม่ชีมาตลอดเวลา อุทิศกุศลทั้งมวลให้พระธุดงค์จากอำเภอโพนทองรูปนั้นด้วยความสำนึกในพระคุณเป็นที่สุด

    ไปถึงพระธาตุพนม ท่านได้มีโอกาสใช้ประโยชน์จากกลดคันแรกนั้นอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งได้ทดลองความรู้เรื่องการปฏิบัติภาวนาที่พระธุดงค์แนะนำท่านด้วย

    อาจจะเป็นเพราะสถานที่เป็นมงคลอย่างเยี่ยมยอด ได้ประเดิมกลดที่ลานพระธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคธาตุของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง ได้ถวายการภาวนาเป็นพุทธบูชา ไม่นอนตลอดคืน บังเกิดความอัศจรรย์ในจิต คือเกิด กายลหุตา จิตลหุตา กายเบา จิตเบา ทำให้ท่านรู้สึกดื่มด่ำในการภาวนามากแล้วตั้งสัจจาธิษฐานว่า

    “กลับไปจังหวัดเลยครั้งนี้ หากไม่ได้รับเกณฑ์เป็นทหาร จะบวชกัมมัฎฐานตลอดชีวิต”

    ท่านเล่าว่า ไม่ทราบว่าเหตุใด คำว่า “กัมมัฏฐาน” ในนิมิตครั้งเป็นเด็กชายวัย ๙ ขวบนั้นได้กลับคืนมาสู่อนุสติอีก


    ๏ พบท่านพระอาจารย์บุญ

    พักภาวนาอยู่ ณ พระธาตุพนมพอสมควร ท่านก็ออกเดินทางเตรียมกลับจังหวัดเลย ผ่านอำเภอนาแก จังหวัดสกลนคร อำเภอพรรณานิคม วาริชภูมิ สว่างแดนดิน หนองหาน จังหวัดอุดรธานี ปากดง

    มาถึงอำเภอหนองวัวซอ ได้ยินกิตติศัพท์ว่ามีพระอาจารย์ที่มีชื่อทางธุดงคกัมมัฏฐานองค์หนึ่ง ได้พาชาวบ้านอพยพมาจากจังหวัดอุบลราชธานี มาตั้งบ้านเรือนและสร้างวัดอยู่ที่หนองวัวซอ มีผู้คนพากันไปฟังธรรมจากท่านกันอย่างล้นหลาม ท่านได้ยินคำว่า “กัมมัฏฐาน” ก็สนใจ เลยแวะเข้าไปดูลาดเลากับเขาบ้าง

    ปรากฏว่า การแวะเข้าไปดูลาดเลากับเขาบ้าง ในครั้งนั้น ทำให้ท่านอยู่ต่อมากับพระธุดงคกัมมัฏฐานรูปนั้นไปอีกหลายเดือน จนถึงเวลาเดือนเมษายน ใกล้จะเกณฑ์ทหาร จึงลาจากท่านไป

    เป็นวาระแรกที่ท่านได้พบ ท่านพระอาจารย์บุญ ปัญญาวุโธ

    ท่านเล่าว่า ได้เห็นศีลาจารานุวัตรและข้อปฏิบัติ ได้ฟังธรรมเทศนาของท่านพระอาจารย์บุญแล้วก็เลื่อมใสมาก ขอถวายตัวเป็นศิษย์ ตามแต่ท่านจะเมตตาสั่งสอน แต่ก็มีปัญหา ด้วยการบวชของท่านนั้นยังเป็นมหานิกายอยู่ ท่านพระอาจารย์บุญจึงแนะนำว่า หากไม่ได้รับการเกณฑ์ทหารแล้วก็ให้ขอญัตติเป็นธรรมยุตเสียที่จังหวัดเลย หลวงปู่จึงได้ไปขอญัตติจตุตถกรรมใหม่เป็นพระธรรมยุต ที่วัดศรีสะอาด อำเภอเมืองจังหวัดเลย โดยมีท่านพระคูรอดิสัยคุณาธาร (อ่ำ อรโก) เป็นพระอุปัชฌาย์


    ๏ พบท่านพระอาจารย์เสาร์ และท่านพระอาจารย์มั่น

    ท่านได้อยู่กับพระอุปัชฌาย์พอสมควร แล้วก็ได้เดินทางจากจังหวัดเลยกลับไปอยู่กับท่านพระอาจารย์บุญ ที่อำเภอหนองวัวซออีก และได้ติดตามท่านพระอาจารย์บุญไปยังวัดพระบาทบัวบก ณ ที่นี้เองที่หลวงปู่ได้พบกับ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนตสีโล และได้อยู่ปฏิบัติรับฟังโอวาทจากท่านพระอาจารย์เสาร์ โดยมีท่านพระอาจารย์บุญเป็นพระพี่เลี้ยงผู้ชี้แนะในข้อที่ท่านไม่เข้าใจอีกชั้นหนึ่งด้วย

    จากนั้น ท่านพระอาจารย์บุญก็ได้พาหมู่คณะศิษย์พร้อมด้วยหลวงปู่ไปกราบนมัสการ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ที่ท่าบ่อ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย คณะท่านพระอาจารย์บุญได้อยู่อบรมรับฟังโอวาทและฝึกปฏิบัติจากท่านพระอาจารย์มั่น จนกระทั่งจวนจะเข้าพรรษา จึงได้พากันย้อนกลับมาจำพรรษาที่วัดพระบาทบัวบก


    ๏ หลวงปู่นับหนึ่ง ๓ ครั้ง

    ในพรรษานี้ การภาวนาของหลวงปู่ก็ยังมีอุปสรรคเกิดขึ้น คือเมื่อภาวนาจิตร่วมลงแล้ว เกิดอาการสะดุ้ง จิตถอนขึ้นมาเองโดยไม่ได้กำหนด บางครั้งก็ไม่มีการเป็นไป เกิดการขัดข้องอยู่ในจิตเสมอ จึงได้นำความไปกราบเรียนถามท่านพระอาจารย์บุญ ก็ได้รับคำแนะนำให้ทำญัตติจตุตถกรรมใหม่ เพราะสงสัยว่าการญัตติครั้งที่แล้วคงจะไม่ถูกต้องนัก หลวงปู่ก็ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำ โดยไปทำพิธีญัตติจตุตถกรรมใหม่ ที่วัดโพธิสมภรณ์ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานีเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ เวลา ๑๓.๐๘ น. โดยมี ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) แต่เมื่อครั้งเป็นที่พระครูสังฆวุฒิกร เป็นพระอุปัชฌาย์ และท่านพระอาจารย์บุญ ปัญญาวุโธ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

    หลวงปู่เล่าขันๆ ว่าท่านนับพรรษาหนึ่งอยู่ถึง ๓ ครั้ง “หนึ่ง” ครั้งแรกเป็นพระมหานิกาย “หนึ่ง” ครั้งที่สอง เมื่อญัตติเป็นธรรมยุตครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๗ “หนึ่ง” ครั้งที่สาม เมื่อญัตติเป็นธรรมยุตครั้งที่สอง พ.ศ. ๒๔๖๘

