“ภิกษุทั้งหลาย
ในอารยวินัยนี้ เรากล่าวว่า
น้ำนมของมารดา กลั่นออกมาจากสายโลหิต”
[พระพุทธพจน์]
“แม่” หรือ “มารดา” คำคำนี้เป็นคำสูง
เป็นมงคลแห่งคำอันควรเทิดไว้
เหนือบรรดาคำทั้งปวงในภาษาศาสตร์
คำว่า “แม่” จะฟังดูยิ่งใหญ่ที่สุดในตอนไหน
อาจตอบได้ว่า ในตอนที่ลูกนอนป่วย
แบบอยู่คนเดียวที่ไหนสักแห่งหนึ่งในโลก
ซึ่งไร้ผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด
กับในตอนที่ต้องพลัดพรากจากบ้านเมือง
ไปตกระกำลำบากอยู่ในบ้านอื่นเมืองไกล
ซึ่งมองไปทางไหนก็ไม่มีใครที่เคยรู้จักมักคุ้นสักคน
และอีกตอนหนึ่งซึ่งจะชัดเจนเห็นพระคุณแม่มากที่สุด
ก็คือ ตอนที่กุลสตรีทั้งหลายกลายสถานภาพ
มาเป็น “แม่คน” ด้วยตนเองดูบ้าง
หลังจากที่เป็นคน “มีแม่” มาก่อนหน้านั้นนานแล้ว
กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า
เมื่อเป็น “แม่คน” จึงเข้าใจ “แม่ตน” นั่นเอง
พระพุทธองค์ทรงยกย่องพระพุทธมารดามาก
ทั้งในทางคำสอนและในทางพระจริยวัตร
ที่ประทับไว้เป็นรอยแห่งความดีให้อนุชนเจริญรอยตาม
ในแง่จริยวัตรนั้นปรากฏว่า
ในพรรษาหนึ่งซึ่งเป็นช่วงต้นพุทธกาล
พระองค์ถึงกับเสด็จขึ้นไปแสดงพระอภิธรรม
โปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาแล้ว
เคยมีนักศึกษาคนหนึ่งถามผู้เขียนว่า
เรื่องนี้เป็นไปได้อย่างไร
สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ไม่น่าจะมีจริง
ผู้เขียนถามกลับไปว่า
เธอเอาอะไรมาวัดว่าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ไม่มีอยู่จริง
นิสิตคนนั้นอึ้งไป
ความจริงเรื่องที่เราควรสนใจกันมากกว่า
เรื่องความมีอยู่ของสวรรค์
ก็คือ การมองให้ทะลุถึงแก่นของคติที่ว่า
ทำไมพระพุทธองค์จึงเสด็จไปโปรด
พระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ต่างหาก
ต่อปัญหานี้ผู้เขียนอยากจะถอดรหัสเสียใหม่ว่า
พระพุทธจริยาในตอนนี้
ท่านคงไม่ต้องการมุ่งแสดงให้เห็นว่า
การที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์นั้น
มีความสมจริงหรือไม่สมจริงหรอก
แต่สิ่งที่ท่านต้องการแสดงให้ชาวโลกเห็น
ก็คือ พระพุทธองค์ทรงต้องการจะบอกพวกเราว่า
ขนาดพระมารดาของพระองค์นั้น
แม้จะเสด็จสวรรคตไปอุบัติเป็นเทพ
อยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตแล้วก็ตาม
(เวลาฟังธรรมเสด็จลงมาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์)
สถานที่หรือภพที่พุทธมารดาประทับอยู่กับสถานที่
หรือภพซึ่งพระพุทธองค์ทรงมีพระชนม์โลดแล่นอยู่
ซึ่งคือโลกของเรานั้น
แม้จะอยู่กัน ”คนละภพ-คนละมิติ” ก็จริงอยู่
แต่ถึงกระนั้น “ความต่างแห่งภพ”
ก็หาได้เป็นอุปสรรคแห่งความกตัญญู
ที่บุตรจะพึงตอบสนองต่อผู้เป็นมารดาของตนแต่อย่างใดไม่
พูดให้ฟังง่ายกว่านั้น
ก็คือ แม้แม่ของพระองค์จะตายไปอยู่ไกลกันคนละภพ
