พิจารณากายใน ให้ถึงฌาณสี่

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย NAMOBUDDHAYA, 30 กันยายน 2020.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,103
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,003
    ค่าพลัง:
    +69,974
    ?temp_hash=3f439fea2e04a5e43cd7f31498d08226.jpg


    หลวงพ่อสอนพิจารณา กายในให้ถึงฌาณ๔

    การพิจารณากายในกายในขั้นแรก ท่านถือเอากองลมเป็นสำคัญ เรียกว่า อานาปานบรรพ หรือว่า อานาปานุสสติกรรมฐาน นั่นเอง จำให้ดีนะบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท เฉพาะอานาปานุสสติกรรมฐานนี้มีกำลังมาก มีความสำคัญมาก สามารถทรงฌาน ๔ ได้ แล้วถ้าหากว่าท่านเจริญตามแบบในนี้ ท่านจะมีความสุขแบบสุขวิปัสสโก แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาสติปัฏฐานสูตรนี้ เราจะดัดแปลงขึ้นไปสู่วิชชาสาม อภิญญาหก ปฏิสัมภิทาญาณก็ทำได้ จะทำกันตอนไหนเล่า ก็ทำกันตอนอานาปานสตินี่แหละ จะสามารถสร้างวิชชาสาม อภิญญาหก ปฏิสัมภิทาญาณก็ทำได้

    อานาปานุสสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่เข้าถึงจุดของฌาน ๔ นับเป็นกรรมฐานที่มีความสำคัญมาก กรรมฐานกองนี้ ถ้าใครไม่สามารถเข้าถึงฌานเสียได้แล้ว กรรมฐานทุกกองที่ท่านปรารถนาจะทำ ก็ไม่สามารถจะทรงไว้ได้ ไม่มีประโยชน์เลย เพราะว่าอะไร เพราะว่าไม่สามารถจะทรงสมาธิไว้ได้

    การกำหนดรู้ลมหายใจเข้ากับลมหายใจออก การกำหนด ก็รู้กันแค่จมูก เวลาลมหายใจเข้ากระทบจมูก เวลาลมหายใจออกกระทบจมูก ใช้กันแบบง่ายๆ อย่างนี้ชั่วระยะเวลา ๗ วัน ถ้ายังไม่ดี ก็ทำต่อไปอีก ถ้ายังไม่ดีก็ทำเรื่อยไป เลย ๗ วันก็ได้เอาจนกระทั่งกว่าจะดี หมายความว่าการรู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออกนี่เราไม่ต้องระวังกัน ไม่ต้องตั้งท่า ไม่ต้องหาเวลา จะเป็นเวลาใดก็ตาม เวลาที่กินข้าวอยู่ก็ดี หรือว่าเวลาทำการงานก็ดี เวลาพูดคุยกับเพื่อนฝูงก็ดี เดินไปก็ดี ยืนอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี ทุกๆ อิริยาบถ เราสามารถรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกได้อย่างสบาย อย่างนี้เรียกว่าเข้าถึงอานาปานุสสติ หรือมหาสติปัฏฐานสูตรข้อนี้แล้ว ถ้ายังไม่เข้าถึงตอนนี้ ขอบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทและพระคุณเจ้าที่เคารพ ที่กำลังรับฟังอยู่เพื่อฝึก ก็จงอย่าเคลื่อนไป อย่าทำให้มากไปกว่านี้ จนกว่าจะรู้สึกว่าเราทำได้ดี

    ทีนี้หากว่าสามารถจะรู้ลมเข้าลมออกได้แค่จมูกนี้ก็จัดว่าดีนะ ไม่ใช่ไม่ดี แต่ว่ายังดีไม่มาก เพราะว่ามหาสติปัฏฐานสูตร พระพุทธเจ้ามุ่งสอนเอาพระนิพพานเป็นสำคัญ ไม่ใช่เราจะมาสอนปฏิบัติกันเพื่อเป็นอุปนิสัยปัจจัย แต่การที่เข้าถึงพระนิพพานนั้น ต้องค่อยๆ สะสมความดี ทีนี้การรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ก็เพื่อเป็นการทรงสติ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนบอกว่า จงรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก คำว่ารู้แปลว่าสติ หรือว่าสติ แปลว่ารู้อยู่ ให้รู้ ตามธรรมดาคนเราหายใจวันละหลายหมื่นครั้ง แต่ว่าคนที่จะรู้ว่าตัวหายใจจริงๆ หายาก

    ทีนี้มาพูดกันถึงว่าเราทำได้ถึงตอนนี้ จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เรื่องของพระกรรมฐานกับนิมิตเป็นของธรรมดา นี่แหละนักปฏิบัติ กรรมฐาน ๔๐ หรือมหาสติปัฏฐานสูตร ก็เหมือนกัน ไม่มีอะไรต่างกัน เป็นแต่เพียงเรียกชื่อต่างกันเท่านั้น เรื่องนิมิตที่พึงเกิดจากสมาธินี่เป็นของธรรมดา นิมิตของอานาปานุสสติกรรมฐานก็มีเช่น สีเขียว สีแดง สีสว่างคล้ายๆ แสงไฟฉาย หรือเหมือนแสงฟ้าแลบ นี่เป็นนิมิตของอานาปานุสสติกรรมฐาน

    ขอเลี้ยวตรงนี้นิดหนึ่ง สำหรับญาติโยมแก่ๆ จะว่าอายุแก่หรือแก่ปฏิบัติก็ตาม มันก็แก่เหมือนกัน แก่ฟังก็ใช้ได้ เรียกว่าแก่เหมือนกัน คือคงจะคิดว่า เอ นี่หลวงตานี้แกมาทำยังไงของแกนี่ ก็การเจริญพระกรรมฐานที่จะให้เข้าถึงบุญ เขาก็จะต้องภาวนาว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือว่าพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็แกมาสอนให้กำหนดเฉพาะลมหายใจเข้าออกเท่านั้นนี่ แล้วมันจะไปได้บุญได้ทานยังไง ถ้าบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทหรือพระคุณเจ้าทั้งหลายที่กำลังรับฟังอยู่ ถ้าคิดว่าจะไม่ได้บุญละก็ ขอพระคุณเจ้าโปรดคิดว่า เขตของการบุญน่ะมันอยู่ตรงที่จิตเป็นสมาธินะ ตัวบุญน่ะอยู่ที่จิตเป็นสมาธิที่มีอารมณ์ตั้งมั่น ไม่ใช่ตัวบุญอยู่ที่องค์ภาวนาอย่างเดียว