    หลวงปู่นับ “หนึ่ง” ๓ ครั้ง ด้วยประการฉะนี้
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๏ พรรษาที่ ๑-๖ พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๗๓
    จำพรรษาอยู่กับท่านพระอาจารย์บุญ ปัญญาวุโธ
    พ.ศ. ๒๔๖๘ จำพรรษา ณ วัดพระบาทบัวบก อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
    พ.ศ. ๒๔๖๙–๒๔๗๓ จำพรรษา ณ วัดป่าหนองวัวซอ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี


    เสร็จจากการทำพิธีญัตติจตุตถกรรมใหม่แล้ว ท่านก็กลับมาจำพรรษาร่วมกับท่านพระอาจารย์บุญ ที่วัดพระบาทบัวบก อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ในพรรษาแรกปี พ.ศ. ๒๔๖๘ และต่อมาพรรษาหลังๆ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๙ ก็ได้มาอยู่ที่วัดป่าหนองวัวซอตลอดเวลา ๕ พรรษา

    สำหรับวัดป่าหนองวัวซอนั้น หลวงปู่เล่าว่า เป็นวัดที่ท่านพระอาจารย์บุญได้พาชาวบ้านมาจากจังหวัดอุบลราชธานี อพยพโยกย้ายมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่อำเภอหนองวัวซอ แล้วก็จัดตั้งวัดขึ้นที่บ้านนาเหล่า ปัจจุบันมีชื่อว่า “วัดบุญญานุสรณ์” เป็นชื่อที่ตั้งเป็นอนุสรณ์สำหรับท่านพระอาจารย์บุญ ในสมัยนั้น บริเวณวัดป่าหนองวัวซอ อุดมด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ทั้งสัตว์เล็กอย่างกระต่าย ไก่ป่า นก ลิง ค่าง บ่าง ชะนีและทั้งสัตว์ใหญ่อย่างเสือ กระทิง เม่น หมี และหมูป่า โดยเฉพาะจ้าวป่าใหญ่อย่างช้างป่า จะผ่านมาในเขตวัดเป็นประจำ สำหรับเสือนั้นมีมากมาย ได้ยินเสียงมันร้อง“อ่าว...อือ อ่า...ววว อือ” แต่ไกลแทบทุกคืน สงัดวิเวกมาก บริเวณวัดก็มีสภาพเป็นป่าจริงๆ บริบูรณ์ด้วยต้นไม้ใหญ่สูงเสียดฟ้ามืดครึ้ม มีเถาวัลย์รกเลี้ยวคลุมหนาแน่น หนามไผ่หนามหวายปกคลุมแน่นไปหมด เป็นที่เหมาะแก่การเจริญสมณธรรมบำเพ็ญเพียรภาวนาอย่างยิ่ง

    ท่านเล่าว่า หนองวัวซอสมัยนั้นบริบูรณ์ด้วยช้างป่ามากมายเหลือเกิน ใกล้วัดมีต้นมะขามป้อมป่ามาก พระเณรได้ฉันเป็นยาปนมัตถ์ แต่ขณะเดียวกัน พวกสัตว์ป่าก็เยี่ยมกรายเข้ามาเพื่อจะอาศัยลูกมะขามป้อมเป็นอาหารมากเหมือนกัน จึงมีหลายครั้งที่ขณะซึ่งบรรดาเณรกำลังเก็บมะขามป้อมร่วงตามโคนต้น มักจะมีพวกเก้ง กวาง โผล่หน้าเยี่ยมเข้ามาหาอาหารบ้าง ต่างฝ่ายต่างก็จะผงะถอยหลัง ฝ่ายเณรก็ตกใจ ฝ่ายกวางก็ตกใจ กระโดดหนีไป มีแม้กระทั่ง กระทิง หมูป่า เม่น ทั้งมนุษย์และสัตว์ต่างก็อาศัยผืนแผ่นดินในโลกเป็นที่อยู่อาศัยเช่นเดียวกัน ไม่มีการปักป้ายกั้นเขตแดนไปเลยว่า นั่นเป็นเขตของมนุษย์ นี่คือเขตของสัตว์ บริเวณแถบนั้นยังเป็นป่า ไม่มีที่จะสำแดงว่าเป็นเมือง มีแต่พระธุดงคกัมมัฏฐานที่ไปพำนักอยู่ตามแคร่ตามกุฏิเล็กๆ หรือใต้รุกขมูลร่มไม้เท่านั้น กลางคืนจะได้ยินเสียงนกหรือลิงร้องกรีดในเวลากลางคืน พระป่าก็อยู่ในป่า สัตว์ป่าก็เป็นของป่า กลมกลืนกันไป

    ท่านพระอาจารย์บุญอาจารย์ของท่านนั้น เป็นสัทธิวิหาริกของ ท่านเทวธัมมี (ม้าว) ท่านอธิบายว่า ท่านเทวธัมมี (ม้าว) พระอุปัชฌาย์ของท่านพระอาจารย์บุญนั้นเป็นสัทธิวิหาริกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะยังทรงผนวชอยู่ ท่านเทวธัมมี (ม้าว) เป็นพระเถราจารย์องค์หนึ่งที่เป็นผู้นำข้อวัตรปฏิบัติระเบียบวินัยและจารีตประเพณีดีงามของสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตให้เจริญรุ่งเรืองอยู่ในภาคอีสาน ท่านพระอาจารย์บุญเป็นพระเถราจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่มีชื่อมากองค์หนึ่ง ท่านเล่าว่าสมัยนั้นครูบาอาจารย์ฝ่ายกัมมัฏฐานซึ่งเป็นที่เคารพยกย่องมีอยู่ไม่กี่องค์ อาทิเช่นท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านพระอาจารย์สุวรรณ สุจิณโณ ท่านพระอาจารย์พา และ ท่านพระอาจารย์บุญ พระอาจารย์องค์แรกของท่าน

    ความจริงระหว่างที่หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้เรียบเรียงประวัติ วัดพระบาทคอแก้งที่อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย หลวงปู่เทสก์ท่านได้เล่าในตอนหนึ่งว่า สมัยที่ท่านอายุ ๑๒ ปี ยังเป็นเด็ก พระอาจารย์ของท่านเคยพาท่านไปเที่ยวที่พระบาทคอแก้งก็ได้พบท่านพระอาจารย์บุญพาลูกศิษย์คณะใหญ่ ๘-๙ องค์ มาบำเพ็ญเพียรที่พระบาทคอแก้ง แสดงว่า ท่านพระอาจารย์บุญเป็นคณาจารย์ที่มีชื่อทางด้านวิปัสสนาธุระมีลูกศิษย์ลูกหามากมายมาแต่ครั้งหลวงปู่เทสก์ยังเป็นเด็กอายุ ๑๒ ปีแล้ว

    หลวงปู่เป็นผู้ที่ละเอียดลออมาก ท่านพบใคร ท่านก็จะจดบันทึกถึงประวัติ และโวหารธรรมที่ได้ฟังมาอย่างมาก สำหรับท่านพระอาจารย์บุญนี้ หลวงปู่ได้บันทึกประวัติไว้ว่า

