พระโมคคัลลานะทัวร์นรกสวรรค์ ถาม "ทำบุญ-กรรมอย่างไรจึงได้ผลอย่างนี้?"

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย วิมลเกียรติ์, 30 สิงหาคม 2007.

  1. วิมลเกียรติ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    588
    ค่าพลัง:
    +2,123
    ๘. โคณเปตวัตถุ ว่าด้วยลูกสอนพ่อ

    กุฎุมพีผู้เป็นบิดาถามสุชาตกุมารว่า
    [๙๓] เจ้าเป็นบ้าไปแล้วหรือ จึงเกี่ยวหญ้าอันเขียวสดแล้วบังคับโคแก่อันเป็น
    สัตว์ตายแล้วว่า จงกิน จงกิน อันโคตายแล้วย่อมไม่ลุกขึ้นกินหญ้า
    และน้ำมิใช่หรือ เจ้าเป็นทั้งคนพาลทั้งมีปัญญาทรามเหมือนคนอื่น ที่มี
    ปัญญาทรามฉะนั้น?
    สุชาตกุมารตอบว่า
    โคตัวนี้ยังมีเท้าทั้ง ๔ มีศีรษะ มีตัวพร้อมทั้งหาง นัยน์ตาก็มีอยู่ตามเดิม
    ข้าพเจ้าคิดว่าโคตัวนี้พึงลุกขึ้นกินหญ้าสักวันหนึ่ง ส่วนมือ เท้า กาย
    และศีรษะของปู่ไม่ปรากฏ แต่คุณพ่อมาร้องไห้ถึงกระดูกของปู่ที่บรรจุไว้
    ในสถูปดิน ไม่เป็นคนโง่หรือ.
    กุฎุมพีได้ฟังคำนั้นแล้ว จึงกล่าวสรรเสริญสุชาตกุมารว่า
    เจ้าดับความกระวนกระวายทั้งปวงของเรา ผู้เร่าร้อนอยู่ให้หาย เหมือน
    บุคคลดับไฟอันลาดด้วยน้ำมัน ด้วยน้ำฉะนั้น ได้ถอนขึ้นแล้วหนอ
    ซึ่งลูกศรคือความโศก อันเสียบแล้วที่หทัยของบิดา บิดาผู้มีลูกศรอัน
    เจ้าถอนขึ้นแล้ว เป็นผู้เย็นสงบแล้ว ดูกรมาณพ ต่อไปนี้บิดาจะไม่
    เศร้าโศกจะไม่ร้องไห้ เพราะฟังคำของเจ้า ชนเหล่าใดที่มีปัญญามีความ
    อนุเคราะห์ต่อมารดาบิดา ชนเหล่านั้นย่อมทำอย่างนี้ ย่อมยังมารดาบิดา
    ให้หายจากความเศร้าโศก ฉะนั้น.
    จบ โคณเปตวัตถุที่ ๘
     
  2. วิมลเกียรติ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    588
    ค่าพลัง:
    +2,123
    ๙. มหาเปสการเปตวัตถุ ว่าด้วยบุพกรรมของเปรตกินมูตรคูถ

    ภิกษุรูปหนึ่งถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า
    [๙๔] หญิงเปรตนี้กินคูถ มูตร โลหิต และหนอง นี้เป็นวิบากแห่งกรรมอะไร
    หญิงเปรตนี้ เมื่อก่อนได้ทำกรรมอะไรไว้ จึงมีเลือดและหนองเป็นภักษา
    เป็นนิจ ผ้าทั้งหลายอันใหม่และงาม อ่อนนุ่ม บริสุทธิ์ มีขนอ่อน
    อันท่านให้แล้วแก่หญิงเปรตนี้ ย่อมกลายเป็นเหล็กไป เมื่อก่อนหญิง
    เปรตนี้ได้ทำกรรมอะไรไว้หนอ?
    เทพบุตรนั้นตอบว่า
    ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อก่อน หญิงเปรตนี้เป็นภรรยาของข้าพเจ้า มีความ
    ตระหนี่เหนียวแน่น ไม่ให้ทาน นางได้ด่าและบริภาษข้าพเจ้าผู้กำลังให้
    ทานแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลายว่า จงกินคูถ มูตร เลือด และหนอง
    อันไม่สะอาดตลอดกาลทุกเมื่อ คูถ มูตร เลือด และหนอง จงเป็น
    อาหารของท่านในปรโลก แผ่นเหล็กจงเป็นผ้าของท่าน นางมาเกิดใน
    ที่นี้กินแต่คูถและมูตรเป็นต้นตลอดกาลนาน เพราะประพฤติชั่วเช่นนี้.
    จบ มหาเปสการเปตวัตถุที่ ๙
     
  3. วิมลเกียรติ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    588
    ค่าพลัง:
    +2,123
    ๑๐. ขลาตยเปตวัตถุ ว่าด้วยบุพกรรมของเปรตเปลือย

    หัวหน้าพ่อค้าถามหญิงเปรตตนหนึ่งว่า
    [๙๕] ท่านเป็นใครหนออยู่ภายในวิมานนี้ ไม่ออกจากวิมานเลย ดูกรนางผู้เจริญ
    เชิญท่านออกมาเถิด ข้าพเจ้าจะขอดูท่านผู้มีฤทธิ์?
    นางเวมานิกเปรตฟังคำถามดังนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า
    ดิฉันเป็นหญิงเปลือยกาย มีแต่ผมปิดบังไว้ กระดากอายที่จะออกภายนอก
    ดิฉันได้ทำบุญไว้น้อยนัก.
    พ่อค้ากล่าวว่า
    ดูกรนางผู้มีรูปงาม เอาเถอะ ข้าพเจ้าจะให้ผ้าเนื้อดีแก่ท่าน เชิญท่าน
    นุ่งผ้านี้ แล้วจงออกมาภายนอก เชิญออกมาภายนอกวิมานเถิด ข้าพเจ้า
    จะขอดูผู้มีฤทธิ์มาก.
    นางเวนิกเปรตตอบว่า
    ผ้านั้นถึงท่านจะให้ที่มือของดิฉันเอง ก็ไม่สำเร็จแก่ดิฉัน ถ้าในหมู่ชนนี้
    มีอุบาสกผู้มีศรัทธา เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอท่านจงให้
    อุบาสกนั้นนุ่งห่มผ้าที่ท่านจะให้ดิฉันแล้วอุทิศส่วนกุศลให้ดิฉัน เมื่อ
    ท่านทำอย่างนั้น ดิฉันจึงจะได้นุ่งห่มผ้านี้ตามปรารถนา ถึงซึ่งความสุข.
    พ่อค้าทั้งหลายได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงให้อุบาสกนั้นอาบน้ำ ลูบไล้แล้วให้นุ่งห่มผ้า แล้ว
    อุทิศส่วนกุศลให้นางเวมานิกเปรตนั้น พระสังคีติกาจารย์เมื่อจะประกาศเนื้อความนั้น ได้กล่าว
    คาถา ๓ คาถา ความว่า
    ก็พ่อค้าเหล่านั้นยังอุบาสกนั้นให้อาบน้ำ ลูบไล้ด้วยของหอมแล้วให้นุ่ง
    ห่มผ้า แล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้นางเวมานิกเปรตนั้น ในทันตาเห็นนั้น
    เอง วิบากย่อมบังเกิดขึ้นแก่นางเวมานิกเปรตนั้น โภชนะ เครื่องนุ่งห่ม
    และน้ำดื่ม ย่อมบังเกิดขึ้น นี้เป็นผลแห่งทักษิณา ลำดับนั้น นางมี
    สรีระบริสุทธิ์ นุ่งห่มผ้าสะอาด งามดีกว่าแคว้นกาสี เดินยิ้มออกมาจาก
    วิมานประกาศว่า นี้เป็นผลแห่งทักษิณา.
    พ่อค้าเหล่านั้นถามว่า
    วิมานของท่านงดงาม มีรูปภาพวิจิตรดี สว่างไสว ดูกรนางเทพธิดา
    พวกข้าพเจ้าถามแล้วขอท่านจงบอก นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไร?
    นางเทพธิดานั้นตอบว่า
    เมื่อดิฉันเป็นมนุษย์อยู่นั้น มีจิตเลื่อมใส ได้ถวายแป้งคั่วอันเจือด้วย
    น้ำมัน แก่ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต มีจิตซื่อตรง ดิฉันเสวยวิบากแห่ง
    กุศลกรรมนั้นในวิมานนี้สิ้นกาลนาน ก็ผลบุญนั้น เดี๋ยวนี้ยังเหลือ
    นิดหน่อย พ้น ๔ เดือนไปแล้ว ดิฉันจักจุติจากวิมานนี้ จักไปตกนรก
    อันเร่าร้อนสาหัส มี ๔ เหลี่ยม มี ๔ ประตู จำแนกเป็นห้องๆ ล้อม
    ด้วยกำแพงเหล็ก ครอบด้วยแผ่นเหล็ก พื้นนรกนั้นล้วนเป็นเหล็กแดง
    ลุกเป็นเปลวเพลิง ประกอบด้วยความร้อน แผ่ไปตลอดร้อยโยชน์
    โดยรอบ ตั้งอยู่ทุกเมื่อ ดิฉันจักต้องเสวยทุกขเวทนาในนรกนั้นตลอด
    กาลนาน ก็การเสวยทุกข์เช่นนี้เป็นผลแห่งกรรมชั่ว เพราะฉะนั้น ดิฉัน
    จึงเศร้าโศกที่จะไปเกิดในนรกนั้น.
    จบ ขลาตยเปตวัตถุที่ ๑๐
     
  4. วิมลเกียรติ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    588
    ค่าพลัง:
    +2,123
    ๑๑. นาคเปตวัตถุ ว่าด้วยบุพกรรมของเปรตกินน้ำเลือดน้ำหนอง

    สามเณรถามว่า
    [๙๖] คนหนึ่งขี่ช้างเผือกไปข้างหน้า คนหนึ่งขี่รถเทียมด้วยม้าอัสดรไปท่ามกลาง
    นางสาวน้อยขึ้นวอไปข้างหลัง เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทศทิศ ส่วน
    ท่านทั้งหลายมือถือฆ้อนเดินร้องไห้ มีหน้าชุ่มไปด้วยน้ำตา มีตัวเป็น
    แผลแตกพัง ท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบาปอะไรไว้ ท่านทั้งหลายดื่มกิน
    โลหิตของกันและกัน เพราะกรรมอะไร?
    เปรตทั้งสองได้ฟังสามเณรถามจึงตอบว่า
    ผู้ใดขี่ช้างเผือกชาติกุญชรมี ๔ เท้าไปข้างหน้า คนนั้นเป็นบุตรหัวปีของ
    ข้าพเจ้าทั้งสอง เมื่อเป็นมนุษย์เขาได้ถวายทานแก่สงฆ์ จึงได้รับความสุข
    บันเทิงใจ ผู้ใดขี่รถเทียมด้วยม้าอัสดร ๔ ม้า แล่นเรียบไปท่ามกลาง
    ผู้นั้นเป็นบุตรคนกลางของข้าพเจ้าทั้งสอง เมื่อเขาเป็นมนุษย์เป็นคนไม่
    ตระหนี่ เป็นทานบดีรุ่งโรจน์อยู่ นารีที่มีปัญญา ดวงตากลมงาม
    รุ่งเรืองดุจตาเนื้อ ขึ้นวอมาข้างหลัง ผู้นั้นเป็นธิดาคนสุดท้ายของข้าพเจ้า
    ทั้งสอง นางมีความสุขเบิกบานใจ เพราะส่วนแห่งทานกึ่งส่วน เมื่อ
    ก่อนเขาทั้งสามมีจิตเลื่อมใส ได้ให้ทานแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ส่วน
    ข้าพเจ้าทั้งสองเป็นคนตระหนี่ บริภาษสมณพราหมณ์ทั้งหลาย เขาทั้ง
    สามนี้ถวายทานแล้ว บำรุงบำเรอด้วยกามคุณอันเป็นทิพย์ ส่วนข้าพเจ้า
    ทั้งสองซูบซีดอยู่ ดุจไม้อ้ออันไฟไหม้ ฉะนั้น.
    สามเณรถามว่า
    อะไรเป็นโภชนะของท่าน อะไรเป็นที่นอนของท่าน และท่านมีบาปธรรม
    อย่างยิ่ง ยังอัตภาพให้เป็นไปอย่างไร เมื่อโภคะเป็นอันมากมีอยู่ไม่น้อย
    ท่านหน่ายสุข ได้เสวยทุกข์ในวันนี้?
    เปรตทั้งสองตอบว่า
    ข้าพเจ้าทั้งสองดีซึ่งกันและกัน แล้วกินหนองและเลือดของกันและกัน
    ได้ดื่มหนองและเลือดเป็นอันมาก ก็ยังไม่หายอยาก มีความหิวอยู่เป็น
    นิจ สัตว์ทั้งหลายไม่ให้ทาน ละไปแล้ว เกิดในยมโลก ย่อมร่ำไรอยู่
    เหมือนข้าพเจ้าทั้งสองฉะนั้น สัตว์เหล่าใด ได้ประสบโภคะต่างๆ แล้ว
    ไม่ใช้สอยเอง ทั้งไม่ทำบุญ สัตว์เหล่านั้นจักต้องหิวกระหายในปรโลก
    ภายหลังถูกความหิวแผดเผาไหม้อยู่สิ้นกาลนาน ครั้นทำกรรมทั้งหลาย
    มีผลเผ็ดร้อน มีทุกข์เป็นกำไรแล้ว ย่อมได้เสวยทุกข์ ก็บัณฑิตทั้งหลาย
    รู้ทรัพย์และข้าวเปลือกเป็นอย่างหนึ่ง รู้ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในมนุษย์
    โลกนี้เป็นอย่างหนึ่ง รู้ทรัพย์และข้าวเปลือกและชีวิตมนุษย์เป็นอีกอย่าง
    หนึ่ง จากสิ่งนอกนี้แล้ว พึงทำที่พึ่งของตน ชนเหล่าใดเป็นผู้ฉลาด
    ในธรรม ฟังคำของพระอรหันต์ทั้งหลายแล้ว มารู้ชัดอย่างนี้ ชนเหล่า
    นั้นย่อมไม่ประมาทในทาน.
    จบ นาคเปตวัตถุที่ ๑๑
     
