มรรคนอก - มรรคใน : นายแพทย์สุรวุฒิ ปรีชานนท์

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย วิญญาณนิพพาน, 11 กันยายน 2018.

  1. วิญญาณนิพพาน

    วิญญาณนิพพาน ทีมงานอาสาฯ ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 เมษายน 2008
    โพสต์:
    22,312
    กระทู้เรื่องเด่น:
    51
    ค่าพลัง:
    +21,002
    ม ร ร ค น อ ก - ม ร ร ค ใ น

    วิธีการปฏิบัติธรรม

    พระศาสดาให้เดินทั้งมรรคนอกและมรรคใน

    มรรคนอก คือมรรคมีองค์แปด นั้น
    ใช้เป็นกรอบนอกในการดำเนินวิถิชีวิต
    ถ้าเปรียบถึงการเดินทางคือเดินไม่ให้ตกถนน
    ไม่ให้หลงทิศหลงทาง ไม่ให้หลงป่าหลงดง เป็นต้น

    แต่การปฏิบัติจริงแล้วต้องเดินด้วย มรรคใน
    มรรคแปดภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ วาจา และสัญญา

    อันนี้คือทางที่จะดับกิเลส จะสลัดคืนกิเลส
    เพราะกิเลสเข้าทางนี้ ไปใช้กิเลสทางนี้ และไปสะสมไว้ในนี้

    เพราะเราไปติดในรูปรส กลิ่น เสียง สัมผัส ความคิดนึกในใจที่ผิด
    การแสดงออกมาของกิเลสทางวาจาและกายให้เห็นได้
    และเก็บความเห็นผิด หรือกองกิเลสต่าง ๆ ไว้
    ในหน่วยบันทึกความจำคือสัญญา
    สัญญาคือการจดจำอารมณ์ต่าง ๆ เอาไว้ในจิต

    พระพุทธองค์บอกว่ากิเลสเข้าทางไหน
    ก็ให้พิจารณา เอาออกไปทางนั้น

    เช่นไปติดรูปสวยงามก็พิจารณาทางตาให้เห็นไปตามความเป็นจริง
    ว่าสิ่งที่เราเห็นว่าสวยงามนั้น เป็นสิ่งปรุงแต่ง เราหลงไปเองคิดไปเอง
    ความจริงแล้วไม่มีอะไรสวย ไม่มีอะไรงาม
    ทุกอย่างเป็นธาตุหมดทุกอย่าง

    เช่นเดียวกันถ้าหลงเสียงไพเราะ ก็พิจารณาทางหู
    ทันทีที่หูได้ยินเสียง ก็พิจารณาให้เข้าใจทันทีว่าไม่มีอะไรไพเราะ
    มีแต่เสียงสูง เสียงต่ำ เสียงโทนโน้น โทนนี้ เท่านั้น
    เราไปมีอุปาทานไปเองว่าไพเราะ

    ในทำนองเดียวกันก็พิจารณารส กลิ่น สัมผัส แบบเดียวกัน
    พิจารณาควบคุมการพูดคือ กายวาจาของเราให้เรียบร้อย
    พูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์
    จะถามอะไรก็ถามแต่สิ่งซึ่งจะเป็นประโยชน์
    พูดวาจาที่อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เบียดเบียนใคร
    ไม่ให้เกิดที่เรียกว่า วจีทุจริต คือไม่พูดปด ไม่พูด ส่อเสียด
    ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดคำหยาบ การพิจารณา รูป รส กลิ่น
    เสียง สัมผัส ความคิดนึก ระวังวาจาให้ดี

    ตรวจสอบความจำเก่าๆ คือ สัญญา
    อันไหนไม่ดีก็ให้รีบปรับปรุงให้ดี
    ให้เข้าใจไปตามความเป็นจริงตามสภาวะธรรม
    พยายามอธิบายให้ตนเองให้เข้าใจเรื่อง
    อุปาทาน การติดยึด (ยึดถือผิดๆ)

    การพิจารณาต่อเนื่องต่อการกระทบ
    ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้แหละจะทำให้เกิดปัญญา
    จะทำให้เราสลัดคืนสิ่งที่เรายึดเราติดออกไปให้หมด

    ภาษาชั้นสูงของผู้ปฏิบัติธรรมเรียกว่า

    ให้ทานตา ให้ทานหู ให้ทานจมูก ให้ทานลิ้น
    ให้ทานกาย ให้ทานใจ ให้ทานวาจา และให้ทานสัญญา

    ให้ทานออกไป คือสลัดออก ไม่มีตัวตนเหลืออยู่แล้ว
    เห็นสักแต่เห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน รู้รสสักแต่ว่ารู้รส เป็นต้น
    ไม่เพลิดเพลิน หลงใหลไปกับอารมณ์เหล่านี้แล้ว

    ถ้าหากเราเพลิดเพลินหลงไหลไปกับอารมณ์เหล่านี้
    แสดงว่าเรายังติดยังยึด มีสิ่งผูกมัดเรากับโลกอยู่
    เราจะยังอยู่เหนือโลกไม่ได้

    (คัดลอกบางตอนมาจาก : ทิศทางการปฏิบัติธรรม โดย นายแพทย์สุรวุฒิ ปรีชานนท์
    ที่ปรึกษาชมรมพุทธศาสนา, โรงพยาบาลวิชัยยุทธ

    http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=15441
     

แชร์หน้านี้

Loading...