"ภิกขุนีสังยุต"

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย ไมยราพ, 7 มกราคม 2012.

  1. ไมยราพ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2009
    โพสต์:
    495
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +201
    พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗
    สังยุตตนิกาย สคาถวรรค​


    ภิกขุนีสังยุต
    อาฬวิกาสูตรที่ ๑​


    [๕๒๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-
    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ
    ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ฯ

    ครั้งนั้น เวลาเช้า อาฬวิกาภิกษุณีนุ่งห่มแล้วถือบาตรและจีวร เข้าไป
    บิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตไปในพระนครสาวัตถีแล้ว เวลา
    ปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาต มีความต้องการด้วยวิเวก จึงเข้าไปในป่าอันธวัน ฯ

    [๕๒๓] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปใคร่จะให้อาฬวิกาภิกษุณีบังเกิดความกลัว
    ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากวิเวก จึง
    เข้าไปหาอาฬวิกาภิกษุณีถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะอาฬวิกาภิกษุณีด้วยคาถาว่า

    ในโลก ไม่มีทางออกไปจากทุกข์ได้ ท่านจักทำอะไรด้วย
    วิเวก จงเสวยความยินดีในกามเถิด อย่าได้มีความเดือดร้อน
    ในภายหลังเลย ฯ

    [๕๒๔] ลำดับนั้น อาฬวิกาภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่ใครหนอกล่าว
    คาถา จะเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์ ฯ

    ทันใดนั้น อาฬวิกาภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่คือมารผู้มีบาป ใคร่จะให้
    เราบังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้
    เคลื่อนจากวิเวก จึงกล่าวคาถา ฯ

    ครั้นอาฬวิกาภิกษุณีทราบว่า นี่คือมารผู้มีบาปแล้ว จึงได้กล่าวกะมารผู้มี
    บาปด้วยคาถาว่า

    ในโลกนี้มีทางออกไปจากทุกข์ได้ เรารู้ชัดดีแล้วด้วยปัญญา
    ดูกรมารผู้มีบาปซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์ของผู้ประมาท ท่านไม่รู้จัก
    ทางนั้น กามทั้งหลายเปรียบด้วยหอกและหลาว กองกาม
    ทั้งหลายนั้นประหนึ่งว่าผีร้าย เราไม่ใยดีถึงความยินดีในกามที่
    ท่านกล่าวถึงนั้น ฯ

    ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า อาฬวิกาภิกษุณีรู้จักเรา ดังนี้
    จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ
     
  2. ไมยราพ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2009
    โพสต์:
    495
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +201
    โสมาสูตรที่ ๒

    [๕๒๕] สาวัตถีนิทาน ฯ
    ครั้งนั้น เวลาเช้า โสมาภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไป
    บิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตไปในพระนครสาวัตถีแล้ว เวลา-
    *ปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อพักผ่อนกลางวัน ครั้น
    ถึงป่าอันธวันแล้ว จึงนั่งพักกลางวันที่โคนไม้ต้นหนึ่ง ฯ

    [๕๒๖] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปใคร่จะให้โสมาภิกษุณีบังเกิดความกลัว
    ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึง
    เข้าไปหาโสมาภิกษุณีถึงที่นั่งพัก ครั้นแล้วได้กล่าวกะโสมาภิกษุณีด้วยคาถาว่า

    สตรีมีปัญญาเพียงสองนิ้ว ไม่อาจถึงฐานะอันจะพึงอดทนได้
    ด้วยยาก ซึ่งท่านผู้แสวงทั้งหลายจะพึงถึงได้ ฯ

    [๕๒๗] ลำดับนั้น โสมาภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่ใครหนอกล่าวคาถา
    จะเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์ ฯ

    ทันใดนั้น โสมาภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่คือมารผู้มีบาป ใคร่จะให้เรา
    บังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อน
    จากสมาธิ จึงกล่าวคาถา ฯ

    ครั้นโสมาภิกษุณีทราบว่า นี่คือมารผู้มีบาปแล้ว จึงได้กล่าวกะมารผู้มีบาป
    ด้วยคาถาว่า

