มีบุญวาสนามาก่อน ทําอย่างไรก็ได้อย่างนั้น

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย buakwun, 6 พฤษภาคม 2013.

  1. buakwun

    buakwun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 กุมภาพันธ์ 2012
    โพสต์:
    2,830
    ค่าพลัง:
    +16,612
    แม้คนผู้ทำบาป ย่อมเห็นบาปว่าดี ตลอดเวลาที่บาปยังไม่เผล็ดผลแต่เมื่อใดบาปเผล็ดผล เมื่อนั้นเขาย่อมเห็นบาปว่าชั่ว ฝ่ายคนทำกรรมดี ย่อมเห็นกรรมดีว่าชั่ว ตลอดเวลาที่กรรมดียังไม่เผล็ดผล แต่เมื่อใด กรรมดีเผล็ดผล เมื่อนั้นเขาย่อมเห็นกรรมดีว่าดี​


    อายตนนิพพานเป็นธรรมธาตุที่เปี่ยมไปด้วยบรมสุขอันเป็นอมตะ เต็มไปด้วยกายธรรมอรหัตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระอรหันตเจ้าทั้งหลาย สรรพสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในแต่ละภพแต่ละชาติ ต่างมีเป้าหมายที่จะเข้าถึงนิพพาน แต่ถูกอวิชชามาห่อหุ้มดวงจิต ปิดบังเห็น จำ คิด รู้ ทำให้ลืมเลือนเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต ผู้ที่มีใจบริสุทธิ์ ที่เกิดจากการหยุดนิ่ง จึงจะสามารถเข้าไปรู้เห็นความเป็นจริงในฉากหลังของชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เราน่าศึกษาค้นคว้า และเข้าไปให้ถึงกันทุกคน

    การสร้างบุญในแต่ละครั้งของชีวิต เป็นสิ่งที่เราขาดไม่ได้ แต่บางครั้งบางเวลาอาจจะเกิดความรู้สึกว่า ทำไมหนอ ความดีที่เราสั่งสมมามากมายยังไม่ให้ผลสักที เรารอคอยมายาวนานแล้ว หรือว่าคงทำดีแล้วไม่ได้ดี เนื่องจากเราเกิดความรู้สึกว่า รอไม่ไหว อย่าไปคิดอย่างนั้น เพียงแค่เราตั้งใจมั่น มีศรัทธาที่ไม่คลอนแคลน ทุ่มหัวใจสร้างบารมีอย่างเต็มที่ เราย่อมได้รับอานิสงส์นั้นอย่างแน่นอน และเมื่อไรบุญส่งผล เราจะมีแต่ความปีติ อิ่มอกอิ่มใจอย่างไม่มีประมาณ

    เหมือนเรื่องที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ ๙๔ กัป ที่ผ่านมา เป็นเรื่องราวการสร้างบารมีของนักบุญท่านหนึ่ง ซึ่งในภพชาติสุดท้ายท่านมีชื่อว่า มธุปิณฑิกเถระ ในอดีตท่านได้สร้างบุญพิเศษ ทำให้ได้รับอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ ตลอดระยะเวลาที่ต้องเวียนว่ายตายเกิด ในกัปที่ ๙๔ ที่ผ่านมานั้น เป็นยุคที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า สิทธัตถะ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ในยุคนี้เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์มีอายุยืนถึง ๑๐๐,๐๐๐ ปี

    พระบรมโพธิสัตว์แต่ละพระองค์ เวลาจะลงมาตรัสรู้ การเลือกกาลนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด หากว่ามนุษย์มีอายุยืนเกิน ๑๐๐,๐๐๐ ปีขึ้นไป พระองค์จะไม่ลงมาตรัสรู้ เพราะเมื่อมีอายุยืนเกินไป มนุษย์มักจะมีทิฏฐิถือตัวว่า ตนเองมีอายุยืน การที่จะตรัสสอนเรื่องอนิจจัง ความไม่เที่ยงของสังขาร จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก

    ฉะนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายจะตรัสรู้ในยุคของมนุษย์ที่มีอายุตั้งแต่แสนปีลงมา บางพระองค์ ๙๐,๐๐๐ ปี บางพระองค์ ๘๐,๐๐๐ ปี ไล่เรื่อยลงมา ต่ำสุดคือ ในยุคที่มนุษย์มีอายุ ๑๐๐ ปี ดังเช่นในยุคของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา หากต่ำกว่านั้นมนุษย์จะมีทิฏฐิมานะมาก จะสอนยาก ในยุคของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า สิทธัตถะ มนุษย์มีอายุยืนถึง ๑๐๐,๐๐๐ ปี พระองค์ได้ประสูติในตระกูลกษัตริย์ ทรงอยู่ครองเรือนถึงหมื่นปีจึงทรงออกผนวชด้วยราชพาหนะคือ วอทอง บำเพ็ญเพียรอยู่ ๑๐ เดือน ก็ทรงตรัสรู้ธรรม

    หลังจากตรัสรู้แล้ว พระสิทธัตถพุทธเจ้า ทรงเสด็จจาริกประกาศพระสัทธรรมตามแว่นแคว้นต่างๆ ทรงยังสรรพสัตว์ทั้งหลายให้บรรลุธรรมตามเป็นอันมาก ทำให้กิตติศัพท์ของพระองค์แผ่ขยายไปทั่วชมพูทวีป มหาชนผู้ปรารถนาที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ ต่างพากันไปฟังธรรมไม่ขาดสาย เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปถึงเมืองใด มหาชนในเมืองนั้นจะพากันมาประชุม เพื่อถวายบังคมและฟังธรรมจากพระพุทธองค์ ในยุคนั้นพระสัทธรรมรุ่งเรืองมาก มีพระอริยบุคคลเกิดขึ้นในโลกนับไม่ถ้วน

    พระมธุปิณฑิกเถระ ได้ถือกำเนิดในครอบครัวนายพราน อาศัยอยู่ในป่าใหญ่ มีอาชีพล่าสัตว์ทำปาณาติบาต เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต แม้นายพรานจะอยู่ในป่า แต่ก็ได้ยินกิตติศัพท์ของพระบรมศาสดาอยู่เนืองๆ ทำให้คิดเสมอว่า พระบรมศาสดาพระองค์นี้ต้องเป็นผู้ที่ประเสริฐที่สุดในโลกอย่างแน่นอน แต่น่าเสียดาย ที่ยังไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดาผู้ประเสริฐ แม้โอกาสที่ดียังมาไม่ถึง แต่ในหัวใจท่านเกิดความเลื่อมใสพระบรมศาสดา ได้แต่อธิษฐานในใจเพียงลำพังว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตเรา ขอให้ได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ได้สร้างบุญกับพระองค์สักครั้งหนึ่งเถิด คิดเช่นนี้จนเวลาผ่านไปนานพอสมควร

    จนกระทั่งวันหนึ่ง โอกาสที่ท่านปรารถนาก็มาถึง ขณะกำลังเข้าไปในป่าเพื่อล่าสัตว์ ท่านได้พลัดเข้าไปยังป่าที่พระบรมศาสดาทรงหลีกเร้นประทับอยู่เพียงลำพัง พรานป่าได้มองเห็นพระรัศมีที่เปล่งออกมาจากพระวรกาย พลางคิดว่า แสงอะไรหนอ สว่างไสวไปทั่วราวป่า ใบไม้รกทึบขนาดนี้ แสงอาทิตย์มิอาจส่องมาถึงได้ น่าจะมีเหตุอาเพศอะไร จึงสอดส่ายสายตาหาจุดกำเนิดของแสง

