เรื่องเด่น ป.โท วิปัสสนา ดีกรีดับทุกข์อดีตปาร์ตี้เกิร์ล

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 24 สิงหาคม 2018.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    _103154048_4725a3bd-6e48-4b87-9539-89e1c680e196.jpg

    อุปกรณ์ของท่านไม่สามารถใช้งานเครื่องเล่นสื่อได้


    ป.โทวิปัสสนา ดีกรีดับทุกข์อดีตปาร์ตี้เกิร์ล

    เรื่องโดย นันท์ชนก วงษ์สมุทร์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย / วิดีโอโดย ภานุมาศ สงวนวงษ์

    ปริญญาโทสาขาวิปัสสนาภาวนา อาจจะฟังดูเป็นเรื่องที่คนทั่วไปอาจไม่เคยนึกถึง แต่สำหรับ “โชติรส จตุรสุววรณ” กราฟิกดีไซน์เนอร์สาววัย 27 ปี มันคือหนทางที่จะนำไปสู่การดับทุกข์

    เป็นเวลา 3 สัปดาห์แล้วที่นิสิตปริญญาโทสาขาวิปัสสนาภาวนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม เข้าเรียนเป็นเทอมแรก ในห้องเรียนมีพระภิกษุ 17 รูป และฆราวาสหญิงเพียง 2 คน หนึ่งในนั้นคือ “พันช์” นิสิตหญิงวัย 27 ปี ผมยาวดัดเป็นลอนสีน้ำตาลอ่อน พร้อมหมวกปานามาปีกกว้างสีแดงคู่ใจ จดบันทึกคำสอนของอาจารย์โดยใช้ปากกาดิจิตอลเขียนลงบนแท็ปเล็ตอย่างขะมักเขม้น

    Image copyright PANUMAS SANGUANWONG/BBC THAI

    แม้ว่าเธอจะมีท่าทีกระโดกกระเดกและขี้เล่น แต่รู้จักการปฏิบัติตัวเมื่ออยู่ในแวดวงของพระสงฆ์ เช่น ตักอาหารกลางวันทีหลังพระ และถวายอาหารให้ ทำให้การปรับตัวเข้ากับเพื่อนร่วมรุ่นเป็นไปได้โดยไม่ลำบาก และทุกคนแลกเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อสื่อสารกันผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์

    พันช์ ซึ่งจบการศึกษาด้านกราฟิกดีไซน์จากนิวซีแลนด์ บอกว่าพระภิกษุเหล่านี้เป็น “เพื่อนร่วมชั้นเรียน” ที่สามารถพูดคุยได้ปกติ แต่สำหรับพระภิกษุอีก 17 รูป นอกจากจะสร้างความแปลกใจให้แก่พวกท่าน เนื่องจากเธอเป็นนิสิตที่อายุน้อยที่สุดที่เข้าเรียนหลักสูตรนี้ตั้งแต่มีการก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2548 แต่ยังสร้างความอึดอัดใจ อันเกิดจากวินัยสงฆ์ และจารีตประเพณีไทย

    “ตอนแรกนี่ลำบากใจนะ…พอมีผู้หญิงเข้ามาปุ๊ปเราจะรู้สึกอึดอัด ไม่รู้จะวางตัวยังไง แล้วไม่รู้จะใช้คำพูดประเภทไหน คุยกับเขายังไง ยิ่งเป็นเด็กผู้หญิงแล้วยังเด็ก ๆ ด้วยมันยิ่งทำให้เราลำบากขึ้น เลยต้องคิดว่าการจะพูด ต้องระวังให้มากขึ้น และการที่จะเรียกเขา ‘โยม’ แต่ละครั้งเนี่ย มันลำบาก” พระสังคม นาสวน วัย 53 ปี กล่าว

