ประโยชน์การใช้น้ำกระสายยารักษาโรคแบบแผนไทย

ในห้อง 'จิตวิทยา & สุขภาพ' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 11 พฤศจิกายน 2007.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,172
    ตำรับยาไทยต่างๆ ที่เราใช้รักษาโรคนั้น โดยส่วนมากนิยมทำเป็นยาผงหรือยาลูกกลอน ส่วนในปัจจุบันก็พัฒนามาเป็นยาเม็ดแคปซูลเพื่อใช้รับประทานได้ง่ายขึ้น

    <DD>การใช้ยาไทยแต่เดิมจะมีการระบุวิธีใช้ควบคู่กับน้ำกระสายยา ยาบางตำรับเมื่อเข้าน้ำกระสายยารับประทานจะเกิดประสิทธิภาพในการรักษาโรคแตกต่างกัน และถือได้ว่าน้ำกระสายยาคือพาหะที่นำยาไปรักษาโรคและอาการนั้นโดยตรง กระสายยามีทั้งแบบแข็งคือ แป้งและน้ำตาลทราย แต่โดยส่วนมากมักเป็นของเหลวจึงเรียกว่าน้ำกระสายยา ได้จากการเตรียมแบบต้ม แช่ บีบ ฝน คั้น ละลาย เพื่อประโยชน์คือ
    <DD>1.เพื่อช่วยเตรียมยาให้เป็นรูปแบบยาที่ต้องการ โดยเฉพาะยาลูกกลอนและยาแท่ง น้ำกระสายยาที่จะใช้กันมากคือ น้ำผึ้ง เพราะรสชาติ กลิ่น และสรรพคุณดีกว่าตัวอื่นๆ
    <DD>2.เพื่อช่วยละลายยาเตรียมบางรูปแบบ เช่น ยาผง ยาเม็ดขนาดใหญ่ ยาแท่ง เพื่อช่วยให้กลืนได้สะดวก โดยมักใช้น้ำฝน น้ำสะอาด น้ำสุก หรือน้ำร้อน
    <DD>3.เพื่อช่วยให้ยานั้นแสดงฤทธิ์หรือออกฤทธิ์ได้เร็วและดีขึ้น ทั้งยังช่วยแก้ไข้ ป้องกันไข้ ป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการใช้ยาได้ นอกจากนี้ยังเสริมฤทธิ์กับตัวยาหลัก เช่น น้ำเปลือกแค น้ำเปลือกลูกทับทิม มีฤทธิ์ฝาดสมาน ใช้เป็นน้ำกระสายสำหรับยาธาตุบรรจบ ช่วยเสริมสรรพคุณรักษาอาการท้องเสีย
    <DD>4.เพื่อช่วยละลายตัวยาสำคัญ เช่น
    <DD>4.1 น้ำกระสายยาที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น น้ำส้มสายชู น้ำมะนาว น้ำมะงั่ว น้ำส้มซ่า เหมาะสำหรับสมุนไพรที่มีสารสำคัญที่ละลายได้ในกรด หรือมีอัลคาลอยด์ที่ทำปฏิกิริยากับกรดในน้ำกระสายยาได้เป็นเกลือ
    <DD>4.2 น้ำกระสายยาที่มีฤทธิ์เป็นกลาง เช่น น้ำดอกไม้ ช่วยในการละลายของสารที่เป็นขั้วสูง เช่น แทนนิน สารพวกฟีนอลิก (phenolic compounds) หรือกลัยโคไซด์
    <DD>4.3 น้ำกระสายยาที่มีฤทธิ์เป็นด่าง เช่น น้ำปูนใส หรือแคลเซียมไฮดรอกไซด์ (calcium hydroxide, Ca(OH)2)
    <DD>เหมาะสำหรับช่วยละลายสารที่มีคุณสมบัติเป็นด่าง เช่น คูมาริน (coumarin) หรือใช้ละลายสารที่เป็นกรด เช่น แทนนิน (tannin) หรือกรดแทนนิก (tannic acid) ซึ่งเป็นสารที่มีรสฝาดในสมุนไพรหลายชนิด โดยนำตัวยาสมุนไพรที่มีรสฝาดมาฝนกับน้ำปูนใสแทนที่จะใช้น้ำเป็นกระสายยา แทนนินจะทำปฏิกิริยากับแคลเซียมไฮดรอกไซด์ ได้เป็นเกลือแคลเซียมแทนเนต (calcium tannate) ลดความฝาด ทำให้สามารถรับประทานตัวยาสมุนไพรที่มีรสฝาดได้ง่ายขึ้น และเมื่อแคลเซียมแทนเนตสัมผัสกับกรดในกระเพาะอาหาร ก็จะทำปฏิกิริยาได้แทนนิน ซึ่งเป็นสารสำคัญที่มีฤทธิ์ในการรักษากลับมาใหม่
    <DD>การจะใช้น้ำกระสายยาต้องพิจารณาถึงสมุฏฐานของโรค โดยถือหลักตามรสยาทั้ง 9 เพื่อพิจารณาใช้น้ำกระสายยาให้ถูกต้อง เช่น โรคที่ต้องมีการสมานต้องใช้น้ำกระสายยาที่มีรสฝาด ถ้าโรคร้อนกระสับกระส่าย อ่อนเพลียไม่มีกำลัง ควรใช้น้ำกระสายยาที่มีรสเย็นและหอม เป็นต้น และจะต้องคำนึงถึงเวลาที่รับประทานยาด้วย คือ ตามตำรับแพทย์แผนไทย (โบราณ) จะมีเวลาการรับประทานยาเพื่อให้การรักษานั้นได้ผล ดังต่อไปนี้
