"พ.ร.ก.มิอาจดับไฟใต้ได้" คำยืนยันของ...พระไพศาล วิสาโล

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย paang, 25 สิงหาคม 2005.

  1. paang

    paang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 เมษายน 2005
    โพสต์:
    9,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +34,325
    [​IMG]

    พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ประธานอนุกรรมการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี เป็นหนึ่งในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ก่อนที่ท่านจะมารับงานนี้ ท่านเป็นพระอีกรูปหนึ่ง ที่ถูกตั้งฉายาอยู่หลายอย่าง คือ

    บางคนหาว่าเป็น พระการเมือง พระนักพัฒนา พระเอ็นจีโอ บางคนเรียกท่านว่า พระนักคิด พระนักวิชาการ

    แม้ว่าจะถูกตั้งฉายาต่างๆ นานา แต่ทั้งหมดทั้งปวง พระไพศาล วิสาโล ก็ยังคงยืนยันว่า "ชีวิตอาตมาเป็นแค่พระอย่างเดียว ก็เป็นเกียรติและประเสริฐสุดในชีวิตแล้ว ไม่มีอะไรสูงสุดกว่าการเป็นพระ ที่เหลือเป็นส่วนเกิน"

    อย่างไรก็ตาม ตลอดชีวิตการบวชของพระอาจารย์ไพศาลมีเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างมาก ท่านเองไม่ใช่แค่พระนักต่อสู้โดยสันติวิธี เรียกได้ว่าเป็นพระสงฆ์รูปหนึ่งที่ต้องการสยบความวุ่นวายของบ้านเมืองด้วยปัญญา จะว่าไปแล้วท่านอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ที่เรียบง่าย ไม่ต่างจากพระป่า ณ วัดป่ามหาวัน บ้านท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ

    พระอาจารย์ไพศาล ได้ให้สัมภาษณ์ถึง การแก้ปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการออก พ.ร.ก. แก่หน้าพระเครื่อง "คม ชัด ลึก" ดังนี้....

    * ปัญหาฆ่ากันตายรายวันทางภาคใต้ พระอาจารย์มองอย่างไรครับ?

    - ปัญหาใต้เป็นเรื่องที่ง่ายมาก ถ้าหากว่าระบบราชการมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ถ้าหากหน่วยงานรัฐมีความเป็นเอกภาพมากกว่านี้ อาตมาว่าสถานการณ์ใต้จะไม่รุนแรงแบบนี้ และจะมีโอกาสในการแก้ปัญหาด้วยสันติ ตอนนี้ถ้าลงไปดูในพื้นที่จะพบว่า ทั้ง ๓ หน่วยงาน คือ ตำรวจ ทหาร หน่วยปกครอง ไม่เป็นเอกภาพ และมีความขัดแย้งกัน บางทีสายของทหารก็ถูกตำรวจจับ สายของตำรวจก็ถูกทหารเขม่นก็เลยกลายเป็นว่า หน่วยงานต่างๆ ขัดขากันเอง ตรงนี้มันทำให้เกิดปัญหา ไม่สามารถทำให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยแก่ประชาชนได้อย่างเต็มที่

    * แล้วคิดว่า พ.ร.ก.จะช่วยดับไฟใต้ได้หรือไม่?

    [​IMG]-
    ตรงนี้ยังไม่ต้องพูดถึงการจับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เอาแค่รักษาความสงบมันก็ทำได้ยากแล้ว อาตมาพูดแบบนี้ไม่ได้ปฏิเสธว่าในหน่วย งานราชการมีคนที่อุทิศตัวเสียสละเยอะ แต่ตอนนี้ปัญหาคือ ทั้งระบบราชการไม่เป็นเอกภาพ แล้วการออกพระราชกำหนดประกาศภาวะฉุกเฉิน ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้เป็นเอกภาพ การแก้ปัญหานี้มันไม่ได้แก้ได้ด้วยอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทำได้ก่อนก็คือการแก้หน่วยงานของรัฐให้เป็นเอกภาพ การที่ออกกฎหมายไปแก้ความไม่สงบ อาตมาคิดว่ามันผิดประเด็น เมื่อหน่วยงานราชการไม่เป็นเอกภาพ การแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีจึงเป็นไปได้ยาก

    * แบบนี้ชาวบ้านหรือคนที่อยู่ในพื้นที่ควรทำอย่างไร?