    Image copyright PANUMAS SANGUANWONG/BBC THAI

    พระเทพสุวรรณเมธี ผู้อำนวยการหลักสูตรบัณฑิตศึกษา มจร. วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส กล่าวว่า ในแต่ละรุ่น นิสิตส่วนมากจะเป็นพระสงฆ์ที่บวชระดับ 20 พรรษาขึ้นไป และมีโอกาสจะก้าวขึ้นเป็นพระสังฆาธิการในอนาคต เช่น เป็นเจ้าอาวาส

    แต่ในอนาคต มีแนวโน้มว่าจะมีฆราวาสมาเรียนหลักสูตรนี้มากขึ้น เพื่อนำความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ในสังคมโลกที่มีพัฒนาการทางวัตถุอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดความเครียดทางจิตใจ

    บรรลุโสดาบัน คือความฝันอันสูงสุด

    _103154049_3733e03b-d613-4fdc-9db9-a320cbedf6f2.jpg
    Image copyright PANUMAS SANGUANWONG/BBC THAI
    คำบรรยายภาพ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ รองอธิการบดี มจร. วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส

    สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ รองอธิการบดี มจร. วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส ก่อตั้งหลักสูตรปริญญาโทวิปัสสนาภาวนา เมื่อปี 2548 เพื่อให้พระภิกษุได้หันมาสนใจเรื่องการปฏิบัติตามเป้าหมายเดิมของคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ การได้บรรลุมรรคผลนิพพาน และสร้างบุคลากรที่มีความรู้ด้านการปฏิบัติ เพื่อให้เป็นทายาทสืบสานพระพุทธศาสนา

    ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งหลักสูตร มีพระและฆราวาสสำเร็จการศึกษาแล้วกว่า 470 รูป/คน มีฆราวาสหญิงเรียนทั้งหมด 42 คน

    วิจักขณ์ พานิช นักวิชาการด้านศาสนา กล่าวว่า การที่ผู้หญิงมีส่วนร่วมกับการศึกษาของสงฆ์ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ และผู้ที่มาเข้าร่วมคอร์สปฏิบัติธรรมส่วนมากก็เป็นผู้หญิง แต่เนื่องจากไทยไม่อนุญาตให้มีการบวชภิกษุณี วิธีนี้อาจเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้หญิงไทยที่อาจจะไม่ได้มีโอกาสในการบวช


    _103154070_5c54e67f-4852-4041-bc2e-f37450d20906.jpg
    Image copyright PANUMAS SANGUANWONG/BBC THAI

    “และอาจจะเป็นลักษณะการศึกษาพุทธไทยที่ผู้หญิงบางกลุ่มรู้สึกว่าอยากจะประสบความสำเร็จให้ได้อย่างผู้ชาย” เขาให้เหตุผล

    สำหรับพันช์ แรงจูงใจของเธอเริ่มมาจากความทุกข์เรื่องเพื่อนและความรัก ที่เธอประสบเมื่อไปเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่ประเทศนิวซีแลนด์ การศึกษาธรรมะจากหนังสือและซีดีทำให้เธอมีความสนใจนำมาปรับใช้ และเริ่มเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมระยะสั้น เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง

    “ตอนที่เรียนเมืองนอก มาจากเราดื้อมาก เป็นคนปาร์ตี้ ทุก ๆ คนรู้จักเราว่าเป็น “ปาร์ตี้เกิร์ล” ใช้ชีวิตสนุกไปวัน ๆ” เธอกล่าว “[แต่ตอนนี้]เราใช้เหตุผลแก้ปัญหามากขึ้น ไม่เหวี่ยงใคร เรายังเป็นตัวเองอยู่นะ แต่เป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้น เลยเริ่มคิดว่า อันนี้ทางแล้วแหละ”


    _103154071_d9311694-b9f1-4c03-89cc-57c7546f5903.jpg
    Image copyright PANUMAS SANGUANWONG/BBC THAI
    คำบรรยายภาพ เพชรินทร์ พรนภดล (ซ้าย) และ พันช์ เป็นผู้หญิงสองคนที่เรียนปริญญาโทหลักสูตรวิปัสสนาภาวนา รุ่นที่ 14