    “ท่านอาจารย์บุญเกิดเมื่อปี ๒๔๒๙ ที่บ้านกอก ตำบลหนองไข่นก อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี มารดาของท่านซื่อแม่อุ่น ท่านบวชปี พ.ศ. ๒๔๔๙ โดยมีท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ สิริจันโท (จันทร์) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมอยู่กับท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เป็นเวลา ๕ พรรษา จึงได้ออกปฏิบัติธรรมตามอัธยาศัย ท่านชอบศึกษาเล่าเรียนและชอบปฏิบัติ แต่ไม่ค่อยชอบสอนเท่าไรนัก”

    หลวงปู่ได้บันทึกไว้อีกว่า

    “เมื่อสมัยท่านพระอาจารย์บุญอยู่ถ้ำบัวบก ท่านนั่งอยู่ภายในถ้ำมืดๆ ก็มีแสงสว่างเกิดขึ้น แลเห็นสว่างไปทั้งถ้ำ ความมืดนั่นหายไปหมดท่านเคยมีประสบการณ์งูอยู่ในถ้ำข้างบน ก็ต่างออกเข้าหากินตามภาษาของมัน มิได้สนใจพระ บางครั้งท่านกางกลดอยู่ก็มีตัวเหม็นเข้าไปอยู่ในมุ้งคอยหยอกท่านเรื่อยๆ”

    หลวงปู่ได้บันทึกต่อไปอีกว่า

    “ท่านกล้าหาญ พูดเรื่องเสือที่ไปภาวนาอยู่บนเขากับท่านอาจารย์สีทา ท่านอาจารย์มั่นได้พิจารณาแล้วว่านิสัยพระอนุรุทธ ท่านอาจารย์บุญก็ว่าท่านอาจารย์มั่นเป็นนิสัยพระกัสสปะ นิสัยท่านอาจารย์บุญชอบสงบเสงี่ยมไม่โลดโผน พูดช้าๆ ลึกๆ เสียงน้อย รักษาสันโดษยิ่ง รักษากิริยามารยาทรูปสวยมาก มหาชนติดท่าน เป็นผู้แตกฉานในทางปริยัติพอสมควร เป็นนายช่างแก้นาฬิกาเครื่องกลทกอย่าง เคยเป็นนักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวง จบเพียงแค่ชั้นปีที่ ๒ ก็ออกไป แล้วไปบวช ท่านสั่งสอนศิษย์ตามวาสนา ท่านอาจารย์มั่นว่า ท่านบุญเอาตัวรอดไปได้แต่ลูกศิษย์ไม่ได้นิสัย ท่านหลุยอย่าเอาอย่าง ท่านบุญเป็นวัณโรคต้องเดินจงกรมให้เก่ง ไม่งั้นชีวิตจะสั้น เราชอบมารยาทท่าน แต่จิตนั้นเราชอบท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์บุญบอกว่า ที่ถ้ำบัวบกนั้นรุกขเทพมาก ใครทำผิดแล้วมักเกิดวิบัติ”

    หลวงปู่เล่าเพิ่มเติมอีกว่า

    ท่านพระอาจารย์บุญนั้นหมดสิ้นอาสวกิเลส ณ ถ้ำแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี ท่านรูปร่างงาม ขาว สูงใหญ่ และกิริยานิ่มนวล “เดินตามฟากไม่ดังเลย” เหมือนกิริยาของแมว ได้พาหลวงปู่เที่ยววิเวกไปตามภูเขาต่างๆ ในเขตภูพาน ซึ่งอุดมด้วยถ้ำ เงื้อมหินมากมาย รวมทั้งที่พระบาทคอแก้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคายด้วย ระหว่างที่อยู่ที่วัดป่าหนองวัวซอ ก็พากลับไปวิเวกที่วัดพระบาทบัวบก อำเภอบ้านผือซึ่งท่านได้พบท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล เป็นคำรบแรก ณ ที่นั้นการอยู่กับท่านพระอาจารย์บุญนี้ ทำให้หลวงปู่สามารถเรียนรู้วิธีการปฎิบัติอุปัฎฐากครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่อย่างคล่องแคล่วว่องไว
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๏ กิจวัตรต่อครูบาอาจารย์


    สิ่งทีท่านจำได้ไม่ลืม คือ หลักการที่พระอาจารย์บุญได้สอนไว้ว่าเป็นพระเล็กเณรน้อย ได้โอกาสมาอยู่ด้วยเพื่อจะเรียนรู้จากพระผู้ใหญ่ ก็ต้องหัดจำข้อวัตรปฏิบัติให้ได้ หลักง่ายๆ ๔ อย่าง ควรจำให้ขึ้นใจ คือ

    ๑. ต้องฉันหลังอาจารย์
    ๒. ต้องฉันให้เสร็จก่อนอาจารย์
    ๓. ต้องนอนหลังอาจารย์
    ๔. ต้องตื่นก่อนอาจารย์

    หลัก ๔ อย่างนั้นฟังดูสั้นและง่าย แต่การปฏิบัติจริงๆ จะต้องมีข้อวัตรที่จะต้องปฏิบัติมากมาย ผู้ที่จะเรียกได้ว่าเป็น พระปฎิบัติอุปัฎฐาก ครูบาอาจารย์นั้นจะต้องเป็นผู้ที่คล่องแคล่ว ว่องไว กล่าวคือ...พอสว่างได้อรุณแล้ว ต้องรีบนำบาตรและบริการของตนไปโรงฉัน จัดแจงโรงฉันให้เรียบร้อย ต้องหัด นอนดึก ลุกเช้า เมื่อจัดโรงฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องรีบไปเพื่อทำกิจวัตรต่อท่านอาจารย์ใหญ่ในที่พักของท่าน รอเวลาท่านจะออกห้อง โดยคอยอยู่ตามบริเวณใกล้เคียงนั้น ระหว่างที่รอคอยต้องทำความเพียร รอเวลาท่านออกมา ไม่ควรจะนั่งจับกลุ่มคุยกันกับหมู่พวก พอได้ยินเสียงท่านกระแอมหรือไอ หรือเกิดเสียงกระเทือนจากการไหวตัวของท่าน เนื่องจากท่านมักจะพักอยู่ตามแคร่ซึ่งทำด้วยฟากไม้ไผ่ เพียงท่านขยับตัวนิดเดียว เสียงสะเทือนก็จะดัง ต้องรีบเอาบริขารท่านลงไปโรงฉัน โดยก่อนหน้านั้นจะต้องจัดกระโถนและหม้อมูตรไปชำระเสียก่อน เมื่อนำบริขารของท่านไปถึงโรงฉันแล้ว ก็รอเวลาไปบิณฑบาตหากท่านยังลงมาไม่ทัน โอกาสมีก็ไปเดินจงกรมเสียก่อน หรือนั่งกำหนดจิตไปพลางๆ