    หากว่าเราภาวนาแบบชนิดนกแก้วนกขุนทอง ว่าไป พุทโธ ธัมโม สังโฆ ว่าไปโดยจิตไม่ตั้ง อารมณ์ไม่ทรงอยู่ พอว่าไปภาวนาไป แต่จิตอีกส่วนหนึ่งมันแลบไปสู่อารมณ์อย่างอื่น อย่างนี้ว่าเท่าไรก็ไม่เป็นบุญ การที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้มีการภาวนาด้วย ก็เพื่อจะใช้อารมณ์ยึด คือ สติ ให้รู้อยู่ว่านี่เรากำหนดลมหายใจเข้าออก หรือว่าภาวนาว่ายังไง แล้วก็ควบคุมอารมณ์อยู่เฉพาะอย่างนั้นอย่างเดียวให้เป็นเอกัคคตารมณ์ คำว่าเอกัคคตารมณ์แปลว่า เป็นหนึ่ง อารมณ์ของเราเป็นหนึ่งไม่มีสอง อย่างนี้จัดว่าเป็นสมาธิ คือร่างกายอย่างเดียวคือตัวรู้อยู่ นี่ว่ากันถึงคำภาวนาเป็นบุญหรือไม่เป็นบุญนะ ต้องถือว่า ตัวบุญใหญ่คือการทรงสมาธิจิต

    ถ้าสมาธิทรงได้สูงมากเพียงใด นิวรณ์ที่จะมากั้นความดีคืออารมณ์ของความชั่ว คำว่านิวรณ์ก็ได้แก่อารมณ์ของความชั่วก็เข้าสิงจิตได้ยากเพียงนั้น ถ้าขณะใดจิตทรงสมาธิที่เรียกกันว่าเป็นฌาน คำว่าฌานนี้ ฌานํ แปลว่าการเพ่ง การทรงอยู่ของจิต จิตเพ่งอยู่เฉพา่ะอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง อันนี้เราเรียกกันว่าฌาน อย่างเราภาวนาว่า พุทโธก็ดี หรือว่ากำหนดรู้เฉพาะลมหายใจเข้าออกก็ดี ขณะนั้นจิตอยู่เฉพาะลมหายใจเข้า หายใจออก จิตไม่ส่ายไปสู่อารมณ์อย่างอื่น อย่างนี้เราเรียกกันว่าฌาน แต่ว่าจะเป็นฌานขั้นต้น ขั้นกลาง ขั้นปลายอะไรก็ตาม นั่นก็เป็นเรื่องอีกอย่างหนึ่ง เป็นอาการละเอียดของจิต เป็นอาการทรงของจิต

    ทีนี้ก็มาว่ากันถึงจิต เรามีสติสามารถจะรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ที่กระทบเข้าและกระทบออกที่จมูกได้ รู้แล้วนะ เมื่อรู้ไปๆ ๆ ๆ เข้าก็รู้ออกก็รู้ อย่างนี้จิตก็จะเริ่มเป็นสมาธิ สมาธิอาจจะยังไม่ใหญ่พอ เพราะยังหยาบหนัก อย่างนี้จะเป็นสมาธิก็ต้องเรียกว่าขณิกสมาธิ ตอนขณิกสมาธิเบื้องปลาย ตอนละเอียดของขณิกสมาธิ คำว่าขณิกสมาธิ แปลว่าสมาธิเล็กน้อย เมื่อเริ่มเข้าถึงขณิกสมาธิตอนปลาย จิตเริ่มละเอียด ลมที่กระทบจมูกเริ่มละเอียดลง ทีแรกๆ เราทำรู้สึกว่าจะหยาบมาก มีการกระทบแรง แต่ว่าต่อมาจะรู้สึกว่าลมที่กระทบจมูกน่ะ เบาลงๆ แต่ว่าจิตมีความเรียบร้อยดี เพราะส่ายออกไปน้อย ตอนนี้แหละ แล้วตอนต่อไป เมื่อขณิกสมาธิละเอียดเกิดขึ้น จิตก็จะเข้าสู่อุปจารสมาธิ ซึ่งเป็นสมาธิสูงกว่านั้น ใกล้จะถึงฌาน ตอนนี้อารมณ์ของจิตที่เป็นทิพย์จะปรากฏ

    เมื่อจิตว่างจากนิวรณ์ ๕ ประการแล้ว จิตก็สามารถจะเป็นทิพย์ แต่ว่าจะเป็นมากหรือเป็นน้อยก็ขึ้นอยู่กับสมาธิจิต บางทีมันเป็นประเดี๋ยวเดียว ว่างจากนิวรณ์นิดหนึ่ง แว๊บหนึ่ง แค่ชั่วของวินาที หรือครึ่งวินาที จิตก็กลับมัวหมองใหม่

    ทีนี้เวลาที่จิตเป็นทิพย์มันเป็นยังไง จิตเป็นทิพย์มันก็จะเห็นแสง เห็นสี เห็นภาพต่างๆ ที่เราไม่ถึง ที่เราคาดไม่ถึง จำให้ดีนะ คือบางทีก็เห็นเป็นแสง เป็นสีเขียว สีแดง เป็นแสงสว่างแปลบปลาบ คล้ายๆ กับฟ้าแลบก็มี นี่ตอนนี้จงรู้ว่าจิตของเราเป็นสมาธิละ และจิตเริ่มเป็นทิพย์สามารถเห็นแสงสีที่เป็นทิพย์ได้ แต่ถ้าอาการปรากฏอย่างนี้มักจะปรากฏแผล็บเดียวแล้วก็หายไป