  5. วิมลเกียรติ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    588
    ค่าพลัง:
    +2,123
    ๑๒. อุรคเปตวัตถุ ว่าด้วยการไม่ร้องไห้ถึงผู้ตาย

    พราหมณ์ได้ฟังดังนั้นแล้ว เมื่อจะบอกเหตุแห่งการไม่เศร้าโศก จึงกล่าวคาถา ๒ คาถา
    ความว่า
    [๙๗] บุตรของเรา ละสรีระอันคร่ำคร่าของตนไป เหมือนงูลอกคราบฉะนั้น
    เมื่อสรีระแห่งบุตรของเรา ใช้สอยไม่ได้ ละไปแล้ว มีกาละอันกระทำ
    แล้วอย่างนี้ บุตรของเราเมื่อญาติเผาอยู่ ย่อมไม่รู้สึกถึงความร่ำไรของ
    ญาติทั้งหลาย เพราะฉะนั้น เราจึงไม่เศร้าโศกถึงเขา คติของเขามี
    อย่างไร เขาได้ไปสู่คตินั้น.
    นางพราหมณีกล่าวว่า
    บุตรของดิฉัน ดิฉันไม่ได้เชิญมา มาแล้วจากปรโลก ดิฉันไม่ได้อนุญาต
    ให้ไป ก็ไปแล้วจากมนุษยโลกนี้ เขามาอย่างไร เขาก็ไปอย่างนั้น
    ทำไมจะต้องไปร่ำไรในการไปจากโลกนี้ของเขาเล่า บุตรของดิฉันเมื่อ
    พวกญาติเผาอยู่ ย่อมไม่รู้สึกถึงความร่ำไรของหมู่ญาติ เพราะฉะนั้น
    ดิฉันจึงไม่ร้องไห้ถึงบุตรนั้น คติของเขามีอย่างไร เขาได้ไปสู่คตินั้นแล้ว.
    น้องสาวกล่าวว่า
    ถ้าดิฉันร้องไห้ ก็จะเป็นผู้ซูบผอม ผลอะไรจะพึงมีแก่ดิฉัน ในการ
    ร้องไห้นั้น ความไม่สบายใจก็จะพึงมีแก่ญาติและมิตรสหายทั้งหลายโดย
    ยิ่ง พี่ชายของดิฉันอันญาติเผาอยู่ ย่อมไม่รู้สึกถึงความร่ำไรของญาติ
    ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงไม่ร้องไห้ถึงพี่ชายของดิฉันนั้น คติ
    ของเขามีอย่างไร เขาได้ไปสู่คตินั้นแล้ว.
    ส่วนภรรยาของเขากล่าวว่า
    ผู้ใดเศร้าโศกถึงคนที่ล่วงลับไปแล้ว ผู้นั้นก็เปรียบเหมือนทารกร้องไห้ถึง
    พระจันทร์ อันลอยอยู่ในอากาศฉะนั้น สามีของดิฉันอันญาติเผาอยู่
    ย่อมไม่รู้สึกถึงความร่ำไรของพวกญาติ เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงไม่ร้องไห้
    ถึงเขา คติของเขามีอย่างไร เขาได้ไปแล้วสู่คตินั้น.
    ส่วนนางทาสีกล่าวว่า
    ข้าแต่ท่านผู้เป็นว่านเครือแห่งพรหม หม้อน้ำอันแตกแล้วพึงประสานให้
    ติดอีกไม่ได้ ฉันใด ผู้ใดเศร้าโศกถึงผู้ล่วงลับไปแล้ว ผู้นั้นก็เปรียบ
    เหมือนฉันนั้น นายของดิฉันอันพวกญาติเผาอยู่ ย่อมไม่รู้สึกถึงความ
    ร่ำไรของญาติทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงไม่ร้องไห้ถึงท่าน คติของ
    ท่านมีอย่างไร ท่านได้ไปสู่คตินั้นแล้ว.
    จบ อุรคเปตวัตถุที่ ๑๒
     
  6. วิมลเกียรติ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    588
    ค่าพลัง:
    +2,123
    รวมเรื่องในอุรควรรค คือ
    ๑. เขตตูปมาเปตวัตถุ ๒. สูกรเปตวัตถุ
    ๓. ปูติมุขเปตวัตถุ ๔. ปิฏฐธีตลิกเปตวัตถุ
    ๕. ติโรกุฑฑเปตวัตถุ ๖. ปัญจปุตตขาทิกเปตวัตถุ
    ๗. สัตตปุตตขาทิกเปตวัตถุ ๘. โคณเปตวัตถุ
    ๙. มหาเปสการเปตวัตถุ ๑๐. ขลาตยเปตวัตถุ
    ๑๑. นาคเปตวัตถุ ๑๒. อุรคเปตวัตถุ.
    จบ อุรควรรคที่ ๑.
    -----------​
     
  7. วิมลเกียรติ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    588
    ค่าพลัง:
    +2,123
    อุพพรีวรรคที่ ๒

    ๑. สังสารโมจกเปตวัตถุ ว่าด้วยไม่ทำบุญไปเป็นนางเปรต

    ท่านพระสารีบุตรเถระถามนางเปรตตนหนึ่งว่า
    [๙๘] ท่านเป็นผู้เปลือยกาย มีรูปร่างน่าเกลียด ซูบผอม สะพรั่งไปด้วย
    เส้นเอ็น ดูกรนางผู้ซูบผอมมีแต่ซี่โครง ท่านเป็นใครเล่ามายืนอยู่ในที่นี้?
    นางเปรตนั้นตอบว่า
    ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันเป็นเปรต เข้าถึงทุคติเกิดในยมโลก ได้ทำกรรม
    อันชั่วไว้ จึงไปจากมนุษยโลกสู่เปตโลก.
    พระเถระถามว่า
    ท่านทำกรรมชั่วอะไรด้วยกาย วาจา ใจ เล่า ท่านไปจากมนุษยโลกนี้
    สู่เปตโลก เพราะวิบากแห่งกรรมอะไร?
    นางเปรตนั้นตอบว่า
    ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ชนเหล่าใดเป็นบิดาก็ดี มารดาก็ดี หรือแม้เป็นญาติ
    ผู้มีจิตเลื่อมใส พึงชักชวนดิฉันว่า จงให้ทานแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย
    ชนผู้อนุเคราะห์แก่ดิฉันเช่นนั้นมิได้มี เพราะไม่ได้ทำกุศลกรรมมีทาน
    เป็นต้น ดิฉันจึงเป็นเปรตเปลือยกาย ถูกความหิวและความกระหาย
    เบียดเบียนเที่ยวไปเช่นนี้ตลอด ๕๐๐ ปี นี่เป็นผลแห่งบาปกรรมของ
    ดิฉัน ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ดิฉันมีจิตเลื่อมใสจะขอไหว้ท่าน ข้าแต่
    ท่านผู้แกล้วกล้า มีอานุภาพมาก ขอท่านจงอนุเคราะห์แก่ดิฉันเถิด ขอ
    ท่านจงให้ทานอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วจงอุทิศกุศลมาให้ดิฉันบ้าง ขอ
    ท่านจงเปลื้องดิฉันจากทุคติด้วยเถิด.
    ท่านพระสารีบุตรเถระผู้มีใจอนุเคราะห์ รับคำของนางเปรตนั้นแล้ว จึง
    ถวายข้าวคำหนึ่ง ผ้าประมาณเท่าฝ่ามือผืนหนึ่ง และน้ำดื่มขันหนึ่ง แก่
    ภิกษุรูปหนึ่งแล้ว อุทิศส่วนบุญไปให้นางเปรตนั้น พอท่านพระสารีบุตร
    เถระอุทิศส่วนบุญให้ ข้าวน้ำและเครื่องนุ่งห่ม ก็บังเกิดขึ้นทันที นี่
    เป็นผลแห่งทักษิณา ภายหลังนางเปรตนั้นมีร่างกายบริสุทธิ์ นุ่งห่มผ้า
    อันสะอาด มีค่ามากยิ่งกว่าผ้าแคว้นกาสี มีวัตถาภรณ์อันวิจิตรงดงาม
    เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรเถระ.
    พระสารีบุตรเถระถามว่า
    ดูกรนางเทพธิดา ท่านมีวรรณะงามยิ่งนัก ส่องสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ
    สถิตอยู่ดุจดาวประกายพฤกษ์ ท่านมีวรรณะเช่นนี้ เพราะกรรมอะไร
    อิฏฐผลย่อมสำเร็จแก่ท่านในวิมานนี้ เพราะกรรมอะไร และโภคะทุกสิ่ง
    ทุกอย่างอันเป็นที่รักแห่งใจ ย่อมเกิดขึ้นแก่ท่านเพราะกรรมอะไร ดูกร
    นางเทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก เราขอถามท่าน ท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำ
    บุญอะไรไว้ อนึ่ง ท่านมีอานุภาพอันรุ่งเรือง และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่ว
    ทุกทิศอย่างนี้ เพราะกรรมอะไร?
    นางเทพธิดานั้นตอบว่า
    เมื่อก่อนดิฉันเป็นเปรต พระคุณเจ้าเป็นมุนีมีความกรุณาในโลก ได้เห็น
    ดิฉันซูบผอม ถูกความหิวแผดเผา เปลือยกาย มีหนังแตกเป็นริ้วรอย
    เสวยทุกขเวทนา ได้ให้ข้าวคำหนึ่ง ผ้าประมาณเท่าฝ่ามือผืนหนึ่ง น้ำ
    ขันหนึ่ง แก่ภิกษุ แล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ดิฉัน ขอท่านจงดูผลแห่ง
    ข้าวคำหนึ่งที่พระคุณเจ้าให้แล้ว ดิฉันเป็นผู้ประกอบด้วยกามที่น่า
    ปรารถนา บริโภคอาหารมีกับข้าวมีรสหลายอย่าง ตั้งพันๆ ปี ขอพระ
    คุณท่านจงดูผลแห่งการให้ผ้าประมาณเท่าฝ่ามือ ดิฉันได้รับนี้เถิด ข้าแต่
    พระคุณเจ้าผู้เจริญ ผ้าในแว่นแคว้นของพระเจ้านันทราชมีประมาณ
    เท่าใด ผ้านุ่งผ้าห่มของดิฉันมีมากกว่านั้นอีก คือ ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์
    ผ้าป่าน ผ้าฝ้าย ผ้าแม้เหล่านั้น ทั้งกว้างทั้งยาว ทั้งมีค่ามาก ห้อยอยู่
    ในอากาศ ดิฉันเลือกเอาแต่ผืนที่พอใจนุ่งห่ม ขอพระคุณท่านจงดูผล
    แห่งการให้น้ำขันหนึ่งซึ่งดิฉันได้รับอยู่นี้ สระโบกขรณี ๔ เหลี่ยมลึก
    อันบุญกรรมสร้างให้ดีแล้ว มีน้ำใส มีท่าราบเรียบ มีน้ำเย็น มีกลิ่นหอม
    หาสิ่งเปรียบมิได้ ดาดาษไปด้วยดอกปทุมและดอกอุบล เต็มไปด้วยน้ำ
    อันดาดาษไปด้วยเกษรบัว ดิฉันปราศจากภัย ย่อมรื่นรมย์ ชื่นชม
    บันเทิงใจ ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ดิฉันมาเพื่อจะไหว้พระคุณเจ้าผู้เป็น
    ปราชญ์ มีความกรุณาในโลก.
    จบ สังสารโมจกเปตวัตถุที่ ๑
     
  8. วิมลเกียรติ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    588
    ค่าพลัง:
    +2,123
    ๒. สาริปุตตเถรมาตุเปติวัตถุ ว่าด้วยนางเปรตเคยเป็นมารดาพระสารีบุตร

