พระมหากรุณาฯล้นพ้น'ทฤษฎีแก้น้ำท่วม'
สมบัติล้ำค่ายิ่งของไทย
พระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อพสกนิกรไทยใต้เบื้องพระยุคลบาท เป็นที่ประจักษ์ชัดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งกับสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ที่เกิดขึ้นในปีนี้ แม้พระองค์จะยังทรงประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช แต่ก็ทรงเปี่ยมพระเมตตา ทรงติดตามสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น และพระราชทานแนวพระราชดำริแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน
“ได้น้อมรับพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงสถานการณ์น้ำ” ...เป็นการเปิดเผยของทางกรมชลประทาน เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งก็สะท้อนชัดเจนถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อพสกนิกรไทย โดยเฉพาะกับ “ปัญหาเรื่องน้ำ” น้ำท่วม-น้ำแล้ง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจนปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระเมตตาพระราชทานแนวพระราชดำริเพื่อการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำมาโดยตลอด ซึ่งรวมถึง ทฤษฎีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามแนวทาง การบริหารจัดการด้านน้ำท่วมล้น (Flood Management) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการที่แสดงถึงสายพระเนตรที่ยาวไกล พระปรีชาสามารถ และพระมหากรุณาธิคุณ ต่อพสกนิกรไทย
สำหรับทฤษฎีดังกล่าวนี้ ข้อมูลของมูลนิธิชัยพัฒนาอธิบายไว้ดังนี้คือ เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตมรสุม มีฝนตกชุกและปริมาณน้ำฝนสูง จึงเกิดปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่เกือบทุกภูมิภาค พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระปริวิตกห่วงใยในปัญหาที่เกิดขึ้น ทรงวิเคราะห์ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ที่ประสบปัญหา และทรงคำนึงถึงการเลือกใช้วิธีการต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพท้องที่และเจ้าหน้าที่ ด้วยวิธีการต่าง ๆ
อาทิ... การก่อสร้างคันกั้นน้ำ ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิมแต่โบราณ โดยก่อสร้างคันดินกั้นน้ำขนาดที่เหมาะสมขนานไปตามลำน้ำห่างจากขอบตลิ่งพอสมควร เพื่อป้องกันมิให้น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ ต่าง ๆ ด้านใน เช่น โครงการมูโนะและโครงการปิเหล็งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส, การก่อสร้างทางผันน้ำ เพื่อผันน้ำทั้งหมดหรือบางส่วนที่ล้นตลิ่งให้ออกไป โดยก่อสร้างทางผันน้ำหรือขุดคลองสายใหม่เชื่อมต่อกับลำน้ำที่มีปัญหาน้ำท่วม โดยให้น้ำไหลไปตามทางผันน้ำที่ขุดขึ้นใหม่ไปลงลำน้ำสายอื่น หรือระบายออกสู่ทะเลตามความเหมาะสม เช่น การแก้ไขปัญหาจากแม่น้ำโกลกที่ใช้การขุดคลองมูโนะเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมไร่นา
การปรับปรุงและตกแต่งสภาพลำน้ำ เพื่อให้น้ำที่ท่วมทะลักสามารถไหลไปตามลำน้ำได้สะดวก หรือช่วยให้กระแสน้ำไหลเร็วยิ่งขึ้น เพื่อบรรเทาความเสียหายจากน้ำท่วมขัง โดยใช้วิธีการดังนี้คือ ขุดลอกลำน้ำตื้นเขินให้น้ำไหลสะดวกขึ้น ตกแต่งดินตามลาดตลิ่งให้เรียบมิให้เป็นอุปสรรคต่อทางเดินของน้ำ กำจัดวัชพืช และรื้อทำลายสิ่งกีดขวางทางน้ำไหลให้ออกไปจนหมดสิ้น ขุดคลอง ใหม่ในกรณีลำน้ำคดโค้งมาก, การก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ เป็นมาตรการป้องกันน้ำท่วมที่สำคัญประการหนึ่งในการกักเก็บน้ำที่ไหลท่วมล้นในฤดูน้ำหลาก ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินการตามพระราชดำริมากมายหลายแห่ง ทั้งนี้ การป้องกันน้ำท่วมใหญ่นั้น ขณะนี้มีการดำเนินการหลายจุด อาทิ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ, โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, โครงการพัฒนาลุ่มน้ำนครนายกตอนบน จ.นครนายก
สำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ และปริมณฑลตามพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวพระราชดำริให้มีระบบการบริหารจัดการน้ำ ด้วย โครงการ “แก้มลิง” ชักน้ำให้รวมกันแล้วเก็บไว้ในจุดพักน้ำอันเปรียบได้กับแก้มลิง แล้วจึงระบายน้ำลงทะเลเมื่อปริมาณน้ำทะเลลดลง
ขยายความคือ... 1. ดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบนให้ไหลไปตามคลองในแนวเหนือ-ใต้ ลงคลองพักน้ำขนาดใหญ่ที่บริเวณชายทะเล ซึ่งทำหน้าที่เป็นบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2. เมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำลงกว่าระดับน้ำในคลอง ก็ทำการระบายน้ำจากคลอง ออกทางประตูระบายน้ำโดยใช้หลักทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลกตามธรรมชาติ 3. สูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่แก้มลิง ให้ระบายออกในระดับต่ำที่สุดออกสู่ทะเล เพื่อจะได้ทำให้น้ำตอนบนค่อย ๆ ไหลมาเองตลอดเวลา ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดลง 4. เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลอง ก็ทำการปิดประตูระบายน้ำเพื่อป้องกันมิให้น้ำย้อนกลับ โดยยึดหลักน้ำไหลทางเดียว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริเพื่อให้การระบายน้ำท่วมออกทะเลทำได้เร็วขึ้น อาทิ โครงการแก้มลิงแม่น้ำท่าจีนตอนล่าง ควบคุมน้ำในแม่น้ำท่าจีนโดยเปิดระบายน้ำจำนวนมากลงสู่อ่าวไทยเมื่อระดับน้ำทะเลต่ำ ปิดกั้นไม่ให้น้ำจากด้านท้ายน้ำไหลรุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำเมื่อน้ำทะเลมีระดับสูง ซึ่งนอกจากช่วยบรรเทาน้ำท่วมให้พื้นที่บางส่วนทางตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ยังช่วยป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มเข้าสู่แม่น้ำท่าจีนช่วงฤดูแล้ง สามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ทั้งด้านเกษตร อุตสาหกรรม และอุปโภคบริโภค
พระราชดำริแก้ปัญหาน้ำ...คือสมบัติที่ล้ำค่ายิ่งของไทย
ประดุจน้ำทิพย์...ที่ดับทุกข์เข็ญให้คนไทยมาโดยตลอด
โดยมิมีการแบ่งแยก...ว่าเป็นทุกข์คนไทยหมู่เหล่าใด!!.
------------
เดลินิวส์ออนไลน์
Daily News Online > หน้าการเมือง > สกู๊ปหน้า 1 > พระมหากรุณาฯล้นพ้น'ทฤษฎีแก้น้ำท่วม'
พระมหากรุณาฯล้นพ้น'ทฤษฎีแก้น้ำท่วม'สมบัติล้ำค่ายิ่งของไทย
ในห้อง 'ข่าวในพระราชสำนัก' ตั้งกระทู้โดย ษิตา, 5 พฤศจิกายน 2010.