พระครูโสภณนาคกิจ อาจารย์เดช อายุวฑฺฒโก วัดช้าง นครนายก

ในห้อง 'ประสบการณ์ เรื่องเล่า' ตั้งกระทู้โดย ต้นบ้านนา, 2 พฤษภาคม 2013.

  1. ต้นบ้านนา

    ต้นบ้านนา Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 เมษายน 2013
    โพสต์:
    18
    ค่าพลัง:
    +29
    พระครูโสภณนาคกิจ อาจารย์เดช อายุวฑฺฒโก
    เจ้าคณะอำเภอบ้านนา เจ้าอาวาสวัดช้าง
    อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก
    นามเดิม ชื่อ เสนาะ นามสกุล หอมจันทร์
    สมณศักดิ์ พระครูโสภณนาคกิจ (อาจารย์เดช) เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๐ ฉายา อายุวฑฺฒโก อายุ ๔๓ พรรษา ๑๕
    ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รักษาการเจ้าคณะอำเภอบ้านนา เจ้าคณะตำบลพิกุลออก เจ้าอาวาสวัดช้าง
    ชาติภูมิ เกิดวันเสาร์ ที่ ๕ เดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๑๓ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีจอ
    บิดาชื่อ แสวง มารดาชื่อ สำเนียง นามสกุล หอมจันทร์
    บ้านเลขที่ ๓๗/๑ หมู่ที่ ๗ ตำบลบ้านนา อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก
    ท่านเกิดในตระกูล หอมจันทร์ มีพี่น้องร่วมบิดา มารดา ด้วยกัน 4 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 3
    1. นางรัชนีย์ หอมจันทร์
    2. นางสำเนา หอมจันทร์
    3. นายเสนาะ หอมจันทร์ ( พระครูโสภณนาคกิจ อาจารย์เดช เจ้าอาวาสวัดช้างรูปปัจจุบัน)
    4. นายมาโนช หอมจันทร์
    บรรพชา-อุปสมบท
    วันอังคารที่ ๒๔ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู วัดช้าง ตำบลพิกุลออก อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก
    พระอุปัชฌาย์ พระครูปลัดธงชัย อติภทฺโท อดีตเจ้าอาวาสวัดช้าง
    พระกรรมวาจาจารย์ พระทองล้วน เขมฺปาโล เจ้าอาวาสวัดดอนเปร็ง
    พระอนุสาวนาจารย์ พระนิยม วชิโร วัดช้าง

    วิทยฐานะ
    * พ.ศ. ๒๕๒๘ สำเร็จการศึกษาในระดับมัทยมศึกษาตอนต้น ชั้นปีที่ ๓ โรงเรียนบ้านนา “ นายกพิทยากร” อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก
    * พ.ศ. ๒๕๔๘ สอบได้ น.ธ.เอก วัดช้าง ตำบลพิกุลออก อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ภาค ๑๒
    * การศึกษาพิเศษ มีความชำนาญในด้าน อ่าน เขียน อักษรขอม ได้เป็นอย่างดี
    * ความชำนาญคือ นวกรรม พิธีพุทธาภิเษก เทวาภิเษก ศาสนะพิธีต่าง ๆ

    สมณศักดิ์ในทางพระพุทธศาสนา
    * พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้รับแต่งตั้งผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดช้าง ตำบลพิกุลออก อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก
    * พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดช้าง ตำบลพิกุลออก อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก
    * พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดช้าง ตำบลพิกุลออก อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก
    * พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ วัดช้าง ตำบลพิกุลออก อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก
    * พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสังฆรักษ์ ดำรงตำแหน่งฐานานุกรมใน พระราชวิจิตรปฏิภาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหารเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พระราชาคณะชั้นราช
    * พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูปลัด ดำรงตำแหน่งฐานานุกรมใน พระราชวิจิตรปฏิภาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหารเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พระราชาคณะชั้นราช
    * พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์แต่งตั้ง เป็น พระครูสัญญาบัตรพัดยศชั้นเอก ในราชทินนามที่ พระครูโสภณนาคกิจ (จร. ชอ.)
    * พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าคณะตำบล พิกุลออก อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก
    * พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าคณะอำเภอบ้านนา อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก

    การศึกษาพุทธาคม

    อาจารย์เดช วัดช้าง ผู้สืบทอดมนต์ตรา สายสำนักวัดช้าง เมื่อครั้งอดีตในยุคของ “ท่านพระครูธวัชภัทราภรณ์ หรือ อาจารย์ต๊ะ” อดีตเจ้าอาวาสวัดช้าง เจ้าอาวาสรูปที่ 9 พระหลานชายของท่านอาจารย์นิรันดร์ แดงวิจิตร (อ.หนู) อาจารย์ต๊ะ ท่านเป็นผู้สืบทอดตำนานการสร้าง “พระกริ่งใหญ่ วัดช้าง” อันลือลั่น เป็นที่รู้จักกันดีในวงการผู้ที่นิยมพระกริ่งในเมืองไทย ทั้งนี้พระกริ่งวัดช้างถือเป็นพระกริ่ง ที่มีความเป็นมาเกี่ยวพันกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช(แพ) วัดสุทัศน์เทพวราราม ภายหลังจากที่ท่านพระครูธวัชภัทราภรณ์ (อาจารย์ต๊ะ) มรณภาพลง

    ในยุคปัจจุบันนี้ ท่านพระครูโสภณนาคกิจ อาจารย์เดช วัดช้าง รูปปัจจุบัน อาจารย์เดช ท่านเป็นศิษย์เอกสายตรงก้นกุฏิ “พระครูธวัชภัทราภรณ์ หรือ พระอาจารย์ต๊ะ” อดีตเจ้าอาวาสวัดช้าง ผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาการสร้างพระกริ่งดังของวัดช้าง สายตรงเพียงรูปเดียว ในจังหวัดนครนายก ที่สัมผัสและเรียนรู้จากท่านอาจารย์ต๊ะ อีกทั้งยังได้มีโอกาสเรียนรู้ขอคำชี้แนะ ขอคำปรึกษา และศึกษาจากท่านอาจารย์ นิรันดร์ แดงวิจิตร เพิ่มเติมอีกด้วย อาจารย์เดช ท่าน ศึกษาวิชาในสายสำนักวัดช้างแห่งนี้ ท่านสั่งสมประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ ในการจัดสร้างพระกริ่งวัดช้าง เททองหล่อดินไทยโบราณ หรือที่บางท่านเข้าใจว่าพระกริ่งหล่อดินไทยโบราณ อุดกริ่งในตัว ตลอดจนท่านมีความชำนาญพิธีกรรมในเรื่องของการจัดพิธีพุทธาภิเษก (เจ้าพิธี) วัดดัง ๆ อารามต่าง ๆ ทั้งในเขตพื้นที่ และปริมณฑล ตลอดจนต่างจังหวัด อื่น ๆ ใกล้เคียง ต่างให้การยอมรับและ ให้ท่านช่วยเป็นธุระจัดการให้อยู่อย่างต่อเนื่อง พิธีวางศิลาฤกษ์ ดูฤกษ์ ดูยามงานมงคลต่าง ๆ พิธีโยงสายสินจ์ตรีนิสิงเหภายในพระอุโบสถ

    วิชาเด่นของท่านในสายวัดช้างแห่งนี้ มีอยู่มากมายศึกษาไม่มีวันหมดสิ้น ส่วนวิชาเด่นที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้น คือวิชาดูบาตรของหาย (ท่านไม่ได้ดูให้ทั่วไปนะครับจะดูให้ก็เฉพาะเมื่อครั้งที่จำเป็นเท่านั้น) อีกมากมายต่อเนื่องอยู่เป็นประจำไม่ขาดสาย

    ท่านให้ความสนใจหมั่นฝึกฝน ศึกษาวิชาตำราหลักต่าง ๆ ของวัดช้าง ที่สืบทอดมาจากอดีตเจ้าอาวาส พระครูภัทรกิจโกศล (หลวงปู่ภู) ภทฺทญาโน ศิษย์เอกก้นกุฏิหลวงพ่อเกิด วัดสะพาน ( เจ้าอาวาสรูปที่ 8 อดีตเจ้าอาวาสวัดช้าง พระอุปัชฌาย์ ของท่านอาจารย์ต๊ะ )
    อาจารย์เดชท่านให้ความสนใจเป็นพิเศษโดยเฉพาะตำราการจัดสร้างพระกริ่งวัดช้าง นับได้ว่าในยุคปัจจุบันนี้ สายสืบทอดวิชาการจัดสร้างพระกริ่งแห่งเมืองไทย วัดสุทัศน์เทพวราราม และ วัดช้าง ยังมิสูญหายไปจากตำนานอย่างแน่นอนครับ