    ที่สถานปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่ง เธอได้รู้จักกับ เพชรินทร์ พรนภดล ซึ่งชักชวนให้เข้าเรียน หลักสูตรวิปัสสนาภาวนา ขณะนี้ทั้ง 2 คน ร่วมเรียนรุ่นเดียวกัน ซึ่งพันช์ บอกว่าเป้าหมายของเธอคือเป็น “โสดาบัน”

    “การบรรลุธรรม มี 4 ขั้น ขั้นแรกเรียกว่าโสดาบัน แต่ละขั้นสำหรับเราคือการเก็บสติจนครบเลเวล (ระดับ) นั้น” พันช์กล่าว “โสดาบันมีความหมายว่าเป็นฆราวาสชั้นดี หมายความว่าเราจะใช้ชีวิตฆราวาสปกติ จะมีครอบครัว ลูก ทำงานอะไรได้ปกติ อย่างนางวิสาขามีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมืองและใช้ชีวิตอย่างเป็นความสุข พอเจออะไรที่มีความทุกข์ เราสามารถวางความทุกข์ได้”

    ตามรอยเจ้าชายสิทธัตถะ


    _103154072_9026870e-0203-4750-b649-05eda8c19647.jpg
    Image copyright PANUMAS SANGUANWONG/BBC THAI

    เพชรินทร์ เคยคิดภูมิใจที่เธอเป็นผู้หญิงไทยคนแรกที่เรียนจบปริญญาเอกสาขาไมโคร-นาโนเทคโนโลยี ซึ่งสอนให้ผลิตเซ็นเซอร์จิ๋วในตัวคนหรือในงานอากาศยาน

    แต่ในปี 2558 เมื่อเธอลาออกจากการเป็นผู้จัดการฝ่ายผลิตที่โรงงานอิเล็กทรอนิกส์สัญชาติเยอรมันที่เงินเดือนหลักแสน เพื่อมาปฏิบัติธรรม และต่อมาสมัครเรียนหลักสูตรวิปัสสนาภาวนาที่ มจร. คนรอบข้างเธอต่างมองว่าเป็นการตัดสินใจที่ประหลาด

    “เขามองว่าเราน่าจะเป็นประโยชน์ทางงานด้านวิศวะมากกว่า แต่เรามองไม่เห็นประโยชน์ของการที่จะพัฒนาวัตถุเทคโนโลยี ณ ตอนนี้สายตาคนอื่นเขามองเราด้วยความเสียดายว่า อุตส่าห์ไปเรียน อุตส่าห์ได้ทุน เป็นผู้หญิงคนเดียวที่ได้โอกาส” เธอกล่าวกับบีบีซีไทย

    หลังจากเรียนจบปริญญาโทคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพชรินทร์ได้ทุนรัฐบาลเยอรมันไปเรียนที่ Braunschweig University of Technology และได้ทำงานที่สถาบันฟิสิกส์แห่งชาติของเยอรมัน

    _103154073_81e2b653-6332-4f03-81ce-d367f6efc5a2.jpg
    Image copyright PANUMAS SANGUANWONG/BBC THAI
    คำบรรยายภาพ ผู้ปฏิบัติเดินจงกรมที่ธรรมโมลี

    การเดินทางเข้าสู่เส้นทางของการปฏิบัติธรรมเริ่มขึ้นเมื่อปี 2549 หลังจากที่เธอเรียนจบ และได้เข้าคอร์สปฏิบัติธรรมระยะสั้นจากการชักชวนของเพื่อน ซึ่งเธอก็ได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องประมาณ 2 ครั้งต่อปี จนกระทั่งเห็นถึงผลในการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานที่ทำให้เธอมีสมาธิมากขึ้น