    พอได้เวลาไปบิณฑบาต ท่านก็ให้เดินไปที่โรงฉัน หรือแห่งใดแห่งหนึ่ง แล้วแต่ความสะดวกของท่าน คอยรับเก็บรองเท้าท่าน (ถ้ามี) หรือผลัดเปลี่ยนผ้า ห่มผ้าติดลูกดุมถวายท่านก่อน ครองผ้าถวายท่านเสร็จแล้ว ต้องครองผ้าของตนให้เสร็จก่อนท่านอีก แล้วเอาบาตรของตนและของท่านเดินล่วงหน้าไปก่อน รอคอยท่านอยู่ที่ใกล้ทางเข้าหมู่บ้านที่จะบิณฑบาต เมื่อท่านไปถึงให้เอาบาตรถวายท่าน แล้วเข้าแถวเดินไปตามลำดับพรรษา เดินไปตามหลังท่าน เสร็จการรับบิณฑบาตแล้ว ต้องรีบเดินออกล่วงหน้าท่านกลับก่อน เพื่อจะได้รีบไปจัดทำกิจทุกอย่างให้เสร็จก่อน จะได้เพียงแต่คอยนั่งฉันอยู่เท่านั้นก็หาไม่

    ก่อนท่านฉันอาหารจะต้องคอยดูแลปฏิบัติถวายท่าน เช่น รับประเคนบาตรและอาหาร จัดอาหารในบาตรถวายอาจารย์ให้เรียบร้อย แล้วจึงกลับมานั่ง ณ ที่อาสนะของตน

    ความจริงระหว่างการจัดอาหารถวายท่านนั้น ต้องคอยดูด้วยความฉลาดว่าควรจะเป็นอาหารที่เหมาะกับธาตุขันธ์ของท่าน เป็นที่สบายต่อสุขภาพของท่านหากเป็นอาหารที่ไม่สมควร ท่านอาจจะไม่รับเลยก็ได้

    ในด้านการฉัน ผู้ปฏิบัติต้องรีบฉันให้อิ่มก่อนท่านเสมอ สังเกตว่าท่านฉันอาหารคาวเสร็จแล้ว ลงมือฉันอาหารหวาน ต้องให้อิ่มทันตอนนั้นพอดี ถ้าเลยไปกว่านี้แล้วจะไม่ทันต่อการทำกิจวัตรอย่างอื่น คือการเตรียมถวายน้ำล้างมือ ถวายไม้สีฟันซึ่งมี ๓ ขนาด คือทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ น้ำสำหรับบ้วนปาก เสร็จก็นำบาตรอาจารย์ไปล้าง เช็ดให้แห้ง นำไปเก็บไว้ให้เรียบร้อย กลับมาดูแลเก็บบริขาร นำบริขารไปส่งยังที่พักของอาจารย์ ต่อนั้นจึงจะกลับไปปฏิบัติภาวนาได้ จนได้เวลาที่ต้องทำกิจวัตรร่วมกับหมู่คณะ ต้องมาร่วมทำกิจวัตรนั้นจนเสร็จเรียบร้อย แล้วจึงถวายน้ำปานะตลอดจนการเตรียมน้ำร้อนสำหรับให้อาจารย์สรงให้เรียบร้อย แล้วจึงกลับไปทำธุรกิจส่วนตน การปฏิบัติภาวนาก็จะต้องทำไปด้วยควบคู่กัน จนได้เวลาก่อนทำวัตรเย็น และต้องรีบกลับมาตระเตรียมดูแลสถานที่สำหรับอาจารย์ให้เรียบร้อยก่อนที่ท่านจะลงมาทำวัตรเย็นในเวลาประมาณทุ่มครึ่ง

    ในการทำวัตรเย็น ท่านพระอาจารย์บุญจะกล่าวนำบูชาพระรัตนตรัย แล้วพาสวดตามตำรับ “ยมหํ ” ที่หลวงปู่ได้ยึดถือนำมาปฏิบัติจนตลอดชีวิตของท่าน ต่อจากนั้นก็รับฟังเทศน์ ถามตอบปัญหาในภาคปฏิบัติ แล้วนั่งสมาธิภาวนาจนท่านอาจารย์เห็นสมควรแก่เวลาจึงได้สั่งเลิกไป เมื่อการประชุมเสร็จสิ้นลง ก็ต้องดูแลเก็บบริขารและไปส่งท่านอาจารย์ถึงที่พัก ตลอดทั้งต้องถวายการนวดเฟ้นซึ่งหลวงปู่ใช้คำว่า “คั้นเอ็น” แก่ครูบาอาจารย์ จนกระทั่งสั่งหยุด แล้วกลับมาดูแลความเรียบร้อยที่ศาลาต่อ จึงจะกลับไปที่พัก ปฏิบัติภาวนาพิจารณาคำสั่งสอนที่ได้รับมาจากท่านอาจารย์ได้ นำเอาอุบายและวิธีต่างๆ มาเป็นแนวชี้แนะในทางปฏิบัติอันเป็นงานสำคัญยิ่งสำหรับพระ

    การปฏิบัติภาวนานี้จะใช้เวลามากน้อย ขึ้นอยู่กับความสงบของจิต ที่จะตามเข้าไปรู้เห็นธรรมนั้นตามสภาพความเป็นจริง จนเป็นที่เข้าใจอย่างหมดสงสัย แล้วจึงพักผ่อนได้ แต่ถ้ายังไม่เป็นที่เข้าใจ ยังมีความสงสัยอยู่ บางครั้งอาจจะไม่ได้พักผ่อนกันเลย ซึ่งข้อนี้อยู่ในเรื่องที่ว่า ต้องนอนหลังอาจารย์ ก่อนที่จะเข้าที่พักผ่อนก็ต้องกำหนดจิตก่อน คือตั้งเจตนาให้จิตรู้สึกและตื่นก่อนท่านอาจารย์ เพื่อจะได้ไปเตรียมน้ำล้างหน้า น้ำสีฟัน น้ำบ้วนปากถวายท่าน ถ้าอยู่กันหลายองค์ก็จะได้แข่งกันขึ้นปฏิบัติอาจารย์ เพื่อเป็นการฝึกหัดและตั้งสติรอบรู้ของตนให้พร้อมอยู่เสมอ

    เมื่อถวายการปฏิบัติต่ออาจารย์เรียบร้อยแล้ว ก็กลับมาทำภัตวัตร ปัดกวาดปูลาดเสนาสนะ จัดเตรียมที่ฉัน แล้วดูแลอุปกรณ์ของใช้ในการฉันให้เรียบร้อย จึงลงไปเดินจงกรมภาวนา จนถึงเวลาออกบิณฑบาต วนเวียนกันไปเช่นนั้น

    หลวงปู่มีความเลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาของท่านพระอาจารย์บุญมาก ท่านอุปัฏฐากรับใช้จนท่านพระอาจารย์บุญมรณภาพ ในกลางปี ๒๔๗๓ ระหว่างพรรษานั้น ซึ่งท่านพระอาจารย์บุญจำพรรษาอยู่ที่วัดป่ามหาชัย เสร็จงานถวายเพลิงแล้ว ท่านได้นำอัฐิธาตุพระอาจารย์ของท่านไปไว้ที่วัดพระบาทบัวบก อันเป็นสถานที่ที่ท่านพระอาจารย์บุญอยู่จำพรรษานานที่สุด พระเณรและญาติโยม โดยมีท่านพระอาจารย์ขัน อาภัสสโร เป็นประธาน ได้ช่วยกันสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของท่านให้ เมื่อหมดสิ้นภาระหน้าที่อันควรถวายครูบาอาจารย์แล้ว หลวงปู่ก็ออกวิเวกต่อไป โดยไปทางหล่มสัก เพชรบูรณ์บ้าง จังหวัดเลยบ้าง
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๏ ได้พบและจำพรรษากับกัลยาณมิตร