    พระสารีบุบุตรเถระถามหญิงเปรตตนหนึ่งว่า
    [๙๙] ดูกรนางเปรตผู้ผอมมีแต่ซี่โครง ท่านเป็นผู้เปลือยกาย มีรูปร่างน่าเกลียด
    ซูบผอม มีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ท่านเป็นใครหรือ มายืนอยู่ในที่นี้?
    นางเปรตนั้นตอบว่า
    เมื่อก่อนดิฉันเป็นมารดาของท่าน ในชาติเหล่าอื่น ดิฉันเข้าถึงเปรตวิสัย
    เพรียบพร้อมไปด้วยความหิวและความกระหาย เมื่อถูกความหิวครอบงำ
    แล้ว ย่อมกินน้ำลาย น้ำมูก เสมหะอันเขาถ่มทิ้งแล้ว และกินมันเหลว
    แห่งซากศพที่เขาเผาอยู่ที่เชิงตะกอน กินโลหิตของหญิงทั้งหลายที่คลอด
    บุตรและโลหิตแห่งบุรุษทั้งหลายที่ถูกตัดมือ เท้า และศีรษะที่เป็นแผล
    กินเนื้อ เอ็น และข้อมือข้อเท้าเป็นต้นของชายหญิง กินหนองและ
    และเลือดแห่งปศุสัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อยู่อาศัย
    นอนบนเตียงของผู้ตาย ซึ่งเขาทิ้งไว้ในป่าช้า ลูกเอ๋ย ขอลูกจงให้ทาน
    แล้วอุทิศส่วนบุญมาให้แม่บ้าง ไฉนหนอ แม่จึงจะพ้นจากการกินหนอง
    และเลือด.
    ทานพระสารีบุตรเถระผู้มีจิตอนุเคราะห์ ได้ฟังคำของมารดาแล้ว จึง
    ปรึกษากับท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ ท่านพระอนุรุทธะ และท่าน
    พระกัปปินะ แล้วให้สร้างกุฎี ๔ หลัง ในทิศทั้ง ๔ แล้วถวายกุฎี
    เหล่านั้น ข้าวและน้ำแก่สงฆ์ อุทิศส่วนกุศลไปให้มารดา ในทันใด
    นั้นเอง ข้าว น้ำและผ้า ก็บังเกิดเป็นวิบาก นี้เป็นผลแห่งทักษิณา
    ภายหลังนางมีร่างกายบริสุทธิ์สะอาด นุ่งห่มผ้าอันมีค่ายิ่งกว่าผ้าแคว้นกาสี
    ประดับด้วยวัตถาภรณ์อันวิจิตรเข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ.
    ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระจึงถามว่า
    ดูกรนางเทพธิดา ท่านมีวรรณะงามยิ่งนัก ส่องสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ
    สถิตอยู่ดุจดาวประกายพฤกษ์ ท่านมีวรรณะเช่นนี้ เพราะกรรมอะไร
    อิฐผลย่อมสำเร็จแก่ท่านในวิมานนี้ เพราะกรรมอะไร และโภคะทุกสิ่ง
    ทุกอย่างอันเป็นที่รักแห่งใจ ย่อมบังเกิดแก่ท่านเพราะกรรมอะไร ดูกร
    นางเทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามท่าน เมื่อท่านเป็นมนุษย์
    ได้ทำบุญอะไรไว้ อนึ่ง ท่านมีอานุภาพรุ่งเรืองและมีรัศมีกายสว่างไสว
    ไปทั่วทุกทิศอย่างนี้ เพราะบุญอะไร?
    นางเทพธิดานั้นตอบว่า
    เมื่อก่อน ดิฉันเป็นมารดาของท่านพระสารีบุตรเถระ ในชาติอื่นๆ เกิด
    ในเปตวิสัย เพรียบพร้อมไปด้วยความหิวและความกระหาย เมื่อถูก
    ความหิวครอบงำแล้ว จึงกินน้ำลาย น้ำมูก เสมหะอันเขาถ่มทิ้งไว้
    และกินมันเหลวแห่งซากศพที่เขาเผาอยู่บนเชิงตะกอน กินโลหิตของ
    หญิงที่คลอดบุตรและโลหิตแห่งบุรุษทั้งหลายซึ่งถูกตัดมือ เท้า และศรีษะ
    ที่เป็นแผล กินเนื้อ เอ็น ข้อมือและข้อเท้าของชายหญิง กินหนอง
    และเลือดของปศุสัตว์และมนุษย์ ดิฉันไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อยู่อาศัย
    นอนบนเตียงของคนตาย ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ดิฉันเป็นผู้ไม่มีภัยแต่
    ที่ไหนๆ บันเทิงอยู่ เพราะทานของท่านพระสารีบุตร ข้าแต่ท่านผู้เจริญ
    ดิฉันมาครั้งนี้ เพื่อจะไหว้ท่านสารีบุตรผู้เป็นนักปราชญ์ มีความกรุณา
    ในโลก.
    จบ สาริปุตตเถรมาตุเปติวัตถุที่ ๒
     
  9. วิมลเกียรติ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    588
    ค่าพลัง:
    +2,123
    ๓. มัตตาเปติวัตถุ ว่าด้วยบุญกรรมของนางมัตตาเปรต

    นางติสสาถามหญิงเปรตคนหนึ่งว่า
    [๑๐๐] ดูกรนางเปรตผู้ซูบผอมมีแต่ซี่โครง ท่านเป็นผู้เปลือยกาย มีรูปร่าง
    น่าเกลียด ซูบผอม มีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ท่านเป็นใคร มายืนอยู่
    ในที่นี้?
    นางเปรตนั้นตอบว่า
    เมื่อก่อน ท่านชื่อติสสา ส่วนฉันชื่อมัตตาเป็นหญิงร่วมสามีกับท่าน
    ได้ทำกรรมอันลามกไว้ จึงไปจากมนุษยโลกนี้สู่เปตโลก.
    นางติสสาถามว่า
    ท่านได้ทำกรรมชั่วอะไรไว้ด้วยกาย วาจา ใจ หรือเพราะวิบากแห่งกรรม
    อะไร ท่านจึงไปจากมนุษยโลกนี้สู่เปตโลก?
    นางเปรตนั้นตอบว่า
    ฉันเป็นหญิงดุร้ายและหยาบคาย มักหึงหวง มีความตระหนี่ เป็นคน
    โอ้อวด ได้กล่าววาจาชั่วกะท่าน จึงไปจากโลกนี้สู่เปตโลก.
    นางติสสากล่าวว่า
    เรื่องนี้เป็นความจริง แม้ฉันก็รู้ว่า ท่านเป็นหญิงดุร้ายอย่างไร แต่อยาก
    จะถามท่านอย่างอื่น ท่านมีสรีระเปื้อนฝุ่น เพราะกรรมอะไร?
    นางเปรตนั้นตอบว่า
    ท่านกับฉันพากันอาบน้ำแล้ว นุ่งห่มผ้าอันสะอาด ตบแต่งร่างกายแล้ว
    แต่ฉันแต่งร่างกายเรียบร้อยยิ่งกว่าท่าน เมื่อฉันแลดูท่านคุยอยู่กับสามี
    ลำดับนั้น ความริษยาและความโกรธได้เกิดแก่ฉันเป็นอันมาก ทันใด
    นั้นฉันจึงกวาดเอาฝุ่นโปรยลงรดท่าน ฉันมีสรีระเปื้อนด้วยฝุ่น เพราะ
    วิบากแห่งกรรมนั้น.
    นางติสสากล่าวว่า
    เรื่องนี้เป็นความจริง แม้ฉันก็รู้ว่า ท่านเอาฝุ่นโปรยใส่ฉัน แต่ฉันอยากจะ
    ถามท่านอย่างอื่น ท่านเป็นหิดคันไปทั่วตัว เพราะกรรมอะไร?
    นางเปรตนั้นตอบว่า
    เราทั้งสองเป็นคนหายา ได้พากันไปป่า ส่วนท่านหายามาได้ แต่ฉัน
    นำเอาผลหมามุ้ยมา เมื่อท่านเผลอ ฉันได้โปรยหมามุ้ยลงบนที่นอน
    ของท่าน ฉันเป็นหิตคันไปทั่วทั้งตัวเพราะวิบากแห่งกรรมนั้น.
    นางติสสากล่าวว่า
    เรื่องนี้เป็นความจริง แม้ฉันก็รู้ว่า ท่านโปรยผลหมามุ้ยลงบนที่นอน
    ของฉัน แต่ฉันอยากจะถามท่านอย่างอื่น ท่านเป็นผู้เปลือยกายเพราะ
    กรรมอะไร?
    นางเปรตนั้นตอบว่า
    วันหนึ่ง ได้มีการประชุมพวกมิตรสหายและญาติทั้งหลาย ส่วนท่าน
    ได้รับเชิญ แต่ฉันซึ่งร่วมสามีกับท่านไม่มีใครเชิญ เมื่อท่านเผลอฉันได้
    ลักผ้าของท่านซ่อนเสีย ฉันเป็นผู้เปลือยกายเพราะวิบากแห่งกรรมนั้น.
    นางติสสากล่าวว่า
    เรื่องนี้เป็นความจริง แม้ฉันก็รู้ว่า ท่านได้ลักผ้าของฉันไปซ่อน แต่ฉัน
    อยากจะถามท่านอย่างอื่น ท่านมีกลิ่นกายเหม็นดังคูถ เพราะ
    กรรมอะไร?
    นางเปรตนั้นตอบว่า
    ฉันได้ลักของหอม ดอกไม้ และเครื่องลูบไล้ อันมีค่ามากของท่าน
    ท่านทิ้งลงในหลุมคูถ บาปนั้นฉันได้ทำไว้แล้ว ฉันมีกลิ่นกายเหม็น
    ดังคูถ เพราะวิบากแห่งกรรมนั้น.
    นางติสสากล่าวว่า
    เรื่องนี้เป็นความจริง แม้ฉันก็รู้ว่า บาปนั้นท่านทำไว้แล้ว แต่ฉันอยาก
    จะถามท่านอย่างอื่น ท่านเป็นคนยากจนเพราะกรรมอะไร?
    นางเปรตนั้นตอบว่า
    ทรัพย์สิ่งใดมีอยู่ในเรือน ทรัพย์นั้นของเราทั้งสองมีเท่าๆ กัน เมื่อ
    ไทยธรรมมีอยู่ แต่ฉันไม่ได้ทำที่พึ่งแก่ตน ฉันเป็นคนยากจนเพราะวิบาก
    แห่งกรรมนั้น ครั้งนั้น ท่านได้ว่ากล่าวตักเตือนฉัน ห้ามไม่ให้ทำบาป
    กรรมว่า ท่านจะไม่ได้สุคติเพราะกรรมอันลามก.
    นางติสสากล่าวว่า
    ท่านไม่เชื่อถือเราและริษยาเรา ขอท่านจงดูวิบากแห่งกรรมอันลามกเช่นนี้
    เมื่อก่อนนางทาสีและเครื่องอาภรณ์ทั้งหลาย ได้มีแล้วในเรือนของท่าน
    แต่เดี๋ยวนี้ นางทาสีเหล่านั้นพากันห้อมล้อมคนอื่น โภคะทั้งหลายย่อม
    ไม่มีแก่ท่านแน่แท้ เดี๋ยวนี้ กุฎุมพีผู้เป็นบิดาของบุตรเรา ยังไปในตลาด
    อยู่ ท่านอย่าเพิ่งไปจากที่นี้เสียก่อน บางทีเขาจะให้อะไรแก่ท่านบ้าง.
    นางเปรตนั้นกล่าวว่า
    ฉันเป็นผู้เปลือยกาย มีรูปร่างน่าเกลียดซูบผอม สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น
    การเปลือยกายและมีรูปร่างน่าเกลียดเป็นต้นนี้ เป็นการยังความละอาย
    ของหญิงทั้งหลายให้กำเริบ ขออย่าให้กุฎุมพีได้เห็นฉันเลย.
    นางติสสากล่าวว่า
    ถ้าอย่างนั้น จะให้ฉันให้ทานสิ่งไร หรือทำบุญอะไรให้แก่ท่าน ท่านจึงจะ
    ได้ความสุขสำเร็จความปรารถนาทั้งปวง.
    นางเปรตนั้นกล่าวว่า
    ขอท่านจงนิมนต์ภิกษุจากสงฆ์ ๔ รูป และจากบุคคล ๔ รูป รวมเป็น
    ๘ รูป ให้ฉันภัตตาหารแล้วอุทิศส่วนบุญให้ฉัน เมื่อทำอย่างนั้นฉันจึง
    จะได้ความสุข สำเร็จความปรารถนาทั้งปวง.
    นางติสสารับคำแล้ว นิมนต์ภิกษุ ๘ รูป ให้ฉันภัตตาหาร ให้ครองไตร
    จีวรแล้ว อุทิศส่วนกุศลไปให้นางเปรต ข้าวน้ำและเครื่องนุ่งห่มอันเป็น
    วิบาก ได้บังเกิดขึ้นในทันใดนั้นนั่นเอง นี้เป็นผลแห่งทักษิณา ใน
    ขณะนั้นนั่นเอง นางเปรตมีร่างกายบริสุทธิ์สะอาด นุ่งผ้าห่มอันมีค่า
    ยิ่งกว่าผ้าแคว้นกาสี ประดับด้วยผ้าและอาภรณ์อันวิจิตร เข้าไปหานาง
    ติสสาผู้ร่วมสามี.
    นางติสสาจึงถามว่า
    ดูกรนางเทพธิดา ท่านมีวรรณะงามยิ่งนัก ส่องสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ
    สถิตอยู่ดุจดาวประการพฤกษ์ ท่านมีวรรณะเช่นนี้ อิฐผลย่อมสำเร็จ
    แก่ท่านในวิมานนี้ และโภคะทุกสิ่งทุกอย่าง อันเป็นที่รักแห่งใจ
    ย่อมบังเกิดขึ้นแก่ท่านเพราะกรรมอะไร ดูกรนางเทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก
    ฉันขอถามท่าน เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้ อนึ่ง ท่านมี
    อานุภาพอันรุ่งเรือง และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้ เพราะ
    กรรมอะไร?
    นางมัตตาเทพธิดาตอบว่า
    เมื่อก่อน ท่านชื่อติสสา ฉันชื่อมัตตา เป็นหญิงร่วมสามีกันกับท่าน
    ฉันได้ทำกรรมอันลามกไว้ จึงไปจากโลกนี้สู่เปตโลก ฉันอนุโมทนาทาน
    ที่ท่านให้แล้ว จึงไม่มีภัยแต่ที่ไหน คุณพี่ ขอท่านพร้อมด้วยญาติทุกคน
    จงมีอายุยืนนานเถิด คุณพี่ผู้งดงามพร้อมด้วยญาติทั้งปวงจงมีอายุยืนนาน
    เถิด คุณพี่ประพฤติธรรมและให้ทานในโลกนี้แล้ว จักเข้าถึงฐานะอัน
    ไม่เศร้าโศก ปราศจากธุลี อันเป็นที่อยู่แห่งท้าวสวัสดี ท่านกำจัดมลทิน
    คือความตระหนี่พร้อมด้วยรากแล้ว อันใครๆ ไม่ติเตียนได้ จักเข้าถึง
    โลกสวรรค์
    จบ มัตตาเปติวัตถุที่ ๓
     