    ในเมื่อปรากฏแล้วหายไปบางคนเสียกันตอนนี้เยอะ บางคนมาเอาดีกันตอนเห็น ต่อไปถ้าเห็นไม่ได้จิตใจก็ฟุ้งซ่าน นี่มาเสียกันตอนนี้เสียมาก เพราะอะไร เพราะว่าเข้าใจพลาด คิดว่าอาการเห็นอย่างนั้นเป็นของดี แล้วก็ควรจะยึดถือเพราะว่าเป็นของใหม่ มีความปลื้มใจ มีการภูมิใจมาก บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทและพระคุณเจ้าที่เคารพ ถ้าอาการปรากฏขึ้นอย่างนั้นนะ ขอโปรดทราบว่า ภาพที่ปรากฏก็ดี แสงสีที่ปรากฏก็ดี จงอย่าถือ อย่าเอาจิตเข้าไปเกาะ สมาธิของท่านจะคลาย สมาธิของท่านจะเคลื่อน ความดีจะสูญไป

    เอาแต่เพียงเป็นเครื่องกำหนดว่า ถ้าหากว่าเราเห็นนาน หรือเร็ว เห็นภาพแว๊บหนึ่งหายไป จงรู้ตัวว่า นี่จิตของเราเป็นทิพย์ เข้าสู้อุปจารสมาธิได้นิดเดียว เมื่อเห็นภาพหายไปนั้น แสดงว่าจิตของเราเคลื่อนจากสมาธิ ความมัวหมองปรากฏแก่จิตแล้ว แล้วจงทิ้งอารมณ์นั้นเสีย ทิ้งภาพที่เห็นเสีย อย่าเอาจิตเข้าไปติด หนีมาเริ่มต้นความดีกันใหม่ จับลมหายใจเข้าออกกันใหม่

    ต่อไป อุปจารสมาธิ มีอะไร ก็มีปีติให้ปรากฏ มีความชุ่มชื่น มีขนพองสยองเกล้า มีน้ำตาไหล มีร่างกายโยกโคลงเป็นต้น มีความอิ่มเอิบ มีความปลาบปลื้มใจ มีอารมณ์ดิ่ง มีอารมณ์ละเอียด มีความสบายมากกว่าปกติ นี่เป็นปีตินะ ความอิ่มใจเกิดจากการรักษาอารมณ์ตอนนี้ ทีนี้ เวลาเข้าไปถึง ปฐมฌาน ปฐมฌานมีอาการที่เข้าถึงเป็นอย่างนี้นะ อารมณ์ของเราในขณะนั้นย่อมไม่ข้องกับนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการ คือ ความพอใจในรูปสวยเสียงเพราะ รสอร่อย กลิ่นหอม สัมผัสนิ่มนวลไม่มี อารมณ์นิ่งพอใจในการภาวนา หรือพอใจในการกำหนดลมหายใจเข้าออก ความโกรธความพยาบาทไม่ปรากฏ ความง่วงเหงาหาวนอนไม่ปรากฏ

    อารมณ์ภายนอก นอกจากการกำหนดลมหายใจเข้าออกไม่ปรากฏ ทรงอารมณ์หายใจเข้าออกไว้ เวลาหูได้ยินเสียงภายนอกทุกอย่าง เสียงเขาฟังวิทยุ เสียงเขาเปิดเครื่องขยายเสียง เสียงชาวบ้านทะเลาะกัน เสียงคุยกัน เสียงนินทาว่าร้าย แม้แต่นินทาว่าร้ายเราเอง หูได้ยินทุกอย่าง แต่ว่าใจไม่กังวล จิตใจนี่ไม่สอดส่ายไปตามอารมณ์นั้น คงรักษาลมหายใจเข้าออกไว้ได้อย่างสบายๆ ไม่เกิดความรำคาญ อาการอย่างนี้เป็นอาการของปฐมฌาน บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทและพระคุณเจ้าที่เคารพโปรดรับทราบไว้ด้วย จะได้ไว้เป็นเครื่องวัด
    แบบนี้ก็เหมือนกันนะ แบบรักษาลมหายใจเข้าออก รู้อยู่ว่าหายใจเข้าสั้นหรือยาว หายใจออกสั้นหรือยาว พระคุณเจ้าค่อยๆ ทำไป อย่ารีบนะขอรับ หาเวลาวันหนึ่งๆ ทำให้มาก อย่าทำแต่เฉพาะสองทุ่ม สามทุ่ม สองยาม สามยามเป็นเวลาทำกรรมฐาน นอกนั้นปล่อยอารมณ์ให้เลื่อนลอยไป อย่างนี้เชื่อว่าไกลความสำเร็จมาก เพราะว่าอานาปานุสสตินี้เป็นกรรมฐานใหญ่ สามารถทรงได้ถึงฌาน ๔

    คราวนี้ เมื่อเข้าถึงปฐมฌาน ก็รู้อยู่แล้วนี่ว่าจิตไม่กังวล อย่างนี้ท่านกล่าวว่าจิตมันเริ่มแยกจากกาย หูเป็นกาย สัมผัสกับเสียง แต่จิตที่อยู่ภายในกายนี้ไม่สนใจกับเสียง ได้ยินเหมือนกันแต่ว่าจะยังไงก็ช่าง จะนินทาหรือจะชมจะร้องเพลงร้องละครก็ช่าง ฉันไม่เกี่ยว ทรงอารมณ์สบายๆ นี่เป็นอาการของปฐมฌาน หากว่าท่านพิจารณาลมหายใจเข้าออกและกำหนดรู้อยู่ ว่าหายใจเข้าสั้นหรือยาว ออกสั้นหรือยาว นี่จะเข้าถึงปฐมฌานได้ง่าย ตรงนี้นะ ถ้าทำได้แล้วจะไม่พูดให้ยาว

