พุทธการกธรรมทีปนี

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย Norlnorrakuln, 16 มิถุนายน 2014.

  1. Norlnorrakuln

    Norlnorrakuln เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    3,814
    ค่าพลัง:
    +15,099
    บารมีธรรมทั้งสิบประการมีลักษณะพิเศษโดยรวมดังนี้

    - บารมีแม้ทั้งหมดมีการอนุเคราะห์ผู้อื่น เป็นลักษณะ(เครื่องหมาย)
    - มีการทำอุปการะแก่ผู้อื่น เป็นรส(หน้าที่)
    - มีความสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า เป็นปัจจุปัฎฐาน(เป็นผล)
    - มีความเป็นผู้ฉลาดในอุบายแห่งความกรุณา เป็นปทัฎฐาน(เหตุใกล้ให้เกิดขึ้น)

    ลักษณะพิเศษของทานบารมี

    - มีการบริจาค เป็นลักษณะ
    - มีการกำจัดโลภในไทยธรรม เป็นรส
    - มีภวสมบัติวิภาวสมบัติ เป็นปัจจุปัฎฐาน
    - มีวัตถุอันควรบริจาค เป็นปทัฎฐาน

    ลักษณะพิเศษของศีลบารมี
    - มีการละเว้นหรือการสมาทาน เป็นลักษณะ
    - มีการกำจัดความเป็นผู้ทุศีล เป็นรส
    - มีความสะอาดกายวาจาใจ เป็นปัจจุปัฎฐาน
    - มีหิริโอตตัปปะ เป็นปทัฎฐาน

    ลักษณะพิเศษของเนกขัมมบารมี
    - มีการออกจากกาม เป็นลักษณะ
    - มีการประกาศโทษของกาม เป็นรส
    - มีความหันหลังจากโทษนั้น เป็นปัจจุปัฎฐาน
    - มีความสังเวชสลดใจ เป็นปทัฎฐาน

    ลักษณะพิเศษของปัญญาบารมี
    - มีความรู้แจ้งแทงตลอดตามสภาวธรรม เป็นลักษณะ
    - มีแสงสว่างตามวิสัย เป็นรส
    - มีความไม่หลง เป็นปัจจุปัฎฐาน
    - มีสมาธิหรือมีอริยสัจสี่ เป็นปทัฎฐาน

    ลักษณะพิเศษของวิริยบารมี
    - มีอุตสาหะ เป็นลักษณะ
    - มีการอุปถัมภ์ เป็นรส
    - มีการไม่จม(ไม่ท้อถอย) เป็นปัจจุปัฎฐาน
    - มีวัตถุปรารภความเพียรหรือมีความสังเวช เป็นปทัฎฐาน

    ลักษณะพิเศษของขันติบารมี
    - มีความอดทน เป็นลักษณะ
    - มีความอดกลั้นต่ออิฎฐารมณ์และอนิฎฐารมณ์(น่าปรารถนาไม่น่าปรารถนา)เป็นรส
    - มีความไม่โกรธ เป็นปัจจุปัฎฐาน
    - มีเห็นตามความจริง เป็นปทัฎฐาน

    ลักษณะพิเศษของสัจจบารมี
    - มีการไม่พูดผิด เป็นลักษณะ
    - มีการประกาศตามความจริง เป็นรส
    - มีความชื่นใจ เป็นปัจจุปัฎฐาน
    - มีความสงบเสงี่ยม เป็นปทัฎฐาน

    ลักษณะพิเศษของอธิษฐานบารมี
    - มีความตั้งใจมั่นในโพธิสมภาร เป็นลักษณะ
    - มีการครอบงำสิ่งเป็นปฎิปักษ์ต่อโพธิสมภาร เป็นรส
    - มีความไม่หวั่นไหวในสิ่งเป็นปฎิปักษ์ เป็นปัจจุปัฎฐาน
    - มีโพธิสมภาร เป็นปทัฎฐาน

    ลักษณะพิเศษของเมตตาบารมี
    - มีความเป็นไปแห่งอาการที่เป็นประโยชน์ เป็นลักษณะ
    - มีการกำจัดความอาฆาต เป็นรส
    - มีความสุภาพอ่อนโยน เป็นปัจจุปัฎฐาน
    - มีการเห็นสัตว์ทั้งหลายเป็นที่น่าพอใจ เป็นปทัฎฐาน