    แต่ท่ามกลางความสำเร็จของเธอ ก็ยังมีความทุกข์แฝงอยู่

    “เราอยากมีชื่อเสียงมากขึ้นกว่าเดิม อยากสำเร็จมากขึ้นกว่าเดิม เราเป็นผู้จัดการโรงงานไม่พอ เราอยากที่จะเป็นซีอีโอ เรามีครอบครัวที่ดีแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกตื่นเต้นตื่นตาที่ได้พบเจอคนใหม่ ๆ …อยากมีอยากได้ อยากเป็นอย่างพวกไฮโซ อยากซื้อปอร์เช่ขับ” เธอกล่าว “แค่เราไปปฏิบัติธรรมปีละครั้งสองครั้ง เราจะได้แค่ความสุขใจธรรมดา ได้แค่ความสงบ แต่เราไม่ได้ปัญญา ไอ้ตัวปัญญานี่แหละที่สำคัญ ที่มันจะมาสอนให้เรารู้ว่าเราควรที่จะหยุดกับความอยากแล้วควรจะอยู่กับสิ่งที่เรามีอยู่ ก็เลยคิดว่า งั้นลาออกดีกว่า”


    _103154074_ce9e5c92-d86c-4d45-b076-fe2cb6d05744.jpg
    Image copyright PANUMAS SANGUANWONG/BBC THAI

    เพชรินทร์ใช้เวลาที่มีไปปฏิบัติธรรมระยะยาว หวังว่าจะเข้าใจตัวเอง และหลุดพ้นจากความทุกข์ เธอสมัครเข้าเรียนปริญญาโทหลักสูตรวิปัสสนาเพราะต้องการศึกษาเปรียบเทียบว่าวิธีการปฏิบัติที่ทำมาและผลการปฏิบัติมีความสอดคล้องกับคำสอนในพระไตรปิฏกหรือไม่

    บรรลุธรรมใน 7 เดือน

    เสียงระฆังดังก้องเป็นเวลาร่วมนาที ในเวลาตี 3:45 ของเดือน พ.ค. เป็นสัญญาณว่านิสิตจะต้องตื่นเพื่อเตรียมพร้อมปฏิบัติธรรม ที่กินเวลาจนถึง 3 ทุ่มของทุกวัน ในอิริยาบถนั่งและเดิน


    _103154075_4a6aa833-f121-4482-8ef2-59251d2c2d38.jpg
    Image copyright PANUMAS SANGUANWONG/BBC THAI

    ที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมธรรมโมลี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ทุกคนต้องปิดวาจา และห้ามสบตากัน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน นี่คือการทดสอบและเตรียมความพร้อมก่อนที่จะได้รับคัดเลือกเป็นนิสิตหลักสูตรวิปัสสนาภาวนา สำหรับพันช์ นั่นคือช่วงเวลาที่นานที่สุดที่เธอเคยปฏิบัติมา

    ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องศึกษาหน่วยกิตรายวิชา ก่อนจะเข้าปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาติดต่อกันนาน 7 เดือน จึงจะมีสิทธิ์เสนอสอบวิทยานิพนธ์ตามหลักสูตร ถือเป็น “คอร์ส” วิปัสสนาที่ค่อนข้างยาวนาน


    _103154076_2636a5db-a9a4-4620-873b-4bab6721ff13.jpg
    Image copyright PANUMAS SANGUANWONG/BBC THAI

    สมเด็จพระพุทธชินวงศ์อธิบายว่า การกำหนดหลักสูตรยึดตามแนว “สติปัฏฐาน 4” ซึ่งได้กล่าวถึงอานิสงส์ของผู้ปฏิบัติติดต่อกันตั้งแต่ 7 วันขึ้นไป ถึง 7 ปี

    “ถ้าปฏิบัติกันติดต่อกันไม่ขาดสาย ก็จะได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคล อย่างน้อยก็ขั้นพระโสดาบันขึ้นไป หรืออาจจะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ได้บรรลุนิพพานในชาตินี้เลย เพราะฉะนั้นเราก็คิดว่าถ้า 7 ปีก็คงจะนานไป ก็เอากลาง ๆ 7 เดือน” สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ กล่าว

    ผู้เรียนจะต้องปฏิบัติวิปัสสนาทั้งในไทยและเมียนมา โดยมีพระวิปัสสนาจารย์จากสำนักปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา มหาสีสาสนเยกต้า กรุงย่างกุ้ง ซึ่งเป็นต้นแบบของการภาวนาแบบ “พองหนอ-ยุบหนอ” เป็นหนึ่งผู้ฝึกสอน