    ต่อไปก็ขยับเข้าไปอีกนิดหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนนะ ฟังให้ดีนะขอรับ ขยับเข้าไปอีกนิดหนึ่ง ก่อนที่จะรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก เราจะกำหนดกองลมเสียก่อน คำว่ากำหนดกองลม คือตั้งใจไว้ว่า นี่เราจะหายใจเข้า ว่านี่เราจะหายใจออก แล้วหายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้น ก็รู้ไว้ด้วย อย่าลืมนะขอรับขยับเข้าไปอีกนิดหนึ่ง อีตอนต้นหายใจเข้าหายใจออก รู้เฉพาะเท่านั้น ไม่ต้องกำหนดกองลม แล้วตอนหายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้น ไม่ต้องกำหนดรู้กองลม คือว่ามันจะหายใจก็หายใจของมันเอง

    ตานี้มาตอนที่สาม รู้อยู่ว่านี่เราจะหายใจเข้า นี่เราจะหายใจออก นี่ทำสติของท่านให้ละเอียดเข้าไปอีกนิดหนึ่ง ให้กระชั้นเข้าไป แต่การกำหนดให้รู้อยู่ว่านี่เราจะหายใจเข้า นี่เราจะหายใจออก หายใจเข้าสั้นหรือยาว ออกสั้นหรือยาว ไอ้การอย่างนี้ถ้าสามารถทรงอยู่ได้เป็นเอกัคคตารมณ์ หมายความว่าไม่ปล่อยอารมณ์อื่นให้เข้ามายุ่ง เรากำหนดอย่างนี้ได้ครั้งละ ๒ ถึง ๓ นาที หรือ ๕ นาทีก็ตาม แสดงว่าอารมณ์จิตของท่านเข้าถึง ฌานที่ ๒ และฌานที่ ๓

    อย่างนี้บรรดาคณาจารย์ทั้งหลายอาจจะเถียง ไอ้ฌานที่ ๒ และฌานที่ ๓ นี่มันไม่มีการภาวนา ไม่มีการกำหนดรู้อยู่ ก็จะขอบอกว่า การภาวนาไม่มีจริง ถ้าทำถึงนะ แต่การรู้ลมหายใจเข้าออกยังมีอยู่อย่างนี้ ลองสอบสวนอารมณ์จิตของท่านให้ดี ถ้าท่านจะค้านว่า ต้องไม่รู้ลมหายใจเข้าหายใจออก อันนี้ไม่ถูก ที่ถูกต้องบอกว่ารู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ถ้านึกกรรมฐานใช้องค์ภาวนาด้วยตั้งแต่ฌานที่ ๒ ขึ้นไป จะเลิกภาวนา องค์ภาวนาจะหยุดไปเอง ไม่ใช่มาหยุดลมหายใจเข้าออกกัน แต่เวลาลมหายใจเข้าออกจะรู้สึกว่าเบาลงไป มีความรู้สึกนะ สำหรับฌานที่ ๒ รู้สึกว่าลมหายใจเข้าออกเบาลงไป มีจิตชุ่มชื่น มีความเยือกเย็น มีความสบายมากขึ้น หูยังได้ยินเสียง แต่รู้สึกว่าเบากว่าปกตินิดหนึ่ง เบากว่าสมัยที่ได้ปฐมฌานไปนิดหนึ่ง

    ทีนี้พอเข้าถึง ฌานที่ ๓ จะรู้สึกว่าทางกายมันเครียด เรานั่งธรรมดา เรานอนธรรมดาเหมือนมีอาการเกร็งตัว มีอาการตึงเป๋ง ลมหายใจรู้สึกว่าน้อยลง เสียงที่ได้ยินเบาเข้า เสียงที่ได้ยินจากภาพนอกนะ เขาพูดแรงๆ ก็รู้สึกว่าเบาลงมาก นี่เป็นอาการของฌานที่ ๓ ทำได้ตอนนี้นะขอรับพระคุณเจ้า รักษาไว้ทรงไว้ให้ดี อย่ารีบจู่โจม อย่ารีบ นี่เราใกล้จะดีแล้ว ถ้าอานาปานุสสติกรรมฐานที่ทำได้ถึงฌาน ๔ แล้วก็ทรงฌาน ๔ เข้าไว้ตลอดชีวิต เรื่องการทรงฌานนี้กระผมขอร้อง ได้แล้วอย่าทิ้ง อย่าคิดว่าตัวดี ถึงแม้ว่าจะได้ฌานก็จัดว่าเป็นฌานโลกีย์ ก็ต้องคิดว่า จะเป็นฌานโลกีย์ก็ตาม ฌานโลกุตตระก็ตาม ต้องคิดว่าสิ่งเหล่านี้เราจะรักษาด้วยชีวิต ไม่ใช่ได้แล้วก็ปล่อย

    เมื่อกำหนดกองลมว่า ต่อไปเราจะหายใจเข้าแล้วเราก็หายใจเข้า แล้วเวลาหายใจเข้าสั้นหรือยาวเราก็รู้ เวลาจะหายใจออก ก็นึกในใจว่านี่เราจะหายใจออก ไม่ต้องไปอั้นเอาไว้นะ ปล่อยไปตามปกติ หรือเวลาที่ลมมันไหลออกมาก็รู้อยู่ว่า เอ๊ะ นี่เราหายใจออกแล้วนี่ เวลาลมมันไหลเข้าก็ว่า เอ๊ะ นี่เราหายใจเข้าแล้วนี่ ที่รู้ก่อนมันจะเข้ามันจะออกนิดหนึ่งเป็นของไม่ยาก ที่เรียกว่ากำหนดกองลมก่อนจะหายใจเข้าหรือหายใจออก นี่เป็นอันดับที่สามของอานาปานสติในกายานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน

    คราวนี้มาอันดับที่ ๔ ตอนเป็นอาการของ ฌาน ๔ พระพุทธเจ้ากล่าวว่า จะไม่กำหนดรู้ลม คือปล่อยกองลมเสีย มันจะหายใจเข้าหรือหายใจออกก็ตามใจ เราจะไม่ยอมรู้มันละ ปล่อยมันไม่ยุ่งกับเรื่องของลม นี่พูดภาษาไทยชัดๆ นะ เราจะไม่ยุ่งกับเรื่องของลม มันจะหายใจเข้าหรือหายใจออกก็ตามใจ เรารักษาอารมณ์ดีไว้อย่างเดียว เห็นไหม แต่ว่าในตอนต้นๆ อาจจะต้องกำหนดลมหายใจเข้าออกอยู่บ้าง แต่ว่าลมหายใจเข้าออกน่ะรู้สึกว่าจะเบา ถ้าได้นะ ต้องทำได้ เวลาทำต้องขึ้นต้นมาตั้งแต่รู้ลมหายใจเข้าออก สักประเดี๋ยวหนึ่งแล้วก็มารู้ลมหายใจเข้าสั้นหรือยาว ออกสั้นหรือยาวอีกประเดี๋ยวหนึ่ง แล้วกำหนดกองลมก็รู้อีกประเดี๋ยวหนึ่ง จิตมันละเอียดขึ้นมา ต่อมาอันดับสุดท้ายเราไม่สนใจกับกองลม

    มันจะหายใจเข้าหรือหายใจออกก็ตามใจ ฉันไม่สนใจกับนาย สุดแล้วแต่นายซิ นายจะหายใจเข้าก็ตามใจ นายจะหายใจออกก็ตามใจ ฉันไม่เกี่ยว อีตอนนี้ถ้าทำไปๆ ตอนแรกเราก็ต้องรู้ลมเข้าลมออก หนักเข้าๆ ลมจะละเอียดเข้ามาๆ จนกระทั่งไม่รู้สึกว่ามีลมหายใจ ลมหายใจที่เรากำลังหายใจอยู่นี่นะ จะเกิดมีความรู้สึกเหมือนไม่หายใจ แต่อารมณ์จิตภายในมีความโพลง มีความสว่าง มีการทรงตัวมาก มีอารมณ์เป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นหนึ่ง เป็นอุเบกขา วางเฉยต่ออารมณ์ทั้งปวง มีความชุ่มชื่น มีความสุขที่สุด มีความสบายที่สุด ไม่รู้สึกในการสัมผัสภายนอก คือลมจะมากระทบ ยุงจะมากัดเรา เวลานั่งความเมื่อยปวดไม่ปรากฏ อย่างนี้เป็นอาการของฌาน ๔

    บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท เมื่อเข้าถึงฌาน ๔ หรือฌานที่เท่าไหร่ก็ตามที่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัททำได้แล้ว ขอจงรักษาไว้ให้มั่น หมั่นทำไว้เสมอให้จิตคล่้อง จะสามารถนั่งยืนเมื่อไร เข้าฌาน ๔ ได้ทันที แล้วก็สามารถจะกำหนดเวลาออกได้ด้วย

    อานาปานุสสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่ระงับกายสังขาร มีคุณประโยชน์มาก เวลาป่วยไข้ไม่สบายมีทุกขเวทนาสาหัส ถ้ากำหนดลมหายใจเข้าออกจนจิตเป็นฌาน อาการปวดเมื่อยทั้งหลายเหล่านั้น มันจะสลายตัวไป ท่านที่ได้อานาปานุสสติกรรมฐานจนคล่อง จนสามารถจะกำหนดเวลาตายได้ ตัวอย่างเช่นหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านบอกเวลาตายล่วงหน้าไว้ ๓ ปี กำหนดปี กำหนดเดือน กำหนดวัน กำหนดจนกระทั่งเวลาที่ท่านจะตาย นี่เห็นไหมว่าท่านคล่องในมหาสติปัฏฐานสูตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อานาปานุสสติกรรมฐานนี่ท่านคล่องมาก

    ในตอนท้าย พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า การกำหนดลมหายใจเข้าออกนี้ เรากำหนดเพื่อรู้ความเกิดขึ้น ความเสื่อมไป หรือการสลายตัว ว่าร่างกายเรานี้ที่ชื่อว่า ร่างกายของเรา เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วมันก็เสื่อมไป แล้วมันก็สลายตัว

    เราจะไม่ยึดถืออะไรทั้งหมดในร่างกายนี้ ตอนนี้เป็นวิปัสสนาญาณ บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท คิดว่าอัตภาพร่างกายนี้เกิดขึ้นได้แล้ว จะเป็นกายเราก็ตาม กายคนอื่นก็ตาม ถ้ากายเราท่านเรียกว่ากายภายใน ถ้ากายคนอื่นเรียกว่ากายภายนอก ของเราเรียกว่าภายใน

    นึกถึงว่านี่มันมีสภาพเหมือนกัน มีสภาพที่ปกติมีความเกิดขึ้น มีความเสื่อมไป และมีการสลายตัวเหมือนกัน เราจะไปยึดมั่นมันไว้เพื่อประโยชน์อะไร เราจงอย่าคิดว่ากายนี้เป็นเราเป็นของเรา จงอย่าคิดว่าเรามีในกาย หรือกายมีในเรา นี่มันไม่มี สภาวะของมันเป็นยังไง มันก็ต้องเป็นยังงั้น ถึงเวลามันจะแตก มันจะสลายมันก็สลายตัวของมันเอง ไม่มีใครไปบังคับบัญชามันได้