    สุดสายตาก็มองเห็นพระบรมศาสดาประทับขัดสมาธิอยู่ที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง มองเห็นฉัพพรรณรังสีแผ่ออกรอบพระวรกายก็คิดว่า บุคคลผู้นี้เป็นเทวดาหรือมนุษย์กันแน่หนอ ทำไมมีแสงออกจากกายสว่างไสวกว่าพระอาทิตย์เสียอีก ท่านได้หวนระลึกถึงคำพูดที่ร่ำลือเกี่ยวกับพระบรมศาสดา รู้ทันทีว่า ท่านผู้นี้เป็นมนุษย์มีเลือดเนื้ออย่างเรา แต่มีรัศมีเปล่งออกจากกายที่งดงามน่าเลื่อมใส พระองค์ต้องเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน

    ท่านกระวีกระวาดรีบเดินเข้าไปหา ก้มกราบถวายบังคมด้วยความปีติเลื่อมใสพลางทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นานหนอ...กว่าจะได้พบพระพุทธองค์" ก้มกราบแล้วกราบอีก ครั้นมองดูตนเอง คิดว่าเรานี้ทำกรรมหยาบช้ามายาวนาน ไม่มีโอกาส ได้สร้างบุญเลย วันนี้โอกาสดีมาถึง เราควรที่จะเอาบุญใหญ่สักครั้ง ท่ามกลางป่าใหญ่ พรานมองไปรอบๆ ทิศ เพื่อจะหาไทยธรรมมาถวาย ไม่พบอะไรเลยในบริเวณใกล้เคียง จึงน้อมนำน้ำผึ้งที่หามาได้พลางน้อมถวายด้วยความเคารพยิ่งนัก

    พรานได้ถวายน้ำผึ้งมีรสอร่อยแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ รู้สึกปีติใจอย่างยิ่ง บุญนั้นทำให้ชีวิตมีแต่ความสุขความเจริญรุ่งเรือง และเลิกทำปาณาติบาตทันที

    เหตุการณ์ในวันนั้น ประทับอยู่ในใจของพรานจนตลอดชีวิต ก่อนจะละจากโลก ภาพแห่งการถวายน้ำผึ้ง ปรากฏชัดขึ้นมาในใจ เป็นกรรมนิมิตก่อนตาย ด้วยผลแห่งบุญกรรมนั้น ทำให้ได้ไปเสวยสมบัติอยู่ในเทวโลก ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลกเท่านั้น เวลาลงมาเกิดในเมืองมนุษย์จะได้รับอานิสงส์ที่แปลกกว่าผู้อื่น คือ จะมีฝนน้ำผึ้งตกลงมา ต่างจากน้ำผึ้งที่เรารู้จักเพราะเป็นของทิพย์ ไม่เหนียวเหนอะหนะ แต่มีรสหอมหวานอร่อยมาก

    ท่านเวียนว่ายตายเกิดอยู่สองภพภูมิ จนมาถึงในสมัยพุทธกาล ได้บังเกิดในตระกูลมหาเศรษฐี ในที่สุดก็ออกบวช ท่านบำเพ็ญเพียรไม่นาน ก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ จึงย้อนดูบุพกรรมในอดีตของตน ท่านเกิดโสมนัสถึงกับเปล่งอุทานว่า

    "เราได้ถวายน้ำผึ้งแด่พระศาสดาผู้ออกจากนิโรธสมาบัติ เรามีใจผ่องใส ถวายบังคมที่พระบาทด้วยเศียรเกล้า ในกัปที่ ๓๔ แต่กัปนี้ เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่า สุทัสสนะ ถึง ๔ ครั้ง ในกาลไหน ๆ น้ำผึ้งออกจากรากไม้ ไหลลงในโภชนาหารของเรา ฝนน้ำผึ้งก็ตกลง ในกัปที่ ๙๔ แต่กัปนี้ เราไม่ไปสู่ทุคติเลย ภพชาตินี้เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยคุณวิเศษทั้งหลายแล้ว"