  10. วิมลเกียรติ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    588
    ค่าพลัง:
    +2,123
    ๔. นันทาเปตวัตถุ ว่าด้วยบุพกรรมของนางนันทาเปรต

    นันทเสนอุบาสกถามว่า
    [๑๐๑] ท่านมีผิวพรรณดำ มีรูปร่างน่าเกลียด ตัวขรุขระดูน่ากลัว มีตาเหลือง
    เขี้ยวงอกออกเหมือนหมู เราไม่เข้าใจว่าท่านเป็นมนุษย์?
    นางเปรตตอบว่า
    ข้าแต่ท่านนันทเสน เมื่อก่อน ฉันชื่อนันทา เป็นภรรยาของท่าน ได้
    ทำกรรมอันลามกไว้จึงจากโลกนี้ไปสู่เปตโลก.
    นันทเสนถามว่า
    ท่านทำกรรมชั่วอะไรไว้ด้วยกาย วาจา ใจ เพราะวิบากแห่งกรรมอะไร
    ท่านจึงไปจากโลกนี้สู่เปตโลก?
    นางเปรตนั้นตอบว่า
    เมื่อก่อนฉันเป็นหญิงดุร้าย หยาบคาย ไม่เคารพท่าน พูดคำชั่วหยาบ
    กะท่าน จึงไปจากโลกนี้สู่เปตโลก.
    นันทเสนถามว่า
    เอาละ เราจะให้ผ้านุ่งแก่ท่าน ขอท่านจงนุ่งผ้านี้แล้วจงมา เราจักนำท่าน
    ไปสู่เรือน ท่านไปเรือนแล้วจักได้ผ้า ข้าวและน้ำ ทั้งจักได้ชมบุตร
    และลูกสะใภ้ของท่าน.
    นางเปรตนั้นตอบว่า
    ผ้านั้นถึงท่านจะให้ที่มือของฉัน ด้วยมือของท่าน ก็ย่อมไม่สำเร็จ
    ประโยชน์แก่ฉัน ขอท่านจงเลี้ยงดูภิกษุทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
    ปราศจากราคะ เป็นพหูสูต ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ แล้วอุทิศส่วน
    กุศลไปให้ฉัน เมื่อท่านทำอย่างนั้น ฉันจักมีความสุข สำเร็จความ
    ปรารถนาทั้งปวง.
    เมื่อนันทเสนอุบาสกรับคำแล้ว ได้ให้ทานเป็นอันมาก คือ ข้าว น้ำ
    ของกิน ของเคี้ยว ผ้า เสนาสนะ ร่ม ของหอม ดอกไม้ และ
    รองเท้าต่างๆ และเลี้ยงดูภิกษุทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ปราศจากราคะ
    เป็นพหูสูตให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ แล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้นาง
    นันทา ข้าว น้ำ และเครื่องนุ่งห่มอันเป็นวิบาก ย่อมบังเกิดในทันตา
    นั้นนั่นเอง นี้เป็นผลแห่งทักษิณา ในขณะนั้นนั่นเอง นางเปรตนั้นมี
    ร่างกายบริสุทธิ์สะอาด นุ่งห่มผ้าอันดีมีค่ายิ่งกว่าผ้าแคว้นกาสี ประดับ
    ด้วยวัตถาภรณ์อันวิจิตร เข้าไปหาสามี.
    นันทเสนอุบาสกจึงถามว่า
    ดูกรนางเทพธิดา ท่านมีวรรณะงามยิ่งนักส่องสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ
    สถิตอยู่ดุจดาวประกายพฤกษ์ ท่านมีวรรณะงามเช่นนี้ อิฐผลย่อม
    สำเร็จแก่ท่านในวิมานนี้ และโภคะทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นที่รักแห่งใจ
    ย่อมเกิดแก่ท่านเพราะกรรมอะไร ดูกรนางเทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก
    ฉันขอถามท่าน เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไร อนึ่ง ท่านมีอานุภาพ
    รุ่งเรืองและมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้ เพราะกรรมอะไร?
    นางนันทาเทพธิดาตอบว่า
    ข้าแต่ท่านนันทเสน เมื่อก่อน ฉันชื่อนันทาเป็นภรรยาของท่าน ได้ทำ
    กรรมชั่วช้าจึงไปจากมนุษยโลกนี้สู่เปตโลก ฉันอนุโมทนาทานที่ท่านให้
    แล้วจึงเป็นผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ ดูกรคฤหบดี ขอท่านพร้อมด้วยญาติทั้งปวง
    จงมีอายุยืนนานเถิด ดูกรคฤหบดี ท่านประพฤติธรรมและให้ทาน
    ในโลกนี้แล้ว จะเข้าถึงถิ่นฐานอันไม่เศร้าโศก ปราศจากธุลี อันเป็น
    ที่อยู่ของท้าววสวัสดี ท่านกำจัดมลทิน คือ ความตระหนี่พร้อมด้วย
    รากแล้ว อันใครๆ ไม่ติเตียนได้ จักเข้าถึงโลกสวรรค์.
    จบ นันทาเปตวัตถุที่ ๔
     
  11. วิมลเกียรติ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    588
    ค่าพลัง:
    +2,123
    ๕. มัฏฐกุณฑลิเปตวัตถุ ว่าด้วยบุพกรรมของมัฏฐกุณฑลิเปรต

    พราหมณ์ถามว่า
    [๑๐๒] ท่านตกแต่งร่างกาย ใส่ต่างหูเกลี้ยง ฯลฯ
    (เหมือนในมัฏฐกุณฑลีวิมานที่ ๙ สุนิกขิตตวรรคที่ ๗ ในวิมานวัตถุ)
    จบ มัฏฐกุณฑลีเปตวัตถุที่ ๕​
     
  12. วิมลเกียรติ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    588
    ค่าพลัง:
    +2,123
    ๖. กัณหเปตวัตถุ ว่าด้วยบัณฑิตถวายโอวาทแก่กษัตริย์

    โรหิไณยอำมาตย์กราบทูลว่า
    [๑๐๓] ข้าแต่พระองค์ผู้กัณหโคตร ขอพระองค์จงลุกขึ้นเถิด จะมัวทรง
    บรรทมอยู่ทำไม จะมีประโยชน์อะไรแก่พระองค์ด้วยการทรงบรรทมอยู่
    เล่า ข้าแต่พระเกสวะ บัดนี้พระภาดาร่วมพระอุทรของพระองค์ ซึ่งเป็น
    ดุจพระหทัยและนัยน์เนตรเบื้องขวาของพระองค์ มีลมกำเริบคลั่งเพ้อ
    ไปเสียแล้ว.
    พระเจ้าเกสวะ ได้ทรงฟังคำของโรหิไณยอำมาตย์แล้ว ถูกความโศกถึง
    พระภาดาครอบงำ รีบเสด็จลุกขึ้นทันที จับพระหัตถ์ทั้งสองของฆฏ-
    บัณฑิตไว้มั่นแล้ว เมื่อจะทรงปราศรัยจึงตรัสพระคาถา มีความว่า
    เหตุไรหนอ เธอจึงทำดุจเป็นคนบ้าเที่ยวไปทั่วนครทวารกะนี้ เพ้ออยู่ว่า
    กระต่ายๆ เธอปรารถนากระต่ายเช่นไร ฉันจักให้นายช่างทำกระต่ายทอง
    กระต่ายแก้วมณี กระต่ายโลหะ กระต่ายรูปิยะ กระต่ายสังข์ กระต่าย
    หิน กระต่ายแก้วประพาฬ ให้แก่เธอ หรือว่ากระต่ายอื่นๆ ที่เที่ยว
    หากินอยู่ในป่ามีอยู่ ฉันจักให้เขานำกระต่ายเหล่านั้นมาให้เธอ เธอ
    ปรารถนากระต่ายเช่นไร?
    ฆฏบัณฑิตกราบทูลว่า
    ข้าพระองค์ไม่ปรารถนากระต่ายที่อาศัยแผ่นดิน ข้าพระองค์ปรารถนา
    กระต่ายจากพระจันทร์ ข้าแต่พระเจ้าเกสวะ ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณา
    นำกระต่ายนั้นลงมาประทานแก่ข้าพระองค์เถิด.
    พระเจ้าวาสุเทพตรัสว่า
    ดูกรพระญาติ เธอจักละชีวิตที่สดชื่นไปเสียเป็นแน่ เพราะเธอปรารถนา
    กระต่ายจากดวงจันทร์ ชื่อว่าปรารถนาสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา.
    ฆฏบัณฑิตกราบทูลว่า
    ข้าแต่พระองค์ผู้กัณหโคตร ถ้าพระองค์ทรงพร่ำสอนผู้อื่น ฉันใด ขอให้
    พระองค์ทรงทราบฉันนั้นเถิด เพราะเหตุไฉน พระองค์จึงทรง
    พระกรรแสงถึงราชโอรสที่ทิวงคตแล้ว แต่ก่อนมา แม้จนวันนี้เล่า
    มนุษย์หรืออมนุษย์ไม่พึงได้ตามปรารถนาว่า ขอบุตรของเราที่เกิดมาแล้ว
    จงอย่าตาย พระองค์จะทรงได้โอรสที่ทิวงคตแล้วซึ่งไม่ควรได้แต่ที่ไหน
    ข้าแต่พระองค์ผู้กัณหโคตร พระองค์ทรงกรรแสงถึงราชโอรสที่ทิวงคต
    แล้วไม่สามารถจะนำคืนมาด้วยมนต์ รากยาโอสถ หรือทรัพย์ได้
    แม้กษัตริย์ทั้งหลายมีแว่นแคว้นมาก มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก
    มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก จะไม่ทรงชราและไม่สวรรคต ไม่มีเลย
    แม้กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล คนเทหยากเยื่อ
    จะไม่แก่และไม่ตาย เพราะชาติของตน ก็ไม่มีเลย ชนเหล่าใดร่ายมนต์
    อันประกอบด้วยองค์ ๖ ๑- อันพราหมณ์คิดแล้ว ชนเหล่านั้นจะไม่แก่
    และไม่ตายเพราะวิชาของตน ก็ไม่มีเลย แม้พวกฤาษีเหล่าใดเป็นผู้สงบ
    มีตนอันสำรวมแล้ว มีตบะ แม้พวกฤาษีผู้มีตบะเหล่านั้น ย่อมละร่างกาย
    ไปตามกาล พระอรหันต์ทั้งหลายมีตนอันอบรมแล้ว ทำกิจเสร็จแล้ว
    ไม่มีอาสวะ สิ้นบุญและบาป ย่อมทอดทิ้งร่างกายนี้ไว้.
    พระเจ้าวาสุเทพตรัสว่า
    เธอดับความกระวนกระวายทั้งปวงของเรา ผู้เร่าร้อนอยู่ให้หายเหมือน
    บุคคลดับไฟที่ราดน้ำมันด้วยน้ำนั้น ฉะนั้น เธอบรรเทาความโศกถึงบุตร
    ของเราผู้ถูกความโศกครอบงำ ได้ถอนขึ้นแล้วหนอซึ่งลูกศร คือ
    ความโศกอันเสียบแทงแล้วที่หทัยของเรา เราเป็นผู้มีลูกศร คือ ความ
    @๑. มนต์อันประกอบด้วยองค์ ๖ คือ กาพย์ ๑ นิรุตติ ๑ พยากรณ์ ๑ โชติศาสตร์ ๑ สัททศาสตร์ ๑
    @ฉันทศาสตร์ ๑
    โศกอันถอนขึ้นแล้วเป็นผู้เย็น สงบแล้ว เราจะไม่เศร้าโศก ไม่ร้อง
    ไห้อีก เพราะได้ฟังคำของเธอ ชนเหล่าใดผู้มีปัญญา ผู้อนุเคราะห์
    กันและกัน ชนเหล่านั้นย่อมทำอย่างนี้ ย่อมยังกันและกันให้หายโศก
    เหมือนเจ้าชายฆฏะยังพระเชฏฐาให้หายโศก ฉะนั้น พวกอำมาตย์ผู้เป็น
    บริจาริกาของพระราชาใด ย่อมมีเช่นนี้ ย่อมแนะนำด้วยสุภาษิต
    เหมือนเจ้าชายฆฏะแนะนำพระเชฏฐาของตน ฉะนั้น.
    จบ กัณหเปตวัตถุที่ ๖
     