    ทีนี้ท่านย้อนกลับไปอีกนิดหนึ่งว่า ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว ถ้าจิตใจยังไม่สบายเกิดอารมณ์ฟุ้งซ่าน ท่านบอกให้หักใจกลับเข้ามาเสียอีกนิดหนึ่ง ที่เรากำหนดการตั้งขึ้นของร่างกาย และความเสื่อมไปของร่างกายนี้ เราไม่กำหนดเพื่ออย่างอื่น เรากำหนดเพื่อรู้อยู่เท่านั้น เป็นการทรงสติไว้ นี่หลบกลับมาหาสมถะ ตอนนั้นเป็นวิปัสสนาญาณ ตอนนี้หลบเข้ามาหาสมถะ นี่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทและพระคุณเจ้าที่เคารพที่กำลังรับฟัง คงจะเห็นว่าการสอนสมถะของพระพุทธเจ้าย่อมควบวิปัสสนาญาณไว้เสมอ จบอานาปานบรรพในกายานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,103
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,003
    ค่าพลัง:
    +69,974
    ?temp_hash=4063ec922c6d669ec25c500147633692.jpg


    ?temp_hash=cade496505f2052f5c13c294ee1aa0b2.jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • ลม.jpg
      ลม.jpg
      ขนาดไฟล์:
      91.9 KB
      เปิดดู:
      181
    • art_42015755.jpg
      art_42015755.jpg
      ขนาดไฟล์:
      49.8 KB
      เปิดดู:
      112
  3. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,103
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,003
    ค่าพลัง:
    +69,974
    ?temp_hash=18b2686cb2586b1f28fbcca71c508b0e.jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  4. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,103
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,003
    ค่าพลัง:
    +69,974
    สติปัฏฐาน ๔ ได้แก่
    ๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ให้ระลึกถึงกายนี้หนึ่ง
    ๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ให้ระลึกถึงเวทนานี้หนึ่ง
    ๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ให้ระลึกถึงจิตนี้หนึ่ง
    ๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ให้ระลึกถึงธรรมนี้หนึ่ง

    ผู้เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ ให้เกิดเป็นสมาธินั้น ต้องรู้จักคุณธรรม ๓ อย่างนี้เสียก่อน มิฉะนั้น ไม่เรียกว่าผู้ตั้งอยู่ในสติปัฏฐานเลย เพราะว่าความเข้าใจนั้นแคบไป แต่แท้ที่จริงนั้น มีแต่สติเท่านั้นไม่พอในการทำสติปัฏฐานเลย เมื่อไม่พอเช่นนี้ ขืนระลึกถึงรูปกายอยู่แล้ว ก็จะเกิดแต่ความยินดียินร้าย เพราะหน้าที่ของสตินั้นได้แค่ระลึกถึงเท่านั้น

    ฉะนั้น ในการเจริญสติปัฏฐานนั้น จำต้องให้รู้เครื่องประกอบของผู้ระลึกดังนี้ คือ
    ๑. สติ
    ๒. สัมปชัญญะ
    ความรู้ตัวไว้ประจำใจก่อน ใช้สติแล่นติดต่อกับอารมณ์ มีรูปกายเป็นต้น แล้วให้แล่นเข้ามาสู่ภายใน คือ ใจของตน
    ๓. อาตาปี ความเพียรเพ่งพิจารณาขยายอาการของกายออกเป็นส่วน

    อุปมาอีกว่า กายเราเปรียบเหมือนโรงเลื่อยจักร จิตเปรียบเหมือนเหล็กเพลา สัมปชัญญะเปรียบเหมือนมู่เล่ที่หมุนรอบตัวเพลาอยู่ในสถานที่แห่งเดียว สติเหมือนสายพานคอยผูกอารมณ์กับจิตไว้ไม่ให้เคลื่อนคลาดไปสู่อารมณ์อื่น อาตาปีความเพียรเพ่งพิจารณาเหมือนตัวเลื่อยจักร คอยตัดหั่นท่อนซุงนั้นให้กระจายออกเป็นชิ้นๆ จึงจะสำเร็จประโยชน์

    คุณธรรม ๓ อย่างนี้ จำต้องมีประจำตัวอยู่เสมอในการทำสมาธิจึงจะสำเร็จได้

    ต่อไปนี้จะแสดงถึงงานที่จะต้องทำ อันเป็นหน้าที่ของอาตาปี ที่เรียกว่าความเพียรเพ่ง และสัมปชัญญะ ความรู้ดี สติ ความระลึกได้ จะต้องให้ถูกต้องตามหน้าที่ของตนๆ หน้าที่ของตนที่จะต้องทำนั้นมีอยู่ ๔ อย่าง คือ

    ๑. กาย อันเป็นที่ประชุมของธาตุทั้ง ๔
    ๒. เวทนา ความเสวยอารมณ์ มีสุข ทุกข์ อุเบกขา เป็นต้น
    ๓. จิต ผู้สะสมไว้ซึ่งความดีและความชั่วทั้งหลาย
    ๔. ธรรม สภาพที่ทรงไว้ในตน เป็นต้นว่า กุศลธรรม และอกุศลธรรม อันระคนปนกันอยู่
    ทั้ง๔ อย่างนี้ เป็นหน้าที่ของผู้จะทำต่อไป

    ข้อ ๑ อธิบายในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    อธิบายคำที่ว่า “กาย” นี้ได้แก่ธาตุทั้ง ๔ ประชุมกันเข้า มีจิตวิญญาณครอบครองอยู่ก็ดี ที่ปราศจากจิตวิญญาณครอบครองแล้วก็ดี แต่ปรากฏแก่ตาได้อยู่ เรียกว่า “รูปกาย” รูปกายนี้แยกออกเป็น ๓ ประเภท คือ

    ๑. กายใน ได้แก่ กายของตนเอง
    ๒. กายนอก ได้แก่ กายคนอื่น
    ๓. กายในกาย ได้แก่ ชิ้นใดชิ้นหนึ่งของอวัยวะ เป็นต้นว่า ลมหายใจ อันเป็นส่วนหนึ่งของธาตุทั้ง ๔ นี้เรียกว่า กายในกาย

    เรื่องของกายจะเป็นภายในก็ดี ภายนอกก็ดี ก็มีอยู่ว่า ธาตุทั้ง ๔ เท่านั้น เมื่อรู้จักหน้าที่ของตนแล้ว จำเป็นที่จะต้องทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้อง เป็นต้นว่า