    จะเห็นว่าเราสร้างบุญหยาบ ๆ อย่างไร ผลที่เป็นทั้งของทิพย์และของมนุษย์ เราจะได้อย่างนั้น แต่ละเอียดประณีตกว่าที่เราทำมาก นี่เป็นอานุภาพแห่งบุญที่เกิดจากการทำบุญถูกทักขิไณยบุคคล เราทำอย่างไรย่อมได้ผลอย่างนั้น วันใดที่เราเห็นผลบุญที่บังเกิดขึ้น ในใจจะมีแต่ความปีติเบิกบาน แม้ตอนนี้เรายังไม่ได้รับผลบุญนั้นเต็มที่ ก็ไม่ควรท้อถอย ต้องเชื่อมั่นในบุญ เพราะบุญย่อมไม่ทอดทิ้งผู้ที่สร้างบุญอย่างแน่นอน และจะติดตามตัวเราไปในทุกที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ ขอให้เราเชื่อมั่น และสร้างบารมีกันต่อไป

    พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
     
  2. yo09()

    yo09() เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    296
    ค่าพลัง:
    +4,897
  3. Followdream

    Followdream เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มีนาคม 2012
    โพสต์:
    688
    ค่าพลัง:
    +12,448
    ขออนุโมทนาบุญด้วยค่ะ

    สาธุ........สาธุ........สาธุ
     
  4. สีลสิกขา

    สีลสิกขา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 พฤศจิกายน 2012
    โพสต์:
    1,271
    ค่าพลัง:
    +7,135
    ขออนุญาติคุณพี่ จขกท. ร่วมโพสสัก 1 โพสนะจ้าวคะ.. ei ei ^^

    สุภาษิตที่ว่า "คนมีปัญญาทำจิตที่ดิ้นรน กวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยาก ให้ตรงได้ เหมือนช่างศรทำลูกศรให้ตรงได้ฉะนั้น บัณฑิตรับทุกข์เจียนตายก็ไม่ทิ้งธรรมะ"

    เมื่อเราพูดถึงศาสนา หลายคนก็ไม่ค่อยจะเข้าใจว่าศาสนาคืออะไร ทุกวันนี้ชาวอังกฤษส่วนใหญ่ก็จะไม่ค่อยเข้าใจ คนจำนวนไม่น้อยชอบบอกว่าฉันไม่มีศาสนาและไม่ต้องการที่จะมี ไม่เห็นจะจำเป็นอะไร ไม่มีก็ไม่เดือดร้อนอะไร เขาพูดอย่างนี้เพราะเขาเข้าใจว่าศาสนาคือสถาบัน ศาสนาคือพิธีกรรม ศาสนาคือการอ่านคัมภีร์และร้องเพลง ศาสนาเป็นสิ่งนอกตัวเขา เมื่อเขาบอกว่า เขาไม่ต้องการศาสนา อยากจะไปเสียเวลาอันมีค่าด้วยการรวมพิธีกรรมต่าง ๆ ฉะนั้นเขาจึงถือว่าเขาเป็นคนไม่มีศาสนาเสียสบายกว่า แต่สำหรับชาวพุทธเรานั้น น่าจะมีความเข้าใจ ในเรื่องศาสนาที่ลึกซึ้งกว่านั้น คือเข้าใจว่าศาสนาที่แท้คือวิชาดับความทุกข์ในจิตใจของมนุษย์ ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้วจะเห็นว่า ตราบใดที่มนุษย์เรายังมีความทุกข์ เราจำเป็นต้องมีศาสนา เพราะศาสนาในแง่ที่เป็นศาสนธรรมเท่านั้นที่จะดับความทุกข์ในจิตในใจของมนุษย์ได้ และศาสนาเท่านั้นที่จะนำจิตใจของมนุษย์ไปสู่ความสุขที่แท้จริงหรือความเป็นอิสระ

