ผลการค้นเนื้อหาเกี่ยวกับ “พระพรหมเอราวัณ” ผ่าน Google ในภาษาจีน สูงกว่าในภาษาไทยถึง 24% ชาวจีนบอก ‘มาขอพรและสมหวังจึงเดินทางกลับมาอีก’
พระพรหมเอราวัณ หรือ ศาลท้าวหมาพรหม โรงแรมเอราวัณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งอยู่บริเวณแยกราชประสงค์ท่ามกลางห้างสรรพสินค้าและโรงแรมชั้นนำมากมายในกรุงเทพฯ พระพรหมนี้ไม่เพียงเป็นที่รู้จักของคนไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งชาวจีนด้วย
ความสนใจของชาวจีนต่อพระพรหมเอราวัณอาจไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าเริ่มต้นเมื่อใดกันแน่ อย่างไรก็ดี ก้อง ฤทธิ์ดี เคยเขียนถึงเรื่องนี้ ไว้ในหนังสือพิมพ์ Bangkok post ฉบับวันที่ 19 สิงหาคม 2015 ว่าความสนใจต่อพระพรหมเอราวัณในหมู่ผู้ใช้ภาษาจีน เริ่มต้นขึ้นอย่างน้อยในช่วงทศวรรษที่ 1970 และมีภาพข่าวชาวไต้หวันมาถวายช้างไม้เป็นเครื่องสักการะแก่พระพรหมเอราวัณในปี ค.ศ. 1989 ทั้งยังมีเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อราว 40 ปีมาแล้วว่าแสดงหญิงชาวฮ่องกง Deborah Lee ที่มาขอพรกับพระพรหมเอราวัณและสมหวังด้านการงาน และกลายเป็นข่าวที่กระตุ้นให้ผู้ใช้ภาษาจีนเดินทางมาเยี่ยมชมศาลท้าวมหาพรหมแห่งนี้ด้วย
เหตุระเบิดที่ศาลพระพรหมเอราวัณที่เกิดขึ้นเมื่อราว 2 ปีที่แล้ว ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความสูญเสีย แต่ยังส่งผลกระทบให้หลายภาคส่วนกังวลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการท่องเที่ยวของประเทศไทยด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดีในช่วงเวลานั้นก็มีการประเมินจากนักวิชาการว่าจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในระยะสั้นเท่านั้น
สำหรับการท่องเที่ยวจากประเทศจีนนั้นดูเหมือนว่าการประเมินนั้นจะเป็นจริง ข้อมูลสถิติ จาก China National Tourism Administration ระบุว่าประเทศไทยยังเป็นปลายทาง 10 อันดับแรกที่ชาวจีนเดินทางมาท่องเที่ยว และเป็นอันดับ 1 สำหรับนักท่องเที่ยวที่จัดการการท่องเที่ยวผ่านบริษัทท่องเที่ยวในปี 2015 ขณะที่ถัดมาในปี 2016 ประเทศไทยกลายเป็นปลายทางอันดับที่ 1 และมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาไทยเพิ่มขึ้นถึง 45% สถิตินี้อาจแสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นในปี 2015 ไม่ได้ส่งผลต่อการตัดสินใจท่องเที่ยวไทยของชาวจีนมากนัก
ทีมข่าวออนไลน์ Voice TV ได้ลงพื้นที่ศาลพระพรหมเอราวัณวานนี้ (15 สิงหาคม 2017) พบว่าบรรยากาศการสักการะบูชาพระพรหมเอราวัณยังคงคึกคัก และมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่เดินทางมาเยี่ยมชม เราได้มีโอกาสพูดคุยสัมภาษณ์กับนักท่องเที่ยวชาวจีนจากไต้หวัน 2 คน และแผ่นดินใหญ่ 2 คน พวกเขาให้ข้อมูลว่า พวกเขารู้จักพระพรหมแห่งนี้จากเพื่อนที่เคยมาขอพรที่นี่แล้วสมหวัง รวมทั้งคำบอกเล่าจากมัคคุเทศก์ ทำให้ตัดสินใจเดินทางมาสักการะเพื่อขอพรในด้านความรัก ความสัมพันธ์ การงาน และการเรียน ทั้งนี้นักท่องเที่ยว 3 ใน 4 คนนี้ เคยเดินทางมาขอพรกับพระพรหมเอราวัณแล้วสมหวัง จึงเดินทางกลับมาเพื่อสักการะอีกครั้ง
ความนิยมของชาวจีนต่อพระพรหมเอราวัณยังสามารถเห็นได้จากผลการค้นหาเนื้อหาผ่านระบบค้นหาของ Google จากการทดสอบค้นหา(เมื่อ 16 สิงหาคม 2017) ด้วยคำว่าสำคัญว่า “พระพรหม เอราวัณ” ปรากฏเนื้อหาที่พบจำนวนประมาณ 292,000 เนื้อหา ขณะที่เมื่อค้นด้วยภาษจีนว่า “伊拉旺神壇” (คำทับศัพท์ภาษาจีนศาลพระพรหมเอราวัณ) ปรากฏเนื้อหาที่พบจำนวนประมาณ 364,000 เนื้อหา ซึ่งมากกว่าผลในภาษาไทยราว 24.65% นอกจากนั้นกันเมื่อทดสอบค้นด้วยคำว่า “四面佛” (ภาษาจีนหมายถึง พระพรหม) ผลการค้นหาแสดงถึงตำแหน่งของศาลพระพรหมเอราวัณขึ้นมาเป็นสถานที่แนะนำแรกอีกด้วย
ข้อมูลเหล่านี้อาจจะช่วยยืนยันความสนใจของชาวจีน หรือผู้ใช้ภาษาจีนที่มีต่อพระพรหมเอราวัณ อันเป็นปลายทางการท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในประเทศไทย อย่างไรก็ดีหากเทียบข้อมูลสถิติปริมาณนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ที่จัดทำโดยกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ปริมาณนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามาในไทยในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน ในปี 2017 และปี 2016 มีความแตกต่างกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้ นักท่องเที่ยวจากประเทศจีนมีทั้งสิ้น 4,671,849 คน (ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้าราว 4.45%) นักท่องเที่ยวจากฮ่องกงมีทั้งสิ้น 334,057 คน (ลดลงราว 7.37%) และนักท่องเที่ยวจากไต้หวันมีทั้งสิ้น 279,225 คน (เพิ่มขึ้นราว 2.98%)
ขอขอบคุณที่มา
https://news.voicetv.co.th/thailand/515875.html
พระพรหมเอราวัณยังฮิตในหมู่ชาวจีน
ในห้อง 'วิทยาศาสตร์ทางจิต - ลึกลับ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 16 สิงหาคม 2017.