    - อาตมาคิดว่าพวกเขาเหล่านั้นกำลังหมดที่พึ่ง คือ เขาไม่หวังรัฐบาล แต่พอมีคณะกรรมสมานฉันท์ขึ้นมาเขาก็พออุ่นใจได้บ้าง แม้ว่าที่ผ่านมา คณะกรรมการสมานฉันท์ยังไม่ได้ทำอะไรที่เป็นรูปธรรมมากก็ตาม ส่วนมากเขาก็มีความไว้วางใจ ความไว้วางใจได้เกิดขึ้นแล้ว โอกาสที่จะทำสิ่งดีๆ ก็เป็นไปได้ไม่ยาก

    * ท่านคิดว่าคณะกรรมการสมานฉันท์จะช่วยดับไฟใต้ได้แค่ไหนครับ?

    - ที่ผ่านมา การทำงานของคณะกรรมการสมานฉันท์กำลังปรับรูปขบวน ตอนนี้เรามีระดับการทำงานลงไปในพื้นที่นี้เยอะ แต่ยังไม่ออกเป็นผลงาน ซึ่งมันก็เริ่มปรากฏบ้างแล้ว พอมีกฎหมาย พ.ร.ก.ออกมามันก็เลยทำให้ทุกอย่างรวนไปหมดเลย

    * ในทางกลับกัน มีบางส่วนออกมาสนับสนุนการออก พ.ร.ก.?

    - เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา ญาติโยมเหล่านั้นคงคิดว่า ถ้ารัฐบาลมีอำนาจมากจะช่วยแก้ปัญหาไฟใต้ได้ แต่สิ่งที่รัฐบาลมีอำนาจ รัฐบาลก็ไม่ทำ อย่างที่อาตมาบอก การทำให้หน่วยงานราชการมีประสิทธิภาพเป็นเอกภาพ มันเป็นของที่ใกล้ตัวนายกฯ ที่สุด นายกฯ มีอำนาจทุกอย่างที่จะทำได้ ก็ไม่ทำ หรือทำไม่ได้ และนับประสาอะไรจะไปทำกับคนที่ตัวเองไม่รู้จักว่าเป็นใคร ผู้ก่อความไม่สงบเป็นใครยังไม่รู้จักเลย อยู่ที่ไหนยังไม่รู้เลย ใครเป็นผู้อิทธิพล พ่อค้ายาเสพติด เป็นผู้ก่อการร้าย เป็นผู้ที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนหรือเปล่ายังไม่รู้ว่าเป็นใคร

    * แสดงว่าการออกกฎหมาย พ.ร.ก.มีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม?

    - อาตมาคิดว่า ถ้ามีกฎหมาย พ.ร.ก.ออกมาวันนี้ ถามว่าจะเข้าไปจับพวกนี้ได้หรือ ซึ่งอาตมาคิดว่า ๑.เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ๒.จะทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น เพราะกฎหมายที่มีอยู่ในเวลานี้ก็ยังมีการอุ้มฆ่ากันได้เลย ถ้ายิ่งมีกฎหมาย พ.ร.ก.ออกมา ที่ให้อำนาจแก่ตำรวจของรัฐมากขึ้น จะมีหลักประกันได้อย่างไรว่าจะไม่มีการอุ้มฆ่าเหมือนหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา

    *ในภาวะเช่นนี้ ญาติโยมต้องทำอย่างไรครับ?

    - ปัญหาตัวตนของคนยุคนี้ที่แสดงออกอย่างชัดเจนก็คือความไม่พอใจในตัวตน คนส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้ถูกทำให้รู้สึกไม่พอใจในตัวตนของตน เห็นว่าอ้วนบ้าง ไม่ทันสมัยบ้าง จึงอยากจะมีตัวตนใหม่ วิธีสร้างตัวตนใหม่ของคนปัจจุบันก็คือ การบริโภค โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าที่มียี่ห้อดัง เวลานี้สินค้ามียี่ห้อกลายเป็นที่นิยมมาก ไม่ใช่เพราะว่ามันอร่อย หรือสนองผัสสะทางกายเท่านั้น

