:มาสร้างสมาธิกันเถอะ:

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 4 มิถุนายน 2006.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,488


    [​IMG]
    เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมในปัจจุบันเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งมีข้อมูลข่าวสารมากมาย ขณะเดียวกันก็เปรียบเสมือนดาบสองคมต่อผู้บริโภคข้อมูลข่าวสาร

    กล่าวคือ ข้อดีทำให้เราสามารถสั่งสมองค์ความรู้จนกลายเป็นบุคคลที่มีประสิทธิภาพรอบรู้ไปด้วยข้อมูลข่าวสาร ส่วนข้อเสียคือข้อมูลมีมากเกินไปเรียกว่า "ข้อมูลล้น" จนทำให้เกิดความรำคาญ ซึ่งนำมาสู่ความเครียด

    ทั้งนี้ การบริโภคข้อมูลข่าวสารย่อมขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการจะบริโภคหรือไม่ แต่บางทีเราอาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยก็เป็นได้ จึงทำให้คนในสังคมเครียดและเกิดอาการว้าวุ่นซึ่งถือว่าเป็นพิษของยุคข้อมูลข่าวสารด้วยเช่นกัน

    ดังนั้น การที่สังคมในปัจจุบันมองข้ามในเรื่องของการฝึกฝนสมาธินั้นกลับกลายเป็นปัญหาที่มิอาจมองข้ามไปได้เลย

    ทั้งนี้ การมีสมาธิถือว่าเป็นการ "เตรียมพร้อม" สมองและจิตใจ ดั่งการเทน้ำออกจากแก้วเพื่อรับน้ำใหม่

    จะว่าไปแล้วการทำสมาธิของคนในอดีตมักนิยมปฏิบัติด้วยการตั้งจิตให้มั่น เดินจงกลม หรือนับลูกประคำตามวิธีพุทธ หรือแม้กระทั่งในศาสนาคริสต์เหล่าสาวกก็มักรวมตัวกันในโบสถ์ เพื่อขัดเกลาจิตใจอยู่เสมอ

    การฝึกฝนสมาธิจึงถือเป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติตามหลักศาสนา ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่ง "ความสงบ" ส่งผลดีต่อความคิดความอ่านของคนให้สามารถพัฒนาความคิดเชิงเหตุและผล โดยจัดวางให้เป็นระบบ

    นอกจากนี้เมื่อจิตสงบการทำงานของร่างกายย่อมถูกขัดเกลาให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น กล่าวคือเมื่อใดจิตสดใสกายย่อมงามเช่นกัน

    ดั่งที่เกริ่นไปข้างต้น สังคมไทย ณ วันนี้มีสิ่งยั่วเย้านานัปการ เป็นสภาวะแวดล้อมภายนอกที่เราต่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

    อาทิ เมื่อเกิดการตึงเครียดก็เปิดโทรทัศน์ ไปดูหนัง สังสรรค์กับเพื่อนฝูง หรือไปเดินช็อปปิ้งผลาญเงินในกระเป๋า กลับกลายเป็นทางออกของคนรุ่นใหม่ที่จำเป็นต้องแลกด้วยเงิน

    แต่การนั่งสมาธิซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการหนึ่งในการทำความเข้าใจตนเอง ทำให้จิตผ่อนคลาย กลับไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ซึ่งในหลักความเป็นจริงสามารถทำได้ง่ายและให้ผลดี

    แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ผลงานวิจัยที่ได้รับการพิสูจน์มาทั่วโลกได้เสนอความคิดเห็นทั้งในเชิงศาสนา และวิทยาศาสตร์ว่าการที่คนเรามีสมาธิอยู่เสมอสามารถพัฒนา "ระดับปัญญา" ทั้งในเชิงไอคิวและอีคิวได้อย่างน่าอัศจรรย์

    ที่น่าทึ่งมากกว่านั้นคือ ความมีสมาธิให้ประโยชน์ต่อการเพิ่มพูนประสิทธิภาพของความทรงจำ ซึ่งเป็นผลดีต่อการดำเนินงานและชีวิตประจำวัน

    ช่วยลดความเครียด สนับสนุนการเรียนรู้การศึกษา การอ่านตำรา หรือแม้กระทั่งผู้สูงอายุก็สามารถนำมาปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคความจำเสื่อมได้เช่นกัน

    ในความเป็นจริงการตั้งจิตอาจเป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้ลำบาก เนื่องด้วยการทำงานที่รัดตัว และต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้น ในวันนี้บทความวัยทวีนส์ขอนำเสนอเทคนิคการทำสมาธิที่มีประสิทธิภาพยอดเยี่ยมแก่ท่านผู้อ่าน ส่วนถ้าท่านใดสนใจที่จะศึกษาต่อก็สามารถหาซื้อได้ตามแผงหนังสือทั่วไป ผลิตโดยค่าย Expernet

