พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ตอน ธุดงค์แสวงธรรม พ.ศ.2434 : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 10 มีนาคม 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    0b8b2e0b8a3e0b8a2e0b98ce0b8a1e0b8b1e0b988e0b899-e0b8a0e0b8b9e0b8a3e0b8b4e0b897e0b8b1e0b895e0b982.jpg
    ผู้เขียน วิชัย เทียนถาวร

    ผู้เขียนได้รับหนังสือ “ภูริทัตตะ อัครเถราจารย์” ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ เขียนโดย ท่านอาจารย์ พระมหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ผู้เขียนเห็นว่ามีข้อมูลของพระอาจารย์หลวงตามหาบัว และพระอาจารย์ วิริยังค์ ที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่าน จึงขอนำข้อมูลที่มีประโยชน์มากที่สุดจาก 2 ส่วน มานำเสนอบูรณาการให้ดีที่สุด ท่านเป็นหนึ่งในบุคคลที่ใกล้ชิด เป็นลูกศิษย์ได้รับรู้ปฏิปทาของพระอาจารย์มั่น ทั้งยังได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของท่านจนได้มรรคได้ผล เป็นที่ประจักษ์แก่ตนเอง อีกผู้หนึ่งผู้เป็นศิษย์ที่เป็นเพชรน้ำเอกอีกหนึ่งของพระอาจารย์มั่นฯ ขอนำ “โมทนียกถา” ของ “อาจารย์พระมหาบัวฯ” ที่บอกเล่าถึงพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ความว่า :

    ธรรมะ แปลว่า ธรรมชาติ เป็นธรรมชาติของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่มีธรรมชาติอื่นใดจะเหนือไปกว่าธรรมชาติที่กล่าวมานี้เพราะธรรมชาติที่ว่า มีอยู่ทุกหนแห่งทั้งบนแผ่นฟ้า แผ่นน้ำ แผ่นดิน ไม่เว้นแม้แต่ในหัวใจของคนเราซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทุกเมื่อเชื่อวัน เป็นไปตามอำนาจแห่งกิเลสที่ฝังแน่นอยู่ในจิต ชีวิตคนเราจะเป็นอย่างไร มีความสุข หรือมีความทุกข์ ก็อยู่ที่จิต หนทางแห่งการพัฒนาความสุข จึงเป็นหนทางเดียวกับการพัฒนาจิต เมื่อจิตดี ชีวิตก็ดี เมื่อจิตพ้นทุกข์ ชีวิตก็ย่อมพ้นจากความทุกข์ไปด้วย

    ในทางพระพุทธศาสนาเราเรียกบุคคลพ้นจากความทุกข์ว่า “พระอรหันต์” คำว่าพระอรหันต์นี้ หมายความว่า ผู้บริสุทธิ์ ไม่มีความเศร้าหมองใดๆ ให้แปดเปื้อน เป็นเพชรน้ำหนึ่งของโลก เป็นผู้พ้นไปจากอำนาจแห่งกิเลสที่กัดกินหัวใจ เมื่อพูดถึงคำว่าอรหันต์แล้ว เชื่อแน่ว่าในสามัญสำนึกของใครหลายคนคงต้องนึกถึงท่าน พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต บรมครูแห่งยอดคน เป็นผู้พลิกฟื้นวิถีชีวิตแห่งความสันโดษ พอเพียง และดีงาม จนได้ชื่อว่าเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้วางรากฐานในด้านปฏิปทาของการธุดงค์วัตรให้เป็นปึกแผ่น ทั้งยังอุทิศชีวิตทั้งชีวิตของท่านเพื่อเป็นแบบอย่างของผู้มีความเพียรในการบำเพ็ญธรรม เป็นการทำให้ดู อยู่ให้เห็น ดังคำสั่งสอนของท่านที่ว่า “ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโท ภควา การฝึกตนดีแล้วจึงฝึกผู้อื่น ชื่อว่าทำตามพระพุทธเจ้า” ด้วยทัศนคติที่ถูกต้องตรงธรรมเช่นนี้เอง ธรรมะที่ท่านสั่งสอนจึงเข้าไปสถิตในหัวใจของประชาชนทุกหมู่เหล่า