    [​IMG]
    ที่สำคัญคือมันตอบสนองจิตใจที่ต้องการมีตัวตนใหม่ ผู้คนอยากมีรถเบนซ์ไม่ใช่เพราะนั่งสบาย หรือถึงที่หมายไว แต่เพราะมันทำให้เราดูภูมิฐาน และรู้สึกมั่นใจในตัวเอง ในทำนองเดียวกันใครที่อยากเป็นผู้ชนะ ก็ต้องซื้อไนกี้มาใส่ เพราะใส่แล้วรู้สึกเหมือนไมเคิล จอร์แดน หรือ ไทเกอร์ วู้ดส์ ถ้าต้องการยืนยันตัวตนว่าเป็นคนรักษาสิ่งแวดล้อม ต้องไปซื้อของร้านบอดี้ช็อป

    ที่สำคัญก็คือการแก้ปัญหาตัวตนที่ได้ผลอย่างแท้จริง มิได้อยู่ที่การแสวงหาตัวตนใหม่ที่ดีกว่าเดิม หากอยู่ที่การก้าวพ้นจากเรื่องตัวตน หรือสละตัวตนนั่นเอง ปัญญาที่ทำให้เราตระหนักว่า ตัวตนที่แท้จริงนั้นหามีไม่ คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยเราปลดเปลื้องปัญหาตัวตนอย่างถึงที่สุด

    * ถูกตั้งฉายา พระการเมือง พระเอ็นจีโอ มีการฝึกจิตไม่ให้ปรุงแต่งอย่างไร?

    - อาตมาฝึกสร้างจังหวะตามแบบหลวงพ่อเทียน เดินจงกรม และฝึกสติในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าอาบน้ำ ถูฟัน กินข้าว ปัดกวาดกุฏิ ให้มีสติในการทำงาน ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ใช่มีสติเฉพาะเวลานั่งหลับตา ต้องมีสติตลอดเวลา ฝึกให้จิตอยู่กับการเคลื่อนไหวทุกอิริยาบถ อย่างเวลานั่งรถก็คลึงนิ้วไป จิตก็จะอยู่กับตัวเอง ทำให้เป็นกิจวัตร สติที่สะสมไว้ก็จะมีกำลัง คิดอ่านได้ดี ไม่หลุดไปกับเรื่องอื่นๆ แวบไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถ้าไม่มีสติก็ไปเรื่อยๆ พอรู้แล้วก็ยกจิตออกจากความคิด

    * ส่วนการฝึกจิต เพื่อไปสู่เส้นทางนิพพานต้องฝึกอย่างไร?

    - อาจารย์พุทธทาสบอกว่า นิพพานหรือความเย็นมีหลายระดับ ระดับสูงสุดคือ หลุดพ้นจากวัฏสงสาร หมดสิ้นซึ่งอวิชชา ส่วนนิพพานเกิดขึ้นท่ามกลางการทำงาน ที่เรียกว่านิพพานที่นี่ เดี๋ยวนี้ เป็นสิ่งที่น่าจะสัมผัสได้ ด้วยการทำจิตให้ว่าง ไม่ยึดตัวกู ของกู ไม่ยึดมั่นถือมั่นในผลงาน ไม่ยึดมั่นว่าเป็นงานของกู ไม่ยึดมั่นว่าความคิดของข้าดี

    * ตายอย่างมีสติหมายความว่าอย่างไร?

    - การตายอย่างมีสติ คือการตายอย่างสงบ ไม่ตื่นกลัวหรือวิตก พร้อมรับความตายที่จะเกิดขึ้นได้ ไม่ดิ้นรนขัดขืน สามารถน้อมใจให้ระลึกถึงสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศล เช่น พระรัตนตรัย ยิ่งสามารถน้อมใจถึงขั้น เอาความว่างเป็นอารมณ์ หรือปล่อยวางแม้กระทั่งความยึดถือในตัวตนได้ ก็จะเป็นการตายอย่างมีสติในขั้นสูงสุดก็ว่าได้

    * แล้วการตายที่สมบูรณ์เป็นยังไงครับ?

    - การตายที่สมบูรณ์ ก็คือการตายที่มิใช่แค่ตายทางร่างกาย แต่รวมถึงการตายจากความยึดติดในตัวตน ถ้าตายทั้งร่างกายและความยึดถือในตัวตนได้ ถึงจะเรียกว่าการตายที่สมบูรณ์ คนส่วนใหญ่ ตายแต่เพียงร่างกาย แต่ว่าการยึดมั่นถือมั่นในตัวตนยังมีอยู่ ทำให้ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในสงสารวัฏต่อไป อาจารย์พุทธทาสท่านพยายามสอนว่า ให้ตายก่อนตาย คือตายจาก ความยึดถือตัวตนก่อนที่จะสิ้นลม ถ้าตายก่อนตายได้เมื่อไร ก็จะเป็นการตายที่สมบูรณ์ เรียกว่าดับไม่เหลือ แต่ปุถุชนคนทั่วไปคงยากที่จะตายแบบนั้นได้ แต่อย่างน้อยก็สามารถเลือกที่จะตายด้วยจิตอันเป็นกุศลได้

    * พระอาจารย์มีข้อคิด หรือธรรมะข้อใดฝากผู้อ่าน "คม ชัด ลึก" บ้างครับ?