    ความเป็นสตรีจะทำอะไรได้ เมื่อจิตตั้งมั่นดีแล้ว เมื่อญาณ
    เป็นไปแก่ผู้เห็นธรรมอยู่โดยชอบ ผู้ใดจะพึงมีความคิดเห็น
    แน่อย่างนี้ว่า เราเป็นสตรี หรือว่าเราเป็นบุรุษ หรือจะยังมี
    ความเกาะเกี่ยวว่า เรามีอยู่ มารควรจะกล่าวกะผู้นั้น ฯ

    ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า โสมาภิกษุณีรู้จักเรา ดังนี้
    จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ
     
  3. ไมยราพ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2009
    โพสต์:
    495
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +201
    โคตมีสูตรที่ ๓

    [๕๒๘] สาวัตถีนิทาน ฯ
    ครั้งนั้น เวลาเช้า กิสาโคตมีภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไป
    บิณฑบาตในพระนครสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตไปในพระนครสาวัตถีแล้ว เวลาปัจ-
    *ฉาภัตกลับจากบิณฑบาตแล้วเข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อพักผ่อนกลางวัน ครั้นถึงป่า
    อันธวันแล้ว จึงนั่งพักกลางวันที่โคนไม้ต้นหนึ่ง ฯ

    [๕๒๙] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปใคร่จะให้กิสาโคตมีภิกษุณีบังเกิดความ-
    *กลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ
    จึงเข้าไปหากิสาโคตมีภิกษุณีถึงที่นั่งพัก ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะกิสาโคตมีภิกษุณี
    ด้วยคาถาว่า

    ท่านมีบุตรตายแล้ว มานั่งอยู่คนเดียว มีหน้าเหมือนคน
    ร้องไห้ มาอยู่กลางป่าคนเดียว กำลังแสวงหาบุรุษบ้างหรือ
    หนอ ฯ

    [๕๓๐] ลำดับนั้น กิสาโคตมีภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่ใครหนอกล่าว
    คาถา จะเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์

    ทันใดนั้น กิสาโคตมีภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่คือมารผู้มีบาป ใคร่จะ
    ให้เราบังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะ
    ให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงกล่าวคาถา ฯ

    ครั้นกิสาโคตมีภิกษุณีทราบว่า นี่คือมารผู้มีบาปแล้ว จึงได้กล่าวกะมาร
    ผู้มีบาปด้วยคาถาว่า

    เรามีบุตรตายแล้ว เหมือนความตายของบุตร ถึงที่สุดแล้ว
    บุรุษทั้งหลายก็มีความตายของบุตรนี้เป็นที่สุดเหมือนกัน เรา
    ไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้ ไม่กลัวความตายนั้นดอก ฯ
    ผู้มีอายุ ความเพลิดเพลินในส่วนทั้งปวง เรากำจัดแล้ว
    กองมืดเราทำลายแล้ว เราชนะเสนาแห่งมัจจุแล้ว ไม่มี
    อาสวะอยู่ ฯ

    ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า กิสาโคตมีภิกษุณีรู้จักเรา
    ดังนี้ จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ
     
  4. ไมยราพ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2009
    โพสต์:
    495
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +201
    วิชยาสูตรที่ ๔

    [๕๓๑] สาวัตถีนิทาน ฯ
    ครั้งนั้น เวลาเช้า วิชยาภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวร ฯลฯ จึงนั่ง
    พักกลางวันที่โคนไม้ต้นหนึ่ง ฯ

    [๕๓๒] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปใคร่จะให้วิชยาภิกษุณีบังเกิดความกลัว
    ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้า
    ไปหาวิชยาภิกษุณีถึงที่นั่งพัก ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะวิชยาภิกษุณีด้วยคาถาว่า
    เธอยังเป็นสาวมีรูปงาม และฉันก็ยังเป็นหนุ่มแน่น มาเถิด
    นาง เรามาอภิรมย์กันด้วยดนตรี มีองค์ห้า ฯ

