เรื่องเด่น ภาษาบาลี และธรรมะ มีความจำเป็นต้อง “ท่องจำ”?

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 24 กุมภาพันธ์ 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    3610;3634;3621;3637;1_.jpg





    คนข้างวัด/อุทัย บุญเย็น

    ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ว่า วิธีเรียนของไทยด้วยการท่องจำ เป็นวิธีที่ผิด เสนอกันว่า ต้องเรียนด้วยการคิด การสอนต้องสอนให้คิด ไม่ใช่ให้ท่องจำ

    วิธีเรียนของไทยแต่ไหนแต่ไรมา เรียนด้วยการฟังและอ่าน (ส.) ด้วยการคิด (จิ.) ด้วยการถาม (ปุ.) และด้วยการเขียน (ลิ.)

    วิธีทั้ง 4 นี้เรียกว่า “หัวใจนักปราชญ์” หรือ “หัวใจของการเล่าเรียน” พูดเป็นคำย่อว่า

    สุ. (=สุตะ) หมายถึงการฟัง (การอ่าน)

    จิ. (=จิต) หมายถึงการคิด

    ปุ.(=ปุจฉา) หมายถึง การถาม

    ลิ.(=ลิขิต) หมายถึงการเขียน

    ทั้ง 4 วิธีนี้ ไม่มีในพระไตรปิฎก เข้าใจว่า คิดขึ้นโดยคนไทย แต่ก็ไม่ทราบว่า มีตั้งแต่สมัยไหน

    นอกจากหัวใจนักปราชญ์แล้ว ยังมีคำย่ออีกหลายชุด เช่น

    “หัวใจเศรษฐี” คือ อุ. อา. ก. ส. (อุ. คือ อุฏฺฐาน สัมปทา-ขยันทำมาหากิน) (อา. คือ อารกฺขสัมปทา- รักษาทรัพยสินที่หามาได้ ไม่ให้สิ้นเปลืองด้วยเหตุต่างๆ) (ก.คือ กลฺยาณมิตตตา หรือ กลฺยาณมิตตตสมฺปทา- มีเพื่อนดี) (ส.คือ สมชีวิตา หรือ สมชีวิตสมฺปทา)

    “หัวใจอริยสัจจ์ 4” คือ ทุ. ส. นิ.ม. (ทุข คือ ทุกข์) (ส.คือ สมุทัย) (นิ.คือนิโรธ) (ม. คือ มรรค)

    “หัวใจพระรัตนตรัย” คือ อิ. สฺวา. สุ. (อิ. คือ อิติปิโส…) (สฺวา. คือ สฺวากขาโต…) (สุ. คือ ปฏิปนฺโน…)

    ฯลฯ

    คำย่อเหล่านี้ อ่านอย่างบาลี คือ อักษรที่ไม่มีสระปรากฎให้อ่านออกเสียง ะ เสมอ คือ ก. อ่านว่า กะ ส. อ่านว่า สะ (ไม่อ่านว่า กอ และ สอ อย่างภาษาไทย)

    หัวใจของการเล่าเรียน หรือ หัวใจนักปราชญ์ (สุ. จิ. ปุ. ลิ.) บอกถึงวิธีการเรียนที่ดี คือการฟัง (และอ่าน) มีการคิด มีการถามและมีการเขียน

    โปรดสังเกตว่า ไม่มีการท่อง

    ถ้าให้มีการท่องด้วย ก็คงจะเพิ่มอักษรย่อว่า ส. (สัชชาย หรือ สาธยาย) อีกคำหนึ่ง

    แต่ก็ไม่มี

    แสดงว่า วิธีการเล่าเรียนของไทยก็เหมือนกับวิธีของฝรั่งมาแต่ไหนแต่ไร คือ ไม่ได้สอนให้ท่อง

    แต่การศึกษาเล่าเรียนก็ขาด “การท่อง” ไม่ได้ บางวิชา มีความจำเป็นต้องท่อง ก็ต้องท่อง

    วิชาที่จำเป็นต้องท่อง เช่น บทอาขยาน (มักจะเป็นบทกวี, ที่เป็นแบบ) ,สูตรคูณ (ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นตามกฎ), บทสวดมนต์, สูตรในวิชาตรีโกณมิติ (กฎทางคณิตศาสตร์อย่างหนึ่ง)