    - ขอให้ทุกคนนึกในใจว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่เราจะอยู่ในโลกนี้ ไม่มีพรุ่งนี้สำหรับเราอีกต่อไป ให้นึกไว้ในใจว่า อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ทุกชีวิตและทุกผู้คนที่เราคุ้นเคย ที่เราเคยพบปะ ที่เราเคยหยอกเย้าแย้มยิ้ม คนเหล่านี้เราจะไม่มีโอกาสได้พบอีกต่อไปไม่เว้นแม้แต่คนเดียว นึกถึงใบหน้าของพ่อแม่ ลูกหลาน ญาติพี่น้อง ที่เคยพบเห็นทุกวี่ทุกวัน เรากำลังจะจากเขาไปในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า นึกถึงใบหน้าของคู่ครองคนรัก วันเวลาที่จะต้องจากเขาใกล้มาทุกขณะแล้ว นึกถึงมิตรสหายที่เราคุ้นเคย อีกไม่นานเราจะไม่มีวันได้พบเขาอีกแล้ว

    อาตมาขอให้เราตั้งสติและพิจารณาในใจว่า ทรัพย์สมบัติทั้งหลายที่เรามีนั้น มันเป็นของเราจริงหรือ เราเอามันไปด้วยได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้เพียงแต่มาอยู่ในความดูแลรักษาของเราชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น บัดนี้ถึงเวลาที่เราจะมอบให้คนอื่นดูแล และใช้ประโยชน์ต่อไป

    <TABLE cellSpacing=2 cellPadding=0 width="100%" bgColor=#ff9900 border=0><TBODY><TR><TD bgColor=#9999cc>


    ชาติภูมิพระไพศาล

    [​IMG]พระไพศาล วิสาโล อายุ ๔๘ ปี พรรษา ๒๒ เป็นลูกคนไทยเชื้อสายจีน เรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ ตอนเรียนมัธยมอยากจะเป็นวิศวกร เพราะมีความสนใจทางวิทยาศาสตร์ ต่อมาก็อยากจะเป็นหมอ จะได้ช่วยเหลือผู้อื่น แต่เมื่ออยู่ชั้นมัธยมปีที่ ๕ พี่ชายได้เป็นหมอแล้ว ก็เริ่มสนใจการเมือง จึงเข้าเรียนรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ เพื่อต้องการทำประโยชน์ให้สังคม ทำกิจกรรมตั้งแต่อยู่อัสสัมชัญ

    เมื่ออยู่มหาวิทยาลัยก็เป็นบรรณาธิการบริหารหนังสือปาจารยสาร ด้วยความที่สนใจการเมือง จึงถูกมองว่าเป็นพวกซ้าย ขณะเดียวกัน ความสนใจในพระพุทธศาสนา ก็ทำให้นักศึกษาด้วยกันมองว่าเป็นพวกขวา

    เมื่อเรียนจบก็กลับมาทำงานในกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ซึ่งทำมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๖ แต่ก็ไม่มีความสงบทางใจ มีแต่ความเหนื่อย เครียด ทะเลาะกับเพื่อนที่ทำงาน จึงได้ตัดสินใจบวชเรียนในปี ๒๕๒๖ ณ วัดทองนพคุณ แทนที่จะไปอยู่วัดสวนโมกข์ ซึ่งมีเพื่อนอยู่มาก ก็ไปปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดป่าสุคะโต กับหลวงพ่อคำเขียน เพราะเป็นวัดสงบ อยู่ในป่า มีพระอยู่น้อย ช่วงนั้นได้ช่วยหลวงพ่อคำเขียนทำสหกรณ์ข้าวให้ท่านด้วย

