ปาริชาติ ปลื้มจิตต์ตระกูล "๙ วัน" กับ...วิถีสามเณรีที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย titawan, 23 ธันวาคม 2010.

  1. titawan

    titawan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 มกราคม 2008
    โพสต์:
    2,290
    ค่าพลัง:
    +5,139
    คมชัดลึก : “๔๙ คน” เป็นจำนวนผู้เข้ารับการบรรพชาเป็นสามเณรีเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เป็นเวลา ๙ วัน ระหว่างวันที่ ๕-๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๓ ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม



    [​IMG]

    [​IMG]

    [​IMG]

    [​IMG]

    [​IMG]

    สามเณรีส่วนใหญ่ที่เข้า มาบวชจะมีฉายาขึ้นต้นว่า “ธัมม” แล้วตามด้วยชื่อของตัวเอง มีเปลี่ยนไปบ้างขึ้นอยู่กับหลักการของหลวงแม่ บางคนมีชื่อเดิมว่า สุนิสา เปลี่ยนเป็น “ธัมมสุนิสา” แปลว่า สุนิสาบุคคลผู้ใฝ่ในธรรม ซึ่งเธอบอกพอใจกับชื่อทางธรรมนี้ อีกคนได้รับฉายา “ธัมมิสรา” แปลว่า ธรรรมโดยอิสระ ชื่อเดิมคือ “กษิญาลักษณ์” ส่วนคนนี้ได้ฉายา “ธัมมนนท์” แปลว่า นางที่มีรูปงามด้วยธรรม ชื่อเดิม “นิตยา”
    น.ส.ปาริชาติ ปลื้มจิตต์ตระกูล อดีตผู้สื่อข่าวอาชญากรรมและหัวหน้าข่าว สวพ.๙๑ ที่เป็นหนึ่งในจำนวน ซึ่งมีฉายาว่า ธัมมมจิตตา แปลว่า ผู้มีจิตใฝ่ในธรรม กล่าวถึงประสบการณ์ที่ได้จากการบวชเป็นเวลา ๙ วันในครั้งนี้ว่า ตั้งแต่วันแรกที่ได้มีโอกาสครองจีวรและอยู่ในสมณเพศ การปฏิบัติตนก็ต้องแตกต่างไปจากชีวิตฆราวาส ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ในระหว่างที่บรรดาญาติธรรมซึ่งเข้ามาทำบุญถวายอาหารเช้าและเพลแก่บรรดา สามเณรี สายตาที่เฝ้ามองพร้อมกับการยกมือไหว้เราในฐานะนักบวชด้วยความศรัทธา เตือนสติให้พึงระลึกเสมอว่า เราต้องยิ่งอ่อนน้อม ต้องสำรวม และรู้คุณค่าสิ่งที่เขาทำต่อเรา อย่าถือดี อย่าอวดตน แม้เป็นพระก็ตาม
    กิจวัตรของทุกวัน ต้องสวดมนต์ทำวัตรเช้าและเย็น รวมถึงการนั่งสมาธิเป็นเวลาประจำภายในโบสถ์สอนให้เราเป็นคนมีระเบียบรักษา เวลา การเป็นพระบวชใหม่การท่องบทสวดแม้จะยาก เพราะเป็นภาษาบาลี บางคำไม่คุ้น ท่องนำไปก่อนเพื่อนบ้าง ไม่รู้จังหวะก็มี สวดทันบ้างไม่ทันบ้าง หลวงแม่ก็สอนให้สวดบางบทใหม่เพื่อให้เกิดความถูกต้องและพร้อมเพรียงกัน เป็นอีกเรื่องที่ต้องรู้สติและกำหนดจิตไม่ให้ฟุ้งเพื่อมีสมาธิ