    วิชาที่จำเป็นต้องท่อง ไม่ท่องเห็นจะไม่ได้

    ลำดับข้อของธรรมะ โดยเฉพาะ “ศีล 5” จำเป็นต้องท่อง เพื่อกล่าวตามลำดับข้อ ว่าสลับข้อไม่ได้ เพราะศีล 5 ข้อ (เบญจศีลหรือ มนุษยธรรม) ใช้คู่กับ เบญจธรรม 5 ข้อ คือ 1. ห้ามฆ่าสัตว์ คู่กับ เมตตา-กรุณา 2. ห้ามลักทรัพย์ คู่กับ สัมมาอาชีวะ 3.ห้ามประพฤติผิดในกาม คู่กับ สทารสันโดษ (ความสำรวมในกาม) 4. ห้ามพูดเท็จ คู่กับ สัจจะ(ความมีสัตย์) 5. ห้ามดื่มน้ำเมา คู่กับ ความมีสติ รอบคอบ

    ถ้าไม่ลำดับข้อให้ตรงกัน ก็จะไม่เข้าใจศีลธรรม

    คำสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า ธรรมะ นั้น มีลำดับข้อตายตัว ไม่ว่าจะเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ โลภะ โทสะ โมหะ ท่านจัดลำดับไว้อย่างมีนัย ธรรมะบางชุด จัดลำดับจากสูงไปหาต่ำ บางชุด จากหยามไปหาละเอียด ฯลฯ

    ธรรมะแต่ละชุด มักจะมีคู่ปรับ คือ ฝ่ายหนึ่งดี ฝ่ายหนึ่งชั่ว หรือ ฝ่ายหนึ่งเป็นกุศล อีกฝ่ายหนึ่งเป็น อกุศล

    ชาวบ้านทั่วไป ที่ไม่ได้เรียนธรรม ก็จะคิดเอาเอง มักจะกล่าวธรรมะ อย่างสับสน สังเกตได้ง่าย

    การเรียนธรรมะของพระพุทธเจ้า จึงจำเป็นต้องท่อง

    วิชาธรรมะที่พระเณะเรียนมีทั้งลำดับข้อธรรมะ มีทั้งคำแปล ถ้าไม่ท่องก็จะเรียงข้อไม่ถูกและแปลไม่ได้

    หนังสือ “นวโกวาท” ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นแบบเรียนธรรมะที่ให้ทั้งลำดับข้อธรรมะและให้ทั้งคำแปล

    จำเป็นต้องท่อง

    การเรียนภาษาบาลี ก็คิดวิธีเรียนโดย สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เป็นวิธีที่ย่อสั้นที่สุด ท่านให้เริ่มจากเรียนไวยากรณ์ (เรียกว่า “บาลีไวยากรณ์”) เมื่อเรียนจบบาลีไวยากรณ์ ก็จะแปลภาษาบาลีได้

    ในวิชาบาลีไวยากรณ์ ท่านให้เรียนตั้งแต่ประเภทของศัพท์บาลี ให้เรียนทั้งกฎของภาษาบาลี ซึ่งมีทั้งธาตุ (root) วิภัตติ ปัจจัย ฯลฯ

    กฎเหล่านั้น ไม่เรียนไม่ได้

    เรียนโดยไม่มีการท่อง ก็เป็นไปไม่ได้

    เมื่อเริ่มเรียนบาลี ผมเคยท้อ เพราะเคยแต่เรียนบวกลบโดยตัวเลข เช่น 1+1 เป็น 2 ก็นึกเห็น เข้าใจได้ แต่ในภาษาบาลี ท่านให้เอาตัวหนังสือหรืออักษรมาบวกกัน ได้ผลลัพธ์เป็นอีกอย่างหนึ่ง เช่น อ+สิ เป็นโอ

    อ คือ ะ หมายถึง สระ ะ ที่อยู่ท้ายอักษร เมื่อบวกกับ สิ ซึ่งเป็น วิภัตติ ก็จะเป็น โอ