    ลักษณะพิเศษของอุเบกขาบารมี

    - มีความเป็นไปโดยอาการที่เป็นกลางคือวางเฉยในสุขและทุกข์ของสัตว์ทั้งหลาย เป็นลักษณะ
    - มีการเห็นความเท่าเทียมความเสมอกัน เป็นรส
    - มีการสงบความเคียดแค้นและความเสื่อม เป็นปัจจุปัฎฐาน
    - มีการพิจารณาความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน เป็นปทัฎฐาน
     
  2. Norlnorrakuln

    Norlnorrakuln เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    3,814
    ค่าพลัง:
    +15,099
    ว่าโดยย่อ ความเศร้าหมองของบารมีสิบในแต่ละข้อมีดังนี้

    - การกำหนดและเจาะจงวัตถุทาน เช่น เมื่อมีวัตถุทานอันประณีตก็ให้วัตถุทานที่เศร้าหมอง,มีวัตถุทานมากมายแต่ให้ทานด้วยวัตถุทานเล็กน้อย,ลุอำนาจความลำเอียง กำหนดเจาะจงปฎิคาหกผู้รับโดยให้ทานเฉพาะแต่ผู้ที่ตนรักชอบใจเท่านั้น ปราศจากอภัยทานในกมลสันดานเที่ยวไปอยู่ด้วยอกุศลจิต เหล่านี้เป็นความเศร้าหมองของทานบารมี

    - การกำหนดและรักษาศีลเจาะจงเฉพาะผู้ที่ตนรักว่าเราจักไม่ลักขโมย หรือไม่ประพฤติผิดในบุตรภรรยาผู้ที่เป็นญาติของเรา หรือกำหนดเวลารักษาศีลเฉพาะเวลาวันหนึ่งคืนหนึ่งเท่านั้น โดยที่แท้ผู้บำเพ็ญศีลบารมีต้องสมาทานรักษาศีลตลอดเนืองนิจ เหล่านี้เป็นความเศร้าหมองของศีลบารมี

    - การมีความกำหนัดยินดีในเมถุนสังโยชน์ เช่นว่าหลีกออกจากกามบวชอยู่ แต่มีใจยินดีในรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสของมาตุคาม หรือยินดีในทรัพย์สมบัติของคฤหบดีผู้มั่งคั่ง บำรุงบำเรอตนด้วยกามคุณห้าอันมีรูปเสียงเป็นต้น และความเป็นผู้ไม่ยินดีในวิเวกธรรมอันเป็นเครื่องสงบระงับกิเลสทั้งหลาย เหล่านี้เป็นความเศร้าหมองของเนกขัมมบารมี

    - การมีความเห็นผิดสำคัญว่าสังขารร่างกายขันธ์ห้านี้เป็นเรา หรือเห็นทรัพย์สมบัติต่างๆอันมีแก้วแหวนเงินทองเป็นต้นว่าเป็นของเที่ยงแท้ เหมาะให้เราขวนขวายแสวงหาไขว่ขว้าให้ได้มาอยู่เนืองนิจ ปราศจากปัญญาเป็นเครื่องสลัดออกสลัดคืน เหล่านี้เป็นความเศร้าหมองของปัญญาบารมี

    - ความหดหู่ท้อถอยต่อการบำเพ็ญเพียร และมีจิตฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ มีกามวิตกตรึกนึกถึงอารมณ์ให้เกิดความกำหนัดอยู่เนืองๆเป็นต้น เหล่านี้เป็นความเศร้าหมองของวิริยบารมี

    - การไม่สามารถอดกลั้นต่อความโกรธของตนได้ หรือการไม่สามารถอดกลั้นต่อการที่ผู้อื่นทำให้โกรธ เป็นเหตุทำให้โกรธตอบหรือทำให้ปทุษร้ายตอบ เหล่านี้เป็นความเศร้าหมองของขันติบารมี