    ในแวดวงของพระพุทธศาสนา พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ยังเป็นบุคคลที่มีความสำคัญ ทั้งในมิติการทำประโยชน์ต่อโลก คือ เป็นผู้ปลูกฝังคุณธรรมให้โลก โดยท่านออกสั่งสอนผู้คนให้เห็นคุณค่าของการเจริญธรรม ท่านได้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญาในมิติของความเป็นผู้บริสุทธิ์ คือ ท่านเป็นผู้พ้นจากอาสวกิเลส เป็นเนื้อนาบุญผู้บริสุทธิ์ มีความสมบูรณ์พร้อมทั้งด้านปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ สามารถเข้าถึงคุณธรรมสูงสุดด้วยตนเอง ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงยกย่องบุคคลเช่นนี้ว่าเป็นผู้สมควรแก่การกราบไหว้บูชา ในมิติของความเป็นครูบาอาจารย์ ท่านได้ชื่อว่าเป็นต้นสกุลแห่งนักปฏิบัติ ตลอดชีวิตของท่านได้สละตัวเองเพื่อสั่งสอนธรรมแก่เหล่าพระเณร ไปจนถึงเหล่าฆราวาสเป็นวงกว้าง การสอนธรรมของท่าน มิใช่การสอนแต่เพียงผิวเผิน แต่เป็นการสอนจริงเพื่อเอาของจริงเป็นการตีเข้าไปที่หัวใจของอวิชชาซึ่งเป็นต้นกำเนิดแห่งกองทุกข์ การสอนธรรมของท่านสามารถยกระดับภูมิจิตภูมิธรรมของบุคคลผู้เข้ามาศึกษาให้พ้นจากสภาพของปุถุชนไปสู่ความเป็นอริยบุคคลได้ อาจกล่าวได้ว่าในยุคปัจจุบันมีครูบาอาจารย์ผู้ทรงธรรมไม่น้อยเลยที่มีความเกี่ยวโยงกับท่านไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เรียกได้ว่า ท่านคือเรือใหญ่ที่พาคนจำนวนมากข้ามทะเลแห่งความทุกข์ เข้าสู่แผ่นดินแห่งความสุขที่เราเรียกกันว่า พระนิพพาน ได้อย่างสมศักดิ์ศรีแห่งยอดคน

    เมื่อกล่าวถึงความแนบแน่นในสายสัมพันธ์ระหว่างพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต กับ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ย่อมไม่ผิดจากบิดาและบุตรที่มีความใกล้ชิดกัน มีจิตถึงจิต มีใจถึงใจ เรียกได้ว่า พระอาจารย์มั่นนี่เองที่เป็นทั้งพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่หลวงตามหาบัวเคารพรักบูชายิ่งกว่าชีวิต ตลอดชีวิตของหลวงตาไม่เคยมีวันใดที่ไม่ระลึกถึงพระอาจารย์มั่น ดังที่เหล่าลูกศิษย์ลูกหาได้รับทราบกันดีอยู่แล้วโดยทั่วกัน ด้วยเหตุนี้ หลวงตามหาบัวจึงได้คิดทดแทนคุณ ด้วยการร้อยเรียงความทรงจำอันงดงามที่มีต่อพระอาจารย์มั่น ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษร เพื่อให้เหล่าชาวพุทธได้เห็นถึงปฏิปทาที่น่ายกย่องเลื่อมใสของพระอาจารย์มั่น ตลอดจนได้มองเห็นถึงความเพียรอันแรงกล้าที่หักโค่นกิเลส เพื่อที่จะได้เป็นแรงบันดาลใจให้เหล่านักปฏิบัติผู้ไม่ต้องการกลับมาเกิดได้ยึดถือเป็นแบบอย่างว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้น หากทำจริงก็จะได้ของจริงเช่นนี้