    ทุก ๆ วันเพ็ญเดือน 12 วันลอยกระทงของทุกปี ท่านจะดำเนินการจัดสร้างพระกริ่งของท่านทุกครั้งตามประเพณีโบราณ หากเพียงแต่ว่า การจัดสร้างในแต่ละรุ่นของท่านในปัจจุบันหรืออนาคต ในวาระและพิธีอันสำคัญใด ๆ ก็ตาม ท่านจะจัดสร้างไว้มากน้อยหรือไม่ เพราะในยุคปัจจุบันของท่านนี้ ต้องบอกไว้ที่นี้เลยครับว่า วัตถุมงคลของท่านที่จัดสร้างขึ้นมา เจตนาและวัตถุประสงค์ของท่านมีอยู่อย่างชัดเจน ไม่มีสื่อโฆษณา ไม่มีข่าวประชาสัมพันธ์มากมายนัก หากมีโครงการสร้างหรือบูรณะ ก็จะมีการประชาสัมพันธ์กันอย่างเรียบง่าย แต่วัตถุมงคลของท่านก็ได้รับความนิยมจากศิษย์สายตรงเป็นอย่างยิ่ง เพราะโดยส่วนใหญ่วัตถุมงคลของท่าน สร้างขึ้นมาเพื่อแจกฟรี มอบเป็นที่ระลึกสมนาคุณแก่ผู้ที่มาร่วมสมทบทุนสร้างในโครงการก่อสร้างเสนาสนะหรือถาวรวัตถุ นั้น ๆ แทบทั้งสิ้น

    ส่วนตำราการจัดสร้างพระกริ่ง หรือที่เราเคยได้ยินมาบ้างว่า (ตำราเล่มดำ) ตำราเล่มนั้นแต่เดิม อาจารย์นิรันดร์ แดงวิจิตร ขอออกนอกเรื่องนิดครับมาถึงตรงนี้ บางท่านอาจสงสัยว่า อาจารย์นิรันดร์ แดงวิจิตร เป็นใครนั้น อาจารย์นิรันดร์ แดงวิจิตร (พระครูหนู) ท่านเป็นศิษย์ฆารวาสผู้ใกล้ชิดกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช(แพ) วัดสุทัศน์เทพวราราม
    มีบันทึกที่สำคัญของท่านอาจารย์นิรัดร์ เขียนไว้ให้ได้ศึกษาโดยหนังสือพระกริ่ง ๕ วาระ ในสมัยเจ้าประคุณพระอริยวงคตญาณ [แพ ติสสเทวมหาเถร] โดย นิรันดร์ แดงวิจิตร และหนังที่ระลึกในงานฉลองพระตำหนัก คณะ ๖ วัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพมหานคร ความว่า
    ** เขียนจากบันทึกความทรงจำในอดีต ในฐานะที่เป็นศิษย์อยู่ในวัดสุทัศน์มาตั้งแต่เด็ก
    ** อุปสมบทจนเป็นพิธีกรรม
    ** รับใช้ใกล้ชิดในเจ้าประคุณสมเด็จพระองค์นั้น
    ** เป็นพระครูฐานานุกรมในเจ้าประคุณสมเด็จที่ พระครูพิศาลสรคุณ , พระครูญาณวิสุทธิ , พระครูวินัยกรโสภณ
    ** เคยร่วมจัดพิธีการต่าง ๆ โดยใกล้ชิด
    ** สนใจและศึกษาในเรื่องพิธีการตลอดจนการช่าง
    ** มีฝีมือในการตกแต่งพระกริ่งสำนักวัดสุทัศน์โดยเฉพาะ
    ** นักนิยมพระกริ่งพากันเรียกว่า "พระครูหนู"

    ตำรานั้นอาจารย์นิรันดร์ แดงวิจิตร มอบให้พระครูธวัชภัทราภรณ์ (อาจารย์ต๊ะ ) ได้ศึกษาและจัดสร้างพระกริ่งวัดช้าง และเมื่อ อาจารย์ต๊ะท่านมรณภาพแล้ว อาจารย์นิรันดร์ แดงวิจิตร ก็ได้มอบหนังสือตำราเล่มนั้นให้กับ พระครูโสภณนาคกิจ (อาจารย์เดช เจ้าอาวาสวัดช้าง องค์ปัจจุบัน) ได้สืบทอดเจตนารมณ์ในการจัดสร้างพระกริ่งต่อไป