    รวมถึงการตีระฆังแจ้งเวลาการทำวัตรด้วยตนเอง ได้มีโอกาสขออาสาจากหลวงพี่วรรณา จับไม้ครั้งแรกมือไม้สั่นพนมมืออธิษฐาน แต่ก็จำคำหลวงแม่ที่บอกว่า “เสียงระฆังบ่งบอกถึงสภาวะจิตใจผู้ตีได้เป็นอย่างดี จึงต้องทำจิตให้นิ่งมั่นคง” แต่ก็ผ่านไปได้ในเช้ามืดวันที่ฝนตกพรำๆ ด้วยกำลังใจจากเพื่อนสามเณรี ธัมมสุณิสา
    ในแต่ละวัน ชีวิตของสามเณรี ตื่นนอนตอนตีสี่ อาบน้ำ ไปทำวัตรเช้า หลังจากนั้นก็ไปช่วยกันทำงานภายในวัตร ตามแต่ละกลุ่มที่พระพี่เลี้ยงมอบหมายงานให้ ช่วยงานในครัวบ้าง กวาดลานโบสถ์ ทำสวน ดูแลสถานที่ต่างๆ ภายในวัด
    วันที่ควรค่าแห่งการจดจำ สำหรับการบวชในครั้งนี้อีกวัน คือ การได้ออกไปบิณฑบาตนอกวัตร โดยจะมีการออกไปทุกวันพระและวันอาทิตย์ บรรดาสามเณรีประมาณ ๒๕ รูป จะตั้งแถวยาว โดยมีพระพี่เลี้ยงนำ ช่างเป็นวันที่น่าตื่นเต้นเหลือเกิน เคยแต่เป็นผู้ใส่บาตรแด่พระสงฆ์ แต่วันนี้เปลี่ยนไป เรากำลังจะทำหน้าที่เพื่อรับการใส่บาตรจากญาติโยม ที่สำคัญเราเป็นนักบวชผู้หญิง
    "การอุ้มบาตรเดินแถวเรียงหนึ่ง มุ่งหน้าสู่ชุมชนรอบวัด ประชาชนที่ขับรถผ่านไปมาถ่ายรูปสามเณรีกันอย่างตื่นเต้น มีชาวบ้านหญิงสูงอายุ ประคองขันใส่ข้าวพร้อมกับข้าวรอตักบาตร โดยพยายามบรรจงตักข้าวเพื่อให้พอกับจำนวนสามเณรีทั้งหมด แววตาที่ปลาบปลื้มและศรัทธา ทำให้เราสำนึกในทันทีเลยว่า ขอบคุณนะคะคุณยาย คุณตา และชาวบ้านอีกหลายท่านทั้งหญิงและชาย รอบวัตรทรงธรรมกัลยาณี ที่มอบอาหารให้แก่พวกเรา พวกท่านเป็นอุบาสก อุบาสิกา ที่มีจิตกุศล เพื่อสืบทอดและบำรุงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ตลอดไปตราบนานเท่านาน" น.ส.ปราริชาติกล่าว
    วันสุดท้ายของการบวช หลวงแม่พร้อมคณะสามเณรีได้เดินทางไปที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อลงนามถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว ตามทางเดินมีประชาชนยกมือไหว้คณะสามเณรีด้วยความศรัทธา พวกเราก็อนุโมทนาบุญแก่ทุกท่าน รวมทั้งยังได้เดินทางไปวัดพระแก้ว เพื่อสวดมนต์และสักการะพระแก้วมรกต ต่อจากนั้นไปเยี่ยมชมวัดเทพธิดาราม ที่มีรูปปั้นภิกษุณีทำด้วยดีบุกอีกด้วย ตลอดการเดินทางทำให้รู้ว่า มีประชาชนที่เลื่อมใสในพระผู้หญิงเป็นจำนวนไม่น้อยเลย ที่เข้ามาไหว้ด้วยความศรัทธา
    ๙ วัน ๙ กิจกรรม
    ตลอดระยะเวลาการบวช ๙ วัน ภิกษุณีธัมมนันทา หรือ หลวงแม่ เจ้าอาวาสวัตรทรงธรรมกัลยาณี ได้จัดให้มีการเรียนวิธีการอ่านและเขียนบาลี สาแหรกพระพุทธเจ้า คำสอนหลักในพุทธศาสนา การเกิดขึ้นของคณะสงฆ์ การสืบสายภิกษุณีสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์ในศรีลังกา ไทย และต่างประเทศ พระพุทธศาสนากับปัญหาสังคมปัจจุบัน พุทธศาสนาเพื่อสังคม ฯลฯ วันที่ ๑๐-๑๒ เรียนการแพทย์ทางเลือกกับนายแพทย์มาจากสาธารณรัฐเช็ก วันที่ ๑๓ ไปถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ ๑๔ ลาสึก