    ขอให้สังเกตุว่า ในพระศาสนาของเรานั้นคำว่า ความดับทุกข์ ความไม่มีทุกข์ ความสุขที่แท้จริง และความมีอิสระ ล้วนแต่มีความหมายอันเดียวกัน คือตราบใดที่เรายังไม่เป็นอิสระ เราก็ยังไม่มีความสุขที่แท้จริง และถ้าเรามีความสุขที่แท้จริงแล้ว เราก็ย่อมมีความเป็นอิสระ รู้สึกว่าเฉพาะพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่จะเอาสองคำนี้มาพูดร่วมกัน และความมีอิสระที่ท่านหมายถึงนั้นไม่ใช่ความอิสระเสรีอย่างสามัญที่คนทั่วไปรู้จัก เช่นอยากไปที่ไหนก็ไปได้ อยากซื้ออะไรก็ซื้อได้ ความมีอิสระในความเข้าใจของคนทั่วไปคืออำนาจที่จะสนองความอยากโดยไม่มีอะไรขัดข้อง ต้องการอะไรก็สามารถแสวงหาและครอบครองสิ่งนั้นได้ ซึ่งความเป็นอิสระในความหมายนี้จะเกี่ยวพันกับความมีอำนาจเหนือสิ่งอื่นหรือคนอื่น

    ทำไมพวกเราต้องการมีอำนาจ?? เพราะกลัว กลัวทุกข์ การมีอำนาจเพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นทุกข์ จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาเราต้องการมากที่สุด แต่ความไม่เป็นทุกข์นั้นตามความเป็นจริงแล้วไม่มีในดลก การกระเสือกกระสนดิ้นรนของเราจึงไม่สำเร็จ ความแก่ ความเจ็บ และความเป็นธรรมชาติที่ไม่มีใครป้องกันได้ เรามัวแต่แสวงหาความดับทุกข์ในดินแดนแห่งทุกข์ ในที่สุดแล้วก็คับข้องใจโกรธแค้นหรือเศร้าซึม มีความเดือดร้อนใจอยู่ร่ำไป เหมือนคนในนิทานที่นั่งหน้าบ้านกินพริกสดจากกระสอบใหญ่ๆ เคี้ยวแต่ละเม็ดนิดเดียวแล้วคายทิ้ง เพื่อคนหนึ่งผ่านไปเห็นแล้วก็สงสัย ถามว่าเธอทำอะไร เขาบอกว่าคิดอยากกินของหวานแต่โชคร้ายกินเยอะแล้ว ยังไม่ได้สักเม็ด มันเผ็ดหมด แต่หวังว่ากระสอบใหญ่ๆ อย่างนี้น่าจะมีหวานบ้าง คงจะต้องกินไปเรื่อย ๆ

    ทางพุทธศาสนาสอนว่า ความอิสระคือเป็นอิสระจากกิเลส อิสระอย่างอื่นไม่มีความหมายเลย ถ้าเรายังไม่เป็นอิสระจากกิเลส ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ความสุขที่เราได้จะไม่ถาวร เป็นความสุขที่ระคนด้วยความทุกข์ความเร่าร้อนไม่มากก็น้อย อันนี้ก็เป็นสมมุติฐานที่นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก คือพระพุทธเจ้าท่านตั้งเอาไว้ให้เรามาพิจารณา เอหิปัสสิโก ทดลองเปรียบเทียบดูกับประสบการณ์ในชีวิตของเรา จริงไหมที่ว่าเรามีกิเลสแล้วหาความสุขไม่ค่อยได้ แต่ในขณะใดที่จิตใจไม่มีกิเลส หรือมีกิเลสน้อยความก็เกิดขึ้นได้ พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้เราใช้ปัญญา ให้เราเป็นผู้ฉลาดในการแสวงหาความสุข แต่เมื่อเราไม่ได้รับการฝึกอบรมในทางศาสนา การแสวงหาความสุขของเรามักจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากว่าไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามทั้งทางโลกและทางธรรม เราต้องรู้จักเหตุปัจจัยของสิ่งที่เป็นเป้าหมายของการกระทำนั้นถึงจะได้ผล ถ้าไม่รู้จักเหตุปัจจัยของมันแล้ว ทำไม่ถูกเหตุปัจจัย สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นไ่ม่ได้ เช่นต้องการให้กาแฟหวาน แต่ไม่รู้ว่าความหวานเกิดจากน้ำตาล คงต้องกินกาแฟขมอย่างนั้นไปตลอดกาลนาน