    อาจารย์นิรันดร์ แดงวิจิตร เมื่อสมัยที่ท่านยังแข็งแรงดี ท่านเมตตามอบชนวนมวรสาร ก้านช่อพระกริ่ง ชนวนพระกริ่งเก่าแก่ ตั้งแต่ในสมัยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช แพ ทั้งหมด จำนวนมาก ทั้งชนวนที่หล่อหลอมเป็นแท่ง เป็นก้อน เงินพดด้วงสมัยเก่า อื่น ๆ อีกมากมาย ที่จะสามารถนำมาจัดสร้างเป็นพระกริ่งของวัดช้างรุ่น ต่อ ๆ ไป ตลอดจนเบ้าหลอมเททองหล่อพระกริ่ง แม่พิมพ์หรือต้นพิมพ์พระกริ่ง ท่านก็มอบให้กับอาจารย์เดช เพื่อให้ท่านได้เก็บรักษาไว้และจะได้นำมาเป็นส่วนผสมในการจัดสร้างพระกริ่งของวัดช้างในครั้งต่อ ๆ ไปในอนาคต
    นอกเหนือจากนั้นแล้วอาจารย์เดชท่านยังได้มีโอกาสสืบเสาะแสวงหาวิชาความรู้เพิ่มเติม เมื่อครั้งที่ท่านอุปสมบทใหม่ ๆ ท่านได้ศึกษาเรียนรู้อักขระเลขยันต์จากหลวงพ่อเหลือ วัดช้าง (ศิษย์หลวงพ่อเกิด วัดสะพานอีกรูปที่ยังอยู่ในยุคนั้น อีกทั้งหลวงพ่อเหลือท่านยังเป็นสหมิกธรรมกับหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ไปมาหาสู่กันอยู่เป็นประจำ) และฝากตัวเป็นศิษย์ ได้ศึกษาวิชาลงตะกรุดจาก พระครูอนุรักษ์วรคุณ หลวงพ่อสง่า อนุปุพโพ วัดบ้านหม้อ พระเกจิอาจารย์เรืองวิทยาคมชื่อดังแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง จังหวัดราชบุรี
    เรียนวิชาเป่ากระหม่อมจากหลวงพ่อฟ้าลิขิต วัดโสภณวนาราม จังหวัดลพบุรี เรียนนะเมตตาจากหลวงพ่อรวย วัดตะโก จังหวัด พระนครศรีอยุธยา และท่านยังเป็นศิษย์ของพระอาจารย์สาท (อาจารย์โม่ง) ธรรมโชติ วัดขนอนเหนือ ศิษย์ผู้สืบทอดวิชาสักยันต์ พระนารายณ์ บุตร-ลบ หนุมานเบิกบาดาล ราชสีห์ อีกทั้งมีศักดิ์เป็นพระหลานชายแท้ ๆ ของหลวงพ่อพรหม วัดขนอนเหนืออยุธยา ตลอดจนได้ศึกษาวิชาจาก ปู่พาน ฆารวาสชื่อดังแห่งอำเภอบ้านนา ผู้สืบสานมนต์ตรา และเป็นศิษย์เอกก้นกุฏิ ของ หลวงพ่อเกิด วัดสะพานเพิ่มเติมอีกด้วย

    ปฏิปทาศีลวัตร

    พระอาจารย์เดช ท่านเป็นพระที่มีอัธยาศัยไมตรีเปี่ยมด้วยเมตตา ปฏิปทาศีลวัตรงดงามบริสุทธิ์ เรียบง่าย ท่านใฝ่ใจในเรื่องที่เป็นวัฏสงสาร การเกิดแก่เจ็บตาย บุญกรรมสิ่งลี้ลับ ธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่องเวทมนต์ถาถาอาคมอักขระเลขยันต์เป็นพิเศษ ซึ่งมีอุปนิสัยใจคอมาตั้งแต่วัยเด็ก จึงเป็นแรงจูงใจให้ใฝ่ศึกษาเล่าเรียนรู้แล้วปฏิบัติให้เข้าถึงรู้แจ้งเห็นจริง ศิษย์ผู้ใกล้ชิดของท่านพระอาจารย์เดช หรือแม้แต่บุคคลทั่วไปที่เคารพนับถือท่านต่างรู้กันเป็นอย่างดีว่า ท่านเป็นพระอริยะสงฆ์ผู้มากด้วยเมตตาเป็นอย่างยิ่ง

