ปากช่องผวา 42 ม้าแข่งดับ ป่วย “กาฬโรค”

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ เตือนภัย, 28 มีนาคม 2020.

  1. โพธิสัตว์ เตือนภัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    1,565
    กระทู้เรื่องเด่น:
    441
    ค่าพลัง:
    +655


    ผวา “กาฬโรคม้า” ระบาดหนักใน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ช่วงเดือนเดียวคร่าชีวิตม้าแข่งล้มตายเป็นใบไม้ร่วงถึง 42 ตัว จาก 11 ฟาร์ม อธิบดีกรมปศุสัตว์ส่งชุดปฏิบัติการลงพื้นที่ ชี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นในไทยครั้งแรกยังไม่มีวัคซีนป้องกันรักษา มีแมลงเป็นพาหะนำเชื้อไวรัส ระบาดในสัตว์ไม่ติดสู่คน ยันไม่ใช่โรค “โควิด-19” สั่งตั้งด่านควบคุมโรคห้ามเคลื่อนย้ายม้าเข้าออกพื้นที่รัศมี 150 กม. วางมาตรการป้องกันโรค ติดตั้งมุ้งรอบคอกเลี้ยงม้าพร้อมทำความสะอาดฟาร์มทำลายเชื้อโรค คาดต้นตอของโรคเกิดจากพายุฤดูร้อนทำให้สัตว์ล้มตายจนมีเชื้อไวรัสระบาด


    โรคระบาด ในสัตว์คร่าชีวิตม้าแข่งล้มตายเกลื่อนถึง 42 ตัว เปิดเผยเมื่อวันที่ 27 มี.ค. นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากผู้เลี้ยงม้าใน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ว่ามีม้าแข่งที่เลี้ยงไว้ในฟาร์มต่างๆล้มตายจำนวนมาก ช่วงประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมามีม้าตายไปแล้วถึง 42 ตัว ได้ส่งชุดปฏิบัติการสอบสวนและควบคุมโรคลงพื้นที่ตรวจสอบโดยเร่งด่วนพร้อมสั่งการให้เฝ้าระวังโรคในม้าทั่วประเทศ หลังการลงพื้นที่สอบสวนโรคพบว่ามีม้าป่วยตาย 11 คอก ม้าที่ป่วยมีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ซึม ไม่กินอาหาร มีน้ำมูก น้ำตาไหล หายใจลำบากหอบถี่ มีจุดเลือดออกบริเวณเยื่อบุตา เหงือกซีดและเหลือง ร่างกาย อ่อนแรง หน้าบวม ตายเฉียบพลัน ได้เก็บตัวอย่างสัตว์ป่วยส่งตรวจวินิจฉัยโรคทางห้องปฏิบัติการ จากข้อมูลทางระบาดวิทยาอาการทางคลินิก และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ จากสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติพบว่าเป็นโรคกาฬโรคในม้า (African Horse Sickness) กรมปศุสัตว์จึงจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคในพื้นที่ จ.นครราชสีมา บันทึกสั่งกักสัตว์ป่วยทุกคอกพร้อมทั้งแยกม้าที่ป่วยจากม้าร่วมฝูง และสั่งตั้งด่านควบคุมการเคลื่อนย้าย โดยระงับการเคลื่อนย้ายม้าเข้าและออกพื้นที่เด็ดขาดในรัศมี 150 กม.


    “กาฬโรคในม้าเป็นโรคที่เกิดขึ้นในเมืองไทยครั้งแรกจึงยังไม่มีวัคซีนป้องกันรักษา เพราะเป็นเชื้อไวรัสที่ระบาดในสัตว์ เบื้องต้นสันนิษฐานการเกิดโรคนี้เมื่อไม่นานมีการเกิดพายุฤดูร้อนอาจทำให้สัตว์ที่มีเชื้อไวรัสตัวนี้ล้มตาย ทำให้แมลงพาหะกัดนำเชื้อโรคมากัดม้า ทำให้ม้าล้มตายกะทันหันจำนวน มาก แต่ยืนยันว่าไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน และไม่ใช่โรคติดเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด ส่วนการป้องกันโรค ได้แก่ ป้องกันแมลงพาหะดูดเลือดโดยติดตั้งมุ้ง และทำลายมูลม้า แหล่งเพาะพันธุ์แมลง กำจัดแมลงดูดเลือด ทำลายเชื้อโรคยานพาหนะที่เข้าออกฟาร์ม หลีกเลี่ยงการนำม้าไปอาบน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะหรือนำน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะมาเลี้ยงม้า ไม่นำม้าจากที่อื่นเข้ามาเลี้ยงใหม่ในฟาร์ม แยกคนเลี้ยงและอุปกรณ์ต่างๆ ระหว่างม้าป่วยและม้าร่วมฝูง และทำลายเชื้อโรค” นายสรวิศกล่าว