    ความจริงแล้วเรื่องดังกล่าวสามารถอธิบายได้ในเชิงวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ สมาธิจะบังเกิดก็ต่อเมื่อการทำงานของสมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวาถูกใช้ร่วมกัน ซึ่งสมองซีกซ้ายจะควบคุมเรื่องการคิดเชิงคำนวณ การคิดเชิงวิเคราะห์ที่ใช้เหตุและผลหรือหลักตรรกะ การรับรู้ที่มีความจำเป็นต้องเรียงลำดับ ซึ่งคนส่วนมากในสังคมมักจะใช้สมองซีกซ้ายในการดำเนินชีวิตเป็นส่วนใหญ่ ตัวอย่างอาชีพอาจเป็นแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ หรือวิศวกร

    ส่วนสมองซีกขวาจะควบคุมในเรื่องของการรับรู้ด้านอารมณ์ จิตใจ การสร้างสรรค์จินตนาการ และการริเริ่มความคิดสร้างสรรค์ ประมาณพวกอาร์ติสต์ หรือนักออกแบบมักจะใช้สมองซีกขวาเป็นหลัก

    เราคงเคยได้ยินมาก่อนว่าการสร้างความจดจำกับบางสิ่งบางอย่างต้องใช้สมองทั้ง 2 ซีกร่วมกัน อาทิ การจำชื่อคนต้องผสมผสานกับการจำใบหน้า หรือแม้กระทั่งเมื่อเรานึกถึงเรื่องตลกขบขันเรามักจะจำบุคคลที่บอกมุขเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี

    ดังนั้น เมื่อเรานำจินตนาการมาประยุกต์ทำงานร่วมกับความคิดเชิงวิเคราะห์จะช่วยตอกย้ำความทรงจำให้ได้ดียิ่งขึ้น หนำซ้ำยังช่วยทำให้จิตใจสงบมากขึ้นทีเดียวนะครับ

    ทั้งนี้ ท่านผู้อ่านสามารถใช้ภาพ Mandala ที่ปรากฏในบทความนี้ช่วยส่งเสริมการสร้างสมาธิขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งภาพที่ดูคล้ายคลึงกับใยแมงมุมอันนี้สนับสนุนให้จิตใจเกิดความสงบ เตรียมความพร้อมสมองทั้ง 2 ซีก ต่อการเรียนรู้และรับรู้ข้อมูลต่างๆ

    เมื่อท่านผู้อ่านได้อ่านขั้นตอนต่อไปนี้แล้วลองทำตาม รับรองว่าเห็นผลทันใจแน่นอนครับ

    ขั้นตอนที่ 1 จัดการกับตัวเองด้วยการอาบน้ำชำระร่างกาย ทำตัวให้สบายจะช่วยให้การเรียนรู้ของเราดียิ่งขึ้น

    หรือถ้าอยู่นอกบ้านก็อย่าพยายามให้สภาวะของตัวเราเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้มากนัก

    ขั้นตอนที่ 2 จัดการกับสิ่งรอบตัว กล่าวคือ หาสถานที่ให้เหมาะสม มีความเงียบสงบ ตัดสิ่งเร้าใดๆ ออกจากรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ วิทยุ

    ขั้นตอนที่ 3 จัดระบบหายใจ คือ การสูดลมหายใจเข้าปอดช้าๆ ติดต่อกัน 10 ครั้ง ความเครียดและความอึดอัดก่อนหน้าจะคลายลงอย่างได้เห็น คราวนี้สมองเราก็จะแล่นปรูดปราดเพราะมีอาหารและออกซิเจนหล่อเลี้ยงเพียงพอ

    ขั้นตอนที่ 4 มองไปที่ภาพ Mandala ที่จุดศูนย์กลางสัก 2-3 นาที พยายามอย่าวอกแวกคิดโน้นคิดนี้สักพัก

    ความคิดของเราก็จะดิ่งไปสู่จุดกลาง ทำให้เกิดความสงบอันบังเกิดสมาธิ

    ขั้นตอนที่ 5 รักษาสมาธิอย่างต่อเนื่อง

    ขั้นตอนที่ 6 มุ่งไปที่สิ่งที่จะเรียนรู้ หยิบตำราหรืองานที่อยู่ข้างหน้าขึ้นมาศึกษา

    โดยสรุปผลจากการนำภาพ Mandala มาใช้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับหลายๆ สถานการณ์ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสมาธิก่อนการเรียนหนังสือ การอ่านตำราก่อนการสอบ หรือผู้ใหญ่ก็ใช้ดี โดยเฉพาะก่อนการประชุมทำให้เกิดความละเอียด สุขุม และรอบคอบ

    ที่สำคัญควรหมั่นฝึกฝนและใช้เทคนิคนี้บ่อยๆ นะครับ รับรองว่าชีวิตของท่านจะสงบสุข บรรลุผลมากขึ้นกว่าเดิมแน่นอนครับ

    ที่มา : "เทคนิคการสร้างสมาธิ" จาก Expernet (www.expernet.co.th)
     

แชร์หน้านี้

Loading...