พระพุทธชินราช

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย Wannachai001, 24 พฤษภาคม 2019.

  1. Wannachai001

    Wannachai001 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 ตุลาคม 2011
    โพสต์:
    8,731
    กระทู้เรื่องเด่น:
    61
    ค่าพลัง:
    +225,339
    พระพุทธชินราช.jpg
    พระพุทธชินราช


    “ที่นี้เกี่ยวกับเรื่องพระพุทธชินราชนี่ พุทธลักษณะสวยสดงดงามนี่หมายถึงว่า พระพุทธชินราชนี่เป็นพุทธลักษณะคล้ายๆ สมเด็จฯ องค์ปฐมหรือพระพุทธกัสสปครับ...?”

    ความจริงเรือนแก้วนี่เขาสมมุติขึ้นมาน่ะ แทนรัศมี ต้องไปถามพระเจ้าพรหมฯ

    “พระเจ้าพรหมมหาราชหรือครับ...”

    ใช่ ความจริงพระพุทธชินราชที่พิษณุโลกนี่พระเจ้าพรหมมหาราชสร้าง พระเจ้าลือไทมาซ่อมทีหลัง

    “สมัยโน้นหรือครับ...”

    ใช่ๆๆๆ คือว่าเวลานั้นท่านชื่อ พระเจ้าศรีธรรมปิฎก เราเรียกพระเจ้าพรหมฯ นั่นเป็นชื่อเดิม ชื่อที่เป็นพระราชาชื่อพระเจ้าศรีธรรมปิฎกสร้าง และต่อมาสมัยสุโขทัยนี่ซ่อม ไม่ใช่สร้างนะ แต่เวลานั้นประวัติศาสตร์ไม่ได้เขียนไว้นี่ มันรุ่นก่อนประวัติศาสตร์

    ที่คณะพิษณุโลกชุดที่เขานำพระบรมธาตุมาให้น่ะ ของเก่าเยอะ พระเก่าๆ เยอะ เขาลือกันว่าเจดีย์องค์นั้นที่พังไปแล้ว พระเจ้าพรหมฯ เอาของไปฝังไว้ที่นั่น พระบรมธาตุ เขาลือกันนะ มิใช่เขาลือ เขารู้ข่าวลือ ฟังต่อๆ มา และแกก็จะไปขุด พอเริ่มจะขุดเจ้าเสียงครึ่กครั่กๆ ตูมตามๆๆ เสียงในแผ่นดินนะ พอเขาจุดธูปบอกว่าจะขุดไปถวายหลวงพ่อ เสียงทั้งหมดเงียบและขุดได้ ได้พระเก่ามาตั้งเยอะ

    “พระที่ขุดได้หมายถึงพระพุทธรูปหรือว่า...”

    พระพุทธรูป พระพุทธรูปด้วยและก็พระบรมธาตุด้วย

    “ทีนี้ถ้าจะคิดถึงอายุองค์พระพุทธชินราชที่ว่าสร้างสมัยพระเจ้าพรหมฯ ก็เท่าไหร่ล่ะนี่ครับ”

    ก็ไม่กี่ปี

    “พระเจ้าพรหมฯ ก่อนประวัติศาสตร์นี่นะครับ”

    นั่นแหละไม่กี่ปี ไม่เกิน 1,200 ปี

    “ทีนี้มีปัญหาอยู่ว่าพุทธลักษณะ องค์ที่หล่อองค์ไหนก็แล้วแต่ พุทธลักษณะสู้องค์นี้ไม่ได้เลย พระพักตร์สวยมาก สาเหตุนี่มาจากอะไรครับ...?”

    พระพักความจริงเรามองไม่เห็นหรอกนะ เห็นแต่พระหน้า พระพักอยู่ที่ก้น (หัวเราะ) เวลาเขาพักกันน่ะนั่งพัก เขาบอกว่าเทวดาร่วมสร้าง เทเท่าไหร่ๆ สร้างก็ไม่มีการทรงตัว ไม่เป็นที่พอใจหุ่น เรียกว่าไม่เป็นที่พอใจของผู้สั่งให้สร้าง

    ผลที่สุดก็พระอินทร์ใช้ วิษณุกรรมเทพบุตร ให้ลงมานุ่งขาวห่มขาว เป็นคนเดินมาไม่มีข้าวจะกิน ก็ถามว่าที่นี่มีข้าวไหม เขาบอก มี ถาม ทำอะไรกัน กำลังจะสร้างพระสักองค์หนึ่ง รูปร่างลักษณะแบบนั้นๆพระราชาสั่ง บอก ไม่เป็นไรหรอก ผมเป็นช่างปั้นครับ เป็นช่างปั้นด้วยช่างหล่อเสร็จ

    ทีนี้ถึงเวลากินข้าวเขาก็เลยเอาข้าวมาเลี้ยงก่อน ก่อนเวลากลุ่มเดิมกินนี่นะ ก็กินข้าวก่อน ทีนี้ถึงเวลาพวกช่างกินข้าว ปรากฎกลับมาแล้วอีตาคนนั้นหายไป พระเสร็จเรียบร้อย

    “แค่กินข้าวหรือครับ...”

    ใช่ แค่อิ่ม เห็นไหมอำนาจเทวดา แค่นึกเท่านั้นก็เสร็จแล้ว

    “แสดงว่าท้าววิษณุกรรมนี่มีฤทธิ์มีเดชเก่งเฉพาะเรื่องหล่อเรื่องสร้าง หรือเก่งทุกอย่างครับ...?”

    หลายอย่าง เมื่อสมัยเป็นมนุษย์นะมีลูกก็เยอะ

    “เดี๋ยวครับตอนสมัยเป็นมนุษย์พอจะมีชื่อเสียงเรียงนาม...”