    _103154091_d3975822-7ea2-4f4f-96ff-4bab48a2347a.jpg
    Image copyright PANUMAS SANGUANWONG/BBC THAI
    คำบรรยายภาพ ระหว่างที่นิสิตปฏิบัติธรรมเป็นเวลา 7 เดือน จะมีการ “สอบอารมณ์” นิสิตทุกสัปดาห์ โดยพระวิปัสสนาจารย์จากประเทศเมียนมา

    ส่งเสริมวิปัสสนาสู่สากล

    แม้ว่าจะเป็นหลักสูตรภาษาไทย แต่ก็มีนิสิตต่างประเทศที่เป็นพระและภิกษุณีที่สำเร็จการศึกษาถึง 9 รูป ซึ่งมาจากภูมิภาคเอเชียทั้งหมด โดยนิสิตรุ่น 13 จากประเทศลาวและเวียดนามบอกกับบีบีซีไทยว่า ตั้งใจจะกลับไปเป็นวิปัสสนาจารย์ที่ประเทศของตัวเองหลังจากเรียนจบ

    ภิกษุณีมัชฌิมญาณี จากประเทศจีน ที่จบปริญญาตรีหลักสูตรนานาชาติสาขาพุทศาสตร์ จาก มจร. และใช้เวลาฝึกฝนภาษาไทยก่อนเข้าเรียนต่อหลักสูตรปริญญาโท หวังว่าจะนำความรู้ที่ได้ไปสอนวิปัสสนาภาวนาที่วัดในมณฑลหูหนาน ซึ่งนับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน


    _103154077_e2595248-322c-411a-96c2-de3a192fe60b.jpg
    Image copyright PANUMAS SANGUANWONG/BBC THAI
    คำบรรยายภาพ ภิกษุณีมัชฌิมญาณี จากประเทศจีน วางแผนว่าจะกลับไปสอนวิปัสสนาภาวนาที่วัดของเธอหลังจากเรียนจบ

    สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ยอมรับว่า การตั้งหลักสูตรให้เป็นปริญญานั้น เป็นการประยุกต์ให้เข้ากับการศึกษาสมัยใหม่ ถือเป็นแรงจูงใจและเป็นผลตอบแทนแก่ผู้มาศึกษาได้สำเร็จเป็นรูปธรรม และเรียกร้อง “ศรัทธา” ของผู้ศึกษาให้มาสนใจ

    “ถ้าไม่มีปริญญาเป็นเครื่องชักจูง ก็ไม่ค่อยสนใจกัน” กรรมการเถรสมาคม และประธานกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าว

    แต่ในขณะเดียวกัน การศึกษาส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการเรียนจากพระไตรปิฎก ทำให้นิสิตทุกคนต้องเรียนรู้ภาษาบาลี เนื่องจากเป็นภาษาที่พระพุทธเจ้าใช้สื่อสารแสดงธรรม ซึ่งสมเด็จพระพุทธชินวงศ์คาดหวังว่า นิสิตที่จบไปแล้วจะสามารถสอนได้โดยอ้างอิงจากพระไตรปิฎก ทำให้นักวิชาการด้านศาสนาบางคนวิจารณ์ถึงความไม่เป็นสากลของหลักสูตรดังกล่าว โดยวิจักขณ์มองว่า ไม่สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องการเรียนปริญญาแบบศาสตร์ตะวันตก ที่ต้องมี methodology (ระเบียบวิธี) ในการทำความเข้าใจ เช่น ศึกษาในแง่จิตวิทยา ปรัชญา หรือแม้กระทั่งประสาทวิทยาศาสตร์ ที่ชาติตะวันตกสนใจเรื่องการนั่งสมาธิในแง่ซึ่งช่วยเรื่องสุขภาพและสมอง