คนละโลกแล้ว แต่พระองค์ก็ยังคงแสวงหาวิธี
ที่จะทดแทนพระคุณแม่ให้เสร็จสิ้นจนได้
แล้วคนธรรมดาสามัญอย่างเราเล่า
อยู่ห่างกับคุณแม่แค่เพียงฝาห้องกั้น
อยู่บ้านคนละหลังหรืออยู่ห่างกัน
แค่ชั่วยกหูโทรศัพท์ถึง ใกล้กันขนาดนี้
ภพเดียวกันขนาดนี้ แต่เราทั้งหลายเคยทำอะไร
ที่แสดงให้เห็นว่า เราเป็นลูกกตัญญูต่อมารดาบิดา
เหมือนอย่างที่พระพุทธองค์
ทรงวางพุทธจริยาเอาไว้ให้เห็นบ้างหรือไม่
นั่นเป็นพุทธจริยาของพระองค์ต่อพระพุทธมารดาคนแรก
ซึ่งถือกันว่าเป็น “แม่บังเกิดเกล้า” แท้ๆ ของพระองค์
ต่อแม่คนที่สองหรือพระมารดาเลี้ยง (พระมาตุจฉา)
ที่ชื่อพระนางมหาปชาบดีโคตรมีเล่า
ในฐานะที่ทรงเป็น “ลูกเลี้ยง”
ทรงตอบแทนพระคุณพระมารดาเลี้ยงของพระองค์อย่างไร
พุทธประวัติบันทึกเอาไว้ว่า ราวพรรษาที่ ๕
ขณะเสด็จนิวัติพระนครกบิลพัสดุ์
พระนางมหาปชาบดีโคตรมี ทรงมีพระประสงค์จะผนวช
เป็นภิกษุณีในพระธรรมวินัย ( พุทธศาสนา)
แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาตในทันที
ทั้งนี้เพราะทรงตระหนักเป็นอย่างดีว่า
การทรงเพศเป็นภิกษุณีเป็นเรื่องฝืนกระแสสังคมในสมัยนั้น
และเป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อภยันตรายเป็นอันมาก
ดังปรากฏในเวลาต่อมาว่า
ภิกษุณีรูปหนึ่ง ซึ่งถึงแม้จะเป็นพระอรหันต์แล้วก็ตามที
กระนั้นก็ยังไม่วายถูกคนใจร้ายปลุกปล้ำข่มขืน
จนกลายเป็นเรื่องราวอื้อฉาวในวงการศาสนาขณะนั้น
แต่ในที่สุด ท่ามกลางความยากลำบาก
ในการฝ่าฝืนกระแสสังคมสมัยนั้น
พระพุทธองค์ก็ยังทรงเปิดโอกาสให้
พระแม่น้ามหาปชาบดีโคตมี
ได้ผนวชเป็นภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนา
ซึ่งถือว่าเหตุการณ์นี้เป็นการเปิดศักราชใหม่ให้แก่ “สิทธิสตรี”
อย่างแท้จริงในเวทีโลกมาตราบจนบัดนี้
และในเวลาต่อมาก็ทรงอนุเคราะห์ทดใช้ค่าน้ำนมให้แก่พระแม่น้า
ของพระองค์จนหมดหนี้ศักดิ์ต่อกัน
ด้วยการที่ทรงเป็น “พระบิดา” ในทางธรรม
ให้แก่พระนางสมดังคำที่ภิกษุณีมหาปชาบดีโคตรมี
กราบทูลเล่าเอาไว้ก่อนเสด็จปรินิพพานว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของมหาชนชาวโลก
หม่อนฉันได้ชื่อว่าเป็นพระมารดา (ในทางรูปกาย) ของพระองค์
แต่ในขณะเดียวกัน
พระองค์ก็ได้ชื่อว่าเป็นพระบิดา (ในทางธรรม) ของหม่อมฉันด้วย
พระองค์ทรงโปรดประทานสุขจากพระสัทธรรม
อันทำให้หม่อนฉันได้ถือกำเนิดขึ้นมาในโลกแห่งพระธรรมอีกครั้งหนึ่ง
หม่อมฉันเองได้อภิบาล พระรูปกาย ของพระองค์
ขึ้นมาจนเติบใหญ่
ในขณะเดียวกันพระองค์ก็ได้ทรงอภิบาล พระธรรมกาย (คุณธรรม) ที่
น่ารื่นรมย์ใจของหม่อมฉันให้เจริญวัยไม่น้อยไปกว่ากัน
หม่อมฉันได้น้อมถวายกษีรธาราให้พระองค์ทรงดื่ม
พอดับกระหายได้เป็นครั้งคราว
แต่พระองค์เล่าก็ได้ทรงโปรดประทานกษีรธารา
คือ พระธรรมให้หม่อมฉันได้ดื่มดับกระหายได้อย่างเด็ดขาดเช่นเดียวกัน
ฉันนั้น...”