  13. วิมลเกียรติ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    588
    ค่าพลัง:
    +2,123
    ๗. ธนปาลเปตวัตถุ ว่าด้วยบุพกรรมของธนปาลเปรต

    พวกพ่อค้าถามเปรตตนหนึ่งว่า
    [๑๐๔] ท่านเปลือยกาย มีรูปร่างน่าเกลียด ซูบผอม สะพรั่งไปด้วย
    เส้นเอ็น เห็นกระดูกซี่โครง แน่ะเพื่อนยาก ท่านเป็นใครหนอ?
    เปรตนั้นตอบว่า
    ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าเป็นเปรต ทุกข์ยาก เกิดอยู่ใน
    ยมโลก ได้ทำกรรมอันลามกไว้ จึงจากโลกนี้ไปสู่เปตโลก.
    พวกพ่อค้าถามว่า
    ท่านทำกรรมชั่วอะไรไว้ด้วยกาย วาจา ใจ หรือ เพราะวิบากแห่งอะไร
    ท่านจึงจากโลกนี้ไปสู่เปตโลก?
    เปรตนั้นตอบว่า
    มีพระนครของพระเจ้าทสันนราช ปรากฏนามว่า เอรกัจฉะ เมื่อก่อน
    ข้าพเจ้าเป็นเศรษฐีอยู่ในนครนั้น ประชาชนเรียกข้าพเจ้าว่า ธนปาล-
    เศรษฐี ข้าพเจ้ามีเงิน ๘๐ เล่มเกวียน ทองคำ แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์
    ก็มีมากมายเหลือที่จะนับ แม้ข้าพเจ้าจะมีทรัพย์มากมายถึงเพียงนั้น ก็ไม่
    รักที่จะให้ทาน ปิดประตูแล้วจึงบริโภคอาหารด้วยคิดว่า พวกยาจก
    อย่าได้เห็นเรา ข้าพเจ้าไม่มีศรัทธา เป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น ได้ด่า
    ว่าพวกยาจก และห้ามปรามมหาชนผู้ให้ทานทำบุญ เป็นต้น ด้วยคำว่า
    ผลแห่งทานไม่มี ผลแห่งการสำรวม จักไม่มีแต่ที่ไหน ได้ทำลายสระน้ำ
    บ่อน้ำที่เขาขุดไว้ สวนดอกไม้ สวนผลไม้ ศาลาน้ำ และสะพานใน
    ที่เดินลำบาก ที่เขาปลูกสร้างให้พินาศ ข้าพเจ้านั้นไม่ได้ทำความดีไว้เลย
    ทำแต่ความชั่วไว้ จุติจากชาตินั้นแล้ว บังเกิดในปิตติวิสัย เพรียบพร้อม
    ไปด้วยความหิวกระหายตลอด ๕๕ ปี ตั้งแต่ตายแล้ว ข้าพเจ้ายังไม่ได้
    กินข้าวและน้ำเลยแม้แต่น้อย การสงวนทรัพย์ คือ ไม่ให้แก่ใครๆ
    เป็นความพินาศของสัตว์ทั้งหลาย ความฉิบหายก็คือการสงวนทรัพย์ ได้
    ยินว่าเปรตทั้งหลายรู้ว่า การสงวนทรัพย์คือการไม่ให้แก่ใครๆ เป็น
    ความพินาศ เมื่อก่อนข้าพเจ้าสงวนทรัพย์ไว้ เมื่อทรัพย์มีอยู่เป็นอันมาก
    ไม่ให้ทาน เมื่อไทยธรรมมีอยู่ ไม่ทำที่พึ่งแก่ตน ข้าพเจ้าได้รับผลแห่ง
    กรรมของตนจึงเดือดร้อนในภายหลัง พ้นจาก ๔ เดือนไปแล้ว ข้าพเจ้า
    จักตาย จักไปตกนรกอันเผ็ดร้อนสาหัส มี ๔ เหลี่ยม ๔ ประตู จำแนก
    เป็นห้องๆ ล้อมด้วยกำแพงเหล็ก พร้อมด้วยแผ่นเหล็ก พื้นของนรก
    นั้น ล้วนแล้วด้วยทองแดงลุกเป็นเปลวเพลิง ประกอบด้วยความร้อน
    แผ่ไปตลอดร้อยโยชน์โดยรอบ ตั้งอยู่ทุกเมื่อ ข้าพเจ้าจักต้องเสวย
    ทุกขเวทนาในนรกนั้นตลอดกาลนาน ก็การเสวยทุกขเวทนาเช่นนี้ เป็น
    ผลแห่งกรรมอันชั่ว เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงเศร้าโศกที่จะไปเกิดในนรก
    อันเร่าร้อนนั้น ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอเตือนท่านทั้งหลาย
    ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลายผู้มาประชุมกันในที่นี้ พวกท่านอย่าได้
    ทำบาปกรรมในที่ไหนๆ คือ ในที่แจ้งหรือในที่ลับ ถ้าพวกท่านจักกระทำ
    หรือกระทำบาปกรรมนั้นไว้ แม้พวกท่านจะเหาะหนีไปอยู่ที่ไหน ก็ย่อม
    ไม่พ้นไปจากทุกข์ ขอท่านทั้งหลายจงเลี้ยงมารดา จงเลี้ยงบิดา ประพฤติ
    อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล เป็นผู้เกื้อกูลแก่สมณะและพราหมณ์ ท่าน
    ทั้งหลายจักไปสวรรค์ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้ บุคคลจะอยู่ในอากาศใน
    ท่ามกลางมหาสมุทร หรือเข้าไปสู่ช่องภูเขา พึงพ้นจากบาปกรรมไม่มี
    หรือบุคคลอยู่ในส่วนแห่งภาคพื้นใด พึงพ้นจากบาปกรรม ส่วนแห่งภาค
    พื้นนั้นไม่มี.
    จบ ธนปาลเปตวัตถุที่ ๗
     
  14. วิมลเกียรติ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    588
    ค่าพลัง:
    +2,123
    ๘. จูฬเสฏฐีเปตวัตถุ ว่าด้วยบุพกรรมของจูฬเสฏฐีเปตวัตถุ

    พระเจ้าอชาตศัตรูตรัสถามเศรษฐีเปรตว่า
    [๑๐๕] ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านเป็นบรรพชิตเปลือยกายซูบผอม เพราะเหตุ
    แห่งกรรมอะไร ท่านจะไปที่ไหนในราตรีเช่นนี้ ขอท่านจงบอกการที่ท่าน
    จะไปแก่เราเถิด เราสามารถจะให้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแก่ท่านด้วยความ
    อุตสาหะทั้งปวง?
    จุฬเศรษฐีเปรตกราบทูลว่า
    เมื่อก่อนพระนครพาราณสีมีกิตติคุณเลื่องลือไปไกล ข้าพระองค์เป็น
    คฤหบดีผู้มั่งคั่งอยู่ในพระนครนั้น แต่เป็นคนตระหนี่เหนียวแน่นไม่เคย
    ให้สิ่งของแก่ใครๆ มีใจข้องอยู่ในอามิส ได้ถึงวิสัยแห่งพญายมเพราะ
    เป็นผู้ทุศีล ข้าพระองค์ลำบากแล้วเพราะความหิวเสียดแทงเพราะ
    บาปกรรมเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ปรารถนาอามิส จึงได้
    มาหาหมู่ญาติ มนุษย์แม้เหล่าอื่นมีปกติไม่ให้ทาน และไม่เชื่อว่าผลแห่ง
    ทานมีอยู่ในโลกหน้า มนุษย์แม้เหล่านั้นจักเกิดเป็นเปรตเสวยทุกข์ใหญ่
    เหมือนข้าพระองค์ ฉะนั้น ธิดาของข้าพระองค์บ่นอยู่เนืองๆ ว่า เรา
    จักให้ทานอุทิศให้มารดา บิดา ลุง ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย
    พวกพราหมณ์ กำลังบริโภคทานอันธิดาของข้าพระองค์ตกแต่งแล้ว
    ข้าพระองค์จะไปยังเมืองอันธกาวินทนคร เพื่อบริโภคอาหาร พระราชาจึง
    ตรัสสั่งเขาว่า ถ้าท่านไปได้เสวยผลทานนั้น พึงรีบกลับมาบอกเหตุที่มี
    จริงแก่เรา เราฟังคำอันมีเหตุผลควรเชื่อถือได้แล้ว จักทำสักการบูชาบ้าง
    จูฬเศรษฐีเปรตทูลรับพระราชดำรัสแล้ว ได้ไปยังอันธกาวินทนครนั้น
    แต่ไม่ได้รับผลแห่งทานนั้นเพราะพราหมณ์ทั้งหลายที่บริโภคภัต เป็นผู้
    ไม่มีศีล ไม่สมควรแก่ทักษิณา ภายหลังจูฬเศรษฐีเปรตกลับมาสู่นคร
    ราชคฤห์อีก ได้ไปแสดงกายให้ปรากฏ เฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้า
    อชาตศัตรูผู้เป็นใหญ่กว่าหมู่ชน พระราชาทอดพระเนตรเห็นเปรตนั้น
    กลับมาอีก จึงตรัสถามว่า เราจะให้ทานอะไร ถ้าเหตุที่จะให้ท่าน
    อิ่มหนำตลอดกาลมีอยู่ไซร้ ขอท่านจงบอกเหตุนั้นแก่เรา.
    จูฬเศรษฐีเปรตกราบทูลว่า
    ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์จงทรงอังคาสพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์
    ด้วยข้าวและน้ำ และจงทรงถวายจีวร แล้วทรงอุทิศกุศลนั้นเพื่อ
    ประโยชน์เกื้อกูลข้าพระองค์ ด้วยการทรงบำเพ็ญกิจอย่างนี้ ข้าพระองค์
    จงพึงอิ่มหนำตลอดกาลนาน. ลำดับนั้น พระราชาเสด็จออกจาก
    ปราสาททันที ทรงถวายทานอันประณีตยิ่งแก่สงฆ์ ด้วยพระหัตถ์ของ
    พระองค์ แล้วทรงกราบทูลเรื่องราวแด่พระตถาคต ทรงอุทิศส่วนกุศลให้
    จูฬเศรษฐีเปรต จูฬเศรษฐีเปรตนั้นอันพระราชาทรงบูชาแล้ว เป็นผู้
    งดงามยิ่งนัก ได้มาปรากฏเฉพาะพักตร์ของพระราชาผู้เป็นใหญ่กว่าชน
    แล้วกราบทูลว่า ข้าพระองค์เป็นเทวดา มีฤทธิ์อย่างยอดเยี่ยมแล้ว
    มนุษย์ทั้งหลายผู้มีฤทธิ์เสมอด้วยข้าพระองค์ไม่มี ขอพระองค์ทรงทอด
    พระเนตรดูอานุภาพอันหาประมาณมิได้ของข้าพระองค์นี้เถิด ซึ่งเกิดจาก
    ผลที่พระองค์ทรงถวายทานอันจะนับมิได้แก่สงฆ์ อุทิศส่วนพระราชกุศล
    ให้แก่ข้าพระองค์ด้วยทรงอนุเคราะห์ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเทพแห่งมนุษย์
    ข้าพระองค์เป็นผู้อันพระองค์ ยังพระอริยสงฆ์ให้อิ่มหนำด้วยไทยธรรม
    มีข้าวและน้ำ และผ้าผ่อนเป็นต้นเป็นอันมาก จึงได้อิ่มหนำแล้วเนืองๆ
    บัดนี้ ข้าพระองค์มีความสุขแล้ว ขอทูลลาพระองค์ไป.
    จบ จูฬเสฏฐีเปตวัตถุที่ ๘
     
  15. วิมลเกียรติ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    588
    ค่าพลัง:
    +2,123
    ๙. อังกุรเปตวัตถุ ว่าด้วยบุพกรรมของอังกุรเปรต