    - การพูดเท็จทั้งที่รู้ความจริง เช่น สิ่งที่ตนเห็นกล่าวว่าไม่เห็น สิ่งที่ตนได้ยินกล่าวว่าไม่ได้ยิน สิ่งที่ตนพบกล่าวว่าไม่พบ(รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส) สิ่งที่ตนรู้กล่าวว่าไม่รู้ สิ่งที่ตนไม่เห็นกล่าวว่าเห็น สิ่งที่ตนได้ยินกล่าวว่าไม่ได้ยิน สิ่งที่ตนไม่ได้ยินกล่าวว่าได้ยิน สิ่งที่ตนไม่ได้พบกล่าวว่าได้พบ สิ่งที่ตนไม่รู้กล่าวว่ารู้ มีเจตนาอันกลิ้งกลอกไม่มั่นคง เหล่านี้เป็นความเศร้าหมองของสัจจบารมี

    - การที่จิตเศร้าหมองหรือเสียหาย เช่นเสียดายวัตถุทานที่ตนให้ทานอยู่เป็นต้น ซึ่งเป็นปฎิปักษ์ธรรมต่อโพธิสมภาร โดยไม่ได้พิจารณาถึงคุณของโพธิสมภารอันเป็นประโยชน์เกื้อหนุ่นต่อบารมีทั้งหลาย เหล่านี้เป็นความเศร้าหมองของอธิษฐานบารมี

    - การมีจิตเมตตามุ่งเฉพาะต่อสัตว์ทั้งหลาย ผู้ที่ทำประโยชน์เกื้อกูลให้ตน ส่วนผู้ที่มิได้ทำประโยชน์เกื้อกูล ให้กลับมีจิตคิดเคืองขุ่นต่อบุคลเหล่านั้น โดยที่แท้ความเมตตาต้องไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งหลาย เหล่านี้เป็นความเศร้าหมองของเมตตาบารมี

    - การเป็นผู้มีใจไม่เป็นกลาง คือเอนเอียงไปในสิ่งที่เป็นอิฎฐารมณ์คืออารมณ์ที่ดีน่าปรารถนา และอนิฎฐารมณ์ที่ไม่ดีไม่น่าปรารถนาทั้งหลายเหล่านี้ เป็นความเศร้าหมองของอุเบกขาบารมี
     
  3. Norlnorrakuln

    Norlnorrakuln เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    3,814
    ค่าพลัง:
    +15,099
    จุดมุ่งหมายและผลของอามิสทานที่ควรรู้