    อนึ่งขอกล่าวถึงประวัติตอนที่ 4 ต่อไป

    ตอนที่ 4 ธุดงค์แสวงหาธรรม พ.ศ.2434 : อาจารย์มั่น ท่านเป็นผู้ไม่ชอบอยู่นิ่ง ชอบแต่จะพยายามหาทางก้าวหน้าเรื่อยไป แม้แต่ท่านบวชเข้ามาใหม่ ก็มิใช่เมื่อบวชแล้วก็ฉันและจำวัด ได้มาอยู่กับพระผู้ปฏิบัติก็อยากจะทำให้เห็นจริงเห็นจังไปเสียเลย ความไม่ชอบอยู่นิ่งของท่านนี่เอง ทำให้ท่านต้องซักไซ้ไต่ถามหาความจริงเอากับท่านอาจารย์เสาร์ฯ อยู่ตลอดเวลา ท่านได้รบเร้าให้อาจารย์สอนกัมมัฏฐานให้ยิ่งขึ้น แต่อาจารย์ก็หมดความรู้จะสอนต่อไปท่านอาจารย์เสาร์ฯ ท่านเอ็นดูลูกศิษย์คนนี้ของท่านอย่างยิ่ง เรียกว่าศิษย์คนโปรดก็ว่าได้ ท่านจึงพาศิษย์ของท่านไปทุกหนทุกแห่ง ตามป่าเขาลำเนาไพร เพื่อแสวงหาความสงบแต่ก็ยังไม่ได้ผลเต็มที่ จึงได้พาธุดงค์ข้ามไปฝั่งประเทศลาว จนถึงเมืองหลวงพระบาง เมื่อได้ยินได้ฟังว่าอาจารย์ไหนเก่งทางสอนกัมมัฏฐาน ก็จะได้แวะไปพักอยู่และขอเรียนกัมมัฏฐานด้วย

    แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ยิ่งไปกว่าที่ท่านได้ปฏิบัติเรียนรู้มาแล้ว ที่สุดก็ย้อนลงมาที่ “เมืองท่าแขก” อยู่ฝั่งซ้าย (เขตอินโดจีน ซึ่งเป็นภูมิประเทศอันประกอบด้วยป่าเขาลำเนาไพร มีหมู ช้าง เสือ หมี ผีร้ายนานาประการ ตลอดจนไข้มาลาเรียก็ชุกชุม) แต่เป็นที่ประกอบไปด้วยความวิเวกวังเวงสงัดยิ่งนัก ซึ่งสมควรแก่ผู้แสวงหาบำเพ็ญสมณธรรมอยู่อาศัย จะได้ยังความไม่ประมาทให้เป็นไปในตน ปีนั้นท่านได้พักบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ที่ถ้ำแห่งหนึ่งใกล้กับบ้านถ้ำท่านทั้ง 3 ได้พักจำพรรษาอยู่ที่นั่น

    ในระหว่างพรรษานั้น ท่านอาจารย์เสาร์ฯ และสามเณรได้จับไข้มาลาเรีย มีอาการหนักบ้างเบาบ้าง ก็ไม่ถึงกับร้ายแรงจริง อาจารย์มั่นฯ ท่านได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า วันหนึ่งมีคณะอุบาสกอุบาสิกาได้นำผ้ามาบังสุกุล ท่านอาจารย์เสาร์ฯ จะต้องการตัดจีวร เราก็ต้องจัดทำทุกอย่าง กว่าจะเย็บเสร็จเพราะต้องเย็บด้วยมือใช้เวลาถึง 7 วันจึงเสร็จ พอยังไม่เสร็จดีเลย ไข้มันเกิดมาจับเอาเราเข้าให้แล้ว ทำให้เราต้องเกิดความวิตกกังวลขึ้นมา นึกในใจว่า เณรก็ไข้ อาจารย์ก็ไข้ เราก็กลับจะมาไข้เสียอีก ถ้าต่างคนต่างหนักใครเล่าจะดูแลรักษากัน ถ้าเกิดล้มตายกันเข้าใครจะเอาใครไปทิ้งไปเผากันเล่า เจ้ากรรมเอ๋ยอยู่ด้วยกัน 3 องค์ ก็เจ็บป่วยไปตามๆ กัน ยิ่งไปกว่านั้นอาจารย์ของเรานั่นแหละจะร้อนใจมาก

    ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านก็เล่าต่อไปว่า เราได้คิดมานะขึ้นมาในใจว่า บัดนี้เราไม่มีทางเลือกทางอื่นแล้ว ที่จะมาระงับเวทนานี้ได้ เพราะยาจะฉันแก้ไข้ก็ไม่มีเลย มีแต่กำลังอานุภาพแห่งภาวนานี้เท่านั้น เพราะว่าเรามาอยู่สถานที่นี้ ก็เพื่อจะอบรมตนในทางเจริญกัมมัฏฐานภาวนา เราจะมาคิดแส่ส่ายไปทางอื่นหาควรไม่ เราต้องเอาธรรมเป็นที่พึ่งจึงจะถูก แม้จะตายขอให้ตายด้วยการภาวนา ไม่ต้องท้อถอย อ่อนแอ จะต้องเป็นผู้กล้าหาญจึงจะจัดว่าเป็นนักพรตได้ แล้วเราก็ตัดสินใจปฏิบัติบูชาพระพุทธศาสนาด้วยข้อปฏิบัตินั้น ท่านจึงกำหนด พุทโธ เป็นบริกรรมต่อไปเพราะขณะนั้นท่านก็ยังไม่สันทัดใน
    การเจริญกัมมัฏฐานเท่าไร ครั้นบริกรรมพุทโธๆๆ ก็นึกถึงคำสอนของอาจารย์ขึ้นมาว่า…

    [​IMG] [​IMG]

    “กายนี้เป็นที่อาศัยของจิตและเป็นทางเดินของจิตเปรียบเสมือนแผ่นดิน ย่อมมีทางน้อยใหญ่เป็นที่สัญจรของหมู่สัตว์ทุกหมู่เหล่า กายนี้ก็เหมือนกัน ย่อมเป็นที่อยู่อาศัยของจิตและเป็นที่เที่ยวไปมาของจิตฉันนั้น ถ้าจิตมามัวยึดถือกายนี้ว่าเป็นตนอยู่เมื่อใด ย่อมได้รับความทุกข์ความเศร้าโศกเสียใจ มีความเดือดร้อนวุ่นวายอยู่เป็นนิตย์” ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านเล่าให้ข้าพเจ้าฟัง และก็ฟังกันหลายองค์ว่า

    เมื่อหมดหนทางเพราะไม่มีใครช่วยแล้ว เรานั่งสมาธิเข้าที่อยู่โดยการเสียสละกำหนดจิตแล้วทำความสงบ ทำให้เป็นหนึ่งแน่วแน่ ไม่ให้ออกนอกเป็นอารมณ์ได้เลย เพราะขณะนั้นทุกข์เวทนากล้าจริงๆ พอกำหนดความเป็นหนึ่ง นิ้งจริงๆ ครู่หนึ่งปรากฏว่าศีรษะลั่นเปรี๊ยะปร๊ะไปหมด จนเหงื่อไหลออกมาเหมือนรดน้ำ

    เมื่อออกจากสมาธิ ปรากฏว่าไข้ได้หายไปราวกับปลิดทิ้ง นี่เป็นการระงับอาพาธด้วยธรรมโอสถเป็นครั้งแรกของเรา เราได้พยาบาลอาจารย์ของเราได้อย่างเต็มที่ การเดินทางในครั้งนี้นั้นได้เป็นเช่นนี้หลายหน บางครั้งมาลาเรียขึ้นสมองแทบเอาชีวิตไม่รอด เมื่อลูกศิษย์อาจารย์ปรึกษากัน เห็นว่าไม่มีผลในการเดินธุดงค์อันทุรกันดารเช่นนี้แล้วต่างก็ชวนกันกลับประเทศไทย