    ณ ที่วัดป่าหนองวัวซอนี้ หลวงปู่เล่าว่า เป็นที่ซึ่งท่านได้พบและจำพรรษากับกัลยาณมิตร ๒ องค์ กล่าวคือ หลวงปู่ขาว อนาลโย และ หลวงปู่ชอบ ฐานสโมสำหรับหลวงปู่ขาว นับแต่ที่ได้บวชเป็นคู่นาคกันแล้ว เป็นการพบกันครั้งแรก แต่สำหรับหลวงปู่ชอบนั้น ท่านเล่าว่า เคยพบกันมาก่อนแล้วระหว่างธุดงค์อยู่ตามป่าเขาแถบจังหวัดเลย อันเป็นภูมิลำเนาบ้านเกิดของท่านทั้งสอง แต่ครั้งยังเป็นพระน้อยเพิ่งเริ่มบวช

    การมาอยู่จำพรรษาด้วยกัน ทั้ง ๓ องค์ ในพรรษาที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๗๓ ทำให้ชอบอัธยาศัยและใกล้ชิดถูกนิสัย แลกเปลี่ยนธรรมสากัจฉาเป็นกัลยาณมิตรเอื้อเฟื้อต่อกันตลอดมา จนหลวงปู่ขาวมรณภาพจากไปก่อนในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ และองค์หลวงปู่เอง ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ซึ่งยังคงเหลือหลวงปู่ชอบ ฐานสโมเท่านั้น สำหรับเป็นหลักชัย เป็นเพชรบนยอดมงกุฎแห่งจังหวัดเลยเพียงองค์เดียว

    ณ ที่วัดป่าหนองวัวซอนั้นเป็นที่หลวงปู่เล่าเสมอ ว่าท่านได้ประจักษ์ในบุญญาบารมีในกัลยาณมิตรของท่าน กล่าวคือ ระหว่างจำพรรษาด้วยกัน คืนหนึ่งเกิดฝนตกหนัก ลมพายุพัดรุนแรง ฝนตกหนักตลอดทั้งวันทั้งคืน ครั้นถึงเวลากลางวันขณะที่หลวงปู่ชอบกำลังจำวัด ก็ต้องสะดุ้งตื่น ด้วยได้ยินเสียงโยมมารดามาร้องเรียกให้ออกไปรับเสด็จพระนางมัทรี พอท่านออกมานอกกุฏิตามเสียงเรียกของโยมมารดา ต้นไม้ใหญ่ก็หักโค่นลงทับกุฏิของหลวงปู่ชอบพังเป็นจุณไป ทำให้หลวงปู่ชอบพ้นอันตรายไปอย่างน่าอัศจรรย์

    ความจริงเรื่องที่ว่า โยมมารดาเห็นพระนางมัทรีนั้น เมื่อหลังจากที่เกิดเหตุแล้ว ก็พาหลวงปู่ไปที่ศาลาที่ว่านางมัทรีมารออยู่ โยมมารดาเล่าว่า ได้เห็นพระนางมัทรีลงมาหา เป็นหญิงที่สวยงามที่สุด ครั้งแรกไม่รู้จักชื่อ พอถาม นางก็บอกว่า นางเองคือพระนางมัทรี โยมมารดาเห็นผู้หญิงนั้นงามเหลือที่จะประมาณ งามยิ่งกว่านางฟ้าที่เคยเห็นในรูป รู้สึกตื่นเต้นจึงวิ่งไปตามพระลูกชายดังกล่าว แต่เมื่อมาถึงศาลา ไม่มีใครเห็นผู้หญิงที่โยมมารดากล่าวอ้างเลย คงเห็นแต่รูปพระนางมัทรีติดอยู่บนศาลาเท่านั้น น่าคิดว่านางฟ้าหรือเทพยดาอารักษ์ เทพธิดาองค์ใดไปช่วยปรากฏกายให้โยมมารดาไปเรียกหลวงปู่ชอบออกมาได้ เพราะถ้าท่านยังคงจำกัดอยู่ ท่านต้องมรณภาพแน่

    สำหรับกรณีหลวงปู่ขาวนั้น ท่านเล่าว่า ต้นไม้หักโค่นลงมาเหมือนกัน แต่ต้นที่ล้มลงระเนระนาดนั้นมีจำนวนมาก แต่ละต้นต่างล้อมกุฏิหลวงปู่ขาวไว้โดยรอบเป็นวงกลม ไม่มีแม้แต่ต้นเดียว กิ่งเดียว ที่จะหักมาทับหรือก่ายกุฏิหลวงปู่ขาวเลย เป็นประหนึ่งเทวดาช่วยจับเวียนต้นไม้ล้อมรอบกุฏิหลวงปู่ขาวเอาไว้ฉะนั้น

    เป็นเรื่องที่หลวงปู่หลุยจะเล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังเสมอว่า บุญบารมีที่แต่ละคนสร้างสมอบรมมานั้น โดยเฉพาะท่านผู้จะเดินไปสู่มรรคผลนิพพานนั้น จะต้องมีเทพยดาอนุรักษ์มาบำรุงรักษาปกป้องคุ้มครองให้พ้นจากภัยอันตรายเสมอ
     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๏ พระบาทบัวบก


    พระบาทบัวบก ตั้งอยู่ในเขตตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานีเป็นสถานที่ที่สวยสดงดงาม สงบเยือกเย็น อยู่ในระหว่างไหล่เขาภูพาน เป็นเนื้อที่อันกว้างใหญ่ สถานที่เป็นพระพุทธบาทนั้น ตั้งอยู่บนเขา ประกอบด้วยศิลปวัฒนธรรมวรรณคดีต่างๆ ตลอดทั้งภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ติดอยู่ที่เพิงหินเป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของชาวจังหวัดอุดรธานี เชื่อกันว่าเป็นที่ประดิษฐานรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ได้เสด็จมาด้วยบุญฤทธิ์ มาประสานรอยพระบาทไว้ ณ ที่นี้ เพื่อให้สาธุชนผู้มีความเลื่อมใสในพระองค์ได้กราบไหว้บูชา บริเวณวัดเป็นที่ที่งดงามมาก มีพลาญหินกว้างใหญ่และมีถ้ำมากมายหลายถ้ำ ชะง่อนหินหลายแห่งเป็นเงื้อมหินยื่นแผ่ออกมา ประดุจพญานาคแผ่เศียรพังพานให้ร่มเงา เหมาะแก่การเป็นที่พักบำเพ็ญเพียรทั้งนั้น ท่านพระอาจารย์บุญชอบใจที่นี่มาก ท่านได้มาจำพรรษาอยู่ ณ ที่นี้หลายครั้งหลายหนแล้วเพราะฉะนั้น เมื่อมีศิษย์หน้าใหม่มารับการอบรม ท่านก็จะพามาให้พักจำพรรษาบ้างหรือกลับมาแสวงหาความวิเวกบ้าง