    เราต้องการกินข้าว เราก็ต้องรู้จักวิธีหุงข้าว สักแต่ว่าอ้อนวอนให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช่วยให้ข้าวเราสุก เราจะอ้อนวอนเท่าไรมันก็ยังคงอยู่ในสภาพเดิม เพราะเราไม่ได้ทำตามเหตุตามปัจจัยที่ถูกต้อง ฉะนั้นอำนาจของมนุษย์มีขอบเขตที่จำกัด เรามีอำนาจบังคับบัญชาเฉพาะในสิ่งที่ไม่ขัดกับหลักธรรมชาติ ถ้าเราทำอะไรที่ถูกหลักของธรรมชาติ ถูกหลักของเหตุปัจจัย ดูเผินๆ แล้วเหมือนกับมีอำนาจเหนือธรรมชาติ แต่ที่จริงไม่ใช่

    พระพุทธศาสนามีีลักษณะเป็นวิชาดับความทุกข์ของมนุษย์ พุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวในโลกที่ยืนยันอย่างไม่หวั่นไหวว่ามนุษย์สามารถพัฒนาตนให้ถึงจุสมบูรณ์โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งนอกตัวทั้งสิ้น เราเองก็มีศักยภาพมีความสามารถที่จะพัฒนาตัวเองให้ถึงจุดสูงสุดได้ พุทธศาสนาสอนให้เราเชื่อมั่นในตนเอง แต่ความเชื่อมั่นในตัวเองนั้นคือความเชื่อมั่นในธรรม เชื่อมั่นในความศักดิ์สิทธ์ของธรรม เช่นในพุทธพจน์ที่ว่า ต้องเอาตนเป็นที่พึ่งอย่างพึ่งสิ่งอื่นเลย คำว่าตนนั้นไม่ได้หมายถึงอัตตาตัวตน เพราะมันไม่มี แต่หมายถึงคุณธรรม เอาคุณธรรมที่มีอยู่ในใจของเราเป็นที่พึ่ง ต้องเอาศีล สมาธิ ปัญญา เอากุศลธรรมทั้งหลายเป็นที่พึ่ง อย่าไปเอากิเลสเป็นที่พึ่ง อย่าเอาทิฏฐิมานะของตนเองเป็นที่พึ่ง

    เราอาจจะเปรียบเทีียบชีวิตของเราเหมือนภาชนะอันหนึ่ง ภาชนะว่างที่ยังไม่เป็นอะไรเลย ภาชนะนั้นจะเป็นอะไรก็ขึ้นอยู่กับการใช้ เช่นสิ่งนี้คืออะไรทุกคนคงจะตอบว่าเป็นกระโถน แต่ถ้าสมมุติว่าซื้อมาจากร้านแล้วเราไม่ใช้เป็นกระโถนเลย ใช้ทำอย่างอื่น มันจะเป็นกระโถนไหม?? มันก็น่าคิด ชีวิตของเราก็เหมือนกับเป็นภาชนะว่าง ถ้าเราไม่สนใจไม่ตั้งใจในการฝึกฝนอบรมตนในการละบาป บำเพ็ญกุศล ชำระจิตใจของตนให้สะอาด ปล่อยจิตให้ไหลไหสู่ที่ต่ำอยู่เสมอเหมือนกับเอาแต่ของไม่สะอาดใส่ไปในกาย วาจา ใจของเรา ชีวิตของเราก็เป็นภาชนะว่างที่กลายเป็นกระโถน ทำให้ชีวิตเป็นกระโถนที่ต็มไปด้วยความสกปรกโสโครกเหม็นน่าเกลียด แต่เดิมนั้นภาชนะไม่ใช่กระโถน หากเป็นกระโถนเพราะว่าเราใช้ให้เป็นกระโถน แต่สมมุติว่าภาชนะว่างคือชีวิตของเรานั้น เราฝืนกิเลสของตัวเอง ไม่ทำตามกิเลส สนใจในการที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตด้วยธรรม ทำให้ชีวิตเบิกบานโดยคุณธรรม มันก็เหมือนกับว่าเราตั้งภาชนะนี้ในที่ดี แล้วเอาดินใส่ เอาต้นไม้ใส่ รดน้ำพรวนดิน เสร็จแล้วภาชนะนี้จะเรียกว่าเป็นกระโถนไม่ได้แล้ว ต้องเรียกว่าเป็น.. "กระถาง"