    เช่น ปุริส+สิ = ปริโส

    คือ สิ (วิภัตติ) ทำให้สระ ะ ที่คำว่า ปุริส กลายเป็น โ-

    ได้เถียงครูบาลีว่า มันจะเป็นไปได้อย่างไร

    ท่านได้แต่บอกว่า เรียนไปเถอะแล้วจะรู้เอง

    ก็เลยต้องท่องว่า ะ กับ สิ เป็น โอ-

    พอนานเข้า ก็รู้ว่า มันเป็นกฎของภาษาบาลี จำเป็นต้องท่องกฎให้ได้ ในที่สุดก็ค่อยๆ ผสมระหว่างสระท้ายคำกับวิภัตติทั้ง 7 ไ และค่อยๆ แปลบาลีได้

    ถ้าจำกฎของบาลีไม่ได้ ก็จะผสมคำไม่ได้ ปรุงศัพท์ไม่ได้ และแปลไม่ได้

    การท่องจำ เหมาะสำหรับวัยเด็ก (อายุไม่เกิน 15 ปี) ไม่เหมาะสำหรับผู้ใหญ่และผูสูงอายุ การเรียนบาลีของวัด ส่วนใหญ่ผู้เรียน คือ สามเณร

    วิธีทดสอบความจำของสามเณร ครูผู้สอนจะให้สามเณรแต่ละรูปยืนขึ้นกล่าวทบทวนความจำ ก่อนจะอธิบาย วันหนึ่งเรียนได้ 4-5 หน้า

    ถ้าไม่มีการท่อง ก็ไม่รู้ว่าจะเรียนอย่างไร เพราะครู จะอธิบายไวยากรณ์โยงกันอยู่ตลอดเวลา ภาษาบาลี เฉพาะศัพท์ที่เป็นบุคคล (มนุษย์) สัตว์ และสิ่งของ มีเพศ (ลิงค์) ต่างกัน ศัพท์ที่บอกเพศชาย (ปุงสกลิงค์) จะผันกับวิภัตติอย่างหนึ่ง เพศหญิง (อิตถีลิงค์) ผันกับวิภัตติอย่างหนึ่ง ศัพท์ประเภทไม่มีเพศ (นปุงสกลิงค์) ผันกับวิภัตติไปอีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน

    จำเป็นต้องจำคำศัพท์ให้ได้ เพื่อให้รู้เพศของศัพท์ พร้อมกัน นั้นก็ต้องจำวิภัตติทั้ง 7 ให้ได้ด้วย

    การที่จำได้ ก็จำเป็นต้องท่อง

    ฟังคุณหญิง ดร.สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เล่าถึงเรื่องที่ท่านไปเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย มหาจุฬาฯ (มจร.) โดยเลือกเรียนในสาขาพุทธศาสตร์ ท่านบอกว่า ความยากอยู่ที่ต้องเรียนบาลีด้วยถ้าไม่เรียนบาลี ก็ค้นคว้าพระไตรปิฎกไม่ได้

    คุณหญิงฯ มาเรียนบาลีเมื่ออายุมากแล้ว (อายุ 60 ปี) จึงยากหน่อย เพราะมีการท่องไม่มากก็น้อย

    ผมมีความเห็นว่า การศึกษาเล่าเรียน คงขาดการท่องจำไม่ได้ อาจจะมีบางวิชาที่ไม่จำเป็นต้องท่อง วิชาที่ไม่จำเป็นต้องท่อง เช่น ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งครูที่สอนเก่ง จะมีวิธีสอนให้คิด

    และเห็นว่า การเรียนที่ดี ต้องยึดวิธีแต่โบราณ คือ สุ. จิ. ปุ. ลิ. บางส่วนก็จำเป็นต้องท่อง

    เชื่อว่า นักเรียนฝรั่งก็มีการท่องไม่มากก็น้อย

    70df77fa36567eaea47637ce226addf5d541734b63fd33363e129e792b3f076c.jpg

    การท่อง เหมือนการบริกรรมของพระ ช่วยให้เกิดสมาธิ และปัญญา เมื่อได้หลักวิชา(โดยการท่อง) แล้ว การคิดอ่านที่มีหลักก็จะตามมา ไม่ฟุ้งซ่านคิดเอาเอง

    ขอขอบคุณที่มา
    http://www.siamrath.co.th/n/66634
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 25 กุมภาพันธ์ 2019

แชร์หน้านี้

Loading...