    ๑. สัมปชัญญะ ความรู้ตัวอยู่กับที่ คือทำความรู้สึกอยู่กับจิต อันเป็นส่วนภายใน ไม่ต้องไปใช้ที่อื่น
    ๒. สติ ความระลึก จะต้องใช้ทั่วไป เป็นต้นว่า ใช้แล่นเข้าสู่จิตอันเป็นส่วนภายใน แล้วใช้แล่นเข้าไประลึกถึงอารมณ์ มีรูปกายเป็นต้น แล้วคอยประคองอารมณ์กับจิตไว้ไม่ให้เคลื่อนคลาดจากกัน
    ๓. อาตาปี ความเพียรเพ่งพิจารณารูปกายขยายออกเป็นส่วนๆ ดังนี้

    หน้าที่ของความเพียรเพ่งพิจารณานั้นมีอยู่ ๕ อย่าง คือ
    ๑. ให้ตรวจตราพิจารณาเพ่งดูอาการ ๓๒ มี เกสา - ผม, โลมา - ขน, นขา - เล็บ, ทันตา - ฟัน, ตโจ - หนัง เป็นอาทิ

    ให้ตรวจตราพิจารณาดูจนถี่ถ้วน เมื่อไม่เกิดความสงบในวิธีนี้ ให้เจริญต่อไปในวาระที่ ๒ คือ

    ๒. ให้เพียรเพ่งพิจารณาอสุภกรรมฐานโดยประการต่างๆ ของร่างกาย เป็นต้นว่าร่างกายก้อนนี้เป็นที่ประชุมซึ่งสรรพสิ่งทั้งหลาย คือ หน้าที่บรรจุไว้แห่งซากศพ เป็นสุสานประเทศ เช่น ซากโค ซากกระบือ ซากหมู เป็ด ไก่ เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม อันเข้าไปผสมบ่มไว้ในกระเพาะ แล้วกรองกลั่นเป็นน้ำเลือด น้ำหนอง เปื่อยเน่า พุพอง ซาบซ่านออกมาตามทวารต่างๆ อันมนุษย์ทั้งหลายพากันเยียวยามิได้หยุด เป็นต้นว่า การอาบน้ำขัดสี ซักฟอก กลบกลิ่นมิให้ปรากฏ

    แต่ถึงกระนั้น อ้ายความโสโครกของร่างกาย ก็ยังแสดงตัวออกอยู่เสมอ เป็นต้นว่า ขี้หู ขี้ตา ขี้มูก ขี้ฟัน ขี้เหงื่อ ขี้ไคล ย่อมไหลซาบซ่านอยู่เสมอ เป็นสิ่งที่โสโครกโสมมด้วยประการต่างๆ เป็นต้นว่า ที่เกิดก็เกิดที่โสโครก ที่อยู่ก็อยู่ที่โสโครก คืออยู่ในป่าช้าผีดิบ หรือยิ่งกว่าป่าช้า ซากผีที่ฝังไว้ในตนแล้ว ดูเป็นร้อยๆ อย่างเสียอีก ตัวคนเราถ้าจะดูตามลักษณะ ก็มีอาการต่างๆ ไม่สม่ำเสมอกัน มีกลิ่นก็เหม็น เป็นสิ่งที่น่าเกลียดน่าชังหนักหนา

    เมื่อพิจารณาอย่างนี้ ถ้าไม่เกิดความสลดสังเวชก็ให้พิจารณาในวาระที่ ๓ คือ

    ๓.ให้เพ่งพิจารณาลมหายใจเข้าออก ลมเข้ายาวก็ให้รู้ตัว ลมออกยาวก็ให้รู้ตัว ทีแรกการทำลมให้ปล่อยใจออกมาตามลมก่อน แล้วให้หายใจเข้าเอาใจเข้ามาตามลมอีก ทำอยู่อย่างนี้สักสองสามครั้ง แล้วจึงตั้งใจไว้เป็นกลาง อย่าออกตามลม อย่าเข้าตามลม จนจิตนิ่งอยู่ รับรู้แต่ลมเข้าลมออกเท่านั้น ทำใจว่างๆ สบายๆ ไว้เฉยๆ จะวางใจไว้ที่จมูกก็ได้ เพดานก็ได้ ถ้าวางไว้ในหทัยวัตถุได้ยิ่งดี แล้วทำจิตให้นิ่งจะเป็นที่สบาย เกิดปัญญาแสงสว่างดับความคิดต่างๆ ให้น้อยลง
    แล้วเพ่งพิจารณาสังเกตกำหนดอาการของลม ที่มีอาการพองตัวเข้าออกอยู่นั้น เป็นต้นว่า เข้ายาวออกยาว เข้าสั้นออกสั้น เข้ายาวออกสั้น เข้าหยาบออกละเอียด เข้าละเอียดออกหยาบ เข้าละเอียดออกละเอียด ให้เพ่งพิจารณาอาการของลมทั้งหลายเหล่านี้ให้ถี่ถ้วน และอย่าให้จิตเคลื่อนไหลไปตามลม ทำอย่างนี้จนกว่าจะเกิดสงบ

    ถ้าไม่สงบด้วยวิธีนี้ให้เปลี่ยนไปในวาระที่ ๔ คือ
    ๔. ให้เพ่งพิจารณาดูธาตุทั้ง ๔ มีธาตุดิน-น้ำ-ลม-ไฟ เป็นต้น ส่วนใดที่แข็งเรียกว่าธาตุดิน ส่วนใดที่เหลวเรียกว่าธาตุน้ำ ส่วนใดที่พัดไปพัดมาเรียกว่าธาตุลม ส่วนใดที่อบอุ่นเรียกว่าธาตุไฟ แยกธาตุดินออกเป็นกองหนึ่งตั้งไว้ข้างหน้า แยกธาตุน้ำเป็นกองหนึ่งไว้ข้างหลัง แยกธาตุลมเป็นกองหนึ่งวางไว้ข้างซ้าย แยกธาตุไฟกองหนึ่งวางไว้ข้างขวา ตัวเราตั้งตนไว้ตรงกลาง แล้วเพ่งพิจารณาดูว่า ร่างกายนี้ เมื่อแยกออกเป็นส่วนๆ ดังนี้แล้ว ก็เห็นความแตกดับทำลายหายสูญไปเป็นเถ้าที่เรียกว่าตาย โดยอาการเช่นนี้แล้วเกิดความสลดสังเวช