    ระยะนั้นบ้านเมืองยังอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ น้ำประปาธรรมชาติก็มีสะดวกทั้งปี มีน้ำไหลมาตามร่องของหินของภูเขา แล้วก็กระโจนลงมาเหมือนน้ำตกผู้ที่มาพักก็สามารถดัดแปลงน้ำตกนั้นให้กลายเป็นน้ำประปาได้ โดยหาไม้ไผ่มาผ่าครึ่งตลอดลำ แล้วเซาะเอาปล้องกลางออก เพื่อให้น้ำไหลไปตามรางได้โดยสะดวกแล้วเอาลำไม้ไผ่ที่แต่งดีแล้วนั้น ไปรองรับน้ำที่พุ่งออกมาตามร่องหินนั้น ให้มันไหลไปเป็นประปาธรรมชาติตามรางไม้ไผ่ แล้วแต่จะต้องการจะให้หันเหไปทางใด น้ำใสมากเย็นเฉียบ มีน้ำไหลได้ตลอดปี ซึ่งเดี๋ยวนี้น่าเสียดายที่ไม่มีน้ำไหลอีกแล้ว เพราะแม้แต่บนเขาภูพานเองก็หาต้นไม้ใหญ่แทบไม่พบ แทบจะไม่มีป่าอยู่บนภูเขา กลายเป็นภูเขาหัวโล้นไปเกือบหมด ทำให้น้ำแห้งไปตลอดด้วย

    รอยพระบาทนั้นอยู่ท่ามกลางพลาญหินยาวประมาณ ๒ เมตร กว้าง ๗๐ เซนติเมตร ลึกประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ได้เป็นที่ที่พวกพรานป่าได้มาพบ เนื่องจากเขาเหล่านั้นได้พยายามจะยิงสัตว์ แต่เมื่อสัตว์วิ่งมาที่ตรงกลางพุ่มไม้นี้ พรานตามมายิงเท่าไรก็ไม่สามารถทำอันตรายแก่พวกกวางเก้งนั้นได้ เมื่อตามกวางเก้งที่ถูกยิงมาถึงที่นี้ ก็เห็นว่า เมื่อมันมากินน้ำนี้แล้ว แผลทั้งหมดก็หายไปด้วย

    พวกพรานป่าเห็นเป็นอัศจรรย์จึงแหวกพงหญ้าเข้ามาจนพบรอยพระบาทนี้ได้มีการสร้างเจดีย์ครอบพระพุทธบาทหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายท่านอาจารย์สีทัด ชาวนครพนมได้เดินธุดงค์มาเห็น ท่านได้เคยบูรณะสร้างเจดีย์ที่นครพนมมาแล้ว มาเห็นพระบาทบัวบกรู้สึกเลื่อมใสมาก ท่านเลยพาญาติโยมมาสร้างเจดีย์ครอบพระบาทบัวบก ลักษณะรูปทรงเหมือนเจดีย์พระธาตุพนม สูงประมาณ ๑ เส้น ยอดเจดีย์เป็นฉัตรทองเหลือง จึงแลดูงดงามยิ่งนัก เจดีย์ธาตุท่านพระอาจารย์บุญก็ได้สร้างห่างออกมาจากเจดีย์พระบาทบัวบกเพียงเล็กน้อย อยู่ในลักษณะรูปพรรณสัณฐานคล้ายกัน

    บริเวณพระบาทบัวบกยังมีรูปหินธรรมชาติอันงดงาม มีเรื่องราวเล่ากันถึงเรื่องนางอุษา เป็นตำนานที่เล่าสู่กันมา

    แต่ทางพระธุดงคกัมมัฏฐานได้พอใจพากันมาแสวงหาความวิเวก ณ ที่นี้ตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ถึงจะมีความแห้งแล้งอย่างไร แต่พลาญหิน เงื้อมถ้ำยังคงอยู่ พอจะแสวงหาความสงัดวิเวกได้

    สำหรับคำว่า บัวบก นั้นเป็นคำบอกชื่อพันธุ์ไม้ดอกชนิดหนึ่ง ซึ่งแต่ก่อนนั้นเคยเกิดอยู่ตามพื้นดิน แต่ไม่ชอบน้ำ กล่าวกันว่ามีดอกสีขาวและลักษณะของกลีบคล้ายกลีบบัว แต่พันธุ์ไม้ชนิดนี้ถูกคนทำลายได้สูญพันธุ์ไปเกือบหมดแล้ว ปัจจุบันนี้จึงหาดูได้ยาก เป็นพันธุ์ไม้ที่คนอีสานเรียกว่า ต้นบัวบกหรือหัวบัวบกนั่นเอง

    สมัยก่อนที่หลวงปู่ได้ธุดงค์ไป ยังพบพันธุ์ไม้บัวบกนี้มากอยู่ โดยเฉพาะรอบองค์เจดีย์ องค์ซึ่งหักโค่นลงแล้วเหลือให้เห็นซากอิฐเป็นกอง ประมาณได้เมื่อตอนนั้นสูงประมาณ ๘ เมตร มียอดทิ้งไว้มีสามยอดติดกัน ต้นบัวบกเต็มไปหมด ขึ้นอยู่ตามซากเจดีย์ พอถึงฤดูแล้งใบและดอกก็จะตาย พอถึงฤดูฝนต้นบัวบกก็จะผลิดอกขาวเต็มไปหมด ตามลักษณะของดอกไม้ป่า ที่มักจะมีอุดมสมบูรณ์อยู่ตามพลาญหิน ในเขตหุบเขาและป่าทางอีสาน สำหรับบัวบกนี้ เมื่อมีคนไปบูรณะเจดีย์ ส่วนมากก็จะถางทิ้งเพื่อความสะดวกในการก่อสร้างบ้าง ในการไปมาบ้าง ภายหลังจึงแทบจะสูญพันธุ์ไป

    ณ ที่ฐานเจดีย์ท่านพระอาจารย์บุญ ได้มีคำจารึกโดยละเอียด เห็นควรเชิญมาลงพิมพ์ด้วย ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ ราคาค่าก่อสร้างเจดีย์สูง ๖ วา ๓ ศอก ใน พ.ศ. ๒๔๗๓ นั้น เป็นเงินเพียง ๓๒๕ บาท ๒๑ สตางค์ น่าคิดว่า ค่าของเงินปัจจุบันนี้ แตกต่างกว่าสมัยก่อนนั้นเพียงไร