    ตอนที่ 5 สถาปนาพระธาตุพนม : ท่านอาจารย์มั่น ได้เล่าขณะที่ข้าพเจ้าตำหมากถวายท่านเวลากลางวันต่อไปอีกว่า พวกเราก็ต้องเดินทางหลังจากออกพรรษาแล้ว รอนแรมตามฝั่งแม่น้ำโขงเรื่อยมา ณ ตามฝั่งแม่น้ำโขงนั้น ก็มีหมู่บ้านเป็นหย่อมๆ หลายก๊ก เช่น ภูไท ไทยดำ ลาวโซ่ง ท่านเล่าว่า ภูไทมีศรัทธาดีกว่าทุกก๊ก แต่ภูไทนี้การภาวนาจิตใจอ่อนรวมง่ายรักษาไม่ค่อยเป็น ส่วนลาวโซ่งนั้นไม่ค่อยเอาไหนเลย แต่ทุกๆ ก๊กก็ทำบุญนับถือพุทธทั้งนั้น เขาให้พวกเราได้มีชีวิตอยู่ก็นับว่าดี

    แต่ขณะนี้ตัวของเราเอง ก็ยังมองไม่เห็นธรรมของจริง ยังหาที่พึ่งแก่ตนยังไม่ได้ จะไปสอนผู้อื่นก็เห็นจะทำให้ตัวของเราเนิ่นช้า จึงไม่แสดงธรรมอะไร นอกจากเดินทางไป พักไป บำเพ็ญสมณธรรมไปตามแต่จะได้ ครั้งแล้วท่านอาจารย์เสาร์ฯ ก็พาข้ามแม่น้ำโขงกลับประเทศไทย ที่ท่าข้ามตรงกับพระธาตุพนมพอดี

    ท่านเล่าไปเคี้ยวหมากไปอย่างอารมณ์ดีว่าขณะนั้น “พระธาตุพนม” ไม่มีใครเหลียวแลดอก มีแต่เถาวัลย์นานาชนิดปกคลุมจนมิดเหลือแต่ยอด ต้นไม้รกรุงรังไปหมด ทั้ง 3 ศิษย์อาจารย์ ก็พากันพักอยู่ที่นั้น เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ขณะที่ท่านอยู่กันนั้น พอตกเวลากลางคืนประมาณ 4-5 ทุ่ม จะปรากฏมีแสงสีเขียววงกลมเท่ากับลูกมะพร้าว และมีรัศมีสว่างเป็นทางผุดออกจากยอดพระเจดีย์ แล้วก็ลอยห่างออกไปจนสุดสายตา และเมื่อถึงเวลาก่อนจะแจ้ง ตี 3-4 แสงนั้นจะลอยกลับเข้ามาจนถึงองค์พระเจดีย์ แล้วก็หายวับเข้าองค์พระเจดีย์ทั้ง 3 องค์

    ศิษย์อาจารย์ได้เห็นเป็นประจักษ์เช่นนั้นทุกๆ วัน ท่านอาจารย์เสาร์ กนฺสีลเถระ จึงพูดว่า “ที่พระเจดีย์นี้ ต้องมีพระบรมสารีริกธาตุอย่างแน่นอน” ในตอนนี้ผู้เขียนกับพระอาจารย์มั่นฯ ได้เดินธุดงค์มาพักอยู่ที่วัดอ้อมแก้ว มี 2 องค์เท่านั้น และมีตาปะขาวมาด้วยหนึ่งคน ท่านจึงมีโอกาสเล่าเรื่องราวเบื้องหลังให้ข้าพเจ้าฟัง ซึ่งน่าจะเป็นประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนจำได้ว่าปีที่พระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถระ คุณนายพวงจากจังหวัดอุบลราชธานี จะตีตั๋วให้ไปทางเครื่องบิน ท่านบอกว่า “เราจะเดินเอา” จึงได้พาผู้เขียนพร้อมด้วยตาปะขาวบ๊องๆ คนหนึ่ง ซึ่งไม่ค่อยจะเต็มเต็งเท่าไรนักไปด้วย เดินไปพักไป แนะนำธรรมะแก่ผู้เขียนไปพลาง จนไปถึงพระธาตุพนม เขตจังหวัดนครพนม แล้วท่านก็พาผู้เขียนพักอยู่ที่นี่ และได้ฟังท่านเล่าเรื่องราวของการสถาปนาพระธาตุพนมต่อไป