    [๕๓๓] ลำดับนั้น วิชยาภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่ใครหนอกล่าวคาถา
    จะเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์ ฯ
    ทันใดนั้น วิชยาภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่คือมารผู้มีบาป ใคร่จะให้เรา
    บังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อน
    จากสมาธิ จึงได้กล่าวคาถา ฯ
    ครั้นวิชยาภิกษุณีทราบว่า นี่คือมารผู้มีบาปแล้ว จึงได้กล่าวกะมารผู้มีบาป
    ด้วยคาถาว่า

    ดูกรมาร รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่ารื่นรมย์ใจ
    เราขอมอบให้ท่านผู้เดียว เพราะเราไม่ต้องการมัน เราอึดอัด
    ระอาด้วยกายเน่า อันจะแตกทำลาย เปื่อยพังไปนี้ กาม-
    ตัณหา เราถอนได้แล้ว ความมืดในรูปภพที่สัตว์ทั้งหลาย
    เข้าถึง ในอรูปภพที่สัตว์ทั้งหลายเป็นภาคี และในสมาบัติอัน
    สงบทั้งปวง เรากำจัดได้แล้ว ฯ

    ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า วิชยาภิกษุณีรู้จักเรา
    ดังนี้ จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ
     
  5. ไมยราพ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2009
    โพสต์:
    495
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +201
    อุบลวรรณาสูตรที่ ๕

    [๕๓๔] สาวัตถีนิทาน ฯ
    ครั้งนั้น เวลาเช้า อุบลวรรณาภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวร ฯลฯ
    ได้ยืนอยู่ที่โคนต้นสาลพฤกษ์ซึ่งมีดอกบานสะพรั่ง ต้นหนึ่ง ฯ

    [๕๓๕] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปใคร่จะให้อุบลวรรณาภิกษุณีบังเกิดความ-
    *กลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ
    จึงเข้าไปหาอุบลวรรณาภิกษุณีถึงที่ที่ยืนอยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะอุบลวรรณาภิกษุณี
    ด้วยคาถาว่า

    ดูกรภิกษุณี ท่านคนเดียว เข้ามายังต้นสาลพฤกษ์ ซึ่งมีดอก
    บานสะพรั่งตลอดยอด แล้วยืนอยู่ที่โคนต้นสาลพฤกษ์ ก็
    ฉวีวรรณของท่านไม่มีที่สอง คนทั้งหลายก็จะมาในที่นี้เช่นท่าน
    ท่านกลัวพวกนักเลงเพราะความเขลาหรือ ฯ

    [๕๓๖] ลำดับนั้น อุบลวรรณาภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่ใครหนอกล่าว
    คาถา จะเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์ ฯ
    ทันใดนั้น อุบลวรรณาภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่คือมารผู้มีบาป ใคร่จะ
    ให้เราบังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้
    เคลื่อนจากสมาธิ จึงกล่าวคาถา ฯ

    ครั้นอุบลวรรณาภิกษุณีทราบว่า นี่คือมารผู้มีบาปแล้ว จึงได้กล่าวกะมารผู้-
    *มีบาปด้วยคาถาว่า

    แม้นักเลงตั้งแสนมาในที่นี้ ก็ตามเถิด เราไม่สะเทือนขน
    ไม่สะดุ้ง ดูกรมาร ถึงเราคนเดียว ก็ไม่กลัวท่าน ฯ
    เรานี้จะหายตัวหรือเข้าท้องพวกท่าน แม้จะยืนอยู่ ณ ระหว่าง
    ดวงตาบนดั้งจมูก ท่านจักไม่เห็นเรา ฯ
    เราเป็นผู้ชำนาญในจิต อิทธิบาทเราเจริญดีแล้ว เราพ้นแล้ว
    จากเครื่องผูกทุกชนิด เราไม่กลัวท่านดอก ท่านผู้มีอายุ ฯ

    ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า อุบลวรรณาภิกษุณีรู้จักเรา
    ดังนี้ จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ
     
  6. ไมยราพ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2009
    โพสต์:
    495
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +201
    จาลาสูตรที่ ๖