    ธาตุสาวก
    สร้าง พ.ศ. ๒๔๗๓

    คำไหว้

    มยาหํ อาจาริยํ ปุญญนามกํ อฎฺฐิธาตํ สิรสา นะมามิ ฯ

    พระปัญญาวุโธ (บุญ) อายุ ๔๔ ปี พรรษา ๒๔ ถึงแก่มรณภาพ

    พระอาภัสสโร (ขัน) พร้อมภิกษุ สามเณร และ อุบาสก อุบาสิกา

    ทั้งหลายได้พากันสร้างธาตุบรรจุอัฐิของท่านไว้ ณ ที่นี้

    ฝ่ายอุบาสก อุบาสิกา ได้ออกทรัพย์รวมเป็นเงิน ๓๒๕ บาท ๒๑ สตางค์

    ขอวุฒิธรรมทั้ง ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ

    จงมีแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ ฯ

    สูง ๖ วา ๓ ศอก
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๏ อดีตที่ฝังรอยมาจากบุพชาติ


    หลังจากที่เสร็จงานพิธีบรรจุอัฐิธาตุท่านพระอาจารย์บุญในเจดีย์ที่ก่อขึ้นมา ณ บริเวณวัดพระบาทบัวบกแล้ว หลวงปู่ก็ออกธุดงค์วิเวกมาทาง จ.เลย และเพชรบูรณ์ ทางสายนั้น ขณะนั้นยังเป็นป่าเขาที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุด มีภูเขาใหญ่น้อยเรียงรายกันเป็นดุจทะเลภูเขา เวลาเย็นเห็นแสงพระอาทิตย์ส่องผ่านไปให้สีสันต่างๆ กัน เหมือนคลื่นภูเขาเหล่านั้นกำลังตีฟองคะนองอยู่ในอากาศ อากาศวิเวก ชวนให้ภาวนา ท่านเล่าว่า การเดินแบบนั้นได้ประสบรสแห่งความวิเวกอย่างดีที่สุด ซึ่งในปัจจุบันนี้แทบจะหาความสงบสงัดวิเวกทำนองนั้นไม่ได้อีกแล้ว เพราะได้มีรถยนต์เป็นยานพาหนะจะไปไหนมาไหนก็รวดเร็ว การสงบจิตติดตามไปมิได้วังเวงวิเวกเช่นการเดินด้วยเท้าดังครั้งก่อน

    ท่านแวะมาที่หล่มสัก ด้วยโยมมารดาของท่านมีพื้นเพภูมิลำเนาอยู่ที่นั้นจึงยังมีบ้านญาติบ้านพี่บ้านน้อง คนคุ้นเคยอยู่มาก ท่านมาถึงได้ทราบว่า บ้านญาติคนหนึ่งมีงานศพ นิมนต์พระไปสวดมนต์ ท่านก็ได้รับนิมนต์ไปในงานสวดมนต์นั้นด้วย

    หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า ท่านไม่เคยคิดเลยว่า การแวะไปเยี่ยมญาติและสวดมนต์ในครั้งนั้น จะทำให้ท่านถึงกับซวดเซลงแทบจะล้มลงทั้งยืน

    ล้ม...ล้มอย่างไม่มีสติสตังเลยทีเดียว ท่านเล่าให้เฉพาะผู้ใกล้ชิดฟังว่า วันนั้นท่านกำลังสวดมนต์เพลินอยู่ ระหว่างหยุดพักการสวด เจ้าบ้านก็นำน้ำปานะมาถวายพระแก้คอแห้ง บังเอิญตาท่านชำเลืองมองไปในหมู่แขกที่กำลังนั่งฟังสวดมนต์อยู่เพียงตาสบตา ท่านก็รู้สึกแปล๊บเข้าไปในหัวใจ

    เหมือนสายฟ้าฟาด แทบจะไม่เป็นสติสมประดี ท่านกล่าวว่า เพียงตาพบแว้บเดียว ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ท่านก็เซแทบจะล้ม เผอิญขณะนั้นท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ได้รับนิมนต์ไปด้วย ท่านคงสังเกตถึงอาการหรือว่าท่านอาจจะกำหนดจิตทราบเหตุการณ์ก็ได้ ท่านจึงเข้ามาประคองไว้ เพราะมิฉะนั้นหลวงปู่คงจะล้มลงจริงๆ

    ฝ่ายหญิงที่นั่งอยู่ทางด้านโน้นก็เป็นลมไปเช่นกัน คงจะเป็นอำนาจความเกี่ยวข้องแต่บุพชาติมา ที่มาบังคับให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้น

    ท่านบอกว่าในหัวอกเหมือนจะมีอะไร แต่ภายหลังได้พิจารณากลับมา และเมื่อท่านพระอาจารย์สิงห์ได้อธิบายให้ท่านทราบในภายหลังว่า การครั้งนี้เป็นนิมิต เนื่องจากบุพเพสันนิวาสท่านและสุภาพสตรีผู้นั้นเคยเป็นเนื้อคู่เกี่ยวข้องกันต่อมาช้านาน เคยบำเพ็ญบารมีคู่กันมาโดยเฉพาะเมื่อภายหลัง หลวงปู่ได้สารภาพถึงความในใจที่ตั้งปรารถนาพุทธภูมิ ท่านพระอาจารย์สิงห์ก็อธิบายว่า เธอผู้นั้นก็คงได้ปรารถนา บำเพ็ญบารมีคู่กันมาเช่นกัน

    ท่านก็เลยเล่าว่า ครั้งหนึ่ง หลวงปู่อีกองค์หนึ่งก็เช่นกัน ระหว่างที่มากรุงเทพฯเดินบิณฑบาตอยู่แถววัดสระปทุม ได้พบสตรีคนหนึ่ง นั่งรถสามล้อผ่านไป (สมัยนั้นในกรุงเทพฯ มีรถสามล้อเป็นยานพาหนะด้วย-ผู้เขียน) ท่านบอก เพียงตาสบตาเท่านั้น ความรู้สึกมันปล๊าบไปทั้งตัว แทบจะวิ่งตามเขาไป คราวนั้นพระเถระผู้ใหญ่ต้องให้สติและขังท่านไว้ในโบสถ์ พิจารณาดับความรู้สึกกันอยู่นาน ด้วยการเจริญอสุภะจึงสำเร็จ คราวนั้นหลวงปู่องค์นั้นท่านก็เล่าว่า ไม่รู้จักผู้หญิงคนนั้นมาก่อน แล้วก็ไม่รู้ว่าเขาอยู่ที่ไหนด้วยซ้ำ เขาจะไปที่ไหน อย่างไร ก็ไม่ทราบ แต่ใจมันวิ่งเตลิดตามเขาไป พิจารณาแล้วก็ได้ความเช่นกัน ว่าเป็นคู่ที่เคยมีบุพเพสันนิวาสกันมาแต่ชาติก่อน อำนาจกรรมนั้นจึงมาประจักษ์ แต่หากว่าบุญบารมียังมีในเพศพรหมจรรย์ ท่านจึงปลอดภัยไปจากกรรมนี้ได้