    ในปัจจุบันด้านวัตถุมงคลของท่านไม่ว่าจะเป็นรุ่นใด ลูกศิษย์ของท่านก็มักจะนิยมเก็บกันทั้งสิ้นเพราะเนื่องจาก ได้นำไปใช้กันแล้วยังมีประสบการณ์ให้กับลูกศิษย์ลูกหาของท่านมากมาย และเป็นที่ชื่นชอบของชาวกรุงเทพ ที่มากับทัวร์ท่องเที่ยว และ ขสมก ไหว้พระ 9 วัด ลูกศิษย์เขตประเวศ ถนนข้าวสาร ตรอกมะยม ชลบุรี-พัทยา อยุธยา ทหารราชวัลลภ (วังสุโขทัย) ฉะเชิงเทรา สระบุรี สมุทรปราการ รวมทั้งลูกศิษย์ชาวต่างชาติ ต่างให้ความเคารพนับถือท่านเป็นอย่างมาก และที่อื่นอีกมากมายทั่วทุกสารทิศ
    วัตถุมงคลของท่านมักจะถูกเก็บก่อนจากศิษย์สายตรงหรือคนใกล้ชิด ผู้ที่มีต่างก็หวงแหนกันมากไม่ปล่อยออกไปกันง่าย ๆ และปัจจุบันก็เริ่มที่จะหายากมากขึ้น พระอาจารย์เดชท่านใจดีและเมตตาสูง ไม่เลือกที่จะแบ่งชนชั้น ยากดีมีจนท่านต้อนรับทั้งสิ้น ชาวบ้านในแถบอำเภอบ้านนา หรือในจังหวัดใกล้เคียง ต่างรู้กันดีว่าท่านเมตตาเป็นอย่างมาก ท่านตั้งใจและมุ่งมั่นในการจัดสร้างเสนาสนะบูรณะซ่อมแซมทุกสิ่งทุกอย่างไป แม้แต่บางครั้งปัจจัยในการจัดสร้างไม่เพียงพอแต่ท่านก็ยังดำเนินการต่อไปเรื่อย ๆ จนสำเร็จไปได้ด้วยดีตลอดมา ปัจจุบันนี้ท่านก็ยังเป็นพระผู้มากด้วยเมตตาอยู่เสมอใครเดือดร้อน หรือเป็นทุกข์ประการใดเข้าไปหาไปกราบท่าน ท่านก็จะชี้แนะและช่วยเหลือ หรือแม้แต่วัดวาอารามต่าง ๆ ที่ขอความช่วยเหลือมาถ้าท่านช่วยได้ก็ช่วยเหลือกันไป ท่านมีแต่สงเคราะห์ช่วยเหลือแผ่เมตตาบารมี

    อาจารย์เดชท่านเป็นพระสุปฏิปันโน ผู้บริสุทธิ์ ด้วยไตรสิกขาเปี่ยมด้วยเมตตาบารมีธรรม ถือสัจจะเป็นที่ตั้ง อัธยาศัยไมตรียิ้มแย้มแจ่มใส ต้อนรับการปฏิสันถารญาติโยมด้วยความเป็นกันเอง นับตั้งแต่ พระครูโสภณนาคกิจ ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดช้าง ท่านได้ประพฤติปฏิบัติวางตนอยู่ในกรอบของพระธรรมวินัยปฏิบัติตามกฎมหาเถรสมาคม ระเบียบแบบแผนของทางราชการ ได้จัดทำผังวางแผนพัฒนาวัดในด้านต่างๆ ร่วมกับคณะกรรมการวัด ญาติโยมสาธุชนทำให้คณะสงฆ์ และญาติโยมผู้อุปการะวัดมีความสมัครสมานสามัคคี ร่วมแรง ร่วมใจ ให้ความอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา พระสงฆ์ – สามเณร และช่วยเหลือกิจศาสนามาด้วยดี จึงสามารถพัฒนาสิ่งปลูกสร้าง เสนาสนะภายในวัดหลายอย่าง จนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีตลอดมาจนปัจจุบัน

    ด้านวัตถุมงคลของท่าน

    วัตถุมงคลของท่านที่เด่นมากที่ทำให้ลูกศิษย์ลูกหาท่านรู้จักท่านมาก และชื่อเสียงขจรขจายไปไกลที่นอกเหนือจากพระกริ่งรุ่นแรก รุ่น ช้างสามเศียร ปี 2546 และพระกริ่งรุ่น 2 รุ่น ภัทรกิจโกศล (ภู) ปี 2547 และรุ่นอื่น ๆ ตามวาระที่ได้จัดสร้างขึ้นมาแล้ว เครื่องรางวัตถุมงคลที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของท่าน นั่นคือ ช้างมงคล รุ่นแรก – รุ่นปัจจุบัน ตะกรุดโทนรุ่นแรก ตะกรุดหนังเสือรุ่นแรก เป็นเครื่องรางที่มากด้วยประสบการณ์ ลูกศิษย์ท่านส่วนใหญ่นิยมช้างมงคล มาถึงวัดช้างครั้งใดลูกศิษย์ลูกหาของท่านก็มักจะมีคำถามว่า ช้างมงคลมีให้เช่าบูชาหรือไม่หมดหรือยัง เป็นที่ต้องการเป็นอย่างมาก และตะกรุดโทนของท่านเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากเช่นกัน เพราะมีน้อยมากที่ในแต่ละครั้งท่านจะสร้างตะกรุดขึ้นมาสักครั้งหนึ่ง ท่านมิได้สร้างออกมาบ่อยนัก และที่สำคัญสร้างค่อนข้างน้อย ในปัจจุบันนี้ถึงจะเป็นเครื่องรางที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ แต่ก็ได้รับความนิยมจากลูกศิษย์ท่านแทบทั้งสิ้น สร้างมาครั้งใดก็หมดจากวัดอย่างรวดเร็ว ถูกเก็บหมดจากศิษย์สายตรงไม่มีหลุดออกมาในสนามพระให้เห็น วัตถุมงคลของท่านส่วนใหญ่ท่านจะปลุกเสกเดี่ยวของท่านด้วยตัวเอง ภายในบนกุฏิของท่านเป็นประจำ ก่อนที่จะมอบให้ลูกศิษย์ได้ใช้และบูชาต่อไป

    เมื่อครั้งที่ท่านได้รับฎีกาอาราธนาไปนั่งปรกที่วัดสุทัศน์เทพวราราม ท่านได้นำช้างมงคลรุ่นแรกใส่ย่ามติดไปเสกด้วย ในวัน เสาร์ที่ 16 กรกฎาคม ปี 2548 ในพิธีพระพุทธชินราชหมื่นยันต์ ในวันนั้นมีพระเถระคณาจารย์มากมายจากทั่วทุกสารทิศ ทั่วประเทศ นั่งปรกเต็มทั้งภายในและภายนอกพระอุโบสถวัดสุทัศน์เทพวราราม หลังจากที่ท่านนั่งปรกมาเป็นเวลาไปหลายชั่วโมง ท่านเดินลงมาจากภายในพระอุโบสถเพียงเวลาชั่วครู่ก็มีประชาชนที่เข้าร่วมพิธีในพระอุโบสถในวันนั้นเป็นจำนวนมาก พอเห็นท่านเดินลงมาต่างวิ่งเข้ามาเพื่อขอวัตถุมงคลของท่าน ในวันนั้น ลูกศิษย์ลูกหาท่านเบียดเสียดกันเยอะมากต่างก็อยากได้มีไว้ครอบครองกันแทบทั้งสิ้น บางท่านอายุมากแล้วแต่ก็ยังฝืนเบียดเสียดแย่งเข้ามาเพื่อขอช้างมงคลรุ่นแรกนี้ให้ได้ ด้วยแรงศรัทธาของลูกศิษย์ท่านดีมากครับ และปัจจุบันนี้ช้างมงคลรุ่นแรก ก็ถูกแสวงหาเก็บเช่าบูชากันค่อนข้างมากจากในกรุงเทพและปริมณฑล หรือจังหวัดอื่น ๆ ใกล้เคียง ที่เคารพนับถือ ในเรื่องของเครื่องรางที่ท่านจัดสร้างขึ้นมา ส่วนใหญ่ท่านก็จะแจกอย่างเดียว แล้วแต่ญาติโยมที่จะร่วมทำบุญ ใครที่ผ่านมาแวะเข้ามากราบท่าน ไม่ว่ายากดีมีจน ท่านก็แจกให้หมดทุกคน เป็นว่าถ้ามาวัดช้างครั้งใดต้องได้รับช้างมงคลติดมือกลับกันไปแทบทั้งสิ้น และปัจจุบันนี้ ช้างมงคลของท่านถูกสร้างขึ้นมาหลายรุ่นแล้วเนื่องจากไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกศิษย์ท่าน ที่มาจากทั่วทุกสารทิศ อาจารย์ท่านเคยพูดไว้ว่า เขามาไกล เขาตั้งใจมาหาเรา เราควรให้เขากลับไปบ้าง ท่านใดผ่านมาก็ขอเชิญแวะมากราบท่านและอย่าลืมขอช้างมงคลท่านกันนะครับ......