    [๕๓๗] สาวัตถีนิทาน ฯ
    ครั้งนั้น เวลาเช้า จาลาภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไป
    บิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตไปในพระนครสาวัตถีแล้ว เวลาปัจ-
    *ฉาภัตกลับจากบิณฑบาตแล้วเข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อพักกลางวัน ครั้นถึงป่าอันธวัน
    แล้วจึงนั่งพักกลางวันที่โคนไม้ต้นหนึ่ง ฯ

    [๕๓๘] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปใคร่จะให้จาลาภิกษุณีบังเกิดความกลัว
    ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึง
    เข้าไปหาจาลาภิกษุณีถึงที่นั่งพัก ครั้นแล้วได้กล่าวกะจาลาภิกษุณีว่า ดูกรภิกษุณี
    ท่านไม่ชอบใจอะไรหนอ ฯ
    จาลาภิกษุณีตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เราไม่ชอบความเกิดเลย ฯ

    [๕๓๙] ม. เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงไม่ชอบความเกิดผู้เกิดมาแล้วย่อม
    บริโภคกาม ใครหนอให้ท่านยึดถือเรื่องนี้ อย่าเลยภิกษุณี
    ท่านจงชอบความเกิดขึ้น ฯ

    [๕๔๐] จา. ความตายย่อมมีแก่ผู้ที่เกิดมาแล้ว ผู้ที่เกิดมาแล้วย่อมพบ
    เห็นทุกข์ คือ การจองจำ การฆ่า ความเศร้าหมอง
    เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ชอบความเกิด ฯ

    พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเป็นเครื่องก้าวล่วงความเกิด
    พระองค์สอนให้เราตั้งอยู่ในสัจจะ ๑- เพื่อละทุกข์ทั้งมวล ฯ
    สัตว์เหล่าใดเข้าถึงรูปภพ และสัตว์เหล่าใดเป็นภาคีแห่ง
    อรูปภพ สัตว์เหล่านั้นเมื่อยังไม่รู้นิโรธ ต้องมาสู่ภพอีก ฯ

    ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า จาลาภิกษุณีรู้จักเรา ดังนี้
    จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ
     
  7. ไมยราพ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2009
    โพสต์:
    495
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +201
    อุปจาลาสูตรที่ ๗

    [๕๔๑] สาวัตถีนิทาน ฯ
    ครั้งนั้น เวลาเช้า อุปจาลาภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไป
    บิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตไปในพระนครสาวัตถีแล้ว เวลา
    ปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาตแล้วเข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อพักกลางวัน ครั้นถึงป่า
    อันธวันแล้ว จึงนั่งพักกลางวันอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง ฯ

    [๕๔๒] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปใคร่จะให้อุปจาลาภิกษุณีบังเกิดความกลัว
    ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึง
    เข้าไปหาอุปจาลาภิกษุณีถึงที่นั่งพัก ครั้นแล้วได้กล่าวกะอุปจาลาภิกษุณีว่า ดูกร
    ภิกษุณี อย่างไรหนอท่านจึงอยากจะเกิด ฯ

    อุปจาลาภิกษุณีตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เราไม่อยากเกิดในที่ไหนๆ
    เลย ฯ

    [๕๔๓] ม. ท่านจงตั้งจิตไว้ในพวกเทพชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต
    ชั้นนิมมานรดี และชั้นวสวดีเถิด ท่านจักได้เสวยความยินดี ฯ

    @๑ หมายเอาพระนิพพาน


    [๕๔๔] อุ. พวกเทพชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี
    และชั้นวสวดี ยังผูกพันอยู่ด้วยเครื่องผูกคือกาม จำต้อง
    กลับมาสู่อำนาจมารอีก โลกทั้งหมดเร่าร้อน โลกทั้งหมด
    คุเป็นควัน โลกทั้งหมดลุกโพลง โลกทั้งหมดสั่น
    สะเทือน ฯ
    ใจของเรายินดีแน่วในพระนิพพาน อันไม่สั่นสะเทือน
    อันไม่หวั่นไหว ที่ปุถุชนเสพไม่ได้ มิใช่คติของมาร ฯ

    ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า อุปจาลาภิกษุณีรู้จักเรา ดังนี้
    จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ
     
  8. ไมยราพ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2009
    โพสต์:
    495
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +201
    สีสุปจาลาสูตรที่ ๘

    [๕๔๕] สาวัตถีนิทาน ฯ
    ครั้งนั้น เวลาเช้า สีสุปจาลาภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไป
    บิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตไปในพระนครสาวัตถีแล้ว เวลาปัจ-
    *ฉาภัตกลับจากบิณฑบาตแล้วเข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อพักกลางวัน ครั้นถึงป่าอันธวัน
    จึงนั่งพักกลางวันที่โคนไม้ต้นหนึ่ง ฯ

    [๕๔๖] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเข้าไปหาสีสุปจาลาภิกษุณีถึงที่นั่งพัก
    ครั้นแล้วได้กล่าวกะสีสุปจาลาภิกษุณีว่า ดูกรภิกษุณี ท่านชอบใจทิฐิของใคร
    หนอ ฯ

    สีสุปจาลาภิกษุณีตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เราไม่ชอบใจทิฐิของใคร
    เลย ฯ

    [๕๔๗] ม. ท่านจงใจเป็นคนโล้น ปรากฏตัวเหมือนสมณะ แต่ไฉน
    ท่านจึงไม่ชอบใจทิฐิ ท่านจึงประพฤติเรื่องนี้ เพราะความ
    งมงายดอกหรือ ฯ

    [๕๔๘] สี. คนเจ้าทิฐิ ภายนอกพระศาสนานี้ ย่อมจมอยู่ใน
    ทิฐิทั้งหลาย เราไม่ชอบใจธรรมของพวกเขา พวกเขาเป็นคน
    ไม่ฉลาดต่อธรรม ยังมีพระพุทธเจ้าผู้เสด็จอุบัติในศากยสกุล
    หาบุคคลอื่นเปรียบมิได้ ทรงครอบงำส่วนทั้งปวง ทรงบรรเทา
    เสียซึ่งมาร ไม่ปราชัยในที่ทุกสถาน ทรงพ้นแล้วในส่วน
    ทั้งปวง เป็นผู้อันตัณหาและทิฐิอาศัยไม่ได้ มีพระจักษุทรง
    เห็นธรรมทั้งปวง ทรงบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นกรรมทุกอย่าง
    ทรงน้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ พระผู้มีพระภาคพระองค์
    นั้นเป็นศาสดาของเรา เราชอบใจคำสอนของพระองค์ท่าน ฯ

    ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า สีสุปจาลาภิกษุณีรู้จักเรา
    ดังนี้ จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ
     
  9. ไมยราพ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2009
    โพสต์:
    495
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +201
    เสลาสูตรที่ ๙

    [๕๔๙] สาวัตถีนิทาน ฯ
    ครั้งนั้น เวลาเช้า เสลาภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไป
    บิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตไปในพระนครสาวัตถีแล้ว เวลา
    ปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาตแล้วเข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อพักกลางวัน ครั้นถึงป่า
    อันธวันแล้ว จึงนั่งพักกลางวันที่โคนไม้ต้นหนึ่ง ฯ

    [๕๕๐] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปใคร่จะให้เสลาภิกษุณีบังเกิดความกลัว
    ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้า
    ไปหาเสลาภิกษุณีถึงที่นั่งพัก ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะเสลาภิกษุณีด้วยคาถาว่า
    รูปนี้ ใครสร้าง ผู้สร้างรูปอยู่ที่ไหน รูปบังเกิดในที่ไหน
    รูปดับไปในที่ไหน ฯ

    [๕๕๑] ลำดับนั้น เสลาภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่ใครหนอกล่าวคาถา
    จะเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์ ฯ

    ทันใดนั้น เสลาภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่คือมารผู้มีบาป ใคร่จะให้เรา
    บังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อน
    จากสมาธิ จึงกล่าวคาถา ฯ

    ครั้นเสลาภิกษุณีทราบว่า นี่คือมารผู้มีบาปแล้ว จึงได้กล่าวกะมารผู้มีบาป
    ด้วยคาถาว่า