    พราหมณ์พ่อค้าคนหนึ่ง เห็นของทิพย์ออกจากมือรุกขเทวดาจึงเกิดความโลภขึ้น ได้
    บอกแก่อังกุรพาณิชว่า
    [๑๐๖] เราทั้งหลายเที่ยวหาทรัพย์ ไปสู่แคว้นกัมโพชเพื่อประโยชน์สิ่งใด เทพ-
    บุตรนี้เป็นผู้ให้สิ่งที่เราอยากได้นั้น พวกเราจักนำเทพบุตรนี้ไปหรือจักจับ
    เทพบุตรนี้ ข่มขี่เอาด้วยการวิงวอนหรืออุ้มใส่ยานรีบนำไปสู่ทวารกนคร
    โดยเร็ว.
    อังกุรพาณิชเมื่อจะห้ามพราหมณ์พ่อค้านั้น จึงได้กล่าวคาถาความว่า
    บุคคลอาศัยนั่งนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่ควรหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น
    เพราะการประทุษร้ายมิตร เป็นความเลวทราม.
    พราหมณ์พ่อค้ากล่าวว่า
    บุคคลอาศัยนั่งนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด พึงตัดแม้ลำต้นของต้นไม้นั้นได้
    ถ้ามีความต้องการเช่นนั้น.
    อังกุรพาณิชกล่าวว่า
    บุคคลอาศัยนั่งนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงทำลายแม้ใบของต้นไม้นั้น
    เพราะการประทุษร้ายมิตร เป็นความเลวทราม.
    พราหมณ์พ่อค้ากล่าวว่า
    บุคคลอาศัยนั่งนอนที่ร่มเงาของต้นไม้เหล่าใด พึงถอนต้นไม้นั้นพร้อม
    ทั้งรากได้ ถ้าพึงประสงค์เช่นนั้น.
    อังกุรพาณิชกล่าวว่า
    ก็บุรุษพึงพักอยู่ในเรือนของบุคคลใดตลอดราตรีหนึ่ง หรือพึงได้ข้าวน้ำ
    ในที่ใด ไม่ควรคิดชั่วต่อบุคคลนั้น แม้ด้วยใจความเป็นผู้กตัญญู สัปบุรุษ
    สรรเสริญ บุคคลพึงพักอาศัยในเรือนของบุคคลใดแม้เพียงคืนหนึ่ง พึง
    ได้รับบำรุงด้วยข้าวและน้ำ ก็ไม่พึงคิดชั่วต่อบุคคลนั้นแม้ด้วยใจ บุคคล
    ผู้มีมืออันไม่เบียดเบียน ย่อมแผดเผาบุคคลผู้ประทุษร้ายมิตร ผู้ใดทำ
    ความดีไว้ในก่อน ภายหลังเบียดเบียนด้วยความชั่ว ผู้นั้น ชื่อว่าเป็นคน
    อกตัญญู ย่อมไม่พบเห็นความเจริญทั้งหลาย ผู้ใดประทุษร้ายต่อนระผู้
    ไม่ประทุษร้าย ผู้เป็นบุรุษบริสุทธิ์ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน บาปย่อมกลับ
    มาถึงผู้นั้นซึ่งเป็นคนพาลแน่แท้ เหมือนธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไป
    ทวนลมฉะนั้น.
    เมื่อรุกขเทวดาได้ฟังดังนั้นแล้ว เกิดความโกรธต่อพราหมณ์นั้น จึงกล่าวว่า
    ไม่เคยมีเทวดาหรือมนุษย์ หรืออิสรชนคนใดจะมาข่มเหงเราได้โดยง่าย
    เราเป็นเทพเจ้าผู้มีมหิทธิฤทธิ์อย่างยอดเยี่ยม เป็นผู้ไปได้ไกลสมบูรณ์ด้วย
    รัศมีและกำลัง.
    อังกุรพานิชจึงถามรุกขเทวดานั้นว่า
    ฝ่ามือของท่านมีสีดังทองคำทั่วไป ทรงไว้ซึ่งวัตถุที่บุคคลอื่นปรารถนาด้วย
    นิ้วทั้ง ๕ เป็นที่ไหลออกแห่งวัตถุมีรสอร่อย วัตถุมีรสต่างๆ ย่อมไหล
    ออกจากฝ่ามือของท่าน ข้าพเจ้าเข้าใจว่าท่านเป็นท้าวสักกะ.
    รุกขเทวดาตอบว่า
    เราไม่ใช่เทพเจ้า ไม่ใช่คนธรรพ์ ไม่ใช่ท้าวสักกปุรินททะ ดูกรอังกุระ
    ท่านจงทราบว่าเราเป็นเปรต จุติจากโรรุวนครมาอยู่ที่ต้นไทรนี้.
    อังกุรพาณิชถามว่า
    เมื่อก่อน ท่านอยู่ในโรรุวนคร ท่านมีปกติอย่างไร มีความประพฤติ
    อย่างไร ผลบุญสำเร็จที่ฝ่ามือของท่าน เพราะพรหมจรรย์อะไร?
    รุกขเทวดาตอบว่า
    เมื่อก่อน เราเป็นช่างหูกอยู่ในโรรุวนคร เป็นคนกำพร้าเลี้ยงชีวิตโดย
    ความลำบากนัก เราไม่มีอะไรจะให้ทาน เรือนของเราอยู่ใกล้เรือนของ
    อสัยหเศรษฐี ซึ่งเป็นคนมีศรัทธาเป็นทานาธิบดี มีบุญอันทำแล้ว เป็น
    ผู้ละอายต่อบาป พวกยาจกวณิพกมีนามแลโคตรต่างๆ กัน ไปที่บ้านของ
    เรานั้น พากันถามถึงเรือนของอสัยหเศรษฐีกะเราว่า ขอความเจริญจงมี
    แก่ท่านทั้งหลาย พวกเราจะไปทางไหน ทานเขาให้ที่ไหน เราถูกพวก
    ยาจกวณิพกถามแล้ว ได้ยกมือเบื้องขวาชี้บอกเรือนของอสัยหเศรษฐีแก่
    ยาจกวณิพกเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลายจงไปทางนี้ ความเจริญจักมีแก่ท่าน
    ทั้งหลาย ทานเขาให้อยู่ที่นั่น เพราะเหตุนั้น ฝ่ามือของเราจึงให้สิ่งที่น่า
    ปรารถนาเป็นที่ไหลออกแห่งวัตถุมีรสอร่อย ผลบุญย่อมสำเร็จที่ฝ่ามือ
    ของเราเพราะพรหมจรรย์นั้น.
    อังกุรพาณิชถามว่า
    ได้ยินว่า ท่านไม่ได้ให้ทานแก่ใครๆ ด้วยมือทั้งสองของตนเป็นแต่
    เพียงอนุโมทนาทานของคนอื่น ยกมือชี้บอกทางให้ เพราะเหตุนั้นฝ่ามือ
    ของท่านจึงให้สิ่งที่น่าใคร่ เป็นที่ไหลออกแห่งวัตถุมีรสอร่อย ผลบุญ
    ย่อมสำเร็จที่ฝ่ามือของท่านเพราะพรหมจรรย์นั้น ข้าแต่ท่านผู้เจริญ
    อสัยหเศรษฐีผู้เลื่อมใส ได้ให้ทานด้วยมือทั้งสองของตน ละร่างกาย
    มนุษย์แล้ว ไปทางทิศไหนหนอ?
    รุกขเทวดาตอบว่า
    เราไม่รู้ทางไปหรือทางมาของอสัยหเศรษฐี ผู้เป็นเจ้าของแห่งทาน ผู้มี-
    รัศมีซ่านออกจากตน แต่เราได้ฟังมาในสำนัก ของท้าวเวสสุวัณว่า
    อสัยหเศรษฐี ถึงความเป็นสหายแห่งท้าวสักกะ.
    อังกุรพาณิชกล่าวว่า
    บุคคลควรทำความดีแท้ ควรให้ทานตามสมควร ใครได้เห็นฝ่ามืออันให้
    สิ่งที่น่าใคร่แล้ว จักไม่ทำบุญเล่า เราไปจากที่นี้ถึงทวารกนครแล้ว จัก
    รีบให้ทานอันจักนำความสุขมาให้เราแน่แท้ เราจักให้ข้าว น้ำ ผ้า
    เสนาสนะ บ่อน้ำ และสะพานในที่เดินยากเป็นทาน.
    อังกุรพาณิชถามว่า
    เพราะเหตุไร นิ้วมือของท่านจึงงอหงิก ปากของท่านจึงเบี้ยวและนัยน์ตา
    ทะเล้นออก ท่านได้ทำบาปกรรมอะไรไว้?
    เปรตนั้นตอบว่า
    เราอันคฤหบดีตั้งไว้ในการให้ทาน ในโรงทานของคฤหบดี ผู้มีอังคีรส
    ผู้มีศรัทธา เป็นฆราวาส ผู้ครอบครองเรือนเห็นยาจกผู้มีความประสงค์
    ด้วยโภชนะ มาที่โรงทานนั้น ได้หลีกไปทำการบุ้ยปากอยู่ ณ ที่ข้างหนึ่ง
    เพราะกรรมนั้น นิ้วของเราจึงงอหงิก ปากของเราจึงเบี้ยว นัยน์ตาทะเล้น
    ออกมา เราได้ทำบาปกรรมนั้นไว้.
    อังกุรพาณิชถามว่า
    แน่ะบุรุษเลวทราม การที่ท่านมีปากเบี้ยว ตาทั้ง ๒ ทะเล้นเป็นการชอบ
    แล้ว เพราะท่านได้ทำการบุ้ยปากต่อทานของผู้อื่น ก็ไฉน อสัยหเศรษฐี
    เมื่อจะให้ทานจึงได้มอบข้าว น้ำของเคี้ยว ผ้า และเสนาสนะ ให้ผู้อื่น
    จัดแจง ก็เราไปจากที่นี่ถึงทวารกะนครแล้ว จักเริ่มให้ทานที่นำความสุข
    มาให้แก่เราแน่แท้ เราจักให้ข้าว น้ำ ผ้า เสนาสนะ บ่อน้ำสระน้ำ
    และสะพานทั้งหลายในที่เดินลำบาก เป็นทาน ก็อังกุรพาณิชกลับจาก
    ทะเลทราย ไปถึงทวารกะนครแล้วได้เริ่มให้ทาน อันจะนำความสุขมาให้
    ตนได้ให้ข้าว น้ำ ผ้า เสนาสนะ บ่อน้ำ สระน้ำ ด้วยจิตอันเลื่อมใส.
    ช่างกัลบก พ่อครัว ชาวมคธ พากันป่าวร้องในเรือนของอังกุรพาณิช
    นั้น ทั้งในเวลาเย็น ทั้งในเวลาเช้าทุกเมื่อว่า ใครหิวจงมากินตามชอบ
    ใจ ใครกระหายจงมาดื่มตามชอบใจ ใครจักนุ่งห่มผ้าจงนุ่งห่ม ใครต้อง
    การพาหนะสำหรับเทียมรถ จงเทียมพาหนะในคู่แอกนี้ ใครต้องการร่ม
    จงเอาร่มไป ใครต้องการของหอม จงมาเอาของหอมไป ใครต้องการ
    ดอกไม้จงมาเอาดอกไม้ไป ใครต้องการรองเท้า จงมาเอารองเท้าไป
    มหาชนย่อมรู้เราว่า อังกุระนอนเป็นสุข ดูกรสินธุมาณพ เรานอนเป็น
    ทุกข์ เพราะไม่ได้เห็นพวกยาจก มหาชนรู้เราว่า อังกุระนอนเป็นสุข
    ดูกรสินธุกมาณพ เรานอนเป็นทุกข์ ในเมื่อวณิพกมีน้อย.
    สินธุมาณพได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาความว่า
    ถ้าท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าชาวดาวดึงส์ และเป็นใหญ่กว่าโลกทั้งปวง
    พึงให้พรท่าน ท่านเมื่อจะเลือก พึงเลือกเอาพรเช่นไร?
    อังกุรพาณิชกล่าวว่า
    ถ้าท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าชาวดาวดึงส์ พึงให้พรแก่เราจะพึงขอพรว่า
    เมื่อเราลุกขึ้นแต่เช้า ในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น ขอภักษาหารอันเป็นทิพย์
    และพวกยาจกผู้มีศีลพึงปรากฏ เมื่อเราให้อยู่ ไทยธรรมไม่พึงสิ้นไป
    ครั้นเราให้ทานนั้นแล้ว ไม่พึงเดือดร้อนในภายหลัง เมื่อกำลังให้พึงยัง
    จิตให้เลื่อมใส ข้าแต่ท้าวสักกะ ข้าพเจ้าพึงเลือกเอาพรอย่างนี้.
    โสณกบุรุษกล่าวเตือนอังกุรพาณิชว่า
    บุคคลไม่พึงให้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจทั้งหมดแก่บุคคลอื่น ควรให้ทานและ
    ควรรักษาทรัพย์ไว้ เพราะว่าทรัพย์เท่านั้นประเสริฐกว่าทาน สกุลทั้ง-
    หลายย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะการให้ทานเกินประมาณไป บัณฑิตย่อมไม่
    สรรเสริญการไม่ให้ทานและการให้เกินควร เพราะเหตุผลนั้นแล ทรัพย์
    เท่านั้นประเสริฐกว่าทาน บุคคลผู้เป็นปราชญ์ สมบูรณ์ด้วยธรรม ควร
    ประพฤติโดยพอเหมาะ.
    อังกุรพาณิชกล่าวว่า
    ดูกรชาวเราทั้งหลาย ดีหนอ เราพึงให้ทานแล ด้วยว่าสัปบุรุษผู้สงบ
    ระงับพึงคบหาเรา เราพึงยังความประสงค์ของวณิพกทั้งปวงให้เต็ม เลี้ยง
    ดูให้อิ่มหนำ เปรียบเหมือนฝนยังที่ลุ่มทั้งหลายให้เต็มฉะนั้น สีหน้าของ
    บุคคลใดย่อมผ่องใส เพราะเห็นพวกยาจก บุคคลนั้นครั้นให้ทานแล้วมี
    ใจเบิกบาน ข้อนั้นเป็นความสุขของบุคคลผู้อยู่ครองเรือน สีหน้าของ
    บุคคลใดย่อมผ่องใสเพราะเห็นพวกยาจก บุคคลนั้นครั้นให้ทานแล้ว
    ย่อมปลาบปลื้มใจ นี้เป็นความถึงพร้อมแห่งยัญบุคคล ก่อนแต่ให้ก็มีใจ
    เบิกบาน เมื่อกำลังให้ก็ยังจิตให้ผ่องใส ครั้นให้แล้ว ก็มีใจเบิกบาน นี้
    เป็นความถึงพร้อมแห่งยัญ.
    พระสังคีติกาจารย์กล่าวคาถาทั้งหลายความว่า
    ในเรือนของอังกุรพาณิชผู้มุ่งบุญ โภชนะอันเขาให้แก่หมู่ชนวันละ ๖
    หมื่นเล่มเกวียนเป็นนิตย์ พ่อครัว ๓๐๐๐ คน ประดับด้วยต่างหูอันวิจิตร
    ด้วยมุกดาและแก้วมณี เป็นผู้ขวนขวายในการให้ทาน พากันเข้าไปอาศัย
    อังกุรพาณิชเลี้ยงชีวิต มาณพ ๖ หมื่นคน ประดับด้วยต่างหูอันวิจิตร
    ด้วยแก้วมุกดา และแก้วมณี ช่วยกันผ่าฟืนสำหรับหุงอาหาร ในมหา-
    ทานของอังกุรพาณิชนั้น พวกนารี ๑๖๐๐๐ คนประดับด้วยอลังการทั้งปวง
    ช่วยกันบดเครื่องเทศสำหรับปรุงอาหาร ในมหาทานของอังกุรพาณิชนั้น
    นารีอีก ๑๖๐๐๐ คน ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง ถือทัพพีเข้ายืน
    คอยรับใช้ในมหาทานของอังกุรพาณิชนั้น อังกุรพาณิชนั้น ได้ให้ของ
    เป็นอันมากแก่มหาชนโดยประการต่างๆ ได้ทำความเคารพ และความ
    ยำเกรงในกษัตริย์ด้วยมือของตนเองบ่อยๆ ให้ทานโดยประการต่างๆ
    สิ้นกาลนานอังกุรพาณิช ยังมหาทานให้เป็นไปแล้วสิ้นเดือน สิ้นปักษ์
    สิ้นฤดู และปีเป็นอันมากตลอดกาลนาน อังกุรพาณิชได้ให้ทานและทำ
    การบูชาแล้วอย่างนี้ ตลอดกาลนาน ละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปบังเกิด
    ในดาวดึงส์ อินทกมาณพได้ถวายภิกษาทัพพีหนึ่ง แก่พระอนุรุทธเถระ
    ละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปบังเกิดในดาวดึงส์เหมือนกัน แต่อินทกเทพบุตร-
    รุ่งเรืองยิ่งกว่าอังกุรเทพบุตรโดยฐานะ ๑๐ อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส
    โผฏฐัพพะ อันน่ารื่นรมย์ใจ อายุ ยศ วรรณะ สุข และความเป็นใหญ่.
    พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
    ดูกรอังกุระ มหาทานท่านได้ให้แล้วสิ้นกาลนาน ท่านมาในสำนักของเรา
    ไฉนจึงนั่งอยู่ไกลนัก?
    เมื่อพระพุทธเจ้าผู้เป็นอุดมบุรุษ ประทับอยู่ที่บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์
    ภายใต้ต้นปาริฉัตตกพฤกษ์ ณ ดาวดึงส์ ครั้งนั้น เทวดาในหมื่นโลกธาตุ
    พากันมานั่งประชุมเฝ้าพระสัมพุทธเจ้าซึ่งประทับบนยอดเขา เทวดาไรๆ
    ไม่รุ่งโรจน์เกินกว่าพระสัมพุทธเจ้าด้วยรัศมี พระสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ย่อม
    รุ่งโรจน์ ล่วงหมู่เทวดาทั้งปวง ครั้งนั้น อังกุรเทพบุตรนี้นั่งอยู่ไกล ๑๒
    โยชน์ จากที่พระพุทธเจ้าประทับ ส่วนอินทกเทพบุตรนั่งในที่ใกล้พระผู้มี-
    พระภาค รุ่งเรืองกว่าอังกุรเทพบุตร พระสัมพุทธเจ้า ทอดพระเนตรเห็น
    อังกุรเทพบุตรกับอินทกเทพบุตรอยู่แล้ว เมื่อจะทรงประกาศทักขิไณย-
    บุคคลจึงได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ความว่า ดูกรอังกุรเทพบุตร มหาทาน
    ท่านให้แล้วสิ้นกาลนาน ท่านมาสู่สำนักของเรา ไฉนจึงนั่งอยู่ไกลนัก.
    อังกุรเทพบุตร อันพระผู้มีพระภาคผู้มีพระองค์อันอบรมแล้วทรงตักเตือน
    แล้ว ได้กราบทูลว่า จะทรงประสงค์อะไรด้วยทานของข้าพระองค์นั้น อัน
    ว่างเปล่าจากทักขิไณยบุคคล อินทกเทพบุตรนี้ให้ทานนิดหน่อย รุ่งเรือง
    ยิ่งกว่าข้าพระองค์ดุจพระจันทร์ในหมู่ดาวฉะนั้น.
    อินทกเทพบุตรทูลว่า
    พืชแม้มากที่บุคคลหว่านแล้วในนาดอน ผลย่อมไม่ไพบูลย์ทั้งไม่ยังชาวนา
    ให้ปลื้มใจ ฉันใด ทานมากมายอันบุคคลเข้าไปตั้งไว้ในบุคคลผู้ทุศีล ก็ฉัน
    นั้นเหมือนกัน ย่อมไม่มีผลไพบูลย์ ทั้งไม่ยังทายกให้ปลาบปลื้ม พืชแม้
    น้อยอันบุคคลหว่านแล้วในนาดี เมื่อฝนหลั่งสายน้ำโดยสม่ำเสมอ ผลย่อม
    ยังชาวนาให้ปลาบปลื้มใจ แม้ฉันใด ทานแม้น้อยอันบุคคลบริจาคแล้ว
    ในท่านผู้มีศีล มีคุณความดี ผู้คงที่ บุญย่อมมีผลมาก ฉันนั้นเหมือนกัน
    ทานอันบุคคลให้แล้วในเขตใด มีผลมาก ควรเลือกให้ในเขตนั้น ทายก
    เลือกให้ทานแล้ว ย่อมไปสู่สวรรค์ ทานที่เลือกให้ พระสุคตทรงสรร
    เสริญ ทักขิไณยบุคคลเหล่าใดมีอยู่ในโลกนี้ ทานที่ทายกให้แล้วในทักขิ
    ไณยบุคคลเหล่านั้น ย่อมมีผลมากเหมือนพืชที่หว่านแล้วในนาดีฉะนั้น.
    จบ อังกุรเปตวัตถุที่ ๙
     