การรู้คุณและแทนคุณมารดาบิดาผู้ให้กำเนิดนั้นเป็นพุทธจริยา
หรืออารยวัตร (ข้อปฏิบัติอันประเสริฐ)
ที่แม้แต่พระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นอัครบุคคลของโลกก็ไม่ทรงละเลย
วิญญูชนทุกหนทุกแห่ง ทุกศาสนา ทุกวัฒนธรรมในโลก
ก็ยกย่องสรรเสริญว่า มารดาบิดาเป็นอัครบุคคลที่หาได้ยาก
เป็นหนึ่งไม่มีสอง เสียแล้วเสียเลย สิ้นแล้วสิ้นเลย
นอกจากนี้แล้วปราชญ์ทั้งหลายยังเห็นตรงกันอีกว่า
มารดาบิดาเป็นบุพการีชนที่คนเป็นบุตรธิดา
จักต้องตอบแทนพระคุณไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ
ปรมาจารย์ทางจิตวิญญาณสายตะวันออกอย่างขงจื๊อ
ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ยกย่องเรื่องความกตัญญูต่อมารดาบิดามาก
ท่านสอนศิษยานุศิษย์ว่า
“นอกจากความเจ็บป่วยอันเป็นสามัญของตนเองแล้ว
อย่าได้ทำเหตุอื่นใดอันจะส่งผลให้มารดาต้องน้ำตาตกเป็นอันขาด”
ท่านพุทธทาสภิกขุก็เคารพนับถือในโยมมารดาของท่านมาก
แม้บวชเข้ามาแล้วก็ได้เพียรทดแทนพระโยมแม่
ด้วยประการต่างๆ เท่าที่สติปัญญาในขณะนั้นจะพึงทำได้
แต่ยังไม่ทันตอบแทนพระคุณของโยมแม่ได้อย่างที่ตั้งใจ
โยมแม่ของท่านก็มาจากไปเสียก่อน
“อาตมามีความเสียใจอยู่อย่างหนึ่ง
เสียใจอย่างยิ่งว่า สมัยเมื่อแม่ยังมีชีวิตอยู่
อาตมาไม่มีความรู้อะไร แม้บวชแล้วก็มีความรู้ธรรมะโง่ๆ เง่าๆ
งูๆ ปลาๆ อย่างนั้นแหละ
ถ้ามีความรู้อย่างเดี๋ยวนี้จะช่วยแม่ได้มาก
ให้พอใจรู้ธรรมะอย่างยิ่ง
แต่แม่ชิงตายไปเสียก่อน ก่อนที่อาตมาจะมีความรู้พอ
จะสอนธรรมะลึกๆ ให้แม่ได้
นี่เป็นเรื่องที่นึกแล้วก็ว้าเหว่อยู่ไม่หาย...
อาตมายังคงคาราคาซัง ไม่ได้ให้ความรู้สูงสุดที่พอใจแก่แม่
เพราะว่าแม่ชิงตายเสียก่อน...
แต่แม่ก็สนใจธรรมะเหลือประมาณ
แม้แรกบวชแรกเรียนนักธรรมอย่างโง่ๆ
ก็อุตส่าห์เขียนส่งไปให้แม่ หรือพูดให้แม่ฟังอยู่เสมอ
แต่เป็นความรู้ธรรมะเด็กๆ ทั้งนั้น
เดี๋ยวนี้รู้ธรรมะชั้นผู้ใหญ่
แต่แม่ตายเสียแล้วไม่รู้จะทำอย่างไร...”