    เมื่อไม่เห็นผลปรากฏขึ้นแล้ว ให้เพ่งพิจารณาในวาระที่ ๕ คือ
    ๕. ให้พิจารณาดูว่า ร่างกายนี้เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว จะต้องมีความแก่รุกรานเข้ามาหาตนทุกวิถีทาง ความเจ็บก็จะมีมา ความตายก็จะมีมา ความพลัดพรากจากสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ก็จะมีมาถึงตนจนได้ ร่างกายก้อนนี้ย่อมมีลักษณะปรากฏอยู่เสมอ เป็นต้นว่า อนิจจังเป็นของไม่เที่ยงมั่นคงถาวร คอยโยกคลอนอยู่เสมอ ทุกขังเป็นของที่ทนอยู่ได้ลำบาก อนัตตาไม่ใช่ตัวตนเราเขา เอามาไม่ได้ เอาไปไม่รอด ตายแล้วย่อมทอดทิ้งเหมือนท่อนไม้และท่อนฟืน หาเป็นสาระแก่นสารมิได้ เมื่อเพ่งพิจารณาด้วยอาการเช่นนี้แล้ว ก็จะเกิดความสลดสังเวชเป็นเหตุจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ

    อาการทั้งหลาย ๕ อย่างที่กล่าวมานี้เป็นหน้าที่ของอาตาปี คือได้แก่ความเพียรเพ่งพิจารณา ต่อสู้ดูสภาพความจริงของรูปกายนี้

    ส่วนตัวสติ ต้องให้ทำงานตามหน้าที่ของตน คือ ให้ระลึกถึงอารมณ์ของกรรมฐาน และระลึกถึงจิตใจของตนอันเป็นส่วนภายใน อย่าได้ส่งไปในสถานที่อื่นนอกจากนี้ ว่าเวลานี้เรามีความรู้สึกตัวอยู่หรือไม่

    ที่เรียกว่า สัมปชัญญะ ความรู้ดี ให้ตั้งคอยกำหนดสังเกตความรู้สึกตัวว่า เวลานี้จิตใจของเรา มีความเคลื่อนไหวพลิกแพลง เปลี่ยนแปลงไปโดยอาการอย่างไรบ้าง ก็ให้ทำความรู้ตัวอยู่กับที่ประจำใจ

    อาการทั้งหลายที่กล่าวมานี้เป็นการกระทำในส่วนกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    กายนี้จะเป็นกายภายนอกก็ตามภายในก็ตาม จำเป็นต้องใช้คุณธรรมทั้ง ๓ อย่างดังว่ามาแล้ว เมื่อทำได้โดยสมบูรณ์นี้แล้ว จึงเรียกว่า เจริญมหาสติปัฏฐาน

    ธรรมดาคนเราสติย่อมมีกันทั่วไป แต่ไม่มีสัมปชัญญะความรู้ตัว สตินั้นจึงตกไปในทางที่ผิด ที่เรียกว่ามิจฉาสติ เมื่อใครทำได้โดยอาการดังกล่าวมานี้ จะต้องเกิดความตั้งมั่นแห่งจิตอย่างที่ไม่ได้อะไรเสียเลย ก็ต้องได้รับความสลดสังเวชอันเป็นเหตุแห่งความสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เป็นบันไดแห่งวิปัสสนาญาณ อันเป็นหนทางพระนิพพาน ที่นักปราชญ์ และบัณฑิตทรงภาษิตรับรองว่า “นิพพานํ ปรมํ สุขํ พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” อธิบายมาในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ด้วยประการดังนี้

    พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ลี ธมฺมธโร) วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ)
     
  5. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,103
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,003
    ค่าพลัง:
    +69,974
    จิตต้องปล่อยให้เป็น นิพพิทาญาณ จริง ๆ เห็นคนก็ดี เห็นสัตว์ก็ดี เห็นผู้หญิงก็ตาม เห็นผู้ชายก็ตาม ให้พิจารณาเป็น อสุภกรรมฐาน เห็นตามความเป็นจริงว่าคนทั้งหลายเหล่านี้ไม่ช้าก็เป็นศพ และเวลานี้ก็มีสภาพเหมือนศพเดินได้ เพราะอะไร เพราะเลยผิวหนังเข้าไปไม่มีอะไร หาอะไรที่สะอาด หาอะไรที่น่ารักดูน่าชื่นใจไม่มี มันเป็นสิ่งโสโครก ด้วยประการทั้งปวง นี่ว่ากันถึงอารมณ์ของ อสุภกรรมฐาน
    ถ้าเราเจริญ อสุภกรรมฐาน ถ้าเราเข้าถึงฌาน ๔ จริง ๆ อารมณ์จิตจะเห็นว่าร่างกายปรากฏว่าเป็นของน่าเกลียด โสโครก ไม่ว่าร่างกายของเรา หรือกายของบุคคลอื่น มันจะเกิดเป็น นิพพิทาญาณ ในด้านวิปัสสนาญาณ ทีแรกจริง ๆ พิจารณาว่าศพตายอืด เหม็น นี่เป็นสมถะ แล้วตัวสมถะตัวนี้มันก็วิ่งไปหาวิปัสสนาญาณเอง โดยไม่ต้องตั้งขึ้นมาใหม่ อันนี้มีความสำคัญมาก

    จากหนังสือ โอวาทหลวงพ่อวัดท่าซุง เล่ม ๒ หน้าที่ ๑๒๖ โดย...หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...