ความจริงที่น้อยคนจะรู้ ฝ่าเท้าของ “หลวงปู่มั่น” เป็นลายตาหมากรุก ยืนยันลักษณะแห่งมหาบุรุษ จากบันทึกลายมือ “หลวงปู่หล้า”
เปิดดูไฟล์ 4474130
เรื่องที่ลืมเขียนมานมนานคือ …
(ฝ่าเท้าหลวงปู่มั่นทั้งสองข้างเป็นตาหมากรุกหมดเต็มทั้งสองฝ่า) เวลาสรงน้ำ ท่านปรารภว่า (ฝ่าเท้าของเราไม่เหมือนหมู่เพียงเท่านี้) พูดค่อย ๆ แบบเย็น ๆ (ในยุคหนองผือ สี่ปีที่ข้าพเจ้าอยู่กับองค์ท่านนั้น) พระเณรผู้น้อยที่ถวายข้อวัตรสรงน้ำถวายองค์ท่านนั้น ผู้สงวนฟังจึงจะได้ยิน (เพราะองค์ท่านก็ปรารภค่อยแบบประหยัด ไม่แกมอวด)
ส่วนข้าพเจ้าไม่ได้ … อาจเอื้อมถูข้างบน (ระหว่างฝ่าเท้าเสมอ ๆ) จำพวกที่ถูหลัง ตัว แขน ขา ฝ่าเท้านั้น มักจะเป็นพระ ๔-๓-๒ พรรษาเท่านั้นได้ถู พระผู้ใหญ่เหนือ ๕-๖-๗-๘-๙ ไปแล้วไม่ค่อยจะได้ถูตัว แขน ขา เพราะองค์หลวงปู่เทศน์ว่า สรงน้ำนี้เว้นให้ผู้น้อย-
เขาสรงเสีย ถ้าพระผู้ใหญ่มาทำขวางผู้น้อย ผู้น้อยเขาละอายเก้อเขิน เพราะเขาไม่มีทางเอื้อมมือเข้า และเขาก็กระดากละอายดังนี้
ส่วนข้าพเจ้าพรรษาอ่อน แต่อายุสามสิบกว่าในสมัยนั้น และการที่องค์ท่านปรารภว่า ฝ่าเท้าของเราไม่เหมือนหมู่นั้น องค์ท่าน (ปรากฏว่า ปรารภครั้งเดียวเบา ๆ เท่านั้น ไม่ได้ซ้ำ ๆ ซาก ๆ อีก) ส่วนข้าพเจ้าผู้สงวนถูฝ่าเท้าก็เห็นเป็นตาหมากรุกเต็มฝ่าเท้าทั้งสองทางจริง ข้อนี้ในชีวประวัติขององค์ท่านเล่มใด ๆ ก็ไม่ปรากฏเห็น และยุคที่องค์ท่านทรงพระชีวาอยู่ก็บันดาลดลใจ ไม่มีใครสนใจปรารภ (น่าแปลกมาก) ข้าพเจ้าก็บันดาลลืมอีกด้วย เรียกได้ว่า ข้าพเจ้าไม่มีพยานก็ว่าได้ (แต่เอาตาหูตนเองเป็นพยาน)
ยุคก่อน ๆ ก็ไม่มีท่านผู้ใดเล่าให้ฟัง (ชะรอยจะว่าดีชั่วไม่อยู่กับฝ่าเท้า อยู่กับใจกับธรรม)
เรื่องฝ่าเท้าขององค์หลวงปู่มั่นเป็นตาหมากรุกนี้เป็นของทรงพระลักษณะสำคัญมาก แต่ก็น่าสนใจมากว่า ไฉนจึงบันดาลไม่ให้พระจำพวกผู้ใหญ่สนใจเอาลงในชีวประวัติ (กลายเป็นของไม่สำคัญไป) ชะรอยพระผู้น้อยที่เห็นในเวลาสรงน้ำถวายแล้วไม่เล่าถวายให้พระผู้ใหญ่ฟัง แต่ข้าพเจ้าเองก็บันดาลลืม ไม่ค่อยสนใจเล่าเลย แต่พอมาถึงยุคภูจ้อก้อตอนแก่กว่าเจ็ดสิบปีกว่า ๆ แล้ว จึงระลึกเห็น เป็นของน่าแปลกมากแท้ ๆ ที่ลืม พากันลืมเขียนลง แต่คราวองค์ท่านทรงพระชีวาอยู่ก็ดี หรือ
ทรงพระมรณกาเลก็ดี ไม่มีท่านผู้ใดสงวนปรารภ ก็เป็นของคล้ายกับว่าอุตริขึ้นมาภายหลัง แต่ก็ต้องอาศัยหลักของความจริง ไม่หนีจากความจริงเฉพาะตอนนี้เป็นพยาน จริงก็ต้องเอาจริงเป็นพยาน เท็จก็ตรงกันข้าม
ชีวประวัติยุคภูจ้อก้อเป็นยุคสุดท้ายภายแก่ชราพาธ ถ้าไม่มรณกาเลไปเสียแล้ว ชีวประวัติก็จะไม่จบได้ แต่จะอย่างไรก็ตามทีเถิด ต่างจะได้พิจารณาว่า เจตนาปฏิบัติพระพุทธศาสนาเพื่อประสงค์อะไรบ้าง และจิตใจจะอยู่ระดับใดบ้าง เหล่านี้เป็นต้น แต่บรรยายพอสังเขปก็เอาละ จะบรรยายไปมากก็จะเป็นหลายวรรคหลายตอน และก็ความพอดีพองามในโลกนี้ไม่รู้ว่าจะอยู่ระดับใดแน่ ถ้ามากเกินไป เล่มก็ใหญ่ ลงทุนก็มาก ท่านผู้อ่านก็จะระอาอีก น่าพิจารณา และก็คล้าย ๆ กับว่าตนเป็นผู้ประเสริฐเลิศล้ำ ระฆังไม่ดังก็ตีจนระฆังแตก แต่จะอย่างไรก็อาศัยเจตนาเป็นเกณฑ์ก็แล้วกันกระมัง
– หล้า –
ที่มา : หนังสือ “ชีวประวัติ พระหล้า เขมปตฺโต”
ขอบคุณที่มา
http://www.sabaiclub.com/?p=32596
ฝ่าเท้าของ “หลวงปู่มั่น” เป็นลายตาหมากรุก ลักษณะแห่งมหาบุรุษ จากบันทึกลายมือ “หลวงปู่หล้า”
ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย อกาลิโก!, 11 กุมภาพันธ์ 2018.