    - ให้อาหารเป็นทานมีข้าว เป็นต้น ด้วยตั้งใจว่า "เราจักให้อายุ ผิวพรรณ ความสุข กำลัง ปฎิภาณ ปัญญา และสมบัติอันเป็นผลน่ารื่นรม ให้สำเร็จประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายด้วยทานนี้"
    - ให้น้ำเป็นทาน เพื่อระงับความกระหายคือกิเลสของสัตว์ทั้งหลาย
    - ให้ผ้าเป็นทาน เพื่อให้ผิวพรรณงามและให้สำเร็จประโยชน์คุณเครื่องประดับคือ หิริและโอตตัปปะ
    - ให้ยานพาหนะเป็นทาน เพื่อให้สำเร็จอิทธิวิธญาณ คือแสดงฤทธิ์ต่างๆได้ และนิพพานสุข
    - ให้ของหอมเป็นทาน เพื่อให้สำเร็จความหอม คือกลิ่นศีล
    - ให้ดอกไม้และเครื่องลูบไล้เป็นทาน เพื่อให้สำเร็จความงามด้วยพุทธคุณ
    - ให้อาสนะเป็นทาน เพื่อให้สำเร็จอาสนะ ณ โพธิมณฑล
    - ให้ที่นอนเป็นทาน เพื่อให้สำเร็จตถาคตไสยาคือการนอนแบบตถาคต
    - ให้ที่พักเป็นทาน เพื่อให้สำเร็จสรณะ คือที่พึ่ง
    - ให้แสงสว่างเป็นทาน เพื่อให้สำเร็จปัญญาจักษุ(จักขุ ๕)
    - ให้รูปเป็นทาน เพื่อให้สำเร็จรัศมีออกจากพระวรกาย
    - ให้เสียงเป็นทาน เพื่อให้สำเร็จพระสุรเสียงดังกังวานไพเราะดุจเสียงมหาพรหม
    - ให้รสเป็นทาน เพื่อเป็นที่รักของสัตว์โลกทั้งปวง
    - ให้โผฎฐัพพะเป็นทาน เพื่อสำเร็จความเป็นพุทธสุขุมาลชาติ คือความละเอียดอ่อนของพระพุทธเจ้า
    - ให้เภสัชเป็นทาน เพื่อสภาวะนิพพาน คือความไม่แก่ไม่ตาย
    - ให้ความเป็นไทแก่ทาสทั้งหลาย เพื่อปลดเปลื้องความเป็นทาสคือกิเลส
    - ให้ความยินดีในของเล่นที่ไม่เป็นโทษแก่สัตว์ทั้งหลาย เพื่อสำเร็จความยินดีในพระสัทธรรม
    - ให้บุตรเป็นทาน เพื่อนำสัตว์ทั้งหลายออกจากความเป็นแดนเกิดได้สำเร็จชาติเป็นอริยะ
    - ให้ภรรยาเป็นทาน เพื่อถึงความเป็นใหญ่ครอบงำโลกทั้งสิ้น
    - ให้แก้วมณี แก้วมุกดา แก้วไพฑูล แก้วประพาฬ ฯลฯ เป็นทาน เพื่อสำเร็จความงดงามบริบูรณ์ด้วยพระมหาปุริสลักษณะ
    - ให้เครื่องประดับนาๆชนิดเป็นทาน เพื่อความสมบูรณ์แห่งอนุพยัญชนะ(อวัยวะน้อยใหญ่)
    - ให้คลังสมบัติเป็นทาน เพื่อบรรลุพระพุทธธรรม
    - ให้ราชสมบัติเป็นทาน เพื่อความเป็นพระมหาธรรมราชา
    - ให้สวน สระ ป่า และสถานที่อันน่ารื่นรมเป็นทาน เพื่อความสมบูรณ์แห่งฌานทั้งปวง
    - ให้เท้าเป็นทาน เพื่อก้าวไปสู่รัศมีโพธิมณฑลด้วยฝ่าพระบาทมีรอยจักร
    - ให้มือเป็นทาน เพื่อประกาศพระสัทธรรมแก่สัตว์ทั้งหลาย เพื่อถอนออกจากโอฆะทั้ง๔ มีกามโอฆะเป็นต้น
    - ให้หู จมูกเป็นทาน เพื่อสำเร็จความประเสริฐในอินทรีย์ทั้งหลาย มีสัทธินทรีย์เป็นต้น
    - ให้จักษุเป็นทาน เพื่อสำเร็จสมันตจักขุ คือจักษุโดยรอบ (พระสัพพัญญุตญาณ)
    - ให้เนื้อและเลือดเป็นทาน ด้วยหวังว่าจะนำประโยชน์สุขมอบให้แก่สัตว์ทั้งหลาย คือพลังการได้ยินได้ฟังการได้พบเห็นการระลึกถึงการบำรุงบำเรอตลอดกาลทั้งปวง และเพื่อสำเร็จกายอันเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของสัตว์ทั้งหลาย
    - ให้ชีวิตเป็นทาน เพื่อสำเร็จความเป็นผู้ประเสริฐสูงสุดเหนือโลกธาตุทั้งปวง ดังนี้
     
  4. Norlnorrakuln

    Norlnorrakuln เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    3,814
    ค่าพลัง:
    +15,099
    พึงทราบข้อปฎิบัติของทานบารมี

    ๑. อามิสทาน ได้แก่การให้วัตถุสิ่งของเพื่ออนุเคราะห์ผู้อื่น
    ๒. อภัยทาน ได้แก่การยกโทษให้อภัยแก่ผู้ที่มีโทษ,การกำหนดเขตเพื่อป้องกันภัยอันจะเกิดแก่สัตว์ทั้งหลาย
    ๓. ธรรมทาน ได้แก่การชี้แจงแสดงธรรม