    ครั้งแรกตั้งใจจะบวชเพียง ๓ เดือน แต่เมื่อปฏิบัติธรรมมีความก้าวหน้า ก็เลยมีความอาลัยในผ้าเหลือง จึงบวชต่อเรื่อยมา ได้ชื่อว่าเป็นพระนักกิจกรรมหัวก้าวหน้า เชื่อมโยงพุทธศาสนากับสังคม เป็นนักคิด นักวิชาการ มีงานเขียนอย่างสม่ำเสมอ นอกเหนือจากการรับเชิญไปแสดงธรรมเทศนาในที่ต่างๆ

    ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต แต่มักจะเลือกจำพรรษาอยู่ที่วัดป่ามหาวัน บ้านท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ เพื่อรักษาป่า เพราะทำให้ชาวบ้านเกรงใจไม่กล้าตัดไม้ วัดป่ามหาวันไปมายาก ทำให้มีเวลาทำงานและปฏิบัติธรรมได้มาก ขณะเดียวกันได้รับรางวัล "ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์" ครั้งที่ ๒ ประจำปี ๒๕๔๘ ผลงานหนังสือ "พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤติ" ในสาขาศาสนาและปรัชญา อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปเดินทางไปวัดป่ามหาวัน บ้านท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ สอบถามเส้นทางได้ที่ โทร.๐-๙๑๔๘-๖๗๓๐


    </TD></TR></TBODY></TABLE>

    <TABLE cellSpacing=2 cellPadding=0 width="100%" bgColor=#ff9900 border=0><TBODY><TR><TD bgColor=#cccc99>


    ผลงานเขียน

    มองอย่างพุทธ เพื่อความเข้าใจในชีวิตและสังคม ๒๕๔๖
    พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤติ ๒๕๔๖
    เส้นโค้งแห่งความสุข (๒) เราเป็นได้มากกว่าผู้บริโภค ๒๕๔๕
    เส้นโค้งแห่งความสุข (๑) สดับทุกข์ยุคบริโภคนิยม ๒๕๔๕
    ชีวิตและความตายในสังคมสมัยใหม่ ๒๕๔๕
    ฉลาดทำบุญ รวมเรื่องน่ารู้ คู่มือทำบุญให้ถูกวิธี ๒๕๔๔
    คัมภีร์มรณศาสตร์แห่งทิเบต ข้อความเปิดเผยเรื่องเร้นลับของความตาย ๒๕๔๓ ร่มไม้และเรือนใจ ๒๕๔๓
    ประตูสู่สภาวะใหม่ คำสอนทิเบตเพื่อเตรียมตัวตายและช่วยเหลือผู้ใกล้ตาย ๒๕๔๑
    อเมริกาจาริก : เดินทางสู่ชีวิตด้านใน จรไปในโลกกว้าง ๒๕๔๑
    อยู่ย้อนยุค : ทัศนะทวนกระแสบริโภคนิยม ๒๕๓๙
    ๖ ตุลาจารึก ความทรงจำ ความหวัง และบทเรียน ๒๕๓๙
    ช้างไทยในความทรงจำ ๒๕๓๗
    พลิกฟื้นไทยให้เขียวชอุ่ม ทางเลือกใหม่เพื่อการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม ๒๕๓๖
    องค์รวมแห่งสุขภาพ ทัศนะใหม่เพื่อดุลยภาพแห่งชีวิตและการบำบัดรักษา ๒๕๓๖
    ห้วงลึกแห่งจิต ในทัศนะพุทธศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ๒๕๓๖ กบกินนอน ชีวิตและความคิดอ่านจากประสบการณ์ในต่างแดน ๒๕๓๕
    โอบกอด ๒๕๓๔
    สถานะและชตากรรมของมนุษย์ในยุคคอมพิวเตอร์ ๒๕๓๔
    ก่อนธารน้ำจะหยุดไหล ประสบการณ์และทางเลือกเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ ๒๕๓๓
    แลขอบฟ้าเขียว : ทางเลือกสำหรับอนาคตที่กำลังปรากฏเป็นจริง ๒๕๓๓
    วิพากษ์คอมพิวเตอร์เทวรูปแห่งยุคสมัย ๒๕๓๓
    พุทธศาสนากับคุณค่าร่วมสมัย ๒๕๒๙
    แสวงหารากฐานของชีวิตในโลกแห่งกิจกรรม ๒๕๒๗


    </TD></TR></TBODY></TABLE>

    ที่มาของข่าว : http://www.komchadluek.net
     

แชร์หน้านี้

Loading...