    อธิบดีกรมปศุสัตว์เผยด้วยว่า ได้ประสานไปยังสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย สมาคมขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาม้าแข่ง และเครือข่ายผู้เลี้ยงม้าทั่วประเทศ ช่วยประชาสัมพันธ์เตือนภัยการรับแจ้งโรค รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคในฟาร์ม เน้นย้ำให้เจ้าของหมั่นสังเกตอาการม้าที่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด หากพบม้าแสดงอาการผิดปกติให้รีบแจ้งสัตวแพทย์ที่ปรึกษาฟาร์ม และแจ้งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด หรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์โทร. 06-3225-6888 และแอป-พลิเคชัน DLD4.0 เพื่อดำเนินการตรวจสอบและควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน

    ที่หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ (ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จ.นครราชสีมา) ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัดถึงกรณีม้าแข่งในฟาร์มเลี้ยงล้มตายจำนวนมากในพื้นที่ อ.ปากช่อง ว่า ได้รับรายงานเรื่องม้าตายปริศนาจำนวนมากถึง 42 ตัวจาก 11 ฟาร์มในพื้นที่ อ.ปากช่อง ได้สั่งให้ปศุสัตว์จังหวัดลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาสาเหตุการตายของม้าเป็นจำนวนมาก เบื้องต้นคาดว่าติดเชื้อชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามคงต้องรอดูผลการตรวจพิสูจน์ความชัดเจนอีกครั้ง

    น.สพ.พศวีร์ สมใจ ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา เผยว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุ เบื้องต้นสันนิษฐานว่าป่วยเป็นโรคแอฟริกันฮอร์สซิกเนส (African Horse Sickness) เป็นโรคติดเชื้อร้ายแรงที่เกิดจากไวรัสม้าแอฟริกาที่จะมีผลต่อม้าและลาเท่านั้น มีแมลงเป็นพาหะนำเชื้อ และโรคนี้ ถือเป็นโรคใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ขณะนี้ ได้ส่งตัวอย่างม้าที่ตายไปตรวจพิสูจน์อย่างละเอียดที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ คาดว่าจะทราบผลในอีกประมาณ 1 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่มีแมลงจำพวกริ้นเป็นพาหะนำโรค ทำให้ม้าที่ป่วยจะมีลักษณะการตายโดยเฉียบพลันภายใน 2-3 ชม. เนื่องจากเชื้อโรคนี้จะเข้าไปทำลายระบบหายใจของม้า ซากม้าที่ตายได้ฝังกลบหมดทุกตัวแล้ว เพื่อไม่ให้แมลงที่เป็นพาหะนำโรคไปแพร่สู่ม้าตัวอื่นอีก ทั้งนี้ ได้ประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกรในพื้นที่ให้สร้างมุ้งล้อมรอบคอกสัตว์เพื่อป้องกันแล้ว

    ด้านนายสุรพันธ์ ศิลปสุวรรณ นอภ.ปากช่อง นายไพรัช ปากคีบทอง ปศุสัตว์อำเภอปากช่อง นำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจฟาร์มม้าแข่งไม่มีชื่อ ตรงข้ามวัดขนงพระใต้ หมู่ 2 ต.ขนงพระ มีพื้นที่กว่า 10 ไร่ เลี้ยงม้าไว้ 10 กว่าตัว ตายไป 3 ตัวเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้เก็บเลือดม้าที่ตายไปตรวจและพ่นยาฆ่าเชื้อในฟาร์มทุกฟาร์มที่มีม้าตาย


    นายสุรพันธ์กล่าวว่า ได้รับรายงานเมื่อวันที่ 26 มี.ค. ว่ามีม้าแข่งที่เลี้ยงในฟาร์มม้าเขต ต.ขนงพระ และพื้นที่โดยรอบ 11 ฟาร์ม มีม้าแข่งตายรวม 42 ตัว เริ่มตายตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. อาการเริ่มจากไม่กินหญ้า เซื่องซึม ตาบวม กรามบวม 2-3 วันก็ตาย ในพื้นที่ อ.ปากช่อง มีฟาร์มเลี้ยงม้าถึง 24 ฟาร์ม ได้แจ้งให้ ทำความสะอาดม้าและคอกม้าทั้งหมด ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์แจ้งว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ จะเกิดจากแมลงหรือ เชื้ออะไรคงต้องรอผลจากการนำเลือดไปตรวจ แต่ได้รับแจ้งจากคนเลี้ยงม้าคนหนึ่งว่า มีฟาร์มม้าในพื้นที่ นำม้าลายมาพักก่อนจะส่งไปต่างประเทศ ไม่รู้ว่ามีแมลงไปกัดม้าลายแล้วนำเชื้อโรคมาติดม้าหรือไม่ แต่เป็นเพียงการสันนิษฐานเท่านั้น ส่วนจะตายด้วยโรคอะไรกันแน่คงต้องรอผลตรวจเลือดที่แน่ชัด


    อ่านเพิ่มเติม…

    ขอบคุณที่มา
    https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/1806144
     

แชร์หน้านี้