    ๑. อามิสทานจำแนกออกเป็นสองอย่างคือ ทานที่เป็นวัตถุภายนอก๑ ทานที่เป็นวัตถุภายใน๑
    - พระโพธิสัตว์ เมื่อจะให้วัตถุทานภายนอกพิจารณาว่า "เราจะให้วัตถุทานแก่ผู้ที่มีความต้องการ แม้เขาไม่ต้องการก็ให้ในสิ่งที่น่าปรารถนาน่าพอใจ ไม่ให้เพราะหวังอุปการะตอบแทน ไม่ให้ศัสตรายาพิษและของมึนเมาต่างๆอันจะนำความเบียดเบียนมาสู่ผู้อื่น ให้ทานที่เหมาะสมแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์ทั้งหลาย" เมื่อให้ก็ไม่ก่อให้เกิดผลเป็นความเบียดเบียนแก่ใครๆ เช่น มารดาบิดา ญาติสาโลหิต มิตร อำมาตย์ บุตร ภรรยา ทาส กรรมกร เป็นต้น เมื่อวัตถุทานประณีตมีมากย่อมไม่ให้วัตถุทานที่เศร้าหมอง ไม่ให้เพราะหวังลาภสักการะ เสียงสรรเสริญเยินยออันจะเกิดมีขึ้น ไม่ให้เพราะหวังอานิสงส์ผลแห่งทานนี้จะนำตนไปเกิดบนสรวงสวรรค์ แต่ให้ด้วยจิตเมมตาหวังโพธิสมภารเท่านั้น ไม่ให้อย่างเสียมิได้โดยรังเกียจผู้ขอหรือไทยธรรม ไม่ให้โดยอาการทอดทิ้งแก่ยาจกผู้ไม่สำรวม แม้ผู้นั้นด่าว่าและผูกโกรธ ที่แท้มีจิตเลื่อมใสเปี่ยมด้วยเมตตาหวังอนุเคราะห์เกื้อกูลด้วยอาการที่เคารพในทานและผู้รับ ไม่ให้เพราะเชื่อมงคลตื่นข่าว แต่ให้เพราะเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม ไม่ให้โดยใช้วาจาหยาบมีใบหน้านิ่วคิ้วขมวด ให้ด้วยคำพูดน่ารักอ่อนโยนพอเหมาะพอสมควรแก่กาล

    เมื่อเกิดความโลภในไทยธรรมใด เพราะความพึงพอใจในวัตถุทานอย่างยิ่งก็ดี หรือเพราะกิเลสที่สั่งสมมานานก็ดี พระโพธิสัตว์กำหนดรู้อยู่และบรรเทาความยึดติดในไทยธรรมนั้นโดยเร็ว รีบแสวงหาบุคลหรือผู้ที่เหมาะสมเช่นยาจกเพื่อประโยชน์สูงสุดของเครื่องไทยธรรมนั้น ถึงไทยธรรมนั้นจะมีน้อยแต่เมื่อมีผู้เข็นใจมาขอ ก็ให้โดยไม่นึกถึงความลำบากของตน

    พระโพธิสัตว์เมื่อจะบริจาคบุตร ภรรยา ทาสกรรมกรของตน เมื่อชนเหล่านั้นไม่ยินยอมอนุโมทนา ก็ไม่เกิดความเศร้าโศกเสียใจย่อมบริจาคให้แก่ผู้เข็นใจทั้งหลายด้วยจิตอันหนักแน่นมั่นคงในปณิธานอันตั้งไว้ชอบแล้ว แต่เมื่อชนทั้งหลายเหล่านั้นยินยอมอนุโมทนาด้วยความปราบปลื้มยินดีไปกับการบริจาคของพระโพธิสัตว์ด้วย จึงบริจาคให้ผู้เข็นใจทั้งหลายนั้นด้วยจิตปราศจากความอาลัย แต่เมื่อรู้ว่ายาจกเข็นใจเหล่านั้น เป็นยักษ์ รากษส ปีศาจ หรือแก่มนุษย์อันธพาลผู้มีจิตหยาบช้า แม้ราชสมบัติก็มิให้แก่บุคคลเหล่านั้น