พระพุทธเจ้า พระพุทธสาวก
ปูชนียบุคคลอย่างท่านพุทธทาสภิกขุ
เป็นอาทิยังสู้อุตส่าห์หาวิธีทดแทนพระคุณมารดา
จนสุดความสามารถถึงเพียงนี้
แต่กระนั้นท่านก็ยังออกตัวว่าที่ทำมานั้นยังเล็กน้อยเกินไป
ดูเอาเถิด จริยาวัตรอันสูงล้ำด้วยคุณธรรม
ที่ยอดคน ยอดครู ของโลกปฏิบัติต่อมารดาบังเกิดเกล้าของตน
เราปุถุชนคนสามัญ หากตอบแทนพระคุณของแม่ได้น้อยกว่านี้
(ทั้งๆ ที่มีโอกาสมากกว่า) ก็นับว่าน่าอาย
ที่ได้แต่เอ่ยอ้างว่าตนเป็นศิษย์มีครู
แต่หาเจริญรอยตามปฏิปทาแห่งครูของตน
ให้สมกับที่ชอบเอ่ยอ้างแต่อย่างใดไม่
มารดาของแผ่นดิน
เอียงอกเทออกอ้าง อวดองค์ อรชร
เปรื่องปราชญ์ปัญญายง หยั่งรู้
ขี่คอคชสารทรง ขอสับ ศึกพ่อ
แม่อีกภริยากู้ เกียรติแก้วแก่สมัย
ผู้หญิงเป็นมารดามหาบุรุษ
เป็นพระพุทธก็เป็นได้ไม่น้อยหน้า
เป็นผู้นำยุคสมัยในโลกา
เป็นภรรยาสุดแสนดีสามีรัก
เป็นผู้อวดองค์อรชรชวนชม้าย
เป็นสหายแห่งชีวิตสิทธิศักดิ์
เป็นแม่ทัพนำไทยให้คึกคัก
เป็นเสาหลักการเมืองเรืองฤทธี
เป็นขวัญเรือนรินธรรมชี้นำลูก
เป็นผู้ปลูกค่านิยมสมศักดิ์ศรี
เป็นผู้กล้าที่จะก้าวเข้าต่อตี
เป็นผู้มีศักยภาพควรปราบดา
นี่แหละคือผู้หญิงที่จริงแท้
โลกควรแก้เกณฑ์กดลดโมหา
เคารพหญิงอย่างที่เป็นเช่นสัจจา
เพราะหญิงคือมารดาของแผ่นดิน
หมายเหตุ ::
หากเห็นว่า “บทความ” นี้ พอจะมีคุณค่าอยู่บ้าง
จะช่วยกันเผยแผ่ให้กว้างขวางออกไปให้มากที่สุด
เพื่อบูชาพระคุณแม่ร่วมกับผู้เขียนและมวลกัลยาณมิตร
ก็ขออนุโมทนาล่วงหน้าเป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้ด้วย
ที่มา
พระพุทธเจ้ากับพระพุทธมารดา (ว. วชิรเมธี)
ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 26 พฤศจิกายน 2011.
-
-
กราบอนุโมทนา สาธุ ๆ
ในความกตัญญูต่อพระมารดาของพระองค์
และท่านที่ได้นำพระธรรมมาเผยแพร่ด้วยครับ
นิพพานัง ปัจจโย โหตุ -
ท่าน ว. พูดถูก พระพุทธมารดา ของพระพุทธองค์ พระองค์ท่านยังหาวิธีไปพบและ เทศนาโปรดพระมารดา เพื่อเป็นการทดแทนคุณ แต่คนธรรมดาสามัญอย่างเราเล่า
อยู่ห่างกับคุณแม่แค่เพียงฝาห้องกั้น อยู่บ้านคนละหลังหรืออยู่ห่างกัน แค่ชั่วยกหูโทรศัพท์ถึง ใกล้กันขนาดนี้ ภพเดียวกันขนาดนี้ แต่เราทั้งหลายเคยทำอะไร ที่แสดงให้เห็นว่า เราเป็นลูกกตัญญูต่อมารดาบิดา ซึ้งจริงๆ
-
อนุโมทนา สาธุ..
ความกตัญญูรู้คุณท่าน เท่านั้นแหล่ะครับ ที่จะทำให้ทราบได้ว่า
ตัวเราเอง หรือ บุคคล คนใด ว่าเป็น คนดี หรือ คนเลว ดูที่ความกตัญญูครับ...
ขอมอบเพลง รอยจูบบนฝ่าเท้า เวอร์ชั่นของคุณ captgod17332500 ให้กับ
ทุกๆท่านครับ เพราะสิ่งนี้คือ การตอบแทนพระคุณของท่าน อย่างแท้จริง...
<IFRAME height=315 src="http://www.youtube.com/embed/nbjyd86MmvA" frameBorder=0 width=420 allowfullscreen></IFRAME> -
ขอบคุณมากนะครับ
-
love mom รักเเม่ที่สุด
วัยรุ่นบางไปเที่ยวห้างจับมือเเฟน กอดหอม เเสดงความรักคิดว่าเท่
เเต่กลับเเม่ตัวเองอาย ที่จะเเสดงออก ผมว่าไม่เท่ยิ่งกว่า