    _103154078_0e8268a2-56d2-4bc3-9d06-cd7945b6572e.jpg
    Image copyright PANUMAS SANGUANWONG/BBC THAI

    “ผมคิดว่าหลักสูตรนี้พยายามชูเรื่องการปฏิบัติว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เป็นสิ่งที่ได้ผล และไม่ได้เป็นหลักสูตรเพื่อจะเรียนเรื่องทฤษฎีอะไรให้มันกว้างหรือมีแนวทาง หลักคิด ที่แหลมคมในเชิงสติปัญญา” เขากล่าว “ซึ่งมันก็เป็นไปได้ มันก็มีคนเรียนอย่างนี้จริง ๆ แล้วศาสนาอื่นที่เรียนแบบนี้ก็มีจริง ๆ…แต่ถ้ามีคนกลุ่มหนึ่งที่ตั้งคำถามกับพระไตรปิฏกปุ๊ป ก็จบเลย”

    สอดคล้องกับความคิดเห็นของ จอร์เจส ดรายฟัส อาจารย์ประจำสาขาวิชาศาสนาที่ Williams College ที่สหรัฐอเมริกาฯ ซึ่งกล่าวว่า ในแง่วิชาการ ควรจะมีเครื่องมืออย่างอื่นในการทำความเข้าใจกับวิปัสสนานอกจากการจำกัดอยู่ที่การตีความแบบนิกายเถรวาทที่อาจจะแคบเกินไป เนื่องจากไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงการภาวนารูปแบบอื่น ๆ ที่มีในประเทศไทยหรือต่างประเทศ เช่น วิปัสสนารูปแบบเซ็น ที่ปฏิบัติกันในธิเบต


    _103154079_2e887e81-e1c1-4548-b0cc-062e02740d00.jpg
    Image copyright PANUMAS SANGUANWONG/BBC THAI
    คำบรรยายภาพ การปฏิบัติที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมธรรมโมลี มีทั้งอิริยาบถนั่งและเดิน

    “สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกรำคาญใจมาก คือ คนไทยที่สนใจด้านพุทธศาสนาและพระไทยไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับพุทธแบบอื่นนอกจากพุทธแบบเถรวาท” เขากล่าว “การเรียนพระไตรปิฏกเป็นสิ่งที่ดี แต่มันมีอะไรที่ศึกษาได้อีกเยอะในเชิงวิชาการสำหรับปริญญาโทสาขาวิปัสสนาภาวนา เช่น การศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องสติในฝั่งประเทศตะวันตก”

    แต่สำหรับเพชรินทร์ ผู้ที่อยู่กับการศึกษาสายวิทยาศาสตร์มาเป็นเวลาร่วม 10 ปี เธอมองว่าพื้นฐานวิทยาศาสตร์ที่เรียนมาทำให้เธอเข้าใจพุทธศาสนาอย่างมาก

    “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เป็นตรรกะมาก ทุกคำสอนเราพิสูจน์ได้จริง ๆ เพราะพุทธไม่ใช่ศาสนาที่ใช้ความเชื่อนำ แต่เป็นศาสนาแห่งปัญญา” เธอกล่าว “ศรัทธาของคนพุทธทั่วไปที่ยังไม่ได้ปฏิบัติ เค้าจะเชื่อไปก่อน พอได้ปฏิบัติแล้ว ความงมงายจะคลายลง ปัญญาแท้จริงจะมาแทนที่ ถึงตอนนั้น เราจะรู้ด้วยตัวเองว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนคือความจริง”


    _103154090_916201e5-bd81-49f7-9e96-f55c170e564a.jpg
    Image copyright PANUMAS SANGUANWONG/BBC THAI

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.bbc.com/thai/thailand-45292992
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 25 สิงหาคม 2018
  2. ฑ

    เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2009
    โพสต์:
    119
    ค่าพลัง:
    +257
    สาธุ
     
  3. mrmos

    mrmos Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2016
    โพสต์:
    1,190
    ค่าพลัง:
    +1,095
    sa506.jpg
     

แชร์หน้านี้

Loading...