    จำไม่ได้ เป็นมนุษย์หลายชาติ

    “แต่ละชาติเป็นช่างหรือเปล่าครับ...?”

    วิษณุกรรมก็ช่างสร้างศาลาใช่ไหมเล่า นัฏฐ ก็คือนายช่างผู้สร้างศาลาของ มาฆมานพ


    “สมัยโน้นที่ว่ามีพระพุทธชินสีห์ และก็พระศากยมุนี รุ่นเดียวกันหรือเปล่าครับ...?”

    ทีหลัง พระพุทธชินสีห์ พระศากยมุนี นี่สมัยสุโขทัย เอาไปซ่อมพระพุทธชินราชแล้ว ไปซ่อมแล้วก็สร้างให้เป็นเพื่อนกัน แทนองค์นั้นองค์นี้

    “ที่หล่อนี่หมายถึงอยู่ทางเหนือหรือหล่อที่พิษณุโลกครับ...?”

    ที่พิษณุโลก สมัยพระเจ้าพรหมฯ นั่นครองแผ่นดินถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี่นะ

    “เลิกจากรบทัพจับศึกแล้วก็สร้างวัดจำนวนไม่ใช่น้อย”

    วัดเดียว

    “ก็ไหนบอกใจบุญใจกุศลอย่างไรล่ะครับ...?”

    อ้าว...ก็สร้างทีละวัดๆ ไม่ใช่จับมาเรียงได้นี่ ไปที่ไหนก็สร้างวัดเป็นเรื่องธรรมดา ชาวบ้านกับวัดแยกกันไม่ได้ พระราชากับวัดก็แยกกันไม่ได้เหมือนกัน เพราะอะไรรู้ไหม ถ้าประกาศอะไรขึ้นมาก็อาศัยวัด วัดเวลานั้นก็คือมหาวิทยาลัย สอนหนังสือสอนวิชาการต่างๆ มันมีความจำเป็น

    “โรงเรียนเพิ่งจะมีสมัย ร.5”

    ใช่ๆๆๆ บรรดาพวกขุนนางต่างๆ เมื่อออกมาแล้วก็บวชพระ เป็นคณาจารย์ไปเอง

    “พูดถึงว่าสมัยข้าราชการในยุคนั้นมีใจเป็นบุญเป็นกุศล”

    ใช่ๆๆๆ มากกว่า แต่ทิ้งไม่ได้มีอย่างหนึ่งคือ คอรัปชั่น

    “นี่ถือเป็นประเพณีเลยนะครับ”

    ใช่ ไม่งั้นโลกตั้งอยู่ไม่ได้ ความเลวเหมือนผ้าดำ ความดีเหมือนผ้าขาว ถ้ามีเฉพาะผ้าขาวผืนเดียวสีขาวไม่เห็น ถ้าดำแปะไปด้วยสีขาวจะเด่น เห็นไหม โลกจะต้องมีทั้งความดีและความชั่ว

    “ดีทั้งหมดก็ไม่ใช่โลก”

    ไม่ใช่โลก เป็น โลกุตระ คือพ้นโลกไป


    “นี่ก็แสดงว่าอารมณ์ของผู้สร้างพระพุทธชินราชสมัยพระเจ้าพรหมฯ และก็อารมณ์สมัยกรุงเทพฯ วัดเบญจมบพิตร และอารมณ์ไปถึงว่าท่าซุงนี่เป็นอารมณ์เดียวกันหรือเปล่าครับ...?”

    ก็อารมณ์เดียวกันแต่คนละคน พระพุทธชินราชโน้นอารมณ์พระเจ้าพรหมฯ วัดเบญจฯ ร.5 วัดท่าซุงคือฉันแน่

    “นี่ไม่เหมือนกันนะครับ”

    ชื่อก็ไม่เหมือนกัน ตัวก็ไม่เหมือนกัน

    “แต่พุทธลักษณะของพระพุทธรูป”

    นั่นเรื่องพระพุทธรูปท่าน

    “3 องค์นี่ท้าววิษณุกรรมก็คงวิ่งวุ่นมาตลอด”

    คงจะมีหุ้นมั้ง เพราะเรื่องบุญ เทวดาย่อมสั่งสมบุญให้มากขึ้นเป็นของธรรมดา เทวดามี 2 อย่าง เทวดาที่เป็นบัณฑิตกับเทวดาที่เป็นพาล ที่เป็นบัณฑิตหมายถึงความฉลาดสั่งสมบุญบารมีให้มากขึ้น ที่เป็นพาล พาลแปลว่าโง่ มัวเมาในทิพยสมบัติ ถ้าตายแล้วบาปเก่าก็ดีพุ่งหลาวลงนรกไป

    “ที่เป็นบัณฑิตก็ไปตีตั๋วต่อ...”

    ใช่ๆๆๆ ไปนิพพานกันเยอะแยะ

    (จากหนังสือ ธรรมปฏิบัติ เล่ม 16 หน้า 3-8)

    *** การเผยแพร่ธรรมเป็นเรื่องดีนะครับ แต่ท่านที่เข้ามาคัดลอกธรรมตามกระทู้ต่างๆในเวบนี้หรือเวบอื่นๆแล้วนำไปลงในเพจในเวบสื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์ที่ท่านทำงานอยู่เพื่องานในอาชีพของท่าน กรุณามีมารยาทในการให้เครดิตแหล่งที่คุณคัดลอกมาด้วย

    ถ้าไม่คุณก็ไปหาอ่านธรรมในหนังสือหลวงพ่อแล้วคัดลอกพิมพ์ด้วยตัวท่านเองแล้วนำไปลงในสื่อสิ่งพิมพ์ของท่านเอง

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 8 กรกฎาคม 2019

แชร์หน้านี้

Loading...