    - วัตถุทานภายใน ควาทราบการบริจาคโดยอาการสองอย่างคือ
    ๑. เพื่อความอนุเคราะห์สัตว์ทั้งหลาย
    ๒. เพื่อบ่มสัมมาสัมโพธิญาณให้แก่กล้า
    เหมือนบุรุษคนใดคนหนึ่งยอมสละตนเพราะเหตุแห่งอาหารหรือเครื่องปกปิดอันมีที่อยู่อาศัยเป็นต้น จึงยอมอนุเคราะห์บุคคลอื่นยอมเชื่อฟังยอมเป็นทาส ฉันใด พระโพธิสัตว์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้มีจิตปราศจากอามิสต่างๆ แต่เพราะเหตุแห่งโพธิสมภาร จึงปรารถนาประโยชน์สุขอันยอดเยี่ยมแก่สัตว์ทั้งหลาย จึงประสงค์บำเพ็ญทานบารมีของตนยอมสละตนเพื่อผู้อื่น ยอมเป็นผู้เชื่อฟังยอมเป็นผู้ที่ต้องทำตามความประสงค์ โดยไม่หวั่นไหวไม่ท้อแท้ ยอมมอบอวัยวะน้อยใหญ่มีมือเท้าและนัยน์ตาเป็นต้นให้แก่ผู้ต้องการโดยไม่มีใจติดข้องอาลัย ไม่แสดงอาการสยิ้วหน้าแม้ในขณะมอบอวัยวะนั้น ทรงอารมณ์เหมือนกับการบริจาควัตถุภายนอกทุกประการ เป็นความจริงว่า "พระโพธิสัตว์บำเพ็ญยิ่งด้วยทานบารมีจึงยอมสละวัตถุทานทั้งภายนอกและภายในด้วยอาการสองอย่างนี้เพื่อบรรลุโพธิญาณ" แต่พระโพธิสัตว์จะไม่ยอมให้อัตภาพร่างกายหรืออวัยวะน้อยใหญ่ของตนให้แก่มาร หรือเทวดาผู้เป็นมิจฉาทิฎฐิเป็นพวกของมารซึ่งมีเจตนาประสงค์จะขัดขวางเบียดเบียน แต่พระโพธิสัตว์จะอนุเคราะห์มารเหล่านั้นด้วยพระเมตตาว่า "ขอความฉิบหายจงอย่าได้มีแก่มารทั้งหลายเหล่านั้นเลย" ถึงคนเป็นบ้าสติวิปลาสก็ดุจเดียวกัน แต่บุคคลนอกเหนือจากนี้มาขอด้วยความเดือดร้อนเข็นใจเมื่อพิจารณาเห็นควรแล้ว ก็มิได้ขัดข้อง เพราะการขอเช่นนั้นหาได้ยาก และการให้เช่นนั้นก็ทำได้ยากยิ่ง

    ๒. อภัยทาน ควรทราบโดยอาการคือให้ความคุ้มครองป้องกันภัยอันจะเกิดจากโจร ไฟ น้ำ ศัตรูและสัตว์ร้าย มีราชสีห์ เสือยักษ์ รากษส และปีศาจเป็นต้น มิให้เข้ามาเบียดเบียนซึ่งกันและกัน มิให้เดือดร้อนกายและใจ อีกประการหนึ่งหมายถึงการยกโืทษให้แก่คนที่มีโทษ มีความผิดในตน โดยไม่ผูกใจเจ็บแค้นใดๆ เช่น พระราชาผู้ทรงธรรมประกาศยกความผิดให้แก่นักโทษเป็นต้น หรือแม้แต่การให้ชีวิตสัตว์คือการไม่ฆ่าทั้งที่มีโอกาสจะฆ่าได้นี่ก็จัดเป็นอภัยทานเช่นกัน

    ๓.ธรรมทาน ได้แก่การแสดงธรรมที่ไม่วิปริตให้เป็นประโยชน์ตามกาลอันสมควร โดยแนะนำผู้ที่ยังไม่เข้าถึงพระศาสนาให้เข้าถึงพระศาสนา ผู้ที่เข้าถึงแล้วก็แนะนำให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น เช่นการแสดงธรรมที่ประกอบด้วย ทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษของกาม และอานิสงส์ในการออกจากกามเป็นต้น พระโพธิสัตว์ให้ธรรมทานแก่สัตว์ทั้งหลายด้วยประการฉะนี้

    นี้เป็นข้อปฎิบัติของทานบารมี.
     

แชร์หน้านี้

Loading...