    ปัจจุบันอาจารย์เดช วัดช้าง ท่านเป็นพระนักพัฒนารูปหนึ่งของอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ผลงานการสร้างเสนาสนะสงฆ์ตลอดทั้งถาวรวัตถุต่างๆ ปรากฏเป็นรูปธรรม พัฒนาบูรณะวัดให้เจริญรุ่งเรือง อย่างมากมาย เช่น ก่อสร้างวิหาร ( พระพุทธมหามุณีศรีวรเขตนายก สาธกสรรพมงคลมหาชนอภิปูชะนี หรือ ( หลวงพ่อดำ หน้าตักขนาดกว้าง 9 ศอก สูง 13 ศอก ) ได้รับความเมตตาจาก พระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระวิสุทธาธิบดี เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร ตั้งชื่อให้
    บูรณะพระอุโบสถ วิหารภัทรกิจโกศล ถนนคอนกรีตภายในหมู่บ้านหมู่ที่ 7 ศาลาธรรมสังเวช ลานจอดรถ ศาลาเอนกประสงค์ ห้องน้ำ กุฏิสงฆ์อาคารธวัชภัทราภรณ์ ศาลาชุนกีศิลาทอง กุฏิเจ้าอาวาส จัดเตรียมสถานที่สอบธรรมสนามหลวง ณ โรงเรียนอนุบาลบ้านนา (วัดช้าง) ถนนคอนกรีตเข้าออกหมู่บ้านช้าง ระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร

    สร้างหอพระไตรปิฏก ขนาด 3 ชั้น และดำเนินโครงการก่อสร้างศาลาประชารวมใจ (หอประชุมสงฆ์) เป็นศาลาเอนกประสงค์ชั้นเดียวขนาดกว้าง 18 เมตร ยาว 36 เมตร ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้

    นอกจากนั้นแล้วท่านยังได้บริจาคเงินเพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลบ้านนา บูรณะซ่อมแซมตึกสงฆ์อาพาธโรงพยาบาลนครนายก ได้ร่วมโครงการจัดตั้งศูนย์ ICT ให้กับโรงเรียนอนุบาลบ้านนา (วัดช้าง) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ส่งเสริมให้ภิกษุสามเณรทำความสะอาดภายในวัด ส่งเสริมประเพณีสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น เวียนเทียน ประเพณีลอยกระทง ประเพณีสงกรานต์ ส่งเสริมกิจกรรมนักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลป์ ให้การสนับสนุนการศึกษาปริยัติธรรมของพระสงฆ์ – สามเณร และท่านยังมอบทุนการศึกษาแก่เด็กยากจน ของเด็กนักเรียน โรงเรียนวัดช้างเป็นประจำในทุก ๆ ปี อีกด้วย
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 97.jpg
      97.jpg
      ขนาดไฟล์:
      108.5 KB
      เปิดดู:
      851
    • 1.jpg
      1.jpg
      ขนาดไฟล์:
      143.6 KB
      เปิดดู:
      4,753
    • Picture 001.jpg
      Picture 001.jpg
      ขนาดไฟล์:
      73.9 KB
      เปิดดู:
      1,029
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 29 พฤศจิกายน 2013
  2. ต้นบ้านนา

    ต้นบ้านนา Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 เมษายน 2013
    โพสต์:
    18
    ค่าพลัง:
    +29
    เข้าเยี่ยมชม งานอายุวัฒนมงคลใน youtube.com ตามที่แนบนี้เลยครับ [ame=http://www.youtube.com/watch?v=2DEplpVuaZQ]อาจารย์เดช วัดช้าง นครนายก ตอนที่ 1 - YouTube[/ame]
     

แชร์หน้านี้

Loading...