  16. วิมลเกียรติ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    588
    ค่าพลัง:
    +2,123
    ๑๐. อุตตรมาตุเปตวัตถุ ว่าด้วยบุพกรรมของอุตตรมาตุเปรต

    [๑๐๗] นางเปรตมีผิวพรรณน่าเกลียดน่ากลัว มีผมยาวห้อยลงมาจดพื้นดิน
    คลุมตัวด้วยผม เข้าไปหาภิกษุอยู่ในที่พักในกลางวันนั่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ
    คงคา ได้กล่าวกะภิกษุนั้นดังนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันตั้งแต่ตายมา
    จากมนุษยโลก ยังไม่ได้บริโภคข้าวหรือดื่มน้ำเลย ตลอดเวลา ๕๕ ปี
    แล้ว ขอท่านจงให้น้ำดื่มแก่ดิฉันผู้กระหายน้ำด้วยเถิด.
    ภิกษุนั้นกล่าวว่า
    แม่น้ำคงคามีน้ำเย็นใสสะอาด ไหลมาแต่ป่าหิมพานต์ ท่านจงตักเอาน้ำ
    จากแม่น้ำคงคานั้นดื่มเถิด จะมาขอน้ำกะเราทำไม.
    นางเปตรกล่าวว่า
    ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าดิฉันตักน้ำในแม่น้ำคงคานี้เองไซร้ น้ำนั้นย่อมกลับ
    กลายเป็นเลือดปรากฏแก่ดิฉัน เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงขอน้ำแก่ท่าน.
    ภิกษุนั้นถามว่า
    ท่านได้ทำกรรมชั่วอะไรไว้ด้วยกาย วาจา ใจ หรือ น้ำในแม่น้ำคงคาจึง
    กลายเป็นเลือดปรากฏแก่ท่าน?
    นางเปรตนั้นกล่าวว่า
    ดิฉันมีบุตรคนหนึ่งชื่ออุตตระ เป็นอุบาสกมีศรัทธา เขาได้ถวายจีวร
    บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่งและคิลานปัจจัย แก่สมณะทั้งหลายด้วยความ
    ไม่พอใจของดิฉัน ดิฉันถูกความตระหนี่ครอบงำแล้ว ด่าเขาว่า เจ้าอุตตระ
    เจ้าถวายจีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่งและคิลานปัจจัย แก่สมณะทั้งหลาย
    ด้วยความไม่พอใจของเรา นั้น จงกลายเป็นเลือด ปรากฏแก่เจ้าใน
    ปรโลก เพราะวิบากแห่งกรรมนั้น น้ำในแม่น้ำคงคาจึงกลายเป็นเลือด
    ปรากฏแก่ดิฉัน.
    จบ อุตตรมาตุเปตวัตถุที่ ๑๐
     
  17. วิมลเกียรติ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    588
    ค่าพลัง:
    +2,123
    ๑๑. สุตตเปตวัตถุ ว่าด้วยคนไปอยู่กับเปรต

    หญิงคนหนึ่งไปอยู่กับเวมานิกเปรตตลอด ๗๐๐ ปี เกิดความเบื่อหน่ายจึงกล่าว
    กะเวมานิกเปรตนั้นว่า
    [๑๐๘] เมื่อก่อน ฉันได้ถวายด้ายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าซึ่งเข้าไป ขอถึงเรือน
    ของฉัน วิบากแห่งการถวายด้ายนั้น ฉันจึงได้เสวยผลอันไพบูลย์อย่างนี้
    ประการหนึ่ง ผ้ามากมายหลายโกฏิบังเกิดแก่ฉัน วิมานของฉันเกลื่อน
    กล่นไปด้วยดอกไม้ น่ารื่นรมย์ วิจิตรด้วยรูปภาพต่างๆ เพรียบพร้อม
    ไปด้วยเทพบุตรเทพธิดาผู้เป็นบริวาร ฉันเลือกใช้สอยนุ่งห่มตามชอบใจ
    ถึงเพียงนี้ สรรพวัตถุอันปลื้มใจมากมายก็ไม่หมดสิ้นไป ฉันได้รับความ
    สุขความสำราญในวิมานนี้ เพราะอาศัยวิบากแห่งกรรมนั้น ฉันกลับไป
    สู่มนุษยโลกแล้ว จักทำบุญให้มากขึ้น ข้าแต่ลูกเจ้า ขอท่านจงนำฉันไป
    สู่ถิ่นมนุษย์เถิด.
    เวมานิกเปรตนั้นกล่าวว่า
    ท่านมาอยู่ในวิมานนี้ถึง ๗๐๐ ปี เป็นคนแก่เฒ่าแล้ว จักไปอยู่ใน
    มนุษยโลกทำไม อนึ่ง ญาติของท่านตายไปหมดแล้ว ท่านไปจากเทวโลก
    นี้สู่มนุษยโลกนั้นแล้ว จักกระทำอย่างไร?
    หญิงนั้นกล่าวว่า
    เมื่อฉันมาอยู่ในวิมานนี้ ๗๐๐ ปี ได้เสวยทิพยสมบัติ และความสุขอิ่ม
    หนำแล้ว ฉันกลับไปสู่ถิ่นมนุษย์แล้ว จักทำบุญให้มากขึ้น ข้าแต่ลูกเจ้า
    ขอท่านจงนำฉันไปส่งถิ่นมนุษย์เถิด.
    เวมานิกเปรตนั้น จับหญิงนั้นที่แขน นำกลับไปสู่บ้านที่นางเกิด แล้วพูด
    กะหญิงนั้นซึ่งกลับเป็นคนแก่ มีกำลังน้อยที่สุดว่า ท่านพึงบอกชนแม้
    อื่นที่มาสู่ที่นี้ว่า ท่านทั้งหลายจงทำบุญเถิด ท่านทั้งหลายจะได้รับความสุข
    เราได้เห็นเปรตทั้งหลาย ผู้ไม่ได้ทำความดีไว้เดือดร้อนอยู่ ฉันใด มนุษย์
    ทั้งหลายก็ฉันนั้น ก็หมู่สัตว์คือเทวดาและมนุษย์กระทำกรรม อันมีสุข
    เป็นวิบากแล้ว ย่อมเป็นผู้ดำรงอยู่ในความสุข.
    จบ สุตตเปตวัตถุที่ ๑๑
     
