พระพุทธประวัติ จากพระโอษฐ์ ตอน ทรงแสดงหลักกรรมชนิดที่เป็น “พุทธศาสนาแท้”
ปุณณะ ! กรรม ๔ อย่างเหล่านี้ เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว ประกาศให้รู้ทั่วกัน. กรรม ๔ คืออะไรเล่า ?
ปุณณะ ! กรรมดำ มีวิบากดำ ก็มีอยู่; ปุณณะ ! กรรมขาว มีวิบากขาว ก็มีอยู่; ปุณณะ ! กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว ก็มีอยู่; ปุณณะ ! กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ก็มีอยู่.
ปุณณะ ! ---คนบางคนในกรณีนี้ ย่อมปรุงแต่งซึ่งกายสังขาร ---วจีสังขาร ---มโนสังขารอันเป็นไปเพื่อทุกข์ แล้วย่อมเข้าถึงซึ่งโลกอันประกอบด้วยทุกข์ถูกต้องผัสสะอันประกอบด้วยทุกข์ --- --- ย่อมเสวยเวทนาอันประกอบด้วยทุกข์โดยส่วนเดียว ดังเช่นพวกสัตว์นรก ---ฯลฯ--- : ปุณณะ ! นี้เรียกว่า กรรมดำมีวิบากดำ.
ปุณณะ ! ---คนบางคนในกรณีนี้ ย่อมปรุงแต่งซึ่งกายสังขาร ---วจีสังขาร ---มโนสังขารอันไม่เป็นไปเพื่อทุกข์ แล้วย่อมเข้าถึงซึ่งโลกอันไม่ประกอบ ด้วยทุกข์ ถูกต้องผัสสะอันไม่ประกอบด้วยทุกข์ --- ---ย่อมเสวยเวทนาอันประกอบ ด้วยสุขโดยส่วนเดียว ดังเช่นพวกเทพสุภกิณหา ---ฯลฯ--- : ปุณณะ ! นี้เรียกว่า กรรมขาว มีวิบากขาว.
ปุณณะ ! ---คนบางคนในกรณีนี้ ย่อมปรุงแต่งซึ่งกายสังขาร ---วจีสังขาร ---มโนสังขารอันเป็นไปเพื่อทุกข์บ้าง อันไม่เป็นไปเพื่อทุกข์บ้าง แล้วย่อม
เข้าถึงซึ่งโลกอันประกอบด้วยทุกข์บ้าง อันไม่ประกอบด้วยทุกข์บ้าง ถูกต้องผัสสะอันประกอบด้วยทุกข์บ้าง อันไม่ประกอบด้วยทุกข์บ้าง ---ย่อมเสวยเวทนาอันเป็นสุขและทุกข์เจือกัน ดังเช่นพวกมนุษย์ พวกเทพบางพวก พวกวินิบาตบางพวก ---ฯลฯ--- : ปุณณะ ! นี้เรียกว่า กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว.
ปุณณะ ! ---ในกรณีนี้ เจตนาเพื่อละเสียซึ่งกรรมดำมีวิบากดำ, เจตนาเพื่อละเสียซึ่งกรรมขาวมีวิบากขาว, เจตนาเพื่อละเสียซึ่งกรรมทั้งดำทั้งขาวมีวิบากทั้งดำทั้งขาว : ปุณณะ ! (สามอย่าง) นี้ เรียกว่า กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบาก ไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม.
ปุณณะ ! เหล่านี้แล กรรม ๔ อย่าง ที่เราทำให้แจ้งด้วยปัญญา อันยิ่งเองแล้ว ประกาศให้รู้ ทั่วกัน.
หมายเหตุ : เรื่องกรรม ๔ นี้ มีที่มาในที่อื่นอีกหลายแห่ง มีรายละเอียด ตรงกันก็มี ต่างกันก็มี : ในจตุกฺก. อํ. ๒๑/๓๑๓/๒๓๒ และ ๒๓๔ มีข้อความเหมือนกับ ข้อความข้างบนนี้ทั้ง ๔ กรรม; ใน จตุกฺก. อํ. ๒๑/๓๑๘/๒๓๕ ทรงแสดงกรรมดำ ด้วยการทุศีลห้า ทรงแสดงกรรมขาว ด้วยการมีศีลห้า ส่วนกรรมอีกสองอย่างทรงแสดง เหมือนกัน; ในจตุกฺก. อํ. ๒๑/๓๑๙/๒๓๖ ทรงแสดงกรรมดำ ด้วยอนันตริยกรรมห้า ทรงแสดงกรรมขาว ด้วยกุศลกรรมบถสิบ ส่วนกรรมอีกสองอย่างทรงแสดงเหมือนกัน; ในจตุกฺก. อํ. ๒๑/๓๒๐/๒๓๗ ทรงแสดงกรรมที่ ๑-ที่ ๒-ที่ ๓ เหมือนกัน ทรงแสดง กรรมที่ ๔ ด้วย อัฏฐังคิกมรรค; ในจตุกฺก. อํ. ๒๑/๓๒๑/๒๓๘ ทรงแสดงกรรมที่ ๑ -ที่ ๒-ที่ ๓ เหมือนกัน ทรงแสดง กรรมที่ ๔ ด้วยสัมโพชฌงค์เจ็ด. ผู้รับการแสดง เป็นภิกษุบ้าง เป็นคนพวกอื่นบ้าง. -ผู้รวบรวม. ________________________________
ที่มา. บาลี กุกกุโรวาทสูตร ม.ม. ๑๓/๘๒/๘๘. ตรัสแก่ปุณณโกลิยบุตรผู้ประพฤติวัตรดังโค ที่นิคมหลิททวสนะ แคว้นโกลิยะ.
พระพุทธประวัติ จากพระโอษฐ์ ตอน ทรงแสดงหลักกรรมชนิดที่เป็น “พุทธศาสนาแท้”
ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 9 สิงหาคม 2017.