    สำหรับกรณีของหลวงปู่ก็เช่นกัน แต่ของท่านนั้น เนื่องจากเป็นการปรารถนาพุทธภูมิเคียงคู่กันมา จึงมีอำนาจรุนแรงมาก และเนื่องจากว่า ฝ่ายหญิงมิได้พบกันแล้วก็ห่างกันไปแบบในกรณีของหลวงปู่องค์นั้น ต้องพบประจันหน้ากันอีกหลายครั้ง เนื่องด้วยผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายเป็นผู้คุ้นเคยกันประหนึ่งญาติ และมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมาหลายชั้น ตั้งแต่ครั้งบิดามารดา ต้องพบเห็นกัน ไม่ใช่ว่าเป็นการพบกันแล้วก็ผ่านจากไป เช่นนั้นอาจจะเป็นกรณีที่ง่ายหน่อย แต่การนี้หลังจากพบครั้งแรกแล้วนั้น ก็ยังต้องเห็นกันอีก กรณีจึงแตกต่างจากพระเถระครูบาอาจารย์ฝ่ายกัมมัฏฐานองค์อื่น ในชาตินี้ นอกจากที่ว่า ชั้นบิดามารดารู้จักคุ้นเคยกันประหนึ่งญาติพี่น้อง อาจจะเคยเห็นกันในสมัยวัยเด็ก แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายหญิงได้ถูกส่งตัวเข้ามารับการศึกษาในพระนครเสียตั้งแต่ยังเด็ก ได้รับการศึกษาชั้นสูง จึงแทบมิได้พบหน้ากันอีก เมื่อมาพบฝ่ายหญิงนั้น ท่านอยู่ในเพศบรรพชิตแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งเป็นกุลสตรีแสนสวย เป็นรอยแห่งอดีตที่มาพบพานกัน

    ความจริงท่านไม่เคยเล่าถึงรูปลักษณ์ของ “รอยอดีต” ของท่าน แต่บังเอิญผู้เขียนเกิดทราบขึ้นมาเอง วันนั้นเป็นเวลาที่มีการสนทนาธรรมกัน และหลวงปู่กำลังเทศนาอธิบายถึงแรงกรรม โดยเฉพาะกรรมเกี่ยวกับบุพเพสันนิวาส ที่พระเณรจะต้องประสบและจะต้องมีกำลังใจอย่างมากที่จะเอาชนะให้ได้ในที่สุด สุดท้ายวันนั้นท่านได้ยกกรณีของท่านขึ้นมาว่า องค์ท่านเองยังแทบเป็นลม ฝ่ายท่านนั้นพระเถระต้องเข้าประคองฝ่ายหญิงเป็นลม ญาติผู้ใหญ่และมารดาต้องเข้าประคอง ขณะฟังไม่ทราบว่าเพราะอะไรผู้เขียนรู้สึกสว่างวาบขึ้นในใจ เข้าใจนึกถึงชื่อเธอขึ้นมา กราบเรียนท่านโดยเอ่ยชื่อเธอ...ว่าใช่ไหมสุภาพสตรีท่านนั้น หลวงปู่ค่อนข้างจะตกใจที่ทำไมศิษย์เกิดรู้จักขึ้นมาได้แต่ท่านก็อึ้งและยอมรับว่าเข้าใจถูกแล้ว ฉะนั้นการพรรณนารูปร่างลักษณะของเธอ ซึ่งผู้เขียนเผอิญรู้จัก และมีความเคารพนับถือ...นับถือในอัจฉริยะของเธอ จึงเป็นการบรรยายจากผู้เขียนฝ่ายเดียว หลวงปู่ท่านมิได้เล่ารายละเอียดเหล่านั้น ผู้เขียนเพียงแต่ช่วยวาดภาพให้ท่านผู้อ่านได้นึกถึงเรื่องและเข้าใจตามไปด้วยเท่านั้น ว่าเป็นการยากลำบากและต้องการพลังใจอันเด็ดเดี่ยวเพียงใด ที่หลวงปู่ท่านจะสามารถตัดกระแสความผูกพันจากรอยอดีต โดยเฉพาะผู้ที่เป็นคู่บารมีมาสำหรับการปรารถนาพุทธภูมิ

    “รอยอดีต” ของท่านเป็นกุลสตรีที่ได้รับการศึกษามาอย่างดี จบการศึกษาชั้นมัธยมบริบูรณ์จากโรงเรียนสตรีที่มีชื่อทางภาษาต่างประเทศ นานๆ เมื่อกลับไปเยี่ยมบ้าน ก็กลับไปแบบหญิงสาวสมัยใหม่ รูปสวย นัยน์ตาโตงาม มีคนหลายคนที่เล่าว่า เวลาที่เห็นเธอกลับไปเยี่ยมบ้านนั้น เสมือนหนึ่งเห็นเทพธิดาล่องลอยอยู่ในฟ้า ขี่ม้าเก่ง แต่งตัวสวย แบบสาวชาวกรุงแท้ ผมสวย หน้าสวย

    ความจริงแล้ว เจ้าแม่นางกวยมารดาของท่านนั้น ก็เป็นผู้ที่มีชื่ออยู่มากในเรื่องแต่งตัวงาม ผมของท่านจะจับหย่ง ใช้ขี้ผึ้งจับจอนให้งดงาม เป็นที่เลื่องลือกันทั้งหมู่บ้าน และมีชาวบ้าน มีเพื่อนบ้านใกล้เคียง ผู้ที่เป็นหญิงสาวมักจะมาขอเรียนการทำผมที่ทำไมจึงจะสวยได้อย่างเจ้าแม่นางกวย กลายเป็นที่พูดกันว่า ท่านเป็นประหนึ่งผู้ทำผมให้กับหญิงสาวทั้งหมู่บ้าน แต่นั้นก็เป็นแบบผมในสมัยของท่าน

    กุลสตรีท่านนี้ เป็นแบบสาวสมัยใหม่ ผมงามแบบผมท่าน ขี่ม้าเก่ง และไม่ได้แต่งตัวแบบหญิงสาวชนบท สวมกางเกงขี่ม้าใส่รองเท้าท็อปบู๊ต ต่อมาภายหลัง หลังจากที่ต้องจากกันแล้ว เมื่อเธอกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพมหานคร เธอก็ได้มามีชื่อเสียงอย่างมาก และเป็นที่รู้จักกันดีสำหรับผู้ที่รักหนังสือทั้งหลาย เข้าใจว่า ผู้ที่มีอายุประมาณ ๕๐ ปีขึ้นไปนั้นจะต้องเคยได้ยินชื่อของเธอมามาก

    หลวงปู่จึงเล่าภายหลังว่า ท่านรู้สึกเหมือนกับว่า หัวอกแทบจะระเบิด อกกลัดเป็นหนอง แต่ใจหนึ่งก็คิดมุ่งมั่นว่า จะต้องบำเพ็ญเพศพรหมจรรย์ต่อไป

    ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เข้าใจในความรู้สึกของหลวงปู่ผู้เป็นศิษย์ใหม่ได้ดี ท่านจึงจัดการพาตัวหลวงปู่รีบจากหล่มสักมาโดยเร็วที่สุดหลวงปู่กล่าวว่า ไม่ใช่เป็น การพาตัว มาอย่างธรรมดา แต่เป็น การควบคุมนักโทษ ผู้นี้ให้หนีออกมาจากมารที่รบกวนหัวใจแต่โดยเร็ว
     

แชร์หน้านี้

Loading...