    รูปนี้ ไม่มีใครสร้าง อัตภาพนี้ ไม่มีใครก่อ รูปเกิดขึ้น
    เพราะอาศัยเหตุ ดับไป เพราะเหตุดับ ฯ
    พืชชนิดใดชนิดหนึ่งที่บุคคลหว่านลงในนา ย่อมงอกขึ้น
    เพราะอาศัยเหตุ ๒ ประการ คือ รสในแผ่นดิน และยาง
    ในพืช ฉันใด ขันธ์ ธาตุ และอายตนะ ๖ เหล่านี้ ก็เกิดขึ้น
    เพราะอาศัยเหตุ ดับไป เพราะเหตุดับ ฉันนั้น ฯ

    ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า เสลาภิกษุณีรู้จักเรา ดังนี้
    จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ
     
  10. ไมยราพ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2009
    โพสต์:
    495
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +201
    วชิราสูตรที่ ๑๐

    [๕๕๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-
    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ
    ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ฯ

    ครั้งนั้น เวลาเช้า วชิราภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไป
    บิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตไปในพระนครสาวัตถีแล้ว เวลา
    ปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาตแล้วเข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อพักกลางวัน ครั้นถึงป่า
    อันธวันแล้ว จึงนั่งพักกลางวันที่โคนไม้ต้นหนึ่ง ฯ

    [๕๕๓] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปใคร่จะให้วชิราภิกษุณีบังเกิดความกลัว
    ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้า
    ไปหาวชิราภิกษุณีถึงที่นั่งพัก ครั้นแล้วได้กล่าวกะวชิราภิกษุณีด้วยคาถาว่า
    สัตว์นี้ ใครสร้าง ผู้สร้างสัตว์อยู่ที่ไหน สัตว์บังเกิดใน
    ที่ไหน สัตว์ดับไปในที่ไหน ฯ

    [๕๕๔] ลำดับนั้น วชิราภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่ใครหนอกล่าวคาถา
    จะเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์ ฯ

    ทันใดนั้น วชิราภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่คือมารผู้มีบาปใคร่จะให้เรา
    บังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อน
    จากสมาธิ จึงกล่าวคาถา ฯ

    ครั้นวชิราภิกษุณีทราบว่า นี่คือมารผู้มีบาป แล้วจึงได้กล่าวกะมารผู้มีบาป
    ด้วยคาถาว่า

    ดูกรมาร เพราะเหตุไรหนอ ความเห็นของท่านจึงหวนกลับ
    มาว่าสัตว์ ฯ
    ในกองสังขารล้วนนี้ ย่อมไม่ได้นามว่าสัตว์ ฯ
    เหมือนอย่างว่า เพราะคุมส่วนทั้งหลายเข้า เสียงว่ารถย่อมมี
    ฉันใด ฯ
    เมื่อขันธ์ทั้งหลายยังมีอยู่ การสมมติว่าสัตว์ย่อมมี ฉันนั้น ฯ
    ความจริงทุกข์เท่านั้นย่อมเกิด ทุกข์ย่อมตั้งอยู่และเสื่อมสิ้น
    ไป นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ ไม่มี
    อะไรดับ ฯ

    ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า วชิราภิกษุณีรู้จักเรา ดังนี้
    จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ


    จบภิกษุณีสังยุต
    -----------------------------------------------------
    รวมพระสูตรในภิกขุนีสังยุตนี้มี ๑๐ สูตร คือ
    อาฬวิกาสูตรที่ ๑ โสมาสูตรที่ ๒ โคตมีสูตรที่ ๓ วิชยาสูตรที่ ๔
    อุบลวรรณาสูตรที่ ๕ จาลาสูตรที่ ๖ อุปจาลาสูตรที่ ๗ สีสุปจาลาสูตรที่ ๘
    เสลาสูตรที่ ๙ กับวชิราสูตรครบ ๑๐ ฯ
    -----------------------------------------------------

    http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=4367&Z=4404&pagebreak=0
     

แชร์หน้านี้