    สามเณรีทุกคนได้เรียนรู้ในการมีจิตอาสา เสียสละ ช่วยกันทำงานอย่างมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน เสร็จช่วงนี้ก็ต้องไปฉันอาหารเช้า แล้วก็เตรียมตัวศึกษาเรื่องความเป็นมาของศาสนาพุทธ ซึ่งสามเณรีในรุ่นนี้ยังมีโอกาสได้เรียนรู้ เรื่องแพทย์ทางเลือก หรือเรียกว่า “โฮมิโฮพาธี” จากหมอชาวเช็กอีกด้วย
    หลังจากเรียนในช่วงเช้าแล้วก็มาฉันอาหารเพล และมาเรียนต่ออีกในภาคบ่าย พอช่วงเย็นก็ช่วยกันสละแรงเพื่อถวายงานให้เป็นประโยชน์แก่วัตรอีกครั้ง ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปทำภารกิจส่วนตัว เพื่อทำวัตรเย็นในเวลาทุ่มตรง
    ทั้งนี้ น.ส.ปราริชาติ พูดไว้อย่างน่าคิดว่า "สถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้ของสตรีอันทรงคุณค่าจริงๆ หลวงแม่ธัมมนันทาเป็นเบ้าหล่อหลอมให้ทุกคนที่ก้าวสู่การเป็นนักบวชได้รับไป ตามสติปัญญาของแต่ละคน จึงมิได้เป็นแค่สถานที่ให้สตรีเพศเข้ามาบวชห่มจีวรเพื่อเรียกตัวเองว่าเป็น พระ เท่านั้น แต่ยังคงเป็นที่สืบทอดพระพุทธศาสนา ให้ครบองค์พุทธบริษัทสี่ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา และสิ่งสำคัญยังเปรียบเสมือนองค์กรหนึ่งแห่งสังคมไทย ที่เพาะบ่ม กล่อมเกลา เพศหญิงด้วยธรรมที่จะติดผนึกอยู่ในใจ อันจะส่งผลให้ผู้หญิงที่ผ่านการบวช หรือเข้ามาศึกษาได้เดินต่อไปในโลกใบนี้ด้วยใจเป็นธรรม หากมองไปข้างหน้า แม้เมื่อเราสึกออกไปเป็นคนธรรมดา ประสบการณ์จากการบวชเป็นสามเณรี สามารถนำมาปรับใช้ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด การรู้สติย่อมทำให้เกิดปัญญาที่จะครองตน ครองคน และครองงานได้เป็นอย่างดี”
    “เมื่อเราสึกออกไปเป็นคนธรรมดา ประสบการณ์จากการบวชเป็นสามเณรี สามารถนำมาปรับใช้ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด การรู้สติย่อมทำให้เกิดปัญญาที่จะครองตน ครองคน และครองงานได้เป็นอย่างดี”
    0 เรื่อง / ภาพ ไตรเทพ ไกรงู 0


    http://www.komchadluek.net/detail/20101223/83678/ปาริชาติปลื้มจิตต์ตระกูล๙วันกับ...วิถีสามเณรีที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี.html
     
  2. สุทธิมา

    สุทธิมา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2010
    โพสต์:
    784
    ค่าพลัง:
    +2,118
    กราบอนุโมทนาสาธุ ด้วยค่ะ
    เมตตาธรรมค้ำจุนโลก
     

แชร์หน้านี้

Loading...