    <DD>ยาม 1 เวลา 06.00-10.00 น. หรือ 18.00-22.00 น. โรคทางเสมหะ ต้องใช้น้ำกระสายยาที่มีรสเปรี้ยว เช่น น้ำมะนาว น้ำมะงั่ว น้ำส้มซ่า น้ำส้มสายชู
    <DD>ยาม 2 เวลา 10.00-14.00 น. หรือ 22.00-02.00 น. โรคดีและโลหิต ต้องใช้น้ำกระสายยาที่มีรสขม เย็น เช่น น้ำดอกไม้เทศ น้ำใบผักไห่
    <DD>ยาม 3 เวลา 14.00-18.00 น. หรือ 02.00-06.00 น. โรคทางลม ต้องใช้น้ำกระสายยาที่มีรสสุขุม เผ็ด ร้อน เช่น น้ำขิง น้ำมูตร โคดำ
    <DD>การเตรียมน้ำกระสายยา
    <DD>น้ำกระสายยาสำหรับยาไทยนั้นเตรียมได้จากเภสัชวัตถุต่างๆ ทั้งพืช สัตว์ และแร่ธาตุด้วยวิธีการต่างๆ กัน แต่ควรล้างให้สะอาดเสียก่อนเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอม วิธีเตรียมน้ำกระสายยาโดยทั่วไปทำโดย
    <DD>1.การต้มหรือแช่เภสัชวัตถุในน้ำหรือในเหล้า โดยต้มด้วยน้ำสะอาด อาจเตรียมจากสมุนไพรชนิดเดียว เช่น น้ำต้มรังนก น้ำต้มขิง หรืออาจเตรียมจากสมุนไพรหลายสิ่งต้มรวมกันในสัดส่วนต่างๆ
    <DD>2.การบีบหรือคั้นน้ำจากแหล่งกำเนิดที่มีน้ำสะสมอยู่มาก เช่น การบีบน้ำนมจากเต้านมสัตว์ต่างๆ เช่น น้ำนมคน น้ำนมโค น้ำนมแพะ หรือการบีบหรือคั้นน้ำจากส่วนของพืชหรือสัตว์ที่มีน้ำนั้นสะสมอยู่มาก เช่น น้ำมะนาว น้ำมะกรูด น้ำส้มซ่า น้ำมะงั่ว น้ำผึ้ง
    <DD>3.การฝนเภสัชวัตถุบางชนิดกับน้ำซาวข้าวหรือน้ำสะอาด โดยทั่วไปมักใช้กับเภสัชวัตถุที่แข็งมากๆ โดยเฉพาะกับส่วนของสัตววัตถุ เช่น น้ำที่ได้จากการฝนเขี้ยวงา หรือนอของสัตว์ต่างๆ เช่น นอแรด งาช้าง หรือน้ำฝนสมุนไพรในพิกัดยาบางจำพวก เช่น สัตตเขา (พวกเขาสัตว์ 7 อย่าง มีสรรพคุณถอนพิษ ดับพิษ) เนาวเขี้ยว (พวกเขี้ยวสัตว์ 9 อย่าง มีสรรพคุณแก้พิษร้อน ถอนพิษไข้ ดับพิษ) เครื่องยาพวกเขาและเขี้ยวสัตว์นั้นแข็งมาก เมื่อจะใช้ต้องเอามาฝนกับน้ำสุกหรือน้ำซาวข้าว แพทย์โบราณจะฝนเขาและเขี้ยวที่ระบุอยู่ในพิกัดยานั้นอย่างละเล็กละน้อยผสมรวมกัน แล้วจึงนำไปผสมกับตัวยาอื่น หรือน้ำไปใช้เป็นน้ำกระสายยา
    <DD>4.การละลายน้ำมันหอม (essential oil) หรือน้ำมันระเหยง่าย (volatile oil หรือ ethereal oil) ในน้ำสุกหรือน้ำร้อน โดยอาจใช้น้ำมันหอมหรือน้ำมันระเหยง่ายละลายในน้ำสุกหรือน้ำร้อนโดยตรง ด้วยการหยดลงไปแล้วเขย่าแรงๆ ให้เข้ากันจนน้ำมันหอมนั้นละลายอยู่ในน้ำจนอิ่มตัว เช่น น้ำมันดอกมะลิ น้ำมันดอกยี่สุ่น น้ำมันสะระแหน่ญี่ปุ่น น้ำมันโหระพา น้ำมันตะไคร้หอม น้ำมันแฝกหอม เป็นต้น หรืออาจได้จากการอบกลีบดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมในน้ำสุก เช่น น้ำดอกไม้ไทย อันได้แก่ ดอกมะลิ ดอกกระดังงา ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี ดอกลำดวน ดอกลำเจียก เป็นต้น
    <DD>5.การละลายเครื่องยาบางชนิดที่บดเป็นผงละเอียดแล้วในน้ำร้อนหรือน้ำสุก โดยทั่วไปมักใช้กับเครื่องยาที่ต้องการใช้ในปริมาณเพียงเล็กน้อย เครื่องยาที่เข้มข้นมาก หรือมีราคาแพงมาก เช่น หญ้าฝรั่น อำพันทอง การบูร พิมเสน ดีจระเข้ ดีหมี
    <DD>อาทิตย์หน้าเป็นความรู้เกี่ยวกับสรรพคุณของน้ำกระสายยาแต่ละตัวตามตำราโอสถพระนารายณ์.
    <DD>http://www.thaipost.net/index.asp?bk=tabloid&post_date=11/Nov/2550&news_id=150701&cat_id=220400
    </DD>
     

แชร์หน้านี้

Loading...