    พระพุทธองค์เคยตรัสว่า ผู้ที่เคยประมาทในกาลก่อน ต่อมาได้ตั้งอยุ่ในความไม่ประมาท ผู้นั้นย่อมส่องโลกนี้ให้สว่างเหมือนพระจันทร์เต็มดวงที่เคยถูกเมฆปิดบังเอาไว้แล้วก็พ้นจากเมฆ ฉะนั้นเราอย่าไปว่าตัวเองว่าเราเป็นคนอย่างนั้น เราเป็นคนอย่างนี้ เราเป็นคนไม่มีวาสนาไม่มีบุญ นี่คือมาร นี่คือมิจฉาทิฏฐิ ถึงแม้ชีวิตเราดูเหมือนว่าเป็นกระโถนร้อยเปอร์เซนต์ ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นกระถางไม่ได้ พยายามเป็นคนดี ให้ทาน รักษาศีล ภาวนา แต่ต่อมาอาจหลงตัวว่าเก่งว่าดี แล้วทำสิ่งที่ไม่ควรทำ พูดสิ่งที่ไม่ควรพูด ต้นไม้ที่มีอยู่อาจร่วงโรยเหี่ยวเฉาแล้วตายไปในที่สุดดินก็ก็ถูกเทออกไป ภาชนะนั้นก็จะกลายเป็นกระโถน

    ชีวิตของปุถุชนจึงเป็นชีวิตที่ไม่แน่นอน ตราบใดที่เรายังไม่ได้ปิดประตูต่ออบาย เรารับรองอนาคตของตัวเองไม่ได้ ท่านบอกว่าอานิสงส์ของการบรรลุเป็นพระโสดาบันคือการปิดประตูต่อโลก ต่อนรก ต่อเปรตวิสัย ต่อการเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน แสดงว่าใครที่ยังไม่ได้เข้าถึงขั้นนี้แล้วยังไม่พ้นอันตราย ถ้าเกิดผิดพลาด เกิดประมาทเมื่อไร กระถางดอกไม้นี้จะเปลี่ยนเป็นกระโถน ความดีที่เราเคยสร้างไว้จะมัวหมอง เมื่อร่างการแตกดับไปแล้วรับรองตัวเองไม่ได้หรอกว่าเราจะไปเกิดที่ไหน ท่านจึงให้เรารีบสร้างคุณงามความดี ตั้งอกตั้งใจในการประพฤติปฏิบัติให้ถึงขั้นที่เสื่อมไม่ได้ เพราะโอกาสนี้เป็นโอกาสที่หายาก..


    "ผู้ที่มีจิตบริสุทธิ์งดงาม เป็นคนดี มีพระพุทธองค์และพระธรรม ประทับอยู่ในดวงใจ..ผู้นั้นย่อมประทับอยู่ในใจของผู้คนตลอดไป....."
     

แชร์หน้านี้

Loading...