    ท่านได้ชักชวนญาติโยมทั้งหลายในละแวกนั้น ซึ่งก็มีอยู่ไม่กี่หลังคาเรือนและส่วนมากก็เป็นชาวนา ได้มาช่วยกันถากถางทำความสะอาดรอบบริเวณองค์พระเจดีย์นั้น ได้พาญาติโยมทำอยู่เช่นนี้ถึง 3 เดือนเศษๆ จึงค่อยสะอาดเป็นที่เจริญหูเจริญตามาตราบเท่าทุกวันนี้ เมื่อญาติโยมทำความสะอาดเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์ก็พาญาติโยมในละแวกนั้นทำมาฆบูชา ซึ่งขณะนั้นผู้คนแถวนั้นยังไม่รู้ถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด ทำให้พวกเขาเหล่านั้นเกิดศรัทธาเลื่อมใสอย่างจริงจัง จนได้ชักชวนกันมารักษาอุโบสถ ฝึกหัดกัมมัฏฐานทำสมาธิกับท่านอาจารย์ จนได้ประสบผลตามสมควร การพักอยู่ในบริเวณของพระธาตุพนมนี้ ทำให้จิตใจเบิกบานมาก และทำให้เกิดอนุสรณ์รำลึกถึงพระพุทธเจ้าได้อย่างดียิ่ง

    ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้เล่าต่อไปว่า ก่อนท่านจะกลับประเทศไทย ท่านเป็นโรคริดสีดวงจมูกประจำตัวมานาน โรคนั้นมักจะกำเริบบ่อยๆ จึงทำให้ท่านกำหนดเอาเวทนาเป็นอารมณ์ ด้วยอำนาจแห่งความเพียรที่ท่านกำหนดเอาเวทนาเป็นอารมณ์อย่างมิได้ท้อถอยนั้น วันหนึ่งจิตของท่านได้รวมเป็นอัปปนาสมาธิ ขณะที่จิตถอยออกจากอัปปนาสมาธิแล้ว ได้ปรากฏความรู้ที่น่าอัศจรรย์ขึ้นมาว่า โรคนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นมาจากกรรมในปัจจุบัน เนื่องจากได้กระทำกรรมไว้ และเมื่อใดได้พิจารณาตามรูปเรื่อง จนเห็นสมจริงตามความรู้นั้นทุกประการแล้ว จิตก็รวมลงเป็นอัปปนาสมาธิอีก คราวนี้ปรากฏว่าอีกาตัวหนึ่งมาจับอยู่บนศีรษะ แล้วมันก็เอาจะงอยปากจิกจมูกของท่านจนหมดไป ตั้งแต่นั้นมาโรคริดสีดวงจมูกของท่านก็หายไป นี่เป็นการระงับความอาพาธด้วยธรรมะโอสถเป็นครั้งที่ 2

    จากนั้น ท่านทั้ง 3 ก็ได้ออกเดินทางจาริกต่อไป และแสวงหาความสงบตามป่าดงพงพีไปเรื่อยๆ โดยมุ่งหวังเพื่อบรรลุธรรม แต่ก็ยังไม่สมความตั้งใจไว้ ต่อมาพระอาจารย์เสาร์ฯ ก็พากลับจังหวัดอุบลราชธานี อันเป็นถิ่นเดิมของท่าน

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.matichon.co.th/columnists/news_1396550
     

แชร์หน้านี้

Loading...