  18. วิมลเกียรติ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    588
    ค่าพลัง:
    +2,123
    ๑๒. กรรณมุณฑเปตวัตถุ ว่าด้วยบุพกรรมของนางเวมานิกเปรต

    พระเจ้าพาราณสีตรัสถามนางเวมานิกเปตรว่า
    [๑๐๙] สระโบกขรณีมีน้ำใสสะอาด มีบันไดทองคำลาดด้วยทรายทองโดยรอบ
    ในสระนั้นมีกลิ่นหอมฟุ้งน่ารื่นรมย์ใจ ดาดดื่นไปด้วยหมู่ไม้นานา มีกลิ่น
    ต่างๆ หอมตลบไปด้วยลมรำเพยพัด ดารดาษด้วยบัวต่างๆ เกลื่อนกล่น
    ด้วยบัวขาวมีกลิ่นหอมเจริญใจ อันลมรำเพยพัดฟุ้งขจร เสียงระงมไปด้วย
    หงส์และนกกะเรียน นกจักพรากมาร่ำร้องไพเราะจับใจ เกลื่อนกล่น
    ไปด้วยฝูงนกต่างๆ ส่งเสียงร้องอยู่อึงมี่ มีหมู่รุกขชาติอันมีดอกและผล
    นานาพรรณ ไม่มีเมืองใดในมนุษย์เหมือนเมืองของท่านนี้ ปราสาทเป็น
    อันมากของท่าน ล้วนแล้วด้วยทองคำและเงิน รุ่งเรืองงามสง่าไปทั่วทั้ง
    ๔ ทิศโดยรอบ นางทาสี ๕๐๐ คอยบำเรอท่านประดับด้วยกำไรทอง
    นุ่งห่มผ้าทองคำบัลลังก์ของท่านมีมาก ซึ่งสำเร็จด้วยทองคำและเงิน ปูลาด
    ด้วยหนังชะมด และผ้าโกเชาว์อันบุคคลจัดแจงไว้แล้ว ท่านจะเข้านอน
    บนบัลลังก์ใด ก็สำเร็จดังความปรารถนาทุกอย่าง เมื่อถึงเที่ยงคืน ท่าน
    ลุกจากบัลลังก์นั้นลงไปสู่สวนใกล้สระโบกขรณี ยืนอยู่ที่ฝั่งสระนั้นอันมี
    หญ้าเขียวอ่อน งดงาม ลำดับนั้น สุนัขหูด้วนก็ขึ้นมาจากสระนั้น
    กัดอวัยวะน้อยใหญ่ของท่านเมื่อใด ท่านถูกสุนัขกัดกินแล้วเหลือแต่
    กระดูกเมื่อนั้น ท่านจึงลงสู่สระโบกขรณี ร่างกายก็กลับมีเหมือนเดิม
    ภายหลังจากเวลาลงสระโบกขรณี ท่านกลับมีอวัยวะน้อยใหญ่เต็มบริบูรณ์
    งดงามดูน่ารัก นุ่งห่มแล้ว มาสู่สำนักของเรา ท่านได้ทำกรรมชั่วอะไรไว้
    ด้วยกาย วาจา ใจ หรือและเพราะวิบากแห่งกรรมอะไร สุนัขหูด้วน
    จึงกัดกินอวัยวะน้อยใหญ่ของท่าน?
    นางเวมานิกเปรตกราบทูลว่า
    มีคฤหบดีคนหนึ่ง เป็นอุบาสกผู้มีศรัทธา อยู่ในเมืองกิมพิละ หม่อมฉัน
    เป็นภรรยาของอุบาสกนั้น เป็นคนทุศีล ประพฤตินอกใจเขา เมื่อหม่อม
    ฉันนอกใจเขาอย่างนั้น สามีหม่อมฉันจึงพูดว่า การที่เธอประพฤตินอก
    ใจฉันนั้นเป็นการไม่เหมาะไม่สมควร และหม่อมฉันได้กล่าวมุสาวาท-
    สบถอย่างร้างแรงว่า ฉันไม่ได้ประพฤตินอกใจท่านด้วยกายหรือด้วยใจ
    ถ้าฉันประพฤตินอกใจท่านด้วยกายหรือด้วยใจ ขอให้สุนัขหูด้วนตัวนี้
    กัดกินอวัยวะน้อยใหญ่ของฉันเถิด วิบากแห่งกรรมอันลามก คือ การ
    ประพฤตินอกใจสามี และมุสาวาททั้งสอง อันหม่อมฉันได้เสวยแล้ว
    ตลอด ๗๐๐ ปี เพราะกรรมอันลามกนั้น สุนัขหูด้วนกัดกินอวัยวะน้อย
    ใหญ่ของหม่อมฉัน ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ พระองค์มีอุปการะแก่
    หม่อมฉันมาก พระองค์เสด็จมาที่นี้ เพื่อประโยชน์แก่หม่อมฉัน หม่อมฉัน
    พ้นดีแล้วจากสุนัขหูด้วน ไม่มีความโศก ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ ขอเดชะ
    หม่อมฉันขอถวายบังคมพระองค์ หม่อมฉันขอประนมอัญชลีวิงวอนว่า
    ขอพระองค์จงเสวยกามสุขอันเป็นทิพย์ รื่นรมย์อยู่กับหม่อมฉันเถิด.
    พระราชาตรัสว่า
    กามสุขอันเป็นทิพย์เราเสวยแล้ว และรื่นรมย์แล้วกับท่าน ดูกรนางผู้
    ประกอบด้วยความงาม เราขออ้อนวอนท่าน ขอท่านจงรีบนำฉันกลับ
    เสียเถิด.
    จบ กรรณมุณฑเปตวัตถุที่ ๑๒
     
  19. วิมลเกียรติ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    588
    ค่าพลัง:
    +2,123
    ๑๓. อุพพรีเปตวัตถุ ว่าด้วยดาบสถวายโอวาทแก่พระนางอุพพรี

    [๑๑๐] พระเจ้าพรหมทัตต์ผู้เป็นใหญ่ ได้เสวยราชสมบัติในแคว้นปัญจาลราช
    พระองค์เสด็จสวรรคตโดยกาลอันล่วงไปแห่งวัน และราตรีทั้งหลาย
    พระนางเจ้าอุพพรีมเหสีเสด็จไปยังพระเมรุมาศ แล้วทรงกรรแสงอยู่
    เมื่อพระนางไม่เห็นพระเจ้าพรหมทัตต์ ก็กรรแสงว่า พรหมทัตต์ๆ
    ก็ดาบสผู้เป็นมุนีสมบูรณ์ด้วยจรณญาณ ได้มาที่พระนางอุพพรีประทับอยู่
    นั้น ท่านได้ถามชนทั้งหลายที่มาประชุมกันในที่นั้นว่า นี่เป็นพระเมรุมาศ
    ของใครมีกลิ่นหอมต่างๆ ฟุ้งตลบไป หญิงนี้เป็นภรรยาของใคร เมื่อไม่
    เห็นพระเจ้าพรหมทัตต์ผู้เป็นใหญ่ ซึ่งเสด็จไปแล้วไกลจากโลกนี้ คร่ำ-
    ครวญอยู่ว่า พรหมทัตต์ๆ ชนที่มาประชุมกันอยู่ในที่นั้น กล่าวตอบว่า
    ข้าแต่ท่านผู้เจริญนี่เป็นพระเมรุมาศของพระเจ้าพรหมทัตต์ ข้าแต่ท่านผู้
    นิรทุกข์ นี่เป็นพระเมรุมาศของพระเจ้าพรหมทัตต์ มีกลิ่นหอมฟุ้งตลบไป
    หญิงนี้เป็นพระมเหสีของท้าวเธอ เมื่อไม่เห็นพระเจ้าพรหมทัตต์พระราช-
    สวามี ซึ่งเสด็จไปไกลจากโลกนี้ ทรงพระกรรแสงอยู่ว่า พรหมทัตต์ๆ
    ดาบสจึงถามว่า
    พระราชามีพระนามว่าพรหมทัตต์ ถูกเผาในป่าช้านี้ ๘๖,๐๐๐ พระองค์
    แล้ว บรรดาพระเจ้าพรหมทัตต์เหล่านั้น พระนางทรงกรรแสงถึงพระเจ้า
    พรหมทัตต์พระองค์ไหน?
    พระนางอุพพรีตรัสตอบว่า
    ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระราชาพระองค์ใด เป็นพระราชโอรสของพระเจ้า-
    จุฬนี ทรงเป็นใหญ่อยู่ในแคว้นปัญจาลราช ดิฉันเศร้าโศกถึงพระราชา
    พระองค์นั้น ผู้เป็นพระราชสวามี ทรงประทานสิ่งของที่น่าใคร่ทุกอย่าง.
    ดาบสกล่าวว่า
    พระราชาทุกพระองค์ทรงพระนามว่า พรหมทัตต์เหมือนกันทั้งหมดเป็น
    พระราชโอรสของพระเจ้าจุฬนี เป็นใหญ่อยู่ในแคว้นปัญจาลราช พระนาง
    เป็นพระมเหสีของพระราชาเหล่านั้น ทั้งหมดโดยลำดับกันมา เหตุไร
    พระนางจึงเว้นพระราชาองค์ก่อนๆ มาทรงกรรแสงถึงแต่พระราชาองค์
    หลังเล่า?
    พระนางอุพพรีตรัสตอบว่า
    ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ดิฉันเกิดเป็นแต่หญิงตลอดกาลนานเท่านั้นหรือ
    หรือเกิดเป็นบุรุษ ท่านพูดถึงแต่การที่ดิฉันเป็นหญิงในสงสารเป็นอันมาก.
    ดาบสตอบว่า
    บางคราวพระนางเกิดเป็นหญิง บางคราวก็เกิดเป็นบุรุษ บางคราวก็เข้าถึง
    กำเนิดปศุสัตว์ ที่สุดแห่งอัตภาพทั้งหลายอันเป็นอดีต ย่อมไม่ปรากฏ
    อย่างนี้.
    พระนางอุพพรีตรัสว่า
    ท่านดับความกระวนกระวายทั้งปวงของดิฉัน ผู้เร่าร้อนอยู่ให้หายเหมือน
    บุคคลดับไฟที่ราดน้ำมันด้วยน้ำ ฉะนั้น ท่านได้บรรเทาความโศกถึง
    พระสวามีของดิฉันผู้ถูกความโศกครอบงำแล้ว ถอนขึ้นแล้วหนอซึ่งลูกศร
    คือความโศกอันเสียบแทงที่หทัยของดิฉัน ข้าแต่ท่านผู้เป็นมหามุนี ดิฉัน
    เป็นผู้มีลูกศรคือ ความโศกอันท่านถอนขึ้นได้แล้ว เป็นผู้เย็นสงบแล้ว
    ดิฉันจะไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้อีกเพราะได้ฟังคำของท่าน.
    พระนางอุพพรี ฟังคำสุภาษิตของดาบสผู้เป็นสมณะนั้นแล้ว ถือบาตร
    และจีวรออกบวชเป็นบรรพชิต ครั้นออกบวชแล้วเจริญเมตตาจิต
    เพื่อเข้าถึงพรหมโลก พระนางอุพพรีนั้น เมื่อท่องเที่ยวไปสู่บ้านหนึ่ง
    จากบ้านหนึ่ง สู่นิคมและราชธานีทั้งหลาย ได้เสด็จสวรรคตที่บ้านอุรุเวลา
    พระนางเบื่อหน่ายความเป็นหญิง เจริญเมตตาจิตเพื่อบังเกิดในพรหมโลก
    จึงได้เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก.
    จบ อุพพรีเปตวัตถุที่ ๑๓
     
  20. วิมลเกียรติ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    588
    ค่าพลัง:
    +2,123
    รวมเรื่องที่มีในอุพพรีวรรคนี้ คือ
    ๑. สังสารโมจกเปตวัตถุ ๒. สารีปุตตเถรมาตุเปติวัตถุ ๓. มัตตาเปติวัตถุ ๔.
    นันทาเปตวัตถุ ๕. มัฏฐกุณฑลีเปตวัตถุ ๖. กัณหเปตวัตถุ ๗. ธนปาลเปตวัตถุ ๘. จูฬเสฏฐี
    เปตวัตถุ ๙. อังกุรเปตวัตถุ ๑๐. อุตตรมาตุเปตวัตถุ ๑๑. สุตตเปตวัตถุ ๑๒. กรรณมุณฑ-
    *เปตวัตถุ ๑๓. อุพพรีเปตวัตถุ.
    จบอุพพรีวรรคที่ ๒.
    -----------------------​
     

แชร์หน้านี้